กัณฑ์ที่ ๑๘๕       ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๖

เวลา

 

วันเวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เหลืออีกเพียง ๒ วันพระก็สิ้นปีแล้ว  เวลาไหลไปเรื่อยๆเหมือนกับกระแสน้ำ  เวลาไม่คอยใคร  ถ้ารู้จักใช้ก็เกิดประโยชน์ ถ้าไม่รู้จักใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์  เหมือนกับน้ำที่เปิดออกมาจากก๊อก ถ้าเอามาชำระร่างกาย ชำระภาชนะต่างๆ ก็เป็นประโยชน์  แต่ถ้าปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไป โดยไม่ทำอะไรกับน้ำ ก็มีแต่เสียประโยชน์ไป  ชีวิตก็เป็นอย่างนั้น  เวลาเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตอย่างยิ่ง  ยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้  เพราะถ้าไม่มีเวลา ย่อมไม่สามารถสร้างหรือทำอะไรที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ได้  เมื่อเกิดมาแล้วยังมีเวลาอยู่ จึงควรขวนขวายใช้เวลาให้เกิดคุณ ให้เกิดประโยชน์ เพราะเวลามีทั้งคุณและโทษ  ถ้าใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ก็เป็นคุณกับเรา  ถ้าปล่อยเวลาให้ผ่านไปเฉยๆ เวลาก็จะกลืนกินเราไป  ดังในพุทธภาษิตที่ได้ตรัสไว้ว่า  กาลเวลากลืนสรรพสิ่งทั้งหลาย เวลาจะค่อยๆกลืนกินชีวิตของเราไปทีละเล็กทีละน้อย  เผลอแป๊บเดียวอายุก็ปาเข้าไป ๗๐ ๘๐ หรือถึงแก่กรรมไป นี่คือเรื่องของเวลา มีทั้งคุณและมีทั้งโทษ 

ถ้ารู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ก็จะได้รับประโยชน์จากเวลา  แต่ถ้าปล่อยให้เวลาไหลไป โดยไม่สนใจที่จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์ ก็จะเป็นโทษกับเรา เพราะเวลาจะกลืนกินเราไปทีละเล็กทีละน้อย   เหมือนกับงูที่กลืนกินสัตว์เล็กสัตว์น้อยเข้าไป  พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ถามตัวเราเองอยู่เสมอว่า  วันคืนผ่านไปๆ เราทำอะไรอยู่  เราทำประโยชน์หรือเปล่า หรือปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร  ประโยชน์นั้นก็มีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือประโยชน์ทางโลกกับประโยชน์ทางธรรม  หรือประโยชน์ทางกายและประโยชน์ทางใจ ประโยชน์ทางกายก็หมายถึงการทำมาหากินเลี้ยงชีพ  ดูแลรักษาอัตภาพร่างกายให้อยู่ไปได้ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  เพื่อจะได้เอาอัตภาพร่างกายมาสร้างคุณประโยชน์ที่สำคัญ คือประโยชน์ทางใจ  เพราะใจเป็นผู้ที่จะต้องรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา  ถ้าทำดี ใจก็จะได้รับความสุขความเจริญ  ถ้าทำชั่ว ใจก็จะต้องรับความทุกข์ความเสื่อมเสีย  ดังนั้นประโยชน์ที่สำคัญที่สุด ก็คือประโยชน์ทางใจ  แต่ประโยชน์ทางกายก็มองข้ามไปไม่ได้เพราะต้องอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือทำประโยชน์ให้กับใจ 

ในเบื้องต้นจึงต้องดูแลรักษาร่างกายให้อยู่ได้  สามารถนำร่างกายไปใช้ทำประโยชน์ทางใจต่อไป  ประโยชน์ทางกายถ้ามีพอเพียงแล้ว ก็ไม่ต้องไปขวนขวายมากจนเกินไป  ถ้ามีเงินทองพอที่จะดูแลรักษาอัตภาพร่างกาย ก็พอแล้ว  ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองกองเท่าภูเขา  มีสมบัติมากมายก่ายกอง แทนที่จะเป็นเครื่องส่งเสริมจิตใจให้มีความสุข  กลับเป็นเครื่องกดดันให้มีความทุกข์ เพราะภาระที่จะต้องคอยดูแลรักษาสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ ถ้ามีพอเพียงต่อการดูแลอัตภาพร่างกาย ก็พอแล้ว  จะได้มีเวลาไว้คอยดูประโยชน์ทางใจ  ก็คือการชำระจิตนั่นเอง  ชำระสิ่งที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง  ที่ปกคลุมหุ้มห่อจิตใจ ทำให้จิตมีความทุกข์ มีความว้าวุ่นขุ่นมัว  เครื่องเศร้าหมองเหล่านี้เราเรียกว่ากิเลสตัณหา  เป็นสิ่งที่จะต้องชำระด้วยธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้กับพวกเรา คือทาน ศีล ภาวนา 

เราจึงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตมาบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา  เพราะทาน ศีล ภาวนานี้ ก็เปรียบเหมือนกับน้ำที่ใช้ชำระซักฟอกสิ่งสกปรกทั้งหลาย ถ้าปล่อยไว้เฉยๆไม่มีน้ำมาชำระ ย่อมไม่สะอาดไปได้ด้วยตนเอง  จึงต้องอาศัยน้ำธรรมะเป็นเครื่องชำระมลทินเครื่องเศร้าหมอง คือกิเลสตัณหาที่อยู่ในใจของพวกเราทุกคน เพราะจะไม่หลุดลอยออกไปจากจิตจากใจตามลำพัง  จำต้องมีเครื่องชำระ  เครื่องชำระนี้ก็คือทาน ศีล ภาวนา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาก่อน จนเห็นผลอันประเสริฐเลิศโลกแล้ว คือได้ทรงทำให้จิตเป็นจิตที่บริสุทธิ์  เป็นจิตที่ปราศจากกิเลสตัณหา โลภ โกรธ หลง  เป็นจิตที่ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป  เป็นจิตที่อยู่เหนือความทุกข์ทั้งหลาย  นี่แหละคือประโยชน์อันสูงสุด ที่จะได้รับจากการฝึกฝนอบรมปฏิบัติในทางแห่งทาน ศีล ภาวนา  เป็นประโยชน์ที่มีคุณค่ากว่าประโยชน์อื่นๆใดในโลกนี้  เพราะสิ่งต่างๆในโลกนี้ล้วนอยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะมีอะไรเป็นสมบัติครอบครอง  จะเป็นวัตถุข้าวของเงินทองก็ดี เป็นบุคคลบริษัทบริวารต่างๆก็ดี  ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  ล้วนจำต้องพลัดพรากจากกันไป เพราะไม่ได้อยู่ในการควบคุมของผู้หนึ่งผู้ใด ถ้าหลงยึดติดอยู่ ก็จะมีแต่กดดันจิตใจ ให้มีแต่ความทุกข์ความเศร้าหมอง 

คนฉลาดจึงไม่ควรไปหลงยึดติดกับวัตถุข้าวของบุคคลต่างๆ  เพราะไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง  ไม่ได้เป็นความเจริญที่แท้จริง  ไม่เป็นประโยชน์ที่แท้จริง  ประโยชน์ที่แท้จริงก็คือ จิตใจที่หลุดพ้นจากความกดขี่กดดันของกิเลสตัณหาทั้งหลายเท่านั้น  ถ้าตราบใดกิเลสตัณหายังไม่ได้รับการชำระ ก็เปรียบเหมือนกับสุนัขขี้เรื้อน  ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ยังต้องเกาต้องคันอยู่ตลอดเวลา  จะไปอยู่ในกระต๊อบก็ยังต้องเกาต้องคัน ไปอยู่ในพระราชวังก็ยังต้องเกาต้องคัน  เพราะการไปอยู่ที่ไหนก็ดีนั้นไม่ได้แก้ความคันของสุนัขขี้เรื้อนได้  แต่สิ่งที่จะแก้ความคันของสุนัขขี้เรื้อนได้ ก็คือยารักษาโรคเรื้อนเท่านั้น  ถ้าได้รับยารักษาโรคเรื้อนจนหาย ความคันก็จะหายไป  จิตของคนเราก็เป็นเช่นนั้น  ต่อให้เป็นคนสูงศักดิ์ใหญ่โตขนาดไหน เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นมหาเศรษฐี หรือเป็นอะไรก็ตาม  ถ้ายังไม่ได้รับการขัดเกลาจิตใจ ชำระจิตใจให้สะอาด ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ก็ยังจะต้องทุกข์อยู่เสมอ  เพราะต้นเหตุของความทุกข์ไม่ได้อยู่กับสิ่งภายนอก  แต่อยู่กับสิ่งภายในใจ คือกิเลสตัณหา 

ทุกครั้งที่กิเลสตัณหาแสดงอาการออกมา ก็จะต้องมีความว้าวุ่นขุ่นมัว มีความไม่สบายอกไม่สบายใจ  ต่อให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็มีความทุกข์ได้  เป็นประธานาธิบดีก็มีความทุกข์ได้  เป็นขอทานข้างถนนก็มีความทุกข์ได้เหมือนกัน  เพราะความทุกข์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละบุคคล  แต่ขึ้นอยู่กับกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในจิตใจเท่านั้น  ถ้ามีมากก็มีทุกข์มาก ถ้ามีน้อยก็มีทุกข์น้อย  ดังนั้นถ้าเราต้องการความสุขความเจริญที่แท้จริง เราไม่ควรมองข้ามกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในจิตใจของเรา  และไม่ควรมองข้ามธรรมะอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาประกาศสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลาย คือทาน ศีล ภาวนา ว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถชำระกิเลสตัณหาได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล  คือถ้าใครนำไปปฏิบัติแล้วรับรองได้ว่ากิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหาความอยากต่างๆ เช่น ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น จะต้องหลุดลอยออกไปจากจิตจากใจอย่างแน่นอน  เพราะจะไม่สามารถต่อสู้หรือต้านทานอำนาจชำระชะล้างของทาน ศีล ภาวนาได้ 

ในชีวิตของเราแต่ละวัน จึงไม่ควรมองข้ามการทำบุญทำทาน การรักษาศีล การบำเพ็ญภาวนา  เพราะนี่แหละคือหน้าที่ของเราที่แท้จริง  ประโยชน์ที่แท้จริงของเราก็คือการชำระจิตใจ เพราะเมื่อจิตใจได้รับการชำระจนสะอาดหมดจดแล้ว ถึงแม้จะไม่มีสมบัติเงินทองอะไรเลย  แต่เราจะมีความสุขมากยิ่งกว่ามหาเศรษฐีในโลกนี้เสียอีก  เพราะไม่มีอะไรจะมาสร้างความทุกข์ความกังวลใจให้ได้  เพราะใจได้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้แล้ว เพราะรู้ว่าไปหลงยึดติดไม่ได้  หลงยึดติดก็จะต้องทุกข์ขึ้นมาทันที  ลองสังเกตดูคนที่มีอะไรกับคนที่ไม่มีอะไรนั้น ใครจะสบายใจกว่ากัน  คนมีสิ่งของก็ต้องมีความกังวลกับสิ่งของนั้นๆ เพราะความรัก ความผูกพัน  คนที่ไม่มีก็ไม่ต้องทุกข์กับสิ่งนั้นๆ  แต่คนที่ไม่มีก็ต้องหมายถึงคนที่ไม่ยึดติดกับอะไรด้วย  แต่ถ้าเป็นคนยากคนจนที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ คนๆนั้นก็ไม่แตกต่างจากคนที่มี  เพราะคนที่มีเขาก็ทุกข์อย่างหนึ่ง ทุกข์เพราะความกังวลความหวงแหน ความเสียดายอาลัยอาวรณ์  แต่คนที่ไม่มีก็ทุกข์จากความอยาก ความต้องการ  เห็นคนอื่นมีอะไรก็อยากจะมีเหมือนกับเขา  จึงพูดได้ว่าการที่จะมีหรือไม่มีนั้นไม่สำคัญ  มีมากมีน้อยไม่สำคัญ  เพราะว่าจะทุกข์ไม่ทุกข์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมีมากหรือมีน้อย  การที่คนเราจะทุกข์นั้น อยู่ที่กิเลสตัณหาเท่านั้น  ถ้ามีกิเลสตัณหาแล้ว มีน้อยก็ทุกข์ไปอย่างหนึ่ง มีมากก็ทุกข์ไปอีกอย่างหนึ่ง   แต่คนที่ไม่มีกิเลสตัณหาจะไม่ทุกข์ทั้ง ๒ สภาพ  มีมากก็ไม่ทุกข์กับสิ่งที่มีอยู่  ไม่มีก็ไม่ทุกข์กับสิ่งที่ไม่มี  เพราะเวลามีมากก็ไม่ได้หวง ไม่ได้ยึดติดอยู่กับสิ่งที่มีอยู่  เวลามีน้อยก็ไม่ได้ทุกข์กับความอยากได้  เพราะไม่มีความอยากในสิ่งต่างๆนั่นเอง จิตสามารถอยู่ตามลำพังของตนได้  เพราะไม่มีอะไรไปคอยกดขี่บังคับให้เกิดความหิว ความกระหาย ความอยากขึ้นมา  

นี่แหละคือเรื่องราวของชีวิตของพวกเราทุกๆคน ซึ่งถือว่าเป็นพวกที่มีบุญมีกุศลมีวาสนา ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วได้มาพบพระพุทธศาสนา  เพราะถ้าไม่มีทั้ง ๒ อย่างนี้แล้ว โอกาสที่จะบำเพ็ญประโยชน์อันประเสริฐนี้จะเป็นไปไม่ได้  เพราะถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์แต่ไม่ได้พบพระพุทธศาสนา  ก็จะไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้  ก็จะถูกอำนาจของความหลงความอยากของกิเลส หลอกล่อให้ไปหาความสุขต่างๆ จากสิ่งที่ไม่ใช่เป็นความสุข  แล้วก็ต้องวนเวียนอยู่กับวัฏฏะแบบนี้ไปเรื่อยๆ   เวลาอยากได้ก็แสวงหามา พอหามาได้แล้วก็เกิดความอยากใหม่ขึ้นมา ก็ต้องไปแสวงหามาใหม่ วนเวียนไปอยู่อย่างนี้ ไม่มีที่จบสิ้น เพราะไม่รู้ว่าปัญหาของใจเราก็คือความอยาก  เราคิดว่าเมื่อมีความอยากต้องการอะไร เราก็หาสิ่งที่เราอยากเราต้องการมา แล้วความอยากนั้นก็จะหายไป  แต่มันหาหายไปไม่ เพราะหลังจากนั้นอีกไม่นาน มันก็โผล่กลับคืนขึ้นมาอีก  ก็อยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้อีก  และก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด  แม้จะสิ้นชีวิตไป  แต่จิตดวงนี้ไม่ตายไปกับร่างกาย ก็จะไปต่อ 

จิตดวงนี้เป็นที่อยู่ของกิเลสตัณหาทั้งหลาย  เมื่อไปเกิดใหม่ก็จะสร้างความโลภ ความอยากขึ้นมาใหม่  และก็ต้องทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  วัฏฏะวนคือการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร จึงไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ไม่ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์แล้วได้เจอพระพุทธศาสนา หลังจากที่ได้เจอแล้วเกิดศรัทธาขึ้นมา เชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แล้วนำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไปปฏิบัติ เพื่อชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด เท่านั้นแหละถึงจะแก้ปัญหาของดวงจิตดวงใจได้  ถ้าไม่ได้นำมาปฏิบัติ  ไม่ได้นำทาน ศีล ภาวนา มาปฏิบัติ  ชีวิตของเราก็จะเป็นแบบนี้ไป เหมือนตั้งแต่ที่เราเกิดมา เป็นแบบลุ่มๆดอนๆ มีความหิวมีความอยาก  พอได้สิ่งที่ตนเองอยาก ก็พอใจไปสักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็เกิดความอยากขึ้นมาใหม่ แล้วก็ต้องหาใหม่  เวลาสูญเสียสิ่งที่ตนเองหามาได้ ก็กลุ้มอกกลุ้มใจร้องห่มร้องไห้ 

นี่แหละคือชีวิตของพวกเราซึ่งไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง  เพราะยังถูกรุมล้อมด้วยความทุกข์ชนิดต่างๆนั่นเอง ความทุกข์เหล่านี้เราสามารถดับได้  เราสามารถอยู่เหนือความทุกข์เหล่านี้ได้ ถ้าปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ  อย่าไปเสียดายสมบัติข้าวของเงินทอง ที่มีเกินความจำเป็นต่อการดำรงชีพ นำมาใช้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์  คือนำมาทำทานเสียจะดีกว่า  ดีกว่านำไปซื้อข้าวของตามความต้องการของกิเลสตัณหา  เพราะจะสร้างความต้องการความอยากเพิ่มขึ้นไปอีก  เงินทองที่มีเหลือใช้เหลือกิน จะไม่เหลือพอต่อไป ถ้าไม่รู้จักควบคุมความอยากตัวนี้  เวลาอยากอะไรถ้าไม่ใช้เหตุใช้ผลมาต่อสู้กันแล้ว  ความอยากจะหลอกให้ใช้เงินใช้ทอง เผาผลาญจนหมดไป โดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย  แต่ถ้าใช้เหตุผลทุกครั้งที่ต้องการอะไร  ถามตัวเราเองว่า สิ่งที่ต้องการนั้น มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพหรือไม่  มีความสำคัญต่อการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องหรือไม่  ถ้าเป็นสิ่งที่สำคัญที่จำเป็น ก็ถือว่าเป็นการลงทุน  ลงทุนเพื่อจะได้ผลกำไรกลับมา  อย่างนี้ก็ไม่เป็นไร 

แต่ถ้าไม่ใช่เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ หรือต่อการทำมาหากินแล้ว  ถ้าใช้ไป ก็จะหมดไป เช่นเอาไปเที่ยว ไปซื้อของฟุ่มเฟือยทั้งหลาย อย่างนี้ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ  มีแต่จะดูดทรัพย์ของเราให้หมดไปเรื่อยๆ  จนทำให้เราต้องเดือดร้อนต่อไป เมื่อเวลาที่เงินทองขาดมือ ไม่พอใช้ขึ้นมา ก็จะกดดันให้ไปหาเงินทองด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่งาม สร้างเวรสร้างกรรมให้เกิดขึ้น ทำให้ภพชาติที่จะต้องตามมาต่อไป เป็นภพชาติที่ต่ำที่เลว เป็นภพชาติที่เราทั้งหลายไม่ปรารถนากัน  แต่ในทางตรงกันข้ามทุกครั้งที่เราต้องการอะไร  เราใช้เหตุใช้ผลต่อสู้กับความต้องการ  ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ต้องไปเอามา  อย่างนี้แล้วเงินทองก็จะมีเหลือใช้ ก็จะไม่มีอะไรมากดดันให้ไปทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เช่นทำการทุจริตที่จะมีผลต่อการไปเกิดในภายภาคหน้าต่อไป  เราก็จะสามารถรักษาศีลได้สะอาดบริสุทธิ์  เราจะรักษาศีล ๕ ได้ ถ้าใช้เหตุใช้ผลต่อสู้กับกิเลสตัณหา  เมื่อมีเงินทองเหลือใช้ เราก็จะได้นำไปสะสมเป็นบุญเป็นกุศล เพื่อจะได้เป็นบารมีรองรับในภพหน้าชาติหน้า  ไปเกิดภพหน้าชาติหน้าก็จะได้มีกินมีใช้  ได้เป็นเศรษฐี ก็เพราะว่าเราได้ทำบุญไว้ในชาตินี้นั่นเอง เมื่อเราไปเกิดภพหน้าชาติหน้า เราก็จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป มากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าการปฏิบัติธรรมในชาตินี้ยังไม่ถึงจุดสูงสุด  แต่ถ้าถึงจุดสูงสุดแล้ว เราก็ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป 

นี่แหละคือประโยชน์ที่แท้จริง ที่ไม่ควรมองข้ามกัน คือการปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา  เมื่อทำบุญทำทานอย่างสม่ำเสมอ รักษาศีลอย่างสม่ำเสมอแล้ว  สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือภาวนา  ภาวนาคือการปฏิบัติธรรม มี ๒ ส่วนด้วยกัน  ส่วนแรกเรียกว่าสมถภาวนา ส่วนที่ ๒ เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา  สมถภาวนา คือการทำจิตให้สงบ ทำจิตให้นิ่ง  เพราะเวลาจิตสงบนิ่งแล้ว จิตจะมีความสุข มีความอิ่ม  กิเลสตัณหาจะถูกระงับไปชั่วขณะหนึ่ง  จะได้เป็นพื้นฐานสำหรับการเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อไป   วิปัสสนาภาวนา คือการเจริญปัญญา พินิจพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอน คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็ดี  ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขก็ดี  ไม่ว่าจะเป็น รูป เวทนา  สัญญา สังขาร วิญญาณก็ดี  สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  ไม่ควรไปยินดี ไปยึดไปติด  เพียงแต่ให้รู้ไว้แล้วก็ปล่อยวาง  เวลาเห็นรูปก็ให้รู้ว่าเป็นรูปแล้วก็ปล่อยวาง อย่าไปเกิดความยินดีเกิดความยินร้ายขึ้นมากับรูปก็ดี กับเสียงก็ดี กับกลิ่น กับรส กับโผฏฐัพพะก็ดี  เราต้องสัมผัสอยู่ตลอดเวลา  ก็ให้สัมผัสด้วยปัญญา คือให้รู้ว่าอย่าไปหลงยึดติด  เพราะหลงยึดติดแล้วจะต้องทุกข์อย่างแน่นอน 

เวลาไปยึดกับสิ่งที่ชอบแล้ว ถ้าสิ่งนั้นหมดไป ก็จะเกิดความว้าเหว่เหงาหงอยขึ้นมา เวลาไปยึดติดกับสิ่งที่ไม่ชอบ ก็จะเกิดความทุกข์ความกังวลใจขึ้นมา  เวลาเห็นอะไรก็จะเกิดความหงุดหงิดใจกับสิ่งที่ไม่ชอบ เพราะไม่ใช้ปัญญา ไม่เคยพิจารณาว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย มาจากอะไร  ทำจากอะไร  ถ้าพิจารณาแล้ว จะรู้ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ก็มาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้เอง  รูปที่เห็นก็มาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งสิ้น  จะรูปสวย รูปไม่สวย ก็มาจากดิน น้ำ ลม ไฟเหมือนกัน  ดังนั้นเวลาไปรัก ก็ไปรักดิน น้ำ ลม ไฟ  เวลาไปชัง ก็ไปชังดิน น้ำ ลม ไฟเหมือนกัน  แต่เพราะไม่รู้จักใช้ปัญญาแยกแยะ   จึงหลงอยู่กับรูป  รูปที่ชอบก็เกิดความยินดีขึ้นมา  รูปที่ไม่ชอบเราก็เกิดความยินร้ายขึ้นมา  จิตก็เลยต้องแกว่งไปแกว่งมา  การแกว่งของจิตก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง 

แต่ถ้ามีปัญญาแล้วจะรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็มาจากดิน น้ำ ลม ไฟเหมือนกัน  เหมือนกับขนมที่ทำขึ้นมาเป็นรูปร่างต่างๆ มีรสชาติต่างๆ ก็ทำมาจากแป้ง จากไข่ จากน้ำตาลทั้งสิ้น ก็เหมือนๆกัน เพียงแต่วิธีที่ทำแตกต่างกันไปเท่านั้นเอง ไม่ได้มาจากอะไรที่วิเศษวิโสแตกต่างกันเลย  แต่เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจที่มีแฝงอยู่ในจิตเสมอ ขาดปัญญาไม่รู้จักการแยกแยะวิเคราะห์ ให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็เลยทำให้หลงอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชนิดต่างๆ  ที่มาแล้วก็ไป  ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร  ไม่ได้ทำให้จิตใจดีขึ้นสะอาดขึ้น ความโลภ ความโกรธ ความหลงเบาบางลงไป  แต่ถ้ามีปัญญาทุกครั้งที่เห็น ได้ยิน ได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ปัญญาจะคอยสอน คอยเตือนสติว่า อย่าไปยุ่งอย่าไปเกี่ยว  มาก็รู้ว่ามา  เวลาไปจะได้ไม่เสียอกเสียใจ อย่างนี้เป็นต้น 

นี่คือเรื่องของวิปัสสนา คือต้องพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องกับจิตใจ  ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายนอกก็ดี หรือเกิดขึ้นภายในก็ดี  ก็จะต้องรู้ทันกับสภาวธรรมทั้งหลาย  เมื่อรู้ทันแล้วก็จะได้ปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด  ถ้าปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด ก็ไม่มีความทุกข์  เรียกว่าหลุดพ้น  คนเราจะหลุดพ้นก็หลุดพ้นด้วยปัญญา  คือวิปัสสนาภาวนา   สมถภาวนาไม่สามารถทำให้หลุดพ้นได้  เพราะสมถภาวนาเพียงแต่ทำจิตให้สงบนิ่ง  เวลาที่จิตสงบนิ่ง กิเลสตัณหาก็ไม่แสดงอาการอะไรออกมา  ก็คิดว่าไม่มีกิเลสตัณหาเหลืออยู่แล้ว  แต่ความจริงกิเลสตัณหาก็เพียงสงบตัวลง เพราะถูกอำนาจของสมถภาวนากดไว้เท่านั้นเอง เหมือนกับหญ้าที่ถูกหินทับไว้  จะงอกขึ้นมาไม่ได้  แต่ถ้ายกหินออกไป ทิ้งไว้สักพักหนึ่ง หญ้าได้รับแดดรับน้ำ เดี๋ยวก็งอกเงยขึ้นมาใหม่ได้  กิเลสก็เช่นกัน  กิเลสไม่ได้ตายเพราะอำนาจของสมถภาวนา  หลังจากที่ออกจากสมถภาวนาแล้ว  เมื่อจิตได้ไปสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย   กิเลสก็จะออกมาทำงานทันที  จะเกิดความยินดียินร้าย เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากขึ้นมาทันที 

การบำเพ็ญสมถภาวนาโดยลำพัง จึงไม่พอเพียงต่อการทำจิตให้หลุดพ้น  จิตจะหลุดพ้นได้ก็ต่อเมื่อมีวิปัสสนาภาวนา  คือการกำหนดสอนจิตให้รู้ว่าสภาวธรรมทั้งหลายล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งที่เราไปยึดไปติดว่าเป็นความสุขนั้น ความจริงมันเป็นความทุกข์  เป็นทุกขัง  อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ไม่เป็นสิ่งที่ควรไปหลงยึดติดเลย  เพราะว่ามีอะไรแล้วจะต้องทุกข์กับสิ่งเหล่านั้นทั้งสิ้น  มีสามีก็ทุกข์กับสามี  มีภรรยาก็ทุกข์กับภรรยา  มีลูกก็ทุกข์กับลูก  มีอะไรก็ต้องทุกข์กับสิ่งเหล่านั้นทั้งสิ้น นักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย จึงไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆ ท่านอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่มีสิ่งเหล่านี้ท่านก็อยู่ได้ เพราะท่านไม่ต้องการความทุกข์  จากการเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้นั่นเอง  ท่านจึงปฏิบัติธรรม  ปฏิบัติสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา  เพราะเมื่อมีทั้งสมถะทั้งวิปัสสนาแล้ว จิตก็จะหลุดพ้นจากความยึดติดในสิ่งทั้งหลายได้  หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายที่เกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากทั้งหลายได้  นี่แหละคือความวิเศษของพระพุทธศาสนา ของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  เพราะสามารถพาให้พวกเราไปถึงความสุขความเจริญที่แท้จริงได้  เป็นความสุขที่ไม่มีความทุกข์แฝงอยู่เลย  จึงขอให้พวกเราทั้งหลายจงพยายามเตือนสติถามตัวเราเองอยู่เสมอว่า  วันเวลาผ่านไปๆ เราทำอะไรอยู่  เมื่อถามตัวเองอย่างนี้แล้ว เราจะได้ไม่ปล่อยเวลาอันมีค่านี้ให้ผ่านไป โดยไม่ได้ทำอะไรให้เป็นคุณเป็นประโยชน์ การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้