กัณฑ์ที่ ๑๓๕       ๖ ตุลาคม ๒๕๔๕

วันดี

 

วันนี้เป็นวันดี ที่ว่าเป็นวันดี ไม่ใช่เพราะว่าเป็นวันอาทิตย์ เป็นวันพระ เป็นวันสารทไทย ที่ว่าดีเพราะว่ามีการกระทำความดีกัน อย่างญาติโยมทั้งหลายในวันนี้ ได้มาร่วมกันประกอบคุณงามความดี  มีการทำบุญทำทาน ถวายสังฆทาน สมาทานรักษาศีล ๕  ศีล ๘  ศีลอุโบสถ  ไหว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม ซึ่งล้วนเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญรุ่งเรือง ความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ดังนั้นจึงพูดได้ว่าวันนี้เป็นวันดี  วันดีไม่ได้ขึ้นกับวันเวลา  แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสื้อผ้าสีสันที่เราใส่  จะใส่เสื้อผ้าสีอะไรก็ตาม  จะเป็นสีเหลือง สีฟ้า สีเขียว สีแดง  ก็ไม่ได้เป็นเหตุที่จะทำให้เป็นวันดีขึ้นมา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อของเรา จะชื่อประเสริฐ ชื่อบุญ ชื่อดี ก็ไม่ได้เป็นเหตุของวันดี เพราะคนที่ชื่อประเสริฐ ชื่อบุญ ชื่อดี  ไปติดคุกติดตะรางก็มีอยู่มากมาย  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อ  แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราทางกาย ทางวาจาและทางใจ  ความดีมีคำอธิบายไว้สั้นๆว่า การกระทำทางวาจาก็ดี ทางกายก็ดี หรือทางใจก็ดี  ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ ไม่มีโทษ  กับตัวเราก็ดี  กับผู้อื่นก็ดี หรือทั้งกับตัวเราและกับผู้อื่นก็ดี  ถือว่าเป็นความดี  เมื่อทำไปแล้วย่อมมีผลดีตามมา คือความสุขและความเจริญ 

จึงขอให้เราเข้าใจไว้ตั้งแต่บัดนี้ว่า ความดีสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน ทุกเวลา ขึ้นอยู่กับตัวผู้กระทำเท่านั้นเอง ว่าจะทำความดีหรือไม่ ถึงแม้วันนี้เป็นวันดี เป็นวันพระ เป็นวันสารทไทย  แต่กลับไปกินเหล้าเมายา ไปเล่นการพนัน ไปลักเล็กขโมยน้อย ไปยิงนกตกปลา ถ้าเป็นอย่างนี้  วันนี้ก็ไม่ดีสำหรับคนที่กระทำสิ่งเหล่านี้ เพราะเมื่อทำไม่ดีไปแล้ว ผลที่ไม่ดีย่อมตามมา คือความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความหายนะ  ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง ไม่ว่าดีหรือเลว สุขหรือทุกข์ เจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมเสีย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ล้วนเป็นการกระทำของเราทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเราอาจจะจำไม่ได้  เพราะการกระทำของเรานั้น ทำกันมานาน  ข้ามภพข้ามชาติ  เราจำไม่ได้ว่าในอดีตชาติ  เราได้เคยทำอะไรมาบ้าง  ดีหรือชั่วมากน้อยแค่ไหน  หรือแม้กระทั่งในชาตินี้  วันๆหนึ่งเราทำอะไรไปบ้าง เราก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่ได้มาจดจำนั่นเอง  แต่เมื่อทำไปแล้ว  ย่อมมีผลตามมา ช้าหรือเร็ว  มากหรือน้อย  ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา  บางอย่างก็จะปรากฏขึ้นมาอย่างรวดเร็ว บางอย่างก็ใช้เวลา  บางทีชาตินี้อาจจะไม่มีผลตามมาก็ได้  แต่อาจจะตามไปในภพหน้าชาติหน้า  เราจึงไม่ควรประมาทในการกระทำ ทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจของเรา ขอให้รู้ว่ามีผลตามมาอย่างแน่นอน

นี่คือสัจธรรมความจริง ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ให้เกิดความเข้าอกเข้าใจ ให้เกิดความเชื่อ  แล้วนำไปปฏิบัติกับตน  พยายามกระทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม ละเว้นจากการกระทำความชั่ว ทำบาปทำกรรมทั้งหลาย  ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด  ชำระความโลภ ความโกรธ   ความหลง ความอยากต่างๆ  ที่มีอยู่ในใจให้หมดไป  เพราะกิเลสและตัณหาที่มีอยู่ในใจ เป็นต้นเหตุที่จะผลักดันให้ไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม แล้วนำความทุกข์ความเสื่อมเสียมาให้กับเรา  แต่ถ้าได้ชำระกิเลสตัณหา ที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไป หรือให้เบาบางลงไปแล้ว การกระทำของเราก็จะเป็นการกระทำที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งไม่มีกิเลสตัณหาอยู่ในใจแล้ว การกระทำของเราก็จะเป็นการกระทำแต่สิ่งที่ดีที่งามอย่างเดียว  เมื่อได้ทำแต่สิ่งที่ดีที่งามอย่างเดียวแล้ว  ความสุขความเจริญ ความเป็นสิริมงคลก็จะเป็นของเรา โดยที่เราไม่ต้องไปขอจากผู้ใด  เพราะขอกันไม่ได้ เป็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติกันเอง

อย่างวันนี้ก็ได้มีการสมาทานขอศีลกัน  คำว่าสมาทานขอศีลนี้ ไม่ได้หมายถึงการมาขอศีลของพระไป  เหมือนกับมาขอเงินขอทองไปใช้  ที่พระให้ศีลนั้น  เป็นการบอกให้รู้ว่าศีลมีอะไรบ้าง  เพราะบางคนอาจจะยังไม่เคยเข้าวัด  ยังไม่เคยได้ยิน  ก็อาจจะไม่รู้ว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอุโบสถนั้นมีอะไรบ้าง  จะต้องละเว้นการกระทำอะไรบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของพระที่จะต้องเป็นผู้ให้ศีล  คือสอนให้รู้ว่าศีลมีอะไรบ้าง  เป็นหน้าที่ของผู้ที่สมาทาน  จะต้องจดจำว่าศีลมีกี่ข้อ  มีอะไรบ้าง แล้วนำเอาไปปฏิบัติกับกายและวาจาของตน เมื่อนำไปปฏิบัติแล้ว  ความสุขและความเจริญที่เกิดจากการรักษาศีล  ย่อมตามมาอย่างแน่นอน  เป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะฉกชิงจากตัวเราไปได้ เมื่อมีศีลแล้ว อานิสงส์ของศีลจะเป็นของเราในลำดับต่อไป จึงขอให้ทำความเข้าใจไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปรารถนากัน คือความสุข ความเจริญ ความปราศจากความทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลาย อยู่ในกำมือของเราแล้ว อยู่ในตัวเรา  อยู่ที่การกระทำของเรา เราจึงต้องทำความดี ละความชั่ว ชำระจิตให้สะอาดหมดจด 

การกระทำความดีนั้น ก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน  ในเบื้องต้นก็คือการมีความกตัญญูกตเวที  รู้คุณและตอบแทนคุณของผู้มีพระคุณ  เช่นบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ต้องสำนึกอยู่ในใจเสมอว่า เป็นบุคคลที่เราจะต้องเชิดชูยกย่อง ให้ความเคารพ ให้ความเชื่อฟัง และถ้ามีความสามารถที่จะเลี้ยงดูอุปถัมภ์ท่านได้ ก็ควรจะทำตามสมควรแก่ฐานะ  ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว ก็ถือว่าเริ่มเป็นคนดีแล้ว มีความดีอยู่ในตัวแล้ว นอกจากความกตัญญูกตเวทีแล้ว ก็ยังต้องมีสัมมาคารวะ  มีความเคารพในผู้หลักผู้ใหญ่ รู้จักที่สูงที่ต่ำ มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกหกหลอกลวง มีศีลมีสัตย์   อย่างที่ท่านทั้งหลายได้สมาทานศีลกันไป การถือศีล ๕  คือการดำรงตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยการกระทำทางกายและทางวาจา ได้แก่ ๑. ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ๒. ละเว้นจากการลักทรัพย์   ๓. ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี   ๔. ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ   ๕. ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา

การกระทำเหล่านี้ถ้าทำไปแล้ว จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย จะนำโทษมาให้ ทั้งกับผู้ที่กระทำและผู้ที่ถูกกระทำ จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านี้เราก็ได้ยินได้ฟังกันมาตลอด เรารู้ว่าอะไรดี รู้ว่าอะไรชั่ว อะไรไม่ดี แต่ก็ยังไม่สามารถทำในสิ่งควรทำได้  เพราะอะไร  เพราะว่าใจของเรายังไม่มีกำลังพอ ที่จะต่อต้านกระแสของความชั่ว ของบาปกรรม ยังไม่มีกำลังพอที่จะกระทำความดีให้ถึงพร้อม  เปรียบเหมือนกับร่างกายของคนเรา ที่อ่อนแอไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ฝึกฝนให้มีความแข็งแรง มีความบึกบึน  เวลาจะทำงานทำการที่หนัก  จะไม่สามารถทำได้  ถ้าจะทำก็ต้องมีการฝึกฝนอบรม พัฒนากำลังกายให้เกิดขึ้นก่อน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการวิ่งออกกำลังกาย ยกน้ำหนัก อย่างนี้เป็นต้น  ถ้าได้ฝึกฝนทำให้มีกำลังกายขึ้นมาแล้ว ต่อไปจะไปทำงานหนัก ก็จะสามารถทำได้   ใจก็เปรียบเหมือนกับกาย ที่ยังไม่สามารถทำในสิ่งที่ควรจะทำกันได้  เพราะใจยังอ่อนแอ ไม่มีกำลังนั่นเอง  เราจึงต้องมาฝึกฝนจิตใจของเรา  ให้มีกำลังเกิดขึ้นมาให้ได้  วิธีที่ใช้ฝึกฝนจิตเรียกว่าการภาวนา  เรียกว่าจิตตภาวนา  คือการพัฒนาจิตพัฒนาใจ  ให้มีกำลังที่จะต่อสู้กับกระแสของบาปของกรรม  ที่มีกำลังที่จะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม  มีกำลังที่จะชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจ

การฝึกฝนจิตจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง  การได้ยินได้ฟังธรรมก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเมื่อได้ยินได้ฟังธรรมแล้ว จะรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่เมื่อรู้แล้วแต่ไม่นำไปปฏิบัติ หรือไม่มีกำลังพอที่จะปฏิบัติได้  สิ่งที่ได้ยินได้ฟังก็จะไม่สามารถบรรลุประโยชน์ให้กับเราได้  เราจึงต้องฝึกจิตให้ได้  ต้องหาเวลาให้กับจิตใจ  วันหนึ่งๆเรามีเวลามาก แต่กลับปล่อยเวลาไปทำในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่เกิดคุณกับจิตใจ  นอกจากไม่เกิดคุณไม่เกิดประโยชน์แล้ว  ยังกลับเกิดโทษให้กับจิตใจ  เพราะสิ่งที่กระทำนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นการสะสม  สร้างกิเลสตัณหาที่มีมากอยู่ในใจแล้ว ให้มีมากขึ้นไปอีก  แทนที่จะขัดเกลา แทนที่จะลดละกิเลสตัณหา  ให้เบาบางลงไป   กลับเพิ่มพูนกิเลสตัณหาให้มากขึ้นไป  เวลาอันมีคุณมีค่าของเรา ก็เลยหมดไปโดยเปล่าประโยชน์  แต่เราไม่รู้กัน  เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรม  ไม่เคยศึกษาหรือปฏิบัติ   จึงไม่เห็นโทษของกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจของเรา  แทนที่จะพยายามลดละกิเลสตัณหา เรากลับไปสร้างกิเลสตัณหา เพิ่มพูนกิเลสตัณหาให้มีมากขึ้นไป วิธีที่เราเพิ่ม ที่เราสร้างกิเลสตัณหานั้น  ทำอย่างไร ก็คือเวลาเรามีความโลภ แล้วก็ทำตามความโลภนั้น  เวลามีความโกรธ  ก็ทำตามความโกรธนั้น  เวลามีความอยาก  ก็ทำตามความอยากนั้น โดยไม่ใช้สติปัญญาเข้ามาเป็นตัวตัดสินว่า สิ่งที่เราโลภ สิ่งที่เราโกรธ หรือสิ่งที่เราอยากนั้น เป็นคุณหรือเป็นโทษ  เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของเราหรือไม่  ถ้าเราไม่โลภเราจะอยู่ได้หรือไม่  ถ้าเราไม่โกรธเราจะอยู่ได้หรือไม่  ถ้าเราไม่อยากกับสิ่งต่างๆ  เราจะอยู่ได้หรือไม่

สิ่งเหล่านี้เราไม่เคยคิด เราไม่เคยถามตัวเราเอง เวลาเกิดความโลภก็วิ่งไปทันที ตามคำสั่งของความโลภ  เวลาเกิดความโกรธก็วิ่งไปทันที  ตามคำสั่งของความโกรธ  ชีวิตของเราจึงมีแต่ความวุ่นวาย  มีแต่ความทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น เพราะแทนที่จะเข้าไปชำระ ไปลด ไปละ กิเลสตัณหา  ที่เป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย  ของความทุกข์ใจ  ให้น้อยลงไป  ให้หมดไป เรากลับไปสร้างมันขึ้นมา ด้วยความไม่รู้  ที่เรียกว่าอวิชชา ความไม่รู้จริงหรือความหลง ความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นว่าความโลภความโกรธ เป็นสิ่งที่ควรจะรักษาดูแล  เวลาโลภก็ต้องโลภตาม  เวลาโกรธก็ต้องโกรธตาม  ชีวิตของเราจึงไม่ค่อยได้รับความสุข  ที่เราทุกคนปรารถนากัน  ถึงแม้ว่าจะสามารถสะสมสมบัติข้าวของต่างๆได้มากมาย  มีเงินทองเป็นร้อยล้าน พันล้านก็ตาม  มีบริษัทบริวารมีสิ่งต่างๆ อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเรา  แต่ใจของเรากลับมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ไม่รู้จักจบจักสิ้น  นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไปเสริม ไปสร้างเหตุ ที่ทำให้จิตว้าวุ่นขุ่นมัว ให้มีมากขึ้นในใจของเรานั่นเอง  คือการสะสมความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าเราต้องการที่จะมีความสุขที่แท้จริง คือความสุขใจ  เราต้องทำความเข้าใจเสียตั้งแต่บัดนี้ว่า ความสุขของใจจะเกิดขึ้นได้  ก็ต่อเมื่อเราชำระใจของเรา  ลดละกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจ  ด้วยการกระทำความดี  ละการกระทำบาป ทำความชั่วทั้งหลาย  การที่จะกระทำสิ่งเหล่านี้ได้  ต้องมีกำลังใจ  ต้องฝึกฝนจิตใจให้มีพลัง  ให้มีกำลังขึ้นมา  ด้วยการปฏิบัติจิตตภาวนา คือการทำสมาธิและเจริญวิปัสสนา การทำสมาธิก็คือการทำจิตให้สงบให้นิ่ง  เป็นการหยุดใจ  ถ้าหยุดใจได้  ต่อไปก็จะหยุดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้  เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง และความอยาก  ต้องอาศัยใจเป็นเครื่องมือ  เหมือนกับเราอาศัยรถยนต์เป็นพาหนะพาเราไปตามสถานที่ต่างๆ ถ้าเราปิดกุญแจดับเครื่อง  รถก็จะไม่วิ่ง  ต่อให้นั่งอยู่ในรถเป็นเวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปี  เราก็จะไม่สามารถเดินทางไปไหนได้  เพราะรถยนต์ไม่ขับเคลื่อนไปไหนนั่นเอง  ฉันใด กิเลสตัณหาก็จะไม่สามารถทำงานได้  ถ้าเราหยุดใจของเรา  หยุดจิตของเราได้ และวิธีที่จะทำให้จิตหยุดได้  ก็คือการฝึกทำสมาธิ  วิธีการทำสมาธิก็มีหลากหลายวิธีด้วยกัน  แต่โดยหลักแล้วก็คือการทำใจให้รู้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งภายในใจ  และพยายามให้อยู่กับอารมณ์นั้นไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้  ถ้าเผลอไปคิดถึงอารมณ์อื่นก็ให้ดึงกลับมาสู่อารมณ์นั้นอีก  ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจิตจะสงบ

การปฏิบัติสมาธิจึงมีหลากหลายวิธีด้วยกัน ในเบื้องต้นวิธีที่ง่ายที่สุด และจะได้ประโยชน์ที่สุด  ก็คือการไหว้พระสวดมนต์  ให้สวดมนต์บทใดบทหนึ่งที่เราจำได้  ให้ท่องอยู่กับบทสวดมนต์นั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นบทที่ยาวมาก บทสั้นๆก็ได้  ให้สวดซ้ำไปซ้ำมา กลับไปกลับมาอยู่เรื่อยๆ อย่างบทที่เราสวดกันเป็นประจำก็คือ บทอรหังสัมมาฯ  หรือบทอิติปิโสฯนี้  เราก็สามารถใช้บทสวดมนต์นี้เป็นเครื่องกำกับใจได้  เป็นเครื่องผูกใจ  ให้ใจมีความรู้อยู่กับบทสวดมนต์นั้น ไม่ให้ใจลอยไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆนานา  ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นมาในอนาคตก็ดี ตอนนี้ขอให้ปล่อยวางทั้งหมดเสีย  ให้ใจอยู่ในปัจจุบัน ให้อยู่กับงานที่เรากำหนดให้ใจทำ คือให้อยู่กับบทสวดมนต์  ให้สวดไปเรื่อยๆ  แล้วไม่ต้องไปเล็งถึงผล  ว่าผลจะเป็นอย่างไร  เพราะผลจะเกิดขึ้นจากการกระทำ ถ้าเราทำไป  แล้วคิดไปว่า  เมื่อไรจะเกิดผล  เมื่อไรจะเกิดผล    ผลก็จะไม่เกิด  เพราะเราทำไม่ถูกวิธี  วิธีที่ถูกเราจะต้องมีสติ  คือระลึกรู้อยู่กับบทสวดมนต์ที่กำลังสวดอยู่อย่างเดียว ให้รู้ทุกคำเลย เช่น อะ ระ หัง   สัม มา สัม พุท โธ ภะ คะ วา   พุท ธัง ภะ คะ วัน ตัง อะ ภิ วา เท มิ ก็ให้รู้อยู่กับบทสวดนั้นอย่างเดียว อย่าไปรู้อยู่กับอะไรทั้งสิ้น  เวลามีอะไรมากระทบกับใจ ผ่านทางอายตนะทั้งหลาย เช่น เสียงก็ดี หรือสัมผัสอะไรต่างๆ เช่น มดแมลง  มีความรู้สึกคันตรงนั้น คันตรงนี้ ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีความรู้สึกเจ็บตรงนั้น  ปวดตรงนี้บ้าง  ก็อย่าไปสนใจ  ให้จดจ่ออยู่กับการสวดมนต์

ถ้าอยู่กับบทสวดมนต์ได้ ต่อไปสิ่งที่มากระทบกับใจ ที่ผ่านมาทางอายตนะต่างๆ ก็จะหายไปเอง  แล้วจะไม่มารบกวนทำให้เสียสมาธิ  แต่ถ้ามัวไปคอยกังวลกับความรู้สึก ที่มาสัมผัสจากภายนอกก็ดี  หรือจากภายในก็ดี  ก็แสดงว่าเรากำลังไม่ได้ทำงาน  คือไม่ได้ผูกใจให้อยู่กับอารมณ์ที่ได้กำหนดไว้ในเบื้องต้น  ถ้าไม่ได้ทำแล้ว ต่อให้นั่งสวดไปนานสักเท่าไร   ก็จะไม่ได้รับผลจากการสวด  คือจิตจะไม่รวมลงเป็นหนึ่ง  เป็นสมาธิ   ตั้งมั่นอยู่ตามลำพัง   แต่ถ้าฝืนสิ่งต่างๆที่มากระทบใจ ไม่ไปสนใจ  จดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์แล้ว ไม่ช้าก็เร็วใจก็จะค่อยๆสงบตัวลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ไม่อยากจะสวด  ก็จะหยุดสวดไปโดยปริยาย แล้วจิตก็จะนิ่ง  ในขณะที่จิตนิ่งนั้น  จะมีความรู้สึกสดชื่นเบิกบาน เป็นสุขมาก  มีความปีติ  มีความอิ่มเอิบ เป็นความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน จากสิ่งต่างๆที่ได้กระทำมาในอดีตเลย  เพราะความสุขแบบนี้ เป็นความสุขที่เหนือความสุขทั้งหลายในโลก  เมื่อสามารถปฏิบัติจนถึงจุดนี้ได้แล้ว จะได้รับผลประโยชน์จากการปฏิบัติสมาธิอยู่ ๒ ลักษณะคือ

. จิตใจจะมีกำลังต่อสู้ชำระกิเลสตัณหาได้ เพราะเวลาเกิดความโกรธก็หยุดได้ เวลาเกิดความโลภก็หยุดได้ เวลาเกิดความอยากก็หยุดได้ เพราะใจมีกำลังที่จะต้านความโลภ ความโกรธ ความอยากต่างๆ

. จะเริ่มเห็นว่าความสุขที่แท้จริง ที่พวกเราทุกคนขวนขวายกัน ตั้งแต่วันเกิดมาจนถึงวันนี้นั้น ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย แต่อยู่ในตัวของเราเอง  อยู่ที่ความสงบนั่นเอง  ถ้าใจสงบนิ่งไม่คิดเรื่องอะไรเลย แล้วจะรู้ว่า  นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง  

เมื่อเข้าใจแล้วว่าสาระที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงของชีวิต ไม่ได้อยู่กับสิ่งต่างๆภายนอก แต่อยู่ในใจที่สงบนิ่งนั่นแหละ  ต่อไปวิถีชีวิตของเราก็จะเริ่มเปลี่ยนไป เป้าหมายของชีวิตก็จะเริ่มเปลี่ยนไป  เมื่อก่อนนี้เราพยายามหาเงินหาทอง เพื่อที่จะมาซื้อความสุขให้กับเรา แต่เดี๋ยวนี้เราเริ่มรู้แล้วว่า ความสุขที่ได้รับจากการใช้เงินใช้ทองนั้น สู้กับความสุขที่ได้รับจากการทำจิตใจให้สงบไม่ได้  ความสุขที่ได้รับจากการใช้เงินใช้ทอง เป็นความสุขที่ผสมไปด้วยความทุกข์  เป็นความสุขที่มีความร้อนแผดเผาอยู่  เพราะเวลาใช้เงินใช้ทองเราก็มีความสุข  แต่เมื่อเงินทองไม่พอใช้  ก็จะมีความทุกข์  จะต้องดิ้นรนไปหาเงินหาทองมาเพิ่ม เพื่อเอาเงินทองมาซื้อความสุขอีก  เลยกลายเป็นความทุกข์มากกว่าความสุข  

ส่วนความสุขที่เกิดจากการนั่งเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรนี้  เงินทองสักบาทเดียวก็ไม่ต้องเสีย  แต่สิ่งที่จะต้องใช้มากๆ ก็คือสติและขันติความอดทน เพราะเวลาที่จะทำจิตให้นิ่ง กิเลสตัณหาจะต่อสู้  จะต่อต้าน จะไม่ยอมให้นั่งอยู่เฉยๆ  จะพยายามหลอกล่อให้ไปคิดเรื่องนั้น  ไปคิดเรื่องนี้   ไปกังวลกับเรื่องนั้น  ไปกังวลกับเรื่องนี้  ให้รู้สึกคันตรงนั้น  เจ็บตรงนี้ อย่างนี้เป็นต้น  สร้างความรู้สึกอึดอัดใจ ถ้าปล่อยให้ใจไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเหล่านี้แล้ว จะทนนั่งอยู่ต่อไปไม่ได้  นั่งไปเพียง ๕ นาที  ก็จะรู้สึกอึดอัดเต็มที่ จะต้องลุกขึ้นไปทำอย่างอื่น  แต่ถ้าไม่ไปสนใจกับอารมณ์ต่างๆเหล่านี้  แต่เกาะอยู่กับบทสวดมนต์อย่างเดียว  สวดไปเรื่อยๆ  สวดไปอย่างนั้นแหละ  แล้วจิตจะค่อยๆดิ่งลงสู่ความสงบ  แล้วในที่สุดก็จะสงบนิ่งไปเอง

ถ้าสวดไปจนรู้สึกเหนื่อย  อยากจะหยุดสวด ก็ลองหยุดสวดดู  แล้วก็ดูจิตซิว่า จะอยู่นิ่งเฉยๆไหม  ถ้ายังไม่อยู่นิ่ง  ก็ลองกำหนดดูลมหายใจเข้าออก เป็นอารมณ์ต่อไป  ให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก หรือจะบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ  ไปอย่างเดียวก็ได้  แทนที่จะสวดมนต์ ก็บริกรรมพุทโธๆๆไปแทน   ให้มีสติรู้อยู่กับ พุทโธๆๆ  ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ช้าก็เร็วก็จะประสบกับความสำเร็จอย่างแน่นอน  ถ้าไม่เขวไปเสียก่อน ไม่ถูกอารมณ์ต่างๆ มาฉุดกระชากลากออกไป  จากการทำงานนี้แล้ว  รับรองได้ว่าไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะรวมลงเป็นสมาธิ เมื่อรวมลงเป็นสมาธิแล้วก็จะมีความสุข  หลังจากนั้นแล้วจะรู้ว่าเป้าหมายของชีวิตเราอยู่ตรงไหน  เมื่อก่อนนี้ก็คิดว่าอยู่ที่การสะสมเงินทอง สะสมทรัพย์สมบัติข้าวของ บริษัท บริวาร  มีครอบครัว มีลูกมีเต้า  แต่เดี๋ยวนี้เริ่มเข้าใจแล้วว่า  สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกองทุกข์ทั้งสิ้น  เพราะเมื่อมีสิ่งเหล่านี้แล้วก็ต้องมีปัญหา ต้องคอยดูแลรักษา ต้องทำนุบำรุง ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน

แต่ความสุขที่ได้จากการปฏิบัติจิตตภาวนา คือการทำสมาธินั้น เป็นความสุขที่มีอยู่กับตัวเรา  และไม่ต้องไปกังวลว่าจะสูญหายไปไหน  ถ้าตราบใดเรารู้จักวิธีทำจิตให้สงบแล้ว เราก็จะสามารถทำจิตให้สงบได้อยู่เสมอ ทุกเวลานาที เวลาไหนที่ต้องการจะพักจิต ก็สามารถทำได้ทันที  แทนที่จะไปหาความสุขจากการดูหนังดูละคร  เราก็หามุมสงบที่ไหนในบ้านเรา นั่งหลับตา ไหว้พระสวดมนต์  หรือกำหนดจิต ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง  จิตก็จะสงบ แล้วเราก็จะมีความสุข  เราก็จะกลายเป็นคนรวยขึ้นมาทันที  เพราะเงินทองที่มีอยู่นั้น จะรู้สึกว่ามีมากเกินความจำเป็นต่อชีวิตของเรา  เพราะว่าเดี๋ยวนี้เราสามารถหาความสุขได้  โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทองนั่นเอง  เงินทองที่หามาได้มากน้อยเท่าไร  ก็จะไม่สูญหมดไป  เพราะจะใช้กับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น  คือการดูแลอัตภาพร่างกายของเรา  จะไม่หมดไปกับความอยาก  ไม่หมดไปกับกิเลสตัณหา  ไปกับของฟุ่มเฟือย กับของที่ไม่จำเป็นทั้งหลาย  ทำให้มีเงินทองเหลือใช้ มีความมั่นคง มีความสุข  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้