กัณฑ์ที่ ๑๑๕      ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๕

แก้ทุกข์ที่ใจ

 

วันวิสาขบูชา  เป็นวันที่เรารำลึกถึงพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ  ที่ประทับอยู่ในใจของพวกเราทุกๆคน  เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนา  ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า ก็จะไม่มีพระพุทธศาสนา  เมื่อไม่มีพระพุทธศาสนาก็จะไม่มีวัด ไม่มีพระ ไม่มีการมาร่วมกันทำบุญ ดังที่เราได้มากระทำกันในวันนี้  พระพุทธเจ้าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เมื่อวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ ได้เวียนบรรจบมาอีกครั้งหนึ่ง คือวันคล้ายวันประสูติ  วันตรัสรู้ และวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน  พวกเราจึงน้อมรำลึกถึงพระคุณอันใหญ่หลวง ที่ทรงมีแก่สัตว์โลกทั้งปวง  เพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานให้กับสัตว์โลกนั้น  เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มีคุณค่ามหาศาล ที่ไม่มีใครจะสามารถให้ได้ คือการประกาศพระศาสนา   ประกาศพระธรรมคำสอน อันเป็นเหมือนกับแสงสว่าง ที่จะช่วยนำพาสัตว์โลกผู้มืดบอดด้วยกิเลสตัณหา โมหะอวิชชา ได้เดินทางไปโดยสวัสดิภาพ ไปสู่ที่ดีที่เจริญ ที่ปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง 

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อปุถุชนอย่างเราอย่างท่านเป็นอย่างยิ่ง  เพราะพระธรรมคำสอนเปรียบเหมือนกับแสงสว่างในที่มืด  เวลาเราอยู่ในที่มืด ไม่มีแสงสว่างเราจะไม่สามารถเห็นสิ่งต่างๆได้  การกระทำ การเคลื่อนไหวของเราย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่สามารถเคลื่อนไหวโดยไม่มีปัญหา  ไม่มีการสะดุดหกล้ม ไม่เตะ ไม่เหยียบสิ่งต่างๆ  แต่ถ้ามีแสงสว่าง เราก็จะมองเห็นสิ่งต่างๆ สามารถเดินหลบหลีกสิ่งต่างๆ ที่ไม่ควรเตะหรือเหยียบได้  ฉันใดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เปรียบเหมือนกับแสงสว่างในจิตใจที่มืดมิดของพวกเรา  เพราะเรายังเป็นปุถุชนอยู่  เป็นจิตใจที่มีความมืดบอดเหมือนกับอยู่ในที่มืด  จึงต้องอาศัยแสงสว่าง เพื่อที่จะได้เห็นทาง ที่จะเดินไป ว่าเป็นอย่างไร  ในการดำรงชีวิตเพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนา คือให้มีความสุขความเจริญ  ให้ห่างไกลจากความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความหายนะ ภัยอันตรายทั้งหลาย จึงต้องมีแสงสว่างแห่งธรรมเป็นเครื่องพาไป 

แสงสว่างแห่งธรรมเป็นความรู้ ที่ไม่เหมือนกับความรู้ต่างๆที่เราเรียนรู้กันในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นความรู้ทางโลก เป็นความรู้เพื่อการทำมาหากินเลี้ยงชีพ  ไม่ใช่ความรู้ที่จะป้องกันไม่ให้เราตกไปสู่ที่ต่ำ  ไปเผชิญกับความทุกข์  ความหายนะทั้งหลาย  ไม่ใช่ความรู้ที่จะส่งเราไปสู่ความสุขความเจริญที่แท้จริง  จะเรียนสูงขนาดไหนก็ตาม  จบปริญญาตรี ปริญญาโท  ปริญญาเอก  ก็ยังไม่สามารถที่จะรักษาตัวเองให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลายได้  ดังในภาษิตที่ว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด นี่คือลักษณะความรู้ในทางโลก  เรียนจบปริญญาตรี โท เอก  แต่ก็ไม่วายที่จะประสบกับปัญหาต่างๆ แล้วก็ไม่รู้จักวิธีที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ถูกต้อง นำตนให้พ้นจากภัยปัญหาเหล่านั้นได้  บางคนถึงกับทำลายชีวิตของตนเอง ทั้งๆที่เรียนจบปริญญาเอก แต่ในที่สุดเมื่อประสบกับปัญหาชีวิต แล้วไม่รู้จักวิธีแก้ไข  ก็เลยแก้ไขด้วยวิธีที่ผิด 

เหมือนกับคนตาบอดแก้ไขปัญหา เมื่อมองไม่เห็นก็แก้ปัญหาไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ทำไปตามความรู้สึกนึกคิด  เวลาเกิดมีความทุกข์มากๆ ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร  ไม่รู้ว่าจะดับความทุกข์ที่อยู่ภายในใจได้อย่างไร  ก็คิดได้แต่เพียงคำเดียวว่า  ตายเสียดีกว่า คิดว่าเมื่อตายแล้ว ความทุกข์จะหมดไป  แต่นั่นเป็นความหลง ความเข้าใจผิด  เพราะว่าความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ในใจต่างหาก เวลาใจมีความทุกข์  ต้องแก้ความทุกข์ที่ใจ ไม่แก้ด้วยการทำลายร่างกาย  เพราะร่างกายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหา กับความทุกข์ทางใจ  ปัญหาความทุกข์ทางใจนั้น  เกิดจากกิเลส ตัณหา  โมหะ อวิชชา เครื่องเศร้าหมองทั้งหลายต่างหาก ที่เราจะต้องฆ่า  ต้องทำลายให้หมดไปจากจิตจากใจ   เพราะเป็นต้นเหตุของความทุกข์  ของปัญหาทั้งหลายนั่นเอง 

ดังนั้นเวลามีปัญหารุมเร้าจิตใจ  ขอให้รำลึกเสมอว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กาย  แต่อยู่ที่ใจ  ตัวปัญหาก็คือกิเลส ตัณหา  โมหะ  อวิชชา เครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย  เป็นสิ่งที่ต้องกำจัด  เป็นสิ่งที่ต้องลด ต้องละ ต้องทำลาย ต้องฆ่าให้หมดไป  ไม่ใช่การฆ่าร่างกายแล้วจะแก้ปัญหา  เพราะเมื่อร่างกายถูกทำลายไปแล้ว  ใจก็ยังทุกข์อยู่ เพราะยังมีกิเลส ตัณหา โมหะ อวิชชา เครื่องเศร้างหมอง อยู่ในใจอยู่  ที่ยังสร้างความทุกข์ความวุ่นวายให้กับใจอยู่  และจะเป็นตัวเหตุที่จะส่งให้เราไปสู่ที่ไม่ดี ไปเกิดในที่ต่ำ ไปเกิดในอบาย  เพราะเวลาจิตเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว  จะเป็นจิตที่ไม่ดี   เมื่อจิตไม่ดีก็ต้องไปเกิดในที่ไม่ดี 

การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง  จึงต้องแก้ด้วยธรรมะ  ด้วยแสงสว่างแห่งธรรม  เราเป็นชาวพุทธ จึงควรเข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  เพราะถ้ามีพระธรรมคำสอนเป็นเครื่องนำพาไปแล้ว   ชีวิตของเราจะเป็นชีวิตที่เป็นไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม  ปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง  เพราะเราจะเห็นอะไรที่อยู่ข้างหน้าเรา  อะไรเป็นเหตุที่จะสร้างความทุกข์ให้กับเราๆ ก็หลีกเสีย  อะไรเป็นเหตุที่จะสร้างความสุขและความเจริญให้กับเราๆ ก็ทำมันเสีย  เมื่อเราทำสิ่งที่เราควรจะทำ และละในสิ่งที่เราควรละแล้ว  ผลที่จะตามมาย่อมเป็นผลที่ดี  เพราะเมื่อเราละการกระทำในสิ่งที่ไม่ดี ผลไม่ดีที่จะตามมาก็จะไม่ปรากฏ  ถ้าเราทำแต่สิ่งที่ดี ก็จะมีแต่ผลที่ดีตามมา  นี่เป็นเรื่องของความจริงที่เรียกว่าหลักกรรม เป็นสิ่งที่ศาสนาสอนให้พวกเรารู้จักกัน  ก็คือให้รู้จักเหตและรู้จักผล  ให้รู้ว่าเหตุและผลเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน  เหตุเป็นต้น ผลเป็นปลาย  เหตุเป็นอย่างไร ผลก็จะเป็นอย่างนั้นตามมา   เหตุดี ผลก็จะดีตามมา  เหตุไม่ดี ผลก็จะไม่ดีตามมา 

สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การดูแลตัวเหตุไว้ให้ดี  อย่าให้เหตุเป็นเหตุที่ไม่ดี  พยายามทำแต่เหตุหรือสร้างแต่เหตุที่ดีไว้  แล้วผลที่ดีที่งามทั้งหลายที่เราปรารถนากัน ย่อมเป็นของเราอย่างแน่นอน  เป็นสิ่งที่จะตามมา โดยที่ไม่มีใครมาขวางกั้นได้  เพราะเป็นหลักตายตัว เป็นหลักของธรรมชาติ เหมือนกับเวลาที่ปลูกข้าว ผลที่จะได้รับก็คือรวงข้าว  ปลูกผลไม้ ผลที่จะได้รับ ก็จะต้องเป็นผลไม้อย่างแน่นอน  เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  สิ่งที่เราจะต้องคอยดูแลอยู่เสมอตลอดเวลา ก็คือเหตุ  เหตคือการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ  เรียกว่ากรรม การกระทำทางกายเรียกว่ากายกรรม ทางวาจาเรียกว่าวจีกรรม ทางใจเรียกว่ามโนกรรม  เมื่อทำไปแล้วก็จะมีผลตามมา  เรียกว่าวิบาก  มีทั้งสุข มีทั้งทุกข์  ทั้งไม่สุขทั้งไม่ทุกข์  ขึ้นอยู่กับกรรมที่กระทำกัน  กระทำกรรมดี ผลที่ตามมาก็คือความสุข  กระทำความชั่วผลที่ตามมาก็คือความทุกข์  กระทำสิ่งที่ไม่ดีไม่ชั่วผลที่ตามมาก็คือไม่สุขไม่ทุกข์ 

นี่คือเรื่องของการกระทำและผลที่จะตามมา เป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัว  ไม่มีใครขัดขวางได้  ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม  จะเป็นปุถุชนธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน  หรือจะเป็นถึงพระอรหันต์ก็เช่นกัน  ลองได้ทำกรรมอันใดไว้แล้ว  กรรมอันนั้นย่อมส่งผลตามมาอย่างแน่นอน  พวกเราทุกคนที่ปรารถนาความสุขกัน จึงควรกระทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม ที่เรียกว่ากุศลกรรม เราไม่ปรารถนาความทุกข์ความเสื่อมเสียกัน  เราจึงต้องละเว้นจากการกระทำอกุศลกรรม คือละเว้นจากการกระทำบาป  กระทำความชั่วทั้งหลาย  เมื่อได้ทำแล้ว  ผลที่เราปรารถนากัน ไม่ว่าจะเป็นการเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุข พละก็ดี  หรือการเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขก็ดี ย่อมเป็นผลที่จะตามมาอย่างแน่นอน  จะช้าหรือจะเร็วเท่านั้นเอง  เพราะผลบางอย่างใช้เวลานานกว่าจะเกิดผลขึ้นมา  ผลบางอย่างก็ใช้เวลาไม่นาน  สิ่งต่างๆที่เรากระทำกันในภพนี้ชาตินี้  ไม่จำเป็นจะต้องแสดงผลในชาตินี้เสมอไป ครบทุกอย่างไป ทั้งดีและชั่ว  ผลของกรรมชั่วที่ทำในชาตินี้ อาจจะยังไม่ส่งผลให้ปรากฎขึ้นในชาตินี้ก็ได้  เช่นเดียวกับผลของกรรมดีที่ทำไว้  อาจจะยังไม่ส่งผลให้เกิดขึ้นมาในชาตินี้ก็ได้  แต่อาจจะรอไปถึงภพหน้าชาติหน้าต่อไป  ถึงจะค่อยปรากฏขึ้นมา  เราจึงไม่ควรท้อแท้ในการกระทำความดี  และละการกระทำความชั่ว  เมี่อผลเหล่านั้นยังไม่ปรากฏขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรายังต้องประสบกับเคราะห์กรรม กับวิบากกรรมที่ไม่ดีทั้งหลาย  ขอให้คิดเสียว่าวิบากกรรมที่ไม่ดีทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นกับเราในขณะนี้ ในภพนี้ ในชาตินี้  เป็นวิบาก เป็นผลที่เกิดจากการกระทำที่ได้กระทำมาในอดีตชาติ ซึ่งใช้เวลาส่งผล  จึงตามมาส่งผลในชาตินี้ 

สิ่งที่เราควรมีความหนักแน่นมั่นใจ  เชื่ออย่างสนิทใจได้เลย ก็คือเชื่อในหลักกรรมและวิบาก  คือเชื่อในการกระทำว่าเมื่อกระทำอันใดไปแล้ว   ไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมมีผลตามมาอย่างแน่นอน   เพียงแต่จะเร็วหรือจะช้าเท่านั้นเอง  แต่จะต้องตามมาอย่างแน่นอน  ในขณะที่มีวิบากกรรมที่ไม่ดีปรากฏขึ้นมา โหมกระหน่ำใส่ตัวเรา ชีวิตเรา  ขอให้ยึดมั่นในคุณงามความดี  ให้ตั้งสติให้มั่น ให้มีขันติ ความอดทน  ทมะความอดกลั้น  แล้วฝ่าวิบากกรรมเหล่านั้นไป  วิบากกรรมจะแสดงผลอย่างไรก็ให้แสดงไป  แต่อย่าให้วิบากกรรมผลักดัน ให้เราไปกระทำในสิ่งที่เลวร้าย สิ่งที่ไม่ดี   ไปทำบาปทำกรรม  สร้างเวรสร้างกรรมเพิ่มขึ้นมาอีก  เพราะนั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

วิธีที่แก้ปัญหาที่ดีที่สุด ถ้าไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร ถ้าห้ามหรือหยุดยั้งสิ่งต่างๆที่โหมกระหน่ำใส่ตัวเราไม่ได้ คือการตั้งสติให้มั่น ควบคุมดูแลกายวาจาใจให้เป็นปกติ  ให้เป็นอุเบกขาวางเฉย โดยยึดหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย  จักทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ในขณะที่วิบากกรรมอันเลวร้ายปรากฏขึ้น  ก็ขอให้ยิ้มรับอย่างกล้าหาญ ไม่ต้องไปหวั่น ไม่ต้องไหว กับอะไรทั้งสิ้น เพราะใจเป็นสิ่งที่ประเสริฐ สามารถรับกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะดีขนาดไหน หรือเลวร้ายขนาดไหน  ใจจะอยู่เหนือสิ่งต่างๆได้เสมอ เพียงแต่ว่าใจจะสู้หรือไม่สู้เท่านั้นเอง  ถ้าใจสู้แล้วในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างก็จะผ่านไป ถ้าใจเป็นเหมือนกับหิน ต่อให้มีมรสุม มีพายุพัดกระหน่ำมาขนาดไหน ก็จะไม่สามารถไปขยับให้หินเคลื่อนไหวได้ ฉันใดใจที่มีสติ มีขันติ มีอุเบกขา  ย่อมสามารถเผชิญกับมรสุมชีวิตได้อย่างสบาย  เพียงแต่ขอให้ฝึกทำใจให้มีความแน่นหนา มั่นคง หนักแน่น  อย่าปล่อยให้ใจเป็นเหมือนกับนุ่น ที่จะลอยไปได้อย่างง่ายดาย   เมื่อมีลมเพียงแผ่วเบามาสัมผัส นั้นคือลักษณะของใจที่ไม่มีขันติ  ไม่มีสติ ไม่มีความกล้าหาญที่จะเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสกับตน  แต่ถ้าได้ฝึกหัดจิตใจให้เผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่เราไม่ชอบกัน  คือความทุกข์ ความยาก ความลำบากแล้ว ต่อไปใจมีความแข็งแกร่ง  มีพลังที่จะต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย แต่ถ้าไม่ฝึกใจให้ต่อสู้กับความทุกข์ ความยาก ความลำบาก  มีแต่จะถอย มีแต่จะหนีโดยถ่ายเดียว  เวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ก็จะใช้วิธีตัดสินแก้ปัญหา ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง คือไปสร้างบาปสร้างกรรมเพิ่มขึ้นมาอีก

อย่างเวลาไม่มีเงินทองใช้ แทนที่จะใช้ความอดทนอดกลั้น อยู่ไปตามฐานะ มีน้อยก็ใช้ไปน้อยๆ ถ้าไม่สามารถกินข้าวได้วันละสามมื้อ ก็ลดเหลือวันละสองมื้อ หรือมื้อหนึ่งก็ยังอยู่ได้ กินข้าวคลุกน้ำปลาให้มากหน่อย ก็ยังพอทนอยู่ได้ ดีกว่าไปฉ้อโกง ไปลักเล็กขโมยน้อย เพื่อหาอาหารมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง  เพราะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง วิธีที่ถูกต้องคือ  ต้องมีความอดทน อดกลั้น มีความขยัน หมั่นเพียร ขยันหาเงินหาทอง ทำงานทำการ แบบไม่เลือกงานไม่เลือกการ งานชนิดไหนก็ได้ถ้าเป็นงานที่สุจริต ทำไปแล้วไม่เกิดโทษ ขอให้ทำไปเถิด  ถึงแม้จะมีรายได้น้อยก็ตาม ก็ยังดีกว่าไม่มีรายได้เลย อย่าเลือกงาน  เมื่อถึงเวลาที่จนตรอกแล้ว ต้องสู้  สู้ด้วยกุศลกรรม สู้ด้วยความดี  กุศลกรรมนี้แหละจะเป็นเครื่องรักษาไม่ให้ตกไปสู่ที่ต่ำ เช่นความอดทน ความอดกลั้น ความขยันหมั่นเพียร ความยินดีตามอัตภาพ ตามฐานะ ที่เรียกว่าสันโดษและความมักน้อย  คือเอาเท่าที่จำเป็น กินน้อยๆ ใช้น้อยๆ แล้วชีวิตจะไม่มีความกดดัน แต่ถ้าหลง ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา อ่อนแอ เกียจคร้าน แต่อยากจะได้มาก มีกิเลสมีตัณหามาก ก็จะถูกผลักดันให้ไปก่อกรรมทำเวร สร้างปัญหาให้กับตนไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเมื่อไม่มีคุณธรรม ที่ต่อสู้กับอกุศลกรรมทั้งหลายแล้ว ชีวิตก็จะถูกสิ่งต่างๆที่ไม่ดีผลักดัน ให้ไปกระทำอกุศลกรรมให้มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็จะส่งให้ตกไปสู่ที่ต่ำไปเรื่อย  จนกระทั่งไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นมาอยู่ในที่ดีเลย

จึงขอให้คิดถึงธรรมอยู่เสมอ ธรรมนี้แหละเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ ต้องนำเข้าสู่จิตใจ  เสริมสร้างให้เกิดขึ้นในใจ ให้มีขันติ มีความอดทน อดกลั้น มีสติปัญญา ที่จะคิดจะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม การกระทำอันไหนเป็นอกุศลกรรม ก็จะไม่ทำ จะกระทำแต่กุศลกรรมเท่านั้น เมื่อสามารถยืนหยัด ดำเนินชีวิต ไปตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แล้ว  ชีวิตของเราจะมีแต่ความสุขความเจริญ จงจำไว้เสมอว่า ความสุขความเจริญที่แท้จริง  ไม่ได้หมายความว่าต้องมีเงิน มีทอง มีฐานะร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐี มีตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์สูงส่ง เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างนี้ไม่ใช่เป็นผลที่เกิดจากการกระทำความดี  ไม่ใช่เป็นความสุขความเจริญที่แท้จริง ความสุขความเจริญที่แท้จริงอยู่ในใจของเรานั้นแหละ เป็นใจที่มีความอิ่ม มีความพอต่างหาก บุคคลนั้นแหละจะเป็นคนที่เจริญ เพราะถ้ามีความพอแล้ว มีความอิ่มแล้ว ก็ไม่มีความโลภ  ไม่มีความอยาก  ที่อยากจะมี อยากจะเป็นอะไรกับใครเขา  มีอยู่มีกินไปวันๆหนึ่ง มีปัจจัย ๔ เลี้ยงอัตภาพชีวิตให้อยู่ไปได้วันๆหนึ่ง ก็พอแล้ว 

ส่วนความต้องการทางด้านจิตใจ ก็ไม่ปรารถนา ไม่ต้องการอะไรเลย ไม่ต้องการเป็นมหาเศรษฐี ไม่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องการเป็นประธานาธิบดี ไม่ต้องการให้ใครมาสรรเสริญ เยินยอ ยกย่อง ไม่ต้องการไปเที่ยวเตร่ ดูหนัง ดูละคร ไปหาความสุขจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย   ผู้นั้นแหละคือผู้มีความสุข มีความเจริญที่แท้จริง เพราะสามารถตั้งอยู่ในความปกติได้ ไม่ไปก่อกรรมทำเวร ทำบาปทำกรรม ให้กับผู้ใด ไม่เดือดร้อนกับปัญหาอะไรทั้งสิ้น เพราะปัญหาทั้งหลายเกิดมาจากความอยาก ความต้องการต่างๆ ถ้าไม่อยาก ไม่ต้องการแล้ว ปัญหาอันไหนจะเข้ามาหา ไม่มีหรอก ทุกวันนี้ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ตรงไหน รู้ไหม ก็อยู่ตรงที่ความไม่พอนั่นแหละ  คือความอยากต่างๆนานา ยังอยากมี ยังอยากเป็น ยังอยากร่ำอยากรวย ยังอยากจะมีสมบัติ มีวัตถุข้าวของต่างๆ ยังอยากจะมีสามี มีภรรยา มีแฟน บางคนมีคนเดียวยังไม่พอ ต้องมี ๒ มี ๓ มี ๔ มี ๕  นี้คือลักษณะของปัญหาของพวกเรา อยู่ที่ความไม่พอที่เกิดจากความหลง ความไม่รู้จริง คิดว่าความสุขความเจริญอยู่ที่การได้มา ซึ่งลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ซึ่งเป็นความหลง ไม่ใช่เป็นความจริง ความรู้จริงคือต้องรู้ว่า  ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ล้วนแต่เป็นกองทุกข์ทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีการเจริญขึ้นได้ ก็มีการเสื่อมได้เป็นธรรมดา มีมาก็ต้องมีไป รวยได้ในวันนี้ก็จนได้ในวันพรุ่งนี้ เราพร้อมที่จะพบกับความจนหรือยัง ถ้ารวยในวันนี้แล้วเกิดพรุ่งนี้ต้องจนลง จะรับกับสภาพนั้นได้หรือเปล่า

นี่แหละคือเรื่องราวของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้รู้จักเหตุของความสุข เหตุของความทุกข์ ทรงสอนให้สร้างแต่เหตุของความสุข ละเหตุของความทุกข์ เหตุของความทุกข์ก็คือ กิเลสตัณหา โลภ โกรธ หลง ความอยากความต้องการทั้งหลาย ขอให้ลดละ แล้วสร้างเหตุที่ดี กุศลกรรม คือสติปัญญา ความฉลาด ขันติ ความอดทน ทมะ ความอดกลั้น วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร ที่จะนำพาเราไปสู่ความสุขความเจริญที่แท้จริง จึงขอฝากเรื่องราวของพระธรรมคำสอน ที่สอนให้เข้าใจถึงหลักเหตุและผล  และนำไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขอันแท้จริงต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้