กัณฑ์ที่ ๑๙๙       ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗

เบรกใจ

การที่ญาติโยมมาวัดกันอย่างสม่ำเสมอนั้น เป็นการมาติดเบรกให้กับใจ เพราะใจก็เปรียบเหมือนกับรถยนต์  เวลาวิ่งไปไหนมาไหน ถ้าไม่มีเบรกย่อมเป็นอันตรายต่อรถและผู้ขับขี่  เพราะเมื่อถึงเวลาที่จะต้องหยุด ก็จะไม่สามารถหยุดได้  เช่นเวลามาถึงสี่แยกไฟแดงแล้วเจอไฟแดงเข้า ถ้าไม่มีเบรกก็ต้องฝ่าไฟแดงไป ก็ต้องเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา หรือเวลาขับรถเร็วแล้วจำเป็นต้องหักเข้าทางโค้ง ก็จะไม่สามารถหักเข้าได้ ถ้าไม่มีเบรกไว้ชะลอให้รถวิ่งช้าลง   ใจก็เหมือนกับรถยนต์ ต้องมีเบรกถึงจะปลอดภัย แต่ใจของพวกเราส่วนใหญ่มักจะมีเบรกน้อย  แต่จะมีคันเร่งมาก  คันเร่งของใจก็คือตัณหาชนิดต่างๆ เช่นความอยากในกาม เรียกว่ากามตัณหา  ความอยากมีอยากเป็น เรียกว่าภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น เรียกว่าวิภวตัณหา  

ในใจของปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราอย่างท่านทั้งหลายนี้  จะมีคันเร่งที่จะคอยเร่งใจอยู่เสมอ คือความอยากต่างๆ  อยากไปเที่ยว อยากไปดู  อยากไปฟัง  อยากไปรับประทาน  เรียกว่ากามตัณหา  ความอยากในกาม  ภวตัณหา คือความอยากมีอยากเป็น เช่นอยากจะเป็นสามี อยากจะเป็นภรรยา  อยากจะเป็นพ่อ  อยากจะเป็นผู้ใหญ่  อยากจะมีตำแหน่งสูงๆ  เป็นผู้จัดการ  เป็นหัวหน้ากอง  เป็นอธิบดี  เป็นรัฐมนตรี  เป็นนายกฯ  เป็นประธานาธิบดี  เป็นกษัตริย์   วิภวตัณหา คือความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ได้แก่ความไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่แก่ ไม่ตาย  ไม่ลำบาก  ไม่ยากจน  ถ้าสังเกตดูภายในใจของเรา จะเห็นว่ามีความอยากต่างๆเหล่านี้อยู่ ที่จะเป็นตัวผลักดันให้ไปก่อกรรมทำเข็ญ  ไปสร้างเรื่องสร้างราว  สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อน ความวุ่นวายใจ  ให้กับเราอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะใจขาดเบรก 

แต่ถ้าได้มาวัดอย่างสม่ำเสมออย่างที่ท่านทั้งหลายทำกันอยู่นี้   ก็เท่ากับได้มาติดเบรกให้กับใจ   เพราะเมื่อมาวัดก็จะได้ทำบุญถวายทาน  รักษาศีล  ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม  เป็นการสร้างเบรกให้กับใจ  เบรกของใจมีอยู่ ๕ ประการด้วยกัน  คือ ๑. ศรัทธา ความเชื่อ  ๒. วิริยะ ความพากเพียร   ๓. สติ ความระลึกรู้  ๔. สมาธิ ความตั้งมั่นของจิต  และ ๕. ปัญญา ความฉลาดรอบรู้  นี่คือเครื่องมือหรือเบรกของใจ  ถ้าได้มาวัดก็จะได้สร้างเบรกให้เกิดขึ้นภายในใจ เพราะจะมาวัดได้ก็ต้องมีศรัทธา ความเชื่อ  เชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  เชื่อว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เป็นคุณเป็นประโยชน์ ช่วยพัฒนาจิตใจให้เจริญรุ่งเรือง ให้มีความสุข มีความสบาย  เราจึงมาวัดกัน มาทำบุญถวายทานรักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม   ถ้าพยายามมาอย่างต่อเนื่อง  ก็จะมีวิริยะ ความอุตสาหะพากเพียรพยายาม  พอถึงวันพระก็มากัน   หรือวันเสาร์วันอาทิตย์ที่ว่างจากภารกิจการงาน ก็มากัน  ต้องมีความพากเพียร มวิริยะถึงจะมาได้   

ถ้ามีแต่ความเกียจคร้าน ก็จะไม่อยากตื่นแต่เช้า  ไม่อยากจะมาให้เสียเวลา อยู่กับบ้านนอนให้สบาย กินให้สบาย ไม่ดีกว่าหรือ  แต่เพราะมีศรัทธา ความเชื่อ มีความรักในการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  จึงทำให้มีความพากเพียร  เมื่อมาประกอบสิ่งต่างๆที่วัด ก็ต้องมีสติ  มีความระวัง รอบคอบ ระลึกรู้อยู่ทุกขณะว่ากำลังทำอะไรอยู่  เวลาตักบาตรก็ต้องมสติ ขณะที่ตักข้าวเข้าไปในบาตร ก็ต้องมีความระมัดระวัง ไม่ให้ทัพพีไปกระทบกับบาตร  อย่างนี้ก็ต้องมีสติ  คือการระลึกรู้  ควบคุมจิตให้อยู่กับกิจกรรมต่างๆที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้น  กำลังตักบาตรก็ให้มสติอยู่กับการตักบาตร  กำลังถวายทานก็ให้มีสติอยู่กับการถวายทาน   กำลังฟังเทศน์ฟังธรรมก็มสติอยู่กับการฟังเทศน์ฟังธรรม  ให้ใจรับรู้คำเทศน์ที่มาสัมผัสที่หูเข้ามาสู่ใจ อย่าให้ใจลอยไปลอยมา คิดเรื่องราวต่างๆนานา  เมื่อมีสติควบคุมใจ  จิตก็จะมีสมาธิ คือจิตจะตั้งมั่น  ตั้งอยู่ในปัจจุบัน  ตั้งอยู่กับภารกิจการงานที่กำลังทำ 

อย่างในขณะนี้จิตกำลังฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ ไม่คิดถึงเรื่องอดีตที่ผ่านมา   ไม่คิดถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นตามมา   ขณะนี้กำลังฟังธรรม  ก็มีสติควบคุมจิตให้รับรู้ ให้อยู่กับการฟัง  เมื่อสามารถควบคุมจิตให้มีสติอยู่อย่างต่อเนื่องกับการฟัง  จิตก็จะตั้งมั่น  แล้วก็จะสงบตัวลง  การตั้งมั่นของจิต  คือสมาธนั้น มีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน  คือ ๑. สมาธิที่ตั้งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เช่นลมหายใจเข้าออก หรือคำบริกรรมพุทโธๆๆ จนจิตรวมลงเป็นหนึ่งและสงบนิ่ง ถ้าสงบนิ่งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เรียกว่าขณิกสมาธิ ถ้าสงบนิ่งอยู่นาน เรียกว่าอัปปนาสมาธิ  ๒. สมาธิที่อยู่กับการทำงาน จิตไม่ส่ายแส่ไปที่โน่นมาที่นี่ เช่นเวลาอ่านหนังสือก็มีสมาธิอยู่กับการอ่านหนังสือ เวลาทำงานทำกิจกรรมต่างๆ ก็มีสมาธิอยู่กับงานต่างๆเหล่านั้น  ถ้ามีสมาธิอยู่กับการทำงาน การทำงานย่อมเกิดผล ไม่ผิดพลาด  เพราะมีความจดจ่อคอยเฝ้าดูอยู่ ผลดีก็เกิดขึ้นมา  ถ้าฟังเทศน์ฟังธรรมก็จะเกิดปัญญา  เกิดความฉลาดขึ้นมา  รู้เรื่องราวต่างๆที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน 

อย่าไปคิดว่าคนฟังธรรมทุกคนจะฉลาด เพราะถ้าฟังไม่เป็น ก็จะไม่รู้เรื่อง  เช่นเวลาฟังก็นั่งคุยกัน  อย่างนี้ก็จะไม่รู้เรื่อง  หรือถ้าไม่ได้คุยกัน แต่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่  ก็จะไม่รู้เรื่องที่พระกำลังสอนกำลังเทศน์เช่นกัน แต่ถ้าตั้งใจฟังด้วยสติ ควบคุมจิตให้รับรู้กับธรรมะ ที่เข้ามาสัมผัสกับใจ แล้วก็พิจารณาตาม  ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา  เกิดความฉลาดขึ้นมา  เพราะธรรมะสอนให้เป็นคนฉลาดนั่นเอง   ธรรมะสอนเหตุ สอนผล สอนความจริง  เมื่อรู้เหตุ รู้ผลแล้ว ก็จะสามารถแยกแยะได้ว่าเหตุอันใดเป็นเหตุที่สร้างความเจริญ  เหตุอันใดเป็นเหตุที่สร้างความเสื่อมเสีย  เมื่อรู้ก็จะได้ทำแต่เหตุที่สร้างความเจริญ  ส่วนเหตุที่สร้างความเสื่อมก็ลดละไป  เช่นรู้ว่าการเสพสุรายาเมา  เล่นการพนัน  เที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร  ความเกียจคร้าน  เป็นเหตุของความเสื่อมเสีย  ก็พยายามลดละอบายมุขต่างๆเหล่านี้   พยายามเลิก  พยายามไม่ไปคบกับคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้   เพราะถ้าไปเกี่ยวข้องด้วย  ก็จะต้องถูกชวนให้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้  ถ้าเสียดายเพื่อน เราก็จะเสียคน  ถ้าต้องพบกับคนที่ชักจูงให้ไปในทางที่ไม่ดี  ก็ต้องเลือกตัวเราไว้ก่อน  อย่าไปเลือกเพื่อน  เพราะเพื่อนมีอยู่มากมายก่ายกอง  มีเป็นล้าน เราสามารถเลือกได้   เพื่อนมีทั้งเพื่อนดีและเพื่อนไม่ดี  ถ้าเพื่อนไม่ดีจะชวนไปในทางที่ไม่ดี  ก็อย่าไป  เบรกใจไว้  เบรกด้วยปัญญา  ถ้าไปแล้วเสียคน ต้องมาเสียใจทีหลัง สู้อย่าไปดีกว่า  อย่าคบกับเขาดีกว่า  

นี่เรียกว่าปัญญา ความฉลาด รู้ผิดถูกดีชั่ว   รู้เหตุรู้ผลของความเจริญและความเสื่อมทั้งหลาย เมื่อรู้แล้วก็จะสามารถยับยั้งจิตใจไม่ให้ไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดีได้ นี่คือความหมายของเบรกใจ  เราจึงต้องเจริญธรรมะทั้ง ๕ ประการนี้  คือต้องมีความเลื่อมใสศรัทธา  ศรัทธาจะเจริญก้าวหน้าได้ ก็ต้องเข้าหาบัณฑิต หาผู้รู้ หาพระสุปฏิปันโนทั้งหลาย  เมื่อได้ยินได้ฟังคำสอนของท่านแล้ว  ก็จะเกิดความเข้าอกเข้าใจในสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จนในที่สุดก็จะรู้จะเห็นตามที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น  เมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว จะไม่สงสัยในธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเลย  ความเชื่อก็ไม่มีความจำเป็นต่อไป  เพราะเห็นความจริงแล้ว    ความเชื่อเป็นตัวนำทางให้เข้าสู่ความจริง  เมื่อเห็นความจริงแล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยความเชื่ออีกต่อไป คนอื่นจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่มีผลกระทบกับเรา  เพราะเห็นด้วยตาของเราแล้ว รู้ด้วยใจแล้วว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ 

เวลาไปหาหมอ หมอก็วินิจฉัยโรคของเรา   เสร็จแล้วก็สั่งจ่ายยาให้มารับประทาน  ถ้าไม่มีศรัทธาความเชื่อในหมอ  ก็จะไม่กล้ารับประทานยา ก็จะไม่รู้ว่ายาที่หมอให้มาจะรักษาโรคของเราได้หรือไม่  แต่ถ้าเชื่อหมอ ยอมเสี่ยงยอมตาย เชื่อว่าหมอไม่โกหกหลอกลวง  เชื่อว่าหมอมีความเมตตา มีความหวังดี  ก็รับประทานยาที่หมอให้มา  เมื่อรับประทานไปแล้ว  ถ้าโรคหายก็รู้ว่าเป็นยาที่ใช้ได้ผล  สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บของเราได้  ต่อไปไม่ต้องเชื่อหมอก็ได้  เวลาเป็นโรคนี้อีก ก็ไปหายานี้มารับประทานเองก็ได้   นี่คือความหมายของความเชื่อ  ไม่ได้ให้เชื่อเฉยๆ ไม่ได้ให้เชื่อแบบงมงาย  แต่เชื่อแล้วต้องนำไปพิสูจน์   พระพุทธเจ้าสอนให้ละเว้นจากอบายมุขต่างๆ  ก็ต้องพิสูจน์ดูว่าหลังจากได้ละเว้นจากอบายมุขต่างๆแล้ว  ชีวิตดีขึ้นหรือเลวลง  ทรงสอนให้ละเว้นจากการกระทำบาปทั้งปวง ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จากการลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี  โกหกพูดปดมดเท็จ  ก็ลองไปประพฤติดู  แล้วดูซิว่าชีวิตจะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลง 

การดูความเจริญความเสื่อม ก็ไม่ได้ดูที่เงิน ว่ามีมากขึ้นหรือน้อยลง   เพราะคนที่ไปโกงมา ก็มีเงินมากขึ้นได้  อย่างนี้ไม่ใช่ความเจริญ  ความเจริญหมายถึงการไม่เบียดเบียนผู้อื่น  จิตมีความเมตตากรุณามากขึ้น  มีความสงบร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้นไปต่างหาก ที่เป็นความเจริญ เป็นอานิสงส์ของการรักษาศีล  ดังที่ได้กล่าวไว้ในท้ายของศีลว่า สีเลน นิพพุติง ยันติ  ศีลเป็นเครื่องระงับดับความทุกข์ ความวุ่นวายใจ  คนที่ไม่ไปก่อกรรมทำเข็ญสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  จิตใจจะสงบ ไม่วุ่นวาย  แต่คนที่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น จะต้องมีความหวาดระแวง  มีความกังวล  มีความวิตก  กลัวว่าจะต้องถูกเรียกเอาคืนไป คือถูกทำร้าย  เมื่อไปทำร้ายเขา ก็ต้องคิดว่าเขาจะต้องมาทำร้ายเรา  แต่คนที่ไม่ไปทำร้ายผู้อื่น  ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ย่อมอยู่เย็นเป็นสุข  เพราะจิตใจไม่มีความหวาดระแวง ไม่มีความกลัวนั่นเอง  

หลังจากที่ได้พิสูจน์เห็นความจริงแล้ว ต่อไปใครจะพูดอย่างไร เช่นว่าบาปบุญไม่มี ก็ไม่มีปัญหาอะไร เราจะไม่เดือดร้อน ไม่กังวล   เพราะรู้ว่าคนที่พูดแบบนั้นเป็นคนตาบอด  เป็นคนที่ไม่ได้สัมผัสกับความจริง  เหมือนกับที่ศรัทธาญาติโยมได้มาที่วัดญาณฯ  ได้เห็นสภาพต่างๆของวัดญาณฯว่าเป็นอย่างไร  เวลาใครมาพูดมาบอกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้  เพราะรู้อยู่แกใจแล้วว่าสภาพของวัดญาณฯนั้นเป็นอย่างไร  แต่จะรู้ว่าเขาพูดจริงหรือไม่จริง เพราะเราเห็นความจริงแล้วนั่นเอง  นี่ก็คือความหมายของการมีศรัทธาที่นำไปสู่การปฏิบัติด้วยวิริยะ   ด้วยสติ ด้วยสมาธิ  ด้วยปัญญา  เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาภายในใจ  เมื่อรู้แล้วก็เท่ากับมีเบรกไว้ระงับจิตใจ    เวลาจะโกรธก็จะไม่โกรธ เพราะรู้ว่าเวลาโกรธเราเป็นผู้เดือดร้อน  ใจจะร้อนเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา เวลาเห็นอะไรอยากจะได้ ก็ระงับความอยากได้  เพราะรู้ว่าความอยากเป็นตัวสร้างความทุกข์ ความวุ่นวายใจ 

ถ้าไม่ได้มาวัด ไม่ได้มาฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ได้มาทำบุญทำทาน รักษาศีลปฏิบัติธรรม  เราจะไม่มีเบรกไว้เบรกใจ  เวลาเกิดความอยากอะไรขึ้นมาก็จะหยุดใจไม่ได้  อยากจะกินเหล้าก็หยุดไม่ได้  อยากจะเล่นการพนันก็หยุดไม่ได้   อยากจะออกไปเที่ยวกลางคืนก็หยุดไม่ได้  ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจ  เพราะเป็นเมืองพุทธ มีศาสนาคอยสั่งสอนอยู่เสมอว่าอบายมุขเป็นความเสื่อม  เป็นสิ่งที่จะทำลายเผาผลาญความสุขความเจริญของเราให้หมดไป ทั้งๆที่ได้ยินได้ฟังและรู้อยู่     แต่เมื่อเกิดความอยากขึ้นมาก็หยุดไม่ได้  เพราะไม่มีเบรก ไม่ได้เข้าวัด  ไม่ได้ปฏิบัติธรรม  ไม่ได้สร้างศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญานั่นเอง  เมื่อไม่มีเบรกก็เหมือนกับรถที่ไปถึงสี่แยกไฟแดง ก็ต้องชนแหลกเท่านั้นแหละ  เมื่อห้ามจิตใจไม่ได้ ก็ต้องทำในสิ่งที่นำความเสื่อมเสีย ความเดือดร้อนวุ่นวายมาให้ จนในที่สุดก็จะต้องหมดเนื้อหมดตัวหมดชีวิตไป เพราะเมื่อหมดเนื้อหมดตัวแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปทำไม ก็ฆ่าตัวตายเสียเลย 

ถ้าไม่มีเบรกไว้คอยเบรกใจ  เวลาเห็นอะไร อยากจะได้อะไร  ถ้าหาด้วยลำแข้งลำขา ด้วยสติปัญญาของตนไม่ได้ ก็ต้องหามาด้วยวิธีฉ้อโกง  ไปลักไปขโมย ไปโกหกหลอกลวง เวลาเห็นสามีภรรยาของผู้อื่นอยากจะได้มาครอบครอง  ก็จะหักห้ามจิตใจไม่ได้ เพราะไม่มีเบรก  ก็จะต้องไปเป็นชู้ เป็นเมียน้อย อยู่แบบไม่มีเกียรติ  อยู่แบบหลบๆซ่อนๆ อยู่แบบขโมย อย่างนี้จะดีที่ตรงไหน  แต่ก็ต้องเอา เพราะสู้ความอยากไม่ได้   ความอยากมันล้นอยู่ภายในใจ  อยากจะสุข อยากจะสบาย  อยู่กับเขาแล้ว เขาจะได้เลี้ยงดูเรา  ถึงแม้จะเป็นบ้านเล็กบ้านน้อยก็ยอมเป็น  นี่เป็นเพราะความเกียจคร้าน   ถ้ามีความขยันแล้วรับรองได้ว่าความเสื่อมจะเข้าไม่ถึงตัวเรา  เพราะเมื่อมีความขยัน ตอนเป็นเด็กก็จะขยันเรียนหนังสือ  ขยันทำงานช่วยพ่อแม่  ขยันหาเงินหาทองเพื่อไปเรียนหนังสือ  เมื่อเรียนจบ ก็ขยันทำมาหากิน มีเงินมีทอง มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตการงาน มีคนชื่นชมยินดี  ระหว่างคนเกียจคร้านกับคนขยันนั้น  ก็เหมือนกับสิ่งที่มีค่ากับไม่มีค่า  เหมือนทองกับก้อนอิฐ  อย่างไหนจะมีค่ากว่ากัน  ทองย่อมมีค่ากว่าก้อนอิฐอย่างแน่นอน 

คนก็เหมือนกัน  คนขยันกับคนเกียจคร้านมีค่าแตกต่างกัน  ไม่มีใครอยากจะคบกับคนเกียจคร้าน  มีแต่ชอบคบกับคนขยัน  เวลาคนขยันไปอยู่ที่ไหนกับใครมีแต่คนรัก ชื่นชมยินดี  เวลาจากไปก็เสียดาย  เวลากลับมา ก็ดีอกดีใจ  ถ้าเป็นคนเกียจคร้าน  ไปอยู่กับใครก็มีแต่คนสาปแช่ง มีแต่คนขับไล่ อยากให้ไปอยู่ไกลๆ  อยู่ก็มีแต่จะดูดทรัพย์ ดูดความเจริญ  จึงไม่ยินดีที่จะให้คนเกียจคร้านอยู่ด้วย  มีแต่อยากจะขับไล่ไสส่ง  เวลาไปก็มีแต่ความโล่งอกโล่งใจ เวลากลับมาก็จะมีแต่ความเบื่อหน่ายอิดหนาระอาใจ  นี่คือความแตกต่างระหว่างความเกียจคร้านกับความขยัน ถ้าไม่ได้มาวัดก็จะไม่รู้เรื่องเหล่านี้ ไม่เกิดปัญญา เพราะจะถูกความหลงคอยสอนให้เห็นผิดเป็นชอบ  ทำไมคนเราถึงเกียจคร้าน ก็เพราะมีความหลงครอบงำจิตใจ  ไม่ได้มีปัญญาแสงสว่างคอยเตือน คอยสอน คอยบอก ว่าความเกียจคร้านเป็นตัวทำลาย  ไม่ใช่ตัวส่งเสริมให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง  แต่ถ้ามาวัด มาฟังธรรม  ก็จะเกิดความรู้เกิดปัญญา เกิดความฉลาดขึ้นมา 

เมื่อรู้แล้วว่าความเกียจคร้านเป็นพิษเป็นภัย  เป็นเหมือนยาพิษ  ก็จะไม่เข้าใกล้ ไม่หยิบขึ้นมากินอย่างแน่นอน  เพราะไม่ใช่ยา  ไม่เหมือนปัญญา ซึ่งเป็นเหมือนกับยา  มีปัญญามากน้อยเท่าไรก็จะสามารถรักษาโรคใจได้มากน้อยเพียงนั้น   โรคใจคืออะไร  ก็คือความทุกข์ที่เกิดจากความหวาดกลัวทั้งหลาย  หวาดกลัวในความแก่ ความเจ็บ ความตาย  หวาดกลัวในการพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง  แต่ถ้ามีปัญญาแล้ว  จิตจะมีความกล้าหาญ ไม่มีความกลัว   เพราะปัญญาจะสอนจิตให้รู้ว่า สิ่งที่แก่ ที่เจ็บ ที่ตายไป ไม่ใช่ตัวจิต  สิ่งที่แก่ ที่เจ็บ ที่ตาย เป็นร่างกายต่างหาก  แต่ตัวจิตผู้กลัวความแก่ ความเจ็บ ความตายหาได้แก่ หาได้เจ็บ หาได้ตายไปกับร่างกายไม่   เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วจะเห็น   เมื่อจิตรวมลงเป็นสมาธิ จะเห็นว่ากายกับจิตเป็นคนละส่วนกัน  เป็นเหมือนกับน้ำกับขวดน้ำ เวลาอยู่ในขวดจะรู้สึกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  แต่ถ้าเทน้ำออกจากขวดใส่ไปในแก้ว ก็จะรู้ว่าน้ำเป็นอย่างหนึ่ง   ขวดเป็นอย่างหนึ่ง 

เวลาปฏิบัติธรรมด้วยสติ ทำจิตให้สงบรวมลงเป็นสมาธิแล้ว กายกับใจก็จะแยกออกจากกัน  กายก็อยู่ส่วนหนึ่ง  ใจก็อยู่ส่วนหนึ่ง  แล้วก็จะรู้ว่ากายไม่ใช่เรา  กายไม่ใช่ใจ  ใจกับกายเป็นคนละส่วนกัน  เวลากายเจ็บไข้ได้ป่วย ใจก็ไม่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยตามไปด้วย  คนที่มีปัญญาจึงไม่เจ็บเวลาเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เจ็บเพียงแต่ร่างกายเท่านั้น แต่ใจไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ไม่หวาดวิตกว่าโรคจะหายหรือไม่  จะตายหรือเปล่า   อย่างนี้จะไม่มีในใจของคนที่มียาธรรมโอสถคือปัญญา  นี่คือความหมายของการได้ยินได้ฟังธรรม  แล้วนำธรรมที่ได้ยินได้ฟังไปปฏิบัติ  ขอให้ลองนำไปปฏิบัติเถิด ด้วยวิริยะ อุตสาหะ  ทำบุญทำทานได้มากน้อยเพียงไร ก็ขอให้ทำอย่างสม่ำเสมอ  ทำทั้งที่วัดและที่บ้าน และที่อื่นๆ ทำได้ทุกแห่งทุกหน  ไม่จำกัดสถานที่และเวลา ศีลก็พยายามรักษาไว้ให้ดี  อย่าไปเบียดเบียนผู้อื่น  พยายามเจริญสตอยู่เสมอ  เวลาคิดอะไรให้มีสติรู้อยู่  เวลาคิดทำในสิ่งที่ไม่ดี จะยับยั้งได้  เช่นจะเสพสุรายาเมา  พอรู้ว่าคิดอย่างนั้น ก็ระงับได้  พอคิดว่าจะเล่นการพนัน ก็ระงับได้  จะพูดปดมดเท็จ ก็ระงับได้  จะฉ้อโกง ก็จะระงับได้ เพราะมีสติ และมีสมาธิ   จิตตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน มีปัญญารู้ผิดรู้ถูกรู้ดีรู้ชั่ว  เมื่อรู้เแล้วเวลาจิตจะคิดไปในทางที่ไม่ดี ก็เบรกจิตได้ เพราะมีเบรกนั่นเอง    

นี่แหละคืออานิสงส์ผลอันดีงามที่จะได้รับกันเวลามาวัด มาสร้างเบรกให้มีกำลังมากยิ่งๆขึ้นไป จนกระทั่งเป็นเบรกที่เบรกได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  แม้กระทั่งภพชาติก็เบรกได้  อย่างเบรกของพระพุทธเจ้ากับของพระอรหันต์  คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานั้น เต็มเปี่ยม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  มีอานุภาพมีพลัง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  จึงสามารถหยุดตัณหาทั้ง ๓ ได้อย่างเด็ดขาด   หยุดกามตัณหาความอยากในกาม  หยุดภวตัณหาความอยากมีอยากเป็น  หยุดวิภวตัณหาความอยากไม่มีอยากไม่เป็นได้โดยสิ้นเชิง  เมื่อหยุดได้โดยสิ้นเชิงแล้ว  ภพชาติที่ต้องอาศัยความอยากทั้ง ๓ เป็นตัวพาไปก็ไม่มีอีกต่อไป   พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลายจึงไม่ไปเกิดอีกต่อไป  จิตของท่านหยุดแล้วเรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย  เมื่อไม่เกิด ทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิด เพราะเมื่อไม่เกิดแล้วจะเอาความทุกข์มาจากที่ไหน  ความทุกข์มาได้เพราะมีการเกิด  เมื่อเกิดออกมาจากท้องแม่ก็ร้องห่มร้องไห้แล้ว  เมื่อแก่ก็ทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทุกข์  ตายก็ทุกข์

แต่ถ้าไม่เกิดแล้วจะเอาความทุกข์มาจากที่ไหน  และการที่จะไม่เกิดได้ก็ต้องมีเบรกใจนั่นเอง  เบรกความอยากทั้ง ๓  ไม่ไปอยากกับอะไรอีกต่อไปในโลกนี้  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะมีแต่ความสุขอยู่ภายในใจอย่างเดียว   เพราะทุกข์ทั้งหลายที่เกิดจากความอยากนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้นั่นเอง เพราะมีเบรกใจ  มีศรัทธาเต็มเปี่ยม เต็ม ๑๐๐  มีวิริยะความพากเพียรเต็ม ๑๐๐  มีสติเต็ม ๑๐๐  มีสมาธิเต็ม ๑๐๐  มีปัญญาเต็ม ๑๐๐  เมื่อมีธรรมเหล่านี้เต็มร้อยแล้ว ก็เท่ากับมีเบรกเต็ม ๑๐๐ ในหัวใจ  เมื่อมีเบรกเต็ม ๑๐๐ ในหัวใจแล้ว เรื่องของการไปก่อเวรก่อกรรม สร้างภพสร้างชาติ ก็จะไม่มีกับจิตดวงนั้นอีกต่อไป  เพราะจิตดวงนั้นได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด  หลุดพ้นจากภัยทั้งหลาย  หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลายแล้วโดยสิ้นเชิง  เป็นจิตที่มีแต่บรมสุขไปตลอดอนันตกาล  นี่เป็นผลที่จะตามมา สำหรับท่านที่มีวิริยะอุตสาหะ มาวัดอย่างสม่ำเสมอ  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้