กัณฑ์ที่ ๑๕๑      ๑๗ มกราคม ๒๕๔๖

ดูใจ

การที่พวกเราทั้งหลายมีความศรัทธา มีความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เป็นเพราะว่าเรายังมีความรู้น้อย ยังไม่มีความสามารถที่จะรู้ได้เหมือนกับพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย  ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาสามัญ ไม่มีดวงตาเห็นธรรม ยังมืดบอดด้วยโมหะความหลง  อวิชชาความไม่รู้จริง  จึงไม่สามารถเห็นในสิ่งต่างๆ ที่พระพุทธเจ้า และพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย ทรงรู้ทรงเห็นได้  ถ้าเปรียบเทียบกัน ท่านก็เปรียบเหมือนกับคนตาดี คนตาสว่าง  ส่วนพวกเราก็เปรียบเหมือนกับคนตาบอด ตามืด ไม่สามารถเห็นในสิ่งที่เหนือความสามารถของตาเนื้อจะเห็นได้  คือเห็นได้แต่รูป สี แสงต่างๆ  แต่สิ่งที่ละเอียดกว่าตาเนื้อนั้น เป็นสิ่งที่พวกเรายังมองไม่เห็น เพราะยังไม่ได้สร้างตาใน คือธรรมจักษุ ดวงตาแห่งธรรมขึ้นมา เพื่อรู้เห็นสิ่งที่ละเอียดกว่าตาเนื้อจะเห็นได้  คือจิตใจของพวกเราเอง 

พวกเรามีจิตใจอยู่กับตัวเราตลอดเวลา  แต่พวกเราหารู้จักจิตใจของเราไม่  เพราะเราไม่เคยเห็นจิตใจของพวกเรา สิ่งที่เราเห็นก็เพียงแต่ร่างกายของเรา และสิ่งต่างๆรอบตัวเรา  แต่สิ่งที่มีอยู่ในตัวของเรา ที่เรียกว่าจิตใจ เรากลับมองไม่เห็นกัน  นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไม่เคยสร้างปัญญา หรือสร้างดวงตาแห่งธรรม เพื่อที่จะได้เห็นจิตใจของเรา  เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงไม่รู้เรื่องของจิตใจของเรา ว่าเป็นอย่างไร  ทั้งๆที่จิตใจเป็นตัวการสำคัญในการดำเนินชีวิตของเรา ชีวิตของเราจะเป็นไปด้วยความสุข ความเจริญ หรือด้วยความทุกข์ ความเสื่อมเสีย  ล้วนเกิดจากการกระทำของจิตใจของเรา  แต่เราไม่รู้ว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร  และจะควบคุมจิตใจของเรา ให้ดำเนินไปในวิถีทางที่ถูกต้องดีงามได้อย่างไร  เราจึงต้องพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นผู้นำทาง เป็นผู้สั่งสอน ให้พวกเราได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีที่งาม ที่นำมาซึ่งความสุขและความเจริญต่อไป 

สิ่งสำคัญในอันดับแรกที่พวกเราพึงมี ก็คือศรัทธาความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  เชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น แล้วนำมาสั่งสอนให้พวกเราปฏิบัติตาม  ถ้าพวกเราปฏิบัติตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว  ต่อไปก็จะเริ่มเห็น จะเริ่มรู้อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆสาวกทั้งหลายทรงรู้ทรงเห็นกัน  เมื่อรู้เห็นอย่างที่ท่านได้รู้เห็นแล้ว  เราก็จะดำเนินชีวิตของเรา ไปในทางที่ถูกต้องดีงาม นำมาซึ่งความสุขและความเจริญโดยถ่ายเดียว การเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในเบื้องต้น สำหรับปุถุชนอย่างพวกเราทั้งหลาย ผู้ที่ยังมีความมืดบอดอยู่  เราต้องอาศัยผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม  คือผู้มีตาดีพาเราไป  เหมือนกับคนตาบอดเวลาจะไปไหน ก็ต้องอาศัยคนตาดีเป็นคนพาไป  ถ้าเรามีผู้นำที่เป็นคนตาดีพาไปแล้ว  เราย่อมไปสู่ที่ดีได้  แต่ถ้าเราปฏิเสธ ไม่เชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ทั้งหลายสั่งสอน เราก็ต้องพึ่งตัวเราเอง ซึ่งก็ต้องพึ่งไปแบบผิดๆถูกๆ เพราะว่าเรายังไม่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวของเราได้  เมื่อเป็นเช่นนั้นชีวิตของเราก็จะต้องเป็นไปด้วยความลำบากยากเย็น    โอกาสที่จะประสบกับความสุข ความเจริญอย่างแท้จริง จะเป็นไปได้ยาก 

เพราะว่าใจของเราถูกอิทธิพลของความหลง ความมืดบอดครอบงำ แล้วก็หลอกให้เราไปทำในสิ่งที่เป็นโทษกับเรา  แทนที่จะพาเราไปสู่การกระทำที่เป็นคุณและเป็นประโยชน์กับเรา  เพราะว่าสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆสาวกทรงรู้ทรงเห็นนั้น เป็นสิ่งที่ละเอียดมากกว่าที่เราจะรู้ได้เอง  เราจะรู้ได้ ก็ต่อเมื่อเราศึกษาและปฏิบัติจากพระพุทธเจ้ากับพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย  นำในสิ่งที่ท่านสอนมาปฏิบัติกับตัวเรา  แล้วเราก็จะเริ่มรู้เริ่มเห็นตามท่าน สิ่งที่ท่านสอนให้เราปฏิบัติก็คือการเจริญจิตตภาวนา คือการสร้างปัญญา สร้างความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของจิตใจของเรา  ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรม เราจะไม่รู้จักใจของเราเลย  เพราะว่าตลอดเวลาเราจะมองแต่สิ่งภายนอก คือจะมองที่ร่างกายและสิ่งต่างๆรอบตัวเรา  แต่ไม่เคยมองเข้ามาในใจของเราเลย  เพราะไม่เคยปฏิบัติธรรมนั่นเอง จึงมองเพียงด้านเดียว ส่วนอีกด้านหนึ่งของตัวเรา คือใจของเรานั้น เราไม่ได้มองกัน  ถ้าได้มาปฏิบัติธรรม คือได้เจริญจิตตภาวนา มีการเจริญสมาธิ เจริญปัญญาแล้ว เราก็จะเริ่มเห็นจิตใจของเรา  

ในเบื้องต้นการเจริญสมาธิก็เพื่อทำจิตให้สงบ ทำให้จิตหยุดนิ่งจากความคิดปรุงต่างๆ  เพราะในขณะที่คิดปรุง จิตจะมีอารมณ์ต่างๆขึ้นมาในใจ ทำให้ใจไม่เห็นสภาพที่แท้จริงของใจ ว่าเป็นอย่างไร  จะเห็นแต่อารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจ  เช่น อารมณ์โลภ  อารมณ์โกรธ อารมณ์อยากต่างๆ อารมณ์หลง  เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในใจของเราตลอดเวลา  จนทำให้เราไม่รู้จักใจของเรา ว่าเป็นอย่างไร  แต่ถ้าได้มาทำจิตให้สงบด้วยอุบายแห่งสมาธิแล้ว เราจะเริ่มเห็นใจของเรา  จะด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้    วิธีที่จะทำจิตให้สงบนั้น   พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ถึง ๔๐ วิธีด้วยกัน      เรียกว่ากรรมฐาน ๔๐  แต่ที่ใช้กันอยู่ส่วนใหญ่ก็มีอยู่ ๒ - ๓ วิธีด้วยกัน  วิธีแรกซึ่งเป็นวิธีพื้นฐาน ก็คือการสวดมนต์  เป็นการควบคุมใจไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ ที่จะทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา  เพราะการสวดมนต์จะทำจิตให้สงบได้  จะสวดมนต์บทใดบทหนึ่งหรือหลายๆบทก็ได้ สุดแท้แต่ความชำนาญ  ถ้ารู้จัดบทสวดมนต์เยอะๆ ต้องการจะสวดมากน้อยเพียงไร  ก็สามารถสวดได้ ตามความต้องการ

ข้อสำคัญในขณะที่สวดนั้น ใจจะต้องอยู่กับการสวดมนต์เพียงอย่างเดียว   จะต้องไม่เล็ดลอดออกไปคิดเรื่องราวต่างๆ  เพราะถ้าปล่อยให้ใจไปคิดเรื่องราวต่างๆ  พร้อมกับสวดมนต์ไปพร้อม กัน  ใจก็จะไม่เป็นหนึ่ง  เมื่อใจไม่เป็นหนึ่ง ใจก็จะไม่นิ่ง ไม่สงบ  ก็เหมือนกับไม่ได้ทำสมาธินั่นเอง  เพราะใจไม่ได้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่เราได้กำหนดไว้  ในกรณีนี้ก็คือให้อยู่กับบทสวดมนต์  แต่ถ้าเราสามารถควบคุมใจด้วยสติ   คือการระลึกรู้ ให้ระลึกรู้อยู่กับการสวดมนต์ อยู่กับบทสวดมนต์ไปเรื่อยๆ แล้วจิตของเรา เมื่อไม่มีโอกาสที่จะแวบออกไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้เกิดอารมณ์ที่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน ก็จะค่อยๆสงบลง แล้วในที่สุดก็จะมีความรู้สึกว่าอยากจะหยุดสวด  ในตอนนั้นจะหยุดสวดไปก็ได้  แล้วสังเกตดูว่าหลังจากที่ได้หยุดสวดแล้ว ใจอยู่นิ่งเฉยๆ อยู่ในปัจจุบันหรือไม่ หรือเริ่มไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ  ถ้ารู้ว่าใจอยู่นิ่ง ก็ให้รู้อยู่กับความนิ่งนั้น เพราะในขณะที่ใจสงบนั้น จะมีความรู้อยู่ตามลำพัง แต่ไม่ได้รู้กับอะไร  รู้ว่าขณะนี้ใจมีความเย็น ใจมีความสบาย ใจมีความอิ่ม ใจมีความพอ ไม่มีความหิว ไม่มีความอยาก ที่จะไปคิดถึงเรื่องอะไรทั้งสิ้น  ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ปล่อยให้ใจนิ่งไปอย่างนั้นไปเรื่อยๆ 

เมื่อนิ่งลงแล้วเราก็จะเริ่มเห็นธรรมชาติของใจ ธรรมชาติที่ไม่มีอารมณ์มาครอบงำว่าเป็นอย่างไร  จะเริ่มรู้แล้วว่านี่แหละคือใจ  นี่แหละคือตัวการสำคัญที่สร้างความสุข ความทุกข์ให้กับเรา  ขณะที่พักอยู่ในสมาธิ  หยุดคิดเรื่องราวต่างๆ  ในขณะนั้นโลกนี้เหมือนกับว่าไม่มีเลย  เรื่องราวต่างๆ ที่เราเคยไปเกี่ยวข้องด้วยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกิจการงานต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ จะไม่มีภายในจิตใจเลย  เมื่อไม่มีเรื่องราวเหล่านั้นอยู่ในใจ  อารมณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านั้นก็ไม่มี  ความกังวล ความห่วงใย ความดีใจ ความเสียใจ อะไรทั้งสิ้น ก็จะไม่มีในใจ  จะมีแต่ความนิ่งสงบ ซึ่งเป็นความสุขแบบหนึ่ง เป็นธรรมชาติที่มีอยู่กับใจในขณะที่ใจอยู่ในความสงบนิ่ง แล้วจะเริ่มเห็นว่าความสุขของเราก็ดี ความทุกข์ของเราก็ดี ก็ล้วนเกิดขึ้นจากใจของเรานี่เอง  เวลาใจออกจากสมาธิ แล้วเริ่มออกไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆภายนอก  สิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู ดมด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น สัมผัสด้วยร่างกาย ก็จะเกิดเวทนาต่างๆขึ้นมา  เวลาใจเห็นสิ่งที่ชอบ ได้ยินสิ่งที่ชอบ ดมกลิ่นที่ชอบ ลิ้มรสที่ชอบ สัมผัสสิ่งที่ชอบ ก็จะเกิดสุขเวทนาขึ้นมา  เกิดขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป สุขเวทนาก็ดับไป  เช่นเดียวกันกับสิ่งที่ไม่ชอบ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่ชอบ ก็จะเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา   เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป ทุกขเวทนาก็ดับไป  นี่เป็นลักษณะของสิ่งที่ใจไปสัมผัสรับรู้ 

ถ้าไม่รู้จักวิธีจัดการปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้  ถ้ายังมีความหลง โมหะ และอวิชชาความไม่รู้อยู่ในใจ ก็จะหลงติดอยู่กับสิ่งที่ได้สัมผัสรับรู้ สิ่งที่ถูกอกถูกใจ ก็จะเกิดตัณหาความอยาก เกิดความโลภ ที่อยากจะครอบครอง อยากให้สิ่งนั้นๆ อยู่กับตนไปนานๆ  ในทางตรงกันข้าม ถ้าได้สัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบไม่ถูกใจ ก็อยากจะให้สิ่งนั้นๆหายไป พ้นไป หมดไป  โดยไม่ยอมรับรู้ธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งหลาย ที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย  แล้วเข้ามาสู่ใจ ว่าเป็นอย่างไร  ว่าอยู่ในความควบคุมบังคับของตนหรือไม่ จึงต้องอาศัยผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้ามาสอน มาบอกเราว่า ธรรมชาติของสิ่งต่างๆเหล่านี้ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ล้วนเป็นไตรลักษณ์  คือ ๑. อนิจจัง ม่เที่ยง  ไม่ถาวร ไม่นิ่งเฉย ไม่คงเส้นคงวาเหมือนเดิม  มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการไป มีการมา เป็นปกติ  ๒. อนัตตาม่มีตัวตน ไม่อยู่ในความควบคุมของผู้หนึ่งผู้ใด มีการเกิดขึ้น และดับไปด้วยเหตุปัจจัย มีเหตุทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมา เมื่อเหตุดับไป  สิ่งเหล่านี้ก็ดับไป  ยกตัวอย่าง เวลาคนตีกลองก็จะมีเสียงดังขึ้นมา  เสียงดังที่เกิดขึ้นมานี้ ก็เกิดจากคนตีกลอง ทำให้เสียงกลองเกิดขึ้นมา  เมื่อคนตีกลองหยุดตี เสียงกลองก็จะหายไป  หรือว่าเวลาลมพัด ก็ทำให้เกิดเสียงขึ้นมา เวลาลมไปพัดใบไม้ให้มีการเคลื่อนไหว ก็มีเสียงเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของใบไม้  เมื่อลมหยุดพัด เสียงนั้นก็จะหายไป ไม่มีใครสามารถควบคุมบังคับให้ลมพัดหรือไม่พัดได้  เพราะลมก็มีเหตุปัจจัยอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ลมพัด ทำให้ลมหยุดพัด  ๓. ทุกขัง  ถ้าไปอยากให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วไม่เป็นดังที่อยาก ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

หน้าที่ของเราจึงไม่ได้อยู่ที่การไปควบคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของเรา  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ชีวิตของเราก็จะมีแต่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ  เพราะไม่สามารถควบคุมบังคับสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้  พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า หน้าที่ของเราไม่ได้อยู่ที่การบังคับสิ่งต่างๆภายนอก  แต่อยู่ที่การบังคับใจ  เพราะใจเป็นสิ่งที่บังคับได้  เราควรบังคับความอยากต่างๆของเรา  ซึ่งไม่มีความจำเป็นต่อความสุขของเราเลย  แต่เพราะความหลง ทำให้เห็นผิดเป็นชอบ เห็นว่าถ้ามีความอยากแล้ว จะนำความสุขมาให้กับเรา  แต่แทนที่จะพบกับความสุข  เรากลับจะพบแต่ความทุกข์    ความวุ่นวายไปตลอดชีวิต เพราะเราจะไม่สามารถควบคุมดูแลสิ่งที่เราอยาก ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้ตลอดเวลา   เราอาจจะควบคุมดูแลบังคับได้บางครั้งบางเวลา  แต่จะไม่ได้ตลอดเวลา  เพราะฝืนธรรมชาติความเป็นจริง 

ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้ว เราจะสามารถควบคุมความอยากได้  ไม่ว่าจะอยากในทางบวกหรือในทางลบก็ตาม เช่น เวลาสัมผัสกับสิ่งที่ถูกอกถูกใจ แล้วเกิดสุขเวทนา ก็จะหักห้ามใจ ว่าเป็นของชั่วคราวชั่วขณะหนึ่ง เดี๋ยวก็ผ่านไป ไม่ต้องไปยินดี เพราะหากเกิดความยินดี  เวลาสุขเวทนาผ่านไป  ใจก็จะเกิดความเสียดาย เกิดความอาลัยอาวรณ์ขึ้นมา ในทางตรงกันข้าม เวลาสัมผัสกับทุกขเวทนา  ก็ให้ทำความเข้าใจว่า เป็นของชั่วคราวเช่นกัน มาแล้วเดี๋ยวก็ไป ไม่ต้องไปรังเกียจ ไม่ต้องไปผลักไส  เพียงแต่ทำใจให้นิ่งไว้ ไม่ต้องไปมีความไม่อยากกับสิ่งนั้น  ใจก็จะไม่เดือดร้อน   จะไม่ทุกข์  แล้วไม่ช้าก็เร็วสิ่งที่ไม่ชอบก็จะผ่านไป  ถ้านำวิธีนี้มาปฏิบัติกับทุกสิ่งทุกอย่างที่มาสัมผัสในแต่ละวันแล้ว  ใจจะมีแต่ความสงบ มีแต่ความสุข ไม่มีความว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่มีความกังวลกับอะไรทั้งสิ้น ถึงแม้จะเสียอะไรไปมากมายเพียงไร ก็จะไม่ทุกข์กับการเสียไป ถึงแม้จะได้อะไรมามากมาย ก็จะไม่ทุกข์กับการดูแลรักษา  ไม่ห่วง ไม่กังวล

คนเราเวลาได้สิ่งที่ชอบมา ก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ  เช่น ถ้าได้เป็น สส. เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อยากจะรักษาตำแหน่ง สส. รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ไว้นานๆ  ก็เลยต้องวุ่นกับการสร้างผลงาน  เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง  ก็ต้องวุ่นกับการหาเสียง ต้องวุ่นกับความห่วงใยว่าจะได้รับเลือกหรือไม่  มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น  นี่ก็เป็นเพราะว่าไม่เคยได้ยินได้ฟัง วิธีที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต  ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ชีวิตของเราจะไม่วุ่นวาย  เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามกำลังแห่งสติปัญญา วิริยะความขยันหมั่นเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนผลตอบแทนที่ได้ จะมากน้อยเพียงไร  ก็ยินดีตามนั้น  เท่านี้ชีวิตของเราก็มีความสุขแล้ว  เพราะความจำเป็นของชีวิตก็มีไม่มากเลย  มีปัจจัย ๔   คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  ก็พอแล้ว ซึ่งเราทุกคนก็มีพร้อมกันอยู่แล้ว 

แต่ใจของเรายังไม่มีความสุข  นั่นก็เป็นเพราะว่าเรายังไม่รู้จักวิธีจัดการ  ควบคุมดูแลใจของเรา ให้สร้างความสุขให้กับเรา  เรากลับปล่อยให้ใจถูกอำนาจของความหลง ของความอยาก สร้างความวุ่นวาย สร้างความทุกข์ สร้างความหิว สร้างความกระหายให้ไม่รู้จักจบจักสิ้น  ด้วยการทำตามความอยากนั่นเอง ยิ่งอยากมากเท่าไร ความอยากก็จะเพิ่มกำลังมากขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด  วิธีที่จะทำให้ความอยากหมดไปนั้น จะต้องเป็นวิธีตรงกันข้าม  คือทุกครั้งที่มีความอยาก เราต้องนิ่งเฉย  อย่าไปสนองความอยาก  ใช้ธรรมะ คือการปฏิบัติจิตตภาวนา การทำสมาธิ และการเจริญปัญญา  ๒ อย่างนี้แหละ จะเป็นเครื่องมือที่สามารถทำให้เราชนะความอยากได้  เพราะเวลาทำสมาธิแล้วจิตนิ่งสงบ ความอยากก็ไม่สามารถทำงานได้ จิตจึงมีความอิ่ม มีความพอ  เพราะความหิวไม่ปรากฏในขณะนั้น  ความหิวก็คือความอยากนั่นเอง   แต่ความอยากโผล่ขึ้นมาไม่ได้  เพราะว่าในขณะนั้นกำลังของสมาธิควบคุมความอยากไว้ไม่ให้เกิดขึ้น เมื่อไม่มีความอยากในใจ ก็เลยมีความอิ่มขึ้นมาแทนที่   แต่สมาธิเป็นสิ่งที่ไม่ถาวร  เราไม่สามารถทำจิตให้มีสมาธิอยู่ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง  ไม่ช้าก็เร็วกำลังของสมาธิก็จะอ่อน จิตก็จะเริ่มคิด  เมื่อจิตเริ่มคิดจิตก็จะมีความอยาก 

เราจึงต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องมือชิ้นที่ ๒ ไว้ทำลายความอยาก  ถ้าเราเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากเป็นไตรลักษณ์ คือเป็นของไม่เที่ยง  เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมบังคับได้  เป็นสิ่งที่ไม่ได้ให้ความสุขกับเราที่แท้จริง  แต่เป็นสิ่งที่ให้ความทุกข์กับเรา  ถ้าเห็นด้วยปัญญาแล้ว เราก็จะไม่กล้าไปอยากกับสิ่งนั้นๆ  เหมือนพวกเราที่ไม่ได้ติดยาเสพติดกัน  เราก็เห็นด้วยปัญญาแล้วว่า ยาเสพติดไม่ใช่เป็นความสุข  ยาเสพติดเป็นโทษ  ยาเสพติดเป็นของไม่เที่ยง คือไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด  ไปซื้อยาเสพติดมาได้จำนวนหนึ่ง  เมื่อเสพไปแล้ว  ยาก็หมดไป  ก็ต้องไปหามาใหม่  แต่ก็บังคับไม่ได้ว่า จะได้ยามาเมื่อไร  จะมีเสพไปตลอดเวลาหรือไม่ ไม่ช้าก็เร็ว สักวันหนึ่ง ก็จะไม่ได้เสพ  เช่น ถูกตำรวจจับ  ถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง ตอนนั้นก็จะไม่ได้เสพ  เมื่อไม่ได้เสพ  ก็ต้องทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง 

เป็นลักษณะเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้แสดงไว้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ที่มาในรูปของบุคคล วัตถุข้าวของต่างๆ ก็ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกัน  เมื่อเห็นด้วยปัญญาว่าเป็นอย่างนี้แล้ว ก็จะไม่กล้าไปอยาก ไปมีกับสิ่งเหล่านี้  เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว ใจไม่มีความจำเป็นกับสิ่งเหล่านี้เลย  ไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ได้และมีความสุขยิ่งกว่าอีก  เพราะหลุดพ้นจากการเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้นั่นเอง  เหมือนกับการหลุดพ้นจากการเป็นทาสของยาเสพติด  พระพุทธเจ้ากับพระอริยสงฆสาวกทั้งหลายก็เป็นเหมือนเรา  เมื่อก่อนนี้ท่านก็ติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้  ติดรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ท่านเป็นคนฉลาด มีปัญญา  รู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นสุข  อะไรเป็นทุกข์ อย่างแท้จริง  ท่านใช้ปัญญาวิเคราะห์ แล้วก็ทรงเห็นว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ที่สัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย   ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น  เพราะเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตานั่นเอง  จึงต้องปล่อยวาง  จึงต้องฝืน จึงต้องสู้กับความอยาก  ด้วยการปฏิบัติธรรม

เราจึงต้องเข้าวัดหาที่สงบ  ห่างไกลจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เป็นเครื่องล่อใจ ยั่วใจให้เกิดอารมณ์อยาก  เวลามาอยู่วัดจะมีกฎ มีระเบียบ เช่น ไม่ให้ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ไม่มีการร้องรำทำเพลง  ดูหนัง ดูละคร ให้เข้าโบสถ์ไหว้พระสวดมนต์ ซึ่งเป็นการทำจิตให้สงบนั่นเอง   ทำจิตให้เป็นสมาธิ แล้วก็พิจารณาธรรมต่างๆอยู่เรื่อยๆ มองอะไรก็คอยสะกิดตัวเองเสมอว่า เป็นของไม่เที่ยงนะ ไม่ใช่ความสุขหรอก  ได้อะไรมา ก็สุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็ผ่านไป ได้อะไรมาก็ดีใจแล้วก็ผ่านไป  แล้วก็อยากจะมีใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น  นี่คือธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าคอยสอนใจเราอยู่เสมอ ใจก็จะฉลาด จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้