กัณฑ์ที่ ๒๒๘       ๔ กันยายน ๒๕๔๘

ไม่มีอะไรเป็นของเรา

 

ข้างบนเขานี้มีพระอยู่ ๔ รูป ที่มีน้อยเพราะส่วนหนึ่งก็ไม่อยากจะให้ขึ้นมา ต้องเลือกหน่อย ถ้าขึ้นมาแล้วไม่ภาวนาเดี๋ยวก็มาสร้างความวุ่นวายให้กับผู้อื่น คนที่มาบวชที่นี่จะไม่ทราบเรื่องของพระกรรมฐานว่าเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่จะบวชกันตามประเพณี เมื่อเห็นมีพระอยู่บนเขาก็อยากจะลองบ้าง แต่ไม่รู้ว่าเขาอยู่เพื่ออะไร ทำอะไร พอขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้ทำ ไม่ได้ภาวนา มัวแต่มานั่งคุยกัน ดื่มน้ำชากาแฟกัน ไม่เช่นนั้นก็ไปรบกวนผู้อื่นที่ต้องการความสงบ  เพราะคนที่ภาวนาจริงๆแล้ว จะไม่อยากสุงสิงกับใคร  อยากจะอยู่คนเดียว เพราะเวลาอยู่คนเดียว แล้วก็มีสถานที่แบบนี้ จะไม่มีอะไรไปทำให้จิตใจกระเพื่อม เพราะจิตใจเปรียบเหมือนกับสระน้ำ ถ้ามีคนลงไปอาบ ไปตัก ไปเล่น น้ำก็ขุ่น น้ำก็ไม่นิ่ง จิตของเราถ้าต้องสัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ก็จะต้องกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา เวลากระเพื่อมก็จะไม่สงบ ไม่นิ่ง จะไม่เห็นความสุขความประเสริฐของความสงบ ความอิ่มเอิบใจ ความพอใจ ที่เกิดจากการบำเพ็ญจิตตภาวนา

คนที่ภาวนาเป็นแล้ว จะรู้ว่าต้องการสถานที่แบบไหน เขาจะไม่ต้องการพวกแสงสีเสียง ไม่ต้องการเพื่อน ไม่ต้องการคนนั้นคนนี้มาแก้เหงาด้วยการคุยกัน เพราะจิตที่ได้เข้าสู่ความสงบแล้ว จะไม่ค่อยคิดถึงอะไร เพราะไม่ค่อยได้ปรุงแต่งกับเรื่องอะไร แต่จิตที่ยังไม่สงบ ก็จะคิดไปเรื่อยเปื่อย คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา คิดในเรื่องที่เคยทำให้มีความสุข ในขณะที่ไม่มีความสุขนั้นแล้ว ก็จะทำให้เศร้าสร้อยหงอยเหงา อยากจะหวนกลับไปหาความสุขแบบนั้นอีก ถ้าเคยมีความสุขกับเพื่อนกับฝูง กับการทำกิจกรรมต่างๆ พอต้องมาฝึกจิตอยู่คนเดียวในป่า ก็จะอดคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่เคยสัมผัสมาไม่ได้ อดที่จะคิดถึงเพื่อนคนนั้นเพื่อนคนนี้ กิจกรรมนั้นกิจกรรมนี้ไม่ได้ ก็เลยเกิดอารมณ์ว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวขึ้นมา จึงทนอยู่ไม่ได้ ต้องกลับไปหาเพื่อนหาฝูง หากิจกรรมต่างๆ แต่ถ้าเคยได้ฝึกจิตมาก่อน แล้วสามารถทำจิตให้สงบได้ เวลามาอยู่สถานที่แบบนี้ จะไม่ค่อยคิดถึงเรื่องราวเหล่านั้น เพราะมีงานทำ รู้หน้าที่ของตน รู้ว่าต้องทำอะไร คือคอยควบคุมสังขารความคิดปรุงนี้เอง

ความคิดของเรานี้  เป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล  ที่พระท่านสวดในงานศพ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพพยากตา ธัมมา ก็หมายถึงความคิดปรุงแต่งของจิตที่มีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกันคือ ๑. กุศล  ๒. อกุศล  ๓. ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล  ถ้าคิดไปในทางกุศล ก็ทำให้จิตสงบ ถ้าคิดไปในทางอกุศล ก็ทำให้จิตฟุ้งซ่าน เกิดความทุกข์ ถ้าคิดไปในทางที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ก็จะไม่ทำให้จิตมีความสงบ มีความอิ่มเอิบใจ แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านหรือความทุกข์แต่อย่างใด แต่ก็สู้การคิดไปในทางกุศลไปในทางมรรคไม่ได้ เพราะจะทำให้จิตใจสงบ เย็นสบาย ถ้าคิดไปในทางอกุศลก็จะไปในทางสมุทัย ไปตามความอยากต่างๆ เช่นเวลาอยู่คนเดียวก็อยากจะไปหาเพื่อน อยากจะดื่มน้ำชากาแฟ อยากจะรับประทานขนมหวานต่างๆ อยากจะดูเรื่องอะไรต่างๆ ทางโทรทัศน์บ้าง ทางหนังสือบ้าง ถ้าคิดไปในทางนี้ก็เป็นอกุศล เพราะทำให้จิตเกิดความหิวความอยาก ไม่สามารถอยู่เฉยๆได้ ต้องตะเกียกตะกายไปหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มา ต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำไปแล้วก็ระงับความอยากได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็คิดอีกอยากอีก เพราะติดเป็นนิสัย เคยชอบทำอะไร ก็จะคิดถึงเรื่องนั้นอยู่เสมอ พอทำได้สักพักหนึ่งก็เหนื่อย ก็หยุดมัน พอมีกำลังวังชา ก็คิดถึงอีก ชีวิตก็วนเวียนอยู่กับการทำตามความอยากที่ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ

ถ้าสังเกตดูสักหน่อยก็จะเห็นว่า ได้ทำตามความอยากมามากมายแล้วตั้งแต่วันที่เกิดมา เคยถึงจุดพอบ้างไหม ถึงจุดอิ่มตัวบ้างไหม ถึงจุดว่าเออ! ได้ทำมามากพอแล้วนะ หนังก็ดูมามากพอแล้ว ละครก็ดูมามากพอแล้ว งานเลี้ยงก็ไปมามากพอแล้ว เที่ยวไปตามที่ต่างๆก็เที่ยวมามากพอแล้ว ถึงเวลาที่น่าจะพอได้แล้วนะ แต่กลับไม่มีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นภายในจิต เพราะธรรมชาติของความอยาก ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ไม่มีขอบไม่มีฝั่งไม่มีฝา มหาสมุทรจะใหญ่โตกว้างขวางขนาดไหน ก็ยังมีขอบมีฝั่ง แต่ความอยากนี้หาขอบเขตไม่ได้ ไม่มีที่สิ้นสุด อยากแล้วก็จะอยากต่อไปเรื่อยๆ มีแต่จะขยายตัว เพิ่มความรุนแรงมากยิ่งๆขึ้นไป  ดังที่เขาพูดกันว่า ได้คืบก็อยากจะเอาศอก ได้ศอกก็อยากจะเอาวา มันเป็นอย่างนี้ ความอยากจะทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วใครล่ะจะต้องมาเหนื่อยยากกับการสนองความอยาก ก็จิตนี่แหละที่ต้องถ่อไป สั่งให้ไปเอาอะไรมา ก็ต้องไปหามา หามาได้แล้วก็ดีใจไปสักพักหนึ่ง แล้วเดี๋ยวก็มีคำสั่งใหม่ออกมาอีก อยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้อีก ก็ต้องไปหามาอีก ถ้าเกิดไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ก็เกิดความเสียอกเสียใจขึ้นมา เกิดความผิดหวัง เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเกิดสูญเสียสิ่งที่ได้มา ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีกเหมือนกัน

นี่เป็นเรื่องของอกุศล  ความคิดที่คิดไปในทางความอยากทั้ง ๓ ได้แก่  ๑. ความอยากในกาม ๒. ความอยากมีอยากเป็น ๓. ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ตัณหาทั้ง ๓ นี้ถ้ามีอยู่ในจิตแล้ว ก็จะทำให้จิตเป็นทาส เป็นคนรับใช้เจ้านาย ก็คือความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ ความอยากในกามก็คือความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ที่คนส่วนใหญ่ในโลกนี้อยากกัน เพราะเป็นโลกของกาม เรียกว่ากามโลก เป็นที่เกิดของสัตว์โลกที่ยังมีความอยากในกามอยู่ ซึ่งก็แบ่งเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน ส่วนดีกับส่วนเลว ส่วนดีหมายถึงสัตว์โลกที่หาความสุขจากการเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยการประพฤติที่สุจริต ไม่ล่วงเกิน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น หามาด้วยความสุจริต อยู่ในศีล กับส่วนเลวที่หามาด้วยความไม่สุจริต เบียดเบียนผู้อื่น เช่นพวกสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น อยากจะได้อะไรก็ไม่คำนึงว่า จะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นหรือไม่ พวกนี้จึงต้องไปเกิดเป็น สิงสาราสัตว์ หรือถ้าหนักกว่านั้นก็เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง นี่เป็นสัตว์โลกที่เสพกามด้วยความทุจริต

ส่วนสัตว์โลกที่เสพกามด้วยความสุจริต ได้แก่พวกมนุษย์กับพวกเทพทั้งหลาย พวกมนุษย์จะเสพกามที่หยาบ ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะที่หยาบ ที่ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กายเข้าสู่ใจ   ส่วนพวกเทพจะเสพกามที่ละเอียดได้แก่รูปทิพย์ เสียงทิพย์ รสทิพย์ กลิ่นทิพย์ โผฏฐัพพะทิพย์ ที่สัมผัสด้วยใจโดยตรง เหมือนกับเวลาที่นอนหลับแล้วฝันเห็นรูปต่างๆ สวยๆงามๆ ประสบการณ์ที่ดีต่างๆ ในขณะที่ฝันนั้นก็เป็นเหมือนเทพเสพความสุขทางรูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์  โผฏฐัพพะทิพย์ นี่คือโลกของผู้ที่ยังติดอยู่ในกามสุข ในกามตัณหา ยังมีความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะอยู่ ถ้าขยับขึ้นไปอีกระดับหนึ่งก็เป็นพวกที่ละความอยากในกามตัณหาได้   ละรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะได้ คือพวกที่ถือศีล ๘ พวกที่ปฏิบัติเนกขัมมะ นักบวชทั้งหลาย พวกนี้จะไม่หาความสุขจากการดู การฟัง การสัมผัสทางทวารทั้ง ๕ แต่หันมาสัมผัสกับความสุขในความสงบของจิตใจ เช่นพวกที่บำเพ็ญภาวนา พวกฤาษีชีไพร ซึ่งพวกนี้ก็มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงปรากฏขึ้นมา  

คนเราในโลกนี้ก็แสวงหาความสุขต่างกันไป ตามความสามารถ ตามกำลังแห่งสติปัญญาของตน พวกต่ำสุดก็พวกที่เสพพวกอบายมุขทั้งหลาย เช่น เสพสุรายาเมา เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้าน หาความสุขด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น พวกที่สูงกว่านี้ก็เป็นพวกมนุษย์กับพวกเทพ ที่หาความสุขจากการทำบุญทำทาน รักษาศีล เป็นความสุขที่สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ส่วนพวกที่หาความสุขที่สูงกว่านี้ ที่เห็นโทษของกามสุข เห็นว่าการเสพกามมีทุกข์ตามมา เช่นเวลาเสียสิ่งที่รักไป มีคู่ครองก็มีความสุขดี พอคู่ครองล้มหายตายจากไป หรือไม่สามารถให้ความสุขต่อกันได้ ก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา พวกนี้มีปัญญาที่เห็นว่า น่าจะมีความสุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นหรือผู้อื่น ก็แสวงหาศึกษาจากนักปราชญ์จนได้คำตอบว่า ก็ความสุขจากการทำจิตใจให้สงบนั่นไง จึงออกบำเพ็ญตบะกัน อยู่ในป่าในเขา อยู่ตามวัดตามวา ตามสำนักปฏิบัติธรรม ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กายของตนไม่ให้สัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพื่อให้เกิดความสุข  เช่นรับประทานอาหารก็รับประทานอาหารเพื่อให้ร่างกายอยู่ไปวันๆหนึ่ง ไม่ได้รับประทานเพื่อรสชาติ เพื่อความสุข ความสนุกสนาน ความอิ่มหนำสำราญใจ  

คนที่ยังเสพกามอยู่เวลารับประทานอาหาร ต้องหาอาหารจานโปรด อาหารจานเด็ด ไปตามร้านอาหารที่ตนชอบ นี่กินแบบเพื่อกามสุข แต่ถ้ากินเพื่อร่างกาย มีอะไรที่ไหนก็รับประทานไป ไม่ต้องเลือกว่าต้องเป็นอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ ขอให้สะอาด รับประทานแล้วไม่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ดับความหิวได้ก็พอเพียงแล้ว แล้วก็รับประทานพอประมาณ ไม่รับประทานมากจนเกินไป เพราะไม่ได้หาความสุขจากรสชาติต่างๆที่สัมผัสกับลิ้น กับตา กับจมูก เหมือนกับรับประทานยา ไม่สนใจว่าจะต้องมีรสชาติอย่างนั้นอย่างนี้  เพียงกลืนๆเข้าไป ให้ทำหน้าที่รักษาโรคภัยที่มีอยู่ในร่างกายให้หมดไปก็พอแล้ว  อาหารก็เป็นยารักษาโรคความหิวที่เกิดจากการขาดอาหาร  นี่ก็คือการเสพสัมผัสของพวกที่แสวงหาความสุขจากความสงบของจิตใจ ไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากการสัมผัสทางกามคุณทั้ง ๕ เสื้อผ้าก็ใส่กันแบบเรียบๆง่ายๆ ไม่ต้องมีสีฉูดฉาดสวยงาม การใส่เสื้อผ้าสวยๆงามๆ เพราะยังยึดติดอยู่กับกามสุข เวลาใส่เสื้อผ้าสวยๆงามๆ แล้วมีคนชมว่าสวยงามน่าชื่นชม ก็มีความสุข

แต่สำหรับผู้ที่แสวงหาความสุขที่ลึกกว่า ละเอียดกว่า คือความสุขภายในใจ จะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเสื้อผ้าและสีสันต่างๆ ใส่เพื่อปกปิดร่างกายเท่านั้นเอง ป้องกันร่างกายไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ให้แมลงสัตว์ต่างๆกัดต่อย นอกจากนั้นแล้วก็ไม่ให้ความสำคัญกับการแต่งหน้าทาปาก ใช้เครื่องสำอางใช้น้ำหอมต่างๆ เพื่อปกปิดกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนาของร่างกาย เพราะถ้าไม่ได้รับการชำระล้าง ก็ต้องมีกลิ่นที่ไม่น่าปรารถนาออกมา นักปฏิบัติก็จะชำระร่างกายด้วยการอาบน้ำ ใช้สบู่ที่ไม่มีกลิ่นหอม เพื่อดับกลิ่นของร่างกายเท่านั้น ไม่ต้องการความสุขจากการอาบน้ำแต่อย่างใด ส่วนการหลับการนอนก็ไม่นอนบนที่นุ่มที่ใหญ่โต นอนแล้วหลับสบาย จนไม่อยากลุกขึ้นมาปฏิบัติธรรม แต่นอนเพื่อพักร่างกาย ที่ไหนก็นอนได้ แม้ไม่ได้เอนหลังนอน อยู่ในท่านั่งก็ยังหลับได้เวลาง่วงมากๆ นักปฏิบัติบางท่านจะถือการปฏิบัติอยู่ใน ๓ อิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง แต่จะไม่นอน เพราะกลัวจะติดในความสุขที่เกิดจากการนอน   จะทำให้นอนมากเกินไป ทำให้เสียเวลา แทนที่จะเอาเวลามาทำจิตใจให้สงบ ก็หมดไปกับการหลับนอนเสีย ได้ความสุขเล็กๆน้อยๆ ที่เทียบไม่ได้กับความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ

นี่คือการกินอยู่หลับนอนของผู้ปฏิบัติเพื่อความสงบของจิตใจ ต้องระมัดระวังเรื่องกามคุณทั้ง ๕ เวลาสัมผัสจะต้องไม่ให้เกิดความยินดี เกิดความสุขขึ้นมา จึงต้องแสวงหาที่ในป่าในเขา ที่มีแต่ต้นไม้ใบหญ้า ที่ไม่ทำให้เกิดตัณหาความอยากขึ้นมา ไม่เหมือนกับเห็นรูปคน โดยเฉพาะรูปของเพศตรงกันข้าม เห็นรูปหญิงรูปชายแล้วก็จะเกิดความอยากขึ้นมา อยากจะสัมผัส อยากจะอยู่ใกล้ชิด ทำให้กลายเป็นทาสของรูปเหล่านี้ไป เวลาไม่ได้อยู่ใกล้ชิด ก็จะต้องเกิดความทุกข์ใจ เกิดความเศร้าสร้อยหงอยเหงาขึ้นมา เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติที่ต้องการความสงบจิตสงบใจ จะต้องระมัดระวัง ต้องสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย  ไม่ให้ไปเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ เพื่อให้เกิดความสุข เกิดตามความต้องการ เกิดความอยาก ถ้าจะต้องเสพต้องสัมผัสก็เพราะความจำเป็นเท่านั้น เช่นรับประทานอาหารดื่มน้ำ แต่รับประทานอาหารแบบรับประทานยา ดื่มน้ำก็เหมือนกับดื่มยา  ไม่ต้องดื่มน้ำที่มีรสมีชาติ คนที่ติดอยู่กับกามสุขเวลาดื่มน้ำเปล่าจะไม่รู้สึกสดชื่น เหมือนกับดื่มน้ำที่มีรสชาติเปรี้ยวหวานมัน เค็ม  

ผู้ที่แสวงหาความสงบสุขของจิตใจจึงต้องหลีกเลี่ยงกามสุขต่างๆ เพราะจะทำให้จิตสงบง่ายเวลาภาวนา จึงต้องเข้มแข็ง เพราะกามฉันทะความยินดีในกาม เป็นหนึ่งในนิวรณ์ ๕ ที่เป็นอุปสรรคขวางกั้น ไม่ให้ใจเข้าสู่ความสงบ เป็นเหมือนกำแพง นอกจากกามฉันทะแล้ว ก็ยังมีวิจิกิจฉา ความสงสัย เวลาภาวนาก็เกิดความสงสัยว่า การบริกรรมพุทโธๆๆคำเดียวจะทำให้จิตสงบได้หรือ  พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ธรรมะที่ทรงสั่งสอนมีจริงหรือ พระอริยสงฆ์มีจริงหรือ หรือเป็นเรืองแต่งกันขึ้นมาหลอกกัน หลอกให้นั่งทำจิตใจให้สงบ ทำไปเท่าไหร่ก็ยังไม่สงบสักที  ถ้ามีความสงสัยอย่างนี้แล้ว จิตก็จะลังเล เวลาภาวนาก็จะไม่ตั้งจิตตั้งใจ ไม่เอาจริงเอาจัง ไม่มีศรัทธา ทำไปก็จะไม่เกิดผลขึ้นมา ถ้ามีความลังเลสงสัย ก็ต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังจากผู้ที่มีประสบการณ์ ที่รับรองว่า ทำไปเถิด พุทโธๆๆคำเดียวนี้แหละ จะทำให้ได้เจอกับสิ่งที่มหัศจรรย์  ถ้าได้ยินได้ฟังจากผู้ที่น่าเลื่อมใสศรัทธา ก็จะขจัดความสงสัยไปได้ เวลาภาวนาก็ยึดพุทโธๆๆเพียงคำเดียว ไม่ต้องไปสงสัยให้เสียเวลา มีสติคอยกำกับ ไม่ช้าไม่นานพุทโธก็จะพาจิตทะลุนิวรณ์ทั้ง ๕ เข้าสู่ความสงบได้ ส่วนนิวรณ์ที่เกิดจากความง่วงเหงาหาวนอน ก็ต้องอาศัยการรับประทานอาหารพอประมาณ อย่ารับประทานอาหารมาก หรือไปอยู่ตามสถานที่ที่ทำให้เกิดความกลัว เช่นในป่าช้า ในป่าในเขาเป็นต้น

ถาม   คราวก่อนท่านอาจารย์พูดถึงสมุทัย ๓ อย่างคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา กลับไปทบทวน ฟังดูแล้วนี่มันชัดเจนเรื่องกามตัณหาครับ แต่ภวตัณหา วิภวตัณหานี่ค่อนข้างอธิบายความยากครับ

ตอบ     ภวตัณหาคือความอยากมีอยากเป็น โดยธรรมชาติของคนเรา เมื่อเกิดมาแล้ว  สิ่งแรกที่อยากจะมี ก็คือความพร้อมในปัจจัย ๔ ไม่อยากจะอดอยากขาดแคลน  เมื่อมีความพร้อมในปัจจัย ๔ แล้ว ขั้นต่อไปก็อยากจะมีมากๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวล อยากมีทรัพย์มากๆ อยากจะรวยนั่นเอง ตอนต้นก็ขอให้พอมีพอกิน เมื่อมีพอแล้ว ขั้นต่อไปก็อยากจะร่ำอยากจะรวย เมื่อรวยแล้วก็อยากจะมีเกียรติ อยากจะให้คนยกย่องนับถือ เมื่อมีเกียรติแล้วก็อยากจะมีอายุยืนยาวนาน อยากจะอยู่ถึง ๘๐ - ๙๐ – ๑๐๐ –,๐๐๐ ปี เมื่อตายไปก็อยากจะไปสวรรค์ นี่คือภวตัณหา แบบคร่าวๆ ที่ทุกวันนี้ที่เขาวิ่งเต้นกัน อยากจะเป็นส.ว. เป็นส.ส. เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคนรวยนั้น ล้วนเป็นภวตัณหาทั้งนั้น ถ้าไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ อยากจะเป็นอย่างอื่น ก็เรียกว่าภวตัณหา นี่พูดถึงทั่วๆไปนะ บางทีอาจจะสับสน แล้วคนที่อยากจะเป็นพระอรหันต์เป็นกิเลสหรือไม่ อย่างนี้ไม่เป็นตัณหา เพราะการอยากจะเป็นคนดี เป็นพระที่ดี เป็นพระอริยบุคคล เป็นเหมือนกับคนไข้ที่อยากจะหายจากโรค เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้เกิดจากความลุ่มหลง

แต่ถ้าพอมีพอกินแล้วยังอยากจะรวยอีก อย่างนี้แสดงว่าลุ่มหลง เพราะอยากมีเกินกว่าจำเป็น เกินเหตุเกินผล แล้วก็ไม่ได้ทำให้มีความสุขมากขึ้นไปกว่าเดิม มีพอมีพอกินก็มีความสุขเท่าๆกับคนที่มีมากกว่าเป็นร้อยเท่าพันเท่า เพราะคนเราก็มีเพียงปากเดียวท้องเดียว กินได้เท่านั้น จะมีเกินเป็นร้อยเท่าพันเท่า ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่คนที่อยากจะเป็นคนดี อยากจะเป็นพระอริยะ อยากจะหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นความจำเป็น เพราะทำให้ความทุกข์เบาบางลงไป เรียกว่ามรรค ทางที่พาให้ไปสู่การหลุดพ้น ไม่ได้พาไปสู่ความทุกข์ แต่ความอยากอย่างอื่น พาไปสู่ความทุกข์ อยากจะเป็นเศรษฐี ก็ทำให้ต้องดิ้นรนมากขึ้น ขณะนี้มีพอกินพอใช้ แต่อยากจะรวย ก็ต้องไปแสวงหาเงินหาทองมาเพิ่ม ถ้าไม่ระมัดระวัง ก็จะต้องสูญเสียความดี คือศีลธรรมไป เมื่อต้องไปทำความทุจริตอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ร่ำรวย ทำให้ได้อย่างเสียอย่าง ได้สิ่งที่ไม่มีค่าและสูญเสียสิ่งที่มีค่าไป เสียศีลธรรมไป แต่ได้ก้อนอิฐก้อนกรวด คือเงินทองมาแทนที่ ทั้งๆที่ไม่ได้มาก็อยู่ได้ แต่เมื่อได้มาแล้วก็เสียสิ่งที่ดีไป จิตใจก็ต่ำลง มีความทุกข์เพิ่มมากขึ้น

ส่วนวิภวตัณหาก็หมายถึง ความไม่อยากเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  เช่นไม่อยากจะยากจน  ขณะนี้ไม่จนแต่ก็กลัวก่อนแล้ว กลัวว่า พรุ่งนี้จะจน  พอกลัวปั๊ปก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว แต่ถ้าไม่กลัว  ก็จะไม่ทุกข์ ขณะนี้ถึงแม้จะพอมีพอกิน แต่ก็หัดอยู่แบบยากจนไว้บ้าง  เช่นอดข้าวเย็นบ้าง อยู่แบบง่ายๆ นอนกับพื้น อย่างไปอยู่วัดก็เป็นการฝึกอยู่แบบยากจน อยู่กินตามมีตามเกิด เวลาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด เขาจัดอาหารอะไรมาให้กิน ก็กินไป เขาจัดที่นั่งที่นอนให้ตรงไหน ก็อยู่ไป มีเวลาว่างก็ช่วยกันทำงาน รับใช้สังคม ช่วยกันล้างส้วม กวาดลานวัด ช่วยกันทำอะไรต่างๆเหล่านี้ ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่อยากเป็นใหญ่เป็นโตจะไม่ชอบทำกัน แต่เรามาฝึกสวนทางกับกิเลส กิเลสชอบขึ้นสูงเป็นเศรษฐี เป็นคนใหญ่โต  แต่เราจะมาฝึกเป็นคนยากคนจน คนต่ำคนต้อย ทำตัวให้เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว ใครจะเอาไปเช็ดไปทำอะไรก็ได้ ให้ล้างส้วมก็ล้างได้ ให้ล้างแก้วก็ล้างได้ ล้างกระโถนก็ล้างได้ ให้ทำอะไรได้ทั้งนั้น ถ้าไม่ผิดศีลผิดธรรม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

นี่คือการฝึกต่อสู้กับวิภวตัณหา ที่มาฝึกอยู่แบบเรียบๆง่ายๆ ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องกลัวความจนไง สมมุติว่าพรุ่งนี้เกิดหมดเนื้อหมดตัวขึ้นมา ก็จะไม่เดือดร้อน เพราะไปอยู่วัดได้ บวชเป็นพระเป็นแม่ชีก็ได้ เพราะไม่กลัวความจน เช่นเดียวกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ต้องฝึก ยอมรับให้ได้ เวลาที่พระไปอยู่ในป่า ส่วนหนึ่งก็ต้องการไปต่อสู้กับความกลัวตายนี้แหละ ไปปลงสังขาร ถ้าอยู่ในที่ปลอดภัยจะไม่รู้สึกหวาดกลัว จะปลงจะปล่อยไม่ได้ แต่ถ้าไปอยู่ในที่เปลี่ยวๆน่าหวาดกลัว มีสิงสาราสัตว์หรืออะไรก็ตามที่คิดว่าจะมาทำร้ายชีวิตของเราได้  ใจจะต้องกระสับกระส่ายกินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้าไม่แก้ไข จะทนอยู่ในสภาพอย่างนั้นไม่ได้ แต่ถ้าภาวนาเป็น ถ้าถนัดทางสมาธิ ก็ทำสมาธิไป จนกว่าความกลัวจะหายไป  เวลาจิตสงบลงปั๊บความกลัวก็หายไปหมดเลย  จะรู้เลยว่าความกลัวเกิดจากกิเลส เกิดจากวิภวตัณหาที่มีอยู่ในใจ แต่ความเป็นความตายนี้กลับเป็นธรรมดา ยังไงๆเมื่อถึงเวลาก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น  เมื่อยังไม่ถึงเวลา ทำยังไงๆก็ไม่ตาย จึงไม่ต้องไปกลัวม เพราะกลัวแล้วจะทุกข์ทรมานมาก เมื่อไม่กลัวก็จะไม่ทุกข์ไม่ทรมาน  ก็สามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ ที่เปลี่ยวก็อยู่ได้ ที่มีคนเยอะก็อยู่ได้ เพราะจิตใจได้ปล่อยวางแล้ว รู้ว่าการไปหลงไปยึดไปติดกับชีวิตนี้เองที่เป็นเหตุของความกลัว

ถ้าทำจิตใจให้สงบปั๊บความกลัวก็จะหายไป ถ้าทำด้วยสมาธิก็จะหายไปในขณะที่จิตสงบ แต่พอออกจากสมาธิแล้วความกลัวก็ยังกลับมาได้อยู่ เพราะยังไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณา ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะธาตุขันธ์ ให้เห็นว่าเป็นการรวมตัวของดิน น้ำ ลม ไฟ  เช่นร่างกายนี้ก็มาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แล้วก็กลายเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ แล้วสักวันหนึ่งก็ต้องแก่  ต้องตายดับสลายไป ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใครก็ตาม ร่างกายของปุถุชนธรรมดาสามัญอย่างพวกเราทั้งหลาย จนถึงร่างกายของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็ไม่มีความแตกต่างกัน เรียกว่ารูปขันธ์ที่ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างพระอริยบุคคลกับปุถุชน เหมือนกันเพราะกินอาหารแบบเดียวกัน กินข้าวเหมือนกัน ดื่มน้ำ หายใจเข้าไปแบบเดียวกัน ร่างกายของเรากับร่างกายของพระอริยบุคคลจึงไม่ต่างกัน ต่างกันที่จิตใจเท่านั้น ใจของพระอรหันต์ได้ภาวนากำจัดตัณหาทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา จนทำให้ใจของท่านนิ่งได้ตลอดเวลา ไม่แกว่งไปแกว่งมา ถ้าเป็นลูกตุ้มนาฬิกาก็นิ่งอยู่เฉยๆตรงกลาง ไม่แกว่งไปมา ไม่ว่าจะโดนอะไรมากระทบรุนแรงขนาดไหน ในทางบวกหรือในทางลบ จะไม่หลงไปกับสิ่งที่มากระทบ

ใครจะให้ลาภให้เงินให้ทองมากน้อยเพียงไร ก็ไม่ได้ยินดี  แต่กลายเป็นภาระหน้าที่ที่จะเอาเงินที่ได้มาไปทำประโยชน์อีกทอดหนึ่ง แต่ตัวเองไม่ได้อะไรเลย เพราะไม่มีความจำเป็นกับเงินกับทอง เวลาสูญเสียไปทั้งหมดก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ได้คิดว่าสูญเสียอะไรไป เพราะไม่ได้ยึดไม่ได้ติด ไม่ได้ถือว่าเป็นของตนเลย มีธรรมะเท่านั้นที่เป็นสมบัติ และก็ไม่มีอะไรจะเอาธรรมะไปจากใจได้  ถ้าเป็นอย่างอื่น ถ้าไปยึดไปติดว่าเป็นสมบัติของตนแล้ว สักวันหนึ่งเมื่อเกิดสูญเสียไป ก็จะต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ เพราะความหลงนั่นเอง หลงไปยึดไปติด ยึดตั้งแต่ร่างกายนี้ออกไป เกิดมาปั๊บก็ได้ร่างกายนี้มาเป็นสมบัติ ก็ยึดว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา เมื่อโตขึ้นมีกำลังวังชามีปัญญา ก็หาสมบัติต่างๆมาเพิ่ม หาข้าวหาของ หาบุคคลมาเป็นสมบัติของตน หาสามีหาภรรยา แล้วก็ได้ของแถมมาคือลูกหลานตามมาอีก ถือว่าเป็นสมบัติของตนทั้งนั้น  แล้วสักวันหนึ่งสมบัติเหล่านี้ก็ต้องร่วงโรยไป เหมือนกับใบไม้ที่อยู่บนต้นไม้ ตอนต้นก็ไม่มีอะไร ก็ค่อยๆเจริญเติบโตงอกงาม มีกิ่งก้านมีใบออกมา ตอนต้นก็เขียว ต่อไปก็เหลือง แล้วก็ร่วงโรยไป ทุกอย่างในโลกนี้ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น

เวลาจิตมาเกิดก็มาแต่ตัวกับบุญกับกรรมที่ได้ทำไว้ในอดีต ที่ยังต้องมาเกิดก็เพราะยังไม่ได้ชำระตัณหาทั้ง ๓ ให้หมดไปจากจิตจากใจ จึงต้องมาเกิดอีก เมื่อมาเกิดแล้วความหลงก็ทำให้ครอบครองสิ่งต่างๆไว้เป็นสมบัติของตน บ้านช่อง ที่ดิน รถยนต์ อะไรต่างๆเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นของเราทั้งนั้น แต่ความหลงจะยึดว่าเป็นของเรา พอยึดแล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมา เพราะเวลาเกิดอะไรขึ้น ก็จะเกิดความเสียใจ เกิดความทุกข์  สมบัติของคนอื่นเราไม่เดือดร้อนใช่ไหม บ้านของชาวบ้านถูกไฟไหม้อย่างไรเราก็ไม่เดือดร้อน รถของคนอื่นจะพังยับเยินอย่างไร เราก็ไม่ได้เดือดร้อน  แต่รถของเราใครเอาตะปูไปขีดเส้นสักหน่อย เราก็โวยวาย เจ็บช้ำใจขึ้นมา เพราะไปผูกไปยึดไปติดว่าเป็นของเราด้วยอวิชชาความหลง ขาดปัญญาสอนให้รู้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของเรานะ เป็นของให้ยืมมาใช้ เพื่อดำรงชีพไปวันๆหนึ่ง แต่ก็น่าเห็นใจเพราะถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว ร้อยทั้งร้อยก็จะต้องยึดกันทั้งนั้น  เป็นสันดานของกิเลสที่ฝังอยู่กับใจ ได้อะไรมาแล้วต้องหวงทันที พอเสียไปก็เสียอกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ

เราจึงต้องอาศัยศาสนามาช่วยแก้ ให้เกิดปัญญาให้เห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นของเราเลยแม้แต่ชิ้นเดียว แม้กระทั่งสังขารร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรา สักวันหนึ่งก็ต้องกลับคืนสู่เจ้าของเดิม คือดิน น้ำ ลม ไฟ ในที่สุดร่างกายก็ต้องแยกกลับไป สู่ดิน สู่น้ำ สู่ลม สู่ไฟ แต่เวลานี้เราสามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ ๒ ทาง ประโยชน์ทางโลก กับประโยชน์ทางธรรม ถ้าโชคดีได้เจอศาสนาก็เอามาใช้ในทางธรรม ก็จะทำให้จิตหลุดพ้น ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  ถ้าไม่เจอศาสนาอย่างมากก็ใช้ประโยชน์ทางโลกเท่านั้น เช่นเอามาหาความสุขแบบทางโลก ความสุขที่ได้จากการมีสมบัติข้าวของเงินทอง แล้วก็มีความทุกข์ตามมา เวลาที่สูญเสียไป  ตายไปก็จะเวียนกลับมาเกิดอีก เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะเกิดปัญญาได้ยินได้ฟังจากผู้อื่นก็ดี หรือเกิดขึ้นจากการพิจารณาของตนเองก็ดี  

ส่วนมากต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังจากผู้ที่ฉลาดกว่า พวกเราถือว่าโชคดีได้มาเจอพระพุทธศาสนา ได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ ก็ช่วยจุดประเด็นให้ได้คิดได้พิจารณา ส่วนบางคนอาจจะเกิดความเบื่อโลก แล้วก็คิดพิจารณาไปจนเกิดปัญญาขึ้นมาเองก็ได้ จนทำให้ได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าในลำดับต่อไป เพราะการคิดพิจารณาแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง โดยไม่มีใครสอน เพราะไม่มีใครสอนได้ อย่างพระพุทธเจ้าที่ต้องการหลุดพ้นจากความทุกข์ ก็ไม่มีใครสอนได้ สอนได้อย่างมากก็ขั้นสมาธิเท่านั้น ทำจิตให้สงบ ก็จะมีความสุข ปราศจากความทุกข์ ในขณะที่อยู่ในสมาธิ แต่พอออกมาจากสมาธิจิตก็เริ่มคิดเริ่มปรุง เกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้จนกลายเป็นความทุกข์ตามมา พระพุทธเจ้าจึงต้องศึกษาหาวิธีเพื่อที่จะเอาชนะความทุกข์ให้ได้  ตอนต้นก็คิดว่าร่างกายเป็นตัวปัญหา ก็เลยปล่อยวางร่างกายด้วยการไม่รับประทานอาหาร ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูก เพราะความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ที่จิตต่างหาก ที่ไปยึดติดกับกายว่าเป็นตนเป็นของตน จึงต้องงัดตัวจิตให้ออกจากร่างกายให้ได้ ด้วยการปล่อยให้ร่างกายเป็นไปตามธรรมชาติของเขา ดูแลเขาไป เมื่อถึงเวลาที่เขาจะเป็นอะไรไป ก็ให้เป็นไป คือเตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วว่า จะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แต่ขณะที่ยังไม่เจ็บ ไม่แก่ ไม่ตาย ก็ไม่ต้องไปทำอะไร เอามาใช้ทำประโยชน์ได้ ถ้ายังไม่พ้นทุกข์ก็อาศัยร่างกายนี้มาปฏิบัติธรรม

ถ้ารู้ว่าต้องตายก็จะเกิดความกล้าหาญขึ้นมา บวชเป็นพระ บวชเป็นชี ก็สามารถไปอยู่ในป่าในเขาได้ เพราะไม่กลัวตาย เพราะรู้ว่ายังไงสักวันหนึ่งก็ต้องตาย  ก่อนที่จะตายก็เอาร่างกายมาทำคุณทำประโยชน์ให้กับจิตใจ ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด คนเราถ้าเห็นความตายแล้ว ก็สามารถเอาความตายมาสอนใจได้ จะทำให้เป็นคนกล้าหาญ กล้าที่จะสละสมบัติ กล้าที่จะสละยศถาบรรดาศักดิ์ กล้าที่จะสละอะไรต่างๆ แล้วก็ออกบวช แสวงหาความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ที่เกิดจากตัณหาทั้ง ๓  นี่คือเรื่องราวของชาวพุทธเรา ซึ่งถือว่าโชคดีที่เกิดมาไม่ต้องมาคิดกันเอง ไม่ต้องมาคลำหาทาง เพราะมีพระพุทธเจ้าคอยชี้คอยบอก ถ้าเราหลงอยู่ในป่าก็ไม่ลำบาก  เพราะมีผู้รู้ทางพาออกมาจากป่าได้  พระพุทธเจ้าก็เคยหลงอยู่ในป่า แต่ทรงหาทางออกได้แล้ว จึงได้สร้างทางออกจากกองทุกข์ไว้ให้พวกเรา คือทาน ศีล ภาวนานี่แหละ ที่เป็นทางออกทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น เมื่อได้เจอแล้ว ก็ควรยึดไว้อย่างเหนียวแน่น พยายามปฏิบัติไปเรื่อยๆ ทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ อย่าไปเสียดายเงินทองที่เหลือใช้

เวลาตายไปก็เอาไปไม่ได้อยู่ดี  เงินทองมีไว้ใช้ ไม่ได้มีไว้เก็บ ไม่ได้มีไว้ให้เรารับใช้เขา  คือไม่ต้องไปเฝ้าไปดูแล ให้เขารับใช้เราด้วยการเอาไปทำประโยชน์ทำบุญทำทาน เพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่นในเงินในทองนั่นเอง ถ้าไม่ทำ ก็จะห่วงใย เสียดาย เวลาหายไปก็จะนำความทุกข์มาให้กับเรา ถ้าเอาไปทำบุญทำทาน ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ช่วยให้สังคมอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เราก็มีความสุข ไม่ต้องมีภาระกับเงินทองก้อนนั้นอีกต่อไป แล้วก็จะคลายความโลภ  เพราะไม่รู้จะหาเงินหาทองมาอีกทำไม เวลาหามาได้เกินความจำเป็น ก็ต้องเอาไปแจกจ่ายอยู่ดี ก็ทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น ไม่ต้องดิ้นรนหาเงินหาทองมาเพิ่ม เพราะมีเพียงพอแล้ว  ก็จะมีเวลาภาวนามากขึ้น ตอนต้นก็ภาวนาที่บ้านก่อน เพราะยังเป็นฆราวาสอยู่  แต่เมื่อได้ผลจากการภาวนา เห็นความสุขจากการภาวนาว่าเหนือความสุขอื่นๆ เหนือกว่าความสุขที่ได้จากเงินทอง จากตำแหน่งต่างๆ  จึงอยากภาวนาให้มากขึ้นไปอีก ก็จะตัดภารกิจต่างๆให้เบาบางลงไป ทำแต่งานที่จำเป็นเท่านั้น ทำพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีปัจจัย ๔ พออยู่ได้ก็พอแล้ว เอาเวลาที่เหลือมาเดินจงกรม นั่งสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะ ไปกราบไหว้ครูบาอาจารย์ ไปปฏิบัติธรรมตามวัดต่างๆจะดีกว่า

ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะตัดไปได้เรื่อยๆ ต่อไปก็จะอยากออกบวชเอง จะไม่มีความสุขกับการครองเรือนอีกต่อไป เพราะอยู่ในบ้านมีแต่ความวุ่นวาย มีเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา เรื่องไร้สาระทั้งนั้น  เรื่องของกิเลสตัณหา คนนั้นอยากได้อย่างนี้ คนนี้อยากได้อย่างนั้น ถ้าไม่ได้ก็โกรธแค้นโกรธเคือง ก็เลยตัดใจว่าใครอยากจะได้อะไรก็ให้ไปหมดเลย  เราไม่เอาอะไร เอาตัวเราคนเดียวพอ สิ่งเดียวที่อยากจะได้ก็คือเวลา ขอให้มีเวลาเป็นตัวของเราเอง ที่จะบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา ถ้าให้ทานหมดไปแล้วก็หมดปัญหา  เรื่องของการให้ทานก็หมดไป เพราะไม่มีอะไรจะให้แล้ว บวชเป็นพระก็มีสมบัติอยู่เพียง ๘ ชิ้นเท่านั้น ที่เรียกว่าบริขาร ๘ เหลืองานที่ต้องทำอยู่ ๒ อย่างคือศีลกับภาวนา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็คือพระวินัย ๒๒๗ ข้อ ก็รักษาไป พระวินัยมีไว้เพื่อที่จะตะล่อมกิเลส เป็นเหมือนรั้วกันไม่ให้กิเลสเตลิดออกไปไกล เวลากิเลสไปไกลแล้วจะดึงตัวกลับเข้ามายาก ถ้าอยู่ในคอกเล็กๆแล้วจะจับง่าย  ทำให้สงบง่าย ศีลจึงเป็นเครื่องสนับสนุนสมาธิ ถ้ามีศีลแล้วเวลาจะทำจิตใจให้สงบจะง่ายกว่าคนที่ไม่มีศีล

เมื่อมีสมาธิแล้วก็จะทำให้เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะทำให้มีกำลังตัดได้ ปล่อยได้ วางได้ ถ้าไม่มีสมาธิถึงแม้จะรู้ว่าร่างกายจะต้องตายจากไป แต่ก็ยังอดกลัวไม่ได้ ยังตัดไม่ได้เพราะไม่มีฐานของจิต ก็คือความสงบนั่นเอง แต่ถ้ามีฐานแล้ว รู้ว่าไม่เป็นไร เวลาร่างกายจะตายไป รู้ว่าเมื่อทำจิตใจให้สงบ จิตก็จะไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย ร่างกายเป็นอะไรไปก็ไม่เกี่ยวข้องกับจิต เหมือนกับเวลาที่เราหลับไป ร่างกายตายไป เราก็ไม่รู้เรื่อง ไม่มีเวลาที่จะมาตกใจกลัว อย่างมากก็ตอนที่ใกล้ๆจะตาย แล้วตื่นขึ้นมาจากความหลับ แค่วินาที ๒ วินาทีแล้วก็ผ่านไป

เราจึงต้องบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา เป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะพาเราไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้ ทาน ศีล ภาวนา มีไว้เพื่อชำระตัณหาทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ถ้าชำระได้หมดสิ้น จิตก็สะอาดบริสุทธิ์ จิตก็หลุดพ้น จิตก็ไม่มีตัวที่จะคอยไปสร้างภพสร้างชาติอีกต่อไป ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ผู้ที่สร้างภพสร้างชาตินี้เราได้เจอตัวมันแล้ว   และได้ทำลายมันหมดสิ้นไปแล้ว   มันไม่สามารถมาสร้างภพสร้างชาติให้กับเราได้อีกต่อไปแล้ว ก็คือความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ พวกเราที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา จึงเป็นผู้มีโชค ๒ ชั้นด้วยกัน เพราะการได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่ใช่ของง่าย  เวลามนุษย์จะมีลูกก็ได้ทีละคนเท่านั้น โดยวิธีปกติ ปีหนึ่งก็ได้แค่คนเดียว  มนุษย์คู่หนึ่งมีลูกอย่างมากก็แค่ ๒ - ๓ คนเป็นอย่างมาก ไม่เหมือนกับเดรัจฉานที่ออกมาเป็นครอก ทีละ ๙ ตัว ๑๐ ตัว ถ้าเป็นปลาก็จะออกมาเป็นฝูง การเกิดเป็นเดรัจฉานจึงมีโอกาสมากกว่าการเกิดเป็นมนุษย์ นอกจากนั้นยังต้องมีศีลด้วย ถึงจะเกิดเป็นมนุษย์ได้ ถ้าไม่มีศีลก็ไม่มีทางที่จะได้เกิด แสดงว่าพวกเราในอดีตได้บำเพ็ญศีลกันมา ได้ทำบุญทำทานมา จึงทำให้มาเกิดเป็นมนุษย์

เราจึงไม่ควรใช้บุญเก่าไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรจะสร้างบุญใหม่ให้เพิ่มมากขึ้นไป  เพื่อจะได้พัฒนาจากมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ไปเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคล ตามลำดับต่อไป ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เป็นทางเดียวเท่านั้น  ทำได้มากน้อยเพียงไร ก็ขอให้ทำไป อย่าไปเสียดายชีวิต อย่าไปเสียดายอะไรทั้งสิ้น  ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ธรรมเท่านั้นที่จะพาให้เราไปสู่สุคติ  ไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล  จึงขอฝากเรื่องการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาให้ท่านทั้งหลายนำไปประพฤติปฏิบัติต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แล้วจะไม่ผิดหวังในการที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

ถาม   ท่านอาจารย์บางทีโยมทำบุญให้ทานนะครับ ยังทำงานอยู่แล้วก็ อยากจะทำงานเยอะๆ
          หาเงินมาทำบุญนะครับ     อันนี้ถือเป็น
ภวตัณหาไหมครับ

ตอบ  อย่างนี้มันหลงแล้ว ทานนี้ให้ทำในสิ่งที่เรามี ไม่ใช่ไปหามาทำ เดี๋ยวก็วนอยู่อย่างนั้น การไปหานี่ก็เป็นความโลภแล้ว

ถาม   อยากได้มาเยอะๆเพื่อจะทำบุญอย่างนี้ครับ

ตอบ  ผิดแล้ว ให้ทำในสิ่งที่เรามี

ถาม   หรือถ้ามีอยู่แล้วก็กลัวมันจะหมด ดอกเบี้ยลงก็กลัวจะหมด กลัวจะไม่มีกิน อะไรอย่างนี้ก็เป็นวิภวตัณหา

ตอบ  ต้องไม่กลัวอด ไม่มีกินก็ตาย มีกินก็ตาย ตายช้าตายเร็วเท่านั้น ต่างกันแค่ตรงนั้นเอง แต่หนีไม่พ้นเรื่องความตาย

ถาม   เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อใครมีมากพอแล้ว ดำรงชีพอยู่ได้ พอที่จะภาวนาได้ ก็น่าจะพอแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนหาอะไรกันอีกมากมาย

ตอบ มันเสียเวลาไปเปล่าๆ ไม่ใช่ทางตรง เป็นทางอ้อม ไปหาเงินมาเพิ่มแล้วมาทำบุญ ชาติหน้าก็รวยขึ้นกว่าเก่า แต่ก็ยังต้องกลับมาเกิดอีก แทนที่จะตัดภพตัดชาติในชาตินี้เลยก็ไม่ตัด ต้องไปวนอีกหลายรอบ

ถาม   แทนที่จะเอาเวลาไปทำงานหาเงิน เอาเวลาไปทำภาวนาดีกว่า

ตอบ ใช่ ภาวนาดีกว่า บวชเลย รักษาศีลได้ ภาวนาได้ ดีไม่ดีชาตินี้ก็จบได้ ไม่ต้องไปวนอีกหลายร้อยชาติ

ถาม   ผู้หญิงผู้ชายก็เหมือนกัน

ตอบ     เหมือนกัน ไม่ได้อยู่ที่หญิงที่ชาย มันอยู่ที่จิต เพราะในจิตมีกิเลสเหมือนกันเท่ากัน แล้วก็สร้างธรรมะได้เท่ากัน เพียงแต่สถานที่บำเพ็ญอาจจะลำบากหน่อยสำหรับผู้หญิง แต่ก็มีสำนักปฏิบัติของครูบาอาจารย์ อย่างคุณแม่แก้วก็ยังบรรลุได้เลย เห็นไหม มันอยู่ที่จิต ถ้าจิตพุ่งไปแล้วก็ไม่มีอะไรมาหยุดมันได้หรอก ถ้าจิตไม่พุ่งก็ไม่มีใครฉุดกระชากลากไปได้เหมือนกัน อยู่ที่ตัวเราที่จะต้องผลักมันไปให้ได้ ผลักไปได้ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับความขวนขวาย ถ้าไม่รู้ก็ต้องศึกษาให้มากๆ อ่านหนังสือ ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ฟังแล้วก็ต้องเอามาปฏิบัติด้วย สำหรับอาตมาตอนต้นที่ได้สัมผัสกับธรรมะ ก็อ่านหนังสืออยู่ประมาณสัก ๓ - ๔ เดือนได้ ก็อ่านเรื่องทาน ศีล ภาวนานี้แหละ เรื่องสมาธิ เรื่องวิปัสสนานี่แหละ แต่ไม่ได้นั่งสมาธิสักทีหนึ่ง แล้วอยู่ดีๆวันหนึ่งก็นึกได้ว่า เอ๊ะ! อ่านมาตั้งนานแล้วนะ ทำไมไม่ได้นั่งสักที ก็เลยวางหนังสือ แล้วก็นั่งเลย พอนั่งปั๊บมันก็ไปได้ ใหม่ๆก็ยากหน่อย ก็เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ แต่ถ้าไม่นั่งไม่ทำต่อให้อ่านไปอีก ๑๐ ปี ก็ไม่ไปถึงไหน เพราะการศึกษาเล่าเรียนก็เหมือนกับการดูแผนที่เท่านั้นเอง ถ้าดูแล้วไม่ออกเดินทางสักที ถึงแม้จะจำทางได้ ต้องเลี้ยวตรงไหน แต่ยังไม่ได้ออกเดินทางไป ก็ยังไม่ได้ไป ฉะนั้นหลังจากได้ยินได้ฟังแล้ว ต้องเอาไปทำ เอาไปปฏิบัติ ทำไปเถิดอย่าไปเสียดายเงินทอง

ถาม   ทีแรกท่านอาจารย์ทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์เลยใช่ไหมคะ

ตอบ  อยู่ที่บ้านตาดก็ไม่ได้อุกฤษฏ์อะไร ก็ทำตามกำลังของเรา พูดคำว่าอุกฤษฏ์แล้วเดี๋ยวมันกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนที่เขาอุกฤษฏ์กว่าอาตมายังมีอยู่เยอะ เพราะมัชฌิมาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  คือเราทำเต็มที่ของเราก็แล้วกัน  ถ้าเป็นรถยนต์ก็เหยียบสุดคันเร่งนะ แต่จะเร็วกว่าคันอื่นหรือไม่ หรือช้ากว่าคันอื่น ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะรถแต่ละคันมีซีซีไม่เท่ากัน รถเรา ๑๕๐ ซีซี ไปเจอรถ ๒๕๐ ซีซี มันก็สุดคันเร่งด้วยกัน แต่เขาต้องไปเร็วกว่าเรา แต่เร็วหรือช้าก็ถึงที่หมายเหมือนกัน  อย่างคราวนี้มา ๔ คัน มาถึงก่อน ๓ คัน อีกคันหนึ่งหลงทาง ก็มาช้าหน่อย แต่ถ้าไม่ยอมแพ้ก็มาถึงจนได้ ถ้าเกิดท้อแท้ โอ๊ยไปไม่ถึงหรอก กลับกรุงเทพฯเลยดีกว่า ก็จะมาไม่ถึง ใช่ไหม

การปฏิบัติจึงต้องไม่ท้อแท้ แต่จะต้องเจออุปสรรค ต้องเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้บ้าง แต่ก็อย่าหยุด พักบ้าง วันนี้เบาหน่อย วันนี้ภาวนาไม่ค่อยได้เรื่อง ก็เบาหน่อย อ่านหนังสือแทน ถ้าไปบีบมากๆ ไปกดดันมากๆ จะยิ่งเครียดใหญ่ จะเกิดการต่อต้าน จะทำให้มีปัญหาตามมา เวลาที่จะปฏิบัติคราวต่อไป  ดังนั้นบางวันถ้ารู้สึกว่านั่งไม่ได้จริงๆ ฝืนเต็มที่แล้วยังไม่ได้ ก็พักสักหน่อย แต่อย่าพักนาน พักเฉพาะวันนี้ พรุ่งนี้มีกำลังก็เริ่มใหม่ ทำไปเรื่อยๆ การปฏิบัติบางวันก็ดี  ไปสะดวกรวดเร็ว จิตเป็นอารมณ์ๆ บางวันก็ไปทางมรรค ก็ไปดี บางวันไปทางสมุทัย ก็ยาก เหมือนเดินทวนลมกับเดินตามลม วันไหนถ้าไปตามลม ก็จะง่าย นั่งสมาธิจิตสงบง่ายไม่ฟุ้งซ่าน บางวันนั่งแล้ว ก็คิดแต่เรื่องนั้นคิดแต่เรื่องนี้มีแต่อารมณ์ฉุนเฉียวอยู่ตลอดเวลา นั่งยังไงก็ไม่สงบ จึงต้องสังเกตจิตเรา ถ้านั่งไม่ได้จริงๆก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ถ้าฟุ้งซ่านก็ลองเปิดหนังสือธรรมะอ่านดู อยากจะคิดไม่อยากจะสงบ ก็เจริญทางปัญญาแทน พิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกายไปก็ได้ พิจารณาเกิด แก่ เจ็บ ตายไป บางทีไม่อยากจะอยู่นิ่งๆ ก็เอามาพิจารณาให้เกิดปัญญา บางวันไม่อยากจะคิด อยากอยู่นิ่งๆ ทำจิตให้สงบก็ง่าย จึงต้องคอยสังเกตดูจิตของเราอยู่เรื่อยๆ

กิเลสชอบหลอกเราอยู่เรื่อยๆ บางทีก็หลอกให้รู้สึกว่าเก่งเหลือเกิน ใกล้จะจบแล้ว ใกล้จะถึงที่แล้ว บางวันก็หลอกว่า โอ้โหไปไม่ถึงไหนเลย ทำให้เกิดความท้อแท้ ความคิดเหล่านี้จะมาอยู่เรื่อยๆ เราก็ทำความเข้าใจว่ามันเป็นเพียงความคิด เป็นเหมือนเมฆหมอกที่ลอยมา ไม่ได้อยู่ไปตลอด ความคิดต่างๆ อารมณ์ต่างๆ มาแล้วเดี๋ยวก็ไป เหมือนเวลาที่เมฆหมอกมาปกคลุมดวงอาทิตย์   ก็ทำให้มืดมัวไปหมด จิตใจบางทีก็มีอารมณ์ไม่ดีมาปกคลุม ทำให้ท้อแท้อิดหนาระอาใจ เบื่อหน่าย ต้องใช้สติแยกออกจากจิต จิตคือผู้รู้ เหมือนกับดวงอาทิตย์ ส่วนอารมณ์ต่างๆเป็นเมฆหมอก ให้ทำความเข้าใจว่าอารมณ์ต่างๆเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน มาได้ เดี๋ยวก็ไปได้ อย่าให้เขาทำให้เราเสียหลัก เคยทำอะไรที่เป็นหน้าที่ปกติ  ก็ทำไป ถึงเวลาไหว้พระสวดมนต์ก็สวดไป ถึงเวลานั่งก็นั่งไป ถึงแม้จะไม่อยากจะนั่ง  ไม่อยากจะทำ ก็ทำไป เหมือนกับรับประทานข้าว บางวันไม่อยากจะรับประทาน แต่ก็ต้องรับประทาน เพราะรู้ว่าถ้าไม่รับประทานแล้ว เดี๋ยวก็จะหิว ถ้าวันไหนไม่ได้ภาวนา จะรู้สึกว่าจิตได้ถอยลงไป เหมือนกับก้าวถอยหลัง  ถึงแม้จะไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า อย่างน้อยก็รักษาไม่ให้ถอยหลัง เคยทำได้เท่าไหร่ก็ทำไป จะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ทำไป ถึงเวลาทำก็ทำไป

ถาม   บางครั้งเราทำนานๆ เราก็เกิดความท้อ ถ้ามันไม่ได้ผล ท่านอาจารย์มีอุบายอย่างไรที่จะครองมันให้อยู่ครับ

ตอบ  ในหนังสือท่านก็สอน เวลาเกิดความท้อแท้ ก็ให้ระลึกถึงครูบาอาจารย์ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ท่านก็เหมือนเรา เป็นปุถุชนคนธรรมดาสามัญมาก่อน ท่านก็ต้องต่อสู้ฝืนจิตเหมือนกัน  ศึกษาวิธีของท่าน ว่าท่านทำอย่างไรท่านจึงไปได้ ท่านไม่ถอย ท่านสู้ไปเรื่อยๆ ครูบาอาจารย์ทุกรูปทุกองค์ก็สู้ไปเรื่อยๆ ท่านไม่ถอย ไม่หยุด อาจจะพักบ้าง ไม่ได้ปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ทุกวันหรอก บางครั้งก็ต้องพักบ้าง แต่ไม่พักแบบเถลไถลเลยเถิด ไปทำเรื่องอื่น อย่างหลวงตาท่านก็เคยเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยภาวนาแล้วจิตสงบ ในสมัยแรกๆท่านยังไม่ได้ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ตอนนั้นท่านไปอยู่คนเดียว แล้วก็ไปทำกลดอยู่ ๓ เดือน ช่วงนั้นก็ไม่ได้ภาวนา พอทำกลดเสร็จจิตก็ไม่สงบ ทำยังไงก็ไม่กลับไปสงบเหมือนเดิม ท่านลืมวิธีที่ทำให้จิตสงบ เวลานั่งทีไรก็คิดถึงความสงบที่เคยได้แล้วก็ไม่ได้ ก็เกิดความท้อแท้ ก็เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา แต่ตอนหลังท่านก็จับประเด็นได้ว่าเคยสงบอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น ท่านก็กลับมาบริกรรมพุทโธๆๆอย่างเดียว ๓ หรือ ๔ วันที่ท่านบอกว่าไม่ไปคิดเรื่องอะไรเลย ยืน เดิน นั่ง นอนในอิริยาบถ ๔ ก็เอาแต่พุทโธอย่างเดียว เพราะอยู่องค์เดียว ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับใคร พอมีพุทโธแนบอยู่กับจิต เดี๋ยวจิตก็สงบ

ถาม   แล้วการภาวนานี่เราจะดีขึ้นไหมคะ ประเมินตัวเองได้ไหมคะ

ตอบ  ความสงบ ความหนักแน่น ความอิ่มเอิบ ที่เกิดจากความสงบนี้แหละที่จะเป็นตัววัดผล

ถาม   เราพิจารณาดูจิตว่ามีความหนักแน่น ไม่มีความอ่อนไหวเมื่อมีแรงกระทบ จิตจะไม่มีความรู้สึกอะไร

ตอบ  ถ้าจิตจะไม่รู้สึกอะไร รู้สึกเฉยๆ หนักแน่นกว่าเมื่อก่อน ก็แสดงว่าได้ขยับก้าวหน้า เมื่อก่อนใครพูดอะไรนิด ทำอะไรหน่อย ก็ปุ๊บขึ้นมาเลย แต่ตอนนี้มีสติมีสมาธิคอยถ่วงคอยดึงไว้ จิตมีความหนักแน่นมากขึ้น ไม่ค่อยจะไปมีปฏิกิริยากับเรื่องราวต่างๆมากนัก

ถาม   เมื่อตะกี้ท่านอาจารย์พูดถึงว่าเราติดกับผลที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้จดจำเหตุที่ทำให้เกิดผลอันนั้น

ตอบ ใช่

ถาม   บางทีเราก็ เอ๊ะ! เคยเป็นแบบนี้ ทำไมเดี๋ยวนี้มันไม่เป็น จี้อยู่ตรงผลที่จะเกิด แต่ลืมวิธีที่จะทำให้ผลเกิด ว่าทำอย่างไร   

ตอบ  ใช่ เพราะเวลาที่เราปฏิบัติใหม่ๆ เราจะทำแบบผิดๆถูกๆ บางจังหวะไปทำถูกเข้า แล้วมันสงบเข้า แต่ก็ไม่รู้ว่าสงบได้อย่างไร พอคราวหน้าจะทำอีก ก็ไปคิดถึงผล ว่าคราวนี้จะต้องให้มันสงบเหมือนคราวที่แล้ว ก็นั่งคิดถึงแต่ผล ยิ่งคิดก็ยิ่งฟุ้งซ่านใหญ่

ถาม   คือนึกไม่ออกว่าผลมันเกิดขึ้นได้อย่างไร

ตอบ  มันอยู่ที่สติ ให้สติอยู่กับพุทโธหรืออยู่กับกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง ที่ใช้เป็นเครื่องกำกับใจ สถานที่ก็สงบไม่มีอะไรมารบกวน ภาวะของจิตในวันนั้นก็ไม่มีเรื่องมีราวมาก ไม่มีปัญหากับใคร ไม่มีนิวรณ์มารุมเร้า ก็ช่วยเสริมกัน ทำให้เกิดผลคือความสงบขึ้นมา ส่วนอีกวันเกิดไปมีเรื่องมีราวกับคนนั้นคนนี้ กับเรื่องนั้นเรื่องนี้มา พอจะมานั่งสมาธิ เรื่องราวเหล่านั้นก็ยังอยู่ในใจ วันนั้นถึงแม้จะทำถูกวิธี ก็ยังทำไม่ได้  เพราะมีเรื่องคอยรบกวน เหมือนกับวิทยุ บางวันคลื่นก็ชัดแจ๋วเลย ไม่มีอะไรเข้ามารบกวน บางวันก็มีเสียงฟ้าร้อง มีเสียงอย่างอื่นเข้ามารบกวน

ถาม   ท่านอาจารย์พูดถึงมัชฌิมาของแต่ละคนไม่เท่ากันนะครับ เราเองจะรู้ได้อย่างไรว่ามัชฌิมาของเราอยู่ที่ตรงไหน

ตอบ ก็ต้องลองดู ต้องเอาให้หนักๆไว้ก่อน จนรู้สึกว่ามันเลยเถิดไป ก็จะรู้เอง

ถาม   แต่ส่วนมากมันจะอ่อนกว่ามัชฌิมา เลยหามัชฌิมาไม่ค่อยเจอ

ถาม   ท่านคะเมื่อกี้ท่านค้างไว้เรื่องนิวรณ์ ๕  ถึงตอนที่ง่วงเหงาหาวนอนแล้วมีข้ออื่นอีกไหมคะ

ตอบ  อีก ๒ ข้อใช่ไหม  ข้อหนึ่งก็คือความฟุ้งซ่าน อย่างเวลาเราไปทำงาน แล้วมีเรื่องราวต่างๆเข้ามากระทบจิตใจ เวลานั่งมันก็จะไม่สงบ บางทีก็ต้องแก้ด้วยปัญญา ถ้าบริกรรมพุทโธๆๆเอามันไม่อยู่ ก็ต้องพิจารณาเรื่องราวต่างๆที่คั่งค้างอยู่ในใจด้วยหลักธรรมะ เช่นพิจารณาว่า เรื่องราวต่างๆจะเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม เดี๋ยวก็ผ่านไป ชีวิตเราก็ผ่านเรื่องราวต่างๆมามากมายแล้ว ตอนนี้มันหายไปไหนหมด  พิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง เดี๋ยวก็ผ่านไป ไม่ต้องไปกังวล อะไรจะเกิดเราก็ห้ามไม่ได้ เช่นเราจะต้องถูกไล่ออกจากงาน ก็ให้ออกไป ดีเสียอีกอาจจะได้งานใหม่ที่ดีกว่านี้ก็ได้  มองไปในทางบวกสิ ให้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส นี่คือการคิดแบบสร้างสรรค์ คิดด้วยปัญญา คิดอย่างนี้จิตก็จะสงบ หายฟุ้งซ่าน หรือบางทีเราไปยึดไปติดกับสิ่งนั้นบุคคลนั้นมากเกินไป กลัวจะสูญเสียสิ่งนั้นบุคคลนั้นไป ก็เลยทำให้ฟุ้งซ่านไปใหญ่เลย นั่งสมาธิก็นั่งไม่ได้  แต่ถ้าคิดว่า ถึงเวลาที่เขาจะไป ก็ให้เขาไป คนเราต้องจากกันอยู่ดี ไม่ช้าก็เร็ว สักวันหนึ่ง จริงไหมเมื่อถึงเวลา ส่วนไหนที่เป็นของเรา ก็ต้องอยู่กับเรา ส่วนไหนไม่ใช่ของเรา ก็ต้องจากไป คิดอย่างนี้ใจก็จะสงบลง ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไร ก็อีกเรื่องหนึ่ง 

นี่เป็นอุบายแก้ความฟุ้งซ่านของจิต ความจริงเขาอาจจะอยู่กับเราไปตลอดก็ได้ หรือเราอาจจะตายไปก่อนเขาก็ได้ ไม่มีอะไรแน่นอนในโลกนี้ ความรักความอยากของเราทำให้จิตเราฟุ้งซ่าน ถ้าสามารถทำใจให้รับกับสภาพต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ ก็จะไม่ฟุ้งซ่าน เหมือนกับการอยู่ในโลกนี้จะห้ามฝนไม่ให้ตกไม่ได้หรอก ฝนจะตกก็ต้องตก  เมื่อยังไม่ตกก็ไม่ต้องกังวล เวลาจะตกก็ตกไป เราก็รับได้ แล้วก็ผ่านไป  ไม่มีอะไรที่เรารับไม่ได้หรอก ถ้าทำจิตให้นิ่งเป็นอุเบกขาได้ จะได้จะเสียอะไร ก็จะต้องผ่านไปทั้งนั้นแหละ มาแล้วก็ผ่านไป คิดอย่างนี้ก็จะทำให้หายฟุ้งซ่าน  ท่านสอนให้ใช้ปัญญา พิจารณาจุดที่เป็นปัญหา ที่ทำให้จิตไม่สงบ เป็นการใช้ปัญญาอบรมสมาธิไปในตัว ใช้ปัญญาระงับความฟุ้งซ่าน เพื่อให้จิตสงบลง

ความโกรธก็เป็นนิวรณ์อีกชนิดหนึ่ง เวลานั่งภาวนาความโกรธก็อาจจะเกิดขึ้นได้ นั่งแล้วไม่สงบก็โมโหตัวเอง โมโหไปทำไม ยิ่งทำให้เลวร้ายไปกว่าเดิม ก็ต้องยอมรับความจริง ตอนนี้ทำได้แค่นี้ก็เอาแค่นี้ไปก่อน   ไม่ได้นั่งหนเดียวแล้วบรรลุถึงพระนิพพานเลย ยังต้องนั่งไปอีกนาน ต้องปฏิบัติไปอีกนาน วันนี้ได้น้อยหน่อยก็อย่าไปโกรธ เหมือนกับเวลาไปตกปลา บางวันก็ได้เยอะ บางวันก็ได้น้อย ก็เอาตามมีตามเกิด วันนี้นั่งไม่สงบก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ยังได้นั่ง ก็ยังดี ไม่ได้สมาธิไม่ได้ความสงบอย่างน้อยก็ได้วิริยะความอุตสาหะ ความพากเพียร ได้ขันติความอดทนอดกลั้น ได้สัจจะความเอาจริงเอาจัง ไม่เหลาะแหละ เมื่อถึงเวลาปฏิบัติ ก็ปฏิบัติไป ทำหน้าที่ของเราไป เพราะถ้ามามัวเหลาะแหละ วันไหนอารมณ์ไม่ดี ก็ไม่ทำ เดี๋ยวก็ยิ่งเละเทะไปใหญ่ จะไปไม่ถึงไหน  ต้องมีความเข้มงวดกวดขันกับการปฏิบัติ ควรกำหนดเวลาไว้เลย ว่าวันหนึ่งอาทิตย์หนึ่งหรือเดือนหนึ่ง จะต้องปฏิบัติมากน้อยเพียงไร ก็ต้องทำไป ทำบุญทำทานมากน้อยเพียงไร ก็ทำไป ศีลที่ต้องรักษา ก็รักษาไป

ถ้ามีความเข้มงวดกวดขัน ก็จะทำให้ขยับไปได้เรื่อยๆ ช้าบ้างเร็วบ้าง ก็เหมือนกับการขับรถ ไปเจอถนนโล่งก็ไปเร็ว เจอรถติดก็ช้าหน่อย ก็ขยับไปทีละนิด ขยับไปทีละหน่อย ก็เป็นไปตามสภาพ แต่อย่าไปโมโหโทโส  ถ้ารีบร้อนอยากจะได้อะไรเร็วๆ เมื่อไม่ได้ดังใจก็เกิดโทสะขึ้นมา เกิดความโกรธขึ้นมา เวลานั่งแล้วเกิดคนโน้นคนนี้มารบกวน คนนั้นทำโน่นทำนี่ตกเสียงดัง ก็ไปโกรธ ไปโมโหเขา ก็ต้องแผ่เมตตาให้อภัยเขา เขาไม่รู้เรื่องของเราหรอก เขาไม่รู้ว่าเราต้องการความสงบ เขาก็ใช้ชีวิตของเขาไปตามปกติ เราต้องทำใจให้กว้างๆไว้ อย่าไปโกรธใคร อย่าไปหวังอะไรมาก อย่าไปหวังผลมาก ให้สร้างเหตุไว้ก็แล้วกัน ผลจะได้มากน้อย ก็ขึ้นกับเหตุ บางวันก็ได้มาก บางวันก็ได้น้อย แต่รับรองได้ว่าถ้าทำไปอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดไม่ถอย สักวันหนึ่งก็ต้องถึงจนได้ จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

ถาม   แล้วถ้าเราอยากได้บุญเยอะๆ เราจะบาปไหมคะ

ตอบ  ถ้าความอยากมันเกินฐานะของเรา มันก็จะทำให้เราทุกข์ขึ้นมาได้ เมื่อไม่ได้อย่างใจก็เกิดโทสะขึ้นมา ความอยากนะอยากได้ แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถของเรา ว่าทำได้มากน้อยเพียงไร ขอให้ยึดความสามารถของเราเป็นหลัก อยากจะไปถึงนิพพานวันนี้ก็อยากได้ แต่จะไปได้หรือไม่ได้ ก็อยู่ที่ความสามารถของเรา ความอยากที่จะเป็นพระอรหันต์ ไม่เป็นความผิด เพียงแต่ว่าเราต้องแยกแยะว่ายังเป็นเพียงความฝัน เป็นเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เป็นจุดหมายปลายทางที่เราต้องการจะไป แต่เครื่องมือที่จะพาเราไป มีอะไรบ้างล่ะ มีรถจักรยาน รถมอเตอร์ไซค์ หรือรถเก๋ง ก็จะไปถึงช้าเร็วต่างกัน  ถ้ามีรถเก๋งก็ต้องไปเร็วกว่าเดินไป ถ้าตั้งเป้าได้ก็ควรตั้ง พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวพุทธตั้งเป้าไปที่มรรค ผล นิพพาน นี่คือเป้าหมายของพระพุทธเจ้า ที่ทรงประกาศพระศาสนา ทรงต้องการให้พวกเราได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง อยู่ที่ว่าจะหลุดในชาตินี้หรือในชาติต่อๆไป บางคนก็หลุดได้ในชาตินี้ บางคนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็เหลืออีกเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก บางคนก็ได้บรรลุเป็นพระสกิทาคามี ก็เหลืออีกเพียงชาติเดียว ถ้าได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ก็ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามภพอีกต่อไป ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหมโลก แล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ในลำดับต่อไป

ก็เกิดขึ้นจากการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนานี่แหละ ผลก็อยู่ที่ทำมากทำน้อย ทำถูกทำผิด อยู่ที่บุญวาสนาที่ได้บำเพ็ญมาในอดีต อยู่ที่กัลยาณมิตร ถ้าได้เพื่อนดี เขาก็จะชวนเราปฏิบัติ เวลาท้อแท้ก็ให้กำลังใจ เป็นตัวอย่างที่ดี เรานั่งได้ครึ่งชั่งโมง แต่เขานั่งได้ชั่วโมงหนึ่ง เขายังไม่ลุกก็ทำให้เราฮึดสู้ สู้ต่อไป ถ้าไปเจอเพื่อนที่ไม่ดี  เรานั่งได้ครึ่งชั่วโมง เขานั่งได้ ๑๕ นาที พอได้ ๑๕ นาทีเขาลุกหนีไปแล้ว เราก็ทนนั่งไม่ได้ ก็ต้องลุกตามเขาไป พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งไว้ว่า ถ้าจะคบคน ให้คบคนที่ดีที่เก่งกว่าเรา หรืออย่างน้อยต้องเท่าเรา ถ้าแย่กว่าเรา ก็อย่าไปคบ อยู่คนเดียวดีกว่า เราไปแสวงหาครูบาอาจารย์เพราะท่านเก่งกว่าเรา ท่านดีกว่าเรา ท่านสามารถดึงเราขึ้นไปได้ ท่านอยู่สูงกว่าเรา ท่านหย่อนเชือกลงมาให้ เราก็ปีนป่ายขึ้นไปได้ ท่านเป็นแบบฉบับที่ดี เรื่องราวต่างๆที่ท่านเล่าให้ฟังเป็นคติทั้งนั้น ทำให้เกิดกำลังจิตกำลังใจที่จะปฏิบัติตาม

ถาม   ท่านอาจารย์คะแล้วเรื่องความง่วงเหงาหาวนอน

ตอบ เมื่อสักครู่บอกแล้วว่า วิธีหนึ่งที่จะแก้ความง่วงเหงาหาวนอน ก็คือการรับประทานอาหารพอประมาณ ความพอประมาณของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็ไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว บางคนก็รับประทานมื้อเดียว บางคนก็ผ่อนอาหารสัก ๓ วัน ไม่รับประทานอาหารสัก ๓ วัน ดื่มพวกน้ำผลไม้หรืออาหารเสริมเช่นนมสดเป็นต้น จะทำให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน แต่ในพระไตรปิฎกท่านก็เล่าว่า ถ้านั่งแล้วง่วงนอน ก็ให้ลุกขึ้นมาเดินจงกรมก็ ถ้ายังไม่หายง่วง ก็ให้ไปเดินจงกรมในที่ๆน่ากลัว  อย่างครูบาอาจารย์บางท่านไปเดินจงกรมที่เสือจะเดินผ่าน อย่างนั้นก็จะไม่ง่วง ไปนั่งแถวที่น่ากลัวก็จะไม่ง่วง บางคนก็ไปนั่งในป่าช้า ก็หายง่วงเลย มีหลายวิธี แต่ต้องพิจารณาดูว่าวิธีไหนเหมาะกับเรา ถ้าไม่เหมาะ เช่นเป็นคนขี้กลัวแล้วไปนั่งในป่าช้า ก็อาจจะกลายเป็นคนบ้าไปเลยก็ได้

ถาม   ท่านอาจารย์คะเมื่อกี้ท่านบอกว่า บางคนต้องลดอาหารเพื่อทำให้ภาวนาดี แต่บางครั้งภาวนาถ้ารู้สึกหิว จะต้องนึกถึงแต่เรื่องรับประทาน เดี๋ยวจะทานอะไร มันจะนึกถึงแต่เรื่องนั้นอยู่

ตอบ  อย่างนั้นก็อาจจะไม่เหมาะกับเรา อาจจะไม่ถูกจริตกับเรา

ถาม   ต้องอิ่มก่อน

ตอบ  อย่างนี้ก็ลองไม่รับประทานหลังจากเที่ยงวันไปก่อน

ถาม   คือไม่ให้อิ่มจนเกินไปใช่ไหมคะ แล้วให้ไม่รู้สึกว่าหิว เพราะถ้าหิวเราก็จะหมกมุ่นแต่เรื่องรับประทาน

ตอบ  ครูบาอาจารย์ท่านก็แนะไว้ว่า เวลารับประทานแล้วเริ่มรู้สึกอิ่ม ก็ให้หยุด แล้วดื่มน้ำเข้าไป ก็จะรู้สึกอิ่มขึ้นมา เวลานั่งภาวนาจะไม่ง่วงเหงาหาวนอน  แต่ถ้ารู้สึกอิ่มแล้ว ยังขอของหวานเพิ่ม ขอไอ้นั่นอีกนิด แถมไอ้นี่อีกหน่อย เดี๋ยวก็พุงกาง  เป็นนักปฏิบัติต้องกล้าหาญ กล้าเสียสละความสุขจากการกินการนอน  ปัญหาส่วนใหญ่ของพวกเราก็เกี่ยวกับเรื่องกินเรื่องนอน เราจึงไปไม่ถึงไหนกัน ต้องนอนกับดินกินกับทรายได้ ต้องไปอยู่วัดกรรมฐานบ้าง จะช่วยการภาวนาของเราได้ เรื่องกินเรื่องอยู่จะไม่สะดวกไม่สบาย เราจึงต้องมีความแน่วแน่มั่นใจอยู่ในระดับหนึ่ง ถ้ายังไม่แน่เวลาไปอยู่ในสถานที่อย่างนั้น ก็อาจจะเกิดโทษมากกว่าเกิดคุณก็ได้ คือเกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความคิดไปในทางไม่ดี  อาจจะหาว่าทำอย่างนี้ไปทำไม บ้าบอคอแตก กิเลสจะคิดได้ทุกวิถีทาง จึงต้องระมัดระวัง แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือ ก็จะดี เพราะบางทีกิเลสอาจจะอยากคิดไม่ดี แต่ความเกรงอกเกรงใจ ความเคารพ จะทำให้กิเลสไม่กล้าคิดในเรื่องที่ไม่ดี  ถ้าไม่มีผู้ที่เราเกรงกลัวเคารพนับถือ บางทีกิเลสก็คิดไปได้ร้อยแปด เรื่องดีๆบางทีก็คิดเป็นเรื่องไม่ดีไป

การมีครูบาอาจารย์ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ดี เป็นมงคล จะได้อาศัยท่านคอยให้กำลังใจ คอยแนะแนวทางต่างๆให้ แล้วก็มีเพื่อนที่ดี ที่สนใจในการปฏิบัติ ทำบุญร่วมกันอย่างนี้ก็ดี เกาะกันไปวัด แต่ถ้าถึงขั้นภาวนาแล้วจะแยกกันไป เหมือนดังแล้วแยกวง เพราะเมื่อภาวนาเป็นแล้ว จะไม่อยากจะไปทำบุญทำทาน เพราะเสียเวลา อย่างวันนี้เห็นไหม เสียเวลานั่งรถทั้งวัน ๑๐ กว่าชั่วโมง ส่วนใหญ่จะได้แต่การทำทาน  ได้ยินได้ฟังธรรมะบ้าง แต่ภาวนาแทบจะไม่ได้เลย  ถ้าภาวนาเป็นแล้ว จะรู้ว่าไม่จำเป็นต้องไปหาครูบาอาจารย์บ่อยมาก นานๆไปสักครั้งก็ได้ ยิ่งสมัยนี้มีเทป มีหนังสือ แทบจะไม่ต้องไปเจอตัวท่านเลย เพราะสาระที่แท้จริงของครูบาอาจารย์นั้น อยู่ในธรรมะนั้นแหละ ไม่ได้อยู่ที่ตัวท่าน แต่พวกเราไปหลงยึดติดในตัวท่าน ไปถึงก็จะรีบถ่ายรูปก่อน จะเอาไปเก็บไว้บูชา แต่ท่านก็สอนว่าตัวท่านอยู่ในธรรมะ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต พระพุทธเจ้าจึงไม่เคยอนุญาตให้ใครสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาเลย ในสมัยที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ เน้นสอนอยู่ที่ธรรมะอย่างเดียวว่า ธรรมวินัยจะเป็นศาสดาแทนตถาคตต่อไป ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต

ขอให้ยึดสาระคือธรรมะคำสอน เพราะเป็นเนื้อเป็นหนังของท่านจริงๆ ส่วนร่างกายเป็นเหมือนเปลือก เป็นเหมือนเสื้อผ้าที่หุ้มห่อ องค์แท้ของท่านก็คือธรรมะนั่นเอง จึงควรพยายามยึดเอาธรรมะมาเป็นครูเป็นอาจารย์ หมั่นศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรม เทศน์ของครูบาอาจารย์ก็มีอยู่ตั้งเยอะตั้งแยะ เคยเปิดฟังกันบ้างหรือเปล่า  ควรจะฟังกันอยู่เรื่อยๆ  ฟังแล้วก็ควรจะภาวนาด้วย ถ้าทำได้นะ อย่างน้อยวันหนึ่งจะกี่ครั้งก็สุดแท้แต่จะทำได้ ไม่ต้องทำเฉพาะที่บ้าน อยู่ที่ทำงานก็ทำได้ มีเวลาว่างก็ปิดห้องแล้วก็ทำจิตให้สงบสักครึ่งชั่วโมงก็ยังดี ให้จิตใจอยู่กับธรรมะ อยู่กับการปฏิบัติ อยู่กับสองอย่างนี้ อยู่กับการได้ยินได้ฟัง อยู่กับการคิดในทางธรรมะ คิดในเรื่องที่เป็นกุศล แล้วก็พยายามทำจิตใจให้สงบ สลับกันไป ทำแบบนี้แล้วจะเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แล้วก็ต้องพยายามตัดลดละ งานสังคมต่างๆ งานแต่งงาน งานกินเลี้ยง งานอะไรต่างๆ ถ้าไม่จำเป็นก็ตัดไป เพราะเสียเวลา ทำให้ก้าวถอยหลัง เวลาไปกินเลี้ยงกลับมาจะภาวนาไม่ลง หลายวันกว่าจะภาวนาลงได้ พยายามลดละพวกดูหนัง ดูละคร ฟังเพลง ต้องตัด แล้วก็ต้องสร้างด้วย  ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป แล้วก็สร้างสิ่งที่ดีเข้ามา ทำทั้ง ๒ อย่างพร้อมๆกันไป

อาตมาเองก็ไม่เคยคิดว่าจะมาบวชหรอก มาจากครอบครัวที่ไม่ได้เข้าวัดเข้าวา ไม่มีศาสนาอย่าง อาตมาคงจะมีเชื้ออยู่บ้าง ความจริงก็ไม่เคยคิดถึงเรื่องศาสนาจนอายุ ๒๕ เข้าไปแล้ว หลังจากเรียนจบ ตอนนั้นมีเวลาว่าง โดยนิสัยแล้วเป็นคนชอบความสงบ ไม่ค่อยชอบเที่ยวเตร่ กินเลี้ยงกินเหล้ากับเพื่อนฝูง ไปบ้างแต่ไม่บ่อย ไม่มาก ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ไป โดยปกติชอบไปอยู่ตามป่าตามชายทะเล  อยู่กับธรรมชาติแล้วมีความสุข แต่ตอนนั้นยังไม่รู้จักศาสนาเลย  ยังไม่รู้ว่าจะเดินไปในทิศทางใด ก็ดำเนินไปตามทางที่พ่อแม่ชี้ให้ไป ให้เรียนหนังสือ เรียนจบแล้วจะได้มีงานมีการทำ พอจบมาแล้วจิตเริ่มเป็นตัวของมันเองขึ้นมา เริ่มคิดว่า โอ๊ย! ไปทำงานอีก ๓๐ – ๔๐ ปี แล้วก็แก่ตาย อย่างมากก็ได้เงินได้ทองมาก้อนหนึ่ง ได้ลูกได้เมีย แล้วก็ตายไป ก็มีแค่นี้เอง ชีวิตของคนเรามีเพียงแค่นี้หรือ ก็ถามตัวเอง แล้วก็ไม่มีความสุขด้วย เพราะต้องไปทำงานทำการ หาเงินหาทอง มีภาระต่างๆให้แบก ให้รับผิดชอบ ได้มาก็ต้องใช้ไป

สู้สมัยที่เป็นเด็กๆไม่ได้ สมัยที่เรียนหนังสือ มันสบาย ไม่มีภาระอะไร มีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียว เวลาว่างไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆก็มีความสุข ก็คิดว่าทำไมจะอยู่แบบนี้ไม่ได้ อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ได้หรือ ทำไมต้องไปดิ้นรนหาสิ่งนั้นหาสิ่งนี้มา ก็เลยมีคนให้หนังสือมาอ่าน ได้หนังสือธรรมะเล่มแรก เป็นภาษาอังกฤษ พระที่ประเทศศรีลังกาคัดเอามาจากพระไตรปิฎก เกี่ยวกับธรรมะเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องภาวนา เรื่องสติปัฏฐาน พอดีเล่มแรกที่ได้มาเกี่ยวกับเรื่องอนิจจัง ความไม่เที่ยง เปรียบเทียบคำสอนของศาสนาพุทธกับของนักปราชญ์ทางตะวันตก พวกนักปราชญ์ทางตะวันตกก็เห็นความไม่เที่ยง แต่ไม่รู้วิธีปฏิบัติกับความไม่เที่ยง ส่วนพระพุทธเจ้าทรงรู้วิธีปฏิบัติกับสิ่งที่ไม่เที่ยง ทรงสอนให้ปล่อยวางนั่นเอง อย่าไปยุ่งเกี่ยว  ถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าเอาเข้ามายุ่งกับชีวิตของเรา เพราะเมื่อเอาเข้ามาแล้ว จะต้องสร้างความทุกข์ให้กับเรานั่นเอง ทรงสอนให้ปล่อยวาง ด้วยการบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา

เรื่องการให้ทาน อาตมาก็ไม่มีสมบัติอะไร ก็ไม่ต้องทำมาก ถ้ามีใครเดือดร้อนก็ช่วยเหลืออยู่เสมอ เรื่องศีล อาตมาก็ไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ชอบโกหก ไม่ชอบลักทรัพย์อยู่แล้ว ขาดที่ภาวนา ก็เลยลองภาวนาดู ก็ทำไปได้เรื่อยๆ ได้ทีละเล็กทีละน้อย จนรู้สึกว่าพอไปได้ ก็เลยลองปฏิบัติอย่างจริงจังอยู่หนึ่งปีจนเห็นว่า ถ้าจะบวชก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะตลอดปีที่ปฏิบัติ ก็กินอยู่เหมือนนักบวชอยู่แล้ว ไม่ได้ไปเที่ยวเตร่ ไปหาความสุขจากอะไร วันๆหนึ่งก็อ่านแต่หนังสือธรรมะ นั่งสมาธิ เดินจงกรม รับประทานอาหารวันละมื้อ ก็เลยตัดสินใจบวช ไปบวชที่วัดบวรฯ มีคนแนะนำวัดป่าบ้านตาด ก็เลยลองไปดู ได้อยู่ที่นั่น  ๙ พรรษา ขึ้นไปเดือนเมษายน ปี ๒๕๑๘ จนถึงปลายปี ๒๕๒๖ ก็ ๘ ปีกว่าเกือบ ๙ ปี ถ้านับพรรษาก็ ๙ พรรษา อยู่ที่นั่นก็ไม่ได้ออกไปไหนเลย กลับมาเยี่ยมบ้านอยู่ ๒ ครั้งเท่านั้นเอง ระยะเวลา ๘ ปีกว่าไม่ได้ไปไหน ไม่ได้เดินทางไปไหน บวชแล้วก็ไม่ได้เดินทางไปไหน พอมาอยู่ที่นี่ก็ไม่ได้ไปไหนเหมือนกัน เคยขึ้นไปเชียงใหม่อยู่ครั้งหนึ่ง มีคนไปทอดกฐินเขาชวนไปนั่งรถเที่ยว เขาเห็นไม่ได้ไปไหนเลย ก็เลยชวนไป ก็ไปอยู่ครั้งเดียวเท่านั้นเอง ที่เดินทางไกล

ถาม   ธุดงค์ล่ะคะ

ตอบ  ไม่ได้ไป อยู่ในวัดก็สามารถบำเพ็ญได้ เพราะการไปธุดงค์ก็เพื่อให้อยู่ห่างไกลจากภารกิจการงานต่างๆ ที่ไม่ใช่งานภาวนา  หลวงตาท่านส่งเสริมเรื่องภาวนาอยู่แล้ว ถ้าพระเณรที่ต้องการภาวนาท่านก็จะไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับการงานต่างๆ ท่านส่งเสริมเต็มที่ ท่านถึงได้เน้นเรื่องการอดอาหาร เวลาอดอาหารก็ไม่ต้องไปบิณฑบาต  ไม่ต้องทำงานส่วนกลาง เช่นช่วยล้างถ้วย ล้างชาม ปัดกวาดก็ไม่ต้องมาปัดกวาดกับหมู่คณะ กวาดแต่เฉพาะที่พักของตนเอง การภาวนาจะได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องมาเสียเวลา จิตจะวิเวกอยู่ตลอดเวลา เพราะกายวิเวก ถ้าทำอะไรกับหมู่คณะก็จะต้องเห็นรูป ได้ยินเสียง ก็จะเกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา ก็จะไปลบล้างการบริกรรมพุทโธๆๆให้หายไปหมด เพราะจะต้องมาพิจารณาเรื่องต่างๆแทน แต่ถ้าอยู่คนเดียว อยู่ที่ปฏิบัติของเรา ถ้าบริกรรมพุทโธๆๆอยู่ ก็พุทโธๆๆต่อไป  ถ้าพิจารณาร่างกาย ก็พิจารณาไปเรื่อยๆ จนติดอยู่ในใจ ฝังอยู่ในใจ กลายเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกนึกคิดไปเลย พอความคิดของกิเลสที่ตรงข้ามกับความจริงปรากฏขึ้นมา ธรรมะที่ได้สะสมไว้ก็จะโผล่ขึ้นมาต้านกัน กิเลสก็ต้องถอยกลับไป เพราะหลอกเราไม่ได้

ถ้าบำเพ็ญไปเรื่อยๆ จะมีปัญญาฝังอยู่ในจิตในใจไว้ต่อสู้กับกิเลส ยิ่งได้ยินได้ฟังจากผู้ที่มีประสบการณ์จากการปฏิบัติโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องจิต จะทำให้ไม่ต้องเสียเวลากับการคลำทาง พอมาถึงตรงนี้ปั๊บก็รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป ถึงตรงนั้นแล้วจะต้องทำอะไรต่อไป ก็ทำของเราไปเรื่อยๆ  ถ้าไม่มีใครสอน ก็จะต้องจินตนาการไปเอง เอ๊ะ! มาถึงตรงนี้แล้วนะ จะต้องทำอย่างนี้นะ บางทีก็คิดผิดไป คนที่ไม่เคยผ่านมาก่อน จะต้องหลงทุกคน เพราะจะยึด ทำทานก็จะยึด อยากจะทำให้มากๆ ไม่เข้าใจว่าการทำทานเพื่อจะส่งให้เข้าสู่การรักษาศีล รักษาศีลก็ไม่รู้ว่า รักษาศีลเพื่อส่งให้เข้าสู่การภาวนา เวลารักษาศีลก็เคร่งอยู่กับการรักษาให้สะอาดบริสุทธิ์  จะทำอะไรนิดอะไรหน่อย ก็กลายเป็นความกังวลไปหมด ว่าผิดศีลหรือเปล่า ก็เลยทำให้เกิดความกังวลขึ้นมา แทนที่จะเกิดความสงบ ถ้าภาวนาได้เป็นสมาธิแล้ว ก็ติดอยู่ในสมาธิอีก ไม่อยากจะออกมาคิดพิจารณาเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดแล้วฟุ้งซ่าน ไม่สงบ แต่ถ้าไม่คิด ไม่พิจารณา ก็จะไม่เกิดปัญญา

ความจริงทาน ศีล ภาวนานี่ เป็นสิ่งที่สนับสนุนกัน เป็นเหมือนขั้นบันได เมื่อทำทานแล้วก็ควรที่ก้าวขึ้นสู่ขั้นศีลต่อไป เมื่ออยู่ขั้นศีลแล้ว ก็ควรภาวนา จะหำพร้อมๆกันเลยก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องบำเพ็ญทีละขั้น  ถ้ามีทานแล้ว พร้อมที่จะรักษาศีล ก็ทำไปเลย ศีล ๕   ศีล ๘ ก็รักษาไป ถ้ารักษาศีล ๘ ได้ ก็ช่วยการภาวนาให้ไปได้สะดวกขึ้น ระหว่างศีล ๕ กับศีล ๘ จะต่างกัน ถ้ามีศีล ๘ จะภาวนาได้ดีกว่า เพราะช่วยเสริมความสงบได้มากกว่า เมื่อได้ความสงบแล้วก็ต้องเจริญปัญญา พิจารณาไตรลักษณ์ ขันธ์ ๕  พิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นว่าเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ไม่มีตัวไม่มีตน เราคิดว่าร่างกายเป็นเรา ความคิดเป็นเรา เวทนาเป็นเรา แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  เช่นร่างกายก็เกิดขึ้นจากการรวมตัวของดิน น้ำ ลม ไฟ เวทนาก็เกิดขึ้นจากการสัมผัสของร่างกาย เรียกว่ากายเวทนา ส่วนจิตเวทนาก็เกิดจากความคิดปรุงแต่ง ถ้าคิดไปในทางกิเลสก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ถ้าคิดไปในทางธรรมะก็เกิดความสงบ เกิดความสุขขึ้นมา

สิ่งเหล่านี้เมื่อพิจารณาไปเรื่อยๆแล้ว ก็จะเข้าใจ  จะรู้จักวิธีปฏิบัติ แล้วก็ปล่อยวาง พอเข้าใจแล้วก็ปล่อยวาง ไม่มีปัญหาอะไรกับเขาอีกต่อไป เขาจะเป็นอย่างไร ก็รู้เท่าทันหมดแล้ว  ไม่ได้ไปหวังอะไรจากเขา เหมือนกับเวลาเกี่ยวข้องกับใครสักคนนี้ เราก็รู้ทันหมดแล้ว ว่ามีอยู่ ๒ ทาง จะอยู่หรือจะแยกกัน  เมื่อรู้แล้วก็พร้อมที่จะรับทั้ง ๒ ทาง จะไปก็ไป จะอยู่ก็อยู่  ใจไม่วุ่นวาย ใจสงบ แต่ถ้าไม่ยอมรับความจริงนี้ จะเอาทางเดียวคือต้องอยู่กับเราไปตลอด หนีจากเราไปไม่ได้ พอเกิดมีความรู้สึกว่าเขาจะจากไป ก็จะต้องวุ่นวายใจ จึงต้องเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ แล้วต้องรับให้ได้ เช่นเวทนาก็มีอยู่ ๓ ชนิด มีสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็วนกันไปเวียนกันมาอย่างนี้ จะเป็นอย่างไรก็รับได้ ไม่ต้องวิ่งเข้าหาหรือขับไล่ไสส่ง  เวลามีความสุขก็อย่าไปอยากให้อยู่ไปนานๆ เวลามีความทุกข์ก็อย่าไปอยากให้หายไป ถ้ายังอยู่ก็อยู่ไป รู้ว่าเดี๋ยวก็หายไปเอง กำหนดรู้ไปตามความเป็นจริง  ตอนนี้สุขก็รู้ว่าสุข ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ แต่ใจไม่ต้องไปเกิดความอยาก อย่างใดอย่างหนึ่ง

นี่คือวิธีปฏิบัติ แต่จะทำใจให้เป็นแบบนี้ได้ ก็ต้องฝึกทำสมาธิอยู่เรื่อยๆ เพราะการทำสมาธิเป็นการทำใจให้เป็นอุเบกขา แต่จะเป็นอุเบกขาได้ชั่วขณะที่อยู่ในสมาธิ เมื่อออกมาแล้วจะทำให้เป็นอุเบกขาต่อไป ก็ต้องอาศัยปัญญา ไม่เช่นนั้นจิตจะหลุดจากอุเบกขาทันที  เวลาสัมผัสกับสุขเวทนาก็จะวิ่งเข้าหา  เจอทุกขเวทนาก็จะวิ่งหนี จึงต้องดึงไว้ เวลาเจอสุขเวทนาก็ดึงไว้ อย่าวิ่งเข้าหา เวลาเจอทุกขเวทนาก็อย่าวิ่งหนี  ทำใจให้เหมือนกับขณะที่อยู่ในสมาธิ ถ้าควบคุมไม่ได้ก็อาศัยการบริกรรมพุทโธๆๆไปจนก็กว่าทุกขเวทนาจะผ่านไป เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ถูกทุกขเวทนาทางกายรุมเร้า ถ้าคิดอยากจะให้หาย ก็จะทรมานจิตใจ เมื่อยังไม่หาย แต่ถ้าทำจิตใจให้สงบ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ ไม่ไปอยากให้หาย เวทนาจะเป็นอย่างไร ก็ให้เป็นไป เดี๋ยวถึงเวลาจะหายก็หายไปเอง  ใจก็จะไม่วุ่นวาย ดับความทุกข์ในใจได้ แต่เราดับความทุกข์ทางกายไม่ได้ ความทุกข์ทางกายต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย  เดี๋ยวถึงเวลาจะหายก็หายเอง รักษาได้ก็คือใจ ไม่ให้ต้องทุกข์กับกาย

ในการปฏิบัติจึงต้องอาศัยทั้งสมาธและปัญญา สมาธิจะทำให้จิตเป็นอุเบกขาในขณะที่สงบตัวลง แต่เมื่อออกมาแล้วถ้าไม่มีปัญญาคอยควบคุม จิตก็จะแกว่ง  แกว่งไปหาความสุข แกว่งหนีความทุกข์  ปัญญาจะคอยบอกว่าอย่าแกว่ง เพราะการแกว่งของจิตเป็นความทุกข์ จะรู้ได้เวลาจิตสงบ พอจิตกระเพื่อมก็เป็นความทุกข์ทันที กระเพื่อมเพราะตัณหาความอยาก กระเพื่อมเพราะวิภวตัณหา กระเพื่อมเพราะภวตัณหา อยากมีความสุขก็เป็นภวตัณหา อยากหนีจากความทุกข์ก็เป็นวิภวตัณหา

ถาม   ดูแล้วเหมือนอยากจะหนีจากทุกข์มากกว่า สุขไม่ค่อยได้คิดถึงเท่าไหร่

ตอบ  อาจจะไม่คิดแต่มันเป็นไปโดยธรรมชาติ โดยที่เราไม่รู้สึกตัว ความสุขนี้เราทุกคนก็อยากจะได้กันทั้งนั้น หมายถึงสุขของเวทนานะ ไม่ใช่สุขที่เกิดจากความสงบของจิต  ความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต ด้วยสมาธิก็ดี หรือด้วยปัญญาก็ดี ที่เรียกว่าวิมุตติที่เกิดจากการทำจิตให้นิ่ง ความสุขนี้มีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน สุขที่เกิดจากเวทนา หมายถึงเวลาที่เห็นภาพที่ถูกอกถูกใจ ก็เป็นสุขเวทนา  เกิดความยินดีขึ้นมา เป็นความสุขที่เกิดดับ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามเหตุตามปัจจัย  สุขแบบนี้ต้องระมัดระวัง อย่าไปหลง อย่าไปยึด อย่าไปติด การได้ยินเสียงที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็เป็นทุกขเวทนา ก็ต้องอย่าไปรังเกียจ พยายามอดทนฟังไป ใครจะพูดไม่ดีอย่างไรก็ปากของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา  เรื่องของเราคือทำใจให้รับรู้แล้วปล่อยวางเท่านั้นเอง ห้ามเขาไม่ได้ ห้ามใจเราได้ คิดแค่นี้  ธรรมทั้งหมดก็มาลงที่ใจนี้ เพื่อมาควบคุมจิตใจให้สงบ ไม่ให้ไปหลงกับอะไรทั้งสิ้น ต้องตัด ต้องปล่อย ต้องวาง

สรุปลงที่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของเรา สัพเพ ธัมมา อนัตตา มาตัวเปล่าๆ แล้วก็ไปตัวเปล่าๆ มีแค่นี้ อย่าไปเสียดาย เอามาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแบบฉบับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมา พระพุทธเจ้ามีสมบัติมากน้อยแค่ไหนก็สละหมด แล้วก็ออกบวช บำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติได้มากก็จะเสร็จเร็ว  เวลาสร้างบ้าน สร้างกุฏิหลังหนึ่ง   ถ้าวันหนึ่งมาเคาะตะปูสัก ๒ - ๓ ตัวแล้วก็หยุด อีก ๑๐ ปีก็ไม่เสร็จ แต่ถ้าทำทั้งวันทั้งคืน วัน ๒ วันก็เสร็จแล้ว  การภาวนา การบำเพ็ญก็เช่นเดียวกัน  ถ้าทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุดไม่หย่อน อีกไม่นานหรอก เดี๋ยวเดียวเท่านั้น ในสมัยพุทธกาลท่านบรรลุกันเป็นว่าเล่นเลย แต่พวกเราเสียดายอย่างอื่นกันมากกว่า ไปทำอย่างอื่นกันมากกว่า ลองพิจารณาดูซิว่า เวลาที่เราให้กับการภาวนา กับเวลาที่เอาไปทำอย่างอื่นนั้น ต่างกันมากน้อยเพียงไร ผลก็จะฟ้องอยู่ในตัว มีอะไรอีกไหม จะให้พรนะ