กัณฑ์ที่ ๑๓๖      ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๕

ทำดี ละชั่ว

 

เหลือเวลาอีกประมาณ ๗ วันก็จะเป็นวันออกพรรษา  แสดงว่าเวลา ๓ เดือน ที่พวกเราทั้งหลายได้มาร่วมกัน ประกอบคุณงามความดี ก็จะหมดไป  ตลอดเวลา ๓ เดือนที่ผ่านมานี้  เราได้กระทำในสิ่งที่ได้ตั้งใจกระทำกันหรือไม่  มากน้อยเพียงใด  เพราะการกระทำของเรา เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งผล ที่เราปรารถนาหรือไม่ปรารถนากัน   เพราะการกระทำมีทั้งที่เป็นคุณและที่เป็นโทษ  ในตลอดเวลา ๓ เดือน  พวกเราทุกคนก็ตั้งใจมากระทำในสิ่งที่เป็นคุณ และละในสิ่งที่เป็นโทษ   เราได้ทำกันมากน้อยแค่ไหนแล้ว  เพราะว่าเวลาก็ผ่านไปแล้วและก็จะไม่กลับมาอีก  ถ้ามีแต่ความตั้งใจ ที่จะทำแต่สิ่งที่เป็นคุณ  และละการกระทำที่เป็นโทษ   โดยไม่ได้ทำตามที่ตั้งใจไว้ ผลที่ต้องการก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา  เราจึงต้องคอยสังเกตดูการกระทำของเราเป็นหลัก  ถึงแม้จะมีความตั้งใจเป็นผู้นำหน้า  แต่ถ้ามีแต่ความตั้งใจ ไม่มีการปฏิบัติตาม  ผลที่ปรารถนาก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา 

ในขณะที่เวลาของพรรษานี้ใกล้จะหมดไป จึงควรมานั่งทบทวนดูว่าตลอดเวลาเกือบ ๓ เดือนที่ผ่านมานั้น  เราได้กระทำในสิ่งที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์  และได้ละการกระทำที่เป็นโทษกับเรามากน้อยแค่ไหน  ถ้ายังไม่ได้ทำตามความตั้งใจไว้ ก็ไม่ต้องกังวล  เพราะยังมีเวลาเหลืออยู่  นอกจากในพรรษาแล้ว  เวลาออกพรรษาก็ยังปฏิบัติได้  ยังทำได้  ไม่จำเป็นจะต้องรอเวลาเข้าพรรษาถึงจะมาปฏิบัติกัน ตราบใดที่ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่  เรายังปฏิบัติได้ ยังทำความดีกันได้  ยังละการกระทำความชั่ว ละการกระทำบาปได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาเข้าพรรษาเพียงอย่างเดียว  ตราบใดที่ยังมีเวลาอยู่ เรายังทำได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเวลาหนึ่งเวลาใด  จะในพรรษาหรือออกพรรษา ก็ยังสามารถปฏิบัติได้  จะปฏิบัติตอนไหนของวันก็ปฏิบัติได้   ยามเช้าก็ปฏิบัติได้  กลางวันก็ปฏิบัติได้  ยามเย็นยามค่ำก็ปฏิบัติได้  ข้อสำคัญอยู่ที่จะปฏิบัติหรือไม่เท่านั้นเอง  ถ้ามีสติคอยดู คอยควบคุมการกระทำของเรา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดของเรา  เตือนสติให้เราปฏิบัติ ให้เราทำในสิ่งที่ดี  ละในการกระทำที่ไม่ดีอยู่เรื่อยๆแล้ว  ก็ถือว่าได้ปฏิบัติแล้ว  แต่ถ้าไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ  วันหนึ่งๆปล่อยให้เรื่องราวอย่างอื่น มาชักจูงพาไปทำโน่นทำนี่ ก็จะลืมเรื่องการปฏิบัติธรรมไปได้ 

เราจึงควรระลึกอยู่เสมอว่า หน้าที่ที่แท้จริงของเรา  สิ่งที่เราควรจะกระทำที่เป็นคุณและเป็นประโยชน์กับเรานั้น  ก็คือการกระทำความดี และ ละการกระทำความชั่ว เพราะมี ๒ สิ่งนี้เท่านั้นแหละ ที่จะมีผลมากกับจิตใจของเรา มากกว่าอย่างอื่นทั้งหลายในโลกนี้  มี ๒ สิ่งนี้เท่านั้นแหละ ที่มีผลกระทบกับจิตใจของเรามาก  เราจะมีความสุขมีความเจริญมากน้อยแค่ไหน  ก็ขึ้นอยู่กับคุณงามความดี ที่เราสร้างสะสมไว้ในใจของเรา   เราจะไม่มีความทุกข์  ไม่มีความเดือดร้อน  ความเสื่อมเสีย  ก็ขึ้นอยู่กับการละความชั่ว  ละบาปทั้งหลาย ที่มีอยู่ในใจของเรา ให้ลดน้อยถอยลงไป  มี ๒ สิ่งนี้เท่านั้นแหละ ที่มีผลกับชีวิตของเรามาก  มากกว่าสิ่งอื่นๆ ใดในโลก   แต่เราอาจจะไม่รู้กัน เพราะเราไม่ค่อยสังเกตกัน  ไม่ศึกษา   ไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  เราจึงไปเห็นสิ่งที่ไม่มีคุณ มีประโยชน์ มีแต่โทษกับตัวเรา เป็นสิ่งสำคัญ คือการสะสม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  เราคิดว่าถ้ามีสิ่งเหล่านี้มากๆแล้ว เราจะมีความสุข ความเจริญกัน  แต่ความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ให้ความสุข ความเจริญกับเรา อย่างมากก็แค่ทำนุบำรุงรักษาชีวิตร่างกายของเรา ให้เป็นไปด้วยความสะดวกสบาย แต่จะไม่สามารถดูแลรักษาจิตใจของเราให้มีความสุข ไม่ให้มีความทุกข์ได้  สิ่งที่จะดูแลรักษาใจเราให้มีความสุข  และไม่มีความทุกข์นั้น ก็คือการกระทำความดี และละการกระทำความชั่ว  การกระทำบาป 

ดังนั้นหน้าที่ที่แท้จริงของพวกเราทุกคน ผู้ปรารถนาความสุขและความเจริญ ผู้ไม่ปรารถนาความทุกข์ความเสื่อมเสียทั้งหลาย  ก็คือการกระทำความดี  และการละการกระทำความชั่วทั้งหลาย  ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้เป็น ๔ ลักษณะด้วยกัน  คือ  . ให้สร้างคุณงามความดี บุญกุศลที่ยังไม่มีในตัวเราให้เกิดขึ้นมา     ๒. ให้รักษาคุณงามความดี บุญกุศลที่มีอยู่ในตัวของเราแล้วไม่ให้เสื่อมหายไป      ๓. ให้ละการกระทำบาป การกระทำความชั่ว ความเลวทรามทั้งหลาย ที่มีอยู่ในใจให้ลดน้อยถอยลงไป  จนหมดสิ้นไป        ๔. ป้องกันไม่ให้บาปกรรมความชั่วที่ได้ละแล้ว ให้ฟื้นคืนกลับเข้ามาสู่จิตใจอีก

นี่คือหน้าที่หลักของพวกเรา เพราะอะไรจึงว่าเป็นหน้าที่หลัก เพราะการกระทำทั้ง ๔ ประการนี้ จะเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ ความเป็นสิริมงคล ความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง  ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนปรารถนากันไม่ใช่หรือ  ผลเป็นสิ่งที่จะตามมาจากเหตุคือการกระทำ เราจึงต้องมุ่งไปที่เหตุ  ก็คือการกระทำ  เมื่อได้กระทำแล้ว ผลที่ต้องการก็จะปรากฏขึ้นมา ตามลำดับแห่งการกระทำ จึงควรพิจารณาดูว่า เราได้ทำในสิ่งที่ควรกระทำ  และละในสิ่งที่ควรละแล้วหรือยัง  ถ้ายังไม่ได้ทำ  ยังไม่ได้ละ  ก็ควรรีบๆทำกัน  เพราะวันเวลาจะค่อยๆหมดไปๆ ผ่านไปๆ  เราไม่อยู่ไปตลอด  ชีวิตของเรามีขอบมีเขต  สั้นหรือยาวก็ไม่แน่นอน ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากันทุกๆคน  บางคนมีอายุยืนยาวนาน  บางคนมีอายุไม่ยาวนาน  จึงควรมองชีวิตว่าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน  ไม่มีใครสามารถกำหนดวันตายได้  วันเกิดเรายังพอกำหนดกันได้  แต่วันตายเรากำหนดกันไม่ได้  ไม่รู้ว่าจะตายวันนี้พรุ่งนี้  หรือจะตายอีก ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ข้างหน้า 

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เจริญมรณานุสติอยู่เสมอ  ให้คิดว่าเราอาจจะตายในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้านี้ก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว เราจะมีความกระตือรือร้นที่จะกระทำแต่สิ่งที่ดี ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์  และละการกระทำบาปกรรม  ความชั่วที่เป็นโทษกับเรา  แต่ถ้าไม่คิดอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง เราก็จะลืม แล้วก็จะคิดว่าเราจะอยู่ไปอีกนาน  เมื่อคิดว่าจะอยู่ไปอีกนาน ก็จะคอยผัดวันประกันพรุ่ง  เรื่องการทำความดี เรื่องการละความชั่วนี้  ก็จะไม่ค่อยทำกัน เพราะเหตุใด  เพราะว่าใจถูกกิเลสตัณหาโมหะอวิชชาครอบงำอยู่ คอยขัดขวาง คอยห้ามปรามไม่ให้กระทำความดีละความชั่วกัน เราจึงต้องเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้ามาปราบพวกกิเลสตัณหาทั้งหลาย  ไม่มีธรรมะอะไรจะดีเท่ากับการเจริญมรณานุสติ คือการระลึกถึงความตายอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้ามีความรู้สึกว่าจะต้องตายแล้ว เราจะเกิดความกระตือรือร้น จะเริ่มเห็นว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษกับเราอย่างแท้จริง 

ถ้าไม่มมรณานุสติ เราก็จะไปหลงติดอยู่กับสิ่งที่ไม่มีคุณ  ไม่มีประโยชน์  เช่นพวก ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทั้งหลาย  แต่ถ้ารู้ว่าจะต้องตายไปในชั่วโมงหน้านี้ เราจะเริ่มเห็นเลยว่า สิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถพึ่งได้  เวลาคนตายไปนั้น สิ่งที่จะเอาไปได้ ก็มีแต่บุญกับบาปเท่านั้นแหละ ที่จะเอาไปได้  ถ้ามีบุญพาไปก็จะไปดี ไปสู่สุคติ  ไปด้วยความสุขด้วยความสบายใจ  แต่ถ้ามีบาปพาไป ก็จะไปด้วยความวุ่นวายใจ ด้วยความทุกข์ ก็จะไปไม่ดี ไปสู่ทุคติ ไปสู่อบาย นี่แหละคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราต่อไป ในอนาคตอันใกล้หรือไกล ไม่มีใครรู้  เมื่อไม่รู้ว่าจะใกล้หรือไกล  เราจึงควรคิดว่าใกล้จะดีกว่า  เพราะคนที่คิดแบบนี้ ถือว่าเป็นคนไม่ประมาท   เมื่อคิดว่าเวลาเหลือน้อย เราก็ต้องรีบขวนขวายสร้างบุญกัน  ต้องรีบขวนขวายชำระบาปกัน  แต่ถ้าไปคิดว่าวันตายของเรายังอยู่อีกไกล ยังอยู่อีกหลายสิบปี  ก็จะไม่ทำให้เกิดความกระตือรือร้น  ไม่คิดที่จะกระทำบุญและละบาปกัน  เมื่อเป็นเช่นนั้น เกิดมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดปรากฏขึ้นมา  ต้องตายไปในวันพรุ่งนี้  หรือในชั่วโมงหน้านี้  โอกาสดีที่จะได้สะสมบุญและกุศล  ชำระบาปทั้งหลาย ก็จะหมดไป  แล้วก็จะมาเสียใจภายหลัง เพราะจะต้องไปใช้เวรใช้กรรม  ในเมื่อไม่ได้ทำบุญทำกุศล  ไม่ได้ละการกระทำบาปทำกรรม แล้วจะไปเสวยบุญได้อย่างไร จะหนีจากบาปจากกรรมได้อย่างไร  ในเมื่อชีวิตของเราทุกๆวัน มีแต่สะสมบาปกรรมอยู่ตลอดเวลา  ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเดินทางไปข้างหน้า  ก็จะไปด้วยความทุกข์ ไปด้วยความวุ่นวายใจ  ไปสู่ที่ไม่ดีต่อไป 

พระพุทธเจ้าจึงสอนพวกเราชาวพุทธ ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท  จงระลึกถึงความตายอยู่เสมอๆ พระพุทธเจ้าได้ทรงถามพระอานนท์ว่า  อานนท์วันหนึ่งๆ เธอระลึกถึงความตายสักกี่ครั้ง  พระอานนท์ก็กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ระลึกตอนเช้าบ้าง  ตอนกลางวันบ้าง  ตอนเย็น ตอนกลางคืนบ้าง  พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า  อานนท์เธอยังตั้งอยู่ในความประมาทอยู่  ถ้าเธอระลึกถึงความตายเพียงไม่กี่ครั้งต่อวันหนึ่ง  ถ้าเธอไม่ประมาทแล้ว  เธอต้องระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกเลยทีเดียว จึงจะถือว่าไม่ประมาท คือเวลาหายใจเข้าก็ระลึกว่า เมื่อหายใจเข้าแล้ว ถ้าไม่หายใจออก เราก็ตาย  ถ้าหายใจออกไปแล้ว ไม่หายใจเข้า เราก็ตายเช่นกัน  ขอให้พวกเราทุกคนอย่าไปกลัวความตาย  เพราะความตายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ และสิ่งที่ตายก็ไม่ใช่ตัวตนอะไรทั้งสิ้น  คือเราไม่รู้หรอกว่าธรรมชาติที่แท้จริงของร่างกายนี้ ไม่มีตัวไม่มีตน  แต่เพราะใจมีความหลง มีความมืดบอด ครอบงำอยู่  เมื่อมาครอบครองร่างกายนี้ ก็เกิดความหลง เกิดความคิดว่า ร่างกายนี้เป็นเรา เป็นตัวของเรา และเมื่อคิดว่าร่างกายนี้จะต้องแตกสลาย ต้องดับไป  ก็จะเกิดความกลัว เกิดความเศร้าโศกเสียใจ เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะอำนาจของความหลง 

แต่ถ้าได้ศึกษาปฏิบัติธรรมแล้ว เราจะเห็นว่าร่างกายกับใจ เป็นคนละส่วนกัน  ร่างกายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป  อาหารนี้ก็มาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ  กับข้าวกับปลาอาหารทุกชนิด ต้องมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งสิ้น  ข้าวก็ต้องปลูกในดิน ต้องมีน้ำ ต้องมีแดด ต้องมีอากาศ ข้าวจึงจะโตได้  เมื่อรับประทานข้าวปลาอาหารเข้าไป  ก็จะแปลงสภาพ กลายเป็นอาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น เมื่อร่างกายเจริญไปถึงที่สุดแล้ว ก็จะเริ่มเสื่อมลง  คนเราเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน อายุประมาณสัก ๔๐ ก็จะเริ่มแก่ชราลงไป ไม่หนุ่ม ไม่สาวเหมือนคนอายุ ๒๐ - ๓๐ปี เพราะยังเป็นวัยเจริญอยู่  แต่พอพ้นวัย ๔๐ ไปแล้ว ก็จะเริ่มเสื่อมลงไปเรื่อยๆ  เข้าสู่ ๕๐ - ๖๐ปี ก็จะแก่ ๗๐ - ๘๐ ปี ก็จะเริ่มทำอะไรไม่ไหว  และในที่สุด ๙๐ หรือ ๑๐๐ ปีก็จะต้องมีแต่นอนอย่างเดียว  นอนหายใจเข้า หายใจออก  แล้วในที่สุดก็จะไม่หายใจเข้า หายใจออก เราก็เรียกว่าตาย  ก็จบกัน 

นี่คือธรรมชาติของร่างกายนี้  จึงควรพิจารณาอยู่เรื่อยๆ  พิจารณาตามแนวทางที่ได้สอนไว้ แล้วจะได้เกิดปัญญาขึ้นมา จะเริ่มเห็นว่า  ผู้ที่พิจารณาคือใจ และผู้ถูกพิจารณาคือกายนี้ เป็นคนละส่วนกัน  ใจเป็นผู้รู้  ใจรู้กาย  แต่ใจมีความหลงครอบงำอยู่ เลยรู้ผิดไป  แทนที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน  กลับไปรู้ไปเห็นว่าเป็นตัวตน  เมื่อรู้เมื่อเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน  และเมื่อเกิดร่างกายนี้จะต้องตายไป  ใจก็เกิดความไหวหวั่นเกิดความกลัวขึ้นมา  คิดว่าเมื่อร่างกายตายไป ใจก็จะต้องตายไปด้วย  แต่ความจริงแล้ว ใจนี้เป็นธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่ตาย  มีแต่รู้อยู่อย่างนั้น นี่คือธรรมชาติของใจ  เมื่อกายดับสลายไป ใจก็ต้องแยกออกจากร่างกาย  ร่างกายก็เปรียบเหมือนกับบ้าน  ถ้าบ้านเกิดพังขึ้นมา  ไฟไหม้ขึ้นมา  คนที่อยู่ในบ้านก็อยู่ในบ้านไม่ได้  ก็ต้องย้ายบ้าน ต้องหาบ้านใหม่อยู่  จะไปหาบ้านใหม่อยู่ ก็ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋า ว่ามีมากน้อยแค่ไหน  ถ้ามีเงินมาก ก็สามารถไปหาซื้อบ้านใหม่ๆสวยๆอยู่ได้  แต่ถ้าไม่มีเงิน ก็อาจจะต้องไปอาศัยวัดอยู่ หรือไปนอนตามข้างถนน  ตามใต้สะพาน  เพราะไม่ได้สะสมเงินไว้นั่นเอง 

ใจของเราก็เป็นเช่นนั้น  ในขณะที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้  แทนที่จะสะสมบุญกุศล ซึ่งเปรียบเหมือนกับเงินของใจ ที่ใจจะเอาไปซื้อบ้านใหม่ที่สวยๆได้  แต่กลับไม่สนใจสร้างบุญสร้างกุศลกัน  กลับไปสร้างลาภ ยศ สรรเสริญ สุขกัน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ใจไม่สามารถนำเอาติดตัวไปได้  เมื่อจะต้องย้ายออกจากร่างกายนี้  เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะไปแบบขอทาน ไปแบบเปรต ไปแบบเดรัจฉาน ไปแบบอสุรกาย หรือไปแบบสัตว์นรก  แต่ถ้าได้สะสมบุญกุศล กระทำแต่ความดี ละการกระทำบาปกรรมทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ  เวลาต้องจากร่างกายนี้ไป  ก็จะไปดีเพราะมีเงินติดตัวไป  ก็จะไปเกิดเป็นมนุษย์อีก  เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย 

นี่แหละคือเรื่องราวของใจและกาย  เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยให้ความสนใจกันเท่าไร  เพราะกิเลส ตัณหา โมหะ อวิชชา ที่มีอยู่ในใจจะพยายามกีดกั้น ขัดขวางไม่ให้เราคิด ไม่ให้เราศึกษาเรื่องเหล่านี้  เวลาจะเข้าวัดกันสักครั้ง ก็รู้สึกว่าแสนยากลำบาก  แต่เวลาไปเที่ยวกัน รู้สึกว่าง่ายเหลือเกิน ไปดูหนังดูละคร ไปกินเลี้ยง ไปเต้นแร้งเต้นกากัน แทบจะไม่ต้องมีคนมาเชิญเลย  เพียงแต่นึกเท่านั้น ใจก็กระโจนรับความคิดนั้นแล้ว  แต่เวลาจะเข้าวัดแต่ละครั้ง หรือเวลาจะฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะแต่ละครั้ง รู้สึกว่าแสนจะยาก แสนจะลำบาก รู้สึกว่ามีอุปสรรคมากมายก่ายกอง  นี่ก็เป็นเพราะว่ามีอุปสรรคอยู่ในใจของเรานั่นเอง ไม่ใช่อะไร เราจึงต้องแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการทำความเข้าใจว่า  การเข้าวัด การศึกษาธรรมะ การฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับตัวเรา  เป็นเหมือนเพชรนิลจินดาเลยทีเดียว  ส่วนการไปเที่ยวนั้น ก็เหมือนกับการเสพยาเสพติด 

รู้ไหมว่าเวลาเสพยาเสพติดเข้าไปแล้ว เป็นอย่างไร  ก็ต้องกลายเป็นทาสของยาเสพติด  ถ้าติดการเที่ยวเตร่อยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว  ก็จะกลายเป็นทาสของการเที่ยวเตร่ ไม่มีทีสิ้นสุด   และการเที่ยวเตร่ก็ไม่ได้ทำให้เราดีขึ้น  ไม่ได้ทำให้เกิดความอิ่ม เกิดความพอ  แต่กลับสร้างความหิว ความอยากไม่รู้จักจบจักสิ้น  ถ้าคิดอย่างนี้ได้แล้ว ทุกครั้งที่อยากจะไปเที่ยว  ไปกินเหล้าเมายา ไปทำบาปทำกรรม  ก็จะได้รู้จักหักห้ามจิตใจ  ว่ากำลังวิ่งเข้ากองเพลิง กำลังจะกลายเป็นทาสของยาเสพติด  ถ้าคิดอย่างนี้ได้ เราก็จะฝืนได้  ส่วนการเข้าวัด การฟังเทศน์ฟังธรรม  การศึกษาธรรมเปรียบเหมือนกับการได้รับประทานยา ที่มีคุณค่ากับร่างกาย  มีคุณค่ากับชีวิตจิตใจ  เพราะใจยังมีโรคอยู่  นั่นก็คือโรคของความทุกข์ ของความว้าวุ่นขุ่นมัว  ของความเศร้าโศกเสียใจ  แต่ความทุกข์เหล่านี้ เราสามารถระงับดับได้ด้วยธรรมโอสถ  คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้เราศึกษาและปฏิบัติกัน 

ถ้าได้ศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมมากขึ้นไปเรื่อยๆ  ใจก็จะมีความทุกข์ มีความเศร้าโศกเสียใจ น้อยลงไปตามลำดับ  อย่างวันนี้เราได้ยินได้ฟังแล้วว่า ร่างกายของเราก็ดี ของผู้อื่นก็ดี  ล้วนไม่มีตัวตน  ถ้าสามารถปฏิบัติจนเห็นตามความเป็นจริงแล้ว  ต่อไปเวลาร่างกายของใครจะเกิดการชำรุดทรุดโทรม  เกิดการเสื่อมสลายตายดับไป  ก็จะไม่เกิดความเศร้าโศกเสียใจอะไร  เพราะรู้ว่าไม่มีใครตาย  เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง  เมื่อรถยนต์เสีย ก็ทิ้งไป  ส่วนเจ้าของรถยนต์ก็ต้องเดินทางต่อไป  จะไปสูงหรือไปต่ำ  ไปดีหรือไปชั่ว  ก็ไม่อยู่ในวิสัยของเรา ที่จะไปทำอะไรให้กับเขาได้  เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตนที่เรียกว่า  อัตตา หิ อัตตโน นาโถ  ตนเป็นที่พึ่งของตน ใครทำความดี ก็มีความดีเป็นที่พึ่ง  ใครทำบาปกรรม ก็มีบาปกรรมเป็นที่พึ่ง  สิ่งที่จะช่วยกันได้ ก็เพียงแต่คอยบอก คอยเตือนกัน คอยชวนกัน ให้มาทำความดีกัน  ให้ละเว้นการกระทำบาปกรรมกันเท่านั้นแหละ แต่จะเชื่อจะฟังหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน  เป็นสิ่งที่บังคับกันไม่ได้  อย่างวันนี้ก็ได้แสดงเรื่องราวเหล่านี้ให้ได้ฟังกัน จะนำไปปฏิบัติกันมากน้อยแค่ไหน หรือไม่ปฏิบัติเลย ก็ไม่มีใครสามารถมาบังคับได้ แต่ต้องจำไว้นะว่า การกระทำนั้น มีผลที่จะตามมา  ผลดีหรือชั่ว  สุขหรือเจริญ อยู่ที่ตัวของผู้กระทำ  อยู่ที่การกระทำ ทางกาย  ทางวาจา และทางใจ  ไม่มีใครสามารถหยิบยื่นความสุข ความเจริญ สวรรค์ มรรคผลนิพพาน ให้กับใครได้  เราต่างหากที่จะต้องเป็นผู้หยิบยื่นให้กับตัวเราเอง ด้วยการปฏิบัติ  คือกระทำความดี  และละการกระทำความชั่ว  ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของเรา 

จึงขอให้ท่านทั้งหลายจงระลึกอยู่เสมอว่า  วันเวลาจะค่อยหมดไปๆ  โอกาสที่จะได้ทำคุณทำประโยชน์ทำความดี โอกาสที่จะได้ละการกระทำบาปกรรม กระทำความชั่ว ก็จะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ  แต่ก็ไม่สายเลยทีเดียว  เพราะการกระทำความดีไม่ต้องใช้เวลามาก  ถ้าทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการกระทำนี้ ดีไม่ดีเพียงไม่กี่เดือนหรือกี่ปี ก็จะสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้  ดังในสติปัฏฐาน ๔  พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เกี่ยวกับการเจริญสติ ในตอนท้ายของพระสูตร ได้ทรงทำนายไว้ว่า ผู้ใดก็ตามถ้าปฏิบัติตามแนวทางนี้แล้ว  ก็จะสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้  ถ้าช้าก็ ๗ ปี  ถ้าเร็วก็ภายใน ๗ วัน  เพราะในตัวของเราแต่ละคน มีคุณงามความดีที่ได้สะสมไว้ รออยู่แล้ว  รอให้เราเติมให้เต็มเท่านั้นเอง  สำหรับคนที่มีอยู่น้อย ก็ต้องใช้เวลามากถึงจะเติมเต็ม  ถ้ามีอยู่มากแล้ว เพียงเติมอีกนิดเดียว ก็เต็ม ใช้เวลาสั้นๆ ก็สามารถบรรลุธรรมได้ 

จึงขอให้เราอย่าประมาทในตัวเรา  อย่าประมาทในบุญกุศลที่ได้สะสมไว้  และอย่าประมาทในเวลา  ขอให้รีบใช้เวลาที่มีอยู่นี้ ให้เกิดคุณและประโยชน์อันสูงสุด  แล้วการได้มาเกิดเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา  จะได้ไม่สูญเปล่าไป  จึงขอฝากเรื่องราวของการประพฤติปฏิบัติธรรม คือการกระทำความดี  และละการกระทำบาปกรรมทั้งหลาย  ให้ท่านนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  แล้วบุญกุศลและสิ่งที่ดีที่งามทั้งหลาย คือความสุขความเจริญ  ความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวงย่อมเป็นของท่านอย่างแน่นอน  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้