กัณฑ์ที่ ๑๐๕        ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๕

ของยืมเขามา

 

วันนี้เป็นวันพระ เป็นวันธรรมสวนะ  ชาวบ้านเรียกวันธรรมสวนะว่าวันพระ ธรรมสวนะแปลว่าการฟังธรรม วันนี้จึงเป็นวันฟังธรรม  ตามวัดต่างๆจะมีการแสดงพระธรรมเทศนา พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ญาติโยมได้ฟังกัน  เป็นการประดับสติปัญญาความรู้ ความฉลาด พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นความสำคัญของพระธรรมคำสอน จึงได้ทรงกำหนดวันธรรมสวนะให้กับญาติโยม ให้กับพุทธศาสนิกชนไว้ปฏิบัติตาม คืออย่างน้อยอาทิตย์หนึ่ง ควรได้ยินได้ฟังธรรมสักครั้งหนึ่ง  เพราะธรรมเปรียบเหมือนแสงสว่าง ที่จะนำพาใจให้เดินทางไปในทิศทางที่ถูกต้องดีงาม นำมาซึ่งความสุขและความเจริญ  พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า การได้ฟังธรรมตามกาล เป็นมงคลอย่างยิ่ง กาเลนะ ธัมมัสสวนัง เอตัมมัง กลมุตตะมัง  เพราะการฟังธรรมมีอานิสงส์อยู่ ๕ ประการด้วยกัน อานิสงส์คือประโยชน์ที่ผู้ฟังจะพึงได้รับ ถ้าฟังด้วยสติจดจ่อ คือในขณะที่ฟังใจควรจะมีสติรู้อยู่กับเสียงแห่งธรรม ที่ไปสัมผัสกับหูแล้วก็เข้าไปสู่ใจ ถ้าใจจดจ่อด้วยสติ รับฟังคำพูดทุกคำโดยที่ใจไม่ลอยไปที่อื่น ไม่ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ใจจะได้รับธรรมอันเปรียบเหมือนน้ำทิพย์ไว้หล่อเลี้ยง

ใจเปรียบเหมือนต้นไม้ ที่ต้องอาศัยน้ำหล่อเลี้ยงลำต้นจึงจะเจริญรุ่งเรืองได้ ถ้าขาดน้ำ ต้นไม้ก็จะต้องเฉาตาย แห้งตายไปในที่สุด เช่นเดียวกับใจของมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย ถ้าไม่ได้รับน้ำทิพย์แห่งธรรมมาชโลมหล่อเลี้ยงแล้ว ใจจะมีแต่ความแห้งแล้ง มีแต่ความหิว มีแต่ความกระหาย มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความวุ่นวายใจ แต่ถ้าได้น้ำทิพย์แห่งธรรมมาชโลมใจเป็นระยะๆ ทุกๆ ๗ วัน สักครั้งหนึ่งก็ยังดี ถ้าได้มากกว่านั้นก็ยิ่งดี สมัยนี้สามารถฟังธรรมได้ทุกวันเลย เพราะตามสถานีวิทยุต่างๆ ในยามดึกตั้งแต่สองยามไปแล้วจนถึงสว่าง จะมีการแสดงธรรมเทศนา มีการบรรยายธรรม สนทนาธรรมกัน ถ้ามีโอกาสได้ตื่นในตอนดึก เปิดวิทยุฟังธรรม ใจจะมีความสุข มีความสบายใจ เพราะพระธรรมคำสอนจะเข้าไปละลาย ไปสลายความเศร้าหมองทั้งหลายที่มีอยู่ภายในใจ ให้สงบตัวลง และให้หมดสิ้นไปในที่สุด

การฟังธรรมจึงมีคุณมีประโยชน์มาก เวลาฟังจึงต้องฟังด้วยสติระลึกรู้อยู่ แต่ไม่ต้องไปจดจำทุกคำพูด เพราะถ้ามัวแต่จำ จะไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านแสดง เวลาฟังจึงไม่ต้องจดจำ เพียงแต่มีสติตั้งใจฟัง แล้วก็พิจารณาตามไป จะเกิดความเข้าอกเข้าใจขึ้นมา เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะไม่ลืม จะรู้ถึงเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าเรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุที่ทำให้เกิดสุข เกิดทุกข์ เรื่องนรก เรื่องสวรรค์  ซึ่งอยู่ในวิสัยของพวกเรา ที่จะสามารถรู้ได้ เข้าใจได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงประกาศพระธรรมคำสอนให้กับพวกเรา ถ้าไม่อยู่ในวิสัยของพวกเราที่จะเข้าใจ ที่จะรู้ได้แล้ว พระพุทธเจ้าก็จะไม่ทรงเสียเวลาประกาศพระธรรมคำสอนอันประเสริฐ ให้กับสัตว์โลกอย่างพวกเรา ให้เสียเวลาไปเปล่าๆ แต่นี่เป็นเพราะว่าพวกเราทุกคนมีสิทธิ  มีความสามารถที่จะรับรู้สิ่งต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงเห็นได้ เพียงแต่ขอให้มีฉันทะ ความยินดี ความพอใจที่จะฟังธรรม มีสติ การระลึกรู้อยู่กับการฟังธรรมเท่านั้นแหละ แล้วธรรมก็จะไหลเข้าสู่ใจ

เปรียบเหมือนกับเวลาที่เทน้ำใส่แก้ว  ถ้าหงายแก้วขึ้นรับน้ำที่เทลงมา ก็จะสามารถรับน้ำได้เต็มที่  แต่ถ้าคว่ำแก้วเสีย น้ำที่เทใส่แก้ว ก็จะไม่เข้าไปในแก้วเลยแม้แต่หยดเดียว ฉันใดใจก็เปรียบเหมือนแก้วใบหนึ่ง ถ้าหงายใจขึ้นรับ ด้วย ฉันทะ ความยินดี  วิริยะ ความเพียร  ศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส  ธรรมก็จะไหลเข้าสู่ใจได้อย่างง่ายดาย    เพื่อไปสลายความทุกข์ ความเศร้าหมอง ที่เกิดจากกิเลสตัณหาทั้งหลายที่มีอยู่ในใจ ให้ค่อยๆหมดไป จนกระทั่งหมดไปในที่สุด ทำให้เป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ มีแต่ความสดชื่นเบิกบาน มีแต่ความสุข  ปราศจากความวุ่นวาย ความทุกข์ ความกังวลทั้งหลาย  เพราะความทุกข์ก็ดี ความวุ่นวายใจก็ดี ไม่ได้เกิดจากสิ่งต่างๆภายนอก  แต่เกิดจากสิ่งต่างๆที่อยู่ในใจ คือโมหะ ความหลง  อวิชชา ความไม่รู้จริงในธรรมชาติของสภาวธรรมทั้งหลาย เลยทำให้เกิดกิเลสตัณหา เกิดความโลภ เกิดความอยากขึ้นมา และเมื่อไม่ได้ตามใจอยาก ก็เกิดความไม่สบายใจ ไม่พอใจ เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  นี่คือเรื่องราวของใจที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็น ทรงรู้ถึงธรรมชาติของใจ รู้ว่าอะไรทำให้ใจมีความสุข อะไรทำให้ใจมีความทุกข์ จึงทรงนำเอามาสั่งสอนพวกเรา เพราะความกรุณานั่นเอง  ทรงเห็นว่าถ้าไม่มีใครชี้บอกทางแล้ว พวกเราก็ต้องวนเวียนอยู่ในกองทุกข์นี้ไปไม่รู้จักจบสิ้น แต่ถ้านำมาประกาศสอน ถึงแม้จะยาก จะใช้เวลาบ้าง แต่อาศัยความอดทน ความเมตตากรุณา ความปรารถนาดี ก็พอจะทำให้ผู้อื่นหมดทุกข์ หมดภัยได้  จึงได้ทรงอุตส่าห์สละเวลาที่มีอยู่ นำธรรมอันประเสริฐนี้ มาสั่งสอนให้สัตว์โลกอย่างเราอย่างท่าน ด้วยความไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่อย่างใด

การฟังธรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการถ่ายทอดธรรมจากใจสู่ใจ ถ่ายทอดสิ่งที่ดีที่งาม จากใจอันสะอาดบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เข้าสู่ใจของปุถุชนอย่างเราอย่างท่าน เพื่อจะได้กลายเป็นใจของพระอริยบุคคลขึ้นมา ได้ด้วยการฟังธรรมนี้แหละ ในสมัยพุทธกาลมีผู้บรรลุธรรม จากการฟังธรรม มีจำนวนมาก และบรรลุได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว  เพียงได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียว  ก็บรรลุธรรมกัน เป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆกันมากมาย เช่น ในครั้งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระปฐมเทศนา ทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์ ด้วยพระอริยสัจ ๔ และ มรรค ๘  ก็มีหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ คือพระอัญญาโกณฑัญญะ มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา เห็นว่าธรรมอันใดที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ธรรมอันนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา นี่ก็เป็นการบรรลุเห็นธรรมแล้ว เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็ต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  มีการเกิด ก็ต้องมีการตายเป็นธรรมดา ถ้าใครเห็นสัจธรรมนี้แล้ว จะไม่ฝืนความจริงนี้ ยอมรับความจริงนี้  แล้วจะไม่หวั่นไหว จะไม่ทุกข์ จะไม่มีความรู้สึกอะไรกับความเป็นความตาย เพราะถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา

นี่แหละคืออานิสงส์ของการฟังธรรม เมื่อฟังธรรมแล้วจะทำให้มีความกล้าหาญ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวิตกกังวลกับการสูญเสียทั้งหลาย  ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟัง ใจจะถูกโมหะ ความหลง อวิชชา ความไม่รู้ปิดกั้นไม่ให้เห็นความจริงอันนี้ แล้วทำให้ยึดติดอยู่ในสิ่งต่างๆ โดยคิดว่าสิ่งต่างๆที่ยึดติดอยู่ จะอยู่กับเราไปตลอด แต่หารู้ไม่ว่า วันใดวันหนึ่งจะปรากฏเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมา นั่นก็คือเกิดการดับ  เกิดการสูญเสียสิ่งนั้นๆไป แต่ถ้ารู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ว่าเรื่องเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้น เราก็เตรียมตัว เตรียมใจเอาไว้ก่อน  ซ้อมไว้ก่อนแล้ว พอถึงเวลาก็ไม่เกิดอาการตื่นเต้นอะไรเลย เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นี่แหละ คือเรื่องราวของการฟังเทศน์ฟังธรรม ว่ามีความสำคัญอย่างไรกับชีวิตจิตใจของพวกเรา ถ้าไม่ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว เราจะลืมเรื่องเหล่านี้ เพราะว่าในวันๆหนึ่ง ชีวิตของเราจะมีเรื่องราวเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มากมาย ที่จะมากลบ มาลบเรื่องราวของธรรมที่เราได้ยินได้ฟังกันมาในขณะที่มาวัด

เวลามาวัดเราจะได้ฟังธรรม  ฟังเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความไม่มีตัวตน ความไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ สิ่งต่างๆให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้เสมอไป แต่เราจะลืมเรื่องเหล่านี้ไปหมด เมื่อเราออกไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆทางโลก  การทำมาหากินค้าขาย จะคิดแต่วิธีแสวงหา สะสม รักษา ปกป้องสิ่งต่างๆที่หามาได้ด้วยความยากเย็น ลำบากลำบน จนกระทั่งลืมไปว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่หามาได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของ จะมีมากมายขนาดไหนก็ตาม บุคคลต่างๆ เช่นสามีของเรา ภรรยาของเรา ลูกหลานของเรา จะไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด สักวันหนึ่งเขาไม่จากเราไป  เราก็ต้องจากเขาไป  ถ้าไม่เคยคิด ไม่เคยพิจารณา ไม่คอยเตือนสติ เราจะลืมไปเลยเหมือนกับว่าสิ่งเหล่านี้จะอยู่กับเราไปตลอด และเมื่อเกิดการพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว เราก็จะต้องร้องห่มร้องไห้  ทำใจไม่ได้  กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ถ้าเป็นชนิดที่รุนแรงก็จะทนอยู่ต่อไปไม่ได้ ถึงกับต้องทำร้ายชีวิตของตนเอง นี่คือโทษของการไม่ได้เข้าหาพระศาสนา ไม่ได้ยิน ได้ฟังธรรมตามกาลตามเวลา

พระพุทธองค์ทรงมีความห่วงใยในจิตใจของพวกเรา จึงได้กำหนดวันธรรมสวนะขึ้นมา ให้พวกเราได้เข้าวัด เพื่อฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ถ้าไม่มีเวลาที่จะเข้าวัดก็ขอให้เอาวัดไปไว้ที่บ้าน ไปไว้ในรถยนต์ หรือตามที่ทำงานก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้ธรรมะมีอยู่ในหลายรูปแบบด้วยกัน เป็นหนังสือก็มี มาทางรายการวิทยุโทรทัศน์ก็มี ที่อัดเทปไว้ก็มี ขอให้เรามีสติระลึกรู้อยู่ว่าวันนี้เป็นวันอะไรเท่านั้นแหละ  แล้วทำหน้าที่ของเรา คือ นำเอาธรรมโอสถ อาหารแห่งธรรมเข้ามาหล่อเลี้ยงจิตใจของเราบ้าง ไม่เช่นนั้นแล้ว จิตใจของเราจะมีแต่ความหิว มีแต่ความกระหาย มีแต่ความทุกข์ ความกังวลใจ ท่ามกลางสมบัติที่เรามีอยู่นั่นแหละ เราอาจจะมีสมบัติมากมายก่ายกอง กินไปทั้งชาติก็กินไม่หมด แต่ใจของเรากลับหามีความสุขไม่  กลับสู้คนที่ไม่มีสมบัติอะไรเลย แต่มีธรรมเต็มอยู่ในหัวใจอย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลายไม่ได้ ท่านไม่มีสมบัติอะไรเลยในตัวของท่าน ยกเว้นสมบัติ ๘ ชิ้น ที่เรียกว่าอัฐบริขาร  เป็นสมบัติที่จำเป็นต่อการครองชีพของนักบวช ได้แก่ ๑-๓.  ผ้าไตรจีวร  ๔. บาตร  ๕. ปะคดเอว  ๖. เข็มกับด้าย  ๗. มีดโกน  ๘. ที่กรองน้ำ  นี่คือสมบัติ ๘ ชิ้นของเศรษฐีธรรม

ส่วนพวกเราผู้เป็นยาจกทางธรรม มีสมบัติข้าวของล้นบ้านล้นช่อง จนกระทั่งไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหน ไม่รู้จะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ แล้วจิตใจของพวกเราเป็นอย่างไรบ้าง เรามีความอิ่ม มีความปีติ มีความสุข มีความพอหรือไม่ หรือยังดิ้นรนกวัดแกว่ง ยังอยาก ยังต้องการให้มีมากขึ้นไปกว่านี้ ถ้าเป็นอย่างนี้  ก็เป็นเพราะว่าใจของเรายังขาดธรรมนั่นเอง เพราะถ้าไม่มีธรรมแล้ว กิเลสตัณหา คือ ความโลภ ความอยาก ก็จะทำงานอย่างเต็มที่ สร้างความหิว ความกระหาย ความต้องการ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าเอานำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้ามาสู่ใจ มาชำระกิเลสตัณหา ความโลภความอยากแล้ว ใจก็จะมีความอิ่ม มีความพอ มีความสุข เราจึงควรจะเห็นความสำคัญ ของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยการพยายามแสวงหาโอกาสฟังธรรมกัน ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ คืออย่างน้อยอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง ควรจะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมกันสักครั้ง เพราะการฟังธรรมมีอานิสงส์ มีประโยชน์ อยู่ ๕ ประการด้วยกัน คือ ๑. จะได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยินได้ฟังมาก่อน  ๒. สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว เมื่อได้ฟังซ้ำอีก ก็จะเกิดความเข้าใจที่ดีขึ้น  ๓. ขจัดความสงสัยได้  ๔. ทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง  ๕. ทำให้จิตใจสงบ

โดยปกติในชีวิตที่ต้องวุ่นวายกับการทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ดูแลครอบครัว เราจะไม่ค่อยได้ยินได้ฟังเรื่องราวทางศาสนาสักเท่าไหร่  เช่น เรื่อง พระอริยสัจ ๔  ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค  จะไม่ได้ฟังว่าทุกข์คือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การพลัดพรากจากของชอบ การประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา การผิดหวัง นี่คือความทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย คือตัณหา ความยากต่างๆนานานี้เอง ที่ทำให้ไปเกิด ไปแก่ ไปเจ็บ ไปตาย ไปประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา ไปพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ ไปประสบกับความผิดหวัง ถ้าไม่มีความอยากแล้ว ใจก็จะไม่ไปเกิด  เช่นใจของพระพุทธเจ้า ใจของพระอรหันตสาวก ใจของท่านไม่ไปเกิดแล้ว เพราะท่านได้ชำระความอยากทั้งหลายให้หมดไปแล้ว ตัณหาทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ไม่มีอยู่ในใจของผู้ใด อย่างใจของพระพุทธเจ้า หรือใจของพระอรหันตสาวกแล้ว ใจนั้นก็จะไม่ไปเกิดอีกต่อไป และเมื่อไม่ไปเกิด ก็ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่พลัดพรากจากของรักของชอบ ไม่ต้องไปเสียใจกับความผิดหวัง ไม่ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา 

นี่คือการดับทุกข์ คือนิโรธ ถ้าตัดกิเลส ตัดตัณหาได้ นิโรธก็จะปรากฏขึ้นมา ความทุกข์ในใจแม้แต่นิดเดียวก็จะไม่มี เพราะต้นเหตุแห่งความทุกข์ได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว และสิ่งที่จะทำลายความทุกข์นี้ได้ ก็คือมรรค ปฏิปทาวิธีการปฏิบัติเพื่อที่จะเอาชนะตัณหาทั้ง ๓  ได้แก่การทำบุญให้ทาน รักษาศีล นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา นี่แหละคือวิถีทางแห่งการชำระกิเลสตัณหาทั้งหลาย เป็นเรื่องราวที่จะได้ยินได้ฟังเสมอทุกครั้งที่เข้ามาที่วัด แล้วจะได้นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปประพฤติปฏิบัติ  หมั่นขยันทำบุญทำทานอยู่เสมอ รักษาศีลอยู่เสมอ นั่งสมาธิอยู่เสมอ เจริญวิปัสสนาอย่างต่อเนื่อง คือพยายามมองให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นวัตถุข้าวของต่างๆ ล้วนตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  คือตกอยู่ในกอง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่เที่ยง เป็นกองทุกข์อันใหญ่หลวง เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้  เป็นของที่มาแล้วก็ต้องไป เงินทองที่มีอยู่วันนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องจากเราไป บุคคลต่างๆที่อยู่กับเราก็เช่นกัน เขาอยู่กับเราวันนี้ พรุ่งนี้เขาก็ต้องจากเราไป เขาจะจากไปอย่างไรก็สุดแท้แต่ บางทียังไม่ทันตายจากกันก็จากกันไปแล้ว จากไปเพราะความนอกใจก็มี จากไปเพราะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันก็มี  มีเหตุการณ์ที่จะทำให้เราต้องจากกันอยู่เสมอ เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านี้ก็มีแต่ความวุ่นวายใจ เพราะบังคับเขาไม่ได้ อยากจะให้เขาอยู่บ้านกับเราตลอดเวลา ก็บังคับเขาไม่ได้ วันดีคืนดีเขาก็แว่บหนีออกไปเที่ยว อย่างนี้เป็นต้น หรือถึงเวลาควรที่จะกลับบ้านก็ไม่กลับเสีย คนที่อยู่ที่บ้านก็ต้องนั่งกังวล เป็นห่วงคิดไปต่างๆนานา  ว่าหายไปไหน ไปทำอะไร ท่านถึงเรียกว่าเป็นกองทุกข์ไง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ ถ้าเราพิจารณาด้วยปัญญา ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คิดแล้ว จะเห็นว่ามีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น ส่วนความสุขที่ได้ มีอยู่เพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง ถ้าร้อยบาท เราจะได้ความสุขเพียงบาทเดียว แต่ต้องได้รับความทุกข์ถึงเก้าสิบเก้าบาท เพราะนี่คือลักษณะของสิ่งต่างๆที่มาเกี่ยวข้องกับเรา

เวลาเรามา เราก็มาตัวเปล่าๆ เวลาเราไป เราก็ไปตัวเปล่าๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในศาลานี้ ไม่ได้ไปกับเรา เวลาเขาเอาเราใส่โลง เขาไม่ได้เอาสมบัติต่างๆที่เรามีอยู่ใส่เข้าไปด้วย เขาไม่ได้เอาสามีเรา เอาภรรยาเราใส่ไปในโลงด้วย เขาไม่ได้เอาลูกเต้าหลานเหลนของเรา ใส่ไปกับเราด้วย เราไปคนเดียว ไปตัวเปล่าๆ สิ่งที่เราเอาไปได้ มีแต่บุญและกรรมเท่านั้น บุญก็คือความฉลาด กรรมก็คือความโง่ ถ้าเราเข้าวัดบ่อยๆ ฟังเทศน์ฟังธรรมบ่อยๆ เราก็จะกลายเป็นคนฉลาดขึ้นมา ถ้าเราไม่เข้าวัดเข้าวา ฟังเทศน์ฟังธรรม เราก็จะเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา  เราก็จะถูกโมหะ ความหลง  อวิชชา ความไม่รู้ ฉุดลากให้ไปสะสมกองทุกข์ให้ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วในที่สุดก็จะมาทำลายจิตใจไม่ให้สามารถทนอยู่ต่อไปได้ นี่คือเรื่องราวของจิตใจเรา ถ้ามีธรรมแล้ว จิตใจจะสว่าง จิตใจจะฉลาด จะรู้ว่าอะไรคือความทุกข์ อะไรคือความสุข อะไรเป็นเหตุที่นำความสุข นำความทุกข์มาให้กับเรา

ถ้าไม่มีแสงสว่างแห่งธรรมนำพาไปแล้ว เราก็จะวิ่งเข้าหากองทุกข์ หากองไฟอยู่เสมอ ทุกๆวันนี้ที่เรามีความทุกข์กันนั้น อย่าไปโทษสิ่งต่างๆเลย โทษความโง่เขลาเบาปัญญาของเรานั้นแหละ เพราะคนอีกคนหนึ่งที่อยู่สภาพเดียวกับเรา แต่มีแสงสว่างแห่งธรรม เขาจะไม่ทุกข์เหมือนกับเราทุกข์ เขาไม่เดือดร้อน เพราะเขาไม่ยึดไม่ติดนั่นเอง เขาปล่อยวาง เขารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา เราอาจจะควบคุมดูแลได้ บางครั้งบางเวลา แต่ในที่สุดจะไม่สามารถควบคุมเขาได้ เขาจะต้องเป็นไปตามเรื่องราวของเขาอย่างแน่นอน คนที่รู้เรื่องเหล่านี้แล้ว  และได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว ก็จะไม่เดือดร้อน เปรียบเหมือนกับเวลาเราไปยืมข้าวของๆคนอื่นมา เราก็รู้ว่าข้าวของที่เราได้มานี้ ไม่ใช่เป็นของๆเรา เป็นของที่เรายืมเขามา เดี๋ยวพรุ่งนี้เขาก็จะมาเอาคืนไป เราก็ไม่ผูกใจว่า สิ่งนี้เป็นของๆเรา ต้องอยู่กับเราไปตลอด

เมื่อถึงเวลาที่เจ้าของเขามาขอเอาคืนไป เราก็คืนให้กับเขาไปได้อย่างสบายใจ เอาไปเลย สบายอกสบายใจ เพราะว่าเก็บไว้กลับเป็นความกังวลเสียอีก เพราะกลัวของจะเสีย กลัวของจะหายก่อนที่เจ้าของเขาจะมาเอาไป เวลาเขามาเอาของ แล้วเราไม่มีให้เขานี่ เราจะรู้สึกเสียหน้าเหมือนกับเป็นคนไม่ดี เอาของๆเขามาแล้ว ไม่ยอมคืนให้เขาไป โดยแกล้งบอกว่าหายไป หรือเสียไป  ทั้งๆที่เป็นความจริง  คนที่มีความซื่อสัตย์จะมีความรู้สึกอย่างนั้น รู้สึกว่าเวลาได้ยืมของๆใครมา ใจไม่อยากจะเก็บไว้นานเลย เพราะเป็นภาระทางใจ เพราะจะต้องคอยดูแลรักษาของนั้นให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ให้หายไป ถ้าเขามาเอาคืนไป จะโล่งอกโล่งใจ

เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆที่เราครอบครองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสมบัติ ข้าวของ หรือบุคคลก็ตาม ความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเป็นเหมือนกับของที่เขาให้เรายืมมาใช้ไปวันหนึ่งๆเท่านั้นเอง สักวันหนึ่งเขาจะมาเอาคืนไป ถ้าเรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของที่ยืมเขามาใช้      แล้วจะต้องคืนเจ้าของเขาไป เวลาเขามาเอาคืนไป เราก็จะไม่เกิดความเศร้าโศกเสียใจ เพราะได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว แต่ถ้าไปหลงคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่นั้น เป็นของๆเราอย่างแท้จริง แล้วเกิดเวลาสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไป จิตใจของเราจะเป็นอย่างไร จิตใจของเราก็จะต้องเกิดความทุกข์อย่างมาก เกิดความเศร้าโศกเสียใจ คิดดูถ้าเขามาเอาลูกของเราไป ลูกของเราตายไป สามีของเราตายไป พี่น้องของเราตายไป พ่อแม่ของเราตายไป หรือร่างกายของเราตายไป เราจะทำอย่างไร  จิตใจของเราไม่ว้าวุ่นขุ่นมัวหรือ ทำไมถึงต้องว้าวุ่นขุ่นมัวด้วย ในเมื่อของเหล่านี้ไม่ใช่เป็นของๆเรามาแต่ดั้งเดิม เป็นของที่เขาให้ยืมมาใช้ไปวันหนึ่งๆเท่านั้นเอง ถ้าเราทุกข์ก็เป็นเพราะว่าเราหลง เราโง่ เราไม่ฉลาดเราไม่เคยได้ยิน ได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงทำให้เราหลงยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้เราเกิดความทุกข์อย่างมาก เราจึงควรฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ปล่อยวาง แล้วเราจะได้ไม่ต้องทุกข์กับอะไรอีกต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้