กัณฑ์ที่ ๑๔๑     ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

ทำบุญ

 

วันนี้ศรัทธาญาติโยมได้มาทำบุญกัน  ทำไมจึงต้องมาทำบุญกันอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง  เพราะการทำบุญเป็นเหตุที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ที่เราปรารถนากันปรากฏขึ้นมา คือความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ความเป็นสิริมงคล ความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง  เราจึงต้องมาทำบุญกันอย่างต่อเนื่อง  ดังที่ท่านได้มากระทำกันในวันนี้  บุญที่เราทำก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน  บุญก็เปรียบเหมือนกับอาหาร  อาหารก็มีอยู่หลายชนิด  ถ้าเรารับประทานอาหารอย่างเดียว  เช่น รับประทานข้าวอย่างเดียว  ร่างกายก็จะไม่ได้รับสารอาหารพอเพียง ที่จะรักษาให้ร่างกายมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง  ฉันใดจิตใจของเราก็เป็นเช่นนั้น  จิตใจของเราก็ต้องการบุญ ซึ่งเป็นเหมือนกับอาหารไว้คอยดูแลรักษา ให้จิตใจของเรามีความสุข มีความสบาย มีความพอ มีความอิ่ม  ซึ่งจะเกิดได้จากการทำบุญ  บุญจึงมีหลายชนิดด้วยกัน  

บุญที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในบุญกิริยาวัตถก็มีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน  คือ ๑.บุญที่เกิดจากการให้ เรียกว่าทานมัย ๒. บุญที่เกิดจากการรักษาศีล รักษากาย วาจา ให้เป็นปกติ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เรียกว่าสีลมัย  ๓.บุญที่เกิดจากการพัฒนาจิตใจ ให้เป็นจิตใจที่สะอาดหมดจด ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เรียกว่าภาวนามัย  ๔. บุญที่เกิดจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน เรียกว่าอปจายนมัย ๕. บุญที่เกิดจากการช่วยขวนขวายรับใช้ เรียกว่าเวยยาวัจจมัย ๖. บุญที่เกิดจากการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เรียกว่าปัตติทานมัย  ๗. บุญที่เกิดจากการอนุโมทนาบุญ ยินดีกับความดีของผู้อื่น เรียกว่าปัตตานุโมทนามัย  ๘. บุญที่เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรม   เรียกว่าธัมมัสสวนมัย ๙. บุญที่เกิดจากการให้ธรรมะ  สั่งสอนธรรมะ เรียกว่าธัมมเทสนามัย   ๑๐. บุญที่เกิดจากการทำความเห็นให้ถูกต้อง เรียกว่าทิฏฐุชุกัมม์ 

บุญทั้ง ๑๐ นี้ เราควรทำให้มาก เท่าที่จะทำได้ ตามกาลเทศะ ตามเหตุการณ์  อย่างวันนี้ญาติโยมได้มาทำทาน ได้ทำบุญตักบาตร  พอดีเป็นวันพระ  ก็มีการสมาทานรักษาศีลกัน  ยามค่ำหรือเวลาที่เรากลับไปสู่ที่พักของเรา  ถ้าไม่มีภารกิจการงานอย่างอื่น  เราก็บำเพ็ญภาวนา  นั่งสมาธิ  เจริญปัญญา  เวลาที่พระสงฆ์อนุโมทนา  ญาติโยมก็กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศล ให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  เวลามีผู้อื่นทำบุญ  เราก็ร่วมอนุโมทนาบุญไปกับเขา  เวลาที่พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา  เราก็ฟังเทศน์ฟังธรรมไปด้วย  เวลาผู้อื่นมีความเดือดร้อน มีความทุกข์ใจ  เรามีธรรมะที่พอจะแบ่งปันให้กับเขาได้ เราก็แบ่งปันให้เขาไป  สั่งสอนให้แสงสว่างกับเขา เพื่อเขาจะได้หายกลุ้มอกกลุ้มใจ หายทุกข์  นี่คือลักษณะของการทำบุญทั้ง ๑๐ ประการ ที่เรากระทำกัน สุดแท้แต่กาลเทศะ  แล้วแต่เหตุการณ์ ที่จะให้เรากระทำในบุญนั้นๆ เราก็ทำกันไป 

อานิสงส์ของบุญแต่ละอย่างก็มีไม่เหมือนกัน อย่างอานิสงส์ของการให้ทาน ก็จะทำให้เรามีความมั่งคั่ง สมบูรณ์ในเรื่องทรัพย์สมบัติ เงินทอง ข้าวของ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ  ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหนภพไหนชาติไหน   เราก็จะมีพร้อมในเรื่องของเครื่องใช้สอย เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ  แต่การให้ทานไม่สามารถกำหนดภพชาติของเราได้  ว่าจะไปสูงหรือไปต่ำ  เราทำบุญให้ทานมากๆ แต่เราไม่รักษาศีล  เราก็มีสิทธิที่จะไปเกิดเป็นเดรัจฉาน  ไปอบายได้  เพราะเหตุที่จะทำให้เราไปเกิดในสุคติ  คือไม่ไปเกิดในอบาย  จะต้องเกิดจากการรักษาศีล  ดังในอานิสงส์ของศีลที่ได้แสดงไว้สักครู่นี้ว่า  สีเลนะ สุคติง ยันติ  ศีลเป็นเหตุที่จะนำพาไปสู่สุคติ  สุคติก็คือภพภูมิของมนุษย์ ของเทพ ของพรหม ของพระอริยบุคคลทั้งหลาย  ดังนั้นถึงแม้ว่าเราจะทำบุญให้ทานอย่างมากมายก่ายกอง  บริจาคทรัพย์เป็นเงินถึงร้อยล้าน พันล้าน แต่ยังทำผิดศีล ฉ้อโกง คอรัปชั่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ถ้าตายไปเราก็ยังต้องไปเกิดในอบาย  เพียงแต่ว่าบุญที่เราทำไว้จากการให้ทานนี้  ก็จะทำให้เราไปเกิดในอบายที่มีความสมบูรณ์ 

เช่น ถ้าไปเกิดเป็นสุนัข ก็จะเป็นสุนัขที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม  มีราคาแพงๆ  มีคนปรารถนาที่จะเอาสุนัขแบบนั้นไปเลี้ยงดู ไปสร้างบ้าน สร้างเรือน ที่มีเครื่องปรับอากาศให้อยู่อย่างสุขสบาย   นี่คืออานิสงส์ของผู้ที่ได้ทำบุญให้ทานไว้ในอดีต  คือจะมีพร้อมด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลาย  มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม  แต่ถ้าเราไม่ให้ทานเลย  มีแต่รักษาศีลอย่างเดียว  เราก็ไม่ไปเกิดในอบาย  จะมาเกิดเป็นมนุษย์  แต่ยากจน  ถึงแม้ได้เป็นมนุษย์แต่ไม่ร่ำรวย  เพราะไม่เคยทำบุญให้ทาน  นี่คือเรื่องราวของอานิสงส์ของการทำบุญชนิดต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำบุญชนิดต่างๆให้ครบ ให้มาก เท่าที่จะทำได้ สุดแท้แต่เหตุการณ์  สิ่งแวดล้อม กาลเทศะ ความพอใจที่จะทำ  ควรทำให้มากๆ เพราะบุญเท่านั้นแหละ ที่เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญ  แม้การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องเกิดจากการทำบุญทั้ง ๑๐ ประการนี้ 

ในบุญ ๑๐ ประการนี้  ถ้าถามว่าบุญอันไหนเป็นบุญที่สำคัญในเบื้องต้น ต้องขอบอกว่า บุญที่เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรม  เพราะถ้าไม่เคยฟังเทศน์ฟังธรรมมาก่อน  เราจะไม่รู้จักเรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องคุณ เรื่องโทษ  เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องมรรค ผล นิพพาน  เราก็จะเป็นเหมือนกับคนหูหนวกตาบอด  การกระทำของเราย่อมเป็นไปตามอารมณ์ที่มีอยู่ในใจ  ถ้ามีอารมณ์ดีเราก็ทำความดี  ถ้ามีอารมณ์ร้ายเราก็จะทำความชั่ว  สุดแท้แต่อารมณ์จะพาไป  เพราะไม่รู้จักว่าการกระทำของเรานั้น มีผลทำให้เกิดความสุขก็ได้ เกิดความทุกข์ก็ได้  เกิดความเจริญก็ได้ เกิดความเสื่อมก็ได้  ดังนั้นถ้าเรายังไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรม ยังไม่เคยพบพระพุทธศาสนา ไม่ได้ยินคำสอนของผู้ประเสริฐ  ผู้รู้จริงเห็นจริงอย่างพระบรมศาสดา พระพุทธเจ้าของเรา  เราก็จะยังตกอยู่ในห้วงของความมืดบอด  เราก็จะทำกรรมสลับกันไป สุดแท้แต่อารมณ์จะพาไป  บางวันอารมณ์ดีก็ทำดี พูดดี  วันไหนอารมณ์ไม่ดีก็จะทำร้าย คิดร้าย 

แต่เมื่อได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว  เราก็จะเริ่มเข้าใจว่า  ความสุขความเจริญ หรือความทุกข์ความเสื่อมเสียนั้น เกิดจากการกระทำของเราทางกาย ทางวาจา และทางใจ  เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จะมีสัมมาทิฏฐิ  คือความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในบุญ ๑๐ ประการนี้  การที่จะมีความเห็นให้ถูกต้องได้ เราต้องหมั่นฟังเทศน์ฟังธรรม หมั่นศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจากการได้ยินได้ฟังจากพระสงฆ์องค์เจ้า  หรือถ้าอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีพระสงฆ์องค์เจ้าเทศนาสั่งสอน  เราก็อ่านหนังสือธรรมะ  เช่น หนังสือพระไตรปิฎก  หรือหนังสือของพระเกจิอาจารย์ทั้งหลาย  ถ้าอ่านศึกษาอยู่เรื่อยๆ  ก็จะเกิดความเข้าใจ เริ่มเห็นความจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น  แล้วเราจะไม่ปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  เมื่อรู้แล้ว ก็จะทำบุญกัน  เพราะรู้ว่าการทำบุญเท่านั้นแหละ ที่จะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขความเจริญ  ความปราศจากทุกข์ภัยทั้งหลายให้กับเรา ไม่มีอะไรในโลกนี้แม้แต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านก็ไม่สามารถที่จะทำให้เราสุข ให้เราเจริญ ให้เราไม่มีทุกข์ได้  ท่านเพียงแต่เป็นผู้ชี้ทาง ให้แสงสว่าง บอกสอนเรา ให้รู้ถึงบาป บุญ คุณ โทษ ให้รู้จักนรก รู้จักสวรรค์  แล้วให้เรานำเอาไปปฏิบัติ  เมื่อเรารู้แล้ว เราก็จะทำบุญทำทานกัน 

อย่างวันนี้ท่านก็มาทำบุญทำทานกัน รักษาศีล ฟังเทศน์ ฟังธรรม บำเพ็ญจิตตภาวนากัน บูชาสิ่งที่มีพระคุณ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  เป็นการทำตนเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน  ไม่มีทิฏฐิหยิ่งยโส อย่างนี้เป็นการทำบุญ ถ้าทำอยู่เรื่อยๆ ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ  ผลก็จะเริ่มปรากฏขึ้นมา  ทำให้เราได้เริ่มสัมผัสกับผลนั้นๆ   คือจิตใจของเราจะเริ่มมีความสงบ มีความร่มเย็นเป็นสุข  เมื่อเห็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม จากการทำบุญแล้ว  เราก็จะเริ่มมีกำลังใจที่จะประกอบคุณงามความดี ทำบุญทำกุศลให้มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ  แล้วเราก็จะไม่กังวลกับการกระทำของผู้อื่น ถึงแม้ผู้อื่นเขาจะทำบาปทำกรรมอย่างไร  เราก็จะไม่มีความท้อแท้  เราก็ยังตั้งมั่นอยู่ในการกระทำความดี  ถึงแม้ว่าเราจะไม่ร่ำรวย  ไม่มีตำแหน่ง  ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์อันสูงส่ง  ไม่มีคนสรรเสริญเยินยอ ไม่มีกามสุข ไม่ได้มีเครื่องอำนวยความสุขทางด้านตา หู จมูก ลิ้น กาย  เราก็จะไม่รู้สึกเดือดร้อนใจ  เพราะว่าใจของเรามีความอิ่ม มีความสุข มีความพอ อยู่ในตัวแล้ว 

นี่แหละคืออานิสงส์ที่แท้จริง ผลที่แท้จริงที่เกิดจากการทำบุญทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นการสร้างความสุขให้กับใจ  ใจจะสุขได้ก็ต่อเมื่อใจชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง  อันเป็นเหตุที่สร้างความเศร้าหมองให้กับใจ ตราบใดที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ในใจ ต่อให้เป็นถึงเป็นพระมหากษัตริย์  เป็นประธานาธิบดี  เป็นนายกรัฐมนตรี  เป็นมหาเศรษฐี  มีเงินเป็นแสนล้านก็ตาม  ใจก็ยังจะมีความว้าวุ่นขุ่นมัว  มีความกังวล มีความวิตก มีความเศร้าโศกเสียใจ  เพราะไม่ได้ไปกำจัดต้นเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นมา  เราจึงต้องอาศัยการทำบุญเป็นเครื่องกำจัด ชำระกิเลส ตัณหา เครื่องเศร้าหมองที่มีอยู่ภายในใจของเราให้หมดไป  นั่นแหละเป็นเหตุที่เราต้องมาทำบุญกันอย่างต่อเนื่องทุกๆวันพระ หรือทำมากกว่านั้นได้ก็ยิ่งดี  ถ้าไม่ได้มาที่วัด ในสถานที่อยู่ของเรา เราก็สามารถทำบุญได้ ทำทานได้ เราควรทำบุญทำทานกับคนที่อยู่ใกล้ตัวเราก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีพระคุณกับเรา เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย  ถ้าไม่มีท่านเหล่านี้ ก็จะไม่มีตัวเราปรากฏขึ้นมาได้  เราต้องมีปู่ ย่า ตา ยาย มีพ่อ มีแม่ ผู้ให้กำเนิด  ท่านจึงเป็นผู้ที่มีพระคุณอันใหญ่หลวงต่อชีวิตของเรา  เราจึงไม่ควรมองข้ามท่านไป 

พระพุทธองค์ทรงเปรียบบิดามารดาเป็นเหมือนกับพระอรหันต์ เป็นพระพรหมของลูกๆ  การที่ได้เลี้ยงดูบิดามารดา  ทดแทนบุญคุณของบิดามารดาด้วยวิธีการต่างๆ  ทำให้ท่านอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  มีความสุขกายสุขใจ  ถือว่าเป็นการทำบุญกับพระอรหันต์ ทำบุญกับพระพรหม  มีอานิสงส์มากมีบุญมาก ต่อจากนั้นแล้วก็ยังมีบุคคลอื่น ที่เรามีความเกี่ยวข้องด้วย เช่นสามี ภรรยา บุตร ธิดา ญาติสนิทมิตรสหาย  บุคคลเหล่านี้ถ้าเราช่วยเหลือเขาด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด ก็ถือว่าเป็นการทำบุญให้ทานเหมือนกัน  ไม่จำเป็นจะต้องรอให้มาที่วัด แล้วจึงค่อยทำบุญทำทานกัน  เหมือนกับเวลาที่เราหิว อยากจะรับประทานอาหาร  เดินไปที่ไหน เจอร้านอาหารที่ไหนก่อน ก็แวะรับประทานก่อน  ไม่ต้องปัดไปก่อน ว่าไว้คอยไปกินที่ร้านนั้น  เพราะถ้ารอไปกินที่ร้านนั้น เมื่อไปถึงที่ร้านนั้นแล้ว อาหารอาจจะหมดไปก่อน ก็เป็นได้  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่ได้รับประทานอาหาร  เราก็จะมีแต่ความหิวโหย 

เวลาที่จะช่วยเหลือใคร ทำบุญกับใคร ก็อย่าไปเลือกมาก อย่าไปคิดมาก  บางทีคิดว่าเขามีพอแล้ว มีมากกว่าเรา เขาไม่เดือดร้อน หรือว่าเขาไม่ดีพอที่เราจะทำบุญกับเขา  ถ้าคิดอย่างนี้ ก็เหมือนกับเราปฏิเสธ การรับประทานอาหารตามร้านต่างๆ   ไปร้านนี้ก็บอกว่าไม่อร่อย  ไปร้านนั้นก็บอกว่าไม่สะอาด  ไปร้านโน้นก็บอกว่าแพงไป  ถ้าปฏิเสธไปเรื่อยๆ ก็จะไม่มีร้านอาหารรับประทานอาหารกัน แต่ถ้าเราบอกว่า เมื่อถึงเวลามีอะไรปรากฏต่อหน้า  เช่นเดินไปเจอขอทาน ก็ให้เงินเขาไป  อย่าไปคิดว่าเขาเสแสร้ง มาหลอกเอาเงิน ถ้าเขาเสแสร้ง หลอกเรา มันก็เป็นเรื่องของเขา เป็นบาปเป็นกรรมของเขา  ถ้าเราให้ด้วยเจตนาที่สะอาดบริสุทธิ์  คือมีความเมตตา มีความสงสาร ที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์เขา ให้เขาไป เราก็มีความอิ่มเอิบใจ มีความสุขใจ 

นี่แหละคือการทำบุญทำทาน  อย่าไปเลือกวัน เลือกเวลา เลือกสถานที่มากจนเกินไป  ถ้าเลือกได้ก็ดี เพราะการเลือกบุคคล เลือกสถานที่  ก็มีส่วนทำให้บุญเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไป  เหมือนกับเลือกรับประทานอาหารตามร้านต่างๆ  บางทีเลือกได้ก็เลือก  เพราะเมื่อเลือกได้แล้วอาหารที่รับประทานก็จะเป็นอาหารที่มีคุณภาพ ทำให้เรามีความอิ่มกายอิ่มใจ  เวลาจะทำบุญ  ส่วนใหญ่เราก็อยากจะเลือกทำบุญกับพระที่ดี  พระที่เป็นพระอริยบุคคล ถ้าได้เจอพระพุทธเจ้า  ได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้า ก็จะมีอานิสงส์มาก เป็นบุญมาก  เพราะนอกจากได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้าแล้ว   ยังได้ยินได้ฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า  อาจจะบรรลุธรรม กลายเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาเลยก็ได้  นี่แหละคือเหตุที่ควรเลือกทำบุญกับคนดี คนฉลาด คนเก่ง อย่างพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย  เพราะจะช่วยทำให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว 

ต่างกับเวลาที่เราไปทำบุญกับพระที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว  ไม่เคยศึกษาธรรมะ มีแต่ความมืดบอด  ท่านก็จะสอนเราไปในทางที่ผิด  แทนที่จะสอนให้ปฏิบัติธรรมชำระจิต กลับไปสอนให้เราหลงงมงาย ไปทำพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่างๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราว ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  เพราะการสะเดาะเคราะห์กรรมนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้  เคราะห์กรรมคือกรรมที่เราได้กระทำไว้ เป็นสิ่งที่สำเร็จแล้ว  เมื่อทำแล้ว วิบากกรรมย่อมจะต้องตามมาไม่ช้าก็เร็ว  เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่เวลาที่เรามีเคราะห์กรรม  พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้ขันติ ใช้ความอดทน ให้ใช้อุเบกขา ให้ใช้ปัญญา ต้องฉลาด ต้องยอมรับความจริงว่า เราในอดีตได้เคยทำบาปทำกรรมมามากมายก่ายกอง เมื่อถึงเวลาที่ผลของบาปกรรมจะแสดงผลขึ้นมา ก็ไม่มีทางที่จะไปปัดไปเป่าให้หายไปได้  แต่ถ้าใจของเรามีความแน่วแน่ มั่นคง ไม่หวั่นไหว  เราก็จะผ่านเคราะห์กรรมเหล่านั้นไปได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร  เพราะว่าไม่มีอะไรในโลกนี้จะสามารถมาทำลายใจของเราได้  มีแต่กิเลสตัณหา โมหะอวิชชา ความมืดบอด ความไม่รู้เรื่อง การขาดธรรมะแสงสว่างต่างหาก ที่ทำให้ใจเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว เกิดความทุกข์ เกิดความเศร้าโศกเสียใจ เวลาที่จะต้องประสบเคราะห์กรรมต่างๆ  

แต่สำหรับคนที่มีแสงสว่างแห่งธรรมอยู่ภายในใจแล้ว  มีปัญญาแล้ว  จะรู้สึกเฉยๆกับเรื่องเหล่านี้  อะไรจะเกิดก็เกิด  อย่างมากก็แค่ตาย  คนเราหนีตายไม่พ้นหรอก  ไม่ว่าจะทำบุญทำบาปมามากน้อยแค่ไหน ก็หนีตายไม่พ้นด้วยกันทั้งนั้น  แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น แต่ท่านตายด้วยจิตใจที่แน่วแน่มั่นคง สงบนิ่ง  ไม่หวั่นไหว  เป็นจิตที่ตายด้วยความสุข ไม่ได้ตายด้วยความทุกข์  อยู่ก็มีความสุข ไม่มีความทุกข์ ซึ่งต่างกับใจของพวกเรา  ที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ ยังไม่ได้ชำระกิเลสตัณหา ไม่ได้ขัดเกลา ไม่ได้ทำบุญทั้ง ๑๐ ประการอย่างสม่ำเสมอ  เราก็เลยขาดที่พึ่ง  ขาดสิ่งที่จะมาช่วยรักษาใจของเราไม่ให้หวั่นไหว ไม่ให้วิตก ไม่ให้กลัว  การตายของพระพุทธเจ้า กับการตายของพวกเรา ไม่แตกต่างกันเลย  ร่างกายเมื่อไม่หายใจก็ตาย  ก่อนจะตายก็ต้องมีทุกขเวทนา มีความเจ็บปวดรวดร้าวตามร่างกาย ตามส่วนต่างๆ ร่างกายของเรากับของพระพุทธเจ้าก็เป็นเหมือนกัน  ไม่มีอะไรแตกต่างกัน  แต่ใจของพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ ต่างกับใจของพวกเรา  เพราะใจของท่านไม่ได้ยึดติดอยู่กับร่างกายนี้  ท่านเห็นร่างกายนี้เป็นเหมือนกับร่างกายของคนอื่น  เวลาเราเห็นคนอื่นเขานอนตาย เราก็รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ไปรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าว กับความเจ็บไข้ได้ป่วย กับความตายของเขา 

ฉันใดจิตของผู้ที่มีแสงสว่างแห่งธรรม ได้กำจัดขัดเกลากิเลสตัณหา อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง ให้หมดสิ้นไปจากใจแล้ว ก็จะเป็นอย่างนั้น  ใจจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดียินร้ายกับการเป็นไปของร่างกาย  ร่างกายจะแก่ จะเจ็บไข้ได้ป่วย จะตาย จะเป็นอย่างไร ก็ไม่เดือดร้อน  และนับประสาอะไรกับสิ่งภายนอก เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ท่านยิ่งไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรกับสิ่งเหล่านั้นเลย  มีลาภมาจะสูญลาภก็ไม่เดือดร้อน  มียศมาจะสูญยศไปก็ไม่เดือดร้อน  มีการสรรเสริญแล้วมีการนินทาตามมาก็ไม่เดือดร้อน มีสุขมีทุกข์มากน้อยเพียงไรก็เฉยๆ เพราะใจของท่านได้ปล่อยวางหมดแล้วในเรื่องเหล่านี้  การที่ใจจะปล่อยวางได้ ก็ต้องอาศัยการทำบุญทั้ง ๑๐ ประการนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุญที่สำคัญที่สุด ก็คือการฟังเทศน์ฟังธรรม  เมื่อได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว เราก็จะรู้ว่า เราจะต้องมาชำระใจของเรา ชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจ ให้หมดสิ้นไป 

และสิ่งที่จะชำระขัดเกลาได้ก็คือการภาวนา  นั่งสมาธิ เจริญปัญญา  โดยอาศัยบุญส่วนอื่นเป็นเครื่องสนับสนุน  เช่นทาน ศีล เป็นต้น  เพราะทาน ศีลนี้ เปรียบเหมือนกับการต้อนกิเลสให้เข้ามาอยู่ในคอก  เวลาที่เราจะจับกิเลส ซึ่งเปรียบเหมือนกับสัตว์ เช่น วัว ควาย  เวลาเราจะจับวัวควายนี้มาฆ่า  เราต้องต้อนมันเข้ามาในคอกก่อน  ถ้ามันอยู่นอกคอกเวลาจะจับมัน ก็จะลำบากเพราะที่มันกว้าง  มันวิ่งหนีได้  เราจึงต้อนเอาวัวควายคือกิเลสตัณหานี้เข้ามาในคอกก่อน  ต้อนเข้ามาในใจ ด้วยการทำบุญ ทำทาน รักษาศีล  และบุญอื่นๆล้วนจะช่วยต้อนกิเลสตัณหาให้เข้ามาสู่ใจ  เมื่อเข้ามาสู่ในใจแล้ว เราก็ทำใจให้สงบ  เมื่อใจสงบ กิเลสตัณหาก็จะต้องสงบตัว  เหมือนกับเวลาเราจับวัวควายเข้ามาในคอกแล้ว  เราก็จับมันผูกมัดไว้  มัดขามัดเท้าไว้  มันก็จะดิ้นไม่ได้ ก็จะต้องนิ่งอยู่เฉยๆ   กิเลสตัณหาก็เป็นอย่างนั้น  เมื่อเราทำสมาธิแล้ว กิเลสตัณหาก็จะต้องสงบตัวลง แสดงอาการโลภ โกรธ หลงไม่ได้ 

แต่การอยู่ในสมาธิยังไม่สามารถ ที่จะฆ่ากิเลสให้ตายหมดสิ้นซากไปได้   เพราะสมาธิเพียงแต่ผูกมัดตัวกิเลส ไม่ให้ออกไปสร้างความวุ่นวาย  แต่เราไม่สามารถที่จะอยู่ในสมาธิไปได้ตลอด  เมื่อออกจากสมาธิแล้ว กิเลสก็จะเริ่มทำงานต่อไป  เพียงแต่ว่าจะไม่รุนแรง  และอยู่ไม่ไกล มันจะอยู่แต่ในคอก อยู่ในใจ  เราจึงต้องใช้ปัญญาเข้าไปทำลาย  ปัญญาก็เปรียบเหมือนกับมีด หรือธนูที่ไว้ใช้ยิงวัวควาย  ใช้มีดไว้ตัดคอ มันถึงจะตาย  ปัญญาก็เป็นลักษณะนั้น  ปัญญาจะเข้าไปทำลายต้นเหตุของกิเลสตัณหา  คือโมหะอวิชชา ความมืดบอด ความหลงผิด ความไม่เข้าใจในสภาพความเป็นจริงของสิ่งต่างๆทั้งหลาย สภาวธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นอย่างไร  เวลาเจริญปัญญา เราจะเจริญด้วยไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ทุกสิ่งทุกอย่าง สภาวธรรมทั้งหลาย ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่ไม่ควรไปยึดไปติด   เพราะไปยึดไปติดแล้วจะต้องเศร้าโศกเสียใจ จะต้องทุกข์  ถ้าปล่อยวางแล้ว ก็จะไม่ทุกข์กับสิ่งเหล่านี้  เช่น ร่างกายของเราก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน  เกิดมาแล้ว ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย  เมื่อตายไป ร่างกายก็สลายกลับไปสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่ตัวตนเลย  มีแต่ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นแหละ   เมื่อได้พิจารณาอย่างต่อเนื่องแล้ว ต่อไปเราก็จะไม่โลภ ไม่อยากกับอะไร   เพราะรู้ว่าเวลาไปโลภไปอยากกับอะไร ก็จะมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเศร้าหมอง ถ้าไม่โลภ ไม่อยากแล้ว จิตใจก็จะเป็นปกติ  เป็นจิตที่สงบ เป็นจิตที่สบาย ไม่ดิ้นรนกวัดแกว่ง มีความอิ่ม มีความพอ มีความสุขอยู่ในตัวของจิต  นั่นแหละคือจุดหมายปลายทางของการทำบุญ  คือให้ถึงจุดที่มีความอิ่มตัว  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้