กัณฑ์ที่ ๑๕๒       ๒๕ มกราคม ๒๕๔๖

สุขแท้  สุขปลอม

พุทธศาสนิกชนที่มีเวลาว่าง มีศรัทธาที่แน่วแน่ จะชอบมาวัด เพื่อบำเพ็ญคุณประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่น  ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว  เป็นการกระทำที่จะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล ความสุข ความเจริญ ที่แท้จริง จึงเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนา น่าส่งเสริมให้กระทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นประโยชน์ที่สำคัญ ที่จะอยู่ติดกับใจไปตลอด  ถ้าขาดประโยชน์นี้แล้ว ชีวิตจะไม่มีความหมายอะไร จะอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว  ถ้ามัวแต่ไปหาประโยชน์ทางด้านวัตถุ เสพความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเมื่อได้เสพแล้ว ก็จะผ่านไป ไม่มีอะไรหลงเหลือติดอยู่ภายในใจ ที่จะทำให้เกิดความสุข ความอิ่ม ความพอ  แต่กลับสร้างความหิว สร้างความกระหาย สร้างความอยาก ให้มีไม่รู้จักจบสิ้น 

การกระทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นการสร้างความสุขให้กับใจ เป็นความสุขที่อยู่ติดกับใจ เป็นเครื่องจูงใจ เป็นเครื่องผลักดัน ให้กระทำอีกอย่างต่อเนื่อง เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ  ทำให้จิตใจพัฒนาสูงขึ้นไป ด้วยความดีงาม ความสุข ความเจริญ  ที่จะไปกับใจหลังจากที่ร่างกายได้แตกสลายไปแล้ว ร่างกายเป็นของชั่วคราว อยู่ในโลกนี้ได้สักระยะหนึ่ง ก็ต้องมีการเป็นไป  มีการแตกดับไปเป็นธรรมดา  ส่วนจิตใจจะเดินทางต่อไป สู่ภพหน้าชาติหน้า  จะไปสู่ความสุขความเจริญก็ขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ในชาตินี้ และในชาติต่างๆในอดีตที่ผ่านมา   บุญกุศลจะเป็นเครื่องส่งให้จิตใจได้ไปเกิดที่ดี ที่เจริญรุ่งเรืองต่อไป  เพื่อจะได้ประกอบคุณความดี บุญกุศลให้มีเพิ่มมากยิ่งๆขึ้นไป  จนถึงจุดสูงสุดของการพัฒนาชีวิต  คือจุดที่มีแต่ความสุขที่เรียกว่าบรมสุข  สุขที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้พัฒนาไปถึง  ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนปรารถนากัน  เพียงแต่เราไม่รู้  เราไม่เข้าใจ 

เวลาที่พูดถึงความสุขทางด้านจิตใจ ความสุขที่เกิดจากความสงบ คนที่ไม่เคยได้สัมผัสกับความสุขแบบนี้ ก็จะเกิดความหวาดกลัว  เพราะว่าในชีวิตของตนนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา เคยแต่แสวงหาความสุขจากสิ่งภายนอก ได้ความสุขจากการมีเงินทอง มีตำแหน่ง มียศ มีการสรรเสริญเยินยอ  ได้เสพกาม คือกามคุณทั้ง ๕ ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย  จึงไม่เข้าใจว่า คนเราจะมีความสุขโดยที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร  นั่นก็เป็นเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ความหลง ที่เรียกว่าความเห็นผิดเป็นชอบ ทำให้ไม่เห็นถึงความสุขที่แท้จริง  ความสุขที่จะอยู่ติดกับเราไปตลอด คือความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจนี่เอง  จึงเป็นสิ่งที่จะต้องพิสูจน์ดู ทดสอบดู ถ้าไม่พิสูจน์ ไม่ทดสอบ เราจะไม่รู้ถึงความสุขอันนี้  ในเบื้องต้นเราจึงต้องมีความศรัทธา มีความเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่า ความสุขที่แท้จริงอยู่ในใจของเรา อยู่ในตัวของเรา  ไม่ได้อยู่ที่ภายนอก  ไม่ได้อยู่ที่เงินทอง  แล้วเอาเงินทองนี้ไปเที่ยว ไปหาความสุข  ซึ่งเป็นความสุขแบบหลอกลวง ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง  เป็นความสุขที่เกิดขึ้นในขณะที่ได้สัมผัส แต่หลังจากที่ผ่านไปแล้วก็เกิดอาการเหงาหงอย เกิดอาการอยากออกไปแสวงหาความสุขแบบนั้นอีก  จึงเป็นความสุขที่จะต้องหาอยู่ตลอดเวลา  สิ้นภพนี้ไป ความอยากในความสุขเหล่านี้ ก็ไม่ได้หมดไปกับภพนี้  เมื่อไปเกิดใหม่ก็ต้องไปขวนขวายหาความสุขแบบนี้ต่อไปอีก ไม่มีที่สิ้นสุด 

การหาความสุขแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ต้องสอนกัน เกิดมาพ่อแม่ก็ไม่ต้องสอน   เพราะเป็นสิ่งที่ฝังติดมากับใจ  ส่วนความสุขที่เกิดจากความสงบ ลดละการหาความสุขจากภายนอก เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีติดตัวมา  จึงเป็นสิ่งที่แปลก เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้  เราจึงมีความกลัวกันทุกครั้งถ้าพูดว่าจะต้องไปอยู่วัดสัก ๓ วัน เพื่อถือศีล ลดละกามสุขทั้งหลาย  ก็จะเกิดความรู้สึกหวาดกลัว  ไม่ค่อยกล้าที่จะเข้าวัดปฏิบัติธรรมกัน  ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่ายังไม่เคยได้สัมผัสกับความสุขแบบนี้นั่นเอง  จึงจำเป็นที่จะต้องเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง  เมื่อประสูติมาก็เหมือนเรา  ยังทรงมีความอยากในความสุขทั้งหลายในโลกนี้   อยากมีความสุขจากการเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย  แต่เนื่องจากทรงเป็นบุคคลที่ฉลาด รู้จักคิด รู้จักแยกแยะ จึงเกิดความเข้าใจ เกิดความคิดขึ้นมาว่า ความสุขที่ทรงมีห้อมล้อมอยู่ในฐานะราชกุมารนั้น หาใช่เป็นความสุขที่แท้จริงไม่  เป็นความสุขจอมปลอม เป็นความสุขหลอกลวง ที่จะต้องคอยแสวงหา คอยเติมอยู่ไม่รู้จักจบจักสิ้น  ไม่เคยสร้างความอิ่ม สร้างความพอให้เลย 

เมื่อเป็นเช่นนั้นพระพุทธองค์จึงทรงศึกษา แสวงหาว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน ก็ได้ทรงทราบจากนักบวชว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่การทำจิตใจให้สงบ และการที่จิตใจจะสงบได้ ก็จะต้องลดละตัดความสุขภายนอกเสียให้หมด  เพราะความสุขภายนอกเปรียบเหมือนกับความร้อน  ส่วนความสุขภายในใจเป็นเหมือนกับความเย็น  จะเอาทั้ง ๒ อย่างมาปนกันไม่ได้  ถ้าต้องการความเย็น ก็ต้องตัดความร้อนออกไป  ถ้าต้องการความร้อน ก็ต้องตัดความเย็นออกไป  อย่างในฤดูหนาว เราก็ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ความหนาวเข้ามาสู่ร่างกาย  เพื่อร่างกายจะได้อบอุ่น  ในฤดูร้อนเวลามีอากาศร้อน ก็ต้องหาวิธีระบายความร้อนให้ออกจากร่างกาย  ออกจากอากาศที่อยู่รอบตัวเรา เช่น ติดเครื่องปรับอากาศ  ถ้าไม่มีเครื่องปรับอากาศ เวลาร้อนมากๆ ก็ไปอาบน้ำสักครั้งหนึ่ง  ก็จะช่วยระบายความร้อนให้ออกจากร่างกายไปได้  แต่ความร้อนและความเย็นจะอยู่ร่วมกันไม่ได้  จะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง 

ความสุขทางโลกกับความสุขทางธรรม คือความสุขภายนอกที่ได้มาจากการเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กับความสุขภายในที่เกิดจากการทำจิตให้สงบ ก็เป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน  ไม่สามารถอยู่คู่เคียงกันได้  จะต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง  ถ้าต้องการความสุขทางใจ คือความสงบของจิตใจ ก็ต้องตัดความสุขภายนอก  อย่างที่ญาติโยมบางท่านได้มาอยู่วัด มาถือศีล ๘ ลดละการหาความสุขทางภายนอก จากการดูหนังดูละคร  ร้องรำทำเพลง  จากการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีสีสันหลากหลาย จากการประพรมของหอมทั้งหลาย จากการนอนบนเตียงบนฟูกที่มีความนิ่ม  ซึ่งมีคุณน้อย มีความสุขน้อย แต่มีโทษมาก  เพราะไม่ทำให้ใจสงบ  ให้อิ่ม ให้พอได้  จึงต้องมาลดละด้วยการละเว้น  แล้วก็มาทำจิตใจให้สงบ ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ กำหนดจิตใจให้อยู่กับที่ ให้อยู่กับบทสวดมนต์ ให้อยู่กับองค์ภาวนา ที่ใช้เป็นเครื่องผูกใจ ไม่ให้ใจเร่ร่อน ไม่ให้ไปเที่ยวเตร่ คิดถึงเรื่องราวต่างๆ   

ใจก็เปรียบเหมือนกับเรือลำหนึ่งที่ลอยอยู่บนน้ำ  ถ้าต้องการให้เรือนิ่ง ให้จอดอยู่กับท่า ก็ต้องเอาเชือกผูกเรือไว้กับเสา เพื่อเรือจะได้ไม่ไหลไปตามกระแสน้ำ  ใจก็เป็นเช่นนั้น  ถ้าต้องการให้ใจอยู่นิ่ง ไม่ให้ไหลไปตามกระแสอารมณ์ต่างๆ  ก็ต้องหาเครื่องผูกใจไว้ เช่นบทสวดมนต์ หรือองค์ภาวนากำกับจิตใจ เช่น การบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ  หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก  เหล่านี้เป็นเครื่องผูกใจ  ถ้ามีเครื่องผูกใจแล้ว ใจจะลอยไปไม่ได้  ยกเว้นเสียว่า เชือกคือสติที่ผูกใจให้อยู่กับองค์ภาวนานั้นขาดไป ถ้าเชือกขาดไปอย่างเวลาผูกเรือไว้กับท่าเรือ เรือก็ต้องไหลไปตามกระแสน้ำ  แต่ถ้าเชือกไม่ขาดเรือก็ลอยไปไม่ได้  ฉันใดการที่จะทำให้ใจอยู่กับบทสวดมนต์ก็ดี อยู่กับองค์ภาวนา เช่นคำบริกรรมพุทโธๆๆก็ดี  อยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ดี  จำต้องมีสติ คือจะต้องมีการระลึกรู้  การเฝ้ามองอยู่กับสิ่งที่ได้กำหนดไว้ ให้เป็นเครื่องผูกใจไว้  ถ้าจะใช้การสวดมนต์ก็ขอให้อยู่กับคำสวดมนต์ทุกคำ  ไม่ใช่สวดไปแล้วก็คิดถึงเรื่องราวต่างๆไปด้วย   ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วใจจะไม่สงบ ใจจะไม่นิ่ง ก็จะไม่เกิดผลขึ้นมา ก็จะทำให้ผู้ที่ปฏิบัติเกิดความท้อแท้ เสื่อมศรัทธาขึ้นมา  คิดว่าไม่ใช่เป็นวิธีที่จะนำมาซึ่งความสุขให้กับตน 

ความจริงแล้วมันอยู่ที่การปฏิบัติของตนเองต่างหาก ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ นั่นก็คือ ให้มีสติอยู่กับงานที่ได้กำหนดไว้ให้ใจกระทำ  ถ้าได้กำหนดให้ใจอยู่กับการสวดมนต์ ก็ให้อยู่กับการสวดมนต์อย่างเดียว  อย่าไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ  ที่ผ่านมาแล้วก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ดี เรื่องที่อยู่ใกล้ตัว หรืออยู่ที่ไกลตัวทั้งหมดนั้น ขอให้ลืมไปเสีย อย่าไปคิดถึง  ตอนนี้ขอให้คิดอยู่เรื่องเดียว คือบทสวดมนต์   พยายามให้อยู่กับบทสวดมนต์ไปเรื่อยๆ  จนกว่าจิตจะเกิดความรู้สึกสงบ รู้สึกสบาย รู้สึกเย็น  แล้วอยากจะหยุดสวด ก็ลองกำหนดดูลมหายใจต่อไป  ดูลมหายใจเข้าออก ให้รู้อยู่กับลม เหมือนอยู่กับบทสวดมนต์  แต่ตอนนี้ไม่ต้องสวดแล้ว เพียงแต่ให้ดูที่ลมหายใจเข้า หายใจออก โดยกำหนดดูอยู่ที่จุดๆเดียว คือจุดที่ลมสัมผัสกับปลายจมูก หรือที่เหนือริมฝีปากขึ้นมา ให้กำหนดรู้อยู่ตรงจุดนั้น ไม่ต้องตามลมเข้าไปเวลาหายใจเข้า  ไม่ต้องตามลมออกมาเวลาหายใจออก เพราะไม่ต้องการให้ใจทำงาน  ไม่ต้องการให้ใจเคลื่อนไหวนั่นเอง  ต้องการให้ใจนิ่ง ให้อยู่กับที่  จึงควรกำหนดให้อยู่ตรงจุดใดจุดหนึ่งที่สัมผัสลมได้ชัด 

ในเบื้องต้นก็จะอยู่แถวปลายจมูกหรือบริเวณเหนือริมฝีปากขึ้นมา  แต่ต่อไปก็อาจจะไปรู้สึกอยู่ที่ท่ามกลางอกก็ได้  จะกำหนดอยู่ที่ตรงกลางอกก็ได้  อย่างที่ใช้ยุบหนอพองหนอ ก็กำหนดดูอยู่ที่บริเวณหน้าท้องหรือหน้าอก  เวลาลมหายใจเข้าก็จะเกิดความรู้สึกว่าพองขึ้นมา  เวลาหายใจออกไปก็เกิดความรู้สึกว่ายุบลงไป  จึงมีบทที่ว่ายุบหนอพองหนอ  แต่ความจริงเวลากำหนดดูไม่ต้องพูดคำว่ายุบหนอ พองหนอก็ได้   ข้อสำคัญขอให้รู้อยู่กับการเข้าออกของลมตรงจุดใดจุดหนึ่ง  ตรงหน้าอกก็ได้ ตรงที่ปลายจมูก บริเวณเหนือริมฝีปากขึ้นมาก็ได้  ให้เพียงแต่กำหนดรู้เท่านั้น ไม่ต้องไปควบคุม ไม่ต้องไปบังคับให้ลมหายใจสั้น หรือหายใจยาว  ให้หายใจละเอียด หรือหายใจหยาบ  ลมจะเป็นอย่างไรก็ให้รู้ตามความเป็นจริง  ถ้ากำลังหายใจสั้น ก็รู้ว่าขณะนี้หายใจสั้น  ถ้าหายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว  ถ้าลมหายใจหยาบก็รู้ว่าหยาบ  ถ้าลมหายใจละเอียดก็รู้ว่าละเอียด  ถ้าไม่มีความรู้สึกว่ามีลมเหลืออยู่เลย ก็ทำความเข้าใจว่าขณะนี้ลมละเอียด จนไม่สามารถรู้สึกได้  ก็ไม่ต้องวิตก ไม่ต้องกลัวว่า ถ้าไม่มีลมหายใจแล้วจะตายไป  เพราะความจริงแล้วถ้ายังมีความรู้อยู่กับตัว  รู้ว่าขณะนี้ลมหายใจได้หายไปจากความรู้สึกแล้ว ก็จะไม่ตาย จึงไม่ต้องไปกังวลอะไร 

เมื่อภาวนาไปแล้ว จิตจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ลมก็จะละเอียดตาม   ละเอียดจนเกิดความรู้สึกว่าลมไม่มีเสียแล้ว  ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะตาย  ตราบใดถ้ามีผู้รู้อยู่แล้ว รับรองว่าไม่ตาย  เพราะในขณะนั้นจิตจะรวมตัวลงเข้าสู่ความสงบอย่างเต็มที่  ถ้าเกิดความกลัวแล้ว ก็จะทำให้จิตถอนออกมา   ทำให้จิตหยาบขึ้น ลมก็หยาบขึ้นตาม ก็จะสัมผัสกับลมได้  ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะไม่ได้บรรลุถึงจุดของการภาวนา คือการรวมตัวของจิตลงไปเป็นหนึ่ง  ที่เรียกว่ามีอารมณ์เดียว  สักแต่ว่ารู้ เป็นเอกัคคตารมณ์   ดังนั้นถ้าภาวนาไป ดูลมไป แล้วลมละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ก็ไม่ต้องกังวลอะไร  ขอให้ดูไปเรื่อยๆ  เมื่อไม่มีลมก็ให้รู้ว่าไม่มีลม ให้รู้อยู่กับรู้นั่นแหละ รู้ว่าไม่มีลม  ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะรวมตัวลง  เมื่อรวมตัวลงแล้วก็จะเกิดความสงบ เกิดความนิ่ง เกิดความเย็น เกิดความสบายขึ้นมา  ในขณะนั้นจิตจะไม่สนใจกับเรื่องราวต่างๆภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัส ก็จะไม่สนใจ ไม่ใยดี  เพราะในขณะนั้นจิตมีความพอ มีความอิ่ม  ไม่มีความหิว ไม่มีความอยากกับอะไรทั้งสิ้น  เป็นความสุขที่ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะเปรียบเทียบได้  ดังที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้ จะเสมอเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ 

ถ้าได้ปฏิบัติถึงจุดนี้แล้ว จะเริ่มเข้าใจแล้วว่า ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ความศรัทธาในการที่จะปฏิบัติรักษาจิตให้สงบ ก็จะมีเพิ่มขึ้นไปมากๆ  เวลาที่เคยใช้ไปกับการหาความสุขภายนอก การทำมาหากิน หาเงินหาทอง เพื่อจะได้เอาเงินทองมาจับจ่ายซื้อความสุข  ก็จะลดน้อยถอยลงไป เพราะเริ่มเห็นแล้วว่าความสุขแบบนี้ หามาเท่าไรก็ไม่รู้จักคำว่าอิ่ม คำว่าพอสักที กลับสร้างความหิว สร้างความกระหายให้มีมากเพิ่มขึ้นไปเสียอีก  จึงเริ่มเข้าใจแล้วว่าความสุขแบบนี้ ไม่ใช่เป็นความสุข แต่เป็นความทุกข์  ความสุขที่แท้จริง กลับเป็นความสงบของใจ   ดังนั้นเมื่อมีเวลามีโอกาส ก็จะพยายามหาเวลาเข้าวัด หาสถานที่สงบที่ปราศจากผู้คนพลุกพล่าน หาความวิเวก การอยู่ตามลำพัง  แล้วก็เจริญสมาธิภาวนา ในเบื้องต้นก็ด้วยการสวดมนต์  สวดไปสักระยะหนึ่งก่อน  เพราะในเบื้องต้นจิตจะหยาบมาก  ให้กำหนดอยู่กับพุทโธๆๆ  ก็จะไม่อยู่  จะให้อยู่กับลมหายใจก็ไม่อยู่  จึงให้สวดมนต์ไปพลางๆก่อน  สวดไปจนรู้สึกว่าใจเริ่มมีความนิ่ง มีความพอ  รู้สึกไม่อยากจะสวดแล้วก็หยุด  แล้วก็กำหนดดูลมหายใจต่อไป  หรือกำหนดพุทโธๆๆไปในใจเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะสงบนิ่ง  เมื่อสงบนิ่งแล้วการสวดมนต์ก็ดี  การดูลมหายใจก็ดี  หรือการบริกรรมพุทโธๆๆก็ดี  ก็ไม่จำเป็นต่อไป  เพราะได้ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการแล้ว  เหมือนกับเวลาที่รับประทานอาหาร ขณะที่ยังไม่อิ่มก็ต้องตักข้าวเข้าปาก ต้องเคี้ยว ต้องกลืนอาหารไปเรื่อยๆ  ต้องรับประทานไปเรื่อยๆ  แต่เมื่ออิ่มแล้ว ก็จะหยุดรับประทานไปเอง 

ฉันใดการไหว้พระสวดมนต์  การบริกรรมพุทโธๆๆ การกำหนดดูลมหายใจ ก็เหมือนกับการรับประทานอาหารของใจนั่นเอง เมื่อรับประทานเต็มที่แล้ว ใจสงบนิ่งแล้ว การสวดมนต์ การบริกรรมพุทโธๆๆ การกำหนดดูลมหายใจเข้าออก ก็ไม่มีความจำเป็นต่อไป  เพราะในขณะนั้นใจจะนิ่งอยู่เฉยๆ  จะนิ่งอยู่ได้นานมากน้อยเท่าไร  ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ  เพราะการภาวนาแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน  บางครั้งก็จะนิ่งอยู่ได้นาน  บางครั้งก็จะไม่นาน  ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของใจ  ไม่ต้องไปกังวล อย่าไปดึงใจออกมาในขณะที่ใจมีความสงบ  เพราะถ้าทำเช่นนั้นแล้ว ในโอกาสหน้าเวลาจะทำให้ใจสงบจะยาก  แต่ถ้าปล่อยให้ใจอยู่ในความสงบ จนเต็มที่ของเขาแล้ว  เขาอิ่ม เขาพอแล้ว เขาก็จะออกมาเอง  เมื่อเกิดความอยากออกมา ก็จะเริ่มรับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่มาสัมผัส  แล้วก็เริ่มคิดปรุง  คิดเรื่องนั้น  คิดเรื่องนี้  มีการเปลี่ยนอิริยาบถ  ลุกขึ้นมา เพื่อไปทำภารกิจการงานอย่างอื่นต่อไป 

ถ้าเป็นไปได้เมื่อลุกขึ้นมาแล้ว ในขณะที่จะไปทำภารกิจอะไรก็ตาม  ขอให้มีสติตามรู้กับภารกิจการงานต่างๆ  ให้มีความรู้อยู่กับภารกิจที่ทำอยู่ในขณะนั้น  คือในปัจจุบัน  ถ้าลุกขึ้นมา ก็ให้รู้ว่ากำลังลุกขึ้นมา  ถ้าเดินก็รู้ว่ากำลังเดิน  กำลังทำอะไรอยู่ ก็ให้รู้อยู่กับการกระทำนั้นๆ  ถ้าทำอย่างนี้ได้ ถือว่ายังภาวนาอยู่  เป็นการรักษาใจให้สงบให้นิ่ง  ถึงแม้ใจจะทำงานแต่ไม่ส่ายแส่  ไปหาเรื่องราวต่างๆ ในอดีตก็ดี ในอนาคตก็ดี  ที่ไกลที่ใกล้ก็ดี แต่อยู่กับกิจที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน  ถ้าทำอย่างนี้ได้ ใจก็ยังสงบ  ยังเย็นอยู่  เพราะไม่มีอารมณ์อะไรเข้ามาสร้างความวุ่นวายใจ   ในขณะที่ทำอะไรอยู่ หากใจเกิดมีความรู้สึกรักหรือชัง  ยินดียินร้ายกับสิ่งที่กระทำ ก็ให้เอาปัญญาเข้ามาใช้ ว่าไม่ควรไปรัก ไปชัง ไปยินดียินร้ายกับอะไร  เพราะเป็นเรื่องของอารมณ์  เมื่อมีความยินดีก็จะเกิดความดีใจ  ถ้าเกิดความยินร้ายขึ้นมาก็จะเกิดความโกรธ ความเสียใจ ความไม่สบายใจขึ้นมา  แต่ถ้าทำความเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ใจมาสัมผัส มารับรู้ ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่  ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับเขา  เพราะถ้ามีแล้ว ก็จะสร้างปัญหาให้กับใจ  ถ้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียขึ้นมา ก็จะมีความกังวล มีความห่วง มีความอาลัย มีความอาวรณ์ มีความรังเกียจ มีความไม่ชอบใจ ไม่พอใจขึ้นมา  ซึ่งล้วนเป็นความทุกข์ของใจทั้งสิ้น  เป็นสิ่งที่เราไม่ปรารถนากัน 

ให้มองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมชาติ  เขาเป็นของเขาอยู่อย่างนั้น  เราไม่ต้องไปกังวลกับเขา  เขาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไป  ถ้ามาเกี่ยวข้องกับเรา  ก็ปฏิบัติกับเขาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามหน้าที่ของเรา  ถ้าไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำให้สิ่งต่างๆเหล่านั้น เป็นไปตามความต้องการของเรา  ก็ไม่ต้องไปกังวลกับเขา  ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา  ไม่มีเขาเราก็อยู่ได้  นี่คือหลักความจริง  แต่เหตุที่พวกเรายังต้องไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต่างๆเหล่านั้น ก็เพราะความหลง  เพราะคิดว่าถ้ามีสิ่งต่างๆเหล่านั้นแล้ว จะมีความสุข  จะมีความเจริญรุ่งเรือง  ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด  ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ใจที่สงบ  อยู่ที่ใจที่ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างต่างหาก เพราะถ้าใจได้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว  ก็จะไม่มีอะไรมาสร้างความทุกข์ให้กับใจ  มาสร้างความวุ่นวายให้กับใจ  ถ้าใจยังมีความวุ่นวาย ยังมีความกังวลอยู่  ก็แสดงว่าใจยังไม่ได้พัฒนาไปถึงจุดที่สูงสุด  จุดที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้พัฒนาไปถึงนั้น เป็นจุดที่ไม่มีความกังวล  ไม่มีความทุกข์  ไม่มีความวุ่นวายใจ  เรียกว่าปรมังสุขัง  มีแต่ความสุขล้วนๆ  มีความสุขอย่างเดียวภายในใจ  ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปัญญา มีความเข้าใจในสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นทุกข์นั่นเอง ถ้าไปยุ่งกับเขา ไปเกี่ยวข้องกับเขาแล้ว จะต้องมีความกังวลใจตามมาไม่ช้าก็เร็ว  ถ้าไม่ไปเกี่ยวข้องก็จะไม่มีความทุกข์ ไม่มีความกังวลใจ  ญาติโยมลองสังเกตดู เรามีความทุกข์กับอะไร  ส่วนใหญ่ก็มีความทุกข์กับของๆเรานั่นแหละ  อะไรที่เป็นของๆเรา  ก็จะมีความทุกข์กับสิ่งนั้น  ถ้าสิ่งไหนไม่ใช่เป็นของๆเรา  ก็จะไม่มีความทุกข์กับของสิ่งนั้น  จึงต้องใช้ปัญญาให้เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นของๆเรา  เพื่อจะได้ปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น จะได้ไม่ต้องทุกข์กับอะไรอีกต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้