กัณฑ์ที่ ๑๖๙   ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๖

ความโลภ

 

วันนี้เป็นวันพระ ญาติโยมจึงได้มาที่วัด เพื่อมาร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจอันเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำอย่างยิ่ง สำหรับพุทธศาสนิกชนผู้มีความแน่วแน่ มีความเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ทรงนำพาปฏิบัติสั่งสอนพวกเรานั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม  เป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้ยังไม่เห็น เท่ากับที่ท่านได้รู้ได้เห็นกัน  เราจึงต้องอาศัยท่านเป็นผู้นำทาง พาเราไปสู่สิ่งที่เราปรารถนากัน คือสู่ความสุขความเจริญ  เพราะถ้าไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นผู้นำทางพาเราไปแล้ว เราก็จะหลงทางกัน   เพราะว่าทางที่เราต้องการจะไปนั้น เป็นทางที่คดเคี้ยว เป็นทางที่สลับซับซ้อน  ถ้าไม่ฉลาดจริงๆ ไม่รู้จริงๆแล้ว ยากที่จะเดินไปให้ถึงจุดหมายปลายทางอันดีงาม อันประเสริฐนี้ได้  จุดหมายที่เราต้องการไป เราก็รู้อยู่คร่าวๆ ว่าเป็นที่ที่มีแต่ความสุข มีแต่ความเจริญ เป็นที่ที่ไม่มีความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ความหายนะ ความเศร้าโศกเสียใจ ความวุ่นวายใจ  นี่คือสิ่งที่เราทุกคนปรารถนากัน  และทุกๆวันที่เราดำเนินชีวิตของเราไป  เราก็ดำเนินเพื่อผลอันนี้ด้วยกันทุกคน 

แต่ตั้งแต่เราเกิดมาจนถึงวันนี้ เราก็ยังไม่สามารถเดินไปถึงจุดหมายปลายทางที่เราต้องการได้  ชีวิตของเรายังเป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆ  มีสุขบ้าง มีเจริญบ้าง  มีทุกข์บ้าง มีเสื่อมบ้าง  นั่นเป็นเพราะว่าเรายังไม่ได้ไปในทาง ที่พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆสาวกทั้งหลายได้ดำเนินไป  เรายังไม่ได้ปฏิบัติตามทุกข้อทุกบทที่ท่านทรงสั่งสอนเรา  บางครั้งบางคราวเราก็ยังเถลไถล แทนที่จะตรงไปเราก็เลี้ยวซ้ายแวะเข้าไปสถานที่นี้สักพักหนึ่งก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยตามไปทีหลัง  เมื่อเป็นเช่นนี้เราเลยยังไม่ได้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่ดี ที่งาม ที่ควร  นั่นเป็นเพราะว่าในใจของเรายังมีตัวยุแหย่ก่อกวน หลอกล่อให้เถลไถล ไม่ให้ดำเนินไปในทำนองคลองธรรม ที่พระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลายได้ดำเนินไป และได้สอนให้พวกเราปฏิบัติตามกัน  ชีวิตของเราจึงเป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง  ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเข้าสู่วัดอย่างสม่ำเสมอ  อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งก็ครั้งหนึ่ง  เพื่อจะได้มารับคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วนำไปปฏิบัติต่อไป  เพราะหลังจาก ๗ วันไปแล้ว เราก็จะหลงลืมในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  แล้วก็จะถูกผู้ที่อยู่ในใจของเราคอยยุแหย่ คอยหลอกให้ไปทำในสิ่งที่เป็นผลเสียตามมาทีหลัง  โดยที่หลอกเราว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา  เราก็หลงเชื่อกับสิ่งที่อยู่ในใจ ที่คอยกระซิบกระซาบ  เราก็เลยทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเราปฏิบัติกัน 

ชีวิตของเราจึงต้องอาศัยพระพุทธศาสนา  คือเราต้องเข้าวัดอย่างสม่ำเสมอ เปรียบเหมือนกับรถยนต์ ที่ต้องเข้าสถานีบริการอย่างสม่ำเสมอ  เพราะน้ำมันที่เติมอยู่ในรถยนต์นั้น หลังจากที่ใช้ไปสักระยะหนึ่ง ก็จะค่อยๆหมดไป  ถ้าไม่แวะเติมน้ำมัน ต่อไปน้ำมันที่มีอยู่ในถังก็จะหมดไป  เมื่อหมดแล้วรถก็ไม่สามารถวิ่งไปไหนมาไหนได้  เราก็ต้องลำบาก แทนที่จะนั่งอยู่ในรถไปนั่นไปนี่ได้อย่างสะดวกสบาย  ก็ต้องลงเดินเพราะว่าเราประมาท ไม่เข้าไปเติมน้ำมันเมื่อถึงเวลาที่สมควร  นอกจากเติมน้ำมันแล้ว เรายังต้องดูแลสภาพรถยนต์ว่าขาดตกบกพร่องอย่างไร  ส่วนไหนชำรุดทรุดโทรม  ส่วนไหนจำเป็นที่จะต้องมีการซ่อมแซมบำรุงรักษา ก็ต้องทำกัน  ฉันใดชีวิตของเราก็เปรียบเหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง  รถยนต์คันนี้ก็คือดวงจิตดวงใจของเรา  ดวงจิตดวงใจนี้แหละเป็นผู้ที่จะพาเราไปสู่สวรรค์ก็ได้  จะพาเราไปสู่นรกก็ได้  ก็ขึ้นอยู่กับว่าดวงใจของเราได้รับการดูแล ทำนุบำรุงรักษาอย่างถูกต้องหรือไม่   ถ้าไม่ได้รับการทำนุบำรุงดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ใจของเราก็จะเดินทางไปสู่ทิศทางที่ไม่น่าจะไป  ทิศทางที่จะนำมาแต่เรื่องวุ่นวาย เรื่องของความทุกข์ เรื่องของความเสื่อมเสียทั้งหลาย 

แต่ถ้าเราได้เข้าสู่วัดอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งหนึ่ง  เหมือนรถยนต์ที่เข้าสถานีเติมน้ำมันอยู่เสมอๆ  รถยนต์คือใจของเราก็จะได้รับการทำนุบำรุงดูแลรักษาด้วยการปฏิบัติต่างๆ เช่นในวันนี้ท่านก็ได้มาทำสิ่งที่จะเสริมสร้างสิ่งที่ดีที่งามให้กับจิตใจ เป็นเหมือนกับการเติมน้ำมัน  เป็นเหมือนกับการซ่อมบำรุงจิตใจ ให้จิตใจมีพลัง  ให้จิตใจมีความรู้ความฉลาด ที่จะนำพาจิตใจไปในทิศทางที่ถูกต้องดีงามได้  วันนี้ท่านก็ได้มาทำบุญทำทาน สมาทานรักษาศีล  ฟังเทศน์ฟังธรรม  บูชาพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  สิ่งเหล่านี้แหละเป็นสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมรักษา ให้จิตใจอยู่ในสภาพที่ดีที่พร้อม ที่จะพาท่านไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดีที่งาม ที่สุขที่เจริญอย่างแท้จริง  เราจึงไม่ควรมองข้ามการมาวัด  เพราะว่าถ้าไม่มาวัดแล้ว รับรองได้ชีวิตของเราจะต้องเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมาอย่างแน่นอน  เพราะขาดการทำนุบำรุงดูแลรักษา ขาดการอบรมสั่งสอน ให้รู้ถึงสิ่งที่ควรไม่ควร  สิ่งที่ถูกไม่ถูก  สิ่งที่ดีไม่ดี  เพราะใจของเรายังขาดความรู้ที่ถูกต้อง ยังมีความรู้ที่ไม่ถูก มักจะเห็นผิดเป็นชอบ  เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จะมักทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราปรารถนากัน แทนที่จะทำความดี เราก็ไปทำความชั่วกัน  แทนที่จะหลบหลีกสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย เราก็เดินเข้าหาสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย  แทนที่จะกำจัดสิ่งที่เป็นโทษ เรากลับไปส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองมากยิ่งๆขึ้นไป  เมื่อเป็นเช่นนั้น ใจของเราแทนที่จะมีความสุข มีความสบาย จึงกลับมีแต่ความทุกข์ ความว้าวุ่นขุ่นมัว

ใจก็เหมือนกับร่างกาย  ถ้าเราดูแลรักษาไว้ให้ดี  เวลารับประทานอาหารก็รับประทานอาหารที่สะอาด  เวลาสูดอากาศก็สูดอากาศที่บริสุทธิ์  เชื้อโรคต่างๆ ก็จะไม่สามารถเข้ามาทำร้ายร่างกายของเราได้  ใจของเราก็มีเชื้อโรคเช่นกัน ถ้าไม่คอยป้องกัน คอยกำจัดเชื้อโรค ที่สร้างความทุกข์ให้กับใจ  แต่กลับไปส่งเสริม กลับไปดึงเอาเชื้อโรคต่างๆ เข้ามาพอกพูนให้มากยิ่งขึ้นไปภายในใจ  ใจก็จะหาความสุขไม่ได้  ใจก็เหมือนกับร่างกาย ถ้าร่างกายมีแต่เชื้อโรค ร่างกายก็จะไม่เป็นปกติ  ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ แต่ถ้าเราคอยดูแลรักษาร่างกาย  คอยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาทางอากาศก็ดี ทางน้ำก็ดี ทางอาหารก็ดี  เมื่อไม่มีเชื้อโรคเข้ามา  ร่างกายของเราก็จะสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ใจของเราก็เป็นเหมือนกับร่างกาย  ถ้ามีเชื้อโรคของใจเข้ามาแล้ว  ใจก็จะต้องเจ็บ ต้องปวด ต้องทุกข์ ต้องวุ่นวาย เชื้อโรคของใจคืออะไร  พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า สิ่งที่สร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายให้กับใจก็คือกิเลส   คือความโลภ ความโกรธ ความหลง  ที่สร้างปัญหา สร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายใจให้กับเรา  แต่พวกเรากลับไม่รู้ว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเหตุที่จะทำลายเรา  ที่จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา  แทนที่จะคอยกำจัด  เหมือนกับเรากำจัดเชื้อโรคที่เข้ามาสู่ร่างกาย กลับส่งเสริม เพิ่มพูนให้มีมากยิ่งๆ ขึ้นไป

วิธีที่เราส่งเสริมหรือทำให้เชื้อโรคของใจคือความโลภ ความโกรธ ความหลงให้มีจำนวน มีกำลังมากขึ้นไป ก็เกิดจากการส่งเสริมความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างต่อเนื่องนั่นเอง  คือทุกครั้งที่เรามีความโลภ แทนที่จะระงับความโลภ เรากลับส่งเสริมความโลภ คือโลภตาม  เช่นโลภอยากจะได้นั่น อยากจะได้นี่  พอมีความโลภอย่างนั้น แทนที่จะหยุดใจตัวเอง บอกว่าเอาไปทำไม เท่านี้ก็พออยู่พอกินอยู่แล้ว เอาไปหาเรื่องเปล่าๆ  กลับไม่คิดอย่างนั้น  พอเห็นอะไรอยากจะได้ ก็รีบวิ่งเข้าไปหาสิ่งนั้นทันที  ถ้ามีเงินก็จะซื้อมาทันที  ถ้าไม่มีเงินก็ต้องหาเงิน  หาเงินก็หาได้ ๒ วิธี  หาด้วยวิธีสุจริตและหาด้วยวิธีทุจริต  ถ้าหาด้วยวิธีที่สุจริตไม่ได้ ก็ต้องหาด้วยวิธีทุจริต  เมื่อหาด้วยวิธีที่ทุจริตแล้ว ก็เป็นปัญหาตามมา  เพราะเมื่อไปทำสิ่งที่ผิดกฎหมายผิดศีลธรรม  ก็กลายเป็นคนที่ไม่มีใครปรารถนา  เป็นคนที่ต้องกำจัด  ต้องถูกจับไปขังในคุกในตะราง  หรือนำไปทำลายเลยทีเดียว  เพราะว่าคนทุจริตนั้น เวลาอยู่ในสังคมต้องสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อน สร้างความวุ่นวายให้กับผู้อื่นนั่นเอง 

ในทางตรงกันข้าม เวลาที่เกิดความโลภ แล้วเราใช้เหตุผล คือถามตัวเราเองว่า สิ่งที่ต้องการนี้ มันจำเป็นไหม  เช่นเราเดินผ่านร้านขายเสื้อผ้า  เห็นเสื้อผ้าวางขายอยู่ แล้วก็เกิดความชอบขึ้นมา อยากจะได้ขึ้นมา  เราก็ต้องถามตัวเราเองว่า เสื้อผ้าชุดใหม่ที่เราต้องการจะซื้อนี้ มันมีความจำเป็นไหม  ถ้าไม่มีเสื้อผ้าชุดนี้แล้ว เราจะอยู่ได้หรือไม่  เราจะไม่มีเสื้อผ้าใส่หรือเปล่า  เดินไปไหนล่อนจ้อนไม่มีเสื้อผ้าใส่หรือเปล่า  ถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็เป็นสิ่งที่จำเป็น  เราก็หาซื้อมาได้  แต่ต้องหามาด้วยความถูกต้อง  คือไม่หามาโดยทุจริต ให้หามาด้วยวิธีสุจริต  ถ้ามีสตางค์ก็ซื้อ ถ้ายังไม่มีสตางค์ ก็อดใจรอไว้ก่อน ไปทำงานทำการหาเงินหาทองเก็บเงินเก็บทองไว้  พอได้เงินทองพอที่จะซื้อเสื้อผ้าชุดนั้นแล้ว ค่อยนำไปซื้อต่อไป  ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น  แต่ถ้าไม่จำเป็น ทำไมจะต้องไปซื้อมาทำไม  ให้เสียเงินเสียทองเปล่าๆ  เงินทองก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่หาง่าย  และก็เป็นสิ่งที่จำเป็น  เพราะว่านอกจากเสื้อผ้าแล้ว เรายังต้องมีสิ่งอย่างอื่นอีกหลายอย่าง ที่เราต้องอาศัยเงินทองเป็นของแลกเปลี่ยน  เช่นต้องมีอาหารไว้รับประทาน มีหยูกยาไว้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ  ต้องมีบ้านอยู่อาศัย  อย่างนี้เราควรเก็บเงินเก็บทองไว้ไม่ดีกว่าหรือ  เผื่อวันข้างหน้าเราเจ็บไข้ได้ป่วย จะได้มีเงินทองไว้ใช้ในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ  รักษาโรคภัยไข้เจ็บ  หรือถ้าบ้านชำรุดทรุดโทรม ต้องซ่อมแซม ก็เอาไปซ่อมแซมได้ อย่างนี้เป็นต้น 

ถ้าใช้เหตุผลทุกครั้งที่มีความโลภ ความอยาก  เราก็จะสามารถระงับความโลภความอยากได้  ความโลภนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ระงับกันไม่ได้  ที่ระงับกันไม่ได้ ก็เพราะไม่เคยคิดที่จะระงับมันนั่นเอง  เพราะความหลงทำให้เกิดอาการดีอกดีใจ มีความสุขไปชั่วขณะหนึ่ง ทุกครั้งที่เราโลภ แล้วได้ในสิ่งที่โลภมา  นี่เป็นผลดีที่เกิดขึ้นจากการทำตามความโลภ  แต่เป็นผลดีชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว  เพราะหลังจากนั้นแล้ว มันก็จะทำให้เราโลภมากเพิ่มขึ้นไปอีก  คือแทนที่จะอิ่มจะพอเมื่อได้สิ่งที่อยากได้แล้ว กลับเกิดความอยากเพิ่มมากขึ้นไปอีก  เพราะความพอไม่ได้เกิดขึ้น จากการทำตามความโลภ ตามความอยาก แทนที่จะเกิดความพอ  กลับเกิดความอยากเพิ่มมากขึ้นไปอีก  เช่นเราได้เสื้อผ้าชุดนี้แล้ว  พอเราเดินไปอีก ๒ - ๓ ก้าว  ไปเจออีกร้านหนึ่ง  มีเสื้อผ้าที่สวยกว่าชุดที่เราเพิ่งซื้อมา  เราก็เกิดอาการโลภ เกิดอาการอยากขึ้นมาอีกแล้ว  แทนที่จะมีความสุขจากเสื้อผ้าที่เราเพิ่งซื้อมาหยกๆ  ก็เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมาเสียแล้ว  เกิดความอยากอีกแล้ว  ถ้าไม่ได้เสื้อผ้าชุดใหม่ที่เห็นมากับตา ก็จะไม่มีความสบายอกสบายใจ  ก็เลยต้องควักกระเป๋าดูเงินทอง ถ้ามีเงินทองพอก็ซื้อมาอีกชุดหนึ่ง  ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปใส่เมื่อไร แต่เมื่อเกิดความอยากความชอบ แล้วมีกำลังมีความสามารถที่จะซื้อสิ่งนั้นได้ ก็จะซื้อสิ่งนั้นมาทันที  โดยไม่คำนึงถึงวันข้างหน้าว่า ต่อไปเงินทองที่มีอยู่นั้น มันพร่อง มันร่อยหรอ แล้วหมดไป  ถ้ามีความจำเป็นอย่างอื่น ที่จะต้องใช้เงินใช้ทองขึ้นมา เราจะทำอย่างไร  ถ้าไม่มีแล้วแต่ยังต้องใช้อยู่ เราก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน  การเป็นหนี้เป็นสินก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดี  มันเป็นภาระทางด้านจิตใจ  เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง  เวลาเป็นหนี้เขาแล้ว ก็ไม่อยากที่จะไปเจอหน้าเจ้าหนี้  เวลาเห็นเจ้าหนี้เขาก็จะต้องทวงหนี้เรา  เราก็มีความรู้สึกไม่สบายอกไม่สบายใจ  นี่เป็นผลที่จะตามมา ถ้าไม่รู้จักระงับความโลภ 

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราใช้ธรรมะต่อสู้กับความโลภ  ธรรมะที่ควรจะใช้ก็มีอยู่ ๒  คือความมักน้อยกับความสันโดษ คำว่าความมักน้อยก็คือเอาน้อยๆ ใช้น้อยๆ กินน้อยๆ เอาเท่าที่จำเป็น อย่าไปโลภมาก  อาหารกินพออิ่มก็พอ อย่าไปกินเพราะชอบรสของอาหาร  กินจนกระทั่งพุงกางออกมา  อย่างนี้มันเกินความจำเป็น  พอกินแล้วรู้สึกว่าท้องอิ่มแล้วก็หยุดรับประทาน  ถึงแม้ว่าอาหารที่รับประทานจะเอร็ดอร่อย จะดีจะเลิศจะวิเศษแค่ไหน ก็ควรหยุดรับประทาน  อาหารที่รับประทานก็ไม่จำเป็นต้องเป็นของราคาแพงๆ อาหารราคาถูกๆกินเข้าไปในท้องมันก็อิ่มเหมือนกัน  กินอาหารมื้อละ ๕๐ บาท กับกินอาหารมื้อละ ๕๐๐ บาท มันก็อิ่มเหมือนกัน เพราะว่าร่างกายไม่รู้หรอกว่าอาหารเข้าไปในท้องเป็นอาหารราคาเท่าไร  ตัวที่รู้นี้ก็คือใจ  ถ้าใจไม่มีปัญญา ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ก็จะถูกกิเลสคือความลุ่มหลงหลอกว่า ถ้าได้กินอาหารมื้อหนึ่งราคาแพงๆแล้วจะมีความสุข  แต่ถ้ากินอาหารราคาถูกๆ จะไม่มีความสุข  นี่เป็นการหลอกกันอย่างชัดเจน  แต่ใจที่ไม่มีเหตุไม่มีผลไม่มีธรรมะ จะหลงตามความคิดนี้  แทนที่จะกินข้าวมื้อละ ๕๐ บาท  ก็ต้องไปกินมื้อละ ๕๐๐ บาท  ถ้ามีเงิน มีฐานะที่จะกิน ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร  แต่ถ้าไม่มีฐานะ แล้วไปกินอาหารแบบนี้เข้า ต่อไปเงินทองก็จะไม่พอใช้  แล้วชีวิตก็จะต้องเกิดความวุ่นวายขึ้นมา  ถึงแม้จะมีเงินทองมากมายสามารถที่จะกินอาหารมื้อละ ๕๐๐ หรือมื้อละ ๕๐๐๐ ได้ก็ตาม  แต่ถ้าพูดตามความจริงแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะกระทำ  เพราะไม่ใช่วิถีทางของคนฉลาด ของผู้มีปัญญา 

เพราะผู้มีปัญญาจะยึดแนวทางของธรรมะ ความถูกต้องดีงาม  ไม่มีอะไรที่จะดีกว่าความมักน้อย  เพราะความมักน้อยจะเป็นสิ่งที่คอยป้องกันความโลภ ไม่ให้เกิดขึ้น  เพราะถ้ามีความโลภแล้ว  ความโลภจะเป็นตัวกดดันให้ต้องไปขวนขวาย ต้องไปดิ้นรนหาสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็นมา  แต่ถ้ามีความมักน้อย พอใจกับสภาพที่มี เท่าที่จำเป็นก็พอ อาหารรับประทานแบบราคาถูกๆก็ได้  ร้านค้าที่ขายตามข้างถนนก็ได้  หรือถ้าขยันก็ไปซื้อกับข้าวกับปลามาทำที่บ้าน  ราคาอาหารก็จะถูกลง  เงินทองที่จะต้องเสียไป ก็จะน้อยลง  ทำให้มีเงินเหลือใช้มากขึ้น  คนเราเวลามีเงินเหลือใช้มาก ก็จะมีความอบอุ่นใจ มีความสุขใจ  เพราะรู้ว่ามีที่พึ่งที่อาศัยในยามยากลำบาก  เพราะรู้จักใช้เงินใช้ทอง  ใช้แต่สิ่งที่จำเป็นและใช้น้อยๆเท่านั้น คือไม่มากเกินไป แต่ก็ไม่น้อยจนเกินไป  ใช้เท่าที่จำเป็น  ถ้าน้อยเกินไปชีวิตก็จะลำบากยากเข็ญได้  ถ้ามีเงินมีทองแต่เสียดายมากจนเกินไป  แทนที่จะใช้เงินให้เกิดประโยชน์กับชีวิต  ก็ใช้น้อยเกินไป  เช่นรับประทานอาหารน้อยเกินไป  เสื้อผ้าที่จะมีไว้ใส่ก็น้อยเกินไป  บ้านที่จะอาศัยอยู่ก็ไม่ปลอดภัย หรือไม่สะอาดพอที่จะดูแลรักษาชีวิตให้อยู่ได้เป็นปกติ  อย่างนี้ก็ไม่ดีเหมือนกัน 

คำว่ามักน้อยไม่ได้หมายถึงให้ตระหนี่ขี้เหนียว  แต่ให้ใช้ไปตามเหตุตามผล  คือใช้ไปตามความจำเป็น  ถ้าจำเป็นต้องใช้มากหน่อยก็ต้องใช้  ถ้าจำเป็นจะต้องเสียมากหน่อยก็เสียไป  แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้มัน อย่างนี้ต่างหากคือความหมายของคำว่ามักน้อย  อย่างเช่นเสื้อผ้าก็มีความจำเป็นจะต้องใช้สักกี่ชุด  ถ้ามีความจำเป็นจะต้องใช้ ๕ ชุด ก็ใช้ ๕ ชุดก็พอ  แต่ถ้ามีความจำเป็นจะต้องใช้ ๑๐ ชุด  ๑๐ ชุดก็พอ  ความจำเป็นของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน  เพราะคนเรามีหน้าที่การงานที่จะต้องทำต่างกัน  เสื้อผ้าที่จะต้องใส่ไปทำหน้าที่การงานนั้นก็มีความจำเป็น  ถ้าเป็นความจำเป็นแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นการฟุ่มเฟือย ถ้าเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นจึงถือว่าเป็นความฟุ่มเฟือย ความฟุ่มเฟือยก็เป็นผลที่เกิดจากความโลภนั่นเอง  ถ้าปล่อยให้ความฟุ่มเฟือยความโลภเป็นไป โดยไม่ได้รับการดูแลควบคุมแล้ว  ความโลภความฟุ่มเฟือยนี้จะพาไปสู่ความหายนะต่อไป  เพราะรายได้กับรายจ่ายจะไม่พอกัน  รายจ่ายจะมากกว่ารายได้  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจะทำอย่างไรที่จะหาส่วนที่ขาดมา  บางครั้งก็ต้องไปทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ประพฤติตนไปในทางที่มิชอบ  ไปลัก ไปขโมย ไปฉ้อโกง ไปโกหกหลอกลวง  ซึ่งเป็นการกระทำที่นำมาซึ่งความทุกข์ความวุ่นวายใจนั่นเอง 

พวกเราทุกคนต้องการความสุขความเจริญ  เราจึงต้องรู้จักวิธีดำเนินชีวิตของเรา ให้เป็นไปเพื่อให้มันเจริญ ให้มันสุขอย่างแท้จริง  และการที่จะเจริญจะสุขได้ เราก็ต้องควบคุมตัวที่สร้างปัญหาซึ่งอยู่ในใจของเรา ก็คือความโลภความอยากนี้แหละ   ถ้าไม่ควบคุมแล้วชีวิตของเราจะต้องมุ่งไปสู่ความหายนะอย่างแน่นอน  เราก็เคยได้ยินได้ฟังข่าวของคนที่มีปัญหาอยู่เสมอๆ เพราะความโลภนี้เอง ไม่รู้จักระงับความโลภความต้องการ  ปล่อยให้ความโลภความต้องการผลักดันไป  จึงทำให้เป็นหนี้เป็นสิน   เมื่อเป็นหนี้สินก็ต้องไปลักเล็กขโมยน้อย  ไปฉ้อโกง  ไปทำในสิ่งที่ผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมาย  แล้วก็ต้องไปติดคุกติดตะราง  ไปสู่ความหายนะ สู่ความวิบัติต่อไป  ทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นจากการที่ไม่รู้จักเหตุของความเสื่อมว่าอยู่ที่ตรงไหนนั่นเอง ไม่เคยสนใจศึกษาพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล  ถ้าใช้เหตุใช้ผลแล้ว จะสามารถดำเนินชีวิตไปในทิศทางที่ดีได้  เหตุอันใดเป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อน ความวุ่นวาย ความทุกข์ ความเสื่อมเสีย  ก็พยายามระงับดับเสีย แล้วชีวิตจะได้ไม่มีปัญหาตามมาต่อไป  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเราหันเข้ามาดูใจของเรา  ดูความโลภ ดูความโกรธของเรา  ทุกครั้งที่มีความโลภเกิดขึ้นมา  ก็ให้ใช้เหตุใช้ผล อย่าไปใช้อารมณ์  เพราะอารมณ์เป็นของหลอกเรา  เวลาอยากจะได้อะไร ก็จะคิดว่าดีไปหมด  แต่พอได้มาแล้ว  อารมณ์ที่อยากได้ก็หมดไป สิ่งนั้นก็กลายเป็นสิ่งธรรมดาๆชิ้นหนึ่งไป  จึงควรใช้ธรรมะ คือเหตุและผลในการดำเนินชีวิต  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้