กัณฑ์ที่ ๑๒๙        ๓๑  สิงหาคม  ๒๕๔๕

ความเชื่อ

 

วันนี้มีญาติโยมมามากกว่าปกติ  เนื่องจากเป็นวันพระและวันหยุดราชการ  เป็นวันเสาร์  จึงมีศรัทธาญาติโยม ๒ กลุ่มด้วยกัน  ที่มาวัดเป็นประจำ กลุ่มหนึ่งจะมาทุกๆวันพระ  อีกกลุ่มหนึ่งจะมาวันหยุดราชการ  คือวันเสาร์หรือวันอาทิตย์  ถ้าวันพระไปตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์  ก็จะมีศรัทธาญาติโยม มาทำบุญกันมากกว่าปกติ  ดังที่เป็นอยู่ในวันนี้  ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะมาวันพระก็ดี  หรือมาวันหยุดราชการก็ดี  สิ่งที่ดึงดูดหรือผลักดัน ให้มาสู่วัดเพื่อมาประกอบคุณงามความดี  ทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม  ก็คือศรัทธาความเชื่อ เชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในพระธรรม เชื่อในพระสงฆ์  คือ

๑. เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าเป็นเรื่องจริง เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว  เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้รู้จริงเห็นจริง นี่คือความเชื่อในพระพุทธเจ้า

๒. เชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้องตามหลักความจริง  สอนที่เหตุและที่ผล  เหตุก็คือการกระทำ  ผลก็คือความสุขความเจริญ  หรือความทุกข์ความเสื่อมเสีย ล้วนเกิดขึ้นจากการกระทำของเราทั้งสิ้น คือ การกระทำทางกาย ทางวาจาและทางใจ ถ้าทำดีผลก็ดี คือความสุขความเจริญก็จะตามมา  ถ้าทำบาปทำกรรมทำความชั่ว ผลก็ชั่ว คือความทุกข์ความเสื่อมเสียก็จะตามมา นี่คือความเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

๓. เชื่อในพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย ว่าเป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือกระทำแต่ความดี ละการกระทำบาปทั้งปวง ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด บริสุทธิ์ผุดผ่อง จนได้บรรลุธรรม  เป็นผู้สิ้นกิเลสเหมือนกับพระพุทธเจ้า เป็นผู้สืบทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้กับผู้อื่นต่อไป นี่ก็คือความเชื่อในพระอริยสงฆสาวก

ความเชื่อนี้ทำให้เรามาวัดกัน ประกอบคุณงามความดีกัน ละการกระทำความชั่วกัน และชำระจิตใจของเราให้สะอาดหมดจด เพราะเราเชื่อว่าการกระทำของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เราดีได้  ที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ เพราะพระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยสงฆสาวกก็ดี ก็ปฏิบัติมาดังนี้ ท่านเป็นแบบฉบับของเรา ท่านเป็นผู้ที่นำสิ่งที่ดีที่งาม ที่ท่านได้ประสบพบเห็นมาบอก มาสอนพวกเรา แต่ท่านไม่สามารถที่จะเสกจะเป่า จะทำให้เราดีได้โดยที่เรานั่งฟังพระธรรมคำสอนเฉยๆ แล้วกลายเป็นผู้ดีขึ้นมา  แต่เราต้องน้อมจิตน้อมใจของเราให้ดีไปด้วย จึงจะกลายเป็นคนดีได้ จึงจะเจริญ จึงจะมีความสุขได้

ถ้าเราฟังเทศน์ ฟังธรรม ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ไม่เปลี่ยนใจของเรา  ใจของเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ ยังมีความอยากต่างๆอยู่ ยังประพฤติตนไปในทางที่ไม่ดี  เช่น ยังติดสุรายาเมา ยังติดสิ่งเสพติด  ยังเล่นการพนัน  ยังชอบเที่ยวเตร่ยามค่ำคืน ยังชอบความเกียจคร้าน ยังชอบคบคนชั่วเป็นมิตรอยู่ ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้ ต่อให้พระพุทธเจ้ามานั่งเสกเรา อาบน้ำมนต์ให้เรา ทุกเช้าทุกเย็น เราก็จะไม่เป็นคนที่เจริญ ที่จะมีความสุขได้ เพราะความสุขและความเจริญเกิดจากเหตุ คือการกระทำของเรา ทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำทางใจ  คือความคิดของเรานี่แหละ เป็นต้นเหตุของการกระทำทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำบาปก็ดี หรือการกระทำบุญก็ดี ล้วนเกิดจากความคิดของเราเป็นผู้เริ่มต้น อย่างวันนี้เรามาวัดกันได้ ก็เพราะความคิดของเรา เกิดขึ้นมาในจิตของเรา ว่าจะมาวัดมาทำบุญกัน เมื่อคิดแล้ว ก็มีการสั่งการไปสู่ร่างกาย ให้มีการเคลื่อนไหว การกระทำทางกาย ก็เกิดขึ้น มีการเตรียมข้าวเตรียมของ เตรียมตัวเตรียมใจ และเมื่อถึงเวลาก็เดินทางมาที่วัด มาทำบุญตักบาตร มาสมาทานศีล มาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน นี่แหละคือการกระทำที่ดี  ที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญที่แท้จริง   

เวลาต้องการอะไร  ขอให้คำนึงถึงเหตุเป็นหลัก เพราะผลไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรไปยึดไปถือมากจนเกินไป  เพราะผลจะต้องเกิดมาจากเหตุ  เหตุจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เวลาเห็นคนอื่นมีความเจริญรุ่งเรือง มีความสุข มีความสบาย  ก็อย่าไปแย่งเอาความสุขจากเขามา ไปขโมยเขามา ไปขอเขามา เพราะนี่ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข เราจะได้บ้างถ้าไปขอเขา  ถ้าเขาสงสารเรา เขาก็จะให้เรามาบ้าง อย่างวันนี้ญาติโยมมาที่วัดนี้ ญาติโยมก็เอากับข้าวกับปลาอาหารคาวหวาน เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ มาถวายพระ พระก็ได้อาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้ถ้าจะมานั่งคอยรับจากญาติโยมอย่างเดียว ก็ไม่มีทางที่จะเจริญได้ เพราะความเจริญนั้น เกิดจากการกระทำของพระเอง  ถ้าพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็จะทำให้ผู้อื่นเกิดศรัทธาเลื่อมใส แล้วก็นำเอาสิ่งของต่างๆมาถวาย โดยไม่ต้องไปขอ ดังที่ญาติโยมได้มาถวายกันในวันนี้

แต่ถ้าพระไม่ปฏิบัติตนให้ดี  ไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะไม่เกิดศรัทธาเลื่อมใส ในจิตใจของศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย  เมื่อไม่มีศรัทธาแล้ว เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ที่ญาติโยมเคยนำมาถวาย ก็จะไม่นำมาถวายต่อไป เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผล ที่เกิดจากเหตุ คือพฤติกรรมการกระทำของพระนั้นเอง สังเกตดู ถ้าวัดไหนมีพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ วัดนั้นจะมีศรัทธาญาติโยมไปทำบุญกันมาก วัดไหนมีแต่พระที่ปฏิบัติเสื่อมเสีย ไม่เคร่งครัดต่อธรรมกับวินัย วัดนั้นจะไม่มีใครไปทำบุญ  เพราะเหตุคือการกระทำนั่นเอง เป็นเหตุจูงใจให้สิ่งต่างๆ ที่ดีที่งาม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของ หรือความสุขความสำราญใจ ความปีติ ความอิ่มเอิบใจเกิดขึ้นมา  ไม่ได้เกิดจากการไปขอสิ่งต่างๆจากผู้อื่น เช่นไปขอความบริสุทธิ์ผุดผ่องของจิตใจจากพระพุทธเจ้า จากพระอริยสงฆสาวก ย่อมเป็นไปไม่ได้  

การไปขอทานจากผู้อื่นมา ก็ไม่ทำให้เราดี ให้เราวิเศษได้ เพราะเมื่อได้มา ก็เอามาใช้ไปวันๆหนึ่ง แล้วก็หมดไป เมื่อหมดไปแล้ว ก็ต้องไปขอใหม่อีก ต้องขออยู่ร่ำไป ถ้าเกิดเขาไม่ให้  เราก็จะกลายเป็นคนอดอยากขาดแคลนไป แต่ถ้าเราเข้าใจถึงหลักของเหตุและผล ว่าสิ่งต่างๆที่ดีที่งาม ผลที่ดีที่งามทั้งหลายนั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราสร้างเหตุที่ดีขึ้นมา แล้วเราก็พยายามสร้างแต่เหตุที่ดี  มีความวิริยะอุตสาหะ ทำแต่ความดี ละการกระทำความชั่วทั้งหลาย ชำระจิตใจด้วยการลดละกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ในใจให้เบาบางลงไป จนหมดสิ้นไป ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้แล้ว เราจะกลายเป็นคนที่ดีที่งาม ไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไปอยู่กับใครที่ไหนก็จะเป็นคนที่มีคุณค่า ใครๆก็อยากจะให้อยู่ด้วย เพราะเรามีแต่สิ่งที่ดีที่งาม

อะไรคือสิ่งที่ดีที่งาม ที่เราควรสะสมสร้างขึ้นมา ก็บุญและกุศลนั่นเอง บุญก็มีอยู่หลายแบบ หลายชนิดด้วยกัน ศรัทธาญาติโยมคงคิดว่า บุญคือการถวายทาน ทำบุญตักบาตร การสละข้าวของเงินทองให้กับผู้อื่น อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด เพราะการเสียสละ การให้ทานนั้น เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการทำบุญ เปรียบเหมือนกับการรับประทานอาหาร อาหารก็มีหลากหลายชนิดด้วยกัน ไม่ใช่มีแต่ข้าวอย่างเดียว เรามักจะพูดว่าเรากินข้าวกัน แต่ความจริงเวลาเรากินกัน เราไม่ได้กินแต่ข้าวอย่างเดียว เรากินกับข้าวกับปลา ของคาวของหวาน ผลไม้ น้ำอะไรต่างๆ อีกหลายชนิดด้วยกัน ถ้ากินข้าวอย่างเดียว ร่างกายย่อมไม่สามารถเจริญเติบโต อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะขาดสารอาหารต่างๆ  ร่างกายจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร  ชีวิตจะไม่อยู่ไปถึงวัยชรา การทำบุญก็เช่นกัน เวลาทำบุญ ส่วนใหญ่เราคิดว่า เป็นการนำอาหารกับข้าวกับปลา ของคาวของหวานมาถวายพระ หรือเสียสละทรัพย์สินเงินทอง เพื่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาให้เป็นประโยชน์  การทำบุญอย่างนี้เรียกว่าทาน เป็นบุญชนิดหนึ่ง ของบุญทั้งหลาย ถ้าทำแต่ทานอย่างเดียว แล้วคิดว่าจะได้ไปสวรรค์ จะรอดพ้น ปลอดภัย จากความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ก็เป็นการเข้าใจผิด จริงอยู่คนที่ทำบุญให้ทาน กับคนที่ไม่ทำบุญให้ทาน ย่อมมีอานิสงส์ต่างกัน คนที่ได้ทำบุญให้ทาน ย่อมได้ประโยชน์มากกว่าคนที่ไม่ทำบุญให้ทานเลย เหมือนกับคนที่กินข้าวเปล่าๆ กับคนที่ไม่ได้กินข้าวเลย คนกินข้าวเปล่าๆ ย่อมได้รับความอิ่มบ้าง ดีกว่าคนที่ไม่ได้กินข้าวเลย แต่คนที่กินข้าวเปล่าๆ ย่อมได้รับประโยชน์น้อยกว่าคนที่กินทั้งกับข้าวกับปลา ของคาวของหวาน  ผลไม้  ขนมต่างๆ  คนที่กินอาหารหลากหลายชนิด ย่อมมีความเอร็ดอร่อย มีความอิ่ม มีความสุข มากกว่าคนที่กินข้าวอย่างเดียว  

การทำบุญจึงไม่ควรทำเพียงแต่ให้ทานอย่างเดียวเท่านั้น ควรทำอย่างอื่นด้วย เช่น ควรรักษาศีล มีความกตัญญูกตเวที ขยันหมั่นเพียร มีสัมมาคารวะ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ เจริญปัญญา เจริญวิปัสสนา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เห็นว่าสภาวธรรมต่างๆ สิ่งต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจของเรานั้น ล้วนเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วต้องดับไป มีการมาและมีการไปเป็นธรรมดา แม้กระทั่งร่างกายของเราก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน  มีการเกิดขึ้น ก็ต้องมีการแก่ มีการเจ็บไข้ได้ป่วย มีการตายไปในที่สุด แต่ใจผู้รู้เรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องไปตกใจ เพราะใจกับสภาวธรรมต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับใจนั้น เป็นคนละส่วนกัน เป็นคนละอันกัน ใจเป็นของไม่ตาย ใจเป็นผู้รู้ แต่ใจมีความหลงครอบงำอยู่ จึงทำให้หลง ไปยึดไปติดกับร่างกาย ไปคิดว่าร่างกายเป็นใจ เมื่อเป็นเช่นนั้น เวลาอะไรเกิดขึ้นกับร่างกาย ใจก็เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว เกิดความทุกข์ เกิดความไม่สบายใจขึ้นมา ทั้งๆที่ใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกายเลยแม้แต่นิดเดียว

แต่เพราะความหลง ความไม่รู้นั่นเอง จึงทำให้ใจเกิดความวิตก เกิดความกลัว เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา แต่ถ้าได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่า ใจนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ  เป็นสิ่งที่ไม่ตาย  เป็นสิ่งที่สามารถอยู่ได้ตามลำพัง โดยไม่ต้องมีอะไร พระพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์แล้ว ได้ทรงสละทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสมบัติ ข้าวของเงินทอง บุคคลต่างๆ ฐานะยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ   ได้ทรงละ ทรงสละ ไม่ยึดไม่ติด แม้กระทั่งพระวรกายของพระองค์เอง ก็ทรงไม่ยึดไม่ติด ทรงพิจารณาด้วยปัญญาจนเห็นว่าเป็นสภาวธรรม เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามปกติของเขาในโลกนี้ เป็นเหมือนกับต้นไม้ใบหญ้า เหมือนกับบ้านช่อง เหมือนกับรถยนต์ เป็นวัตถุชิ้นหนึ่งที่มีการสืบต่อ จนถึงวาระสุดท้าย ก็จะมีการแตกดับไปเป็นธรรมดา นี่แหละคือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทรงรู้ความจริงระหว่างใจกับสภาวธรรมทั้งหลาย ที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วย

อย่างชีวิตของเราก็มีอยู่ ๒ ส่วนด้วยกัน คือมีใจกับกาย กายก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ประกอบขึ้นจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มารวมตัวกัน แล้วในที่สุด ก็แยกสลายออกจากกัน เราจะเห็นได้ในชีวิตของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นคนรวยหรือเป็นคนจน ก็เป็นเหมือนกันทั้งสิ้น ร่างกายอันนี้ไม่แตกต่างกันเลย เป็นสิ่งที่เกิดมาจากอาหารที่เรารับประทานนั่นแหละ ถ้าไม่รับประทานอาหาร เราจะมีร่างกายนี้ได้อย่างไร  เวลาเกิดมาแล้ว ออกมาจากท้องแม่แล้ว สิ่งแรกก็ต้องสูดลมหายใจ นี่ก็ธาตุหนึ่งแล้ว ต่อไปก็รับประทานนม ก็เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟผสมกันอยู่ในนั้น เมื่อกินนมเข้าไปแล้ว ก็ทำให้ร่างกายมีกำลังวังชา มีพลัง มีธาตุไฟเข้าไปทำให้ร่างกาย เจริญเติบโตได้ เหล่านี้ล้วนเป็นธาตุทั้งสิ้น เป็นสภาวธรรมทั้งนั้น  

เป็นธรรมชาติของธาตุที่จะไม่รวมอยู่ด้วยกันไปตลอด จะแยกกลับไปสู่ธาตุเดิมอยู่เสมอ น้ำย่อมกลับไปสู่น้ำ ลมย่อมกลับไปสู่ลม ไฟย่อมกลับไปสู่ไฟ ดินย่อมกลับไปสู่ดิน จะผสมกันอยู่ได้สักระยะหนึ่ง แล้วก็จะต้องแยกจากกันไป นี่เป็นหลักตายตัว เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เห็น จึงได้นำมาสั่งสอนพวกเรา ให้แยกใจออกจากสภาวธรรมทั้งหลาย อย่าไปยึด อย่าไปติด เพราะไปยึดไปติดกับเขาไม่ได้  เขาไม่อยู่กับเราไปตลอด  เราไม่มีอำนาจ ไม่มีความสามารถที่จะเหนี่ยวรั้งสภาวธรรม คือธาตุทั้งหลายให้อยู่กับเราได้ไปตลอด  นับประสาอะไรกับธาตุของผู้อื่น ธาตุของเราเอง คือร่างกายของเรา เรายังควบคุมไม่ได้ แล้วจะไปควบคุมบังคับร่างกายของผู้อื่น หรือจิตใจของผู้อื่นได้อย่างไร เขาก็มีกรรมของเขา ที่จะต้องเป็นไป  ทำมาอย่างไร ก็ต้องไปตามวิถีทางของเขา แต่เมื่อเขามาเกี่ยวข้องกับเราๆ ก็ต้องรู้จักวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง คืออย่าไปหลง อย่าไปคิดว่าเขาเป็นของเรา อย่าไปคิดว่าจะควบคุมบังคับให้เขาอยู่กับเราไปได้ตลอด

ควรใช้เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา กับเขา มีความเมตตา ความปรารถนาดี ไม่เบียดเบียน ไม่อาฆาตพยาบาทเขา มีความกรุณา ช่วยเหลือเขาในสิ่งที่ช่วยเหลือได้  มีมุทิตา ไม่อิจฉาริษยาในความเจริญรุ่งเรือง ในความสุขของเขา ถ้าเขาได้ดิบได้ดี ก็ยินดีกับความสุขของเขา แต่ถ้าเขาตกทุกข์ได้ยาก ประสบกับทุกข์ภัยที่ไม่มีใครจะสามารถแก้ไขได้ ช่วยเหลือได้  ก็จะต้องมีอุเบกขา ใจของเราต้องเป็นกลางวางเฉย ไม่ยินดีไม่ยินร้ายกับเรื่องราวของเขา ถือเป็นธรรมดาของโลก เป็นเรื่องของธรรมชาติส่วนหนึ่ง คือมีเจริญและเสื่อม เป็นเรื่องของกรรมอีกส่วนหนึ่ง คือใครทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ถ้าช่วยเหลือได้ก็ช่วยเหลือไป ตามกำลังของเรา ถ้าเป็นลูกของเรา ก็เลี้ยงดูเขา ให้ได้รับการอบรมที่ดี พาเข้าวัด ส่งเสียให้ได้เรียนสูงๆ เพื่อจะได้มีความรู้ความฉลาด  แล้วต่อไปจะได้พึ่งพาตัวเองได้ แต่อย่าไปหวังอะไรจากเขา เขาจะสำนึกในบุญคุณของเราหรือไม่ ก็สุดแท้แต่เขา ขึ้นอยู่ที่ใจของเขาว่าเป็นใจที่สว่าง หรือใจที่มืดบอด ถ้ามืดบอดก็จะไม่รู้จักคุณของผู้อื่น ถ้าสว่าง ก็จะรู้จักคุณของผู้อื่น ถ้ายังไม่ได้รับการอบรม ก็ควรอบรมสั่งสอนให้รู้จักเรื่องของบุญของคุณ ให้รู้จักเรื่องของความกตัญญูกตเวที เมื่อเขารู้แล้ว แต่ยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ก็อย่าไปคิดน้อยอกน้อยใจ เศร้าโศกเสียใจ ถือเสียว่าเป็นบุญเป็นกรรมของเขา เป็นบุญเป็นกรรมของเรา ที่จะต้องมาเจอกัน

ถ้ามีปัญญา ได้ยินได้ฟังธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ ฝึกฝนจิตใจไม่ให้ไปยึดไปติด ไปหวังกับอะไร โดยถือหลักอัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เราก็จะสามารถพึ่งตัวของเราไปได้จนถึงวันหมดลมหายใจเลย ใจของเราสามารถพึ่งตัวเองได้ ใจจะไม่เดือดร้อนเลย ถ้าใจฝึกหัดให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ ต่อไปเวลาอะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่หวังพึ่งอะไรกับใคร เพราะใจสามารถดูแลใจได้ ใจสามารถปกป้องไม่ให้ใจต้องทุกข์ ต้องเศร้าโศกเสียใจได้ เพราะอะไร เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี่แหละ ที่สอนให้พวกเรามีความขยันหมั่นเพียร ให้พึ่งตัวเอง อย่าไปหวังอะไรจากผู้อื่น ทำไปเถิด เรานี่แหละสามารถพึ่งตัวเราเองได้  ถ้าไปหวังพึ่งคนอื่นแล้ว ชีวิตของเราจะเป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆ เพราะจะไปรู้ได้อย่างไรว่า เขาจะเป็นที่พึ่งของเราได้ไปตลอด บางทีเขาอาจจะตายไปก่อนวัยก็ได้  ถ้าคิดจะหวังพึ่งบิดามารดาของเราไปตลอดชีวิต วันดีคืนดีเกิดมีอุบัติเหตุ มีโรคภัยไข้เจ็บ แล้วเขาต้องตายไปก่อน เราจะทำอย่างไร

ถ้าเราฝึกหัดให้ตนเป็นที่พึ่งของตน หัดทำอะไรด้วยตัวของเราเอง หากินด้วยลำแข้งลำขาของเราเองได้แล้ว ต่อไปเราจะไม่ต้องกังวลกับเรื่องของผู้อื่น ไม่ต้องหวังอะไรจากผู้อื่น แม้กระทั่งความสุข เราก็ไม่หวังจากผู้อื่น เพราะความสุขที่แท้จริงนั้น มันอยู่ในใจของเรา อยู่ในใจที่ไม่หิว ไม่อยาก ไม่ไขว่คว้าหาสิ่งต่างๆภายนอก  ซึ่งทำไม่ยากเลย ถ้าเข้าใจหลักสัจธรรมความจริงนี้  แล้วพยายามฝืนใจ ทุกครั้งที่ใจไขว่คว้าอยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้จากภายนอก ก็บอกตัวเราว่า มันไม่ใช่ความสุขนะ มันเป็นความทุกข์ เพราะการไขว่คว้า ความอยาก ความต้องการนี้  มันสร้างความหิว สร้างความกระหายให้เกิดขึ้น ถ้าระงับดับความหิว ความกระหายนี้แล้ว ใจจะสงบนิ่ง แล้วใจก็จะมีความสุข มีความอิ่ม มีความพอ แต่เราต้องต่อสู้ ต้องปฏิบัติ ต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เป็นเครื่องมือไว้ต่อสู้กับความหิว กับความอยาก  กับความโลภ กับความโกรธ กับความหลงทั้งหลาย ถ้าไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญาแล้ว เราจะไม่มีเครื่องมือ เหมือนกับเวลาเข้าไปในสงคราม ถ้าไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้ต่อสู้กับข้าศึก  ก็จะกลายเป็นเป้าให้เขายิงโดยฝ่ายเดียว แต่ถ้ามีอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เราก็มีโอกาสที่จะชนะได้ และจะชนะถ้าสู้แบบไม่ถอย เพราะใจเป็นของไม่ตาย ข้าศึกจะไม่สามารถทำลายใจของเราได้  ศัตรูของใจก็คือกิเลสตัณหาทั้งหลาย  จะไม่สามารถทำลายใจของเราได้  ต่อให้มีอาวุธร้ายแรงขนาดไหน ก็ไม่สามารถทำลายใจได้ เพราะใจเป็นสิ่งที่ไม่ตาย เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรจะสามารถทำให้แตกสลาย ให้สูญไปได้  แต่ทำให้โง่ได้ ทำให้หลงได้ ทำให้ทุกข์ได้

เป็นบุญเป็นวาสนาของพวกเรา ที่ได้มาเกิดในสมัยที่ยังมีคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ ที่ทรงสอนให้หันเข้ามาดูใจของเรา มาชำระใจของเรา เพราะปัญหาทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเรา ที่ถูกกิเลสตัณหาหลอกให้อยาก ให้หิว ให้โลภ ให้โกรธนั่นเอง ถ้าเข้าใจหลักนี้ แล้วน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาต่อสู้ มาทำลายล้างกิเลสตัณหา  ไม่ช้าก็เร็ว ถ้ามีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทนอดกลั้น สู้แบบไม่ถอยแล้ว เราก็จะต้องเป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน เหมือนกับที่พระพุทธเจ้ากับพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย ได้ชนะมาแล้ว ท่านเป็นผู้ชนะกิเลส ชนะตัณหาที่มีอยู่ในใจของท่าน เมื่อชนะแล้ว เมื่อกิเลสตัณหาหมดสิ้นไปจากใจแล้ว ใจของท่านก็เป็นใจที่สงบเย็นสบาย เป็นใจที่มีแต่ความอิ่ม มีแต่ความพอ นี่เป็นความจริงที่พวกเราทั้งหลายจะต้องพิสูจน์กัน ไม่มีใครจะสามารถพิสูจน์ให้กับเราได้ เราต้องเป็นผู้ที่พิสูจน์เอง เหมือนกับอาหารที่เขาทำมา แล้วตั้งไว้อยู่ที่ข้างหน้าเรา แล้วก็บอกว่าถ้าอยากจะรู้ว่าอาหารนี้รสดีขนาดไหน เลิศขนาดไหน วิเศษขนาดไหน ก็ต้องลองชิมดู ถ้านั่งดูเฉยๆไปจนวันตาย  ก็จะไม่รู้จักว่ารสของอาหารนี้เป็นอย่างไร แต่ถ้าตักเข้าไปในปาก ก็จะรู้ทันทีเลยว่าเป็นอย่างไร

ธรรมต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  ให้เราประพฤติปฏิบัติกัน  ก็เป็นเช่นนั้น เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญที่แท้จริง เป็นเหตุที่จะทำลายสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย พิษภัยคือความทุกข์ใจทั้งหลาย ก็จะถูกทำลายไปหมด ด้วยการปฏิบัติตามธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน โดยยึดหลักอัตตาหิ อัตตโน นาโถ ไม่มีใครทำให้เราได้ ไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้ เราเท่านั้นแหละเป็นผู้ที่ปฏิบัติได้ ทำได้ และถ้าเราไม่ทำ เราก็จะไม่มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย จะไม่มีโอกาสประสบกับความสุขกับความเจริญทั้งหลาย  แต่ถ้ามีศรัทธาอย่างที่ท่านทั้งหลายมีกันในวันนี้ มาทำบุญกัน มาฟังเทศน์ฟังธรรม มารักษาศีลกัน ก็ขอให้เพิ่มศรัทธาให้มีมากขึ้น ทำบุญให้มากขึ้น คือนอกจากการให้ทานแล้ว ก็ขอให้สมาทานศีล ให้ปฏิบัติธรรมกัน ให้มีความขยันที่จะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม ให้มีความขยันที่จะละความชั่ว ความไม่ดีทั้งหลาย ให้มีความขยันในการชำระ ในการต่อสู้กับกิเลสตัณหาทั้งหลาย ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ ถ้าทำได้แล้ว จะไม่ต้องวิ่งไปหาความสุขจากที่ไหน ไม่ต้องไปขอความสุขจากใคร เพราะความสุขจะปรากฏขึ้นมาในใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ในใจที่ได้ชนะกิเลสตัณหาทั้งหลายแล้วนั้นเอง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้