กัณฑ์ที่ ๑๘๒       ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

สมมุติ

 

วันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นวันที่มีกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่ง คือการลอยกระทง  เป็นการบูชาธาตุน้ำ คือแม่น้ำทั้งหลายที่ให้ชีวิตกับพวกเรา   หลังจากวันลอยกระทงไปอีก ๑๖ วัน ก็จะเป็นวันขึ้นปีใหม่ในทางจันทรคติ  ถ้านับทางจันทรคติ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็จะเป็นวันสุดท้ายของปี  พออีก ๑ วันก็จะเป็นวันขึ้น ๑ ค่ำเดือนอ้าย เป็นเดือนที่ ๑  แต่เราไม่ได้นับเป็นวันปีใหม่กัน  เพราะวันปีใหม่หรือวันส่งท้ายปีเก่านั้น ขึ้นอยู่ที่เราจะกำหนดกัน  ไม่ได้เป็นสิ่งตายตัว  ของทางฝรั่งเขาๆก็กำหนดวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่  วันที่ ๓๑ ธันวาคมเป็นวันสุดท้ายของปี  ส่วนของไทยเราๆก็กำหนดขึ้นวันปีใหม่ในวันสงกรานต์ ของคนจีนเขาก็กำหนดวันขึ้นปีใหม่ในวันตรุษจีน  ดังนั้นความจริงที่เกี่ยวกับเรื่องวันขึ้นปีใหม่จึงไม่ใช่เป็นความจริงที่ตายตัว  เป็นความจริงที่สมมุติกันขึ้นมา  อย่างเดือน ๑๒ นี้ เราจะสมมุติว่าเป็นเดือน ๓ เดือน ๕ ก็ได้ สุดแท้แต่เราจะกำหนดขึ้นมา  แล้วก็นับต่อไปจนครบ ๑๒ เดือน  เหตุที่เรานับ ๑๒ เดือนเพราะ ๑๒ เดือนจะได้ ๑ ปีพอดี   เป็นเวลาที่โลกได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ ๑ รอบ  หรือพระจันทร์ได้โคจรรอบโลก ๑๒ รอบด้วยกัน   วันเวลาจึงเป็นสิ่งที่เรากำหนดกันขึ้นมา ตามการโคจรของดวงจันทร์กับของโลก 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว วันเดือนปีเป็นสิ่งที่ถูกสมมุติกันขึ้นมาเท่านั้นเอง  เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีความเห็นพ้องต้องกัน เช่นต่อไปนี้จะให้วันที่ ๓๐ พฤศจิกายนเป็นวันส่งท้ายปีเก่าก็ได้  เพราะสมมุติไม่ใช่เป็นสิ่งที่ตายตัวนั่นเอง  สิ่งที่ตายตัวก็คือการโคจรของดวงจันทร์กับของโลก  เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ได้ ๑รอบก็เป็นเวลา ๑ ปี แต่เวลาเริ่มต้นของปี เราจะกำหนดให้เริ่มที่ตรงไหนก็ได้  เหมือนกับวงกลม จะกำหนดจุดไหนเป็นจุดเริ่มต้นก็ได้ เอาทางด้านซ้ายของวงกลมเป็นจุดเริ่มต้นก็ได้ เอาทางด้านขวา ด้านบน หรือด้านล่างของวงกลมให้เป็นจุดเริ่มต้น ก็กำหนดกันได้  นี่ก็คือความหมายของสมมุติ คือเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมา บนพื้นฐานของความเป็นจริงอีกทีหนึ่ง  อย่างชีวิตของเราก็เป็นการสมมุติเช่นกัน  เราถูกสมมุติให้เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา เป็นหญิง เป็นชาย  บนพื้นฐานของกายกับใจนั่นเอง  ไม่ว่าสัตว์หรือบุคคลย่อมมีกายและใจด้วยกันทั้งนั้น ถูกสมมุติกันไปตามลักษณะ   เป็นเดรัจฉานก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง  เป็นมนุษย์ก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง  เป็นหญิงเป็นชายก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง  ล้วนเป็นสิ่งที่สมมุติกันขึ้นมาทั้งสิ้น  บนพื้นฐานของความเป็นจริงคือกายกับใจ 

ความจริงของกายกับใจเป็นอย่างไร  ก็คือธาตุนั่นเอง  ร่างกายก็มาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ส่วนใจก็เป็นธาตุรู้ เมื่อรวมกันขึ้นมาก็กลายเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา  เหล่านี้เกิดขึ้นจากสมมุติที่ออกมาจากอวิชชา ความไม่รู้จริงในธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆที่ถูกสมมุติขึ้นมา จึงปรากฏตัวตนขึ้นมา  มีเรา มีเขาขึ้นมา  ในธาตุรู้นั้นแหละที่มีตัวไม่รู้อยู่เรียกว่าอวิชชา หรือความหลง  จึงเกิดปรากฏการสมมุติต่างๆขึ้นมา  ถ้าในธาตุรู้เกิดมีปัญญาขึ้นมา ก็จะรู้ทันสมมุติทั้งหลาย  เช่นธาตุรู้ของพระพุทธเจ้ากับของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เกิดปัญญาขึ้นมา สามารถแยกแยะสมมุติออกจากความจริงได้  ความจริงก็รู้ว่าเป็นแค่ธาตุทั้งห้านี้เท่านั้น ร่างกายก็มีดิน น้ำ ลม ไฟ  ใจก็มีธาตุรู้  ธาตุรู้เป็นผู้คิด มีความรู้สึก เป็นผู้สั่งการให้ร่างกาย คือธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีการเคลื่อนไหวไปมา มีการกระทำสิ่งต่างๆ  ในธาตุทั้ง ๕ นี้มีการเปลี่ยนแปลง มีการผันแปรอยู่ตลอดเวลา  

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ  เมื่อรวมกันเป็นรูปร่าง เป็นร่างกายแล้ว ก็มีการเจริญเติบโต จนถึงจุดสูงสุด แล้วก็มีการเสื่อมลงกลายเป็นความแก่ความชรา จนในที่สุดก็หยุดทำงาน เรียกว่าตาย  หลังจากนั้นก็แยกสลายจากกันไป  ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็แยกกลับคืนสู่ที่ของเขา  แต่ในใจในธาตุรู้ของบุคคลที่ยังมีความหลงอยู่ แม้ร่างกายจะตายไปแล้ว นอนอยู่ในโลง ก็ยังคิดว่าเป็นบุคคลอยู่  ยังคิดว่าเป็นนาย ก. นาย ข. อยู่  ทั้งๆที่ความจริงแล้วร่างนั้นก็เป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืนไปแล้ว เป็นเชื้อไฟที่รอให้มีการเผาผลาญ  กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป  ความจริงของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เขาเป็นอย่างนั้น  แต่เนื่องจากใจที่มีอวิชชาความไม่รู้จริงครอบงำอยู่ จึงทำให้หลงติดอยู่กับสมมุติต่างๆ  ว่าธาตุก้อนนี้เป็นบุคคลคนนี้  ธาตุก้อนนั้นเป็นบุคคลคนนั้น  แล้วก็มีความหลงยึดติดกับธาตุก้อนนั้นๆ  ในยามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในธาตุ เกิดการพลัดพรากจากธาตุ ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจ  เกิดความทุกข์ขึ้นมา 

แต่ถ้าธาตุรู้คือใจมีปัญญา ได้ศึกษาถึงความจริงของทั้งสมมุติ และความจริงของสิ่งที่สมมุติตั้งอยู่ คือธาตุทั้ง ๕ แล้ว ก็จะเข้าใจ  จะสามารถอยู่เหนือการผันแปรของธาตุได้  คือรู้ว่าโดยธรรมชาติของธาตุนั้น เขาไม่อยู่นิ่งเฉย  แต่ผันไปผันมา  ไหลมารวมกันแล้วก็แยกกันออกไป  แม้ในขณะที่ร่างกายนี้ยังมีชีวิตอยู่  การไหลเข้าไหลออกของธาตุก็ปรากฏอยู่ทุกขณะ  เช่นธาตุลมก็มีการหมุนเวียนไหลเข้าไหลออกอยู่ตลอดเวลา  ธาตุน้ำก็มีการไหลเข้าไหลออกอยู่ตลอดเวลา  เช่นเวลาเรารับประทานน้ำหรือของเหลวเข้าไป สักครู่หนึ่งก็ต้องระบายขับถ่ายน้ำออกมา  อาหารคือธาตุดินที่มีธาตุไฟแฝงอยู่ด้วย  เมื่อรับประทานเข้าไป ร่างกายก็มีความร้อนมีความอบอุ่น  แล้วไม่นานธาตุดินกับธาตุไฟก็ถูกระบายออกมา ขับถ่ายออกมา  นี่ก็คือเรื่องราวของความจริงของชีวิตเรา  ชีวิตของเราที่แท้จริง ก็คือการประกอบขึ้นของธาตุทั้ง ๕ นั่นเอง  คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และธาตุที่ ๕ คือธาตุรู้ ก็คือใจนี่เอง  เมื่อมารวมกันก็กลายเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเดรัจฉานบ้าง  ตามสมมุตินิยม  แต่ตามความเป็นจริงก็เป็นเพียงธาตุเท่านั้นเอง 

ธาตุรู้ถ้าฉลาดก็จะสามารถปลีกตัวแยกตนออกจากธาตุทั้ง ๔ ได้ คือดิน น้ำ ลม ไฟ  รู้ว่าร่างกายเป็นการรวมกันเข้ามาของธาตุทั้ง ๔  แล้วในที่สุดธาตุทั้ง ๔ ก็ต้องแยกทางกันไป  ร่างกายก็จะหายไป  ลองสังเกตดูคนที่ตายไปแล้ว เวลาเอาไปเผาก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่   เหลือแต่เถ้าถ่านและเศษกระดูก  ถ้าทิ้งต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง  เศษกระดูกเหล่านั้นก็จะผุเปื่อยกลายเป็นดินไป  ถ้านำร่างกายของคนที่ตายไปแล้วไปฝังไว้ในดินก็จะกลายเป็นดินไปในที่สุด  ความเป็นมนุษย์ ความเป็นเดรัจฉาน  จึงไม่ได้หลงเหลือติดอยู่กับธาตุเลย เพราะความจริงแล้ว ความเป็นเดรัจฉานหรือมนุษย์ก็เป็นเพียงการสมมุติขึ้นมาเท่านั้นเอง  เป็นการรวมตัวของธาตุทั้ง ๕  นี่คือเรื่องของชีวิตเรา  ถ้าเราได้ศึกษาและทำความเข้าใจแล้ว  ยามที่ธาตุทั้ง ๔ เกิดการแตกแยกขึ้นมา ก็จะไม่มีความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ  อาลัยอาวรณ์  เพราะรู้ว่าสิ่งที่เราไปยึดไปติดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเพื่อน เป็นญาติ เป็นพี่น้องนั้น  แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงวัตถุเท่านั้นเอง  เป็นวัตถุ ๔ ชนิด คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมตัวกันขึ้นมา  แล้วมีธาตุรู้มาเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นผู้ครอบครอง 

แต่ธาตุรู้ผู้ครอบครองธาตุทั้ง ๔ นั้น  ไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับให้ธาตุทั้ง ๔ เป็นไปตามความปรารถนาของธาตุรู้ได้   ธาตุรู้ที่ไม่รู้จริงก็จะหลงยึดติด จะมีความปรารถนาให้ธาตุทั้ง ๔ อยู่ไปนานๆ อยู่ไปอย่างปกติ  ไม่ชำรุดทรุดโทรม  ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  ไม่พลัดพรากจากกัน   แต่นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือฝืนความเป็นจริงนั่นเอง  เพราะความเป็นจริงก็ดังที่ได้แสดงไว้แล้วว่า ธาตุทั้ง ๔ นั้นเขาไหลเวียนของเขาอยู่ตลอดเวลา  แม้ในขณะนี้ก็มีการไหลเวียนเข้าออกของธาตุลม ของธาตุไฟ  ธาตุน้ำ เช่นธาตุน้ำก็ระเหยออกจากร่างกาย เป็นเหงื่อออกไป  เหล่านี้เราต้องศึกษาทำความเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว จะได้ไม่หลงไปคิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวเรา เป็นตัวเขา  แท้จริงแล้วก็เป็นการไหลเวียนของธาตุทั้ง ๔ นั่นเอง  ถ้าศึกษาปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติแล้ว  ก็จะสามารถอยู่เหนือการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนของธาตุทั้ง ๔ ได้  คือใจธาตุรู้จะมีปัญญาคอยคุ้มครองรักษา ไม่ให้ไปหลง ไปยึด ไปติดกับธาตุทั้ง ๔  เมื่อไม่หลงไม่ยึดไม่ติดแล้ว  ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นอย่างไรก็จะไม่วุ่นวายใจ 

ทุกวันนี้ที่มีความวุ่นวายใจกันอยู่ ก็อยู่ที่การดูแลรักษาธาตุทั้ง ๔  นี่เอง  ตื่นขึ้นมาก็ต้องหาธาตุมาเติมให้แล้ว คืออาหาร  ต้องมีอาหาร มีข้าว มีน้ำ มีอะไรต่างๆมาคอยเยียวยา   เพราะเวลาร่างกายขาดอาหารก็จะแสดงอาการหิวขึ้นมาให้รู้  แสดงว่าถึงเวลาต้องเติมธาตุแล้ว   ธาตุเหล่านี้ก็ไม่ได้ไหลมาหาเราเอง  เป็นสิ่งที่เราต้องแสวงหากัน  ชีวิตของเราจึงเป็นชีวิตที่มีแต่การแสวงหาธาตุทั้ง  ๔ เป็นพื้นฐาน   นอกจากนั้นแล้วใจที่มีความหลงครอบงำอยู่ ยังแสวงหาสิ่งต่างๆเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นต่อการอยู่อย่างสุขสบายของใจเลย  แต่เนื่องจากมีความหลงอยู่ จึงเกิดความรู้สึกอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ซึ่งก็เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของธาตุทั้ง ๔ นั่นเอง  รูปที่เราเห็นทั้งหมดก็เป็นรูปของธาตุทั้ง ๔  เสียงที่ได้ยินก็เป็นเสียงของธาตุทั้ง ๔  รส กลิ่น หรือ โผฏฐัพพะที่สัมผัสก็ล้วนเป็นธาตุทั้ง ๔ ทั้งสิ้น คือดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อผสมกันเข้ามาก็มีรูปร่างลักษณะต่างๆ  ศาลาหลังนี้ก็เป็นการผสมรวมกันของธาตุทั้ง ๔  ต้นไม้รอบศาลานี้ก็เป็นการผสมของธาตุทั้ง ๔  รถยนต์ที่จอดอยู่ด้านข้างๆของศาลา ก็เป็นการรวมกันของธาตุทั้ง ๔ ทั้งสิ้น ใจที่มีความหลง ก็จะคิดว่าถ้าได้สัมผัสธาตุทั้ง ๔ ในรูปแบบต่างๆของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว ใจจะมีความสุข 

แต่นี่เป็นความเข้าใจผิด  เพราะหลังจากที่ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากน้อยเพียงไรแล้ว ใจก็ยังไม่มีความอิ่มความพออยู่นั่นเอง   ความสุขที่ได้รับจากการสัมผัส ก็เป็นเพียงชั่วขณะที่ได้สัมผัสเท่านั้น  เวลาที่ไม่ได้สัมผัสก็เกิดความหิวโหย เกิดความอยากที่จะสัมผัสอีก   จึงทำให้ต้องมีการดิ้นรนขวนขวายหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือธาตุทั้ง ๔ นี้อยู่ตลอดเวลา  เป็นเหมือนผู้ติดยาเสพติด  คือติดในธาตุทั้ง ๔ นี้  ถ้าวันใดไม่ได้เสพ ไม่ได้สัมผัสธาตุทั้ง ๔ ในรูปแบบต่างๆ ของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะแล้ว  ก็จะมีความรู้สึกหงุดหงิดใจ  ไม่สบายอกไม่สบายใจ  เพราะใจหลงติดอยู่กับสมมุติ หลงติดอยู่กับธาตุ ๔ โดยไม่รู้ความจริงของธรรมชาติของใจคือธาตุรู้นี้ว่า จะมีความสุขยิ่งกว่า ถ้าไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องเลย  ถ้าสามารถดับความอยากต่างๆที่มีอยู่ในใจในธาตุรู้นี้ได้แล้ว  ธาตุรู้นี้ก็จะสงบตัวลง  เมื่อมีความสงบตัวลง ก็จะเกิดความอิ่ม เกิดความสุข เกิดความพอขึ้นมา 

แต่นี่เป็นสิ่งที่ปุถุชนอย่างเราอย่างท่านจะไม่มีโอกาสได้รู้เลย  เพราะถูกอำนาจของความหลง ความไม่รู้ครอบงำอยู่ตลอดเวลา  เปรียบเหมือนกับคนที่อยู่ในที่มืดหรือคนที่ตาบอด จะไม่มีโอกาสที่จะเห็นแสงสว่าง เห็นสิ่งต่างๆที่เห็นได้ด้วยสายตาเลย  ฉันใดใจที่ถูกโมหะอวิชชาครอบงำอยู่ก็เป็นเช่นนั้น   จะหลงอยู่กับสิ่งต่างๆ เช่นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  หลงอยู่กับธาตุทั้ง ๔ คือร่างกายนี้และสิ่งต่างๆที่ประกอบกันขึ้นมาจากธาตุ    ที่สร้างความสุขชั่วขณะหนึ่งให้กับใจเท่านั้นเอง   แต่ถ้าเกิดมาแล้วโชคดี  ได้มาเจอคำสอนของพระพุทธเจ้า   ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลอย่างยิ่ง  เพราะนานๆจะมีคนอย่างพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นมาในโลกสักครั้งหนึ่ง เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด ไม่ยอมรับความหลงความไม่รู้ที่ปรากฏอยู่ภายในใจ ให้มีอำนาจสั่งการให้ไปหาความสุขจากธาตุทั้ง ๔  คือเมื่อได้ไปสัมผัสความสุขจากธาตุทั้ง ๔ แล้ว ก็รู้ว่าเป็นความสุขที่ไม่ถาวรนั่นเอง  จึงเกิดมีความปรารถนาอยากจะหาความสุขที่ไม่ใช่เป็นแบบนี้ มีไหม  ความสุขที่ไม่ต้องพึ่งธาตุทั้ง ๔ นี้  ไม่มีร่างกายนี้แล้วมีความสุขได้ไหม  ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว จะมีความสุขได้ไหม 

นี่เป็นโจทย์ที่คนฉลาดอย่างพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย จะริเริ่มคิดขึ้นมา  เมื่อคิดขึ้นมาแล้วก็มีการแสวงหาการศึกษา  พระพุทธเจ้าก็ทรงศึกษาจากนักบวชที่แสวงหาทางเดียวกันเหมือนกัน  แต่ก็แสวงหาได้ในเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น  คือสามารถควบคุมจิตใจให้สงบได้เป็นครั้งเป็นคราว เช่นเวลานั่งสมาธิแล้วจิตรวมลงเกิดฌานขึ้นมา  ขณะนั้นจิตก็มีความสงบนิ่ง มีความสุข มีความอิ่ม มีความพอ   แต่ก็เป็นความสุขชั่วในขณะที่อยู่ในฌาน อยู่ในสมาธินั้น  แต่หลังจากที่ออกจากสมาธินั้นแล้ว  จิตก็จะปรุงแต่ง มีความคิด แล้วก็มีความอยากตามมา  เห็นสิ่งนั้นที่ถูกอกถูกใจก็อยากจะได้  เห็นสิ่งไหนที่ไม่ชอบอกชอบใจ ก็อยากจะปัดให้พ้นไป ก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา  ความสุขที่ได้จากการสัมผัสในสมาธิก็หมดไป เพราะเป็นอดีตไปแล้ว  ในปัจจุบันจิตก็ยังทุกข์กับความรักความชังอยู่  นี่คือเรื่องของนักบวชในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงออกแสวงหา  หาคำตอบของความสุขที่แท้จริงว่าอยู่ที่ไหน  ก็ได้เพียงในระดับหนึ่ง  คือรู้ว่าถ้าทำจิตให้สงบเป็นสมาธิก็จะมีความสุข   แต่เป็นความสุขที่ไม่ถาวรอยู่นั่นเอง  

แล้วจะทำอย่างไร จึงทำให้จิตมีความสุขได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ในสมาธิ  นี่ก็คือโจทย์ที่พระโพธิสัตว์ต้องศึกษาต่อไป   และหลังจากที่ได้ศึกษาไป พิจารณาไป ก็เกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า  ปัญหาทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในสิ่งต่างๆที่ใจได้สัมผัส ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กายนั้น ล้วนเป็นธาตุทั้ง ๔ ทั้งสิ้น  ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน  และธาตุรู้ผู้ที่สัมผัสธาตุทั้ง ๔ นี้ ก็ไม่ใช่ตัวตนเช่นกัน เป็นเพียงธาตุอย่างหนึ่ง เหมือนกับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ   ธาตุรู้ในความเป็นจริงก็ไม่มีตัวตนเหมือนกัน  นี่คือคำตอบที่พระโพธิสัตว์ได้ค้นพบ หลังจากได้บำเพ็ญภาวนาพิจารณาสิ่งต่างๆที่มาเกี่ยวข้องกับจิต  แล้วก็สรุปเห็นว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีตัวตน  เป็นธาตุทั้งสิ้น  เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นธาตุรู้  ถ้ารู้อย่างนี้แล้วก็ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง  ไม่อยากจะไปเสพ ไม่อยากจะได้มาครอบครอง  เพราะรู้ว่าไม่สามารถครอบครองสิ่งต่างๆได้   ครอบครองได้ก็เป็นเพียงชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง  เช่นธาตุ ๔ ที่รวมกันเป็นร่างกายนี้ ก็มีอายุขัยไม่เกิน ๘๐ ปี ๑๐๐ ปีก็ต้องแยกสลายออกไปจากไป  สมบัติข้าวของเงินทองหรือบุคคลต่างๆ ก็เป็นธาตุ ๔ ที่ถูกครอบครองอยู่  ก็ต้องแตกสลาย แยกกันไป หมดไปเช่นกัน 

ถ้าฝากความสุขไว้กับสิ่งเหล่านี้  เมื่อถึงเวลาที่เกิดการแตกสลาย เกิดการจากกันไป ก็ต้องเกิดความเสียใจ เกิดความทุกข์ขึ้นมา  แต่ถ้าไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งเหล่านี้  เพราะรู้ว่าเมื่อไม่ยึดไม่ติด เมื่อปล่อยวางแล้ว  กลับมีความสุขยิ่งกว่า  เพราะใจรวมตัวลงเข้าสู่ความสงบ เป็นความนิ่งนั่นเองอยู่ภายในใจ โดยที่ไม่ต้องนั่งทำสมาธิก็ได้  สังเกตดูในชีวิตของเรา ในบางครั้งบางคราว เวลาจิตใจของเราเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว เพราะมีปัญหากับเรื่องหนึ่งเรื่องใด  ถ้าเกิดมีปัญญาขึ้นมา ปลงตก ตัดสินใจไม่ไปหวังกับสิ่งที่กำลังวุ่นวายใจด้วย คือสิ่งนั้นจะอยู่จะไป จะเป็นอย่างไร ก็ไม่สนใจเสียแล้ว ช่างหัวมัน ถ้าตัดสินใจได้อย่างนั้น ใจก็จะถอนจากความวุ่นวายทันที ถอนจากเรื่องราวที่ไปยุ่งเกี่ยว ไปกังวลทันที  เมื่อตัดใจได้แล้ว ใจก็จะดิ่งลงเข้าสู่ความสงบทันที  จะรู้สึกโล่งใจ รู้สึกสบายใจ  

ในชีวิตของเรา บางครั้งบางคราวเชื่อว่าเราก็คงเคยได้สัมผัสกัน  ความโล่งอกโล่งใจหลังจากที่ปลงได้แล้ว  ตัดได้แล้ว ช่างมัน  จะไปก็ไป จะไม่ได้ ก็ไม่เดือดร้อน  บางทีอยากจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด  พยายามอย่างเต็มที่   ลุ้นอย่างเต็มที่  จนแทบจะหัวใจวายไปกับการลุ้  แต่ในที่สุดก็เกิดปัญญาขึ้นมาว่า เรากำลังทุกข์ กำลังวุ่นวายใจกับเรื่องเหล่านี้ไปทำไม  ไม่มีเราก็อยู่ได้    พอคิดอย่างนี้ได้ ก็ตัดสินใจไม่สนใจแล้ว จะมาหรือไม่มา จะได้หรือไม่ได้ ก็ไม่สนใจ ในขณะนั้นความวุ่นวายใจก็จะหายไป  เพราะจิตได้ถอน ได้ปล่อยวางความยึดมั่น ปล่อยวางความอยากความต้องการสิ่งเหล่านั้นไปนั่นเอง   แล้วจิตก็จะสบาย มีความสุขทั้งๆที่ไม่ได้สิ่งนั้นมา  แต่กลับมีความสุขยิ่งกว่าอีก เพราะถ้าได้สิ่งนั้นมาแล้ว ก็ยังต้องกังวล ต้องคอยดูแลรักษา  กังวลว่าจะจากไปเมื่อไร  เพราะโดยธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน  เดี๋ยวก็ต้องจากไปอยู่ดีนั่นเอง  นี่แหละคือการทำความเข้าใจ ถึงความสุขที่แท้จริงว่าอยู่ที่ไหน 

ถ้าเป็นคนช่างสังเกต คอยดูความรู้สึกที่มีอยู่ภายในใจ  จะเห็นว่าความวุ่นวายใจนั้น เกิดขึ้นจากใจไปเกี่ยวข้อง ไปยึดไปติดกับเรื่องราวต่างๆ ทั้งหลายภายนอกนั่นเอง ถ้าสามารถตัดความเกี่ยวข้องไปได้มากน้อยเพียงไร ความสงบภายในใจก็จะมีมากน้อยเพียงนั้น  นี่แหละจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมคนเราแม้จะเป็นกษัตริย์ เป็นมหาเศรษฐี ก็ยังสามารถสละฐานะของตนได้  สละความเป็นกษัตริย์  สละความเป็นมหาเศรษฐี แล้วออกมาอยู่แบบคนไม่มีอะไร อย่างนักบวชทั้งหลายที่อยู่กันในสมัยพุทธกาล มีมากที่เป็นกษัตริย์เป็นเศรษฐี ที่หลังจากได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ได้รู้ซึ้งถึงความสุขที่แท้จริงว่าอยู่ที่ไหนแล้ว ก็มีพลังจิตที่จะกล้าสละสิ่งต่างๆที่มีอยู่ เพื่อความสุขที่แท้จริง ที่เกิดจากความสงบของจิตใจ  จิตใจจะสงบได้ก็ต้องตัดความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆทั้งสิ้น ให้หมดไปนั่นเอง  ถ้ามาบวชแล้วแต่ยังรักษาฐานะของตนอยู่ ยังมีบริษัท ยังมีกิจการอยู่  ทุกวันยังมีลูกน้องมาติดต่อขอรับฟังคำสั่งอยู่  รับรองได้ว่าบวชแบบนั้นจะไม่เกิดประโยชน์อะไร  เพราะจิตใจยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆภายนอกอยู่  จิตใจยังต้องมีความว้าวุ่นขุ่นมัวไม่มีความสุข จึงต้องตัดทุกสิ่งทุกอย่างให้หมดไปจากใจ ถ้าต้องการความสงบสุข  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้