กัณฑ์ที่ ๒๑๓     ๑๘ มิถุนายน  ๒๕๔๘

ทำดีได้ดี

 

วันนี้ท่านทั้งหลายไม่ต้องไปทำงานทำการ  มีเวลาว่าง  จึงได้ใช้เวลาว่างนี้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์  ด้วยการมาวัด ทำบุญทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญจิตตภาวนา  ฟังเทศน์ฟังธรรม  ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน ให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพึงปฏิบัติ  อย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง  เพราะเมื่อได้ปฏิบัติแล้ว จิตใจของผู้ปฏิบัติจะได้รับความร่มเย็นเป็นสุข  เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เป็นสิ่งที่ผู้ใฝ่ดีใฝ่งามทั้งหลาย ไม่ควรมองข้าม  แต่ควรขวนขวายเข้าวัดอยู่เรื่อยๆ  เวลาเข้าวัดแล้วจิตใจจะมีความรู้สึกดี  รู้สึกสบาย  เพราะได้รับการดูแลรักษานั่นเอง วัดก็เหมือนกับโรงอาหาร  เวลามาวัดแล้วจิตใจจะเกิดความอิ่มเอิบใจ เพราะได้ทำบุญทำทาน เวลาที่มีความรู้สึกไม่สบายอกไม่สบายใจ  พอได้มาวัดก็จะมีความรู้สึกดีขึ้น  เพราะวัดเป็นโรงพยาบาลของจิตใจนั่นเอง

เราจึงมาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง  ตามกำลังแห่งศรัทธาความเชื่อของเรา ที่มีต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนไว้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  ด้วยวิริยะ ความพากเพียรอุตสาหะ ที่จะทำแต่ความดี ละความชั่ว ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดไป เพราะถ้าได้ปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ความสุขความเจริญก็จะเป็นผลตามมา ความทุกข์ความหายนะ ความเสื่อมเสียทั้งหลาย ก็จะอยู่ไกลจากตัวเราไป นี่คือวิถีชีวิตของชาวพุทธ เมื่อมีความเชื่อมีศรัทธา ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว เราก็สร้างความพากเพียรขึ้นมา  พยายามปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  คือ ๑. พากเพียรทำความดีที่ยังไม่มีให้ปรากฏขึ้นมา   . รักษาความดีที่มีอยู่แล้ว ไม่ให้หดหายไป   . ละความชั่ว บาปกรรมทั้งหลาย ที่ยังละไม่ได้ให้หมดไป    . ป้องกันไม่ให้ความชั่วและบาปกรรมที่ได้ละแล้ว หวนกลับคืนมาอีก นี่คือความพากเพียรในทางพระพุทธศาสนา

ข้อที่  . การกระทำความดีที่ยังไม่มีให้ปรากฏขึ้นก็คือ  ถ้ายังไม่เคยทำบุญทำทาน  ก็มาทำบุญทำทานกัน  ถ้าเคยทำอาทิตย์ละครั้ง ก็เพิ่มเป็นอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ฯลฯ  ถ้ายังไม่เคยไหว้พระสวดมนต์บำเพ็ญจิตตภาวนา ทำจิตใจให้สงบร่มเย็นเป็นสุข เจริญวิปัสสนาให้มีความรู้แจ้งเห็นจริง  ก็เริ่มปฏิบัติกัน เรียกว่าเป็นการเพิ่มความดี สร้างความดีที่ยังไม่มีให้มีมากขึ้นไป  

ข้อที่ ๒. รักษาความดีงามที่มีอยู่แล้วไม่ให้หายไป  เคยทำบุญทำทานอยู่มากน้อยเพียงไร  ก็ต้องทำต่อไป  เคยไหว้พระสวดมนต์มากน้อยเพียงไร  ก็ต้องบำเพ็ญต่อไป อย่าให้ขาด  เมื่อถึงเวลาทำบุญก็ทำไป  ถึงเวลาไหว้พระสวดมนต์บำเพ็ญจิตตภาวนา ทำจิตใจให้สงบร่มเย็นเป็นสุข เจริญวิปัสสนาให้มีความรู้แจ้งเห็นจริง  มีปัญญาไว้ป้องกันพิษภัยทั้งหลาย ที่จะมาสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจ ก็ปฏิบัติไป นี่คือสิ่งที่ควรรักษาไว้  เคยปฏิบัติมามากน้อยเพียงไร ก็อย่าให้น้อยกว่าที่ได้เคยปฏิบัติมา  ส่วนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ ก็ควรปฏิบัติให้มากขึ้นไป  เคยทำบุญไว้เท่าไร ก็ทำให้มากขึ้น ทำให้บ่อยขึ้น  เคยไหว้พระสวดมนต์มากน้อยเพียงไร ก็สวดให้มากขึ้น ให้บ่อยขึ้น  เคยนั่งสมาธิเดินจงกรมปฏิบัติธรรม ก็พยายามปฏิบัติให้มากขึ้นไป  เหมือนกับการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีรายได้เท่าไร อยากจะได้รายได้มากกว่าที่มีอยู่ ก็ต้องขยันมากขึ้นกว่าเดิม ทำงานให้มากขึ้น แล้วรายได้ก็จะเพิ่มตามขึ้นมา  

ข้อที่ ๓.  ให้ละบาปที่ยังไม่ได้ละเสีย  ถ้ายังฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่ ก็พยายามละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ถ้ายังลักทรัพย์อยู่ ก็พยายามละเว้นจากการลักทรัพย์ ถ้ายังประพฤติผิดประเวณีอยู่  ก็พยายามละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี ถ้ายังพูดปดมดเท็จอยู่  ก็พยายามละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ  ถ้ายังเสพสุรายาเมา ยังเกี่ยวข้องกับอบายมุขต่างๆอยู่  ก็พยายามละเว้นเสีย  นี่คือสิ่งที่เราจะต้องพากเพียรพยายาม  ละสิ่งที่ไม่ดี ที่มีอยู่ในตัวเรา ให้เบาบางลงไป  ให้หมดไปในที่สุด เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ เมื่อมีอยู่ในตัวเราแล้ว จะสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจให้กับเรา  เหมือนกับเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกายของเรา เราต้องรีบกำจัดออกไป ไม่เช่นนั้นแล้วร่างกายจะถูกทำลายถึงแก่ชีวิตได้

ข้อที่ ๔. ให้ป้องกันบาปความชั่วทั้งหลายที่ได้ละแล้ว ไม่ให้มันหวนกลับคืนมาอีก  ถ้าเลิกสุรายาเมาได้แล้ว ก็อย่ากลับไปเสพอีก  ถ้าเลิกเล่นการพนันได้แล้ว ก็อย่ากลับไปเล่นอีก  ถ้าละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จได้แล้ว ก็อย่าไปทำอีก ละได้มากน้อยเพียงไร ก็พยายามรักษาไว้  เคยรักษาศีลได้กี่ข้อ ก็พยายามรักษาไป เคยรักษาศีลได้อาทิตย์ละกี่วัน ก็พยายามรักษาไป อย่าให้หดหายไป  ถ้าปล่อยให้หดหายไปแล้ว ทุกข์ภัยต่างๆก็จะเป็นผลที่ตามมา  ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราทั้งหลายปรารถนากันเลย  พวกเราทุกคนล้วนมีความปรารถนาที่จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  ปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง  แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  มีแต่พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลายเท่านั้นที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความสุขความเจริญก็ดี ความทุกข์ความเสื่อมเสียก็ดี ล้วนเกิดจากการกระทำของพวกเราทั้งสิ้น  คือการกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่ากรรมนั่นเอง

กรรมแปลว่าการกระทำ  ซึ่งทำได้ ๓ ทางด้วยกัน  คือทางร่างกาย ทางวาจาและทางใจ เรียกว่ากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม  ในกรรมทั้ง ๓ นี้ มีมโนกรรม คือการกระทำทางใจเป็นใหญ่ เป็นเจ้านาย เป็นผู้สั่งการ ส่วนการกระทำทางวาจา ทางกายนั้น เป็นลูกน้อง เป็นบ่าว ถ้าไม่มีใจสั่งการแล้วก็จะพูดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ เช่นญาติโยมวันนี้จะมาที่วัดได้ ใจก็ต้องคิดก่อน เป็นผู้ริเริ่มก่อน ความคิดของใจนี้เรียกว่ามโนกรรม เมื่อคิดแล้วก็สั่งการออกมาทางวาจา และทางกาย เช่นพูดคุยกับเพื่อนกับคนสนิทว่า พรุ่งนี้ไปวัดกันดีไหม อย่างนี้เป็นต้น  แล้วก็เตรียมข้าวเตรียมของ ก็ต้องใช้กายกรรม ใช้ร่างกายของเรากระทำการต่างๆ  เช่นไปซื้อกับข้าวกับปลาข้าวของต่างๆมาถวายพระ เหล่านี้เรียกว่าเป็นการกระทำทั้งสิ้น  เรียกว่ามโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม การกระทำทางใจ ทางวาจาและทางกาย โดยถือหลักสำคัญว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว วาจาเป็นบ่าว ถ้าไม่มีใจสั่งการแล้ว การกระทำทางวาจาและทางกายก็ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้

พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้พวกเรามีสติอยู่เสมอ คอยดูความคิดของเราว่า จะคิดไปในทางไหน เพราะสามารถคิดไปได้ ๓ ทางด้วยกัน คือ ๑. คิดไปในทางกุศล คือคิดไปในทางที่ดีที่งาม   ๒. คิดไปในทางอกุศล คือคิดไปในทางที่ไม่ดีไม่งาม และ  ๓. คิดไปในทางที่ไม่ใช่กุศลหรืออกุศล เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว นี่คือความคิดทั้ง ๓  จำพวก เมื่อคิดแล้ว ก็จะสั่งการไปสู่การกระทำทางกายและทางวาจาต่อไป  ถ้าไม่มีสติคอยเฝ้าดูอยู่ก็จะไม่รู้ว่ากำลังคิดไปในทิศทางไหน คิดไปในทิศทางใด ก็ปล่อยให้กระทำไปทันที แล้วแต่อารมณ์  เช่นเวลาที่มีอารมณ์ขุ่นมัว  ก็จะคิดไปในทางอกุศล อยากจะด่าว่าผู้อื่น อยากจะทุบตีทำร้ายผู้อื่น ถ้าไม่มีสติ การกระทำก็จะเกิดขึ้นทันทีทันใด เพราะไม่มีเครื่องคอยเตือนบอกเรานั่นเอง ว่าความคิดแบบนี้ การพูดแบบนี้ การกระทำแบบนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร

แต่ถ้ามีสติรู้อยู่ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ มีปัญญาคอยแยกแยะว่า อะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล เวลาคิดเรื่องอกุศลทั้งหลาย ก็จะระงับได้ทันที เพราะมีสติมีปัญญาอยู่ในใจแล้ว สามารถระงับความคิดที่ไม่ดีทั้งหลายได้ อย่างง่ายดาย  เพราะอยู่ที่ใจนั้นเอง  เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เหมือนกับการจุดไฟให้ติดขึ้นมา แล้วรู้ว่าถ้าปล่อยให้ไหม้ไปเรื่อยๆ  ก็จะเผาบ้านได้ทั้งหลัง เวลาไฟเริ่มลุกขึ้นมาใหม่ๆ ถ้าเอาน้ำราดลงไปเพียงขันสองขัน  ไฟก็จะดับทันที  แต่ถ้าปล่อยให้ลุกลาม จนกระทั่งไหม้ไปทั่วบ้านแล้ว เวลาจะดับไฟก็จะยาก เช่นเดียวกับการกระทำของเรา ถ้ายังอยู่ในใจอยู่  ก็จะดับได้ง่าย แต่ถ้าหลุดออกมาทางกาย ทางวาจาแล้ว  ก็จะหยุดยาก  ยิ่งมีการตอบโต้กัน ยิ่งทำให้เรื่องใหญ่โตขึ้นไปใหญ่ เหมือนกับเติมฟืนเข้าไปในกองไฟ ทำให้ไฟยิ่งแรงขึ้นไปอีก จนไม่สามารถที่จะดับได้ ก็ต้องปล่อยให้เผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่างให้วอดวายไปหมด

นี่คือการกระทำของพวกเรา  ถ้ามีสติมีปัญญาแล้ว จะสามารถควบคุมการกระทำให้ไปในทิศทางที่เราทั้งหลายปรารถนากันได้  คือไปในทิศทางที่ดีที่งาม ที่สุขที่เจริญนั่นเอง  แต่ถ้าขาดสติขาดปัญญาแล้ว ปล่อยให้จิตใจเป็นไปตามอารมณ์  ก็จะพาไปตกนรกหมกไหม้ ทั้งๆที่เราก็ไม่อยากจะไปกัน แต่เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า การกระทำนั้นๆ เมื่อทำไปแล้วจะมีผลเสียหายตามมาต่อไปอย่างไร  เช่นข่าวคราวทั้งหลายที่เราได้ยินได้ฟังตามสื่อต่างๆ ทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ หรือทางหนังสือพิมพ์  เรามักจะได้รับข่าวที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร มีเรื่องของคนฆ่ากันตาย มีเรื่องของการเบียดเบียนกัน มีเรื่องของคนต้องไปติดคุกติดตะราง ทำร้ายชีวิตของตนเอง เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นผลที่เกิดจากการกระทำทางจิตทั้งสิ้น คือคิดไปในทางอกุศล  ไม่มีสติไม่มีปัญญาคอยควบคุมดูแลระงับความคิดเหล่านั้น  เมื่อไม่ได้ระงับ  ความคิดที่ไม่ดีเหล่านั้นก็จะไหลออกไปสู่กาย สู่วาจาต่อไป  

เมื่อเกิดมีการพูด มีการกระทำแล้ว ผลก็ต้องปรากฏตามมา เช่นคิดไปลักทรัพย์ แล้วก็มีการกระทำตามความคิดนั้น  แล้วก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับไป ก็ต้องไปติดคุกติดตะราง ถ้าไปเสพสุรายาเมา แล้วเกิดการทะเลาะวิวาทกัน มีการทุบตีกัน ก็ต้องมีการเจ็บเนื้อเจ็บตัวกันตามมา ถ้าไปขับรถยนต์ในขณะที่มึนเมา ก็จะเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ความตายหรือพิกลพิการกันไป คนอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ต้องมาพลอยรับเคราะห์กรรมที่เกิดจากการกระทำของเราไปด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่องจากไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผลนั่นเอง ไม่เคยร่ำเรียน ไม่เคยศึกษา ไม่เคยเข้าวัดเข้าวา ปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามความคิดของตน  เชื่อว่าเป็นความคิดที่ถูกที่ดีที่งาม แต่เวลาเกิดผลเสียขึ้นมา ตนนั่นแหละจะต้องเป็นผู้ที่รับผลนั้นๆไป ต้องติดคุกติดตะรางก็เพราะความคิดของตนพาไป ฆ่าตัวตายก็เพราะความคิดของตนพาไป

เราจึงควรให้ความสนใจต่อการดูแลรักษาจิตใจ ด้วยการสร้างสติ สร้างปัญญาให้เกิดขึ้น การสร้างสตินั้น ก็คือให้มีความรู้อยู่กับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน  ก็ให้รู้ว่าอยู่ตรงนั้น  ขณะนี้นั่งอยู่ตรงนี้ ก็ให้ใจรู้อยู่ตรงนี้ อยู่กับการฟัง อย่าให้ใจไปคิดเรื่องราวต่างๆ ถ้าปล่อยให้ใจคิด ก็แสดงว่าไม่มีสติแล้ว สติไม่บริบูรณ์ ถ้าสติบริบูรณ์ จะต้องอยู่ที่นี่ อยู่กับการฟัง เช่นเดียวกับการกระทำอย่างอื่น กำลังเขียนหนังสือ ก็ให้มีสติรู้อยู่กับการเขียนหนังสือ   อ่านหนังสือก็ให้มีสติรู้อยู่กับการอ่านหนังสือ รับประทานอาหารก็ให้มีสติอยู่กับการรับประทานอาหาร ไม่ใช่รับประทานไป แล้วก็คุยกันไป บางทีไม่รู้ว่ารับประทานอะไรเข้าไปก็มี  เพราะเผลอ  มือก็ตักอาหารเข้าปากไป  แต่ใจก็คุยกันไป อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ  ถ้ารับประทานอย่างมีสติ ต้องรับประทานแบบพระ  เวลาพระฉัน ท่านจะไม่คุยกัน จะมีสติอยู่กับการรับประทานอาหาร เวลาบิณฑบาต ก็จะมีสติอยู่กับการบิณฑบาต  จะอยู่กับหน้าที่การงานอย่างเดียว ไม่ปล่อยให้จิตใจไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ เพราะถ้าปล่อยไปแล้ว เวลาทำอะไร ก็มักจะผิดพลาดอยู่เรื่อยๆ เพราะว่าไม่ได้เฝ้าดูอย่างต่อเนื่องนั่นเอง ดูแป๊บเดียวแล้วก็ไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้  ก็เลยทำผิดบ้าง ถูกบ้าง

ถ้ามีสติอยู่กับการทำงานอย่างต่อเนื่อง รู้อยู่ทุกขณะว่ากำลังทำอะไรอยู่ อย่างนี้การกระทำก็จะไม่ผิดพลาด เช่นเดียวกับการดูแลใจของเรา  ถ้าคอยดูแลความคิดอยู่เสมอ เวลาคิดอะไร ก็ต้องรู้แล้วว่ากำลังคิดอะไร คิดดีหรือคิดร้าย ต้องรู้ถ้ามีสติ ถ้าไม่รู้ว่าความคิดนั้นดีหรือร้าย ก็ต้องศึกษาหาความรู้จากท่านผู้รู้ทั้งหลาย เช่น พระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอน พระอริยสงฆ์สาวก ผู้มีความฉลาดรู้ในเรื่องผิด เรื่องถูก เรื่องดี เรื่องชั่ว ถ้าหมั่นศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ก็จะได้รับความรู้จากท่าน เรียกว่าสุตมยปัญญา  เป็นความรู้ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง  ได้อ่านหนังสือธรรมะ ได้ร่ำได้เรียน นี่เป็นความรู้อย่างหนึ่ง ความรู้อีกอย่างหนึ่ง ก็เกิดจากการคิดของเราเอง คิดแบบมีเหตุมีผล เช่นเห็นว่าเมื่อทำอะไรลงไปแล้ว จะเกิดผลอะไรตามมา เห็นคนไปลักขโมยข้าวของเงินทอง แล้วถูกตำรวจจับไปเข้าคุกเข้าตะราง  ก็คิดได้ว่า การที่ไปติดคุกติดตะรางนี้ ต้องเกิดจากการไปลักทรัพย์ ไปขโมยข้าวของๆผู้อื่นเขา  จึงถูกตำรวจจับเข้าคุกเข้าตะรางไป  คิดแบบนี้ก็จะรู้ว่า การลักทรัพย์นี้ไม่ดี เมื่อทำไปแล้วก็จะต้องถูกเจ้าหน้าที่จับเข้าคุกเข้าตะราง ถ้าเป็นนักเรียน เวลาไปเรียนก็ไม่ไปเรียน ครูอาจารย์ก็มาบอกพ่อแม่ที่บ้านว่า ลูกไม่ได้ไปโรงเรียน เมื่อพ่อแม่รู้  ก็ต้องเอาไม้เรียวมาตีลูก  ถ้าลูกคิดเป็น ก็จะรู้ว่าการหนีโรงเรียน  เป็นการกระทำที่ไม่ดี เมื่อทำไปแล้ว จะต้องโดนไม้เรียว นี่คือการคิดด้วยเหตุผล เรียกว่าจินตมยปัญญา เป็นปัญญาความรู้ที่เกิดจากการคิดด้วยเหตุด้วยผล

มีปัญญาอีกอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่าภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม คือการนั่งสมาธิและเจริญวิปัสสนา  เวลาได้นั่งสมาธิจนจิตใจสงบลง จะรู้เลยว่าความสุขนั้น อยู่ที่ตรงไหน เมื่อก่อนยังไม่เคยนั่งสมาธิ  จะไม่รู้ว่าความสุขอยู่ตรงไหน ก็จะเดาไปสุ่มสี่สุ่มห้า เห็นใครเขามีอะไร ก็คิดว่าเขามีความสุข ก็อยากจะมีความสุขเหมือนกับเขา เห็นเขามีคู่ครอง มีสามี มีภรรยา ก็คิดว่าเขามีความสุข ก็อยากจะมีตามเขา พอมีสามี มีภรรยาเข้า กลับมีความทุกข์อย่างใหญ่หลวงตามมา ทุกข์ที่เกิดจากการต้องอยู่ด้วยกัน ต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน ต้องหนักอกหนักใจต่อกันและกัน ห่วงใยต่อกันและกัน เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นกัน เพราะไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหนนั่นเอง ก็เลยต้องทำตามชาวบ้านเขา เห็นชาวบ้านเขามีอะไร ก็อยากจะมีตามเขา แต่พอมีแล้ว จึงรู้ว่ามันเป็นความทุกข์ทั้งนั้น แต่เมื่อมีแล้ว ก็ติดเหมือนกับคนที่ติดยาเสพติด ทั้งๆที่รู้ว่ายาเสพติดนี้มีโทษ  แต่เมื่อติดแล้วก็เลิกไม่ได้  ก็ต้องทนเสพไปจนตายไปในที่สุด  เพราะถ้าไม่ได้เสพ ก็ทรมานใจ

นี่คือความโง่เขลาเบาปัญญา  เพราะไม่ได้บำเพ็ญภาวนานั่นเอง ถ้าบำเพ็ญภาวนาทำจิตใจให้สงบแล้ว จะรู้ขึ้นมาว่า ความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ตัวเรานี่เอง อยู่ที่ใจที่สงบนี่เอง เมื่อก่อนนี้ใจไม่สงบ  ก็เลยสร้างความหิวความอยากขึ้นมาหลอกเราตลอดเวลา จนทำให้อยู่ไม่เป็นสุข  แต่พอมาฝึกทำสมาธิจนจิตใจสงบแล้ว จึงรู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่นี่เอง  เพราะเวลาจิตสงบแล้ว มันสุขจริงๆ  สุขยิ่งกว่าอะไรที่เคยได้สัมผัสมา นี่แหละที่ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา เรียกว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา ถ้าได้เจอความสุขที่เกิดจากความสงบในใจแล้ว จะสามารถเลิกสิ่งต่างๆ  ละเว้นสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีไม่งามได้หมดเลย เรื่องการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เรื่องการลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จโกหกหลอกลวง เรื่องการเสพสุรายาเมา และอบายมุขต่างๆ จะสามารถเลิกได้เลย เพราะใจไม่หิวกับสิ่งเหล่านี้แล้ว เหมือนได้รับประทานอาหารเต็มที่แล้ว  ต่อให้ใครยกอาหารที่วิเศษเลิศโลกขนาดไหนมาตั้งไว้ข้างหน้า ก็รับประทานไม่ลง  เพราะมันเต็มไปหมดแล้ว  ถ้ารับประทานเข้าไป ท้องก็จะต้องแตกแน่นอน

นี่คือภาวนามยปัญญา  ความรู้ที่เกิดจากการบำเพ็ญจิตตภาวนา เมื่อบำเพ็ญจนพบกับความสุขที่แท้จริงแล้ว ก็จะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนไม่ใช่ความสุขเลย ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของเงินทองหรือบุคคลต่างๆ ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น มีอะไรก็ต้องทุกข์กับสิ่งนั้น มีสามี มีภรรยา ก็ต้องทุกข์กับสามี ทุกข์กับภรรยา มีลูกก็ต้องทุกข์กับลูก มีบ้านก็ต้องทุกข์กับบ้าน มีรถก็ต้องทุกข์กับรถ มีอะไรก็ต้องทุกข์กับเขาทั้งนั้น สู้ไม่มีอะไรเสียจะดีกว่า อยู่แบบตัวเปล่าๆ อย่างนี้แหละดีที่สุด ไม่ต้องทุกข์กับอะไร แล้วชีวิตจะมีแต่ความสุข  นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ตรัสรู้  ได้พบ ได้เข้าใจ  ท่านมีปัญญา ท่านรู้แล้วว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ในตัวท่าน  อยู่ในตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่อื่น เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ   สิ่งอื่นๆทั้งหลายนั้น ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง  ถ้ามีความสุขก็เป็นความสุขที่เกิดจากความหลง หลงไปยินดี หลงไปอยากได้ เมื่อหลงอยากจะได้แล้ว  เวลาได้มาใหม่ๆ ก็ดีอกดีใจ แต่พอต้องมาดูแลรักษา ก็เกิดความปวดศีรษะตามมา มีรถก็ต้องซ่อมแซม ต้องซื้อน้ำมันมาเติม เวลาน้ำมันขึ้นราคา ก็บ่นกันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่มีใครบอกว่าดีเลย เวลาน้ำมันขึ้น มีแต่บ่นกันไปหมด การบ่นก็คือความทุกข์นั่นเอง สู้ไม่มีอะไรเลยจะดีกว่า  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้