กัณฑ์ที่ ๑๐๖       ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๕

สุข ๒ แบบ

 

ขณะที่ฟังธรรมขอให้ทำใจให้ว่าง ให้สบาย ไม่ต้องกังวลกับเรื่องใดๆทั้งสิ้น ให้มีสติอยู่เฉพาะหน้า ตั้งใจฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วธรรมจะได้ไหลเข้าสู่ใจ เพื่อชโลมเลี้ยงใจให้ได้รับความสงบ ได้รับความสุข ในโลกนี้มีความสุขอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน คือ  ๑. กามสุข   ๒. สันติสุข  ระหว่างสุขทั้ง ๒ ชนิดนี้  พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า ไม่มีสุขใดที่จะเหนือ ที่จะดี เท่าสุขที่เกิดจากความสงบของใจ คือ สันติสุขนั่นเอง เพราะสุขที่เกิดจากกามสุข เป็นสุขที่มีความทุกข์เจือปนอยู่ เนื่องจากเหตุปัจจัยของกามสุข ล้วนเป็นกองทุกข์ทั้งสิ้น คือเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงเป็นความสุขที่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่ไม่ได้ให้ความสุขอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นความสุขที่มีความทุกข์เจือปนอยู่ เปรียบเหมือนกับยาขมที่เคลือบน้ำตาล เวลาอมใหม่ๆก็จะรู้สึกว่าหวาน แต่พอน้ำตาลที่เคลือบยาขมละลายหมดไป ความขมก็จะเข้ามาสัมผัสกับลิ้น ฉันใดกามสุขก็ฉันนั้น

กามสุขจึงเป็นความสุขที่มีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ เปรียบเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด ความสุขที่เกิดจากการกินเหยื่อ มีอยู่เพียงน้อยนิด แต่เมื่อไปติดเบ็ดเข้าแล้ว ความทุกข์ที่เกิดจากเบ็ด จะมีอย่างแสนสาหัส ท่านถึงเปรียบกามสุข ว่าเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ  เป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วหลังจากนั้นก็จะเป็นความทุกข์อันแสนสาหัสตามมา เป็นทุกข์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆที่จิตไปยินดี ไปชอบ เนื่องจากธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นของแปรปรวน มีการเจริญ มีการเสื่อมเป็นธรรมดา ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้หนึ่งผู้ใด เขาจะอยู่เขาก็อยู่ เขาจะไปเขาก็ไป  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จึงนำความไม่สบายใจ  ความทุกข์ใจ มาให้กับผู้ที่ไปติดอยู่กับสิ่งนั้นๆ พระพุทธองค์ซึ่งได้ทรงสัมผัสมาทั้ง ๒ ชนิด คือสุขทางโลก คือ กามสุข และสุขทางธรรม คือ สันติสุข จึงทรงรู้ได้อย่างชัดแจ้งว่าสุขไหนเป็นสุขที่ประเสริฐ เป็นสุขที่แท้จริง เป็นสุขที่ปราศจากความทุกข์ ก็คือสันติสุขนั่นเอง

กามสุขเป็นสุขที่เกิดจากการที่ได้สัมผัสกับกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกอก ถูกใจ เวลาได้เห็นรูปก็ดี ได้ยินเสียงก็ดี ได้ดมกลิ่นก็ดี ได้ลิ้มรสก็ดี ได้สัมผัสโผฏฐัพพะต่างๆก็ดี  ที่ถูกอก ถูกใจ ใจจะมีความยินดี มีความสุขชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อกามคุณทั้ง ๕ เปลี่ยนแปลงไปหรือหายไป ใจก็จะเกิดความว้าเหว่ เกิดความเสียดาย เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะใจไปหลงไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านั้น โดยที่ไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาไว้ก่อนว่า สิ่งต่างๆที่ใจไปยินดีไปชอบนั้น จะอยู่กับใจไปตลอดเวลาหรือเปล่า จะเป็นเหมือนเดิมอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า อย่างเวลาเราชอบบุคคลหนึ่งบุคคลใด เขาจะเป็นอย่างนี้ไปตลอดเวลาหรือเปล่า เขาจะเป็นคนดี ยิ้มแย้มแจ่มใสกับเราตลอดเวลาหรือเปล่า หรือบางครั้งบางเวลาเขาอาจจะทำหน้ายักษ์หน้ามารใส่เรา พูดจาไม่สุภาพใส่เรา  ประพฤติตนไม่ดี เช่นทุบตีเราหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้เราไม่ค่อยคิดกัน หรือเขาอาจจะไม่ทุบตีเรา ไม่ทำหน้ายักษ์หน้ามารใส่เรา ไม่พูดจาหยาบคายใส่เรา แต่เขาจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิตหรือเปล่า เขาจะอยู่จนกระทั่งเราตายไปหรือเปล่า หรือเขาจะตายก่อนเราไป  นี่เป็นสิ่งที่เราไม่ได้วิเคราะห์กัน เราไม่ได้คิดกัน

พอเราเห็นอะไรเข้าสักอย่างหนึ่ง ได้ยินอะไรเข้าสักอย่างหนึ่ง เราก็เกิดอุปาทานความยินดี ความชอบขึ้นมาทันที แล้วก็อยากจะได้สิ่งนั้นโดยไม่คำนึงว่าเขาเป็นอย่างไรอย่างแท้จริง จะเป็นแบบที่เราเห็นอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า อันนี้เราไม่รู้ เพราะไม่คิดกัน ถ้าคิดกันสักหน่อย อาจจะไม่ชอบสิ่งเหล่านั้นก็ได้ เพราะจะเห็นว่า จะไม่เป็นอย่างที่เราเห็นครั้งแรกเสมอไป ต่อไปก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป คนเป็นหนุ่มเป็นสาว ต่อไปก็ต้องเป็นคนแก่คนเฒ่า แล้วในที่สุดก็ต้องตายไปอย่างนี้เป็นต้น ถ้าเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ เวลาได้มาก็รู้สึกว่าดี สวยงามใหม่เอี่ยม แต่ใช้ไปเรื่อยๆ ของก็ต้องเก่าลงๆ แล้วเริ่มเสียหาย เกิดการชำรุดทรุดโทรมขึ้นมา กลายเป็นภาระที่จะต้องดูแล รักษา ซ่อมแซม ให้คงสภาพใช้งานได้ แต่ถ้าไม่สามารถซ่อมแซมได้ ก็ต้องทิ้งไป

นี่คือลักษณะของกามสุข ที่พวกเรายึดติดกันมาก โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราไม่มี เราไม่ได้สัมผัส เราไม่ได้เสพ เราก็ไม่ตาย เราก็ยังสามารถอยู่ได้ นอกเหนือจากสามารถอยู่ได้แล้ว เรายังอยู่ได้ด้วยความสบายใจเสียอีก เพราะเราไม่มีความทุกข์ใจ ความกังวลใจ ความห่วงใยกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่ติดกับสิงเหล่านี้แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ ใจเราก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าหลงไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านี้แล้ว จะเป็นบุคคลก็ดี เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆก็ดี เราจะต้องมีความทุกข์ใจเสมอไป เนื่องจากธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีความไม่แน่นอน อยู่กับเราวันนี้ แต่อาจจะไม่อยู่กับเราในวันพรุ่งนี้ก็ได้  พระพุทธเจ้าจึงทรงเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง ไม่ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง แต่กลับเป็นโทษ เป็นความทุกข์เสียมากกว่า จึงทรงสละกามสุขทั้งหลาย กามสุขของราชโอรส คิดดูซิว่าคนที่เป็นพระราชโอรสนั้น จะมีความสุขทางด้านกามสุขขนาดไหน มีนางสนมกำนัล มีอาหารเครื่องดื่มชนิดต่างๆ มีปราสาทสามฤดูไว้ให้อยู่ให้เสพ  แต่ก็ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอ เสพเท่าไรก็ยังมีความหิวอยู่  ยังต้องเสพอยู่เรื่อยๆ แล้วก็มีความกังวลกับเครื่องมือที่ใช้เสพ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเหมือนกัน เป็นสิ่งที่จะต้องมีการเสื่อมลงไป เมื่อมีอายุมากเข้าตาก็ไม่ดี หูก็ไม่ดี อย่างนี้เป็นต้น แล้วถ้ายังติดอยู่กับกามสุข จะทำอย่างไรเมื่อไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆที่อยากจะมองได้ ฟังสิ่งต่างๆที่อยากจะฟังได้ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ใจก็จะมีแต่ความร้อนรนกังวลอยู่ใจอยู่ร่ำไป

นี่คือลักษณะของกามสุข  จึงไม่ควรให้ความสนใจกับกามสุขกันมากนัก ถ้ายังไม่สามารถตัดหรือละกามสุขได้ ก็ควรเริ่มทำความเข้าใจว่า กำลังกอดอยู่กับกองทุกข์ กำลังกอดอยู่กับลูกระเบิด เราก็รู้ว่าลูกระเบิดนั้นเป็นอย่างไร  ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างไร วันดีคืนดีอาจจะระเบิดขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ ฉันใดกามสุขก็เป็นเช่นนั้น เหมือนกับลูกระเบิด วันดีคืนดีความสุขที่ได้จากกามสุข อาจจะกลายเป็นกามทุกข์ขึ้นมาก็ได้  เช่นสามีภรรยาเวลาแต่งงานกันใหม่ๆ ก็มีความสุขดี มีความเห็นอกเห็นใจ เข้าอกเข้าใจกันดี แต่เมื่ออยู่กันไปนานๆเข้าก็เกิดความชินชาขึ้นมา แล้วก็เริ่มเกิดมีความเห็นที่ไม่ตรงกันขึ้นมา มีการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นมา แล้วในที่สุดอาจจะถึงการทุบตีกันขึ้นมาก็เป็นได้ นี่ก็เป็นเพราะว่าธรรมชาติของคนเรา มันเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งกายและใจ กายก็เปลี่ยน ใจก็เปลี่ยน ใจวันนี้อาจจะชอบคนนี้ แต่เมื่ออยู่กับคนนี้ไปนานๆเข้า เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาได้ เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ความประพฤติที่ดีต่อคนๆนี้ก็จะหายไป ความประพฤติไม่ดีก็มาแทนที่ เมื่อคนๆนี้ได้รับการตอบสนองที่ไม่ถูกอกถูกใจเหมือนดังที่เคยเป็น ก็จะเสียอกเสียใจ เพราะเมื่อก่อนนี้เคยได้รับการตอบสนองที่ดี แต่เดี๋ยวนี้กลับได้รับการตอบสนองที่ไม่ดี มีแต่ความเย็นชา เมินเฉย ไม่ให้ความสนใจ อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เป็นความทุกข์แล้วที่เกิดจากการมีคู่ครอง

ถ้าปรารถนาความสุขที่แท้จริง ความสุขที่ให้ความอิ่มตลอดไป ความพอตลอดไป ไม่มีความทุกข์เลย ก็ควรพิจารณาหรือให้ความสนใจกับสันติสุขบ้าง พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า สันติสุขเป็นสุขที่เกิดจากใจที่สงบตัวลง เป็นความสุขที่ประเสริฐ เป็นความสุขที่เลิศ เป็นความสุขที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง ผู้ใดลองได้ประสบพบเห็นความสุขนี้แม้แต่เพียงครั้งเดียวแล้ว  จะสามารถตัดความสุขอื่นๆไปได้หมดเลย จะทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมดให้กับความสุขอันนี้ ที่เรียกว่าสันติสุข สาเหตุที่พวกเราเข้าวัดกัน มาถือศีล๘ กันก็ดี มาบวชเป็นสามเณรก็ดี มาบวชเป็นพระก็ดี มาบวชเป็นพราหมณ์ก็ดี มาถือศีล ๘ กันก็ดี ก็เป็นเพราะอยากจะมาสัมผัสกับความสุขทางด้านจิตใจบ้าง อย่างที่เมื่อสักครู่ได้สมาทานศีล ๘ กัน  โดยปกติถ้าเป็นศีล ๕ จะไม่มีการควบคุมเรื่องกามสุข อย่างศีลข้อ ๓ ก็ยังเป็นกาเมสุมิจฉาจาราอยู่ คือ ไม่ประพฤติผิดประเวณ ยังเสพกามได้อยู่ เพียงแต่ไม่ให้ผิดประเวณี คือให้เสพกามกับบุคคล ที่เป็นสามีหรือเป็นภรรยาของตนเท่านั้น แต่ถ้าถือศีล ๘ แล้ว ศีลข้อ ๓ ก็จะเปลี่ยนเป็นอพรหมจริยา เวรมณี คือละเว้นจากการเสพกามเลย จะไม่มีการเสพกาม ถือพรหมจรรย์ คำว่าพรหมจรรย์คือไม่เกี่ยวข้องกับหญิงหรือชาย ไม่หาความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง นี่เป็นข้อหนึ่ง เป็นเจตนารมณ์ของผู้ถือศีล ๘ ที่จะตัดกามสุข ไม่หาความสุขจากการเสพกามคุณทั้ง ๕

ศีลข้อ ๖ คือวิกาลโภชนา การไม่รับประทานอาหารในยามวิกาล ยามวิกาลหมายถึงหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว คือจะรับประทานอาหารเพียงเพื่อดูแลรักษาร่างกายให้อยู่เป็นปกติ ระงับความหิวที่เกิดขึ้นจากการขาดอาหาร และป้องกันความหิวที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้รับประทานอาหารเข้าไป นี่คือการรับประทานอาหารของผู้ที่ไม่ต้องการหาความสุขจากการรับประทานอาหาร ต่างกับผู้ที่ยังติดอยู่ ในรส ในกลิ่น ในรูป ของอาหาร เวลารับประทานอาหารยังต้องการความสุขจากการรับประทานอาหารอยู่ เรียกว่ากามสุข คนเหล่านี้เวลารับประทานอาหารจึงมีความพิถีพิถัน มีพิธีรีตองมาก จะต้องหาร้านอาหารที่มีอาหารที่เอร็ดอร่อย มีคนแนะนำ อย่างเชลล์ชวนชิม หรือแม่ช้อยนางรำ อย่างนี้เป็นต้น นี่คือลักษณะของการรับประทานอาหารเพื่อกามสุข ไม่ได้รับประทานอาหารเพื่อเป็นการเยียวยาดูแลรักษาร่างกายให้อยู่ไปวันๆหนึ่ง

คนที่กินอาหารเพื่อให้ร่างกายอยู่ไปวันๆหนึ่ง จะกินอาหารเหมือนกับการกินยา เป็นคนที่ ไม่ได้อยู่เพื่อกิน แต่กินเพื่ออยู่ คนที่กินเพื่อกามสุข คืออาหารจะต้องมีรสชาติดี ร้านอาหารจะต้องตกแต่งสวยหรู มีห้องปรับอากาศ อย่างนี้เขาเรียกว่า อยู่เพื่อกิน คือต้องมีความสุขจากการกิน คนที่อยู่เพื่อกินจึงต้องมีความทุกข์กับเรื่องการกินอยู่เรื่อยไป เพราะจะต้องคอยแสวงหาอาหารที่เอร็ดอร่อยมารับประทาน ถ้าวันไหนไม่ได้รับประทานอาหารที่เอร็ดอร่อย ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมาแล้ว กินข้าวไม่ได้แล้ว เวลาเจออาหารที่ไม่ถูกปากถูกใจเข้าก็มีความทุกข์ขึ้นมาแล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม คนที่กินเพื่ออยู่ จะไม่พิถีพิถันกับเรื่องรสชาติของอาหาร  กับเรื่องสถานที่ว่าจะต้องเป็นอย่างไร เขากินได้อย่างสบาย อาหารที่ไหนมีอย่างไรเขาก็กินได้ กินในภัตตาคารก็ได้ กินริมถนนก็ได้กินได้ทั้งนั้น ขอให้เป็นอาหารที่กินเข้าไปแล้วไม่ทำให้เกิดท้องเสียขึ้นมา ไม่ทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ใช้ได้แล้ว นี่คือลักษณะของคนกินอาหารเพื่ออยู่เท่านั้น ไม่ได้แสวงหาความสุขจากการกิน เพราะรู้ว่าความสุขแบบนี้เป็นความสุขที่มีความทุกข์เจือปนอยู่ คนที่กินเพื่ออยู่จะหาความสุขจากการทำจิตใจให้สงบ

ศีลข้อ ๗ เป็นการควบคุมใจไม่ให้ไปแสวงหากามสุข ทางตา ทางหู ทางจมูก คือไม่แสวงหาความสุขจากการดูหนังดูละคร ฟังเพลง เต้นรำต่างๆ ไม่แสวงหาความสุขจากการแต่งกายให้สวยงาม ผัดแป้ง ทาหน้า ทาปาก ใช้น้ำหอม ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นเหมือนยาเสพติด ถ้าลองได้สัมผัสแล้ว จะอยากสัมผัสไปเรื่อยๆ  เคยได้ดมกลิ่นหอมๆก็อยากจะดมกลิ่นหอมๆไปเรื่อยๆ เห็นรูปสวยๆ ก็อยากจะดูรูปสวยๆงามๆไปเรื่อยๆ ชายบางคนจึงมีภรรยาตั้งหลายคน เพราะเมื่อมีภรรยาคนแรก อยู่กันไปได้สักพักหนึ่ง ก็เริ่มแก่ลง ความสวยงามก็หมดไป ก็หาภรรยาคนที่สอง หาเด็กสาวๆ หน้าตาสวยงาม หาไปเรื่อยๆ อายุ ๗๐-๘๐ ก็ยังมีเด็กอายุ ๑๘–๑๙–๒๐ อยู่ด้วย เป็นลักษณะของการติดกามสุข และก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งตายไปแล้วก็ยังต้องกลับมาเกิดในกามโลกอีก เพราะกามตัณหา ความอยากในกาม จะเป็นตัวนำจิตให้ไปแสวงหากามในภพหน้า ชาติหน้าอีกต่อไป ก็เลยต้องวนเวียนอยู่ในกามโลกไม่มีที่สิ้นสุด และการมาเกิดในกามโลก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์เสมอไป เป็นคนมีเงินมีทองเสมอไป บางทีอาจจะต้องเกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรกก็ได้ เพราะเป็นสัตว์ที่เสพกามเช่นกัน ถ้าการแสวงหากามสุข ไม่ได้แสวงหามาด้วยความถูกต้อง

เช่นการประพฤติผิดประเวณี ไปยุ่งเกี่ยวกับสามีภรรยาของผู้อื่น อย่างนี้ถือว่าเป็นการแสวงหากามสุขที่ไม่ถูกศีลถูกธรรม เป็นเวรกรรม เมื่อตายไป ต้องไปใช้กรรมในอบาย คือจะต้องไปเกิดในภูมิใดภูมิหนึ่งในอบาย๔ เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือ เป็นสัตว์นรก เพราะแสวงหากามสุขโดยมิชอบ คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี โกหกหลอกลวง เสพสุรายาเมา สิ่งเหล่านี้เวลาทำเราอาจจะได้ความสุข แต่เราไม่รู้หรอกว่าเมื่อตายไปแล้ว วิบากที่ตามมาจะเป็นอย่างไร เช่นจะไม่ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ไม่ได้กลับมาเกิดเป็นเทวดา แต่ถ้าแสวงหากามสุขโดยที่ไม่ผิดศีลผิดธรรม คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่โกหกหลอกลวง ไม่เสพสุรายาเมา การแสวงหากามสุขของเราก็จะไม่เป็นโทษในภพหน้าชาติหน้า คือถ้าสามารถรักษาศีล ๕ ได้ เราก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา ไม่ต้องไปเกิดในอบายทั้ง ๔ ถ้ายังเกี่ยวข้องกับกามสุขอยู่ ก็ควรมีความระมัดระวังในการแสวงหากามสุข อย่าไปแสวงหาโดยการผิดศีลผิดธรรม เพราะความสุขที่ได้ในปัจจุบัน จะไม่คุ้มกับความทุกข์ที่จะต้องไปใช้ต่อไป ในภพหน้าชาติหน้า หรือแม้แต่ในภพนี้ ถ้าทำผิดศีล ผิดกฎหมาย ก็อาจจะต้องตายก่อนวัยก็ได้ อย่างพวกที่ค้ายาเสพติดทั้งหลาย เราก็ได้ยินได้ฟังเสมอว่า ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม เมื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เวลาเจ้าหน้าที่มาตามจับ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย ถ้าไม่ถูกยิงตายก็ต้องถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง ถ้าเป็นโทษหนักก็ต้องถูกประหารในที่สุด

ในการแสวงหากามสุขจึงขอให้มีความระมัดระวัง อย่าไปทำผิดศีล ๕ โดยเด็ดขาด อย่าไปทำผิดกฎหมาย แล้วความสุขที่ได้จากกาม ก็จะไม่เป็นโทษมากมาย มีแต่ทำให้ผิดหวังบ้าง เสียใจบ้าง เมื่อสิ่งที่รักที่ชอบเปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างน้อยก็ยังได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้กลับมาเกิดเป็นเทวดา แต่ถ้าเป็นคนฉลาด เห็นแล้วว่ากามสุขเป็นโทษจริงๆ ไม่มีความสุขเลย ก็จงพยายามตัดกามสุขนี้เถิด ด้วยการเข้าหาพระศาสนา มาปฏิบัติธรรมในวัด เริ่มต้นด้วยการหัดถือศีล ๘ ก่อน อาทิตย์หนึ่งก็ถือศีล ๘ สักวันหนึ่ง วันนั้นจะไม่เสพกามกับสามีหรือภรรยาของเรา หรือถ้ายังไม่ได้แต่งงาน ก็จะไม่ออกไปเที่ยวเตร่กินเหล้าเมายา ดูหนัง ดูละครอย่างนี้เป็นต้น ถ้าไม่ได้เข้าวัดก็ถือศีล ๘ อยู่ที่บ้านก็ได้ ถ้าถือศีล ๘ อยู่ที่บ้านลำบากก็หาเวลาปลีกมาอยู่ที่วัด เพราะอยู่ที่วัดบรรยากาศจะดีกว่า เพราะคนทุกคนที่อยู่ในวัดก็ถือศีล ๘ เหมือนกัน ทำให้การถือศีล ๘ ของเราไม่ลำบาก ไม่ต้องว่ายทวนกระแส แต่ถ้าอยู่ที่บ้าน คนอื่นเขาไม่ถือศีล ๘ กัน เราถือศีล ๘ คนเดียว ก็ลำบาก เดี๋ยวคนนั้นเปิดวิทยุ เปิดโทรทัศน์ คนนั้นร้องเพลง คนนั้นกินข้าวเย็น เมื่อเขาทำอย่างนั้นกัน ถ้าใจเรายังไม่เข้มแข็งพอ ยังไม่มีพลังพอ ก็จะตบะแตกได้ จึงควรหาเวลาเข้าวัดกัน หาวัดที่สงบ เป็นวัดที่มีการปฏิบัติธรรม ถือศีล ๘ กัน หรือทำบ้านให้เป็นวัดก็ได้ แล้วใช้เวลาว่าง ศึกษาธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ดังที่ท่านทั้งหลายกำลังฟังอยู่ในขณะนี้ หรือฟังเทปธรรมะก็ได้ หรือว่าจะพิจารณาธรรมก็ได้ การพิจารณาธรรมก็เป็นการฟังธรรมะไปในตัว เช่นวันนี้ญาติโยมได้ฟังธรรมไปแล้ว ก็นำมาคิดมาใคร่ครวญว่าความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร ความสุขที่ไม่ใช่เป็นความสุขเป็นอย่างไร แล้วจะได้แยกแยะได้ว่า สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ควรกระทำ สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ

การฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นการศึกษาแนวทาง หรือศึกษาแผนที่ว่า ทิศทางที่จะไปนั้น จะต้องดำเนินอย่างไร ถ้าต้องการสันติสุข ความสงบสุขของจิตใจ เราต้องทำอย่างไร ความสุขของใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีอินทรีย์สังวร  ความสำรวมใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย คือตาของเรา หูของเรา จมูกของเรา ลิ้นของเรา กายของเรา จะต้องอยู่ห่างจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เย้ายวนใจ ที่ถูกอกถูกใจ เวลาเห็นรูปที่ชอบ ก็เกิดความกำหนัดยินดีขึ้นมา ได้ยินเสียงที่ชอบ ได้ดมกลิ่นที่ชอบ ได้ลิ้มรสที่ชอบ ได้สัมผัสกับโผฏฐัพพะที่ชอบ ก็เกิดความกำหนัดยินดีขึ้นมา แล้วก็จะทำให้ตบะแตกได้ ไม่สามารถรักษาศีล ๘ ได้ อย่างนี้เป็นต้น เราจึงต้องสำรวมอินทรีย์ อย่าไปดู อย่าไปฟัง  อย่าไปดม อย่าไปลิ้มรส อย่าไปสัมผัสกับโผฏฐัพพะต่างๆที่ถูกอกถูกใจ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของหญิงหรือชายนั่นเอง ถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องหลีกเลี่ยงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของผู้หญิง ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องหลีกเลี่ยงหรืออยู่ห่างไกล รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของผู้ชาย

ในวัดจึงมีการจัดสถานที่พักให้แยกกัน ฝ่ายพระก็อยู่ฝ่ายพระ ฝ่ายฆราวาสก็อยู่ฝ่ายฆราวาสไม่ให้คลุกคลีกัน แม้กระทั่งในฝ่ายฆราวาสก็ต้องแยกกันระหว่างหญิงกับชาย ไม่ให้อยู่ใกล้กัน อยู่รวมกัน เพราะเมื่ออยู่ใกล้กัน อยู่รวมกันแล้ว ก็เปรียบเหมือนน้ำมันกับไฟ  โอกาสที่จะลุกขึ้นมานั้นมันง่าย ถ้าอยู่ใกล้กัน จึงต้องเอาไว้ห่างๆกัน  เวลาเก็บน้ำมันจึงต้องเก็บไว้ที่หนึ่ง ให้ห่างจากที่ที่มีสะเก็ดไฟ ต้องแยกออกจากกัน ไม่ให้อยู่ใกล้กัน เพราะอยู่ใกล้กันแล้ว จะเกิดการปะทุขึ้นมา ฉันใดกามราคะคือความกำหนัดยินดีในกามก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นมาทันที ถ้าไม่มีการสำรวมอินทรีย์ คือไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย   พระพุทธเจ้าจึงสอนนักปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์องค์เจ้า ให้แสวงหาที่สงบสงัด ที่วิเวก ที่อยู่ไกลจากบ้านคน อยู่ไกลจากเสียงคน ให้ไปอยู่ตามป่าตามเขา เพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามสถานที่เหล่านั้นจะไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใจ เพราะไม่เป็นสิ่งที่เย้ายวนกวนใจ ไม่เป็นสิ่งที่จะไปกระตุ้นให้เกิดกามารมณ์นั่นเอง นี่แหละคือลักษณะของการที่จะปฏิบัติเพื่อทำให้จิตสงบ ในเบื้องต้นจะต้องปลีกวิเวก จะต้องแยกออกจากกามคุณ ๕ ทั้งหลาย ที่เป็นโทษกับความสงบของใจ เมื่ออยู่ที่สงบแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องใช้สติควบคุมใจอีกชั้นหนึ่ง ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว ถ้าไม่มีสติใจก็ยังที่จะอดคิดไม่ได้ หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็นอย่างนี้เป็นต้น จึงต้องเอาใจมาทำงาน เอามานั่งไหว้พระสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ  กำหนดดูลมหายใจเข้าออกด้วยสติ จนจิตรวมลงสู่ความสงบ เข้าสู่สันติสุข ความสุขที่แท้จริง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้