กัณฑ์ที่ ๑๔๕       ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขัดเกลาจิตใจ

 

วันนี้เป็นวันพระ วันธรรมสวนะ เป็นวันฟังธรรม  เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ให้ศาสนิกชน อุบาสก อุบาสิกา ได้มีเวลาว่างเว้นจากภารกิจการงาน เพื่อจะได้มาวัดเพื่อประกอบคุณงามความดี  สร้างสิ่งที่ดีงามคือความสุข ความเจริญ ความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง  ซึ่งจะเกิดขึ้นมาได้ เมื่อมาที่วัดกัน  เพราะที่วัดมีเหตุมีปัจจัย มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อเฟื้อให้ประกอบคุณงามความดีกัน  ในวัดมีพระสงฆ์องค์เจ้าผู้ทรงศีลทรงธรรม ผู้ที่สมควรแก่การรับสิ่งของบริจาคต่างๆ เพราะพระสงฆ์องค์เจ้าไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้อะไร  เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์องค์เจ้าออกไปทำมาหากินเลี้ยงชีพ  แต่ได้มอบไว้ให้กับศรัทธาญาติโยมเป็นผู้ดูแลเลี้ยงดู ไม่ต้องมากังวลเกี่ยวกับเรื่องการทำมาหากิน จะได้มีเวลาทุ่มเทไปกับการศึกษาและปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้บรรลุถึงธรรมอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ได้ทรงบรรลุถึง  เพื่อจะได้นำธรรมอันวิเศษ อันประเสริฐนี้ มาเผยแผ่ให้กับผู้ที่ยังไม่รู้ ยังไม่เห็น  เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐนี้ สามารถนำพาสัตว์โลกทั้งหลายให้ไปสู่ความสุขความเจริญ สู่การพ้นทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง  ไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือสัตว์โลก ได้เท่ากับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 

พระพุทธเจ้าจึงทรงให้ความสำคัญต่อการศึกษา การปฏิบัติ การบรรลุ และการเผยแผ่ธรรมยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้  สิ่งต่างๆอย่างอื่นเพียงแต่เป็นเครื่องสนับสนุนเท่านั้น  เช่น ที่อยู่อาศัยของพระ ที่ญาติโยมได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างขึ้นมา เป็นถาวรวัตถุต่างๆ มีกุฏิ วิหาร ศาลาต่างๆเหล่านี้  ล้วนเป็นเครื่องสนับสนุน  แต่ไม่ใช่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ  ถึงแม้จะไม่มีกุฏิ วิหาร ศาลา โบสถ์ ต่างๆ  ศาสนาก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้  ถ้าตราบใดมีผู้ศึกษาปฏิบัติธรรม  บรรลุธรรม  แล้วนำธรรมนั้นมาเผยแผ่ นี่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ยิ่งกว่าสิ่งอื่นๆใด  ด้วยเหตุผลดังนี้พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์องค์เจ้าออกไปทำมาหากินเลี้ยงชีพ ทำการซื้อขายต่างๆ   แต่ให้ทุ่มเทเวลาชีวิตจิตใจให้อยู่กับการศึกษา การปฏิบัติ และการบรรลุธรรมเป็นหลัก  และเมื่อได้บรรลุธรรมแล้ว จะได้นำเอาไปเผยแผ่สั่งสอนผู้อื่นต่อไป เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นเครื่องพาจิตใจให้ไปสู่ความสุขและความเจริญ ความเป็นสิริมงคลทั้งหลาย 

ดังนั้นเวลาที่มาวัด ญาติโยมก็จะได้ทำบุญ ได้ทำนุบำรุงพระสงฆ์องค์เจ้าด้วยการนำอาหาร ยารักษาโรค จีวร มาถวายพระ  เพราะเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ  นี่เป็นหน้าที่ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้กับศรัทธาญาติโยม  ฆราวาสผู้ยังครองเรือนอยู่  ผู้มีความอุดมสมบูรณ์พร้อมด้วยปัจจัย ๔ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ  เมื่อมีมากเกินความจำเป็น คือมีเหลือเฟือ ก็ควรนำเอาไปสงเคราะห์ผู้อื่น  โดยทรงให้เลือกสงเคราะห์คนดีก่อน เพราะการสงเคราะห์คนดี เป็นการส่งเสริมคนดีให้ประกอบคุณงามความดี  คนดีมีมากน้อยเท่าไรในสังคม ย่อมนำความเจริญ ความสุข ความสงบมาแก่สังคม  ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีคนไม่ดีมากน้อยเท่าไร ย่อมนำมาซึ่งความเดือดร้อนวุ่นวายในสังคม  เวลาที่จะทำบุญสงเคราะห์ผู้อื่น  ในเบื้องต้นจึงควรเลือกคนดีไว้ก่อน เพราะคนดีจะทำคุณทำประโยชน์ให้กับสังคม  เหมือนกับการมีที่ผืนหนึ่ง ถ้าปลูกต้นไม้ที่มีคุณค่า ดอกผลที่ออกมาก็จะมีคุณค่า มีประโยชน์  แต่ถ้าปล่อยให้วัชพืชหญ้าต่างๆ ที่ไม่มีประโยชน์เจริญเติบโตขึ้นมา  ก็จะทำให้ที่สกปรกรกรุงรังไร้คุณค่า   ฉันใดคนเราก็เป็นอย่างนั้น  คนดีย่อมสร้างคุณสร้างประโยชน์ให้กับสังคม  คนไม่ดีย่อมมีแต่จะทำลาย สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับสังคม การได้มีโอกาสมาทำบุญสงเคราะห์คนดี จึงเป็นบุญ  เพราะจะได้รับประโยชน์จากการทำบุญสงเคราะห์คนดี 

ประโยชน์ในเบื้องต้นที่จะได้รับก็คือ จิตใจได้รับการชำระ  ได้รับการขัดเกลาให้มีความโลภน้อยลงไป  ให้มีความเห็นแก่ตัวน้อยลงไป  ให้มีความตระหนี่น้อยลงไป ทำให้จิตใจมีความสะอาดขึ้น มีความเป็นสุขเพิ่มขึ้นมา เพราะความตระหนี่ก็ดี ความโลภก็ดี ความเห็นแก่ตัวก็ดี เป็นเหตุของความเศร้าหมองของจิตใจ  ทำให้จิตใจไม่มีความสดชื่นเบิกบาน  เมื่อได้กำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปจากใจด้วยการทำบุญให้ทานแล้ว ก็จะทำให้มีความปีติ  มีความสุข มีความสบายใจ  อย่างที่ท่านทั้งหลายมีอยู่ในปัจจุบันนี้  ท่านได้เอาชนะสิ่งเลวร้าย สิ่งที่จะสร้างความทุกข์ให้กับตัวท่าน คือความโลภ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวให้เบาบางลงไป ถ้าท่านสามารถทำไปเรื่อยๆแล้ว  ต่อไปจิตใจของท่านจะมีความสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จากการทำบุญให้ทานนี้  นี่คือประโยชน์แรกที่จะได้รับในการทำบุญให้ทานสงเคราะห์พระสงฆ์องค์เจ้า 

ประโยชน์ในลำดับที่ ๒  ที่ท่านจะได้รับกลับไปก็คือ  เมื่อได้มาวัดแล้วย่อมได้ฟังเทศน์ฟังธรรม  ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า  การได้ยินได้ฟังธรรมนี้  ก็คือการศึกษาพระธรรมคำสอน ศึกษาแนวทางที่จะนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิต  พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เปรียบเหมือนกับแผนที่ ที่ชี้บอกทางไปสู่จุดหมายที่ดีที่งามให้กับเรานั่นเอง  พวกเราทุกคนล้วนมีความปรารถนาที่จะมีความสุข มีความเจริญรุ่งเรือง  ไม่ปรารถนาที่จะต้องตกทุกข์ได้ยาก พบกับความเสื่อมเสีย ความหายนะทั้งหลาย  แต่ถ้าไม่มีผู้บอกทาง ก็จะไม่สามารถดำเนินไปสู่ความสุข ความเจริญ ความเป็นสิริมงคลตามที่ต้องการได้ เพราะไม่รู้จักทาง  เมื่อไม่รู้จักทาง ก็ต้องอาศัยผู้รู้บอกทางให้กับเรา  การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เป็นการฟังการบอกเล่า ถึงทิศทางที่จะนำพาไปสู่จุดหมายปลายทางที่ทุกคนปรารถนากัน  นี่ก็คือประโยชน์ที่จะได้รับ 

ประโยชน์ในลำดับที่ ๓ ที่จะได้รับจากการสงเคราะห์คนดีก็คือ เมื่อคนดีได้รับการดูแล  ก็จะมีเวลาปฏิบัติธรรม ประกอบคุณงามความดี  เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นได้เลียนแบบ  คนเราเวลาเห็นคนอื่นทำอะไร ที่เห็นว่าดี ก็จะทำตาม ทำให้มีคนดีเพิ่มขึ้นมา  เมื่อมีคนดีมากขึ้นในสังคม   สังคมก็จะมีความสงบร่มเย็นเป็นสุขมากเพิ่มขึ้น  ลองคิดดู ถ้าพวกเราทุกคนตั้งอยู่ในศีลธรรม คือศีล ๕  ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละเว้นจากการลักทรัพย์ ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ  ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา  แล้วสังคมจะเป็นอย่างไร  ย่อมเป็นสังคมที่อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข เพราะไม่มีภัยอะไรมาสร้างความเดือดร้อน  เวลาออกจากบ้านก็ไม่ต้องกังวลว่า จะมีใครเข้ามาขโมยของในบ้าน เวลาไปไหนตามลำพังก็ไม่ต้องกลัวว่า จะมีใครมาจี้ มาปล้น มาทำร้ายชีวิต มาข่มขืน นี่แหละคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคม ถ้าคนในสังคมทุกคนทำความดีกัน การที่คนจะทำความดีกัน ก็ต้องมีคนนำหน้า ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นก่อน เมื่อเห็นแล้ว ก็จะเกิดศรัทธา เห็นว่าการทำความดีนี้ดีจริงๆ ก็จะทำให้ทุกคนทำตาม เมื่อทำตามกันแล้ว ทุกคนในสังคมก็จะอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  นี่แหละคือความเจริญที่แท้จริงของมนุษย์เรา คือได้อยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีภัยต่อกันและกัน  นี่คือความเจริญของมนุษย์ ไม่ใช่การมีวัตถุสิ่งของต่างๆ มากมายก่ายกอง อย่างที่มีกันอยู่ทุกวันนี้  รอบตัวเรามีวัตถุข้าวของมากมาย แต่กลับไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่มีความสงบสุข ก็เป็นเพราะว่าคนในสังคมยังไม่มีคนดีมากพอ ยังมีคนไม่ดีในสังคมอยู่มาก ที่สร้างความเดือดร้อน สร้างความวุ่นวายให้กับผู้อื่น

ถ้าต้องการให้สังคมของเราเป็นสังคมที่เจริญอย่างแท้จริง จึงต้องหันมาพัฒนาตัวเราก่อน เมื่อพัฒนาตัวเราแล้ว เราก็จะได้รับประโยชน์จากการเป็นคนดี เพราะจะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น เมื่อไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ผู้อื่นก็ไม่มาสร้างความเดือดร้อนให้กับเรา  เราก็จะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขในระดับหนึ่ง และจะเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นเห็นถึงประโยชน์ของคุณของความดี ทำให้ผู้อื่นได้ทำตาม และเมื่อทุกคนเริ่มทำตามแล้ว ต่อไปทุกคนก็จะกลายเป็นคนดีหมด สังคมก็จะอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ถึงแม้จะไม่มีสมบัติ วัตถุข้าวของ มากมายก่ายกองก็ตาม ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญ ตราบใดถ้ามีสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเพียงพอ คือมีปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย

จึงควรหันมาสร้างคุณงามความดีกันดีกว่า เพราะเมื่อได้ทำความดีแล้วใจจะมีความสงบ เพราะความดีนี้แหละจะทำให้ใจสงบ เหตุที่ใจไม่สงบก็เพราะขาดความดี ขาดบุญขาดกุศล ที่จะเข้าไปชำระขัดเกลาจิตใจให้สะอาดหมดจดนั่นเอง เพราะว่าสิ่งที่มีอยู่ภายในใจที่เรียกว่ากิเลสตัณหานั้น เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง คนเราถ้าไม่มีกิเลสตัณหาแล้ว จะไม่มีปัญหาอะไรกับใครเลย อยู่เฉยๆก็มีความสุขแล้ว แต่เหตุที่ยังอยู่นิ่งเฉยๆไม่ได้ ก็เพราะว่ายังมีกิเลสตัณหาอยู่ ทั้งๆที่สิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพก็มีครบบริบูรณ์แล้ว มีบ้านอยู่ มีอาหารรับประทาน มีเสื้อผ้าใส่ มียารักษาโรค แต่ใจกลับมีความหิว มีความกระหายอยากในสิ่งต่างๆ อยากจะได้สิ่งต่างๆ อยากจะเที่ยว อยากจะเป็นนั่น อยากจะเป็นนี่ อยากจะเป็นเศรษฐี อยากจะเป็นรัฐมนตรี อยากจะเป็นนายก อยากจะมีอำนาจวาสนาบารมี มีตำแหน่งสูงๆ อยากจะให้ผู้อื่นสรรเสริญยกย่อง อยากจะมีความสุขจากการเที่ยว จากการเสพกามคุณทั้งหลาย คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

นี่คือปัญหาของใจที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลา เพราะไม่ได้ให้ความสนใจกับการทำความดีเท่าที่ควร ถ้าหันมาทำความดีให้มากยิ่งๆขึ้นไปแล้ว ต่อไปใจจะสงบเย็น มีความอิ่ม มีความพอ เมื่อมีความอิ่ม มีความพอแล้ว ก็จะไม่ต้องการอะไรมาก พวกเราทุกคนก็แสวงหาความสุข คือความอิ่มและความพอ แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไปคิดว่าอยู่ที่การสะสมเงินทองข้าวของ สมบัติต่างๆ ตำแหน่งสูงๆ การสรรเสริญเยินยอ การมีกามสุข  ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง ถ้าได้ฟังก็จะทราบว่า ความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ในใจของเรา ไม่ได้อยู่กับสิ่งต่างๆภายนอก พระพุทธเจ้าทรงได้พิสูจน์ความจริงข้อนี้มาแล้ว ในสมัยที่ยังไม่ได้เสด็จออกบวช ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม ก็ทรงเป็นเหมือนพวกเรา และดีกว่าด้วยซ้ำไป เพราะทรงมีพร้อมทุกอย่าง ในเรื่องของลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ทรงเป็นคนฉลาด  คอยสังเกตดูพระทัยอยู่เสมอ จึงทรงเห็นว่า ถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ภายในพระทัยก็ยังทรงมีความทุกข์ มีความเศร้าหมอง มีความวิตก มีความกังวล มีความกลัวอยู่ นี่ต่างหากคือปัญหาของใจ เมื่อทรงเห็นแล้วว่า สิ่งต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงมีอยู่ คือลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่สามารถมาทำให้จิตใจมีความสงบสุขได้ มีความอิ่ม มีความพอได้ จึงได้ทรงตัดสินพระทัยสละ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ของราชโอรส ออกบวชเพื่อแสวงหาความสุขที่แท้จริง ด้วยการปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมเป็นการทำความดีอีกระดับหนึ่ง เมื่อสักครู่นี้ได้แสดงเรื่องการทำบุญให้ทาน สงเคราะห์ผู้อื่น ซึ่งเป็นการทำความดีในเบื้องต้น เมื่อทำบุญทำทานแล้ว ในลำดับต่อไปก็ควรรักษาศีลปฏิบัติธรรม เพราะเป็นการทำความดีที่สูงขึ้นไป เป็นการชำระทำลายกิเลสตัณหา เครื่องเศร้าหมอง ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไป เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติอยู่ถึง ๖ ปีด้วยกัน หลังจากที่ได้สละราชสมบัติแล้ว เงินทองข้าวของต่างๆ ที่ทรงมีอยู่ ทรงสละหมดสิ้น แล้วมาอยู่แบบนักบวช เป็นขอทาน ออกบิณฑบาตทุกวัน อาศัยผู้อื่นเป็นผู้เลี้ยงดู ที่อยู่ก็อยู่ตามมีตามเกิด ตามโคนไม้บ้าง ในถ้ำบ้าง ยารักษาโรคก็ใช้ยาดองน้ำมูตรเน่า ส่วนผ้าครองคือจีวร ก็หาเศษผ้าที่ถูกทิ้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ ตามกองขยะ ตามป่าช้า แล้วนำมาปะติดปะต่อให้เป็นผ้าผืนใหญ่ เป็นจีวรขึ้นมา แล้วใช้นุ่งห่ม ความจำเป็นของนักบวชก็มีอยู่เท่านี้  แต่สิ่งที่นักบวชสนใจมากกว่าปัจจัย ๔ ก็คือ การปฏิบัติชำระจิตใจ เพราะตราบใดถ้ายังมีกิเลสตัณหา มีความโลภ โกรธ หลง มีความอยากต่างๆ อยู่ในใจ ต่อให้มีสมบัติเงินทองกองเท่าภูเขา ต่อให้เป็นพระมหาจักรพรรดิ ก็จะยังไม่มีความสุข ยังมีความหิว มีความกระหาย มีความวิตก มีความหวาดกลัวอยู่อย่างนั้นไปเสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจ เราจึงต้องปฏิบัติธรรมกัน เพราะการปฏิบัติธรรมเป็นการกำจัดกิเลสตัณหา ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว จนสามารถชำระพระทัยของพระองค์ให้สะอาดหมดจด สิ้นความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ้นความอยากทั้ง ๓ คือ ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น  

การปฏิบัติธรรมก็คือการทำจิตให้สงบในเบื้องต้น เมื่อจิตสงบแล้วก็สอนจิตให้รู้ถึงเหตุถึงผลของสุขและทุกข์ ว่าเกิดจากอะไร เมื่อรู้แล้วว่าเหตุของสุขเป็นอะไรก็เจริญเหตุนั้น  เมื่อรู้ว่าเหตุของทุกข์เป็นอะไร ก็ลดละเหตุของความทุกข์นั้น เหตุของความทุกข์ก็คือความอยากทั้ง ๓ นี้เอง ก็ต้องต่อสู้ต้องฝืน ทุกครั้งที่อยากจะมีกามสุข ก็ต้องฝืนไม่ไปแสวงหากามสุข ทุกครั้งที่อยากจะมี อยากจะเป็น ก็ต้องฝืนไม่ให้มี ไม่ให้เป็น ทุกครั้งที่ไม่อยากจะมี ไม่อยากจะเป็นก็ต้องฝืน การไม่อยากมีไม่อยากเป็นก็หมายถึง การไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพรากจากของรัก  นี่เป็นความไม่อยาก ต้องระงับดับความไม่อยากนี้ให้ได้  ด้วยการยอมรับความจริงว่า เป็นธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็ต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา พวกเราทุกคนที่อยู่ในศาลานี้ ไม่มีใครที่ไม่ตายกัน เมื่อเกิดมาแล้วทุกคนก็ต้องตายกัน เมื่อเราทำความเข้าใจแล้ว ยอมรับความจริงนี้ได้แล้ว ก็จะระงับดับความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตายได้ เมื่อระงับได้แล้ว ใจก็จะไม่วุ่นวายกับความแก่ กับความเจ็บ กับความตาย เพราะเห็นแล้วว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ

นี่แหละคือวิธีที่ใช้ต่อสู้ชำระตัณหาความอยากทั้งหลาย ที่มีอยู่ในใจของเรา ด้วยการปฏิบัติธรรม เวลาอยากจะทำอะไร ถ้าพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลแล้วว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำ ก็ไม่ต้องทำ ถ้ายังอยากจะทำอยู่ ก็นั่งสมาธิเสีย ทำสมาธิแทนที่จะไปทำในสิ่งที่อยากทำ เช่น สมมุติว่าอยากจะออกไปเที่ยว แล้วพิจารณาว่า การออกไปเที่ยวไม่เกิดประโยชน์อะไร  ไม่มีความจำเป็นต้องทำ ไม่ได้เที่ยวก็ไม่ตาย เมื่อเป็นเช่นนั้น  สู้เอาเวลาที่จะออกไปเที่ยวมานั่งทำสมาธิดีกว่า บังคับใจให้อยู่ในบ้าน ให้นั่งทำสมาธิ ไหว้พระสวดมนต์ก็ได้ กำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งก็ได้ นั่งไปนานๆ เท่าที่จะทำได้ เมื่อทำไปแล้ว ถ้าจิตเกิดความสงบขึ้นมา ความอยากจะออกไปเที่ยวก็จะหายไป เพราะความอยากเกิดขึ้นได้ก็ดับได้เหมือนกัน  ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถาวร เป็นเหมือนทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง

อารมณ์ต่างๆในใจล้วนแต่มีการเกิดดับๆเป็นธรรมดา ถ้าเราฉลาดรู้ทัน  ก็ปล่อยให้เกิดไป ปล่อยไว้สักพักก็ดับไปเอง ถ้าไม่ฉลาด ก็จะกระโดดรับความอยากทันที เวลาอยากจะไปเที่ยว ก็ต้องออกไปทันที เวลาอยากจะไปกิน ก็ต้องออกไปทันที โดยไม่ใช้ปัญญาคือเหตุผล มาพิจารณาก่อนเลยว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องไปเที่ยว จะต้องไปกิน ถ้าไม่จำเป็น สู้รู้อยู่เฉยๆดีกว่า รู้ว่าความอยากก็สักแต่เป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นมาได้ ไม่ช้าก็เร็วก็ดับไปได้เหมือนกัน ไม่ต้องไปวิ่งตามคำสั่งของความอยาก นี่คือวิธีที่จะใช้ต่อสู้กับความอยาก เป็นการทำลายความอยากให้เบาบางลงไป จนหมดไปในที่สุด เมื่อไม่มีความอยากแล้ว  จะมีอะไรมาสร้างความทุกข์ให้กับเรา จะมีอะไรมาสร้างความหิวความกระหายให้กับเรา ไม่มี ใจของเราจะมีความอิ่ม มีความพอ มีความสุข เมื่อมีความสุข มีความพอแล้ว จะไปหาอะไรอีก ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปหาอะไรทั้งสิ้น

ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง หลังจากได้ทรงชำระกิเลสตัณหาให้หมดไปจากพระทัยแล้ว ก็ไม่ได้ไปแสวงหาอะไรอีกเลย ไม่ได้อยากจะเป็นอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้อยากจะมีอะไรทั้งสิ้น อยู่ก็อยู่ทำประโยชน์ ช่วยเหลือผู้อื่น สั่งสอนเรื่องราวที่ได้ทรงสัมผัสมา ให้ได้รู้ได้เห็นถึงความสุขที่แท้จริง ว่าอยู่ที่ไหน พวกเราทุกคนในขณะนี้ยังอยู่ในท่ามกลางความหลงอยู่ ถูกความหลงหลอกให้ออกไปหาความทุกข์ แทนที่จะหาความสุข ไปหาความทุกข์เหมือนคนที่ติดยาเสพติด ที่คิดว่ากำลังหาความสุข เวลาที่เสพยาก็คิดว่ามีความสุข แต่เป็นความสุขที่เป็นส่วนน้อย เพราะหลังจากที่ได้เสพไปแล้ว ก็ต้องติดยา วันไหนเวลาไหนไม่มียาให้เสพ ก็จะต้องทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง อยู่เฉยๆไม่ได้ พวกเราก็เช่นกัน พวกเราก็ออกไปวิ่งหาเงินทอง หาลาภ ยศ สรรเสริญ สุขกัน เวลาหามาได้ ก็มีความสุขกัน แต่เวลาไม่มี เช่น เงินทองขาดมือไป ก็มีความทุกข์กัน เวลาที่อยากจะออกไปเที่ยวแล้วไม่ได้ไปเที่ยว ก็มีความทุกข์กัน นี่แหละจึงบอกว่าเรากำลังวิ่งหาความทุกข์กัน ไม่ได้วิ่งหาความสุขกัน  ถ้าจะวิ่งหาความสุขกันจริงๆ เราต้องทำใจให้นิ่ง ต้องหยุดใจให้ได้ ถ้าชนะใจเราได้แล้ว เราอยู่เฉยๆที่บ้าน ก็มีความสุข  ถึงแม้ไม่มีเงินทอง ก็ไม่เดือดร้อน ถึงแม้จะไม่มีข้าวกินบางมื้อ ก็ไม่เดือดร้อน เพราะใจมีกำลังต่อสู้กับความอยาก ด้วยความสงบสุข ความอิ่ม ความพอนั่นเอง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้