กัณฑ์ที่ ๑๔๗       ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๕

เรียนรู้ชีวิต

 

วันนี้เป็นวันเสาร์ เป็นวันหยุดจากภารกิจการงาน การทำมาหากิน  ผู้ที่มีเวลาว่าง รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ก็เลยมาที่วัดกัน  เพื่อจะได้ประกอบคุณงามความดี ตามแนวทางที่พระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนไว้  เพราะเวลาที่มาวัดก็จะได้ทำบุญ ซึ่งเปรียบเหมือนกับอาหารใจ  ทำให้จิตใจมีความอิ่ม มีความสุข  และสร้างกุศล คือให้จิตใจมีความรู้ความฉลาด ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม  ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์เรา  เป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่งที่จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์  ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา  ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  เพราะการได้ยินได้ฟังธรรมคือการเรียนรู้ชีวิตของเรา  ธรรมะทุกบททุกบาทที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทั้งสิ้น 

ชีวิตของเรามีส่วนประกอบที่มองเห็น และส่วนที่มองไม่เห็น  เหมือนกับต้นไม้ที่มีส่วนที่เห็นได้ และส่วนที่ไม่เห็น  ส่วนที่เห็นได้ของต้นไม้ก็คือส่วนที่โผล่เหนือดินขึ้นมา  เช่น ลำต้น ใบ ดอก และผล  ส่วนที่ไม่เห็นของต้นไม้ก็คือส่วนที่อยู่ใต้พื้นดินลงไป  คือพวกรากต่างๆของต้นไม้  ชีวิตของเราก็มีองค์ประกอบอยู่ ๒ ส่วนด้วยกัน  ส่วนที่เห็นได้ก็คือร่างกายของเรา  ส่วนที่ไม่สามารถเห็นได้เพราะเป็นนามธรรมก็คือจิตใจของเรา นอกจากนั้นชีวิตยังแยกเป็น ๓ ตอนด้วยกัน คือ  อดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต   ที่มองเห็นได้ก็มี  ที่มองไม่เห็นก็มี   ส่วนที่เห็นได้ของอดีต ก็คือการเกิดของร่างกาย  ในปัจจุบันเราก็เห็นการเจริญเติบโต การเคลื่อนไหวไปมาของร่างกาย เห็นความสุขและความทุกข์ที่มีอยู่กับร่างกายและจิตใจ  อนาคตของร่างกายเราก็เห็นว่าต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายไป  ถ้านำเอาไปฝังในดินก็จะกลายเป็นดินไป  ถ้านำไปเผาก็จะกลายเป็นเถ้าถ่านไป  เป็นสิ่งที่เราเห็นได้เพราะเป็นรูปธรรม 

แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งของชีวิตเราที่พวกเรามองไม่เห็นกัน  ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าๆ  นั่นก็คือวิถีของจิตของเรา  เช่น ก่อนที่ร่างกายนี้จะเกิดขึ้นมา  จิตของเราอยู่ที่ไหน เป็นมาอย่างไร  และอนาคตเมื่อร่างกายนี้สลายไปแล้ว จิตของเราจะไปไหนต่อ  ถ้าคนที่ไม่เคยได้ศึกษา ไม่ได้ยินได้ฟังธรรม  ก็จะถือว่าชีวิตอยู่ที่ร่างกาย  เหมือนกับคนที่ไม่ขุดดินลงไปใต้ดิน ก็จะไม่เห็นรากของต้นไม้  ฉันใดคนที่ไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ก็จะคิดว่าชีวิตนี้ประกอบไปด้วยร่างกายอันนี้  เมื่อร่างกายนี้เกิดมาก็มีการเจริญเติบโต  และในที่สุดก็มีการแก่ มีการเจ็บ และมีการตาย  เมื่อตายไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตก็ถือว่าจบกัน  สูญหมดไป  มาจากสูญก็ต้องกลับคืนสู่สูญ  ซึ่งก็เป็นความจริง  แต่เป็นความจริงครึ่งเดียวของชีวิต  เป็นความจริงของร่างกาย  แต่ความจริงของจิตใจ เราไม่รู้ เราไม่เห็นกัน  เราจึงเป็นเหมือนกับคนที่ดูแลต้นไม้เพียงครึ่งเดียว  คือดูแลส่วนที่โผล่ขึ้นมาจากบนดิน  ถ้ามีปัญหาอะไรกับต้น กับใบ กับผล  ก็หายามารักษาให้ต้นไม้นั้นหายจากภัยที่มาคุกคาม  แต่ถ้าเกิดมีภัยคุกคามที่รากไม้  เราก็จะไม่รู้ เพราะไม่รู้ว่ามีรากไม้อยู่ข้างล่าง  ต่อให้รักษาส่วนของต้นไม้ที่อยู่บนดินได้ดีขนาดไหนก็ตาม  ถ้ารากไม้ถูกทำลายไป ต้นไม้ต้นนั้นในไม่ช้าก็เร็วก็ต้องถูกทำลายไปด้วย  เพราะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกัน 

ชีวิตของเราก็เหมือนกัน  ถ้าเราเพียงแต่ดูแลส่วนของร่างกายเท่านั้น  แล้วไม่ดูแลส่วนของจิตใจ  ยามที่จิตใจถูกพิษภัยคุกคามทำลาย  ชีวิตของเราก็จะมีแต่ความมืดมน มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเศร้าหมอง  มีแต่ความซึมเศร้า  และอาจจะนำพาไปสู่การทำลายชีวิตของตนในลำดับต่อไปก็เป็นได้  เพราะไม่ได้ดูแลส่วนที่มองไม่เห็นกัน  ก็คือส่วนของจิตใจ  มัวแต่ดูแลส่วนที่เห็น คือร่างกายของเรา  แต่กลับไม่เห็นความทุกข์ ความทรมานที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา  เมื่อเกิดขึ้นมามากๆ เราก็จะทนอยู่ต่อไปไม่ได้  นี่แหละคือเรื่องของชีวิต  มีทั้งที่มองเห็นได้และมองไม่เห็น  มีการเป็นมาตั้งแต่ก่อนร่างกายนี้เกิด  และจะเป็นไปต่อไปหลังจากที่ร่างกายนี้สลายไปแล้ว  เพราะธรรมชาติของใจเป็นสิ่งที่ไม่สลาย ไม่แตกไม่ดับ  เป็นของที่อยู่ไปตลอดอนันตกาล  แต่จะอยู่แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของใจ  ที่เรียกว่ากรรม  ที่มีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว คือ  บาปกับบุญ  ถ้าทำกรรมดีทำบุญ จิตใจก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง  เหมือนกับรากไม้ที่ได้รับการดูแลรักษาด้วยน้ำ และด้วยการปกป้องคอยไม่ให้หนอนต่างๆมากัด มาทำลายรากไม้  ส่วนบาปคือการกระทำที่นำมาซึ่งความทุกข์ ความหายนะทั้งหลาย  เปรียบเหมือนกับรากไม้ที่ถูกหนอน หรือสัตว์ชนิดต่างๆเข้าไปกัดกิน ไปทำลายรากไม้ นำไปสู่ความล่มสลายของต้นไม้ในที่สุด 

ชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้น  ถ้าเราทำกรรมดี ทำบุญทำกุศล ชีวิตของเราย่อมเจริญรุ่งเรือง  ถ้าทำบาปทำกรรม ชีวิตของเราย่อมตกทุกข์ได้ยาก  อย่างความเป็นของเราในขณะนี้ ก็ล้วนเป็นผลที่เกิดจากการกระทำกรรมในอดีต  อดีตก็หมายถึงตั้งแต่เมื่อขณะที่แล้วนี้ เมื่อวินาทีที่ผ่านไปนี้  ไปจนถึงอดีตกาลอันยาวนานที่นับไม่ได้  ได้ทำอะไรมามากมายก่ายกอง เราก็จำไม่ได้  สิ่งที่ทำกันในวันนี้เราก็แทบจำกันไม่ได้แล้ว  ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราคิดอะไรกันบ้าง  พูดอะไรกันบ้าง  ทำอะไรกันบ้าง  ก็นับไม่ถ้วนแล้ว  จดจำไม่ได้แล้ว  มีทั้งดี มีทั้งไม่ดี มีทั้งบุญ มีทั้งบาป  และการกระทำเหล่านี้ก็จะสะสม แล้วก็จะส่งผลให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเราในลำดับต่อไป  เหมือนกับต้นไม้ที่ค่อย สะสมน้ำ สะสมแดด สะสมอากาศ สะสมดิน แล้วก็ค่อยๆเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ หรือเสื่อมไปเรื่อยๆ  ตามเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อม  เช่น รากเริ่มเกิดมีอาการเน่าขึ้นมา  ต้นไม้ต้นนั้นก็จะค่อยๆเสื่อมไปเรื่อยๆ  จนในที่สุดก็จะตายไป 

แต่จิตใจของเราเป็นสิ่งที่ไม่ตาย  เป็นสิ่งที่จะต้องเสวยวิบาก คือผลที่ใจเป็นผู้กระทำมาทั้งในอดีตและในปัจจุบัน  ผลที่จะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันนี้และในอนาคตที่จะตามมา  ความเป็นอยู่ของเราในปัจจุบันเป็นอย่างไร  ก็ล้วนเป็นเหตุที่เกิดจากผลที่เราได้ทำมาในอดีตทั้งสิ้น  เราเกิดมาเป็นหญิง เป็นชาย มีรูปร่างอาการครบ ๓๒ บริบูรณ์หรือไม่  เป็นคนฉลาดหรือไม่ฉลาด  เป็นคนมีรูปร่างหน้าตาสวยงามหรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นวิบาก  คือเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของใจในอดีต  และจะส่งผลต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีการกระทำกรรมกันอยู่  ตราบใดที่ยังมีการคิด มีการพูด มีการกระทำ  ตราบนั้นก็ยังจะมีผลต่างๆตามมาแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น  ถึงแม้จะตายจากภพนี้ชาตินี้ไปแล้ว  ก็ตายเพียงส่วนของร่างกายเท่านั้น   แต่ใจก็จะต้องไปเกิดใหม่อีก  เหมือนกับที่ใจได้ตายจากภพชาติในอดีตแล้วมาเกิดในภพชาตินี้  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า พวกเรามีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย  จักทำกรรมอันใดไว้  ดีหรือชั่ว  จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น 

นี่แหละคือเรื่องราวของชีวิตของเราที่เรามักจะไม่เห็นกัน  เราเลยกระทำอะไรไปตามอำเภอใจ ตามอารมณ์ของเรา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นอารมณ์ที่ใฝ่ต่ำ  เพราะใจของเรายังถูกอำนาจของกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ใฝ่แต่เรื่องเลวร้ายทั้งหลายพาไป  เพราะเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีธรรมะไว้เป็นเครื่องต่อต้าน  ชีวิตของเราก็จะถูกกิเลสตัณหาฉุดลากไปสู่ความทุกข์  ฉุดลากไปสู่ความวุ่นวาย  เมื่อตายไปก็ต้องไปเกิดในที่ต่ำ คือในอบายทั้ง ๔  แต่ถ้าเราได้ศึกษา ได้ยินได้ฟังธรรมะ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  เราก็จะรู้ว่าเราต้องต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งหลาย ที่จะฉุดลากให้เราไปทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม  เพราะเมื่อทำไปแล้วจะนำมาซึ่งความทุกข์ และความเสื่อมเสียทั้งหลาย  ถ้าเราต่อสู้กับกิเลสตัณหาได้  ต่อไปจิตใจของเราก็จะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม  ทำให้จิตใจของเรามีความสุข มีความเจริญ  เมื่อตายไปก็ได้ไปเกิดที่ดี  ไปเกิดในสุคติ  เป็นที่อยู่ของมนุษย์ ของเทพ ของพรหม ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย 

นี่แหละคือเรื่องราวของบุญ ของกรรม ของชีวิตเรา ที่ดำเนินไปในแต่ละวัน ย่อมจะต้องเสวยวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วสลับกันไป  เพราะในอดีตเราได้ทำมาทั้ง ๒ อย่าง  กรรมดีเราก็เคยทำ  กรรมชั่วเราก็เคยทำ   เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเสวยวิบากกรรม  ก็ขอให้ใช้ความอดทน อย่าท้อแท้   อย่าไปกลัว  เพราะไม่มีอะไรทำร้ายใจของเราได้  เพียงแต่จะสร้างความทุกข์ให้กับเราได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง  ถ้านำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้กับใจของเรา  ใจจะมีภูมิคุ้มกัน  มีสิ่งปกป้องความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นจากการเผชิญกับวิบากได้  ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกันคือมีธรรมะ  มีสติ  มีปัญญา  ยามที่วิบากของการกระทำความชั่วทำบาปเกิดขึ้นมา  เราจะทนไม่ได้  และแทนที่จะทำให้วิบากกรรมเบาบางลงไป  หรือไม่มีอำนาจมาย่ำยีจิตใจ  เรากลับปล่อยให้วิบากกรรมผลักดัน ให้เราไปสร้างกรรมชั่ว สร้างบาปกรรมให้มากขึ้นไปอีกก็เป็นได้ 

เราจึงต้องนำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้กับชีวิตจิตใจของเรา  ธรรมะพื้นฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวพุทธมีอยู่เสมอก็คือ สัจจะ ความซื่อสัตย์   จาคะ การเสียสละ  ขันติ ความอดทน  ทมะ ความอดกลั้น  ถ้ามีธรรม ๔ ประการนี้อยู่ในใจของเราแล้ว  ยามที่เกิดวิบากกรรมที่ไม่ดีกับตัวเรา  ตกทุกข์ได้ยาก ถูกปลดออกจากงาน  หรืออยู่ๆสามีหรือภรรยาก็แยกทางกับเราไป เราจะไม่ทุกข์ ไม่เสียหลัก แต่ถ้าเราไม่มีขันติความอดทน  ไม่มีทมะความอดกลั้น  เราก็จะโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทกับคู่ครองของเรา  และถ้าไม่ระงับความโกรธแค้นนี้  แต่ปล่อยให้ทวีคูณความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยแล้ว  ไม่ช้าก็เร็วเราก็จะต้องไปทำบาปทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน  ดังที่เราได้ยินได้ฟังในข่าว ทุกวันนี้มักจะมีเรื่องราวอย่างนี้เกิดขึ้นเสมอ เมื่อเกิดความผิดหวัง เกิดความโกรธ ความแค้น เกิดความอาฆาตพยาบาทขึ้นมา  ก็จะต้องไปทำปาณาติบาต ทำร้ายชีวิตของผู้อื่น  เพราะไม่มีขันติความอดทน  ไม่มีทมะความอดกลั้น ที่จะเผชิญกับวิบากที่ไม่ดีของตน 

ในทางตรงกันข้าม ถ้าได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสม่ำเสมอ  แล้วนำไปฝึกฝนในชีวิตประจำวัน  เวลาประสบกับความทุกข์ ความยากความลำบาก  เราก็เอาขันติความอดทน  ทมะความอดกลั้นมาใช้  ถึงแม้อยากจะด่า  อยากจะทุบตีผู้อื่น ก็จะไม่ทำ  ถึงแม้จะร้อนอย่างไร  ถึงแม้จะหนาวอย่างไร  ถึงแม้จะหิวอย่างไรก็จะทน  เพราะรู้ว่าไม่ช้าก็เร็วมันก็ผ่านไป  และก็เป็นสิ่งที่ใจของเราสามารถเผชิญได้  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ว่าจะเลวร้ายขนาดไหน  ไม่ว่าจะทุกข์รุนแรงขนาดไหน ลำบากยากเย็นขนาดไหน  ใจของเราถ้ามีธรรมะแล้ว จะสามารถเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างได้  แม้กระทั่งความตายของร่างกายนี้ ก็เผชิญได้  คิดดูซิคนที่เขาไม่มีธรรมะเขาก็ยังตายได้  เพียงแต่ว่าการตายของคนที่ไม่มีธรรมะนั้น ตายด้วยความทุกข์  ตายด้วยความวุ่นวายใจ  แต่คนที่มีธรรมะ จะตายด้วยความสงบ  เพราะมีขันติความอดทน มีทมะความอดกลั้น  ทำให้จิตใจนิ่งสงบ  เวลาจิตนิ่งสงบ จิตมีความสบาย มีความสุข  แม้จะอยู่ท่ามกลางกองทุกขเวทนาของร่างกาย ที่เกิดขึ้นในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ในยามใกล้จะตายก็ตาม  แต่ทุกขเวทนาของร่างกายจะไม่สามารถซึมซับเข้าไปในจิตใจของผู้ที่มีธรรมะได้เลย  เพราะธรรมนี่แหละจะเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน ไม่ให้ความทุกข์ของร่างกายซึมซับเข้าไปในจิตใจ  คือขันติความอดทน  ทมะความอดกลั้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถเสริมสร้างขึ้นมาได้ ถ้าเราต้องการจะทำ 

แต่ส่วนใหญ่เราจะไม่รู้กัน  จะไม่เห็นคุณค่าของความอดทนอดกลั้นกัน  แต่กลับไปเห็นการระบายออกมาเป็นคุณเป็นประโยชน์ แม้กระทั่งจิตแพทย์ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีความเข้าใจผิด  คิดว่าเวลาที่มีความอัดอั้นตันใจ  มีความโกรธแค้นอยู่ภายในใจ  ไม่ควรเก็บไว้ภายในใจ  เขาว่าเหมือนกับน้ำร้อนที่ต้มอยู่ในกา แล้วไปปิดรูออกของอากาศ  เวลาที่น้ำเดือด จะมีความกดดันภายในมาก จะทำให้หม้อน้ำระเบิดได้ เขาเปรียบเทียบแบบนั้นกัน  แต่ใจไม่ใช่หม้อน้ำ  ใจไม่เหมือนกับหม้อน้ำ  ใจกลับเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับหม้อน้ำ  เวลามีอารมณ์ไม่ดีแล้วปล่อยให้ระเบิดออกมา  ระบายออกมา  โดยคิดว่าเมื่อได้ระบายแล้ว เราจะสบายใจ  อย่างนั้นเป็นความเข้าใจผิด   เพราะเมื่อระเบิดออกมาแล้ว ก็สร้างปัญหา สร้างความทุกข์อีกหลายชั้นตามมา  เมื่อไปฆ่าคนแล้ว ใจของเราก็จะต้องมีความว้าวุ่นขุ่นมัว  เพราะรู้ว่าจะต้องถูกจับไปลงโทษ  ความทุกข์ภายในใจก็ไม่หมดไป 

แต่ถ้าเราระงับอารมณ์ด้วยขันติ  ด้วยทมะ  โดยใช้อุบายแห่งสมาธิหรืออุบายแห่งปัญญาก็จะทำให้อารมณ์สงบตัวลง  เวลาที่เกิดความโกรธ  เกิดอารมณ์คับแค้นใจ  ท่านจึงสอนให้เจริญสมาธิ  ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็ได้  พระธรรมก็ได้  พระสงฆ์ก็ได้  เช่น ระลึกคำว่าพุทโธๆๆ อยู่ภายในใจโดยที่ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวที่สร้างความคับแค้นใจให้กับเรา  หรือจะสวดมนต์บทใดบทหนึ่งที่เราจำได้ก็ได้  สวดไปเรื่อยๆ สวดไปๆ อย่าไปคิดถึงเรื่องราวที่สร้างความคับแค้นใจให้กับเรา  พยายามสวดไปในใจหลับตาได้ก็หลับตา  สวดภายในใจไม่ต้องส่งเสียงออกมา  สวดไปเรื่อยๆ  บริกรรมไปเรื่อยๆ  แล้วในที่สุดใจจะค่อยๆเย็น  จะค่อยๆห่างจากเรื่องราวที่สร้างความคับแค้นใจให้กับเรา  เหมือนกับเวลาที่เรายืนอยู่ใกล้ๆ กองไฟ  ความร้อนของกองไฟก็จะทำให้เราเกิดความรู้สึกร้อน  แต่ถ้าเราขยับถอยออกมาให้ห่างไกลจากกองไฟ   ความร้อนของไฟก็จะไม่มีอิทธิพลสร้างความร้อนให้กับร่างกายของเราได้   เรื่องราวต่างๆที่สร้างความทุกข์ให้กับใจเรา  สร้างความคับแค้นใจให้กับเรา ก็เป็นเช่นนั้น  ถ้าเราถอยออกมาจากเรื่องราวนั้นได้  ใจของเราก็จะเย็น  ใจของเราก็จะสงบ  ใจของเราก็จะสบาย 

นี่แหละคือการใช้ขันติดับอารมณ์ โดยอุบายแห่งสมาธิ  คิดแต่พุทโธๆๆ  ระลึกแต่พุทโธๆๆ อยู่ในใจอยู่ตลอดเวลา  ใจก็จะไม่สามารถไประลึกเรื่องอื่นได้  จะคิดได้ทีละเรื่อง  จะคิดหลายๆเรื่องพร้อมๆกันทีเดียวไม่ได้  เพียงแต่ว่าความคิดของใจนั้นเร็วมาก สามารถคิดจากเรื่องนั้นมาสู่เรื่องนี้สลับไปสลับมาได้อย่างรวดเร็ว  จนดูเหมือนว่า กำลังคิดหลายๆเรื่องในขณะเดียวกัน  แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น  ในขณะหนึ่งจะคิดได้เรื่องเดียวเท่านั้น  ถ้าสามารถควบคุมใจให้อยู่กับพุทโธๆๆได้ทุกขณะ ให้อยู่กับบทสวดมนต์ได้ทุกขณะ ในไม่ช้าก็เร็วใจก็จะถอยห่างจากเรื่องราวต่างๆ ที่สร้างความคับแค้นให้กับเรา  แล้วในที่สุดใจก็จะสงบ ใจก็จะเย็น  นี่แหละคือวิธีที่แก้ปัญหาที่ถูกต้อง  เพราะไม่ได้สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมา 

เหมือนกับญาติโยมบางคนที่มีความเศร้าโศกเสียใจ เลยมาอยู่ที่วัดสักระยะหนึ่ง สัก ๓ วัน ๕ วัน  ๗ วัน  เพื่อให้อยู่ห่างจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ สร้างความคับแค้นใจ  มาฝึกจิต มาทำจิตให้ว่าง  ไหว้พระสวดมนต์  นั่งทำสมาธิอยู่อย่างต่อเนื่อง  จนในที่สุด เรื่องราวที่สร้างความคับแค้นใจ ก็หายไปจากจิตจากใจ   เมื่อเรื่องราวหายไป  ใจก็สงบ  ใจก็เย็น ใจก็สบาย  แล้วปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการทำมิดีมิร้ายของใจ ที่มีความว้าวุ่นขุ่นมัวในขณะนั้น ก็จะไม่เกิดขึ้น  ทุกสิ่งทุกอย่างก็จบลงได้ด้วยดี  ใจก็ยอมรับความจริงว่า  มันเป็นวิบากของเรา  เกิดมาก็ต้องรับวิบาก ซึ่งมีทั้งดีและชั่ว  ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า  เราต้องเป็นผู้รับผลของกรรมของเรา  จะดีหรือชั่ว เป็นสิ่งที่เราหนีไม่ได้ หนีไม่พ้น  แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถที่จะเผชิญได้อย่างสบาย อย่างไม่มีปัญหา  ถ้านำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้  หน้าที่ของเราที่เกิดมาในโลกนี้  จึงเป็นการสะสมบุญบารมี คุณงามความดี  สะสมธรรมะให้มาก เท่าที่จะสามารถทำได้  จนครบบริบูรณ์ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้สะสมกัน  ถ้าทำได้ถึงขั้นนั้นแล้ว ก็จะอยู่เหนือกรรม   กรรมจะตามเราไม่ได้อีกต่อไป  ตามได้ก็เพียงแต่ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้ายเท่านั้นเอง  เพราะเมื่อเราตายไปแล้ว จะไม่มีกรรม ไม่มีวิบาก มาสร้างความทุกข์ให้กับเราได้อีก เพราะทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิด  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้