กัณฑ์ที่  ๑๓๑       ๑๔ กันยายน ๒๔๔๕

บิณฑบาต

มีข้อวัตรปฏิบัติอยู่ข้อหนึ่ง เป็นกิจวัตรของพระภิกษุ  ที่พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญ  ทรงสั่งสอน และทรงปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน  ข้อวัตรนี้ก็คือการออกบิณฑบาตโปรดสัตว์  พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า เป็นกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพระภิกษุ  จึงได้กำหนดให้พระอุปัชฌาย์หรือกรรมวาจาจารย์ ต้องสั่งสอนพระภิกษุบวชใหม่ทุกรูป เรียกว่าอนุศาสน์  คือคำสอนที่สอนให้กับพระภิกษุผู้บวชใหม่ ในเวลาอุปสมบทเสร็จ  มีอยู่ ๘ ข้อด้วยกัน  แบ่งเป็นสองส่วน ประกอบด้วย นิสสัย ๔  กิจที่พึงกระทำ  และ อกรณียกิจ ๔ กิจที่ไม่พึงกระทำ 

กิจที่พึงกระทำประกอบด้วย  . การออกบิณฑบาตเลี้ยงชีพ   . อยู่ตามโคนไม้  . นุ่งผ้าบังสุกุล  .  ฉันยาดองน้ำมูตร เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ  นี่คือกิจ ๔ อย่างที่พระภิกษุควรจะขวนขวายตลอดชีวิต  เพราะเป็นการอยู่แบบง่ายๆ อยู่แบบไม่รบกวนผู้อื่น  ทำให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย กินง่าย แล้วจะนำมาซึ่งความสงบสุข  เป็นเครื่องทำให้จิตใจไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว ไปกับกำลังของกิเลสตัณหาทั้งหลาย  นี่คือกิจที่พระภิกษุพึงกระทำ

กิจที่พระภิกษุไม่พึงกระทำก็มีอยู่ ๔ ได้แก่ . การไม่เสพเมถุน คือไม่ร่วมเพศกับผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าหญิงหรือชาย  . การไม่ฆ่ามนุษย์  . การไม่ลักทรัพย์  . การไม่อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน  ถ้าละเมิดข้อหนึ่งข้อใดใน ๔ ข้อนี้  ทรงให้ขาดจากการเป็นพระภิกษุทันที  ผู้อื่นจะรู้หรือไม่ก็ตาม  เมื่อภิกษุรูปนั้นได้กระทำการละเมิดข้อห้ามนี้แล้ว  พระพุทธองค์ทรงถือว่าไม่ได้เป็นภิกษุแล้ว  ถ้าเป็นต้นตาลก็เป็นต้นตาลที่ยอดด้วนแล้ว  อยู่ต่อไปในเพศนี้ก็ไม่มีโอกาสที่เจริญรุ่งเรือง 

นี่คืออนุศาสน์ ที่พระพุทธเจ้าทรงให้พระอุปัชฌาย์ หรือกรรมวาจาจารย์สั่งสอนพระภิกษุผู้บวชใหม่  ซึ่งมีข้อบิณฑบาตอยู่ด้วย  นอกจากนั้นยังทรงสอนในธุดงควัตร ที่เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ ก็มีข้อบิณฑบาตบรรจุอยู่ใน ๑๓ ข้อนี้ด้วย  คือให้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร  ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติทุกๆ วัน ตราบใดยังรับประทานอาหาร  ยังฉันจังหันอยู่  ก็ให้ออกบิณฑบาต  เพราะพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าเป็นกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพระ 

นอกจากนั้นแล้วในพุทธกิจ คือกิจที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติทุกๆวัน มีอยู่ ๕ ข้อด้วยกัน และ ๑ ใน ๕ ข้อนี้ก็คือการออกบิณฑบาต  พุทธกิจ ๕ ประกอบด้วย ๑. เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต  ๒. เวลาเย็นทรงแสดงธรรมอบรมสั่งสอนญาติโยม ๓. เวลาค่ำทรงประทานโอวาทอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณร  ๔. เวลาเที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา  ๕. เวลาจวนสว่างทรงเล็งญาณดูว่าควรไปโปรดผู้ใด ให้เขาได้มีดวงตาเห็นธรรม  ให้เขาได้บรรลุธรรม  ถ้าจิตของเขาพร้อมที่จะรับธรรม  นี่คือกิจวัตร ๕ ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติทุกๆวันเป็นปกติ  ซึ่งมีการออกบิณฑบาตรวมอยู่ด้วย 

ในคราวที่ทรงเสด็จไปโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา  หลังจากที่ได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้รับนิมนต์จากพระพุทธบิดา ให้ไปโปรดในพระราชวัง  ตอนทรงเสด็จไปในพระราชวัง  ก็ทรงเดินบิณฑบาตเข้าไปในวัง  เมื่อความทราบถึงพระพุทธบิดา ทรงเกิดความไม่พอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง  เมื่อทรงพบพระพุทธเจ้าจึงทรงกราบทูลถามว่า เหตุใดพระพุทธองค์จึงเดินขอทานเข้ามาในวัง พระพุทธองค์ทรงตอบไปว่า  การออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร ที่บรรพบุรุษของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ทรงประพฤติปฏิบัติมา พระพุทธบิดาไม่เข้าใจ ก็ทรงคิดว่าหมายถึงบรรพบุรุษของพระพุทธบิดา  ก็ทรงย้อนกลับไปว่า  ในบรรดาบรรพบุรุษของพระพุทธบิดา ก็ไม่มีใครเป็นขอทานสักรายหนึ่ง  พระพุทธองค์ตอบว่า บรรพบุรุษของพระองค์นั้น ไม่ใช่บรรพบุรุษของพระพุทธบิดา  แต่เป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต ที่มาปรากฏในโลกนี้  มาตรัสรู้สอนธรรม  พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ทรงออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ เป็นกิจวัตรมาโดยตลอด  

การออกบิณฑบาต เป็นการส่งเสริมวิริยะ อุตสาหะ ความพากเพียร ทำให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย  เป็นเครื่องช่วยปราบกิเลสตัณหา ที่มีอยู่ในใจ  ผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนานี้ ไม่ได้บวชเพื่อหาลาภสักการะ  หาความอิ่มหนำสำราญ จากอาหารคาวหวานต่างๆ  ที่ญาติโยมนำมาถวาย  แต่มาบวชเพื่อชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง  กิเลสตัณหา  อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง  เป็นโซ่ตรวนที่ผูกให้สัตว์โลกทั้งหลาย ให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด  การออกบิณฑบาตจะช่วยให้พระภิกษุมีวิริยะ ความพากเพียร  ขันติ ความอดทน  สันโดษ การอยู่ง่ายกินง่าย  ยินดีตามมีตามเกิด  ไม่จู้จี้จุกจิก  ไม่หลงไปตามความอยากของลิ้น ของตา ของจมูก  ที่ชอบรสอาหารที่ถูกอกถูกใจทั้งหลาย   ให้ถือการรับประทานอาหารเป็นเหมือนกับการรับประทานยา  เวลารับประทานยาเราไม่สนใจว่ายาจะมีสีอะไร มีรสชาติอย่างไร  เรารับประทานยาเพื่อรักษาโรคให้หายไป ฉันใดการรับประทานอาหาร ก็เป็นการเยียวยาความหิว  ความกระหายของร่างกายให้หมดไป

อาหารทั้งหลายไม่ว่าจะดีเลิศขนาดไหน  มีราคาแพงหรือราคาถูก  ขายอยู่ตามข้างถนน  หรือตามร้านอาหารที่หรูหรา   เมื่อรับประทานเข้าไปในปากแล้ว  ก็ต้องผสมกับน้ำลาย  ต้องถูกเคี้ยว  ถูกกลืนเข้าไปรวมกันในท้องในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดไหน แบบไหน ก็ต้องเข้าไปรวมกันอยู่ในท้องเหมือนกัน ทำไมเราจึงต้องไปจู้จี้จุกจิกกับอาหารที่เรารับประทาน ทำไมจะต้องแยกกันเป็นสัดเป็นส่วน ว่านี่คืออาหารคาว  นี่คืออาหารหวาน  นี่คือผลไม้  ในเมื่อเรารับประทานอาหารเพื่อเยียวยาร่างกายเราเท่านั้น ก็ไม่เห็นจำเป็นที่เราจะต้องไปกังวลกับเรื่องอาหารให้มากนัก  อย่างพระที่วัดนี้ท่านก็ถือธุดงควัตร ข้อที่ฉันในบาตรเป็นวัตร  คือให้เอาอาหารต่างๆรวมกันไว้ในบาตร ไม่ต้องไปแยกแยะ  อาหารคาวหวานมีอะไรก็ใส่ลงไปในบาตร  เพราะเดี๋ยวก็ต้องไปรวมกันในท้องอยู่ดี  รวมกันในบาตรก็ไม่เห็นเสียหายตรงไหน  เพราะการรับประทานเราไม่ได้รับประทานเพื่อรสชาตินั่นเอง  แต่รับประทานเพื่อระงับดับทุกขเวทนาที่เกิดจากความหิว  กระหายของร่างกาย 

นี่แหละคือวิธีที่จะนำความสุขและความเจริญมาให้กับผู้ปฏิบัติ  เพราะว่าจะไม่มีความกดดันมากเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร  บางคนเวลาจะรับประทานอาหาร  เคยรับประทานอาหารอยู่กับบ้าน ก็รู้สึกว่าไม่อร่อยกินไม่ได้  ต้องออกไปข้างนอก  ไปที่ร้านไกลๆ ขับรถเสียเงิน เสียทอง เสียเวลา เพื่อที่จะรับประทานอาหารเพียงมื้อเดียวเท่านั้นเอง  ถ้าเป็นคนฉลาด จะรู้วิธีแก้ปัญหานี้อย่างง่ายดาย สมมุติว่าถ้าเบื่ออาหารที่รับประทานในบ้าน ก็ลองอดอาหารสักวันสองวันดูซิ จะเป็นอย่างไร  ไม่ต้องไปกินมัน ถ้าเบื่อก็ไม่ต้องไปกินมัน กินแต่น้ำ นี่คือวิธีดับกิเลสตัณหาที่ชอบจู้จี้จุกจิก  ชอบเลือกอาหารแปลกๆใหม่ๆรับประทาน  ถ้าเบื่อก็อย่าไปกินสักวันสองวัน  แล้วหลังจากนั้น  กินข้าวเปล่าๆคลุกกับน้ำปลาก็จะอร่อย  เพราะเวลาท้องแห้ง ไม่มีอาหารอยู่ในท้อง  ใจจะไม่ค่อยจู้จี้จุกจิกเท่าไร  มีอะไรก็ยินดี รับประทานได้  ขอให้เข้าใจว่า ชีวิตของเรานั้น จะไม่มีความสุขเลย ถ้าถูกกิเลสตัณหาคอยเป็นผู้ชี้นำ  คอยบอกคอยสอน ให้ทำสิ่งต่างๆนานา  เราต้องเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องชี้นำ  เป็นเครื่องนำพาเราไป แล้วชีวิตของเราจะดำเนินไปได้ด้วยความสุข  ด้วยความสบาย  ไม่ต้องดิ้นรนมากจนเกินกำลัง   สร้างความทุกข์ ความเหนื่อยยากไปเปล่าๆ 

เพราะชีวิตของคนเรานั้น ไม่มีความจำเป็นมากนัก  สิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิตก็มีแค่ปัจจัย ๔ เท่านั้น  คืออาหาร  ที่อยู่อาศัย  เครื่องนุ่งห่ม  ยารักษาโรค  อาหารก็ดังที่ได้แสดงไว้แล้ว  ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารที่มีราคาแพงๆ อาหารก็เป็นอาหารเหมือนกันทั้งนั้น  อาหารราคาแพงก็มาจากตลาด  มาจากท้องนา ท้องไร่เหมือนกัน  อาหารถูก ที่ขายตามข้างถนน ก็มาจากตลาด มาจากท้องนา ท้องไร่เหมือนกัน  เป็นอาหารแบบเดียวกัน เมื่อกินเข้าไปในท้อง  ก็ให้ความอิ่มเหมือนกัน  จึงขอให้เราอย่าไปหลงกับเรื่องของอาหารมากจนเกินไป ให้สำเหนียก ให้พิจารณาอย่างแยบคายทุกครั้งว่า เรารับประทานอาหารเพียงเพื่อดับความหิว ความกระหายของร่างกาย  ไม่ได้รับประทานเพื่อรสเพื่อชาติ  เพื่อความสนุกสนานเฮฮา เพื่อความสุข   

ส่วนเสื้อผ้าก็มีไว้ใส่ปกปิดร่างกาย ป้องกันอากาศหนาว  รักษาร่างกายไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย  ไม่มีความจำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าราคาแพงๆ  ถ้าไม่อยู่ในฐานะที่จะไปซื้อมาใส่ได้  เสื้อผ้าชนิดไหนก็ได้  ขอให้ปกปิดร่างกายให้ป้องกันอากาศหนาว  รักษาสุขภาพร่างกายให้เป็นปกติ ก็ใช้ได้   และก็ไม่จำเป็นต้องมีมากมาย  มีพอสำหรับผลัดเปลี่ยนก็พอแล้ว  อย่างพระพุทธเจ้าสอนพระให้ถือผ้าครอง ๓ ผืนเท่านั้น  คือให้มีผ้าห่ม ผ้านุ่ง แล้วก็ผ้ากันหนาวอีกผืนหนึ่ง  เรียกว่าผ้าไตรจีวร  มี ๓ ผืนนี้ก็อยู่ได้แล้วสำหรับสมณเพศ  พอกับความจำเป็นของชีวิต  เวลาจะใช้เสื้อผ้าทุกครั้งก็ขอให้พิจารณาด้วยความแยบคายว่า เราใช้เสื้อผ้านี้ด้วยเหตุผลอันใด  ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เสื้อผ้าชนิดนั้นหรือชนิดนี้  ก็มีไว้ไม่เสียหายอะไร  แต่ถ้าอยากจะมีเพราะเห็นว่าสวย  เห็นแล้วถูกอกถูกใจ  คิดว่าเมื่อใส่เสื้อผ้าชุดนี้เข้าไปแล้ว จะกลายเป็นคนวิเศษขึ้นมา  เป็นคนดีขึ้นมา  ถ้าเป็นความคิดอย่างนี้ ก็ขอให้ทำความเข้าใจว่า เป็นความเข้าใจผิด  เพราะความดีความวิเศษของคนเรา ไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้าที่เราใส่  แต่อยู่ที่คุณธรรมในใจของเรา 

คนเราจะดีจะวิเศษนั้น อยู่ที่ความซื่อสัตย์สุจริต   มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารี  เป็นคนเสียสละ  ไม่เห็นแก่ตัว  นี่คือคุณงามความดีของคน  ถ้าอยากจะให้เราเป็นคนดี  เป็นคนมีเสน่ห์ ก็ขอให้สะสมคุณธรรมต่างๆเหล่านี้ไว้เถิด  แล้วจะเป็นที่ชื่นชมยินดี  เป็นที่รักของคนทั้งหลาย  ต่างกับคนที่แต่งตัวสวยๆ ใส่เสื้อผ้าราคาแพงๆ แต่เป็นคนที่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต  เป็นคนชอบพูดโกหก พูดปดมดเท็จหลอกลวง  เป็นคนที่เผลอไม่ได้ จะต้องลัก จะต้องขโมย  จะต้องทำร้ายผู้อื่น  เป็นคนที่มีความเห็นแก่ตัว คนอย่างนี้จะไปอยู่กับใครที่ไหน ก็ไม่มีใครปรารถนา ที่จะคบค้าสมาคมด้วย  เพราะจะสร้างแต่ความทุกข์ ความเสียหายให้กับผู้อื่นนั่นเอง   เป็นเหมือนเดรัจฉาน  เป็นอสรพิษ  อสรพิษเราก็รู้ว่าเป็นพิษเป็นภัยอย่างไร  ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้  ฉันใดคนที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม ไม่ซื่อสัตย์สุจริต  ก็เป็นแบบนั้น  ถ้าต้องการให้ตัวเราเป็นคนสวยที่แท้จริง  ขอให้หาอาภรณ์ภายใน คือศีลธรรมมาหุ้มห่อจิตใจของเราไว้เถิด  แล้วจะเป็นคนที่น่ารัก น่าชื่นชม น่ายินดี  เสื้อผ้าอาภรณ์ก็มีไว้พอสมควร  คือไม่ให้ดูน่าเกลียดจนเกินไป  บางคนเห็นว่าเสื้อผ้าอาภรณ์ไม่สำคัญก็เลยไม่สนใจ  ไม่ดูแล  บางทีใส่เสื้อผ้าไปเป็นวันๆ ก็ไม่คิดที่จะเปลี่ยน  ไม่คิดที่จะนำไปซักให้สะอาด เวลาใส่ไปไหน คนก็ทนกลิ่นไม่ได้  ถึงแม้จะเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต  แต่ถ้าไม่รู้จักรักษาเสื้อผ้าที่ใส่ให้สะอาด ไม่ให้มีกลิ่น  คนก็ไม่อยากจะเข้าใกล้เหมือนกัน  จึงต้องรู้จักความพอประมาณ รู้จักความพอดี  เสื้อผ้ามีไว้ใส่  เมื่อสกปรก เปื้อน มีกลิ่นเหม็น ก็ควรนำไปชำระ เอาไปซักเสีย เพื่อจะได้สะอาด

ร่างกายของเราก็มีแต่ความสกปรก  มีน้ำเหงื่อ  ขี้ไคล ที่ไหลออกมาตามขุมขนต่างๆ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า ร่างกายเป็นปฏิกูล สกปรก  ไม่สวยงาม  มีอวัยวะต่างๆอยู่ภายใต้ผิวหนัง  ถ้าสามารถมองทะลุผิวหนังเข้าไปได้  จะรู้เลยว่าร่างกายของคนเรานั้นไม่สวยงามเลย  มีอวัยวะน้อยใหญ่ต่างๆ มีสิ่งเน่าเหม็นต่างๆ ไหลออกมาตามทวารต่างๆ   ถ้าไม่ได้ชำระร่างกาย ก็จะส่งกลิ่นเหม็นออกมา  เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีเลย  ฉะนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจอยู่เสมอว่า ร่างกายของเรานี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่วิเศษวิโสอะไร  เป็นเพียงเครื่องของจิต  ถ้าจิตฉลาดก็นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์  คือทำคุณงามความดี อย่างที่ญาติโยมได้มากระทำกันในวันนี้  มาทำบุญทำทาน  มารักษาศีล มาไหว้พระสวดมนต์  ฟังเทศน์ฟังธรรม  ชำระสิ่งสกปรกภายในใจให้หมดไป  คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ   ถ้าใช้ร่างกายไปในทางนี้ ก็จะเป็นคุณเป็นประโยชน์กับชีวิตของเรา  เราจะเจริญรุ่งเรือง  จิตใจของเราจะมีความสงบ มีความสุข เพราะความสงบความสุขนั้น เกิดจากการปราศจากกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายนั่นเอง  ถ้ามีกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองมากน้อยเท่าไรอยู่ในใจ ก็จะมีความทุกข์ ความวุ่นวายใจ มากน้อยตามลำดับไป 

เราจึงไม่ควรขวนขวายสะสมกิเลสตัณหาให้มีมากขึ้น  แต่ต้องพยายามลดละกิเลสตัณหาให้น้อยลง ให้หมดไป  เวลาต้องการอะไร อยากอะไรก็อย่าใช้อารมณ์  ให้ใช้เหตุผล  ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเอา ไม่ต้องหามาให้เหนื่อยยากลำบากเปล่าๆ  อย่างเสื้อผ้าที่เมื่อสักครู่แสดงไว้  ถ้ามีพอใส่แล้ว ก็อย่าไปซื้อหามาใหม่เลย  เสียเงินเสียทองไปเปล่าๆ ทำให้ต้องไปหาเงินหาทองมา  แล้วเงินทองก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่หาง่าย  แล้วเวลาหาเงินทอง บางทีก็ต้องทำผิดศีลผิดธรรม  ต้องพูดโกหกหลอกลวงผู้อื่น  ซึ่งเป็นการสร้างบาปสร้างกรรมให้เกิดขึ้นมาในใจ  ให้มีมากยิ่งขึ้นไปอีก  สร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจให้มีมากขึ้นไปอีก ถ้าสามารถระงับดับความอยาก ความโลภได้ ด้วยเหตุด้วยผลแล้ว  ใจก็ไม่ต้องไปทำบาปทำกรรม ไปดิ้นรนให้เหนื่อยยาก เมื่อใจไม่ต้องไปดิ้นรน ใจก็จะมีความสงบ มีความสุข มีความสบายใจ  นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง อยู่ในใจของเรา  ไม่ได้อยู่กับสิ่งของต่างๆภายนอก คนเราไม่ว่ารวยหรือจน ไม่มีความแตกต่างกัน ในเรื่องของความสุขภายในใจ  ความสุขภายในใจจะแตกต่างกัน ก็อยู่ที่ว่า มีความโลภ มีกิเลส มีตัณหา มากน้อยกว่ากันแค่ไหนต่างหาก  ถ้ามีกิเลสตัณหามากในใจ  ก็จะมีความทุกข์มีความวุ่นวายใจมาก ถ้ามีกิเลสตัณหาน้อย ความทุกข์ ความวุ่นวายใจก็จะมีน้อย  ถ้าไม่มีกิเลส ไม่มีตัณหาอยู่เลย  ก็จะไม่มีความทุกข์ความวุ่นวายใจเลย 

อย่างพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านไม่มีความทุกข์ความวุ่นวายใจเลย  เพราะได้ชำระกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย  ให้หมดไปจากจิตจากใจของท่านแล้ว   ใจของท่านจึงมีแต่ความอิ่ม มีแต่ความพอ  ท่านจึงไม่ต้องไปขวนขวาย ไปหาทรัพย์สมบัติข้าวของต่างๆ ภายนอกเหมือนกับพวกเราทั้งหลายขวนขวายกัน  เรากำลังหาเงินหาทองกัน หายศหาตำแหน่งสูงๆ  หาสรรเสริญ  หากามสุขกัน  เพราะคิดว่า ถ้ามีสิ่งเหล่านี้มากๆแล้ว จะมีความสุขกัน  แต่หารู้ไม่ว่าเรากำลังสะสมกองทุกข์ เพราะลาภ ยศ สรรเสริญ และกามสุขนั้น  เป็นความทุกข์ ไม่ใช่เป็นความสุข  เพราะเหตุใด  เพราะธรรมชาติของเขา เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน  ไม่รู้ว่าจะหมดไปเมื่อไร  มีวันนี้พรุ่งนี้อาจจะไม่มีก็ได้  เมื่อไม่มีแล้วก็จะนำมาซึ่งความทุกข์ เราจึงต้องทำความเข้าใจอยู่เสมอว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ไม่ใช่ความสุข  แต่เป็นความทุกข์  ถ้าจะมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ก็ขอให้ระมัดระวัง อย่าไปหลง อย่าไปยึด อย่าไปติด  คือมีก็ได้ ไม่มีก็ได้  ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์  เวลามีก็ใช้มันไป สัมผัสมันไป เสพมันไป  แต่ต้องทำความเข้าใจว่า เวลาไม่มีเราจะต้องอยู่ได้  ถ้าอยู่ได้ ก็แสดงว่าไม่ติด  ถ้าอยู่ไม่ได้ ก็แสดงว่าติดแล้ว  เหมือนกับติดยาเสพติด  คนที่ไม่เสพเขาก็อยู่ได้ เวลามีหรือไม่มีเขาก็ไม่เดือดร้อน  แต่คนที่ติดยาเสพติดเข้าไปแล้ว  เวลามีก็มีความสุข เวลาได้เสพก็มีความสุข  แต่เวลาไม่มีก็เกิดความทุรนทุราย เกิดความอยากอย่างมาก จนกระทั่งไม่สามารถอยู่เฉยๆได้  ต้องไปหามาเสพให้ได้  เมื่อหามาด้วยความสุจริตไม่ได้ ก็ต้องหามาด้วยความทุจริต  แล้วก็จะสร้างปัญหาตามมาต่อไป 

นี่แหละคือปัญหาของพวกเราทุกคน ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีมากหรือมีน้อย  ตราบใดถ้ามีปัจจัย ๔  พอเพียงกับการดำรงชีพแล้ว  จะมีมากหรือมีน้อยก็ไม่สำคัญ  ปัญหาอยู่ที่อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นต่างหาก  ถ้ามีอุปาทาน คิดว่าต้องมีสิ่งต่างๆ มาบำรุงบำเรอให้มีความสุข  ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ต้องดิ้นรนหาสิ่งต่างๆมาไม่รู้จักจบ  และเมื่อไม่มีสิ่งเหล่านั้นก็จะมีแต่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ  แต่ถ้าละอุปาทานความยึดมั่น ความติดอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพได้แล้ว  จะอยู่ได้อย่างสบาย  วันหนึ่งๆมีข้าวกินมื้อเดียวก็อยู่ได้แล้ว  ไม่เห็นจะต้องไปทำอะไร แต่ใจของพวกเรานั้นอยู่เฉยๆไม่ได้  เพราะยังมีกิเลสมีตัณหาอยู่  ยังมีความอยาก ยังมีความหิวอยู่นั่นเอง  ถ้าไม่แก้ตรงที่ใจนี้แล้ว  ไม่ชำระกิเลสตัณหาให้หมดไปจากจิตจากใจแล้ว  ต่อให้เป็นมหาเศรษฐี เป็นนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานาธิบดี  ใจก็ยังไม่มีความสุข  ยังต้องดิ้นรนกวัดแกว่ง  หาอะไรมาอยู่เสมอ  เพราะนี่คือธรรมชาติของกิเลสและตัณหา 

ธรรมชาติของกิเลสตัณหาก็คือความไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอนั่นเอง  มีเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ  พวกเราตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้   ก็หาอะไรมาได้มากมาย  มีอะไรมามากมายแล้ว  แต่ความอิ่มความพอเกิดขึ้นหรือยัง  ถ้าเกิดก็เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง  เวลาได้อะไรมาใหม่ๆ ก็รู้สึกว่าพอ  รู้สึกว่าอิ่ม     แต่พอทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง ความอยากก็โผล่ขึ้นมาอีก  เพราะอะไร  เพราะเราไม่ได้ทำลายความอยากนั่นเอง  เราไม่ได้ทำลายกิเลสความโลภนั่นเอง   เราจึงต้องต่อสู้กับกิเลสตัณหา  อย่าตามใจกิเลสตัณหา  อันไหนถ้าไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ  ก็อย่าไปเอา  ฝืนใจสู้ไว้  เช่นสุรา เป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่  ถ้าไม่ได้ดื่มสุราจะตายหรือไม่  มันก็ไม่ตาย ก็อย่าไปดื่มสุรา  บุหรี่ถ้าไม่ได้สูบ จะตายหรือไม่  ถ้าไม่ได้สูบแล้วไม่ตาย ก็อย่าไปสูบ จะดีกว่า  ประหยัดเงินประหยัดทอง ไว้ใช้ในสิ่งที่จำเป็นไม่ดีกว่าหรือ  เงินทองที่หมดไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นนั้น เราหมดไปเยอะ  แล้วก็สร้างความกดดัน ให้ไปหาเงินหาทองอยู่เรื่อยๆ แทนที่จะอยู่เฉยๆ มีความสุข ก็ต้องออกไปหาเงินหาทองมา  มีแต่ความลำบากลำบนอยู่ตลอดเวลา  เพราะใจเป็นทาสของกิเลสตัณหานั่นเอง  เราไม่รู้จักต่อสู้  ไม่รู้จักลดละกิเลสตัณหา  ปล่อยให้กิเลสตัณหาเป็นตัวพาเราไป  ถ้านำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้แล้ว  ต่อไปเราก็จะชนะกิเลสตัณหา แล้วเราก็จะถึงเมืองพอ เมื่อพอแล้ว เราก็จะมีแต่ความสุข การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้