กัณฑ์ที่ ๒๒๒       ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘

ทางเลือก

 

พวกเรามาทำบุญที่วัดกัน เพราะเราเชื่อ เรามั่นใจ ในความเป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิต ของพระพุทธเจ้า เราเชื่อว่าวิถีทางที่ได้ทรงดำเนินมา ได้นำมาเผยแผ่สั่งสอน ให้พวกเราได้ดำเนินตามนั้น เป็นวิถีทางของนักปราชญ์ เป็นทางที่จะนำไปสู่ความสุข และความเจริญอย่างแท้จริง เรียกว่าเป็นกุศล เป็นความฉลาด คำว่ากุศล แปลว่าฉลาด ส่วนอกุศลแปลว่าไม่ฉลาด ทางดำเนินชีวิตของพวกเรา ก็มีอยู่ ๒ ทางด้วยกัน คือกุศลและอกุศล อยู่ที่เราจะเลือก กุศลเป็นทางที่พระพุทธเจ้าได้ดำเนินไป ส่วนอกุศลเป็นทางที่กิเลสตัณหากำลังพาพวกเราไปกัน ถ้าไปทางพระพุทธเจ้า ก็จะไปแต่ที่ดี ได้รับผลที่ดีที่งาม ถ้าไปทางอกุศล ทางกิเลสตัณหา ก็จะพาไปสู่ที่ต่ำ พาไปสู่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ความเสื่อมเสีย

ทางดำเนินจึงเป็นเรื่องของพวกเราที่จะเลือกกัน ไม่มีใครเดินให้ใครได้ เราต้องเป็นผู้เดินเอง เป็นผู้เลือกเองว่า จะเดินไปในทิศทางใด เพราะเป็นหลักธรรมชาติ ไม่มีใครเดินแทนกันได้  พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน  ตนต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือกทางเดินเอง จะไปในทางของนักปราชญ์ราชบัณฑิตอย่างพระพุทธเจ้า หรือจะเดินไปตามทางของคนพาล คนโลภโมโทสัน ทางของกิเลสตัณหา ก็เป็นทางเลือกที่จะเลือกกันได้ แต่ถ้าได้ยินได้ฟังได้ศึกษา ถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา ของทั้ง ๒ ทางแล้วว่าจะเป็นอย่างไร ก็จะรู้ว่าจุดหมายปลายทางของกุศลนั้น เป็นอย่างหนึ่ง จุดหมายปลายทางของอกุศล เป็นอีกอย่างหนึ่ง มีความแตกต่างกัน อย่างฟ้ากับดิน ร้อนกับเย็น สวรรค์กับนรก

ถ้าปล่อยให้ชีวิตของเรา ดำเนินไปตามทางของกิเลสตัณหา ตามทางของคนพาล ก็จะพาเราไปสู่อบาย นำพาเราไปสู่นรก แต่ถ้าดำเนินไปตามทางของนักปราชญ์มหาบัณฑิตอย่างพระพุทธเจ้า ก็จะพาไปสู่สุคติ ไปสู่ภพภูมิที่มีแต่ความเจริญ  มีแต่ความสุข ตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไป จากมนุษย์ก็ขึ้นไปเป็นเทพ เป็นพรหม ไปสู่อริยมรรค อริยผล เป็นทางของนักปราชญ์ อยู่ที่ว่าจะเชื่อหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์เอง  ไม่มีใครพิสูจน์ให้เราได้  เหมือนกับอาหารที่มีการโฆษณาไว้ว่า เป็นอาหารเลิศรสที่สุดในโลก ใครรับประทานแล้ว จะต้องยอมรับว่าเป็นอาหารที่วิเศษจริงๆ แต่ถ้าเราไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้รับประทาน จะไม่รู้เลยว่ารสชาติเป็นอย่างที่โฆษณาไว้หรือไม่  เพียงแต่ดูเฉยๆ มองเฉยๆ จะไม่รู้ว่าเป็นอาหารเลิศโลก หรือเป็นยาพิษที่จะทำลายเรา

เช่นเดียวกับหนทางทั้งสองทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน  ทางของบัณฑิตและทางของคนพาล มีผลแตกต่างกัน ทางของคนพาลก็จะพาไปสู่อบาย ไปสู่นรก ไปสู่ความทุกข์ ความเดือดร้อน ความเสื่อมเสีย ทางของบัณฑิต ก็จะพาไปสู่ความสุข ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ไปสู่สวรรค์ ไปสู่การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  แห่งความทุกข์ทั้งหลาย  นี่เป็นทาง ๒ ทางที่พระพุทธเจ้าได้นำเสนอ อยู่ที่พวกเราจะเลือกไปทางไหนกัน เหมือนกับอาหาร  ๒ ชนิดให้เราเลือก ชนิดหนึ่งเอร็ดอร่อย อีกชนิดหนึ่ง เป็นอาหารที่บูด รับประทานเข้าไปแล้วท้องจะเสีย ให้เลือกเอาว่าจะรับประทานชนิดไหน  เพราะไม่มีใครบังคับ อยู่ที่เราจะตัดสินใจ จะเชื่อคนที่บอกเราหรือไม่ 

พระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ทรงเสนอความจริงทั้ง ๒ ส่วน ส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ดี ให้เลือกให้ตัดสินใจ  แต่พระพุทธเจ้าไม่สามารถพิสูจน์ ความดีหรือความชั่วของทางทั้งสองทางนี้ให้กับเราได้ เพียงแต่ได้พิสูจน์มาแล้วด้วยพระองค์เอง ทั้งทางดีและทางไม่ดี จนมีความมั่นพระทัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะได้สัมผัสกับผลอันเลิศ  ที่เกิดจากการปฏิบัติดี และได้สัมผัสกับผลที่เกิดจากการปฏิบัติไม่ดี   จึงรู้ทั้งผลดีและผลร้ายของทั้งสองทาง  จึงได้นำมาประกาศ มานำเสนอให้กับพวกเราได้รับรู้  เพื่อพวกเราจะได้มีทางเลือก เพราะในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสอนให้กับสัตว์โลก  พวกเราร้อยทั้งร้อย ก็จะเลือกไปในทางไม่ดีทั้งนั้น  เพราะเหตุใด เพราะจิตใจของเราถูกอำนาจของกิเลส ตัณหา โมหะ อวิชชาครอบงำอยู่นั่นเอง

เวลาทำอะไร ส่วนใหญ่จะทำตามอำนาจของความโลภ ของความอยากทั้งสิ้น ไม่ได้คำนึงถึงเหตุถึงผลเลยว่า สิ่งที่โลภ ที่อยากนั้น ให้ผลดีหรือเสีย เช่นอยากดื่มสุรา อยากเที่ยว อยากเล่นการพนัน อยากอยู่เฉยๆ งอมือ งอเท้า เกียจคร้าน ไม่ชอบทำอะไร  ไม่ขยันทำงาน ไม่ขยันเรียนหนังสือ แต่อยากจะได้อะไรเยอะๆ แต่ไม่มีความสามารถ ก็เลยต้องหาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ไปลัก ไปขโมย ไปฉ้อโกง ไปหลอกลวงผู้อื่น  เพื่อจะได้มาในสิ่งที่ต้องการ  อย่างนี้เป็นทางของคนที่ถูกกิเลส ตัณหา โมหะ อวิชชา ครอบงำจิตใจ ผลเสียจึงตามมา คือความทุกข์ ความรุ่มร้อนจิตใจ ถูกจับไปลงโทษ ไม่ถูกกักขังก็ถูกเฆี่ยนตีหรือถูกทำลายชีวิตไป เพราะถ้าปล่อยให้ทำอย่างที่เคยทำมา ก็จะต้องสร้างความทุกข์ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  จึงไม่ปล่อยให้อยู่อย่างอิสระ ทำอะไรตามอำเภอใจเพราะเมื่อไปปล่อยแล้ว ก็มักจะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

คนแบบนี้เป็นคนแต่ร่างกาย แต่จิตใจเป็นเดรัจฉาน  เช่นสัตว์ร้ายทั้งหลาย พวกเสือสิงห์กระทิงแรด จึงต้องขังไว้ในคอกในกรง ไม่ปล่อยให้ออกไปเพ่นพ่านตามอำเภอใจ  เพราะถ้าปล่อยให้อยู่นอกคอกนอกกรง จะไปสร้างความเดือดร้อน ให้กับผู้อื่นอย่างแน่นอน คนที่ไม่รู้ผิดถูกดีชั่ว  ขาดกุศลความฉลาด  ก็จะเป็นคนลักษณะนี้  มักจะ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น เพราะไม่มีโอกาสได้พบกับนักปราชญ์ ไม่มีโอกาสได้พบกับบัณฑิต เช่นพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย  ผู้รู้ดีเกี่ยวกับเรื่องผิดถูกดีชั่ว เรื่องการกระทำต่างๆ ว่าทำไปแล้ว จะมีผลอย่างไรตามมา ถ้ามีโอกาสได้พบ  ก็จะได้ยินได้ฟังถึงทางทั้งสองทาง คือทางที่ดี ทางที่เจริญ ที่เรียกว่ากุศล และทางที่ไม่ดีทางที่เสื่อม ที่เรียกว่าอกุศล  เมื่อรู้แล้ว จะได้เอามาเปรียบเทียบกับทางที่เราดำเนินอยู่  ว่ากำลังก้าวไปในทางใด  ถ้าไปในทางที่ไม่ดี  ก็จะได้แก้ไขปรับปรุง  เพราะมีข้อมูลที่ถูกต้อง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้พวกเราได้รู้จัก เราจึงควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ไม่ควรมองว่าธรรมะเป็นเรื่องล้าสมัย  เป็นเรื่องโบราณ เป็นเรื่องงมงาย  เพราะธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนของจอมปราชญ์เลยทีเดียว  ไม่ใช่คนธรรมดา สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  แม้ฟังไปแล้วอาจจะรู้สึกว่าเป็นเหมือนนิยาย  ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะพวกเรายังขาดภูมิปัญญา ขาดความสามารถที่จะเข้าถึง สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงรู้ทรงเห็นนั่นเอง

ถ้าเปรียบเทียบพวกเราก็เหมือนกับคนตาบอด ส่วนพระพุทธเจ้าเป็นคนตาดี  ย่อมเห็นสิ่งต่างๆได้เต็มที่ แต่คนตาบอดย่อมไม่เห็นอะไรเลย  เมื่อไม่เห็นอะไรเลย เวลาคนตาดีมาบอกว่า  มีสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่  ก็ไม่สามารถเห็นตามที่คนตาดีบอกได้   ก็จะคิดว่าเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อก็ได้  นี่คือลักษณะของจิตใจของปุถุชน  อย่างพวกเราทั้งหลาย  เป็นอย่างนี้ จิตใจของพวกเรามืดบอดด้วยโมหะ อวิชชา โมหะคือความหลง ความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นกลับตาลปัตร เหมือนกับคนตาบอด  ถึงแม้จะมีแสงสว่างอยู่รอบตัว  ก็จะเห็นแต่ความมืด เห็นความสว่างว่าเป็นความมืดไป ใครจะบอกว่าขณะนี้เป็นเวลากลางวันก็ไม่เชื่อ เพราะเขาอยู่ในความมืด เห็นแต่ความมืด ก็ต้องคิดว่าเป็นเวลากลางคืน

นี่คือจิตใจของพวกเรา ที่ถูกโมหะ ถูกอวิชชาความไม่รู้จริงครอบงำอยู่  ก็จะเห็นอย่างนี้ เห็นไม่ตรงกับความจริง   เช่นเห็นความเที่ยงแท้ในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์  เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน พวกเราตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยคิดเลยว่า สักวันหนึ่งจะต้องตาย มีแต่คิดจะอยู่กันไปตลอด ไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องจากโลกนี้ไป  นี่คือเห็นความเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  ส่วนการเห็นความสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์  ก็คือการเห็นว่าความสุข เกิดจากการมีสมบัติข้าวของเงินทอง มีตำแหน่งใหญ่โต มียศถาบรรดาศักดิ์ มีคนสรรเสริญเยินยอ มีรูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะชนิดต่างๆที่ถูกอกถูกใจ ให้เสพตามความต้องการ เช่นไปเที่ยว ไปดูหนังฟังเพลง ไปรับประทาน ไปดื่ม

แต่ความจริงแล้วกลับเป็นความทุกข์ เพราะอะไร  เพราะวันไหนที่อยากไปเที่ยวแล้วไม่ได้ไป  จะรู้สึกอย่างไร  จะมีความสุขหรือไม่  ไม่มีความสุขแล้ว เพราะไม่ได้ไปเที่ยวดังใจ อยากจะไปดูหนังฟังเพลง ไปดื่ม ไปกิน แต่ไม่มีเงินไป ก็จะต้องเศร้าสร้อยหงอยเหงา อยู่กับบ้านกับช่อง เป็นความทุกข์ขึ้นมาแล้ว  ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้เสพสิ่งที่อยาก  แต่คนที่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์  เขาก็หักห้ามจิตใจ ไม่เสพสิ่งเหล่านี้  ไม่ดูหนังก็ไม่ตาย ไม่ไปเที่ยวก็ไม่ตาย ถ้าจะดื่มจะกิน ก็ดื่มกินเพราะความจำเป็น เพื่อรักษาอัตภาพร่างกายเท่านั้น แต่ไม่ได้ดื่มกินเพื่อความสนุกสนาน เพื่อความสุขอะไร เมื่อสามารถฝึกจิตใจ ไม่ให้ไปติดพันได้แล้ว ความอยากก็ไม่มาผลักดัน ให้ออกไปดื่ม ไปกิน ไปเที่ยว เมื่อไม่มีความอยากมาผลักดันให้ออกไป  ก็ไม่มีความทุกข์ใจ  อยู่บ้านเฉยๆก็มีความสุข

การเห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข  คือการเห็นว่าการมีเงินมากๆ  มีตำแหน่งสูงๆ มีคนสรรเสริญเยินยอแล้ว จะมีความสุข แต่ไม่เคยมองในมุมกลับ  เวลาเงินทองหมดไปจะทำอย่างไร  เมื่อมีความสุขกับการมีเงิน  พอไม่มีเงินขึ้นมาก็ต้องกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาทันที เมื่อเคยมีความสุขกับการมีตำแหน่งใหญ่ๆโตๆ พอถึงเวลาถูกปลด  จะรู้สึกอย่างไร  จะต้องรู้สึกทุกข์มากแน่นอน ทั้งๆที่เมื่อก่อนเคยไม่มีตำแหน่ง ก็อยู่ได้  ไม่เห็นทุกข์อะไรเลย  แต่พอไปมีตำแหน่งเข้า แล้วถูกปลดไป  ก็ต้องทุกข์จนเกือบจะทนอยู่ต่อไปไม่ได้เลย อย่างนี้จะเป็นความสุขได้อย่างไร  มันเป็นความทุกข์ที่รอเราอยู่ทั้งนั้น  รอตอนที่ไม่มีเงิน ตอนที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ตอนที่ไม่มีคนสรรเสริญชื่นชมยินดี  ตอนที่มีคนตำหนิติเตียนด่าว่า  ความสุขก็จะกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา  เพราะเคยกับการได้เงินได้ทอง ได้ตำแหน่งสูงๆ ได้รับการสรรเสริญเยินยอ พอเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ ก็ทนรับกับสภาพนี้ไม่ได้

ถ้ารู้ว่าเป็นความทุกข์ ไม่เป็นความสุข ก็จะไม่ยินดีกับสิ่งเหล่านี้ ได้เงินมาก็เอาไว้ใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องมีมาก พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ พออยู่พอกินก็พอแล้ว จะได้ตำแหน่งอะไรก็ไม่ยึดไม่ติด ได้มาก็รับไว้ ต้องการจะเอาคืน ก็คืนเขาไป การสรรเสริญก็เช่นเดียวกัน เป็นปากของคนอื่น บังคับเขาไม่ได้  จะชม จะด่า ก็ห้ามเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่เราห้ามได้คือใจของเรา อย่าไปหลง ต้องคอยเตือนใจเสมอว่า มันเปลี่ยนแปลงได้ ชมเราวันนี้ พรุ่งนี้ก็ด่าเราได้  ด่าเราวันนี้ พรุ่งนี้ก็ชมเราได้เหมือนกัน ไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว ถ้าไม่ไปยึดไปติด ไม่ไปยินดียินร้ายแล้ว ก็จะเป็นแต่สักแต่ว่า เป็นลมปากเฉยๆเท่านั้นเอง เพราะเราเข้าใจถึงความจริงของสิ่งเหล่านี้ จึงได้เตรียมตัวเตรียมใจ ไว้หักห้ามจิตใจไม่ให้ไปหลงไปยินดี เวลาถูกใครชม เพราะถ้ายินดีแล้ว ก็จะต้องเกิดความทุกข์ตามมา เมื่อเขาไม่ชมหรือด่าเรา

นี่แหละคือการเห็นกลับตาลปัตร เป็นความหลง เห็นผิดเป็นชอบ เห็นความเที่ยงแท้ในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน เราเห็นอะไรเป็นตัวตนบ้าง ก็เห็นร่างกายของเรานี้ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา แต่พระพุทธเจ้ากับพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย กลับเห็นตรงกันข้ามกับเรา กลับเห็นว่าไม่มีตัวไม่มีตน อยู่ในร่างกายนี้ ลองพิจารณาดู แยกแยะอาการต่างๆออกมา ผมก็สักแต่ว่าเป็นผม ผมมีตัวตนไหม เวลาตัดผมทิ้งไป มันกลายเป็นอะไรไป ก็กลายเป็นดินไป เล็บตัดทิ้งไป ก็เหมือนกัน หนังเนื้อเอ็น กระดูก อวัยวะต่างๆ ก็ไม่มีตัวไม่มีตน เป็นเพียงอวัยวะเท่านั้นเอง เวลาไปตลาดเห็นเขาเอาเนื้อสัตว์มาชำแหละขาย ก็ไม่เห็นมีตัวตนอยู่ในเนื้อสัตว์  เวลากินเข้าไป เราก็ไม่ได้กลายเป็นสัตว์ เราก็ยังเป็นเราอยู่เหมือนเดิม

เพราะไม่ใช่ตัวใช่ตนนั่นเอง  เป็นสิ่งที่เกิดมาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ข้าวมาจากอะไร  ก็ต้องปลูกในดิน ต้องมีน้ำ ต้องมีแดด ต้องมีลม ข้าวถึงจะเจริญงอกงามได้ พวกผัก พวกใบหญ้าต่างๆที่สัตว์ทั้งหลายกิน ก็กินใบหญ้า เมื่อกินใบหญ้าแล้วก็กลายเป็นสัตว์ขึ้นมา กลายเป็นหมู เป็นวัว เป็นควาย เมื่อเอามารับประทาน ก็กลายเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ ที่มีอยู่ในตัวของเรา แต่ไม่มีตัวไม่มีตนอยู่ในนั้นเลย เป็นการรวมกันเข้ามาของดิน น้ำ ลม ไฟ มาในรูปของอาหารต่างๆ ที่เรารับประทานกัน เรารับประทานข้าว เนื้อ ผัก ผลไม้ ซึ่งล้วนเกิดมาจากดิน น้ำ ลม ไฟทั้งนั้น ถ้าไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีลม ไม่มีไฟ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ต้องมีดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นส่วนประกอบทั้งนั้น เมื่อประกอบกันขึ้นมาแล้ว ก็มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันไป เป็นต้นไม้บ้าง เป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง ล้วนมาจากดิน น้ำ ลม ไฟทั้งสิ้น ไม่มีตัวไม่มีตนเลย แล้วตัวตนมาจากอะไร

หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงศึกษาค้นคว้าดู ก็ทรงเห็นว่าออกมาจากความหลงนั่นเอง สมมุติกันขึ้นมา สมมุติว่าร่างกายนี้เป็นตัวฉันนะ ร่างกายนั้นเป็นตัวเธอ แล้วก็ยึดติดกับร่างกายกัน ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของๆเรา พอเมื่อถึงเวลาที่ร่างกายจะต้องแตกสลาย แยกกลับสู่ธาตุเดิม สู่ดิน น้ำ ลม ไฟ ใจผู้มีความหลงครอบครองอยู่ ก็เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว เกิดความทุกข์ เกิดความระส่ำระสาย เพราะความหลง หลงไปยึดไปติดร่างกาย ว่าเป็นเรา เป็นของเรานั่นเอง  แต่ถ้าได้ฝึกฝน ได้ศึกษาจนเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงจนเห็นว่า ร่างกายนี้เกิดจากการรวมตัวของดินน้ำ ลม ไฟ ในรูปของกับข้าวกับปลาอาหาร แล้วก็กลายเป็นร่างกายนี้  กลายเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง ฯลฯ  ไม่มีตัวไม่มีตน เหมือนกับกระแป๋งที่เราเอาข้าวเอาของมาใส่รวมกัน มันไม่มีตัวไม่มีตนฉันใด ร่างกายก็ไม่มีตัวไม่มีตนฉันนั้น

ถ้าหมั่นสอนอยู่เรื่อยๆแล้ว ต่อไปก็จะเห็นเอง จะเข้าใจเอง เมื่อเข้าใจแล้วว่าไม่ใช่ตัวใช่ตน ก็ไม่เดือดร้อนอะไร  เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่ง ก็ต้องกลับไปสู่สภาพเดิม  กลับไปสู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เวลาคนตายไป ไฟก็จะออกจากร่างกายก่อน ไปจับร่างกายก็จะรู้สึกเย็น  ลมก็จะออกไป น้ำก็จะไหลออกมา เหลืออยู่แต่ส่วนแข็ง เช่นพวกกระดูก พวกเนื้ออะไรต่างๆ ทิ้งไว้ต่อไปก็แห้งกรอบ แล้วในที่สุดก็จะผุจะเปื่อย  แล้วก็กลายเป็นดินไปในที่สุด ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนในร่างกายของเราเลย ล้วนเป็นธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งนั้น  นี่คือสิ่งที่เราจะต้องมาแก้ไข ต้องพยายามสอนตัวเราอยู่เรื่อยๆ อย่าไปเห็นกลับตาลปัตร ให้เห็นตามความเป็นจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ทรงรู้ทรงเห็น คือเห็นความไม่เที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง เห็นความทุกข์ในสิ่งที่เป็นทุกข์ เห็นความไม่มีตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน ด้วยการนำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ ไปสอนตัวเรา อย่าสักแต่ว่าฟัง ฟังแล้วไม่พิจารณา ไม่คิดถึงมันอีก ก็จะลืม จะหายไปจากใจ

แต่ถ้านำไปคิดพิจารณาอยู่เรื่อยๆ นำไปสอนใจอยู่เรื่อยๆ  ต่อไปเวลาความหลงจะมาหลอก ก็จะหลอกไม่ได้ จะมาบอกว่าร่างกายนี้เป็นเรา ก็หลอกไม่ได้ เพราะเรามีความรู้จริงอยู่ในใจ จะมาบอกว่าเป็นความสุข  ก็หลอกไม่ได้ เราจะเห็นจะรู้ว่า ไม่เป็นความสุข จะมาบอกว่าเที่ยงแท้แน่นอน ก็หลอกไม่ได้  เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย  ร่างกายนี้ไม่อยู่ไปตลอด แต่ในขณะนี้พวกเราไม่มีข้อมูลเหล่านี้อยู่ในใจเลย  เวลาคิดอะไร จะทำอะไร ก็คิดว่าจะอยู่ไปตลอด ไม่ตาย ไม่แก่ ไม่เจ็บเลย เวลานึกอยากจะได้อะไรมา  ก็ไม่เคยคิดเลยว่ากำลังจะเอาความทุกข์มาใส่ใจ เราไม่เคยคิดอย่างนี้กัน มักจะคิดว่าเป็นความสุขทั้งนั้น เวลามองเห็นอะไร ก็จะเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัว เป็นตน ไม่เคยคิดเลยว่าเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เพราะไม่ได้สร้างกุศลให้เกิดขึ้นในใจ ด้วยการศึกษาร่ำเรียนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วนำพระธรรมคำสอนมาสอนใจอยู่เรื่อยๆ  ภาวนาอยู่เรื่อยๆ ภาวนาก็คือการสอนใจ เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา คือสอนให้รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งต่างๆทั้งหลาย ที่มีอยู่เป็นอยู่ ไม่ปล่อยให้ความหลงมาหลอกว่า เป็นตัว เป็นตน เป็นสุข เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้