กัณฑ์ที่ ๒๑๑     ๑๒ มิถุนายน  ๒๕๔๘

มงคลชีวิต

 

เรามาวัดเพื่อมาทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม  เป็นการกระทำที่พระบรมศาสดาของพวกเรา คือพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนให้หมั่นทำอย่างสม่ำเสมอ  เพราะเมื่อได้ทำแล้ว จะทำให้มีความสุข มีความเจริญรุ่งเรือง มีความร่มเย็น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังธรรมะ  พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า กาเลน ธัมมัสสวนัง  เอตัมมังคลมุตตมัง  การฟังธรรมตามกาลตามเวลา เป็นมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิต  การฟังธรรมตามกาลตามเวลาหมายถึง อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่ง ควรได้ยินได้ฟังธรรมะสักครั้งหนึ่ง  เพราะการฟังธรรมะนั้น เหมือนกับการเติมน้ำมันให้กับรถยนต์  ธรรมะเป็นเหมือนน้ำมันของจิตใจ  จิตใจเป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง  ตลอดเวลา ๖-๗ วันที่ผ่านมา เราได้ใช้จิตใจไปกับการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จิตใจจึงหมดกำลัง หมดพลัง จึงต้องมีการเติมพลังให้กับจิตใจ ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม   เมื่อได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วจิตใจจะมีความสุข มีความอิ่ม มีความสบายนั่นเอง 

การฟังธรรมจึงเป็นสิ่งที่พวกเราไม่ควรมองข้าม   แต่ควรให้ความสนใจเหมือนกับการที่เราให้ความสนใจต่อการเติมน้ำมันรถยนต์   เรารู้ดีว่าถ้าเติมน้ำมันรถเพียงครั้งเดียว แล้วขับไปเรื่อยๆ  ไม่แวะเติมน้ำมันอีก  พอวิ่งไปอีกไม่นาน ไม่ไกล น้ำมันก็จะต้องหมด   เมื่อน้ำมันหมดแล้ว รถก็ไม่สามารถวิ่งไปได้อีก  ใจของเราก็เหมือนกัน  ถ้าไม่ได้รับการเติมพลังแห่งธรรมะเข้าไปในจิตใจแล้ว  ต่อไปก็จะไม่มีกำลังจิตกำลังใจ  จะเกิดความท้อแท้ เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตขึ้นมา  ถ้าไม่ระมัดระวัง  ความท้อแท้ความเบื่อหน่ายในชีวิตนี้ จะสร้างความคิดที่ไม่ดีให้กับตัวเรา จะคิดฆ่าตัวตายไปในที่สุด  นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนหลายคนในสังคม ที่เราได้ยินข่าวคราวทุกวี่ทุกวัน ว่าคนนั้นฆ่าตัวตาย คนนี้ฆ่าตัวตาย  คนนี้คนนั้นไปฆ่าคนนั้นไปฆ่าคนนี้  เหล่านี้ล้วนเกิดจากจิตใจที่ไม่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมตามกาลตามเวลานั่นเอง มงคลแห่งชีวิตจึงไม่ปรากฏ  ปรากฏแต่สิ่งที่เป็นอัปมงคล 

พวกเราพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธา มีความเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงควรน้อมจิตน้อมใจเข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งก็ควรฟังเทศน์ฟังธรรมสักครั้งหนึ่ง จะเป็นวันพระก็ได้ หรือวันอื่นก็ได้ สมัยนี้ถ้าไม่สะดวกในวันพระ เพราะไม่ตรงกับวันหยุด  ก็เข้าวัดในวันเสาร์วันอาทิตย์แทนก็ได้  อย่างที่วัดนี้จะมีการแสดงธรรมเทศนาอยู่เสมอ ทั้งวันพระ ทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ เราจึงควรให้ความสนใจ เพราะเมื่อได้เข้าหาธรรมะแล้ว   ธรรมะก็จะให้แสงสว่างกับเรา ทำให้เราสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรผิด อะไรถูก ทำให้เราเป็นคนฉลาด มีปัญญาขึ้นมา อานิสงส์ของการฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มีอยู่ ๕ ประการด้วยกันคือ

๑. จะได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกันมาก่อน  เช่นเรื่องบาปบุญคุณโทษ นรกสวรรค์  ตายแล้วต้องไปเกิดใหม่  เรื่องเหล่านี้เรามักจะไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกัน ถ้าไม่ได้มาวัด ไม่ได้ฟังเทศน์ที่แสดงผ่านสื่อต่างๆ  เช่นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ เทป ฯลฯ  เราสามารถใช้สื่อเหล่านี้ฟังเทศน์ฟังธรรมได้  ถ้าไม่สามารถมาวัดได้  เพราะการฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมาวัดเสมอไป  ที่ไหนมีการแสดงธรรม ก็สามารถฟังเทศน์ฟังธรรมได้  ถ้าไม่สามารถมาที่วัดได้ อยู่ที่บ้านเปิดวิทยุฟัง ก็มีการแสดงธรรมเทศนาอยู่เรื่อยๆ  เปิดโทรทัศน์ตอนเช้าๆ ก็มีการแสดงธรรมเทศนาอยู่ เรื่องการฟังเทศน์ฟังธรรมจึงไม่ใช่เป็นเรื่องยากเย็นอะไร ถ้าเราให้ความสนใจ  สามารถฟังได้ในหลายรูปแบบด้วยกัน  เมื่อได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังแล้ว   ก็จะได้มีความรู้เพิ่มขึ้นมานั่นเอง  รู้ในสิ่งที่ดีที่งามด้วย   เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่จะพาให้เราไปสู่ความสุขความเจริญ ให้อยู่ไกลจากความทุกข์ความเสียหายทั้งหลาย  นี่คืออานิสงส์ข้อแรก  จะได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน 

๒. สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังแล้ว แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็จะได้ยินได้ฟังซ้ำอีก  เมื่อได้ยินได้ฟังซ้ำบ่อยๆ ก็จะเกิดความเข้าใจขึ้นมาตามลำดับ  จนในที่สุดก็จะเกิดความเข้าใจอย่างเต็มที่ การฟังเทศน์ฟังธรรมจึงไม่ได้ฟังเพียงครั้งเดียว แล้วจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้เลย  แต่ต้องอาศัยการฟังอยู่เรื่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย  จิตใจก็จะซึมซาบเข้าไปทีละเล็กทีละน้อย  แล้วก็จะเกิดความเข้าอกเข้าใจเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ  จนในที่สุดก็จะรู้จะเห็นเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นเลย  พระพุทธเจ้าทรงตรัสบอกว่า สวรรค์มีจริง นรกมีจริง  ในเบื้องต้นเวลาเราฟังแล้ว ก็ไม่เข้าใจว่ามีจริงได้อย่างไร   เพราะเราอยู่ในโลกนี้ ก็เห็นแต่สิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้เท่านั้น  นรกสวรรค์นี้เป็นอย่างไร เราก็ไม่รู้  แต่ถ้าฟังไปเรื่อยๆ แล้วก็จะเข้าใจขึ้นมาว่า นรกหรือสวรรค์นี้ ก็คือความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตในใจของเรานั่นเอง 

ร่างกายของเราถึงแม้จะอยู่ในโลกนี้ แต่ใจของเราสามารถขึ้นสวรรค์ตกนรกได้ในขณะที่เรายังไม่ตาย   เช่นวันไหนเรามีความทุกข์ มีความเศร้าโศกเสียใจ  มีความวุ่นวายใจ  วันนั้นใจของเราได้ตกนรกแล้ว  โดยที่ร่างกายของเรายังอยู่ในโลกนี้ แต่ใจของเรานั้นไปสู่นรกแล้ว  ส่วนอีกวันหนึ่ง  เช่นวันนี้เรามาทำบุญทำทานกัน มารักษาศีล มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาปฏิบัติธรรมกัน  ใจของเราก็มีความสุข มีความอิ่มเอิบ ขณะนี้ใจของเราก็ถือได้ว่าได้ขึ้นสวรรค์แล้ว  นี่แหละคือเรื่องนรกเรื่องสวรรค์ ท่านจึงพูดไว้ว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ  เมื่อเราได้ยินได้ฟังอยู่เรื่อยๆ ก็จะเกิดความเข้าใจ  จะรู้ด้วยว่าการที่จะขึ้นสวรรค์หรือตกนรกนั้น ไม่มีใครสามารถส่งเราไปได้  มีตัวเราเท่านั้นแหละที่จะเป็นผู้ส่งให้เราไป  เช่นวันนี้เราทำความดีกัน  จิตใจเรามีความสุข จิตใจเราได้ขึ้นสวรรค์แล้ว คือผลได้ปรากฏขึ้นแล้วในจิตใจของเรา  ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  จิตใจก็จะชินกับทางแห่งสวรรค์   เมื่อต้องทิ้งร่างกายไป  จิตใจซึ่งมีสวรรค์อยู่ในใจแล้ว ก็จะไปอยู่ในสวรรค์ทันที 

ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็จะปฏิเสธเรื่องราวเหล่านี้  เพราะจะเห็นแต่ร่างกายเท่านั้น  ไม่เห็นจิตใจ  เห็นว่าร่างกายอยู่บนโลกนี้ จะไปตกนรกได้อย่างไร  จะไปขึ้นสวรรค์ได้อย่างไร  นั่นเป็นเพราะไม่เข้าใจอีกส่วนหนึ่งของตัวเรา คือใจ  ถึงแม้ร่างกายจะอยู่ในโลกนี้  อยู่ในบ้านที่ใหญ่โตมโหฬาร แต่ใจก็ยังตกนรกได้  วันไหนมีความเศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ  ต่อให้อยู่ในวัง อยู่ในคฤหาสน์อันใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม  มันก็เป็นคฤหาสน์ เป็นวังสำหรับร่างกายเท่านั้นเอง  แต่ใจหาได้อยู่ในวังด้วยไม่  ในขณะที่ใจมีความทุกข์ มีความเศร้าโศกเสียใจ มีความวุ่นวายใจ   ในขณะนั้นใจได้ตกนรกไปแล้ว  ถ้าไม่รีบแก้ไข เอาธรรมะมาดับความทุกข์เหล่านี้ ปล่อยให้สะสมไปเรื่อยๆ    เวลาตายไป ร่างกายนี้ดับไปแล้ว  ใจก็จะไปสู่นรกทันที  เพราะได้สร้างสมนรกไว้ในใจอยู่ตลอดเวลานั่นเอง 

นี่แหละคือเรื่องราวของชีวิตของพวกเรา  เรื่องของนรก เรื่องของสวรรค์ มันมีจริง เพียงแต่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจเท่านั้นเอง  มันเกิดขึ้นจากการกระทำของเรา เวลาทำความดี ก็เท่ากับส่งใจให้ขึ้นสวรรค์  เวลาทำความชั่ว ก็เท่ากับส่งใจให้ตกนรก  นี่แหละเรื่องของดีชั่ว เรื่องของนรก เรื่องของสวรรค์ มันก็อยู่ที่ตัวเราทั้งสิ้น  ถ้ารู้แล้วว่านรกและสวรรค์มีจริง   และการกระทำความดีและการกระทำความชั่ว เป็นเหตุที่จะให้ไปสวรรค์หรือไปนรก ก็ต้องรีบทำแต่เหตุ ที่จะส่งให้ไปสวรรค์  นั่นก็คือทำแต่ความดี เช่นทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม  เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุที่จะพาให้ไปสวรรค์กัน  เมื่อรู้ว่าการทำบาปทำกรรม ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ประพฤติผิดประเวณี ลักทรัพย์ พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา และอบายมุขต่างๆ เป็นเหตุที่จะพาให้ไปตกนรก  ก็ระงับการกระทำสิ่งเหล่านี้เสีย  เหมือนกับรู้ว่าไฟจะไหม้บ้านได้  ก็อย่าไปจุดไฟเสีย ไฟก็จะไม่ไหม้  ฉันใดนรกก็เกิดจากการกระทำบาป กระทำความชั่วนี่เอง  วันไหนที่มีจิตใจรุ่มร้อน มีความไม่สบายใจ นั่นแหละแสดงว่าได้ทำความชั่วมาแล้ว ผลของความชั่วเริ่มปรากฏขึ้นมาให้เห็นแล้ว 

เราจึงต้องพยายามต่อสู้กับความคิดที่ไม่ดี  ความคิดที่จะฉุดลากให้ไปกระทำความชั่ว เช่นในขณะที่มีความโกรธแค้นโกรธเคือง  ในขณะนั้นจิตกำลังอยากจะทำความชั่ว เพราะเวลาที่ใครมาทำให้โกรธแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะต้องระบายความโกรธแค้นที่มีอยู่ในใจออกมา  อย่างน้อยที่สุดก็จะพูดจาไม่สุภาพ ใช้คำหยาบด่าว่ากัน   และถ้าไม่ระมัดระวัง  เมื่อมีการตอบโต้กัน  มีการด่ากันไปด่ากันมา  เดี๋ยวก็ต้องมีการลงไม้ลงมือกัน  มีการทำร้ายร่างกายกัน  เผลอๆก็อาจฆ่ากันในที่สุด  แล้วพอฆ่ากันเสร็จแล้วคนตายก็ตายไป คนตายก็ไปนรกทันที คนที่ฆ่าก็ไปนรกทันทีเหมือนกัน  คือใจนั่นแหละต้องมีความวุ่นวาย  มีความเดือดร้อน จะต้องหนีหัวซุกหัวซุน เพราะกลัวจะถูกจับเข้าไปอยู่ในคุกในตะราง  ในขณะนั้นใจของคนที่ฆ่าคนอื่น ก็ตกนรกเหมือนกัน  คนที่ถูกฆ่าก็ตกนรกไปก่อนแล้ว เพราะมีความเกลียด มีความแค้นต่อกันและกัน นี่คือเรื่องของนรกเรื่องของสวรรค์ ถ้าฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ก็จะเข้าใจว่านรกมีจริง สวรรค์มีจริง  เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน 

๓. เมื่อได้ยินได้ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ อยู่บ่อยๆ ก็จะสามารถขจัดความสงสัยให้หมดไปได้  เช่นสงสัยว่านรกมีจริงหรือไม่ สวรรค์มีจริงหรือไม่  การทำดีได้ดีจริงหรือไม่  การทำชั่วได้ชั่วจริงหรือไม่   เหล่านี้ถ้าได้ยินได้ฟังอยู่เรื่อยๆ แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติกับตัวเรา  เช่นพยายามทำแต่ความดี ไม่ทำความชั่ว  ก็จะเห็นผลปรากฏขึ้นมาภายในจิตใจ  จิตใจจะมีความเย็น มีความสงบ มีความสุข   ถึงแม้จะไม่ร่ำไม่รวย  ถึงแม้จะอดอยากขาดแคลนในบางสิ่งบางอย่าง แต่ในใจกลับมีความอิ่มเอิบใจ เพราะได้ทำความดี  เวลาทำความดีแล้ว จิตใจมีความสุข  ได้ช่วยเหลือคนอื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก ลำบากลำบน  ก็ทำให้เรามีความสุข  เพราะเห็นคนที่เราได้ช่วยเหลือมีความสุข  การกระทำอย่างนี้แหละ ที่ทำให้เรามีความร่มเย็นเป็นสุข เมื่อเข้าใจแล้วว่าความร่มเย็นเป็นสุขนั้นคือสวรรค์  เราก็ไม่สงสัยในเรื่องสวรรค์ ในเรื่องนรก จะรู้ว่านรกและสวรรค์นี้มีจริง อยู่ในใจ ไม่ได้อยู่ที่กาย  กายเป็นเพียงภาชนะที่รองรับใจเท่านั้นเอง   เหมือนกับจานข้าวที่รองรับอาหาร  จานข้าวไม่ใช่อาหาร  อาหารต้องอาศัยจานข้าวไว้ใส่  เวลารับประทาน เราไม่ได้รับประทานจาน แต่รับประทานอาหารที่อยู่ในจาน 

จิตใจก็เป็นเหมือนอาหาร ที่อาศัยร่างกายเป็นภาชนะรองรับ เป็นเครื่องมือ จะทำบาปทำกรรม ทำดีทำคุณทำประโยชน์ ก็ต้องมีร่างกายเป็นส่วนประกอบ เช่นวันนี้อยากจะมาทำบุญ ก็ต้องมีร่างกายนี้พามา ถึงจะมาทำบุญได้  ถ้าตายไปแล้ว ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำบุญ  เพราะใจก็ต้องไปเสวยบุญเสวยกรรมที่ได้ทำไว้ จนกว่าจะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก   เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว  เกิดมีความอยากที่จะทำบุญ ก็อาศัยร่างกายนี้เป็นเครื่องมือพามาที่วัด  มาทำบุญทำทาน ฟังเทศน์ฟังธรรมกัน  ร่างกายจึงไม่ได้เป็นตัวที่สำคัญ   ร่างกายไม่ได้ตกนรก ไม่ได้ขึ้นสวรรค์  ตัวที่ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ ก็คือใจ  ใจที่มีความสุขนั้นแล คือใจที่ได้ขึ้นสวรรค์แล้ว  ใจที่มีความทุกข์นั้นแล คือใจที่ได้ตกนรกแล้ว เราจึงควรสร้างสวรรค์ให้มีมากๆ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่   พยายามทำความดีมากๆ อย่าไปทำความชั่ว  แล้วจิตใจจะมีแต่สวรรค์  จะมีนรกก็น้อยมาก อาจจะเป็นผลที่เกิดจากการทำบาปทำกรรมในอดีต แล้วส่งผลขึ้นมา  ไม่ได้หมายความว่า ทำความดีทุกวันแล้ว จะไม่มีความทุกข์เลย   เพราะความทุกข์บางส่วน ก็เกิดจากการกระทำความไม่ดี ที่ได้ทำไว้ในอดีต  หรือการกระทำความชั่วที่ได้กระทำไว้ในปัจจุบัน ที่ยังไม่สามารถละได้  แต่อย่างน้อยที่สุดเรารู้แล้วว่า นรกและสวรรค์มีจริง  นี่คืออานิสงส์ที่จะได้รับจากการฟังเทศน์ฟังธรรม

๔. ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา เกิดความรู้ ความฉลาดขึ้นมา เรียกว่ามสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้องนั่นเอง  เห็นว่าบาปมีจริง บุญมีจริง  นรกมีจริง สวรรค์มีจริง การทำความดีทำให้ขึ้นสวรรค์  การทำความชั่วทำให้ตกนรก เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็จะไม่กล้าทำบาปทำความชั่วอีกต่อไป  เพราะไม่อยากจะตกนรกนั่นเอง ก็จะมุ่งทำแต่ความดี  ทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม ทำให้มีความสุข ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรมากมายก่ายกองภายนอก   เพราะสิ่งต่างๆที่ได้จากภายนอกนั้น ไม่ได้สร้างสวรรค์ให้เกิดขึ้น  แต่กลับสร้างนรกให้เกิดขึ้นภายในใจ   เช่นอยากจะได้อะไร แต่ไม่มีกำลังพอที่จะซื้อมาได้  ก็ต้องไปซื้อเงินผ่อน  ไปกู้หนี้ยืมสิน เพื่อไปซื้อสิ่งที่อยากจะได้มา   เมื่อได้มาแล้ว ก็ดีอกดีใจไปชั่วขณะหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะมีแต่ความกังวล  ความกลุ้มใจ เพราะจะต้องหาเงินมาใช้หนี้นั่นเอง ถ้าหาไม่ได้ ยิ่งกลุ้มใจใหญ่ ยิ่งทุกข์ใจใหญ่ นี่เกิดนรกขึ้นมาภายในใจแล้ว  เกิดเพราะความอยากได้สิ่งนั้น แล้วไม่มีความสามารถที่จะซื้อมาได้  ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เมื่อไม่มีปัญญาที่จะหามาคืนเขาได้ ก็ต้องเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา  

ถ้าเป็นคนฉลาดจะรู้ว่า  นรกสวรรค์ไม่ได้อยู่กับการมีมากมีน้อย  แต่อยู่กับการทำความดีได้มากน้อยเพียงไรต่างหาก   ถ้าอยากจะมีความสุข ก็ทำความดีไป  อย่าไปแสวงหาสิ่งต่างๆ  ที่ไม่สามารถจะแสวงหามาได้  เพราะสิ่งต่างๆเหล่านั้นไม่ได้สร้างความสุข สร้างสวรรค์ให้กับเรา  ถ้าไม่ระวัง ถ้าไม่อยู่ในฐานะที่จะหาซื้อมาได้ด้วยกำลังทรัพย์ที่มีอยู่ ก็จะต้องไปยืมเขามา แล้วในที่สุดก็จะสร้างนรกให้กับใจ   เวลาที่ไม่สามารถผ่อนต่อไปได้ ก็จะต้องคืนเขาไป  เวลาคืนไปก็จะเกิดความเสียอกเสียใจ  ถ้ารู้จักหักห้ามจิตใจ ก่อนที่จะไปซื้อ ก็จะไม่มีปัญหาอะไรตามมา  คิดเสียว่า เมื่อก่อนไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราก็อยู่ได้  ทำไมจะต้องไปดิ้นรนหามาทำไม ก็อยู่ตามประสาตามฐานะของเราไปก็หมดเรื่อง มีมากมีน้อยก็อยู่ตามฐานะของเราไป อย่าอยู่เกินฐานะ  จะได้ไม่ต้องมีปัญหากับการไปกู้หนี้ยืมสิน ไม่ต้องไปมีปัญหากับการใช้หนี้ใช้สิน ไม่มีปัญหากับการที่จะต้องมาร้องห่มร้องไห้ เมื่อจะต้องถูกยึดข้าวของต่างๆไป   ถ้ารู้จักอยู่แบบมักน้อยสันโดษ ยินดีตามสภาพของเรา  มีอะไรมากน้อยเพียงไร ก็อยู่ตามสภาพของเราไป  ก็มีความสุขได้  เพราะความสุขนั้นอยู่ที่ใจเป็นหลัก  อยู่ที่คำว่าพอเท่านั้นเอง 

ถ้ารู้จักคำว่าพอแล้ว ถึงแม้จะไม่มีอะไรเลยก็ตาม ก็จะมีความสุขได้ เหมือนกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านก็ไม่มีสมบัติข้าวของอะไรเลย นอกจากบริขาร ๘  คือบาตร ไตรจีวร มีดโกน ที่กรองน้ำ ประคดเอว  ด้ายและเข็มเท่านั้นเอง  นี่เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของพระ  มีอยู่เพียง ๘ ชิ้นเท่านั้นเอง  เป็นสมบัติภายนอก  แต่ภายในใจนั้น ท่านมีสมบัติมากมายก่ายกอง คือมีความพอนั่นเอง ท่านสามารถทำจิตใจให้สงบ ให้ระงับจากความอยากต่างๆได้  เมื่อไม่มีความอยากแล้ว สิ่งต่างๆในโลกนี้จะวิเศษขนาดไหนก็ตาม  จะมีมากน้อยเพียงไรก็ตาม ก็จะไม่มีความหมายสำหรับคนที่มีความพออยู่ในใจเลย   เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  ท่านไม่แสวงหาสมบัติข้าวของเงินทองลาภสักการะเลย  เพราะใจของท่านเต็มเปี่ยมแล้วด้วยความสุข  ด้วยความอิ่ม ความพอนั่นเอง  ใจของพวกเรายังขาดความพอนี่เองจึงทำให้มีความหิว มีความต้องการอยู่เสมอ  ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด  เป็นคนจนก็ยังมีความอยากอยู่  เป็นมหาเศรษฐีก็ยังมีความอยากอยู่  ยังมีความต้องการอยู่  เพราะความต้องการนี้มันอยู่ในใจ ไม่ได้อยู่กับว่ามีมากมีน้อยเพียงไร 

ต่อให้สามารถหาสิ่งต่างๆที่อยากได้มา  ความอยากในใจก็ยังจะไม่หมดไป  เพราะความอยากไม่มีขอบไม่มีเขต  จะหมดไปได้ ก็อยู่ที่การระงับเท่านั้นเอง  คือต้องฝืนความอยาก  ต้องไม่ทำตามความอยาก  ถ้าไม่จำเป็น ก็อย่าเอา  อยากจะได้ใจจะขาด ก็ไม่ต้องเอา  ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้วไม่ตาย ก็ถือว่าไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องไปเอา  ถ้าฝืนอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้ว  ต่อไปความอยากก็จะหดลงไป หดลงไป จนไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในใจ  ใจก็จะเกิดความอิ่ม เกิดความพอขึ้นมา  ก็จะอยู่อย่างมีความสุขนั่นเอง  นี่แหละคือปัญญา รู้ว่าความอยากนี้มันเป็นโทษ ไม่เป็นคุณ  เวลามันเกิดขึ้นแล้ว ต้องรีบทำลาย ด้วยการฝืน อย่าไปทำตามคำสั่ง  ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้ว ต่อไปจะอยู่ได้อย่างสุขอย่างสบาย ไม่มีสมบัติอะไรภายนอก ก็ไม่เดือดร้อน  ดีกว่าคนที่มีสมบัติมากมายก่ายกอง แต่ยังมีความอยากอยู่   นี่แหละคือความแตกต่างกัน  นี่แหละคือปัญญาทางพระพุทธศาสนา ที่สอนว่า  ต้นเหตุของความทุกข์ ของความวุ่นวายใจ ก็เกิดจากความอยาก  ถ้าไม่มีความอยากแล้ว รับรองได้ว่าคนๆนั้น จะไม่มีปัญหากับใครทั้งสิ้น  จะมีแต่ความสงบ มีแต่ความเย็น มีแต่ความสบาย  นี่คือปัญญา เป็นอานิสงส์ของการฟังธรรมข้อที่ ๔ 

๕. จิตใจจะมีความผ่องใส มีความสุข มีความเบิกบาน  อย่างในขณะนี้เราฟังเทศน์ฟังธรรมไป  จิตใจของเราก็ได้สัมผัสกับธรรมะของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเหมือนน้ำมนต์   พวกเราทุกคนเวลาไปวัด ก็ไปขอน้ำมนต์จากพระ  แต่น้ำมนต์ที่พระท่านให้นั้น เป็นน้ำมนต์สำหรับร่างกาย  ไม่เข้าถึงภายในใจ  น้ำมนต์ที่จะเข้าถึงจิตใจได้ ต้องเป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างในขณะนี้ เรากำลังรับน้ำมนต์ของพระพุทธเจ้าเข้าสู่ใจ เมื่อใจได้รับน้ำมนต์ด้วยการตั้งจิตตั้งใจฟัง ไม่ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆแล้ว  น้ำมนต์คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะกล่อมจิตใจให้สงบ  เวลาจิตสงบแล้ว จิตก็จะสว่างไสว เบิกบาน อิ่มเอิบ เกิดปีติขึ้นมา 

นี่คืออานิสงส์ ๕ ประการ ที่จะเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟังธรรมตามกาลตามเวลา  คือ ๑. จะได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน  ๒. สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจดี ก็จะเกิดความเข้าใจดีขึ้นไปตามลำดับ จนในที่สุดก็จะเข้าใจได้อย่างเต็มที่  ๓. ขจัดความสงสัยในเรื่องราวต่างๆได้   ๔. ทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง คือเกิดปัญญา เกิดความฉลาด  ๕. ทำให้จิตใจผ่องใส มีความสงบร่มเย็นเป็นสุข  นี่คืออานิสงส์ที่จะได้รับจากการฟังธรรม  ซึ่งเป็นมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิต ตามพระบาลีที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า  กาเลน ธัมมัสสวนัง  เอตัมมังคลมุตตมัง  การฟังเทศน์ฟังธรรมตามกาลตามเวลา เป็นมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิตของเรา ด้วยประการฉะนี้  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้