กัณฑ์ที่  ๑๔๒       ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

สะสมบารมี

 

วันนี้ญาติโยมผู้มีความเลื่อมใส  มีความแน่วแน่ ต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้มาสู่วัดตามเวลาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ คือทุกๆวันพระ  จะเป็นวันขึ้นหรือวันแรมก็ตาม  ประมาณทุกๆ ๘ วัน ๗ วัน ๖ วัน  ก็จะมาร่วมกันทำบุญสะสมบารมี เพื่อประโยชน์ที่จะตามมาต่อไป คือความเจริญในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขก็ดี   ความเจริญในอายุ วรรณะ สุขะ พละก็ดี  ก็ล้วนเกิดจากการกระทำของเราในแต่ละวันพระและวันอื่นๆ ถ้ามีโอกาสเราก็ทำ  เพียงแต่ว่าวันพระเราถือเป็นวันสำคัญ  เป็นวันที่จะต้องทำให้ได้  ถึงแม้จะมีภารกิจอย่างอื่นที่จำเป็น ที่สำคัญ  เราก็พยายามที่จะเจียดเวลามาวัด เพื่อจะได้สะสมบุญบารมี  เพราะเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า  เชื่อว่าการสะสมบุญบารมี  เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งผลที่เราทั้งหลายปรารถนากัน 

เหมือนกับการปลูกต้นไม้  ถ้าเราปลูกต้นไม้ไปเรื่อยๆ ต่อไปอีกไม่นานเราก็จะมีต้นไม้ใหญ่ออกดอกออกผลให้กับเรา  แต่ถ้าเราไม่ปลูกต้นไม้เลย  ปล่อยให้ที่ดินของเราว่างเปล่า  อีก ๑๐ ปี อีก ๒๐ ปีข้างหน้า  ที่ดินก็ยังว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น จะไม่มีต้นไม้  นอกจากไม่มีต้นไม้แล้ว  ยังจะมีพวกวัชพืชต่างๆ งอกขึ้นมาสร้างความรกรุงรังให้กับที่ดินของเรา  จิตใจของเราก็เปรียบเหมือนกับพื้นที่ผืนหนึ่ง  ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษา  ไม่ได้รับการพัฒนาด้วยการทำบุญสะสมบารมี คือปลูกสิ่งที่ดีที่งามไว้ แต่  ปล่อยให้มีวัชพืชที่ไม่พึงปรารถนาเจริญงอกงาม  เช่น กิเลสตัณหาทั้งหลาย  ใจของเราก็จะเป็นเหมือนกับที่ดินที่ไม่มีค่า  นอกจากไม่มีค่าแล้วยังสร้างปัญหา สร้างภาระ สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน  ให้กับใจด้วย 

พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระคุณอันประเสริฐ  ผู้ได้ตรัสรู้ธรรม  ได้เห็นเรื่องราวของพระทัยของพระองค์มาแล้ว  ได้เห็นพระทัยของพระองค์ที่มีทั้งวัชพืชคือกิเลสตัณหา  และมีต้นไม้น้อยใหญ่สลับกันขึ้นมา  จึงทรงทำการพัฒนาพระทัยของพระองค์  ด้วยการชำระพวกวัชพืชคือกิเลสตัณหาทั้งหลาย ที่ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์  แล้วก็ปลูกต้นไม้ที่มีคุณมีประโยชน์ให้เต็มพื้นที่  พื้นที่ของพระองค์คือพระทัยของพระองค์จึงเต็มไปด้วยบุญบารมี  เมื่อมีบุญบารมีเต็มอยู่ในใจแล้ว  ผลของบุญบารมีย่อมส่งผลให้ปรากฏขึ้นมา ให้มีฐานะดี  ให้เจริญในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ  อย่างที่พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง  หลายภพหลายชาติด้วยกัน  จนในภพสุดท้ายเมื่อทรงประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร  ก็มีโหรได้ทำนายทายทักไว้ว่า มหาบุรุษอย่างพระพุทธเจ้านี้ ได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาอย่างต่อเนื่อง อย่างมากมาย  ผลที่พระพุทธองค์จะทรงได้รับก็มีอยู่ ๒ นัยด้วยกัน  คือถ้าไม่ได้ออกบวชก็จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ แต่ถ้าได้ออกบวชก็จะได้เป็นพระบรมศาสดา   เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า 

นี่แหละคือผลที่เราทั้งหลายจะได้กัน  ถ้าเราตั้งจิตตั้งใจพยายามสะสมบุญบารมีไว้อย่างต่อเนื่อง  อย่างที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้  คือมาทุกๆวันพระ  ถึงแม้ว่าจะรู้สึกลำบากยากเย็นบ้าง  ต้องตื่นเช้าก็ยังมา  เพราะเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  เชื่อในสิ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติ และเชื่อว่าการได้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ไม่ได้มาจากการปรารถนาโดยอย่างเดียว  คือไม่ได้อยู่ที่การตั้งจิตอธิษฐานอย่างเดียว ว่าขอให้เราเป็นพระพุทธเจ้า ให้เป็นพระอรหันต์ หรือขอให้เราเป็นพระมหากษัตริย์  มหาจักรพรรดิ  เป็นประธานาธิบดี  เป็นนายกรัฐมนตรี  หรือเป็นมหาเศรษฐี  ความปรารถนาเป็นเพียงการตั้งเป้าหมายไว้เท่านั้นเอง  แต่การที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งเป้าไว้  เราต้องเดินไป  ต้องมีการทำกิจกรรมเพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายอันนั้น  ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกอบบำเพ็ญบุญบารมีมาอย่างต่อเนื่อง  นั่นแหละคือการดำเนิน  การเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่เราทุกคนปรารถนา 

ถ้าการอธิษฐานอย่างเดียวแล้วสามารถนำสิ่งต่างๆ ที่เราปรารถนามาได้  พวกเราทุกคนป่านนี้ก็จะเป็นมหาจักรพรรดิกันไปหมดแล้ว  หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นพระบรมศาสดากันไปหมดแล้ว  แต่เหตุที่พวกเรายังไม่ได้เป็นดังที่เราปรารถนากัน ก็เพราะว่าเรามีแต่ความปรารถนา  มีแต่จิตอธิษฐานตั้งเป้าหมายไว้  แต่ไม่ได้เดินไปตามเป้าหมายนั้น  อย่างวันนี้ถ้าญาติโยมได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมาที่วัด  แล้วพอตื่นเช้าขึ้นมา  แทนที่จะลุกขึ้นมาก็ล้มกลับลงไปนอนต่อ  ตื่นขึ้นมาอีกทีก็สายโด่ง  ก็จะไม่ได้มาถึงที่วัดนี้ได้  เพราะการตั้งจิตอธิษฐานอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ  แต่การตั้งจิตอธิษฐานนี้ก็สำคัญ  เพราะเราจะต้องรู้เป้าหมาย ว่าเราจะทำอะไร   ทุกๆวันนี้เราต้องรู้ก่อนล่วงหน้าแล้วมิใช่หรือ ว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้เราจะต้องทำอะไรบ้าง  คนที่มีงานมีการเขาก็รู้ว่า เดี๋ยววันนี้เขาต้องไปทำงานแล้ว  ตื่นขึ้นมาก็แต่งตัวใส่เสื้อผ้า  รับประทานอาหารให้เรียบร้อย แล้วก็ออกไปทำงาน  แล้วก็จะได้ประสบผลจากการทำงาน  คือถ้าเป็นคนทำงานอย่างต่อเนื่องไม่ขาดงาน  เวลาสิ้นเดือนก็จะได้รับเงินเดือน  แล้วก็ไม่ถูกเขาไล่ออก  แต่ในทางตรงกันข้าม  ถ้ามีงานทำ แต่พอถึงเวลาตื่นขึ้นมา ก็เกิดความรู้สึกเกียจคร้าน เลยขอนอนต่อ  วันนั้นก็เลยโทรศัพท์ไปบอกเขาว่า ปวดหัวเป็นไข้ ไม่สบาย  ถ้าเป็นเช่นนี้ แล้วทำอย่างนี้บ่อยๆเข้า  คนที่เขาจ้างเรา เขาก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เพราะงานการที่เขาต้องการให้เราทำนั้น มันไม่เป็นไปดังที่เขาต้องการ  ในที่สุดเขาก็ต้องบอกให้เราไปหางานที่อื่นทำ  เพราะว่าอยู่กับเขาก็ไม่เจริญด้วยกันทั้งคู่  เขาก็ไม่เจริญ เราก็ไม่เจริญ  นี่ก็เป็นเพราะว่าเราไม่กระทำหน้าที่ของเรา ที่เราควรกระทำกันนั่นเอง 

ดังนั้นความปรารถนา  ความตั้งจิตอธิษฐาน จึงไม่พอเพียง  เมื่อเราตั้งจิตอธิษฐานแล้ว เราก็ต้องบำเพ็ญ  ต้องดำเนินต่อไป  อย่างในวันนี้พวกท่านทั้งหลายก็มาบำเพ็ญบุญบารมีกัน  การมาวัดนี้ทำให้เราได้สะสมบุญบารมีได้หลายอย่างหลายชนิด  เกือบจะครบทั้ง ๑๐ ชนิดเลยทีเดียว  เช่น มาถึงก็มีการทำบุญตักบาตรถวายทาน  นี่ก็เป็นทานบารมีแล้ว  ต่อมาก็มีการสมาทานศีล เป็นศีลบารมี ถ้าสมาทานศีล ๘ ก็จะเป็นเนกขัมมบารมี เนกขัมมะแปลว่า การละเว้นจากการหาความสุขทางกามคุณทั้ง ๕  คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  คือจะไม่หาความสุขจากสิ่งภายนอกตัวเรา  เช่น ดูหนัง ฟังเพลง  ไปเที่ยว  รับประทานอาหารในยามวิกาล หาความสุขจากการแต่งกาย ใช้เครื่องสำอาง ใช้เครื่องหอมต่างๆชโลมตัว นอนในที่นอนที่มีฟูกหนา ที่นิ่ม ที่สบาย มีเครื่องปรับอากาศ  นอนแล้วหลับได้เป็น ๑๐ ชั่วโมง  อย่างนี้เป็นต้น  เหล่านี้คือกามสุข 

แต่ถ้ามาวัดแล้ว  บางท่านก็จะถือศีล ๘  ศีลอุโบสถ  ก็จะละเว้นจากการรับประทานอาหารในยามวิกาล  คือหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว จะไม่รับประทานอาหาร  จะไม่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด  จะไม่ใช้เครื่องหอมต่างๆ แต่งหน้าทาปาก หาความสุขจากดูเครื่องละเล่น เครื่องบันเทิงต่างๆ เพราะว่าความสุขเหล่านี้เป็นความสุขที่ฉาบฉวย  เป็นความสุขเหมือนกับความสุขที่ได้จากยาเสพติด เวลาเสพเข้าไปก็มีความสุข  แต่เมื่อหมดฤทธิ์ของยาเสพติดแล้ว ก็เกิดความอยากที่จะต้องเสพต่อ เป็นเหมือนกับปลาติดเบ็ด กามสุขเป็นเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด  เมื่อปลาที่ไม่ฉลาดไปฮุบเหยื่อเข้า ก็จะต้องถูกตะขอของเบ็ดเกี่ยวติดปากติดคอ  ฉันใดผู้ใดที่ยังมีความยินดี มีความติดพันอยู่กับกามคุณ ๕ คือกามสุขแล้ว  ก็จะเป็นเหมือนกับปลาติดเบ็ด  จะต้องแสวงหากามสุขอยู่ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด วันไหนไม่ได้สัมผัสกับกามสุข ก็จะเกิดความรู้สึกกระวนกระวาย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เกิดความเบื่อเซ็งขึ้นมา   เพราะว่าใจติดอยู่กับกามสุข

แต่คนฉลาดย่อมรู้ว่ากามสุขเป็นเหมือนกับสิ่งเสพติด  จึงพยามยามต่อสู้  พยายามที่จะละด้วยการสมาทานศีล ๘  ถ้าอยู่ในวัดได้ก็จะอยู่ในวัด  คืนหนึ่งก็ยังดี  เพราะว่าถ้ากลับไปที่บ้านแล้ว จะไปเจอของล่อใจยั่วใจมาก  เพราะคนรอบข้างไม่ได้ถือศีลอุโบสถ ถือศีล ๘ เหมือนเรา  เขาก็จะกินอาหารในยามวิกาล  เวลาเราได้กลิ่นอาหารที่เขารับประทาน เราก็จะเกิดความรู้สึกหิว เกิดความอยากขึ้นมา  ก็จะทำให้เราไม่สามารถรักษาศีลข้อ ๖ ไปได้  หรือถ้าเห็นเขาเปิดโทรทัศน์ดูละคร ดูหนัง ก็จะอดใจห้ามใจไม่ได้  ก็จะขอต่อรองว่า วันนี้เอาแค่ศีล ๕ ก็พอ ศีล ๘ คงจะไม่ไหวแล้ว  แต่ถ้าอยู่ที่วัดก็จะมีโอกาสรักษาศีล ๘ ได้ดีกว่า  เพราะว่าเวลาอยู่ที่วัด เราจะได้อยู่กับคนที่ไม่กินข้าวเย็น  ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ดูหนัง  มีแต่เข้าโบสถ์ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งทำสมาธิ  เราก็จะได้ทำไปกับเขาด้วย   

แล้วเราก็จะได้พบกับความสุขอีกแบบหนึ่ง  นั่นก็คือความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ  เรียกว่าสันติสุข  เป็นความสุขที่ประเสริฐ เป็นความสุขที่ดีกว่าความสุขของกาม เพราะเป็นความสุขที่ไม่มีโทษตามมา  เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งภายนอก  เรามีใจของเรา  เรามีที่สงบ  เราทำใจของเราให้สงบ  เราก็มีความสุขแล้ว  นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง  เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งภายนอกต่างๆ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นความสุขที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้พบ ได้เสวย ได้เสพอยู่ตลอดเวลาตลอดอนันตกาล  เพราะความสุขนี้อยู่ที่ใจ   และใจก็เป็นสิ่งที่ไม่ตาย  เมื่อมีความสุขนี้อยู่ในใจแล้ว ก็จะเป็นความสุขไปตลอด  ดังในคุณของพระนิพพานที่ทรงแสดงไว้ว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง  นิพพานเป็นความสุขสุดยอด นี่แหละคือความสุขที่เกิดจากความสงบสงัดจากกาม  ปราศจากกามตัณหาทั้งหลาย  ผู้ฉลาดจึงพยายามเจริญบารมีข้อนี้  คือเนกขัมมบารมี  ด้วยการสมาทานรักษาอุโบสถศีล  อยู่ในวัด  หรือไม่เช่นนั้นก็ไปอยู่ตามป่าตามเขา  ตามสถานที่ที่มีความสงบสงัดวิเวก 

ในการเจริญบารมีทั้ง ๓ นี้ คือทานบารมี  ศีลบารมี  และเนกขัมมบารมีจำต้องมีบารมีอื่นช่วยสนับสนุน คือต้องมขันติบารมีความอดทน  วิริยะบารมี ความขยันหมั่นเพียร ต้องขยันมาวัด  ขยันรักษาศีล  ขยันทำบุญทำทาน  แล้วก็ต้องอดทน  เพราะการทำความดีไม่ใช่เป็นของง่าย  เป็นการต่อสู้กับความใฝ่ต่ำที่มีอยู่ในใจของเรา  เวลาจะเสียเงินทำบุญสักครั้งนี่  ใจจะต่อต้าน  กิเลสจะต่อต้าน บอกว่าเก็บไว้ซื้อเสื้อผ้าสวยๆมาใส่ไม่ดีกว่าหรือ  เอาไปเที่ยวลอยกระทงไม่ดีกว่าหรือ  กว่าจะต่อสู้กับความรู้สึกเหล่านี้ได้ ก็ต้องใช้ความอดทนมาก  ถ้าไม่มีความอดทนจริงๆก็จะสู้ไม่ได้  นอกจากนี้แล้ว ยังต้องมีอธิษฐานบารมี คือความตั้งใจ ต้องตั้งจิตตั้งใจไว้ก่อนแล้วว่า  วันนี้ยังไงๆจะต้องมาทำบุญที่วัดให้ได้  จะเสียเงินเสียทองมากน้อยแค่ไหนก็ยอมเสีย  ยอมเสียเงินเพื่อบุญบารมี  มากกว่าเสียเงินเพื่อกามสุข เช่นวันนี้เราอาจจะต้องเลือกว่า เราจะมาวัดในตอนเช้า  หรือไปเที่ยวในคืนนี้  ถ้าเรามีความแน่วแน่ต่อการสะสมบุญบารมี  ได้ตั้งจิตตั้งใจไว้แล้วว่า เกิดมาในชาตินี้ ถ้ามีโอกาสมากน้อยเท่าไร ก็จะขอสะสมบุญบารมีไปตลอด อธิษฐานบารมีก็จะเป็นเครื่องผลักดันให้ได้กระทำในสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้  โดยอาศัยสัจจบารมเป็นตัวควบคุมอีกชั้นหนึ่ง  สัจจบารมีก็คือความจริงใจ  เมื่อได้ตั้งใจว่าจะทำอะไรแล้ว ต่อให้อะไรเกิดขึ้น  ถ้าไม่สุดวิสัยจริงๆแล้ว ไม่ตายหรือเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะต้องทำในสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้  นี่คือสัจจบารมี 

ถ้าเรามีทั้งสัจจบารมี อธิษฐานบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมีแล้ว  สิ่งต่างๆที่เราปรารถนา ที่เราต้องการจะทำ  เราก็จะสามารถทำได้  อย่างในวันนี้เราก็ได้มาบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี  รวมไปถึงเมตตาบารมี เพราะการทำบุญทำทาน ต้องออกมาจากจิตที่มีความปรารถนาดี  ความปรารถนาดีของจิตก็คือความเมตตา  ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข  ไม่เบียดเบียนผู้อื่น  ไม่อาฆาตพยาบาทจองเวรผู้อื่น  นี่คือเมตตาบารมี  เวลาเราทำทาน รักษาศีล ก็เท่ากับเราได้สะสมเมตตาบารมีควบคู่ไปด้วย  และเมื่อเราได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็เท่ากับได้เสริมปัญญาบารมี  เพราะว่าเวลาฟังธรรมเราจะได้ฟังเรื่องราวที่มีคุณมีประโยชน์  เป็นความรู้ทางพระพุทธศาสนา ความรู้ที่เกี่ยวกับเหตุและผลในตัวเราเอง  คือใจของเรานั้นเป็นทั้งเหตุ เป็นทั้งผล  เป็นเหตุก็คือเป็นผู้กระทำกรรม ทั้งดีและชั่ว เมื่อกระทำกรรมไปแล้ว ก็เป็นผู้รับผลของการกระทำกรรมดีและชั่วนั้น  ถ้าทำความดีก็จะมีความสุขใจ มีความเจริญรุ่งเรือง  ถ้าทำความชั่วก็จะมีความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ ความวุ่นวายใจ 

แต่ถ้าเราไม่ฟังเทศน์ฟังธรรม  เราก็จะไม่รู้  หรือถ้าเคยฟังมาแล้ว แต่ไม่ฟังบ่อยๆ  ทิ้งไปสักพักหนึ่งก็จะลืม  เพราะจะถูกกระแสของโลก ซึ่งเป็นกระแสของอวิชชา ความไม่รู้จริง โมหะ ความหลง ความมืดบอด คอยเกลี้ยกล่อมให้เราลืมถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ เรื่องนรกสวรรค์   ให้เราคอยแต่ตอบสนองกิเลสตัณหาของเรา โดยไม่กลัวบาป กลัวนรกกัน  ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ทำผิดศีลผิดธรรมกันอย่างว่าเล่น ไม่เคยกลัวบาปกรรมเลย  เพราะถูกอวิชชาความไม่รู้จริง  โมหะความหลง ความมืดบอดกล่อมจิตใจ  หลอกว่าบุญกรรมไม่มี  ตายไปแล้วสูญ  อย่างเช่นร่างกายนี้ เมื่อตายไปแล้ว ก็กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่าน กลายเป็นดินไป      แล้วจะมีใครมารับผลของบาปของบุญกัน  นี่เป็นกระแสของความหลงความไม่รู้จริง  เพราะไม่เห็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิตเรา  ชีวิตของเรามีอยู่ ๒ ส่วนด้วยกัน  มีทั้งร่างกายและจิตใจ  ร่างกายที่เราเห็นกันได้ เพราะเป็นรูปธรรม  เรารู้ว่าร่างกายนี้เกิดมาแล้วในที่สุดก็ต้องตาย  และเมื่อเอาไปเผาก็กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป  แต่เราไม่เห็นจิตใจ  จิตใจเป็นนามธรรม  เหมือนกับกระแสวิทยุโทรทัศน์ที่มีอยู่รอบตัวเราในขณะนี้ แต่เรามองไม่เห็น  แต่ถ้าเราเอาวิทยุหรือเอาโทรทัศน์มาเปิด เราก็จะรับภาพ รับเสียงได้  แต่ตาของเราไม่สามารถมองเห็นกระแสวิทยุหรือโทรทัศน์นี้ได้ 

ฉันใดตาของเราก็ไม่สามารถมองเห็นจิตใจของเราได้  เราจึงไม่รู้ว่าเมื่อร่างกายนี้ตายไปแล้ว  จิตใจยังต้องไปเกิดอีก  ไปเกิดเป็นอะไรก็สุดแท้แต่บุญกรรมที่เราทำไว้ มีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์แรกเท่านั้น ที่รู้สิ่งเหล่านี้  พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติธรรม  ทรงชำระใจที่มืดบอดให้สว่างด้วยแสงสว่างแห่งธรรม  เมื่อมีแสงสว่างแห่งธรรมคือปัญญาแล้ว  ก็จะเห็นในสิ่งที่ตาเนื้อมองไม่เห็น  เห็นจิตวิญญาณ  เห็นดวงจิตดวงใจของเรา  รู้ว่าจิตวิญญาณเป็นของไม่ตาย  เมื่อออกจากร่างนี้ไปแล้ว ก็ต้องไปเกิดใหม่  จะไปสูงไปต่ำ  ไปสุคติหรือไปทุคติ  ก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ทำไว้ในปัจจุบันนี้และในอดีตชาติก่อนๆ วิบากกรรมที่ยังไม่ได้แสดงผลขึ้นมา ก็จะสะสมไปเรื่อยๆ  รอเวลาที่จะแสดงผล  เหมือนกับการปลูกต้นไม้  ต้นไม้บางต้นบางปีก็ไม่ออกดอกออกผล  แต่จะรอไปอีกปี ๒ ปี ถึงค่อยออกดอกออกผล  กรรมเก่าหรือบุญเก่าที่เราเคยทำไว้ในอดีตชาติก่อนๆ ก็เป็นแบบนั้น  อาจจะยังไม่มีโอกาสได้แสดงผล ก็เลยรอโอกาสแสดงผลในภพต่อๆไป  เวลาที่เราตายจากร่างนี้ไปแล้ว  ดวงวิญญาณของเราก็จะต้องออกจากร่างนี้  แล้วก็ต้องถูกวิบากกรรม คือบุญหรือกรรมผลักดันให้ไปเกิดอีก 

นี่เป็นสิ่งที่พวกเราไม่รู้ไม่เห็นกัน  มีแต่พระพุทธเจ้ากับพระอริยสงฆสาวกเท่านั้นที่จะเห็นเรื่องของจิตวิญญาณได้  เมื่อท่านเห็นแล้วท่านก็นำเอามาสั่งสอนพวกเรา  ถ้าพวกเราเป็นคนฉลาด ฟังแล้วก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะปฏิเสธ  เพราะว่าคนเราถ้ายังไม่รู้ยังไม่เห็นอะไร ก็ไม่ควรที่จะปฏิเสธ  ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ต้องรับไปทั้งหมดเลย  ไม่ต้องไปเชื่อแบบงมงาย  เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่อแบบงมงาย  สอนให้เชื่อเพื่อนำไปพิสูจน์ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพวกเรานี้  พระพุทธเจ้าทรงแนะให้นำเอาไปปฏิบัติ เอาไปทดลอง แล้วจะเห็นผล  ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนกับยารักษาโรค  เป็นยาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทดลองแล้ว แล้วก็ได้หายจากโรคไปแล้ว  จึงทรงนำมาให้พวกเราลองทดลองดู  พวกเราอย่าไปปฏิเสธ  เพราะถ้าปฏิเสธ เราก็จะไม่รู้ว่ายานั้น ดีหรือไม่ดีอย่างไร  แต่ถ้าเรารับมาแล้ว ก็ทดลองดู  ถ้าไม่ดีไม่หาย ก็ไม่ขาดทุนอะไร  แต่จะรู้ว่ายานี้ใช้ไม่ได้  ถ้ายานี้กินเข้าไปแล้ว ทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายไปได้  เราก็จะได้กำไร ได้ประโยชน์ 

ฉันใดจิตใจของพวกเราก็เป็นเช่นนั้น  จิตใจของพวกเราส่วนใหญ่มักจะมีแต่ความทุกข์ มีความว้าวุ่นขุ่นมัว มีความวุ่นวายใจ  ส่วนความสุขวันๆหนึ่งแทบจะไม่ค่อยมีเลย  มีนิดมีหน่อย แล้วก็ถูกความทุกข์ความกังวลใจมาครอบงำเสียส่วนใหญ่  นี่แหละคือโรคของใจ ที่จะรักษาเยียวยาให้หายขาดได้ด้วยธรรมโอสถ  คือพระธรรมคำสอน  เมื่อเราเชื่อว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มีเหตุและมีผล ผู้ใดนำไปปฏิบัติแล้ว ย่อมได้รับความสุขความเจริญตามที่ปรารถนากัน  จึงเกิดความเชื่อขึ้นมาและเกิดปัญญาตามมา เพราะเมื่อนำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาประพฤติปฏิบัติแล้ว  อย่างวันนี้เรามาทำบุญทำทาน มารักษาศีล มาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน   จิตใจของเราก็จะมีความสงบ มีความเย็น มีความสุข มีปีติขึ้นมา  มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับกำลังความสามารถของแต่ละท่าน ที่จะนำเอาเข้าไปสู่จิตใจ  ถ้านำเข้าไปได้มาก ก็เหมือนกินยามาก  กินยามากโรคก็จะหายเร็ว  ถ้ากินยาน้อย โรคก็จะหายช้า  ถ้านำธรรมไปปฏิบัติได้มาก  ความทุกข์ก็จะหายไปมาก  ถ้าปฏิบัติได้น้อย ความทุกข์ก็จะหายไปน้อย 

เราจึงต้องพยายามนำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้า เข้ามาในใจของเรา   เอามาชำระความโลภ ความอยาก  กิเลสตัณหาทั้งหลาย  เวลาอยากจะออกไปเที่ยว เราก็ต้องเอาชนะความอยากให้ได้  ต้องบอกตัวเราว่า การไปเที่ยวมีแต่สูญเสีย ไม่ได้กำไรเลย  ได้ความสุขก็ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว  เปรียบเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด  ถ้าเราไม่ไปฮุบเหยื่อนั้นแล้ว เราก็ไม่ต้องไปติดอยู่กับเบ็ด  ใจของเราก็ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องวุ่นวาย  นี่แหละคือการนำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ  เวลาจะพูดโกหก ก็ต้องบอกว่าพูดโกหกไม่ดี  เป็นบาป เป็นโทษ สร้างความทุกข์ให้กับเรา  เราต้องฝืน ไม่ต้องพูด  ถ้าพูดความจริงไม่ได้  ก็ไม่ต้องพูด  นิ่งอยู่เฉยๆ ก็ได้  ไม่มีใครบังคับให้เราพูด  ถ้าเราไม่พูดเสียอย่าง ใครจะทำอะไรเราได้  ดูคนใบ้ซิ มีใครไปบังคับให้คนใบ้พูดมั่งหรือไม่ ไม่มีหรอก  เพียงแต่ว่าเรายังมีกิเลสอยู่ในใจอยู่  เรากลัวว่าถ้าเราไม่พูดแล้ว คนที่เขาอยากจะฟัง เขาอาจจะโกรธเรา เขาอาจจะไม่พอใจเรา แล้วเขาจะไม่คบค้าสมาคมกับเรา  เราต้องมีความแน่วแน่มั่นคงกับความดี  ถ้าเราปฏิบัติความดีแล้ว ไม่มีใครเขาอยากจะคบค้าสมาคมกับเรา ก็ปล่อยให้เขาไปคบกับคนอื่นเถิด  คนแบบนี้ก็ไม่เหมาะที่จะมาคบค้าสมาคมกับเรา  พระพุทธเจ้าบอกว่าให้คบคนดีอย่าไปคบคนชั่ว  ถ้าเป็นคนดีแล้วเขาจะไม่รังเกียจเรา  ถ้าเรานิ่งเฉย ถ้าเราไม่พูดอะไร  แต่เขากลับจะรังเกียจเรา ถ้าเราไปโกหกเขา  เมื่อทีหลังเขามารู้เข้า ว่าเราไปโกหกเขาแล้ว  เขาก็จะไม่คบกับเราอยู่ดีนั่นแหละ 

นี่แหละคือวิธีที่นำเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้าสู่ใจของเรา  เมื่อเข้าสู่ใจแล้ว  ใจก็จะมีคุณงามความดีปกป้องรักษา  ทำให้จิตใจของเรามีความแน่วแน่มั่นคง ไม่หวั่นไหวกับสภาวธรรมต่างๆ  กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น  เพราะเรามีปัญญา  เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน  มีเกิดขึ้นก็ต้องมีการดับไป  แม้แต่ร่างกายของเราในที่สุดก็ต้องสลายไป เราก็จะไม่หวั่นไหวกับอะไร  เวลาคนอื่นเป็นอะไร  จะเป็นจะตายอย่างไร  ถ้าไม่อยู่ในวิสัยของเราที่จะไปช่วยเหลือได้  ใจเราก็ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่วุ่นวาย  เพราะเรามีปัญญา  เมื่อมีปัญญาก็ทำให้ใจของเรามีอุเบกขา วางเฉยได้  เป็นอุเบกขาบารมี เมื่อเรามีอุเบกขาบารมีแล้ว เราก็จะปล่อยวางได้  ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง  เพราะรู้ว่าไม่อยู่ในวิสัยของเรา ที่จะไปทำไปแก้ทุกสิ่งทุกอย่าง  อันไหนแก้ได้ ทำได้ เราก็แก้ไป ทำไป  อันไหนแก้ไม่ได้ ทำไม่ได้  ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม  อย่างคนที่เรารักเราชอบ  กระทำตัวไม่ดี ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ  เช่น ชอบกินเหล้าเมายา เล่นการพนัน เที่ยวผู้หญิง  เราก็ได้แต่ขอร้องเขา  บอกเขา สอนเขาว่า ทำไปแล้วไม่ดีนะ  แต่ถ้าเขาไม่เชื่อ เขาอยากจะทำ ก็ปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา  เราไม่ต้องไปเดือดร้อนกับเขา  เพราะเรามีปัญญา  เพราะเรารู้ว่าเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้นั่นเอง  เป็นเรื่องของบุญของกรรม  ใครทำกรรมอันใดไว้ก็ต้องรับผลของกรรมอันนั้นไป ไม่ช้าก็เร็ว  นี่แหละคือเรื่องของบารมีทั้ง ๑๐  ที่พวกเราได้สะสมกันโดยไม่รู้ตัว  ทุกครั้งที่เรามาวัด เราได้สะสมบุญบารมี ถ้าสะสมไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยเจริญเติบโตไป เหมือนกับต้นไม้  แล้วไม่ช้าก็เร็วก็จะนำมาซึ่งผลที่เราทั้งหลายปรารถนากัน  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้