กัณฑ์ที่ ๑๘๑     ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

ศีลธรรม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดราชการ เป็นวันที่ศรัทธาญาติโยมไม่ต้องไปทำงานทำการ เลยได้มาที่วัดกัน เพื่อบำเพ็ญคุณประโยชน์ที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญ โดยยึดหลักธรรมที่แสดงไว้ว่า อัตตา หิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน สิ่งต่างๆที่เราปรารถนา เช่นความสุข ความเจริญ ความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวงนั้น ล้วนเป็นผลที่เกิดจากเหตุ คือการกระทำของแต่ละบุคคล ดังนั้นบุคคลใดที่ปรารถนาความสุขความเจริญ จึงต้องอาศัยการกระทำของตนเป็นเหตุนำพาไปสู่ความสุขความเจริญ ไม่ใช่จะอาศัยผู้อื่นมอบหมายให้ ความปรารถนาเฉยๆก็ดี การวิงวอนขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ดี จะไม่สามารถสำเร็จประโยชน์ได้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำทางกายวาจาใจ

เราจึงต้องยึดหลักอัตตา หิ อัตโน นาโถ คือตนเป็นที่พึ่งของตน ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ต้องบำเพ็ญเหตุ ให้เหตุเป็นตัวสร้างผลที่จะเกิดขึ้นมา เหมือนกับเวลาที่ปลูกต้นไม้ชนิดต่างๆ ต้องการผลไม้ชนิดใด ก็ต้องปลูกต้นไม้ชนิดนั้น ต้องการผลส้มก็ต้องปลูกต้นส้ม  แล้วหมั่นทำนุบำรุงดูแลรักษา ในไม่ช้าก็เร็ว ก็จะได้ผลส้มออกมาจากต้นส้มนั่นเอง แต่ถ้าปรารถนาเฉยๆ แล้วก็ไปนั่งวิงวอนขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้มีผลส้มมาปรากฏ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งต่างๆนั้นล้วนเกิดจากเหตุทั้งสิ้น ถ้าทำเหตุแล้วถึงแม้จะไม่ปรารถนา ถึงแม้จะไม่วิงวอนขอมา เมื่อสร้างเหตุนั้นแล้ว ผลที่เกิดจากเหตุนั้น ย่อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้กระทั่งสิ่งต่างๆที่ไม่ปรารถนากัน เช่นความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความหายนะ ก็เช่นกัน ถ้าไปสร้างเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียขึ้นมา มันก็ต้องเกิดความเสื่อมเสียขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การที่เราได้มาเกิดกันเป็นมนุษย์แล้วมาร่วมทำบุญกัน ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความปรารถนา จากการวิงวอนขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยถ่ายเดียว แต่เกิดขึ้นจากการสร้างเหตุ ที่จะทำให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ว่า เหตุที่จะทำให้มาเกิดเป็นมนุษย์ได้นั้นก็คือศีลธรรม ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า สีเลน สุคติง ยันติ ศีลเป็นเหตุที่จะทำให้ไปสู่สุคติ ซึ่งเป็นที่อยู่หรือที่เกิดของมนุษย์ เทพ พรหม และพระอริยเจ้าทั้งหลาย ถ้าปรารถนาความเป็นมนุษย์ ความเป็นเทพ ความเป็นพรหม ความเป็นพระอริยเจ้า ก็ต้องเจริญเหตุคือการรักษาศีล ตั้งอยู่ในการไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางกายและทางวาจา ได้แก่  . การละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต   . การละเว้นจากการลักทรัพย์  . ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี  . ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ  . ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา อันเป็นเหตุให้ขาดสติ เป็นที่ตั้งของความประมาท

นี่ก็คือเหตุที่จะทำให้บุคคลที่รักษาหรือเจริญเหตุทั้ง ๕ ข้อนี้ ได้ไปเกิดในสุคติ ถ้าไม่ได้เจริญเหตุคือไม่ได้รักษาศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ มีการละเมิดข้อหนึ่งข้อใดมากน้อย ก็จะเป็นเหตุที่จะส่งให้ไปเกิดในอบายทั้ง ๔ คือที่อยู่ของสัตว์นรก ของเปรต ของอสุรกาย ของเดรัจฉานทั้งหลาย ถึงแม้จะไม่ปรารถนาที่จะไปนรก ไปเป็นเดรัจฉาน ไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย แต่ถ้าละเมิดศีลแล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ช้าก็เร็วเมื่อตายไปแล้ว  ก็จะต้องไปเกิดในภพใดภพหนึ่งในอบายทั้ง ๔ ถ้าผิดศีลละเมิดศีลด้วยการไม่รู้เรื่องศีลธรรม โดยอ้างว่าจำเป็น เช่นต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทำมาหากิน ด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ยิงนกตกปลา หาสัตว์ต่างๆมาขายเป็นอาชีพ อย่างนี้เมื่อตายไปก็จะต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ถ้าละเมิดศีลเนื่องจากความโลภ จากความอยาก เช่นอยากมีเงินทอง มีตำแหน่งสูงๆ อยากจะได้คนนั้นคนนี้มาเป็นคู่ครอง  แต่หามาด้วยความไม่ถูกต้อง คือผิดศีล ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี โกหกหลอกลวง อย่างนี้เมื่อตายไปก็จะต้องไปเกิดเป็นเปรต ถ้าละเมิดศีลเพราะความกลัว เช่นกลัวสิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นจะมาทำร้าย ก็รีบป้องกันตัวด้วยการไปฆ่าเขาเสียก่อน ไม่ให้เขามีโอกาสได้มาทำร้ายเรา อย่างนี้เมื่อตายไปก็จะต้องไปเกิดเป็นอสุรกาย เพราะละเมิดศีลเนื่องจากความกลัว  ถ้าไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละเมิดศีลข้อหนึ่งข้อใด อันเกิดจากความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท เมื่อตายไปจะต้องไปเกิดในนรก ยกตัวอย่างพระเทวทัตต์ซึ่งได้บวชเป็นพระ เป็นญาติของพระพุทธเจ้า แต่มีความปรารถนาใฝ่สูง อยากจะมีอำนาจปกครองสงฆ์ จึงกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงมอบอำนาจให้ตน แต่เนื่องจากว่าพระเทวทัตต์ยังเป็นปุถุชน จิตใจยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้มอบอำนาจนั้นให้กับพระเทวทัตต์ พระเทวทัตต์จึงเกิดความโกรธแค้น อาฆาตพยาบาท พยายามที่จะทำร้ายชีวิตของพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถทำสำเร็จได้ แม้เพียงแต่ทำให้พระพุทธเจ้าห้อเลือด ก็ยังทำให้พระเทวทัตต์ต้องไปตกนรก ถึงแม้จะไม่ได้ฆ่าพระพุทธเจ้า 

นี่แหละคือเหตุหรือเมล็ดพันธุ์ของภพชาติแต่ละชนิด ปรารถนาที่จะไปเกิดในภพไหนชาติไหน ก็ต้องดูเรื่องศีลธรรมเป็นหลัก ถ้ารักษาศีลธรรมได้ ก็จะไปเกิดในที่ดี สู่สุคติ ถึงแม้จะต้องตายไปในชาตินี้ เพราะถูกคนอื่นปองร้าย แต่ไม่ป้องกันตน ไม่ไปฆ่าเขาเสียก่อน ยอมเสียชีวิตในชาตินี้ไป แต่สิ่งที่ไม่เสียก็คือศีลธรรม เมื่อตายไปแล้ว ก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เป็นเทพ เป็นพรหมได้อีก แต่ถ้าไปฆ่าเขาก่อน ก่อนที่เขาจะฆ่าเรา หลังจากที่อยู่ในโลกนี้ต่อไปอีกไม่กี่ปี เราก็ตายไปเหมือนกัน แต่จะต้องไปเกิดเป็นอสุรกาย อย่างนี้เป็นต้น การดำรงชีวิตของเรา จึงต้องยึดมั่นอยู่กับหลักศีลธรรม คือพยายามรักษาศีลไว้ให้ได้ยิ่งกว่ารักษาชีวิต ถ้ารักษาศีลได้ยิ่งกว่ารักษาสิ่งอย่างอื่นแล้ว ผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคตนั้น จะดีกว่าผลตอบแทนที่เราจะได้ในระยะสั้นๆ คือการรักษาชีวิตของเรา ซึ่งไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตายไปด้วยกันทุกคน ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เกิดมาแล้วทุกคนหนีความตายไปไม่พ้น แต่อย่าเอาความตายมาเป็นเหตุให้ต้องไปทำบาปทำกรรม แล้วส่งเราไปสู่อบายอีกครั้งหนึ่ง ขอให้รักษาศีลไว้ให้มั่น ไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น ถึงแม้จะอดข้าว อดปลา อดอยากขาดแคลน ทำมาหากินไม่สะดวก ก็อย่าไปยึดอาชีพฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ถึงแม้จะไม่ร่ำรวย เงินทองจะไม่พอใช้ กินอยู่แบบอดๆอยากๆก็ตาม แต่ถ้าทำอาชีพสุจริต เช่นเป็นคนเก็บขยะ อย่างน้อยก็ยังรักษาศีลธรรมความดีงามไว้ได้ เมื่อตายไปก็จะไม่ต้องไปเกิดในอบาย แต่ถ้ายอมสละศีล ทำมาหากินบนชีวิตของผู้อื่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ร่ำรวยขึ้นมาได้ เช่นเป็นชาวประมงออกไปหาปลา ทำมาหากินได้คล่อง มีเรือหลายลำ มีฐานะ มีเงินทองร่ำรวย ก็มีความสุขชั่วขณะที่อยู่ในโลกนี้เท่านั้น แต่เมื่อตายไป ก็จะต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ใช้เวรกรรมที่ได้สร้างไว้ในชาตินี้ต่อไป

ถ้ามองระยะใกล้มันก็คุ้ม จะทำอะไรก็ได้เพื่อรักษาชีวิต เพื่อให้อยู่ได้ด้วยความสุข แต่ถ้ามองระยะไกล มองถึงภพชาติที่จะต้องตามมาต่อไปมันก็ไม่คุ้ม เพราะจะไม่ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน มันไม่สุขไม่สบายเหมือนกับได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะไม่มีภพชาติใดที่จะดีเท่ากับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์สามารถสะสมบุญบารมี ที่สูงสุดของชีวิตเลยทีเดียว นั่นก็คือได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันตสาวก ก็เกิดจากการรักษาศีลแล้วก็ปฏิบัติธรรมเท่านั้น ถึงจะเป็นเหตุที่จะทำให้ไปสู่ที่ดีที่งามได้ จึงขอให้เห็นคุณค่าของศีลธรรม คือศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ว่า มีคุณค่ายิ่งกว่าสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆในโลกนี้ เพราะสมบัติข้าวของเงินทองแท้จริงแล้ว มันก็ไม่มีคุณค่าอะไร เป็นเพียงวัตถุเท่านั้น ทองก็ขุดออกมาจากในดิน เพชรก็ขุดออกมาจากในดิน ถ้าเอาไปให้ไก่ให้ลิง มันก็ไม่สนใจ เพราะมันไม่รู้คุณค่าของเพชรของทอง แต่ถ้าให้กล้วยให้อาหาร มันกลับเห็นว่ามีคุณค่ากว่า เพราะว่าเพชรก็ดี ทองก็ดี เป็นสิ่งที่เราสมมุติกันขึ้นมา แล้วก็หลงติดกับสิ่งที่ได้สมมุติกัน ว่าเป็นของมีคุณค่า พร้อมที่จะฆ่า พร้อมที่จะรักษา ทั้งที่เป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่มีคุณค่าเรากลับทำลายเสีย นั่นก็คือศีลธรรมอันดีงาม ที่จะเป็นเหตุให้เราอยู่ในปัจจุบันด้วยความสงบสุข ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข และเมื่อตายไปก็จะได้ไปสู่สุคติ

แต่เพราะความหลง ความไม่รู้ที่ครอบงำจิตใจ ทำให้เราไม่เห็นคุณค่าอันประเสริฐของศีลธรรม กลับเห็นคุณค่าของวัตถุต่างๆ ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ยิ่งกว่าศีลธรรม จึงทำให้เรามีความกล้าต่อบาป ไม่มีความกลัวบาป ไม่มีหิริ โอตตัปปะ ไม่มีความอาย ไม่มีความกลัวบาป กล้าที่จะทำบาปเพื่อที่จะรักษาวัตถุข้าวของต่างๆที่มีอยู่ไว้ หรือแสวงหามาด้วยวิธีที่ไม่ชอบด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น เพราะเห็นว่าสิ่งต่างๆที่ปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ หรือบุคคลนั้น มีค่ายิ่งกว่าศีลธรรมอันดีงามนั่นเอง จึงทำให้กล้าที่จะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต กล้าที่จะลักขโมย กล้าที่จะประพฤติผิดประเวณี กล้าที่จะโกหกหลอกลวง กล้าที่จะเสพสุรายาเมา เพราะมองเพียงแต่ในระยะสั้นๆ คือภพนี้ชาตินี้เท่านั้น คิดว่าถ้ามีสมบัติข้าวของเงินทอง มีบุคคลที่ชอบมาครอบครอง จะอยู่ด้วยความสุข แต่นั่นเป็นความหลงผิด ความจริงแล้วเวลาได้อะไรมาด้วยความมิชอบ จะต้องมีความรู้สึกไม่สบายอกไม่สบายใจ มีความหวาดระแวง ว่าจะต้องถูกจับได้ในวันใดวันหนึ่ง นี่ก็ไม่ใช่เป็นความสุขแล้ว ถึงแม้จะมีทรัพย์สมบัติรอบตัว แต่เวลาไปไหนมาไหนกลับมีแต่ความหวาดกลัว กลัวจะถูกผู้อื่นมาปล้นมาจี้ มาเอาคืนไป 

นี่คือผลที่เกิดจากการกระทำผิดศีลธรรมในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อตายไปซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่รู้กัน เพราะไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่มีญาณ ไม่มีปัญญาหยั่งทราบได้ว่า ตายไปแล้วยังมีภพชาติตามมาอีก เมื่อตายไปแล้วยังต้องไปเกิดอีก เราไม่รู้กัน จึงกล้าทำบาปทำกรรมกัน แต่ถ้ารู้ว่าเมื่อตายไปแล้ว ยังต้องไปเกิดอีก ถ้าทำบาปทำกรรมจะต้องไปเกิดในอบายทั้ง๔  ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว รับรองได้ว่าจะไม่มีใครกล้าทำบาปทำกรรมกันโดยเด็ดขาด อย่างพระอริยบุคคลขั้นต้นคือพระโสดาบัน ท่านมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว จิตของท่านได้หยั่งลงสู่กระแสของความจริงที่เรียกว่าอริยสัจ ท่านรู้แล้วว่าจิตเป็นสิ่งที่ไม่ตาย เมื่อร่างกายแตกสลายไปแล้ว จิตยังต้องไปเกิดใหม่อีก จะไปเกิดสูงต่ำก็อยู่ที่การกระทำที่ได้ทำไว้นั่นเองพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจึงไม่กล้าที่จะละเมิด คือไม่กล้ากระทำบาปโดยเด็ดขาด จะรักษาศีลไว้ยิ่งกว่าชีวิต เพราะเห็นคุณค่าของศีลว่ามีคุณค่ายิ่งกว่าชีวิต ชีวิตนี้ก็เป็นเพียงธาตุ ๔ มารวมกันอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ๘๐ ปี ๑๐๐ ปี ก็ต้องแยก ต้องแตกสลาย กลับคืนสู่ที่เดิม ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ต้องกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟไป แต่จิตก็ต้องถูกกรรมส่งไปเกิดอีกต่อหนึ่ง กรรมดีก็ไปสู่ที่ดี ไปสู่สุคติ กรรมชั่วก็ต้องไปเกิดในทุคติ ไปสู่อบายทั้ง ๔

นี่แหละคือเรื่องของพระอริยบุคคล กับเรื่องของปุถุชนอย่างพวกเราทั้งหลาย เรามีความมืดบอด ส่วนพระอริยเจ้าท่านมีความสว่าง มีดวงตาเห็นธรรม เรียกว่าธรรมจักขุ เห็นเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องกรรม  กรรมดีกรรมชั่ว เรื่องวิบากที่ตามมา ว่าจะเป็นอย่างไร ท่านจึงหลีกเลี่ยงในการกระทำบาปทั้งปวง  กระทำแต่ความดี จนในที่สุดจิตของท่านได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ในเบื้องต้นก็เกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า และของพระอริยสาวกทั้งหลาย หลังจากได้ยินได้ฟังแล้วก็มีศรัทธาน้อมเอาไปปฏิบัติ ตามกำลังแห่งสติปัญญาความสามารถที่มีอยู่ จะมีมากมีน้อยก็พยายามปฏิบัติไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะไม่ได้มีดวงตาเห็นธรรมในภพนี้ชาตินี้ก็ตาม แต่เพราะศรัทธาที่มีความแน่วแน่ติดฝังอยู่ในจิตใจ เมื่อไปเกิดภพหน้าชาติหน้าได้เป็นมนุษย์อีก ก็จะบำเพ็ญคุณงามความดีต่อไปอีก ตามที่เคยได้กระทำมา เคยปลูกฝังมาจนติดเป็นนิสัย

คนที่เคยทำบุญทำทานมาอยู่แล้ว เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็จะมีนิสัยชอบทำบุญทำทาน คนที่ไม่เคยทำบุญทำทานมาก่อน เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะไม่ค่อยชอบทำบุญทำทาน ไม่ชอบเข้าวัดเข้าวา แต่จะไปชอบทำในสิ่งที่ตนเองเคยชอบทำ ถ้าชอบเสพสุรายาเมา ก็จะไปเสพสุรายาเมา  ชอบเล่นการพนันก็จะไปเล่นการพนัน เพราะเป็นสิ่งที่ปลูกฝังมา เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่ากรรมและวิบาก การกระทำในแต่ละอย่างนั้น ส่งผลให้เป็นวิบาก เป็นนิสัยฝังอยู่ในจิตใจ ถ้าทำมากๆก็เรียกว่าสันดาน ถ้าทำมากแล้วก็แก้ยาก ถ้าทำน้อยก็ยังแก้ง่าย ดังนั้นเมื่อได้มาเกิดในชาตินี้ มีบุญมีวาสนาได้มาพบพระพุทธศาสนา พบพระธรรมคำสอนอันประเสริฐที่สอนให้สร้างแต่กรรมดี ละเว้นการกระทำความชั่ว ให้ปฏิบัติธรรมชำระกิเลสตัณหาทั้งหลาย อันเป็นเหตุที่จะฉุดลากผลักดันให้ไปก่อกรรมทำเข็ญ จึงควรมีศรัทธาความเชื่อแล้วปฏิบัติตาม ถ้าปฏิบัติตามได้มากน้อยเพียงไร สภาพจิตก็จะดีขึ้นมากน้อยเพียงนั้นตามไป จนในที่สุดถ้ามีบารมีอันแก่กล้า ก็จะสามารถชำระจิตให้สะอาดหมดจดได้ แม้ในภพนี้ชาตินี้ เมื่อสามารถทำได้ถึงขั้นนั้นแล้ว ก็จะไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป เป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นจิตของพระอรหันต์ เมื่อไม่มีสิ่งแปลกปลอมที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิต คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากทั้งหลาย ก็จะไม่มีเชื้อเพลิงแห่งภพชาติหลงเหลืออยู่ ก็ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป จะสถิตอยู่ในพระนิพพานไปตลอดอนันตกาล เป็นบรมสุข ปรมังสุขัง

นี่แหละคือสิ่งที่พวกเราทั้งหลายต้องเป็นผู้สร้างขึ้นมา พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ไม่สามารถสร้างพระนิพพานให้กับพวกเราได้ ไม่สามารถฉุดดึงพวกเราให้ไปสู่พระนิพพานได้ ไม่สามารถปฏิบัติแทนพวกเราได้ พวกเราต้องเป็นผู้ปฏิบัติเอง ดังในหลักธรรมที่แสดงไว้ว่า อัตตา หิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้กระทำเหตุคือกรรม แล้ววิบากก็จะเป็นผลที่จะตามมา เราจึงต้องปฏิบัติธรรมกัน ต้องทำบุญกัน ต้องรักษาศีลกัน ดังที่พวกเราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง เป็นการทำนุบำรุงจิต หรือต้นไม้ต้นหนึ่งให้เจริญงอกงาม ให้ออกดอกออกผลตามที่ปรารถนากัน แต่ถ้ามีแต่ความเชื่อ มีแต่ความปรารถนา แต่มีความเกียจคร้าน ไม่เคยคิดที่จะทำบุญ ไม่เคยคิดที่จะรักษาศีล ไม่เคยคิดที่จะปฏิบัติธรรม มีแต่จุดธูปเทียนกราบไหว้บูชาพระ แล้วก็อธิษฐานวิงวอนขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จงดลบันดาลให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา ถ้าทำอย่างนี้ไปตลอด ไม่ว่ากี่ภพกี่ชาติ ก็จะไม่ได้สำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ เพราะประโยชน์ที่ต้องการนั้น จะต้องเกิดจากการประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในทำนองคลองธรรม ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ นั่นก็คือให้ละการกระทำบาปทั้งปวงเสีย ให้กระทำกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม และให้ชำระกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจเท่านั้น

นี่คือหน้าที่ของพวกเรา ถ้าปรารถนาความสุขความเจริญที่จะตามมา ตั้งแต่ความเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหม จนไปถึงเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้า ก็ล้วนเกิดจากการปฏิบัติตามธรรมะ ๓ ข้อใหญ่ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงมอบให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลายไว้ปฏิบัติตาม ถ้าเป็นลูกศิษย์ที่แท้จริง เป็นสาวกที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า  ก็ต้องเชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องมีศรัทธาที่แน่วแน่ มีความมั่นใจว่าสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปฏิบัตินั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง  เป็นสิ่งที่มีผลตามมา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติไปแล้วไม่เกิดผลอะไรตามมา ต้องมีความมั่นใจ ให้ดูพระสาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่าง ก่อนที่ท่านจะเป็นอรหันตสาวกได้ ท่านก็เป็นปุถุชนธรรมดาสามัญอย่างเราอย่างท่าน แต่พอท่านได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า กล้าที่จะสลัดทุกๆสิ่งทุกๆอย่าง เพื่อปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จนชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไป  กลายเป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา เป็นจิตที่เป็นพระนิพพานขึ้นมา กลายเป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมา

พวกเราก็เป็นแบบเดียวกันกับพวกพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เราก็เป็นปุถุชนเหมือนท่าน เราก็ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าเช่นกัน ถ้ามีศรัทธาความเชื่อ แล้วนำไปปฏิบัติด้วยความขะมักเขม้น ด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความอดทน ด้วยความกล้าหาญ กล้าที่จะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อพระธรรมอันประเสริฐนี้แล้ว รับรองได้ว่าไม่ช้าก็เร็ว ก็จะได้บรรลุถึงธรรมขั้นสูงสุดเช่นกัน เหมือนกับพระอรหันตสาวกทั้งหลายที่ได้บรรลุถึงกัน เพราะการบรรลุธรรมนี้ไม่มีอะไรจะมาปิดกั้นได้ เพราะการบรรลุธรรมเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั่นเอง เกิดจากการปฏิบัติธรรมตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้ามีการปฏิบัติธรรมแล้ว ตราบนั้นพระอรหันต์จะไม่สิ้นจากโลกนี้ไป นี่ก็คือคำตอบของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีแก่ผู้ถามว่า เมื่อไหร่พระอรหันต์จะหมดสิ้นไปจากโลกนี้ ทรงตอบไปว่า ตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่ ตราบนั้นพระอรหันต์จะไม่หมดสิ้นไปจากโลกนี้ เวลาพระพุทธเจ้านิพพานนั้น ไม่ได้เอาความเป็นพระอรหันต์ไปด้วย แต่ทรงฝากไว้อยู่กับธรรมวินัยที่ทรงตรัสไว้ชอบแล้วเท่านั้น ถ้านำธรรมวินัยอันประเสริฐมาปฏิบัติตามแล้ว อรหัตตผลย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อม  ไม่สุดวิสัยของผู้ที่มีความเข้มแข็งกล้าหาญอดทน ที่จะปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่องจนกว่าชีวิตจะหาไม่ หรือจนกว่าจะได้บรรลุถึงผลอันประเสริฐนั้น นี่แหละคือเรื่องของพวกเรา เราต้องเป็นผู้ปฏิบัติ ต้องเป็นที่พึ่งของตัวเราเอง ผู้อื่นปฏิบัติให้เราไม่ได้ ปฏิบัติแทนเราไม่ได้ แต่เราต้องปฏิบัติเองโดยอาศัยคำสอน ของพระพุทธเจ้า และของพระอรหันตสาวกทั้งหลายเป็นแนวทาง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้