กัณฑ์ที่ ๑๖๐      ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๖

บวช ๒ ประเภท

ในระยะนี้ญาติโยมคงจะเห็นว่า ที่วัดมีจำนวนพระเณรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน  จึงมีนักเรียนของโรงเรียนผู้รู้ ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ได้บรรพชาเป็นสามเณร  ๑๕ วันด้วยกัน  จะอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมที่วัดจนถึงวันที่ ๒๗  และก็มีอีกคณะหนึ่งเป็นข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดน ก็ได้บรรพชาอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  เนื่องในวโรกาสวันพระราชสมภพของท่าน  ก็บวชกันที่วัดบวรนิเวศน์   เสร็จแล้วก็เดินทางมาศึกษาปฏิบัติธรรม ที่วัดญาณสังวรารามแห่งนี้  และจะอยู่ไปจนถึงวันที่ ๑ เมษายน  ก็จะเดินทางกลับกรุงเทพมหานครต่อไป 

การบวชในสมัยนี้กับการบวชในสมัยพุทธกาลนั้น ก็มีความแตกต่างกันพอสมควร  เพราะในสมัยพุทธกาล ท่านบวชกันแบบถาวร คือบวชแล้วไม่สึก  บวชเพื่อมรรค ผล นิพพาน  บวชเพื่อความพ้นทุกข์  แต่ในสมัยปัจจุบันนี้  การบวชส่วนใหญ่จะบวชเป็นครั้งเป็นคราว เป็นชั่วระยะเวลาหนึ่ง  ๑๕ วันบ้าง  ๑ เดือนบ้าง  พรรษาหนึ่งบ้าง  ถ้าเปรียบเทียบการบวชเหมือนกับการนำเสื้อผ้าไปชำระล้าง ไปซัก  การบวชชั่วคราวก็เหมือนกับเอาเสื้อผ้าใส่เข้าไปในกะละมัง แล้วก็ตักน้ำใส่เข้าไป  น้ำยังไม่ทันเปียกเสื้อผ้าทั่วทั้งผืน ก็ยกขึ้นมาบิดๆ แล้วก็เอาไปตากแล้ว  อย่างมากก็ได้เพียงแต่ระงับกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนา ให้เบาบางลงไปบ้าง  แต่ไม่สามารถกำจัดคราบสกปรกที่ติดอยู่ในเสื้อผ้าได้  ในทางตรงกันข้ามถ้าบวชแบบในสมัยพุทธกาล  คือบวชเพื่อศึกษาปฏิบัติธรรม เพื่อการบรรลุมรรค ผล นิพพาน  เพื่อการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  เพื่อความพ้นทุกข์นั้น  ก็ต้องเหมือนกับการซักผ้าแบบเอาเสื้อผ้าใส่ไปในภาชนะคือกะละมัง  แล้วก็เอาน้ำใส่  ใส่ผงซักฟอก  แล้วขยำ ขัด ถู จนกว่าเสื้อผ้าชิ้นนั้นจะสะอาดหมดจด 

นี่ก็คือลักษณะของการบวชในสมัยพุทธกาล  ท่านบวชเพื่อขัดเกลาสิ่งที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง เป็นมลทินทั้งหลายคือกิเลสตัณหาให้หมดไปจากจิตจากใจ  เพราะท่านรู้ดีว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะมีพิษมีภัย ที่จะเป็นเครื่องขัดขวางความสุข ความเจริญ นอกจากกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจของสัตว์โลกทั้งหลาย  ผู้ใดก็ตามถ้าปรารถนาความสุขความเจริญ  ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง  ต้องหันเข้ามาทำการขัดเกลาจิตใจของตน  ชำระกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ เช่น ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น  ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ให้หมดไปจากจิตจากใจเท่านั้นแหละ จึงจะพบกับความสุขที่แท้จริง  ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้บรรลุถึง  นั่นก็คือความบริสุทธิ์ของใจ  ใจถ้าได้รับการชำระด้วยการศึกษาปฏิบัติธรรมแล้ว ย่อมก้าวสู่ความสะอาดบริสุทธิ์  ปราศจากกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย  นั่นแหละคือจุดหมายปลายทางของการบวชในสมัยพุทธกาล 

ถ้าเราศึกษาดูบุคคลแรกที่ขออุปสมบทกับพระพุทธเจ้า  จะเห็นได้ว่าท่านขอบวชหลังจากที่ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้น คือพระโสดาบัน  นั่นก็คือพระอัญญาโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕    หลังจากที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงพระปฐมเทศนา แสดงถึงพระอริยสัจ ๔ และมรรคที่มีองค์ ๘  ให้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕  ได้ฟัง   หลังจากเสร็จสิ้นแห่งการแสดงธรรมเทศนา  หนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕   คือพระอัญญาโกณฑัญญะ   ก็มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา  เห็นว่า ธรรมอันใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  ธรรมอันนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา คือเห็นแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้  เป็นของไม่เที่ยง  มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นธรรมดา  รวมทั้งสังขารร่างกายของเราก็เป็นเช่นนั้น  เกิดขึ้นมาแล้วก็มีการแก่ มีการเจ็บ มีการตายเป็นธรรมดา  มีการพลัดพรากจากของรักของชอบเป็นธรรมดา 

เมื่อเห็นดังนั้นใจก็ปล่อยวาง ในการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ  ที่มีอยู่ในโลกนี้  เพราะรู้ว่าโลกนี้เป็นที่อยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง  เป็นเหมือนทางผ่าน เหมือนกับศาลาหลังนี้ ที่พวกเราทั้งหลายได้มารวมตัวกันอยู่ในขณะนี้ เราก็รู้ว่าเราไม่ได้อยู่ที่นี่ไปกันตลอด  เมื่อเสร็จจากภารกิจแล้ว  ต่างคนต่างแยกย้ายกันไป  เราจึงไม่มีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ว่าจะต้องอยู่ร่วมกันไปตลอด  เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องแยกย้ายกันไป  เราก็ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ  เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ที่จะต้องอยู่ร่วมกันไปตลอดนั่นเอง  นี่คือลักษณะของผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม  เมื่อเห็นอนิจจัง สภาพของความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้แล้ว ก็ปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวาง ใจก็มีความเบาอกเบาใจ  ไม่มีความวิตกกังวลกับการพลัดพรากจากกัน  ไม่มีความวิตกกังวลกับความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย  ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา  นี่ก็คือการบรรลุธรรมในเบื้องต้น  หลังจากที่ได้บรรลุธรรมแล้ว  พระอัญญาโกณฑัญญะก็ขอประทานอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า   ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงประทานด้วยการกล่าวคำว่า เอหิภิกขุ  มาเป็นภิกษุเถิด  เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด  มาปฏิบัติธรรมที่ตถาคตได้แสดงไว้ดีแล้ว  เพื่อการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  สิ้นสุดแห่งความทุกข์ทั้งหลาย 

นี่ก็คือลักษณะของการบวชในระยะเบื้องต้น ของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ส่วนใหญ่ผู้บวชมักจะบรรลุธรรมเสียก่อนจึงขอบวชกัน  เมื่อบวชแล้ว ท่านก็เร่งปฏิบัติธรรมต่อไป จนบรรลุธรรมที่สูงสุด คือพระนิพพาน เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้สิ้นกิเลส  ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  แต่ในสมัยนี้เราบวชกันแบบเป็นพิธีเสียมากกว่า  บวชเพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา  หรือถวายเป็นพระราชกุศลแด่ผู้หลักผู้ใหญ่  ก็เป็นการที่ดี ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เสียหายอะไร  เพียงแต่ว่ายังไม่ดีพอ  ยังไม่สามารถที่จะทำให้จิตใจหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้  ไม่สามารถกำจัดกิเลสตัณหา อันเป็นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย ให้หมดไปจากจิตจากใจได้  ถ้าไม่ปฏิบัติอย่างจริงจัง แบบไม่มีกำหนดเวลา  คือจะหยุดการปฏิบัติอยู่ ๒ ลักษณะเท่านั้น  ถ้าไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา  ก็ต้องตายไปเท่านั้น 

นี่คือลักษณะของผู้ที่บวชในสมัยพุทธกาล  ท่านบวชอย่างถวายชีวิต พลีชีพเพื่อธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้  ไม่ให้เห็นอะไรที่มีคุณค่า มีความสำคัญยิ่งกว่าธรรม  ทรงสอนให้สละทรัพย์สินสมบัติเงินทอง สละอวัยวะ สละแม้แต่ชีวิตเพื่อรักษาธรรม  เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะประเสริฐเท่ากับธรรม  ผู้ใดมีธรรมอยู่ในใจแล้ว  ผู้นั้นเป็นผู้ที่ปลอดภัย  ปลอดจากความทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง  ผู้ที่มีทรัพย์สมบัติเงินทองมากมายขนาดไหนก็ตาม  จะมีตำแหน่ง มีฐานะ ยศถาบรรดาศักดิ์  เป็นถึงพระมหากษัตริย์ เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นผู้บังคับบัญชาการระดับต่างๆก็ตาม ก็ยังไม่มีความอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์ได้  นอกจากไม่หลุดแล้ว ฐานะต่างๆเหล่านี้ กับทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของเหล่านี้ กลับเป็นตัวกดดัน เป็นตัวสร้างความทุกข์ให้มีมากเพิ่มยิ่งขึ้นไปเสียอีก   โดยผู้ที่มีสิ่งเหล่านี้หารู้สึกตัวไม่  เนื่องจากถูกโมหะความหลงครอบงำใจนั่นเอง ทำให้เห็นความทุกข์เป็นความสุข คิดว่าตนเองมีอำนาจวาสนา สามารถจะทำอะไรก็ได้  แต่ลืมหันมามองดูที่ใจของตน ที่ในขณะนี้ได้ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหา ถูกกิเลสตัณหาคอยข่มขี่บังคับให้มีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัว มีแต่ความทุกข์ใจ จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ

เพราะไม่เคยสนใจที่จะหันมาดูที่ใจของตนนั่นเอง  มัวแต่มองไปภายนอก จึงทำให้คิดว่าตนเองมีความสุข มีอำนาจวาสนา  แต่แท้จริงแล้วตนเองนั่นแหละที่เป็นทาสของกิเลสตัณหา ที่มีอยู่ในใจของตน  ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้สละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อรักษาธรรมไว้  เพราะถ้ามีธรรมอยู่ในใจแล้ว ธรรมนี้แหละจะเป็นตัวกำจัด เป็นตัวทำลายกิเลสตัณหา ผู้เป็นเจ้ากรรมนายเวรของใจเรา  เป็นผู้สั่งการให้ใจไปก่อกรรมทำเวร  ไปสร้างความทุกข์ให้กับตนและผู้อื่น แบบไม่รู้จักจบจักสิ้น  สิ้นจากภพนี้ก็ไปต่อภพหน้า ก็ทำเหมือนเดิมอยู่  เพราะตราบใดถ้ายังมีกิเลสตัณหาอยู่ภายในใจ  กิเลสตัณหาก็จะออกฤทธิ์แสดงบทบาทของตนอยู่เสมอ  ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม  จะเป็นถึงพระมหากษัตริย์ หรือเป็นขอทานข้างถนน  ถ้ามีกิเลสตัณหาอยู่ในใจ  มันก็จะต้องแสดงฤทธิ์ของมันออกมาอยู่เสมอ  แสดงออกมาด้วยความโลภ ด้วยความโกรธ   ด้วยความอยาก  ด้วยความบ้าอำนาจต่างๆนานา  เหล่านี้เมื่อมีอยู่ในใจของผู้ใดแล้ว ย่อมพาให้ผู้นั้นไปสร้างเวรสร้างกรรม ทำบาปทำกรรม แล้วก็ต้องรับใช้ผลของกรรม ทั้งภายในใจและภายนอกใจ คือที่ร่างกาย  ในใจก็มีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัว  ที่กายก็มีคนคอยมาทำร้าย มาสร้างเวรสร้างกรรมต่อไป 

นี่แหละคือลักษณะของกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจ  บรรดาพระสาวกทั้งหลายในอดีต ในสมัยพุทธกาล หลังจากที่ได้ยินได้ฟังธรรมแล้ว จึงเห็นโทษของกิเลสตัณหา  และก็เห็นว่ามีวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้  นั่นก็คือการศึกษาปฏิบัติธรรม ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้  จะศึกษาปฏิบัติในฐานะไหนก็ทำได้  เป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็สามารถศึกษาปฏิบัติธรรมได้ เป็นบรรพชิตนักบวชก็ศึกษาปฏิบัติธรรมได้  ส่วนใหญ่ก็จะศึกษาปฏิบัติธรรมในฐานะฆราวาสกันไปก่อน  แต่หลังจากที่ได้เจริญธรรมขึ้นไปเรื่อยๆแล้ว  ก็เกิดฉันทะความพอใจที่จะปฏิบัติให้ได้ธรรมสูงยิ่งขึ้นไป  ก็จะเห็นว่าฐานะของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนนั้นมีข้อจำกัด เพราะมีภารกิจอย่างอื่นที่จะต้องทำ เช่นทำงานทำการ ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัวซึ่งเป็นปัญหา เป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญธรรมอย่างยิ่ง  จึงต้องตัดสินใจสละสมบัติข้าวของเงินทอง สละบุคคลต่างๆ เช่น สามีภรรยา บุตรธิดา แล้วก็ออกบวชเป็นบรรพชิตต่อไป 

นั่นแหละคือการเจริญก้าวหน้าของการศึกษาปฏิบัติธรรม  ก็เปรียบเหมือนกับต้นไม้   ในเบื้องต้นเราก็เพาะต้นไม้ไว้ในกระถาง เมื่อเลี้ยงดูต้นไม้ด้วยการทำนุบำรุงดูแลรักษา ด้วยน้ำ ด้วยดิน ด้วยปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง  ต้นไม้ก็เจริญงอกงามจนทำให้กระถางต้นไม้แตกออกไป  เพราะรากขยายตัวออกไป  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องย้ายต้นไม้ออกจากกระถาง เพื่อเอาลงดินต่อไป  เพื่อต้นไม้จะได้เจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ได้  ถ้าปล่อยไว้ในกระถาง ต้นไม้ก็ไม่มีทางที่จะเจริญงอกงามใหญ่โตเป็นต้นไม้ใหญ่ขึ้นมาได้  จึงต้องย้ายออกไป แล้วเอาลงไปในดินอีกทีหนึ่ง การปฏิบัติการศึกษาธรรมะ ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนก็เป็นเช่นนั้น  ต้องศึกษาจากฐานะที่เป็นฆราวาสไปก่อน  หลังจากได้นำไปปฏิบัติแล้ว จิตใจมีความเจริญรุ่งเรือง  มีความสงบมากขึ้นไปเท่าไรก็จะเกิดความรำคาญกับสิ่งต่างๆรอบตัว  เมื่อก่อนนี้เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติ  สมัยที่จิตใจยังไม่สงบนั้น  จิตใจจะถูกกิเลสผลักดัน ให้ออกไปหากามสุขคือหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ออกไปเที่ยว ไปดูหนังดูละคร ไปหาความสุขกับบุคคลต่างๆ  ไปหาความสุขจากการสัมผัส เสพสุรายาเมา ยาเสพติด ซึ่งล้วนเป็นกามสุขทั้งสิ้น 

แต่ถ้าได้เริ่มปฏิบัติธรรม ทำจิตให้สงบด้วยการนั่งทำสมาธิ  ในเบื้องต้นก็สวดมนต์ไปในใจก่อน  ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับบทสวดมนต์ ไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ นี่ก็เป็นการทำสมาธิในเบื้องต้น  เมื่อสวดไปเรื่อยๆ แล้วจิตก็จะค่อยๆสงบลง ความคิดปรุงแต่งต่างๆ ความคิดฟุ้งซ่านอารมณ์อยากต่างๆ ก็จะค่อยเบาบางลงไป  ถ้าทำให้จิตรวมตัวลงสงบเป็นหนึ่งได้ คือปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยวางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อารมณ์ต่างๆที่มีอยู่ภายในใจได้ แม้แต่เพียงชั่วขณะหนึ่ง ก็จะสัมผัสกับความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อนในชีวิตเลย  เป็นความสุขที่เลิศ เป็นความสุขที่ประเสริฐ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า  สุขใดในโลกนี้ ไม่มีความสุขใดจะเสมอเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ  เรียกว่าสันติสุข  เกิดจากการบำเพ็ญจิตตภาวนา เจริญสมาธิภาวนา ด้วยการควบคุมจิตใจไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ  ให้อยู่กับธรรมะบทใดบทหนึ่ง เช่น บทสวดมนต์ หรือการบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ  ไปในใจ  ถ้าทำได้อย่างต่อเนื่องแล้ว รับรองได้ไม่ช้าก็เร็ว จิตก็จะรวมลงเป็นสมาธิ  เมื่อจิตรวมลงเป็นสมาธิแล้ว  จิตก็จะมีความอิ่ม มีความสุข มีความพอ  จึงเกิดความรำคาญ เวลามีอะไรต่างๆมากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย  

เมื่อก่อนนั้นมีแต่อยากจะแสวงหารูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะต่างๆ   เพราะใจมกามตัณหาเป็นตัวคอยผลักดันให้ออกไปแสวงหา ให้ไปกว้านเอามาเสพ  แต่เมื่อตัวกามตัณหาถูกระงับดับลงไป ด้วยพลังของสมาธิ   ความอยากในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ต่างๆ จึงหายไป  แทนที่จะมีความดีใจ สนใจเวลาเปิดดูโทรทัศน์ เปิดเพลงฟัง เต้นแร้งเต้นกา กินเหล้าเมายา  กลับเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล เรื่องไร้สาระ  เป็นเรื่องของคนโง่เขลาเบาปัญญา คนที่ยังไม่รู้จักความสุขที่แท้จริงว่าอยู่ที่ไหนนั่นเอง มัวแต่ไปวิ่งตะครุบเงา  ตัวที่เป็นต้นเหตุของเงากลับไม่จับมัน  ถ้าจับมันแล้วทุกอย่างก็จบลง  เหมือนเราวิ่งตะครุบเงาตัวเราเอง  ต่อให้วิ่งตะครุบไปจนวันตาย ก็ไม่มีทางที่จะตะครุบเงาเราได้  เพราะเงามันจะต้องทอดไปข้างหน้าเราอยู่เสมอ  เราก็ต้องวิ่งไล่จับมันไป  พอเราวิ่งไปเงามันก็วิ่งไปข้างหน้าเรา เพราะเงามันออกมาจากตัวเรานั่นเอง  ความสุขต่างๆที่เราแสวงหานั้น มันก็มีอยู่ในใจของเราแล้ว  แต่เราไม่รู้เราถูกกิเลสตัณหาหลอก ให้เราออกไปหาความสุขภายนอก  เราก็วิ่งตะครุบหาความสุขภายนอก  ยิ่งวิ่งหาความสุขเท่าไร ก็ยิ่งมีแต่ความทุกข์มากขึ้นไปเท่านั้น 

เพราะเวลาไปหาความสุขภายนอกต้องใช้เงินใช้ทอง  แล้วเงินทองก็ไม่ใช่ว่าจะตกลงมาเหมือนฝนบนฟ้า  เป็นสิ่งที่จะต้องทำมาหากินด้วยหยาดเหงื่อ ด้วยกำลังสติปัญญา เมื่อหามาแทบเป็นแทบตายแล้ว ก็เอาไปใช้    พอใช้หมดก็ต้องหาอีก  ต้องหามันอยู่ร่ำไป  อย่างนี้มันจะเป็นความสุขได้อย่างไร  มีแต่ความทุกข์เพราะต้องต่อสู้ ดิ้นรนทุรนทุรายอยู่ตลอดเวลา  และถ้าไม่ระมัดระวังก็ต้องไปเสี่ยงต่อศีลธรรม  เพราะเมื่อมีความต้องการที่จะใช้เงินอย่างรีบด่วน  บางทีหามาด้วยความสุจริตไม่ได้  ก็ต้องหาด้วยวิธีทุจริต  บางทีก็ไปขายยาบ้า  บางทีก็ไปขายตัว  บางทีก็ไปลักขโมย ไปทำคอรัปชั่นต่างๆ   ทำให้เกิดความทุกข์เพิ่มขึ้นมาอีกในใจ  เพราะเมื่อทำความผิดแล้วใจก็จะต้องมีความว้าวุ่นขุ่นมัว  มีความหวาดวิตกกังวล  กลัวว่าจะต้องถูกจับ ถูกทำโทษ  นอกจากนั้นแล้วหลังจากที่ตายไป  กรรมต่างๆที่ได้ทำไว้ยังจะมีผลตามมาอีก  แทนที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้า  ก็ต้องไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เป็นเดรัจฉาน  เพราะไปก่อกรรมทำเวรไว้   ทำผิดศีลผิดธรรม  จึงต้องไปเกิดในที่เหล่านั้น 

นี่เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เห็น จึงมาคอยเตือนบอกพวกเราว่า อย่าไปทำบาปทำกรรมเป็นอันขาด อย่างวันนี้พวกเราก็ได้มาสมาทานศีลกัน  ศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอุโบสถ   นี่ก็เป็นเหมือนกับตาข่ายที่จะกั้นไม่ให้เราตกลงไปสู่ที่ต่ำ  ถ้าอยู่ที่สูงแล้วไม่มีตาข่ายคอยรองรับไว้  เวลาตกลงมาก็ต้องตกลงไปกระแทกกับพื้น ต้องเจ็บปวดรวดร้าว  แต่ถ้ามีตาข่ายคอยรองรับ เราก็ปลอดภัย  ฉันใดผู้ที่ได้สมาทานศีล ๕ เป็นอย่างน้อย  คือรักษาศีล ๕ อย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่องแล้ว   รับรองได้ว่าเมื่อตายไปแล้ว ไม่ต้องไปเกิดในอบายอย่างแน่นอน  ดังในบทที่ได้กล่าวไว้ในท้ายศีลว่า  สีเลนะ สุคติง ยันติ ศีลเป็นเหตุที่นำไปสู่สุคติ  สุคติก็คือภพภูมิของมนุษย์ ของเทพ ของพรหม ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย  สิ่งเหล่านี้พวกเราฟังแล้วก็อาจจะคิดว่าเป็นของเล่น เป็นของหลอกกันก็เป็นได้  แต่พระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นคนเล่น  พระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นคนโกหกหลอกลวง  พระพุทธเจ้าเป็นคนจริง  ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความจริงใจ  ศึกษาปฏิบัติก็ศึกษาปฏิบัติด้วยความจริงใจ  บรรลุธรรมก็เห็นธรรมอย่างจริงใจ  เห็นอย่างไม่มีข้อสงสัยหลงเหลืออยู่ในพระทัยเลย  จึงได้นำมาสั่งสอนพวกเรา 

ผู้ที่มีศรัทธา มีความเชื่อ มีปัญญาที่รู้ว่าสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นล้วนเป็นความจริง  ก็ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท  ในเบื้องต้น  ควรรักษาศีลไว้ให้ดี แต่รักษาศีลอย่างเดียวยังไม่พอ  เพราะศีลไม่สามารถเข้าไปกำจัดกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจได้  สิ่งที่จะกำจัดกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจได้ ต้องอาศัยการบำเพ็ญจิตตภาวนา  คือเจริญสมาธิ  เจริญวิปัสสนาเท่านั้น ถึงจะสามารถกำจัดกิเลสตัณหา  โมหะ อวิชชา ที่มีอยู่ในใจให้หมดไปได้  เหมือนกับคราบสกปรกต่างๆที่มีอยู่ในเสื้อผ้า จะไม่สามารถกำจัดได้โดยน้ำเปล่าๆ ต้องอาศัยผงซักฟอกชนิดเข้มข้นใส่เข้าไป เพื่อละลายคราบต่างๆที่ติดอยู่ในเสื้อผ้า ให้หลุดออกมา   ฉันใดการบำเพ็ญจิตตภาวนา การปฏิบัติธรรม  มีการนั่งสมาธิ เดินจงกรม  พิจารณาไตรลักษณ์  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา ล้วนเป็นวิธีการ  เป็นเครื่องมือ  เป็นเครื่องซักฟอกจิตใจ  ให้สะอาดบริสุทธิ์หมดจด  แต่การมีศีลนี้ในเบื้องต้นก็เป็นสิ่งจำเป็น  เพราะศีลเป็นเครื่องสนับสนุนให้การเจริญบำเพ็ญจิตตภาวนา เป็นไปได้ด้วยความง่ายดาย เปรียบเหมือนกับการซักเสื้อผ้า  ถ้ามีเสื้อผ้า มีผงซักฟอก แต่ไม่มีน้ำ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ผงซักฟอกทำหน้าที่กำจัดคราบของเสื้อผ้าได้  ต้องอาศัยน้ำเข้าไปละลายผงซักฟอกเสียก่อน แล้วผงซักฟอกจะได้ซึมซับเข้าไปในเสื้อผ้า เพื่อจะได้กำจัดคราบสกปรกต่างๆ ที่มีอยู่ในเสื้อผ้าให้หลุดออกไป 

ฉันใดศีลก็เป็นเหมือนกับน้ำที่จำเป็นต่อผงซักฟอก  คือสมาธิและวิปัสสนาปัญญา  จะต้องมีควบคู่กันไป  ต้องมีน้ำ ต้องมีผงซักฟอก  จึงจะสามารถกำจัดคราบสกปรกที่มีอยู่ในเสื้อผ้าได้ ถ้าเอาไปผสมกันแล้วแต่ทิ้งไว้เฉยๆ   ไม่ขยี้ ไม่ซัก ก็ยังจะไม่หลุด  ยังต้องมีวิริยะ ความอุตสาหะ ความพากเพียร  คือมีศีลแล้ว มีสมาธิแล้ว มีปัญญาแล้ว   แต่ไม่นำมาปฏิบัติ ไม่นำมาใช้ ไม่นำมาแก้ไขปัญหา  เช่น มีปัญญา เห็นแล้วว่าการเสพสุรายาเมา มีแต่โทษ ไม่มีคุณ  แต่ไม่เอามาปฏิบัติ  ก็ยังกินเหล้าเมายาอยู่เหมือนเดิม  อย่างนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์  ต้องมีวิริยะความพากเพียรที่จะต้องต่อสู้กับความอยากสุรา เมื่อรู้แล้วว่าสุราเมรัยเป็นของไม่ดี  เสพเข้าไปแล้วมีแต่จะพัง มีแต่จะเสียหายอย่างเดียว  เราก็ต้องฝืน  ทุกครั้งที่มีความอยากที่จะหยิบขวดสุรามาดื่ม  ก็ต้องตัดมือตัดแขนด้วยปัญญา  ตัดกิเลสด้วยปัญญา ด้วยความอุตสาหะพากเพียร ต่อสู้กับความอยากนั้น   ถ้าไม่ต่อสู้กับความอยาก  ต่อให้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา แต่ไม่นำมาใช้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร กิเลสตัณหาก็ยังมีเหลืออยู่ภายในใจ  เหมือนกับคราบสกปรกที่มีติดอยู่กับเสื้อผ้า  ถึงแม้จะมีน้ำ มีผงซักฟอก  แต่ไม่ขยี้ ไม่เอามาซัก ไม่เอามาชะล้าง ด้วยน้ำที่สะอาดอีกครั้งหนึ่ง  คราบสกปรกก็ยังติดอยู่อย่างนั้นแหละ  ดังนั้นเมื่อรู้แล้วว่าอะไรเป็นเหตุที่ขัดขวางความสุขความเจริญที่แท้จริง  เราก็ต้องกำจัดเหตุนั้น  เหตุนั้นก็คือกิเลสตัณหา เครื่องมือที่จะกำจัดกิเลสตัณหาก็คือศีล สมาธิ ปัญญา เราก็รู้แล้ว เราก็ต้องนำมาปฏิบัติ ด้วยวิริยะความอุตสาหะ ด้วยความพากเพียร อดทน อดกลั้น  จนไม่มีกิเลสตัณหาหลงเหลืออยู่ภายในใจ เหลืออยู่แต่บริสุทธิ์พุทโธ ที่เป็นสุดยอดของความสุขความเจริญ  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้