กัณฑ์ที่ ๒๑๙     ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘

มักน้อยสันโดษ

ใจเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของชีวิต จะสุขจะทุกข์ก็อยู่ที่ใจ ใจนี้แหละเป็นผู้สร้างความทุกข์และสร้างความสุข แล้วก็เป็นผู้รับความทุกข์และรับความสุข เหมือนกับร่างกาย ถ้าเอาอะไรมาทุบตีร่างกาย ร่างกายก็ต้องรับความเจ็บปวดจากการทุบตี ฉันใดใจก็เป็นเหมือนกับร่างกาย แต่ไม่ต้องใช้การทุบตี เพราะใจไม่ใช่รูปธรรม ไม่ใช่วัตถุ จึงไม่สามารถเอาวัตถุมาทำให้ใจทุกข์ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้ใจทุกข์หรือสุข อยู่ที่ความคิดของใจเอง ถ้าคิดดีใจก็มีความสุข ถ้าคิดไม่ดีคิดชั่ว ใจก็มีความทุกข์ นี่เป็นเรื่องของใจที่ต่างกับร่างกาย ร่างกายเป็นส่วนย่อยของชีวิต  ส่วนสำคัญของชีวิตอยู่ที่ใจ เพราะถ้าไม่มีใจแล้ว ชีวิตก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ 

ถ้าไม่มีใจเป็นผู้สั่งการ ร่างกายก็จะกลายเป็นซากศพไป คนที่ตายไปแล้วเป็นร่างที่ไม่มีใจเหลืออยู่แล้ว ใจได้ทิ้งร่างไปแล้ว ใจได้ไปที่อื่นแล้ว ร่างกายจึงไม่รู้อะไรเลย นอนอยู่เฉยๆ แล้วก็จะค่อยๆเสื่อมสลายไป เพราะไม่มีใจคอยดูแลรักษาร่างกายให้อยู่ต่อไป คนที่ยังมีใจอยู่กับร่างกาย จึงสามารถอยู่ต่อไปได้ ยังทำอะไรได้ จะเดิน จะวิ่ง จะนั่ง จะนอน จะรับประทานอาหาร จะไปทำอะไร ก็ยังสามารถทำได้ แต่ต้องมีใจเป็นผู้ควบคุม เป็นพี่เลี้ยง ถ้าเปรียบเทียบร่างกายก็เหมือนกับเด็กทารก ที่ยังไม่สามารถดูแลตนเองได้ ต้องอาศัยผู้หลักผู้ใหญ่ เช่นพ่อแม่คอยดูแลเลี้ยงดู จนกว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ร่างกายไม่เป็นอย่างนั้น เป็นทารกตลอดชีวิต ถ้าไม่มีใจดูแลรักษา ร่างกายก็จะกลายเป็นซากศพไปทันที ปล่อยทิ้งไว้ก็จะต้องเน่าเปื่อยไป จนไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ นี่เป็นเรื่องของร่างกาย

ใจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิต ที่ทำอะไรได้อยู่ทุกขณะนี้ เพราะมีใจเป็นผู้สั่งการ การศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติของใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ กว่าการศึกษาธรรมชาติของร่างกาย เรื่องของร่างกายเราก็พอจะรู้อยู่ว่า ทำอย่างไรให้ร่างกายอยู่ได้ ก็ไม่มีอะไรมาก ให้หายใจอยู่เรื่อยๆ อย่าไปหยุดหายใจ ร่างกายก็จะไม่ตาย นอกจากหายใจแล้ว ก็ต้องให้อาหารอย่างต่อเนื่อง ให้น้ำอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ต้องปกป้องรักษาด้วยเสื้อผ้า ด้วยที่อยู่อาศัย ไม่ให้แดดให้ฝน ไม่ให้แมลงสัตว์มากัดมาต่อย มาทำลายร่างกายได้ ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องหายามาดูแลรักษา เท่านี้ร่างกายก็สามารถอยู่ไปได้ จนกว่าจะหมดอายุขัย แต่ใจเป็นสิ่งที่พวกเราไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าจะรักษาใจอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ใจมีอารมณ์ขุ่นมัว ทำอย่างไรให้มีแต่ความสบายอกสบายใจ เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะไม่เคยศึกษา ไม่รู้ว่าอะไรทำให้ใจมีอารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่ทราบว่าอะไรทำให้ใจทุกข์ ใจกังวล เพราะไม่มีใครสอนนั่นเอง เกิดมาพ่อแม่ก็ไม่รู้เรื่องของใจ พ่อแม่จึงไม่สามารถสอนไม่ให้มีความโกรธ ไม่ให้มีความโลภได้

เพราะพ่อแม่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ความโลภความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดี ต้องอาศัยคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะเข้าใจได้เป็นอย่างดี รู้ว่าอะไรทำให้สงบร่มเย็นเป็นสุข สบายอกสบายใจ รู้ว่าอะไรทำให้ว้าวุ่นขุ่นมัว มีความทุกข์ มีความเดือดเนื้อร้อนใจ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ศึกษามา และได้ปฏิบัติมา จนสามารถทำให้ใจของท่านมีแต่ความสงบ มีแต่ความสบาย มีแต่ความเย็น ปราศจากความทุกข์ ความรุ่มร้อน ความว้าวุ่นขุ่นมัวทั้งหลาย  เพราะได้ทรงศึกษาจนเห็นชัดแจ้งแล้วว่า เหตุที่ทำให้ใจว้าวุ่นขุ่นมัว ก็คือกิเลสตัณหานี่เอง กิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง  ตัณหาก็คือความอยากต่างๆ ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น เหล่านี้ถ้ามีปรากฏขึ้นมาในใจแล้ว จะทำให้ใจว้าวุ่นขุ่นมัว รุ่มร้อน ไม่สบายอกไม่สบายใจ แล้วยังทรงรู้ด้วยว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดความโลภ ความโกรธ ให้เกิดความอยากต่างๆนานาขึ้นมา ก็คือความหลงนั่นเอง หรืออวิชชาความไม่เข้าใจในธรรมชาติของใจ ว่าอะไรทำให้ใจมีความสุข มีความทุกข์

พระพุทธเจ้าได้ทรงศึกษาทดลองจนเห็นแล้วว่า ใจจะมีความสุขได้นั้น ใจต้องไม่โลภ ต้องไม่โกรธ ต้องไม่อยากในสิ่งต่างๆทั้งหลาย ต้องระงับดับกิเลสตัณหา เพราะเมื่อสงบระงับจากความโลภ ความโกรธ ความอยากต่างๆแล้ว ใจก็จะนิ่งสงบ มีความสุข ความอิ่ม ความพอ มีปีติอยู่ในตัวเอง นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงศึกษาและทำความเข้าใจ จนเห็นได้อย่างแจ้งชัดแล้วว่า ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขได้อย่างแท้จริง คือต้องทำใจให้สงบสงัดจากกิเลสตัณหาทั้งหลายนั่นเอง หน้าที่ที่แท้จริงของพวกเรา เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข เพื่อความเจริญ จึงอยู่ที่การต่อสู้กับกิเลสตัณหาทั้งหลาย ไม่ปล่อยให้กิเลสตัณหาออกมาเพ่นพ่าน เพราะทุกครั้งที่ออกมา ก็เหมือนกับปล่อยให้คนติดคุกติดตะรางหนีออกมา สร้างความเดือดร้อน ความเสียหายให้กับผู้อื่น

กิเลสตัณหาจึงเป็นเหมือนนักโทษ ที่หนีออกมาจากคุก  เราจึงต้องทำหน้าที่ตำรวจ คอยจับ คอยทำลาย พวกกิเลสตัณหาทั้งหลาย ไม่ให้มีอำนาจวาสนา ถ้ามีแล้ว จะสร้างความวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อนแบบไม่มีที่สิ้นสุด ถึงแม้จะสั่งให้เราไปหาสิ่งต่างๆมาครอบครองเป็นสมบัติ เป็นจำนวนมาก หาเงินหาทองได้เป็นหมื่นล้านแสนล้าน ทำให้เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีตำแหน่งสูงๆ  เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตามเถิด แต่ถ้ายังมีกิเลสมีตัณหาอยู่ในใจแล้ว จะทำให้เราต้องตะเกียกตะกายอยู่ตลอดเวลา จะไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆได้เลย พออยู่เฉยๆ ก็จะเกิดความอึดอัดใจ เกิดความเบื่อหน่าย จะต้องออกไปหาอะไรทำ จะต้องออกไปหาอะไรมา ใจถึงจะมีความสุขได้  ต้องขวนขวายตะเกียกตะกายอยู่ร่ำไป เพราะไม่ว่าจะได้อะไรมามากน้อยเพียงไร จะไม่อิ่ม จะไม่พอ แต่จะรู้สึกหิว รู้สึกว่าขาดสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ พอเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมา ก็เกิดความอยากได้ขึ้นมา

นี่คือปัญหาของพวกเรา กิเลสตัณหาคือตัวสร้างปัญหาทั้งหลายให้กับเรา เราจึงต้องดำเนินชีวิตตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราดำเนิน ต้องเจริญธรรมะที่เรียกว่ามักน้อยสันโดษ  มักน้อยก็คืออย่าไปโลภมาก อย่าไปอยากได้อะไรมากๆ เอาเท่าที่จำเป็นก็พอ คำว่าน้อยก็คือ เอาเท่าที่พอเพียงต่อการดำรงชีพ  รับประทานอาหารก็รับประทานพอประมาณ อย่าไปรับประทานมากจนเกินความต้องการของร่างกาย เพราะถ้ามากกว่าความต้องการแล้ว ก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินความจำเป็น จะกลายเป็นคนอ้วนไป กลายเป็นคนที่มีรูปร่างไม่สวยงาม กลายเป็นคนมีโรคภัยรุมเร้า ที่เกิดจากมีน้ำหนักเกินนั่นเอง  นี่คือปัญหา เราจึงต้องใช้ความมักน้อยเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เอาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะมีมากเกินความจำเป็นไม่เกิดคุณ ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ได้ทำให้มีความสุขมากขึ้น แต่กลับจะทำให้มีความทุกข์มากขึ้น ร่างกายก็จะต้องทำงานหนักขึ้น จะต้องมีปัญหากับโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมา นี่ยกตัวอย่างเกี่ยวกับร่างกาย แต่จะครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเลยทีเดียว

ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็มีได้ แต่ให้อยู่ในกรอบของเหตุของผล คือของความจำเป็นเท่านั้น จำเป็นจะต้องมีอะไรไว้เพื่อดำเนินชีวิตก็มีไป เช่นต้องทำงานทำการ เพราะถ้าไม่ทำก็จะไม่มีรายได้ เมื่อไม่มีรายได้ ก็จะไม่มีอะไรมาจุนเจือดูแลรักษาอัตภาพร่างกาย ให้อยู่อย่างปกติสุข ก็ต้องทำงานทำการกัน เวลาทำงานทำการก็ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ  ต้องมีรถยนต์ไว้ขับไปทำงาน มีเสื้อผ้าไว้ใส่ไปทำงาน มีเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการทำงาน สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น อย่างนี้ต้องหามา ต้องมีไว้ แต่ให้มีพอกับความจำเป็นของงานก็พอ ส่วนอย่างอื่นที่ไม่มีความจำเป็น ก็อย่าไปหามาจะดีกว่า เพราะไม่เกิดประโยชน์ แต่จะเกิดโทษกับใจ เพราะจะหลอกให้หามาอยู่เรื่อยๆ ได้อะไรมาใหม่ๆก็มีความสุข มีความพอใจอยู่ได้สักระยะหนึ่ง พอเห็นสิ่งใหม่ๆออกมาอีก ก็เกิดความอยากได้ขึ้นมาอีก สิ่งที่มีอยู่แล้วก็ไม่มีความหมาย ต้องเอาสิ่งใหม่ ทั้งๆที่ไม่มีสิ่งใหม่นี้ ก็ไม่เดือดร้อนอะไร ก็ยังสามารถอยู่ได้

แต่ถ้าใจมีความโลภมีความอยากเกิดขึ้นแล้ว ก็จะสร้างความรุ่มร้อน ให้เกิดขึ้น จนกระทั่งทนอยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องออกไปหาไปซื้อสิ่งที่ต้องการมาแล้วก็จะเป็นแบบเดิมอีก พอได้มาแล้วสักพักหนึ่งก็เบื่อ ก็อยากจะได้สิ่งใหม่ๆอีก นี่คือสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่นพวกของสวยๆ งามๆ ของฟุ่มเฟือยทั้งหลาย เครื่องประดับประดาต่างๆ เครื่องเพชรต่างๆ หรือเสื้อผ้าที่มีเกินความจำเป็น เพราะเสื้อผ้ามีไว้สำหรับสวมใส่ปกปิดร่างกาย เราก็มีพอเพียงแล้ว แต่เวลาเห็นเสื้อผ้าชุดใหม่ๆ มีสีสันแปลกๆ ดูแล้วก็เกิดความอยากจะได้มา อย่างนี้ก็เป็นของฟุ่มเฟือยเหมือนกัน  พยายามเอาความมักน้อย เอาเหตุผลมาสกัดจะดีกว่า ถามตัวเองว่า ถ้าไม่มีเสื้อผ้าชุดใหม่นี้แล้ว จะตายไหม เสื้อผ้าที่มีอยู่ ยังใส่ได้หรือไม่ ถ้ายังใส่ได้ ไม่ทำให้เราต้องตายไป ก็อย่าไปอยากได้มา จะดีกว่า  เพราะอยากได้แล้ว จะไม่ได้หยุดอยู่ตรงนั้น เดี๋ยวก็อยากได้ชุดใหม่อีกตามมาเรื่อยๆ นี่เป็นธรรมชาติของความอยาก ที่เกิดจากความหลง คือความไม่มีเหตุไม่มีผลนั่นเอง ไม่มีความมักน้อย ไม่มีความสันโดษ

ความสันโดษหมายถึงความยินดีตามมีตามเกิด มีอะไรได้อะไรมาก็พอใจกับสิ่งที่ได้มา เป็นเหมือนนักบวช เวลาไปบิณฑบาตใครจะใส่อะไรมาให้รับประทาน ก็พอใจกับสิ่งที่ได้รับมา จะไม่บ่น จะไม่มีความรู้สึกอิดหนาระอาใจ เมื่อได้สิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ถูกกับกิเลสตัณหา เป็นเรื่องที่นักบวชพยายามควบคุมบังคับจิตใจ ถ้าเป็นอาหารที่รับประทานได้ ทำให้ร่างกายอิ่ม มีความสุข ไม่ทุกข์ ไม่หิว ก็ใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารที่ถูกกับปากถูกกับใจ ถ้ามีความมักน้อยสันโดษอยู่ในใจแล้ว จะสามารถระงับดับกิเลสตัณหาต่างๆได้มาก จนดับได้หมดเลยทีเดียว ถ้าดับกิเลสตัณหาได้หมดแล้ว จะไม่มีอะไรวิเศษเท่า เพราะเมื่อดับไปแล้วใจจะมีแต่ความสุข ไม่ทุกข์ ไม่หิว ไม่กระหาย เหมือนนักโทษที่หนีออกมาจากคุก ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองจับไปทำลายจนหมดสิ้นแล้ว ประชาชนสามารถไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะมีใครมาทำร้าย เพราะพวกที่หนีออกมาจากคุกได้ถูกตำรวจจับหรือถูกฆ่าทิ้งหมดแล้ว จึงไม่มีใครมาสร้างความทุกข์ สร้างความเดือดร้อน ให้กับสังคมอีกต่อไป

กิเลสตัณหาก็เหมือนคนติดคุกที่หนีออกมานั่นเอง เมื่อออกมาแล้วก็จะสร้างความวุ่นวายให้กับเรา แต่ถ้าไม่มีกิเลสตัณหาแล้ว เราจะอยู่เฉยๆได้ เช่น วันนี้วันเสาร์ ถ้าไม่มีความอยากแล้ว ก็อยู่บ้านได้อย่างสบาย ไม่ต้องวุ่นวายแต่งตัว ไม่ต้องวุ่นวายกับการออกไปข้างนอก ไม่ต้องวุ่นวายกับการหาเงินหาทอง เพื่อเอามาใช้จ่ายกับการออกไปข้างนอก นี่แหละคือความวิเศษของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าสามารถนำเอามาปฏิบัติได้แล้ว จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข  ไม่ต้องตะเกียกตะกายแสวงหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก เพราะความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ใจที่สงบระงับจากกิเลสตัณหาทั้งหลายนั่นเอง  เราจึงต้องใช้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า มาสร้างความมักน้อยสันโดษให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่จะทำโดยไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือนั้น เป็นสิ่งที่ยาก ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำให้เกิดความมักน้อยสันโดษขึ้นมา คือต้องมีการเสียสละ มีอะไรเหลือกินเหลือใช้ ควรสละให้ผู้อื่นไป มีเวลาอยู่ว่างๆ ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ ควรสละเวลาไปทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นบ้าง

นี่เป็นวิธีที่จะสกัดความโลภ ความอยากต่างๆได้ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้มีจาคะ การเสียสละ พยายามใช้เวลาและสิ่งของต่างๆ ที่มีอยู่แต่ไม่มีความจำเป็นกับเรา เอาไปทำให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น แล้วก็ให้ดำรงอยู่เป็นปกติ ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องระวังไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนกับผู้อื่น เพราะถ้าไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นแล้ว ความเดือดร้อนนั้นก็จะกลับมาที่ตัวเรา เช่นอย่าเอาทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองของผู้อื่นที่เขาไม่ได้อนุญาตมา อย่าทำร้ายชีวิตของผู้อื่น เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ที่ทุกคนรักและสงวน ไม่ต้องการให้ใครมาทำร้าย เมื่อชีวิตนั้นถูกทำร้ายไป ก็จะต้องสร้างความทุกข์ให้ทั้งกับคนที่ตายไป และคนที่รักเขา เช่นญาติสนิทมิตรสหาย จะต้องมีผู้ตามจับ เพื่อนำตัวไปลงโทษ เพราะถ้าปล่อยให้อยู่ในสังคม จะสร้างความเดือดร้อน ทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นอีก ทำให้สังคมไม่สงบ ไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ ความกังวลใจ จึงต้องตามจับเพื่อเอาไปกักขัง ไปลงโทษ หรือเอาไปทำลายเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความร้ายกาจของเรา

จะทำอะไรจึงต้องระมัดระวัง ไม่ให้ไปกระทบ ไปเบียดเบียน ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นชีวิต เป็นทรัพย์สิน ที่เป็นวัตถุก็ดีเป็นบุคคลก็ดี เช่นสามีภรรยาของผู้อื่น ไม่ควรไปยุ่ง ไม่ควรไปเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนั้นก็ต้องมีสัจจะ มีความจริงใจ พูดอะไรต้องเป็นความจริงไม่พูดในสิ่งที่ไม่จริง เพราะจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจผิดขึ้นมา จะทำให้เกิดความเสียหาย เช่นไปหลอกยืมเงิน แล้วสัญญาว่าจะเอามาคืน ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะเอามาคืนเลย พอเขาหลงเชื่อให้เรายืมเงินไป เขาก็ต้องมาเสียใจภายหลัง เพราะไม่ได้รับเงินคืนนั่นเอง เป็นการโกหกหลอกลวง ไม่มีสัจจะ  เป็นการเบียดเบียน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ถ้าประพฤติแบบนี้แล้ว สังคมจะรังเกียจ จะไม่สามารถอยู่อย่างปกติเหมือนผู้อื่นได้  ถ้าไม่ถูกจับไปขังไว้ในคุกในตะราง ก็จะต้องถูกประหารชีวิตเลยทีเดียว จึงต้องระมัดระวังในการกระทำของเรา  ถ้าอยากจะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

ประการสุดท้าย ต้องควบคุมจิตใจให้สงบนิ่ง เพราะเวลาสงบนิ่งแล้ว กิเลสตัณหาจะไม่ปรากฏ จะไม่สามารถทำงานได้ ในขณะที่จิตมีความสงบ มีความนิ่ง จิตจะมีความมักน้อย มีความสันโดษ จะไม่หิวไม่กระหาย ไม่อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ แล้วจะรู้สึกว่าสิ่งที่มีอยู่ มันมากมายเกินความจำเป็นต่อการดำรงชีพเสียด้วยซ้ำไป แล้วจะทำให้อยากเอาส่วนที่เกินนี้ไปช่วยเหลือผู้อื่น ไปแจกจ่าย ไปทำบุญทำทาน ทำให้ใจมีความสุข มีความพอ เป็นการดำเนินชีวิตที่จะทำให้มีความสุขอย่างแท้จริง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้