กัณฑ์ที่ ๒๑๐    ๑๑  มิถุนายน  ๒๕๔๘

กรรมฐาน

 

วันนี้เป็นวันเสาร์ เป็นวันหยุดราชการ  เป็นวันที่ท่านทั้งหลายมีเวลาว่างเว้นจากภารกิจการงาน จึงได้มาที่วัดกัน เพื่อใช้เวลาให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ ด้วยการทำบุญทำทาน รักษาศีล  ฟังเทศน์ฟังธรรม  ปฏิบัติธรรม เจริญจิตตภาวนา สมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ส่วนวันธรรมดาคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ท่านต้องไปทำงานกัน ก็ไปตามสถานที่ต่างๆ ถ้าเป็นครูเป็นอาจารย์ ก็ไปโรงเรียน ไปมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นแพทย์เป็นพยาบาล ก็ไปโรงพยาบาล  ถ้าเป็นข้าราชการ ก็ไปตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ  ถ้าเป็นเอกชน ก็ไปตามสำนักงาน ตามโรงงานต่างๆ  เพราะที่นั้นเป็นที่ตั้งของงานนั่นเอง เป็นที่ทำงาน 

การปฏิบัติธรรม คือการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ก็เป็นการทำงานเหมือนกัน  เพียงแต่เป็นการทำงานทางจิตใจ ซึ่งต่างกับงานทางโลก เป็นการชำระจิตใจ  ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง  ซึ่งเป็นต้นเหตุ ที่สร้างความวุ่นวายใจ  สร้างความทุกข์  สร้างความกังวลใจให้กับเรา  พวกเราทุกคนจึงต้องชำระจิตใจ ด้วยการบำเพ็ญจิตตภาวนา  คือสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา  เพราะถ้าได้เจริญ ได้บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาภาวนาแล้ว จิตใจจะสะอาดขึ้นไปตามลำดับ  ความสุขความสบายใจ ก็มีเพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับ  ความทุกข์ความกังวลใจต่างๆ ก็จะหมดไปตามลำดับ  การบำเพ็ญจิตตภาวนาก็เป็นเหมือนกับงานทางโลก  ต้องมีที่ตั้งของงาน มีสำนักงาน มีที่ทำงาน  ที่ตั้งของงานจิตตภาวนา สมถะและวิปัสสนาภาวนา ก็คือกรรมฐาน   คำว่ากรรมฐานนี้แปลว่าที่ตั้งของงาน  กรรมแปลว่าการกระทำหรือการงาน   ฐานแปลว่าที่ตั้ง    กรรมฐานจึงเป็นที่ตั้งของงาน เป็นที่ทำงานของการบำเพ็ญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา    ถ้าไม่มีกรรมฐานก็ไม่สามารถบำเพ็ญภาวนา คือสมถะและวิปัสสนาได้  

กรรมฐานที่เรารู้จักกันดีก็คือพุทธานุสติ  คือการบริกรรมพุทโธๆๆ เป็นสมถกรรมฐาน  พุทโธเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจ  กล่อมจิตใจ ทำให้จิตใจสงบ ให้เย็นสบาย ให้อิ่มเอิบใจ  หรือจะเจริญธัมมานุสติก็ได้ ด้วยการบริกรรมธัมโมๆๆไปเรื่อยๆ หรือจะสวดมนต์ไปในใจก็ได้  เช่นสวดอรหังสัมมาฯ  อิติปิโสฯ  สวากขาโตฯ  สุปฏิปันโนฯ  สวดไปเรื่อยๆ โดยที่จิตใจไม่ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ มีสติรู้อยู่กับการสวดมนต์ นี่ก็เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง เรียกว่าสมถกรรมฐาน เป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจ   เป็นงานที่จิตใจต้องทำ  เพราะจะเป็นเครื่องช่วยชำระจิตใจ ให้อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนั่นเอง   นี่คือกรรมฐาน  กรรมฐานก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน  นอกจากพุทธานุสติ   ธัมมานุสติ สังฆานุสติแล้ว ก็ยังมีมรณานุสติ ระลึกถึงความตาย

คนเราทุกคน เกิดมาแล้ว ก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น   แต่ถ้าไม่คิดถึงความตายอยู่เรื่อยๆ ก็จะพลั้งเผลอ จะลืม แล้วจะคิดว่าจะอยู่ไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดมีความอยากอยู่ไปเรื่อยๆ ทั้งที่ไม่ใช่เป็นความจริง  ความจริงของพวกเราก็คือ เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องตายด้วยกันทุกคน  ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้  ถ้าไม่เจริญกรรมฐาน คือมรณานุสตแล้ว  ก็จะถูกความหลง ความพลั้งเผลอครอบงำจิตใจ  ทำให้ไม่อยากตาย ทำให้อยากมีชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆ  ซึ่งฝืนความจริง  เมื่อมีความอยากที่จะอยู่ไปเรื่อยๆ มีความไม่อยากตายอยู่ในจิตใจมากน้อยเพียงไร  ความทุกข์ก็จะปรากฏขึ้นมาทันที เพราะฝืนความจริงนั่นเอง  ความคิดของเรา ความอยากของเรา ถ้าฝืนความจริง ก็จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา  ถ้าไม่ฝืนความจริง ก็จะไม่สร้างความทุกข์ให้กับเรา ถ้ารู้ว่าจะต้องตาย แล้วยอมรับความจริงนี้ได้ว่า ตายก็ตาย เกิดมาแล้วก็ต้องตายด้วยกันทุกคน  เมื่อยอมรับความจริงนี้ได้แล้ว เวลาตายจะไม่เดือดร้อนเลย  เวลาอยู่ก็ไม่กลัวความตาย เพราะไม่คิดว่าจะอยู่ไปตลอดนั่นเอง

ร่างกายมันก็เหมือนกับสมบัติชิ้นหนึ่ง เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง  รถยนต์เราก็รู้ว่า สักวันหนึ่งมันก็ต้องเก่า  แล้วมันก็ต้องเสีย  แล้วเราก็ต้องทิ้งมันไป  เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เวลารถมันเสีย รถมันพัง เพราะเรารู้ว่ามันจะเสีย มันจะต้องพัง เรายอมรับความจริงนี้  แต่คนที่ไม่ยอมรับความจริงนี้  ถึงแม้จะเป็นเพียงสมบัตินอกกาย ก็ยังทุกข์กับมันได้   ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของเงินทอง หรืออะไรก็ตาม ถ้าไม่รู้ว่าจะต้องจากกันไปในวันใดวันหนึ่ง  ไม่ได้อยู่ด้วยกันไปตลอด  แต่ถ้ารู้ว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ แล้วยอมรับความจริงนี้ได้  เวลาสูญเสียไป ก็จะไม่เสียอกเสียใจ  ไม่เศร้าหมอง  ขณะที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่มีความกังวล  เพราะรู้ว่าถึงเวลา ก็จะต้องจากไปอยู่ดี 

แต่ถ้าพร้อมที่จะจากกัน ก็จะไม่มีความทุกข์  ไม่มีความวุ่นวายใจ  เวลาอยู่ก็ไม่กังวล มีอยู่ก็ใช้ไปให้เกิดประโยชน์    เช่นมีเงินมีทองที่เหลือใช้ ก็เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์  ทำบุญทำทาน สงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทำให้จิตใจมีความสุข มีความอิ่มเอิบใจ ทำให้จิตใจสูงขึ้น มีบุญมากขึ้น เวลาตายไปๆข้างหน้าก็ไปแบบเศรษฐี  ไม่ได้ไปแบบยาจก  เพราะไปด้วยบุญด้วยกุศลที่ติดตัวไป  เหมือนกับเวลาไปต่างประเทศ มีเงินติดตัวไปด้วย ไม่ต้องกังวลว่า จะไปอยู่ที่ไหน  จะไปกินอาหารที่ไหน จะอยู่อย่างไร  เพราะรู้ว่าไม่อดตายแน่  เพราะมีเงินซื้อข้าวซื้อของ  มีเงินจ่ายค่าโรงแรมนั่นเอง

ฉันใดการทำบุญก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เราจึงไม่ควรไปยึดติดกับสิ่งต่างๆ  ถ้าเจริญกรรมฐานอยู่เรื่อยๆ ทำงานวิปัสสนาภาวนาอยู่เรื่อยๆ  คือพิจารณาความเสื่อมของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของผู้อื่นก็ดี วัตถุข้าวของต่างๆก็ดี  ล้วนจะต้องเสื่อมไปหมด  เสื้อผ้าที่เราใส่ในวันนี้ เป็นเสื้อผ้าใหม่ เราซื้อมาใหม่  แต่ใส่ไปเรื่อยๆ ซักไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสักวันหนึ่ง ก็ต้องขาด ต้องเก่า  นี่คือลักษณะของสิ่งต่างๆในโลกนี้ มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าผู้ใดไม่เข้าใจหลักความจริงในข้อนี้แล้ว จะเกิดความอยาก ให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นเหมือนเดิม ตั้งแต่วันแรกที่ได้มา  ก็จะต้องเกิดความเสียใจ เมื่อสิ่งนั้นสิ่งนี้เสื่อมไป หมดไป   แต่ถ้าคอยเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ดูความเสื่อมอยู่เรื่อยๆ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่สามารถอยู่เหมือนเดิมได้ตลอดไป   เราก็จะไม่หลง ไม่ยึด ไม่ติด  ไม่อยากให้เป็นไปตามความอยากเพราะรู้ว่าเมื่อไม่เป็นไปตามความอยาก ก็จะต้องเสียอกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ 

เช่นบุคคลที่เราแสวงหามาเป็นคู่ครองของเรา  ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย มาเป็นสามีหรือเป็นภรรยาของเรา  ก็เป็นเหมือนเสื้อผ้าชุดหนึ่ง  ก็ต้องเสื่อมเหมือนกัน  คนเราเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปในที่สุด ถ้าไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายไปก่อน ก็อาจจะแยกกันไปคนละทิศคนละทางก็ได้  เพราะนี่เป็นลักษณะของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้  ไม่มีอะไรอยู่คงเส้นคงวา  ไม่มีอะไรอยู่เหมือนเดิมไปตลอด  ดังนั้นถ้าเรามีกรรมฐานคือมรณานุสติไว้คอยเจริญอยู่เรื่อยๆแล้ว  จิตใจของเราจะมีปัญญา  มีความรู้ ความฉลาด ที่จะคอยป้องกันไม่ให้เราไปหลง ไปยึด ไปติดกับสิ่งต่างๆ  กับบุคคลต่างๆ   หรือกับร่างกายของเราเอง ก็เช่นเดียวกัน สักวันหนึ่งก็จะต้องเสื่อมไป หมดไป  นี่เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เป็นเครื่องมือที่จะดูแลรักษาใจของเรา ให้อยู่อย่างสุข อย่างสบาย  ไม่ให้ความทุกข์ต่างๆ มาเหยียบย่ำทำลายจิตใจของเรา   ถ้าขาดกรรมฐานนี้แล้ว  ต่อให้เป็นมหาเศรษฐี  เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นประธานาธิบดีก็ตาม  ถ้าไม่เจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆแล้ว  จิตใจจะมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัว   เพราะถ้ามีอะไรมากๆแล้ว ย่อมอยากจะให้สิ่งที่มีอยู่นั้น อยู่กับเราไปตลอด อยู่กับเราไปนานๆ  ถ้าไม่เจริญกรรมฐาน ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา   เพราะสิ่งต่างๆนั้น จะไม่อยู่กับเราเสมอไปนั่นเอง 

การทำงานทางด้านจิตตภาวนา จึงเป็นงานที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง  ยิ่งกว่างานอะไรทั้งหลายในโลกนี้   เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่จะสามารถมาดับ มาทำลายความทุกข์ ความกังวลใจได้  มีแต่จะสร้างความทุกข์ สร้างความกังวลใจให้มีมากยิ่งๆขึ้นไปอีก ถ้ามีสมบัติมาก ความทุกข์ความกังวลใจก็จะมีมาก มีอะไรมากๆแล้ว ก็กลายเป็นภาระไปหมด  เหมือนกับคนแบกของ  แบกของชิ้นเดียว เบากว่าแบกของสิบชิ้น  ยิ่งมีมากก็ยิ่งต้องแบกมาก  นี่คือภาระหรือความกดดันของจิตใจ  จิตใจจึงไม่ค่อยมีความสุขเลย ทั้งๆที่อยู่ในมหาราชวัง  อยู่ในคฤหาสน์อันใหญ่โต  มีเงินทองกองเท่าภูเขา แต่กลับปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ มาเหยียบย่ำทำลายจิตใจ  มาทับถมจิตใจ ให้เกิดความหนักอกหนักใจ แต่ถ้าได้เจริญกรรมฐานอยู่เรื่อยๆ เตือนตนอยู่เรื่อยๆ ว่าสิ่งต่างๆที่มีอยู่นี้ ไม่ใช่สมบัติที่แท้จริงของเรา  ช่วยเราไม่ได้ เวลาที่เรามีความทุกข์  จึงไม่ควรไปยึดไปติด  มีก็ควรให้เขารับใช้เรา  อย่าไปรับใช้เขา   มีเงินทอง ก็ให้เงินทองรับใช้เรา   ต้องการใช้อะไร ก็ใช้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ 

อย่าเป็นคนเฝ้าเงินเฝ้าทอง  คนเฝ้าเงินเฝ้าทองก็เหมือนกับยาม เหมือนกับคนรับใช้นั้นเอง  ไม่ได้ใช้เงินใช้ทอง มีแต่เฝ้าไว้  ตายไปก็ให้คนอื่นใช้อย่างสบาย อย่างพ่อแม่ที่มีเงินทองเยอะๆ แต่เป็นคนตระหนี่ขี้เหนียว   เสียดายเงินเสียดายทอง หาเงินทองกว่าจะได้สักบาทนี้เหนื่อยเหลือเกินจึงไม่ค่อยอยากจะใช้เงินใช้ทองเท่าไร คอยแต่ดูแลรักษาเงินทอง พอตายไป ก็เอาติดตัวไปไม่ได้แม้แต่บาทเดียว  ไปชาติหน้าจะเอาเงินทองที่มีอยู่นี้ไปใช้ ก็เอาไปไม่ได้ ต้องทิ้งให้ลูกให้หลาน หรือใครก็ตามที่ยังอยู่ในโลกนี้ ได้ใช้ต่อไป   อุตส่าห์ทำงานมาแทบเป็นแทบตาย แต่กลับไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย 

ประโยชน์ที่จะได้รับจากเงินทองนี้ มีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ ๑.ประโยชน์ในปัจจุบัน    ๒.ประโยชน์ในอนาคต ประโยชน์ในปัจจุบัน คือใช้เพื่อให้ชีวิตเรามีความสุข  เพราะเราต้องมีอาหารรับประทาน  มีบ้านอยู่  มีเสื้อผ้าใส่  มียารักษาโรค ก็ใช้ไป อย่าไปเสียดาย   เวลาจะกินข้าวก็ซื้ออาหารมากิน อย่าไปอยู่แบบอดๆอยากๆ  เวลาเสื้อผ้าเก่า ขาดแล้ว ควรจะเปลี่ยน ก็ซื้อชุดใหม่มาใส่   บ้านเก่าแล้ว จะพังแล้วมีเงินสร้างบ้านใหม่  ก็สร้างขึ้นมา  นี่คือประโยชน์ส่วนปัจจุบัน  ส่วนประโยชน์ในอนาคต ก็คือภพหน้าชาติหน้า  เมื่อยังมีเงินเหลือใช้จากประโยชน์ในปัจจุบัน ก็เอาเงินเหลือใช้นี้มาสร้างบุญสร้างกุศล เท่ากับเป็นการเอาเงินทองฝากในธนาคารบุญนั่นเอง   เมื่อเราได้ทำบุญแล้ว บุญนี้ก็จะถูกจารึกไว้ในธนาคารบุญ  เมื่อไปเกิดในภายภาคหน้า ก็ไม่ต้องไปเกิดบนกองขยะ  ไม่ต้องไปเกิดเป็นลูกของคนยากคนจน    แต่ไปเกิดบนกองเงินกองทอง เป็นลูกของเศรษฐี มหาเศรษฐี  ไม่ต้องไปเหนื่อยหาเงินหาทอง  เกิดปุ๊บก็มีเงินทองใช้เลย เอาเงินของพ่อของแม่เรานี่แหละ แต่ความจริงแล้วเป็นเงินที่เราได้เคยทำไว้ในอดีต ได้สร้างไว้ในอดีต เราทำบุญไว้แล้ว เมื่อถึงเวลาเราก็ไปเบิกเงินได้  นี่คือประโยชน์ที่เราควรได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต 

ถ้าเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่เรื่อยๆ เตือนใจอยู่เรื่อยๆว่า ความตายอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้นเอง  หายใจเข้าแล้ว ไม่หายใจออกมา ก็ตาย  หายใจออกไป ไม่หายใจเข้ามา ก็ตาย  ไม่ได้หมายความว่า ความตายนี้มีแต่คนแก่  คนอายุ ๘๐ ๙๐ ปีเท่านั้น  ความตายนี้มีอยู่กับเด็กที่เกิดมาวันแรกเลย เด็กบางคนไม่เคยได้ทำบุญมา เกิดมาปั๊บ แม่ก็จับใส่ถุงพลาสติก ทำให้หายใจไม่ออก ตายไปเลยก็มี   เพราะฉะนั้นความตายจึงมีตั้งแต่วันแรกเกิด ไปจนถึงอายุ ๘๐  ปี ๑๐๐ ปี  ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะเราแต่ละคนนั้น ได้สร้างบุญสร้างบาปมาไม่เท่ากันเท่านั้นเอง  คนที่ทำบุญมาเยอะ ก็มีโอกาสที่จะอยู่ไปยาวนาน  คนที่สร้างบาปสร้างกรรมมาเยอะก็มีโอกาสที่จะตายเร็ว  นี่คือหลักของกรรม เป็นเรื่องตายตัว  ไม่มีใครสามารถมาลบล้างบาปบุญที่ตนเองได้สร้างไว้ได้  เมื่อได้สร้างแล้ว วิบากคือผล ก็จะต้องปรากฏขึ้นตามมาอย่างแน่นอน 

เราจึงไม่ควรประมาท  ควรเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ  ถ้าเจริญไปมากๆแล้ว เกิดความรู้สึกอยากจะตายขึ้นมา ก็ควรหยุดเจริญสักพักหนึ่ง เพราะแสดงว่าคิดมากไปแล้ว  การคิดถึงความตายนี้ เป็นการเตือนสติ ไม่ให้หลงลืมเท่านั้นเอง แต่ถ้าคิดจนกระทั่งอยากจะตายไป  อย่างนี้แสดงว่ามากเกินไป ก็ควรหยุดเจริญภาวนาแบบนี้  หันมาภาวนาบทพุทโธๆๆแทน  ระลึกถึงพุทโธๆๆอยู่เรื่อยๆ  สักพักจิตก็จะสงบ จิตก็จะเย็น แล้วก็จะสบาย  การเจริญมรณานุสตินี้ ก็เหมือนกับการรับประทานยา   ถ้ารับประทานยาถูกตามขนาด ก็จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้  ถ้ามากเกินขนาด ก็จะกลายเป็นยาพิษที่จะทำลายเราได้  การเจริญมรณานุสติ ระลึกถึงความตายนั้น จึงต้องมีความพอดีเหมือนกัน อย่าไปคิดมากจนกระทั่งไม่อยากจะอยู่ต่อไป  

การอยากจะตายนี้ก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง  การไม่อยากตายก็เป็นกิเลสอีกแบบหนึ่ง  ความจริงแล้วต้องอยู่ตรงกลาง ระหว่างความอยากตายกับความไม่อยากตาย  คือเฉยๆ  อยู่ก็ได้ ตายก็ได้  เมื่อยังอยู่ก็อยู่ไป  เมื่อถึงเวลาตาย ก็ให้มันตายไป  ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วใจจะไม่ทุกข์ ใจจะไม่วุ่นวาย  ขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็ไม่มีความวุ่นวาย  ไม่มีความทุกข์ ที่เกิดจากความอยากจะตาย  เวลาจะตาย ก็ไม่มีความทุกข์ ที่เกิดจากความไม่อยากตาย  นี่คือเป้าหมายของการเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา  เพื่อทำจิตใจให้ตั้งอยู่ในความเป็นอุเบกขานั่นเอง ให้ใจเป็นกลาง  ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ไม่ใฝ่ในทางวิภวตัณหา คือความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย หรือไปทางภวตัณหา ความอยากอยู่ อยากมี อยากเป็น  อย่างนี้ไม่ดี  เพราะเป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์  

คนเราเวลาเกิดความเสียอกเสียใจขึ้นมา ก็จะเกิดความคิดผิดขึ้นมา   อยากจะตาย เพราะมีความทุกข์มาก  เมื่อเกิดความอยากตาย ก็ยิ่งสร้างความทุกข์ให้มีมากขึ้นไปอีก  จนในที่สุดก็จะทนอยู่ไม่ได้ ก็เลยต้องฆ่าตัวตายไป   คนที่มีความสุข ก็อยากจะอยู่ไปนานๆ  ไม่อยากจะตาย  เพราะขณะที่มีความสุข ก็อยากจะอยู่กับความสุขนั้นไปนานๆ   แต่ความสุขก็เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน เหมือนกับความทุกข์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเหมือนกัน ในชีวิตของคนเรานั้น ต้องเผชิญทั้งความสุขและความทุกข์ด้วยกันทุกคน เหมือนกับเจอกลางวันและกลางคืน   กลางวันกับกลางคืนนี้ เราไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไร   เพราะยอมรับได้  กลางวัน ก็รับได้  กลางคืน ก็รับได้ แต่ความทุกข์ เรากลับรับไม่ได้ ส่วนความสุขก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ   อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง 

สิ่งที่ถูกต้องแล้วต้องทำใจให้เป็นกลาง ให้อยู่เฉยๆ ให้เป็นอุเบกขา   คือสุขก็ได้  ทุกข์ก็ได้  การที่จะทำใจให้เป็นอุเบกขา ให้เป็นปกติ ไม่วุ่นวายไปกับเรื่องราวต่างๆ  ก็ต้องอาศัยการเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้สงบ ด้วยการเจริญสมถกรรมฐาน พุทธานุสติ  บริกรรมพุทโธๆๆ ไปในใจอยู่เรื่อยๆ   เวลาอยู่เฉยๆ ไม่รู้จะทำอะไร  อย่าปล่อยให้เวลาที่มีค่านี้เสียไป  รีบมาเจริญสมถภาวนากันดีกว่า แทนที่จะเปิดโทรทัศน์ดู  เปิดหนังสือการ์ตูนดู  เปิดหนังสือแฟชั่นดู  มาหลับตาแล้วเจริญพุทโธๆๆ ไปในใจดีกว่า เพราะเมื่อเราเจริญพุทโธๆๆ ไปในใจอยู่เรื่อยๆแล้ว  ใจจะสบาย ใจจะเย็น ใจจะมีความสุข ถ้าเปิดดูโทรทัศน์ เปิดดูหนังสือ เดี๋ยวก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา  เห็นโฆษณาของสวยๆงามๆ ก็อยากจะได้ขึ้นมา  อดรนทนอยู่ไม่ได้ ก็ต้องออกไปซื้อมาจนได้  ถ้าไม่มีเงินไม่มีทอง ก็เดือดร้อนวุ่นวาย  ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เพื่อไปซื้อสิ่งที่ตนอยากได้  

เราจึงไม่ควรปล่อยเวลาที่มีค่าอย่างยิ่งนี้ให้ผ่านไป โดยไม่ชำระจิตใจ  ไม่ซักฟอกจิตใจ  ไม่ทำจิตใจให้สงบ   เพราะเมื่อได้ชำระแล้ว   ได้ทำจิตใจให้สงบ ให้สบายแล้ว จะไม่อยากได้อะไรอีกเลย  ต่อให้ได้อะไรมามากน้อยเพียงไร กลับเห็นว่าเป็นภาระไปหมด ได้รถยนต์มา ก็เป็นภาระ ต้องคอยล้าง คอยเช็ด คอยเติมน้ำมัน คอยซ่อม คอยดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา  เมื่อก่อนนี้ไม่มีรถยนต์ เราก็อยู่ได้  เมื่อไม่มีความอยากที่จะมีรถยนต์ เอามาให้หนักศีรษะทำไม  ให้หนักใจทำไม   ในเมื่อเรามีความสุขอยู่กับตัวของเราแล้ว ส่วนใหญ่พวกเราไม่เป็นอย่างนั้นกัน จิตใจยังไม่สงบ ยังไม่นิ่ง ยังหิว ยังอยากอยู่  เห็นอะไรก็อยากได้ไปหมด  เห็นอะไรใหม่ๆ ก็อยากได้ ทั้งๆที่ของเก่ายังใช้ได้อยู่  เห็นเสื้อผ้าสวยๆงามๆ ตั้งโชว์ไว้ ก็อยากจะได้ เห็นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ออกมา ก็อยากจะได้  เห็นรถยนต์รุ่นใหม่ออกมา ก็อยากจะได้ ทั้งๆที่ของเก่าก็ยังใช้ได้อยู่  เพราะใจไม่นิ่ง ไม่สงบ ไม่อิ่มนั่นเอง  จึงทำให้เกิดความอยากได้ขึ้นมา  แล้วก็ฉุดกระชากลากเราให้ไปแสวงหามา  ไปวุ่นวายต่อการแสวงหาเงินหาทอง เพื่อไปซื้อสิ่งต่างๆที่อยากได้  เมื่อได้แล้ว ใช่ว่าจะพอ  เดี๋ยวมีของใหม่ออกมาอีก ก็อยากจะได้อีก  วงจรอุบาทว์ก็เริ่มผุดขึ้นมาอีก  ได้มาแล้วก็เบื่อของเก่า ก็อยากจะได้ของใหม่ ได้ของใหม่มา เดี๋ยวก็เก่า ก็อยากจะได้ของใหม่อีก  ทำให้เราวิ่งวนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไปตลอดเวลา หาความสุขไม่ได้  หาความอิ่ม หาความพอไม่ได้ 

แต่ถ้าหันมาชำระจิตใจด้วยการบำเพ็ญจิตตภาวนา  เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาแล้ว จิตใจจะเข้าสู่ความสุข เข้าสู่ความอิ่ม เข้าสู่ความพอ จนในที่สุดก็จะถึงจุดที่อิ่มเต็มที่ พอเต็มที่  เช่นจิตของพระพุทธเจ้า  และจิตของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านอิ่ม ท่านพอแล้ว  ท่านไม่คิดอยากได้อะไรอีกแล้ว อยู่เฉยๆก็มีความสุข วันๆหนึ่งมีข้าวฉันวันละมื้อ ก็มีความสุขแล้ว มีความสุขมากกว่าพวกเรา ที่มีสมบัติล้นฟ้า  มีสมบัติจนไม่มีที่เก็บ   มีบ้านใหญ่ขนาดไหน ก็ไม่พอเก็บสมบัติ   แต่ในใจมีความอิ่ม มีความพอบ้างหรือไม่ ไม่มีหรอก  มีแต่อยากจะได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะไม่เคยทำใจให้อิ่มให้พอนั่นเอง  ใจของเราขาดอาหาร เหมือนกับร่างกาย ถ้าไม่ได้รับประทานอาหาร ก็ต้องมีความหิวเป็นธรรมดา เมื่อได้รับประทานอาหารเต็มที่แล้ว ร่างกายก็อิ่ม ท้องก็อิ่ม  เมื่ออิ่มเต็มที่แล้ว ต่อให้ใครเอาอาหารดี วิเศษขนาดไหนมาให้รับประทานอีก ก็รับประทานไม่ไหว   จิตก็เหมือนกัน ที่หิวที่อยากอยู่ทุกวันนี้ เพราะขาดอาหารนั่นเอง  ขาดอาหารใจ  อาหารใจก็คือกรรมฐานนี่แหละ  สมถกรรมฐาน  วิปัสสนากรรมฐาน  นี่แหละคืออาหารของใจ  ถ้าให้อาหารใจแล้ว ต่อไปใจก็จะอิ่ม จะพอ  เมื่ออิ่มพอแล้ว  ก็ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรอีกต่อไป   การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้