กัณฑ์ที่ ๑๒๐      ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๕

เหยื่อปลายเบ็ด

 

วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ เป็นวันพระ เป็นวันฟังธรรม เป็นวันประเสริฐ เพราะคำว่าพระนี้แปลว่าประเสริฐ  มาจากคำบาลี วร  แปลว่าประเสริฐ วันพระจึงเป็นวันประเสริฐ แต่ความประเสริฐนี้ ไม่ได้อยู่ที่วัน คือไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นวันพระแล้วจะประเสริฐ  แต่ความหมายของความประเสริฐก็คือ เป็นวันที่เรามาร่วมปฏิบัติธรรมกัน เพื่อให้เกิดความประเสริฐขึ้นมา เพราะความประเสริฐเป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติความดีทั้งหลาย  เช่น ไหว้พระสวดมนต์ บูชาพระรัตนตรัย ทำบุญตักบาตร สมาทานศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม และปฏิบัติธรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งผลคือความประเสริฐ  ซึ่งในที่นี้หมายถึงความสุข ความสงบของจิตใจ ความปราศจากทุกข์ ความวุ่นวายใจทั้งหลาย และถ้าได้ปฏิบัติไปจนถึงจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ คือปฏิบัติเพื่อชำระจิต ชำระเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่มีอยู่ภายในใจ ที่เป็นสาเหตุให้สัตว์โลกทั้งหลาย ไปก่อกรรมทำเวร  สร้างความทุกข์ให้กับตนและผู้อื่น ถ้าได้ชำระเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายคือกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจ จนใจสะอาดบริสุทธิ์   ใจก็จะไม่ไปก่อกรรมทำเวรต่อไป สิ้นเวรสิ้นกรรม ถึงจุดที่ไม่ต้องไปไหนอีกต่อไป เพราะถึงเมืองพอแล้ว ถึงความอิ่มและความพอ

นี่แหละคือความหมายของคำว่าประเสริฐ  หมายถึงจุดนี้ จุดที่จิตได้ไปถึงจุดอันสูงสุด คือความบริสุทธิ์ของจิต เรียกว่าวิมุตติหลุดพ้น หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากตัณหาความอยากทั้งปวง หลุดพ้นจากโมหะความหลง อวิชชาความไม่รู้จริง ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลาย  ต้องผันตัวเองไปในทางที่ไม่ดี  ทำแต่ความเสื่อมเสีย แต่ถ้าได้ทำลายสิ่งเหล่านี้ ให้หมดไปจากจิตจากใจแล้ว สัตว์โลกนั้นก็จะถึงจุดที่ประเสริฐที่สุด  เพราะเป็นจุดที่ไม่มีความต้องการอะไรทั้งสิ้น  เพราะในจิตนั้นมีความสมบูรณ์  มีความพอเพียงอยู่แล้ว  ไม่หิว ไม่กระหาย ไม่อยากที่จะมี อยากจะเป็นกับอะไรทั้งสิ้น  จิตของผู้ที่มีความอิ่ม ความพอ ย่อมไม่ไปก่อกรรมทำเวรให้กับใคร เพราะว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปมีเรื่องมีราวกับใคร  เพราะไม่มีความอยากจะได้อะไร  ก็เลยไม่ต้องไปแก่งแย่งชิงดีกัน  นี่แหละคือความหมายของคำว่าประเสริฐ  ประเสริฐในใจ  

คนเรานั้น จะดีจะชั่ว ไม่ได้อยู่ที่ความร่ำรวย หรือยากจน มีความรู้  เรียนจบปริญญา หรือไม่จบปริญญา  มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงามหรือไม่สวยงาม  ไม่ได้อยู่ที่สิ่งเหล่านี้   สิ่งที่ทำให้คนประเสริฐ คือการประพฤติปฏิบัติตน  ในทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้  และปฏิบัติไปจนถึงขีดสูงสุด คือความบริสุทธิ์ของจิตใจ ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์  ตัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัดความอยากทั้งหลายให้หมดสิ้นไป  นี่แหละคือจุดที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้ดำเนินไปถึง  เมื่อดำเนินไปถึงแล้วก็หมดภารกิจ  หมดการที่จะต้องไปแสวงหาอะไรอีกต่อไป  เพราะได้สิ่งที่เป็นเหมือนกับแก้วสารพัดนึก  ต้องการอะไรก็มีอยู่ในนั้นแล้ว  เพียงแต่นึกขึ้นมาก็ปรากฏขึ้นมา  ไม่ต้องไปหาอะไรมาเพิ่มมาเติมอีก  นี่แหละคือความมหัศจรรย์ของดวงจิต  ที่ได้รับการชำระขัดเกลา จนกระทั่งกลายเป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์  ปราศจากกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย  

เมื่อพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกได้บรรลุถึงจุดสูงสุดนี้แล้ว  ท่านก็ใช้เวลาที่เหลืออยู่ของท่าน  นำสิ่งเหล่านี้มาเผยแผ่ให้กับสัตว์โลกทั้งหลาย เพื่อสัตว์โลกผู้ที่ยังมีความมืดบอดอยู่  ด้วยอำนาจของโมหะความหลง  ด้วยอำนาจของอวิชชาความไม่รู้  จะได้มีแสงสว่างพาไป  สู่ทิศทางที่ดีได้  พวกที่ได้ยินได้ฟังแล้วเกิดศรัทธาความเชื่อขึ้นมา  ถือว่าเป็นพวกที่มีบุญ  มีวาสนา เคยได้สะสมบุญมาก่อน เคยได้ยินได้ฟังธรรมมาก่อน  จึงมีความเข้าอกเข้าใจ  ในเรื่องที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้สั่งสอน  แต่สำหรับผู้ที่ได้ยินได้ฟังธรรมแล้วไม่เกิดศรัทธา แสดงว่ายังมีความมืดบอดอยู่  แสงสว่างแห่งธรรมไม่สามารถที่จะเจาะทะลุเข้าไปสู่ดวงจิตดวงใจได้   ทำให้จิตใจนั้นไม่สามารถรับประโยชน์จากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้  ฟังธรรมไปเท่าไหร่  ก็ไม่รู้  ไม่เข้าใจความหมาย  ของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

ต่างกับคนที่เคยได้ขัดเกลากิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมอง ขัดเกลาความมืดบอดแห่งโมหะและอวิชชาให้เบาบางลงไป พอมีแสงสว่างแห่งธรรมที่แสดงโดยพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันตสาวกหรือพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ จิตก็จะสามารถรับได้ทันที   เพราะความมืดบอดที่หุ้มห่อจิตใจนั้น มีไม่มากพอที่จะกั้นแสงสว่างแห่งธรรม ไม่ให้เข้าไปในจิตใจได้   เมื่อจิตใจได้รับแสงสว่างแห่งธรรมแล้ว  ก็เกิดศรัทธา  เกิดความเชื่อ  เชื่อว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น  เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักความเป็นจริง  เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติตาม เพราะจะนำมาซึ่งประโยชน์อันสูงสุด จะนำมาซึ่งความสุขที่แท้จริง  จึงทำให้มีความกล้าหาญ  ที่จะเสียสละทรัพย์สมบัติข้าวของต่างๆ  ที่คนในโลกถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ  เป็นสิ่งที่มีคุณค่า  แต่ในสายตาของผู้ที่ได้ยิน ได้ฟังธรรม และเข้าใจธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว  จะเห็นว่าสมบัติเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกองทุกข์ทั้งนั้น  ล้วนแต่เป็นอุปสรรคที่จะพัฒนาจิตใจให้ไปสู่จุดสูงสุดได้   จึงกล้าที่จะสละสมบัติเงินทองข้าวของ หรือตำแหน่งคือยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ  ที่ตนมีอยู่   ยินดีที่จะสละสิ่งเหล่านี้  และดำเนินชีวิตตามเยี่ยงอย่างที่พระพุทธเจ้า  และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้ประพฤติปฏิบัติกันมา

ในเบื้องต้นอาจจะยังไม่ถึงกับออกบวชเป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นแม่ชี    แต่ปฏิบัติอยู่ในฐานะของฆราวาส  แทนที่จะใช้เวลาทุ่มเทกับการหาเงินหาทอง หาความสุขจากกามคุณทั้งห้า  คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะกลับจะใช้เวลาที่ว่างจากภารกิจการทำมาหากิน  มาสร้างธรรม สร้างบุญสร้างกุศล เพราะบุญและกุศลคือเครื่องกำจัดกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย เป็นเครื่องซักฟอกจิตใจให้บริสุทธิ์ และจะปฏิบัติไปเรื่อยๆจนเห็นว่า ชีวิตของฆราวาสเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจิตใจ ต่อการขัดเกลาจิตใจ  เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ก็พร้อมที่จะออกบวช เพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติขัดเกลาจิตใจได้อย่างเต็มที่  ชีวิตของฆราวาสมีภาระอย่างอื่นมาเกี่ยวข้อง เพราะต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง  ดูแลครอบครัว  ไม่เหมือนกับการออกบวช  ซึ่งถือว่าได้ตายจากการเป็นฆราวาสแล้ว ได้ตายจากสามี  จากภรรยา ได้ตายจากบิดามารดา ได้ตายจากบุตรธิดา ญาติสนิทมิตรสหาย มาเกิดใหม่ เป็นบุคคลใหม่ ในเพศของสมณะนักบวช ผู้มีความตั้งใจที่จะทุ่มเทชีวิตจิตใจ กำลังสติปัญญาไปกับการปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้สะอาดหมดจด นั่นแหละคือขั้นที่จะเป็นต่อไป

พวกเราทุกคนในเบื้องต้นก็เป็นฆราวาสกันทั้งนั้น  แต่หลังจากที่ได้ยินได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว  ก็เกิดศรัทธา เกิดความเชื่อว่าความสุขที่แท้จริงนั้น ไม่ได้อยู่ที่สมบัติเงินทองข้าวของ  ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ  ไม่ได้อยู่ที่การสรรเสริญเยินยอ ไม่ได้อยู่ที่การได้เสพกามคุณทั้งห้า  สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโทษทั้งนั้น    เพราะเปรียบเหมือนเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด   เวลาที่ปลาไม่ฉลาดฮุบเหยื่อนั้นเข้าไป ก็จะต้องถูกเบ็ดนั้นเกี่ยวที่คอ ฉันใดบุคคลที่ไม่ฉลาด ไม่พิจารณา เวลาที่เสพกามคุณทั้งห้า ก็จะเกิดความชอบ  เกิดความติดพันขึ้นมา  ทำให้ต้องมีกามคุณห้าหล่อเลี้ยงจิตใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ  ในเวลาหนึ่งเวลาใดที่ขาดกามคุณทั้งห้านี้  ก็จะเกิดความทุกข์  เกิดความทรมานใจขึ้นมา  ยกตัวอย่างผู้ที่ติดยาเสพติด ติดสุรา ติดบุหรี่ เวลาใดถ้าได้สูบได้เสพสิ่งเหล่านี้  ก็จะมีความสุข แต่ถ้าเวลาหนึ่งเวลาใด  ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ไป  ก็จะเกิดความทุกข์  ความทรมานใจขึ้นมา เพราะจิตใจได้ไปผูกไว้กับสิ่งเหล่านี้  ฝากความสุขไว้กับสิ่งเหล่านี้  เวลาต้องการความสุขก็จะวิ่งเข้าหาสิ่งเหล่านี้  เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้ให้เสพ  ก็ต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมา  เกิดความทรมานใจขึ้นมา  เหมือนกับปลาที่ไปฮุบเหยื่อที่ปลายเบ็ด  เมื่อเบ็ดติดที่คอแล้ว ก็จะมีแต่ความทรมานใจ  อย่างนี้เป็นต้น

คนฉลาดจะเห็นโทษของกามสุข โทษของการสรรเสริญเยินยอ โทษของการมีตำแหน่ง มียศ โทษของการติดพันอยู่กับทรัพย์สินสมบัติเงินทอง  ซึ่งล้วนเป็นเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด  ถ้าไม่ระมัดระวังจะต้องถูกเบ็ดนั้นเกี่ยวคอ  แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกยังปฏิเสธไม่ได้  เพราะเป็นสิ่งที่ทุกๆคนจะต้องสัมผัสกัน ไม่มากก็น้อย  เพราะส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ  คือต้องมีเงินทองไว้ซื้อของจำเป็น  เช่นซื้ออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ  ก็ต้องอาศัยเงินทอง และเมื่อประกอบคุณงามความดี  ย่อมเป็นปกติที่จะได้รับการยกย่องสรรเสริญ ได้รับยศ ได้รับตำแหน่งต่างๆ  เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ  แต่เวลาที่ได้สัมผัสหรือมีสิ่งเหล่านี้ คนฉลาดจะระมัดระวัง  รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด  จะต้องสัมผัสด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เบ็ดติดคอ

คนฉลาดจะปฏิบัติกับลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ด้วยสติ ด้วยปัญญา  คือไม่ยึดติดนั่นเอง  พร้อมที่จะให้หมด พร้อมที่จะให้ไป เมื่อถึงเวลาที่จะหายไปหมดไป เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน ไม่เคยหลงคิดว่าจะอาศัยสิ่งเหล่านี้  เป็นที่พึ่ง  เป็นที่อาศัย  เป็นเครื่องให้ความสุขที่แท้จริง   มีก็ใช้ไปให้เกิดประโยชน์  ทั้งกับตนเองและผู้อื่น  เช่นถ้ามีทรัพย์เงินทองก็เก็บไว้ใช้ส่วนหนึ่ง ไว้ดูแลตัวของเรา  ชีวิตของเรา  ส่วนที่เหลือก็นำไปทำนุบำรุงผู้อื่น  ผู้ที่มีบุญมีคุณ  เช่นบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ พระสงฆ์องค์เจ้า และบุคคลอื่นๆที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเขาเองได้  เช่นคนพิการ คนแก่ คนชราหรือเด็ก  ที่ยังไม่สามารถทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้  เช่นลูกหลานทั้งหลายของเรา  แทนที่จะหวงเงินหวงทอง  เก็บไว้คนเดียว  ไม่ยอมเอาไปแจกจ่าย  ไม่เอาไปช่วยเหลือผู้อื่น  ใครจะเดือดร้อนอย่างไรก็ไม่สนใจ อย่างนี้เป็นการยึดติดอยู่กับทรัพย์สินเงินทอง  เลยไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินเงินทองนั้น

นอกจากไม่ได้รับประโยชน์แล้วยังได้รับโทษอีก เพราะผู้ที่มีความหวงในทรัพย์สินเงินทองนั้น ย่อมต้องมีความทุกข์กับทรัพย์สินเงินทอง  เวลาทรัพย์สินนั้นเกิดหายไปหมดไป  หรือในขณะที่ยังไม่หายไปหมดไป  ก็มีแต่ความกังวลว่าจะหายไปหรือเปล่า  จะหมดไปหรือเปล่า  เลยกลายเป็นคนที่มีแต่ความวุ่นวายใจ   มีแต่ความทุกข์ใจกับสมบัติข้าวของ   แทนที่จะให้สมบัติข้าวของเหล่านี้มารับใช้ตน      มาสร้างความสุขให้กับตน กลับกลายต้องไปรับใช้ทรัพย์สิน เป็นยามเฝ้าทรัพย์สินไป นี่คือลักษณะของคนไม่ฉลาด  หรือคนที่มีโมหะความหลงครอบงำจิตใจ   มีอวิชชาความไม่รู้ครอบงำจิตใจอยู่  เลยทำให้มีอุปทานยึดมั่น  กับลาภ   ยศ  สรรเสริญ กามสุข  เลยมีแต่ความทุกข์กับลาภ  ยศ  สรรเสริญ  กามสุข เพราะโดยธรรมชาติของลาภ  ยศ  สรรเสริญ  กามสุขนั้น เขามีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป  มีเจริญและมีการเสื่อมไปเป็นธรรมดา  นี่คือธรรมชาติของโลกธรรมทั้งแปด  คือลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขนั้น  มีทั้งส่วนที่เจริญและมีส่วนที่เสื่อม มีการเจริญลาภ เจริญยศ  มีสรรเสริญ มีสุข  และมีการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์

นี่เป็นสิ่งที่คนทุกๆคนที่อยู่ในโลกนี้จะต้องสัมผัส จะต้องเจอกัน คนฉลาดจะไม่ยึด ไม่ติด จะรู้ถึงธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้  รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  รู้ว่าจะต้องพลัดพรากจากกันในวันใดวันหนึ่ง  ไม่ช้าก็เร็ว  เขาไม่จากเราไป  เราก็ต้องจากเขาไป  ถ้ารู้แล้วก็เตรียมใจไว้  ปล่อยวางไม่ยึด  ไม่ติด  พร้อมที่จะให้ไป  พร้อมที่จะจากไป  แล้วเวลาเกิดขึ้นก็จะไม่เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  ในทางตรงกันข้าม  คนที่ยังโง่เขลาเบาปัญญาอยู่  จะไม่เข้าใจ จะไม่รู้ถึงธรรมชาติของโลกธรรมทั้งแปดนี้ เวลาได้สิ่งเหล่านี้มา  คือเวลาสิ่งเหล่านี้เจริญขึ้นมา  ก็จะมีความดีอกดีใจ แต่เวลาที่สิ่งเหล่านี้เกิดการเสื่อมขึ้นมา  เกิดการสลายไป  หมดไป  ก็จะเกิดความทุกข์ใจ เกิดความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก  นี่ก็เป็นเพราะว่าไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน ไม่ได้ยินได้ฟังธรรมเหมือนกับญาติโยมที่เข้าวัดอย่างสม่ำเสมอ  

ทุกๆวันพระ ทุกๆวันเสาร์วันอาทิตย์ ที่วัดนี้จะมีการแสดงธรรมอย่างสม่ำเสมอ  เป็นการสอนเพื่อเตือนสติ  ให้รู้ถึงธรรมชาติของโลกนี้  ว่าเป็นอย่างไร ให้รู้ว่าสิ่งต่างๆที่ใจมาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือเป็นวัตถุ  ล้วนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง  ล้วนจะต้องมีการดับ  มีการสลายไป  ถ้าได้ยินได้ฟังแล้วนำไปใคร่ครวญ  พร่ำสอนใจอยู่เสมอเหมือนกับการท่องมนต์  มนต์นี้เวลาหัดท่องเพียงครั้งแรกแล้วไม่ท่องต่อ  ไม่ท่องซ้ำๆอยู่เรื่อยๆ  ถ้าทิ้งไว้สักพักหนึ่งก็จะลืม  เวลาจะสวดมนต์ก็จะจำไม่ได้  เรื่องธรรมะที่ได้ยินได้ฟังก็เหมือนกับมนต์บทหนึ่ง  ที่จะต้องนำเอาไปพร่ำสอนตัวเอง  คือต้องนึกต้องคิดอยู่เสมอ  อย่างวันนี้พูดถึงเรื่องของการเจริญและเสื่อมของโลกธรรมทั้งแปด เราก็ต้องเอาไปพร่ำสอนใจของเราอยู่เสมอ  เพื่อจะได้ไม่ลืม ถ้าฟังแต่เฉพาะในศาลานี้แล้ว  เวลาออกจากศาลานี้ไป  แล้วกลับไปสู่ที่พักของเรา หรือไปบ้าน ไปทำงาน  แล้วไม่คิดถึงเรื่องเหล่านี้อีก  เรื่องเหล่านี้ก็จะค่อยๆจางหายไปจากใจของเรา  เมื่อจางหายไปแล้ว อะไรจะเข้ามาแทนที่ ถ้าไม่ใช่อุปทานความยึดมั่นถือมั่น เพราะอะไร  เพราะความหลงจะกลับเข้ามาแทนความรู้นั่นเอง

สิ่งที่ท่านได้ยินได้ฟังในขณะนี้เรียกว่าความรู้  เพราะเป็นธรรมะ เป็นปัญญา แต่ถ้าท่านไม่นำเอาไปรักษาไว้  ด้วยการใคร่ครวญพิจารณาอยู่อย่างต่อเนื่อง  มันก็จะค่อยๆจางไปๆ  แล้วสิ่งที่จะเข้ามาทดแทนก็คือความหลง อุปทานความยึดมั่นถือมั่น ก็จะกลับเข้ามา ก็จะทำให้กลับเข้าไปหลงติดอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  และเมื่อเกิดการเสื่อมขึ้นมาก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  แม้กระทั่งยังไม่เสื่อมก็มีความทุกข์ใจ  มีความกังวล  มีความห่วง  กลัวว่าจะไม่มีสิ่งเหล่านี้ไปตลอดนั่นเอง  ทั้งๆที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้เราก็อยู่ได้ มีความสุขได้  และมีความสุขยิ่งกว่าเวลาที่มีสิ่งเหล่านี้เสียอีก  แต่เพราะว่าเราไม่รู้  เราไม่เคยปฏิบัติ  เราจึงไม่รู้  แต่ถ้ามีความศรัทธาหลังจากที่ได้ยินได้ฟังธรรมในวันนี้แล้ว  ก็นำไปปฏิบัติกับตัวของเราเอง  พยายามลดละความผูกพัน  กับลาภยศ สรรเสริญ กามสุข  พยายามตัดให้น้อยลงไป เคยมีความผูกพันอยู่ ๑๐๐เปอร์เซ็นต์ก็ค่อยๆตัดลงไป  ตัดไปทีละ ๑๐ เปอร์เซ็นต์  ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ตัดลงไปเรื่อยๆ  ทีละเล็กทีละน้อย อย่าไปยินดีกับสิ่งต่างๆที่ได้มา   เอาเท่าที่จำเป็น  เงินทองเอาเท่าที่จำเป็น  เท่าที่จะรักษาอัตภาพชีวิตร่างกายของเราให้อยู่ได้ก็พอแล้ว

ส่วนความสุขนั้น ขอให้หันมาหาความสุขจากความสงบของจิต  จะดีกว่า  คือสันติสุข  ใช้เวลาหาที่สงบในมุมใดมุมหนึ่งในบ้านของเราก็ได้  ยามมีเวลาว่าง  ก็หลับตากำหนดจิตให้นิ่ง  ไม่ให้ลอยไปลอยมา  ไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ  ให้อยู่กับคำว่าพุทโธ  พุทโธ  พุทโธ ไปก็ได้  หรือจะสวดมนต์ไปก็ได้ สวดบทที่จำได้ เช่นบท อิติปิโส อรหังสัมมาฯ สวดไปซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายๆครั้ง  ให้จิตอยู่กับบทสวดมนต์นั้น ไม่ใช่สวดไปก็คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ไป  ถ้าเป็นเช่นนั้นจิตจะไม่สงบ จะไม่นิ่ง  แต่ถ้าสวดไปเรื่อยๆโดยที่ไม่คิดเรื่องอะไรเลย ให้จิตรู้อยู่กับบทสวดมนต์  แล้วจิตจะค่อยๆสงบ จะค่อยๆเย็น จะค่อยๆสบาย แล้วจะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้น มีอยู่ในตัวของเราแล้ว เพียงแต่เราไม่ดึงออกมาใช้เท่านั้นเอง เหมือนกับมีสมบัติอันประเสริฐแต่กลับทอดทิ้ง ปล่อยทิ้งไว้  ไม่เหลียวแล  ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ  กลับไปหาสมบัติที่ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง  สมบัติที่เป็นกองทุกข์  สมบัติที่เป็นเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด  ก็เลยมีแต่ความทุกข์กันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นี่แหละคือเรื่องของการขาดธรรมะ ขาดแสงสว่าง เพราะไม่ค่อยสนใจฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ค่อยสนใจศึกษาปฏิบัติธรรมกัน แต่หลังจากที่ได้ยินได้ฟังธรรมกันในวันนี้แล้ว เกิดศรัทธาเกิดความเชื่อขึ้นมา ก็ขอให้ทุ่มเทชีวิตจิตใจของเรา  ที่สามารถแยกตัวออกมาได้  จากภารกิจการงานในชีวิตประจำวันของเรา  แทนที่จะเสียเวลาไปกับการเที่ยวเตร่ ดูหนังดูละคร  ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์  แต่กลับมอมเมาให้เกิดความหลง เกิดความโง่เขลาเบาปัญญาเพิ่มขึ้นไปอีก  ให้หันมาฟังเทศน์ ฟังธรรม  อ่านหนังสือธรรมะกัน แล้วก็พินิจพิจารณาอยู่เรื่อยๆ แล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ  สลับกับการทำจิตใจให้สงบ  แล้วจิตใจของเราจะค่อยๆพัฒนาขึ้นไป  จะสะอาดขึ้น  จะเบาขึ้น กิเลสตัณหาจะน้อยลงไป อุปทานความยึดมั่นต่างๆก็จะเบาบางลงไป เบาบางลงไป  ความสุขก็จะมีมากขึ้นไป มากขึ้นไป จนกระทั่งไม่ต้องไปหาความสุขจากสิ่งภายนอกเลย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคลต่างๆ

ขอให้เราจงเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  และนำเอาไปพร่ำสอนตัวเราอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  พยามตัดอุปทาน ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง  คือลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  เอาเงินทองที่เหลือใช้มาทำคุณทำประโยชน์ดีกว่า  มาช่วยเหลือผู้อื่น  แล้วจะทำให้จิตใจของเรามีความสุข  ทำให้เราสามารถรักษาศีลได้  ทำให้มีเวลาปฏิบัติ  ทำจิตใจให้สงบ   มีเวลาเจริญวิปัสสนา  เจริญปัญญาให้เห็นสภาวธรรมทั้งหลาย  ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ปราศจากตัวตน ถ้าทำอย่างนี้ได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว จะไม่ต้องไปหาความสุขจากที่ไหน  ไม่ต้องไปหาความเจริญจากที่ไหน  ไม่ต้องไปหาความประเสริฐจากที่ไหน   มันอยู่ที่นี่แหละ  อยู่ที่การปฏิบัติของเรา  เพราะมันเป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติ   จึงขอฝากเรื่องราวของความประเสริฐที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้  ให้กับพวกเรานำไปพินิจพิจารณา  และประพฤติปฏิบัติ เพื่อความประเสริฐ เพื่อความสุข  ความเจริญที่แท้จริงต่อไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้