กัณฑ์ที่  ๑๔๖        ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๕

แก้ปัญหาด้วยธรรมะ 

 

วันนี้เป็นวันที่ญาติโยมได้มาร่วมทำบุญทำกุศลกัน  การทำบุญก็คือการทำความสุขให้กับจิตใจ  ด้วยการให้ทาน  รักษาศีล  ส่วนการทำกุศลก็คือ การทำความฉลาด ซึ่งเกิดจากการได้ยินได้ฟังธรรม  เกิดจากการปฏิบัติธรรม  การที่คนเราจะฉลาด มีปัญญาอยู่เหนือความทุกข์ ความวุ่นวายใจได้ ก็ต้องมีปัญญา คือธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ  และการที่จะมีธรรมะอยู่ในใจได้ ก็ต้องอาศัยการฟังเทศน์ฟังธรรมในเบื้องต้น เมื่อฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว  ก็นำไปปฏิบัติกับกาย วาจา ใจ  แล้วธรรมะก็จะเข้าสู่ใจ  เมื่อธรรมะมีอยู่ในใจแล้ว  ก็จะมีน้ำดับทุกข์ มีเครื่องดับทุกข์  ใจจะไม่ทุกข์  ไม่วุ่นวาย ไม่มีความว้าวุ่นขุ่นมัว  ไม่มีความเศร้าหมอง  ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ  เพราะมีธรรมะไว้คอยกำจัดสิ่งเหล่านี้ 

เวลาที่มีความทุกข์ มีความไม่สบายใจ มีความกังวลใจ มีความว้าวุ่นขุ่นมัว เราจึงต้องแก้ปัญหาที่ใจ เพราะปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นภายในใจ  ไม่ได้อยู่ภายนอก สิ่งภายนอก เช่น บุคคลต่างๆ  วัตถุต่างๆ  หรือเหตุการณ์ต่างๆ เป็นแต่เพียงชนวนที่ไปจุด ไปปลุกความทุกข์ให้เกิดขึ้นภายในใจ  ดังนั้นเวลาที่เรามีความทุกข์ ขอให้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างภายนอก แล้วเข้ามาแก้ปัญหาภายในใจ  เพราะใจกำลังฟุ้งซ่าน  กำลังคิดแบบไม่รู้จักหยุดจักหย่อน  ถ้าเป็นรถยนต์ก็เหมือนกับรถที่วิ่งลงเขา  ถ้าไม่เบรกไม่ทำให้วิ่งช้าลง  ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องแหกโค้งตกเหวไปในที่สุด  ฉันใด ถ้ามีความไม่สบายใจ มีความทุกข์ มีความว้าวุ่นขุ่นมัว  เราควรรีบหันเข้ามาที่ใจเรา ระงับสิ่งเหล่านี้ทันที  อย่าไปกังวลกับสิ่งภายนอก ที่สร้างความวุ่นวายใจ  สิ่งภายนอกเป็นเพียงแต่เป็นชนวนเท่านั้นเอง  เราต้องมาทำลายเหตุที่มีอยู่ภายในใจของเรา  

เหตุที่ทำให้จิตว้าวุ่นขุ่นมัว  มีความทุกข์ ก็คือความคิดปรุง ความฟุ้งซ่าน  ต้องระงับความคิดปรุงนี้ในเบื้องต้นก่อน ด้วยการกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ได้  หรือบริกรรมพุทโธๆๆภายในใจก็ได้  หรือสวดมนต์บทใดบทหนึ่งก็ได้ ที่เราจำได้  ไม่ต้องเป็นบทที่ยาว  บทไหนก็ได้  สั้นๆก็ได้  เช่น นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ  ก็ได้  ขอให้ระลึกถึงบทสวดมนต์นี้ในใจ  อย่าไปคิดเรื่องอื่น  พยายามอยู่กับบทสวดมนต์นี้  เพราะเป็นอุบายแห่งการระงับความคิดปรุง ที่สร้างความฟุ้งซ่าน สร้างความทุกข์ ความวุ่นวายใจให้เกิดขึ้น  เพราะว่าใจทำงาน คิดปรุงได้ทีละอย่าง  จะคิด ๒ - ๓ เรื่องทีเดียวพร้อมๆกันไม่ได้   ถ้ามีพุทโธอยู่ในใจ หรือมีลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ ความคิดอย่างอื่นก็จะคิดแทรกขึ้นมาไม่ได้ 

ถ้าสามารถควบคุมใจให้อยู่กับบทใดบทหนึ่งได้  ไม่ว่าจะเป็นบทสวดมนต์   หรือบริกรรมพุทโธๆๆ  หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออกอย่างต่อเนื่อง  โดยไม่ให้จิตกระโดดไปหาเรื่องที่สร้างความวุ่นวายใจ  ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะค่อยๆสงบตัวลง  และในที่สุดก็จะสงบนิ่งไป  เมื่อสงบนิ่งไปแล้ว ใจก็จะกลับมาสู่ความปกติ  มีความสงบ  มีความเย็น  มีความสบาย มีความสุข  เมื่อจิตมีความเป็นปกติแล้ว เราก็จะเริ่มเห็นโทษของความคิดปรุงแต่ง ที่ไปคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือเป็นสิ่งของ  หรือเป็นเหตุการณ์ต่างๆ  เมื่อใจมีความสงบแล้ว  เราก็จะมีเหตุมีผล มีปัญญาขึ้นมา  เริ่มมองเห็นความจริงแล้วว่า ความทุกข์ทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นจากใจ ที่ไปอยากกับเรื่องราวต่างๆภายนอก  เช่น อยากให้คนนั้นเป็นอย่างนั้น  เป็นอย่างนี้  อยากให้เหตุการณ์เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้  อยากให้สิ่งของต่างๆเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้  เมื่อไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการตามความอยาก ก็จะเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว  เช่น อยากจะให้สามีหรือภรรยาอยู่กับเรา มีความซื่อสัตย์กับเรา แต่กลับไม่ได้เป็นดังที่ต้องการ  ใจเราก็จะเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ  แล้วก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร 

ถ้าแก้ปัญหาด้วยธรรมะ  ในเบื้องต้นต้องทำใจให้สงบก่อน  ลืมเรื่องเขาไปเสียก่อน  เขาจะดี เขาจะชั่วอย่างไร ตอนนี้เราไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องไปสนใจ  ตอนนี้มาทำใจของเราให้เป็นปกติเสียก่อน  ตอนนี้ใจกำลังไหม้ด้วยความทุกข์  ไฟแห่งความทุกข์กำลังเผาผลาญใจ  จะมัวไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่นทำไม  ยิ่งไปยุ่ง ก็ยิ่งทำให้ไฟในใจยิ่งไหม้ลุกมากขึ้นไปอีก ต้องรีบดับไฟในใจเสียก่อน  เหมือนกับเวลาไฟไหม้บ้านเรา ต้องรีบดับไฟที่บ้านก่อน  ไม่ใช่จะไปโทษคนนั้น โทษคนนี้ ว่าทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นมา มันไม่เกิดประโยชน์อะไร  รีบหาน้ำมาดับไฟเสียก่อนจะดีกว่า  เพราะว่าไฟจะได้ดับ  ถ้ามัวแต่ไปโทษคนนั้น โทษสิ่งนี้แล้ว  ไม่ได้หาน้ำมาดับไฟ  ในที่สุดบ้านของเราก็จะไหม้หมดสิ้นไป

ใจของเราก็เป็นเช่นนั้น  ปัญหาอยู่ที่ใจ ความทุกข์อยู่ที่ใจ ไฟอยู่ในใจ ต้องดับไฟในใจเสียก่อน  และสิ่งที่จะดับไฟในใจได้ ก็มีสิ่งเดียวเท่านั้นในโลกนี้ คือธรรมะของพระพุทธเจ้า ด้วยการปฏิบัติธรรม  ในเบื้องต้นถ้าไม่ฉลาด ไม่มีปัญญาพอที่จะไประงับดับได้ ก็ต้องใช้อุบายแห่งสมาธิ  ดังที่ได้แสดงไว้ คือให้กำหนดจิตให้อยู่กับธรรมะบทใดบทหนึ่ง  จะเป็นบทสวดมนต์ก็ได้  เป็นพุทโธๆๆก็ได้  หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ได้  ให้ดูไป ให้ปฏิบัติไป  จนกระทั่งจิตเข้าสู่ความสงบ  ไฟในใจดับไปแล้ว  ถึงแม้จะไม่ดับอย่างถาวร อย่างน้อยที่สุดก็ดับไปในขณะนี้  เพราะสมาธิไม่สามารถดับทุกข์ได้อย่างถาวร  เพราะไม่ได้เข้าไปขุดรากถอนโคนของต้นเหตุของความทุกข์  สิ่งที่จะถอนรากถอนโคนของความทุกข์ให้หมดไปได้ต้องเป็นปัญญา  แต่จะต้องทำหลังจากที่ใจกลับมาเป็นปกติเสียก่อน  เป็นใจที่สงบเย็น มีเหตุมีผล ไม่มีอารมณ์ โลภ โกรธ หลง ครอบงำ  เพราะถ้ามี จะไม่มีทางอบรมสั่งสอนให้เห็น ให้เข้าใจได้ 

ในเบื้องต้นเมื่อเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา  ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน  เราสามารถแก้ได้ทันที  ถ้าหลีกออกจากเหตุการณ์ได้ก็ดี ไปหามุมสงบที่ไหนสักแห่งหนึ่ง  ถ้าไม่มีที่ไหน ก็ลองไปนั่งในห้องน้ำก็ได้ อยู่คนเดียวหลับตา บริกรรมพุทโธๆๆ  หรือสวดมนต์บทใดบทหนึ่งไปในใจ หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก  อยู่ในห้องนั้นไป จนกว่าใจจะเป็นปกติ กลับมาเป็นธรรมดา ให้ความทุกข์ ความว้าวุ่นที่มีอยู่ในใจหายไปเสียก่อน  เมื่อหายไปแล้ว ทีนี้ถ้าต้องการจะใช้ปัญญามาถอนรากถอนโคนความทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อสักครู่นี้ ก็ย่อมทำได้ โดยใช้เหตุผล  เช่น ถามตัวเองว่า  บุคคลต่างๆ สิ่งของต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ เราไปบังคับ ไปควบคุมได้หรือไม่  ถ้าบังคับได้ ควบคุมได้ แก้ไขได้ ก็ไปแก้ไขเสีย  บางสิ่งบางอย่างในโลกนี้ ก็พอดูแลแก้ไขกันได้  แต่บางสิ่งบางอย่าง ก็แก้ไขไม่ได้  ห้ามไม่ได้  ใจของคนอื่นบางทีก็ห้ามเขาได้  พูดกับเขาดีๆ ด้วยเหตุด้วยผล เขามีความเห็นตรงกัน เขายอมรับ เขาก็ทำได้ เป็นไปตามที่เราต้องการได้  แต่ในบางกรณี เขามีความรู้สึกนึกคิดตรงกันข้ามกับเรา ไม่เป็นไปดังที่เราต้องการ  เราก็ไปห้ามเขาไม่ได้  เมื่อห้ามเขาไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับความจริงข้อนี้  ถ้าไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ เราก็ยังต้องมีความว้าวุ่นขุ่นมัวกับคนๆนั้นอยู่ต่อไป 

เช่น ถ้าเขาอยากจะไปเที่ยว อยากจะไปมีแฟนใหม่ เราขอร้องเขา พูดกับเขาดีๆ เขาไม่ยอม เขาก็ยังจะทำอย่างนั้น  เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าเราห้ามเขาไม่ได้  เหมือนกับไปห้ามไม่ให้ไฟไม่ร้อนไม่ได้  ไฟย่อมร้อน  หรือไปห้ามไม่ให้มะนาวเปรี้ยวไม่ได้  ฉันใด คนชั่ว คนเลว คนที่จะเป็นอย่างนั้น เราก็ไปห้ามเขาไม่ได้  เมื่อเขาอยากจะนอกใจเรา ไปมีแฟนใหม่ เราก็ห้ามเขาไม่ได้  แต่เราห้ามใจของเราไม่ให้ทุกข์ได้ ด้วยความเข้าใจสัจจธรรมความจริงของชีวิต ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเรา  เราควบคุมได้บางครั้ง บางคราว บางเวลา บางคน   แต่จะไปควบคุมอยู่ตลอดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้  เมื่อเรารู้แล้วว่าเราควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้  ก็ปล่อยวางเสีย  ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา  ถือเสียว่าบุญของเรากับเขามีเพียงเท่านี้ ก็ต้องแยกทางกันไป ก็ไม่เป็นไร ตัวใครตัวมัน  เพราะไม่ช้าก็เร็วก็ต้องแยกทางกันอยู่ดี   เพราะคนเราเกิดมาแล้ว ก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น  ไม่เขาตายก่อนเรา เราก็ตายก่อนเขา  หรือไม่เช่นนั้นก็ตายพร้อมๆกัน   แต่อย่างไรๆก็ต้องแยกกันอยู่ดี  เมื่อคิดได้แล้ว เราก็จะสบายใจ รับความจริงได้ 

นี่แหละคือวิธีแก้ไขทุกข์ด้วยปัญญา เข้าไปแก้ไขที่รากที่โคนเลย ถอนออกมาทั้งรากทั้งโคน รับรองได้ว่าต่อไปจะไม่มีความทุกข์กับคนๆนั้นอีกต่อไป  คนๆนั้นจะรุ่งเรือง จะมีความสุข เราก็ไม่เดือดร้อน จะมีความทุกข์ ความหายนะอย่างไร เราก็ไม่เดือดร้อน เหมือนกับคนอีกหลายพันล้านคนในโลกนี้ ที่ใจของเราไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วย  ไม่ได้ไปได้ไปเสียกับบุคคลเหล่านั้น เราก็ไม่เดือดร้อน  ปัญหาของเราจึงอยู่ที่ใจเรา ที่ไปมีความอยาก มีได้มีเสียกับบุคคลนั้นๆ หรือสิ่งนั้นๆ  หรือกับเหตุการณ์นั้นๆ   เมื่อมีได้มีเสียแล้ว ใจก็จะพะวักพะวน เหมือนคนที่ซื้อหวย ซื้อล๊อตเตอรี่ นี่เขามีได้มีเสียแล้ว  ใจเขาจะต้องพะวักพะวน รอดูว่าจะออกเลขอะไร  ไม่มีเวลาที่จะไปทำอะไรอย่างอื่น  ใจจะมัวว้าวุ่นกังวลอยู่กับเลขที่กำลังจะออก  ถ้าออกมาไม่ถูก ก็เกิดความเสียใจ

ส่วนอีกคนหนึ่งที่ไม่มีได้มีเสียกับหวยเลย ไม่ได้ซื้อเลย  คนๆนั้นก็ไม่เดือดร้อน  จะออกเลขอะไรมา ก็ไม่เดือดร้อน  เพราะไม่มีได้มีเสียกับเลขที่จะออก  คนนั้นแหละเป็นคนฉลาด  เขามีสมถะ มีสันโดษ ยินดีตามมีตามเกิด พอใจกับการทำมาหากินด้วยความสุจริต ไม่ได้หวังความร่ำรวยแบบลมๆแล้งๆ  เช่น การซื้อหวย เพราะคนส่วนใหญ่ที่ซื้อหวยล้วนแต่ผิด  ล้วนแต่ไม่ถูกทั้งนั้น  มีคนส่วนน้อยที่จะถูกหวยกัน  คนส่วนใหญ่จะมีแต่เสียเงิน  และเงินที่เสียไปนี้ ก็เอาไปให้คนที่ถูกหวยนั้นแหละ   ที่เหลือก็แบ่งให้เจ้ามือไป  ดังนั้นคนที่จะได้ก็มีอยู่ ๒  พวก  คือคนถูกหวยซึ่งมีไม่กี่คน  กับเจ้ามือเท่านั้นเอง  แต่คนส่วนใหญ่ที่ไปแทงหวยที่ไม่ถูกหวยนั่นแหละ เป็นคนเสียเงินไปโดยใช่เหตุ  แทนที่จะเก็บเงินนั้นไว้ ก็เลยต้องสูญเงินไป ถ้าเป็นคนมักน้อยสันโดษ  มีเงินทองก็พยายามอดออมเก็บรักษาไว้  ชั่วเวลาเพียงไม่กี่ปี เงินที่เก็บไว้ จะมีมากกว่าเงินที่ได้จากการถูกหวย ถูกล๊อตเตอรี่เสียอีก แต่ใจไม่เย็น ถูกความโลภ ความอยาก ครอบงำ  อยากจะรวยเร็วๆ  จึงหาเงินด้วยทางลัดกัน  แทนที่จะรวย ก็ยิ่งกลับจนลงไป 

นี่เป็นเรื่องของอวิชชาความไม่รู้จริง  หรือโมหะความหลงพาไป ให้เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  ก็เลยต้องอยู่ในท่ามกลางความทุกข์แบบไม่รู้จักจบจักสิ้น  เพราะไม่มีธรรมะแสงสว่างคอยชี้ทาง ว่าทางแห่งความสุขนั้นอยู่ที่ไหน ถ้าได้ศึกษาธรรม ได้ยินได้ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ  จะรู้ว่าความสุขมีอยู่ในตัวเราแล้ว  เพียงแต่รอให้เราปลุกให้เกิดขึ้นเท่านั้นเอง  เหมือนกับมีไฟอยู่ในบ้านเราแล้ว เพียงแต่รอให้เราเปิดสวิตซ์ไฟ  ไฟก็จะติด แสงสว่างก็จะมา  ใจของเราก็เป็นเช่นนั้น  ในขณะนี้ใจของเรายังมืดบอดอยู่  ยังโง่เขลาเบาปัญญาอยู่  เพราะเราไม่เปิดสวิตซ์ไฟในใจของเรานั่นเอง ไม่เปิดธรรมะให้ส่องแสงสว่างออกมา  เราปล่อยให้กิเลสตัณหาเป็นตัวนำทาง  เราก็เลยว้าวุ่นขุ่นมัว  มีแต่ความเศร้าหมองอยู่ตลอดเวลา  เกิดมาอยู่ในโลกนี้ก็เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว   ชีวิตก็ยังเหมือนเดิมๆอยู่  ยังไม่เคยพบกับความสุขที่แท้จริงเสียที  นั่นก็เป็นเพราะว่า เราไม่ค่อยสนใจศึกษา พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ากัน  เลยไม่มีแสงสว่างภายในใจไว้นำทาง  เราปล่อยให้ความมืดความหลงเป็นตัวนำทาง  จึงพาให้เรามีแต่ความอยาก  และเมื่อมีความอยาก   ความอยากก็สร้างความทุกข์ใจให้กับเรา 

แต่วันนี้เราได้ยินแล้วว่า วิธีที่จะแก้ความทุกข์ใจ ก็คือการปฏิบัติธรรม   และการปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมาที่วัดอย่างเดียว  การมาที่วัดก็เป็นเพียงการมาศึกษา  มาฝึกฝนวิธีการปฏิบัติธรรม  พอรู้แล้วว่าวิธีปฏิบัติธรรม คือการควบคุมจิตใจ  การระงับดับความโลภ ความอยากนั้น ทำอย่างไร  เมื่อรู้แล้วเราก็นำไปปฏิบัติกับเรา  การปฏิบัติก็ปฏิบัติที่กาย วาจา ใจ ของเราเท่านั้นแหละ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใจของเรา  เราอยู่ที่ไหน เรามีสติ  คอยดูความคิดของเราอยู่เสมอ  ดูอารมณ์ของเราอยู่เสมอว่า ในขณะนี้ใจของเรามีอะไรครอบงำอยู่  มีความสุข มีความสบายใจครอบงำอยู่ หรือมีความทุกข์ มีความกังวล มีความว้าวุ่นขุ่นมัวครอบงำอยู่ ก็ถือว่าเรากำลังปฏิบัติธรรมแล้ว ถ้าเรามีสติดูใจของเราอยู่ตลอดเวลา  เราจะเห็น  ส่วนใหญ่เราไม่เห็นกัน เพราะอะไร  เพราะเราไม่ดูใจเรา  เราจะดูแต่สิ่งภายนอก  จะดูคน ดูสิ่งต่างๆ  แล้วใจของเราก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา  แต่เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอารมณ์ขึ้นมาแล้ว  เช่น พอเห็นคนที่เราไม่ชอบ เราก็เกิดอารมณ์หงุดหงิดไม่สบายใจแล้ว  เราเห็นคนที่เราชอบ เราก็เกิดอารมณ์ยินดีขึ้นมาแล้ว  อยากจะอยู่ใกล้ชิดกับคนๆนั้นแล้ว

เหล่านี้ล้วนเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจเรา แต่เราจะไม่เห็น เราจะไม่รู้กันเพราะเรามัวไปมองข้างนอก เราเลยไม่เห็นศัตรูหรือภัยที่อยู่ภายในใจของเรา แล้วเมื่อภัยเริ่มก่อตัวขึ้นจากภัยเล็กๆน้อยๆ เหมือนกับไฟที่จุดด้วยไม้ขีด เมื่อเริ่มก่อตัวขึ้นมาเป็นไฟกองใหญ่ เราก็จะไม่มีกำลังที่จะไประงับดับได้ ก็ต้องปล่อยให้ลามออกมาทางวาจา ทางกาย เลยไปเกิดปัญหาต่างๆตามมา เกิดการทะเลาะวิวาท พูดจาผรุสวาท เกิดการทุบตีทำร้ายร่างกายกันขึ้นมา  เหล่านี้ล้วนเกิดจากการที่เราไม่รู้จักวิธีดูแลรักษาใจเรา  เหมือนกับคนขับรถที่ไม่รู้จักวิธีดูแลรักษารถ  ในขณะที่รถวิ่งอยู่บนท้องถนน  ไม่รู้วิธีจับพวงมาลัยให้เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา  ไม่รู้จักเหยียบเบรก มีแต่เหยียบคันเร่งอยู่อย่างเดียว  ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เมื่อมาถึงโค้งรถก็ต้องแหกโค้งออกไป เมื่อถึงสี่แยกไฟแดงก็ต้องวิ่งไปชนกับรถที่วิ่งมาจากเส้นทางอื่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา  

ฉันใด ชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้น  ถ้าไม่มีสติปัญญาคอยควบคุมดูใจของเรา ก็จะมีแต่ปัญหา เพราะใจของเราก็คือรถยนต์แห่งชีวิตนี่แหละ  ชีวิตของเรานี้ก็คือใจของเรา คือการดำเนินของใจเรา  ถ้าดำเนินไปโดยไม่มีการดูแล ไม่มีเบรกคอยแตะคอยเหยียบให้หยุด  ไม่มีพวงมาลัยให้หักหลบไปซ้ายไปขวา ก็จะมีแต่การชนกันอย่างเดียว  นี่เป็นเพราะว่าเราไม่ได้ปฏิบัติธรรม  ไม่มีสติคอยดูใจของเรา  แต่วันนี้เรามาได้ยินได้ฟังแล้วว่า ใจของเราเปรียบเหมือนกับรถยนต์  ทุกขณะที่มีการเคลื่อนไหวในความคิดของเรา  แสดงว่ารถยนต์ของใจเรากำลังวิ่งไปแล้ว  เราต้องดูว่ากำลังคิดอะไรอยู่  คิดดีหรือคิดร้าย  คิดไปในทางโลภ โกรธ หลง ในความอยากต่างๆ  เช่น อยากในกาม อยากมีอยากเป็น อยากไม่มีอยากไม่เป็น หรือไม่  ถ้าคิดไปในทางนี้แล้วต้องเหยียบเบรก บอกว่ากำลังวิ่งฝ่าไฟแดง เดี๋ยวจะต้องไปชนกันอย่างแน่นอน  เดี๋ยวจะต้องเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ต้องคิดไปในทางตรงกันข้าม  ต้องไม่โลภ ต้องไม่โกรธ ต้องไม่หลง ต้องไม่อยากในกาม ต้องไม่อยากมีอยากเป็น ต้องไม่อยากไม่มีอยากไม่เป็น  

ถ้าเราควบคุมใจได้อย่างที่เราควบคุมรถยนต์ การดำเนินชีวิตของเราก็จะเป็นไปด้วยความราบรื่นดีงาม ปลอดภัยจากพิษภัยทั้งหลาย  แต่ถ้าเราไม่ควบคุม ปล่อยให้ไปตามทิศทางของกิเลสตัณหา เช่น เวลามีความโลภขึ้นมาก็จะต้องเอาให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่จะได้มา ว่าจะมีผลร้ายผลดีตามมาอย่างไร  เวลาโลภแล้วไม่ว่าจะเป็นสามีใคร เป็นภรรยาใคร ก็จะเอาให้ได้ อย่างนี้ก็เป็นการสร้างความทุกข์ให้ตามมาอย่างแน่นอน  หรืออยากจะได้สมบัติข้าวของ หรือตำแหน่งอะไรก็ตาม  ถ้าเกิดมีความโลภแล้ว ต้องเอามาให้ได้ด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด  ถ้าไม่ได้ด้วยความสุจริตก็ต้องได้มาด้วยวิธีทุจริต  เมื่อไม่ได้มาด้วยความซื่อตรง ก็ต้องหามาด้วยเล่ห์ด้วยกล  ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วผลเสียก็จะตามมาต่อไป  หรือถ้าพยายามสุดเหวี่ยงแล้ว ก็ยังไม่ได้ ก็จะเกิดความเสียใจ เกิดความผิดหวังตามมา  ล้วนแต่เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น 

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดความโลภแล้ว เราใช้ปัญญาเข้าไประงับ บอกว่าไม่เอาดีกว่า ไม่เอาก็ไม่ตาย ขณะนี้เราก็อยู่ของเราได้ อยู่คนเดียวก็อยู่ได้ ไม่มีสามีก็ไม่เดือดร้อน ไม่มีภรรยาก็ไม่เดือดร้อน  ถ้าคิดแบบนี้ได้ปัญหาก็หมดไป ไม่ต้องวิ่งไปหาสิ่งต่างๆมา  ไม่ต้องไปหาสามี ไม่ต้องไปหาภรรยา  แล้วรับรองได้ว่า เมื่อได้มาแล้ว ก็เป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว  เหมือนกับที่เขาพูดว่า เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล  เวลาใหม่ๆ มันก็หวาน ทุกอย่างดีไปเสียหมด  พออยู่กันไปสักพักหนึ่ง พอธาตุแท้ธาตุเดิมเริ่มออกมา  ความโกรธ ความขี้เกียจ ความไม่ดีอะไรต่างๆ ที่มีอยู่ในใจก็จะแสดงออกมา  เมื่อนั้นแหละความหวานทั้งหลาย ก็จะหายไป เหลือแต่ความขมขื่น  นี่แหละคือลักษณะของสิ่งต่างๆ ในโลกนี้  เวลาที่เราอยากได้ เวลาได้มาใหม่ๆ มันก็ดี มันก็หวาน  แต่พออยู่ไปสักพักหนึ่ง ก็เกิดความเคยชิน แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา 

นี่เป็นธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ จึงทำให้เราต้องหาใหม่อยู่เรื่อยๆ   เวลาได้อะไรใหม่ๆมา ก็ดีใจ  ใช้ไปสักพักหนึ่ง ก็เห็นว่าเป็นของเก่าไปเสียแล้ว  บริษัทที่ผลิตสิ่งของต่างๆก็ฉลาด  เอาของใหม่ๆออกมาล่อใจอยู่เรื่อยๆ   พอเห็นรุ่นใหม่ๆออกมา ก็อดที่จะอยากไม่ได้อีก  ก็ต้องไปหาซื้อมาใหม่อีก  ก็ต้องเหนื่อย ต้องไปหาเงินทองมาซื้อข้าวของเหล่านี้  จิตก็เลยไม่เคยมีความอิ่ม ไม่เคยมีความพอ  ถ้าไม่มีความอิ่ม ไม่มีความพอแล้ว ก็ไม่มีความสุข  ต่อให้มีมากน้อยเท่าไร ก็ไม่มีความสุข  เพราะความอิ่มความพอยังไม่มีนั่นเอง  และความอิ่มความพอก็ไม่ได้เกิดจากการได้มา มากหรือน้อย  ได้มามากก็ยังไม่พอ ได้มาน้อยก็ยังไม่พอ  แต่ความอิ่มความพอนี้ มันเกิดจากการดับความอยาก ความโลภต่างหาก  เวลาเกิดความโลภ เกิดความอยากแล้ว ไม่โลภตาม ไม่อยากตาม  ไม่ช้าก็เร็ว ความอยาก ความโลภ ก็จะหมดกำลัง แล้วก็จะหายไป  เมื่อความโลภ ความอยากหายไปแล้ว  ใจก็จะอิ่ม ใจก็จะพอ 

นี่เป็นธรรมชาติของใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่เราคิดกัน  เราคิดว่าถ้าเรามีมากๆ  ได้มากๆ เราจะมีความอิ่ม มีความพอ  แต่ไม่ใช่  ความจริงของใจแล้ว ต้องไม่อยาก ต้องไม่โลภ ถึงจะพอ  แต่การจะต่อสู้กับความโลภ ความอยากนี้  สู้ด้วยความอดทน นิ่งอยู่เฉยๆอย่างเดียว จะสู้ไม่ได้  เพราะเราไม่มีกำลังพอที่จะต้านความโลภ ความอยากได้  เราจึงต้องใช้วิธีปฏิบัติธรรมมาต่อสู้  อย่างที่ได้แสดงไว้ในเบื้องต้น  เวลาเกิดความโลภ เกิดความอยาก จงดึงจิตเข้ามา  อย่าไปคิดถึงสิ่งที่อยาก สิ่งที่โลภ   ดึงจิตเข้ามาหาพุทโธๆๆ  หาบทสวดมนต์  หาลมหายใจ  อยู่กับสิ่งเหล่านี้ อันใดอันหนึ่ง อย่างเดียวก็พอ  ถ้าจะอยู่กับลมก็อยู่กับลม  ลมหายใจเข้าก็รู้ว่าลมหายใจเข้า  ลมหายใจออกก็รู้ว่าลมหายใจออก   รู้อยู่แค่นั้นแหละ อย่าไปรู้เรื่องอย่างอื่น  หรือจะบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ  อยู่ในใจไปก็ได้ พุทโธๆๆไปเรื่อยๆ อย่าหยุด อย่าไปคิดเรื่องอื่น  หรือจะสวดมนต์ภายในใจไปก็ได้  สวดไปเรื่อยๆ ไม่ต้องหยุด จนกว่าใจจะหายโลภ ใจจะหายอยาก 

เมื่อใจสงบใจสบายแล้ว ก็มานั่งใช้เหตุผลพิจารณาว่า สิ่งที่เราต้องการนั้นมันจำเป็นไหม  เช่น เราต้องการเสื้อผ้าชุดใหม่สักชุดหนึ่ง  พอดีออกไปเดินช้อปปิ้ง เห็นชุดนี้สวยอยากจะใส่  เราก็มาดูว่าในตู้เสื้อผ้าเรามีชุดอยู่กี่ชุดแล้ว  ไม่พอใส่แล้วหรือ ขาดแล้วหรือ เก่าไปแล้วหรือ เล็กไปแล้วหรือ  หรือใหญ่ไปแล้วหรือ  ถ้ามีเหตุผลว่าเสื้อผ้าที่มีอยู่ ใส่ไม่ได้จริงๆ จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่มาใส่ อย่างนี้ก็ไม่เป็นไร  อย่างนี้ก็ไม่เป็นความโลภ  แต่เป็นปัญญา เพราะเป็นความจำเป็น  แต่ถ้าของเก่าที่มีอยู่ ยังใช้ได้อยู่ ยังดีอยู่ แล้วยังไปซื้อมาใหม่ อย่างนี้เป็นความโลภ  จะให้ความสุขแค่ช่วงที่ได้มาใหม่ๆ  เราอาจใส่เพียงครั้งเดียว แล้วก็จะไม่ใส่อีกเลยก็เป็นได้  เพราะดูแล้วไม่ถูกกับบุคลิก  แต่ในขณะที่มองในเบื้องต้นเห็นว่าดีไปหมด  นี่คือลักษณะของกิเลสตัณหา  เวลามันโลภ มันอยาก มันเห็นอะไรดีไปหมด ไม่มีอะไรไม่ดีเลย  ซึ่งเป็นไปไม่ได้  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ย่อมมีดีมีไม่ดีควบคู่กันไปเสมอ ได้อย่างต้องเสียอย่าง จึงต้องใช้ปัญญา ใช้เหตุผล แล้วจะได้ไม่ต้องทุกข์ไปกับความโลภความอยากอีกต่อไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้