กัณฑ์ที่ ๑๖๑      ๑ เมษายน ๒๕๔๖

บรรลุธรรมด้วยการฟัง

 

การฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอตามกาลตามเวลา พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง  ดังในพระบาลีที่ได้ตรัสไว้ว่า  กาเลนะ ธัมมัสสวนัง เอตัมมัง กลมุตตมัง  การฟังธรรมตามกาล ตามเวลา เป็นมงคลอย่างยิ่ง   เพราะการฟังธรรมสามารถทำให้ผู้ฟังบรรลุธรรมได้  ดังในสมัยพุทธกาลที่มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงแสดงธรรม  ในแต่ละครั้งที่ทรงแสดง จะมีผู้ที่ฟังธรรมได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์ เป็นจำนวนมาก  เหตุที่ทำให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาได้  ก็เนื่องจากผู้แสดงธรรมคือพระบรมศาสดา เป็นผู้รู้จริงเห็นจริง  สิ่งที่ทรงแสดงก็ล้วนแต่เป็นความจริงล้วนๆ  ผู้ฟังก็เป็นผู้ที่ทรงศีลทรงธรรม  เป็นผู้รักษาศีล มีสมาธิ เป็นนักบวช มีจิตใจตั้งมั่น  เวลาฟังธรรมก็ฟังด้วยความตั้งใจ  ฟังด้วยความจริงใจ  ใจจะจดจ่อรับกระแสธรรมที่มาสัมผัสกับใจ  โดยไม่ปล่อยให้ใจส่ายไปส่ายมา สู่เรื่องราวต่างๆ  เมื่อฟังธรรมในลักษณะนั้น  มีทั้งศีลทั้งสมาธิเป็นเครื่องรองรับ การบรรลุธรรมจึงเป็นไปได้อย่างง่ายดาย 

แต่ถ้าฟังแบบไม่มีศีลอยู่ในใจ  ไม่มีสมาธิอยู่ในใจ  คือใจไม่ได้ตั้งใจฟัง  ฟังไปได้ ๒ - ๓ วินาทีก็คิดไปเรื่องอื่นแล้ว  คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้  แล้วสักครู่ก็ค่อยกลับมาฟังใหม่  ฟังได้ ๒ - ๓ วินาทีก็แว่บไปอีกแล้ว  ถ้าฟังแบบนี้แล้ว ย่อมไม่มีการติดต่อของธรรมที่แสดง  ความเข้าใจก็จะไม่ปรากฏขึ้น  เหมือนกับเวลาที่รองน้ำจากก๊อกน้ำใส่แก้ว  ถ้ามือไม่นิ่ง  ส่ายไปส่ายมา น้ำที่ไหลออกจากก๊อก ก็ไม่สามารถไหลลงแก้วได้อย่างต่อเนื่อง  ก็ต้องหกไหลทิ้งไป   ฉันใดการฟังธรรมก็เป็นเช่นนั้น  เหตุที่การฟังธรรมในสมัยพุทธกาลมีการบรรลุมรรค ผล นิพพานเป็นจำนวนมาก ก็เกิดจากจิตที่มีสมาธิ จิตแน่วแน่ตั้งมั่น  ไม่ส่ายไปส่ายมา  ธรรมทุกบททุกบาทที่แสดงออกมา จึงไหลเข้าไปสู่ใจได้หมด  เมื่อไหลเข้าไปได้หมดครบบริบูรณ์  การฟังด้วยเหตุด้วยผลก็จะครบบริบูรณ์  ก็จะทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจ  มีสัมมาทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้องได้  เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้อง ก็สามารถนำไปแก้ไขมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดที่มีอยู่ในใจได้

ในใจของพวกเราทุกคนมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ด้วยกันทั้งนั้น คือความเห็นผิด     เช่นเห็นว่าสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน  สิ่งที่ไม่ใช่เป็นเราเป็นของของเรา ว่าเป็นเราเป็นของของเรา เมื่อเห็นดังนั้นแล้วก็จะเกิดมีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ก็เลยทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการสูญหายไป  ก็เกิดความทุกข์เกิดความเศร้าโศกเสียใจ  ก็เป็นเพราะไม่เข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องด้วย  มาสัมผัสด้วย ว่ามีธรรมชาติเป็นอย่างไร  เราไม่เคยคิดเคยเตือนสติกับตัวเราว่า สิ่งต่างๆล้วนเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน  มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นธรรมดา  เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในการควบคุมของเรา  เราไม่สามารถที่จะควบคุม ให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้เสมอไป  แต่ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมแล้ว ก็จะได้ยินเสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นของไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เป็นของเรา  ไม่สามารถที่จะไปควบคุมบังคับ ไปยึดไว้ได้  เมื่อฟังแล้วก็เกิดความเข้าใจ ก็จะปล่อยวาง  คือแทนที่จะไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆ  ที่มีอยู่  หรือกำลังจะไปเอามาครอบครอง  เราก็ต้องรู้ไว้ก่อนแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของชั่วคราว  มาแล้วก็ต้องไป  ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ไม่ยึดไม่ติด  เตรียมตัวเตรียมใจไว้รับกับสภาพดังกล่าว แล้วใจก็ไม่ทุกข์   เพราะมีความเห็นที่ถูกต้องนั่นเอง  มีสัมมาทิฏฐิ เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด  ไม่อยู่ในสภาพที่จะเรียกได้ว่าเป็นตัวเป็นตน  เป็นเราเป็นของๆเรา 

นี่แหละคือเหตุที่ทำให้คนในสมัยพุทธกาล หลังจากที่ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว เกิดบรรลุธรรมขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย เพราะฟังด้วยสติ ด้วยสมาธินั่นเอง เมื่อรับทราบถึงปัญญาของพระพุทธเจ้า ถึงสภาวธรรมความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย  สัจธรรมความจริงของสิ่งทั้งหลาย ว่าเป็นอย่างไร  เมื่อรู้จริงอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่กล้าฝืน  เหมือนกับเวลาที่จับงูพิษอยู่กับมือ  แต่คิดว่าไม่ใช่งูพิษ คิดว่าเป็นปลาไหล  ก็จะไม่กลัว  แต่ถ้ามีใครผู้รู้เรื่องงูบอกว่า งูที่คุณจับนี้เป็นงูพิษ มีอันตรายมาก  ถ้าเกิดกัดเข้าไปแล้วมีแต่จะตายอย่างเดียว  ถ้าทราบอย่างนั้นแล้ว รับรองได้ว่าจะไม่กล้าจับไว้กับมือ  จะต้องรีบโยนทิ้งไปทันที  เพราะถ้าเผลอพลาดไปเมื่อไร ก็จะต้องถูกงูกัดตายได้  ฉันใดสิ่งต่างๆในโลกนี้ก็เป็นเช่นนั้น  ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  ก็ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น  มีเงินทองไม่ใช่ว่าจะมีความสุข  เมื่อมีเงินทองก็ต้องติดเงินทอง อาศัยเงินทองเป็นเครื่องให้ความสุข  ถ้าวันใดไม่มีเงินทอง ก็มีความทุกข์แล้ว   เช่น วันไหนอยากจะเที่ยวข้างนอก ไปซื้อข้าวซื้อของ  แต่ไม่มีเงินทอง  ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว ตำแหน่งต่างๆก็เช่นกัน  เวลามีตำแหน่งสูงๆ ก็มีความสุข  คิดว่ามีความสุข  แต่ในขณะเดียวกันภายในใจก็เริ่มมีความวิตกกังวล ไม่รู้ว่าตำแหน่งนี้จะอยู่กับเราไปได้นานสักเท่าใด  จะถูกโยกย้ายไปเมื่อไรก็ไม่รู้  ในที่สุดเมื่อถึงเวลา คือเมื่ออายุ ๖๐ ปี  ครบเกษียณอายุราชการ  ตำแหน่งสูงขนาดไหนก็ถูกเอาคืนไปหมด  ไม่ได้เก็บไว้อีกต่อไป  แต่ถ้าหลงยึดติด เวลาไม่มีตำแหน่งแล้ว จะมีความรู้สึกต่ำต้อย  ไม่มีคุณค่า 

นี่ก็เป็นเพราะความหลง ที่ไปยึดไปติดกับสิ่งที่ไม่อยู่กับเราไปตลอด เราจึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้  แล้วอย่าไปยึดอย่าไปติด  มีได้เพราะคนเราทุกคนเกิดมาในโลกนี้ ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะต้องสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้  เพียงแต่ว่าเวลามีนั้น ขอให้มีสติมีปัญญา รู้จักปฏิบัติกับสิ่งนั้นๆ อย่าไปหลงยึดติด อย่าไปอยากให้สิ่งนั้นๆ อยู่กับเราไปตลอดซึ่งมันเป็นไปไม่ได้  ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว ก็จะไม่กังวลใจ  ในขณะที่มีอยู่ก็ไม่ห่วง  ในขณะที่สูญไปก็ไม่เสียดาย  เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา ของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้  ล้วนเป็นสภาพที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน สำหรับคนฉลาดเมื่อรู้แล้ว ก็จะนำสิ่งที่มีอยู่ มาทำคุณทำประโยชน์  เช่น รู้ว่าร่างกายเป็นของไม่เที่ยง  เกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปในที่สุด  จะใช้ร่างกายนี้มาทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์  สำหรับคนโง่ก็จะไม่รู้  เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรม  ไม่เคยศึกษานั่นเอง 

เราจึงต้องเข้าหาพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้ศึกษาให้รู้ว่า การกระทำของเรานั้น ทำอย่างไรถึงจะเป็นคุณเป็นประโยชน์  ทำอย่างไรถึงจะเป็นโทษ  ศาสนาสอนว่า การกระทำที่เป็นโทษ ก็คือการไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งหลาย  เช่น เสพสุรายาเมา เล่นการพนัน  คบคนชั่วเป็นมิตร  ความเกียจคร้าน เที่ยวกลางคืน  สิ่งเหล่านี้ถ้าทำไปแล้ว มีแต่จะทำลายชีวิต  ในเบื้องต้นก็จะดูดทรัพย์สินเงินทอง ทำให้กลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้  ต้องมีสิ่งเหล่านี้ไว้บำรุงบำเรอ จึงจะมีความสุข  ถ้าวันไหนไม่ได้กระทำสิ่งเหล่านี้ ก็จะมีความทุกข์  เหมือนคนเสพยาเสพติด วันไหนไม่ได้เสพแล้ว ก็จะต้องมีความทุรนทุราย มีความทุกข์  นี่ก็คือการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่จะนำไปสู่ความหายนะ  เพราะเมื่อทำไปแล้ว ไม่ช้าก็เร็วก็จะทำให้ไปกระทำบาปกรรมต่อไป ไปลักทรัพย์ ไปประพฤติผิดประเวณี ไปพูดปดมดเท็จ ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  เช่น คนที่เล่นการพนัน  เมื่อเล่นไปแล้วเกิดเสียเป็นหนี้เป็นสิน  ไม่มีเงินทองไปใช้หนี้  ก็ต้องไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น ขอยืมเงินทอง แล้วบอกว่าจะเอาไปใช้คืนทีหลัง  ทั้งๆที่ไม่มีปัญญาที่จะไปใช้เขาได้  นี่ก็ทำผิดศีลแล้ว  ถ้าขอยืมเงินทองไม่ได้ ก็ต้องไปลักทรัพย์ เมื่อมีการต่อสู้กัน ก็ต้องมีการฆ่าทำร้ายชีวิตกัน  

นี่คือลักษณะของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข จะนำไปสู่การทำบาปทำกรรมต่อไป  เมื่อทำบาปทำกรรมแล้ว  ผลก็มีปรากฏขึ้นมาทันที  คือใจก็จะมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัว มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความกังวล มีแต่ความหวาดกลัว เมื่อตายไปก็ต้องไปเกิดในอบาย เป็นการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกทาง  ใช้ชีวิตที่มีคุณค่าอย่างยิ่งไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์  ไปในทางที่เกิดโทษ  เพราะไม่รู้ถึงโทษของการกระทำเหล่านี้  แต่ถ้าได้ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ  ก็จะได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ  ก็จะทำให้ไม่ลืม  เมื่อไม่ลืมเวลาที่คิดจะทำสิ่งเหล่านี้ ก็จะมีสติ มีปัญญา คอยยับยั้ง คอยบอก คอยเตือนว่าอย่าไปทำ  ถ้ายังไม่สามารถที่จะหักห้ามจิตใจไม่ให้ไปกระทำสิ่งเหล่านี้ได้  ก็ต้องมาฝึกทำสมาธิกัน  เพราะสมาธิจะเป็นเครื่องเบรกใจ  เวลาที่ใจอยากจะไปทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม  ถ้าฝึกฝนมีสมาธิอยู่ในใจ ก็จะสามารถเบรกใจไม่ให้ไปกระทำสิ่งที่เป็นโทษได้  เพราะเวลาที่มีสมาธิใจจะหยุดนิ่ง จะสงบ จะเย็น มีความอิ่ม มีความพอ  เมื่อเป็นเช่นนั้น เวลาเกิดความคิดอยากจะออกไปเที่ยวกลางคืน อยากไปเสพสุรายาเมา  ก็จะมีปัญญาที่จะมาบอกว่า ทำไปแล้วจะมีแต่โทษตามมา ไม่มีคุณเลย  เมื่อมีปัญญา มีสมาธิ ก็จะสามารถยกเลิกความคิดนั้นได้  แล้วก็จะไม่ไปทำตามความคิดนั้นๆ  แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่มีสมาธิ  ยังไม่ได้ฝึกทำจิตให้สงบ ทำจิตให้นิ่ง  เวลามีความคิดที่จะไปกระทำสิ่งที่ไม่เป็นคุณเป็นประโยชน์ ก็จะไม่สามารถยับยั้งได้ เพราะจะถูกกำลังของตัณหาความอยากผลักดัน ให้ไปกระทำนั่นเอง  เราจึงต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้ให้รู้ถึงโทษ ให้รู้ถึงคุณ 

เมื่อสักครู่พูดถึงโทษของการกระทำ  ตอนนี้จะพูดถึงคุณของการกระทำบ้าง  เราก็สามารถนำชีวิตของเราไปสู่ที่ดีได้ ด้วยการกระทำความดี  เช่น ในเบื้องต้นเราก็ต้องขยันทำมาหากินด้วยความสุจริต  เพื่อที่จะได้มีเงินทองมาเลี้ยงดูปากท้องของเรา  มีปัจจัย ๔ ไว้ดูแลรักษาร่างกายชีวิตของเรา ให้อยู่ไปได้โดยไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  เมื่อมีเงินทองเหลือใช้ เราก็นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ คือเอามาช่วยเหลือผู้อื่น  ในเบื้องต้นก็ดูแลผู้มีพระคุณของเรา คือบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ทดแทนบุญคุณของท่าน  หลังจากนั้นก็ดูแลผู้อื่นต่อไป  เช่นสามีภรรยา บุตรธิดา ญาติสนิทมิตรสหาย  รวมไปถึงสมณะชีพราหมณ์ทั้งหลาย  หรือผู้ที่เดือดร้อนทั้งหลาย  ถ้าทำอย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นบุญเป็นกุศล  บุญก็คือการทำให้ใจของเรามีความสุข มีความสงบ มีความเย็น มีความอิ่ม  เพราะการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นการขัดเกลาสิ่งที่เป็นโทษ สิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับใจ คือความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ ความโลภ  ถ้ามีความโลก ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวอยู่ภายในใจแล้ว  ใจจะมีแต่ความเศร้าหมอง มีแต่ความหิว ความอยาก มีแต่ความวุ่นวายใจ เพราะไม่สงบนิ่งนั่นเอง 

แต่ถ้าเรานำเอาทรัพย์ที่มีอยู่ไปช่วยเหลือผู้อื่น ทำบุญทำทาน เสียสละ  ใจก็จะสงบลง  เพราะว่าได้ชนะความตระหนี่  ชนะความโลภ ชนะความเห็นแก่ตัว  เมื่อสิ่งเหล่านี้เบาบางลงไป หรือสงบตัวลงไป  ใจก็มีความสุขขึ้นมา  มีความอิ่มขึ้นมา  ดังที่ท่านทั้งหลายคงได้เคยสัมผัสมา  ทุกครั้งที่ท่านทำบุญทำทาน สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น  ท่านจะมีความรู้สึกเย็นใจ สุขใจ  บางครั้งถึงกับมีความปีติขนลุกซ่าขึ้นมา  ถ้าทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดจะทำได้มาก่อน เช่น เสียสละในสิ่งที่หวงแหน ที่รักยิ่ง    แต่เห็นว่าสิ่งที่หวง ที่รักนั้น ถ้าให้ผู้อื่นไปแล้วจะเกิดคุณเกิดประโยชน์มากกว่าเก็บไว้กับตัวเอง  เช่นบางครั้งบางคราวอาจจะไปเห็นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไม่มีใครดูแลรักษา  เรามีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง  เคยคิดว่าจะเก็บไว้ใช้หรือไปเที่ยว  แต่เมื่อมาเห็นคนที่เดือดร้อนจริงๆ ก็เกิดความเมตตา เกิดความกรุณาขึ้นมา ก็ตัดใจว่าเงินก้อนนี้เมื่อก่อนคิดว่าจะเอาไปเที่ยว เอาไปซื้อเสื้อผ้า  จะขอสละช่วยเหลือให้เขาได้มียารักษาโรค  ได้มีหมอรักษาให้หายจากโรค ถ้าทำอย่างนั้นได้แล้ว  ใจจะเกิดความรู้สึกปีติขึ้นมา  บางครั้งอาจจะน้ำตาไหล หรือขนลุกซ่าขึ้นมาก็เป็นได้  เพราะนี่คือเรื่องของใจ  เรื่องของบุญกุศล เมื่อได้ไปสัมผัสกับใจแล้ว  ใจก็จะเกิดความสุขขึ้นมา  เพราะความเศร้าหมอง ได้แก่ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ความโลภ ความอยากได้ต่างๆในขณะนั้น จะถูกทำลายไป 

เปรียบเหมือนกับคนที่มีโรคภัยไข้เจ็บ  มีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย ทำให้มีอาการเจ็บปวด มีไข้อยู่ในตัว  ถ้าได้รับประทานยาที่ถูกกับโรคเข้าไป ก็จะทำลายเชื้อโรคที่มีอยู่ในร่างกายให้หายหมดไป เมื่อไม่มีเชื้อโรค อาการเจ็บปวด อาการไข้ในร่างกาย ก็จะหายไป   ฉันใดบุญกุศลก็เปรียบเหมือนกับยารักษาโรคใจ เรียกว่าธรรมโอสถ เมื่อมีธรรมโอสถเข้าไปสู่ภายในใจ  ก็จะทำให้กิเลสตัณหาที่เปรียบเหมือนกับเชื้อโรคของใจ ตัวที่ก่อกวนสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจ  ให้สลายหายไป  เมื่อไม่มีกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองอยู่ภายในใจ  ความเศร้าหมองที่มีอยู่ภายในใจก็จะหมดไป  ใจก็จะสงบเย็น อิ่ม สบาย  นี่แหละคือเรื่องราวของจิตใจ  มันตรงกันข้ามกับเรื่องราวของร่างกาย  คือร่างกายจะต้องมีอาหารเข้าไปร่างกายถึงจะมีความอิ่ม  แต่ในทางตรงกันข้าม  ถ้าใจสละอาหารมื้อนี้ให้กับผู้อื่นไป แทนที่ใจจะหิว กลับมีความอิ่ม   ถึงแม้ร่างกายจะมีความหิวอยู่บ้าง  แต่อดข้าวมื้อเดียว ไม่ถึงกับตาย  แต่ใจที่อิ่มนั่นแหละจะทำให้ไม่เกิดความรู้สึกว่าหิวข้าวเลยในวันนั้น   ถ้าไม่เชื่อลองทำดูสักวันหนึ่ง  วันดีคืนดีกำลังจะรับประทานข้าว พอดีไปเจอขอทานที่ไม่มีข้าวกิน อดซูบผอมมา จึงตัดสินใจสละข้าวมื้อนั้นให้เขาไป  ถึงแม้ว่าร่างกายของเราจะหิวบ้าง  แต่ใจกลับมีแต่ความอิ่ม ความปีติ ความสุข

นี่แหละคือเรื่องราวของใจ  จึงนำมาสู่การสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้ละ ให้เสียสละ ไม่ให้สะสม  เพราะว่าการสะสมเป็นการสะสมกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองให้มีมากขึ้นไปในใจ ไม่เชื่อลองไปถามเศรษฐีดูว่าเขามีความสุขมากน้อยเพียงใดในใจเขา  ใจของเขาจะมีแต่ความวุ่นวายมากขึ้นไปตามลำดับ เพราะมีทรัพย์มาก ก็ต้องมีภาระมาก  จะต้องคอยดูแลรักษา  เพราะคนเราเมื่อมีทรัพย์ก็ต้องหวงต้องห่วง   ความหวง ความห่วงจะทำให้ใจไม่มีความสุข  แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราสละทรัพย์ สละสิ่งของที่มีเกินความจำเป็น ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ต้องอาศัย  เมื่อสละไปแล้ว  สิ่งนั้นก็พ้นจากความรับผิดชอบของเราไป  เราก็สบายใจ  สมมุติเรามีรถอยู่ ๓ คัน  เราคนเดียวก็ขับได้คันเดียวเท่านั้น  เวลาจะไปไหนจะเอารถไปทีละ ๓ คันก็เอาไปไม่ได้  แต่เราต้องดูแลรักษารถทีเดียว ๓ คัน  ต้องเติมน้ำมัน ต้องคอยเอาเข้าอู่ซ่อม  ต้องคอยล้าง  ต้องคอยรักษา กลัวขโมย  มีความทุกข์อยู่ ๓ เท่าด้วยกัน  แต่ถ้าขายหรือเอารถ ๒ คันที่เกินความจำเป็น ไปบริจาค เอาไปให้ใครก็ได้  คือให้พ้นจากภาระความรับผิดชอบของใจแล้ว  ใจก็จะหมดภาระไป ๒ เท่า  เหลือรถเพียงคันเดียว  แต่ถ้าเราเป็นคนฉลาด เป็นคนกล้าหาญ  สามารถไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ได้  คือนั่งรถเมล์ก็ได้ เดินไปก็ได้ ขึ้นแท็กซี่ก็ได้ สุดแท้แต่ความสะดวก  ถ้าเราเป็นคนแบบนั้น  เราก็ขายรถไป  หรือบริจาคให้กับผู้อื่นไป  เมื่อไม่มีรถแล้ว รับรองได้ว่าเราจะไม่มีความทุกข์ ความกังวลกับรถคันนั้นอีกต่อไป  จะไปไหนก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาทุบกระจก  มีใครเอาตะปูมาขีด  มีใครมาขโมยรถยนต์ของเรา  เพราะไม่มีแล้ว 

นี่แหละคือความสุขของใจ  ใจจะมีความสุขขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ต่อเมื่อใจมีความว่างในใจมากขึ้นไปเรื่อยๆ  ขณะนี้ใจของพวกเราไม่ค่อยมีความสุขกัน  เพราะใจของเราไม่ว่าง  ใจไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆ  เกี่ยวข้องกับคนนั้น  เกี่ยวข้องกับสิ่งนี้  อยู่ตลอดเวลา  เลยทำให้ใจไม่ว่าง    แต่ถ้าตัดด้วยปัญญาเพราะเห็นว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ ล้วนเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น  ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมบังคับได้  มีอยู่วันนี้เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ต้องหมดไป  มีอยู่วันนี้เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ต้องเปลี่ยนไป  ของใหม่วันนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องเป็นของเก่า  เป็นหนุ่มเป็นสาวในวันนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องเป็นคนแก่คนเฒ่า เมื่อเห็นด้วยปัญญาแล้ว ก็ตัดใจว่าต่อไปนี้ไม่เอาอะไรแล้ว  ขออยู่คนเดียวก็พอ  ไม่ต้องมีอะไร  มีเพียงแต่ปัจจัย ๔  สิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพก็พอแล้ว  ถ้าทำอย่างนี้ได้ใจก็จะว่าง ใจก็จะปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวางแล้ว รับรองได้ว่าภายในใจจะไม่มีความทุกข์เลย  เหมือนกับใจของพระพุทธเจ้ากับของพระอรหันต์  ใจของท่านเป็น นิพพานัง ปรมัง สุญญัง  นิพพานเป็นความว่างอันยิ่งใหญ่ จของท่านว่างไปหมด ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นกับอะไรหลงเหลืออยู่เลย   ไม่มีความอยากกับอะไรหลงเหลืออยู่ภายในใจเลย  จึงเป็นความหมายของคำว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง  นิพพานเป็นจิตที่ว่างนั่นเอง  จิตที่ไม่ยึดติดอยู่กับอะไรทั้งสิ้น  ถ้ามีอะไรอยู่แม้แต่เพียงนิดเดียวภายในใจ  ก็จะมีความทุกข์ขึ้นมาทันที   ถ้าไปห่วง ไปรักไปชอบอะไรขึ้นมา  ก็จะมีความทุกข์ขึ้นมาทันที  ถ้าไม่ไปเกี่ยวข้องกับอะไร  ก็จะไม่มีความทุกข์กับสิ่งนั้นๆ  

สังเกตดูสมบัติข้าวของของชาวบ้านเขา  เขาจะเป็นอย่างไรเราไม่เดือดร้อน  เพราะอะไร  เพราะใจของเราว่างจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสมบัติของชาวบ้านเขานั่นเอง  ลูกของชาวบ้าน สามีภรรยาของชาวบ้าน พ่อแม่ของชาวบ้านเขาจะเป็นจะตายอย่างไร  เราก็ไม่เดือดร้อน  เพราะว่าใจของเราว่างจากอุปาทาน การยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเราเป็นของๆเรา   ฉันใดสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่  บุคคลต่างๆที่เรามีความสัมพันธ์ด้วย  ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา บุตรธิดา สามีภรรยา  ก็ล้วนเป็นเหมือนกันทั้งสิ้น  ไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง  เพียงแต่เราหลงไปยึดไปติดว่าเป็นเรา เป็นของๆเรา  เมื่อมีความหลงครอบงำ  ก็ทำให้เกิดความไม่สบายใจ มีความห่วง มีความกังวลขึ้นมา  เราจึงต้องนำธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  มาพินิจพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง  เมื่อเห็นแล้วและไม่ต้องการความทุกข์ภายในใจ  ก็จะต้องปล่อยวาง  จะต้องมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เป็นเรา  ไม่ใช่เป็นของๆเรา  เมื่อปล่อยวางได้แล้ว ใจของเราก็จะว่างจากอุปาทาน  การยึดมั่นถือมั่น  เมื่อไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว  ความทุกข์ก็จะไม่มีหลงเหลืออยู่ภายในใจเลย 

นี่แหละคือเรื่องราวของพระพุทธศาสนา หรือเป้าหมายของพระพุทธศาสนา ที่สอนให้พวกเราทั้งหลายได้ปฏิบัติเพื่อให้ถึงจุดนี้เอง    เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะเลิศ ที่จะประเสริฐ ที่จะมีคุณค่าสำหรับจิตใจ  เท่ากับจิตใจที่ว่างจากอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย  ดังนั้นจึงขอให้เราทั้งหลายนำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาปฏิบัติ เพื่อเราจะได้ปล่อยวาง  เพื่อใจของเราจะได้ว่าง  เพื่อใจของเราจะได้พ้นจากความทุกข์นั่นเอง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้