กัณฑ์ที่ ๒๓๒       ๒๒ มกราคม ๒๕๔๙

 

 

ใช้เวลาให้เกิดคุณเกิดประโยชน์

 

 

 

 

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ถามตัวเราเองอยู่เสมอๆว่า วันคืนผ่านไปๆ เรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำหรือไม่ ในพระปัจฉิมโอวาททรงตรัสไว้ว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง จงยังประโยชน์ตนและท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่คือสิ่งที่เราควรเตือนตัวเราอยู่เสมอๆ เพราะเวลาเหมือนกับน้ำ ที่ไหลไปแล้วไม่ไหลกลับ เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก จะทำอะไรก็ต้องมีเวลาถึงจะทำได้ จะมีเวลาหรือไม่ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ตัวเรา เพราะเราทุกคนมีเวลาเท่ากันหมด คือวันละ ๒๔ ชั่วโมง  จะใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมงนี้ให้เกิดประโยชน์ก็ได้  ให้เกิดโทษก็ได้ อยู่ที่ตัวเรา ถ้าระลึกถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอยู่เรื่อยๆ เราก็จะใช้เวลาให้เกิดคุณเกิดประโยชน์  แต่ถ้าห่างไกลจากสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  ความมืดบอดคือโมหะอวิชชาก็จะคืบคลานเข้ามาครอบงำจิตใจ  ทำให้เราคิดไปในทางโลก ทางสมุทัย ทางที่สะสมความทุกข์ โดยไม่รู้สึกตัว ทั้งๆที่คิดว่ากำลังคิดในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ดี  แต่สิ่งที่เราคิดว่าดีนั้น ไม่ได้ดีจริงตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า  

 

ส่วนใหญ่เรามักจะคิดแต่เรื่องเงิน เรื่องทอง เรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ ที่ไม่จีรังถาวร ไม่ใช่อาหารของใจ แต่เป็นยาพิษเสียมากกว่า เพราะถ้าเสพพวกลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มากน้อยเพียงไร ก็จะมีความทุกข์มากน้อยเพียงนั้น จิตใจจะมีแต่ความรุ่มร้อน มีความกระวนกระวาย มีความวุ่นวายใจ แต่ถ้าคิดถึงธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอาหารของใจ ก็จะคิดถึงการปฏิบัติธรรม ทำบุญให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา ที่มีคุณมีประโยชน์กับจิตใจอย่างแท้จริง เพราะธรรมกับใจเป็นของคู่ควรต่อกัน ใจต้องพึ่งพาอาศัยธรรม ถ้าใจมีธรรมแล้ว ใจจะเย็น ใจจะสุข ใจจะอิ่ม ถ้าขาดธรรม มีแต่กิเลสรุมเร้า  มีแต่ความโลภโมโทสัน  ใจก็จะมีแต่ความรุ่มร้อนวุ่นวายใจ เพราะอยากได้เงินได้ทอง ได้ตำแหน่งสูงๆ  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์กับจิตใจเลย เวลาใจรุ่มร้อน  จะมีเงินทองมากมายเพียงไร ก็ไม่สามารถดับมันได้ จะมีตำแหน่งสูงขนาดไหนก็ตาม เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่สามารถหนีพ้นจากความทุกข์ ความวุ่นวายใจไปได้

 

แต่ถ้ามีธรรมแล้วความวุ่นวายใจจะไม่ค่อยปรากฏ หรือไม่มีเลย ถ้าจิตเป็นธรรมทั้งร้อย เป็นธรรมทั้งแท่ง ก็จะไม่มีช่องให้ความรุ่มร้อนเข้าไปสิงอยู่ในจิตใจได้เลย ผู้ใดได้ศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรมจนเห็นผลบ้างแล้ว จะเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นของธรรมกับใจ แต่ถ้ายังไม่ได้สัมผัสกับผลของการปฏิบัติเลย จะไม่เข้าใจ ถ้าทำก็สักแต่ว่าทำ คือมีจิตศรัทธา แต่ทำเหมือนกับคนที่ยังไม่ได้เห็นของจริง ถ้าเป็นคนทำงานก็ยังไม่เคยได้รับเงินเดือนเลย แต่ก็ทำไป ไม่รู้ว่าสิ้นเดือนเจ้านายจะให้เงินเดือนเท่าไร แต่ถ้าได้รับเงินเดือนสักครั้งหนึ่งแล้ว  ก็จะเริ่มเห็นคุณค่าของการทำงานของตน  ก็จะเกิดฉันทะวิริยะตามมา  ในเบื้องต้นก็ต้องอาศัยศรัทธาเป็นตัวผลักดันไปก่อน ถึงแม้ยังไม่ได้สัมผัสกับผล  ก็เชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น  ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทาน  การรักษาศีล การภาวนา  จะต้องมีผลที่ดีที่เลิศตามมาอย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย ถ้ายังไม่ได้สัมผัสกับผล ก็จะไม่ค่อยมีกำลังจิตกำลังใจเท่าไร

 

จึงต้องอาศัยการบังคับจิตใจด้วยศรัทธาความเชื่อ เชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในพระธรรมคำสอน เชื่อในพระอริยสงฆสาวก ว่าการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งที่ดีที่วิเศษที่สุด เหนือกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้ ถึงแม้จะหมดเงิน หมดทอง หมดเนื้อหมดตัวจากการทำบุญ จากการทำความดี จากการปฏิบัติธรรม ก็อย่าไปเสียดายเลย เพราะในที่สุดแล้วชีวิตของเราก็ต้องหมดไป ทรัพย์สินสมบัติข้าวของเงินทองที่มีอยู่มากน้อยเพียงไร สักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป เราต้องจากมันไป ไม่ได้เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา แต่สมบัติที่เราสามารถนำติดตัวติดใจไปได้ก็คือธรรม ที่เรียกว่าทรัพย์ภายใน หรืออริยทรัพย์ นี่คือสิ่งที่จะติดไปกับจิตกับใจ ถ้ามีนิสัยทำบุญทำทาน นิสัยนี้ก็จะติดตัวเราไป มีนิสัยรักษาศีลก็จะติดตัวเราไป มีนิสัยภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะติดตัวเราไป เวลาไปเกิดชาติหน้าจะทำสิ่งเหล่านี้ก็จะง่าย ไม่ต้องฝืน  เพราะได้เคยทำมาแล้วจนติดเป็นนิสัย  เหมือนกับคนที่ถนัดมือขวา  ไปเกิดชาติหน้าก็จะถนัดมือขวาอีก คนที่ถนัดมือซ้ายไปเกิดชาติหน้าก็จะถนัดมือซ้าย คนที่เป็นอัจฉริยะไปเกิดชาติหน้าก็จะเป็นอัจฉริยะ เพราะสิ่งเหล่านี้ติดไปกับจิตกับใจ เป็นคุณสมบัติเฉพาะตน ที่เรียกว่านิสัยหรือสันดาน ถ้าเป็นนิสัยดีก็เป็นคุณเป็นประโยชน์  ถ้าเป็นนิสัยไม่ดีก็จะเป็นโทษ เช่นถ้ามีนิสัยเกียจคร้าน นิสัยโลภโมโทสัน นิสัยเสพสุรายาเมา เล่นการพนัน ก็จะเป็นตัวฉุดลากให้ไปทางที่ไม่ดีในภพหน้าชาติหน้าต่อไป

 

ถึงแม้ในชาตินี้จะไม่สามารถปฏิบัติจนบรรลุถึงพระอริยผลก็ตาม ถ้าพยายามทำไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็จะได้ฝึกนิสัยที่ดีไว้ เพื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ก้าวขึ้นสู่ธรรมขั้นสูงในลำดับต่อไป ในแต่ละภพแต่ละชาติ เพราะถ้าปฏิบัติตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว ภพชาติของเราก็จะเป็นภพชาติที่ดี เป็นสุคติ ผู้ที่ไปสู่สุคติคือผู้มีศีลมีธรรม ผู้ที่จะไปเกิดในสุคติต้องเป็นผู้มีศีลมีธรรม ดังนั้นเวลาปฏิบัติไปแล้วเกิดมีความรู้สึกว่ามันยาก ก็ขอให้ฝืนทำไป เพราะกำลังปลูกฝังนิสัยใหม่ นิสัยของพระโพธิสัตว์ นิสัยของพระอริยเจ้า ไม่ใช่นิสัยของปุถุชน  ที่มีแต่ความโลภโมโทสัน เราเป็นปุถุชนเพราะเรามีความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นเหมือนบิดา ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา จิตของพวกเรามีอวิชชาเป็นผู้ทำให้คิดปรุงแต่ง ถ้าคิดด้วยอวิชชาก็คิดด้วยความหลง ด้วยความเห็นผิดเป็นชอบ คิดด้วยมิจฉาทิฐิ เห็นเงินทอง เห็นลาภยศ เห็นสรรเสริญ เห็นกามสุข ว่าเป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนา  เหมือนกับปลาที่เห็นเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด ว่าเป็นอาหารอันโอชะ แต่หารู้ไม่ว่าเมื่อได้ตะครุบเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ดนั้นแล้ว ก็จะต้องถูกเบ็ดเกี่ยวคอ ทำให้ทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง

 

ฉันใด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็เป็นเช่นนั้น ถ้ายังต้องเสพก็ต้องระมัดระวัง ต้องรู้ว่ามีเบ็ดซ่อนอยู่ภายใต้เหยื่อ ต้องกัดแบบฉลาด ไม่ใช่กัดทีทั้งคำ ต้องค่อยๆแทะค่อยๆเล็มไป ต้องรู้ว่าเมื่อยังต้องอยู่ในโลกนี้ ยังต้องพึ่งพาอาศัยเงินทอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะต้องมีปัจจัย ๔ เป็นเครื่องดำรงชีพ จึงต้องมีเงินทองไว้ซื้อหามา จึงต้องระมัดระวัง อย่าไปหลงกับการมีเงินมีทอง จนคิดว่าเป็นสิ่งที่บันดาลความสุขให้กับเรา มันบันดาลได้ก็แค่ความสุขของกาย คือให้เรามีอาหารรับประทานเวลาที่หิว มีเสื้อผ้าใส่ มีบ้านอยู่ มียารักษาโรค เงินทองสามารถบันดาลให้กับเราได้เพียงเท่านี้  มันไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง  แต่เป็นความสุขแบบปลาที่ตะครุบเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ดนั่นแหละ เวลาได้ใช้เงินใช้ทองอย่างสนุกสนานเฮฮา  ก็มีความสุขชั่วขณะที่ใช้ไป  แต่เมื่อผ่านไปแล้วเงินทองก็หมดไปด้วย  ครั้งต่อไปถ้าอยากจะมีความสุขแบบนี้อีก แต่ไม่มีเงินทองที่จะซื้อความสุขแบบที่เคยได้สัมผัสอีก  ความสุขก็จะไม่มา มีแต่ความทุกข์มาแทนที่ 

 

จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า  ความสุขในโลกนี้มีทั้งสุขแท้และสุขปลอม สุขปลอมก็อย่างที่พูดไว้ เป็นสุขที่เกิดจากการใช้เงินใช้ทองในการเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ทำให้เกิดสุขเวทนา แล้วก็หมดไป แล้วก็เกิดความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว อยากจะเสพอีก เป็นเหมือนกับยาเสพติด คนที่ไม่เสพสบายกว่าคนที่เสพ เพราะคนที่เสพจะต้องหามาเสพอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่ได้เสพแล้วก็จะทุรนทุราย ทรมานจิตใจ คนที่ไม่ได้เสพก็อยู่อย่างสบาย ไม่มียาเสพก็ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะไม่ได้หิวไม่ได้อยาก กามสุขก็เช่นเดียวกัน คนที่ไม่เสพก็อย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านมีความสุขมากกว่าคนที่เสพ ท่านไม่ต้องดิ้นรนกับการหาเงินหาทอง ดิ้นรนกับการใช้จ่ายเงินทอง เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข อยู่เฉยๆท่านก็มีความสุขแล้ว เพราะจิตของท่านไม่ได้หิว ไม่ได้อยาก ไม่ได้ติดอยู่กับการเสพความสุขจอมปลอมทั้งหลาย เพราะท่านได้พบกับความสุขที่แท้จริงแล้ว  ด้วยการชนะความอยากจะเสพกามสุขนั้นเอง

 

เวลาที่จิตสลัดความอยากจะเสพกามสุขได้ จิตก็จะสงบสงัดขึ้นมา จิตสงบเมื่อไรก็จะมีความสุขเมื่อนั้น มีความเย็น มีความสบาย มีความเบาเหมือนกับได้ปลดเปลื้องภาระต่างๆที่แบกไว้บนบ่าออกไป สิ่งที่กดดันพวกเราซึ่งเป็นเหมือนกับภาระอันหนักอึ้งนี้ ก็คือกามตัณหานี้เอง ความอยากในกาม และตัณหาอีก ๒ ชนิด คือภวตัณหา ความอยากมี อยากเป็น และวิภวตัณหา ความอยากไม่มี อยากไม่เป็น หรือความกลัวในสิ่งต่างๆที่เราไม่ปรารถนากัน เหล่านี้เป็นเหมือนภาระกดดันจิตใจ แต่ถ้าเราต่อสู้ด้วยการภาวนา ด้วยการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิและปัญญา เราจะสามารถทำลายความอยากเหล่านี้ให้ออกไปจากจิตจากใจได้ เมื่อไม่มีอยู่ในใจแล้ว  ก็ไม่มีอะไรมากดดัน มาสร้างความทุกข์ สร้างความกังวลใจ สร้างความหิว สร้างความกระหายให้กับใจ จะมีแต่ความอิ่ม มีแต่ความพออยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ต้องแสวงหาอะไร ไม่ต้องอาศัยสิ่งต่างๆในโลกนี้ ที่ล้วนมีแต่ความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่

 

จิตก็ไม่ต้องทุกข์กับสิ่งต่างๆอีกต่อไป เพราะเวลามีอะไรมาครอบครอง เรามักจะมีความกังวลกับสิ่งนั้นๆ เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่กับเราไปตลอดหรือไม่ จะจากเราไปเมื่อไรก็ไม่รู้ เวลาจากไปก็ต้องเศร้าโศกเสียใจ เพราะอาศัยสิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นเครื่องให้ความสุขกับเรา จึงไม่เป็นความสุขที่แท้จริง เพราะมีความทุกข์ซ่อนอยู่ เราจึงต้องใช้ปัญญาพิจารณา ในเบื้องต้นก็ต้องหาครูบาอาจารย์ที่ได้ผ่านเรื่องราวเหล่านี้มาแล้ว ให้เป็นผู้สอนเรา เพราะถ้าเราอยู่คนเดียว คิดคนเดียว เราจะคิดไม่ออก เพราะเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน จะคิดไปในทางที่เคยคิดเสมอ ถึงแม้จะเคยได้ยินได้ฟังธรรมะอยู่เรื่อยๆ  แต่พอออกจากวัดไปไม่กี่นาทีก็ลืมแล้ว  โดนความคิดแบบเดิมๆที่มีอำนาจมากมากลบ เราจึงต้องภาวนาอยู่เรื่อยๆ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า   อานนท์เธอต้องพิจารณาความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จะได้ไม่หลงยึดติดอยู่กับสิ่งต่างๆในโลกนี้ เพราะไม่จีรังถาวร ไม่ใช่สรณะของจิตใจ ถ้าเธอคิดถึงความตายแล้ว ก็จะทำให้เธอไม่ประมาท จะได้รีบเร่งขวนขวายสร้างสรณะให้เกิดขึ้นภายในใจ ด้วยการปฏิบัติธรรม ด้วยการภาวนา ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็จะต้องหลงอยู่กับการทำงานทำการ  เมื่อได้เงินมาแล้วก็คิดว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดี ไปซื้ออะไรดี เรื่องที่จะเอาไปทำบุญ เอาไปเสียสละนี้ มักจะเป็นเรื่องสุดท้าย เพราะส่วนมากเรื่องความอยากหาความสุขจากการเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจะมาก่อน

 

เราจึงต้องเตือนตนเองอยู่เสมอว่า มันไม่ใช่เป็นความสุข มันเป็นเหมือนยาเสพติด ถ้าตัดได้ ลดได้ ละได้ ก็พยายามตัดไป ลดไป ละไป แล้วเราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ คือความสุขทางด้านจิตใจ จะได้ไม่ต้องไปอาศัยสิ่งต่างๆมาให้ความสุขกับเรา เราสามารถสร้างความสุขได้ด้วยตัวของเราเอง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ไม่มีใครจะให้ความสุขกับเราได้อย่างแท้จริง มีตัวเราเท่านั้นที่จะให้ความสุขกับตัวเราเอง คนอื่นให้ความสุขเราแล้ว ยังแถมความทุกข์ให้กับเราอีกด้วย เพราะเราต้องมีความผูกพัน มีความห่วงใย  มีความยึดติดในตัวเขา เขาเคยให้ความสุขกับเราอย่างไร เราก็หวังว่าเขาจะให้ความสุขกับเราอย่างนั้นเสมอไป ถ้าเขาไม่ให้ความสุขกับเราๆก็จะต้องเสียอกเสียใจ แต่เราก็บังคับเขาไม่ได้  เพราะคนเราทุกคนอยู่ใต้กฎของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน  บางทีเขาก็บังคับตัวเขาเองไม่ได้ เขาอยากจะดีกับเราแต่อารมณ์ไม่ดีด้วย  เขาก็ไม่สามารถแสดงความดีออกมา เราก็ต้องเศร้าโศกเสียใจ นี่คือโทษ นี่คือความทุกข์ ที่พวกเราทุกคนเจอกัน ประสบกันอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ค่อยคิดกันเท่าไร เวลาเจอทุกข์แบบนี้ก็อดทนกันไป เป็นการอดทนที่ไม่ถูกทาง เราควรอดทนกับความทุกข์ที่เกิดจากการทำความดีจะดีกว่า อดทนกับความทุกข์ที่เกิดจากการนั่งสมาธิ เจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ ทนแบบนี้ดีกว่า เพราะเป็นทุกข์ตอนต้นแต่สุขตอนปลาย ดีกว่าสุขก่อนแล้วมาทุกข์ทีหลัง ทุกข์จากการปฏิบัติธรรม เป็นความทุกข์เพื่อความสุขที่แท้จริงที่จะตามมาต่อไป

 

จึงเป็นสิ่งที่ยากเย็นสำหรับปุถุชนอย่างพวกเราทั้งหลาย ที่จะเข้าถึงธรรมะกัน เพราะต้องทุกข์ก่อนถึงจะสุข ไม่เหมือนกับทางโลกที่สุขก่อนแล้วค่อยทุกข์ทีหลัง เหมือนกับการซื้อของ เอาของมาก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินทีหลัง ทางโลกเป็นอย่างนี้ ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง แต่ทางธรรมะนี่ ต้องจ่ายให้หมดก่อนถึงจะได้ของ จึงทำให้ไม่อยากไปทางธรรมะกัน เพราะกว่าจะได้ธรรมะมาครอง ลิ้นแทบห้อย แต่เมื่อได้มาแล้ว มันคุ้มค่า ขอให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ระลึกถึงครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ก่อนที่ท่านจะเป็นพระพุทธเจ้า ก่อนที่ท่านจะเป็นครูบาอาจารย์นั้น ท่านต้องทุกข์ทรมานขนาดไหน ท่านก็รักความสุขเหมือนอย่างพวกเรา  เพราะท่านก็เกิดมาแบบเดียวกัน เกิดมาในครอบครัว  มีความสุขกับการอยู่กับครอบครัว อยู่กับพ่อกับแม่ อยู่กับพี่กับน้อง อยู่กับเพื่อนกับฝูง อยู่กับความสุขแบบโลกๆ แต่ท่านก็ยังกล้าเสียสละ ไปอยู่แบบไม่มีอะไร อยู่ในป่าในเขา มีอาหารที่ได้จากบิณฑบาต ที่อยู่ก็ตามมีตามเกิด อยู่ใต้โคนไม้บ้าง อยู่ในถ้ำบ้าง ก็อยู่ไป ไม่มีเครื่องอำนวยความสุขต่างๆอย่างที่พวกเรามีกัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น อะไรต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นความสุขที่มีความทุกข์ตามมาเสมอ  คือเวลาที่ต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอะไรต่อมิอะไร 

 

แต่ความสุขทางธรรมะต้องจ่ายไปก่อน อดทนไปก่อน สู้ไปก่อน ลำบากไปก่อน เมื่อชินกับความลำบากแล้ว ต่อไปความลำบากก็ไม่เป็นความลำบากอีกต่อไป เมื่อเราเคยชินกับความทุกข์ยาก ความเจ็บปวดทางด้านร่างกาย ที่เกิดจากการนั่งนานๆ จากการเดินจงกรมนานๆ จนกลายเป็นนิสัยไป มันก็กลายเป็นความสุขไปอีกแบบหนึ่ง วันไหนไม่ได้นั่งนานๆ ไม่ได้เดินจงกรมแล้ว จะรู้สึกว่าขาดอะไรไป เหมือนกับคนที่เคยกินของเผ็ดๆ วันไหนไม่ได้กินของเผ็ดแล้ว จะรู้สึกว่าอาหารไม่มีรสไม่มีชาติ  ฉันใดความทุกข์ที่เกิดจากการปฏิบัติ ก็เหมือนกับของเผ็ดๆที่เรารับประทาน ถ้าไม่เคยรับประทานของเผ็ดมาก่อน เวลารับประทานครั้งแรกจะทรมานมาก จะเผ็ดร้อนมาก แต่ถ้าได้รับประทานไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความเคยชินขึ้นมา พอวันไหนไม่ได้รับประทานของเผ็ด จะรู้สึกว่าขาดอะไรไป จึงอย่าไปกลัวความทุกข์ความยากลำบากที่เกิดจากการทำความดี การเสียสละ การทำบุญให้ทาน การรักษาศีล การปฏิบัติธรรมที่จะต้องไปอยู่ตามสถานที่ที่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา จะอาบน้ำก็ต้องไปหิ้วน้ำที่บ่อ จะใช้ไฟก็ต้องจุดเทียน ใช้ไฟฉาย อย่างนี้ไม่ต้องไปคิดว่าเป็นอุปสรรค  แต่คิดว่าเป็นการลงทุนเพื่อผลอันเลิศ  อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระสงฆสาวกทั้งหลายได้บรรลุถึง มันคุ้มค่ามาก

 

เมื่อได้ผลแล้ว ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าต่างๆจะหายไป เหมือนกับการเดินทางระยะไกล ที่เราต้องเดินไป ต้องแบกข้าวแบกของไป มันเหนื่อย มันทรมาน แต่เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าต่างๆก็หายไปหมด มีแต่ความอิ่มหนำสำราญใจ มีแต่ความสุขใจอยู่ตลอดเวลา  แต่ความสุขแบบที่พวกเรามีกันในวันนี้  มีความกังวลรอเราอยู่ในวันข้างหน้า เพราะสังขารร่างกายเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน  เกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ แล้วก็ต้องตายไปในที่สุด  ถ้าเรายังไม่ได้พิจารณา  และปฏิบัติเพื่อรับกับสิ่งเหล่านี้แล้ว เวลาเกิดขึ้นมา เราจะไม่มีอะไรเป็นเครื่องต่อสู้กับมัน จะมีแต่ความวุ่นวาย ความโกลาหล ที่จะตามมา  แต่ถ้าได้ฝึกปฏิบัติต่อสู้กับความทุกข์กับความยากแล้ว  จะรู้ว่าความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นสิ่งที่เราสามารถเผชิญกับมันได้  เพราะในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้  เราก็ได้เผชิญกับมันแล้ว เหมือนกับได้ซ้อมรบไว้แล้ว เมื่อถึงเวลาที่ศัตรูข้าศึกจะบุกรุกเข้ามา  เราก็สามารถต่อสู้กับเขาได้  แล้วก็ผ่านไปได้ เรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นเรื่องของร่างกาย ไม่ใช่เรื่องของใจ เพียงแต่ใจจะต้องสัมผัสรับรู้เท่านั้นเอง ใจไม่ได้แก่ ไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ตายไปด้วย แต่ใจกลับเป็นตัววุ่นวาย เป็นตัวกังวลมากกว่าตัวร่างกาย ที่กังวลไม่เป็น  เพราะธรรมชาติดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีความกังวล

 

เวลาตัดผม ผมก็ไม่ได้ร้องห่มร้องไห้ แต่ใจเป็นตัวร้องห่มร้องไห้ต่างหาก ถ้ายังยึดติดกับทรงผมอยู่ เวลาตัดไป จะไม่เจ็บไม่ปวดทางร่างกายเลยแม้แต่นิดเดียว แต่จิตใจกลับเจ็บปวด เพราะต้องเสียทรงผมที่รักที่ชอบไป เพราะใจไปหลง ไปยึดติดอยู่กับมันนั่นเอง จึงคิดว่าเวลาเกิดอะไรขึ้นกับกายแล้ว มันเกิดขึ้นกับใจด้วย แต่ใจไม่ใช่กาย ใจกับกายเป็นคนละส่วนกัน ถ้าได้ปฏิบัติภาวนาเราจะเห็น เวลาที่จิตแยกออกจากกาย เวลาที่จิตสงบ จิตจะปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วรวมตัวเป็นสมาธิ รวมเป็นหนึ่ง เหลืออยู่แต่สักแต่ว่ารู้ ร่างกายตอนนั้นจะไม่มีอยู่ในความรู้สึกเลย บางทีร่างกายก็เป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืนไป ใจก็จะรู้ว่าร่างกายนี้ ยังไงๆก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของมัน ใจที่รู้ความจริงนี้ ก็จะเฉยๆ ไม่วิตก ไม่กังวลกับมัน  แต่ใจที่ไม่รู้ก็จะวุ่นวาย  เวลาหมอบอกว่าจะต้องตาย เหลืออีก ๓ เดือน แต่ยังไม่ทันตายเลย เพียงแต่ได้ยินคำพูดแค่นี้ ใจนี้แทบจะสลายตายไปก่อนแล้ว ทั้งๆที่ใจเป็นสิ่งที่ไม่ตาย สิ่งที่จะแตกสลายไปก็คือร่างกาย

 

เช่นศาลาหลังที่เรานั่งอยู่นี้ ก็เป็นธรรมชาติแบบเดียวกัน เป็นวัตถุเหมือนกัน มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน เวลาศาลาหลังนี้พังไป ใจของเราก็ไม่วุ่นวายไปกับมัน เพราะไม่ได้ไปหลง ไปยึด ไปติด ว่าเป็นของเรา แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของศาลาหลังนี้ เป็นผู้สร้างขึ้นมากับมือเอง เวลาเห็นศาลาหลังนี้พังทลายไป ก็จะมีความเสียใจ เพราะมีความผูกพัน ถ้าได้ปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ เจริญปัญญาแล้ว เราจะสามารถตัดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นที่เกิดจากความหลงได้ อุปาทานเกิดจากความหลง ความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นในสิ่งที่ไม่มีตัวตนว่าเป็นตัวตน เห็นร่างกายนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา เกิดจากอวิชชา ทำให้ปรุงแต่ง ปรุงว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา  แต่ถ้าได้ภาวนาแล้ว  เจริญปัญญาแล้ว ก็จะเห็นว่าไม่ใช่เรา ไม่เป็นของเรา เป็นอนัตตา เป็นอนิจจัง ถ้าไปยึดติดก็จะเป็นทุกขัง ทำให้เรามีความทุกข์ มีความวุ่นวายใจ  

 

การบำเพ็ญภาวนาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ได้พูดในเบื้องต้นว่า วันเวลาผ่านไป ผ่านไป เรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังภาวนากันอยู่หรือเปล่า กำลังเจริญสมาธิ กำลังเจริญปัญญากันอยู่หรือเปล่า พิจารณารูปว่าเป็นอนิจจา เป็นของไม่เที่ยง เกิด แก่ เจ็บ ตายหรือเปล่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราหรือเปล่า ถ้าเราพิจารณาแล้ว ความทุกข์ ความวุ่นวายใจเกี่ยวกับร่างกายก็จะเบาบางลงไป ถ้าพิจารณาจนเห็นชัดเจน จนปล่อยวางได้ ก็จะไม่มีความกังวลกับความเป็นความตายของร่างกายอีกต่อไป ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ อย่าฟังอย่างเดียว อย่างวันนี้ได้ยินได้ฟังแล้ว พอไปจากที่นี่ก็ลืมแล้ว เหมือนกับได้เห็นภาพชั่วขณะหนึ่ง แต่ไม่ทำภาพนั้นให้ติดตาติดใจอยู่ตลอดเวลา พอถึงเวลาจะนึกถึงภาพนั้นอีกก็นึกไม่ออก  เหมือนกับการเห็นหน้าคนเพียงแวบเดียว พอจะนึกถึงคนนั้นอีกก็นึกไม่ออกว่าหน้าตาเป็นอย่างไร  เพราะไม่นึกอยู่เรื่อยๆนั่นเอง ถ้านึกอยู่เรื่อยๆ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ถึงความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน ก็จะเห็นชัดอยู่ตลอดเวลา 

 

เมื่อเห็นชัดอยู่ตลอดเวลาก็จะไม่ลุ่มหลง จิตรู้ จิตมีสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ก็ปล่อยวางได้ตลอดเวลา ร่างกายจะเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของมัน แต่เราก็ดูแลไปเท่าที่จะสามารถดูแลได้ ถ้ายังรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ก็รักษาไป แต่จะรักษาใจก่อน คือใจต้องนิ่ง ใจต้องสงบ ไม่วุ่นวาย แล้วเรื่องของการรักษากายค่อยตามมา รักษาใจก่อนแล้วรักษากายทีหลัง ถ้าใจดีแล้วกายจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร เพราะถึงแม้จะรักษากายให้ดีอย่างไร ในที่สุดก็จะรักษาไม่ได้ ต้องทิ้งไปอยู่ดี ต่อให้มีหมอวิเศษขนาดไหน ให้มีเงินทองเป็นหมื่นล้าน แสนล้าน ก็รักษาร่างกายนี้ไปไม่ได้ตลอด สักวันหนึ่งมันก็ต้องไป ถ้าไม่รู้จักรักษาใจ ใจจะทรมานมากเวลาที่ร่างกายนี้แตกดับไป แต่ผู้ที่ได้บำเพ็ญอย่างต่อเนื่อง อย่างนักปฏิบัติทั้งหลาย จะรู้สึกเฉยๆต่อการเป็นการตายของร่างกาย เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ได้ปล่อยวางแล้ว จะเป็นอย่างไรก็พร้อมที่จะรับ ไม่ได้ไปหวังอะไรจากร่างกาย เพราะความสุขไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย 

 

คนที่ยังอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อดูรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่แหละที่จะวุ่นวาย เพราะต้องอาศัยร่างกาย เวลาไปเที่ยวก็ต้องอาศัยร่างกายนี้ไปเที่ยว แต่คนที่ภาวนาเป็น เขาเที่ยวด้วยจิต หลับตาก็ไปได้เหมือนกัน ไปสบายกว่า ไม่ต้องไปทำพาสปอร์ต ไม่ต้องไปซื้อตั๋วเครื่องบิน ไม่ต้องไปเบียดเสียดกับคนอื่น แย่งขึ้นเครื่องบินกัน ไปอย่างสบาย ไปได้ทั้ง ๓ โลกเลย โลกแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนี้ ไปได้หมด ของจิตที่ภาวนาเป็นแล้ว เป็นสิ่งวิเศษที่มีอยู่กับเราแท้ๆ อยู่ในตัวเรา คือใจของเรา แต่เรากลับไม่ดูแล ไม่เหลียวแล ไม่ให้ความสำคัญกับใจ แต่กลับให้ความสำคัญกับกายเสียมากกว่า กายมีแต่จะชำรุดทรุดโทรมไปเรื่อยๆ นอกจากกายของเราแล้ว ยังไปพะวงไปให้ความสำคัญกับกายของคนอื่นด้วย  คนอื่นเขาจะเป็นอย่างไร ก็จะเป็นจะตายไปกับเขาด้วย นี่คือความบ้าของเรา  ความหลงของเรา แทนที่จะดูแลรักษาใจไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้วุ่นวายกับสิ่งต่างๆ กลับไม่ดูแล  มัวแต่ไปดูแลคนอื่น ไปวุ่นวายกับเขา เวลาเขาเป็นอะไรไป ตายจากเราไป ก็ร้องห่มร้องไห้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ

 

นี่เป็นเรื่องของอวิชชาทั้งนั้น อวิชชา ปัจจยา สังขารา ถ้าฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วนำไปปฏิบัติ ไปภาวนา ทำจิตให้สงบ เจริญปัญญา พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต่อไปจิตจะหดตัวเข้ามาข้างใน ไม่อยากจะวุ่นวายกับเรื่องอะไรทั้งหลาย เพราะยังไงๆก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา โลกนี้เป็นอย่างนี้มาแต่ดั้งเดิม มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตายอยู่อย่างนี้มาตลอด เราไปยุ่งกับมันเองต่างหาก พอไปลุ่มไปหลง ก็อยากจะให้เป็นตรงข้ามกับที่เป็นอยู่ อยากจะไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นความบ้าแท้ๆ ถ้าพูดตามภาษาธรรมะแล้วเป็นความบ้า เพราะความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นสักหน่อย  แต่เราก็ยังอดที่จะคิดอยากให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้ คิดดูก็แล้วกันว่าความโง่เขลาของเรานั้น มันมากขนาดไหน  แต่เราไม่เคยคิดกัน กลับคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูก ที่ดีที่ควร เวลาเป็นอะไรก็รีบแก้กันแทบเป็นแทบตาย  ลุ้นกันแทบเป็นแทบตาย

 

ดังที่เป็นข่าวเมื่อวานนี้ มีปลาวาฬหลงว่ายขึ้นไปในแม่น้ำเทมส์ที่กรุงลอนดอน ชาวกรุงลอนดอนก็เป็นห่วงเป็นใยกับปลาวาฬตัวนั้น พยายามเอาใจช่วยให้มันกลับไป ได้ยินว่าเขาเอาเครนยกมันขึ้นมาใส่เรือ แล้วก็พามันออกไปกลางทะเล แต่มันก็ตายไปเสียก่อน มันหลงทาง จากที่เคยอยู่แต่ในมหาสมุทรที่ลึก ที่กว้างใหญ่ไพศาล แล้วต้องมาติดอยู่ในแม่น้ำเทมส์ ซึ่งเหมือนกับแม่น้ำเจ้าพระยา หาทางออกไม่ได้ ก็เลยเครียดจัด จนไม่มีกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป ก็เลยตายเสียก่อน ก่อนที่เขาจะยกใส่เรือแล้วเอาไปปล่อยกลางทะเล คนทั้งประเทศอังกฤษก็ลุ้นกันใหญ่ ในการช่วยเหลือเจ้าปลาวาฬตัวนี้  จะว่าไม่ดีก็ไม่ถูก คือเขามีความห่วงใย  แต่ความเมตตาก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ ต้องใช้ปัญญาด้วย ต้องยอมรับว่าอาจจะช่วยได้ หรืออาจจะช่วยไม่ได้ เพราะความไม่เที่ยงแท้แน่นอน คือความตาย ยังไงๆก็รอเจ้าปลาวาฬตัวนั้นอยู่ดี พวกเราก็เหมือนกัน เวลาใครเป็นอะไรเราก็ลุ้นกันเต็มที่  ช่วยกันเต็มที่ ถ้าช่วยได้ก็ดี แต่ใจอย่าไปวุ่นวาย  ถ้าช่วยได้ก็ไม่ต้องไปดีใจ มันก็ผ่านไปยกหนึ่ง เดี๋ยวก็ต้องมีอีกยกหนึ่งรออยู่ข้างหน้า ถ้าช่วยไม่ได้ ก็ไม่ต้องเสียใจ ถือว่าถึงเวลาที่จะอวสาน ก็ต้องให้จบไปตามเรื่องของเขา ถ้ารู้อย่างนี้แล้วใจก็จะไม่วุ่นวาย ใจก็จะไม่ทุกข์ ทำทุกอย่างไปตามหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แล้วก็ไม่ต้องมาโทษกันทีหลัง 

 

ขอให้ใช้เวลาที่มีค่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะชีวิตของเราก็เป็นเหมือนกับเทียนไข เมื่อจุดแล้วก็มีแต่จะไหม้ไปเรื่อยๆ ต้นเทียนก็จะสั้นลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดเนื้อเทียนก็จะหมดไป ชีวิตของเราก็จะหมดไป เราจึงควรใช้ชีวิตของเราให้เกิดประโยชน์ อย่าให้เกิดโทษ ถ้าไม่รู้ว่าประโยชน์เป็นอย่างไร โทษเป็นอย่างไร ก็ต้องศึกษาธรรมะให้มากๆ เช่นไปวัดอยู่เรื่อยๆ อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งควรฟังเทศน์สักครั้งหนึ่ง ยิ่งสมัยนี้มีสื่อที่ใกล้ชิดกับเรา ควรจะฟังทุกวันเลย ก่อนจะออกไปทำงานตอนเช้า ตื่นขึ้นมาก็ฟังเทศน์สักกัณฑ์หนึ่งก่อน นั่งสมาธิไปในตัว จะได้มีคติเตือนใจ จะได้ไม่ลุ่มหลงไม่วุ่นวายกับการทำงาน จะทำอย่างสบายใจ  ถ้าไม่มีธรรมะคอยเตือนใจแล้ว ก็จะวุ่นวายกับการงาน  ถ้าทำแล้วไม่ได้ดั่งใจ ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ  ก็เกิดความวิตกกังวลขึ้นมา กลัวจะถูกไล่ออกจากงาน  ถ้าถึงเวลาจะต้องตกงานก็ช่วยไม่ได้  ถ้าเป็นคนกล้าหาญ ก็จะได้ใช้เวลาที่ตกงานนี้มาปฏิบัติธรรม

 

การกินอยู่นี้ไม่ต้องใช้เงินมากหรอก อย่างที่เคยเล่าให้ฟัง อาตมามีเงินอยู่ ๖,๐๐๐ บาท ก็ตัดสินใจลาออกจากงาน คิดว่าจะอยู่ได้อย่างน้อยปีหนึ่งโดยไม่ต้องทำงาน เพราะสมัยนั้นข้าวก็จานละ ๓ บาท ก๋วยเตี๋ยวก็ชามละ ๒ บาท วันหนึ่งกินมื้อเดียวก็แค่ ๕ บาทเท่านั้นเอง เดือนหนึ่ง ๓๐ วันก็ ๑๕๐ บาท เป็นค่าอาหาร อยู่ไปปีหนึ่งเงินยังเหลืออีกตั้ง ๓,๐๐๐ บาท พอสำหรับซื้อเครื่องอัฐบริขารไว้บวชพอดี เงินทองจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตสำหรับนักปฏิบัติธรรม แต่สำหรับกิเลสแล้ว เป็นเรื่องใหญ่โตมาก กระเป๋าใบหนึ่งก็เป็นหมื่น รองเท้าคู่หนึ่งก็เป็นหมื่น เสื้อผ้าชุดหนึ่งก็เป็นหมื่น ถ้ามีเงินซื้อ รับรองต้องซื้อแน่ๆ ราคาเป็นหมื่นนี้ซื้อไปทำไม ก็เท่านั้นแหละ เอาเงินมาสร้างบุญสร้างกุศลดีกว่า เก็บไว้เผื่อตกงาน จะได้ใช้เวลาที่ตกงานนี้มาภาวนา  ถ้ามีเงินเก็บสะสมไว้ เวลาทำงานจะได้ไม่เครียด เวลาจะออกจากงาน ก็ออกได้อย่างสง่าผ่าเผย ลาออก ไม่ต้องให้เขาไล่ออก อย่างอาตมานี้ลาออกเลย เจ้าของบริษัทถามว่า ต้องการเงินเดือนเพิ่มหรือ ไม่หรอก เราพอแล้ว

 

ถาม  ท่านอาจารย์ เรามีรายได้นี่ครับ เรื่องการใช้จ่ายทุกคนก็พยายามหาว่า ตรงกลางที่เราใช้กับอัตภาพของเรานี่มันอยู่ตรงไหนครับ คนมีรายได้น้อยเขาก็บอกว่าใช้แค่นี้พอ แต่คนมีรายได้มากเขาก็บอกว่าแค่นี้พอ มันก็คงไม่เท่ากันในการดำรงชีพแบบสายกลางของแต่ละคน

 

ตอบ  ความจริงแล้วมันเท่ากัน เพราะเรากินเท่ากัน แต่เราชอบอ้างว่า เรามีเงินมากก็อยากจะกินของแพง ถ้าใช้น้อยเราก็จะมีเงินเหลือเยอะ เราจะมีอำนาจต่อรองมาก ไม่ต้องกังวลกับเรื่องการถูกไล่ออกจากงาน เรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่เดือดร้อน เพราะมีเงินสำรองและไม่ใช้เงินมาก ใช้แบบมักน้อยจริงๆตามหลักธรรม มักน้อยของพระก็ฉันวันละมื้อ ฆราวาสถ้าไม่ทำงานกินวันละมื้อก็อยู่ได้ กินอาหารราคาถูกๆ เพราะอาหารถูกไม่ได้เป็นอาหารเลว ของทุกอย่างก็มาจากตลาดเหมือนกัน มาแพงตอนที่เอามาขาย ถ้าขายข้างถนนก็ราคาหนึ่ง ขายในห้องแอร์ก็อีกราคาหนึ่ง แต่อาหารก็ชนิดเดียวกัน ไม่ควรเสียเงินไปกับความหรูหรา ความฟุ้งเฟ้อ ความฟุ่มเฟือย จะประหยัดได้เยอะ 

 

ถาม  อยากจะเรียนถามพระอาจารย์ ถ้าสามารถฝึกสมาธิเพื่อจะท่องเที่ยวได้ถึง ๓ โลกนี่ค่ะ หมายความว่าเป็นการส่งจิตออกหรือคะ หรือว่าหลักในการพิจารณานี่ควรจะส่งจิตเข้าตัวเอง พิจารณาตนเอง

 

ตอบ  ใช่ คือถ้าเวลาภาวนาเพื่อมรรคเพื่อผล ก็ต้องให้จิตอยู่ภายใน ให้จิตสงบนิ่ง เมื่อจิตออกจากความสงบนิ่ง ก็ให้พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวลาว่างจากงานวิปัสสนา ถ้าจิตมีวาสนาบารมี ก็สามารถไปเที่ยวสวรรค์ได้ อย่างพระพุทธเจ้าไปเยี่ยมพุทธมารดา อย่างหลวงปู่มั่นก็มีเทวดามาสนทนาธรรม เป็นการพูดเปรียบเปรยว่าจิตสามารถไปได้หมดในโลกทั้ง ๓ คือไตรภพ แต่เวลาภาวนาปฏิบัติเพื่อมรรคเพื่อผลแล้วก็ไม่ควรไป เพราะจะหลง จะเสียเวลา เวลาภาวนาเบื้องต้นแล้วเกิดมีเทวดามาหา หรือจิตไปเที่ยวนรก เที่ยวสวรรค์ อย่างนี้ก็อย่าปล่อยไป ไปเพียงครั้งแรกครั้งเดียวก็พอ ให้รู้ว่ามีอยู่นะ เป็นอย่างนี้ แต่ไม่ควรไปจนติดเป็นนิสัย ควรไปที่ร่างกาย  พิจารณาให้เห็นอาการ ๓๒  ความไม่สวยไม่งาม ให้เห็นซากศพ เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของร่างกาย พิจารณาจนปล่อยวางร่างกายได้ ไม่ยึดไม่ติด ไม่กังวลกับความเป็นความตายของร่างกาย  นี่คือสถานที่ที่จะต้องไป เวลาภาวนาเพื่อมรรคเพื่อผล  แต่เวลาที่ไม่มีงานจะต้องทำแล้ว อยากจะไปเที่ยวไหนก็ไปได้ ไม่มีใครห้าม ไม่เป็นโทษสำหรับจิตที่หลุดพ้นแล้ว เพราะไม่ได้ไปแบบลุ่มหลง ไม่ได้ไปเพราะอยากจะไป อยู่ว่างๆก็ปล่อยจิตไป ไม่มีความเสียหายอะไร แต่ต้องเสร็จงานของตนก่อน ต้องทำงานของเราให้เสร็จก่อน แล้วค่อยไปเที่ยว

 

 

ถาม  ท่านหมายถึงไปเที่ยวด้วยจิตเราเองใช่ไหมคะ อย่างเราไปต่างประเทศนี่ เราก็ไปของเราเอง เราจินตนาการไปเอง ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ลองไปทำดู

 

ถาม  ท่านอาจารย์บอกว่าการงานของตัวเองต้องเสร็จก่อนถึงจะไป ไม่งั้นไปแล้วเดี๋ยวมันควบคุมไม่ได้

 

ตอบ  ก็อย่างที่พระอรหันต์ท่านอุทานตอนที่ได้บรรลุแล้วว่า กิจในพรหมจรรย์นี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำอีกต่อไป หลังจากนั้นก็เป็นการทำงานเพื่อผู้อื่น สั่งสอนอบรมมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เวลาว่างจะเข้าสมาธิพักจิต หรือไปท่องเที่ยวสวรรค์นรกบ้าง ก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าสามารถไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจิตของทุกคนจะเป็นแบบนั้น บางคนไม่มีวาสนาที่จะไป ก็ไม่ได้ไป

 

ถาม  พระอาจารย์คะ เวลาเราเกิดมานี่เราอาจจะทำทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดีนี่นะคะ ตอนช่วงที่เราจะดับนี่นะคะ ถ้าหากว่าเราได้สมาธิ เราจะไปภพภูมิที่ดีเลย คล้ายข้ามชั้นไปเลยอย่างนั้นใช่หรือเปล่าคะ หรือเราจะมาวนใช้กรรมก่อน

 

ตอบ  ไม่แน่ ถ้าเป็นพระอริยะ จะไปที่ดีโดยถ่ายเดียว แต่ถ้ายังอยู่ขั้นสมาธินี้ไม่แน่ เพราะสมาธิไม่ใช่โลกุตตรธรรม มันไม่ถาวร ไม่เหมือนกับปัญญา ถ้ามีปัญญาอยู่ติดกับใจแล้ว จะป้องกันใจไม่ให้ไปสู่ที่ต่ำได้ อย่างพระโสดาบัน ท่านจะไม่ไปเกิดในอบายอีกต่อไป ถึงแม้จะเคยทำบาปทำกรรมมาในอดีต แล้วยังไม่ได้ใช้กรรมใช้บาปที่ได้ทำไว้ กรรมเหล่านั้นจะไม่มีอำนาจส่งให้ท่านไปเกิดในอบายได้ แต่ถ้าเป็นสมาธิ อย่างพระเทวทัต ท่านได้สมาธิแล้ว มีฤทธิ์มีเดช แต่ไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล เมื่อไปทำบาปทำกรรม เวลามรณภาพไป ก็ต้องไปตกนรกก่อน สมาธิไม่ใช่ตัวที่จะรับประกันไม่ให้ไปเกิดในอบาย ต้องเป็นโลกกุตตรธรรม เป็นปัญญาขั้นแรก คือขั้นของพระโสดาบัน ดังที่มีพระอยู่รูปหนึ่งก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ท่านมีความผูกพันกับจีวรอยู่ผืนหนึ่ง พอท่านมรณภาพ ท่านก็กลับมาเกิดเป็นตัวเล็น มาเกาะจีวรอยู่ ๗ วัน แสดงว่าท่านก็ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ถ้าจิตเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ท่านย่อมไม่ไปเกิดเป็นตัวเล็น เป็นสัตว์ เดรัจฉาน จะต้องเป็นมนุษย์หรือเป็นเทพเท่านั้น แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ภายใน ๗ ชาติ

 

ถ้าเป็นสมาธินี่ ยังกำหนดอะไรไม่ได้ ยังไปเกิดในอบายได้ ยังเวียนว่ายตายเกิดอีกแสนชาติก็ได้ อย่างครูบาอาจารย์ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ รูปที่ได้บรรลุฌาน เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว ท่านก็จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหมโลก แต่หลังจากนั้นแล้วเมื่อสมาธิเสื่อมหมดไป จิตก็จะหยาบลง ก็จะกลับมาเกิดเป็นเทพ กลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็ต้องมาสร้างบุญสร้างกุศล มาใช้เวรใช้กรรมที่เคยทำไว้ต่อไป แต่ถ้าได้เจริญปัญญา เห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ ว่าไม่มีตัวไม่มีตน อย่างพระโสดาบันที่สามารถละสักกายทิฐิได้ เห็นว่าขันธ์ ๕ นี้ ไม่มีตัวไม่มีตน ท่านก็จะปล่อยวาง ไม่หลง ไม่ยึดไม่ติดกับขันธ์อีกต่อไป  มันต่างกันตรงนั้น คือที่ปัญญา เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบเอง  ก่อนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น นักปฏิบัติเขาพบแล้วคือทานศีลสมาธิ แต่ทานศีลสมาธิไม่สามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้  เพราะไม่สามารถทำลายกิเลส  ทำลายอวิชชาได้นั่นเอง ตัวที่จะทำลายกิเลส  ทำลายอวิชชาได้ ก็คือปัญญา คือไตรลักษณ์นี่เอง

 

ถ้าเห็นความไม่เที่ยง เห็นความทุกข์ เห็นอนัตตาในขันธ์ ๕ แล้ว  ก็จะปล่อยวางได้ เมื่อปล่อยวางแล้วก็จะไม่หลง ไม่หวนกลับไปหาสิ่งนั้นอีก  ถ้าพระรูปนั้นท่านเห็นไตรลักษณ์ ท่านก็จะไม่เสียดายจีวรผืนนั้น  ท่านมรณภาพแล้วก็จะไปเลย ไปข้างหน้า ไปหาเอาข้างหน้าก็ได้  ถ้ายังจำเป็นจะต้องมีรูปมีร่าง  มีเสื้อผ้าใส่ก็ไปหาข้างหน้า ผืนที่มีอยู่แล้วจะดีวิเศษแค่ไหนก็ไม่ยึดไม่ติดกับมัน  พอถึงเวลาจากกันก็จากกันไปเลย ไปแล้วไม่เหลียวหลัง แต่คนที่ไม่มีปัญญายังชอบเหลียวหลังอยู่  ยังคิดถึงของดีๆ ของวิเศษที่ตนเองมีอยู่  คนบางคนจึงกลับมาเกิดในบ้านของตัวเอง เศรษฐีที่ขุดหลุมฝังเงินไว้ เวลาตายก็กลับมาเกิดเป็นสุนัขในบ้านของตน เพราะยังมีความผูกพันกับเงินทองของตน จึงควรเจริญไตรลักษณ์ให้มากๆ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อจะได้ตัดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ถ้ามีคนสอนจะไม่ยากหรอก เมื่อก่อนไม่มีคนสอนก็เลยไม่มีใครรู้ ก็เลยไม่ได้ทำกัน มัวแต่ติดกับสิ่งนั้นสิ่งนี้  พอมีพระพุทธเจ้ามาสอน ทรงแสดงธรรมครั้งแรกพระอัญญาโกณฑัญญะก็ปล่อยวางขันธ์ได้  บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นมาทันที

 

ถาม เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้พูดถึง อวิชชา ปัจจยา สังขารา ทีนี้ วิชชา ปัจจยา สังขารานี้ มีความหมายว่าอย่างไร

 

ตอบ เป็นเหมือนกับลูกโซ่ที่ต่อเนื่องกัน การทำงานของนามขันธ์เป็นอย่างนี้ พอมีความเห็นเกิดขึ้นมา ความเห็นนี้ก็กระตุ้นให้เกิดความคิดขึ้นมา เช่นเห็นว่าการทำบุญดี ก็เกิดความคิดว่าไปทำบุญกันดีกว่า นี่ก็เป็นสังขาร ความคิดปรุง แล้วก็รับทราบในใจ ตัวรับทราบนี้ก็คือวิญญาณ แล้วก็ออกมาทางนามกับรูปก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เอารูปคือร่างกายมาทำกิจที่คิดจะทำ คือไปทำบุญ เมื่อทำแล้วก็เกิดเวทนาคือความสุข เมื่อเกิดความสุขก็เกิดความชอบ เกิดความผูกพัน ที่จะทำอย่างนี้อีก ก็เกิดเป็นภพเป็นชาติ ภพชาติก็คือการกระทำใหม่อีก มาทำบุญคราวนี้แล้วพอใจ คราวหน้าก็จะมาทำอีก เรามาเกิดในชาตินี้แล้วพอใจกับชาตินี้  พอตายไปเราก็อยากจะกลับมาเกิดอีก  ก็วนไปอย่างนี้ นี่พูดแบบรวมๆ  

 

แต่ในใจนั้นจะมีหลายขั้น เริ่มตั้งแต่ อวิชชา ปัจจยา สังขารา, สังขาระ ปัจจยา วิญญาณัง, วิญญาณะ ปัจจยา นามะรูปัง, นามะรูปะ ปัจจยา สฬายตนัง, สฬายตนะ ปัจจยา ผัสโส ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ก็เกิดเวทนาขึ้นมา ผัสสะ ปัจจยา เวทนา เมื่อเกิดเวทนาก็เกิดตัณหาขึ้นมา เวทนา ปัจจยา ตัณหา เกิดตัณหาก็เกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ตัณหา ปัจจยา อุปาทานัง เกิดตัณหาอยากจะให้รูปนั้นอยู่ไปนานๆ ก็พยายามเหนี่ยวรั้งรูปนั้นไว้ ถ้ารูปนั้นเสียไปก็หารูปใหม่มาแทน รถคันนี้เสียไปก็หารถคันใหม่มาแทน ก็เป็นการสร้างภพขึ้นมาใหม่ ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

 

อยู่ที่ตัวเริ่มต้นเป็นหลัก ถ้าเป็นอวิชชาก็จะทำให้คิดไปในทางติดอยู่กับการสร้างภพสร้างชาติ เวียนว่ายตายเกิด คิดอยู่กับเรื่องกามสุข เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ แต่ถ้าเป็นทางธรรมะ ก็จะคิดไปทางทาน ศีล ภาวนา ก็จะตัดสังขารไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อภาวนาจะเห็นว่าสังขารเป็นตัววุ่นวาย ยิ่งคิดยิ่งปรุง ยิ่งวุ่นวาย ถ้าหยุดสังขารได้ก็จะสบาย สักแต่ว่ารู้ อย่างนี้ดีที่สุด เห็นอะไรก็ไม่ปรุงแต่ง จะเป็นอะไรก็ให้เป็นไป สักแต่ว่าเป็น ไม่ไปคิดว่าดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา ซึ่งเป็นงานของสังขาร เมื่อวิพากษ์วิจารณ์ไปแล้วก็เกิดความรู้สึกขึ้นมา ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง  พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง  ก็เกิดตัณหาขึ้นมา ก็ต้องไปจัดการ  ไปแก้ไข ไปทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ กับเรื่องนั้นเรื่องนี้

 

ถ้ามีปัญญาก็จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นอย่างนี้แหละ ไปทำไปแก้อย่างไรเดี๋ยวก็กลับมาเป็นอย่างนี้อีก แก้วันนี้แล้วพรุ่งนี้ก็มีเรื่องใหม่มาให้แก้อยู่เรื่อยๆ แก้ไปจนวันตายก็ไม่หมด งานทางโลกทำไปเท่าไรก็ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เหมือนงานทางธรรม คือรู้ทันว่าเรากำลังหลงกับเรื่องราวต่างๆในโลกนี้ หยุดวุ่นวายกับมันได้แล้ว ดูแลรักษาใจของเราให้สงบ ไม่ไปปรุงไปแต่งเท่านั้นแหละ ก็เป็นธรรมะขึ้นมา เป็นวิชชา ปัจจยา สังขารา เมื่อมีธรรมะแล้วก็ไม่คิดไปทางเรื่องวุ่นวาย ถ้าจะคิดก็จะคิดในเรื่องที่เกิดคุณประโยชน์  อย่างจิตของพระอรหันต์ จิตของพระพุทธเจ้านี้ ท่านมีแต่วิชชาหรือ ธัมมะ ปัจจยา สังขารา ท่านก็คิดแต่ในเรื่องที่ดี เรื่องที่ทำให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ ทำแล้วก็ปล่อยวาง ไม่ยึด ไม่ติด เพราะท่านมีปัญญา มีสัมมาทิฐิ คอยคุมไม่ให้เกิด เวลาสัมผัสกับเวทนาก็ไม่ยินดีกับเวทนา ไม่เกิดตัณหา เมื่อไม่มีตัณหาก็ไม่มีอุปาทานความยึดติดกับสิ่งต่างๆ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ  ไม่ได้ทำด้วยความยึดติด ทำไปแล้วก็แล้วกันไป เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นเท่านั้นเอง คนอื่นจะพอใจหรือไม่ จะขอบใจหรือไม่ ท่านไม่สนใจ ไม่เอามาเป็นอารมณ์

 

เมื่อพิจารณาด้วยธรรมแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็ทำไป ใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ไม่เกี่ยวกับท่าน วิพากษ์วิจารณ์ไปก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ของคนหูหนวกตาบอด ใครจะวิพากษ์วิจารณ์พระพุทธเจ้า กับพระอรหันต์ได้ พระอรหันต์กับพระพุทธเจ้าไม่วิพากษ์วิจารณ์กันหรอก มีแต่พวกคนหูหนวกตาบอดอย่างพวกเราเท่านั้น ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ครูบาอาจารย์กัน จะตกนรกหมกไหม้โดยไม่รู้ตัว จิตจะว้าวุ่นขุ่นมัวกับการวิจารณ์ เรื่องของครูบาอาจารย์จึงไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ ท่านมีปัญญา ท่านรู้เห็นหลายมิติ ลึกกว่าเรา กว้างกว่าเรา เรามองเพียงมิติเดียว คิดอย่างนี้แล้วจะได้สบายใจ จะได้ไม่ต้องไปกังวลกับท่าน ไม่ต้องไปห่วงท่าน ห่วงตัวเราเถิด ท่านสอนเรา ไม่ใช่เราสอนท่าน จึงไม่ต้องไปห่วงไปกังวลกับท่าน ท่านพร้อม ท่านบริบูรณ์ในทุกอย่างแล้ว  เวลาท่านทำอะไร ไม่ได้ทำแบบหุนหันพลันแล่นอย่างพวกเรา ท่านคิดโดยรอบคอบแล้วด้วยธรรม พอจะเข้าใจนะเรื่องอวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชาคือความหลง ส่วนธรรมะคือความรู้ ถ้ามีธรรมะก็จะปรุงแต่งไปในทางที่ดี เช่นชวนกันมาทำบุญ ชวนกันไปภาวนา อย่างนี้เรียกว่าธรรมะพาไป ถ้าชวนกันไปกินเหล้าเมายา อย่างนี้อวิชชาพาไป อวิชชา ปัจจยา สังขารา

 

วันนี้ดีไม่ค่อยมีปัญหา หรือถามจนหมดแล้ว เป็นอย่างไรลูกดีขึ้นไหม เราแก้ถูกจุดแล้ว คือแก้ที่ตัวเราก่อน

 

 ตอบ  ทำใจได้เยอะค่ะ 

 

ถ้าแก้ได้ก็ดี ถ้าแก้ไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้ แก้ที่ตัวเราก่อน ตัวเราๆแก้ได้ แต่มักไม่ค่อยชอบแก้กันเท่าไร ชอบไปแก้คนอื่น จึงวุ่นวายกันตลอดเวลา แก้ตัวเราก่อน ทำใจให้ปล่อยวางให้ได้ เมื่อปล่อยวางแล้ว เวลาจะแก้ ก็จะแก้ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความรู้จักประมาณ ถ้ายังปล่อยวางไม่ได้ จะแก้ด้วยอารมณ์ จะต้องแก้ให้ได้อย่างเดียวเท่านั้น ถ้าไม่ได้ก็วุ่นวายใจ จึงต้องแก้ที่ตัวเราก่อน แก้ที่ตัวเราแล้ว จะไปแก้อย่างอื่นก็แก้ไปเท่าที่จะแก้ได้ ควรภาวนาให้มากนะ อันนี้สำคัญมาก ทานศีลก็ทำไป การทำทานนี้ง่าย ซื้อข้าวซื้อของบริจาคไป บริจาคเป็นเงินเป็นทองไปก็ได้  ศีลก็รักษาอยู่แล้วเป็นปกติ ศีล ๕ ศีล ๘ แต่สิ่งที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลาก็คือภาวนา เวลาภาวนาก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปอยู่ในห้องพระ หรือไปอยู่ที่วัดถึงจะภาวนาได้ 

 

ความจริงเราภาวนาได้ทุกเวลาและสถานที่ การภาวนาก็คือการมีสตินี่เอง ถ้ามีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกายกับใจ ก็ถือว่ากำลังภาวนาแล้ว ให้มีสติอยู่กับตัว อยู่ที่กายกับใจ อย่าไปอยู่กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ถ้าไม่จำเป็น แต่ถ้าจำเป็นจะต้องคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็คิดให้เสร็จไปเลย คิดเสร็จแล้วก็ปล่อยมันไป แล้วก็หันกลับมาดูกายกับใจ วันทั้งวันจะมีกายกับใจที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ความคิดของเราก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ต้องคอยตามดูว่า คิดไปในทางอวิชชา หรือคิดไปในทางธรรมะ ถ้าคิดไปสร้างสมบัติ สร้างข้าวของเงินทอง ก็ไปทางโลก ไปทางอวิชชา  ก็ต้องดึงกลับมา เอาพอประมาณ เอาเท่าที่จำเป็น พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็พอ สร้างธรรมะดีกว่า ภาวนาดีกว่าอย่างนี้เป็นต้น ต้องคอยดึงให้กลับเข้ามา ทำอะไรก็อย่าไปยึด อย่าไปติด ให้รู้ทันแล้วก็ปล่อยวาง มีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป ได้ผลมากน้อยเพียงไร ดีหรือชั่วอย่างไร ก็ไม่ต้องไปวุ่นวาย ผ่านไปแล้วก็ปล่อยมันผ่านไป ให้ใจเป็นปัจจุบันอยู่เรื่อยๆ

 

ถาม  มีคนเขาสงสัยเกี่ยวกับทาน ศีล ภาวนา ว่าจะเน้นแต่ศีลกับภาวนา แต่ทานอาจจะทำน้อยหน่อย อะไรอย่างนี้ละค่ะ

 

ตอบ  คือถ้าทานยังไม่ทำเต็มที่ ศีลก็จะไม่ได้เต็มที่ มันสนับสนุนกัน

 

ถาม  คือเขาพอภาวนาได้ ศีลก็พอรักษาได้

 

ตอบ  ทำได้แต่อาจจะไม่ได้ผลมาก เพราะใจยังยึดติดอยู่กับเงินทอง ยังเสียดาย ยังมีความตระหนี่ ยังมีความเห็นแก่ตัว ก็จะไปไม่ได้ไกล จะออกบวชก็ออกไม่ได้ ยังเสียดายทรัพย์สมบัติอยู่ อย่างพระพุทธเจ้าถ้าไม่ได้ให้ทานมากตอนเป็นพระเวสสันดร เวลามาเกิดเป็นโอรสของกษัตริย์ จะออกบวชคงจะยาก เช่นทำทานเพียงเล็กน้อย มี ๑๐๐ บาทก็ทำเพียง ๑๐ บาท เก็บไว้อีก ๙๐ บาท ยังเสียดายอยู่ ก็จะออกบวชไม่ได้ แต่ถ้ามี ๑๐๐ ก็ให้ทั้ง๑๐๐ เลย อย่างนี้ก็ไม่เสียดาย ถึงแม้การภาวนา การรักษาศีลจะมีอานิสงส์มากกว่า แต่เวลาเราทำอาจจะไม่ได้ผลเต็มที่ เพราะใจยังผูกพันอยู่กับเงินทอง  ก็แล้วแต่ อันนี้ไม่ได้บังคับกัน บางคนก็คิดว่าเก็บไว้ก็ได้  เมื่อจิตเกิดได้ธรรมะขึ้นมา  ก็ต้องขนเอามาทำทานอยู่ดี ตอนนี้จิตยังหวงอยู่ ยังเสียดายอยู่ เหมือนพระที่เสียดายจีวร ตายไปก็กลับมาหาจีวร เลยไม่ได้อริยทรัพย์ ต้องตัดโลกียทรัพย์ก่อนถึงจะได้อริยทรัพย์ เมื่อเห็นโลกียทรัพย์เป็นไตรลักษณ์ เป็นทุกข์ไม่ได้เป็นสุข เป็นตัวผูกมัดให้เวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องตัด ต้องปล่อย  เมื่อปล่อยแล้วเวลาตายไป ก็จะได้ไม่กลับมาเกิดอีก แต่ถ้ายังติดกับมันอยู่ เดี๋ยวก็จะกลับมาเกิดเป็นตุ๊กแกในบ้านของเรา

 

ภาวนาแต่ยังไม่ถึงขั้นภาวนาจริงๆ เป็นเพียงรูปแบบ ยังไม่เป็นตัวภาวนา คือตัวเองคิดว่ากำลังภาวนา กำลังรักษาศีลอยู่ แต่ใจยังติดอยู่กับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ยังไม่เข้าใจว่าภาวนาเพื่อตัด เพื่อปล่อย เพื่อวาง ถ้าไม่ปล่อยไม่วาง จิตก็จะไม่เข้าสู่ความสงบ ถ้าวันไหนภาวนาแล้วเกิดปล่อยวางได้สักขณะหนึ่ง จิตรวมลง เข้าสู่ความสงบ พอได้เห็นความสงบแล้ว ก็จะยกเงินทองให้คนอื่นไปหมดเลย เพราะเวลาคิดถึงเงินทองก็จะรบกวนความสงบของจิต  จึงไม่ต้องการ สมัยที่อาตมาบวชใหม่ๆ โยมมีที่อยู่แปลงหนึ่งใส่ชื่อของอาตมาไว้ ทีนี้เขาก็ส่งหนังสือมาให้เซ็นชื่ออยู่เรื่อยๆ บางทีเจ้าของที่ดินข้างๆต้องการทำรังวัด  ก็ต้องส่งหนังสือมาให้เซ็นชื่อ  ก็เลยบอกว่าไม่เอาดีกว่า เพราะวุ่นวาย  เพราะไม่ได้ใช้อยู่แล้ว  เมื่อถึงเวลาจะปล่อย ก็จะปล่อยไปเอง ตอนนี้ถ้ายังไม่ปล่อย ก็ไม่เป็นไร

 

ถาม  กรณีต่อเนื่องกันนะคะ สมมุติว่าเรามีสมบัติ เราก็นึกว่าให้ลูกหลานเราไปหมดเลย ถือว่าเป็นการปล่อยหรือเปล่าคะ

 

ตอบ  ถ้าให้โดยไม่มีเงื่อนไขก็ถือว่าได้ปล่อยแล้ว เพียงแต่จะปล่อยแบบฉลาดหรือโง่ เพราะเราก็ต้องมีส่วนหนึ่งไว้ดูแลตัวเราเอง ถ้าปล่อยไปหมดแล้วไม่มีกินจะทำอย่างไร ถ้าลูกหลานไม่เลี้ยง หรือเอาเงินไปถลุงหมด ก็ต้องมีไว้บ้าง ถ้ายังไม่ได้เป็นนักบวช ถ้าเป็นนักบวชก็ไม่เป็นไร เพราะมีผ้าเหลืองซึ่งเป็นสมบัติที่วิเศษไว้คอยดูแล มีข้าวกินทุกวัน แต่ถ้ายังเป็นฆราวาสอยู่ ยังต้องหากินเอง ถ้าไม่มีเงินทองจะทำอย่างไร ก็ต้องมีส่วนหนึ่งไว้สำหรับดูแลเรื่องนี้  แต่ไม่ต้องมีมากมายให้กลายเป็นภาระขึ้นมา  ถ้าคิดว่าอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ ก็เก็บไว้บ้างก็ได้  ถ้าใจไม่ไปสนใจกับมัน ฝากเงินก้อนนี้ไว้ในธนาคาร ไม่ไปกังวลกับมัน แล้วก็ภาวนาไป  รักษาศีลไป ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่สักวันหนึ่งพอจิตสงบเข้าจริงๆแล้ว  แล้วยังต้องคอยดูแลมันอยู่  ต้องคอยมาเซ็นชื่อ ต้องคอยไปที่อำเภอ ไปทำกิจต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับการทำจิตให้สงบ  ก็จะรำคาญ ก็จะขายๆทิ้งไป  หรือยกให้ใครไป เพราะมันไม่มีความจำเป็นกับเราอีกแล้ว  ถ้าจิตเริ่มสงบแล้ว เราจะรู้แล้วว่า มีสิ่งที่ดีกว่าอยู่ในตัวเรา เราจะเอาสิ่งนี้สิ่งเดียว  นั่นคือการทำจิตใจให้สงบ  เมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว ต่อให้มีทรัพย์สมบัติมากน้อยเพียงไรก็จะโอนให้คนอื่นเขาไปหมด

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ แล้วเล่นหุ้นเป็นบาปไหมคะ ไม่มั่นใจ

 

ตอบ  อยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราทุกข์กับมันก็บาป ถ้ากินไม่ได้ นอนไม่หลับ เสียอกเสียใจ อย่างนี้ก็บาปแล้ว สร้างความทุกข์ให้กับเรา จะว่าบาปก็ไม่เชิง เพราะคำว่าบาปหมายถึงการไปสร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น ไปเบียดเบียนผู้อื่น แต่นี่เป็นการเบียดเบียนตัวเรา เรียกว่าเป็นอกุศลก็แล้วกัน ไม่ฉลาด

 

ถาม  จะผิดศีลไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ผิดศีล ไม่ผิดกฎหมาย

 

ถาม  เหมือนกับซื้อลอตเตอรี่ไหมคะ

 

ตอบ ซื้อลอตเตอรี่ก็ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีล

 

ถาม  เป็นการพนันไหมคะ มันเป็นอบายมุข

 

ตอบ  เป็นอบายมุข

 

ถาม  มันนำมาซึ่งความโลภ

 

ตอบ  อาจจะทำให้เราผิดศีลต่อไป ถ้าเราเล่นแบบหักโหม เล่นแบบทุ่มเท เล่นแบบเอาเป็นเอาตาย พอเงินหมดก็ต้องไปหาเงินมาด้วยวิธีที่ไม่สุจริต

 

ถาม  อาการของจิตที่ตกภวังค์นี่นะครับ มีลักษณะอย่างไรบ้างครับ

 

ตอบ  คำว่าภวังค์นี่มี ๒ ความหมาย  ภวังค์หลับกับภวังค์สมาธิ

 

ถาม  มีอาการอย่างไรครับ

 

ตอบ  ถ้าเป็นภวังค์หลับก็จะไม่มีสติ จะไม่รู้ว่าตัวเองหลับไป เหมือนคนหลับใน นั่งขับรถไปแล้วก็หลับใน นั่นก็ตกภวังค์หลับ แต่ถ้าเป็นภวังค์สมาธิ จิตก็เหมือนกับตกหลุมตกบ่อแล้วก็นิ่งไป แต่มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา รู้ว่าขณะนี้จิตเบาหวิวสบาย ไม่คิดอะไร หรือคิดก็คิดน้อยมาก อย่างนี้เป็นภวังค์สมาธิ คือความสงบนั้นเอง บางทีก็ใช้คำว่าภวังค์ บางทีก็ใช้คำว่าสงบ จิตรวมตัว จิตเป็นหนึ่ง เช่นเราบริกรรมพุทโธๆๆไป พอถึงจุดของมัน มันก็รวมลง เหมือนกับตกหลุม ตกบ่อ ตกเหว เหมือนกับเวลานั่งเครื่องบินแล้วตกหลุมอากาศ วูบไปแล้วก็นิ่ง มีสติครบถ้วนบริบูรณ์  เหมือนกับเรานั่งคุยกันอย่างนี้ คุยกันไปคุยกันมาจิตวูบลงไปก็ได้  ก็เป็นได้เหมือนกัน เดินจงกรมบางทีก็รวมลงได้ในขณะที่เดินอยู่  ถ้าจิตไม่ไปคิดอะไร  ก็จะตกหลุมของภวังค์  เป็นสมาธิเป็นความสงบขึ้นมา

 

ถาม  ถ้าเป็นในลักษณะที่อาจารย์อธิบายมานี่ ก็ปล่อยให้มันเดินอย่างนั้นไปเรื่อยๆ

 

ตอบ  ได้ จิตกับกายคนละส่วนกัน  เดินไปจิตก็ยังสงบอยู่

 

ถาม  แล้วนั่งภาวนาด้วยได้ไหมครับ

 

ตอบ  ได้ เวลาจิตสงบแล้ว  ร่างกายจะทำงานก็ยังทำได้อยู่

 

ถาม  คือจิตเป็นสมาธินั่นเองใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่ เพียงแต่สมาธิมีหลายระดับ มีความลึกตื้นหนาบางต่างกัน ถ้าภาวนาไปมากๆแล้วมันก็จะลงลึก ลงได้ทุกอิริยาบถ เริ่มต้นอาจจะต้องอาศัยท่านั่งเป็นหลักถึงจะรวมลง เพราะต้องการความนิ่งจริงๆของกาย  เพื่อที่จะให้ใจสงบ  แต่เมื่อใจมีฐานของความสงบอยู่แล้ว บางทีเดินจงกรมไปก็รวมลงได้  อย่างหลวงปู่ชอบที่ชอบเดินธุดงค์ตอนกลางคืน  ท่านก็ถือตะเกียง ถือโคมไฟเดินไปเรื่อยๆ เดินไปก็ภาวนาไป พุทโธๆๆไป ครั้งหนึ่งท่านเดินไปจ๊ะเอ๋กับเสือลายพาดกลอน พอจิตเห็นเสือปั๊บ จิตก็รวมลงเลย  เสือก็หายไปจากความรู้สึกในจิตเลย  พอจิตถอนออกมา  เทียนที่จุดไว้ในโคมไฟที่ท่านถืออยู่  ได้ไหม้ไปหมดแล้ว แต่ท่านก็ยังถือโคมไฟนั้นอยู่ แสดงว่าจิตรวมลงเป็นเวลานานพอสมควร ร่างกายเหมือนกับกลายเป็นหินไป ยืนนิ่งอยู่เฉยๆ จิตตอนนั้นปล่อยวางร่างกาย จิตรวมลงไป ร่างกายอยู่ในอิริยาบถไหน ก็ยังอยู่อย่างนั้น  ตอนที่จิตเห็นเสือมันก็ตกใจ แต่มีสติคุมอยู่ก็เลยไม่ตื่นตระนก  ถ้าไม่มีสติ เห็นเสือปั๊บจิตก็จะตื่นตระนกตกใจกลัว มันก็จะกระโดด กระโจนหนี  แต่นี่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะมีสติคุมอยู่  จิตก็เลยรวมลง เข้าสู่ภวังค์  รวมเป็นสมาธิ

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ ลูกไม่ชอบเดินจงกรมนะคะ แต่นั่งสมาธิ จะทำให้การปฏิบัติแตกต่างกันอย่างไรคะ

 

ตอบ  ถ้าปฏิบัติอย่างญาติโยมนี้ การเดินจงกรมก็ยังไม่ค่อยมีความจำเป็นเท่าไร เพราะยังปฏิบัติน้อยอยู่ ที่ต้องเดินจงกรมนั้น หมายถึงพวกที่ปฏิบัติเป็นอาชีพ อย่างพระปฏิบัติ จะนั่งตลอดเวลานี่มันไม่ไหว ร่างกายต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าจะภาวนาแต่เฉพาะท่านั่งก็ไม่พอ เพราะต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เวลาที่เปลี่ยนอิริยาบถก็ยังภาวนาต่อไปได้ เคยบริกรรมพุทโธๆๆอยู่ในท่านั่ง ลุกขึ้นมาเดินก็บริกรรมพุทโธๆๆต่อไปได้ ใจสามารถภาวนาได้ทั้ง ๔ อิริยาบถ เพียงแต่อิริยาบถท่านอนที่ไม่ควรจะทำเท่านั้นเอง เพราะจะทำให้หลับง่าย แต่ท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่งนี่ สามารถใช้เป็นอิริยาบถสำหรับภาวนาได้  ถ้าต้องภาวนาทั้งวันทั้งคืน  ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับไป  จะนั่งทั้งวันมันก็ไม่ไหว ต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถ  เมื่อนั่งมากๆจนรู้สึกว่าเจ็บปวด  เมื่อยล้าไปทั้งร่างกาย  ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ลุกขึ้นมาเดิน เวลาเดินก็อย่าปล่อยให้ใจไปคิดเรื่องราวต่างๆ  แต่ควบคุมจิตใจ เช่นบริกรรมพุทโธ ๆๆไปเรื่อยๆ

 

มีพระอยู่รูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล ท่านก็ใช้การบริกรรมพุทโธนี้ตลอดเวลาเลย ไม่ว่าจะทำกิจอะไร ท่านก็ไม่ห่างจากพุทโธเลย  อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการภาวนาอยู่ตลอดเวลา  พอตื่นขึ้นมาท่านก็พุทโธจนถึงเวลาหลับไปเลย เวลาจะนอนก็ภาวนาพุทโธไป ทั้งวันมีแต่คำว่าพุทโธ อาจจะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้างเมื่อมีความจำเป็น  เช่นเวลาเจอคนนั้นคนนี้ ต้องพูด ต้องคุยกัน ก็วางพุทโธไปสักระยะหนึ่ง แต่พอไม่ต้องไปคุย ไม่ต้องไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้  ท่านก็จะกลับมาอยู่ที่พุทโธ ไม่ว่าจะเป็นการปัดกวาด ล้างบาตร เดินบิณฑบาต หรือทำอะไร ก็จะมีพุทโธอยู่ในใจ

 

ถาม  อย่างนี้ถ้ามีเวลาปฏิบัติธรรมไม่มาก จะนั่งอย่างเดียวจะได้ไหมคะ

 

ตอบ  ได้ ถ้านั่งภาวนาได้ผล ก็นั่งไปก่อน ถ้ามีเวลาว่าง เช่นวันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือช่วงไหนที่ไปอยู่ปฏิบัติที่วัด มีเวลาภาวนามาก ถ้านั่งนานๆแล้วรู้สึกว่าเมื่อยล้า อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ ก็ลุกขึ้นมาเดิน  แล้วก็ภาวนาต่อ จะได้ไม่เสียเวลา ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะต้องรอเวลามานั่งเท่านั้นถึงจะภาวนาได้  ถ้าไม่นั่งเดี๋ยวก็ปล่อยใจให้ไปคิดฟุ้งซ่าน  งานก็จะเดินหน้าถอยหลังอยู่เรื่อยๆ ไม่เดินหน้าไปตลอด การทำให้การภาวนาเดินหน้าไปเรื่อยๆ จึงต้องภาวนาในทุกอิริยาบถ ถ้านั่งไม่ไหวก็ลุกขึ้นมาเดิน  เปลี่ยนอิริยาบถแล้วก็ภาวนาต่อไป การเดินจงกรมนี้จะใช้การบริกรรมพุทโธก็ได้ หรือถ้าเหนื่อยไม่อยากจะบริกรรม  จะกำหนดดูเท้าก็ได้  เช่นเดินก้าวเท้าซ้ายไปก็รู้ว่ากำลังก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวาก็ให้รู้อยู่กับการก้าวเท้าขวา  เหมือนกับทหารเดินซ้ายขวา ซ้ายขวา ก็ให้รู้อยู่กับการย่างก้าวก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้ใจไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้  เพราะจะเกิดอารมณ์ขึ้นมา จะไม่สงบ แต่ถ้าเราอยู่กับการก้าวเท้าไป ก้าวเท้ามา  เดี๋ยวก็สงบลงไปในขณะที่เดิน  คำว่าสงบนี่มีหลายแบบ  สงบแบบหายไปเลยก็มี สงบแบบไม่หายไปก็มี คือกายก็ยังอยู่ เวทนาก็ยังอยู่ในความรู้สึก แต่ความรู้สึกภายในใจได้พลิกเปลี่ยนไป จากที่เป็นเหมือนกับคลื่นมรสุม มาสงบนิ่ง

 

ถาม  อาจารย์คะถ้าเรานั่งสมาธิสักพักหนึ่งจิตเรานิ่งแล้วนี่ เรา

         พิจารณาดูได้ไหมคะ

 

ตอบ  ในขณะที่นิ่งจิตไม่คิดปรุงอะไรก็ไม่ต้องคิด ให้นิ่งให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เป็นการพักจิต เป็นการให้อาหารกับจิต เป็นการให้พลังกับจิต รอจนจิตออกจากความนิ่ง เริ่มคิดปรุง แล้วค่อยเอาสังขารความคิดปรุงนี้มาพิจารณา ไม่เช่นนั้นแล้วจิตจะไม่มีกำลัง เวลาไปพิจารณาอะไร จะไม่มีกำลังทำตามที่ได้พิจารณา คำว่าเวลาจิตสงบแล้วให้ออกพิจารณานี้ ท่านหมายถึงให้ออกจากความสงบก่อน แล้วค่อยไปเจริญปัญญา แต่ในขณะที่มันสงบนิ่ง ก็เหมือนกับคนนอนหลับ ก็อย่าไปปลุก ปล่อยให้หลับให้พอ เพราะถ้าไม่พอ เราไปปลุกขึ้นมาทำงาน เขาจะหงุดหงิด จะไม่มีกำลัง  แต่ถ้าเขาหลับเต็มที่แล้วตื่นขึ้นมาเอง  ทีนี้บอกให้เขาไปทำอะไรเขาก็จะไปทำได้  เพราะมีกำลังวังชา  ได้พักอย่างเต็มที่แล้ว  การทำจิตให้สงบก็เป็นการพักจิตให้มีกำลัง  ที่จะไปทำงานขั้นปัญญาต่อไป  แต่ในขณะที่พักอยู่ในความสงบนั้น อย่าเพิ่งออกไปทำอะไรทั้งสิ้น ให้นิ่งอยู่เฉยๆ อย่าไปยุ่งกับเขา ปล่อยให้เขานิ่งไปตามอัธยาศัย จนกว่าจะออกมา

 

ถาม  จะให้นิ่งอยู่นานสักเท่าไรคะ ครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงหนึ่ง

 

ตอบ  ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางทีไม่ถึงครึ่งชั่วโมง บางทีแค่ ๕ นาที ๑๐ นาที แล้วแต่กำลังของสมาธิของแต่ละท่าน ถ้าปฏิบัติไปชำนาญแล้วจะอยู่ได้นาน ถ้าใหม่ก็อาจจะอยู่ได้ไม่นาน เมื่อออกจากความสงบแล้วจะลุกขึ้นมาก็ได้ หรือจะนั่งพิจารณาไตรลักษณ์ในร่างกายก็ได้ ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ได้  ให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆเกี่ยวกับไตรลักษณ์เป็นหลัก ในเบื้องต้นก็จะพิจารณากายเป็นหลัก  เพราะกายเป็นด่านแรก และง่ายที่สุด ปัญญาขั้นต้นจะเหมาะกับการพิจารณาร่างกาย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ต้องปัญญาที่ละเอียดขึ้นไป  เพราะเป็นนามธรรม ในเบื้องต้นเวลาจะพิจารณาด้วยปัญญา  ก็ให้พิจารณาดูร่างกายเป็นหลัก ดูความแก่เจ็บตายเป็นหลัก ดูความไม่สวยไม่งามเป็นหลัก  จนกว่าจะปล่อยวางได้  ปล่อยวางความสวยงามของร่างกาย  ปล่อยวางความเป็นความตายของร่างกาย  จนไม่มีปัญหากับร่างกาย  แล้วจึงพิจารณานามขันธ์ต่อไป

 

ในขณะที่พิจารณาร่างกาย บางทีก็มีเวทนามาเกี่ยวข้องด้วย เช่นนั่งไปนานๆก็จะเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ก็ต้องพิจารณาเวทนาควบคู่ไปด้วย พิจารณาว่าเวทนาก็เป็นอนิจจังเหมือนกัน เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วเดี๋ยวก็ดับไป อย่างตอนนี้เป็นทุกขเวทนา ก็จะเกิดตัณหาความอยากให้มันหายไป อยากจะลุกหนีจากมันไป ก็ต้องหักห้ามจิตใจ อย่าให้ความอยากนี้เกิดขึ้นมา ปล่อยให้เวทนาเป็นไปตามเรื่องของเขา ถ้าเราพร้อมที่จะเผชิญกับเวทนา เราก็เผชิญได้ แต่ใจเราติดนิสัยที่พอเจอทุกขเวทนาปั๊บ ก็อยากจะโดดหนี อยากจะให้มันหายไป เราก็จะเปลี่ยนอิริยาบถ เช่นนั่งแล้วมันเจ็บมันปวด เราก็เปลี่ยนท่านั่ง  ถ้าทำอย่างนี้ก็ยังไม่ได้ปล่อยวางเวทนา ยังถูกเวทนาบังคับใจเราอยู่  วิธีที่จะปล่อยวางเวทนาก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมัน จะเจ็บจะปวดอย่างไร ก็อย่าไปสนใจ หันมาสวดมนต์ก็ได้ หันมาบริกรรมพุทโธๆๆไปก็ได้ หรือจะดูมันเลยก็ได้ ว่ามันเจ็บตรงไหนปวดตรงไหน  รุนแรงขนาดไหน 

 

ถ้าเราพิจารณาไปก็จะเห็นว่า มันก็เหมือนกับเสียงที่ปรากฏขึ้นมาในจิต มันก็แว๊บๆอยู่อย่างนั้น อย่างที่เราได้ยินอยู่นี้ ส่วนเวทนา ความเจ็บปวดทางร่างกายก็เป็นเหมือนกับเสียงที่ปรากฎในจิต แต่เราไปรังเกียจ ไม่ต้องการมัน ก็เลยสร้างความทุกข์ซ้อนขึ้นมาในใจอีกชั้นหนึ่ง คือทุกข์ในอริยสัจ ทุกข์ที่เกิดจากตัณหา ความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป  ความเจ็บหายไป เป็นตัวทำให้ความทุกข์รุนแรงขึ้นอีกหลายเท่า ถ้าทุกข์ในพระอริยสัจไม่เกิดขึ้นมา เวทนาจะแรงขนาดไหน ก็จะไม่สามารถกระทบกระเทือนจิตใจได้  ตัวที่กระทบกระเทือนจิตใจไม่ใช่ตัวเวทนา  แต่ตัวทุกข์ที่เกิดจากสมุทัยความอยากให้ทุกขเวทนา อยากให้ความเจ็บในร่างกายหายไป ตัวนี้จะทำให้จิตใจทุรนทุรายทรมาน ถ้าเราพิจารณาว่าความเจ็บแค่นี้ไม่เหลือบ่ากว่าแรง กำหนดจิตให้นิ่งไว้ กำหนดดูมันแทนการบริกรรมพุทโธก็ได้  ความเจ็บนี่มันอยู่ตรงไหน ถ้าดูก็จะเห็นว่ามันแว๊บๆอยู่ในใจ ถ้าไม่กลัวมัน ไม่อยากให้มันหาย  เดี๋ยวมันก็หายไปเอง พอจิตปล่อยวางปั๊บ  มันก็จะหายไป จิตก็จะรวมลง สงบตัวลงไป ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วจะเกิดความกล้าหาญ จะไม่กลัวกับความเจ็บปวดต่างๆอีกต่อไป เพราะความเจ็บปวดของร่างกายนั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับความทุกข์ที่ใจสร้างขึ้นมา  ที่เกิดจากตัณหาความอยากให้ความเจ็บปวดหายไป

 

ถ้าสามารถระงับความอยากให้ความเจ็บปวดหายไปได้ ความทุกข์ที่ถูกสร้างขึ้นมาก็จะหายไป ความเจ็บปวดที่แท้จริงจะไม่เจ็บปวดเท่าไร ไม่เหมือนกับความทุกข์ที่ถูกสร้างขึ้นมา ด้วยตัณหาความอยากให้ความเจ็บปวดหายไป ถ้าใครปฏิบัติผ่านทุกขเวทนาไปได้แล้ว ก็จะไปได้ไกลเลย ส่วนใหญ่ที่ไปกันไม่ถึงไหนก็ติดกันตรงนี้  เวลานั่งไปแล้วเกิดความเจ็บความปวดขึ้นมา  ก็ท้อ แล้วก็เลิก ไปไม่ถึงไหนสักที ถ้ามุทะลุดันมันไป ก็จะผ่านไปได้ ในเบื้องต้นจะใช้การบริกรรมพุทโธไปก็ได้  เวลาเจ็บเวลาปวด ก็อย่าไปคิดถึงความเจ็บความปวด  พุทโธๆๆไปอย่างเดียว  เดี๋ยวพุทโธก็จะพาให้ทะลุไปเลย แล้วจะรู้ว่ามันเป็นเหมือนม่านบางๆกั้นเราอยู่เท่านั้นเอง ความเจ็บปวดเหมือนม่านบางๆ แต่เราไม่กล้าวิ่งฝ่ามันไปก็เลยทะลุผ่านด่านนี้ไปไม่ได้สักที แต่ถ้าบริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ  บางทีไปไม่นาน ๑๐ นาที ๕ นาที ก็จะทะลุผ่านไปได้

 

ถาม  เวลาบริกรรมนี่นั่งท่าสบายก็ได้ใช่ไหมคะ เพื่อไม่ต้องให้เกิดความเจ็บปวด

 

ตอบ  ท่านั่งจะสบายอย่างไรก็ตาม นั่งไปนานๆก็ต้องเจ็บปวดอยู่ดี ท่าที่สบายจริงๆต้องเป็นท่าขัดสมาธิ เพราะจะนั่งได้นาน และถูกสุขลักษณะ ถ้านั่งบนเก้าอี้ นั่งไปแล้วจะโยกไปโยกมา แต่ก็ไม่ได้บังคับกัน ถ้าอยากจะนั่งให้ได้ผลดี ก็ต้องนั่งท่าขัดสมาธิ เหมือนกับการเล่นกีฬา เช่นตีกอล์ฟ ก็ต้องมีท่าที่ถูกต้อง ถ้าอยากจะตีให้ได้ผลดี ถ้าจะตีแบบตามสบายใจ ตีอย่างไรก็ได้ ใช้มือเดียวหวดก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไร  แต่จะตีไม่ได้ไกล ไมเข้าเป้า  ฉันใดการนั่งสมาธิก็เป็นแบบเดียวกัน ถ้าต้องการได้ผลที่เต็มที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องนั่งให้ถูกท่า ถ้านั่งไม่ได้ก็ต้องถือว่ามันเป็นความบกพร่องของเรา  ก็จะไม่ได้ผลเต็มร้อย ได้แค่ ๕๐ – ๖๐ ก็ต้องทำไปตามอัตภาพ  แต่ถ้าคิดว่านั่งได้  ถึงแม้ในเบื้องต้นจะเจ็บจะปวด  ก็หัดนั่งไป นั่งไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปเส้นเอ็นต่างๆก็จะอ่อนไปเอง  เหมือนกับการดัดร่างกาย  เวลาดัดใหม่ๆจะรู้สึกยาก แต่ถ้าดัดไปเรื่อยๆ จนเส้นเอ็นเริ่มอ่อนตามแล้ว  ก็จะดัดง่าย

 

เวลานั่งสมาธิใหม่ๆก็เหมือนกันทุกคน นั่งแล้วไม่สบาย เพราะไม่เคยนั่งท่านี้มาก่อน แต่ถ้านั่งไปเรื่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปก็จะเข้าที่เอง แล้วก็จะนั่งสบาย ภาวนาจะไปได้ไกล เพราะบางทีอาจจะต้องนั่งภาวนาทีละหลายๆชั่งโมง ถึงจะเห็นผล ถ้านั่งบนเก้าอี้ จะนั่งไม่ได้หลายชั่วโมง ลองหัดนั่งดู ถ้าไม่ได้จริงๆก็ต้องยอมรับว่า เป็นข้อบกพร่องของเรา ถ้าอยากจะได้ผลดีก็ต้องลองฝืนดู ถ้าไม่ถึงกับทำร้ายร่างกาย ก็พยายามฝืนไป แต่ถ้าทำไปแล้วทำให้ร่างกายพิกลพิการขึ้นมา ก็ต้องยอมรับ ต้องถือว่าเป็นกรรมของเรา ที่มารู้เรื่องธรรมะก็ตอนที่สายไปแล้ว

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ บทสวดธชัคคสูตรนี่สำหรับกำจัดความกลัวใช่ไหมคะ

 

ตอบ  อาตมาก็ไม่ค่อยรู้เรื่องบทสวดนี้สักเท่าไร รู้แต่ว่าการสวดเป็นอุบายอย่างหนึ่ง ที่จะดึงใจไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องที่เรากลัว เมื่อไม่คิดถึงเรื่องที่กลัวแล้ว ความกลัวก็จะหายไป ทำให้จิตสงบ  เมื่อจิตสงบแล้วก็จะรู้ว่า  ความกลัวไม่ได้อยู่ข้างนอก อยู่ข้างในตัวเรา  มันเกิดจากใจไปคิดเอง พอใจไม่ไปคิด ความกลัวก็หายไป  สิ่งที่เราคิดว่าน่ากลัวไม่เคยมายุ่งเกี่ยวกับเราเลย  มีแต่เราไปยุ่งเกี่ยวกับมันต่างหาก  เมื่อไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับมัน  จิตเราตั้งอยู่ในความสงบ ความกลัวก็หายไป จะใช้บทสวดมนต์ก็ได้  หรือจะใช้การบริกรรมพุทโธๆๆก็ได้ สุดแท้แต่ความถนัด  การสวดนี้ถ้าไม่เข้าใจความหมาย  ก็เป็นอุบายแห่งสมาธิ  ถ้าเข้าใจความหมาย  ก็เป็นปัญญา  เวลามีใครเจ็บไข้ได้ป่วย  แล้วพระพุทธเจ้าได้ไปโปรดแสดงธรรม  เวลาจิตฟังเรื่องธรรมะ เรื่องไตรลักษณ์  จิตก็หมุนไปตามความเป็นจริง มันก็ปล่อยวางร่างกายได้  ปล่อยวางความเจ็บปวด ความเจ็บไข้ได้ป่วยได้  จิตไม่ได้เจ็บป่วยด้วยนี่  เพียงแต่ว่ามันอยู่กับความเจ็บปวด  เป็นกระจกที่รับเรื่องเข้ามา  แล้วก็เอามาแบกไว้ในใจ  โอ๊ย! ฉันเจ็บ ฉันปวด ฉันไม่สบาย

 

แต่ความจริงตัวที่ว่า ฉันเจ็บ ฉันปวด ฉันไม่สบายนี้ มันไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ปวด ไม่ได้ไม่สบายไปด้วย  แต่หลงไปเท่านั้นเอง  แต่พอมีใครมาพูดมาคุย  มาสนทนาธรรมะ มาเล่าให้ฟัง จิตใจก็สดชื่นเบิกบาน  พอฟังธรรมเสร็จก็ลุกขึ้นมายืน มาเดินได้  ทั้งๆที่ร่างกายก็ยังเป็นเหมือนเดิม  ก็ยังเจ็บเหมือนเดิมอยู่ แต่จิตไม่ได้เจ็บ จิตมีอำนาจเหนือร่างกาย มันสามารถที่จะฟื้นได้  ฟื้นที่จิตนะ ไม่ได้ฟื้นที่ร่างกาย  โรคภัยก็ยังมีอยู่  เวลาที่ครูบาอาจารย์โปรดคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็พูดเรื่องธรรมะนี้แหละ เพื่อโปรดจิตใจของเขา  ไม่ได้ไปโปรดร่างกายของเขา เพราะครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้เป็นหมอรักษาร่างกายให้หาย  แต่บางครั้งบางคราวโรคภัยมันเกิดจากจิตเอง จิตไปทำให้เป็นขึ้นมา  ถ้าจิตหายปั๊บร่างกายก็หายด้วย  มีหมอเคยเล่าให้ฟังว่า มีพระชอบไปหาให้รักษา ว่าปวดตรงนั้น ปวดตรงนี้  หมอก็ตรวจร่างกายดูทุกอย่าง ก็ไม่เห็นว่าเป็นอะไร บอกกับพระว่าไม่เป็นอะไรหรอก  ร่างกายท่านเป็นปกติดี แต่พระก็บอกว่าท่านก็ยังเจ็บยังปวดอยู่  ต่อมาพอท่านลาสิกขาไปปั๊บ ท่านก็ไม่เป็นอีกเลย  เวลาบวชมันเครียด อยากจะไปทำโน่นทำนี่ก็ไปไม่ได้  อยากจะกินโน่นกินนี่ก็กินไม่ได้  ก็เครียด เลยทำให้รู้สึกเจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ขึ้นมา  พอได้ทำอะไรตามใจอยากแล้ว ก็หายจากความเจ็บความปวด

 

ถาม ขอเรียนถาม เวลาเรานั่งสมาธินะคะ กำหนดจิตไว้ว่าจะทำครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง อะไรอย่างนี้นะคะ พอถึงเวลาเราก็ได้เป๊ะๆ เป็นเพราะว่าเรากำหนดจิตได้ หรือเป็นเพราะว่าเรากังวลกับเรื่องเวลา

 

ตอบ  จิตเรานี่จะกำหนดเรื่องเวลาได้ เช่นเวลานอน กะจะตื่นตอนกี่โมง ก็จะตื่นตอนนั้นเสมอ ขึ้นอยู่กับการฝึก

 

ถาม  อย่างเรากำหนดว่าจะนั่งครึ่งชั่วโมง พอเราดูนาฬิกาก็ได้ครึ่งชั่วโมงตามที่ได้กำหนดไว้ เราสามารถจะกำหนดได้ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ก็คงจะเป็นอย่างนั้น เท่าที่ผ่านมาก็สามารถกำหนดได้ แต่อาจจะไม่ตายตัวเป๊ะๆเสมอไป เท่าที่สังเกตดู  เวลานอนแล้วอยากจะตื่นกี่โมงนี่  เรากำหนดไว้ล่วงหน้าก่อน พอถึงเวลานั้น ก็จะตื่นขึ้นมา  คล้ายๆว่ามีจิตสำนึกอยู่ภายในใจ เป็นตัวคอยเตือนเราอยู่  พอถึงเวลานั้นปั๊บก็จะรู้สึกตัวขึ้นมา แต่การนั่งภาวนาจริงๆไม่ควรจะใช้เวลาเป็นตัวกำหนด  ควรจะใช้ผลของการภาวนาเป็นตัวกำหนดจะดีกว่า  บางทีกำลังจะเข้าด้ายเข้าเข็มก็ถึงเวลาแล้ว  ก็เลยไม่ได้ผลเท่าที่ควร  ถ้าจะให้ดีเวลาภาวนาก็อย่าไปกำหนดเวลา ให้เปิดกว้างไว้จะดีกว่า ให้นั่งนานๆ ให้ภาวนาไปนานๆก็แล้วกัน จนกว่าจะได้ผล หรือจนกระทั่งทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมา การภาวนาให้ได้ผลเป็นกอบเป็นกำ  ต้องภาวนาแบบมืออาชีพ  คือภาวนาอย่างเดียว  ถ้ามีเวลาจำกัดก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร  จึงอยากจะให้ภาวนาจนเห็นผล  เพราะเมื่อเริ่มเห็นผลแล้ว  จะเปลี่ยนอาชีพได้ จากการเป็นนักธุรกิจ  มาเป็นนักภาวนา

 

ถาม  บางทีจิตมันไม่สงบ มันท้อแท้ก่อน

 

ตอบ  ใช่ เพราะไม่เห็นผล ทำงานแล้วไม่ได้เงินเดือน สิ้นเดือนเจ้านายไม่ยอมจ่ายเงินเดือน ก็เลยไม่มีกำลังใจ

 

ถาม  วันนี้ท่านอาจารย์ตอบคำถามทั้งหมดนะคะ พอดีเมื่อวานนี้มีน้องคนหนึ่งบอกว่า เขาไม่ทราบเป็นเพราะอะไร ศรัทธาเสื่อมลงไป  ก็เลยบอกว่าไม่น่าจะใช่ น่าจะเป็นเพราะขี้เกียจมากกว่า

       

ตอบ  นั่นแหละคือความท้อแท้ ทำไปแล้วไม่ได้ผล ก็เลยคิดว่าเสียเวลา  ไม่อยากจะทำ เกิดความท้อแท้  ต้องนึกถึงพระพุทธเจ้ากับครูบาอาจารย์ไว้เป็นหลัก ท่านสอนว่าถ้าเกิดความท้อแท้ ต้องสู้ ต้องอดทน  ต้องมุมานะ  ต้องทำไปเรื่อยๆ เหมือนกับการรับประทานอาหาร  บางวันเราไม่อยากจะรับประทานอาหาร  ก็ยังต้องฝืนรับประทาน  เพราะรู้ว่าถ้าไม่รับประทานแล้วเดี๋ยวจะหิว  นี่ก็เหมือนกัน  ถ้าไม่ทำเดี๋ยววันข้างหน้าเราจะแย่กว่าเดิม  เพราะเราจะก้าวถอยหลัง อย่างน้อยถ้าเราทำ ก็จะรักษาระดับที่เรายืนอยู่ได้ พอหยุดปั๊บ ก็เหมือนกับเดินถอยหลังไป  เพราะเราจะกินบุญเก่าที่ได้ทำไว้  เมื่อบุญเก่าหมดไป  ก็จะลดระดับลงไป

 

        เวลาจะทำบุญไหว้พระสวดมนต์ แต่ไม่อยากทำ ก็ต้องฝืนทำไป อย่างน้อยจะได้รักษาระดับเดิมไว้ ไม่ก้าวถอยหลัง พอวันข้างหน้าเรามีพลัง มีกำลังจิตกำลังใจขึ้นมา จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินกลับมาที่จุดที่เราเคยยืนอยู่ จะได้ก้าวขึ้นไปข้างหน้าได้เลย การปฏิบัติเป็นอย่างนี้ เป็นเหมือนลูกคลื่น บางวันก็ขึ้นสูง มีฉันทะ วิริยะมาก บางวันก็ลงต่ำเหมือนลูกคลื่น ขึ้นๆลงๆอยู่อย่างนี้ เป็นธรรมชาติของคนเรา บางวันก็ภาวนาง่าย สงบง่าย บางวันก็เป็นเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา นั่งอย่างไรก็ไม่ยอมอยู่กับพุทโธ คิดแต่เรื่องนั้นเรื่องนี้ วุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ก็อย่าไปโกรธ อย่าไปท้อแท้ ต้องทำใจเย็นๆ บอกว่าไม่เป็นไร วันนี้ยากหน่อยก็เหมือนขับรถขึ้นเขา ช่วงนี้กำลังขึ้นเขาอยู่ก็ต้องยากหน่อย เดี๋ยวพอถึงยอดเขาแล้วก็มีแต่จะลง มันก็จะง่าย

 

ถาม  เคยอ่านหนังสือเขาบอกว่า ถ้าวันไหนเราภาวนาแล้วไม่อยู่นิ่ง หรือหยุดจิตไม่ได้ ก็ให้เลิกไปก่อน

 

ตอบ  เขาหมายความว่า ถ้าพยายามเต็มที่แล้วไม่ได้จริงๆ ก็หยุดบ้างก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าพอไม่ได้ปั๊บก็ไม่เอาเลย ต้องฝืนไปก่อน ฝืนไปจนไม่ได้จริงๆ ไม่เกิดประโยชน์จริงๆ เกิดความเครียด เกิดความทุกข์มากกว่าได้ประโยชน์ ก็หยุดไปก่อน

 

ถาม  ถ้าเป็นตรงกันข้ามนะคะ นั่งไปสัก ๑๐ นาทีมันก็นิ่งแล้ว ให้พิจารณาเลยใช่ไหมคะ

 

ตอบ ไม่ใช่ ตอนที่นิ่งอย่าไปพิจารณา ให้หายนิ่งก่อน ให้นิ่งจนจิตถอนออกจากความนิ่งก่อน แล้วค่อยพิจารณา

 

ถาม  ให้ถอนออกจากความนิ่ง

 

ตอบ  คือเวลานิ่งต้องรอให้ออกจากความนิ่งก่อน มันไม่นิ่งไปตลอด เวลานิ่งอย่าไปทำอะไร ให้หายนิ่งก่อน เหมือนกับเวลานอนหลับอย่าไปปลุกให้ตื่นขึ้นมาทำงาน ปล่อยให้นอนจนตื่นขึ้นมาเอง ไม่ใช่พอเอนหลังปั๊บ พอหลับปั๊บ ก็รีบลุกขึ้นมาทำงาน อย่างนี้ยังพักไม่พอ เพิ่งหลับไป จึงอย่าเพิ่งไปปลุก

 

ถาม  ควรจะนานสักกี่นาทีคะ

 

ตอบ  ก็นานที่สุดเท่าที่จะนานได้  นิ่งได้นานเท่าไรยิ่งดี

 

ถาม  แต่ละคนไม่เหมือนกันใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่ แต่ละวาระก็ไม่เหมือนกัน

 

ถาม  เขาว่าถ้าสติดีจะนิ่งได้เร็ว บางที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ก็จะนิ่ง

 

ตอบ  ปล่อยให้นิ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถอนออกมา แล้วค่อยมาพิจารณา ลุกขึ้นมาเดินพิจารณาก็ได้ ไม่ต้องนั่งพิจารณาก็ได้ เวลาพิจารณานี้ไม่ต้องให้มันนิ่ง เราต้องการเหตุต้องการผล ต้องการความเข้าใจเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องนิ่ง เวลาพิจารณาปัญญาอย่าไปกังวลกับความสงบ เพราะไม่ใช่เป็นผลที่เราต้องการ  เราต้องการความเข้าใจเพื่อปล่อยวาง พิจารณาไปเรื่อยๆ ให้เห็นว่าเป็นงูพิษ ตอนนี้เรายังไม่เห็นว่าเป็นงูพิษ

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ ตอนที่เราลืมตานี่เราก็พิจารณาของเราไปได้

 

ตอบ  ได้ในทุกอิริยาบถ ทำงานทำการก็พิจารณาได้ เวลาได้เงินมาก็พิจารณาได้ว่า เงินก็ไม่เที่ยงนะ ได้มาแล้วเดี๋ยวก็หมดไป พิจารณาได้หมดเรื่องปัญญา ตาเห็นรูปก็พิจารณาได้ รูปก็ไม่เที่ยง รูปก็เป็นทุกข์ รูปก็เป็นอนัตตา เสียงก็เหมือนกัน อะไรๆก็เหมือนกันหมด แต่เวลาทำสมาธิต้องวิเวก ต้องสงบสงัด เหมือนกับตอนหลับนอน ถ้าไปนอนกลางสี่แยกไฟแดง ก็จะนอนไม่หลับ เพราะมีอะไรต่อมิอะไรมาคอยรบกวน ถ้าจะเจริญปัญญาอยู่ที่สี่แยกไฟแดงก็พิจารณาได้ เห็นการเคลื่อนไหวไปมาของรถรา ก็พิจารณาว่าเป็นของไม่เที่ยงได้เหมือนกัน

 

ถาม  พอนิ่งปั๊บก็ให้รีบพิจารณา

 

ตอบ  ไม่ใช่ เวลานิ่งเป็นการชาร์จแบตเตอรี่ ชาร์จจิตใจ เพิ่งชาร์จได้เดี๋ยวเดียว แล้วก็เอาแบตเตอรี่มาใช้งานเลย มันก็จะไม่มีกำลัง ยังพักไม่พอ เหมือนกับคนทำงาน เวลาจะไปทำงาน ต้องพักหลับนอนให้สบาย กินข้าวให้อิ่มก่อน แล้วค่อยไปทำงาน ไม่ใช่ทำทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้หยุดพักผ่อนหลับนอน ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินน้ำอย่างนี้เดี๋ยวก็หมดแรง

 

ถาม แสดงว่าถ้าเรานั่งนิ่งเป็นชั่วโมงๆ ก็ให้นิ่งอยู่อย่างนั้นหรือคะ

 

ตอบ  ถ้านิ่งก็ปล่อยให้นิ่งไป แต่พอออกจากความนิ่งแล้ว ออกมาทำโน้นทำนี่ ก็อย่าปล่อยใจให้ไปคิดตามเรื่องตามราวเหมือนเมื่อก่อนนี้  ให้พิจารณาร่างกายนี้ไปก่อนเลย

 

ถาม  แต่ถ้าว่างนี่ก็พิจารณาได้เลยใช่ไหมคะ

 

ตอบ  จะพิจารณาก็ได้ บางทีพิจารณาแล้วก็ทำให้นิ่งได้ ที่เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ บางทีนั่งบริกรรมแล้วฟุ้งซ่านไม่สงบ ก็พิจารณาไปก็ได้ เช่นนั่งไปแล้วเกิดเจ็บ เกิดเวทนาขึ้นมา ก็พิจารณาว่าเวทนานี้ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ดับไปเอง ไม่ต้องไปวุ่นวายกับมัน ปล่อยไป มันจะเจ็บอย่างไรก็ให้เจ็บไป ร่างกายมันไม่รู้เรื่องหรอก ร่างกายก็เหมือนกับพื้นที่เรานั่งอยู่นี้ เป็นเหมือนกับไม้ กระดูกในร่างกายนี้ก็เป็นเหมือนกับท่อนไม้ท่อนฟืนนี้เอง มันไม่รู้จักความเจ็บหรอก มันไม่ได้เจ็บหรอก ที่รู้ก็คือจิต แต่จิตก็ไม่ได้เจ็บกับความเจ็บนี้  เพียงแต่ความเจ็บนี้ได้มาปรากฏให้รู้เห็นในจอของจิตเท่านั้นเอง  แล้วจิตจะต้องไปวุ่นวายกับมันทำไม ก็ปล่อยให้มันปรากฏไป  เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว  ต่อไปมันก็ค่อยๆปล่อยวางได้  ปล่อยวางแล้วความทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย  ก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา  ตัวทุกข์ที่ทรมานจริงๆ ก็คือทุกข์ที่เกิดจากสมุทัยในจิตใจของเรานี้แหละ ที่อยากให้ความเจ็บหายไป หรืออยากจะลุกหนีจากความเจ็บนี้ไป ตรงนี้ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วจะทำให้เรานั่งต่อไปไม่ได้  แต่ถ้าตัวนี้ไม่เกิดแล้ว ถึงแม้จะเจ็บ ก็พอจะรับรู้  พอจะทนได้

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ แล้วอย่างเวลาที่เราทำงาน เช่นกวาดพื้นค่ะ จริงๆแล้วตอนนั้นมันก็ไม่ได้ฟุ้งซ่าน แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร มันก็จะไม่นิ่งในขณะนั้น เราควรจะพุทโธหรือควรจะจับการกระทำตอนนั้น

 

ตอบ  ก็ได้ทั้ง ๒ อย่าง ให้รู้อยู่กับการกระทำการงานนั้นก็ได้ กำลังถูพื้นก็ให้มีสติอยู่กับการถูพื้น อันนี้เป็นการเจริญสติ ถ้าไม่มีสติเวลาจะทำให้จิตอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นอยู่กับพุทโธ ก็จะไม่อยู่ เวลาไม่มีสตินี่ เราพุทโธได้ ๒ – ๓ ทีมันก็แวบไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว แต่ถ้ามีสติเราจะสามารถควบคุมให้อยู่กับพุทโธๆๆได้ตลอดเวลา

 

ถาม  พุทโธก็ทำเหมือนกัน แต่บางครั้งก็รู้อยู่กับการเคลื่อนไหว

 

ตอบ  ก็แล้วแต่ จะรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวก็ได้ หรือจะอยู่กับพุทโธก็ได้ เวลาเราทำอะไร ก็ควรรู้อยู่กับการกระทำนั้นๆ ถ้าเราไม่มั่นใจ กลัวจะแวบไปคิดเรื่องอื่น ในขณะที่กำลังทำอะไรอยู่ เราก็เอาพุทโธเข้ามากำกับอีกชั้นหนึ่ง คือรู้อยู่กับการกระทำนั้น แล้วก็มีพุทโธกำกับไปด้วย ถ้าไม่เช่นนั้นถึงแม้เรากำลังกำหนดรู้อยู่ แต่ก็อดที่จะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ เช่นบ่นว่าทำไมต้องมาทำงานอย่างนี้ เป็นเวรเป็นกรรมอะไร ก็อาจจะคิดไปได้ แต่ถ้ามีพุทโธๆๆกำกับไปด้วย ก็จะไม่ไปคิดเรื่องราวต่างๆ ถ้ามีสติที่แข็งมาก รู้อยู่กับการกระทำ รู้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่หรือเปล่า ก็ไม่ต้องพุทโธก็ได้ ให้รู้อยู่กับการทำงานนั้นไป

 

อันนี้เป็นการฝึกสติ ทำจิตให้รู้อยู่ตลอดเวลา เวลาจะทำจิตให้รวมลงเป็นสมาธิก็จะง่าย เพราะต้องอาศัยสติเป็นตัวดึงจิตให้เข้าสู่ความสงบ และต้องอาศัยสติคอยกำกับให้จิตพิจารณาธรรมะ ถ้าไม่มีสติ พิจารณาธรรมะได้แค่ ๒ - ๓ วินาทีก็ไปแล้ว พิจารณาเกิด แก่ เจ็บ ตายได้แวบเดียว ก็ไปเรื่องอื่นแล้ว เพราะไม่มีสติคอยดึงไว้นั่นเอง แต่ถ้ามีสติจะพิจารณาเป็นชั่วโมงๆ ก็จะพิจารณาได้ จนกลายเป็นนิสัยขึ้นมา ก็จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ที่เรียกว่ามหาสติมหาปัญญา ไม่ต้องบังคับแล้วตอนนั้น จะคิดแต่เรื่องธรรมะอย่างเดียว  จะวนเวียนอยู่กับไตรลักษณ์  วนเวียนอยู่กับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ไปคิดเรื่องอื่น คิดเรื่องอื่นก็จะเห็นเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไปหมด

 

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็มีเท่านี้แหละ สิ่งที่เราเห็นด้วยตาก็รูป สิ่งที่ได้ยินด้วยหูก็เสียง ที่สัมผัสด้วยลิ้นก็รส ที่มาทางจมูกก็กลิ่น ที่มาทางร่างกายก็โผฏฐัพพะ ก็มีเท่านี้แหละในโลกนี้ ไม่มีอะไร นอกจากนั้นก็มีความคิดต่างๆที่เกิดขึ้นในใจเรา ที่เรียกว่าธรรมารมณ์  ถ้ามีสติ มีปัญญาพิจารณาอยู่กับเรื่องเหล่านี้ ก็จะเห็นว่ามันเกิดดับๆ ไม่มีสาระอะไร เห็นรูปมากี่ร้อยกี่แสนรูปแล้วก็ผ่านไป  ได้ยินเสียงมามากน้อยเพียงไรก็ผ่านไป  จะวิเศษวิโส จะดีจะชั่วอย่างไรก็หมดไป ผ่านไป เวลาสัมผัสจึงอย่าไปยึด อย่าไปติด อย่าไปกลัว เสียงไม่ดีก็ทนฟังไป ใครด่าก็ทนฟังไป ก็เท่านั้นเอง เขามีกำลังจะด่าเท่าไร ก็ปล่อยให้เขาด่าไป คนฟังสบายกว่า นั่งอยู่เฉยๆ คนด่าเหนื่อยกว่า แต่คนฟังกลับเดือดร้อนมากกว่าคนด่า  เพราะไม่มีปัญญานั่นเอง  ถ้ามีปัญญาก็จะนั่งฟังได้ ใครจะพูดอะไรก็พูดไป ก็เหมือนกับนั่งฟังเทศน์ฟังธรรม

 

ถาม  บางทีโดนลูกค้าต่อว่าเจ้าค่ะ ก็พุทโธๆๆไป ลูกค้าก็ยิ่งว่าใหญ่เลย ว่าไม่ได้ยินหรือ

 

ตอบ  ถ้าเขาต่อว่าเรื่องงานการเราก็ต้องฟัง ถ้าเขาเป็นลูกค้าเรา เขามีปัญหาเราก็ต้องฟัง

 

ถาม  เราฟังแต่เราแก้ไขอะไรไม่ได้นี่คะ

 

ตอบ  ถ้ามันเป็นเรื่องของอารมณ์ ไม่มีเหตุไม่มีผล ก็ปล่อยไป อย่าไปถือสา คิดเสียว่าเราเป็นกระโถนรองรับอารมณ์ของเขาก็แล้วกัน เป็นการทำบุญ เรียกว่าอภัยทาน ใครพูดอะไรที่ไม่ถูกหู ก็ไม่ไปโกรธแค้นโกรธเคือง ปล่อยให้ระบายเต็มที่ ระบายความทุกข์ในใจ อย่างเวลาเรามีความทุกข์ เราก็อยากจะหาเพื่อนคุยใช่ไหม เพื่อระบายความทุกข์นี้ ให้เขาช่วยแก้ปัญหาให้กับเรา ก็ฟังไป ถ้าช่วยเหลือได้ก็ช่วยไป ถ้าช่วยไม่ได้ ก็ยิ้มๆแล้วก็คิดว่าเป็นกรรมของสัตว์ก็แล้วกัน ปล่อยวางไม่เป็น ถ้าปล่อยวางเป็น ก็ไม่มีปัญหาอะไร เวลาไปยึดไปติด ไม่ได้สิ่งที่ยึดติดอยู่ ก็วุ่นวายใจ

 

ถาม  ท่านคะอีกคำถามนะคะ ถ้านั่งไปนานๆเกิดเวทนาเมื่อยมากนะคะ นั่งไปนานๆ ๒ – ๓ ชั่วโมงนี่ค่ะ พอลุกขึ้นเข่าจะมีปัญหา

 

ตอบ  แล้วแต่ว่าจิตสงบหรือไม่ ถ้าสงบ เวลาลุกขึ้นมาจะไม่รู้สึกเจ็บเลย เหมือนกับไม่ได้นั่ง ไม่เป็นอะไรเลย แต่ถ้าไม่สงบจะรู้สึกเจ็บทรมาน เพราะจิตไปยึดไปติดกับร่างกาย ไม่ปล่อยมัน

 

ถาม  เคยไปเยี่ยมพระองค์หนึ่งที่โรงพยาบาลศิริราชนะคะ ท่านมาผ่าตัด ท่านบอกว่าอาตมานั่งสมาธิมากไปก็เลยเป็น หมอมักจะห้ามไม่ให้นั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบค่ะ ว่าเกี่ยวกับโรคเข่าค่ะ

 

ตอบ  แต่ละคนอาจจะมีปัญหาอย่างอื่นด้วย อาจจะไม่เกิดจากการนั่งสมาธิโดยตรง อาจจะมาปฏิบัติธรรมตอนที่แก่แล้ว สังขารไม่ดีแล้วก็ได้ ก็เลยพาลโทษการนั่งสมาธิ อาจจะนั่งแค่วันละชั่วโมง ก็โทษว่านั่งสมาธิเป็นเหตุ ครูบาอาจารย์อย่างหลวงตาท่านนั่งทั้งคืน ๘ ชั่วโมง ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เราต้องรู้จักรักษาร่างกาย รู้จักทำโยคะ รู้จักยืดเส้นยืดสาย ไม่ใช่ใช้มันอย่างเดียว ต้องรู้จักดูแลรักษาด้วย เวลาใช้ก็ใช้ไป แต่ต้องรู้จักประมาณ ร่างกายก็มีขอบเขตความสามารถของมัน ถ้าใช้เกินความสามารถที่มันจะรับได้ ก็ชำรุดได้เหมือนกัน เรื่องของวัยก็มีส่วนด้วย ถึงแม้ไม่เคยนั่งสมาธิเลยมันก็เป็นได้โรคเข่าเสื่อม ไม่ต้องนั่งสมาธิก็เป็นได้

 

แต่พระที่นั่งสมาธิประจำ ไม่ได้เป็นโรคเข่าเสื่อมก็มีตั้งเยอะแยะไป ครูบาอาจารย์อย่างหลวงตา ท่านอายุเก้าสิบกว่าแล้ว ทำไมท่านก็ยังไปไหนมาไหนได้อยู่ เพราะท่านรู้จักวิธีดูแลรักษาร่างกายของท่าน ทำโยคะอยู่เรื่อย ท่านก็มีท่าของท่าน เมื่อก่อนนี้ตอนเช้าท่านจะลงมาที่ศาลา ตอนที่พระลงมาจัดบาตร จัดอะไรก่อนที่จะออกบิณฑบาต ก็จะกวาดถูศาลากัน ท่านก็จะนั่งทำโยคะคุมพระอีกทีหนึ่ง เราก็เห็นท่าโยคะของท่าน ยืดเส้นยืดสายอะไรของท่านไป ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ การเดินก็เป็นการช่วยรักษาร่างกาย ถ้านั่งไปเรื่อยๆเดี๋ยวร่างกายก็แย่ จึงต้องลุกขึ้นมาเดินยืนนั่งนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ นอกจากนั้นก็มีพระคอยจับเส้นให้ เพราะเส้นมันตึงมันยึด บีบแล้วมันก็คลาย

 

ถาม  ระหว่างที่ท่านนั่งทำโยคะนี้ ถ้าเผื่อพระทำผิดท่านเห็นไหมคะ ดุไหมคะ

 

ตอบ  คงจะเห็นนะ แต่ก็ไม่ใช่งานละเอียดอะไร กวาดถูศาลากันไป ก็ไม่มีอะไรที่ต้องทำผิด

 

ถาม  วันก่อนลูกฟังเทป  พระนั่งเท้าแขนท่านดุ

 

ตอบ  อาตมาก็เคยโดนดุเหมือนกัน ท่านบอกไม่ให้นั่งเท้าแขน คงเป็นท่านั่งที่ไม่สุภาพ ท่านมองเห็น อยู่ที่ว่าท่านจะพูดหรือไม่พูดเท่านั้นเอง แต่บางทีท่านก็ต้องลุกมาทำเองนะ เพราะบางทีมีพระที่หูหนวกตาบอดมาจากที่อื่น ไม่รู้ว่าหน้าที่ของพระเป็นอย่างไร เช่นตอนเช้า พระเราจะช่วยกันกวาดถูศาลา บางทีมีพระมาจากกรุงเทพฯ เขาจะไม่เคยกวาดถูศาลามาก่อน ก็จะยืนเฉยๆ บางทีหลวงตาท่านก็ต้องลงไปถูเองกวาดเอง เขาถึงจะทำตาม

 

ถาม  ที่ท่านทำโยคะนี่ พระทำตามอย่างท่านไหมครับ

 

ตอบ  ถ้าทำก็ทำที่กุฏิ ไม่ทำต่อหน้าท่าน เห็นแล้วก็มาลองทำดูว่าดีไหม ถ้าทำแล้วดี มันช่วยได้ ก็ทำต่อไป

 

ถาม  เดี๋ยวนี้เขานิยมพวกโยคะกัน

 

ตอบ  ถ้าเป็นพระก็ต้องทำในที่ส่วนตัว

 

ถาม  ไม่ได้ให้ทำตาม

 

ตอบ  ท่านต้องลงมาคุมพระ ท่านก็ใช้เวลานี้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการทำกิจของท่านไปในตัว แทนที่จะอยู่ทำกิจของท่านที่กุฏิ ปล่อยให้พระละเลงกันเองที่ศาลา คนขยันก็ทำแทบเป็นแทบตาย คนขี้เกียจก็จะไม่ทำเลย แต่พอมีท่านนั่งคุมอยู่ ทุกคนก็พร้อมเพรียงกัน

 

ถาม  ท่านเดินตรวจไหมคะตอนกลางคืน

 

ตอบ  เมื่อก่อนนี้ท่านก็เดินตรวจอยู่เป็นประจำ ท่านไม่ให้พระไปสุงสิง ไปคุยกันตามกุฏิ บางทีท่านก็ไม่ใส่รองเท้าเดิน จะไม่ได้ยินเสียงท่านเดิน

 

ถาม  ไม่ใช้ไฟด้วยใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ใช้ไฟด้วย แต่ระยะหลังนี่ไม่ทราบว่าท่านยังเดินอยู่หรือเปล่า ท่านใช้การเดินตรวจพระเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถไปในตัว เพราะบางทีท่านไม่มีเวลาเดิน จึงใช้การเดินตรวจให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง ได้ประโยชน์ทางกาย ได้ประโยชน์ในการดูแลพระเณร แต่คนที่มีอายุถึงขนาดนี้ ยังเคลื่อนไหวขนาดนี้ได้ ต้องถือว่าเก่งมาก อายุเก้าสิบกว่าแล้วยังคล่องแคล่วว่องไว ยังทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ถ้าเปรียบเทียบกับสมเด็จพระสังฆราชฯ นี่ต่างกัน สมเด็จฯเป็นพระในเมือง ไม่มีโอกาสได้เดินมาก นั่งรับแขกรับคนอยู่เรื่อยๆ มันก็จะชำรุดเร็วกว่า จึงขอสรุปว่าสังขารเป็นของไม่เที่ยง จงพยายามทำประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่าน  ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ให้พรเลยนะ

 

ถาม  รบกวนถามปัญหาเจ้าค่ะ คือมีครูบาอาจารย์ที่จะละสังขาร แล้วเราไปอาราธนาให้ท่านอยู่ ตอนนี้ท่านอยู่ต่อแล้ว มีคนอาราธนากันเยอะแยะเลย ตอนนี้ท่านอยู่ต่อแล้วนี่ สมมุติว่าเราต้องไปดูท่านทุกๆวัน เอาอาหารไปถวายท่าน เป็นการจุ้นจ้านวุ่นวายไหมคะ เรามีความรู้สึกว่าเราขอให้ท่านอยู่ พอท่านอยู่จริงๆแล้ว ทั้งๆที่สังขารของท่านก็จะไม่ไหวอยู่แล้ว เวลาอาราธนาทุกคนก็ขอกันหมด แต่พอท่านอยู่ปุ๊บทุกคนก็เฉยๆไป มีความรู้สึกว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นความรับผิดชอบของเราไหมที่จะต้องคอยอุปัฏฐากท่าน เวลาไปอุปัฏฐากท่านบางทีมีพระอยู่ด้วย ก็เหมือนกับเราไปจุ้นจ้าน  ผู้หญิงไม่สมควรที่จะเข้าไป จะทำอย่างไรคะอาจารย์

 

ตอบ  ก็พาผู้ชายไปด้วย

 

ถาม  ปกติก็มีผู้ชายพาไปอยู่แล้ว

 

ตอบ  ก็ไม่เสียหายอะไร ทำเท่าที่เราทำได้ เท่าที่สมควร เท่าที่เหมาะสม ถ้าทำไปแล้วเกิดความเสียหายก็ต้องหยุด

 

ถาม  ในโอกาสหน้านี่ ถ้าเกิดครูบาอาจารย์จะละสังขารไป ก็ไม่ต้องไปอาราธนาให้ท่านอยู่ต่อ

 

ตอบ  ก็แล้วแต่ว่าเราอยากจะให้ท่านอยู่ต่อหรือไม่

 

ถาม  ถ้าอยาก จะเห็นแก่ตัวไหมคะ

 

ตอบ  ไม่หรอก ถ้าอยากจะให้ท่านอยู่จริงๆ ก็ต้องดูแลท่านจริงๆ ถ้าไม่ดูแลท่านจริงๆแล้ว แสดงว่าอยากแต่ปาก แต่ใจไม่ได้อยากจริง

 

ถาม  แต่ว่าตอนนี้พอไปยุ่งเยอะมันก็เหมือนกับไปจุ้นจ้าน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี

 

ตอบ  ต้องดูที่ความถูกต้อง ที่ความเหมาะสม 

 

ถาม  ที่ท่านบอกว่า นั่งแล้วเกิดเวทนานี่ ถ้าเราโยกตัวเพื่อให้เวทนามันหายไปนี่ อันนี้ไม่ถูกใช่ไหมคะ

 

ตอบ อย่าไปโยก อย่าไปอยากให้มันหาย

 

ถาม  แล้วอีกอย่างหนึ่งนะคะ จากฟังเทปของท่าน ที่ท่านบอกว่าร่างกายเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้ตัดซะ พอตัดปุ๊บมันเหมือนกับเราไม่ดูแลครอบครัว ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

 

ตอบ  ให้ตัดในใจ แต่ภายนอกก็ต้องทำต่อไป มีหน้าที่มีความรับผิดชอบอย่างไรก็ต้องทำต่อไป เพียงแต่ใจไม่ไปแบกมันเท่านั้นเอง เข้าใจไหม

 

ถาม  แต่ตอนนี้เอาหลวงปู่มาแบก คงต้องไปทุกวันมั้งคะ บางครั้งหน้าที่ของแม่หรืออะไรอย่างนี้มันก็บกพร่อง หน้าที่ของภรรยาก็บกพร่อง

 

ตอบ  เราก็ต้องเดินสายกลาง ให้มันพอดี หน้าที่ของตนก็ต้องทำ หน้าที่ของท่านก็ต้องทำ ต้องแบ่งกันไป ไม่ให้บกพร่อง ปัญหาอยู่ที่เราไปรับเอาภาระมามากกว่าที่เราจะทำได้ ก่อนที่เราจะทำอะไร จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน ว่าจะทำได้หรือเปล่า ถ้ารับมาแล้วเราทำไม่ได้ มันก็สร้างความรู้สึกที่ไม่ดีให้เกิดขึ้นมา แต่เมื่อรับมาแล้วก็พยายามทำต่อไปให้ดีที่สุด อย่าไปหวังให้คนอื่นมาสรรเสริญเยินยอ

 

ถาม  ไม่อยากให้คนว่าค่ะ  ไม่อยากให้คนมองเราอีกแบบหนึ่ง

 

ตอบ  อย่าไปกังวล ถ้าเรามีความบริสุทธิ์ใจ การกระทำของเราเป็นความบริสุทธิ์ ก็ไม่เป็นไร เรื่องวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดา อยู่ในโลกนี้มีทั้งนินทา มีทั้งสรรเสริญคู่กันไป  

 

ถาม  ก่อนนี้เลยตัดสินใจว่าเอ๊ะจะกลับไปยุ่งดีไหม

 

ตอบ  อยู่ที่ความบริสุทธิ์ใจ

 

ถาม  คำตอบอยู่ที่เราอยากทำ

 

ตอบ  ถ้าเราไม่มีจิตใจที่ไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่เป็นไร ทำไป เพื่อบุญเพื่อกุศลอย่างเดียวก็ทำไป แต่ถ้าทำเพื่อหวังผลอย่างอื่น ก็ควรแก้ไขเสีย อย่าไปหวังอามิสผลตอบแทนจากผู้ที่เราดูแล ถ้าอยากจะได้บุญได้กุศล อยากจะให้ท่านได้อยู่โปรดสัตว์ต่อไป ก็ทำไป คนอื่นจะว่าอย่างไรมันก็เป็นคำพูดของเขา ไปห้ามเขาไม่ได้ เขาคิดอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเวลาเราจะทำอะไร ก็ต้องระมัดระวัง อย่าให้ส่อไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร สิ่งไหนที่เราควรแก้ไขก็แก้ไป ให้พอดี ทำอะไรทำให้พอดี มากเกินไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่ดี

 

ถาม  ท่านอาจารย์ครับ ปัญหาตรงนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ว่า เราจะพิจารณาว่าตรงไหนคือสายกลาง ตรงกลาง

 

ตอบ  ก็ยาก จึงต้องอาศัยการอยู่กับครูบาอาจารย์ เราไม่ต้องคิดมาก เพราะท่านรู้ว่าอะไรพอดี เวลาอยู่กับท่าน ฝึกกับท่าน เห็นวิธีที่ท่านปฏิบัติต่อบุคคลนั้นบุคคลนี้ กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จดจำไว้ แล้วก็เอามาพิจารณาใช้เป็นมาตรฐานในการดำเนินชีวิตของเรา ถ้าไม่มีมาตรฐานเราก็จะงง จะไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร อะไรควรจะมาก อะไรควรจะน้อย จึงต้องอาศัยการศึกษา อาศัยประสบการณ์ เพราะเวลาเราทำอะไรไป ถ้าเกินความพอดีก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาเอง เราก็จะรู้ว่าทำแบบนี้ไม่ดี ก็เอาความผิดพลาดนี้มาเป็นอาจารย์ ถ้าเราไม่มีครูไม่มีอาจารย์เป็นแบบฉบับให้เรายึด  เราก็ต้องใช้การสังเกตดูว่า  สิ่งที่เราทำไปนั้นมันผิดพลาดอย่างไร  ถูกต้องอย่างไร เอามาเป็นมาตรฐานต่อไป  ชีวิตคือการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ ถ้ารู้แล้วก็ไม่ต้องมาปฏิบัติธรรมให้เหนื่อยยาก ไม่ต้องไปโรงเรียนกัน แต่พวกเรายังไม่รู้กัน จึงต้องอาศัยการศึกษาการเล่าเรียนเป็นครูสอน

 

สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ถ้ามีโอกาส ก็คือให้เข้าใกล้ผู้รู้ให้มากๆ ให้อยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ ให้มีกัลยาณมิตรที่ดี เพื่อนที่ดี ที่ฉลาด ที่เก่งกว่าเรา รู้เรื่องดีเรื่องชั่วมากกว่าเรา จะเป็นแบบฉบับที่ดีสำหรับเรา ถ้าไปคบคนพาลก็ลำบาก จะฉุดลากเราไปในทางที่ไม่ดี ทางที่เสียหาย การคบคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นบทแรกเลยในมงคลสูตร อเสวนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญ จะ เสวนา อย่าคบคนพาล ให้คบบัณฑิต บัณฑิตก็คือผู้รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ เรื่องนรกเรื่องสวรรค์ เรื่องดี เรื่องชั่ว ก็ไม่มีใครที่จะเลิศเท่ากับพระพุทธเจ้า เราจึงมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นครู  เป็นแบบฉบับ จึงต้องเจริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่เรื่อยๆ ศึกษาพุทธประวัติ ศึกษาประวัติของครูบาอาจารย์ต่างๆ ศึกษาคำสอนของท่าน แล้วก็เอามาเป็นมาตรฐาน แต่เรามักจะไม่เอามาเป็นมาตรฐานกัน เวลาจะทำอะไรเรามักจะทำเป็นลืมไปว่า  ท่านสอนให้เราทำอะไร ท่านห้ามไม่ให้ทำอะไร ถ้ายึดท่านเป็นมาตรฐานแล้ว ก็จะไม่ผิดพลาด ไม่ผิดหวัง ไม่เสียใจ แต่ส่วนใหญ่เราชอบยึดมาตรฐานของเรามากกว่า

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายตรงนั้น เพื่อน้องจะได้เข้าใจ  เพราะเกรงว่าเขาจะไม่เข้าใจ เรื่องลูกที่ให้ตัดในใจ ไม่ใช่ตัดภายนอก ตรงนี้อยากจะให้ท่านอาจารย์อธิบายโดยละเอียด

 

ตอบ  คือไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องว้าวุ่นขุ่นมัวกับใครทั้งสิ้น เรามีหน้าที่อะไรกับใครก็ทำไป ต้องดูแลรักษาใคร เลี้ยงดูใคร ก็ทำไปเต็มที่ด้วยความเมตตาเหมือนเดิม เหมือนกับที่เคยทำมา เพียงแต่ไม่หวังผลจากการกระทำ ไม่ตั้งเป้าว่า เมื่อทำสิ่งนี้แล้ว ผลอย่างนี้จะต้องเกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นก็ดี ไม่เกิดขึ้นก็ไม่เป็นไร ถ้าปรับปรุงแก้ไขได้ก็ปรับปรุงแก้ไขไป ถ้าการปฏิบัติไม่ตรงเป้า ก็ต้องเปลี่ยนการกระทำของเราเสียใหม่ แต่จะไม่ไปกังวลกับผลที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นสรรเสริญหรือนินทา ถ้าเป็นการนินทา ฟังไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์ก็ดี เพราะคนนินทาบางคนก็นินทาด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ เขาเห็นว่าการกระทำของเราไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เราก็ควรนำมาวิเคราะห์ดู ถ้าไม่แน่ใจ ไปปรึกษากับผู้รู้ดูก็ได้  ว่าสิ่งที่เขานินทาเรานี้เป็นอย่างไร ถูกต้องไหม อย่าใช้อารมณ์ เพราะส่วนใหญ่คนเรามักจะมีอารมณ์ต่อต้านการนินทาเสมอ แต่เวลาสรรเสริญนี่เราพร้อมที่จะรับเสมอ จะจริงหรือไม่จริงเราก็พร้อมที่จะรับเสมอ หน้าตาไม่สวยไม่งาม คนเขาชมว่าสวยว่างามยังชอบเลย แต่เวลานินทานี่ อะไรนิดอะไรหน่อยนี่แตะไม่ได้เลย สังเกตดู คนที่ยิ่งใหญ่ยิ่งโต  ใครไปตำหนิติเตียนหน่อย จะเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาเลย

 

นี่เป็นเรื่องของกิเลส ถ้าเรื่องของธรรมแล้วใครจะว่ากล่าวตักเตือน ตำหนิอย่างไรก็พร้อมที่จะฟัง พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พระมีการปวารณากัน เช่นวันสุดท้ายของพรรษา ธรรมดาจะลงฟังพระปาฏิโมกข์กัน วันนั้นท่านจะยกเว้นไว้วันหนึ่ง   เปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าว ตำหนิติเตียน เช่นได้เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี หรือสงสัยก็ดีในพฤติกรรมของข้าพเจ้า ขอให้ท่านว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้าได้ นี่คือการปวารณาของสงฆ์  เวลาออกพรรษา พระทุกรูปตั้งแต่เจ้าอาวาสลงมา จะต้องปวารณาตนท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ เปิดโอกาสให้แม้แต่พระนวกะพระบวชใหม่  ถ้าเห็นว่าทำผิดอย่างไรก็สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้เลย  นี่คือหลักของศาสนา คนเราอย่าไปคิดว่าเราวิเศษวิโสถูกต้องเสมอไป  แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็เปิดโอกาส  ให้พระรูปอื่นว่ากล่าวตำหนิติเตียนพระองค์ได้เหมือนกัน  หลักของการปวารณานี้ ก็เพื่อจะให้ผู้อื่นชี้โทษของเรา  เพราะเรามักจะมองไม่เห็นโทษของเราเอง มักจะเข้าข้างตัวเราเองเสมอ เวลาเราทำอะไร เราจะคิดว่ามันถูกมันดีมันงามเสมอ  แต่ในสายตาของคนอื่นอาจจะดูไม่ได้ ก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้เขาว่ากล่าวตักเตือน ส่วนเราจะนำไปแก้ไขดัดแปลงอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับเหตุกับผลที่แสดงมา

 

ถ้าสิ่งที่เขาพูดนั้นถูกต้อง เป็นความจริง ว่าเราไม่ดีจริงๆนะ ควรแก้ไข ถ้านำไปแก้ไข เราก็จะได้รับประโยชน์ คนที่ชี้โทษไม่ได้รับประโยชน์อะไร เราเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์ คนชี้โทษให้เราเป็นเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา คนที่ว่ากล่าวติเตียนเรา เป็นคนชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา เราควรขอบอกขอบใจเขา มากกว่าจะไปโกรธแค้นโกรธเคืองเขา นี่คือหลักของการปวารณา ทุกปีเวลาพระจะออกพรรษา วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ที่เรียกว่าวันปวารณา แทนที่จะลงฟังพระปาฏิโมกข์ คือศีล ๒๒๗ ข้อ วันนั้นจะยกเว้นหนึ่งวัน  ให้เป็นวันปวารณา เริ่มต้นตั้งแต่พระเถระผู้ใหญ่ ท่านจะปวารณาตัวเอง สังฆัมอาวุโส ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุต เตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิฯ แปลว่า ถ้าท่านทั้งหลายเห็นก็ดี ได้ยินก็ดี หรือสงสัยก็ดีในพฤติกรรมของข้าพเจ้า  ขอให้ท่านโปรดว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้าด้วยเถิด แล้วก็จะว่ากันไปทุกองค์ตามลำดับพรรษาลงไป 

 

แต่ในสมัยนี้ก็ทำเป็นพิธีเท่านั้น ไม่มีใครกล้าว่าใคร พอว่ากันครบทุกองค์แล้วก็จบ ถ้าเป็นวัดกรรมฐาน ก็ปวารณากันตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปอยู่ในวัดเลย เข้าไปอยู่ในวัดของครูบาอาจารย์ก็ต้องเปิดโอกาสให้ท่านว่ากล่าวตำหนิติเตียนเราได้เลย เป็นลูกศิษย์ลูกหา อยู่กับครูบาอาจารย์นี้ ท่านจะดุจะด่าว่ากล่าวอย่างไรก็ต้องทนฟังไป เพราะเราไปเพื่อสิ่งนี้อยู่แล้ว ไปเพื่อจะได้ดี เราจะดีได้ก็ต่อเมื่อเราแก้ส่วนที่บกพร่องของเรา ถ้าเราดีจริงแล้วก็ไม่ต้องไป แต่ถ้ายังไม่ดี เราต้องอาศัยผู้อื่น ท่านก็เป็นเหมือนกระจกเงา เวลาเราแต่งตัว จะไปรู้ได้อย่างไรว่าหน้าตาของเราเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีกระจกไว้ดู จะแต่งหน้าทาปากหวีผมใส่เสื้อผ้า ให้ดูสวยงามเรียบร้อยได้อย่างไร ถ้าไม่มีกระจกไว้ดู ฉันใดเราอยากจะเป็นคนดี ไม่มีที่ตำหนิ ไม่มีข้อบกพร่อง เราก็ต้องอาศัยผู้ที่รู้ดีกว่าเรา เป็นผู้คอยว่ากล่าวตักเตือน จะได้นำเอาไปแก้ไข จะได้เป็นคนดีขึ้นกว่าเดิม