กัณฑ์ที่ ๑๓๒     ๒๑ กันยายน ๒๕๔๕

อารักขกรรมฐาน

 

วันนี้ศรัทธาญาติโยมได้มาที่วัด เพื่อประกอบคุณงามความดีกัน  มีการทำบุญตักบาตร  สมาทานศีล   ฟังเทศน์ฟังธรรม อันเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ ความเป็นสิริมงคล ความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งจะเกิดกับเราทุกคน ถ้าน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มาปฏิบัติกับกาย วาจา ใจของเรา  แล้วสิ่งที่ดีที่งาม ที่เราทุกคนปรารถนา ก็จะเป็นไปตามที่เราต้องการกัน  แต่ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน เช่นเวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็สักแต่ว่าฟัง  เมื่อฟังไปแล้วก็ไม่ได้เอามาใส่ใจ เอามาใคร่ครวญ เอามาพินิจพิจารณาว่า ที่พระได้เทศน์ไปนั้นมีอะไรบ้าง มีสิ่งที่ท่านเทศน์อยู่ในตัวเราหรือไม่  ถ้าไม่มี เราก็ควรน้อมนำสิ่งที่ท่านได้เทศน์ได้สอน เอามาประพฤติปฏิบัติกับตัวเรา  เพราะถ้าฟังเฉยๆ  แล้วไม่นำมาปฏิบัติ  ผลที่ดีที่งาม ความเจริญรุ่งเรือง ความปราศจากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ย่อมไม่ปรากฏขึ้นมา เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผล ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดขึ้นมานั่นเอง  ต้องทำเหตุ  เหตุก็คือการประพฤติตนในทำนองครองธรรม  ตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน  เมื่อนำมาประพฤติปฏิบัติแล้ว ผลที่เราปรารถนาย่อมจะปรากฎขึ้นมาตามลำดับแห่งการปฏิบัติของเรา 

พวกเราทุกคนไม่ปรารถนาที่จะเผชิญกับภัยอันตรายทั้งหลาย  เราก็ต้องรู้ว่าภัยนั้นเกิดจากอะไร  ภัยที่แท้จริงแล้วไม่ใช่เป็นสิ่งที่อยู่ภายนอก  ภัยที่แท้จริงนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในใจของเรา  คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้ามีความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบครองจิตใจแล้ว  ความประพฤติของเรา ทางกาย ทางวาจา จะไปสู่ความเสื่อมเสีย  เมื่อเราประพฤติตนในทิศทางที่ไม่ดี ย่อมสร้างเวรสร้างกรรมให้กับผู้อื่น  เมื่อมีเวรมีกรรมย่อมมีการจองเวรจองกรรมกัน  แล้วในที่สุดก็จะต้องมีภัยย้อนกลับเข้ามาหาตัวเรา  แต่ถ้าเราควบคุมความโลภ ความโกรธ ความหลงให้อยู่ในใจ ไม่ให้แพร่ออกมาทางวาจา และทางกาย  เวรย่อมไม่เกิด  การจองเวรย่อมไม่มี  ภัยที่เกิดจากผู้อื่นที่จะมาทำร้ายเราย่อมไม่ปรากฏขึ้นมา เราจึงต้องให้ความสนใจต่อการควบคุมความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่อยู่ในใจของเรา ให้เบาบางลง   และถ้าเป็นไปได้ ก็ให้หมดไปจากจิตจากใจเลยได้ยิ่งดี เพราะถ้าไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว  จะไม่มีภัยอะไรทั้งหลายมาทำร้ายเราได้  ไม่ว่าจะเป็นภัยที่เกิดจากบุคคลอื่น  หรือภัยที่เกิดจากใจของเราเอง คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความคิดที่ไม่ดี  ความคิดที่คิดไปในทางความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงมอบอาวุธหรือเครื่องมือที่จะใช้กำราบ ใช้ควบคุมความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้เจริญงอกงาม และให้หมดสิ้นไปตามลำดับของการปฏิบัติของเรา  ธรรมนี้เรียกว่าอารักขกรรมฐาน เป็นธรรมที่จะรักษาคุ้มครองใจ ไม่ให้มีภัยต่างๆ มารุมเร้า  มาสร้างความทุกข์ สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจ สร้างความเดือดร้อนใจให้กับเรา  อารักขกรรมฐานนี้มีอยู่ ๔            คือ    . พุทธานุสติกรรมฐาน  . เมตตากรรมฐาน   . มรณานุสติกรรมฐาน   .  อสุภกรรมฐาน  

นี่คือกรรมฐาน ๔ ชนิดที่ควรจะมีตั้งอยู่ในใจ  เป็นอารมณ์ที่ควรส่งเสริมให้มีอยู่ในใจ ถ้ามีอารมณ์ทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว จะสามารถควบคุมความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้แสดงออกมาทางกาย ทางวาจา  ที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและกับตัวเรา เราจึงควรเจริญกรรมฐานทั้ง ๔ นี้บ่อยๆ ถ้ามีเวลาว่าง  แทนที่เราจะใช้เวลาว่างๆนั้น นั่งคิดไปเรื่อยเปื่อย แบบไม่มีต้นสายปลายเหตุ  คิดไปเพ้อฝันไป ไม่มีเหตุไม่มีผล  คิดไปแบบนั้น ล้วนแต่จะสร้างความหลงให้เพิ่มขึ้น  ล้วนแต่จะสร้างความโลภ ความโกรธให้เพิ่มขึ้น  แต่ถ้าควบคุมใจให้คิด ให้เจริญอยู่ในกรรมฐานทั้ง ๔ นี้แล้ว  ใจจะสงบ  ใจจะค่อยๆ มีความโลภ ความโกรธ ความหลง  เบาบางลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดจะหมดไปจากจิตจากใจ  จึงขอให้เรามาทำความรู้จักกับกรรมฐานทั้ง ๔ นี้  

๑. พุทธานุสติ  คือการระลึกถึงพระพุทธคุณ  ระลึกถึงพระพุทธเจ้า  ระลึกถึงชีวิตความเป็นมาของพระพุทธเจ้า  ว่าพระพุทธเจ้านี้เป็นใคร  ทำไมถึงเรียกพระพุทธเจ้า ท่านประพฤติตนอย่างไรจึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของคนเป็นจำนวนมาก นั่นก็เป็นเพราะว่าท่านได้ทรงประพฤติตนในทางที่ดีที่งามนั่นเอง ได้ต่อสู้กับความโลภ ความโกรธ ความหลง จนกระทั่งความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีเหลืออยู่ในพระทัย เป็นพระทัยที่สะอาดบริสุทธิ์ เมื่อไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว การกระทำทางกาย ทางวาจา ย่อมเป็นไปเพื่อคุณ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นและแก่พระองค์เอง  พระพุทธองค์ทรงเป็นแบบฉบับที่ดี ที่จะทำให้เราทุกคนมีความขวนขวาย มีความมั่นใจ  มีความเชื่อมั่นในการกระทำความดี  ในการละเว้นการกระทำความชั่ว  ในการลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง  ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ  พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว  และได้รับผลอันประเสริฐอันดีงาม   พระพุทธเจ้าไม่ต้องมีอะไรเป็นสมบัติภายนอกเลย เพราะมีใจที่มีความสมบูรณ์   เพราะสิ่งที่สร้างความหิว ความอยาก ความกระหาย คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น ไม่มีเหลืออยู่ในใจแล้ว  กลายเป็นใจที่มีความอิ่ม มีความพอ  ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น  อยู่ไปเฉยๆวันๆหนึ่งก็พอดี พอสบาย ไม่เดือดร้อน  ไม่วุ่นวายกับอะไร 

เวลาที่พวกเราเอาพระมาห้อยคอ  เราก็คิดว่ามีพระห้อยคอแล้ว เราจะปลอดภัย  จะไม่มีอะไรมาทำร้ายเราได้ อย่างนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด  คือถูกต้องบางส่วน  คือถ้ามีพระห้อยคอแล้ว เราระลึกพระพุทธเจ้า  ระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  แล้วเราประพฤติปฏิบัติตาม ถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะมีพระคุ้มครองเรา  แต่ถ้ามีแต่พระห้อยคอเฉยๆ แต่ไม่เคยสนใจถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ไม่เคยสนใจในแบบฉบับตัวอย่างที่ดีงาม ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินมา ให้เราปฏิบัติตาม  แต่เรากลับไม่ปฏิบัติตาม เราก็จะไม่มีพระพุทธเจ้า หรือไม่มีพระมาปกป้องคุ้มครองรักษาเรา  เพราะพระที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่วัตถุ  ไม่ใช่สิ่งที่เราปั้นขึ้นมา หรือหล่อขึ้นมา แล้วนำมาห้อยคอ หรือนำมาติดตัวเรา สิ่งที่เรานำมาห้อยคอหรือติดตัวเรานี้ เป็นเพียงรูปของพระ  เป็นเครื่องเตือนสติ ให้เราระลึกถึงคุณงามความดี  ให้เราประพฤติตนในทิศทางที่ดี  ให้เราละเว้นจากการกระทำบาปทำกรรม อย่างนี้ต่างหากถึงจะเป็นผลขึ้นมาได้   แต่ถ้าห้อยพระเฉยๆ แล้วยังไปทำบาปทำกรรม  ยังไปมั่วสุมกับพวกอบายมุขต่างๆ   อันเป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแล้ว  ต่อให้มีพระวิเศษขนาดไหนห้อยคอ  มีราคาเป็นล้านๆ  ก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งภัย ที่เกิดจากการกระทำความชั่วของเราได้ 

ดังนั้นเวลาเรามีพระห้อยคอ ก็ขอให้เราจำไว้ว่า มีพระห้อยคอไว้เพื่อเตือนสติเรา ว่าเรามีพระพุทธเจ้าอยู่กับเรา  เราจะต้องปฏิบัติตัวเราให้เหมือนกับพระพุทธเจ้า  ถ้าเราปฏิบัติได้แล้ว  เราจะมีพระคุ้มครองเรา  เพราะพระที่แท้จริงนั้น ก็คือคุณงามความดี  บุญกุศล  ศีลธรรมนั่นเอง  ถ้าเรามีคุณงามความดี  มีบุญมีกุศล  มีศีลธรรม อยู่ในใจของเราแล้ว  เราจะไม่ไปทำอะไร ที่สร้างความเดือดร้อน ให้กับผู้อื่นหรือกับตัวเรา  เมื่อเราไม่สร้างความเดือดร้อน ให้กับผู้อื่นหรือกับตัวเราแล้ว  เราก็ย่อมไม่มีภัยอะไรมารุมเร้าเรา  นี่แหละคือความหมายของการห้อยพระ  การมีพระติดตัวของเรา ก็คือให้เราเจริญพุทธานุสติ ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ   ให้ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ  แล้วพยายาม ปฏิบัติตาม  แล้วเราจะมีพระคุ้มครองเรา 

๒. เมตตาภาวนา คือการเจริญเมตตา  ความเมตตานี้ก็คือความปรารถนาดี ที่เรามีต่อผู้อื่น  ไม่มองผู้อื่นเป็นศัตรู  แต่มองผู้อื่นเป็นมิตร เป็นเพื่อนกัน  เราทุกคนเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย กัน  เหมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน  เราควรมองกันด้วยความปรารถนาดี คือให้เจริญ สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ จงไม่มีเวรต่อกันและกัน  จงอย่าไปสร้างเวรสร้างกรรมให้กับใคร  สัพเพ สัตตา อัพยา ปัชฌา โหนตุ จงไม่เบียดเบียนกัน   สัพเพ สัตตา อนีฆา โหนตุ ขอให้ผู้อื่นมีความปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ สัพเพ สัตตา สุขี อัตตานัง ปริหะรันตุ  ขอให้ทุกคนมีความสุขรักษาตน  นี่คือสิ่งที่เราควรเจริญอยู่บ่อยๆ ภายในใจของเรา  และเมื่อเรามีสิ่งเหล่านี้แล้ว  เวลามีเหตุการณ์ที่จะสร้างความโกรธแค้นให้เกิดขึ้นกับเรา เราจะมีเมตตานี้มาดับไฟของความโกรธแค้น  ไฟของความคิดที่จะเบียดเบียนผู้อื่น 

สังเกตดูเวลาที่ใจของเราเป็นปกติ  เราจะไม่คิดร้ายกับใคร  แต่ถ้าใจของเรามีความโกรธขึ้นมา ที่เกิดจากกระทำของผู้อื่น  ทางกายหรือทางวาจาก็ดี  เช่นผู้อื่นอาจจะพูดในสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจเรา  หรือกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับเรา  เราจะเกิดความโกรธแค้นขึ้นมาทันที  และเมื่อมีความโกรธแค้นแล้ว เราก็จะจองเวรจองกรรม  จะต้องหาวิธีการที่จะทำร้ายเขาให้ได้  แต่ถ้าเรามีเมตตาอยู่ในใจของเราอยู่เสมอๆ  ความรู้สึกที่ดีนี้ก็จะปรากฏขึ้นมาดับความโกรธ ความอาฆาตพยาบาท ที่ผุดขึ้นมาเหมือนกับไฟ   ไฟถ้ามีน้ำย่อมไม่สามารถที่จะไหม้ไปได้นาน  แต่ถ้าไฟไม่มีน้ำย่อมเผาไหม้ทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นจุณไป ไฟในใจก็คือความโกรธ ความแค้น ความอาฆาตพยาบาท ถ้าไม่มีความเมตตา ไม่มีน้ำธรรมะคือความเมตตานี้แล้ว  ไฟก็จะเผาผลาญใจให้เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว  ทำให้อยู่เฉยๆไม่ได้  จะต้องไปกระทำการอันใดอันหนึ่ง อันเป็นการกระทำที่ไม่ดี สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและกับตัวเรา แล้วในที่สุดก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่โตขึ้นมา  เกิดการทะเลาะวิวาท   เกิดการทำร้ายร่างกาย จนถึงกับฆ่ากันตายไป ก็เป็นได้ เพราะขาดความเมตตา ที่จะมาคอยยับยั้งดับไฟของความโกรธ ไฟของความแค้น  ไฟของความอาฆาตพยาบาท 

ขอให้เราอย่าไปคิดว่า การที่ผู้อื่นสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับเราแล้ว   เราไม่ไปตอบโต้เขา ด้วยการทำร้ายเขานั้น เราจะขาดทุน เราเป็นคนโง่ เป็นคนอ่อนแอ  นี่เป็นการเข้าใจผิด  คนที่สามารถให้อภัยผู้อื่นได้นั้น  ต้องเป็นคนที่มีความแข็งแกร่งมาก  แข็งแรงมากทางด้านจิตใจ  เพราะจะต้องต่อสู้กับความโกรธแค้น ความอาฆาตพยาบาท  ถ้าไม่มีความเข้มแข็งในจิตใจ คือไม่มีเมตตาธรรมนี้แล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะต่อสู้กับความโกรธแค้นนี้ได้  แต่ถ้าเรามีความเพียร ในการเจริญเมตตาธรรมนี้อยู่อย่างเสมอแล้ว  จะทำให้จิตใจของเรามีความแข็งแกร่ง ที่จะสามารถต้านทานไฟของความโกรธ ของความแค้นนี้ได้  ดังนั้นคนที่ไม่โกรธผู้อื่น  คนที่อภัยผู้อื่นได้นี้ ไม่ใช่คนอ่อนแอ  แต่เป็นคนที่แข็งแกร่ง  เป็นคนที่ประเสริฐ  คนที่ไม่สามารถที่จะให้อภัยผู้อื่นได้ต่างหาก ที่เป็นคนอ่อนแอ เป็นคนที่ต้องไปล้างแค้นผู้อื่นเขา  เพราะไม่สามารถที่จะต่อสู้กับความโกรธแค้น ที่มีอยู่ภายในใจของตนเองได้นั่นเอง 

จึงขอให้เราระลึกอยู่เสมอว่า การให้อภัยผู้อื่น  การไม่จองเวรผู้อื่น  เป็นคุณสมบัติของผู้ประเสริฐ  ของคนดี  ของคนที่แข็งแกร่งที่แท้จริง   อย่างพระพุทธเจ้าของเราเป็นตัวอย่าง  ไม่ว่าใครจะมากล่าวร้ายท่านอย่างไร  จะมาทำร้ายท่านอย่างไร พระพุทธองค์ไม่เคยตอบโต้เขาเลยแม้แต่นิดเดียว  แม้แต่คำพูดให้ร้ายกับเขาก็ไม่มี อย่าว่าแต่การกระทำร้ายเขาเลย   แต่กลับมีพระเมตตา ให้อภัยเขา สงสารเขา  เพราะรู้ว่าคนที่ถูกไฟของความโกรธแค้นเผาผลาญนั้น เป็นคนที่มีแต่ความทุกข์ ไม่มีความสุขเลย   คนที่สามารถดับไฟ ของความโกรธแค้นได้ ต่างหากเล่า ที่เป็นคนที่มีความสุข  นี่แหละคือเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงต้องเจริญเมตตาภาวนา   เพราะเมื่อมีเมตตาอยู่ในใจแล้ว ใจจะเย็น  เพราะมีน้ำดับไฟของความโกรธ ความแค้น  เวลาที่ปรากฏขึ้นมาในใจ  รักษาใจให้สงบร่มเย็น   และในขณะเดียวกัน ก็รักษาไม่ให้เราไปทำร้ายผู้อื่น  เมื่อไม่ไปทำร้ายผู้อื่น  ผู้อื่นก็ไม่กลับมาทำร้ายเรา  เราก็จะอยู่ได้ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุข  เพียงแต่ให้อภัยเท่านั้นเอง   ไม่ใช่เป็นของยากเย็นเลย 

เวลาใครเขาทำอะไรให้เราโกรธ ก็มองมาที่ใจเรา  อย่าไปมองที่เขา  เราไปมองเขา เราจะยิ่งโกรธเขาไปใหญ่   เราหันมาดูที่ใจของเราว่า  ใจของเราตอนนี้เป็นอย่างไร  นิ่งเฉยอยู่หรือโกรธแค้น  ถ้าโกรธแค้นก็ต้องใช้เมตตาไปดับความแค้นนั้น ถ้าไม่โกรธแค้นเลย ก็แสดงว่าใจของเราได้พัฒนาไปมากแล้ว  ใจของเราเริ่มใกล้สู่ความเป็นพระมากเข้าไปแล้ว   ใจของเราใกล้พ้นทุกข์แล้ว  เราควรมีความดีอกดีใจ ที่เราสามารถชนะใจของเราได้ คือสามารถชนะความโกรธความแค้นได้  แทนที่จะไปคิดเสียอกเสียใจ ว่าเราเป็นคนอ่อนแอ เป็นคนที่สู้เขาไม่ได้  นี่ไม่ใช่เป็นความคิดที่ถูก  พระพุทธองค์ทรงสอนไว้เสมอว่า การที่เราจะชนะผู้อื่นเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านครั้ง  ก็สู้ที่จะชนะใจของเราไม่ได้  เพราะเวลาที่เราชนะใจของเราแล้ว  ใจเราเย็น ใจเราสงบ ใจเราสบาย  แต่ถ้าเราไปชนะผู้อื่น  เราก็ไปสร้างความโกรธแค้นให้กับผู้อื่นเขา  สร้างเวรสร้างกรรมให้กับเขา เขาก็จะต้องคอยมาจองเวรจองกรรมเรา  เราก็มีความกังวล คอยห่วงว่า คนอื่นเขาจะมาตอบแทนการกระทำของเราเมื่อไรนั่นเอง  นี่แหละคือเหตุผล ที่เราจะต้องเจริญเมตตาภาวนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ  เพราะเมื่อเราเจริญเมตตาแล้ว เราจะไม่มีภัยทั้งภายนอกและภายในมารุมเร้า มาทำร้ายเรา

๓. มรณานุสติกรรมฐาน คือการระลึกถึงความตาย  เพราะคนเราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมต้องมีความแก่ มีความเจ็บ มีความตายเป็นธรรมดา  ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้  ทุกๆคนที่อยู่ในศาลานี้ อีกร้อยปีข้างหน้า เราคงไม่ได้เข้ามานั่งอยู่ในศาลานี้อีกแล้ว  ร่างกายของเราคงจะกลายเป็นเถ้าถ่านไป  เพราะเป็นธรรมดา  เป็นปกติของธรรมชาติของร่างกายอันนี้  ที่จะต้องเป็นไป  ถ้าเราระลึกถึงความตายแล้ว  มันจะทำให้เรามีความรู้จักว่า ชีวิตของเรานั้นมีขอบมีเขต  เราไม่ได้อยู่ไปตลอด   จะช่วยให้เราลดความโลภได้  เพราะจะคิดว่า จะเอาไปทำไม ในเมื่อเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้ไปตลอด  เราได้มามากน้อยแค่ไหน  เมื่อถึงเวลาที่เราตายไป เราก็เอาไปไม่ได้  แล้วหามาทำไมสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่ไม่มีสาระ  สิ่งที่มีสาระมีอยู่ ทำไมเราไม่หากัน   สิ่งที่มีสาระ สิ่งที่เราสามารถเอาติดตัวไปกับใจของเราได้ หลังจากที่เราตาย ก็คือบุญกุศลหรือบาปกรรมนั่นเอง  สิ่งเหล่านี้จะติดไปกับใจ  ถ้าเราทำบุญกุศล  บุญกุศลก็จะติดไปกับใจ  ถ้าทำบาปทำกรรม บาปกรรมก็จะติดไปกับใจ เมื่อมีสิ่งเหล่านี้ไปกับเรา  สิ่งเหล่านี้จะเป็นเหตุ ที่จะทำให้เราไปเกิดในที่ดี หรือที่ไม่ดี  เกิดในสุคติหรือเกิดในอบาย  ก็ขึ้นอยู่กับบุญกุศล หรือบาปกรรมที่เรากระทำกันในชาตินี้ และในอดีตชาติที่ผ่านมา 

นี่เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เห็น  เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้ายืนยันมาตลอด  และพระอริยสงฆสาวก ผู้ที่ได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว นำไปประพฤติปฏิบัติ ไปพิสูจน์จนเห็นตามอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้วว่า บาปกรรม บุญกุศลนี้มีจริง  เป็นสิ่งที่ติดตัวไปกับเรา เป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง  ถ้าเรายังปรารถนาความสุขความเจริญในภพหน้าชาติหน้า ก็จงอย่าประมาทในบุญในกุศล  อย่าประมาทในบาปในกรรม  จงพยายามทำแต่บุญทำแต่กุศล  พยายามละเว้นการกระทำบาป  แต่เราจะไม่คิดเรื่องเหล่านี้  ถ้าเราไม่เจริญมรณานุสติ  ถ้าเราไม่ระลึกถึงความตาย   พอเราเผลอ ไม่ระลึกถึงความตายไปเท่านั้น เราก็จะถูกอำนาจของความหลง ความโลภ ครอบงำใจ  แล้วก็จะทำให้เราเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีคุณค่าขึ้นมา อยากจะได้ อยากจะสะสมขึ้นมาทันที โดยลืมความตายที่จะตามมา 

แต่ถ้าเราระลึกถึงความตายอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว  เวลาเกิดความโลภ เกิดความหลง  มันก็จะหยุดได้ เบรกได้  เวลาอยากจะได้อะไรขึ้นมา  เราก็จะคิดขึ้นมาทันทีว่า เอาไปทำไม เดี๋ยวเราก็ตายแล้ว  เราไม่มีเราก็อยู่ได้  ยกเว้นสิ่งที่มีความจำเป็น ที่จะต้องมีเพื่อจะได้อยู่ต่อไปได้  สิ่งเหล่านี้เราก็ต้องมี  อย่างเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย  เราก็ต้องมีหยูกมียาไว้รับประทาน เพื่อที่จะได้รักษาร่างกายนี้ ให้อยู่ไปนานเท่าที่จะนานได้  เพื่อจะได้สะสมบุญไว้มากๆ แต่ถ้าเราไม่ดูแลรักษาร่างกายของเรา  เวลาเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว เราไม่รักษา ร่างกายก็จะชำรุดทรุดโทรม และอาจจะตายไป  ทำให้เราไม่สามารถประกอบคุณงามความดีได้  นี่เป็นสิ่งจำเป็น เราก็ต้องทำ   แต่สิ่งทีไม่จำเป็น เช่นการไปเที่ยว  กินเหล้าเมายา  ไปเล่นการพนัน  สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต่อชีวิตของเรา  ไม่ใช่ความสุข มีแต่ความทุกข์ตามมา  ไปเที่ยวกลับมา กลับมีความอยากจะไปเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอีก  ทำให้ติดนิสัย  การเที่ยวแต่ละครั้งก็ต้องใช้เงินใช้ทอง  ถ้าไม่มีเงินมีทอง เราจะทำอย่างไร  ก็ต้องไปทำบาปทำกรรม เพื่อหาเงินหาทองไปเที่ยวนั่นเอง  ถ้าคิดถึงความตาย และคิดถึงภพชาติที่จะตามมาต่อไป  เราก็จะชนะความโลภความอยากนี้ได้ 

เราจึงควรเจริญเรื่องความตายอย่างสม่ำเสมอ  ทุกครั้งที่เราระลึกได้ ก็จงระลึกไปเถิด  พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ระลึกถึงความตาย ทุกลมหายใจเข้าออกเลย  เวลาหายใจเข้าก็ระลึกว่า หายใจเข้าไปแล้ว ถ้าไม่หายใจออกมา เราก็ตาย  เวลาหายใจออกไปแล้ว ไม่หายใจเข้ามา เราก็ตาย  ถ้ามีการระลึกถึงความตายอย่างนี้ อยู่ตลอดเวลาแล้ว รับรองได้ว่าความโลภกับความหลง จะไม่สามารถมาหลอกเราได้  เราจะมีแต่ความขยันหมั่นเพียร ในการทำความดีละความชั่ว  และเมื่อเราทำแต่สิ่งที่ดี ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีแล้ว ใจของเราก็จะมีแต่ความสุข  นี่คือผลของการเจริญมรณานุสติ

๔. อสุภกรรมฐาน  การพิจารณาดูความไม่สวยงามของร่างกาย  ร่างกายของคนเรานั้น  ถ้ามองให้ครบถ้วนแล้ว จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สวยงาม  เหตุที่ยังเห็นร่างกายนี้สวยงามอยู่ ก็เพราะเรามองเพียงบางส่วนเท่านั้น  ส่วนที่เห็นนั้นมีอยู่เพียง ๕ ส่วนคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง  นี่คือ ๕ อาการที่เห็นอยู่ภายนอก  แต่เราไม่เห็นอาการที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนัง  เพราะคนเรานั้น มีอาการทั้งหมดถึง ๓๒ อาการด้วยกัน  เราเห็นเพียงแค่ ๕ อาการ ก็เลยทำให้หลงว่าเป็นรูปร่างที่สวยงาม  แต่ถ้าเรามองให้ครบทั้ง ๓๒ อาการ เราก็จะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่สวยงามเลย ถ้าพิจารณาอยู่บ่อยๆจนเห็นตลอดเวลาว่า ไม่สวยงาม เป็นอสุภะ เป็นปฏิกูล ลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ความกำหนัดยินดีในร่างกายก็หมดไป ทำให้ไม่ต้องแสวงหาความสุขจากร่างกายอีกต่อไป ไม่ต้องไปประพฤติผิดประเวณี ทำผิดศีลผิดธรรม ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามภพอีกต่อไป เพราะละกามตัณหาได้อย่างสิ้นเชิง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้