กัณฑ์ที่ ๑๗๔      ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๖

ปฏิบัติบูชา

 

พอวันพระเวียนมาถึง  ศรัทธาญาติโยมผู้มีความแน่วแน่มั่นคงในพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะมาที่วัดเพื่อบูชาพระรัตนตรัยกัน เป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า  ปูชา จ ปูชนียานัง  เอตัมมัง กลมุตตมัง  การบูชาบุคคลที่สมควรแก่การบูชา เป็นมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิต    การบูชามีอยู่ ๒ แบบด้วยกัน  คือ ๑. อามิสบูชา  ๒. ปฏิบัติบูชา อามิสบูชาคือการบูชาด้วยเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน  ปฏิบัติบูชาคือการปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้    เช่นทำบุญให้ทาน รักษาศีล  ฟังเทศน์ฟังธรรม  ปฏิบัติธรรม  เจริญสมาธิ  เจริญปัญญา  การบูชาทั้ง ๒ แบบนี้  พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าการปฏิบัติบูชาเป็นการบูชาที่เลิศ ที่ประเสริฐ  ส่วนการบูชาด้วยอามิสบูชาเป็นการแสดงความอ่อนน้อม  แสดงความเคารพ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติบูชาต่อไป ถ้ามีแต่อามิสบูชาแต่ไม่มีปฏิบัติบูชาผลอันดีเลิศ อันประเสริฐ ที่จะเกิดขึ้นจากการบูชา ก็จะไม่ปรากฏขึ้น  เพราะหัวใจของการบูชาอยู่ที่การปฏิบัติ 

จึงควรให้ความสนใจกับการปฏิบัติบูชา ให้มากกว่าอามิสบูชา  อามิสบูชาเป็นสิ่งที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การปฏิบัติบูชา  ถ้ามีแต่อามิสบูชาอย่างเดียว  ผลที่ปรารถนาคือความเป็นสิริมงคลจะไม่ปรากฏขึ้น  เพราะการปฏิบัติบูชาเท่านั้น ที่จะนำพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ที่เป็นสรณะอันสูงสุด มาประดิษฐานในใจของเรา  เดี๋ยวนี้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ยังอยู่ภายนอกอยู่ ถ้ายังไม่ปฏิบัติ  แต่เมื่อเริ่มปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่อยู่ภายนอกก็จะเข้ามาอยู่ภายในใจ กลายเป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะ   พุทธะคือผู้รู้   ธรรมะคือมรรคผลนิพพาน  สังฆะก็คือสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนั่นเอง   เมื่อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน   สิ่งที่จะปรากฏขึ้นมาก็คือการบรรลุธรรม บรรลุมรรคผลนิพพานไปตามลำดับ  เมื่อได้บรรลุธรรมแล้วย่อมเข้าถึงพุทธะคือผู้รู้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต  ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม  ผู้ที่จะเห็นตถาคต เห็นธรรมได้ ต้องเป็นสุปฏิปันโน  ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ศึกษาแล้วนำเอาธรรมะที่ได้ศึกษาไปปฏิบัติ  เมื่อปฏิบัติแล้ว ธรรมะคือผลก็ย่อมปรากฏขึ้นมาตามลำดับ 

นี่แหละคือวิธีที่จะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต  เพราะเมื่อมีธรรมะอยู่ในใจแล้ว ก็เท่ากับมีพุทธะ มีสังฆะ ควบคู่ไปด้วย  เพราะว่าอยู่ที่ไหนถ้ามีพุทธะ ก็ต้องมีธรรมะ ต้องมีสังฆะ  ถ้ามีธรรมะ ก็ต้องมีพุทธะ มีสังฆะ  ถ้ามีสังฆะ ก็ต้องมีพุทธะ มีธรรมะ  ทั้ง ๓ สิ่งนี้ไม่แยกจากกัน จะไปควบคู่กันเสมอ ในทางปฏิบัติ ในความเป็นจริง  แต่ในทางปริยัติหรือในทางตำราที่เข้าใจกัน ก็ว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมอยู่ที่อินเดีย  พระธรรมคำสอนก็อยู่ในพระไตรปิฎก  พระสงฆ์สาวกก็อยู่ทั่วไปตามวัดต่างๆ  นี่เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆภายนอก แต่เมื่อได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยหลักสุปฏิปันโน คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็จะรวมกันเข้ามาสู่ใจ ด้วยการบรรลุธรรมขั้นต่างๆ ตั้งแต่ขั้นโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์ มีอยู่ ๔ ขั้นด้วยกัน เมื่อได้บรรลุถึงขั้นพระอรหันต์ ก็จะได้บรรลุพระนิพพานไปพร้อมๆกัน พระพุทธองค์จึงทรงแสดงไว้ว่า ธรรมที่จะบรรลุนั้นมี  มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ 

มรรคกับผลเป็นของคู่กัน  ผลจะปรากฏขึ้นได้ก็จะต้องมีมรรค คือการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา  การปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา เมื่อได้ปฏิบัติแล้วผลก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับ  ตั้งแต่ขั้นโสดาบัน ขั้นสกิทาคามี ขั้นอนาคามี ขั้นอรหันต์ จนถึงพระนิพพานอันเป็นขั้นสูงสุด  มรรคผลนิพพานทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  ดังที่ท่านทั้งหลายได้มาที่วัดกันอย่างสม่ำเสมอทุกๆวันพระ ก็เพื่อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  เพื่อมรรคผลนิพพาน ที่จะปรากฏตามขึ้นมาโดยลำดับ  เมื่อได้บรรลุมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่ง ผู้ปฏิบัติก็จะกลายเป็นพระอริยบุคคลขั้นนั้นๆไป  พระอริยบุคคลนี้ไม่ได้จำกัดอยู่กับเพศกับวัย  คือเด็กก็บรรลุเป็นพระอริยะได้  ผู้ใหญ่ก็บรรลุเป็นพระอริยะได้ ผู้หญิงผู้ชายก็เป็นพระอริยะได้  นักบวชกับฆราวาสผู้ครองเรือนก็บรรลุได้เช่นกัน  ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่กีดกั้นผู้หนึ่งผู้ใด  สิ่งที่จะกีดกั้นธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็คือกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจเท่านั้น  แต่กิเลสตัณหาก็จะไม่สามารถขวางกั้นธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่เกิดจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้ เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้า เช่นทาน ศีล ภาวนา หรือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธ ที่จะทำลายกิเลสตัณหาที่ขวางกั้นธรรมะอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ให้ปรากฏขึ้นมาในจิตในใจของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย   

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงต้องเน้นไปที่การชำระ การทำลายกิเลสและตัณหาทั้งหลาย ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ  ไม่ใช่อยู่ที่การปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา  สิ่งต่างๆที่จะได้มานั้น เช่นลาภยศสรรเสริญสุข เรียกว่าเป็นผลพลอยได้  แต่เป้าหมายหลักที่ต้องการจากการปฏิบัตินั้น ก็คือการกำจัดกิเลสตัณหา  เพราะถ้ายังมีกิเลสตัณหาอยู่  ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็จะไม่สามารถเข้าไปประดิษฐานอยู่ในใจได้  ถ้าไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ประดิษฐานอยู่ภายในใจ ก็จะปราศจากที่พึ่ง  ยังต้องทนทุกข์ทรมานกับความทุกข์ต่างๆ  ที่เกิดจากการเกิดบ้าง การแก่บ้าง การเจ็บบ้าง  การตายบ้าง  การพลัดพรากจากของรักของเจริญใจบ้าง  การเผชิญกับของที่ไม่ชอบบ้าง  ซึ่งล้วนเกิดจากการทำงานของกิเลสและตัณหาทั้งสิ้น   ตราบใดถ้ายังมีกิเลสตัณหาอยู่ภายในใจ กิเลสตัณหาก็จะสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจให้ไม่รู้จักจบจักสิ้น แต่ถ้ามีความขะมักเขม้น มีความขยันหมั่นเพียร อุตสาหะ พยายาม มีความเข้มแข็งอดทน ที่จะปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง  อย่างไม่ลดละแล้ว  กิเลสตัณหาที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นอยู่ภายในใจก็จะค่อยๆหมดไป  ไม่ว่ากิเลสตัณหาจะมีมากน้อยเพียงไร  ก็จะไม่สามารถสู้กับความพากเพียรได้ 

ความพากเพียรนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรม จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ก็เพราะความเพียรนี้เอง  ถ้าไม่มีวิริยะความพากเพียรแล้ว  ต่อให้มีพระพุทธเจ้ามาปรากฏอยู่ในโลกนี้กี่ล้านกี่แสนพระองค์ ก็ไม่สามารถจะช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้  เพราะพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ไม่สามารถปฏิบัติแทนเราได้  ไม่สามารถสร้างความพากเพียรในตัวของเราได้  ผู้ที่จะปฏิบัติ ผู้ที่จะยกตนให้พ้นทุกข์ได้ก็คือตัวเราเอง ด้วยความพากเพียรเท่านั้น  ถ้าไม่มีความขยันหมั่นเพียรแล้วก็หมดหวัง  แต่ความขยันหมั่นเพียรนี้ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปรากฏขึ้นในใจของเราได้  พวกเราทุกคนมีความพากเพียรด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่เพียรไปในทางที่ไม่ถูกเท่านั้นเอง  แทนที่จะเอาความพากเพียรมาต่อสู้ทำลายกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจ  เรากลับเอามาเป็นองครักษ์ เป็นทาสของกิเลสตัณหา  เวลากิเลสตัณหาสั่งให้ไปแสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มา  ก็วิ่งทำกันอย่างเต็มที่  เช่นสั่งให้ไปหาเงินหาทองมา ก็วิ่งกันไป ตื่นแต่เช้ามืด ออกจากบ้านด้วยความลำบากลำบน  ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆในแต่ละวัน  ก็เพื่อหาเงินหาทองมา โดยไม่รู้ว่าหามาแล้วจะได้ความสุขหรือไม่ จะพ้นทุกข์หรือไม่ 

แต่เพราะโดนความหลงที่เป็นหัวหน้าของกิเลสตัณหา คอยกระซิบบอกให้ไปหามาเถิด ยิ่งรวยเท่าไรยิ่งดี  ยิ่งมีความสุข  ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด   ไม่ใช่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนว่าคนเราจะสุขได้ จะมีพ้นทุกข์ได้ ต้องมีความขยันหมั่นเพียรต่อสู้กับความโลภกับความอยากทั้งหลาย  อย่าไปโลภ อย่าไปอยาก ให้มีเงินทองมากๆ  นั่นไม่ใช่เป็นทางที่ถูก การออกไปทำมาหากินนี้ ก็เพียงเพื่อดูแลรักษาอัตภาพร่างกายให้อยู่ไปได้โดยไม่มีปัญหา ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  เพื่อจะได้ใช้อัตภาพร่างกายนี้มาปฏิบัติธรรม  มาต่อสู้กับกิเลสตัณหาทั้งหลาย อันเป็นตัวสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจให้ไม่รู้จักจบจักสิ้น  ถ้านำความขยันหมั่นเพียรนี้มาต่อสู้กับกิเลส  ดังที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้แล้ว ก็จะทำให้มีความสุขใจมากขึ้น มีความทุกข์ใจน้อยลง  ก็ต้องตื่นแต่เช้า ต้องต่อสู้กับกิเลสความขี้เกียจ  กิเลสไม่ชอบตื่นแต่เช้ามืด  อยากจะนอนไปเรื่อยๆนอนสายๆ ตื่นสายๆ   แต่ถ้าจะมาวัดก็ต้องตื่นแต่เช้า  ต้องเตรียมตัว เตรียมข้าวเตรียมของ แล้วก็ต้องเดินทางมาวัด  ถ้าไม่มีวิริยะความพากเพียรแล้ว ก็จะไม่สามารถเดินทางมาถึงที่วัดได้  แต่ถ้ามีใครนัดชวนให้ไปเที่ยวกันในวันนี้  ถึงแม้จะต้องตื่นตี ๒ ตี ๓ ก็จะตื่นขึ้นได้ทันที เพราะความพากเพียรนี้ชอบรับใช้กิเลสตัณหานั่นเอง 

ถ้ากิเลสชวนให้ไปเที่ยวกินเหล้าเมายา  ไปเล่นการพนัน  นั่งรถไปถึงชายแดนเพื่อไปเล่นการพนัน ก็จะขยันไปกัน  ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย  จะตื่นกี่โมงก็ไปได้  แต่ถ้าจะต้องตื่นขึ้นมาเพื่อใส่บาตร มาวัดแต่ละครั้ง รู้สึกว่าจะเป็นการลำบากลำบนเหลือเกิน เหมือนกับว่าจะต้องไปนรกเสียอย่างนั้น  ทั้งๆที่การมาวัดก็ดี  การทำบุญตักบาตรก็ดีนั้น  เป็นการดำเนินเพื่อไปสู่สวรรค์อย่างแท้จริง ไปสู่การสิ้นสุดของความทุกข์ทั้งหลาย  แต่เพราะถูกอำนาจของกิเลสตัณหา  โมหะอวิชชาความหลงครอบงำจิตใจอยู่  จึงทำให้จิตเห็นกับตาลปัตรไป  เห็นเจ้านายที่สั่งให้ไปนรกว่าเป็นเจ้านายที่สั่งให้ไปสวรรค์  ส่วนเจ้านายที่สั่งให้ไปสวรรค์กลับเหมือนกับว่าสั่งให้ไปนรก ไปลำบากลำบน จึงไม่ค่อยมีใครได้ไปสวรรค์ ได้หลุดพ้นจากความทุกข์กันเท่าไร  เพราะชอบไปนรกกันนั่นเอง  ถ้าให้ไปกินเหล้าเมายา ไปเที่ยวกลางคืน ไปเล่นการพนัน อย่างนี้ชอบกันแทบจะไม่ต้องชวนเลย  ดีไม่ดีอยู่บ้านไม่มีใครชวน ก็เลยต้องโทรไปหาคนอื่น ไปชวนเขาไปก็มี  เพราะนี่เป็นอำนาจของกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจ  และก็ไม่เคยคิดที่จะต่อสู้กับอำนาจเหล่านี้เลย  เพราะไม่รู้นั่นเอง  เพราะความหลง  เพราะคิดว่าเรากำลังมีความสุขกัน 

ทุกครั้งที่ออกไปเที่ยวก็มีความสุขกัน  แต่ไม่รู้ถึงความทุกข์ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในที่จะตามมาทีหลัง  เวลาออกไปเที่ยวก็สนุกสนานดี  แต่วันต่อไปถ้าไม่มีปัญญาที่จะออกไปเที่ยวได้ ก็จะต้องมีความหงุดหงิดใจ มีความเบื่อหน่าย มีความเศร้าหมองตามมา และถ้าไม่สามารถออกไปได้เรื่อยๆ นานๆเข้า ก็อาจจะต้องถึงขั้นทำร้ายชีวิตของตัวเองก็ได้  เพราะความเบื่อหน่ายตายอยากในชีวิตนั่นเอง  คิดว่าชีวิตนี้ไม่มีความสุขเลยที่ไม่ได้ไปเที่ยว ไปกินเหล้าเมายา ไปหาความสุขทางกามารมณ์ต่างๆ  นั่นก็เป็นเพราะว่าจิตของเราถูกอำนาจของกิเลสตัณหากล่อมเสียอยู่หมัด  เลยไม่รู้จักความสุขที่แท้จริงว่า ไม่มีสิ่งเหล่านี้จะดีกว่าเสียอีก  ดูพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกเป็นตัวอย่าง  ท่านก็เคยผ่านสิ่งเหล่านี้มาเหมือนกับพวกเรา  ท่านก็เคยกินเหล้าเมายา เสพกามารมณ์ต่างๆ  เล่นการพนัน  สนุกสนานกับเรื่องเหล่านี้  แต่ท่านเป็นคนฉลาด ท่านใช้ปัญญาสังเกตดูว่ามันมีคุณมีโทษมากน้อยเพียงไร  ท่านก็เห็นว่าโทษของมันมากกว่าเป็นคุณ เพราะมันทำให้เราเป็นทาส  ต้องคอยหาสิ่งเหล่านี้มาเลี้ยงจิตใจอยู่ตลอดเวลา  ถ้าไม่มีก็จะต้องลงแดงตายไปในที่สุด 

นี่คือโทษของการไปยุ่งกับความสุขต่างๆทางกามารมณ์  ท่านเห็นท่านจึงสละชีวิตของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนแล้วออกบวช  แสวงหาความสุขอีกชนิดหนึ่งที่เกิดจากการชำระกิเลสตัณหา  ทำลายกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ  เพราะเมื่อกิเลสตัณหาได้ถูกทำลายหมดสิ้นไปจากจิตจากใจแล้ว จะไม่มีอะไรมาสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจ  ไม่มีอะไรมาคอยสั่งให้จิตใจให้ออกไปหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาบำรุงบำเรอ  เพียงแต่นั่งอยู่เฉยๆก็มีความสุขแล้ว   เพราะนี่คือความสุขที่เกิดจากความสงบระงับของจิตนั่นเอง  ระงับจากกิเลสตัณหาความทะเยอทะยานอยากทั้งหลาย    พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องความสุขนี้ว่าเป็นสุขที่เลิศ เป็นสุขที่ประเสริฐ  ไม่มีสุขใดในโลกนี้จะเสมอเท่าสุขที่เกิดจากความสงบ  นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง  เป็นความสุขที่มีอยู่กับตัวเราตลอดเวลา  เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่นใดภายนอกเลย  แม้แต่สังขารร่างกายนี้ สุขนี้ก็ไม่ต้องพึ่งพาอาศัย  เมื่อได้สุขนี้แล้ว สังขารร่างกายนี้จะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะไปลบล้างทำลายความสุขอันนี้ให้หมดไปได้  เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย จะเป็นจะตายอย่างไร ความสุขนี้จะไม่หายไปจากจิตจากใจ  จะเป็นความสุขที่มีอยู่ตลอดเวลา 

พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ผู้ได้บรรลุถึงความสุขอันนี้แล้ว จึงไม่หวั่นไหวกับความเจ็บไข้ได้ป่วย กับความเป็นความตายของสังขารร่างกาย ไม่ว่าจะหูหนวกตาบอด  แขนขาด  หรือจะเป็นอะไรก็ตามกับร่างกายนี้ จะไม่กระทบกับความเป็นสุขของจิตใจนี้ได้เลย เพราะไม่มีตัวที่จะไปทำให้เกิดความทุกข์ในจิตนั่นเอง  เพราะว่าตัวที่ทำให้เกิดความทุกข์คือกิเลสตัณหา ได้ถูกทำลายไปโดยหมดสิ้นด้วยอำนาจแห่งธรรมะของพระพุทธเจ้า คือทาน ศีล ภาวนา  หรือศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นองค์มรรคนี้เอง  ถ้าเจริญมรรคนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ช้าก็เร็วก็จะเข้าสู่ผลแต่ละขั้น  เข้าสู่โสดาปัตติผล  เข้าสู่สกิทาคามิผล  เข้าสู่อนาคามิผล และในที่สุดก็จะเข้าสู่อรหัตตผล แล้วก็จะเข้าถึงพระนิพพานไปตามลำดับ  เมื่อถึงพระนิพพานก็หมายถึงว่ากิเลสตัณหาไม่มีแล้วในจิตในใจ  จิตเป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์  ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง  ไม่มีความอยากต่างๆ  ซึ่งฟังแล้วก็รู้สึกว่าจะเป็นไปได้หรือ คนเราจะมีความสุขได้อย่างไรถ้าไม่มีความโลภ ไม่มีความอยาก ก็เป็นเหมือนคนซังกะตาย นั่นไม่ใช่ความหมายของการไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง  คนซังกะตายนี้เป็นคนที่ผิดหวังต่างหาก  มีความอยากแต่ไม่ได้สมอยาก ถึงมีความรู้สึกซังกะตาย หรือถึงกับมีความอยากจะฆ่าตัวตาย เพราะความผิดหวังความหมดหวังนั่นเอง 

แต่จิตของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ที่ได้ถึงนิพพานแล้ว ไม่มีความหวังกับอะไร  ไม่มีความอยากกับอะไร  ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น  เพราะพอแล้ว อิ่มแล้ว  เหมือนกับคนที่รับประทานอาหารที่อิ่มแล้ว ไม่ต้องการอาหารอีกแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็มื้อนี้  เมื่อกินอิ่มแล้วต่อให้ใครยกอาหารวิเศษขนาดไหนมาตั้งไว้ข้างหน้า ก็ไม่มีความอยากจะรับประทาน  นี่ก็คือลักษณะของจิตที่ได้รับการชำระ ให้เป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ จะเป็นเช่นนั้น เป็นจิตที่มีแต่ความอิ่ม มีแต่ความพอ ไม่หิวไม่กระหายกับอะไรทั้งสิ้น ใครจะดี ใครจะชั่ว ใครจะวิเศษ ใครจะร่ำรวย ใครจะมีสมบัติข้าวของอะไรที่พิสดารขนาดไหน ก็ไม่มีความรู้สึกตื่นเต้นยินดี อิจฉาริษยาหรืออยากจะมีเหมือนกับเขา  เพราะในใจไม่มีความอยากเหลืออยู่เลย  มีแต่ความสุข  และรู้ด้วยว่าความสุขนี้ ไม่มีอะไรในโลกนี้จะเทียบเท่าได้   ต่อให้ถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ซักพันครั้ง ก็ยังสู้ไม่ได้กับความสุขที่ได้จากการกำจัดกิเลสตัณหา ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ 

นี่แหละคือความวิเศษของธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า  ความวิเศษของการปฏิบัติบูชา  เพราะถ้าปฏิบัติบูชากันอย่างสม่ำเสมอแล้ว  ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะค่อยๆสะอาดไปตามลำดับ จนในที่สุดก็จะสะอาดบริสุทธิ์  ถึงแม้จะไม่สามารถทำจิตให้บริสุทธิ์ในภพนี้ชาตินี้ได้ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร  เพราะเมื่อได้เริ่มทำงานนี้แล้ว จะเป็นเหมือนกับไฟที่ไหม้ จะไหม้ไปเรื่อยๆตามเชื้อไฟที่มีอยู่  ฉันใดเมื่อได้เริ่มเจริญปัญญาแล้ว  คือได้ต่อสู้ทำลายกิเลสตัณหาแล้ว ก็จะตามต่อสู้กับกิเลสตัณหาทุกภพทุกชาติไป จนกว่ากิเลสตัณหาจะไม่มีหลงเหลืออยู่ในจิตใจเท่านั้น งานนี้ถึงจะยุติลง   แต่ถ้าตราบใดยังมีกิเลสตัณหาอยู่  ไม่ว่าจะไปเกิดในภพไหนชาติไหน ก็จะต่อสู้กันต่อไป จนกว่าจะกำจัดให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ  เพราะเมื่อลองได้เริ่มปฏิบัติธรรมแล้ว  ธรรมนี้ก็เป็นธรรมจักร  เมื่อเริ่มหมุนแล้ว จะไม่หยุดหมุน จนกว่าจะทำหน้าที่ได้เต็มที่ คือบรรลุมรรคผลนิพพานนั่นเอง นี่แหละคือความวิเศษของการปฏิบัติบูชา  เพราะเมื่อปฏิบัติแล้ว ก็จะกลายเป็นนิสัยไป  ฝังลึกอยู่ในจิตในใจ   เกิดภพไหนชาติไหน  ก็จะมีแต่ความยินดีที่จะทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ  เจริญปัญญา ดังที่ท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติกันทุกๆวันพระ หรือมากกว่านั้น  ก็เป็นเพราะว่าธรรมจักรเริ่มหมุนในจิตใจของท่านแล้ว 

เมื่อเริ่มหมุนแล้ว ก็จะหมุนไปทางวิวัฏฏะ สวนทางกับวัฏฏะ  ซึ่งเป็นการหมุนสู่การเวียนว่ายตายเกิด ด้วยการสะสมความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยการสะสมตัณหาความอยากต่างๆ แต่ถ้าเป็นวิวัฏฏะ คือทางแห่งธรรมจักรแล้ว ก็จะไปสู่การถอดถอนต่อสู้กับความโลภ ความโกรธ ความหลง  ลดละตัณหาความอยากต่างๆ  แทนที่อยากจะร่ำจะรวยตอนนี้ไม่อยากรวยแล้ว  แทนที่จะมีตำแหน่งสูงๆ ก็ไม่อยากจะมีแล้ว  แทนที่อยากจะออกไปเที่ยวกินเหล้าเมายาหาความสนุกทางด้านกามารมณ์ ก็ไม่อยากจะทำแล้ว  ตอนนี้อยากจะทำแต่บุญ รักษาศีล  ปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาเท่านั้น  เพราะเวลาได้ปฏิบัติแล้วกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจก็ถูกชำระลงไปตามลำดับ ความสุขก็จะปรากฏขึ้นตามลำดับ  ความทุกข์ความหนักอกหนักใจ ก็จะน้อยลงไป เบาบางลงไป จนในที่สุดก็จะไม่มีหลงเหลืออยู่เลย  กลายเป็นจิตที่หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ด้วยการพากเพียรนั่นเอง  พ้นทุกข์ได้ด้วยความพากเพียร  ด้วยการปฏิบัติบูชา ดังที่เราทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้ 

จึงขอให้มีความเชื่อมั่น  มีความแน่วแน่มั่นคง กับคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่าให้กิเลสตัณหามาหลอกฉุดลากไปสู่ทางของเขา  เพราะถึงแม้จะสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่จะมีโทษตามมาทีหลัง  เปรียบเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด  เวลาปลาที่ไม่ฉลาดไปฮุบเหยื่อเข้า ก็จะต้องฮุบเบ็ดติดคอไปด้วย แล้วความทุกข์ที่เกิดจากเบ็ดที่เกี่ยวคอจะเป็นอย่างไร ต้องทุกข์ทรมานอย่างแน่นอน  ฉันใดถ้าไปตามทางของกิเลสตัณหาแล้ว  รับรองได้ว่าจะต้องมีความวุ่นวายใจ  มีความทุกข์ใจ แบบไม่รู้จักจบจักสิ้น  จึงควรมีแต่ความพยายาม มีขันติ ความอดทน มีความขยันหมั่นเพียร ต่อสู้  พยายามปฏิบัติตามกำลังใจที่มีอยู่  สามารถปฏิบัติได้มากน้อยเพียงไรก็ปฏิบัติไป ให้ทานได้มากน้อยเพียงไรก็ให้ไป  รักษาศีลได้มากน้อยเพียงไรก็รักษาไป  ปฏิบัติธรรมได้มากน้อยเพียงไร ก็ปฏิบัติไป จนกว่ากิเลสตัณหาจะหมดสิ้นไปจากจิตจากใจ แล้วความประเสริฐเลิศโลกที่เกิดจากการปฏิบัติบูชา คือพระนิพพาน ก็จะเป็นผลที่ตามมาต่อไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้