กัณฑ์ที่ ๑๓๔       ๒๙ กันยายน ๒๕๔๕

ความรู้

 

การที่จะรับประโยชน์อันสูงสุดของพระพุทธศาสนานั้น ในเบื้องต้นเราต้องรู้ว่า พระพุทธศาสนามีหน้าที่อะไร หน้าที่ของเราต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร  ควรรู้ว่าพระพุทธศาสนามีสถานภาพอย่างไร  ความจริงแล้วพระพุทธศาสนาเป็นสถาบันที่ให้ความรู้  เพราะคำว่าพุทธะแปลว่าผู้รู้  ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้  ก็ไม่ได้ทรงเรียกพระองค์เองว่าพุทธะ  แต่หลังจากที่ได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว จึงประกาศตนว่าเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ธรรม พุทธศาสนาจึงเป็นสถาบันการศึกษา เป็นที่ให้ความรู้  ผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา คือพุทธศาสนิกชนอย่างเราอย่างท่าน จึงเป็นเหมือนนักเรียน นักศึกษา ผู้รับความรู้จากพระพุทธศาสนา ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้แล้ว จะปฏิบัติไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แล้วจะไม่ได้รับผลประโยชน์ที่ดี ที่สูงสุดของพระพุทธศาสนา เช่น ถ้าไปคิดว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาลเจ้า ไว้สำหรับให้บนบานขอสิ่งต่างๆแล้ว ก็จะเป็นความเข้าใจผิด  เพราะพระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาลเจ้า เราไม่สามารถบนบานขอสิ่งต่างๆจากพระพุทธศาสนาได้ เพราะไม่ใช่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเน้นไปที่เหตุและผล  เหตุคือการกระทำ ผลที่ตามมา ก็คือความสุขความเจริญ หรือความทุกข์ความเสื่อมเสีย ขึ้นอยู่กับเหตุ คือการกระทำ ว่าเป็นเหตุที่ดีหรือเป็นเหตุที่ไม่ดี ถ้าทำความดี ความสุขและความเจริญย่อมตามมา ถ้าทำความชั่วทำบาปทำกรรม ความทุกข์ความหายนะ ความเสื่อมเสียย่อมตามมา นี่เป็นหลักที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ตลอดเวลา นับตั้งแต่ครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสอน ให้แก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕  นี่แหละคือเรื่องราวของพระพุทธศาสนา  เราจึงควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้อง  เพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วผลที่เราปรารถนากัน ย่อมเป็นของเราอย่างแน่นอน เวลาที่มาวัดจึงขอให้คำนึงเสมอว่า มาเพื่อศึกษา เหมือนกับมาโรงเรียน มาเรียนหนังสือ เวลามาวัดควรสนใจกับการฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะเป็นการศึกษาเล่าเรียน  ถ้าไม่ฟังเทศน์ฟังธรรม  จะไม่มีปัญญานำพาไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ที่เราทุกคนปรารถนา  คือความสุขความเจริญ ความเป็นสิริมงคล ความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งล้วนเกิดจากการปฏิบัติของเราทั้งสิ้น

แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง  เราก็จะปฏิบัติไปแบบผิดๆถูกๆ  ผลที่จะตามมาก็ย่อมเป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆ มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง มีความเจริญบ้าง มีความเสื่อมเสียบ้าง ชีวิตเลยไม่เป็นไปตามที่ปรารถนากัน เพราะขาดการศึกษานั่นเอง สมัยนี้เราไม่ค่อยสนใจที่จะหาความรู้จากพระพุทธศาสนากันสักเท่าไร ไม่เหมือนในสมัยพุทธกาล ที่มีผู้สนใจศึกษาเล่าเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก  จึงปรากฏผู้บรรลุมรรค ผล นิพพานเป็นจำนวนมาก สำเร็จวิชาทางพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก  ถ้าเปรียบกับวิชาทางโลก   ก็เท่ากับได้สำเร็จปริญญาตรี โท เอก เป็นจำนวนมาก แต่ในสมัยนี้จะไม่ค่อยได้ยินข่าวว่าพุทธศาสนิกชนคนนั้น ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันบ้าง เป็นพระสกิทาคามีบ้าง เป็นพระอนาคามีบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง เพราะอะไร ก็เพราะว่าทุกวันนี้พุทธศาสนิกชนชาวพุทธเรา ขาดความสนใจในการศึกษาปฏิบัติธรรมกัน ถ้าเป็นนักเรียนก็ไม่ค่อยไปโรงเรียนกัน สมัครเรียนหนังสือแต่ไม่ไปโรงเรียนกัน อาจจะไปอาทิตย์ละครั้ง หรือเดือนละครั้ง เมื่อถึงเวลาสอบก็สอบไม่ผ่าน พวกเราเป็นอย่างนั้นกัน

เราไม่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ที่ทรงกำหนดเวลาเรียนหนังสือให้พวกเรา อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่ง จะต้องฟังเทศน์ฟังธรรมกันอย่างน้อยสักหนึ่งครั้ง  ทรงกำหนดวันพระไว้ทุกๆวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ  ๑๔ ค่ำ ให้เรามาวัดกัน เพื่อจะได้มาปฏิบัติธรรม มาฟังเทศน์ฟังธรรม ศึกษาหาความรู้ เพื่อจะได้เอาความรู้นี้ มาเป็นเครื่องนำพาชีวิตของเราไปในทางที่ดีที่งาม  แต่ถ้าปีหนึ่งเข้าวัดกันเพียงแค่ครั้งหรือสองครั้ง  ก็เปรียบเหมือนกับนักเรียนที่หนีโรงเรียน ไม่ไปโรงเรียนกัน ไม่เรียนหนังสือ เมื่อถึงเวลาสอบก็จะสอบไม่ผ่าน ก็เลยไม่ได้รับปริญญากัน ในสมัยนี้เราจึงไม่ค่อยได้ยินได้เห็น ได้พบกับผู้ที่บรรลุธรรม ในทางพระพุทธศาสนากันเท่าไร  ไม่ค่อยรู้เลยว่าคนนั้นเป็นพระโสดาบันหรือเปล่า คนนี้เป็นพระสกิทาคามีหรือเปล่า เป็นพระอนาคามีหรือเปล่า หรือเป็นพระอรหันต์กันหรือเปล่า นั่นก็เป็นเพราะว่าชาวพุทธเราส่วนใหญ่  เกิดความเข้าใจผิด มีความหลงผิด ไม่รู้ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ให้ความรู้ และเราจะต้องศึกษาเพื่อจะได้รับความรู้มาอีกทอดหนึ่ง แต่กลับไปคิดว่าศาสนาเป็นศาลเจ้า ไว้สำหรับกราบไหว้บูชา จุดธูปเทียนแล้วก็ตั้งจิตอธิษฐาน  บนบานขอสิ่งนั้นสิ่งนี้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราจึงไม่ค่อยได้สิ่งที่เราปรารถนากันเท่าไร  เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่ผู้เสก ผู้เป่า ผู้บันดาลสิ่งต่างๆที่เราต้องการให้กับเราได้นั่นเอง

พระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา เป็นครู เป็นอาจารย์ หลังจากที่ได้ทรงประกาศพระธรรมคำสอนแล้ว  มีผู้ที่ได้ยินได้ฟังธรรมนำเอาไปปฏิบัติตาม จนบรรลุธรรม สำเร็จวิชาทางพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก  กลายเป็นครูเป็นอาจารย์ขึ้นมา เป็นพระอริยสงฆ์สาวก มีอยู่ ๔ ขั้นด้วยกัน คือ ๑.โสดาบัน  ๒. สกิทาคามี  ๓. อนาคามี  ๔. อรหันต์ เปรียบกับทางโลก ก็คือปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก  เมื่อท่านจบแล้ว ท่านก็ทำหน้าที่ช่วยเหลือพระพุทธเจ้า เป็นอาจารย์ช่วยสั่งสอนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไป พระธรรมคำสอนก็คือวิชา ที่พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย สั่งสอนให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย นี่คือความหมายของพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านเป็นผู้ให้ความรู้กับเรา หน้าที่ของเราจึงเป็นผู้ศึกษา เราต้องสนใจ ต้องฟังอย่างน้อยอาทิตย์หนึ่ง ควรหาโอกาสฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ถ้ามาที่วัดได้ก็ดี ถ้ามาที่วัดไม่ได้ก็ให้อ่านหนังสือธรรมะ ที่มีอยู่ที่บ้านก็ได้ หรือฟังเทปธรรมะก็ได้ หรือจะเปิดวิทยุฟังก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีการสอนธรรมะผ่านทางวิทยุตามสถานีต่างๆ ถ้าได้ศึกษาเล่าเรียนแล้ว ผลประโยชน์ที่เราต้องการ คือ ความสุขความเจริญ ความเป็นสิริมงคล ก็จะตามมาต่อไป เราจึงขวนขวายหาความรู้ทางพระพุทธศาสนา คือปัญญา ซึ่งมีอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกัน        คือ ๑. สุตตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง                      ๒.  จินตามยปัญญา  ปัญญาที่เกิดจากการคิดไตร่ตรองใคร่ครวญ    ๓.ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจิตตภาวนา

๑. สุตตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง อย่างเช่นวันนี้ท่านทั้งหลายมานั่งฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ฟังแล้วก็ได้ข้อคิดต่างๆไป อย่างนี้เรียกว่าสุตตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง    ๒.  จินตามยปัญญา  ปัญญาที่เกิดจากการคิดไตร่ตรองใคร่ครวญ  เราอาจจะไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมมาก่อน แต่เราชอบคิด เวลาเห็นอะไรเกิดขึ้นกับตัวเรา เราก็นำมาคิดพิจารณา แล้วเกิดความเข้าใจขึ้นมา อย่างเวลาสูญเสียสิ่งที่รักไป  ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจ แต่เวลาที่สูญเสียสิ่งที่ไม่รักไป เรากลับไม่เศร้าโศกเสียใจ กลับดีอกดีใจ  ผลที่เกิดขึ้นในใจ ระหว่างการสูญเสียสิ่งที่รักกับสิ่งที่ไม่รัก ก็อยู่ที่ใจไปมีความรู้สึกกับสิ่งนั้นๆ  ถ้าไม่มีความรู้สึกยินดีด้วย เวลาสิ่งนั้นเกิดสูญเสียไป เราก็ไม่เสียใจ แต่ถ้าสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรารักเกิดสูญเสียไป ก็เกิดความทุกข์ เกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา ถ้าใช้สติปัญญาแยกแยะแล้ว ก็จะเห็นว่า โทษของความเศร้าโศกเสียใจ หรือความทุกข์นั้น ก็เกิดจากความยินดี เกิดจากความรักในสิ่งนั้นๆนั่นเอง

ถ้าไม่ต้องการความเศร้าโศกเสียใจ ในเวลาที่จะต้องพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ ก็จะต้องไม่ไปรักสิ่งนั้นๆ เราไม่รักสิ่งนั้นๆได้ไหม ได้  ทำไมจะไม่ได้  แล้วเราก็ยังอยู่กับสิ่งนั้นๆได้เหมือนเดิม  เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจว่า สิ่งที่มีอยู่นั้น ไม่ช้าก็เร็ว สักวันหนึ่งสิ่งนั้นก็ต้องจากเราไป  เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งที่ไม่มีใครห้ามได้ เหมือนกับพระอาทิตย์ที่ขึ้นในยามเช้า ในยามเย็นก็จะต้องตกลับขอบฟ้าไป หายไป แต่เราไม่ร้องห่มร้องไห้ เวลาที่พระอาทิตย์หายจากขอบฟ้าไป  เพราะอะไร ก็เพราะว่าเรายอมรับความจริงอันนี้ เรายอมรับว่าพระอาทิตย์ขึ้นมาแล้ว ในที่สุดก็จะต้องตกลับขอบฟ้าไป เราก็ไม่ไปยินดี ไปอยากที่จะให้พระอาทิตย์อยู่กับเราไปตลอดเวลา  ฉันใดสิ่งต่างๆก็เป็นแบบนั้น  ถ้าเราทำความเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ ที่เราอยู่ด้วย หรือครอบครองอยู่นั้น ไม่ช้าก็เร็ว สักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป ถ้าเราปล่อยวาง ไม่ไปยึดไปติด ไม่ไปยินดีจนเกินไป เราก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจ

๓. ภาวนามยปัญญา  ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจิตตภาวนา มีการนั่งสมาธิเจริญวิปัสสนา ปัญญาขั้นนี้เป็นปัญญาที่สามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างถาวร เพราะเป็นปัญญาที่เข้าไปขุดคุ้ยและทำลายต้นเหตุของความทุกข์ ที่ฝังลึกอยู่ในใจของเรา คืออวิชชา ความไม่รู้จริง ความหลง ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความยินดี เกิดความโลภ เกิดความโกรธขึ้นมา ถ้ามีปัญญาในระดับภาวนามยปัญญาแล้ว จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นสิ่งที่ไม่อยู่กับเราไปตลอด  เป็นสิ่งที่ไม่ให้ความสุขกับเราได้อย่างแท้จริง  ถึงแม้เราจะได้รับความสุขจากสิ่งนั้น ในขณะที่ยังมีสิ่งนั้นอยู่ แต่เมื่อสิ่งนั้นหมดไป ความทุกข์ก็จะต้องตามมา เพราะเราอาศัยสิ่งนั้นให้ความสุขกับเรา เมื่อสิ่งนั้นไม่ได้ให้ความสุขกับเราแล้ว เราก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจของเรา

แต่ถ้าได้ปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาแล้ว เราจะเห็นอย่างแท้จริงเลยว่า ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นในโลกนี้ ไม่สามารถให้ความสุขกับเราได้ตลอดไป และจะเห็นด้วยว่า ความสุขที่แท้จริงนั้น มีอยู่ในตัวของเราแล้ว มีอยู่ในใจของเราแล้ว นั่นก็คือใจที่ไม่ยึดไม่ติด ใจที่ไม่หวังพึ่งอะไรทั้งสิ้น ใจนี้แหละเป็นใจที่จะมีความสุขเต็มเปี่ยมอยู่ในตัวแล้ว เพียงแต่ถูกอวิชชาความไม่รู้ความจริงนี้ หลอกให้ไปหาความสุขจากสิ่งภายนอก  หาจากสิ่งต่างๆที่ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง ใจก็เลยไม่เคยประสบกับความสุขที่แท้จริง ถ้าได้ศึกษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แล้วนำมาปฏิบัติ ทำจิตให้สงบ เมื่อจิตสงบแล้ว ก็ใช้ปัญญาวิเคราะห์ดูสิ่งต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับใจ ก็จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องกับใจนั้น แทนที่จะให้ความสุข กลับมาสร้างความทุกข์  แล้วก็จะเห็นว่าไม่มีความสุขอันไหนจะดีเท่ากับความสุข ที่เกิดจากการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเมื่อใจปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ใจจะสงบ ใจจะนิ่ง ใจจะเย็น เพราะใจไม่ไปกังวลกับสิ่งต่างๆ  

เวลาที่เรายึดติดอยู่กับสิ่งต่างๆ ใจจะมีความห่วง มีความกังวล คอยคิดอยู่เรื่อยว่า สิ่งต่างๆที่เรารัก ที่เราชอบ ยังอยู่กับเราหรือเปล่า แล้วจะอยู่กับเราไปได้นานสักแค่ไหน เรื่องเหล่านี้นั้นล้วนเป็นการสร้างความเครียดให้กับใจ สร้างความวิตก สร้างความกังวล ทำให้ใจไม่สงบ ไม่นิ่งเพราะความหลงนั่นเอง แต่ถ้าได้ลองมาปฏิบัติธรรมแล้วๆ  ใจจะเริ่มก้าวเข้าสู่ความสงบ จะเริ่มเห็นความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ แล้วจะเข้าใจเห็นโทษของการไปหลง ไปยึด ไปติดกับสิ่งต่างๆภายนอก เพราะล้วนเป็นโทษทั้งสิ้น ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่เป็นความสุขที่แท้จริง เราอาจจะมีความสุขในขณะที่ได้สัมผัส ได้อยู่ใกล้ชิดสิ่งเหล่านั้น แต่เราหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะอยู่ใกล้ชิดกับเราไปได้ตลอด เพราะโดยธรรมชาติของตัวเราเองก็ดี หรือของสิ่งต่างๆก็ดี  ล้วนเป็นของไม่เที่ยง คือมีอายุขัย ไม่อยู่ไปตลอด ชีวิตเราอยู่ไปได้ไม่กี่ปี  ก็ต้องจากทุกสิ่งทุกอย่างไป ถ้าเขาไม่จากเราไปก่อน เราก็จากเขาไปก่อน นี่เป็นสัจธรรมความจริง

เมื่อเป็นเช่นนั้น เวลาเกิดการพลัดพรากจากกัน ก็จะต้องร้องห่มร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่ถ้าได้ฝึกจิต ปฏิบัติจิต ให้ปล่อยวาง ให้มีความพอใจกับความสุขที่เกิดจากความสงบแล้ว ก็จะไม่ยึดไม่ติดกับอะไร เวลาไม่ยึดไม่ติดกับอะไรแล้ว เวลาสิ่งต่างๆจากเราไป ก็จะไม่รู้สึกเศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์ เพราะรู้ด้วยปัญญาแล้วว่า เราไม่สามารถอยู่กับสิ่งต่างๆไปได้ตลอด หรือสิ่งต่างๆไม่สามารถอยู่กับเราไปได้ตลอด ไม่ช้าก็เร็ว ก็ต้องจากกันไป  ถ้ามีปัญญา ก็จะไม่ยึดไม่ติด  การจากกันก็จะเป็นการจากกันแบบธรรมดา จากกันแบบสบายๆ ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ ไม่มีการกินไม่ได้นอนไม่หลับ เหมือนกับเวลาที่พระอาทิตย์ได้ตกลับขอบฟ้าไป เราก็ไม่ได้มานั่งร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจอะไร  เพราะเราเข้าใจถึงธรรมชาติของพระอาทิตย์ ว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น

ฉันใดถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอน แล้วนำมาคิดใคร่ครวญอยู่อย่างสม่ำเสมอ แล้วนำมาปฏิบัติกับใจแล้ว  เราก็จะสามารถทำใจให้ปล่อยวางได้ เมื่อปล่อยวางแล้ว ใจก็จะไม่เดือดร้อนกับอะไร ที่จะต้องจากเราไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ต้องมีอะไรเลย  เราอยากจะมีอะไรก็มีได้  อย่างในขณะนี้ เรามีอะไร  ก็มีอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าทัศนคติ ปัญญาความรู้ของเราได้เปลี่ยนไป เมื่อก่อนนี้เรารู้แบบหลง รู้แบบยึด  รู้แบบติด คืออยากให้สิ่งต่างๆที่เรารัก ให้อยู่กับเราไปตลอด แต่เดี๋ยวนี้เราเข้าใจแล้วว่า ความรู้แบบนั้นเป็นเหตุ ที่จะทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง เมื่อเราเปลี่ยนทัศนคติแล้ว เราก็ยังอยู่กับสิ่งนั้นอยู่ เราก็ยังปฏิบัติกับสิ่งนั้นอยู่เหมือนเดิม คือยังมีความเมตตา มีความกรุณา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีการดูแลรักษากันไปตามปกติ ตามกำลังสติปัญญาความสามารถของเรา จนกว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากกันไป เราก็ยอมรับความจริงนี้ได้  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วใจของเราก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจกับอะไร

นี่แหละคืออานิสงส์ของการได้พบพระพุทธศาสนา  ได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่แท้จริงของชีวิตนั่นเอง เมื่อก่อนนี้ถ้ายังไม่ได้พบพระพุทธศาสนา เราจะไม่รู้เรื่องเหล่านี้  เราก็จะหลงยึดติดกับสิ่งต่างๆ สิ่งที่เรารัก ที่เราชอบเราก็จะหวง เราก็จะห่วง แต่เดี๋ยวนี้เมื่อได้ศึกษา ได้ยิน ได้ฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เริ่มเห็นแล้วว่า ความทุกข์ไม่ได้เกิดจากใครที่ไหน เกิดจากความหลงผิด ความเห็นผิดเป็นชอบ ความไม่รู้ความเป็นจริงของธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั่นเอง แต่ถ้ารู้แล้ว เราก็จะไม่ทุกข์กับสิ่งนั้นอีกต่อไป  เพราะเราจะเตรียมตัวเตรียมใจไว้รับกับสภาพที่จะต้องเกิดขึ้น คือไม่ช้าก็เร็วก็ต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา นี่แหละคือปัญญาทางพระพุทธศาสนา คือการรู้ถึงความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เมื่อรู้แล้ว จะได้ไม่ไปยึดไปติด

เราจึงต้องพยายามศึกษาหาความรู้นี้อย่างสม่ำเสมอ พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนให้เราเข้าวัดกัน อย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง  ฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ฟังแล้วก็นำเอาไปคิดพิจารณาต่อ หลังจากที่ออกจากวัดไป เพราะถ้าไม่นำไปคิดพิจารณาต่อ เวลาไปทำกิจการงานต่างๆ ใจก็จะไปอยู่กับเรื่องราวต่างๆ  ทำให้เรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังในขณะที่อยู่ในศาลา ก็จะค่อยๆ จางไปหายไป และในที่สุดก็จะลืมไป  เราจึงต้องกลับมาฟังอยู่เรื่อยๆ  นอกจากการฟังอยู่เรื่อยๆแล้ว เรายังต้องนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไปคิดต่อ ไปเตือนสติไว้ ไม่ใช่ฟังแล้วก็แล้วกันไป  เมื่อออกจากวัดไปแล้ว เวลาเห็นสิ่งใดก็ตาม ถ้าเกิดความยินดี เกิดความชอบอยากจะได้ ก็ควรสอนใจว่า สิ่งที่จะเอามานี้ ก็จะไม่อยู่กับเราไปตลอดนะ เอามาก็เอามาได้ แต่เวลาได้มาก็ดีใจหรอก  แต่เวลาเสียไป  ยังจะดีใจเหมือนกับขณะที่ได้มาหรือเปล่า ถ้าเสียไปแล้ว ก็จะต้องเกิดความเศร้าโศกเสียใจ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าไปเอามาไม่ดีกว่าหรือ อย่างนี้เป็นต้น

ต้องคิดแบบนี้ในการใช้ชีวิตประจำวัน ขอให้เราอย่าลืม ขอให้มองทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นของชั่วคราว ไม่ใช่เป็นของที่จะอยู่กับเราไปอย่างถาวร นี่ก็คือการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น ธรรมที่ได้ยินได้ฟังแล้ว เราก็เอามาคิด เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วถ้ามีโอกาสว่าง ไม่มีภารกิจการงาน ก็ให้มาทำความสงบกับจิตใจของเรา เพราะว่าเวลาที่จิตสงบ ใจจะเย็น ใจจะมีความสุข  แล้วใจจะรู้ว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การได้มาซึ่งสิ่งของต่างๆ แต่ความสุขที่แท้จริงมาจากความสงบของจิตใจต่างหาก เมื่อเห็นเช่นนั้นแล้วใจก็เกิดปัญญา เกิดความรู้ขึ้นมาว่า การมีอะไรมากๆ แทนที่จะมีความสุขกลับมีความทุกข์  ยิ่งมีมากก็ยิ่งทุกข์มาก เพราะจะมีความห่วง มีความอาลัยอาวรณ์กับสิ่งต่างๆมากขึ้นไปนั่นเอง ถ้ามีน้อยความทุกข์ก็น้อย  ถ้ามีลูกคนเดียว ก็ทุกข์กับลูกเพียงคนเดียว ถ้ามีลูก ๑๐ คน ก็ต้องทุกข์กับลูกถึง ๑๐ คน ความทุกข์ก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

เมื่อมีปัญญา เราจะรู้ความจริงว่า แม้กระทั่งลูกของเรา เราก็ต้องจากเขาไป หรือเขาก็ต้องจากเราไปในวันหนึ่ง ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว เราก็จะปล่อยวาง ไม่ไปยึดไปติดกับเขา เขาจะอยู่กับเราก็ดี เขาจะจากเราไปก็ดี ถ้าเราทำใจได้แล้ว จะมีมากมีน้อย เราก็จะไม่ทุกข์ เพราะว่าความทุกข์เกิดจากความไม่รู้จริง  ความทุกข์จะดับได้ก็เกิดจากความรู้จริง คือความรู้ทางพระพุทธศาสนา ดังที่ท่านได้ยินได้ฟังกันในวันนี้ นี่แหละคือความรู้จริง เพราะเป็นความรู้ที่เป็นตามหลักความเป็นจริง เป็นความรู้ที่ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง  ความคิดของพวกเราส่วนใหญ่ จะเป็นความคิดที่สวนกระแสของความจริง เช่นคิดว่าอยากจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่กับเราไปตลอด ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เป็นสิ่งที่เราจะต้องมาแก้ไขเสียตั้งแต่บัดนี้ เราจึงต้องมองให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง มีการสูญสลาย มีการดับไปเป็นธรรมดา ไม่ช้าก็เร็วทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องหมดสิ้นไปจากเรา เราก็ต้องจากเขาไปในที่สุด

ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว จะได้ไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆ  เมื่อไม่ยึดไม่ติดแล้ว ใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์  ความกังวลใจ  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนากัน แต่เราก็ยังมีกันอยู่ ก็เป็นเพราะเราไม่ได้อบรมสอนใจ  ไม่ได้ดูใจ ในขณะที่ใจกำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ เราก็ไม่ค่อยรู้กัน เวลาเห็นอะไรที่เราชอบ  ก็เกิดความอยากลึกๆขึ้นมาในใจแล้ว อยากจะให้สิ่งนั้นอยู่กับเราไปนานๆ นี่ก็เป็นความคิดที่ผิดแล้ว เป็นความคิดที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง  ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอะไรจะอยู่กับเราไปตลอด อยู่กับเราไปได้นาน เราจึงต้องมาเปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ โดยเอาความคิดหรือความรู้ของพระพุทธเจ้ามาใส่ใจเรา มาสอนใจเรา พยายามเตือนสติเราอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ควรไปยึดไปติด เมื่อไม่ยึดไม่ติด เราจะไม่ทุกข์ เราจะมีแต่ความสุข  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้