กัณฑ์ที่ ๒๐๖   ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘

สมถภาวนา

 

วันนี้ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พวกเราเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง   ถ้าย้อนเวลากลับไป ๒๕๔๘ ปี  วันนี้ก็เป็นวันที่ ๘ หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน  มีการเก็บพระศพไว้ ๗ วัน ๗ คืน  เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้มาคารวะกราบไหว้บูชาเป็นครั้งสุดท้าย  พอวันที่ ๘ คือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ก็มีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ  ก่อนหน้านั้นก่อนที่จะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน  ได้ประทานพระปัจฉิมโอวาทให้กับสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายไว้ว่า  สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง จงยังประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด 

พวกเราที่มาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ ก็เพราะโอวาทอันนี้แหละ ที่ทรงมอบไว้ให้กับเรา เพื่อเตือนสติเตือนใจ ไม่ให้พลั้งเผลอ  ไม่ให้ลืมว่า ชีวิตของเรานั้นไม่เที่ยงแท้แน่นอน  มีการเกิดขึ้นแล้ว ต้องมีความแก่ มีความเจ็บ มีความตายไปในที่สุด  จึงไม่ควรปล่อยเวลาอันมีค่าของมนุษย์นี้ให้ผ่านไป โดยไม่ทำประโยชน์ที่สามารถจะทำได้  ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ก็คือประโยชน์ทางด้านจิตใจนั่นเอง  เพราะจิตใจเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของชีวิต  พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ใจเป็นประธาน ใจเป็นใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นที่ใจ  ใจดีทุกสิ่งทุกอย่างก็ดี  ถ้าใจไม่ดีทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ดีตามไปด้วย  ถ้าใจดีแล้วความคิดก็ดี  การพูดก็ดี  การกระทำก็ดีไปด้วย  ถ้าใจไม่ดีความคิดก็ไม่ดี  การพูดก็ไม่ดี การกระทำก็ไม่ดี  เมื่อคิดไม่ดี พูดไม่ดี กระทำไม่ดี  ผลก็คือความทุกข์ความเสื่อมเสียก็จะตามมา  ถ้าคิดดี พูดดี ทำดี ผลก็คือความสุขความเจริญทางด้านจิตใจ ก็จะเป็นสิ่งที่ตามมา  

พระพุทธศาสนาจึงพุ่งเป้าไปที่ใจเป็นหลัก  สอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายให้พัฒนาจิตใจของตน ให้ดีให้ประเสริฐ  เหมือนกับจิตใจของพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  จิตใจจะดีได้ก็เพราะคุณธรรม  จิตใจไม่ดีก็เพราะกิเลสตัณหา  มีอวิชชา ความไม่รู้  โมหะ ความหลงคอยผลักดัน  สิ่งที่จะทำลายกิเลสตัณหา โมหะอวิชชาได้  ก็คือคุณธรรมความดีงามทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมา แล้วนำมาเผยแผ่ให้กับสัตว์โลกไว้เป็นเครื่องพัฒนาจิตใจ  ชำระซักฟอกจิตใจ ให้สะอาดหมดจด   ธรรมที่มีความสำคัญต่อการซักฟอกนี้  ทรงเรียกว่าภาวนา  การบำเพ็ญภาวนาเป็นการทำจิตใจให้สงบ ร่มเย็นเป็นสุข  มีปัญญา รู้เหตุรู้ผล รู้ทุกสิ่งทุกอย่างตามสภาพความเป็นจริง  นี่คือคุณธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาจิตใจ  ที่จะทำให้จิตใจดี  สะอาดบริสุทธิ์ 

การประกอบการบำเพ็ญภาวนานี้ จำต้องมีคุณธรรมประกอบที่สำคัญคือสติ  จะบำเพ็ญสมถภาวนา คือการทำจิตใจให้สงบก็ดี หรือเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหลายก็ดี  ต้องมีสติเป็นผู้นำไป  การภาวนาจะไม่เป็นการภาวนาถ้าไม่มีสติเป็นผู้คอยนำไป เพราะเหตุใด  เพราะถ้าภาวนาไม่มีสติแล้ว ใจจะไม่อยู่กับงานที่ควรอยู่  แต่จะลอยไปลอยมา คิดเรื่องราวต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีตก็ดี หรือเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าก็ดี  ถ้าจิตใจไม่มีสติไว้คอยควบคุมให้อยู่กับปัจจุบัน  ให้อยู่กับที่นี่ เดี๋ยวนี้  ให้อยู่กับองค์ภาวนา ไม่ว่าจะเป็นการบริกรรมพุทโธๆๆ  หรือการกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ตาม    ถ้าไม่มีสติแล้ว การภาวนาก็จะไม่เกิดผล  คือจิตจะไม่หยุดนิ่ง  จิตจะไม่สงบ  ต้องมีสติ การภาวนาจึงจะเป็นผลขึ้นมา  ไม่ว่าจะเป็นการเจริญพุทธานุสติ ก็ต้องมีสติ  พุทธานุสติก็คือการมีสติรู้อยู่กับพุทโธๆๆนั่นเอง  ถ้าอานาปานสติ ก็หมายถึงการมีสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียว  ไม่ไปรู้เรื่องอื่น เรื่องต่างๆ นานาของคนนั้นก็ดี  ของคนนี้ก็ดี  ของเราก็ดี  ของอดีตที่ผ่านมาแล้วก็ดี  ของอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ดี  เรื่องราวต่างๆเหล่านี้จิตไม่ต้องไปรู้  ไม่ควรจะรู้  แต่ควรจะรู้อยู่กับเรื่องที่เรากำหนดให้จิตรู้   

ถ้าเจริญพุทธานุสติ คือกำหนดบริกรรมคำว่า พุทโธๆๆอยู่ในใจ  ก็ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆๆอย่างต่อเนื่อง  อย่าให้จิตแวบออกไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ  ถ้ามีสติจะรู้ทันทีเวลาจิตแวบออกไป  ถ้าจิตแวบออกไป ก็สามารถดึงกลับมาได้ทันที  เช่น บริกรรมพุทโธๆๆอยู่ภายในใจ แล้วก็แวบออกไปคิดถึงเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้  มีสติปั๊บก็รู้ว่าไม่ได้อยู่กับพุทโธแล้ว  ก็ดึงกลับมาหาพุทโธใหม่  ดึงมาหาพุทโธๆๆไปในใจ  ถ้าไม่มีสติแล้ว ก็จะคิดเรื่อยเปื่อยไป ควบคู่กับการบริกรรมพุทโธๆๆ  คือใจก็บริกรรมพุทโธไป แต่อีกใจหนึ่งก็ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ  ถ้าเป็นการกระทำแบบนี้ก็แสดงว่าเผลอสติ  เมื่อไม่มีสติแล้วสมถภาวนาก็จะไม่เกิดผล  คือจิตจะไม่รวมลงสู่ความสงบ ที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ หรือขณิกสมาธิ  ก็จะไม่เกิดขึ้น  นั่งไปภาวนาไปเป็นเวลาหลายนาที หลายชั่วโมง  ก็จะมีแต่ความฟุ้งซ่าน ไม่มีความสงบ ถ้าขาดสติ   ดังนั้นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าต้องการความเจริญก้าวหน้าในด้านจิตตภาวนา ก็คือการเจริญสติอยู่อย่างสม่ำเสมอ 

สตินี้เราควรเจริญอยู่ตลอดเวลา  ไม่ใช่เพียงแต่ขณะที่จะมานั่งสมาธิหรือเดินจงกรมภาวนาเท่านั้น  สตินี้เราสามารถเจริญได้ตลอดเวลา  ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงเวลาหลับไปเลยทีเดียว  เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไร เราควรมีสติรู้อยู่กับการกระทำนั้นๆ    เวลาเดินก็รู้ว่ากำลังเดินอยู่  เวลายืนก็รู้ว่ากำลังยืนอยู่  เวลานั่งก็รู้ว่ากำลังนั่ง  เวลานอนก็รู้ว่ากำลังนอน  เวลารับประทานอาหารก็รู้ว่ากำลังรับประทานอาหาร  เวลาเขียนหนังสือก็รู้ว่ากำลังเขียนหนังสือ  เวลาอ่านหนังสือก็ให้รู้อยู่กับการอ่านหนังสือ  เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ให้อยู่กับการฟังเทศน์ฟังธรรม  นี่คือลักษณะของการมีสติ  คือจิตต้องอยู่ในปัจจุบันเสมอ  อยู่กับตัว  ถ้ามีสติอยู่กับตัว  ก็เรียกว่ามีกายคตาสติ  คือมีสติอยู่กับกาย  มีกายเป็นเครื่องผูกใจ  เป็นเครื่องสร้างสติให้เกิดขึ้นได้  อาศัยร่างกายเป็นเหมือนกับเสาไว้ผูกจิต  จิตก็เปรียบเหมือนกับลิงตัวหนึ่ง  ถ้าไม่มีเชือกผูกคอไว้ แล้วมัดไว้กับเสา  ลิงจะไม่อยู่กับที่  จะต้องไปเรื่อยเปื่อยตามประสาของลิง   เพราะธรรมชาติของลิงมันจะไม่อยู่เฉยๆ 

ธรรมชาติของจิตที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝนอบรม ก็เป็นแบบเดียวกัน  จะไม่อยู่ในปัจจุบัน  จะไม่อยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้  จะอยู่ได้ก็เพียงแวบเดียว  แล้วเดี๋ยวก็ไปแล้ว  ไปอดีตบ้าง  ไปอนาคตบ้าง  แล้วเดี๋ยวก็กลับมาปัจจุบัน  แล้วเดี๋ยวก็ไปอีก  เป็นอย่างนี้ไปอยู่เรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง  เมื่อไม่เคยหยุดนิ่งจิตก็ไม่สงบ  เมื่อไม่สงบก็จะไม่ได้สัมผัสกับความสุขที่เกิดจากความสงบ  ซึ่งเป็นความสุขที่เลิศ ที่วิเศษ ยิ่งกว่าความสุขต่างๆ ที่สิ่งต่างๆในโลกนี้จะสามารถมอบให้กับเราได้  เมื่อไม่เคยสัมผัสกับความสุขอันเลิศอันวิเศษ  เราจึงต้องหลงไปหาความสุขจากภายนอก  แต่เราไม่รู้หรอกว่า ความสุขภายนอกนั้น เป็นความสุขที่มีความทุกข์คลุกเคล้าอยู่  ซ่อนเร้นอยู่  ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากอะไรก็ตาม จะต้องมีความทุกข์ปนอยู่ด้วย  ไม่ช้าก็เร็วความทุกข์เหล่านั้นก็จะปรากฏขึ้นมา สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ที่ไปเกี่ยวข้องด้วย 

แต่ถ้าได้น้อมเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มาปฏิบัติกับตน ด้วยการฝึกตั้งสติตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาเลย  พอตื่นนอนขึ้นมา รู้สึกตัวแล้ว ก่อนจะลุกไปทำอะไร ก็ตั้งสติก่อน  เอาจิตนี้ประกบไปกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย  ขณะที่ลุกก็รู้ว่ากำลังลุก  เมื่อลุกแล้วก็รู้ว่าลุกแล้ว  เมื่อเริ่มก้าวเดินไปทำอะไร ก็ให้รู้อยู่กับการก้าวเดิน  จะไปเข้าห้องน้ำ ไปล้างหน้าล้างตา แปรงฟัน ก็ให้มีสติ ให้รู้อยู่กับงานที่กระทำอยู่ในขณะนั้นๆ   นี่คือการฝึกสติ  เมื่อได้ฝึกสติแบบนี้อย่างต่อเนื่องแล้ว  ต่อไปใจจะอยู่ภายใต้การควบคุมของเรา  จะไม่แวบไปที่โน่นที่นี่  แต่ถ้าใจไม่มีสติแล้ว เราจะควบคุมมันไม่ได้  เวลามันจะไปทำอะไร สร้างความเดือดร้อนให้กับเรา  เราก็จะไปหยุดมันไม่ได้  ชีวิตของคนเราทุกวันนี้ ที่มีปัญหา มีเรื่องราวเดือดร้อนกันส่วนใหญ่ ก็เพราะขาดสตินั่นเอง  เวลาจิตคิดจะไปทำอะไรมิดีมิร้าย  ก็ไม่มีกำลังที่จะดึงมันไว้ จะหยุดมันไว้  อยากจะไปเสพสุรายาเมาก็หยุดมันไม่ได้  อยากเล่นการพนันก็หยุดมันไม่ได้  อยากจะไปเที่ยวเตร่ก็หยุดมันไม่ได้  เพราะไม่มีเบรกเป็นเครื่องหยุดใจนั่นเอง 

ถ้ามีสติแล้วเราจะมีเบรก  เพราะสตินี่แหละคือเบรกใจ  เป็นสิ่งที่สามารถหยุดใจของเราได้  เวลาที่ใจคิดไปในทางที่ไม่ดี เราก็หยุดมันได้  เราอาจจะอาศัยพุทโธๆๆเป็นเครื่องช่วยเบรกด้วย  เช่นขณะที่เราคิดว่าอยากจะไปทำอะไรมิดีมิร้าย  ผิดศีลผิดธรรม เราก็เบรกด้วยการบริกรรมพุทโธๆๆไปในใจ ให้จิตอยู่กับการบริกรรมไปเรื่อยๆ  ไปสักระยะหนึ่งความคิดที่อยากจะไปทำสิ่งที่มิดีมิร้ายนั้น ก็จะหายไปจากใจ  เมื่อหายไปจากใจแล้ว จิตก็จะไม่มีความอยากที่จะไปทำสิ่งนั้นๆอีกต่อไป  แล้วยิ่งถ้าสามารถควบคุมจิตให้นิ่งให้สงบ  ไม่ให้คิดเรื่องราวอะไรต่างๆได้  แม้จะเป็นสักระยะหนึ่ง ก็จะเป็นการพักผ่อนจิตใจ  เป็นการให้ความสุขกับจิตใจ  เมื่อจิตใจมีความสุขที่เกิดจากความสงบแล้ว  จิตก็จะมีความอิ่ม มีความพอ  ไม่คิด ไม่หิวไม่อยากกับเรื่องราวต่างๆ  แล้วจิตก็จะเริ่มค่อยเกิดปัญญาขึ้นมา  เริ่มเห็นแล้วว่าความหลงนั้นเกิดจากความไม่สงบของจิตใจ   เมื่อจิตไม่สงบ จิตก็จะมีความรู้สึกหิว  มีความอยาก ต้องการสิ่งนั้น ต้องการสิ่งนี้  เมื่อไม่มีปัญญาคอยสอน ว่าสิ่งไหนเป็นคุณ สิ่งไหนเป็นโทษ  ก็จะถูกความหลงหลอกให้วิ่งไปหาสิ่งที่เป็นโทษทั้งสิ้น  

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตใจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย  ไม่ว่าจะผ่านมาทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี  ทางลิ้นก็ดี  ทางกายก็ดี  ล้วนมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น  คนเราทุกวันนี้ที่ร้องห่มร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจกันก็เพราะสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาทางทวารทั้งห้านี้ทั้งนั้น ที่ทำให้เราต้องเศร้าโศกเสียใจร้องห่มร้องไห้กัน  เพราะเราไม่มีปัญญา เวลาเห็นอะไร ได้ยินอะไรที่ถูกอกถูกใจ ก็อยากจะได้มาครอบครองเป็นสมบัติของเรา  นี่คืออำนาจของความหลง มันหลอกให้เราออกไปแสวงหาสิ่งต่างๆในโลกนี้ แบบไม่รู้จักจบจักสิ้น  ได้มาเท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ  แต่ถ้าได้มาวัด ได้ยินได้ฟัง พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้รู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ในตัวเรา อยู่ในใจของเรา ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย  เพียงแต่ว่าเราต้องปลุกความสุขนี้ให้ตื่นขึ้นมาให้ได้  ขณะนี้ความสุขที่มีอยู่ในใจของเรานั้น ถูกกิเลส อวิชชา ตัณหา มันปกปิดไว้ มันกดไว้ ไม่ให้โผล่ขึ้นมา  เราจึงต้องอาศัยการภาวนา สมถภาวนาเป็นเครื่องทำให้จิตใจสงบ ด้วยการเจริญสติอย่างสม่ำเสมอ 

ขณะที่เราไม่ได้ภาวนา ไม่ได้นั่งทำสมาธิ หรือไม่ได้เดินจงกรม  ก็ให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย  ไม่ว่าร่างกายจะทำอะไร อยู่ที่ไหนขอให้มีสติ ขอให้จิตอยู่กับร่างกายเสมอ  อย่าไปอยู่ที่อื่น  เช่นขณะนี้เรานั่งอยู่ในศาลานี้  กำลังฟังเทศน์ฟังธรรม  ก็ขอให้จิตอยู่กับการฟังเทศน์ฟังธรรม  อย่าไปคิดถึงเรื่องที่จะไปทำต่อไป  หรือเรื่องที่ผ่านมาแล้วเมื่อสักครู่ ว่าเกิดอะไรขึ้นมา  ไม่ควรคุยกัน  ควรตั้งสติอยู่กับการฟังโดยถ่ายเดียว  พอแวบไปคุยกัน ก็แสดงว่าเผลอแล้ว ไม่ได้ฟังแล้ว ก็จะไม่ได้ยินในส่วนที่เผลอไป  การฟังก็จะไม่ติดต่อกัน   ประโยชน์ที่จะได้รับก็จะไม่ได้เต็มร้อย  เพราะฟังแล้วก็จะไม่เข้าใจนั่นเอง  เพราะฟังแบบขาดๆเกินๆ ไม่ปะติดปะต่อกัน  ไม่เป็นเรื่องเป็นราว  ก็เลยไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจากการฟัง  แต่ถ้าตั้งใจฟังอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอแล้ว  ก็จะมีสติ  พอเวลาไปนั่งทำสมาธิ จิตก็จะสงบได้อย่างง่ายดาย 

ในเบื้องต้นจะสวดมนต์ไปภายในใจก่อนก็ได้ ถ้ารู้สึกว่าจิตไม่อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆๆ  หรือไม่สามารถอยู่กับลมหายใจเข้าออกได้  ก็สวดมนต์ภายในใจไปก่อน เป็นการภาวนาด้วยการสวดมนต์  สวดไปสักระยะหนึ่ง ถ้ารู้สึกว่าอยากจะหยุดสวด ก็ลองหยุดดู  ดูซิว่าจิตจะนิ่งไหม   ยังจะแวบไปหาเรื่องนั้นหาเรื่องนี้อยู่หรือเปล่า  ถ้ายังแวบไปอยู่ ก็ลองบริกรรมพุทโธๆๆต่อไป   ถ้าชอบการบริกรรมพุทโธๆๆ  ถ้าไม่ชอบบริกรรมพุทโธๆๆ ก็ลองกำหนดดูลมหายใจเข้าออกดู  ให้จิตรู้อยู่ที่จุดที่ลมสัมผัสในขณะเข้าไปหรือออกมา  ส่วนใหญ่ก็อยู่แถวปลายจมูกหรือ  บริเวณเหนือริมฝีปากขึ้นมา ก็ให้กำหนดรู้อยู่ตรงจุดนั้นจุดเดียว  ไม่ต้องตามลมเข้าไป  ไม่ต้องตามลมออกมา  เหมือนกับคนที่เฝ้าประตู  เขาดูคนเข้า ดูคนออก  เขาก็ดูตรงที่ประตูนั้น  คนจะเข้ามากี่คนก็ต้องผ่านประตูนั้น  คนจะออกไปกี่คนก็ต้องผ่านที่ประตูนั้น  ถ้าตามคนเข้าตามคนออก เดี๋ยวก็จะนับไม่ได้  เดี๋ยวก็จะหลงว่า คนนี้เข้ามาหรือยัง  คนนี้ออกไปหรือยัง  แต่ถ้าตั้งสติเฝ้าอยู่ตรงจุดเดียว  ตรงที่ประตูนั้น คนจะเข้ามากี่คนก็รู้  คนจะออกไปกี่คนก็รู้ 

ฉันใดการดูลมก็แบบนั้น  ให้ดูอยู่ตรงจุดที่ลมสัมผัสที่ชัดที่สุด  ที่ปลายจมูกหรือเหนือบริเวณริมฝีปากขึ้นมา  ก็ให้รู้อยู่ตรงนั้น ไม่ต้องไปรู้เรื่องอื่น รู้เรื่องลมอย่างเดียว ลมจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ต้องไปบังคับ ลมจะหยาบก็รู้ว่าลมหยาบ ลมจะละเอียดก็รู้ว่าลมละเอียด แม้กระทั่งลมรู้สึกว่าหายไปจากความรู้สึก ก็ให้รู้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปวิตก ตกใจว่า ไม่มีลมหายใจแล้ว แสดงว่าเราจะตายแล้ว ใช่ไหม ถ้าไปคิดอย่างนี้ก็จะเกิดความวิตก เกิดความกลัวขึ้นมา แล้วก็จะไม่กล้าภาวนาต่อไป  จิตก็จะไม่รวมลงสู่ความสงบ  แต่ถ้ารู้ไปตามความเป็นจริงของลม  ถึงแม้จะรู้สึกว่าไม่มีลม ก็ไม่ต้องกลัว ตราบใดมีผู้รู้อยู่ มีสติอยู่แล้ว ไม่ตายแน่นอน ผู้ที่ภาวนาอานาปานสติมา มีมากมายก่ายกอง ไม่มีใครตายสักคนจากการภาวนาอานาปานสติ  แต่คนที่กลัวนั้นต่างหาก จะเป็นคนที่จะไม่สามารถรับผลที่เกิดจากการภาวนาอานาปานสติได้ 

แต่ถ้ากำหนดสติให้รู้ตามความเป็นจริงของลม  จะหยาบก็รู้ว่าหยาบ จะละเอียดก็รู้ว่าละเอียด จะไม่มีลมเหลืออยู่เลยก็รู้ว่าไม่มีลมเหลืออยู่เลย ถ้ารู้อยู่อย่างนั้นแล้ว ไม่นานจิตก็จะรวมลงเข้าสู่ความสงบ เรียกว่าจิตรวมลงเป็นสมาธิ  จะเป็นขณิกสมาธิก็ได้ คือรวมลงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ไม่นานนัก แล้วก็ถอนออกมา หรือรวมลงแล้วอยู่เป็นเวลาอันยาวนาน อย่างนั้นก็เรียกว่าอัปปนาสมาธิ นี่คือผลที่จะเกิดขึ้นจากการเจริญสติอย่างสม่ำเสมอในอิริยาบถสี่ ไม่ว่าจะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน จะทำอะไรกับร่างกาย    ถ้ามีสติระลึกรู้อยู่กับการกระทำของร่างกายแล้ว  เวลานั่งสมาธิโอกาสที่จิตจะสงบลงสู่ความสงบนั้น ก็จะมีมาก เมื่อจิตสงบแล้วจิตก็จะเบา จิตก็จะว่าง ในขณะนั้นเหมือนกับว่าโลกนี้ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย เหลืออยู่แต่สักแต่ว่ารู้เท่านั้น

นี่คือธรรมชาติของจิต  เวลาที่จิตสงบจะมีสักแต่ว่ารู้เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในจิตเลย มีแต่ความสงบ มีแต่ความสุข มีแต่ความอิ่มเอิบ แต่สภาพของความสงบนี้ในเบื้องต้นก็จะอยู่ได้ไม่นาน อยู่ได้สักขณะหนึ่งก็จะถอนออกมา หรือบางท่านก็อาจจะอยู่ได้นาน ขึ้นอยู่กับบุญบารมีที่เคยได้สะสมมาในอดีต การอยู่สั้นหรืออยู่นานก็ไม่สำคัญ ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของมันก็แล้วกัน  ถ้าอยู่แป๊บเดียวแล้วถอนออกมาก็ไม่เป็นไร  ถ้าอยู่นานแล้วถอนออกมาก็ไม่เป็นไร  แต่สิ่งที่จะได้รับขณะที่ถอนออกมาคือความอิ่มเอิบใจ ความเย็นใจ แล้วทีนี้พอจิตจะเริ่มคิดเริ่มปรุงเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ก็ควรเอาจิตนี้มาเจริญวิปัสสนาต่อ คือเมื่อสักครู่นี้เราทำจิตใจให้สงบ เมื่อจิตสงบแล้วรวมอยู่ได้ ตั้งอยู่ได้สักระยะหนึ่ง เมื่ออิ่มตัวแล้วก็ถอนออกมา ทีนี้ถ้าปล่อยให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ มันก็จะคิดไปตามประสาเดิมๆ คิดไปตามประสากิเลสตัณหา  เห็นอะไรก็อยากจะได้ เห็นอะไรก็อยากจะมี ถ้าปล่อยให้คิดอย่างนี้ เดี๋ยวก็จะต้องมีปัญหาตามมา  คือจะต้องไปแสวงหาสิ่งต่างๆ แล้วก็จะต้องไปทุกข์ ไปกังวล ไปเศร้าโศกเสียใจต่อไปอีก

ดังนั้นเวลาจิตเริ่มคิดอยากจะได้อะไร ก็ต้องใช้วิปัสสนาเข้ามาเป็นเครื่องสกัด  คือต้องพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งที่จิตอยากจะได้นั้น ล้วนเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น คือเป็นของไม่เที่ยง มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย เป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นความสุข อาจจะเป็นความสุขในขณะที่ได้มาใหม่ๆ  แต่ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมากับสิ่งนั้นๆ   เป็นอนัตตาก็คือเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่สมบัติของผู้หนึ่งผู้ใด ไม่อยู่ภายใต้การบังคับควบคุมของใครเลย นี่คือธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย  ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคลต่างๆ เวลาเห็นคนสวย เราก็อยากจะได้ เราชอบคนนี้ เราอยากจะได้เขามาเป็นคู่ครอง  แต่เราไม่เคยคิดเลยว่า คนที่เราชอบนี้ สักวันหนึ่งรูปร่างหน้าตาของเขาก็จะต้องเปลี่ยนไป ตอนนี้เขาหนุ่มเขาสาว แต่เดี๋ยวเขาก็จะกลายเป็นคนแก่คนชรา เดี๋ยวจะต้องเป็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย กลายเป็นคนที่เราจะต้องมาคอยดูแลรักษา กลายเป็นภาระ กลายเป็นความทุกข์ไป สิ่งเหล่านี้เรามองไม่เห็นในปัจจุบัน เพราะมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ อย่างรูปร่างหน้าตาของคนเรานี้ ก่อนจะเปลี่ยนไปได้ ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร  แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือมันจะต้องเปลี่ยนแน่ๆ  เพราะไม่มีใครอยู่เป็นหนุ่มเป็นสาวไปได้ตลอด  สักวันหนึ่งก็จะต้องเป็นคนแก่ กลายเป็นคนตายไปในที่สุด   นี่คือเป็นธรรมชาติของคนเราทั้งสิ้น

ถ้าเรามีวิปัสสนา คือมีปัญญาคอยเตือนสติอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยากจะได้นั้น เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นของที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ  เป็นกองทุกข์  ไม่ใช่เป็นความสุข มันให้ความสุขกับเราชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ในลักษณะของยาขมเคลือบน้ำตาล เวลาอมเข้าไปในปากใหม่ๆ ก็หวานดี แต่พอน้ำตาลละลายหมดไปแล้ว มันเหลือแต่ความขมของยาให้เราสัมผัส   สิ่งต่างๆที่เราได้มาใหม่ๆ ก็เป็นเช่นนั้น  เหมือนข้าวใหม่ปลามัน อยู่ด้วยกันใหม่ๆ ก็รู้สึกว่าทุกอย่างนั้นดีไปหมด มีแต่ความสุข แต่พออยู่กันไปสักระยะหนึ่งแล้ว ก็เกิดความชินชา เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความอิดหนาระอาใจตามมาทีหลัง  แล้วทีนี้ก็เกิดความทุกข์ อยากจะไปหาของใหม่ๆ แต่ก็ไปหาไม่ได้ เพราะเมื่อมีของเก่าแล้วไปหาของใหม่เดี๋ยวก็มีปัญหาตามมา ถึงจะมีปัญหา บางคนก็ยังอุตส่าห์ลักลอบไปหาจนได้  แล้วในที่สุดก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมา กลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ถึงกับทะเลาะวิวาททำร้ายชีวิตของกันและกัน ก็มีเป็นจำนวนมาก

เหล่านี้มันไม่ใช่เป็นความสุขเลย แต่เป็นความทุกข์ที่ตามความสุขมา ความสุขจะมาตอนต้นเท่านั้น ตอนที่ได้สัมผัส ตอนที่ได้มาใหม่ๆ  ได้คนนี้มาใหม่ๆ ก็มีความสุขกับคนนี้ แต่อยู่ไปนานๆ เข้าก็เกิดความชินชาจำเจ เกิดความเบื่อหน่ายตามมา  แล้วก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้ามีปัญญาคอยสอนเราอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว รับรองได้ว่าเวลาเห็นอะไร ถึงแม้จะเกิดความอยาก ความยินดีขึ้นมา ก็จะสามารถระงับความอยาก ความยินดีเหล่านั้นได้ ทำให้เราไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งต่างๆภายนอก เพราะรู้ว่าไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง สู้ย้อนกลับเข้ามาสู่จิตของเราไม่ได้ ทำจิตใจให้สงบ  กำหนดพุทโธๆๆไปภายในใจ   พอจิตสงบลง ใจก็เบา ใจก็สบาย  ใจก็มีความสุข เป็นการหาความสุขที่แท้จริง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้