กัณฑ์ที่ ๑๓๐       ๖ กันยายน ๒๕๔๕

ปฏิบัติธรรม

วันนี้เป็นวันพระ วันธรรมสวนะ วันฟังธรรม  พวกเราจึงได้มาที่วัด  เพื่อประกอบคุณงามความดี ทำบุญใส่บาตร สมาทานศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม  อันเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ  โดยเฉพาะการฟังเทศน์ฟังธรรม  เป็นการเติมแสงสว่างให้กับชีวิต  ของปุถุชนอย่างเราอย่างท่าน  ที่ยังมีความมืดบอด เพราะมีอวิชชาความไม่รู้ โมหะความหลงครอบงำอยู่  ทำให้มีความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ไม่เห็นตามสภาพความเป็นจริง   ต่างกับพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ผู้มีดวงตาเห็นธรรม มธัมโมปทีโป แสงสว่างแห่งธรรมภายในใจ ไม่มีความมืดบอดหลงเหลืออยู่เลย  เพราะได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม ชำระอวิชชาความไม่รู้ โมหะความหลงให้หมดสิ้นไปจากใจ  กลายเป็นใจที่มีแต่ความสว่างไสว  เป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  รู้เห็นตามสภาพความเป็นจริง ของทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้อง มาสัมผัสกับใจ  เป็นผู้สิ้นทุกขเพราะได้ปล่อยวางแล้วด้วยปัญญา   เพราะเห็นสภาวธรรมทั้งหลาย ที่มาเกี่ยวข้องกับใจ ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  คือเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ถ้าไปยึดไปติด  เป็นอนัตตาปราศจากตัวตน 

นี่คือสิ่งที่ท่านเห็น ซึ่งต่างจากที่พวกเราเห็นกัน  เพราะพวกเรายังเห็นสิ่งต่างๆ ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ว่าเป็น นิจจัง เป็นของที่เที่ยงแท้แน่นอน  เป็นสุขัง เป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา  เป็นอัตตา มีตัวตน  เป็นความเห็นที่ตรงกันข้ามกับความเห็นของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  ชีวิตของเราจึงเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไปยึด ไปติด อยู่กับกองทุกข์นั่นเอง  คือกองไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีวิธีเดียวเท่านั้นที่พวกเราจะสามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์นี้ได้ คือเราต้องน้อมเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติ แล้วไม่ช้าก็เร็ว  เราก็จะมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา  มีธรรมโมปทีโป  ประทีปแห่งธรรม สว่างขึ้นมาภายในใจ  เมื่อเห็นแล้วในทุกสิ่งทุกอย่าง ตามความเป็นจริง เราก็จะปล่อยวางได้  เมื่อปล่อยวางแล้ว เราก็จะไม่ทุกข์กับอะไรอีกต่อไป

ดังนั้นหน้าที่ของเราก็คือ ต้องศึกษา หมั่นฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เสมอ  แล้วนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปปฏิบัติ  ปฏิบัติแล้วก็จะเห็นเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น  สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราศึกษาอยู่เสมอ  มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน  คือ ๑.ให้ศึกษากาย  ๒. ให้ศึกษาเวทนา ความรู้สึก  ๓. ให้ศึกษาจิต อารมณ์ต่างๆที่มีอยู่ในจิต  และ ๔. ให้ศึกษาธรรมคือสภาวธรรมต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นทั้งภายนอกและภายในจิต  ศึกษาให้เห็นว่า เป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  การปฏิบัติ การศึกษานี้ ต้องศึกษาในชีวิตจริงของเรา  ไม่ได้ศึกษาในห้องเรียน หรือเวลาที่มาที่วัดเท่านั้น ห้องเรียนที่แท้จริงของเรา ก็คือชีวิตของเราตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง  ยกเว้นเวลาที่หลับไปเท่านั้น  ตั้งแต่เวลาที่ตื่นขึ้นมา ควรมีสติดูกายกับใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ  อยู่อย่างตลอดเวลา  และดูให้ถูก  คืออย่าไปดูว่ามีตัวตนในกายในใจ  อย่าไปดูว่าเป็นของที่เที่ยงแท้แน่นอน  อย่าไปดูว่าเป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา แต่ต้องมองตรงกันข้ามกัน  เพราะความจริงมันเป็นเช่นนั้น  เป็นของไม่เที่ยง  เป็นของไม่มีตัวตน  ถ้าไปยึดไปติดก็จะต้องทุกข์กับสิ่งนั้นๆ  

จึงควรมีสติดูกาย ดูใจอยู่ตลอดเวลา  ตั้งแต่เช้าที่ตื่นขึ้นมาเลย  ให้มีสติดูรู้อยู่ที่กายของเรา  เพราะสิ่งแรกที่จะทำเมื่อตื่นขึ้นมา ก็คือจะลุกขึ้น เพื่อที่จะไปทำภารกิจต่างๆ  ให้มีสติดูการเคลื่อนไหวของกาย  ตั้งแต่ลุกขึ้นมานั่ง  ลุกขึ้นมายืน  ลุกขึ้นมาเดิน  ลุกขึ้นไปทำภารกิจต่างๆ   ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ให้มีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหว การทำงานของกาย  อย่าให้ใจคลาดเคลื่อนห่างไกลจากกายเลย  อย่าไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต หรือเรื่องราวต่างๆในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง  ให้รู้อยู่กับกายกับใจนี้  ภายในใจก็จะมีเวทนา  มีอารมณ์ต่างๆ มีสภาวธรรมต่างๆ ปรากฏขึ้นมา ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป  ให้มีสติดูอยู่กับสิ่งเหล่านี้  ดูแล้วปล่อยวาง  อย่าไปยึดอย่าไปติด  รู้ตามสภาพความเป็นจริง  เวลาเขาแสดงอะไรขึ้นมา ก็ให้รู้ อย่าไปยินดียินร้ายกับเขา  เพราะภายในใจจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  บางวันตื่นขึ้นมาก็มีความรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงา  ก็จงทำความรู้ความเข้าใจว่า มันเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง  ไม่ใช่ของจริง  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  แล้วก็ดับไป  เป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ได้  มีเหตุ มีปัจจัย ทำให้เขาปรากฏขึ้นมา  แต่เมื่อเหตุปัจจัยหมดไป เขาก็จะเสื่อมไปตามธรรมดา  ไม่ต้องไปยินดี ยินร้าย กับสิ่งเหล่านี้  เพราะถ้ามีอาการยินดียินร้ายแล้ว  ใจจะมีความทุกข์ขึ้นมา 

เพราะถ้าวันไหนมีอารมณ์ไม่ดี เราก็จะมีความไม่สบายอก ไม่สบายใจ  วันไหนมีอารมณ์ดี เราก็จะมีความสุขสดชื่นเบิกบาน  แล้วก็อยากจะให้อารมณ์ดีนี้อยู่กับเราไปตลอด  เมื่ออารมณ์ดีนี้เสื่อมไป หมดไป  เราก็จะเกิดความไม่สบายอกไม่สบายใจขึ้นมาอีก  แต่ถ้าทำเพียงสักแต่ว่ารู้ ตามความเป็นจริงของเขา เวลามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นมา ก็ให้รู้ว่าเป็นอารมณ์ เป็นเหมือนกับเมฆที่ลอยผ่านมาในท้องฟ้า มาปกปิดแสงอาทิตย์แล้วสักครู่หนึ่งก็ผ่านไป  แสงอาทิตย์ก็กลับสว่างไสวขึ้นมาอีก  ใจของเราก็เช่นกัน จะมีอารมณ์ต่างๆผลัดเปลี่ยนกัน ลอยไปลอยมาอยู่ตลอดเวลา  ถ้าไม่มีสติแล้ว  ใจจะกลิ้งไป แกว่งไปตามอารมณ์ต่างๆ ถ้าอารมณ์ไม่ดีก็แกว่งหนี  ถ้าอารมณ์ดีก็แกว่งเข้าหา  ใจเลยไม่นิ่ง  ไม่เป็นอุเบกขา  ใจจึงมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัวไม่รู้จักจบจักสิ้น  แต่ถ้ามีสติมีปัญญา จะเห็นว่าอารมณ์ต่างๆล้วนเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น  มีการมาแล้วในที่สุดก็จะมีการไป  เช่นวันนี้ตื่นขึ้นมามีอารมณ์หงุดหงิด  มีความขุ่นมัว  มีความเศร้าหมอง  ก็ตั้งสติบอกกับตัวเราว่า นี่เป็นเพียงอารมณ์นะ  ใจผู้รู้ ก็ให้รู้ตามความเป็นจริงของเขา อย่าให้อารมณ์นี้ชักนำให้เราเสียหลัก เสียงาน เสียการ  มีหน้าที่จะต้องทำอะไร ก็ทำไป ถ้าร่างกายยังปกติอยู่  ถึงแม้ใจไม่อยากจะทำ  ก็อย่าไปสนใจกับความรู้สึกนั้น  จงดำเนินชีวิตไปตามปกติเหมือนกับทุกๆวัน ที่เคยดำเนินมา  ถ้าถึงเวลาที่จะต้องไปทำงาน  เราก็อาบน้ำอาบท่า ใส่เสื้อผ้าแต่งตัว กินข้าว แล้วก็ไปทำงานของเรา อย่าไปสนใจกับอารมณ์นั้น  เพราะถ้าไปสนใจแล้ว อารมณ์นั้นจะชักพาให้เสียงานเสียการได้   

เพียงแต่รู้ไว้เท่านั้น ว่าวันนี้มีอารมณ์ไม่ดีอยู่ภายในใจ แล้วก็ต้องมีความระมัดระวัง ในการแสดงออกทางกาย ทางกริยา วาจา  เพราะเวลามีอารมณ์ไม่ดี  เห็นอะไรมักจะเกิดความไม่พออกพอใจขึ้นมาได้ง่าย  และถ้าไม่มีสติคอยควบคุมดูแล การแสดงออกของกายและวาจาแล้ว  เดี๋ยวก็อดไม่ได้ ที่จะพูดไม่ดี กระทำในสิ่งที่ไม่ดี  แต่ถ้ามีสติ  เราก็จะพยายามสำรวมให้มากๆ  ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องพูดกับใคร  ถ้าจำเป็นก็พยายามยิ้มไว้  แผ่เมตตา ส่งความปรารถนาดีให้กับผู้อื่น เหมือนกับวันที่มีความสุข มีความสดชื่นเบิกบาน สิ่งเหล่านี้เราสามารถควบคุมได้ สามารถทำได้ ถ้าเราคอยดูใจเรา  คอยดูการเคลื่อนไหว ของกาย ของวาจาเรา  แล้วชีวิตของเราก็จะดำเนินไปเป็นปกติ  ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว อารมณ์ที่ไม่ดีนั้น  ดีไม่ดีก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่อยู่นาน   แต่ถ้าไปหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์นั้น อยากจะให้อารมณ์นั้นหมดไป หายไป  แทนที่จะหายไป  กลับอยู่กับเราต่อไปอีก  เพราะเราเป็นผู้ที่ดึงเขาไว้ ด้วยการไปหมกมุ่นกับเขา ไปเจ้ากี้เจ้าการกับเขา เพื่อให้เขาหมดไป ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง  เมื่อไม่หมดไป  ก็ยิ่งสร้างความหงุดหงิดใจ  ความไม่สบายใจ  สร้างอารมณ์ที่ไม่ดี ให้เกิดขึ้นตามมาอีก  เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง 

ทางที่ถูกคือ เราไม่ต้องไปแก้อารมณ์   อารมณ์เป็นสิ่งที่แก้ไม่ได้  เขาจะเป็นอย่างไร ก็ให้เขาเป็นไป  เรามีหน้าที่รู้ด้วยสติ รู้ด้วยปัญญาว่า อารมณ์เหล่านั้นไม่มีตัวตน  เป็นของไม่เที่ยง  ถ้าไม่ไปยึดไปติด เราจะไม่ทุกข์  เราจะไม่เดือดร้อน  เราจะไม่วุ่นวาย  ถ้าไปยุ่งกับเขา ไปจัดการเขา ให้เป็นไปตามที่เราปรารถนา ก็จะเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา   เพราะอารมณ์นี้แม้จะอยู่ภายในใจเรา ก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง  เหมือนกับสภาวธรรมที่อยู่ภายนอกกายกับใจ  เช่นแดด ลม ฝน ฟ้า เหล่านี้ก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง  วันๆหนึ่งนี้ อากาศจะไม่เหมือนกันทุกวันไป  บางวันก็โปร่งใส มีแสงอาทิตย์ออกมา  บางวันก็มืดครึ้ม มีเมฆมีหมอก มีฝน  สิ่งเหล่านี้เราก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่อยู่เหนือวิสัยของเรา ที่เราจะไปทำอะไรกับเขาได้  เราทำได้อย่างเดียวก็คือทำใจเรา ให้เป็นปกติให้ว่าง ให้เป็นกลาง  ฝนจะตก แดดจะออก  เราก็รู้ตามความเป็นจริงของเขา  แล้วมันก็ผ่านไป 

ฉันใดอารมณ์ต่างๆ ที่อยู่ในใจเราก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน  อารมณ์ดีก็รู้ว่าเป็นอารมณ์ดี  อารมณ์ไม่ดีก็รู้ว่าเป็นอารมณ์ไม่ดี  เวลาโกรธก็รู้ว่าโกรธ  เวลารักก็รู้ว่ารัก  เวลาชังก็รู้ว่าชัง  เวลากลัวก็ให้รู้ว่ากลัว  เวลาหลงก็ให้รู้ว่าหลง  แล้วไม่ต้องไปหลงตาม  ไม่ต้องไปรักตาม  ไม่ต้องไปชังตาม  ไม่ต้องไปโกรธตาม  ไม่ต้องไปกลัวตาม  เพียงแต่ให้รู้อยู่ด้วยความเป็นอุเบกขาเท่านั้น  แล้วในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างก็จะผ่านไป  เรารู้ได้เพราะในชีวิตของเราตั้งแต่เกิดมา เราก็มีอารมณ์ต่างๆ ผ่านมาอยู่ตลอดเวลา ทุกวัน ทุกเวลาเลยทีเดียว  แต่เราไม่รู้จักวิธีปฏิบัติกับอารมณ์เหล่านี้เท่านั้นเอง  เราจึงมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความวุ่นวายใจกับอารมณ์เหล่านี้  ดังนั้นต่อไปนี้ เราควรฝึกตั้งสติ ดูอารมณ์ของเรา  เวลามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นมา ก็ให้รู้ว่าเป็นอารมณ์  เหมือนกับเมฆ เหมือนกับฝน  ที่ไปบังคับ ไปห้ามไม่ได้  เมื่อฝนตกลงมาแล้ว ก็จะหมดพลัง หมดกำลัง ก็จะสลายไป  อารมณ์ต่างๆก็เป็นแบบนั้น  ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว ต่อไปชีวิตของเราจะดำเนินไปได้ด้วยความสงบ  ไม่มีความวุ่นวายใจ   

นอกจากอารมณ์แล้ว ก็ยังมีเวทนาความรู้สึก  ที่เราควรจะทำความรู้จัก  เวทนานี้ก็มีอยู่ ๓  คือ ๑. สุขเวทนา  ๒. ทุกขเวทนา  ๓. อทุกขมสุขเวทนา หรือ ไม่สุขไม่ทุกข์เวทนา  ที่ปรากฎของเวทนาก็มีอยู่ ๒ ที่ด้วยกัน  คือกายกับใจ  เวทนาที่เกิดจากกายเรียกว่ากายเวทนา  เช่นเวลารับประทานอาหารอิ่มเรียบร้อยแล้ว ก็มีความสุข มีความสบาย ก็เป็นสุขเวทนาทางกาย    เวลาไม่ได้รับประทานอาหาร ก็เกิดความหิวขึ้นมา  ก็เป็นทุกขเวทนาทางกาย  เวทนาทางกายนี้ บางอย่างก็แก้ไขได้  บางอย่างหรือบางครั้งบางคราว ก็แก้ไขไม่ได้  อย่างเวลาหิวข้าว  ถ้ามีข้าวรับประทาน ก็ดับเวทนาที่เกิดจากความหิวข้าวได้  เวลามีความหิวน้ำกระหายน้ำ  ถ้ามีน้ำดื่ม ก็ดับเวทนาที่เกิดจากความกระหายน้ำได้  แต่เวทนาบางชนิดก็แก้ไม่ได้  เช่นเวลาเดินไปเตะหินเข้า  ก็เกิดการเจ็บเท้าขึ้นมา  หรือเวลามีอาการเท้าแพลง เท้าเคล็ด เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ตามร่างกายต่างๆ  เราก็ทำอะไรไม่ได้  นอกจากหายามารับประทาน  แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เวทนานั้นหายไปได้ทันทีทันใด 

เราก็ต้องทำความเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องของเวทนาเขา เป็นเหมือนกับลม กับแดด กับฝน  ถึงเวลาที่มีเหตุมีปัจจัย ทำให้เวทนาทางกายปรากฏขึ้นมา เขาก็ต้องปรากฏขึ้นมา  จะเป็นสุขเวทนาก็ดี เป็นทุกขเวทนาก็ดี หรือเป็นไม่สุขไม่ทุกข์เวทนาก็ดี ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา  และเมื่อปรากฏขึ้นมาแล้ว เราก็อย่าไปเกิดความรู้สึกไม่พอใจ  เพราะเวลาเกิดความไม่พอใจ ก็จะสร้างเวทนาขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เป็นเวทนาทางใจ คือความทุกข์ใจ  เป็นทุกข์ที่เกิดจากวิภวตัณหา ความไม่อยาก ความไม่ชอบในเวทนาทางกายนั้น  ถ้าทำใจให้นิ่งเฉย ยอมรับเวทนาของกายที่เกิดขึ้นมาในขณะนั้นว่า ถ้าเจ็บ ก็ต้องเจ็บ ทำอย่างไรได้  เราไม่สามารถไปแก้ไขเขาได้  อย่างมากก็ได้แต่ไปหาหมอหรือไปกินยา  แต่ถ้ายังไม่หาย มันก็ยังไม่หาย  แต่เราไม่ต้องไปทุกข์ใจซ้ำขึ้นมาอีกทุกข์หนึ่ง คือให้มันทุกข์ที่กายอย่างเดียวก็พอ อย่าไปสร้างความทุกข์ใจให้เกิดขึ้นมา ด้วยความไม่อยาก หรือด้วยความอยาก ที่จะให้ทุกข์นั้นหายไปอย่างรวดเร็วทันตาเห็น  มันเป็นไปไม่ได้  เพราะเขาก็เป็นเหมือนกับลมกับแดดกับฝนนั่นแหละ เป็นเหมือนกับอารมณ์ต่างๆ ที่ได้พูดไว้เมื่อสักครู่นี้ 

เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตน  เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ใจจะไม่ทุกข์ถ้าไม่ไปยึดไปติดกับเขา  ไม่ไปอยากหรือไม่อยากกับเขา  ไม่ยินดียินร้ายกับเขา  เขาจะปรากฏขึ้นมาอย่างไร ก็ให้รับรู้ไว้  ถ้าแก้ไขได้ ก็แก้ไขไป  ถ้าแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความจริง  เพราะเวทนาทางกายนี้ ไม่ช้าก็เร็ว ในที่สุดเขาก็จะต้องแสดงฉากสุดท้ายของเขา  ก็คือเวลาตายนั่นเอง ไม่มีใครจะช่วยเราได้ในขณะนั้น  มีเราเท่านั้นที่จะช่วยเราได้ ด้วยการปล่อยวาง  เพราะเราเข้าใจเวทนานี้ รู้ว่าถึงแม้ร่างกายทั้งร่างกายนี้จะปวดร้าว  จะทุกข์ทรมานไปขนาดไหนก็ตาม  แต่ใจของเราไม่ต้องทุกข์ทรมานไปกับความเจ็บปวด ความปวดร้าว ของร่างกาย  เพราะเป็นคนละอันกัน  ใจกับกายเป็นคนละอันกัน  ถ้ามีปัญญาเราจะเข้าใจ  แล้วเราก็จะปล่อยวางกายเวทนา เขาจะเป็นอย่างไร ก็ให้เขาเป็นไปตามเรื่องเขา  ใจจะไม่เดือดร้อน  ใจจะปลอดภัย  ใจจะไม่ทุกข์ 

แต่ถ้าเราไม่ศึกษา ไม่ปฏิบัติ  ไม่ทดสอบดู  ถึงเวลาที่เกิดเวทนาแล้ว  เราจะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติกับเขา เราจะมีแต่ความทุกข์  มีแต่ความวุ่นวายใจไม่มีที่สิ้นสุด  อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ เมื่อนั่งไปได้สักระยะหนึ่ง ก็จะเกิดอาการเจ็บตรงโน้นเจ็บตรงนี้ขึ้นมา  นี่ก็คือกายเวทนา  เราก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง อย่าไปสนใจ  ถ้ามีกรรมฐาน คือองค์ภาวนา ที่ใช้เป็นเครื่องกำกับใจ ก็ให้มีความสนใจอยู่กับองค์ภาวนานั้น  ถ้าใช้พุทโธก็ให้บริกรรมคำว่า พุทโธๆๆ ให้ถี่เข้าไป  อย่าส่งใจไปหาความเจ็บ ไปหาเวทนาทางกาย  ปล่อยให้เวทนาทางกายเขาเป็นไปตามเรื่องของเขา  ถ้าเราไม่ไปสนใจแล้ว  ใจของเราจะไม่เดือดร้อน  เมื่อใจของเราไม่เดือดร้อน  เราก็จะนั่งอยู่ได้ต่อไป  แต่ถ้าขาดสมาธิ  ขาดสติ ไม่สามารถควบคุมใจให้อยู่กับองค์ภาวนา คือให้อยู่กับพุทโธๆๆ แล้วส่งใจไปที่ความทุกข์นั้น ก็จะเกิดความรู้สึกว่าโอ๊ยเจ็บเหลือเกิน  เจ็บเหลือเกิน  อยากจะให้ความเจ็บนี้หายไป  ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว  ความเจ็บในใจจะเกิดขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง  ซึ่งเป็นความเจ็บที่มีความรุนแรง มากกว่าความเจ็บของร่างกาย  จนทำให้ไม่สามารถทนนั่งอยู่ต่อไปได้ ก็จะต้องลุกขึ้นมา  การภาวนาก็ไม่เจริญก้าวหน้า  เพราะไม่สามารถปล่อยวางเวทนานี้ได้  จิตก็เลยไม่สามารถเข้าสู่ความสงบได้ จิตจะสงบได้ จิตจะต้องปล่อยวาง  จะต้องปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ว่าเวทนาที่ปรากฏอยู่นี้ เขาก็เป็นอย่างนี้  เราไปห้ามเขาไม่ได้  เราไปบังคับเขาไม่ได้  แต่สิ่งที่เราบังคับได้ ก็คือใจของเรา  ใจไม่ต้องไปวุ่นวายกับเขา  เขาจะเป็นอย่างไรก็ให้เขาเป็นไป 

นี่คือวิธีการปฏิบัติกับกายเวทนาที่ปรากฏขึ้นมา  หรือถ้าจะพิจารณาแยกแยะดู ให้เห็นตามความเป็นจริงของเขาก็ได้ ว่ากายก็เป็นอย่างหนึ่ง  เวทนาคือความรู้สึกก็เป็นอย่างหนึ่ง  ใจผู้รู้ก็เป็นอย่างหนึ่ง  ต่างฝ่ายต่างเป็นคนละสิ่ง คนละอันกัน  ไม่มีอะไรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  แต่ถ้าไม่พิจารณา  จะถูกอวิชชาความหลง มาหลอกให้เห็นว่ามีตัวตนอยู่ในสิ่งทั้ง ๓ นี้  ว่ากายก็เป็นเรา  ใจผู้รู้ ก็เป็นเรา  เวทนาก็เป็นเวทนาของเรา เรามีความเจ็บปวด  เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็จะทนไม่ไหว จะนั่งไม่ได้  แต่ถ้าแยกออกได้ ว่ากายนี้เป็นวัตถุอย่างหนึ่ง  เมื่อตอนที่นั่งใหม่ๆ ก็ไม่มีเวทนา  กายก็ยังเป็นกายอยู่  ขณะนี้มีเวทนาเกิดขึ้นแล้ว  กายก็ยังเป็นกายอยู่เหมือนเดิม  กายก็ยังนั่งอยู่เหมือนเดิม ก็ไม่เห็นจะต้องไปยุ่งอะไรกับกาย  ใจผู้รู้เวทนา ผู้รู้กาย ก็เป็นผู้รู้เฉยๆเท่านั้น หามีตัวตนไม่  ก็เป็นสภาวธรรมด้วยกันทั้งสิ้น  ถ้ารู้อย่างนี้ ก็แยกกันให้เป็นสัดเป็นส่วน  ไม่เอามาปนกัน  ให้กายเป็นเรา เป็นร่างกายของเรา  เป็นเวทนาของเรา เป็นใจของเรา  แล้วก็จะไม่มีการยึดติด ไม่มีการยึดมั่นถือมั่น  เมื่อไม่มีการยึดมั่นถือมั่นแล้ว  ใจก็ไม่เดือดร้อน  อะไรจะเป็นอะไรอย่างไร ก็เป็นไปตามเรื่องของเขา  กายก็ยังนั่งอยู่อย่างนั้น ก็ปล่อยให้กายเขานั่งไป  เวทนาเขาเป็นอย่างไร  เขาแสดงอย่างไร ก็ให้เขาแสดงไป  ใจผู้รู้ก็ให้รู้ไปตามความเป็นจริงอย่างนี้ 

ถ้าใจเห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่าทั้ง ๓ สิ่ง  นี้ ล้วนแต่เป็นคนละสิ่ง คนละอันกัน  ล้วนเป็นสภาวธรรมทั้งสิ้น  ล้วนตั้งอยู่ตามสภาพความเป็นจริงของเขา  ถ้าไม่มีความอยาก ความหลง เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว  สภาวธรรมทั้ง ๓ นี้ ก็จะเป็นของเขาไปอย่างนั้น  สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหาอะไร  กายก็ยังนั่งอยู่  เวทนาก็ยังแสดงอยู่  ใจผู้รู้ก็ยังรู้อยู่  ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะปรากฏผลขึ้นมาได้ ๒ ลักษณะด้วยกัน ถ้าใจปล่อยวาง  เวทนาที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้นก็จะดับหายไป  เหลือแต่กายกับใจเท่านั้น  หรืออีกลักษณะหนึ่งของผลที่ปรากฏขึ้นมา  ใจปล่อยเวทนา  ปล่อยกาย  แต่เวทนาไม่ดับ  แต่เวทนาไม่มาสร้างความรำคาญใจให้กับใจ เพราะใจไม่ไปสนใจ  ใจตั้งอยู่ในอุเบกขาธรรม  คือสงบนิ่งอยู่ในสภาวะของตน  ทั้ง ๓ สิ่งก็อยู่ด้วยกันได้ โดยไม่เดือดร้อน  กายก็นั่งอยู่  เวทนาก็แสดงไป  ใจก็รับรู้ไป  นี่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราศึกษาธรรมชาติเหล่านี้  จนเข้าใจว่าเป็นอย่างไร  แล้วปฏิบัติให้เป็นไปตามความเป็นจริง คือปล่อยวางเขา  ไม่ไปยุ่งกับเขา  เขาจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา  เขาจะมาเขาจะไปก็เป็นเรื่องของเขา  แล้วในที่สุดก็จะไม่มีอะไรมาสร้างความทุกข์ ความวุ่นวายให้กับใจเลย 

นี่แหละคือวิธีดำเนินชีวิตของเรา ให้เป็นไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม  ไม่มีความทุกข์ความวุ่นวายใจ  เดินตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ดำเนินและปฏิบัติมา  และนำมาสั่งสอนพวกเรา  คือสอนให้พวกเรามีสติ  ให้ดูที่ตัวของเราเป็นหลัก  อย่าไปสนใจภายนอก  ถ้าจะดูภายนอกก็ต้องไม่มีปฏิกิริยากับสิ่งภายนอก  ดูแล้วอย่าไปชอบ อย่าไปชัง อย่าไปรัก อย่าไปโกรธ อย่าไปหลง อย่าไปกลัว  ดูแล้วก็ปล่อยวางตามความเป็นจริงของเขา  เขาจะเป็นอย่างไรก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้น แล้วก็ปล่อยวาง  แล้วก็หันกลับมาดูใจเรา ดูกาย  ดูเวทนา  ดูจิต  ดูธรรมที่ปรากฏขึ้นในใจ  แล้วก็ปล่อยเขาไปตามสภาพของเขา  เขาจะเป็นอย่างไร เขาก็ไม่มาวุ่นวายกับเรา  ไม่มาเกี่ยวข้องกับเรา เพียงแต่ว่าเมื่ออยู่ด้วยกันก็รู้เท่าทันกัน  ทำความเข้าใจกัน  ทำความรู้จักกัน  แล้วไม่ต้องไปเจ้ากี้เจ้าการ ไปจัดการกับเขา  ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา  ถ้าสามารถดำเนินชีวิตแบบนี้ได้แล้ว  ต่อไปทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่มีผลอะไรกับเรา  อะไรจะเกิดขึ้นเราก็ไม่เดือดร้อน  อะไรจะดับเราก็ไม่เดือดร้อน  อะไรจะมา  อะไรจะไป  เราก็ไม่เดือดร้อน  เพราะเราสามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่มีความผูกพันกับสิ่งเหล่านั้น 

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ใจของเราก็เป็นใจที่ถึงจุดอิ่ม จุดพอ  ไม่มีความหิว  ไม่มีความกระหาย  ไม่มีความอยากกับอะไรทั้งสิ้น  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปหาข้าวของเงินทอง  หาบุคคลมาเป็นสมบัติของตน เพราะในใจมีความอิ่มมีความพอแล้ว  มีหน้าที่อย่างเดียวที่เหลืออยู่ ก็คือดูแลรักษาอัตภาพร่างกายนี้  จนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของเขาเท่านั้นเอง  ก็มีเท่านี้แหละชีวิตของคนเรา  อย่าไปคิดว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้มีคุณค่า  สามารถสร้างความสุขความเจริญ  สร้างความพ้นทุกข์ให้กับเราได้  สิ่งที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ก็คือตัวเราเองเท่านั้น   ด้วยการนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มาปฏิบัติ  ทำจิตให้หลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งต่างๆทั้งหมดในโลกนี้ ถ้าทำได้แล้ว ก็หมดภาระ  เป็นอิสระ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง  จึงขอฝากเรื่องราวของการปฏิบัติธรรม  การมาวัดเพื่อฟังเทศน์ฟังธรรม  เพื่อจะได้รู้จักวิธีการปฏิบัติ แล้วนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา  ไม่จำเป็นต้องมาอยู่วัดตลอดเวลาเพื่อปฏิบัติธรรม  เพราะเราสามารถปฏิบัติธรรมได้ทุกแห่งทุกหน  เพราะสิ่งที่ปฏิบัตินั้นอยู่กับตัวเราเสมอ คือกาย เวทนา จิต ธรรม  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้