กัณฑ์ที่ ๑๐๓       ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.. ๒๕๔๕

เปลี่ยนกระแส

 

วันนี้เป็นวันพระ ทุกๆ ๘ วัน ๗ วัน หรือ ๖ วัน  เป็นวันที่เราจะได้หยุดพักภารกิจการงานแล้วเข้ามาสู่วัด เพื่อปฏิบัติกิจทางศาสนา เป็นการเปลี่ยนกระแส ทุกๆวันที่เราอยู่ในโลก เราอยู่ท่ามกลางกระแสโลก  ซึ่งมักจะพัดเราลงไปสู่ที่ต่ำ ไปสู่ความทุกข์ ส่วนกระแสธรรมเป็นกระแสที่พัดไปสู่ที่สูง  พัดให้ออกจากความทุกข์  ถ้าพวกเราไม่ปรารถนาความทุกข์กัน ก็ควรคำนึงถึงกระแสธรรมบ้าง  อย่าลอยอยู่แต่ในกระแสโลก  เพราะกระแสโลกจะฉุดลากเราไปสู่ความทุกข์ทั้งหลาย  เนื่องจากกระโลกคือกระแสแห่ง ความโลภ  ความโกรธ ความหลง ถ้ามีความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ในใจมากน้อยแค่ไหน  เราก็จะถูกพัดไปสู่ความทุกข์มากเท่านั้น  ส่วนกระแสธรรมเป็นกระแสที่จะพัดเราไปสู่ความพ้นทุกข์ ความไม่มีทุกข์  เพราะกระแสธรรมเป็นกระแสแห่ง ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง

ฟังแล้วก็อาจจะรู้สึกว่า คนเราถ้าไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงแล้ว จะอยู่กันได้อย่างไร   เพราะชีวิตของเราทุกคนจะต้องแสวงหาสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ  เราต้องเข้าใจว่า กระแสธรรมก็สอนให้เราแสวงหาเหมือนกัน  แต่ให้แสวงหาสิ่งที่อยู่ในขอบเขตของความจำเป็น ของความพอดี  เช่น ชีวิตของคนเราทุกคนต้องมีปัจจัย ๔ เป็นเครื่องดูแล  เพื่อชีวิตจะได้ดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่น ไม่ขัดสน ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ถึงแก่ความตายก่อนที่จะเป็นไป  คนเราทุกคนต้องมีปัจจัย ๔  ทางธรรมก็สอนให้เรามีความขยันหมั่นเพียร ในการทำมาหากินเลี้ยงชีพ ให้มีสัมมาชีพหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยความสุจริต  ให้พอเพียงกับความจำเป็นของชีวิต  ถ้ามีมากเกินความจำเป็น เช่น มีอาหารมากเกินความจำเป็น  มีเสื้อผ้ามากเกินความจำเป็น  มีที่อยู่อาศัยมากเกินความจำเป็น  มียารักษาโรคมากเกินความจำเป็น  ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะเกินความจำเป็นนั่นเอง   อย่างวันนี้เราก็เห็นว่ามีอาหารมาก แต่เรามีท้องเดียว เราก็รับประทานได้เท่านั้นแหละ เท่าที่เราเคยรับประทาน  เราไม่สามารถรับประทานอาหารทั้งหมดได้ หลักของการแสวงหาทางธรรม จึงอยู่ที่การหามาเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ 

ส่วนทางโลกนั้น ความโลภจะทำให้หามาแบบไม่มีขอบเขต  ไม่มีการรู้จักคำว่าพอดี เนื่องจากว่าความโลภเกิดจากความหลง  ความหลงคือการไม่มีสติ ไม่มีปัญญา อันเป็นสัญชาตญาณของความหลง  ความหลงจะกลัวอดอยาก  กลัวทุกข์ กลัวตาย จึงต้องพยายามหาไว้มากๆ   ถึงแม้วันนี้จะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีอะไรมาก  ก็จะคิดว่ามีเก็บไว้ก่อนดีกว่าเพื่อความปลอดภัยในวันหน้า  แต่เราไม่รู้หรอกว่า วันข้างหน้าของเราจะมีมากน้อยแค่ไหน  วันหน้าของเราอาจจะเหลืออีกเพียงวันเดียวก็ได้ แล้วชีวิตของเราก็จะหมดไป  ถ้าเราหามาเกินกว่าความจำเป็น  เราก็จะเสียเวลากับการหาสิ่งต่างๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีความจำเป็นกับชีวิต  กับความสุขของเรา

ในทางธรรมท่านทรงสอนให้เราหาความสุข ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ  ความสุขของคนเราส่วนใหญ่จะอยู่ที่ใจมากกว่าอยู่ที่กาย   จริงอยู่ร่างกายต้องมีปัจจัย ๔ ถึงจะไม่ทุกข์  แต่ความสุขทางร่างกายไม่อยู่เหนือความสุขทางใจ  ถ้าเราดูแลร่างกายให้มีความสุข   แต่ไม่ได้ดูแลใจให้มีความสุข ปล่อยให้ใจมีแต่ความทุกข์  ความทุกข์ใจก็จะไปบดบังความสุขกาย  อย่างพวกเราทุกคนก็มีฐานะพอใช้ได้ คือมีปัจจัย ๔ ครบบริบูรณ์  ไม่ขาดตกบกพร่องในสิ่งที่จำเป็นต่อการครองชีพ ความต้องการของร่างกาย  ได้รับการดูแลอย่างสมบูรณ์  ร่างกายมีความสุขสบาย  แต่ใจกลับมีความทุกข์  ซึ่งจะทำให้เราไม่เห็นความสุขกายเลย  จะบดบังความสุขกาย ที่เราอุตส่าห์ทุ่มเทเรี่ยวแรงหามา  แต่พอเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  ความสุขกายเหมือนกับว่าหายไปเลย 

นั่นเป็นเพราะว่าเราไม่มีธรรมะ เป็นเครื่องชี้นำวิธีหาความสุขให้กับเรา  เราแสวงหาความสุขเพียงด้านเดียว คือแสวงหาความสุขทางด้านวัตถุ ทางด้านกามารมณ์  ทางด้านความอยากของกิเลสตัณหาทั้งหลาย   ซึ่งไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง   เพราะว่าสิ่งต่างๆที่เราได้มา มากน้อยแค่ไหนก็ตาม ก็จะไม่ให้ความอิ่ม ความพอ กับเรา  ไม่สามารถดับความทุกข์ใจได้  เวลาต้องการอะไรแล้วไม่ได้สิ่งนั้นๆ ความทุกข์ใจก็จะปรากฏขึ้นมา  หรือสิ่งที่ได้มาเป็นสิ่งที่เรารักเราชอบ  ถ้าวันดีคืนดีต้องหายไป หรือถูกทำลายไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เราก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไม่ได้ดูแลใจของเรา  ปล่อยเวลาไปกับการดูแลร่างกาย ไปกับกระแสของความโลภ ความโกรธ ความหลง  เราจึงไม่อยู่เหนือความทุกข์  เพราะความหลงของเรานี่เอง ความโง่เขลาเบาปัญญา ไม่ทราบว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน 

เราจึงต้องปลีกเวลาออกจากกระแสโลก  ออกจากกระแสของความโลภ  ความโกรธ ความหลง  มาสู่วัด  เพื่อเข้าสู่กระแสธรรม ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับชีวิตปกติของเรา  ปกติเราจะมีแต่ออกไปแสวงหา  หาด้วยความโลภ หาด้วยความโกรธ หาด้วยความหลง  ทุกครั้งที่เราทำอย่างนี้ ก็เท่ากับสะสมความโลภ ความโกรธ ความหลงให้มีมากยิ่งขึ้นไป  เมื่อมีความโลภ ความโกรธ ความหลงมากขึ้นไปเท่าไร  ความทุกข์ก็จะมีสะสมอยู่ในใจมากขึ้นเท่านั้น รอเวลาให้แสดงตัวขึ้นมา  ในขณะที่เราได้สิ่งต่างๆ ที่เราปรารถนา ความทุกข์จะยังไม่ปรากฏ  แต่ถ้าวันไหนเกิดไม่ได้ดังใจ  หรือสูญเสียสิ่งที่เรารักเราชอบแล้ว ความทุกข์ก็จะโหมกระหน่ำเราอย่างเต็มที่  จนไม่สามารถทนรับกับความทุกข์นั้นได้ก็มี 

แต่ถ้าเรามีเวลาว่างหลบเข้าวัดบ้าง เข้าสู่กระแสของความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง เราจะได้สะสมแรงต้านทานของความทุกข์ ที่จะโหมกระหน่ำใส่เรา เมื่อถึงเวลาของความทุกข์นั้นจะปรากฏขึ้นมา  ถ้าเรามีกระแสแห่งธรรม เท่ากับมีที่พึ่ง มีที่หลบภัย  เพราะจะรู้จักวิธีรับกับกระแสของความทุกข์ที่ปรากฏขึ้นมา  เพราะว่าธรรมะสอนให้รู้จักสภาพความเป็นจริงของโลกที่เราอยู่นี้ว่าเป็นอย่างไร  โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนี้ไปตลอด  เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีการหมุนเวียนไป  สิ่งต่างๆที่เรามีอยู่ในวันนี้ ในวันข้างหน้าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป ต้องมีการหมดสิ้นไป  ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา  ถ้ารู้ล่วงหน้าก่อน และได้มีการเตรียมตัวเตรียมใจไว้  เวลาสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมา  ความทุกข์ก็จะไม่โหมกระหน่ำใส่เรา  เพราะความทุกข์เกิดจากความหลง เกิดจากความยึดติดอยู่กับสิ่งต่างๆ   ถ้ามีปัญญา มีความรู้  รู้ว่าสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่กับเราในวันนี้ จะไม่อยู่กับเราไปตลอด  จะต้องมีการพลัดพรากจากกันไป ไม่ช้าก็เร็ว  ถ้าเรารู้แล้วเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนล่วงหน้า  เวลาความพลัดพรากเกิดขึ้นมา หรือความผิดหวังเกิดขึ้นมา  เราก็จะพร้อมที่จะรับกับสิ่งเหล่านั้น เมื่อเราพร้อมสิ่งเหล่านั้นก็จะไม่มีอานุภาพสร้างความทุกข์ให้กับเราได้ เพราะเราไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งเหล่านั้น 

นี่คือเรื่องของธรรม เป็นเรื่องของการทวนกระแสโลก  ทางโลกจะฉุดลากเราไปสู่ความทุกข์ โดยมีความหลง ความมืดบอดเป็นตัวนำพาไป  เมื่อมีความหลง ความมืดบอดแล้ว ก็จะเกิดความโลภ เกิดความโกรธ   แต่ถ้ามีปัญญาแล้วจะไม่โลภ จะไม่โกรธ เพราะจะรู้ว่าความโลภ ความโกรธ ไม่เป็นสิ่งที่ดีกับใจ  เวลามีความโลภ มีความโกรธขึ้นมา  ใจจะร้อน จะมีแต่ความวุ่นวายใจ  แต่เวลาที่ระงับความโลภ ความโกรธลงไปได้  ใจจะเย็น ใจจะสบาย  อย่างในขณะนี้ ท่านนั่งอยู่ที่นี่ ความโลภก็ไม่ปรากฏ ความโกรธก็ไม่ปรากฏ  แล้วความรู้สึกเป็นอย่างไร  ความรู้สึกก็เย็น สบาย  นั่นเป็นเพราะว่าในขณะนี้ความโลภความโกรธไม่ได้ทำงาน  แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความโลภและความโกรธ เพียงแต่ขณะนี้ไม่มีเหตุไปกระตุ้นให้เกิดความโลภและเกิดความโกรธเท่านั่นเอง    แต่ถ้ามีเหตุปรากฏขึ้นมา ก็ไม่แน่ว่าความโลภและความโกรธที่มีอยู่ในใจยังจะนิ่งนอนเฉยอยู่ได้หรือเปล่า  ถ้านิ่งเฉยได้ก็แสดงว่ามีธรรมมาก  เพราะธรรมเป็นตัวที่กำราบ ความโลภ ความโกรธ และความหลงนั่นเอง 

จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องเข้าวัดเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ  ทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม  เพราะเป็นการเสริมสร้างบุญบารมี  เสริมสร้างธรรม ที่จะไปต่อสู้กับกระแสของความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มีอยู่ภายในใจของเรา  ถ้ามีธรรมมากเท่าไร เราก็จะมีความสุขมากเท่านั้น  เพราะธรรมเป็นแสงสว่าง  เป็นเครื่องชี้บอกให้รู้ถึงเหตุของความสุขว่ามาจากอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าได้เสริมสร้างเหตุนั้นแล้ว  ใจก็จะมีแต่ความสุขอย่างเดียว จะไม่มีความทุกข์เลย  เมื่อมีความสุขแล้ว จะมีความอิ่ม มีความพอ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปแสวงหาสิ่งต่างๆ ภายนอก เช่นลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขทั้งหลาย  จะไม่มีความจำเป็นสำหรับจิตที่มีความสุข มีความอิ่ม มีความพอ  ทุกวันนี้ที่พวกเรายังต้องออกไปแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข กันอยู่ ก็เพราะว่าใจของพวกเรายังขาดธรรมะนั่นเอง  เราไม่ได้เสริมสร้างธรรมะให้เกิดขึ้นมาในใจเรา  เราปล่อยปละละเลยภารกิจทางด้านจิตใจ ทางด้านการศึกษาธรรม การปฏิบัติธรรมกัน  มัวแต่วุ่นวายกับการหาสิ่งต่างๆที่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง  หาเท่าไรก็ไม่เกิดความอิ่ม เกิดความพอ   มีแต่จะเสริมความอยาก ความต้องการให้มีมากยิ่งๆขึ้นไปเสียอีก  เราควรจะเห็นโทษของสิ่งเหล่านี้  เห็นโทษของความโลภ เห็นโทษของความอยาก เห็นโทษของความหลง ว่าเป็นตัวที่หลอกให้เราไปหาสิ่งต่างๆมา  หามามากมายก่ายกองจนกระทั่งเราใช้ไม่หมด  แต่เราก็ยังไม่มีความสุข ยังไม่มีความพอ เป็นเพราะว่าเราไม่ได้หาสิ่งที่ให้ความสุข ให้ความพอกับเรานั่นเอง 

เหตุที่จะนำความสุขมาให้ เป็นคุณธรรมที่เราจะต้องสร้างขึ้นมา ให้ปรากฏขึ้นมาภายในใจ  ถ้ามีคุณธรรมนี้แล้วใจของเราถึงจะมีความสุข ถึงจะมีความอิ่ม ถึงจะมีความพอ  คุณธรรมที่พูดถึงนี้ก็คือพรหมวิหาร ๔   เราต้องมีพรหมวิหาร ๔ ถ้าปรารถนาที่จะมีความสุข  อยู่ในสังคมเรามีความเกี่ยวข้องกับผู้อื่น  ไม่ได้อยู่คนเดียว  จึงต้องมีธรรมะสอนให้รู้วิธีการปฏิบัติกับบุคคลอื่นๆอย่างถูกต้อง แล้วใจจะสงบ ใจจะเย็น  ใจจะมีความสุข  แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีปฏิบัติ ไม่มีธรรมะเป็นเครื่องนำพาเราปฏิบัติกับบุคคลต่างๆ ที่เราเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ชีวิตของเราจะมีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความเดือดร้อน มีแต่ความทุกข์  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เจริญพรหมวิหาร ๔    ในฐานะที่พวกเราต้องอยู่ร่วมกันในสังคม  เราจะมีความสุขได้  สังคมจะมีความสุขได้ ก็ต่อเมื่อเรามีพรหมวิหาร ๔ อยู่ภายในใจ  พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรม ๔ ประการที่ควรเจริญอย่างต่อเนื่อง  เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตไปได้ด้วยความราบรื่น ด้วยความสุข จะไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องราวกับบุคคลต่างๆ  ที่อยู่กันในสังคม  

เมตตา คือ ความมีไมตรีจิต มองทุกคนเป็นมิตรกัน เป็นเพื่อนกัน  เป็นเหมือนพี่เหมือนน้องกัน เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย กัน  เราอยู่ด้วยกัน ถ้าเรามีเมตตาต่อกัน เราจะมีแต่ความสุข  เพราะความเมตตาไม่ให้ความเดือดร้อนกับใคร  คุณลักษณะของความเมตตามีอยู่ ๓ ประการ คือ ๑. ไม่มีเวรกับใคร อเวรา โหนตุ ๒. ไม่เบียดเบียนใคร  อัพยา ปัชฌา โหนตุ  ๓. ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ

๑. เมตตา  คือการไม่มีเวรมีกรรมกัน  ถึงแม้ใครจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเรา สร้างความทุกข์ให้กับเรามากมายขนาดไหนก็ตาม เราต้องรู้จักการให้อภัย  การให้อภัยจะเป็นการระงับการมีเวรกัน  เวลาใครทำอะไรแล้วเราไม่พอใจ เราอย่าไปโกรธ อย่าไปอาฆาต อย่าไปพยาบาท เราต้องให้อภัย  เพราะการให้อภัยจะทำให้ใจเราสงบ ทำให้ใจเราเย็น  เพราะการให้อภัยจะไประงับความโกรธ ความอาฆาตพยาบาท ที่เปรียบเหมือนกับไฟที่เผาใจเรา   ถ้าไม่มีการให้อภัยแล้ว  ใจจะมีแต่ความรุ่มร้อน  เวลาโกรธแล้วจะต้องเอาคืนให้ได้ ต้องไปทุบไปตี ด่าว่าเขา นี่เป็นความหลงผิด เป็นการสร้างเวรสร้างกรรม  เพราะเมื่อเราไปด่าว่าเขา ไปทำร้ายเขาแล้ว  เขาก็จะต้องเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับเรา  เขาก็จะต้องเกิดความโกรธ ความแค้นขึ้น เขาก็จะกลับมาทำร้ายเรา  จะต้องมีการต่อสู้กันไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งล้มเจ็บตายกันไปในที่สุด  นี่ไม่ใช่วิถีทางที่จะดำเนินชีวิตไปด้วยความสงบสุข 

วิถีทางที่ถูกคือการให้อภัย  เช่นเวลาเขาว่าอะไรเรา เขาทำอะไรเรา  แต่เราทำใจของเราให้นิ่งเสีย ให้อภัยกับเขา  คิดเสียว่าเป็นการใช้กรรมเก่าก็แล้วกัน  เราอาจจะเคยไปทำอะไรกับเขามาก่อน ทำให้เขาไม่พอใจเราโดยที่เราอาจจะรู้ก็ได้ หรือไม่รู้ก็ได้ เพราะบางครั้งเราก็ไม่รู้จริงๆ  เราอาจจะไปขัดผลประโยชน์เขาก็ได้  เขาอาจจะต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ แล้วเราไปได้สิ่งนั้นมา  เขาก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา  เราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในโลกนี้มันเป็นปกติ ที่คนเราในบางครั้งบางคราวอาจจะต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง มีการผิดใจกันบ้าง เมื่อเกิดการผิดใจกันแล้ว   สร้างความทุกข์ให้กันแล้ว  ถ้ามีสติก็ให้อภัยเขาเสียจะดีกว่า  เราก็อยู่นิ่งเสียไม่ตอบโต้ เป็นการไม่สร้างเวรสร้างกรรม  เมื่อเราไม่ไปตอบโต้เขา  เมื่อเขาได้ระบายความรู้สึกที่ไม่ดีของเขาแล้ว เขาก็จะหยุด  เมื่อหยุดแล้วเรื่องมันก็จะจบ

นี่แหละคือทางที่ถูก เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เรามีความสุข ท่านถึงสอนให้เราชนะตนอย่าไปชนะผู้อื่น ชนะตนคนเดียวเท่านั้นทุกอย่างก็จะสงบลง   ชนะผู้อื่นก็จะสร้างความอาฆาตพยาบาทให้กับเขา  ถ้าเขาชนะเรา ก็จะสร้างความอาฆาตพยาบาทให้กับเรา  แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างชนะตนเองแล้วทุกอย่างก็จะสงบ  เมื่ออารมณ์ของเราสงบแล้ว  เรื่องราวต่างๆ มันก็จะหายไป ลืมไป  เวลาเจอหน้ากันในวันข้างหน้า  อาจจะรักกัน ชอบกันก็ได้  เพราะเรื่องของอารมณ์เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง  ถ้าไม่ไปหลงตามอารมณ์ เวลาโกรธแล้วไม่โกรธตาม  เวลาอารมณ์ดีกลับมาแทนที่เราก็จะรู้สึกดีขึ้นมาทันที  จึงต้องเข้าใจถึงหลักของความเมตตาว่าต้องให้อภัย คือต้องไม่จองเวรกัน  

๒. เมตตา คือ การไม่เบียดเบียนกัน  เรามีความจำเป็นที่ต้องทำมาหากินกัน แต่เราจะทำด้วยความสุจริต  คือจะไม่ทำด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี โกหกหลอกลวง เป็นทางที่จะนำความสุขมาให้กับเรา  ความทุกข์ต่างๆที่เกิดจากการเบียดเบียนผู้อื่น จะไม่มีตามมา  แต่ถ้าเราไปเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว  เราจะต้องถูกผู้อื่นเบียดเบียนอย่างแน่นอน  เพราะเมื่อไปสร้างความเดือดร้อนให้กับเขา  เขาก็จะต้องมาสร้างความเดือดร้อนให้กับเรา ให้ทุกข์กับท่าน ทุกข์นั้นถึงตน เราจึงต้องหลีกเลี่ยงการเบียดเบียนกัน

๓. เมตตา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข จงเห็นว่าอะไรก็ตามที่เป็นความสุขของผู้อื่น เขาทำแล้วมีความสุขก็ปล่อยให้เขาทำไป  ถึงแม้จะสร้างความเดือดร้อนให้กับเราบ้าง บางครั้งบางคราว  เช่นข้างบ้านบางครั้งอาจจะจัดงานกัน มีงานเลี้ยงกัน ก็อาจจะมีเสียงดังบ้าง  เราอยู่ข้างบ้านเราอาจจะหนวกหู  แต่ถ้าเรามีความปรารถนาดี อยากจะให้เขามีความสุข  ความวุ่นวายใจที่เกิดจากการหนวกหู ก็จะเบาบางลงไปหรือไม่มีเลยก็เป็นได้  แต่ถ้าไม่มีความปรารถนาที่จะอยากให้เขามีความสุขแล้ว  เวลามีอะไรมาสร้างความวุ่นวายให้กับเรา  เช่นข้างบ้านส่งเสียงดังกัน  ก็จะเกิดความโกรธขึ้นมา เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  แต่ถ้าคิดเสียว่าเขากำลังมีความสุขกัน  เราอยากจะให้เขามีความสุขไม่ใช่หรือ  เราสุขไปกับเขาด้วย เราก็จะไม่มีความทุกข์  เราก็จะทนกับเสียงเหล่านั้นได้  นี่คือเรื่องของความเมตตา  ขอให้เจริญกันอยู่เรื่อยๆ  แล้วความเมตตาจะทำให้เรามีความสุข  อานิสงส์ของความเมตตามีอยู่ ๑๑ ประการ  คือ ๑. หลับก็เป็นสุข  ๒. ตื่นก็เป็นสุข  ๓. ไม่ฝันร้าย  ๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย  ๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย  ๖. เทวดาย่อมรักษา  ๗. ไม่ต้องภัยจากไฟ ยาพิษ ศัสตราวุธ  ๘. จิตเป็นสมาธิง่าย  ๙. สีหน้าผ่องใส  ๑๐. เมื่อจะตาย ใจก็สงบ ไม่หลงใหลไร้สติ  ๑๑. ถ้ายังไม่บรรลุคุณวิเศษที่สูงกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก  

กรุณา คือ ความอยากช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ เวลาเห็นใครตกที่นั่งลำบาก เดือดร้อน แล้วขอความช่วยเหลือ ถ้าเขาช่วยเหลือตัวเขาเองไม่ได้ ก็ควรจะช่วยเขา ช่วยให้เขาสามารถช่วยตัวเองได้  อย่าไปช่วยเหลือแบบให้เขาเป็นคนเกียจคร้าน หวังแต่จะพึ่งผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือที่แท้จริง  การช่วยเหลือที่แท้จริง คือการช่วยให้เขาช่วยตัวของเขาเองได้  อย่างพระพุทธเจ้าทรงช่วยพวกเราด้วยการสั่งสอนธรรมะ  สอนให้เรารู้จักเรื่องของทุกข์ของสุข ของดีและของชั่วต่างๆ   และสอนให้เราดำเนินชีวิตของเราไปในทิศทางที่ดี  พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราเกาะพระพุทธเจ้า  ไม่ได้สอนให้เราขอสิ่งต่างๆจากพระพุทธเจ้า  ให้พระพุทธเจ้ามาทำสิ่งต่างๆให้กับเรา  พระพุทธเจ้าสอนให้เราช่วยตัวเราเอง เช่นกันเวลาเราช่วยเหลือผู้อื่น ขอให้คำนึงถึงหลัก อัตตาหิ อัตโน นาโถ ช่วยเขาถ้าเขาช่วยตัวเขาเองไม่ได้  เช่นถ้าเขาเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีเงินรักษา เราก็ต้องช่วยให้เขาได้รับการรักษาพยาบาล  เมื่อเขาหายแล้ว มีกำลังวังชาดีแล้ว เขาจะได้ไปทำงานต่อไป  เวลาได้ช่วยเหลือผู้อื่นเราก็จะมีความสุขใจ  เพราะได้ช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับเขา   

มุทิตาหมายถึงความยินดีในความสุข ในความดีของผู้อื่น  เวลาเห็นคนอื่นได้ดิบได้ดี มีความเจริญรุ่งเรือง เช่นได้เงินเดือนขึ้น ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น มีความสุข ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑  อย่างนี้เป็นต้น ให้แสดงความยินดีกับเขา ไม่ควรอิจฉาริษยาเขา ขอให้ถือว่า เป็นบุญของเขา  เขาได้ทำความดีไว้  เมื่อถึงเวลา  ความดีก็ส่งผลขึ้นมา ถ้าไม่มีมุทิตาจิตแล้ว จิตใจจะมีแต่ความรุ่มร้อน  มีความอิจฉาริษยา เห็นคนอื่นได้ดิบได้ดี เรากลับเป็นทุกข์เป็นร้อนไป  เพราะขาดมุทิตาจิตนั้นเอง

อุเบกขาคือการปล่อยวาง วางเฉย ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เมตตา  กรุณา และมุทิตาได้  ก็ต้องใช้อุเบกขา เช่นมีคนที่เรารักเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย  แล้วไม่มีทางที่จะรักษาได้ อย่างนี้เราต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา   คืออย่าไปโศกเศร้าเสียใจกับความทุกข์ของเขา  ถ้าช่วยเหลือได้  ก็ช่วยเหลือกันไป  แต่ถ้าช่วยไม่ได้  ก็ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา ขอให้ถือว่าเป็นวิบากกรรมของเขา พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราระลึกอยู่เสมอว่า สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของของตน   เป็นผู้ที่รับผลของกรรม  จะทำกรรมอันใดไว้  ดีหรือชั่ว  จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น  คนเราในอดีตชาติ  หรือในอดีตที่ผ่านมานั้น อาจจะไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามไว้ และเมื่อถึงเวลาที่ผลของกรรมนี้ปรากฏผลขึ้นมาแล้ว ไม่มีใครช่วยเหลือได้  ใครทำกรรมอะไรไว้ ก็ต้องรับผลของกรรมนั้นไป ถ้าไม่ปรารถนา ที่จะประสบกับเคราะห์กรรม ก็ขอให้ละเว้นจากการกระทำความชั่วทั้งหลายเสีย ให้ทำแต่บุญ ทำแต่กุศล ทำแต่สิ่งที่ดี ที่งาม  เมื่อทำแต่สิ่งที่ดี ที่งามแล้ว เคราะห์กรรมต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้นกับเรา แต่ถ้าเกิดขึ้นกับเรา หรือกับบุคคลหนึ่ง บุคคลใดก็ตาม   เราก็ต้องเจริญอุเบกขา อย่าไปโศกเศร้าเสียใจกับเขา อย่าไปทุกข์กับเขา เพราะความโศกเศร้าเสียใจของเรา จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับนั้น มันไม่สามารถจะแก้ปัญหาของเขาได้ มีแต่ จะทำให้เราทุกข์ไปเปล่าๆเท่านั้นเอง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้