กัณฑ์ที่  ๑๗๗     ๑๘ กันยายน ๒๕๔๖

อวิชชา

 

วันนี้เป็นวันพระ เป็นวันธรรมสวนะ วันฟังธรรม  จึงได้มีการสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอุโบสถ   เพราะศรัทธาญาติโยมมีศรัทธา ความเชื่อ  ปสาทะ ความเลื่อมใส ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงไว้ว่า  สีเลน สุคติ ยันติ   ศีลเป็นเครื่องพาไปสู่สุคติ  ผู้ที่จะไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี  เป็นเทพก็ดี เป็นพรหมก็ดี  เป็นพระอริยเจ้าทั้งหลายก็ดี  ต้องมีศีลเป็นผู้นำไป  ถ้าไม่มีศีลแล้วจะไม่สามารถไปสู่ที่ได้กล่าวไว้ได้  แต่จะต้องไปตรงข้ามกับที่ๆได้กล่าวไว้ คือจะต้องไปสู่อบายทั้ง ๔ ได้แก่นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ซึ่งเป็นที่อยู่ที่ไปของผู้ปราศจากศีลธรรม   ส่วนผู้มีปัญญามีความรู้อย่างพระโสดาบัน ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้น มีดวงตาเห็นธรรม  จึงไม่มองข้ามความสำคัญของศีลธรรมไปเป็นอันขาด เพราะได้เห็นแล้วว่าเมื่อสัตว์โลกตายไปแล้ว ถ้ายังไม่สิ้นกิเลส ก็ยังจะต้องไปเกิดใหม่ จะไปเกิดที่สูงหรือไปเกิดที่ต่ำ ก็ขึ้นอยู่กับศีลธรรม  

ถ้ามีศีลเป็นเครื่องพาไป ก็จะได้ไปเกิดในที่ดีที่งาม ที่เรียกว่าสุคติ  ได้เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้า  พระโสดาบันจึงตั้งมั่นอยู่ในการรักษาศีล ๕  จะไม่ละเมิดศีล ๕ โดยเด็ดขาด  เพราะเห็นแล้วว่าการรักษาศีล ๕ ยิ่งกว่าชีวิต มีคุณมีประโยชน์กว่า  เพราะชีวิตก็เป็นเพียงแค่ชั่วอายุขัยนี้เท่านั้น ไม่เกิน ๑๐๐ ปีก็จะต้องล้มหายตายจากกันไป  แต่จิตจะต้องไปเกิดต่อไป  จะไปสุคติหรือไปสู่อบาย  ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีศีลธรรมเป็นเครื่องพาไปหรือไม่  ถ้ามีศีลธรรมก็จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคล  ตามลำดับต่อไป  ถ้าไม่มีศีลธรรมก็ต้องไปสู่อบายทั้ง ๔  พระโสดาบันซึ่งมีความรู้ คือมีแสงสว่างแห่งธรรม  มีดวงตาเห็นธรรม  มีปัญญา จึงรู้ชัดแจ้งว่าหลังจากที่ตนเองตายไปแล้ว ถ้ายังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะต้องไปเกิดต่อ  จึงไม่ละเมิดศีลข้อหนึ่งข้อใด  เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  การลักทรัพย์  การประพฤติผิดประเวณี  การพูดปดมดเท็จ  การเสพสุรายาเมา  พระโสดาบันจะไม่กระทำโดยเด็ดขาด  ถึงแม้จะเสียชีวิตเพื่อรักษาศีลก็ยอมเสีย  ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ว่า  ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม  พระโสดาบันท่านเห็นแล้วด้วยปัญญา ว่าชีวิตกับธรรมนั้น มีคุณค่าแตกต่างกัน  ชีวิตก็เป็นเพียงอัตภาพร่างกายนี้  ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ไม่มีสาระ ไม่มีคุณค่าอะไร  นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่จะนำมาใช้ ในการประกอบคุณงามความดี  หรือกระทำบาปเท่านั้น 

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเอาร่างกายนี้มาประกอบคุณงามความดี  เช่นรักษาศีล  ละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น  แต่ถ้าจะต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น เช่นต้องฆ่าผู้อื่นเพื่อรักษาชีวิตของตนไว้  พระโสดาบันก็จะไม่ทำ  หรือจะต้องไปลักทรัพย์เพื่อหาอาหารมาเยียวยารักษาร่างกาย ก็จะไม่ทำ    ยอมอดตาย ดีกว่าจะต้องผิดศีลผิดธรรม  ด้วยเหตุนี้พระโสดาบันจึงไม่ต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป  ถึงแม้จะเคยทำบาปทำกรรมมามากน้อยเพียงไรในอดีตก็ตาม  กรรมเหล่านั้นก็ไม่สามารถมาส่งผลให้พระโสดาบันต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป  มีแต่จะไปเกิดในสุคติ  และจะมีภพชาติเหลือไม่เกิน ๗ ชาติเท่านั้น  หลังจากนั้นแล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้สิ้นกิเลส  แต่ในขณะที่ยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ยังมีกิเลสที่ละเอียดที่ยังไม่สามารถกำจัดได้ เป็นบ่วงที่ผูกดึงให้พระโสดาบันยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่  เพียงแต่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสุคติ คือในภพที่ดีเท่านั้น 

แต่ถ้าปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ  เจริญธรรมะไปเรื่อยๆ  ต่อสู้กับกิเลสต่างๆ  ที่เป็นเครื่องผูกจิตผูกใจ ให้ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก  ภพชาติก็จะค่อยๆลดถอยน้อยลงไป จนหมดไปในที่สุด  หน้าที่ของพระโสดาบันที่จะต้องปฏิบัติต่อไปอีก ก็คือการละกามตัณหา ความอยากในกาม  พระโสดาบันโดยปกติวิสัยจึงยังเป็นผู้ครองเรือนอยู่  ยังมีความยินดีกับการมีสามี มีภรรยาอยู่  แต่ถ้าต้องการที่จะเจริญขึ้นสู่ธรรมที่สูงขึ้นไปกว่านั้น จำต้องเจริญอสุภกรรมฐาน  พิจารณาดูความไม่สวยงามของร่างกายเพื่อคลายความกำหนัดยินดี เช่นพิจารณาดูร่างกายตั้งแต่ใต้ผิวหนังลงไป  ความสวยงามของคนเรา มีอยู่บนผิวหนังนี้เท่านั้น  ถ้าสามารถมองทะลุลงไปใต้ผิวหนังได้ ก็จะเห็นอวัยวะน้อยใหญ่ต่างๆ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความไม่ยินดีกับความสวยงามของร่างกาย ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น 

ส่วนความไม่สวยงามคืออสุภนั้น ก็ถูกปกปิดด้วยหนัง  ถูกปกปิดด้วยการดูแลรักษา  อาบน้ำอาบท่า  หวีเผ้าหวีผม  จึงทำให้ดูสวยงาม  แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแล  เช่นไม่ได้อาบน้ำอาบท่าสักระยะหนึ่ง  ไม่ได้หวีเผ้าหวีผม  อย่างคนที่เพิ่งตื่นนอนมาใหม่ๆ  ต่อให้เป็นนางงามจักรวาลหรือเป็นดาราภาพยนตร์  ต่อให้สวยหรือหล่อเหลาขนาดไหนก็ตาม  เวลาตื่นนอนขึ้นมาใหม่ๆ หน้าตาก็จะดูไม่ได้  เพราะนั่นเป็นธรรมชาติของร่างกาย  แต่ถูกปกปิดไว้  เพราะคนเราส่วนใหญ่จะไม่เห็นหน้ากันตอนที่เพิ่งตื่นนอนขึ้นมาใหม่ๆ  จะเห็นหน้ากันก็ต่อเมื่อได้ขัดสีฉวีวรรณ  แต่งหน้าทาปาก  หวีเผ้าหวีผม  ใส่เสื้อผ้าให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะออกมาเจอกัน จึงมักจะเห็นรูปร่างหน้าตาของคนว่าสวยว่างาม  จึงมีความหลงติด  มีความยินดีอยากจะได้มาเป็นคู่ครอง  ดังนั้นถ้าต้องการตัดความหลงนี้ พระโสดาบันจึงต้องเจริญอสุภกรรมฐาน  พิจารณาดูความไม่สวยงามของร่างกายไปเรื่อยๆ จนติดตาติดใจ  หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น  จนสามารถเอาชนะการเห็นความสวยงามของร่างกายนี้ไปได้  ถ้าทำให้กามตัณหาเบาบางลงไปได้ ก็จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๒ เรียกว่าพระสกิทาคามี ผู้ทำให้ราคะตัณหาเบาบางลงไป  คือเริ่มเห็นแล้วในความไม่สวยงามของร่างกาย  แต่ยังไม่สามารถเห็นได้ตลอดเวลา เวลาเผลอก็ยังอดที่จะเห็นความสวยงามของร่างกายไปไม่ได้  เวลามีสติมีปัญญาพิจารณา ก็จะเห็นว่าไม่สวยงาม ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เป็นลักษณะเบื่อๆอยากๆ  อย่างนี้เรียกว่าเป็นขั้นของพระสกิทาคามี 

ถ้ายังไม่บรรลุถึงธรรมที่สูงกว่านี้  พระสกิทาคามีก็จะมีภพชาติเหลือเพียงชาติเดียว  คำว่าภพชาติของพระสกิทาคามี ของพระโสดาบันนี้หมายถึงภพชาติในกามภพ คือภพของมนุษย์และเทวดา ผู้ยังเสพกามอยู่  แต่ถ้าสามารถเจริญอสุภกรรมฐาน คือเห็นความไม่สวยงามของร่างกายได้ตลอดเวลา จนคลายความกำหนัดยินดีได้โดยเด็ดขาด  ก็จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๓ เรียกว่าพระอนาคามี  ไม่มีความยินดีในเรื่องการมีคู่ครองอีกต่อไป  ถึงแม้จะเคยแต่งงานอยู่ด้วยกันมา  ก็จะไม่มีกิจกรรมดังที่เคยกระทำมาในอดีต  หรือไม่เช่นนั้นก็จะออกบวชไปเลย  ถ้าตายไปก่อนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม  จะไม่ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทพอีก  แต่จะไปเกิดเป็นพรหม  แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสวรรค์ชั้นพรหมนั้นๆต่อไป  ไม่ต้องกลับมาเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป  

แต่ยังต้องกำจัดกิเลสที่ละเอียดที่ยังครอบงำจิตใจอยู่  เรียกว่าอวิชชา ความไม่รู้จริงให้หมดไปจากจิตจากใจ ด้วยการเจริญปัญญา พิจารณาให้รู้ทันอวิชชา ความไม่รู้สภาพความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย  ไม่ว่าข้างนอกหรือข้างใน  เช่นอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรืออายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย   หรือขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  หรือธรรมารมณ์ต่างๆที่ปรากฏอยู่ในจิต ไม่ว่าจะเป็นความสุข หรือความทุกข์  ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น คือไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน  ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย  ถ้าไปหลงไปยึดติด อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา  ถ้ารู้ทันแล้วปล่อยวางตามสภาพความเป็นจริง ก็จะไม่ทุกข์ ก็จะหลุดพ้น  นี่คือความหมายของอวิชชาและปัญญา  

ปัญญาจะรู้ทันในสภาวธรรมทั้งหลาย  ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด  ที่ปรากฏขึ้นมาสัมผัสกับจิตกับใจ  รู้ทันอารมณ์เหล่านี้ว่าเป็นเพียงสภาวธรรมเท่านั้น  ไม่ควรยินดียินร้าย  รู้ทันว่าเป็นสภาวธรรม เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไปในที่สุด  ถ้ารู้ทันแล้วปล่อยวางก็จะเป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริง  จะรู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นเพราะความอยาก  ถ้าปล่อยวางความอยากด้วยสติ ด้วยปัญญา  ความทุกข์ก็จะดับไป   ไม่ว่าจะเป็นความอยากกับสิ่งต่างๆภายนอกที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย  ในรูปของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรไปอยาก  เพราะเมื่ออยากแล้ว ก็ต้องเกิดอุปาทานความยึดติด  ถ้าเกิดการสูญเสีย การพลัดพรากจากกัน ก็ต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมา  ถ้ารู้ว่าเหตุของความทุกข์เกิดจากความอยาก แล้วก็ปล่อยวางความอยากนั้น ความทุกข์ก็จะดับไป  นี่คือความหมายของการรู้ทันอวิชชา  อวิชชาเป็นผู้ไม่รู้ในพระอริยสัจ ๔  ไม่รู้จักไตรลักษณ์ว่าเป็นอย่างไร 

แต่ถ้าได้เจริญปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอน ทรงมอบให้กับพุทธศาสนิกชนไว้ ให้เจริญอยู่อย่างสม่ำเสมอๆ  ให้มีสติ รู้ทันกับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสกับใจ  อย่าไปอยาก  อย่าไปยินดี  เพราะถ้ายินดีก็จะเกิดความอยาก  ถ้ารังเกียจก็อยากให้สิ่งนั้นหายไป ให้พ้นไปจากตัวเอง   เมื่อเกิดความอยากก็จะต้องดิ้นรนทุรนทุราย กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา  แต่ถ้าเพียงแต่รับรู้ตามสิ่งที่มาปรากฏ ก็จะไม่มีความทุกข์ภายในใจ  เพราะว่าสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสปรากฏในใจนั้น ไม่สามารถไปทำร้ายทำลายใจได้  เพราะใจเป็นธาตุรู้ เป็นธรรมชาติที่รับรู้ สามารถรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นได้  ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา  ทุกขเวทนา  ไม่สุขไม่ทุกข์เวทนา  หรืออารมณ์ต่างๆ  อารมณ์โกรธ  อารมณ์หลง  อารมณ์โลภ  สามารถรับรู้สิ่งเหล่านี้ได้หมด  เพียงแต่จะต้องรู้ทันแล้วปล่อยวาง  

 

เวลาเกิดอารมณ์โลภก็อย่าไปโลภตาม   เกิดอารมณ์โกรธ ก็อย่าไปโกรธตาม  อย่าไปคิดว่ามีตัวมีตน  ไปรู้ไปโกรธตามสิ่งเหล่านั้น ไปโลภตามสิ่งเหล่านั้น  พยายามทำความเข้าใจว่า ใจเป็นผู้รู้ ไม่ใช่ตัวตน  มีหน้าที่เพียงแต่รับรู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ใช่เป็นผู้ที่โต้ตอบกับสิ่งต่างๆที่มาปรากฏขึ้นในใจ  ถ้ามีสติมีปัญญาไว้คอยดูแลอยู่ตลอดเวลา  ใจก็จะค่อยๆรู้ทันแล้วก็จะปล่อยวาง  ตัวตนที่เคยเป็นตัวคอยโต้ตอบสิ่งต่างๆ ก็จะเบาบางลงไป จนกลายเป็นตัวรู้เฉยๆ  ใครจะพูดอะไรก็ไม่โต้ตอบเหมือนเมื่อก่อน  เมื่อก่อนใครพูดอะไรมาก็สวนหมัดไปทันที  พูดไม่ดีก็ตอบโต้ไปอย่างไม่ดี  พูดดีก็ตอบโต้ไปอย่างดี  แต่ต่อไปเวลาใครพูดอะไรก็จะเฉยเสียก่อน  แล้วถ้าจะตอบโต้ก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญเสียก่อน ว่าสมควรที่จะตอบโต้หรือไม่  จำเป็นหรือไม่  ถ้าไม่จำเป็น ก็นิ่งเฉยเสีย จะไม่ตอบโต้อะไร ปล่อยให้เขาพูดไปตามประสาของเขา  เปรียบเหมือนกับเด็กๆ   เวลาจะพูด จะร้อง จะขออะไร บางทีผู้ใหญ่ก็ไม่ต้องไปตอบไปโต้อะไรกับเด็กๆ ปล่อยให้ร้องไป ขอไป พูดไป เดี๋ยวก็ลืม 

แต่ถ้าไม่มีปัญญารู้ทันอวิชชาความหลง  เวลามีอะไรมาสัมผัสกับจิต  ใครพูดอะไรไม่ถูกใจ ก็จะเกิดความไม่พอใจ  แล้วก็จะมีตัวตอบโต้ความรู้สึกนั้น  พูดไม่ดีมาก็จะพูดไม่ดีกลับไป  จนในที่สุดก็กลายเป็นเรื่องเป็นราวทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายกัน จนถึงฆ่ากันตายในที่สุด  ก็เพราะเกิดจากอวิชชา ความไม่รู้ทันธรรมชาติของใจผู้รู้นี้เอง แต่ถ้ารู้แล้วอะไรจะปรากฏขึ้นมาก็เพียงแต่รับรู้ไว้แล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร เหมือนกับไมโครโฟนนี้ เวลามีเสียงมาสัมผัสกับไมโครโฟน  ไม่ว่าจะเป็นเสียงดี หรือเสียงไม่ดี  จะเป็นสรรเสริญ หรือจะเป็นการตำหนิติเตียน  ไมโครโฟนก็เพียงแต่รับเสียงนั้นไป  ทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียงไปสู่เครื่องขยายเสียง เพื่อจะได้ขยายเสียงออกมาตามลำโพง  เพียงทำหน้าที่ของเขา  เพราะไม่มีตัวตนอยู่ในไมโครโฟนนั่นเอง 

ฉันใดใจก็เป็นธรรมชาติที่ไม่มีตัวตน  แต่ถ้ามีอวิชชาแอบแฝงอยู่ในใจก็จะปรากฏมีตัวตนขึ้นมา และจะเป็นตัวที่แสดงตอบโต้สิ่งต่างๆที่มาสัมผัสกับใจ ทำให้เกิดความดีอกดีใจ  เกิดความเสียอกเสียใจ  เวลาดีอกดีใจนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร แต่เวลาเกิดความเสียอกเสียใจ มันทรมาน  คนเราจะร่ำรวยมากมายขนาดไหน มีสมบัติมากมายเพียงไร  มีบริษัทบริวารมากน้อยเพียงไร  มียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งเพียงไรก็ตาม  แต่เวลาเกิดความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจภายในใจ  สิ่งต่างๆที่ตนเองมีอยู่นั้นจะไม่สามารถช่วยกำจัดความทุกข์ ที่เผาผลาญจิตใจได้เลย  นี่คือความไม่มีคุณ ไม่มีประโยชน์ของลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย ที่เราแสวงหากัน  เวลาเกิดความทุกข์ ความโกรธแค้น ความเสียดาย  อาลัยอาวรณ์  ที่เป็นผลของอวิชชา  จะไม่มีอะไรมาแก้ได้นอกจากปัญญา คือธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่จะต้องเกิดจากการปฏิบัติ ศีล  สมาธิ  และปัญญา  เท่านั้น ที่จะสามารถชำระ ต่อสู้ ทำลายอวิชชา ตัวที่สร้างความรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ในใจให้หมดสิ้นไปได้ 

เมื่อความรู้สึกมีตัวตนนั้นสลายหมดไป  ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็จะสูญสลายไปพร้อมๆกัน  มีแต่ตัวรู้อยู่เท่านั้นเอง  สักแต่ว่ารู้  เป็นตัวรู้ที่สะอาดบริสุทธิ์  เป็นธรรมชาติของพระอรหันต์ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ที่หลังจากได้ปฏิบัติเจริญธรรมะอย่างต่อเนื่องตามลำดับ ก็จะสามารถกำจัดกิเลสต่างๆ  ตัณหาต่างๆ   อวิชชาโมหะต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไป  เมื่อหมดสิ้นไปแล้ว ใจก็จะเป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์  ไม่มีการตอบโต้กับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัส  หรือปรากฏขึ้นภายในใจอีกต่อไป  จะมีแต่เพียงรับรู้ไว้เท่านั้น  รู้ว่าเป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และก็ดับไป  ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องแสดง  เช่นพูดหรือกระทำอะไรก็ใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อน  แล้วก็จะแสดง แล้วก็จะกระทำออกไปโดยไม่มีกิเลสตัณหาเป็นตัวชักใย เป็นตัวผลักดัน  เป็นเพียงกิริยา 

พระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์นั้น เวลาท่านทำอะไร ไม่ได้ทำด้วยกิเลสตัณหา แต่ทำด้วยปัญญา  ทำไปเพียงสักแต่ว่าทำไป ตามความจำเป็น  เวลาใครมาทักทายถามปัญหา ก็ตอบไปตามเรื่องตามราว  แต่ในใจไม่ได้มีความยินดียินร้ายต่อการตอบคำถามปัญหานั้นๆ   เพียงแต่ทำหน้าที่ไป  เวลาใครให้อะไรมาก็อนุโมทนาไป  แต่ในใจไม่มีความดีอกดีใจกับสิ่งที่ได้รับ  หรือใครจะมาเอาส่วนหนึ่งส่วนใดไป ก็ไม่มีความรู้สึกเสียดายอาลัยอาวรณ์  เพียงแต่รู้ว่า มันมาแล้วก็ไปเท่านั้น  นี่คือลักษณะของใจ ที่ได้กำจัดอวิชชาให้หมดไปแล้ว จะเป็นเช่นนั้น  ใจที่เมื่อก่อนนี้เป็นตัวตน ก็จะกลายเป็นตัวรู้ไปเท่านั้น  สักแต่ว่ารู้  มีอะไรมาสัมผัสก็รู้ว่ามาสัมผัส  รู้ว่ามาแล้วก็ไป  ไปแล้วก็มา  กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้  แต่จะไม่มีความยินดียินร้ายกับการมาหรือการไปของสิ่งต่างๆ  

นี่เป็นสิ่งที่ทุกๆคนสามารถปฏิบัติได้  ถ้าเจริญสติปัญญาอย่างสม่ำเสมอ   กำหนดให้มีสติอยู่กับใจ  เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นในใจ  ความดีต่างๆ ก็เกิดขึ้นในใจ  ความชั่วต่างๆ ก็เกิดขึ้นในใจ  ถ้าใจมีสติปัญญารู้ทัน  เวลาเกิดความดี ก็พิจารณาดูว่าควรจะทำหรือไม่ทำ  เมื่อสมควรที่จะทำ ก็ทำไป   เวลาเกิดความชั่วขึ้นมา ก็รู้ทัน ก็จะไม่ทำตามความชั่วต่างๆ  เช่นเกิดอารมณ์อยากจะเสพสุราขึ้นมา ก็รู้ทันอารมณ์นั้น ก็ละเว้นจากการเสพสุรา  ถ้าอยากจะไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็รู้ทันในอารมณ์นั้นแล้วก็ปล่อยวาง ไม่หลงตาม ทำตามอารมณ์นั้น  ปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริงของเขา รู้ว่าเขาเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไปในที่สุด แล้วจิตใจก็จะว่าง ปราศจากความทุกข์  เพราะไม่มีความอยากกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด  

สังเกตดู เวลาเกิดความอยาก คนเราจะนั่งอยู่เฉยๆไม่ได้  จะต้องดิ้นรนไปหาสิ่งที่ตนต้องการ นี่ก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง คือความอยู่ไม่เป็นสุขนั่นเอง อยู่เฉยๆไม่ได้  พอเห็นอะไรอยากจะได้ ก็ต้องออกไปหามาจนได้  แต่ถ้าไม่มีความอยากแล้ว อยู่เฉยๆก็มีความสุข  นี่แหละคือผลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม   เริ่มตั้งแต่การรักษาศีลที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้  รักษาศีล ๕  ศีล ๘ ศีลอุโบสถ  ศีล ๒๒๗  ก็เป็นการพัฒนาขึ้นไปตามลำดับ  ในเบื้องต้นก็รักษาศีล ๕ ไปก่อน  ต่อจากนั้นก็ไปศีล ๘  ศีลอุโบสถ  ถ้าเจริญมากขึ้นไปกว่านั้น ก็จะเกิดความอยากจะบวชเป็นสมณะนักบวช ถือศีล ๒๒๗ ข้อ  ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการต่อสู้กับกิเลสตัณหา  ไม่ใช้เวลาไปในการทำมาหากิน หาเงิน หาทอง หาลาภ หายศ  แต่ใช้ไปกับการชำระกิเลสตัณหา ความโลภ ความอยากต่างๆ  ความหลงต่างๆ อวิชชาความไม่รู้ ที่มีอยู่ภายในจิตให้ค่อยๆหมดไปตามลำดับ จนหมดไปในที่สุด 

นี่คือหน้าที่การงานของสมณะนักบวช เมื่อบวชมาแล้วถือว่าเป็นผู้สละสมบัติแล้ว  สละความเป็นอยู่ของฆราวาสแล้ว  ไม่มีสามี ไม่มีภรรยา ไม่มีบุตร ไม่มีธิดา ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่แล้ว  มีพระธรรมเป็นครูบาอาจารย์   มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นพ่อแม่ มีเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลาย คือพระภิกษุที่อยู่ร่วมกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน  มีเป้าหมายอันเดียวกัน  คือการเจริญธรรมด้วยการปฏิบัติศีล สมาธิ และปัญญา  เพื่อกำจัดกิเลสตัณหา  โมหะอวิชชา  ที่เป็นต้นเหตุที่จะพาให้ไปเวียนว่ายตายเกิด ไปแบกความทุกข์ต่างๆ ในแต่ละภพแต่ละชาติไม่รู้จักจบจักสิ้น  เดี๋ยวนี้เราโชคดี ได้มาเจอพระพุทธศาสนา  เริ่มเห็นแล้วว่าทางเดินที่แท้จริง อยู่ตรงไหน  ก็อยู่ที่การปฏิบัติธรรมนั้นเอง  เริ่มต้นด้วยการทำบุญให้ทาน  รักษาศีล  แล้วก็เจริญภาวนา  นั่งสมาธิ  เจริญวิปัสสนา  ตามสมควรแก่สมณสารรูปของแต่ละคน แต่ละท่าน   ปฏิบัติได้ด้วยกันทุกคนไม่ว่าจะเป็นฆราวาส หรือเป็นสมณะนักบวช และสามารถบรรลุธรรมอันประเสริฐได้ด้วยกันทุกคน จึงควรขวนขวายปฏิบัติธรรมกัน ด้วยศรัทธา วิริยะ สติ และปัญญา เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ที่มีอวิชชาเป็นต้นเหตุ การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้