กัณฑ์ที่ ๒๓๑     ๒๕ ธันวาคม  ๒๕๔๘

เรื่องของจิต

 

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ล้วนตรงกับความเป็นจริงทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าพวกเรายังไม่มีปัญญา ไม่มีดวงตาเห็นธรรม ที่จะเห็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นได้ เช่นเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องจิตวิญญาณ เราไม่รู้ทั้งๆที่ตัวเรากับจิตวิญญาณก็อยู่ด้วยกันมาตลอด ไปไหนก็ไปด้วยกันตลอดเวลา แต่เราไปหลงว่าจิตเป็นร่างกาย เลยไม่เห็นจิตวิญญาณ ไม่เห็นตัวจิต เพราะจิตกับร่างกายเป็นเหมือนน้ำกับขวด  เวลาเทน้ำใส่เข้าไปในขวด น้ำก็จะมีรูปเหมือนกับขวดไป  แต่ความจริงรูปร่างของน้ำไม่ได้เป็นเหมือนกับขวด แต่ถ้าเอาไปใส่ในขวดกลมๆ ก็จะเห็นว่าเป็นรูปกลมๆ  ถ้าเอาไปใส่ในขวดเหลี่ยมก็จะเห็นเป็นรูปเหลี่ยม

เราก็เหมือนกัน เรามาเกิดเป็นมนุษย์  เราก็คิดว่าเราเป็นมนุษย์ มีรูปร่างอาการ ๓๒ ของมนุษย์ ถ้าเราไปเกิดเป็นแมว เราก็คิดว่าเราเป็นแมว มีรูปร่างของแมว คือจิตจะคิดว่าตัวมันเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงตัวจิตไม่ได้เป็นรูปร่างอย่างนั้น มันเพียงแต่อาศัยรูปร่างของร่างกายนี้ ของมนุษย์ก็ดี ของแมวก็ดี ของสุนัขก็ดี เป็นพาหนะหรือเป็นเครื่องมือ ที่จะเอาไปใช้ตามความอยากของกิเลสตัณหา กิเลสตัณหาเป็นตัวที่พาให้เรามาเกิด มันต้องการร่างกายนี้เพื่อจะได้นำไปสู่สิ่งที่มันต้องการ สิ่งที่กิเลสต้องการก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรียกว่ากามคุณ ๕ ที่เรามาเกิดในโลกนี้ก็เพราะกามตัณหาเป็นผู้พามา เพราะจิตยังมีความผูกพันอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งที่เป็นส่วนหยาบและส่วนละเอียด ถ้าเป็นส่วนหยาบก็ต้องมีร่างกาย  เช่นร่างกายของมนุษย์หรือร่างกายของสัตว์เดรัจฉานเป็นเครื่องมือ เหมือนกับกล้องถ่ายรูป เราอยากจะมีรูปไว้เป็นที่ระลึกเราก็ต้องมีกล้องถ่ายรูป ถ้าเราอยากจะมีเสียงไว้เป็นที่ระลึก เราก็ต้องมีเครื่องอัดเสียง

จิตก็เช่นเดียวกัน ถ้าจิตอยากจะสัมผัสรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ก็ต้องมีร่างกาย ร่างของมนุษย์ ร่างของเดรัจฉาน ก็ขึ้นอยู่กับบุญกับกรรม ได้ร่างของมนุษย์ก็เพราะได้รักษาศีลมา ถ้าไม่ได้รักษาศีล เช่นทำแต่ทานอย่างเดียวไม่รักษาศีล ก็จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานที่สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ มีรูปร่างสวยงาม ใครเห็นใครก็อยากจะเอาไปเลี้ยง เช่นสุนัขที่เราไปซื้อมาแพงๆ ตัวละหลายพันบาท เพราะมีรูปร่างสวยงาม สุนัขตัวนั้นถ้าพูดเปรียบเทียบทางธรรมะก็หมายถึงว่า เขาเคยทำทานมา แต่ไม่ได้รักษาศีล  อานิสงส์ของการให้ทานท่านก็แสดงไว้ว่า จะทำให้มีโภคทรัพย์สมบูรณ์ มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวพรรณงดงาม แต่ถ้าไม่ได้รักษาศีล ก็จะไม่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีโภคทรัพย์ เกิดบนกองเงินกองทอง แต่ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ได้อยู่กับเศรษฐี เป็นสุนัขที่มีรูปร่างสวยงาม  ถ้าอยากจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้อยู่บนกองเงินกองทอง มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวพรรณผ่องใส ก็ต้องรักษาศีลและทำทานด้วย หรือไม่เช่นนั้นก็จะได้ไปเกิดเป็นเทวดา

นี่เป็นเรื่องของจิตที่มาเกิดในกามภพ ซึ่งเป็นภพที่มีความสุขมากกว่าความทุกข์ คือโลกของมนุษย์กับโลกของเทวดา ส่วนภพที่มีความทุกข์มากกว่าความสุข ก็คืออบาย ภพของสัตว์เดรัจฉาน ของเปรต ของอสุรกาย ของสัตว์นรก จิตพวกนี้จะมีความรุ่มร้อน มีความทุกข์มากกว่ามีความสุข  เหตุที่ทำให้มีความรุ่มร้อนและมีความทุกข์มาก ก็เพราะไม่รักษาศีล ๕ นั่นเอง ทำผิดศีลอยู่เรื่อยๆ ก็เลยต้องไปเกิดในอบายทั้ง ๔ เหตุที่ทำให้ไปเกิดเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ขึ้นอยู่กับเหตุที่ทำให้ผิดศีล ท่านแสดงไว้ว่า ถ้าผิดศีลเพราะความไม่รู้คือความหลง ไม่รู้ว่าการทำผิดศีลนี่เป็นบาปเป็นกรรม คือทำไปด้วยความจำเป็น เช่นต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลยต้องไปยิงนกตกปลา เป็นนายพราน เป็นชาวประมง ซึ่งเขาก็ไม่คิดว่าเป็นเรื่องเสียหายอะไร เพราะเป็นเรื่องจำเป็น เขาไม่รู้ว่าเมื่อเขาตายไปแล้ว เขาจะต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เพราะความไม่รู้ทำให้ทำผิดศีล

พวกที่ไปเกิดเป็นเปรตนี้ ทำผิดศีลไม่ใช่เพราะความจำเป็น เพราะมีพอกินพอใช้อยู่แล้วไม่ทำผิดศีลก็ไม่อดตาย แต่ทำไปเพราะความโลภ อยากจะมีมากๆ อยากจะร่ำรวยมากๆ ก็เลยคดโกง ด้วยวิธีต่างๆนานา พวกนี้ถ้าตายไปก็ต้องไปเป็นเปรต ได้เท่าไรไม่รู้จักพอ ได้กี่ร้อยล้าน กี่พันล้านก็ไม่พอ มีปากเท่ารูเข็ม มีท้องเท่ากับทะเลหรือมหาสมุทร กินเข้าไปเท่าไรก็ไม่อิ่มสักที เพราะความโลภพาไป ความโลภไม่มีขอบไม่มีเขต ไม่มีคำว่าพอ ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ อยากจะได้เรื่อยๆ ถ้าทำผิดศีลเพราะความโลภ ก็จะไปเกิดเป็นเปรต  ถ้าทำด้วยความโลภแต่ไม่ผิดศีล ก็ยังกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อยู่ เพราะได้รักษาศีลไว้ ถึงแม้จะโลภแต่ไม่ทำผิดศีล ขยันทำมาหากิน ค้าขาย ได้เงินได้ทองมามากมายก่ายกอง แต่ก็ยังอยากจะได้มากๆ ก็ทำต่อไปอีก แต่ไม่ทำผิดศีล ก็ไม่ต้องไปเกิดเป็นเปรต ยังกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ แต่จะกลับมาแล้วรวยกว่าเก่าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ว่าได้ทำทานไว้มากน้อยเพียงไร ถ้าไม่สนใจในเรื่องทำทานเลย ชาติหน้ากลับมาเป็นมนุษย์ก็จะจนกว่าเก่า แต่ถ้าทำทานอยู่เรื่อยๆ สะสมทานบารมีไปเรื่อยๆ ก็จะรวยกว่าเก่า อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญทานบารมีมา ในแต่ละภพแต่ละชาติ จึงส่งให้พระองค์ได้ประสูติในแต่ละภพแต่ละชาติที่ร่ำรวย เป็นโอรสของกษัตริย์บ้าง เป็นเศรษฐีบ้าง ก็เพราะอำนาจของทานบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมา

ส่วนพวกที่ทำผิดศีลด้วยความกลัว ก็ต้องไปเกิดเป็นอสุรกาย ที่มีแต่ความหวาดกลัว วิตก กังวล กลัวความอดอยากขาดแคลน  กลัวความตกทุกข์ได้ยาก กลัวความลำบาก ก็เลยต้องไปลักไปขโมย เผื่อไว้ก่อน  ทั้งๆที่ในปัจจุบัน ก็มีพอมีพอกินพอใช้ แต่ห่วงโน่นห่วงนี่เกินเหตุเกินผลไป ไม่กล้าสู้กับความยากความลำบาก ที่ไม่เหนือวิสัยของจิตที่จะต่อสู้ได้ เพราะชีวิตของคนเราไม่ช้าก็เร็ว ก็ต้องเจอด้วยกันทุกคน กับความยากความลำบาก เช่นความแก่ ความเจ็บ ความตาย จึงไม่ควรให้ความยาก ความลำบากนี้ เป็นเหตุผลักดันให้ไปทำผิดศีลผิดธรรม เราสามารถตั้งอยู่ในศีลในธรรมได้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า  ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ธรรมก็คือศีลธรรมนี่เอง

ถ้าให้เลือกระหว่างการฆ่าผู้อื่นกับให้ผู้อื่นฆ่าเรา  ก็เลือกให้เขาฆ่าเราดีกว่า เพราะยังไงๆก็ต้องตายด้วยกันทั้งคู่ ไม่ช้าก็เร็ว แต่ถ้าเราฆ่าเขาเราผิดศีล ตายไปก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เพราะต้องรักษาชีวิตของเราไว้ ไม่ได้ฆ่าเพราะความกลัว ความโกรธ หรือความโลภ แต่ฆ่าเพราะอยากจะอยู่ อยากจะรักษาชีวิตของเราไว้ เหมือนกับนายพรานที่ไปยิงสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพ ก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน เมื่อตายไปแล้วก็ต้องไปเกิดที่ต่ำ แต่ถ้าปล่อยให้เขาฆ่าเรา ตายไปเราก็ไปเกิดที่สูง เพราะไม่ผิดศีล อาจได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลก็ได้ ถ้าได้พิจารณาเห็นว่าเกิด แก่ เจ็บตายเป็นธรรมดา เช่นพระโสดาบันที่มีดวงตาเห็นธรรม  เห็นว่าสิ่งใดที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา

ร่างกายของเราก็เป็นอย่างนั้น มีการเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีความแก่ มีความเจ็บ มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วเมื่อเราต้องมาเลือกระหว่างการที่จะแก่ จะเจ็บ จะตาย ด้วยการมีศีลหรือด้วยการไม่มีศีล ก็ให้เลือกเอาวิธีที่มีศีลดีกว่า เพราะไม่ขาดทุน ภพหน้า ชาติหน้าจะดีกว่าเก่า หรืออาจจะดีในชาตินี้เลยก็ได้ เมื่อจิตใจปลงได้ตัดได้ เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของร่างกาย ก็จะไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตาย  ไม่ต้องทำบาปทำกรรม นี่คือเรื่องของกรรมที่พวกเราทำกันอยู่ทุกวันนี้ อยู่ที่สัมมาทิฐิหรือมิจฉาทิฐิจะพาให้ทำ พวกเราถึงแม้จะได้ยินได้ฟังธรรมะอยู่ตลอดเวลา รู้ว่าสัมมาทิฐิเป็นอย่างไร แต่พอต้องเอามาใช้จริงๆ ก็ยังรู้สึกว่ายาก อย่างวันนี้ที่อธิบายให้ฟังว่า ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ฟังแล้วก็คงจะอุทานโอ้โฮ! ถึงขนาดนั้นเลยหรือ

ถาม   รู้สึกว่าเราควรจะป้องกันตัวเองได้นะครับ รักษาชีวิตตัวเราเองไว้ ป้องกันตัวเรา อะไรอย่างนี้

ตอบ    โดยปกติเราก็ต้องดูแลรักษาชีวิตของเรา เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปหาหมอ แต่พูดในกรณีที่ต้องเลือก ระหว่างที่จะต้องไปฆ่าผู้อื่นเพื่อรักษาชีวิตของเรา หรือต้องไปขโมยเงิน ขโมยข้าวของของผู้อื่นเพื่อมาเลี้ยงดูชีวิตเรา เช่นคนยากจนที่ต้องไปขโมยข้าวของมารับประทาน ถ้าเรามีความหนักแน่นในธรรม ก็ทนอดทนหิวไปก่อน แล้วก็พยายามหางานหาการทำ คงจะไม่สิ้นหวัง ไม่สิ้นทางหรอก ถ้าคนเรามีความพยายามต่อสู้ ที่จะหามาด้วยความสุจริต เวลาเดินไปข้างถนนถ้ามีปัญญา ก็จะเห็นเงินเห็นทองเต็มไปหมดเลย อย่างอาตมาเวลาเดินลงไปบิณฑบาต จะเห็นขวดเปล่า กระป๋องเปล่า ข้าวของอะไรต่างๆที่ถูกทิ้งไว้ข้างถนนเต็มไปหมด บางทีก็มีเศษเงินตกอยู่ ถ้าเรามีจิตใจมุ่งมั่นในการรักษาศีลแล้ว มันก็รักษาได้ แต่คนที่ไม่อยากรักษา ก็จะบอกว่ายาก

ถาม   กรณีที่มีโจรจะมาทำร้ายเราอย่างนี้นะครับ เราก็ต่อสู้เพื่อที่จะป้องกันชีวิตเรา เรากำลังจะไปฆ่าเขานี่ เป็นสิ่งที่เราต้องทำ

ตอบ     เพราะสัมมาทิฐิเรายังอยู่ในขั้นต่ำ แต่ถ้าเป็นพระอริยะก็จะคิดว่า เราเคยไปทำอะไรเขามาก่อน เคยไปขโมยของเขามาก่อน กรรมมาทวงคืน เหมือนพระโมคคัลลานะ ถึงแม้ท่านจะมีฤทธิ์ แต่ท่านกลับไม่ใช้เพื่อหนีจากการถูกทำร้ายชีวิต ท่านบอกว่าเคยไปทำร้ายเขามาก่อน เขาก็ต้องตามมาเอาคืน ถ้าหนีเขาวันนี้ พรุ่งนี้เขาก็ตามมาอยู่ดี กรรมหนีไม่พ้น เมื่อจิตของท่านไม่มีความอาลัยอาวรณ์ ไม่มีความผูกพันกับชีวิตแล้ว ท่านก็ปลงได้ ปล่อยได้เพราะใจของท่านอยู่ได้โดยไม่ต้องมีร่างกาย เวลาที่ท่านเข้าสมาธิทำจิตให้สงบ ท่านก็ไม่ได้อาศัยร่างกายนี้ไว้ทำอะไร ร่างกายนี้เอาไว้รับใช้พวกเรามากกว่า เอามาเทศนาว่ากล่าวสั่งสอนพวกเรา แต่จิตของท่านไม่ได้อาศัยร่างกายมาให้ความสุขอีกแล้ว

อย่างพระพุทธเจ้ายังทรงอยู่ต่อไปอีกถึง ๔๕ พรรษา หลังจากที่ได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว ก็เพื่อพวกเราเท่านั้น เผยแผ่ธรรมะ ให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบันนี้  ก็เพราะการเสียสละของพระพุทธเจ้า ถ้าทรงตัดสินพระทัยไม่สั่งสอน เพราะทรงเห็นว่าสอนไปก็ลำบากลำบน คนฟังก็ไม่เข้าใจ จะหาว่าบ้าหรือเปล่า ที่สอนให้สละชีวิตเพื่อรักษาศีลธรรม แต่หลังจากที่ท้าวมหาพรหม ได้อาราธนาให้ทรงโปรดสัตว์โลกทั้งหลาย จึงทรงพิจารณาเห็นว่า คนที่เชื่อก็มี คนที่ไม่เชื่อก็มี คนดีก็มี คนไม่ดีก็มี  เปรียบเหมือนบัว ๔ เหล่า พวกที่หูหนวก ตาบอด ที่ไม่มีโอกาสจะเห็นเดือนเห็นตะวันก็มี พวกนั้นก็ปล่อยเขาไป พวกที่ตะเกียกตะกายแสวงหาทางหลุดพ้นก็มี เช่นพระปัญจวัคคีย์ที่เคยติดตามพระพุทธเจ้ามาก่อนหน้านี้ ก็มีความปรารถนาอยากจะหลุดพ้นจากความทุกข์เช่นกัน

จึงทำให้มีกำลังใจที่จะประกาศพระศาสนา โดยมุ่งไปที่ผู้มีความรู้ความสามารถที่จะรับรู้ได้อย่างรวดเร็วก่อน  เพราะจะได้พวกนี้มาช่วยพระองค์สอนอีกต่อหนึ่ง ถ้าไปสอนพวกที่ต้องพูดจ้ำจี้จ้ำไชวันละ ๑๐ ครั้ง ก็ต้องสอนไปอีก ๑๐ ปีกว่าจะเข้าใจ ก็จะเสียเวลามาก  สู้สอนพวกที่ฉลาดก่อนไม่ได้ แสดงธรรมเพียงครั้งสองครั้งก็บรรลุเป็นพระอรหันต์กันแล้ว   อย่างพระอัญญาโกณฑัญญะนี่ ทรงแสดงธรรมครั้งแรกก็ได้ดวงตาเห็นธรรม  บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นมาแล้ว  หลังจากนั้นทรงแสดงธรรมอีกไม่กี่ครั้ง ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์กันทั้ง ๕ รูป   ทำให้มีพระอรหันต์ปรากฏขึ้นมาในโลกถึง ๖ รูปด้วยกัน  คือพระพุทธเจ้า ๑ และพระปัญจวัคคีย์ ๕  

ต่อมาได้ทรงแสดงธรรมให้กับนักบวชของสำนักอื่นที่มีอยู่ ๕๐๐ รูป  ก็ได้บรรลุพร้อมกันทีเดียว ๕๐๐ รูปเลย   เพราะนักบวชส่วนใหญ่ในสมัยนั้นมีทาน มีศีล มีสมาธิอยู่แล้ว   สิ่งที่ขาดและสามารถรู้ได้เพียงพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ก็คือโลกุตรธรรม หรือปัญญา  วิปัสสนาปัญญา คือไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยเฉพาะอนัตตา ส่วนอนิจจัง ทุกขัง  นี่ก็พอจะเห็นกัน   คนเราทุกคนเกิดมาก็เห็นว่ามีเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน   รู้ว่าเป็นความทุกข์ด้วยกัน  แต่ไม่รู้อนัตตา  พวกเราไม่รู้ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา   พวกนักบวชสมัยนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน  ตอนต้นพระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงทราบเหมือนกัน ทรงศึกษาตามสำนักต่างๆ ก็ไม่มีใครสอนเรื่องอนัตตา ที่จะทำให้หลุดพ้นจากการยึดติดในร่างกาย 

ถ้าเรารู้ว่าไม่ได้เป็นของของเรา ไปเฝ้าไปรักษาไว้ทำไม   เหมือนกับคนเอาเงินมาฝากเราไว้ เราก็โง่ไปรักษาให้เขา   พอถึงเวลาเขาก็มาเอาคืนไป   เราก็เหนื่อยไปเปล่าๆ อุตส่าห์ดูแลรักษา  ไม่กล้าไปไหน  คอยเฝ้าคอยดูแล  พอถึงเวลาเจ้าของก็มาเอาคืนไป   เราก็เหนื่อย เราก็ทุกข์ไปเปล่าๆ  ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน  เดี๋ยวพอถึงเวลาเจ้าของก็มาเอาคืนไป  คือดิน น้ำ ลม ไฟ  มาเรียกคืนไป   กลับไปสู่น้ำ  กลับไปสู่ลม กลับไปสู่ดิน  กลับไปสู่ไฟ   เมื่อถึงเวลาเขาก็มาเอาไป เวลาไหนก็ไม่บอกด้วย   บางทีให้เราอยู่สัก ๑๐ ปี ก็มาเอาไปแล้ว  บางทีก็ให้อยู่ถึง ๘๐ - ๙๐  ปี   แต่ในที่สุดเขาก็เอาไป  

เราก็เห็นๆกันอยู่   เราก็ยังไม่เห็นว่ามันไม่ใช่ของเรา   เราก็ยังคิดว่าเราตายอยู่นั่นแหละ พอคิดถึงมัน ยังไม่ทันแก่ ยังไม่ทันเจ็บ ยังไม่ทันตาย ก็ทุกข์แล้ว   เพราะความหลง   ว่ามันเป็นเรา เป็นของของเรา เคยยกตัวอย่างว่า ได้คลอดลูกออกมาที่โรงพยาบาล   แล้วพยาบาลสลับเอาลูกของคนอื่นมาให้ เราก็เอาไปเลี้ยง ก็ไม่รู้ว่าเป็นลูกเรา  เราก็เลี้ยงอย่างดี รักอย่างดี  พอวันดีคืนดีเขาเอาหลักฐานมาแสดงว่า นี่ไม่ใช่ลูกของคุณนะ ไม่อยากจะเลี้ยงแล้วใช่ไหม เพราะความหลง ไปเห็นว่าเป็นของเรา  เป็นตัวเรา  พอรู้ว่าไม่ใช่ของเรา ก็เลยไม่มีความผูกพัน จะเป็นจะตายอย่างไรก็ไม่เดือดร้อน   

จึงทรงสอนให้เราพิจารณาร่างกายของเรา  หรือขันธ์ ๕ นี้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของธรรมชาติ  รูปก็มาจากดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นอาการ ๓๒  เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ก็เป็นอาการของจิต ออกมาจากจิต เวลาเห็นรูป ก็เกิดมีวิญญาณไปรับทราบ ตาสัมผัสกับรูป ก็มีจักขุวิญญาณ ตัวรับรู้รูป ปรากฏขึ้นมาในจิต ตัวรับรู้เสียงก็คือโสตวิญญาณ ที่เกิดดับๆตามเหตุตามปัจจัย   พอหลับตาปั๊บจักขุวิญญาณก็หายไป รับรู้ไม่ได้เพราะไม่มีภาพ ไม่มีการสัมผัสของรูปกับตา   ถ้าปิดหูเสียงเข้ามาในหูไม่ได้   วิญญาณที่จะรับรู้เรื่องเสียง ก็ไม่ปรากฏขึ้นมา ตัววิญญาณนี้เป็นอาการของจิต  ทำหน้าที่รับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พอเสียงนั้นหายไป  การรับรู้เกี่ยวกับเสียงก็หายไป  

ถาม  ท่านอาจารย์ครับ  ถ้าเผื่อมีเฉพาะจิตอย่างเดียวนี่  มันจะไม่ทราบอะไรเลย ใช่ไหมครับ

ตอบ  เวลาจิตรวมลงสู่ความสงบ มันก็เหมือนกับไม่มีอะไรเหลืออยู่ในจิตเลย นอกจากผู้รู้หรือสักแต่ว่ารู้เท่านั้น

ถาม  ตรงนี้เหมือนกับที่ท่านอธิบายให้คุณสุเมธฟังว่า   การรู้เฉยๆ ใช้ไม่ได้ ยังต้องให้รู้และรับเข้ามาใช่ไหมคะ

ตอบ คือตอนที่ฝึกให้รู้เบื้องต้น เป็นเพียงการฝึกสติ   ฝึกให้จิตเกาะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ให้ลอยไปลอยมา   ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้   ให้มีสติไว้   สติเป็นตัวบังคับให้จิตทำตามคำสั่งของเรา   ถ้าไม่มีสติ  เราจะไม่สามารถสั่งให้จิตเกาะอยู่กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้  พอมีเรื่องอื่นเข้ามา ก็ดึงจิตไปแล้ว  แต่ถ้าเรามีสติที่แข็งที่กล้า จะมีเรื่องอะไรเข้ามา ก็ไม่สามารถทำลายสมาธิที่มีอยู่กับเรื่องนั้นหรือสิ่งนั้นได้ ในเบื้องต้นจึงต้องฝึกสติก่อน  ให้รู้อยู่กับร่างกายของเรา   เช่นเวลาเคลื่อนไหวในอิริยาบถ ๔   หรือทำอะไร ก็ให้รู้อยู่กับการกระทำนั้นๆ    เป็นการฝึกพัฒนาสติที่เรียกว่าสติปัฏฐาน มีอยู่ ๔ จุดด้วยกัน ที่เป็นที่ตั้งของสติได้คือ   กาย เวทนา จิต ธรรม  ขึ้นอยู่กับว่าจะถนัดในส่วนไหน  ถ้าถนัดกับกายก็ให้มีสติรู้อยู่กับกาย  ถ้าถนัดกับเวทนาก็ให้รู้อยู่กับเวทนา  เวลาเกิดสุขก็รู้ว่าสุข  เวลาเกิดทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์   เวลาไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ว่าไม่สุขไม่ทุกข์   แต่ไม่ไปควบคุมบังคับมัน   เพียงแต่ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น   รู้ว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่  แล้วก็ดับไป  เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นเรา เป็นของของเรา  

เหมือนเสียงนกที่เราฟังอยู่ในขณะนี้ ก็รู้ว่าเป็นเสียงนก ตอนนี้หายไปแล้วก็รู้ว่าหายไป มาก็รู้ว่ามา แต่ไม่อยากให้มันหายไป ไม่อยากให้มันร้องไปตลอดเวลา   รู้ตามความเป็นจริง   แล้วก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรไปยึดไปติด   ถ้าไปยึดไปติดเสียงที่ไพเราะน่าฟังนี้แล้ว ถ้ามันหยุดไป ก็จะรู้สึกว่ามันขาดหายไป ความสุขที่ได้จากการได้ยินเสียงนี้ก็หายไป  แต่ยังอยากจะฟังอีก  จึงต้องไปสร้างเครื่องอัดเสียงไว้ เพื่อจะได้ฟังเรื่อยๆ ฟังบ่อยๆ  พอฟังบ่อยๆเข้ามันก็เบื่ออีก เพราะของในโลกนี้ไม่ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง   เราไปหลงยินดีกับมันเอง เลยทำให้เกิดความสุขขึ้นมา   ถ้าเราไม่ไปหลงมันก็เป็นของกลางๆ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์  แต่ใจเราเมื่อไปเกิดความหลงขึ้นมา ไปยินดีกับสิ่งไหน ก็อยากจะอยู่กับสิ่งนั้นนานๆ ถ้าเกิดจากไป ก็เกิดความเสียอกเสียใจขึ้นมา    เช่นเห็นใครสักคนหนึ่ง เช่นสามีเรา ภรรยาเรา เราชอบคนนี้ เราก็อยากจะอยู่กับเขาไปเรื่อยๆ ถ้าเขาหายไปเราก็เสียใจ เราก็ทุกข์ใจ แต่ถ้าไม่เคยเจอกันมาก่อนเลย   และไม่เคยได้อยู่เป็นสามีภรรยากัน  เวลาเขาหายไป เราก็ไม่เดือดร้อนอะไร   เพราะไม่มีความผูกพันต่อกันนั่นเอง  

พุทธศาสนาสอนไม่ให้เราไปผูกพันกับสิ่งต่างๆในโลกนี้   เพราะไม่อยู่กับเราไปตลอด   จิตเรานี่เป็นสิ่งที่ไม่ตาย ไม่แก่ ไม่เจ็บ    แต่เราไปผูกติดอยู่กับสิ่งที่มีอายุแค่ ๔๐ – ๕๐ ปี หรือไม่ถึงด้วยซ้ำไป พอมันชำรุดทรุดโทรมหายไป จิตที่อยู่ได้ตลอดอนันตกาล ก็ต้องมาเสียใจกับสิ่งที่มีอายุสั้นๆนี้    แต่หลังจากนั้นอีกสักพักหนึ่งก็หาใหม่มาแทนอีก ไม่จดไม่จำ ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะไม่รู้ว่าธรรมชาติแท้จริงของจิตนั้น ไม่ต้องมีอะไรมาบำรุงบำเรอ ก็มีความสุขได้ เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขอื่นๆ อันนี้จิตไม่เคยเจอ คือความสุขที่เกิดจากความสงบนิ่งของจิตเอง ตัวจิตเองไม่เคยเจอ   เพราะถูกอวิชชาความหลงหรือมิจฉาทิฐิ หลอกให้ไปหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก จึงต้องหาอยู่เรื่อยๆ 

ถ้าบรรลุถึงขั้นสูงสุดของโลกิยธรรม  คือได้ฌานสมาบัติ  ได้สมาธิ   ก็จะติดอยู่ในฌาน ในสมาบัติ   ติดอยู่ในสมาธิ  แต่ก็ยังไม่หลุดพ้น   เพราะยังติดอยู่ในความสุขของฌาน ที่ไม่เที่ยง เสื่อมได้  ตายไปก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหมโลก อยู่สักกี่ปีก็แล้วแต่  เมื่อถึงเวลาเสื่อมลง  จิตก็จะลงมาเป็นเทพ  เป็นมนุษย์ต่อไป   กิเลสก็จะออกมาแสดงลวดลาย ให้ไปแสวงหาความสนุก เราก็ต้องไป  ถ้าติดอยู่กับความสุขจากการนั่งสมาธิ ก็จะนั่งสมาธิต่อ เหมือนกับเติมน้ำมัน เพื่อให้ได้กลับไปสู่ความสุขของฌานอีก   ถ้าเคยมีความสุขกับการไปเที่ยว ไปโน่นมานี่ เห็นรูป ฟังเสียง ก็จะไปหาสิ่งนั้น  กลับมาเกิดเป็นมนุษย์กี่ครั้ง ก็จะทำอย่างที่เราทำอยู่นี่ ไม่ต้องมีใครสอนเรื่องไปเที่ยว  พ่อแม่ไม่ต้องสอนลูกเรื่องไปเที่ยว  ลูกอาจจะกลับสอนพ่อแม่ด้วยซ้ำไป ว่าที่ไหนมีที่น่าเที่ยว เพราะเป็นเรื่องที่ฝังมากับใจ เป็นเหตุทำให้พวกเรามาเกิด  คือกามตัณหา หรือกามฉันทะ ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย  ที่พาเราเวียนไปอย่างนี้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย กี่รอบๆก็เป็นอย่างนี้   เพราะไม่มีใครสอนให้เราแก้ตัณหานี้   

ก็มีพระพุทธเจ้านี่แหละ ที่ทรงมีปัญหาเหมือนกับพวกเรา  เพียงแต่พระองค์เป็นคนฉลาด ช่างสังเกต  เมื่อศึกษาแล้ว ก็ตั้งจิตตั้งใจจริงๆที่จะแก้ปัญหานี้   จนในที่สุดก็แก้ได้   ก็มีคนเดียวในโลกนี้เท่านั้นแหละ ที่สามารถแก้ปัญหาของการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกนี้ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องมีครู ไม่ต้องมีอาจารย์มาสอน   ที่ไม่มีก็เพราะไม่มีใครรู้นั่นเอง อย่างพวกเรานี้มีอาจารย์ คือมีพระพุทธเจ้า มีพระอริยสงฆ์  จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะมีพระธรรมคำสอนเป็นอาจารย์อยู่แล้ว แล้วก็เป็นไม่ได้ด้วยเพราะบุญบารมีเราไม่ถึง เพียงแต่ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ยังทำกันไม่ได้   แล้วจะไปทำเองได้อย่างไร   มีแผนที่ยังไม่ไปเลย  

ถาม เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องไตรลักษณ์    บอกว่าพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่าทุกขัง อนิจจัง อนัตตา  ถ้าเผื่อไม่มีพระพุทธเจ้าก็รู้แค่ทุกข์อย่างเดียวนะครับ    

ตอบ รู้ทุกข์  รู้อนิจจังกัน  แต่ไม่รู้อนัตตา เลยไม่ครบสาม

ถาม ทีนี้พูดถึงเรื่องของขันธ์ ๕ ที่ประกอบเรื่องกายกับจิตนี่  ส่วนที่เป็นกายกับจิตนี่เข้าใจ  แต่ว่า สัญญา สังขาร วิญญาณต้องประกอบกับกายและจิตรวมกันใช่ไหมครับ ที่จะเกิดขึ้นมาได้

ตอบ นอกจากวิญญาณที่รับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว ก็ยังมีมโนวิญญาณ ที่รับรู้ความคิดปรุงแต่งของจิตเอง สมมุติว่าเราปิดอายตนะทั้ง ๕ ไม่รับรู้เรื่องภายนอกทั้งหมด แต่จิตก็ยังคิดได้ ยังปรุงได้   ยังรับเวทนาที่เกิดจากความคิดของตนเองได้

ถาม  ไม่ต้องอาศัยร่างกาย

ตอบ  ไม่ต้องอาศัยร่างกาย เช่นพวกเทพทั้งหลาย   เวลาที่เรานอน
          หลับไป   เราก็ยังฝัน  ความฝันนี้ก็ออกมาจากนามขันธ์
          ออกมาจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ   เพียงแต่

         รูปที่เห็นไม่ได้เป็นรูปหยาบ แต่เป็นรูปทิพย์ เป็นเสียงทิพย์ 
          เวลาเรานอนหลับ เรายังฝันเห็นโน่น เห็นนี่   เราจะเห็นได้
          อย่างไรในเมื่อเราหลับตา   แต่เห็นด้วยใจ  เห็นด้วยใจก็
          ต้องเห็นด้วยนามขันธ์ คือมโนวิญญาณ  เวลาที่เรานอนหลับฝันดี ก็เหมือนไปสวรรค์   ถ้าฝันร้ายก็เหมือนไปนรก  

            นามขันธ์ไม่ต้องอาศัยร่างกายก็ได้  อย่างพวกเทพนี้ เป็นพวกกายทิพย์ กายละเอียด  ไม่ต้องมีกายหยาบอย่างร่างกายของพวกเรา  พวกเทพ พวกพรหม หรือแม้กระทั่งพวกสัตว์นรก เขาไม่มีกายหยาบ จิตของเขาเป็นจิตที่มีแต่ความรุ่มร้อน ปรุงแต่เรื่องความทุกข์   ถ้าเป็นอสุรกายก็ปรุงแต่เรื่องความหวาดกลัว   ถ้าเป็นเปรตก็ปรุงแต่ความหิวความอยาก   ถ้าสัตว์นรกก็ปรุงแต่ความเคียดแค้นอาฆาตพยาบาท   ทำอะไรไม่ได้ดังใจก็โกรธแค้นโกรธเคือง  กินไม่ได้นอนไม่หลับ   นี่เป็นใจของพวกสัตว์นรก   ความรุ่มร้อนที่เกิดจากความโกรธ

ถาม    วิญญาณที่ยังไม่ได้ไปเกิดก็ถือว่าเป็นอันนี้เหมือนกัน

ตอบ  ความจริงมันเกิดแล้ว เป็นภพภูมิของเขาแล้ว   เป็นนรกแล้ว  นรกไม่ใช่สถานที่  เป็นสภาวะของจิต  จิตเป็นนรกเอง  จิตเป็นสวรรค์เอง   จิตเป็นเทพ  จิตเป็นเปรต  มันเป็นภาวะของจิต ที่เกิดจากการกระทำของสังขาร ที่ถูกอวิชชา ปัจจยา สังขารา เป็นต้นเหตุ   ถ้าอวิชชามืดบอดมาก ก็ปรุงนรกขึ้นมา ถ้าเป็นพวกหวาดกลัวก็ปรุงให้เป็นอสุรกาย  ถ้าเป็นพวกโลภ ก็ปรุงให้เป็นเปรต   ถ้าเป็นพวกที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็ทำให้มาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าเป็นพวกที่มีศีลก็ปรุงให้มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหม   แต่ถ้าเป็นพวกที่มีดวงตาเห็นธรรม  มีวิปัสสนา ก็ปรุงให้ไปเกิดเป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป   ส่วนผู้ที่เป็นอรหันต์แล้ว อวิชชาก็จะกลายเป็นวิชชาไป  เป็นธรรมไป   เพราะอวิชชาก็คือความไม่รู้ในไตรลักษณ์  เมื่อถูกการปฏิบัติธรรมพัฒนาจนอวิชชาถูกทำลายไปหมด  ก็เลยกลายเป็นวิชชา ปัจจยา สังขาราไป  

อย่างจิตของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์มีแต่วิชชา มีแต่ธรรมเป็นตัวผลักดันให้คิด ให้ทำ ให้พูดต่างๆ  ก็จะคิดแต่เรื่องที่ดีที่งาม  ไม่ได้เป็นไปตามความโลภ ความโกรธ ความหลง   ก็ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งต่างๆภายนอกมาให้ความสุข   เพราะจิตของท่านมีพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่างแล้ว  มีของที่ดีกว่าของต่างๆที่จะหาได้ในโลกนี้ ไม่มีอะไรจะวิเศษจะประเสริฐเท่ากับความสุขของจิต  ที่ได้ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว ความสงบมีอยู่ ๒ แบบ   คือความสงบที่เกิดจากการกำราบ ทำให้ความโลภ ความโกรธ ความหลงสงบตัวลงชั่วคราว  เช่นเวลาที่เราทำสมาธิ  ตอนนั้นโลภ โกรธ หลงก็ไม่ทำงาน จิตก็เหมือนกับเป็นนิพพาน แต่เป็นนิพพานแบบที่ยังมีกิเลสสงบตัวอยู่ พอออกจากสมาธิปั๊บกิเลสก็จะออกมาทำงานตามการทำงานของจิต ก็จะเริ่มสร้างความโลภ ความโกรธ ความหลงตามมา   ความสงบอีกแบบหนึ่งคือ ความสงบที่เกิดจากการตัดโลภ โกรธ หลงให้ออกไปเลย ไม่ให้มีเหลืออยู่เลย  พวกนี้เป็นความสงบแบบถาวร   ไม่ต้องเข้าสมาธิก็ได้    ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในอิริยาบถ ๔  ก็จะสงบอยู่ตลอดเวลา   จิตจะไม่หวั่นไหวกับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ   จิตก็จะเฉยๆ นิ่งอยู่เสมอ  เป็นความสงบของพระนิพพาน  

เมื่อทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลงหมดไปจากจิตจากใจแล้ว ก็จะไม่มีอะไรมาสร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายใจ   จะทำได้จะกำจัดได้ก็ต้องกำจัดตัวหลงเป็นหลัก   เพราะตัวหลงเป็นเหตุทำให้โลภ ทำให้โกรธ ความหลงก็คือการไม่รู้ว่าความสุขที่เลิศที่สุดนั้น อยู่ในใจของเรา เหมือนกับเราไม่รู้ว่าเรามีสมบัติเงินทองข้าวของอยู่ในบ้าน  พ่อแม่เก็บไว้ในตู้ แต่ไม่บอกเรา  เราก็ไม่รู้   เราก็ต้องออกไปทำงานทำการ ให้เหนื่อยยาก หาเงินหาทอง  หามาได้เท่าไร ก็นิดเดียว ถ้าเปรียบกับเงินทองที่พ่อแม่มีเก็บไว้ในบ้าน แต่เราไม่รู้  พอสักวันหนึ่งมีคนมาบอกเราว่าไปหาทำไมเศษเงินเศษทอง เงินทองที่พ่อแม่เก็บไว้ให้ในบ้าน มีกองเท่าภูเขา   ทำไมไม่ไปหาในบ้าน  

นี่ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า อย่าไปหาเลยสมบัติภายนอก   มันไม่มีค่าอะไรหรอก   สมบัติภายในใจเรานี้ มันแสนจะวิเศษ ทำไมไม่ไปหากัน นี่คือคุณค่าของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้ทรัพย์ที่แท้จริงให้เราได้รู้จัก เมื่อเราได้ยินได้ฟังแล้วเกิดศรัทธาขึ้นมา เราก็เริ่มปฏิบัติตาม ตัดแล้ว ไม่ไปแล้ว ไม่ไปหาสมบัติข้าวของเงินทอง ความสุขภายนอก สู้นั่งหลับตาทำจิตใจให้สงบ เพื่อพบกับสมบัติอันยิ่งใหญ่ ที่มีอยู่ในใจของเราจะดีกว่า นี่คือการแก้ความหลง ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ในตัวเรา เราก็เลยต้องออกไปหาความสุขภายนอก หาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ  แต่เดี๋ยวนี้มีคนมาบอกเราแล้วว่า  นี่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง   ความสุขที่แท้จริงอยู่ในใจเราต่างหาก   เราจึงต้องพยายามปฏิบัติตาม   ต่อสู้กับความโลภด้วยการให้ทาน   ด้วยการรักษาศีล   ด้วยการภาวนา  ที่เป็นเครื่องมือที่จะสู้กับความโลภได้ 

ความโกรธก็เป็นผลตามมาจากความโลภอีกทีหนึ่ง เวลาเราโลภอยากจะได้อะไร แล้วไม่ได้ดั่งใจ เราก็โกรธ   แต่ถ้าเราไม่โลภ เราจะไม่โกรธ   ใครจะเอาอะไรก็เอาไป   ของชิ้นเดียวกันนั้น ถ้าเราไม่อยากจะได้เสียอย่าง ใครเอาไปเราก็ไม่เดือดร้อน ถ้าเราอยากจะได้ แล้วคนอื่นมาเอาไป เราก็โกรธ  ความโกรธจึงเกิดจากความโลภ   ส่วนความโลภก็เกิดจากความหลง  ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้น มีอยู่ในจิตในใจของเราแล้ว   เราจึงต้องมาตัดมัน   ได้บอกแล้วว่า อย่าไปทำงานเพื่อหาเงินมาเยอะๆ เพื่อมาทำบุญ   แต่ให้ทำบุญด้วยเงินที่มีเหลือใช้  เงินที่เกินความจำเป็น  จะได้มีเวลามาภาวนา   ไปหาเงินหาทอง เป็นการหาเศษหาเดน   ให้กลับเข้ามาหาทรัพย์อันยิ่งใหญ่ ที่มีอยู่ในตัวของเรา   ทุกอย่างสอนไปเพื่อให้เข้าสู่การภาวนา   แทนที่จะเอาเงินไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ ก็เอาไปทำบุญ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยว   เอาเงินไปเข้าวัด   เวลาไปวัดก็ได้ทำบุญ  ได้ภาวนา  รักษาศีล   เพื่อจะได้ดึงใจให้กลับเข้าข้างใน   ให้เข้าหาสิ่งที่ประเสริฐ ที่มีอยู่แล้วในตัวเรา  

ศาสนาพุทธไม่ได้ปิดกั้นใครทั้งสิ้น ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน   ไม่ว่าหญิงไม่ว่าชาย ไม่ว่าเด็กไม่ว่าผู้ใหญ่   ในสมัยพุทธกาลมีพระอริยบุคคลทุกเพศทุกวัย   ทั้งนักบวชทั้งฆราวาส   ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ อยู่ที่ว่าจะมีสัมมาทิฐิหรือไม่  แก้ความหลงได้หรือไม่   ประเด็นมันอยู่ตรงนี้   ถ้าเข้าใจว่าหลงผิด แล้วแก้ได้ ก็ไปเร็ว   ในมรรค ๘ ท่านจึงแสดงสัมมาทิฐิก่อน เพราะเป็นตัวนำ  ถ้ามีมิจฉาทิฐิก็ไปผิดทาง   เช่นเขาบอกทางไปวัดให้กับเรา ให้ไปทางโน้น  พอถึงตรงนั้นให้เลี้ยวขวา แต่เรากลับไปเลี้ยวซ้าย ก็ไปไม่ถึง เพราะไปผิดทาง

ถาม   ความหลงนี้ขจัดยากนะคะ บางทีไม่รู้ว่าหลงค่ะ

ตอบ  ต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังมากๆ ฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะมากๆ เหมือนกับการเรียนหนังสือ  อยากจะมีวิชาความรู้ ก็ต้องไปโรงเรียน  ไปเรียนหนังสือ  เมื่อเรียนแล้วก็จะรู้เอง   แต่ทางศาสนานี้เพียงแต่ฟังอย่างเดียวยังไม่พอ   เมื่อฟังแล้วต้องนำไปปฏิบัติด้วย จึงจะทำให้เกิดผลขึ้นมา   เมื่อรู้แล้วไม่ทำ  แต่กลับไปทำตรงกันข้ามกับที่รู้ ก็เหมือนกับไม่รู้อยู่ดี   รู้ว่าให้ภาวนา ก็ยังจะไปหาเงินมาทำทาน  เป็นข้ออ้างมากกว่า นอกจากจะเอามาทำทานแล้ว ยังเอาไปเที่ยวด้วย

ถาม   ท่านอาจารย์พูดว่าเมื่อได้อัปปนาสมาธิแล้ว ให้ถอยออกมาพิจารณา เดินปัญญาจากตรงนั้นเลย ใช่ไหมคะ

ตอบ     ไม่ได้ให้ถอยออกมา ให้อยู่จนกว่ามันจะถอยออกมาเอง ให้อยู่ให้นานที่สุด  พอออกมาแล้วก็เริ่มคิดเริ่มปรุง ก็เอาความคิดปรุงนั้นมาพิจารณาไตรลักษณ์   พิจารณารูปในเบื้องต้น   พิจารณาร่างกายของเรา  ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย   ร่างกายเรามีอาการ ๓๒  มีรูปร่างอย่างไร  ลักษณะอย่างไรก็พิจารณาไป   มาจากดิน น้ำ ลม ไฟ   ต้องพิจารณาให้เข้าใจว่าเป็นดิน น้ำ ลม ไฟจริงๆ

ถาม   ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔  ให้พิจารณากาย หรือพิจารณาทีละส่วน หรืออย่างไร

ตอบ   ก็เหมือนกับขันธ์ ๕ พิจารณารูป พิจารณากายก็อันเดียวกัน   ในเบื้องต้นเราจะพิจารณาทีละส่วนก่อน   ต้องพิจารณาส่วนหยาบก่อน   พิจารณาร่างกายนี้ให้ชำนาญเลย  เห็นทุกส่วนเลย  เห็นทีไรก็เห็นความแก่ ความเจ็บ ความตายรออยู่แล้ว   เห็นแล้วก็ไม่กลัว   เห็นว่ามันต้องสลายกลับไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ   เห็นว่ามันไม่สวยไม่งาม  เป็นอสุภะ   ถ้าพิจารณาจนเห็นได้ จะได้พระอริยะถึง ๓ ขั้นนะ   ถึงขั้นพระอนาคามีเลย การพิจารณาร่างกายนี้   พระอนาคามีต้องผ่านร่างกายไปก่อน  ต้องตัดกามราคะ คือความยินดีในร่างกายนี้   จะไม่เห็นว่าสวยว่างาม   จะเห็นทะลุปรุโปร่งเข้าไปใต้ผิวหนัง   ปัญญาสามารถทำให้ผิวหนังเป็นเหมือนแก้วใสๆ   หรือพลาสติกใสๆ  เห็นว่ามีอะไรอยู่ข้างในถุงพลาสติก   แต่ถ้าไม่มีปัญญาก็จะไม่เห็นว่าข้างในมีอะไร  ก็จะจินตนาการไปตามที่เห็นภายนอก   เช่นเขาซื้อกระเป๋าสวยๆมาให้เรา  แต่ยัดขยะไว้ข้างใน   เราก็จินตนาการไปว่า ใส่เงินไว้เต็มกระเป๋า   พอเปิดออกมาดู จึงรู้ว่ามีแต่เศษขยะ  

ร่างกายของคนเราก็อย่างนั้น   สวยแต่ภายนอก แต่ข้างในมีสิ่งที่ไม่น่าดูทั้งนั้น   เพียงแต่เราไม่พิจารณา ก็ไม่เห็น   จริงๆต้องผ่านร่างกายไปก่อน   เมื่อพิจารณาไปสักระยะหนึ่งก็จะเกิดความเหนื่อยขึ้นมา  หรือเริ่มไม่ค่อยอยากจะพิจารณา   หรือเริ่มรวนแล้ว ก็หยุดพิจารณา  ย้อนกลับมาพักจิต ทำสมาธิ   สมาธิกับปัญญาต้องสนับสนุนกัน    คือสมาธิเป็นเหมือนที่หลับนอน ที่กินข้าว เหมือนโยมไปทำงานมา ๘ ชั่วโมงก็เหนื่อย   ก็ต้องกลับมาบ้านอาบน้ำอาบท่า กินข้าวแล้วนอน   พอตอนเช้าตื่นขึ้นมามีกำลังวังชาก็ไปทำงานต่อ   การเจริญพิจารณาร่างกายก็แบบนี้   พิจารณาไปเรื่อยๆ  ซ้ำๆซากๆ   เหมือนกับหัดท่องสูตรคูณให้จำได้เลย   พอเห็นปั๊บก็จะปรากฏขึ้นมา   เกิด แก่ เจ็บ ตาย อสุภะ จะตามมาเป็นพรวนเลย  

ถ้าเหนื่อยก็หยุดพัก   กำหนดจิตให้สงบ   เคยบริกรรมพุทโธๆๆ ก็พุทโธๆๆไป ให้นิ่ง   จะนิ่งได้นานเท่าไรก็ปล่อยให้นิ่งไว้   พอพักเต็มที่แล้วก็จะถอนออกมาเอง   พอถอนออกมาแล้ว ก็เอามาพิจารณาร่างกายต่อ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เวลาเห็นร่างกายแล้วเกิดความอยาก  ธรรมะก็จะเข้ามาดับได้ทันที    เมื่อก่อนนี้สู้ความอยากไม่ได้   แต่เดี๋ยวนี้สู้ได้แล้ว    ต่อไปความอยากก็จะไม่มีอำนาจมาหลอก ให้ไปอยากอยู่กับคนนั้น  อยากอยู่กับคนนี้  อยากได้สิ่งนั้น อยากได้สิ่งนี้   ให้กลัวความแก่ ความเจ็บ ความตายอีกต่อไป   ถ้ายังกลัวก็แสดงว่ายังเห็นไม่ชัด   ถ้าเห็นว่าเราต้องตายอย่างแน่นอน  ไม่มีใครจะมาแก้ความจริงนี้ได้   แล้วยอมรับความจริงนี้ได้ ก็จะไม่กลัว   ถ้ากลัวก็ต้องทุกข์  

ถาม     ฉะนั้นเวลาที่พิจารณากาย   ก็พิจารณาเรื่องของความไม่เที่ยงด้วยใช่ไหมคะ

ตอบ     อนิจจังคือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย   ทุกข์คือไปยึดไปติด  ถ้าไม่ไปยึดไปติด ไม่ได้ไปมองว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ทุกข์ก็จะดับไป

ถาม     พิจารณาให้เห็นว่าเป็นอสุภะใช่ไหมคะ

ตอบ     พิจารณาอสุภะก็เพื่อตัดความอยากในรูปของผู้อื่น   ที่เรามีคู่ครองก็เพราะยังเห็นว่าคู่ครองของเราสวยงาม   แต่ถ้าพิจารณาว่าเขามีแต่โครงกระดูก เวลาคู่ครองของเราตายไปแล้ว ให้เราไปนอนด้วย เรากล้านอนกับเขาไหม เราไม่ยอมเห็นเขาในสภาพนั้น   เราพยายามปัดมัน ทั้งๆที่คนเราตายไปใหม่ๆ ร่างกายก็ไม่ต่างกันกับตอนที่ยังไม่ตาย ร่างกายก็อันเดิม   แต่คนตายเพียงวันเดียว ให้เราไปนอนด้วย เราก็ไม่เอาแล้ว  

ถาม     อสุภะก็คืออนิจจังที่เราพิจารณา ก็คืออนิจจังอีกส่วนหนึ่งใช่ไหม

ตอบ     อสุภะคือความไม่สวยงาม   คำว่าสุภะแปลว่าสวยงาม  อะ แปลว่าไม่   ที่เราหลงติดคู่ครอง  ที่เราไปดูหนังดูละคร   ก็เพราะอยากจะดูพระเอก ดูนางเอก   ถ้าเอาผีมาแสดงเป็นพระเอกนางเอก  ก็ไม่มีใครอยากจะดู 

ถาม   ตอนต้นท่านอาจารย์พูดถึงพระพุทธเจ้า เมื่อบรรลุธรรมแล้ว  ท่านไม่ต้องอาศัยกายก็ยังได้  ท่านอาศัยเพียงเพื่อเผยแผ่ศาสนา ๔๕ ปีนะครับ   พระอริยสงฆ์ที่บรรลุธรรมปัจจุบันนี้ ก็คงในสภาพแบบเดียวกันใช่ไหมครับ

ตอบ      แบบเดียวกัน เพราะจิตไม่ต้องการอะไรในโลกนี้แล้ว   ท่านได้สมบัติอันวิเศษไปครองแล้ว   ถ้าเป็นลอตเตอรี่ก็ถูกรางวัลที่หนึ่งแล้ว   เลขท้ายไม่ไปตรวจให้เสียเวลา

ถาม     อย่างนี้ตัวท่านเองก็สามารถที่จะกำหนดให้อยู่ได้นานเท่าไรก็ได้ใช่ไหมครับ

ตอบ     ได้  ถ้าไม่กินข้าว ไม่ถึง ๒ เดือนก็ตายได้   ถ้าไม่หายใจ ไม่กี่นาทีก็ตายได้   แต่ท่านไม่ทำเท่านั้นเอง   ท่านก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ท่านปล่อยวางธาตุขันธ์ ไม่ไปยุ่งกับธาตุขันธ์   แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันจะอยู่แค่ ๘๐ ปี  พระองค์ก็เอาแค่ ๘๐ ปี   แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าต้องการจะอยู่ต่อ ก็พอที่จะรั้งมันไว้ได้   แต่พระองค์ก็ไม่อยากที่จะไปรั้งเอาไว้   ยกเว้นถ้ามีคนขอร้องให้พระองค์อยู่  พระองค์ทรงตรัสให้พระอานนท์ฟังกี่ครั้ง พระอานนท์ก็ไม่เคยทูลขออาราธนาให้พระองค์อยู่   พระองค์ก็เลยทรงคิดว่าเขาคงไม่อยากจะให้เราอยู่แล้ว  เราก็อย่าอยู่เลย  

ถาม     ตอนที่หลวงตาท่านไม่สบายเมื่อหลายปีก่อนนี้   ลูกศิษย์ก็มีแต่อธิษฐานอย่างนี้ ขอให้ท่านอยู่ต่อเพื่อโปรดพวกเรา   ท่านก็บอกว่าท่านจะอยู่ได้เท่าที่ท่านอยู่ได้   ท่านใช้คำนี้

ตอบ     ก็ทำให้ท่านมีกำลังจิตกำลังใจ   ที่ยังทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้   ไม่ได้อยู่เพราะบังคับให้เขามาฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะเขาได้รับประโยชน์จากท่านจริงๆ   มันก็ทำให้ท่านพยายามตะเกียกตะกาย  คอยดูแลรักษาธาตุขันธ์ ซึ่งเป็นเหมือนกับรถยนต์  จะเก่าขนาดไหนถ้ายังใช้ได้ ก็ใช้ไป ดูแลรักษาซ่อมแซมไป   เปลี่ยนเครื่องใหม่บ้าง ปะผุบ้าง ก็ยังพอวิ่งได้อยู่   ร่างกายก็เหมือนกัน  เพียงแต่ว่าท่านมีขอบเขตในการรักษา   อย่างหลวงตาท่านคงไม่เข้าโรงพยาบาลไปเปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนตับ เปลี่ยนไต ท่านคงไม่ทำ   เพียงแต่รักษาไปตามอัตภาพของมัน  การดูแลรักษาร่างกายก็มีส่วนทำให้อายุยืน ถ้าไม่ดูแล ปล่อยปละละเลย ไม่ออกกำลังกาย  รับประทานอาหารก็รับมากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่อารมณ์  ร่างกายไม่ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเสื่อมเร็ว  แต่ถ้าพยายาม วันไหนไม่อยากจะรับประทาน ก็ยังฝืนรับประทานไปตามปกติ   ถึงเวลาจะต้องออกกำลังกาย เดินจงกรม ก็ทำตามปกติ ร่างกายก็สามารถอยู่ไปได้นาน  

สังเกตดูคนบางคน  เวลาไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะอยู่แล้ว  ทั้งๆที่ร่างกายยังไม่เป็นอะไรเลย ก็ยังปล่อยให้ตายไปได้   เช่นสามีภรรยาที่เคยอยู่ด้วยกัน รักกันมาตลอด   พอคนใดคนหนึ่งตายไป  อีกคนหนึ่งอยู่เพียงปี ๒ ปี ก็ตายตามไปก็มี    เพราะไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป ก็เลยไม่สนใจกับการดูแลรักษาร่างกาย   จะกินจะนอนจะออกกำลังกาย ก็ปล่อยไปตามอารมณ์   อยากจะทำก็ทำ ไม่อยากจะทำก็ไม่ทำ   ถ้าอย่างนั้นก็ไปเร็ว   แต่สำหรับจิตใจของผู้ที่หลุดพ้นแล้ว ท่านไม่ได้ถือว่าเป็นสาระสำคัญสำหรับตัวท่านเองที่จะอยู่หรือไป  เพียงแต่เห็นคุณค่าของธรรมะที่ทำให้ท่านได้ถึงจุดนี้   แล้วเสียดายที่ผู้อื่นจะไม่มีโอกาสรับธรรมะนี้   ถ้าท่านไม่เสียสละ  ไม่เอามาเผยแผ่ บางทีท่านไม่เผยแผ่ ก็ไม่ใช่เพราะท่านไม่มีความเมตตา   แต่เห็นด้วยปัญญาว่า  คนที่อยากฟังไม่มี  คนที่จะรับไม่มี   เพราะโลกเราบางครั้งบางเวลาก็อยู่ในยุคมืด  คือมืดทางด้านธรรมะ แต่เจริญทางด้านวัตถุ 

อย่างทุกวันนี้โลกเรากำลังมืดทางด้านศีลธรรม  แต่กำลังเจริญด้วยวัตถุข้าวของเงินทอง มีสิ่งต่างๆทางด้านวัตถุเยอะไปหมด  ไปไหนมาไหนสะดวกสบาย แต่ใจของเราเป็นอย่างไร มีแต่ความรุ่มร้อน  มีแต่อารมณ์   เวลาขับรถก็จะปาดกันไปปาดกันมา เบียดกันไปเบียดกันมา  ไม่มีความเมตตาต่อกันเลย   ต่างคนต่างเบียดกัน  ต่างคนต่างแย่งกันไป  นี่แสดงถึงความตกต่ำของจิตใจ   ความเจริญทางด้านวัตถุมักจะไปคนละทางกับศีลธรรม   ถ้าเจริญทางด้านวัตถุ ศีลธรรมก็จะเสื่อม  ถ้าศีลธรรมเจริญ เรื่องวัตถุจะไม่ค่อยเจริญเท่าไร  เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีวัตถุมากมายขนาดนั้น  ที่จำเป็นก็คือปัจจัยสี่เท่านั้นเอง   ที่ในหลวงทรงตรัสสอนอยู่เสมอว่าเศรษฐกิจพอเพียง   คือพอกับการดำรงชีพ  

ไม่จำเป็นจะต้องมีรถ ๒ – ๓ คัน   ไม่จำเป็นจะต้องมีเพชรนิลจินดา เครื่องประดับประดา พอมีแล้วก็เกิดความหวงแหน เกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมา   เกิดความหวาดระแวงคนอื่นไปหมด   กลัวคนอื่นจะมาแย่งชิง มาขโมยไป ทำให้ไม่กล้าสนิทสนมกับใคร กลัวจะเสียสมบัติข้าวของเงินทอง ใจเลยแคบ กลายเป็นคนใจแคบไป คนที่ไม่มีสมบัติเงินทองจะเป็นคนใจกว้าง อย่างพระนี่ใจกว้าง ใครจะมาเมื่อไรก็ได้เพราะไม่มีอะไรจะให้เขา มีแต่ธรรมะ เขาก็ไม่เอาอยู่แล้ว  บางคนไม่ค่อยอยากจะฟังธรรมะ  ถวายทานเสร็จก็ไปแล้ว เดี๋ยวหลวงพ่อจะได้พักผ่อน  วันนี้ก็พูดธรรมะอย่างสบายๆนะ ไม่ต้องเครียดมาก  ไม่ต้องหนักแน่นจนเกินไป 

ถาม  ท่านอาจารย์ครับ เวลาภาวนานี่ เป็นปัญหามากสำหรับเราก็คือตัวนิวรณ์  ตัวแห่งความฟุ้งซ่านนี่ มันเป็นปัญหามาก  ทำให้มันไม่ลงสักที   

ตอบ     มันเหมือนกันทุกคน   อยู่ที่เราจะมีความพยายามมากน้อยเพียงไรมากกว่า   ถ้ามีอิทธิบาท ๔   มีฉันทะความพอใจ ความชอบใจที่จะทำแล้ว วิริยะความขยันหมั่นเพียรก็จะตามมา ความอดทนจะตามมา   ความยากก็ยากเหมือนกันทุกคน  แต่ถ้ามีความพยายาม  มีความอดทนแล้วเดี๋ยวความยากก็กลายเป็นความง่ายเอง   มันยากตอนเริ่มต้น  พอทำไปได้แล้ว ก็จะมีตัวผลักดันให้ไปได้เรื่อยๆ    สิ่งที่เราขาดก็คืออิทธิบาท ๔ เป็นหลัก   ขาดฉันทะความยินดี   ขาดวิริยะความเพียร  เวลาให้นั่งสมาธิไม่ค่อยยินดีเหมือนกับเวลาไปเที่ยว ไปเที่ยวนี่มันง่ายกว่านั่งสมาธิ   เหมือนกับเดินขึ้นเขากับเดินลงเขา  เดินขึ้นเขามันยากมันเหนื่อย   ถ้าไม่พยายามจริงๆ จะไปไม่ถึงยอด   คนโบราณจึงเชื่อกันว่า เวลาเดินขึ้นไปกราบพระพุทธบาทที่ต้องขึ้นบันไดหลายร้อยขั้น จะได้บุญมากๆ คือบุญที่เกิดจากวิริยะ  ความเพียรพยายาม 

            การทำสิ่งที่เราไม่ชอบ จะรู้สึกยาก ใจเราไม่ค่อยชอบทำเรื่องบุญเรื่องกุศลสักเท่าไร แต่ถ้าเป็นเรื่องอกุศลเรื่องเที่ยวแล้ว เราจะชอบกัน เราจึงต้องฝืนทำไปก่อน เมื่อทำได้ผลแล้ว ก็จะมีความพอใจที่จะทำให้มากยิ่งๆขึ้นไป  เหมือนกับเวลาทำมาค้าขาย   ถ้ามีแต่ขาดทุน ก็ไม่อยากจะทำ ไม่ได้กำไรก็ท้อแท้  แต่ถ้าได้กำไรก็จะมีกำลังจิตกำลังใจ การปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ถ้าทำไปแล้วไม่เห็นผลเลย  ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ทำไปสักพักก็หมดกำลังใจ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะไม่เข้าใจว่า การทำบุญนี้ทำเพื่ออะไร ถ้ารู้ว่าทำเพื่อความสงบสุขของใจ ผลที่แท้จริงควรสัมผัสได้ด้วยใจของเรา  แต่บางทีเราไม่รู้  เราคิดว่าเราควรจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้กลับมา  คิดไปถึงชาติหน้าภพหน้าโน่น มันก็ไกลเกินไป แล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้จริงหรือไม่  

แต่ถ้าเรามองที่ปัจจุบันคือที่ใจของเรานี้ เราจะเห็น ถ้าเราสังเกต  ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เช่นเราเสียสละอะไรให้กับใครด้วยความเมตตาจริงๆ  เห็นคนอื่นเขาเดือดร้อน  ไม่มีข้าวกิน  แล้วเรามีข้าวอยู่จานหนึ่ง  เราเกิดสงสารเขาจริงๆ   เลยยอมอดข้าว  สละข้าวจานนั้นให้เขาไป   ตอนนั้นแหละเราจะได้สัมผัสกับความสุขที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา  จะมีความรู้สึกภูมิใจ  มีความสุขใจ   ที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุขบ้าง เราก็กินมาหลายมื้อแล้ว แค่เสียสละมื้อเดียวไม่ตายหรอก  ถ้าคิดอย่างนี้  ทำแบบนี้ จะเห็นว่า ผลที่แท้จริงมันอยู่ที่ใจเราเป็นหลัก   ส่วนเรื่องอนาคตชาติหน้าภพหน้า มันจะเป็นอย่างไร จะไม่ค่อยสนใจเท่าไร จะสนใจกับการกระทำที่ทำให้เกิดความสุขขึ้นมา  

ถ้าพิจารณาจะเห็นว่า ระหว่างเอาเงินก้อนหนึ่งไปเที่ยว กับเอาไปช่วยเหลือคนอื่น จะเห็นว่าการไปช่วยเหลือคนอื่นมีคุณประโยชน์กว่าการไปเที่ยว  ไปเที่ยวก็สนุกเดี๋ยวเดียว  แล้วก็ผ่านไป  แล้วก็สร้างความอยากเที่ยวขึ้นมาอีก ถ้าไม่มีเงินก็จะเดือดร้อน   แต่ถ้าเราเอาเงินก้อนนี้ไปช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น  ความอยากไปเที่ยวก็จะถูกตัดไปโดยปริยาย คราวหน้าก็ไม่คิดอยากจะไปเที่ยวอีก   ทำบุญแล้วมีความอิ่มเอิบใจ  มีความสุขใจ  จะเข้าใจว่าการทำบุญให้ทานก็เพื่อตัวเราอย่างแท้จริง   เป็นการสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเป็นการระงับความอยากที่จะคอยฉุดกระฉากลากเรา ให้ไปวุ่นวายกับการหาเงินหาทอง เพื่อเอามาใช้ตามความอยากอีก 

เมื่อทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปจะไม่มีความอยากมากดดันให้ต้องไปเสียเงินเสียทอง เมื่อไม่ต้องเสียเงินเสียทอง ก็ไม่ต้องไปวุ่นวายกับการหาเงินหาทองมามากจนเกินไป จะมีเงินทองพอมีพอใช้  เมื่อก่อนนี้หามาได้เท่าไรก็ไม่พอใช้ เพราะความอยากมารอรับไปแล้ว เงินเดือนยังไม่ทันออกเลย รู้แล้วว่าต้องเอาไปใช้ที่ไหนบ้าง   แต่ถ้าไม่มีความอยากแล้ว พอเงินเดือนออก ก็จะต้องถามตนว่าเอาไปทำอะไรดี เอาไปทำบุญดีกว่า พอเอาไปทำบุญก็มีความสุขใจ ใจจะสงบ ก็จะทำให้เข้าสู่การรักษาศีล   เพราะคนที่เสียสละ ให้ความสุข  ให้ประโยชน์กับผู้อื่น เวลาอยากจะได้อะไร ก็จะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้อื่น ถ้าไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็ไม่อยากจะได้ ต้องหาโดยวิธีที่ไม่สร้างความเดือดร้อน เป็นการตั้งอยู่ในศีลธรรมนั่นเอง ไม่ไปแก่งแย่งชิงดี ให้คนอื่นต้องมาวุ่นวายกับเรา  ถ้าเขาอยากจะได้ก็ให้เขาไป  เราไปหาอย่างอื่นก็ได้   เราไปทำที่อื่นก็ได้   ก็ทำให้เป็นคนมีศีลขึ้นมา  จิตก็จะสงบมากยิ่งขึ้น   

เพราะคนที่มีศีลจะไม่วุ่นวาย ไม่ต้องไปกังวลกับการก่อกรรมก่อเวรกับคนนั้นคนนี้  ก็จะเห็นว่าการมีศีลทำให้มีความสุข   ให้ทานก็มีความสุข   ยิ่งถ้าได้ภาวนาก็ยิ่งมีความสุขใหญ่    ถ้ายังไม่เคยภาวนาก็จะลองภาวนาดู  เมื่อภาวนาแล้วไม่นานก็จะได้ผล   ถ้าจิตมีทานมีศีลแล้วจะง่าย  เพราะมีเครื่องสนับสนุน   เหมือนกับเราได้เรียนอนุบาลแล้ว ได้เรียนชั้นประถมแล้ว จะขึ้นชั้นมัธยมก็ง่ายเพราะได้ผ่านมาแล้ว  ถ้ายังไม่เคยเรียนชั้นอนุบาล  ยังไม่เคยเรียนชั้นประถม  ก็จะเรียนชั้นมัธยมไม่ได้หรอก    ถ้ายังตระหนี่ถี่เหนียว   ยังเสียดาย อยากจะไปเที่ยว ไปกิน ไปเล่นอยู่   ศีลก็จะรักษาไม่ค่อยได้ ยังอดที่จะโกหกหลอกลวงคนโน้นคนนี้ไม่ได้   ยังอดที่จะโกงเขาไม่ได้ อย่างนี้จะภาวนาได้อย่างไร มีแต่ความวุ่นวายส่ายแส่อยู่ตลอดเวลา  จึงต้องทำบุญทำทานรักษาศีลก่อน แล้วจึงค่อยภาวนา   แต่ก็ไม่ต้องทำไปทีละขั้น ทำควบคู่กันไปเลยก็ได้   มีอะไรให้ทานได้ก็ให้ไป ศีลก็รักษาไป  ภาวนาก็ภาวนาไป แต่ต้องมีทานมีศีลด้วย 

คนที่ภาวนาได้เร็วก็เพราะเขามีทานมีศีลอยู่แล้ว ไม่มีความโลภอยากจะได้อะไรมากมาย  พอมีพอกิน  ถึงแม้ไม่มีเงินทองมากก็ยังให้ทาน ถ้าเป็นพระก็ไม่ได้ให้ทานแล้ว เวลาออกบวชก็สละหมดแล้ว   สละโอกาสที่จะร่ำรวยก็สละไปแล้ว   ไม่ไปแสวงหาเงินหาทองอีกต่อไป แล้วก็หันมารักษาศีลให้บริสุทธิ์  ภาวนาให้เกิดสมาธิและปัญญา ศีลเป็นเครื่องสนับสนุนสมาธิ สมาธิสนับสนุนปัญญา  ปัญญาสนับสนุนให้จิตหลุดพ้น   เป็นขั้นเป็นตอนไป  ถ้ามีทาน มีศีล มีสมาธิ ไม่มีปัญญาก็ไม่หลุดพ้น   ก็ได้แต่ทำจิตให้สงบ  ทำให้กิเลสสงบตัวลง แต่ไม่ตาย เหมือนกับหินทับหญ้า  กล  และเราได้เรียนชั้นปฐม  พอสมาธิเสื่อมไป   กิเลสก็ออกมาแสดงตัวอีก 

ต้องอาศัยปัญญา คือไตรลักษณ์นี่แหละ  เวลาอยากจะได้อะไรก็พิจารณาว่าเอาไปทำไม เดี๋ยวก็ต้องทุกข์กับมัน ได้อะไรมาแต่ละอย่าง  สมบัติแต่ละชิ้น ก็ต้องคอยดูแลรักษา  ก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง  เวลาเสียไปหายไปก็เป็นความทุกข์อีกอย่างหนึ่ง   เป็นความทุกข์ทั้งนั้น ถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าไปเอามา ถ้ามีความจำเป็นเพราะต้องเอามาทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ก็ไม่เป็นไร ก็ใช้มันไป ดูแลรักษาไป เสียก็ซื้อใหม่ได้ เพราะเป็นตัวสร้างรายได้ให้กับเรา   แต่ถ้าเป็นตัวที่มาสร้างรายจ่ายให้โดยถ่ายเดียว เอามาทำไม  เช่นโทรศัพท์มือถืออย่างนี้  เสียเงินซื้อแล้วยังต้องเสียค่าโทรอีก  ในเมื่อเราใช้โทรศัพท์บ้านก็ได้   โทรศัพท์หยอดเหรียญก็ได้  สบายกว่าตั้งเยอะแยะ   แต่ก็อดไม่ได้ เพราะความหลงความอยาก  คิดว่ามีแล้วเท่ มีความสุข   แต่พอมีแล้วก็เดือดร้อนคุณพ่อคุณแม่ เพราะยังหาเงินเองไม่ได้

ถาม     ท่านอาจารย์คะ  ทำบุญทำทานที่ท่านอาจารย์พูดนะคะ  มีใครจดไหมคะว่าคนนี้ทำบุญเท่าไร  เป็นสัดส่วนกับเงินเดือนรายได้อะไรอย่างนี้   มีคนดูไหมคะ คนนี้ทำบุญเยอะแล้ว  คนนี้ทำบุญน้อยกว่า ถ้าเปรียบเทียบตามรายได้ อะไรอย่างนี้ค่ะ

ตอบ  ไม่มีคนดูหรอก  มันเป็นธรรมชาติ เป็นหลักของกรรม  เป็นสิ่งที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ  พูดง่ายๆ เหมือนกับฝนตก 

ถาม   สมมุติว่าคนนี้เขามีรายได้เท่านี้  เขาทำบุญเท่านี้    กับคนนี้เขามีรายได้เท่านี้  เขาทำบุญเท่านี้   ใครทำบุญมากกว่าอย่างนี้

ตอบ  มันมีผลกระทบที่จิตใจของคนนั้นเอง  เหมือนคนมีเงินล้าน  มีเงินเดือนๆละล้าน แต่ทำบุญแค่พันเดียว จะไม่กระเทือนใจ   เมื่อไม่กระเทือนใจก็ไม่อิ่มเอิบใจ แต่คนที่มีเงินเดือนหมื่นแต่ทำพันนี่มันรู้สึกกระเทือนใจเขามากกว่า   เพราะฉะนั้นคนที่มีมากก็ต้องทำมาก  ถ้าจะให้มีความสุขจากการกระทำก็ต้องทำมาก  เปรียบเหมือนกับช้าง ที่ต้องกินข้าวหลายถังถึงจะอิ่ม   แต่หนูกินข้าวแค่ช้อนเดียวก็อิ่ม ฐานะการเงินจึงบังคับให้คนที่มีมากต้องทำมาก   จึงจะเกิดความอิ่มเอิบใจ โดยปกติคนที่มีมากก็ทำมากกว่าคนที่มีน้อยอยู่แล้ว นอกจากคนที่ทำไปสักแต่ว่าทำ เพื่อไม่ให้เสียหน้า ไม่ได้ทำไปด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ทำเพื่อบุญ  ทำเพื่อสังคม  เพื่อไม่ให้เสียหน้า ทางศาสนาคริสต์เขาแนะนำว่าควรจะทำ ๑๐ เปอร์เซ็นต์   ถ้ามีเงินเดือนหนึ่งแสนบาท ก็ทำสักหมื่นบาท   ถ้ามีล้านก็ทำสักแสน  นี่อย่างต่ำนะ   ถ้าอยากจะได้บุญเยอะๆ มีความสุขเยอะๆ บางทีมีล้านก็ให้ทั้งล้านเลย อย่างนี้ได้ความสุขเยอะ  

ถาม   แล้วเราจะกินอะไรคะ

ตอบ  ก็มาบวชเป็นพระ  หลวงตาท่านได้เท่าไรท่านก็ทำเท่านั้น   ท่านไม่เก็บไว้เลย 

ถาม   ต้องไม่ให้เดือดร้อนกับตัวเองด้วยใช่ไหมคะ

ตอบ    ใช่  ส่วนหนึ่งก็ต้องดูแลตัวเรา   การดูแลตัวเราก็เป็นการทำบุญด้วย  แต่เราก็ไม่ต้องทำบุญถึงล้านบาท   เราไม่ต้องดูแลตัวเราเองถึงล้านบาท 

ถาม   บางทีใช้จ่ายในการดูแลตัวเองมากไปหรือเปล่าไม่รู้

ตอบ     ก็เป็นได้ บางทีก็ฟุ่มเฟือย ชอบใช้ของแพงๆ แทนที่จะซื้อสบู่ก้อนละ ๑๐ บาทก็ซื้อก้อนละ ๑๐๐ บาท มันก็เป็นสบู่เหมือนกัน   ทำหน้าที่เหมือนกัน   แต่ต้องมียี่ห้อหรือต้องมาจากฝรั่งเศส  ถ้าใช้น้อยเราก็มีเงินเหลือไปทำบุญเยอะ ทำให้จิตใจเรามีความสุขเยอะขึ้น ทำให้ความอยากใช้เงินน้อยลงไปอีก ทำให้เราพัฒนาความสุขในใจให้มีมากยิ่งขึ้นไป   ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริงต้องทำบุญเยอะๆ  อย่าไปหาความสุขทางร่างกาย ทางโลก  หาเท่าที่จำเป็น  นักปฏิบัติธรรมท่านก็สอนให้อยู่แบบง่ายๆอยู่แล้ว  มีชุดขาว ๒ ชุดก็อยู่ได้แล้ว  สลับกันใส่ ชุดนี้ใส่ ชุดนั้นก็เอาไปซัก   นอนกับพื้นไม้   ปูเสื่อนอนก็พอแล้ว  กินก็ง่ายๆ  กิน ๒ มื้อก็อยู่ได้เหมือนกัน   คนกินข้าวมื้อละ ๕๐ บาทกับคนกินข้าวมื้อละ ๕,๐๐๐ บาทก็อิ่มเหมือนกัน   แล้วมันก็ผ่านไปเหมือนกัน  แต่ความสุขของคนที่กินข้าว ๕๐ บาทมีความสุขกว่า เพราะไม่มีความกดดันที่จะต้องไปหาเงิน ๕,๐๐๐ บาทมาเลี้ยงตัวเอง  

ยกเว้นถ้าเป็นคนมีบุญวาสนามาเกิดบนกองเงินกองทอง อยู่กับพ่อแม่ที่กินอาหารแบบนี้ก็กินไป  แต่ก็อาจจะเป็นตัวคอยเหนี่ยวรั้งเราไว้ก็ได้  เพราะถ้าอยากจะแสวงหาความสุขทางจิตใจ  ก็ต้องมาอยู่แบบเรียบๆง่ายๆ   ถ้าไม่เคยก็อาจจะอยู่ไม่ได้   เกิดมาชาตินี้ได้พบศาสนาพุทธแต่ก็ไม่ได้รับประโยชน์ เพราะเกิดเป็นมหาเศรษฐี  เสียดายทรัพย์ เสียดายความสุขทางโลกที่ตนเองได้แสวงหามา นอกจากคนที่ได้บำเพ็ญมาแล้วมากๆ อย่างพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะไม่ติดพันกับความเป็นมหาเศรษฐี  ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน   ในสมัยนี้มีพระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนบ้างที่สละราชสมบัติออกบวช  เพราะมีบุญบารมีไม่มากเท่ากับพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงสะสมมา จึงยังติดอยู่กับความสุขทางโลก ที่มีพร้อมบริบูรณ์

แต่พระพุทธเจ้ากลับไม่ได้ทรงมีความอาลัยอาวรณ์เลย   เพราะทรงมีสมาธิมาแต่เดิมแล้ว ในพระพุทธประวัติทรงตรัสไว้ว่า เคยประทับอยู่ใต้ต้นไม้ในวันที่มีพิธีแรกนาขวัญ  คนอื่นเขาไปทำพิธีกรรมต่างๆ ทรงประทับอยู่พระองค์เดียว จิตก็เลยรวมลงเป็นความสงบขึ้นมา  เพราะบุญเก่าที่ทรงได้บำเพ็ญมา จึงทำให้จิตรวมลง ทรงมีความสุขมาก  ดีกว่าความสุขที่ได้จากการดื่ม การกิน การเสพกามรสต่างๆ  จึงไม่รู้สึกเสียดาย  สละออกบวชไปอยู่แบบขอทานได้อย่างสบาย  จากในวังไปอยู่เป็นขอทาน  คิดดูสิจาก ๑๐๐ ลงมาเหลือแค่บาทเดียวเท่านั้น  พระองค์ก็ทรงอยู่ได้   คนที่ได้ทำบุญไว้มากๆ  พอรวยแล้วก็ต้องมีปัญหามาแก้ทีหลัง  

ถาม   อาจจะเป็นเพราะเขามีทาน มีศีล แต่ไม่ได้ภาวนาใช่ไหมครับ ก็เลยออกมาเป็นลักษณะนั้น

ตอบ  ก็คงจะเป็นอย่างนั้น  ถ้ามีสมาธิอยู่แล้ว คงจะไม่ติดกับความสุขทางด้านรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีก็มีไป  แต่พอถึงเวลาที่จิตใจเรียกร้องหาความสุขทางด้านจิตใจแล้ว ก็จะคอยมากระตุ้นให้ไปหาความสุขอย่างนั้น   อย่างอาตมาเมื่อก่อนก็เคยมีความสุขกับการดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยว  แต่ในใจลึกๆก็ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่อยากจะได้  คือความไม่วุ่นวายใจ  ความสบายใจ  ไม่ต้องคอยหาเงินหาทองมาบำรุงบำเรอ  โชคดีได้หนังสือธรรมะมาอ่าน   ได้ยินได้ฟังเรื่องภาวนา  พอเริ่มภาวนาดู ก็ไปได้เรื่อยๆ   เพราะอาจจะมีพื้นเก่าอยู่แล้ว  จิตใจเรียกร้องอยู่แล้ว  พอได้ก็เหมือนกับมาประสานกัน มาเชื่อมกัน มันก็ไปของมัน  พอเริ่มภาวนาแล้วเรื่องเที่ยว เรื่องอะไรก็ไม่ได้สนใจ  มีแต่คิดจะหาที่สงบเงียบ ไปนั่งภาวนาให้มากๆ   

ถาม   การที่สติเราจะตั้งมั่นอยู่ตลอด เราต้องปฏิบัติให้มากขึ้น   

ตอบ  ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย  ต้องฝึกตั้งสติตั้งแต่ตื่นขึ้นมา จะทำอะไรให้รู้กับการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถเลย   เช่นพอตื่นขึ้นมา จะลุกขึ้นก็ให้รู้ว่ากำลังลุก  ยืนก็รู้ว่ากำลังยืน  เดินก็รู้ว่ากำลังเดิน  กำลังทำอะไรก็รู้ว่ากำลังทำอะไร  ให้อยู่กับปัจจุบัน  อย่าไปคิดว่ากี่โมงแล้ว ต้องรีบไปทำงาน  เวลาแต่งหน้าแต่งตัว  อาบน้ำอาบท่าบางทีก็ทำอะไรผิดๆถูกๆ ลืมปิดหน้าต่าง ลืมปิดประตู แสดงว่าไม่มีสติ  ไม่ได้อยู่กับการทำงานในปัจจุบัน มัวแต่ไปคิดว่า ตายแล้วเดี๋ยวไม่ทัน อย่างโน้นอย่างนี้  นัดกับคนโน้นคนนี้ไว้  จะคิดไปเรื่อยเปื่อย  ต้องระงับตัดความคิดเหล่านั้นออกไป   ถึงแม้จะคิดปั๊บก็ตัดออกไป  ว่าเออตอนนี้ต้องทำอย่างนี้ก่อน  ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดก่อน  จะทำอะไรก็ทำให้เป็นขั้นเป็นตอน  ให้จิตรับรู้อยู่ทุกขั้นทุกตอนไป  ไม่ใช่กายทำไปจิตก็คิดเรื่องอื่นไป อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ แสดงว่าไม่สามารถควบคุมใจได้ ใจไหลไปตามเรื่องต่างๆ  ต้องดึงกลับมา  

การฝึกนี้เพื่อเหตุผลอันเดียวเท่านั้น คือควบคุมจิตให้ได้ ให้ทำตามคำสั่งของเราให้ได้  เมื่อควบคุมได้แล้ว  ต่อไปให้อยู่กับพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ  ไม่ไปคิดเรื่องอื่น   ถ้าอยู่กับพุทโธจิตก็จะรวมลง เมื่อจิตไม่ได้คิดเรื่องอะไร อารมณ์ต่างๆก็จะสงบตัวลง   จิตก็จะรวมลงได้ ถ้านั่งบริกรรมพุทโธๆๆโดยไม่มีสติเป็นชั่วโมง ก็จะไม่สงบ   พอพุทโธๆๆได้ ๒ คำก็ไปแล้ว  เดี๋ยวก็กลับมาพุทโธๆๆอีก ๒ คำ ก็ไปอีก  ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะท้อ  นั่งไปเท่าไรก็ไม่ได้ผลสักที  ก็เลยไม่มีความดูดดื่มใจ   แต่ถ้าอยู่กับพุทโธๆๆเพียง ๕ นาที ก็รวมลงได้นะ   ถ้าไม่ไปคิดเรื่องอะไรเลย   ท่องพุทโธๆๆไป  เดี๋ยวก็รวมลง   พอรวมลงแล้ว มันคุ้มค่ามันวิเศษจริงๆ   ที่รวมไม่ได้ ก็เพราะดึงให้อยู่กับพุทโธๆๆเพียง ๑๐ วินาที ยังไม่ได้เลย ถ้าไม่มีสติ ก็ทำไม่ได้  อยากจะทำก็ทำไม่ได้  ทั้งๆที่ฟังแล้วก็รู้สึกว่าง่ายนะ เพียงแค่ ๕ นาทีให้อยู่กับพุทโธๆๆอย่างเดียว ก็ทำไม่ได้  เพราะไม่มีสติคอยดึงไว้   สติเป็นเหมือนสมอเรือ   อยากจะให้เรือจอดนิ่ง ก็ต้องทอดสมอ น้ำก็จะพัดเรือไปไม่ได้   เพราะมีสมอคอยดึงให้อยู่กับที่ จิตของเราก็เหมือนกัน ต้องมีสติจึงจะอยู่กับที่ได้   ถ้าไม่มีสติแล้ว เดี๋ยวก็ถูกอารมณ์เรื่องนั้นเรื่องนี้พัดไป  พอคิดถึงเรื่องนั้นก็คิดต่อไปเลย กำลังทำอะไรอยู่ก็ไม่สนใจ  นั่งกินข้าวอยู่ก็คิดถึงเรื่องงานเรื่องการที่ต้องทำ เดี๋ยวก็แวบกลับมา เดี๋ยวก็แวบไปอีก 

ถาม   ใช้วิธีพุทโธที่ถี่ๆนี่จะได้ประโยชน์กว่าไหมครับ   ถี่ไว้มันจะได้ไม่มีช่องว่าง

ตอบ     ก็แล้วแต่กรณี เวลาง่วงนอน ก็ถี่หน่อย ถ้าจิตจะแวบไป ก็ให้ถี่ขึ้นก็ได้ ถ้าไม่มีสติจะถี่หรือไม่ ก็ยังแวบไปได้อยู่นั่นแหละ จึงต้องฝึกสติอยู่ดี หนีไม่พ้น ถ้าไม่ฝึกสติแล้ว ไม่มีทางที่จะภาวนาให้ได้ผลดีได้ ถ้าคิดว่าจะตั้งสติตอนที่นั่งสมาธิอย่างเดียว จะไม่ค่อยได้ผลเท่าไร แต่ถ้าฝึกตั้งสติตลอดเวลาเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สถานที่ใด  ทำอะไรก็มีสติอยู่เสมอ  คำว่าสติก็คือให้อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้   อยู่ในปัจจุบัน  อย่าไปคิดเรื่องอดีต  เรื่องอนาคต  เรื่องใกล้เรื่องไกล  ให้อยู่ตรงนี้  ทำอะไรอยู่ก็ให้อยู่ตรงนี้ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น ตอนนี้ฟังก็ฟังอย่างเดียว อย่าไปคิดเรื่องอื่น  ก็จะได้ประโยชน์  ถ้าฟังไปคิดไป เรื่องก็ไม่ติดต่อกัน ขณะที่ฟังแล้วไปคิดเรื่องอื่น   เรื่องที่กำลังฟังอยู่ก็เข้าไปในหู  แต่ไม่เข้าไปในใจ   มันก็ไม่รู้เรื่อง  ก็เลยไม่เข้าใจว่า เมื่อสักครู่พูดเรื่องนั้นแล้วมาต่อเรื่องนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่มีสติก็บังคับไม่ได้  ก็อดคิดไม่ได้  ต้องไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้จนได้

แต่ถ้าได้ฟังธรรมะของคนฉลาดและเก่งที่น่าสนใจ ก็ช่วยเราได้ ถ้าฟังธรรมะของคนที่พูดไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วก็เบื่อ การฟังธรรม ผู้แสดงก็มีส่วนที่จะช่วยได้   ถ้าเป็นการแสดงที่เต็มไปด้วยเหตุด้วยผล  เป็นปัจจุบันทันด่วน สามารถเอามาใช้กับชีวิตของเราได้ จะช่วยได้เยอะ  ถ้าใช้ราชาศัพท์ ก็จะฟังไม่รู้เรื่อง   อย่างอาตมานี้ ได้ธรรมะเพราะได้อ่านฉบับภาษาอังกฤษ   ซึ่งไม่มีพวกราชาศัพท์   eat  ก็ eat ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือจะเป็นคนขอทานก็ eat เหมือนกัน   ฟังแล้วเข้าใจง่ายดี  พอมาอ่านราชาศัพท์แล้วงง  เพราะอาตมาไม่ได้ศึกษามาก่อน ถ้าเราชำนาญภาษาอังกฤษ  อ่านหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษจะเข้าใจง่ายกว่า  อย่างตอนที่อาตมาฝึกใหม่ๆ ก็ท่องมหาสติปัฏฐานสูตรที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ท่องได้ทั้งสูตรเลย  เวลานั่งสมาธิก็ท่องสูตรนี้ไปก่อน

ตอนต้นก็นั่งสมาธิไม่ได้ จึงต้องอาศัยการท่องมหาสติปัฏฐานสูตรที่แปลเป็นภาษาอังกฤษไปก่อน ใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาที นั่งไปก็ท่องพระสูตรนี้ไป พิจารณากาย พิจารณาเวทนา เป็นภาษาอังกฤษ ก็จำได้ ทำให้เกิดปัญญาด้วย ทำให้รู้ว่างานที่จะต้องทำมีอะไรบ้าง แล้วก็อาศัยการท่องนี้เป็นการทำสมาธิไปในตัว  แทนที่จะพุทโธๆ หรือดูลมหายใจ ก็ท่องพระสูตรนี้ไป  การสวดมนต์ก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง   เวลาจะทำสมาธิด้วยการสวดมนต์ ไม่ต้องนั่งพนมมือ ไม่ต้องไปนั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหมือนกับนั่งทำสมาธินี่  ตั้งนโมไปเลย สวดไปเรื่อยๆ   ข้อสำคัญให้มีสติอยู่กับการสวดก็แล้วกัน   นโม ตัสสะ ภควโตฯ  อรหัง สัมมาฯ  สวากขาโตฯ สวดบทที่สวดได้ สวดไปให้นาน  อย่างนี้จะนั่งได้นาน   ถ้าพุทโธแล้วแวบไปเรื่องอื่น  แล้วก็เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้   แต่ถ้าสวดมนต์ไปนานๆ จะไม่ค่อยเจ็บ  เพราะจิตมีสมาธิอยู่กับการสวด จะไม่สนใจกับเวทนาของกาย   พอสวดจบแล้ว ประมาณสักครึ่งชั่วโมง หรือ ๔๐ นาที จะรู้สึกเบา  ทีนี้ก็ดูลมต่อไป จิตก็ไม่ไปไหน   กำหนดดูลมหายใจเข้าออก  ก็อยู่กับลม   แล้วก็ค่อยสงบ  ค่อยนิ่งไป   ก็ให้อยู่ในความนิ่งจนกว่าจะถอนออกมาเอง   ถอนออกมาแล้ว ก็ลุกไปทำอย่างอื่นต่อ 

เวลาลุกก็ให้มีสติ ก่อนจะลุกก็รู้ว่ากำลังจะลุก แล้วก็เจริญสติต่อไป เจริญสติปัฏฐาน เช่นกายคตาสติในอิริยาบถ ๔  เมื่อถึงเวลาจะกลับมานั่งก็นั่งต่อ   มีสติอยู่ตลอดเวลา   เวลานั่งก็มีสติ  เดิน ยืน นั่ง นอน ก็มีสติตลอดเวลา   เวลาเดินถ้าอยากจะสวดมนต์ก็ได้    แทนที่จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็สวดมนต์ต่อ   สวดในอิริยาบถ ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน ก็สวดไป  พระบางองค์ท่านก็เอาพุทโธคำเดียวในทุกอิริยาบถ  นั่งสมาธิก็พุทโธ  เดินจงกรมก็พุทโธ  ปัดกวาดก็พุทโธ บิณฑบาตก็พุทโธ   เวลาขบเวลาฉันก็พุทโธ   มีพุทโธกำกับอยู่ในใจไปเรื่อยๆ   เป็นเพื่อนไปเลย   ถึงแม้จะแวบไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง ก็มีน้อยครั้ง   มีพุทโธมากกว่า   ถ้าจะคิดก็คิดเท่าที่จำเป็น เพราะยังต้องคิดกันอยู่  เวลาจะเดินไปไหน ก็รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า  จะกินจะทำอะไรก็รู้  อยู่ในปัจจุบัน   แล้วก็มีพุทโธคอยกำกับไว้อีกชั้นหนึ่ง   จิตก็จะสงบสงัดเข้ามาเอง   กิเลสจะไม่มีทางออกไปได้   เพราะไม่มีรูปมาให้คิดให้ปรุง  ไม่ไปคิดทำโน่นทำนี่    ไปมีโน่นมีนี่ จึไม่มีโอกาสออกมาได้   เพราะโดยธรรมชาติของจิต ในขณะหนึ่งจะคิดได้เรื่องเดียว แต่ก็สามารถแวบไปแวบมาได้  ขณะนี้คิดเรื่องพุทโธ  อีกขณะหนึ่งก็ไปเรื่องโน้นแล้วก็ได้   

ถาม    ความเร็วสูงมาก

ตอบ    ก็เหมือนกับไฟฟ้าสลับขั้วบวกลบ ๖๐ ไซเคิล ภายในหนึ่งวินาทีสลับไปได้ตั้ง ๖๐ ครั้ง จิตมันเร็วกว่านั้นอีก  

ถาม    มันไม่มีขอบเขตใช่ไหมครับว่าเร็วขนาดไหน

ตอบ     เราจึงต้องอาศัยสติเป็นตัวสกัด คอยจับมัน ถ้ามีสติแล้ว ต่อไปธรรมะอย่างอื่นจะตามมา หมายถึงในด้านปฏิบัตินะ สมาธิ ปัญญา วิมุตติก็จะเป็นผลที่จะตามมาตามลำดับ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า สติเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ เปรียบเหมือนกับรอยเท้าช้าง ที่ครอบรอยเท้าของสัตว์อื่นได้หมด เพราะใหญ่กว่าเขาเพื่อน สติก็เช่นเดียวกัน เป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีสติ ก็อย่าไปหวังเรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ ต้องมีสติเป็นผู้นำ จึงควรเจริญสติอยู่เรื่อยๆ เป็นสิ่งที่เราทำได้ แต่ไม่ทำกัน ลองไปฝึกดู  พยายามเตือนตนเองเสมอว่า  ตอนนี้อยู่กับปัจจุบันหรือเปล่า   อยู่กับตัวเราหรือเปล่า   หรือไปวุ่นวายกับเรื่องโน้นเรื่องนี้   บางทีเรื่องยังไม่เกิดเลย ก็ร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจไปก่อนแล้ว  อะไรจะเกิดก็ให้เกิดไป   ตอนนี้เราอยู่ตรงนี้ก็ให้อยู่ตรงนี้  ตอนนี้เราอยู่ที่นี่  ก็มีแค่นี้   แต่ถ้าไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ขึ้นมา ก็วุ่นวายใจได้  

พยายามฝึกไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปทำสมาธิก็จะสงบ ถ้าเจริญปัญญาก็จะอยู่กับเรื่องที่พิจารณา จะให้พิจารณาเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่เรื่อยๆ ก็จะพิจารณาอยู่เรื่อยๆ  ขยายได้ เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่   ตัวเราเองบ้าง  คนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง เหมือนกันหมด   คนนั้นเดี๋ยวก็ต้องแก่  เดี๋ยวก็ต้องเจ็บ  เดี๋ยวก็ต้องตาย  คนนี้เดี๋ยวก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย  คิดไปเรื่อยๆ ก็เพลิน 

ถาม   ท่านอาจารย์ยังสวดเป็นภาษาอังกฤษได้ไหมครับ

ตอบ  จำไม่ได้แล้ว เพราะตอนหลังก็ไม่ได้สวด พอนั่งได้เอง พอเป็นสมาธิแล้วก็ไม่ต้องสวด  เพียงแต่นั่งหลับตาก็นิ่งแล้ว 

ถาม   ไม่ต้องอาศัยแล้วใช่ไหมครับ

ตอบ     ก็เหมือนกับเมื่อก่อนนี้เราเรียน ก ไก่ ข ไข่ เราก็ต้องท่องไปก่อน แต่พออ่านออกเขียนได้แล้ว ก็ไม่ต้อง ก ไก่ ข ไข่อีกแล้ว เปิดหนังสือปั๊บ ก็อ่านได้เลย สมาธิก็เหมือนกัน  เมื่อชำนาญแล้วเพียงหลับตากำหนดปั๊บก็นิ่งแล้ว   ไม่ต้องไปอะไรกับมัน  

ถาม   มาไล่ ก ไก่ ข ไข่ ใหม่ก็ไล่ไม่ได้แล้ว  เพราะลืมหมดแล้ว

ตอบ  ลืมหมดแล้ว 

ถาม   ท่านอาจารย์คะ จะขออนุญาตถามคำถามของลูกที่ตัวเองตอบไม่ค่อยได้นะคะ ถึงตอบก็ตอบไม่ดีนะคะ เขาถามว่า ไปอินเดียกลับมานะคะ บอกว่าประเทศอินเดียนี้ค่อนข้างยากจนนะคะ คนก็เดือดร้อน ก็เหมือนเมืองไทย เมืองไทยเราอาจจะดีกว่า เขาก็บอกว่าเทียบกับทางอเมริกากับทางยุโรปก็เทียบกันไม่ได้สิ เพราะว่าประเทศที่มีพระพุทธเจ้ายังลำบากอยู่เลย ยังยากจน แต่ทางอเมริกาทางยุโรปเขาสบาย เขาไม่ยากจน ความที่เด็กวัยรุ่นเขาคิด จริงๆจะบอกเขาว่า  สบายมันอยู่ที่จิตใจมากกว่า   แต่ว่าวัยรุ่นเขายังเข้าใจว่า  ความเป็นอยู่ที่ดีคือความสะดวกสบาย  มีเงินทองใช้สอยแบบพวกฝรั่งอะไรแบบนี้ ตอนนี้เรายากจน  จะอธิบายอย่างไร

ตอบ  เพราะเขามีมิจฉาทิฐิ ไม่มีสัมมาทิฐิ คิดว่าความสุขของมนุษย์เราอยู่ที่การมีสมบัติข้าวของเงินทองมาก แต่เขาไม่เห็นความทุกข์ที่ตามมา หรือรออยู่ข้างหน้า  

ถาม   นี่เป็นความคิดของเด็กวัยรุ่น

ตอบ    ใช่ ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ต้องรอให้เขาโตขึ้น แล้วไปเจอความทุกข์  เราเพียงแต่เตรียมพื้นฐานให้เขา  เตรียมเครื่องมือให้เขา  เตรียมยาไว้ให้เขาเท่านั้นเองว่า ถ้ามีความทุกข์ก็มาหาศาสนานะ   ศาสนาช่วยเธอได้   แต่ตอนนี้ถ้าเธอยังอยากจะมีความสุขกับเรื่องราวต่างๆ ก็ทำไปเถิด   แต่สักวันหนึ่งเธอก็จะรู้เอง   เหมือนกับเราเมื่อก่อนเราก็ไม่รู้

ถาม   ให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง มากกว่าที่เราจะบอกเขาใช่ไหมคะ

ตอบ    ใช่  เป็นเรื่องของประสบการณ์   คนที่ไม่เคยกินยาพิษ จะบอกเขาว่าเป็นยาพิษ เขาก็จะไม่รู้   ต้องให้กินสักนิดหนึ่งถึงจะรู้ว่าขม  จะได้เข็ด  เรามีหน้าที่สอนก็สอนเขาไป   เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ขึ้นอยู่กับภูมิจิตภูมิธรรมของเขา ถ้าได้สะสมธรรมะมาพอสมควร เขาก็จะรับได้  จะเข้าใจง่าย   ถ้าไม่มีเลย   ก็เหมือนกับเด็กที่ยังไม่เคยเข้าเรียนชั้นอนุบาล ก็จะไม่เข้าใจเรื่องที่เราสอนเขา ก็ต้องสอนไปเรื่อยๆ  เขาจะรับได้มากน้อยเพียงไร ก็เป็นเรื่องของเขา   เพราะเรื่องของจิตใจนี่เป็นเรื่องที่ละเอียด  เป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาถึงจะเห็น

ถาม   เขาไม่เข้าใจว่าทำไมยังยากจนอยู่ ทางนั้นทำไมยังรวย  ทั้งที่ทางนี้มีพุทธศาสนา 

ตอบ    ก็บอกว่าความยากจนกับความรวย ไม่ได้เป็นตัวตัดสินความสุขใจ  ศาสนาพุทธสอนเรื่องจิตใจเป็นหลักไม่ได้สอนเรื่องร่างกาย เรื่องวัตถุข้าวของเงินทองต่างๆ   สอนว่าคนเราสามารถมีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องมีอะไร อย่างคนที่ออกบวชนี่ เขาไม่มีอะไร   พวกที่บวชจริงๆ พวกที่แสวงหาความสุขทางด้านจิตใจ   จากการปฏิบัติธรรม เขาไม่มีอะไรหรอก   แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างมันสับสนไปหมด   นักบวชกลับอยู่ดีกว่าคนไม่บวชก็มี กุฏิของนักบวชบางท่านหรูหรายิ่งกว่าบ้านของฆราวาสก็มี   ก็เลยทำให้เด็กที่ไม่มีปัญญา  ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นอะไร   ก็อย่าไปบังคับเขา  อย่าไปหวังอะไรมากจนเกินไป   ก็เพียงแต่บอกเขาว่า ต้องเรียนไปเอง  รู้ไปเอง  ค่อยๆเรียน ค่อยๆศึกษาไป   เราก็อย่าไปบังคับเขามากจนเกินไป   เพราะเขากับเรามีความรู้ไม่เท่ากัน   ความเห็นไม่เท่ากัน  เราเห็น เขาไม่เห็น  เราต้องเห็นใจเขามากกว่า   เขาเหมือนคนตาบอด  เราเหมือนคนตาดี  สิ่งที่เราทำได้ก็คือพยายามพาเขาไป   ถ้าเขาเดินตามเรามาก็เป็นบุญของเขา  ถ้าเขาไม่เดินตามเรามา  ก็เป็นกรรมของเขา   เพราะเขาจะต้องเป็นคนรับผลของการกระทำของเขานั่นเอง   ไม่มีใครจะรับผลของเขาได้  เพียงแต่ว่าจิตใจเรายังอ่อนอยู่  ห่วงเขามากจนเกินไป   เราไม่มีธรรมะก็เลยหวาดวิตกไปต่างๆนานา   ก่อนที่เรื่องจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป   บางทีอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้   สักวันหนึ่งเขาอาจจะฉลาดขึ้นก็ได้   เพราะตอนนี้เขาก็อายุไม่มาก  เด็กก็อย่างนี้ทุกคน  เด็กก็ต้องอยู่ตามประสาเด็กไปก่อน   ยกเว้นพวกเด็กที่เป็นอัจฉริยะ

ถาม   คำถามเขาทำให้เราอึ้งไปเลย ตอบไม่ถูก ไม่รู้จะตอบอย่างไร

ถาม   ทำอย่างไรถึงจะให้สมาธิไม่สั้น

ตอบ     ถ้าเป็นเด็กก็ให้ขยันอ่านหนังสือ   เรียนหนังสือไป  อย่าไปเที่ยว อย่าไปเล่นมาก   การอ่านหนังสือก็เป็นการฝึกทำสมาธิได้   คือเด็กต้องอยู่ในภาวะของเด็ก  ก็ต้องฝึกตามสภาพของเขา   จะมาให้เขาพุทโธๆอย่างเรานี้ไม่ได้   เขาต้องเรียนหนังสือก็ให้เขามีสติอยู่กับการเรียนหนังสือ   ให้เขามีความขยันเรียนหนังสือ  ขยันไปโรงเรียน แล้วค่อยพัฒนาขึ้นไปเอง ยังมีเวลาอีกเยอะไม่ต้องกังวลหรอก  ชีวิตของคนเรา เพียงแต่เราต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี   อย่าไปกินเหล้าเมายาให้เขาเห็น   อย่าไปทะเลาะกันให้เขาเห็น  บางทีเราสอนเขาโดยที่ไม่รู้ตัว   แบบแม่ปูสอนลูกปู   แม่ก็อยากจะให้ลูกเดินตรงๆ  ตัวแม่เองก็เดินเฉไปเฉมา   แล้วลูกก็เดินเหมือนแม่

ถาม     รบกวนถามนิดหนึ่งได้ไหมคะ อย่างลูกชายนี่ค่ะ โอเคเข้าศาสนา   แต่เขาจะดูผลระยะสั้นมาก  อย่างสมมุติพรุ่งนี้จะแข่งขันนะคะ  วันนี้นโม ตัสสะฯ แล้วพอไม่ได้นี่ เขาจะบอกว่าศาสนาไม่ช่วยอะไรเขา  ไม่รู้จะสอนเขาอย่างไร

ตอบ     ก็ต้องใจเย็นๆ ของบางอย่างต้องใช้เวลาถึงจะเห็นผล

ถาม     แล้วอย่างท่านบอกว่าลูกนี้เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สมมุติว่าเราห่วงเขามาก พยายามบอกให้เขามาทำบุญ แต่เขาไม่ทำ พอเราบอกปุ๊บแต่เขาไม่ทำ เราตัดเลยใช่ไหมคะ

ตอบ     ก็ไม่ตัด พยายามสอนเขาไปเรื่อยๆ แต่เราอย่าไปทุกข์  

ถาม   มันทำให้เราทุกข์

ตอบ     ความทุกข์มันเป็นปัญหาของเรา ไม่ใช่ของเขา เราไปอยากเกินความสามารถของเขา เกินความเป็นไปได้ ต้องอยู่กับความเป็นไปได้ ต้องพยายามเหมือนกับปลูกต้นไม้ ไม่ใช่ปลูกวันนี้แล้วจะให้ออกลูกออกผลทันที พยายามสอนเขาไปเรื่อยๆ พยายามไปเรื่อยๆ ใจเย็นๆ  ให้มีขันติ

ถาม     เป็นเพราะว่าเราขี้เกียจหรือเปล่าคะ

ตอบ     ก็ทำไปเรื่อยๆ ก็แล้วกัน  เป็นการสร้างบารมีไปในตัว จะออกดอกออกผลชาตินี้หรือชาติหน้า  ก็สุดแท้แต่เหตุปัจจัย   ทำไปก็ไม่ขาดทุน

ถาม     แล้วอย่างที่คนใกล้ตัวเราไม่นับถือศาสนาพุทธ แล้วเราทำเราปฏิบัติให้เขานี่ พอที่จะทำให้เขาเปลี่ยนได้ไหมคะ

ตอบ    ไม่ได้หรอก ทำแทนกันไม่ได้

ถาม   ไม่มีวิธีเลยหรือคะ

ตอบ    ก็ต้องให้เขาเปลี่ยนตัวเขาเอง ถ้าทำให้กันได้ พระพุทธเจ้าก็ทำพวกเราให้เป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว 

ถาม   แล้วมีวิธีที่เขาจะสร้างบารมีของเขาเองไหมคะ

ตอบ     ทำตัวเราให้เป็นตัวอย่าง เดี๋ยวเขาจะเกิดความศรัทธาเลื่อมใสเราเอง เวลาเขาทำอะไรให้เราโกรธ เราอย่าไปโกรธเขา แล้วเขาก็จะเห็นผลของศาสนาว่าดีอย่างนี้เอง ทำให้เมียเราเดี๋ยวนี้ไม่โกรธเราเลย เดี๋ยวเขาศรัทธาเอง

ถาม     เวลาเราเดินจงกรมแล้วฟังเทปไปด้วยได้ไหมคะ

 

ตอบ  ได้  เป็นการฟังธรรมไป  ต่อไปถ้าพิจารณาเป็นก็ไม่ต้องฟังก็ได้   ถ้าธรรมะของเราเริ่มหมุน     จิตของเราเริ่มพิจารณาไปทางธรรมะแล้ว ก็ไม่ต้องฟังของคนอื่น   ตอนนี้เราอาศัยคนอื่นเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ธรรมะภายในใจของเราเกิดขึ้นก่อน   เหมือนหลวงปู่มั่นท่านอยู่องค์เดียว  ท่านก็บอกว่าท่านฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา   เพราะจิตของท่านคิดไปในทางธรรมะ  ก็จะเป็นธรรมะขึ้นมา   แต่ถ้าเรายังคิดไปในทางโลก ทางสงสาร ทางกิเลสอยู่   เราก็ต้องเอาธรรมะเข้ามาสกัดไว้ก่อน โดยอาศัยการฟังเทศน์ฟังธรรมของคนอื่น เวลาฟังก็ต้องฟังให้เกิดความเข้าใจ  ถ้าเกิดความเข้าใจแล้วต่อไปจะอยู่ติดกับใจเรา   เราก็จะเริ่มคิดไปในแนวนั้น   เมื่อเราเริ่มคิดเองได้แล้ว   ต่อไปก็ไม่ต้องฟังก็ได้  เพราะเราคิดเองจะได้มากกว่าที่ฟัง   พระพุทธเจ้าทรงเปรียบธรรมะที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นเหมือนน้ำในตุ่ม  แต่ธรรมะที่เกิดในจิตในใจที่เกิดจากการพิจารณานี้  เป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทร   มันมากมายก่ายกอง 

 แต่ในเบื้องต้นเราคิดไม่เป็น ก็ต้องอาศัยความคิดของครูบาอาจารย์ มาเป็นตัวกระตุ้นให้เราคิดไปก่อน แต่จะได้หรือไม่ได้ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่การปฏิบัติสมาธิของเราเป็นหลัก ถ้ายังไม่มีสมาธิ ตัวกิเลสก็จะมีกำลังแรง เหมือนกับคนไข้เวลาจะผ่าตัด ถ้าไม่ได้วางยาสลบ คนก็ไข้จะดิ้น หมอจะผ่าลำบาก แต่ถ้าวางยาสลบ ให้เขาสลบไป ก็จะนิ่ง จะผ่าจะตัดอย่างไรก็ง่าย การพิจารณาธรรมะก็แบบเดียวกัน ถ้ากิเลสยังไม่นิ่ง พอพิจารณาธรรมไปได้เดี๋ยวเดียว กิเลสก็จะมาแย้ง มาขัดมาเถียง มาต่อต้าน แล้วก็หลอกให้ไปคิดเรื่องอื่น การจะเจริญปัญญาให้ได้เหตุได้ผล  เป็นกอบเป็นกำ จึงต้องมีสมาธิก่อน จะได้เป็นภาวนามยปัญญา  ส่วนปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง  หรือเกิดจากการคิด ไม่ต้องมีสมาธิมากนักก็ได้  อย่างวันนี้เรามาฟังธรรมกันก็มีสมาธิ  แต่ไม่ต้องลึก   คือพอมีสมาธิกับการฟังก็ได้ประโยชน์   แต่ยังไม่ทำให้เกิดเป็นภาวนามยปัญญา  

ภาวนามยปัญญาจะเกิดจากการได้สมาธิแล้ว เพราะจะพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่มีอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้อย่างต่อเนื่อง แล้วจะเชื่อมต่อกันไปเอง จะแผ่กระจายไป เหมือนกับที่คุณได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความจริงก็เกี่ยวข้องกัน   สติปัฏฐานก็ไปชนกับอริยสัจ ๔   อริยสัจ ๔ ก็ไปชนกับไตรลักษณ์   มันก็ชนกันหมด   แล้วก็จะเข้าใจ  จะเห็นเป็นภาพรวม ตอนนี้เราเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน  ยังไม่ได้เอามาปะติดปะต่อกัน  แต่ถ้าได้สมาธิแล้ว  พอพิจารณาไปก็จะเห็นภาพรวม จะเข้าใจ  เพราะธรรมของพระพุทธเจ้า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ชี้ไปที่เดียวเท่านั้น ก็คือทุกข์และวิธีดับทุกข์   เหมือนกับน้ำในมหาสมุทร  จะกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหนก็ตาม ก็มีรสชาติเดียวเท่านั้น คือความเค็ม  

ฉันใดธรรมะของพระพุทธเจ้าจะมีอยู่กี่บทกี่บาท มากน้อยเพียงไร ก็ชี้ไปที่ทุกข์กับการดับทุกข์เท่านั้น คือที่พระอริยสัจ ๔ ในเบื้องต้นถ้าเรายังคิดไม่เป็น ก็ต้องอาศัยการฟังธรรมะไปก่อน พวกเราโชคดีที่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ในสมัยโบราณไม่มี คือมีเครื่องฟัง เสียบใส่หูแล้วก็ฟังได้ อยู่ที่ว่าจะฟังแบบทัพพีในหม้อแกง หรือฟังแบบลิ้นกับแกง ฟังได้ ๒ แบบ   ฟังเข้าหูแต่ไม่เข้าใจก็เหมือนกับทัพพีในหม้อแกง  ฟังแล้วต้องเข้าใจด้วย   คือไม่ต้องเข้าใจทั้งหมด แต่ควรเข้าใจบ้าง ไม่ใช่ฟังไปแล้ว ไม่เข้าใจเลย  ก็จะไม่ได้ประโยชน์