กัณฑ์ที่ ๒๒๔     ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘

องค์ประกอบของชีวิต

 

ชีวิตของพวกเรามีทั้งความสุข มีทั้งความทุกข์คละเคล้ากันไป มีขึ้นมีลง มีได้มีเสีย มีหัวเราะมีร้องไห้  เป็นสิ่งที่แปลกสำหรับพวกเรา เพราะบางสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เราไม่ปรารถนา ไม่ชอบ ไม่ต้องการ แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติให้ถูกต้อง ยังไม่รู้เลยว่า องค์ประกอบของชีวิตมีอะไรบ้าง ต้องอาศัยคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้ามาสั่งมาสอน ว่าอะไรเป็นองค์ประกอบ มีลักษณะอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในพระอริยสัจ ๔  ทรงเห็นว่าชีวิตประกอบขึ้นด้วยขันธ์ ๕ ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ผู้ที่ไม่รู้ความจริงของขันธ์ ๕  ก็จะมีความหลง ทำให้ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน เป็นเรา เป็นของของเรา เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็มีตัณหาความอยาก  อยากจะอยู่ไปนานๆ มีแต่ความสุข เป็นไปตามความปรารถนาความต้องการของตน

แต่ชีวิตนี้ไม่ได้เป็นสมบัติของเรา ไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา เราจึงมัก ประสบกับความผิดหวัง เพราะอยากจะมีแต่ความสุข แต่มันไม่ยอมให้ความสุขกับเรา มักจะสร้างความทุกข์ให้กับเราอยู่เรื่อยๆ เช่นแก่ เจ็บ ตาย ที่เราไม่ปรารถนากัน เมื่อไม่ปรารถนา เวลาเกิดขึ้นมา ก็สร้างความทุกข์ให้กับเรา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน ให้ทำความรู้จักกับชีวิต รู้จักธรรมชาติของชีวิต ให้รู้จักองค์ประกอบของชีวิต ว่ามีอะไร เป็นอย่างไร แล้วควรปฏิบัติอย่างไร ถ้ารู้จักวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้อง ความทุกข์ต่างๆก็จะไม่สามารถเข้ามาเหยียบย่ำทำลาย สร้างความทุกข์ ความวุ่นวายใจให้กับเราได้ ถ้าไม่มีความรู้และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง มีแต่ความหลงที่อยากให้เป็นไปตามความต้องการของเรา มีแต่ความสุข ไม่เสื่อม ไม่เจ็บ ไม่ตาย ถ้ามีความปรารถนาอย่างนี้ ก็จะมีแต่ความทุกข์อยู่ร่ำไป พระพุทธเจ้าทรงได้ศึกษาเรื่องของชีวิตมาอย่างถ่องแท้แล้ว รู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไร

คือต้องยอมรับความจริงว่าเกิดมาแล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา ถ้ายอมรับความจริงแล้ว ใจก็จะไม่ทุกข์ ถ้ายังมีอุปาทาน มีความยึดมั่นถือมั่นว่า จะต้องดี จะต้องเจริญ จะต้องอยู่ไปตราบชั่วฟ้าดินสลายแล้ว ใจก็จะต้องผิดหวัง แล้วก็จะมีความวุ่นวายใจอยู่ตลอดเวลา เพราะชีวิตเหมือนกับแขวนอยู่บนเส้นด้าย จะขาดเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้  จึงควรหันมาทำความรู้จัก ทำความเข้าใจกับชีวิตว่าเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง แล้วควรปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ชีวิตของมนุษย์ประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบ ๕ ส่วนด้วยกัน ทรงเรียกว่า ขันธ์ ๕ แบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ  ๑. รูปขันธ์  ๒. นามขันธ์ รูปขันธ์คือร่างกายของเราที่มีอาการ ๓๒ เช่นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ส่วนนามขันธ์มีอยู่ ๔ ส่วนด้วยกันคือ  . เวทนา ความรู้สึก ได้แก่สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์  . สัญญา ความจำได้ หมายรู้ เช่นเวลาเห็นรูป ก็รู้ว่าเป็นรูปอะไร เป็นชาย เป็นหญิง เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ มีชื่อว่าอะไร  . สังขาร ความคิดปรุงแต่งต่างๆ คิดจะทำอะไรดีวันนี้ ไปวัดดีหรือไม่ ไปทำสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้  . วิญญาณ การรับรู้รูปที่มาสัมผัสกับตา เสียงที่มาสัมผัสกับหู กลิ่นที่มาสัมผัสกับจมูก รสที่มาสัมผัสกับลิ้น และโผฏฐัพพะ สัมผัสร้อนเย็น แข็งอ่อน ที่มาสัมผัสกับร่างกาย รวมกันเป็น ๕ ส่วนด้วยกัน

ทั้ง ๕ ส่วนนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เช่นร่างกาย รูปขันธ์ที่มีอาการ ๓๒ นี้ ไม่เที่ยง มีการเกิด การเจริญเติบโต มีการเสื่อม คือแก่ เจ็บไข้ได้ป่วย แล้วในที่สุดก็ดับ แตกสลายกลับคืนสู่ธาตุเดิม คือดิน น้ำ ลม ไฟ เพราะมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มาทางอาหาร ที่เรารับประทานกันทุกวัน น้ำที่เราดื่ม อากาศที่เราหายใจ ล้วนเป็นธาตุทั้งสิ้น คือดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อเข้ามาสู่ร่างกาย ก็เปลี่ยนสภาพเป็นอาการ ๓๒ เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น มีการเจริญ มีการเสื่อม มีการชำรุด มีการเจ็บไข้ได้ป่วย มีแก่ชรา มีการดับคือตายไป เมื่อดับแล้ว ธาตุที่อยู่ในร่างกายก็แยกตัวกันไป จนในที่สุดก็ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในร่างกายเลย

จึงทรงสอนว่าร่างกายเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ถ้าไปหลงไปยึดไปติดว่า เป็นตัวเรา เป็นของเรา ถ้ารู้ว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็จะไม่ทุกข์ เช่นร่างกายของคนอื่น ไม่ไปหลงว่าเป็นของเรา ก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าไปหลงว่าเป็นของเรา เป็นลูกเรา เป็นสามีเป็นภรรยา เป็นพ่อเป็นแม่ของเรา ก็จะทุกข์ แม้ความเป็นสามีเป็นภรรยา เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูก จะเป็นความจริงอย่างหนึ่งก็ตาม แต่ไม่ใช่ความจริงที่แท้จริง เป็นความจริงที่สมมุติกันขึ้นมา เช่นร่างกาย ๒ คนมาอยู่ร่วมกัน ก็สมมุติว่าเป็นสามี เป็นภรรยากัน เมื่อมีบุตรมีธิดา ก็สมมุติว่าเป็นลูกเป็นพ่อเป็นแม่กัน แต่ความจริงก็เป็นเพียงร่างกาย เป็นรูปขันธ์ เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟที่กลายเป็นคนที่มีอาการ ๓๒  ขึ้นมา

แต่เนื่องจากขาดปัญญา ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจึงหลงยึดติดกับรูปขันธ์ ถ้าเป็นรูปขันธ์ที่จิตเราอาศัยอยู่ ก็เรียกว่าร่างของเรา ตัวเรา ถ้าเป็นรูปขันธ์ของสามี ของภรรยา ของลูก ก็เป็นลูก เป็นสามี เป็นภรรยาของเรา เมื่อมีความยึดติดว่าเป็นของเรา เวลามีอาการแปรปรวน มีการเสื่อมไป ก็จะต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมา จึงทรงตรัสว่า รูปขันธ์เป็นทุกข์ เพราะมีความหลง มีอุปาทานไปยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา ถ้าไม่มีก็จะไม่ทุกข์ เช่นรูปขันธ์ของคนอื่นที่เราไม่รู้จัก เราก็ไม่ไปยึดไปติดว่าเป็นของเรา เมื่อไม่ยึดไม่ติด เวลารูปขันธ์นั้นมีการเสื่อมไป มีการตายไป เราก็ไม่ทุกข์กับรูปขันธ์นั้น สังเกตดูคนที่เราไม่รู้จัก ไม่ได้คิดว่าเป็นญาติ เป็นมิตรสหาย เป็นเพื่อน เป็นสมบัติของเรา เวลาเป็นอะไรไป จะไม่รู้สึกอะไรเลย แต่เวลาคนที่เรายึดติดว่าเป็นเพื่อน เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นบุตร เป็นธิดา พอมีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายของเขา เราจะมีความทุกข์ มีความวุ่นวายใจทันที

จึงทรงสอนให้ปล่อยวางด้วยปัญญา ต้องศึกษาอยู่เรื่อยๆ สอนตนอยู่เรื่อยๆ จนเห็นชัดว่า รูปขันธ์เป็นสักแต่ว่ารูป เป็นดิน น้ำ ลม ไฟเท่านั้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของดิน น้ำ ลม ไฟได้ เขาต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา ไม่มีใครบังคับให้ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นไปตามความต้องการของเขาได้ ถ้าเข้าใจแล้วยอมรับความจริงนี้ ก็จะปล่อยวางได้ รับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ จะแก่ จะเจ็บ จะตาย ก็รับได้ เพราะรู้ว่า ถ้ารับไม่ได้ก็จะต้องทุกข์ จะต้องวุ่นวายใจ จะต้องเสียอกเสียใจ เศร้าโศกเสียใจ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มาแล้วเดี๋ยวก็ไป อย่างนี้เรียกว่ามีปัญญา มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรูปขันธ์ เห็นว่าร่างกายเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปหลงไปยึดไปติดว่าเป็นเราเป็นของเรา แท้จริงแล้วมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรานั่นเอง นี่คือปัญญาที่ควรจะพัฒนาให้เกิดขึ้น

การจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้ ต้องภาวนา ต้องระลึกถึงเรื่องเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ วันๆหนึ่งควรระลึกอยู่เสมอว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยง ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ถ้าไม่อยากจะทุกข์กับร่างกายนี้ ก็อย่าไปยึดไปติด พยายามมองให้เห็นว่าเป็นเหมือนเสื้อผ้าชุดหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าไปติดก็ทุกข์ได้เหมือนกัน เช่นชอบเสื้อผ้าชุดนี้ มันสวยดี ใส่ทีไรรู้สึกว่ามีบุคลิกดี มีคนชมว่าสวย ถ้าเสื้อผ้าชุดนี้ถูกใครขโมยไป ก็จะเสียใจ เพราะไปยึดไปติด แต่ถ้าไม่ยึดไม่ติด เวลาใครขโมยไป ก็จะไม่รู้สึกอะไร รู้ว่ามาได้ก็ต้องไปได้ รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นอย่างนี้ทั้งสิ้น มาแล้วก็ต้องไปในที่สุด จะไปอย่างไรเท่านั้นเอง จะไปช้า จะไปเร็ว จะไปเพราะเรายอมให้ไปหรือไม่ ถ้ายอมก็ไม่ทุกข์ เช่นเวลาเบื่อชุดนี้แล้ว ก็อยากจะให้ไปเร็วๆเสียด้วยซ้ำไป มีใครมาขอก็ยินดีให้ไปเลย อย่างนี้ก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้ายังชอบชุดนี้อยู่ มีใครมาขอ ก็เสียดายไม่อยากจะให้ไป เพราะยังมีความยึดติดอยู่

โทษจึงอยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง เรียกว่าอุปาทาน  ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ไม่ว่าจะยึดติดกับอะไร ก็จะต้องทุกข์กับสิ่งนั้นเสมอ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น ไม่ควรไปยึดไปติด ถ้าไปยึดไปติดแล้วก็จะต้องเศร้าโศกเสียใจ จะต้องทุกข์ ถ้าไม่ยึดไม่ติดก็จะไม่ทุกข์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งต่างๆที่เรามีอยู่นี้ เราต้องโยนทิ้งไปทันที เช่นร่างกายนี้ เมื่อเราไม่ยึดไม่ติดแล้ว ก็ไปโดดตึกตายทันที อย่างนี้ไม่ใช่ เพียงแต่ทำความรู้ไว้ว่า สักวันหนึ่งร่างกายก็ต้องมรณะ ต้องหมดไป ให้รู้ไว้ล่วงหน้าก่อนเท่านั้นเอง แล้วเตรียมตัวเตรียมใจไว้ พร้อมที่จะให้เกิดขึ้น เมื่อพร้อมแล้ว จะไม่หวั่นไหว จะไม่ว้าวุ่น จะไม่ทุกข์

นี่คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนา ภาวนาคือการสร้างความรู้นี้ให้เกิดขึ้นในจิตให้ได้ อย่าสักแต่ว่าฟัง พอออกจากศาลาไปแล้วก็ลืม ถ้าลืมแล้วอุปาทานก็จะกลับมาทันที ก็จะยึดจะติดทันที อยากจะได้สิ่งนั้น อยากจะมีสิ่งนี้ อยากจะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นไปตามความต้องการของตน เพราะไม่มีภาวนาอยู่ในใจนั่นเอง ถ้ามีภาวนา คือภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา คิดอยู่ทุกขณะ คิดอยู่เสมอ คิดอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้ห่างไกลจากจิตจากใจ เมื่อไม่ห่างแล้ว ความหลงก็ไม่สามารถหลอกให้ไปยึดไปติด เพราะถ้าจะมาหลอก ก็จะมีปัญญามาคอยหักห้ามทันที เช่นสมมุติว่าเราเห็นอะไรสวยๆงามๆ แล้วเกิดความชอบ ก็อยากจะได้มาครอบครอง ถ้ามีปัญญาก็เตือนทันทีว่า ไม่เที่ยงนะ เป็นทุกข์นะ ไม่ใช่ความสุข ไม่ใช่สมบัติของเรา ไม่สามารถควบคุมให้อยู่กับเราไปได้ตลอด ถึงแม้จะได้มาในวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะสูญเสียไป แล้วก็จะต้องเศร้าโศกเสียใจอย่างยิ่ง สู้ไม่มีดีกว่า ตัดใจเสีย ถ้าตัดได้ ใจก็จะสงบลง เมื่อสงบ ใจจะมีความเย็น มีความสุข มีความสบาย สาเหตุที่ใจไม่มีความเย็น ไม่มีความสุข ก็เพราะมีความหลงอยู่ในใจ ความหลงที่คอยหลอกล่อให้เกิดความอยากต่างๆนานา เมื่อมีแล้ว ก็ดิ้นรนทุรนทุราย ต้องพยายามแสวงหาสิ่งที่ต้องการมาให้ได้ ไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆได้ อยู่ไม่เป็นสุข เพราะมตัณหาที่เกิดจากโมหะความหลง

ถ้ามีปัญญาแล้ว จะดับความทุกข์ได้ เพราะมองไปที่ไหน เห็นอะไร ก็จะรู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสมบัติของเรา  ล้วนแต่จะสร้างความทุกข์ให้กับเราทั้งสิ้น จะเห็นอย่างนี้ถ้ามีภาวนามยปัญญา ปัญญาที่มีอยู่ในใจตลอดเวลา ไม่ใช่นานๆผุดขึ้นมาที เช่นเวลาไปงานศพถึงจะนึกได้ว่าอ๋อ คนเราเกิดมาแล้วต้องตายนะ ต้องจากทุกสิ่งทุกอย่างไป อย่างนี้ไม่เรียกว่าภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาต้องรู้ทุกลมหายใจเข้าออกเลย หายใจเข้าก็รู้ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย หายใจออกไปก็รู้ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ หายใจเข้ามาก็รู้ว่าเกิดมาแล้วต้องเจ็บไข้ได้ป่วย หายใจออกไปก็รู้ว่าจะต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง ถ้ามีปัญญาแบบนี้อยู่ในใจแล้ว รับรองได้ว่าจะไม่ยึดไม่ติด ไม่ต้องการอะไร เพราะเห็นด้วยปัญญาแล้วว่า เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น นี่คือเรื่องของรูปขันธ์

ส่วนนามขันธ์ก็มีลักษณะเหมือนกัน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเช่นเดียวกัน เช่นเวทนา ความสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี ก็ล้วนเป็นของไม่เที่ยง ไม่ได้ตั้งอยู่ตลอด  วันนี้มีความสุข เดี๋ยวสักครู่หนึ่งความสุขก็หายไป มีความทุกข์กลับเข้ามาแทนที่ เดี๋ยวก็มีความไม่สุขไม่ทุกข์เข้ามาแทนที่ หมุนเวียนสลับกันไป ถ้าไม่ฉลาดไม่รู้ทัน ก็จะวุ่นวายใจ เวลามีความสุขก็วุ่นวายแบบหนึ่ง วุ่นวายรักษาให้อยู่ไปนานๆ เวลามีความทุกข์ก็มีความวุ่นวายที่จะกำจัดให้หายไป ทั้งๆที่ไม่ต้องไปทำอะไร เพียงแต่อยู่เฉยๆรู้ตามความเป็นจริง เดี๋ยวก็หายไปเอง ทุกข์ได้ก็หายได้ สุขได้ก็หายได้เหมือนกัน ถึงแม้อยากจะให้สุขไปตลอด พยายามรักษาอย่างไร ก็ไม่สุขไปตลอด ถึงเวลาก็จะต้องจากไป เปลี่ยนไป

ถ้ามีปัญญารู้ทันเวทนา ก็ปล่อยวางเวทนาได้ เวลาสุขก็รู้ว่าสุข เวลาทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ รู้ว่าเดี๋ยวก็เปลี่ยนไป ไม่อยู่กับที่ ไม่มีใครสามารถบังคับ ให้อยู่ตามความต้องการได้ อยากจะให้สุขไปตลอดก็ไม่ได้ อยากจะให้ทุกข์หายไปทันทีก็ไม่ได้ เดี๋ยวก็หายไปเอง ถึงเวลาหายก็หาย ถึงเวลามาก็มา นี่คือปัญญาที่เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเวทนา ที่ต้องรู้ทันให้ได้ ถ้ารู้ทันแล้ว ก็จะปล่อยวางได้ ไม่ต้องไปดิ้นรนวุ่นวาย เวลาสุขก็เสวยความสุขไป เวลาทุกข์ก็เสวยความทุกข์ไป ให้รู้แบบอุเบกขา รู้แล้วปล่อยวาง สุขก็รู้ว่าเดี๋ยวก็หมดไป ทุกข์ก็รู้ว่าเดี๋ยวก็หมดไป ถ้าทำใจให้นิ่ง ให้เป็นปกติ ให้เป็นอุเบกขาได้ สุขทุกข์เหล่านี้ ก็จะไม่สามารถมาสร้างความทุกข์ใจให้เกิดขึ้นได้

จึงต้องหมั่นทำจิตให้นิ่ง ให้สงบให้ได้ ด้วยการทำสมาธิ ไหว้พระสวดมนต์ นั่งขัดสมาธิหลับตา บริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ อย่าให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ ให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆๆ มีสติรู้ทันตลอดเวลาว่า กำลังอยู่กับคำบริกรรมพุทโธหรือไม่ ถ้ามีสติจะรู้อยู่ทุกขณะว่า กำลังบริกรรมอยู่หรือเผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว ถ้าไม่มีสติจะไม่รู้ เพราะบริกรรมพุทโธๆๆไป ก็เผลอไปคิดเรื่องอื่นไปด้วยพร้อมๆกัน พุทโธไปคำก็คิดว่า ตอนกลางวันจะกินอะไรดี  พุทโธไปอีกคำ ก็คิดว่าพรุ่งนี้จะไปไหนดี สุดท้ายก็จะไม่สงบ แต่ถ้ามีพุทโธๆๆอยู่อย่างเดียว ไม่มีความคิดอย่างอื่นเข้ามาแทรก เดี๋ยวจิตก็จะสงบ จะตั้งมั่นเป็นสมาธิขึ้นมา เป็นอุเบกขาขึ้นมา เมื่อมีอุเบกขาแล้วเวลาเกิดเวทนาขึ้นมา ก็จะเฉยๆ สุขก็สักแต่ว่าสุข ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ แต่จะไม่ทำให้ใจทุกข์ไปด้วย

เพราะใจได้ปล่อยวางด้วยความนิ่งเฉยนั่นเอง ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา รู้ว่าอยากไม่ได้ ต้องการให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เวลาสุขอยากจะให้สุขไปนานๆก็ไม่ได้ เวลาทุกข์อยากจะให้หมดไปทันทีทันใดก็ไม่ได้ มีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ใจไม่ทุกข์ ก็คือทำใจให้นิ่งเฉย ให้รู้ตามความเป็นจริง ถ้าสามารถควบคุมจิตใจให้นิ่งอยู่ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเผชิญกับอะไร อย่างไร ก็จะไม่มีความว้าวุ่นขุ่นมัว เวลาไปเจอกับสิ่งที่ดีที่งามทั้งหลาย ก็ไม่คิดอยากจะให้เป็นอย่างนี้ไปตลอด เพราะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ ดีวันนี้เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ไม่ดีได้  ฝนยังมีตกได้หยุดได้เลย พระอาทิตย์ยังมีขึ้นมีตกได้เลย แล้วสิ่งต่างๆในโลกนี้ทำไมจะไม่มีขึ้นไม่มีลง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างนี้ทั้งสิ้น เกิดขึ้น  ตั้งอยู่ แล้วดับไป หมุนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้มาตลอด ถ้ามีความฉลาดรู้ทัน มีภาวนามยปัญญาอยู่ภายในใจแล้ว เวลาไปเจอสุขก็ดี เจอทุกข์ก็ดี ก็จะไม่ยึดกับสุข ไม่ยึดกับทุกข์ แต่จะปล่อยให้สุขทุกข์ เป็นไปตามเรื่องของเขา มีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป

หน้าที่ของพวกเราคือทำความดี ละความชั่ว เพราะความดีจะสร้างความสุขขึ้นมา ถ้าไปทำความชั่วก็จะสร้างความทุกข์ขึ้นมา เมื่อสร้างแต่ความดีอยู่เรื่อยๆ ไม่สร้างความทุกข์  ต่อไปความสุขก็จะมาอยู่เรื่อยๆ จะไม่มีความทุกข์ตามมา เพราะสุขและทุกข์ก็เกิดขึ้นจากการกระทำ ทางกาย วาจา ใจ ถ้าคิดดี พูดดี ทำดี ความสุขก็จะตามมาเสมอ ถ้าคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี คิดพูดทำในสิ่งที่เป็นบาปเป็นกรรม ก็จะพาความทุกข์มา นี่คือหน้าที่ของพวกเรา คือทำดี ละเว้นจากการกระทำความชั่ว แต่เราไปควบคุมผลที่เกิดจากการกระทำไม่ได้ คือความสุขหรือความทุกข์ เมื่อมีการกระทำแล้ว ก็จะต้องมีผลเกิดขึ้นตามมา มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง ตามมาเป็นธรรมดา

แต่ถ้ามีปัญญา มีสมาธิ  ก็สามารถรับกับผลบุญกรรมที่ได้ทำไว้อย่างไม่สะทกสะท้าน ไม่ว่าจะเคยทำมานานสักเท่าไหร่ก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่จะปรากฏขึ้นมา ก็จะไม่ทำให้จิตใจหวั่นไหว เพราะรู้จักวิธีปฏิบัติแล้ว ไม่กลัวความทุกข์ แต่ไม่วิ่งเข้าหาความสุข จะอยู่เฉยๆรับกับทุกสิ่งทุกอย่าง มาอย่างไรก็รับได้ เพราะไม่มีอะไรจะทำลายใจได้ ทุกขเวทนาก็ไม่สามารถทำลายใจได้ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ไม่สามารถทำลายใจได้  ใจเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ตาย ใจจะสุข ใจจะทุกข์ ก็อยู่ที่มีปัญญาหรือมีโมหะเท่านั้น ถ้ามีโมหะความหลง ก็จะมีแต่ความทุกข์ ถ้ามีปัญญาก็จะมีแต่ความสุข จึงควรให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องขันธ์ ๕  ให้เห็นชัดแจ้งตามที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้