กัณฑ์ที่ ๑๐๙       ๑๑ เมษายน ๒๕๔๕

รักษาธรรมยิ่งกว่าชีวิต

 

ต่อไปนี้เป็นเวลาฟังธรรม ขณะที่ฟังธรรมควรทำใจให้เป็นปัจจุบัน คือให้มีใจอยู่ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ อย่าให้ใจลอยไปลอยมา ไปตามสถานที่ต่างๆ ไปในที่ใกล้ ที่ไกล ไปในอดีต หรืออนาคต ขอให้มีสติเป็นเหมือนกับสมอที่คอยรั้งใจไว้ ไม่ให้ลอยไปลอยมา  เหมือนกับสมอที่คอยรั้งเรือไว้ ไม่ให้ไหลไปตามกระแส  สติก็เปรียบเหมือนกับสมอของใจ ถ้าเราตั้งสติแล้วเท่ากับเราได้ทอดสมอ ทำให้ใจไม่ลอยไปลอยมา เราจะตั้งสติอยู่ที่ไหน  ในขณะที่ฟังธรรม เราก็ควรตั้งสติไว้กับการฟังธรรม  ถ้ามีสติอยู่กับการฟังธรรมแล้ว กระแสแห่งธรรมก็จะไหลเข้าสู่ใจ  ทำให้มีความสดชื่นเบิกบาน มีความสุขความเจริญ  ต้องอาศัยกระแสแห่งธรรมนี้แหละเป็นเครื่องพาไป ดังนั้นในขณะที่ฟังธรรม ขอให้ลืมทุกสิ่งทุกอย่างไปชั่วขณะหนึ่ง  ให้ใจอยู่ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ อยู่กับการฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วประโยชน์อันสูงสุดคือความเป็นสิริมงคล ที่จะได้จากการฟังธรรม จะเป็นของท่านอย่างแน่นอน  ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า กาเลนะ ธัมมัสสวนัง เอตัมมัง กะละมุตมัง การฟังธรรมตามกาลตามเวลา  เป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง

เพราะการฟังธรรมเป็นการได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ดีที่งาม ที่ลึกซึ้ง ที่กว้างไกล มากกว่าความสามารถของเราทั้งหลายที่จะสามารถรู้ได้ เพราะธรรมคือความรู้ของผู้ประเสริฐอย่างพระพุทธเจ้า ผู้ได้ปฏิบัติจนบรรลุธรรม มีญาณเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ไม่มีใครสามารถเห็นได เปรียบเหมือนกับคนตาดี ที่สามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ดีกว่าคนตาบอด คนตาบอดย่อมเห็นแต่สิ่งที่มีอยู่ภายในใจของเขาเท่านั้น ก็คือสีดำมืด แต่คนตาดีย่อมเห็นสีต่างๆได้มากกว่าสีดำเพียงสีเดียว การฟังธรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกๆท่าน ที่จะพึงขวนขวายประพฤติปฏิบัติ จึงได้ทรงกำหนดให้มีวันธรรมสวนะขึ้นมา  อาทิตย์หนึ่งๆควรมีการฟังธรรมสักครั้งหนึ่ง เมื่อวันธรรมสวนะมาถึง ท่านทั้งหลายจึงได้เดินทางมาที่วัด  ส่วนพระสงฆ์ท่านก็มีหน้าที่แสดงธรรมให้กับท่านทั้งหลายได้ฟังกัน เมื่อทั้งสองฝ่าย คือผู้แสดงและผู้ฟัง ต่างมีความตั้งใจที่จะแสดง ที่จะฟังแล้ว ผลที่จะปรากฏขึ้น ย่อมเป็นความสิริมงคล ทั้งแก่ผู้แสดงและผู้ฟัง

มีธรรมอยู่บทหนึ่งที่สอนว่า ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม  เป็นการแสดงถึงคุณค่าของธรรมที่มีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด  ทรงแสดงว่า ทรัพย์สินสมบัติมีคุณค่าน้อยกว่าอวัยวะของเรา ส่วนอวัยวะของเราก็มีคุณค่าน้อยกว่าชีวิตของเรา และชีวิตของเราก็มีคุณค่าน้อยกว่าธรรม เพราะว่าไม่มีอะไรในโลกนี้จะมีคุณค่ายิ่งกว่าธรรม เพราะธรรมจะเป็นเครื่องดูแลรักษาใจเรา เพราะในบรรดาสมบัติทั้งหมดที่เรามีอยู่นั้น ไม่มีอะไรจะมีคุณค่า มีความสำคัญยิ่งกว่าใจของเรา เพราะใจของเราเป็นผู้ที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเรา ไม่ว่าดีหรือชั่ว ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ไม่ว่านรกหรือสวรรค์ ไม่ว่าการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร หรือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องเกิดจากการกระทำของใจเราเท่านั้น การที่ใจจะไปในทิศทางที่ดี ไปสู่ความสุขความเจริญ ไปสู่สวรรค์  ไปสู่มรรคผลนิพพาน ไปสู่การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้นั้น จะต้องมีธรรมเป็นผู้นำไป พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า ไม่มีอะไรที่จะสำคัญเท่ากับการรักษาธรรม  เมื่อรักษาธรรมแล้ว ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรมให้แคล้วคลาดปลอดภัย นี่แหละคือความสำคัญของธรรม

สิ่งต่างๆมีคุณค่าไม่เท่ากัน สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดคือธรรม เพราะธรรมเป็นผู้รักษาใจ  ดังที่เราทั้งหลายได้เปล่งวาจากล่าวในขณะที่สมาทานศีลเมื่อสักครู่นี้ว่า ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ธรรมเป็นสรณะของเรา เรายึดถือธรรมเป็นที่พึ่งของเรา เราจึงควรคำนึงถึงธรรมบทนี้ไว้เสมอ ให้รักษาธรรมยิ่งกว่ารักษาอะไรทั้งสิ้น เพราะธรรมนี่แหละเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ ความไม่มีทุกข์ ไม่มีภัยทั้งหลายให้กับเรา ธรรมในที่นี้คือ บารมี ๑๐  ได้แก่ ๑.ทาน การให้  ๒.ศีล การละเว้นจากการกระทำบาปทางกาย ทางวาจา   ๓.เนกขัมมะ การออกจากกามสุข  ๔.อธิษฐาน การตั้งใจ ๕.สัจจะ  ความจริงใจ  ๖.วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร       ๗.ขันติ ความอดทน  ๘.เมตตา ความมีไมตรีจิต ๙.ปัญญา ความฉลาดรอบคอบ  ๑๐.อุเบกขา การทำใจให้เป็นปกติ ไม่ไหลไปตามกระแสของความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ไหลไปตามอคติทั้งหลายคือ รัก ชัง หลง กลัว นี่คือธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เรารักษายิ่งกว่าชีวิต เพราะถ้ามีธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้ว ใจของเราจะมีแต่ความสุขความเจริญ มีเกราะป้องกันคุ้มครอง ไม่ให้ความทุกข์ทั้งหลายมารุมเร้าจิตใจของเราเลย

การมาทำบุญกันในวันนี้ จึงเป็นการเจริญรอยตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือมาทำทานกัน ถวายภัตตาหารคาวหวาน จตุปัจจัยไทยทานให้แก่พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาอยู่ในวัดนี้ เรียกว่าทาน คือการให้ นอกจากนั้นยังมีการสมาทานศีล ศีล ๕ ศีล ๘  ละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นทางกาย ทางวาจา และปฏิบัติเนกขัมมะ เว้นจากการหาความสุขทางกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะไม่หาความสุข จากการดูหนังดูละคร ฟังเพลง หาความสุขจากการเสพกาม อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าเนกขัมมะ ปฏิบัติเนกขัมมะ การออกจากกาม การที่จะปฏิบัติธรรมทั้ง ๓ นี้ได้ ก็ต้องอาศัยธรรมข้อที่ ๔ ถึงข้อที่ ๑๐ คือต้องมีอธิษฐาน  ความตั้งใจ อธิษฐานหมายถึงความตั้งใจ ไม่ได้หมายความว่าขอสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้ การอธิษฐานเป็นภาษาบาลี  หมายความว่าการตั้งใจ คือการตั้งเป้าหมายสำหรับการเดินทางของเรา เวลาเราจะเดินทางไปไหน เราต้องรู้ว่าจะไปที่ไหน จุดหมายปลายทางของการเดินทางนั้นอยู่ที่ไหน อย่างก่อนที่ท่านจะออกมาจากบ้าน ท่านก็ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่าจะมาที่วัด วัดก็คือเป้าหมาย จุดหมายปลายทางของการเดินทางของท่าน นั่นแหละเวลาท่านออกจากบ้านท่านก็ตั้งอธิษฐานไว้แล้วว่าจะไปวัด แล้วการที่จะไปถึงวัดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับธรรมอีกข้อหนึ่ง คือสัจจะ ความจริงใจ เราตั้งใจแล้ว แต่เรามีความจริงใจกับความตั้งใจของเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าเราไม่มีความจริงใจ บางทีก่อนที่เราจะออกจากบ้าน บังเอิญมีใครโทรศัพท์มาชวนให้ไปทำธุระ หรือไปเที่ยว หรือไปทำอะไรอย่างอื่นขึ้นมา ถ้าไม่มีความจริงใจที่จะมาวัดแล้ว ไม่มีความจริงใจต่อการตั้งใจของเรา อาจจะเสียหลักได้ แทนที่จะมาวัด อาจจะไปตามเสียงโทรศัพท์ที่มาตามเราไปก็ได้ เพราะขาดสัจจะ ความจริงใจนั่นเอง

การที่จะปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้นั้น จึงต้องมีสัจจอธิษฐาน คือมีความจริงใจต่อการตั้งใจของเรา เช่น พระพุทธองค์ทรงสอนว่าอย่างน้อยทุกๆวันพระ ควรจะปฏิบัติธรรมกันสักครั้งหนึ่ง เช่นทำบุญให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติเนกขัมมะ ถือศีล ๘  การถือศีล ๘ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติเนกขัมมะแล้ว เพราะศีลข้อที่ ๖ ก็คือการละเว้นจากการรับประทานอาหารในช่วงยามวิกาล คือหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว เพราะเหตุใดเราจึงต้องละเว้นการรับประทานอาหาร หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานถึงตอนเย็น ถึงตอนกลางคืนนั่นเอง การรับประทานอาหารในช่วงเช้าถึงกลางวันก็พอเพียงที่จะรักษาให้ร่างกายอยู่ไปได้อย่างสบาย จนถึงวันรุ่งขึ้น ไม่มีปัญหาอะไร

แต่พวกเราส่วนใหญ่ยังมีความยึดติด  มีความชอบในกามสุขอยู่ ยังมีความสุขในการรับประทานอาหารอยู่  เลยอดไม่ได้ที่จะรับประทานอาหารต่ออีกหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว  ตอนบ่ายก็รับประทานกัน ตอนเย็นก็รับประทานกัน แม้กระทั่งตอนค่ำก่อนนอนก็ยังรับประทานกัน  เพราะเรารับประทานอาหารเพื่อความสุข  ไม่ได้รับประทานอาหารเพื่อดูแลรักษาร่างกายให้อยู่เป็นปกติ ร่างกายของเราเลยเกิดอาการอ้วนท้วนสมบูรณ์ เกินความจำเป็น เพราะเราไม่ได้กินเพื่อร่างกายของเรา เรากินเพื่อกามสุข พระพุทธองค์ทรงเห็นว่านี่เป็นโทษ เพราะเป็นการทำให้เราหลงติดอยู่กับสิ่งที่ไม่มีคุณค่าอะไร  ทำให้เราเป็นเหมือนกับปลาที่ไปกินเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด พอฮุบเหยื่อเข้าไปแล้วก็ฮุบเบ็ดเข้าไปด้วย ก็เลยต้องติดอยู่กับการกิน ถ้าไม่ได้รับประทานอาหารตามความอยากแล้วก็จะต้องดิ้นทุรนทุราย มีแต่ความทุกข์  ความจริงแล้วการรับประทานอาหาร ก็เพื่อดูแลรักษาร่างกายเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อให้ความสุขกับเรา เพราะการรับประทานอาหารไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่แท้จริงต้องเกิดจากการปฏิบัติธรรม ใจจะสุขหรือไม่สุขก็ขึ้นอยู่กับการมีธรรมอยู่ในใจมากน้อยแค่ไหน  ถ้ามีธรรมมากใจจะมีความอิ่ม มีความปีติ มีความสงบ มีความสุขมาก นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง พระพุทธองค์จึงทรงกำหนดให้เราปฏิบัติเนกขัมมะกัน ละเว้นจากการรับประทานอาหารในยามวิกาล คือหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว และให้ละเว้นจากการหาความสำราญ ความสุข กับเครื่องบันเทิงทั้งหลาย เช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ เสียงดนตรีต่างๆเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่ไม่ให้ความอิ่ม ไม่ได้ให้ความพอ เป็นเหมือนยาเสพติด เราไม่ควรแสวงหาความสุขเหล่านี้ แต่ควรหาความสุขจากการปฏิบัติธรรม ด้วยการเว้นจากการเสพกามสุขเหล่านี้  และให้ละเว้นจากการใช้เครื่องหอมต่างๆ อาบน้ำอาบท่าแล้ว ก็ไม่ต้องทาแป้งทาปาก อันนี้เป็นของหลอกกัน ความสวยงามของคนเราไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา ไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีสีสัน แต่อยู่ที่ใจที่มีศีลธรรมปกครองต่างหาก ใจที่มีศีลธรรมเป็นใจที่สวยงาม  อยู่กับใครก็จะมีแต่ความชื่นชมยินดี ต่างกับคนที่สวยงามที่รูปร่างหน้าตา ทาหน้า ทาปาก แต่งหน้า แต่งตัว ใช้น้ำหอม แต่ไม่มีศีลธรรมย่อมไม่สวยงามเลย อยู่กับใครก็ไม่มีใครอยากจะอยู่ด้วย มีใครอยากจะอยู่กับคนพูดปดมดเท็จ อยู่กับคนลักเล็กขโมยน้อย อยู่กับคนที่แย่งสามีหรือภรรยาของผู้อื่น อยู่กับคนที่จะทำร้ายชีวิตผู้อื่น ไม่มีใครอยากจะอยู่ด้วยแน่นอน  เพราะทำตนให้เป็นพิษเป็นภัยกับคนทั้งหลาย แต่คนที่มีศีลธรรมย่อมไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือไม่ฆ่า ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่โกหกหลอกลวง จึงเป็นที่น่าไว้วางใจ เพราะไม่มีพิษไม่มีภัย

จึงขอให้เห็นความสำคัญของความสวยงามของใจ  ยิ่งกว่าความสวยงามของรูปร่างหน้าตาของเรา  พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ละเว้นจากการใช้เครื่องประดับประดา แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์หรูหรา ด้วยเครื่องหอมต่างๆ เพราะไม่ใช่เป็นของที่ดี ที่งาม ที่แท้จริง เป็นการหลอกลวงกันไปวันๆหนึ่งเท่านั้นเอง นี่แหละก็คือกิจกรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพึงปฏิบัติกัน เป็นธรรมะปฏิบัติ เหมือนกับเป็นการรักษาธรรมยิ่งกว่าชีวิต ถ้ามีธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมแล้ว จะมีแต่ความรื่นเริงใจ มีความสบายใจ  แต่การที่จะปฏิบัติธรรมได้ นอกจากจะมีสัจจอธิษฐานแล้ว ยังต้องมีวิริยะ ความพากเพียร ขันติ ความอดทน ปัญญา ความฉลาดรอบคอบ เมตตา ความมีไมตรีจิต  และอุเบกขา  การทำใจให้วางเฉยจากอารมณ์ทั้งหลาย ถ้าไม่มีธรรมเหล่านี้ การปฏิบัติก็จะไม่เป็นไปได้ด้วยดี เพราะการที่จะมาวัดแต่ละครั้งนั้น ถ้าไม่พากเพียรอุตสาหะจริงๆแล้ว มาไม่ถึงวัด ถ้าไม่มีความอดทน ก็ไม่อยากจะมาวัด เพราะเวลามาวัดแล้ว ส่วนใหญ่จะต้องมานั่งเฉยๆ  มานั่งรอให้ทำกิจกรรมต่างๆไปกว่าจะเสร็จ  ก็ใช้เวลานาน ถ้าไม่มีความอดทนแล้ว จะไม่สามารถทำได้ แต่หารู้ไม่ว่าถ้ามีความพากเพียร มีความอดทนแล้ว ธรรมทั้งสองประการนี้ จะเป็นเครื่องปกป้องคุ้มครองรักษาใจไม่ให้ตกไปสู่ที่ต่ำ

คนที่ประพฤติผิดศีลผิดธรรมนั้น  สาเหตุส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่ไม่มีความอดทน ไม่มีความขยันหมั่นเพียรนั่นเอง เวลาทำมาหากินก็อยากจะหามาแบบง่ายๆ เช่นไปแทงหวยเพื่อหวังที่จะให้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ หรือไปเล่นการพนัน หรือไปขายตัวก็มี ขายได้หลายแบบสมัยนี้ บางทีก็ไปขายยอวัยวะก็มี เพราะขี้เกียจทำมาหากิน เมื่อไม่มีความรู้ความสามารถ จะไปทำมาหากินที่สุจริตแล้วมีรายได้มากย่อมเป็นไปได้ยาก  เพราะความขี้เกียจเลยต้องหากินทางลัด ถ้าไม่ได้ขายอวัยวะ ขายตัวเองก็ต้องไปลักขโมย ไปปล้นไปจี้เขา แล้วในที่สุดก็ต้องไปฆ่าเขา ถ้าไม่มีความอดทน เวลาเกิดตกทุกข์ได้ยากขึ้นมา ไม่มีอาหารกิน ก็ทนไม่ไหว เลยต้องไปขโมยอาหารของผู้อื่นมารับประทาน ต้องผิดศีลผิดธรรม แต่ถ้าหมั่นมาวัดอย่างสม่ำเสมอ  มาปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เราก็จะได้สะสมบารมี คือวิริยะบารมี ความขยันหมั่นเพียร ขันติบารมี ความอดทน เวลาตกทุกข์ได้ยากขาดสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะมีความอดทนอดกลั้นไม่เดือดร้อน ถึงแม้จะไม่ได้รับประทานอาหารมื้อ สองมื้อก็ไม่ตาย เพราะมีความอดทน แต่ถ้าไม่มีความอดทนแล้ว มันก็จะผลักให้เราไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ผิดศีล ผิดธรรม ผลที่ตามมาก็คือความทุกข์ ความเดือดร้อน ความเสื่อมเสีย ความหายนะ

นี่แหละทำไมเราจึงต้องมาปฏิบัติธรรมกัน เพราะเมื่อมีธรรมแล้ว ธรรมก็จะรักษาไม่ให้ใจของเราไหลไปสู่ที่ต่ำ  แต่ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมกัน ใจจะถูกอำนาจใฝ่ต่ำ คือกิเลส ตัณหาทั้งหลาย ที่มีอยู่ในใจคอยฉุดลากไปทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม สิ่งที่เมื่อทำไปแล้วจะมาเสียใจทีหลัง ทำไปแล้วมาเสียใจก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะกรรมอันใดเมื่อทำไปแล้ว ผลย่อมมีตามมา ถ้าทำผิดกฎหมายไม่ช้าก็เร็วก็ต้องถูกเขาจับเข้าคุกเข้าตะราง ขณะที่ยังไม่ถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง ก็จะมีแต่ความวุ่นวายใจ มีแต่ความเดือดร้อนใจ มีแต่ความกังวลใจ เพราะไม่รู้ว่าจะถูกจับไปเข้าคุกเข้าตะรางเมื่อไรนั่นเอง  ถ้าจะเสียใจก็ควรเสียใจตอนก่อนที่จะทำความชั่ว คือให้รู้ว่า การทำความชั่ว เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ จึงควรมีขันติ ความอดทน มีวิริยะความขยัน ถ้าตกทุกข์ได้ยากไม่มีเงินไม่มีทอง ก็หางานทำไปเถิด ขยันทำงานอะไรก็ได้ ถึงรายได้จะน้อยก็ยังดีกว่าไปลัก ไปขโมย ไปทำผิดศีล ผิดธรรม ถ้ามีความขยันแล้ว ให้ทำอะไรก็ทำได้  เป็นคนใช้เขาก็ได้  เป็นคนสวนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เดินเก็บเศษขยะ เก็บขวดเปล่าที่ทิ้งอยู่ข้างถนนก็ได้ มีอยู่เยอะแยะไป เราพอช่วยตัวเราได้ พึ่งตัวเราได้ ถ้ามีความขยัน มีความอดทน  ถ้าไม่มีความขยัน ความอดทนแล้ว ก็จะแสวงหาในทางที่ไม่ชอบขึ้นมาทันที ดังที่ได้ยินได้ฟังเสมอมา คนเราทุกวันนี้เพราะขาดความขยันหมั่นเพียร ขาดความอดทน เลยทำให้ต้องไปลักเล็กขโมยน้อย ไปรับจ้างฆ่าผู้อื่น ไปขายตัวตามสถานบริการต่างๆ ทั้งหญิงและชาย สมัยนี้ไม่ใช่แต่หญิงอย่างเดียว ชายก็มีการขายตัวเหมือนกัน เพราะจิตใจของผู้ชายทุกวันนี้ก็เป็นเหมือนของผู้หญิงนั่นแหละ ถ้าเกิดมีความเกียจคร้านไม่มีความอดทนแล้ว ชีวิตก็จะต้องดำเนินไปในรูปแบบนั้น

นอกจากมีความขยันหมั่นเพียร  มีความอดทนแล้ว  เรายังต้องมีปัญญาอีกด้วย คือต้องรู้จักแยกแยะว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นคุณ  อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข  อะไรเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ ถ้าปฏิบัติธรรมไปโดยที่ไม่รู้ว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ปฏิบัติอย่างไรถึงจะเกิดคุณ  เกิดประโยชน์  เราก็อาจจะปฏิบัติไปแบบผิดๆก็ได้  อย่างเวลาทำบุญให้ทาน เราต้องเข้าใจว่าการทำบุญให้ทานเป็นการขัดเกลาจิตใจ ขัดเกลากิเลส คือ ความโลภ ความอยาก ความเห็นแก่ตัว ให้น้อยลงไป การทำบุญให้ทานนี่ เราไม่ได้หวังผลตอบแทนจากผู้ที่เราไปทำบุญด้วย อย่างเวลาที่ท่านทั้งหลายเอาข้าวของมาถวายพระ เมื่อถวายพระไปแล้วก็ถือว่าได้บุญแล้ว ของที่ให้พระไปนั้น  ไม่ใช่เป็นของๆเราแล้ว เป็นของพระท่านไปแล้ว เราจึงไม่ควรไปกังวลว่าของที่เราถวายท่านไปนั้น ท่านจะเอาไปใช้หรือเปล่า ท่านจะเอาไปทำอะไรอย่างไร ท่านจะรู้หรือเปล่าว่าเราเป็นผู้ให้ท่าน ถวายให้กับท่าน  ความคิดเหล่านี้ล้วนเป็นความหลงผิดทั้งนั้น เพราะถ้าคิดอย่างนี้แล้ว แทนที่จะได้บุญคือความสุข ความสบายใจ กลับต้องมีความกังวลใจเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะความหลง เพราะความเห็นแก่ตัว  ทำบุญแล้วยังอยากจะให้เขารู้ว่าเราทำบุญ  ยังอยากมีหน้ามีตาอยู่ อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการทำบุญที่ถูกต้อง  การทำบุญที่ถูกต้องนั้น ต้องทำใจให้สบาย ให้สุข ให้เบา เพียงแต่รู้ว่าได้ทำคุณประโยชน์ก็พอแล้ว คือของเราได้ให้เขาไปแล้ว เขาจะไปทำอะไรก็เรื่องของเขา เพราะให้เขาไปแล้ว เขาได้รับประโยชน์แล้ว เมื่อเรารู้ว่าเราได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้มีความสุข ได้รับประโยชน์แล้ว  เราก็พอใจ เท่านี้ก็พอ เราอย่าไปหวังผลอย่างอื่นเป็นอันขาด เพราะถ้าไปหวังแล้วเมื่อไม่เป็นไปดังที่หวัง ก็จะเกิดความเสียใจ เกิดความทุกข์ขึ้นมา อย่างนี้ก็ไม่ใช่เรียกว่าเป็นการทำบุญ เพราะการทำบุญเป็นการให้โดยถ่ายเดียว โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนจากผู้รับ ถ้ามีการตอบแทนจากผู้รับแล้ว ไม่เรียกว่าเป็นการให้ แต่เป็นการซื้อขาย เป็นการแลกเปลี่ยนกัน

นี่แหละเวลาทำบุญ จึงต้องเข้าใจว่าทำบุญเพื่ออะไร จะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อมีปัญญา จะมีปัญญาได้ก็ต่อเมื่อเรามาฟังธรรม ดังที่ท่านทั้งหลายได้มาฟังธรรมกันในวันนี้  ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังธรรม เรามักจะปฏิบัติธรรมแบบผิดๆถูกๆ  ไม่ได้บุญดังที่ปรารถนากัน ทำบุญแต่ใจยังวุ่นวายอยู่ ยังว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ ยังกังวลเกี่ยวกับเรื่องนั้น เรื่องนี้  ก็เพราะทำบุญไม่เป็นนั่นเอง  การทำบุญก็คือการปล่อยวาง ไม่ยึด ไม่ติดกับของที่ให้ไปแล้ว ของที่ให้ไปแล้ว ต้องถือว่าไม่ใช่เป็นของๆเราแล้ว ถ้ายังเป็นของๆเราอยู่ ก็แสดงว่าเรายังยึด ยังติดอยู่ เมื่อคนที่รับของจากเราไป  ไม่ได้เอาไปใช้ตามที่เราต้องการ  ก็จะเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นมาทันที ทำบุญแทนที่จะได้บุญ กลายเป็นทำบุญแล้วกลับได้ทุกข์  เหมือนกับทำบุญแล้วได้บาปนั่นเอง เพราะทำด้วยการขาดปัญญา เราจึงต้องทำบุญด้วยการมีปัญญา เมื่อมีปัญญาแล้ว ใจจะปล่อยวาง ไม่ยึด ไม่ติดกับอะไร  จะไม่ยินดียินร้ายกับการกระทำของผู้อื่น เพราะรู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นดีแล้ว เป็นคุณเป็นประโยชน์แล้วสำหรับเรา ส่วนผู้อื่นเขาจะไปทำอย่างไร มันเรื่องของเขา ถ้าเขาไปทำดี ไปทำคุณ ทำประโยชน์ต่อ เขาก็จะได้รับบุญได้รับประโยชน์ต่อไป แต่ถ้าเอาไปทำในสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม เขาก็จะต้องรับเคราะห์กรรมไปเอง

เวลาญาติโยมถวายปัจจัยให้กับพระท่าน ญาติโยมก็มีเจตนาเพื่อให้ท่านนำไปใช้เป็นสมณบริโภค คือปัจจัย ๔ ไว้ดูแลอัตภาพร่างกายของท่าน แต่ถ้าท่านเอาไปซื้อสุรามาเสพ ใครจะเป็นผู้รับโทษ ญาติโยมไม่ได้เป็นผู้รับโทษ ผู้ให้ไม่ได้รับโทษ ผู้ที่เอาปัจจัยไปซื้อมาเสพต่างหากจะต้องเป็นผู้รับโทษ เพราะเมื่อเสพสุราไปแล้ว หนึ่งตนเองก็จะต้องผิดศีล ศีลของตนก็จะไม่บริสุทธิ์  สองเมื่อกินไปแล้วก็ทำให้ไม่มีสติสตัง ไม่สามารถประคับประคองความประพฤติที่ดีที่งามได้ เราจะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อเรามีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา เราก็จะหลง ไปยึด ไปติด เกิดความเศร้าโศกเสียใจ มาได้ยินได้ฟังทีหลังว่า ได้ถวายปัจจัยให้พระองค์นี้แล้ว พระองค์นี้กลับไปทำมิดีมิร้าย ถ้าใช้ปัญญา เมื่อรู้ว่าเขาเอาไปทำมิดีมิร้าย ครั้งต่อไปก็อย่าไปยุ่งกับพระองค์นี้ก็หมดเรื่อง แต่เมื่อยังไม่รู้ ก็ต้องใช้หลักศรัทธาไปก่อน คือเราพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว คิดว่าพระองค์นี้หรือพระวัดนี้ เป็นพระที่ปฏิบัติดี สมควรแก่การทำบุญทำทาน ก็ทำไป แต่วันดีคืนดี ถ้ามีเหตุการณ์ทำให้เห็นว่าพระวัดนี้ไม่ปฏิบัติตามแนวทางของพระศาสนาแล้ว ก็ไม่ต้องไปเสียอกเสียใจอะไร เพราะบุญที่ได้ทำไว้ก็ยังเป็นบุญของท่านอยู่ ไม่สูญหายไปไหน  แต่ถ้าเสียใจ เดือดร้อนใจ อย่างนี้แหละจะทำให้บุญที่ทำไปสูญหายไปได้  จึงควรใช้ปัญญา แล้วการทำบุญจะได้เป็นบุญจริงๆ  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้