กัณฑ์ที่ ๒๓๓       ๓๐ มกราคม ๒๕๔๙

 

แสงสว่างแห่งธรรม

 

        

 

           คนที่ศึกษามาก มีความรู้จากการอ่านมาก มักจะไม่ค่อยภาวนาเท่าไร จะใช้ปัญญาอย่างเดียว ไม่ทำจิตให้สงบ เมื่อจิตไม่สงบปัญญาก็เป็นปัญญาแบบฟุ้งซ่าน แบบตัดกิเลสไม่ขาด รู้แล้วก็หลงอยู่กับความรู้นั้น เพราะไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ให้ไปถึงจุดไหน แต่ถ้าทำสมาธิได้แล้ว จะรู้ว่าทำเพื่อจุดนั้นแหละ เพียงแต่การทำสมาธิไม่สามารถตั้งอยู่ในจุดนั้นได้ตลอด คือความสงบ เวลาเรานั่งบริกรรมพุทโธๆๆไป จิตก็จะสงบ มีความสุข มีความสบาย แต่พอออกมาปั๊บมันก็คิดนู่นคิดนี่ ปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เอาเรื่องนู้นเรื่องนี้มาเผาหัวใจ ก็เกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา ถ้ามีปัญญา เราก็จะตัดได้  มีเรื่องอะไรเข้ามาเราก็ตัดมันได้ ให้ดูใจเราเป็นหลัก ถ้าใจร้อนกับเรื่องอะไร ก็แสดงว่าไม่สุขแล้ว เวลาเรารำคาญวุ่นวายกับเรื่องอะไร ก็แสดงว่าหลงแล้ว รู้ไม่ทัน  ถ้ารู้ทันใจจะเป็นอุเบกขา วางเฉยได้ จะดีจะชั่วอย่างไรก็วางเฉยได้ อันนี้ต้องอาศัยปัญญา

 

ถาม    ถ้เราทำไม่เป็น เราโกรธแล้วบริกรรมพุทโธ

 

ตอบ     ก็เป็นอุบายของสมาธิ แต่ไม่ได้แก้แบบถึงรากถึงโคน เพราะความโกรธเกิดจากความหลง ต้องแก้ด้วยปัญญา เอาความรู้เข้าไปแก้ถึงจะหายโกรธได้อย่างถาวร ถ้าบริกรรมพุทโธๆก็เหมือนเอาหินไปทับความโกรธไว้ ความโกรธก็แสดงตัวออกมาไม่ได้ แต่ไม่ได้ถูกทำลายด้วยการบริกรรม พอหยุดบริกรรมปั๊บก็กลับไปคิดถึงเรื่องนั้นได้อีก เกิดความโกรธขึ้นมาได้อีก แต่ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องของไตรลักษณ์ ไม่มีสาระอะไร เราไปหลงมันเอง ให้ความสำคัญกับมันเอง  ทั้งๆที่ความจริงแล้วไม่มีสาระอะไร  ถ้าเราเห็นอย่างนี้  เห็นว่าไม่มีสาระ  เป็นเรื่องที่เราไปควบคุมบังคับไม่ได้  เหมือนกับแดด กับลม กับฝน ฝนตกเราไม่โกรธฝนไม่ใช่หรือ  เพราะไปควบคุมบังคับมันไม่ได้ ยกตัวอย่างเวลาเราพายเรือ  แล้วมีคนพายเรืออีกลำมาชนเรือเรา  เราจะโกรธคนที่พายเรือใช่ไหม แต่ถ้าเรือลอยมาเฉยๆไม่มีคนพาย  แล้วก็ชนเหมือนกัน เราก็ไม่โกรธเรือลำนั้นใช่ไหม เพราะเรือไม่มีตัวตน แต่ถ้ามีคนพาย ซึ่งเราเห็นว่ามีตัวมีตน เราก็จะโกรธคนนั้น แต่เราเห็นว่าเรือไม่มีตัวตน เราก็เลยไม่โกรธ ถือว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย ไปบังคับควบคุมไม่ได้

 

สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือใจของเรา ถ้ามีปัญญาเราก็ควบคุมไม่ให้ไปโกรธได้ เพราะความโกรธมันร้อน มันเป็นทุกข์  ความไม่โกรธนี้สบาย  อย่างตอนนี้เราไม่โกรธใจเราสบาย  ถ้าใครมาพูดหรือมาทำอะไรให้เราโกรธ  ใจเราจะเกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา  ถ้าเราไม่มีสมาธิ เราจะไม่เห็นภัยของความโกรธที่ปรากฏขึ้นมา แต่ถ้ามีสมาธิจะมีความแตกต่างกันเยอะ ใจที่มีสมาธิเหมือนใจอยู่ในห้องแอร์    พอเจอความโกรธก็เหมือนออกมาจากห้องแอร์ จะสัมผัส  จะรู้ชัดทันที แต่ถ้าอยู่นอกห้องแอร์ตลอดเวลา ก็จะไม่รู้ว่าความร้อนเป็นอย่างไร  เพราะร้อนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว  คนที่ไม่มีสมาธิจะไม่เห็นกิเลส จะไม่รู้ว่ากิเลสเป็นอย่างไร  เวลาเกิดขึ้นก็หลงไปกับเรื่องราวที่ทำให้โกรธ แทนที่จะเห็นตัวโกรธ กลับไปเห็นเรื่องราวหรือบุคคลที่สร้างความโกรธ เห็นคนนั้นคนนี้  เห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ไม่เห็นความโกรธที่ผลักดันให้เราไปวุ่นวาย กับเรื่องนั้นกับเรื่องนี้ กับคนนั้นกับคนนี้

 

แต่ถ้าเรามีสมาธิ มีความสงบเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว พอเกิดความโกรธขึ้นมา มันจะเป็นเหมือนไฟลุกขึ้นมาในใจทันที เราก็รีบแก้รีบดับ แทนที่จะไปหลงกับเหตุการณ์หรือคนที่ทำให้เราโกรธ เราก็ย้อนกลับมาระงับดับตรงนี้ ด้วยการปล่อยวางเหตุการณ์นั้น ยอมจำนนกับเหตุการณ์นั้น ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป มันผ่านไปแล้ว เราจะเสียอะไรก็เสียไปแล้ว ไม่ต้องไปเสียใจ เสียของก็พอแล้ว ไม่ต้องเสียใจ คนมีปัญญาจะเสียอย่างเดียว เสียของ ถ้าไม่มีปัญญาก็จะเสียใจด้วย เพราะคนที่มีปัญญาจะเตรียมตัวรับกับการสูญเสียอยู่เสมอ ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราไปตลอด  เดี๋ยวเครื่องอัดเสียงนี่ก็เสียได้ พังได้ ถูกขโมยไปได้  ลืมทิ้งไว้ที่ไหน คนอื่นก็หยิบไปได้ พอหายไปปั๊บถ้ามีปัญญาก็จะรู้ว่า อ๊ะ!มันไปแล้ว ใจก็ไม่วูบ ไม่เสียใจ แต่ถ้าไม่มีปัญญา พออะไรหายไป ใจจะวูบขึ้นมาทันทีเลย เสียดาย วุ่นวายใจ พยายามตามหา แทนที่จะคิดว่า เอาไปแล้วก็หมดภาระกันไป ต่อไปจะได้ไม่ต้องไปมีมัน ไม่มีเราก็อยู่ได้ ใช่ไหม สมัยก่อนพระพุทธเจ้าไม่มีของพวกนี้ ยังตรัสรู้ได้เลย ของพวกนี้จำเป็นต่อการตรัสรู้มากน้อยเพียงไร ไม่จำเป็นหรอก เพียงแต่ว่าเมื่อมีเราก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีเราก็สามารถบำเพ็ญ เจริญธรรมได้

 

แต่ใจของเรามักจะหลอกเราอยู่เรื่อยๆ มีไอ้นั่นดีนะ มีไอ้นี่ดีนะ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่มีตามมา คือความกังวลใจ ความวุ่นวายใจ เวลามีอะไรก็ต้องคอยดูแลรักษา เวลาหายไปเสียไปก็เสียใจ ถ้าไม่มีเลยก็สบายใจ ไม่ต้องเป็นภาระกับจิตใจ เพราะใจยิ่งปลดเปลื้องได้มากเท่าไร ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเบาขึ้น ยิ่งสบายขึ้น ยิ่งมีมากก็ยิ่งแบกมาก แต่เราไม่เห็นกัน เพราะใจเราไม่เคยปลดเปลื้องด้วยสมาธิมาก่อน ถ้าจิตเรารวมลงเป็นอัปปนาสมาธิ รวมลงแบบสุดๆจนถึงฐานของมัน จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย จะมีความรู้สึกเบาหวิว โล่งไปหมด มีความอิ่ม มีความสุข มีความพออยู่ในใจ  แล้วจะรู้ว่านี่คือจุดที่เราต้องการที่จะไป อยากจะรักษาให้เป็นอย่างนี้ไปตลอด เพียงแต่ว่ามันอยู่ได้ไม่นานจากการทำสมาธิ แต่จะอยู่ได้นานด้วยปัญญา ที่คอยหักห้ามใจไม่ให้ไปแสวงหาสิ่งต่างๆมาแบก มาเป็นสมบัติ ยิ่งมีสมบัติน้อยเท่าไร ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ถ้ามีมากๆ มี ๗๓,๐๐๐ ล้าน มีความสุขที่ไหน แต่เรื่องของกิเลสหนักเท่าไรก็ยอมแบก เพราะมันหลง เขาเรียกพวกบ้าหอบฟาง มันมีสาระมีคุณค่าที่ไหน แต่ขอให้ได้แบก   เงินทองถ้ามีเกินความจำเป็นแล้ว ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับเรา

 

ถาม    ท่านคะศาสนาพุทธสอนให้ใช้อุเบกขามากนี่ มันเลยทำให้เหมือนกับคนไทยไม่มีน้ำใจ ไม่มีความเมตตา เทียบกับพวกศาสนาคริสต์พวกฝรั่งที่ทำเกี่ยวกับเด็กกำพร้า เขาจะคลุกคลีกับเด็กสกปรก หรือเด็กพิการได้แบบสนิทใจ เอาขึ้นมากอดได้ อย่างศาสนาพุทธนี้เราต้องรอให้ฝรั่งมาเรียกเราถึงจะยอมไปทำ ต้องฝรั่งนำหน้าตลอดเวลา นี่มันเป็นเพราะศาสนาหรือเปล่า ที่ทำให้เป็นอย่างนี้ หรือเพราะเราเห็นว่าเป็นบุญกรรม เรามีอุเบกขา ก็เลยปล่อยเขาวางไว้ตรงนั้นเลย แต่ขณะที่ฝรั่งเหมือนมีเมตตามากกว่า เพราะบางครั้งถูกถามเรื่องพวกนี้ ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร

 

ตอบ    จะว่าเราไม่มีเมตตาก็ไม่ใช่ เพียงแต่เรายอมรับเรื่องของกรรมด้วย แต่ก็ไม่ได้ถึงกับปล่อยปละละเลย เราก็ดูแล ศาสนาก็สอนให้คนมีเมตตา กรุณา มุทิตาด้วย นอกจากมีอุเบกขา

 

ถาม    อย่างที่สมาคมที่ไปๆกันนี่นะคะ ส่วนมากจะเป็นฝรั่ง เป็นเอเชียมีอยู่ ๒ – ๓ คน คนเอเชียทำได้ไม่สนิทเท่าฝรั่ง ก็เลยรู้สึกว่าศาสนาคริสต์ต้องมีอะไรดีอย่างหนึ่ง ที่สามารถสอนให้เขาทำอย่างนี้ได้

 

ตอบ     เขาอาจจะเน้นไปทางนั้นก็ได้ แต่ของเรานี่มีหลายอย่างที่ต้องบำเพ็ญควบคู่กันไป เมตตาก็ต้องมี แต่ก็ต้องมีศีลมีภาวนาด้วย เพราะว่าจุดหมายปลายทางของการปฏิบัตินั้น ต้องไปไกลกว่าการให้ทานอย่างเดียว การให้ทานก็คือความเมตตา ช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้นั้นผู้นี้ ซึ่งเราก็มีอยู่เหมือนกัน เพียงแต่เราอาจจะไม่ทำแบบที่เขาทำ เราทำของเราไป ต่างคนต่างทำกัน เมืองไทยเรามีขอทานเต็มไปหมด ก็มีการให้ทานอยู่เสมอ มีการปล่อยนกปล่อยปลา เพียงแต่เราไม่ได้ทำเป็นแบบองค์กรเหมือนของเขา เขาทำเป็นแบบองค์กร แล้วก็ทุ่มไปกับงานอย่างนี้มาก  จนทำให้เกิดความเด่นขึ้นมา แต่ของเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญเท่านั้นเอง เช่นทำบุญตักบาตร  พระมีส่วนเหลือก็เอาไปสงเคราะห์แทนเรา มีคนยากจน มีคนเดือดร้อน พระก็สงเคราะห์ไป ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่าเราไม่มี เพราะเราปฏิบัติหลายอย่าง

 

ถ้าเรามีเมตตาแล้วขาดอุเบกขา  เราก็จะมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ กับเรื่องนั้นเรื่องนี้  เห็นใครเดือดร้อนก็เป็นห่วง เป็นกังวลกับเขามากจนเกินไป จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ  เพราะขาดอุเบกขา เราทำได้เท่าไรก็ทำไป  ช่วยเหลือกันได้เท่าไรก็ช่วยกันไป เมื่อไม่อยู่ในวิสัยที่จะช่วยได้ ก็ต้องปลง เป็นเรื่องของวิบากกรรม  ใจของเราจะได้ไม่แกว่ง ยังนิ่งเฉยได้ การปฏิบัติทางศาสนาพุทธจึงถือการดูแลใจเป็นหลักก่อน  จะทำอะไรเพื่อผู้อื่นก็ทำได้  แต่ใจของเราจะต้องไม่รุ่มร้อน  หรือวุ่นวายไปกับการช่วยเหลือผู้อื่น ในกรณีที่อยู่เหนือความสามารถของเรา ก็ต้องยอมรับความจริงว่า  ช่วยได้แค่นี้แหละ เช่นเป็นหมอรักษาโรค เมื่อรักษาได้แค่นี้  ทำได้แค่นี้ ก็ต้องแค่นี้  จะวุ่นวายใจก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  ถ้าเรามองกันจริงๆแล้ว ก็คิดว่าทางศาสนาพุทธก็มีความเมตตามาก  เพราะหัวใจของศาสนา ของคำสอน ก็สอนให้มีความเมตตาอยู่แล้ว เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก  เพียงแต่ไม่เอาไปปฏิบัติ  ส่วนใหญ่จะชอบทำบุญกับพระ  แต่ไม่ชอบทำทานกับคนขอทาน  กับคนที่เดือดร้อน  เพราะอยากจะได้บุญเยอะๆ

 

ถาม    ก็เหมือนหลวงตา บางคนท่านช่วยได้ท่านก็ช่วย ช่วยไม่ได้ท่านก็ไม่

 

ตอบ     ก็เลยกลายเป็นภาระของพระที่จะต้องรับช่วงต่อ พวกเราชอบได้บุญเยอะๆ ก็ไปทำบุญกับหลวงตา แล้วหลวงตาก็ต้องเอาเงินของเราไปช่วยผู้อื่นแทนพวกเราอีกทีหนึ่ง ไปสร้างโรงพยาบาล ไปสงเคราะห์เหมือนกับที่เขาทำกันนั่นแหละ เพียงแต่ว่าพวกเราติดพระ ซึ่งก็ดี เพราะเข้าหาพระเราได้หลายอย่าง เขาทำของเขาเองเขาได้แค่ทานบารมีอย่างเดียว เราเข้าหาพระเราได้ทานบารมี แล้วยังได้ปัญญาบารมี ได้ศีลบารมี ได้เนกขัมมบารมี เพราะไปอยู่วัดเราก็ต้องถือศีล ๘ ปฏิบัติธรรมกัน การทำอะไรจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ตนด้วย พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า จงบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด  ประโยชน์ตนต้องมาก่อนประโยชน์ผู้อื่น ถ้าเรายังกินข้าวไม่อิ่ม ไปป้อนคนอื่นเราจะไม่มีแรง ต้องป้อนตัวเราให้อิ่มก่อน เมื่อมีแรงแล้วจึงไปช่วยเหลือผู้อื่น พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ก็ไม่เคยทรงประกาศศาสนาสอนให้กับใครเลย  ทรงบำเพ็ญถึง ๖ พรรษาด้วยกัน เมื่อทรงบรรลุแล้ว ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงเมตตาต่อสัตว์โลกถึง ๔๕ พรรษาด้วยกัน

 

ศาสนาพุทธเห็นความสำคัญอยู่ที่นามธรรม  คือคุณธรรมมากกว่าวัตถุ ทานมีอยู่ ๔ ชนิดด้วยกัน วัตถุทาน วิทยาทาน  อภัยทาน และธรรมทาน ในบรรดาทานทั้ง ๔ ชนิดนี้ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าการให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง  เพราะธรรมะทำให้คนหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้  ให้ข้าว ให้อาหาร ให้ที่อยู่ ก็พอประทังชีพไปวันๆหนึ่ง  แต่ไม่ได้แก้ปัญหาหลัก คือการเวียนว่ายตายเกิด  ดังนั้นถ้ามองแบบคนที่ไม่มีปัญญาก็จะเห็นว่า  การให้วัตถุทาน  เช่นสร้างโรงพยาบาล สร้างอะไรต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่การสอนธรรมะกลับเป็นเหมือนของไม่มี คุณค่าเลย  เพราะเขามองไม่เห็น ไม่มีปัญญาที่จะเห็นคุณค่าของธรรมะได้เท่านั้นเอง ก็ดูพระพุทธเจ้าตลอด ๔๕ พรรษานี้ ไม่ได้สร้างโรงพยาบาล ไม่ได้สร้างมูลนิธิสงเคราะห์เด็กเลย 

 

ถ้าพระพุทธเจ้าจะทรงทำสิ่งเหล่านี้ ทำไมจะทำไม่ได้ แต่ได้ทรงวิเคราะห์ดูแล้วทรงเห็นว่า สิ่งที่พระองค์ทรงมีคือธรรมะนั้น มีค่ามากกว่าเงินทอง ให้ธรรมะดีกว่าให้เงินให้ทอง ดีกว่าสร้างมูลนิธิ สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน สร้างอะไรต่างๆ มันก็เป็นแค่วัตถุทาน เป็นแค่วิทยาทาน สร้างโรงเรียนก็เป็นวิทยาทาน สร้างบ้านที่อยู่อาศัยสงเคราะห์คนไม่มีที่อยู่อาศัย ก็เป็นการสงเคราะห์ด้วยวัตถุทาน แต่ไม่ใช่ธรรมทาน ตายไปก็จบ ตายไปก็ไม่ได้อะไรที่ดีขึ้น ไม่ได้หลุดพ้น ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ถ้าให้ธรรมทาน ทำให้มีพระอรหันต์เป็นหมื่นเป็นแสน อันไหนจะมีคุณค่ากว่ากัน คงจะตอบความสงสัยว่า  ทำไมศาสนาพุทธจึงไม่เด่นทางด้านวัตถุ แต่จะเด่นทางด้านคุณธรรม สอนให้คนมีคุณธรรม  ดีกว่าการสงเคราะห์ด้วยปัจจัย ๔  ให้เขามีปัจจัย ๔ ให้เขามีแรง มีกำลังวังชา ถ้าใจยังมีกิเลสอยู่ เดี๋ยวเขาก็ไปฆ่าคนอื่นได้  ไปลักทรัพย์  ไปทำผิดศีลได้ แต่ถ้าให้เขามีคุณธรรม มีศีลมีธรรมแล้ว จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร  ถึงแม้จะอดอยากขาดแคลนอย่างไร ก็จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

 

ถาม  ท่านคะ ไม่ทราบว่าผิดหรือถูกนะคะที่ฟังมาว่า  ถ้ากำจัดอวิชชาได้จะกำจัดไตรลักษณ์ได้ อันนี้ถูกหรือผิดคะ

 

ตอบ  มันเป็นของคนละด้านกัน อวิชชากับไตรลักษณ์เป็นเหมือนมืดกับแจ้ง ถ้ามีความสว่างก็ไม่มีความมืด อย่างตอนนี้มีความสว่าง ความมืดก็ไม่มี แต่พอความสว่างหายไปความมืดก็ปรากฏขึ้น

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิแล้วฟังหลวงตาพูด จะจับใจความได้นิดเดียว ถามนิดหนึ่งนะคะ เราต้องพยายามดึงตัวเองกลับมาฟังเทศน์ให้เข้าใจ หรือปล่อยให้ไป ยังไม่ค่อยแน่ใจ

 

ตอบ  แล้วแต่จะฟังแบบไหน จะฟังให้เกิดปัญญาก็ต้องพิจารณาตาม

 

ถาม  แต่เวลาเรานั่งสมาธิไม่ควรฟังหรือคะ

 

ตอบ  ก็แล้วแต่ระดับจิตของเรา จิตบางคนพิจารณาตามไม่ทัน ไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจถึงเหตุถึงผลที่แสดงได้ ก็เพียงฟังแต่เสียง อาศัยเสียงเป็นตัวกล่อมให้จิตสงบ เรียกว่าฟังเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ แต่ไม่เกิดปัญญา แต่ถ้าฟังอย่างที่พูดคุยกันนี้ มีการอธิบายถึงเหตุถึงผลให้ฟัง ถ้าเข้าใจก็เกิดปัญญาขึ้นมา อยู่ที่ฐานะของคนฟังว่าอยู่ในระดับไหน ถ้าจิตยังอยู่ในระดับที่ยังพิจารณาไม่เป็น ยังไม่สามารถเชื่อมต่อระหว่างเหตุกับผลได้ ฟังไปก็ไม่เข้าใจ ก็ต้องอาศัยการฟังเพื่อทำจิตให้สงบก่อน แล้วค่อยมาพัฒนาปัญญา คิดด้วยเหตุด้วยผล เช่นมีแสงสว่างได้เพราะอะไร เพราะดวงอาทิตย์ทำให้มีแสงสว่าง  เวลามืดเพราะอะไร  เพราะดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้ว  คนนี้มีความสุขเพราะอะไร  เพราะทำความดี คนนี้มีความวุ่นวายใจเพราะอะไร เพราะทำความไม่ดี  หัดพิจารณาไปเรื่อยๆ  เมื่อพัฒนาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ  ก็จะเข้าไปสู่ระดับไตรลักษณ์  จะพิจารณาเห็นว่า คนเราเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่ว่าใครก็ต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น 

 

เมื่อพิจารณาไปเรื่อยๆ จิตก็เริ่มชินกับเรื่องเหล่านี้ ก็จะไม่วุ่นวายใจเวลาความแก่ ความเจ็บ ความตายปรากฏขึ้นมา ถ้ารู้สึกว่าเป็นเรื่องราวใหญ่โตโกลาหลเวลาที่มีคนตาย ก็เพราะใจของเราไม่ได้พิจารณาถึงความตายจนเกิดความเคยชิน เหมือนกับความตายเป็นเรื่องแปลกประหลาด เหมือนกับมีลูกอุกกาบาตหล่นลงมา จะต้องมีการโจษขานกัน คนนั้นตายแล้วนะ คนนี้ตายแล้วนะ เป็นเรื่องที่ต้องรู้กันอยู่แล้วว่าต้องตาย ทำไมต้องมาป่าวประกาศบอกกัน ให้โกลาหลวุ่นวายกันไปหมด ตายก็เผากันไป เรื่องก็จบ ไม่มีปัญหาอะไร นี่เป็นเพราะว่าไม่ได้เจริญไตรลักษณ์ ใจหมกมุ่นอยู่กับความหลง  อยากจะอยู่ไปนานๆ อยู่ไปเรื่อยๆ อยู่ไปตลอด ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย พอเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็วุ่นวายใจ แทนที่จะเฉยๆเป็นอุเบกขา ไม่ได้หรอก พอแก่หน่อย พอเห็นผมขาวขึ้นมาสักเส้นหนึ่งนี้  โอ้โฮ! เหมือนกับเห็นนรก เพราะไม่พิจารณา มัวอยู่ในความมืดบอดของอวิชชา ที่ให้คิดว่าเราจะสาวไปตลอด จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย จะไม่ตาย เมื่อไม่คิดถึงมัน ก็เหมือนกับว่าจะไม่แก่ พอแก่ขึ้นมาปั๊บ ก็รับไม่ได้

 

แต่ถ้ามีปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ อยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวแก่แล้วนะ แก่ลงทุกวันๆ แก่อยู่ทุกขณะ ชีวิตเราเหมือนกับต้นเทียน พอจุดไฟปั๊บ ก็เริ่มกินเนื้อเทียนไปเรื่อยๆ สักชั่วโมงสองชั่วโมงต้นเทียนก็ไม่มีอะไรเหลือ ชีวิตของเราก็โดนเวลากลืนไปเรื่อยๆ ทีละนิดทีละหน่อย ทุกขณะทุกวินาที แก่ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวถึงเวลามันก็หยุด ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆตลอดเวลา เราจะรู้ทัน หยุดก็หยุด ไม่เห็นจะเป็นอะไร ไม่ทุกข์เสียอย่าง แต่ไปห้ามไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายไม่ได้ แต่ห้ามใจไม่ให้คิดได้ ด้วยปัญญา จึงต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ บทสวดก็มีสอนให้สวดอยู่ เรามีความแก่เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เคยพิจารณาบ้างไหมเวลาสวดมนต์

 

ถาม  มันเข้าไปอยู่ไม่ได้

 

ตอบ  ต้องเอาชนะตัวที่สร้างความรู้สึกไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตายให้ได้ ความรู้สึกนี้เป็นตัวกิเลส มันไม่อยากแก่ มันไม่อยากเจ็บ มันไม่อยากตาย ถ้ามีความไม่อยากอย่างนี้อยู่ ก็จะทำให้มีความทุกข์ใจ แต่ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถึงเวลามันจะแก่ก็ยอมรับมัน แต่ไม่ได้อยากแก่ ไม่ได้อยากเจ็บ ไม่ได้อยากตายนะ ความอยากแก่ อยากเจ็บ อยากตายก็เป็นกิเลสเหมือนกัน เวลาอยากจะตายแล้วฆ่าตัวตายนี่ คนบางคนที่ฆ่าตัวตายก็เพราะความอยากตาย ถ้าอย่างนี้ก็เป็นกิเลส เพราะไม่อยากจะอยู่ อยากจะตาย แต่ถ้าเรารู้แล้วเราเฉยๆ เมื่อพิจารณาแล้วใจจะเป็นอุเบกขา ใจเราจะเฉยๆกับความเป็นความตาย เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ได้ทั้ง ๒ อย่าง ขณะเป็นก็อยู่ ขณะตายก็ไป คิดอย่างนี้ก็จะไม่มีปัญหากับอะไรทั้งสิ้น นี่คือการเจริญปัญญา ซึ่งเป็นเหมือนแสงสว่าง ธัมโม ปทีโป แสงสว่างแห่งธรรม  ถ้ามีไตรลักษณ์อยู่ที่ไหน กิเลสก็จะแตกกระจายไป จะไม่ยึดไม่ติด ถ้าเห็นว่าเป็นทุกข์ใครอยากจะไปเอามา  ถ้าบอกว่า เอาไหม ๗๓,๐๐๐ ล้านนี่  แต่คุณต้องกอดกับความทุกข์นะ ถ้ามีกิเลสไม่มีปัญญามันก็จะเอา แต่คนที่มีปัญญาเขาไม่เอาหรอก ให้หลวงตาไปเท่าไร ท่านเก็บไว้ที่ไหน ท่านระบายออกไปทันที เก็บไว้แล้วปวดหัว ไม่อยากดูแลรักษา ไม่เกิดประโยชน์

 

ถาม  ลูกยังไม่เคยนะคะ ถามดูเฉยๆว่า เวลาทำสมาธิไปจนจิตสงบไปมากๆแล้ว มันจะมีกิเลสอะไรให้ฆ่าไหมคะ

 

ตอบ  สมาธิก็เหมือนกับการฉีดยาสลบ กิเลสมันไม่ตาย เวลาจิตสงบกิเลสก็สงบตัวไปด้วย พอออกจากความสงบกิเลสก็ออกมาทำงานต่อ

 

ถาม  ทีนี้พอสงบแล้วเอาปัญญาไปคิด

 

ตอบ  ถ้าเป็นปัญญาก็จะคิดเรื่องธรรมะ ถ้าเป็นกิเลสก็เป็นเรื่องของอวิชชา คือความคิดของเรานี่คิดไปได้ ๒ ทาง คิดไปในทางธรรมะก็ได้ คิดไปในทางกิเลสก็ได้ เช่นคิดอยากร่ำอยากรวย อย่างนี้เรียกว่าคิดไปในทางกิเลส อยากจะมีสิ่งนั้นมีสิ่งนี้ ถ้าเกิดความอยากทั้ง ๓ ประการ เช่นความอยากในกาม อยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อยากได้วัตถุข้าวของต่างๆ อยากไปเที่ยว อยากไปกิน อยากไปดื่ม เรียกว่าเป็นความอยากของกิเลส คิดไปในทางกิเลส หรืออยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ อยากจะเป็นคุณหญิง อยากจะเป็นนายกฯ อยากจะเป็นรัฐมนตรี อยากจะร่ำอยากจะรวย อย่างนี้เรียกว่าเป็นความคิดของกิเลส

 

ถาม  ท่านคะแล้วอยากจะนิพพานล่ะคะ เป็นกิเลสไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ อันนี้เป็นมรรค อยากทำความดี อยากรักษาศีล อยากปฏิบัติธรรมนี่ไม่เป็นกิเลส เป็นความคิดทางธรรม คิดไปในทางธรรมะ อย่างที่บอกเมื่อสักครู่นี้ว่า คิดไปได้ ๒ ทาง คิดไปในทางธรรมะก็เป็นมรรค คิดไปในทางกิเลสก็เป็นสมุทัย ก็พาเราไปสู่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ถึงแม้จะได้มา ๗๓,๐๐๐ ล้านก็วุ่นวายใจ ไม่มีความสุข แต่ถ้าทำบุญ ๗๓,๐๐๐ ล้านไปตอนนี้ รับรองได้ว่าชื่อเสียงดังไปทั่วโลกเลย อย่างเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก คือคุณบิลเกตส์ ก็ไม่ได้เก็บเงินไว้ รู้สึกว่าเขาตั้งมูลนิธิขึ้นมา ใช้เงินไปไม่รู้กี่แสนล้านบาท หลายหมื่นล้านเหรียญ เงินที่เขาหามาได้ เขาเอามาบริจาคตั้งเป็นมูลนิธิ แล้วเอารายได้จากเงินมูลนิธินี้มาแก้ปัญหาทางด้านโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อ ๒ – ๓ วันก่อนก็ประกาศโครงการ ๑๐ ปีที่จะสู้กับวัณโรค มีค่าใช้จ่ายประมาณ ๕๖,๐๐๐ ล้านเหรียญ เพื่อจะช่วยเหลือคนไม่ให้ตายจากโรคนี้

 

ถาม  ฝรั่งส่วนมากเขาจะเป็นอย่างนี้เจ้าค่ะ เขาจะใจดีให้กับพวกเรา

 

ตอบ  มันก็ไม่เสมอไป คนไทยที่ใจดีก็มี เพียงแต่ว่าคนไทยเราชอบทำบุญแบบปิดทองหลังพระมากกว่า อย่างคนที่บริจาคเงินกับหลวงตาเยอะๆนี่ เราไม่รู้ว่าเป็นใคร เขาไม่ประสงค์จะออกนาม เพราะเป็นแนวทางของศาสนาพุทธ ทำอะไรก็มักจะไม่ค่อยดัง ดังอยู่ในใจของตัวเอง อย่าไปเปรียบเทียบกัน จะเปรียบก็ได้ แต่ถ้าพิจารณาลงไปลึกๆแล้ว มันก็ไม่สำคัญอะไร

 

ถาม  ลูกชอบไปขอเปลี่ยนศาสนา จะเปลี่ยนศาสนาเรื่อยค่ะ

 

ตอบ  ศาสนาอื่นไม่รู้ทางไปถึงพระนิพพาน เขาจึงต้องเน้นอยู่ทางด้านการให้ทานเป็นหลัก คือให้ทานแล้วก็รักษาศีล ก็จะทำให้คนไปสวรรค์ ไปสวรรค์ก็ได้ไปเจอพระเจ้า เพราะพระเจ้าอยู่บนสวรรค์ แต่ของเรานี่มันเลยสวรรค์ไป ถึงนิพพานเลย จะนิพพานได้จิตต้องสงบ ต้องปล่อยวาง

 

ถาม  แล้วพระเจ้านี่มีจริงไหมคะ

 

ตอบ  พระเจ้าก็เป็นจิตดวงหนึ่งเหมือนของพวกเรานี่ เป็นเทพนี่ก็เป็นพระเจ้าแล้ว ถ้าเราทำบุญ ทำทาน รักษาศีล ตายไปเราก็ไปเกิดเป็นเทพ

 

ถาม  ท่านว่าจริงไหมคะ พระเจ้าก็สอนให้ภาวนาเหมือนกัน

 

ตอบ  เขาก็มีการสอน มีการสวดอะไรของเขา เป็นวิธีทำจิตใจให้สงบได้ แต่ทุกศาสนาในโลกนี้ต่างกับศาสนาพุทธตรงที่ ศาสนาพุทธสอนเรื่องไตรลักษณ์ แต่ศาสนาอื่นไม่ได้สอน อาจจะสอนเรื่องอนิจจัง เพราะทุกศาสนาก็เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ คือเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน เห็นว่าชีวิตในโลกนี้มีความทุกข์เหมือนกัน แต่ไม่เห็นอนัตตา ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน พวกเรานี่ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่อวิชชามันเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา ให้เป็นตัวเป็นตน แล้วก็เสกเทพให้เป็นพระเจ้า ให้เป็นพระอินทร์พระพรหมขึ้นมา แต่ความจริงก็เป็นดวงจิตเท่านั้นแหละ ดวงจิตที่มีคุณธรรมต่างกัน ถ้ามีคุณธรรมสูงก็เป็นพระอริยเจ้า ต่ำลงมาก็เป็นพระพรหม ต่ำลงมาก็เป็นเทพ ต่ำลงมาก็เป็นมนุษย์ ต่ำลงมาอีกก็เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ทั้งหมดนี้ก็เป็นดวงจิตทั้งนั้น ดวงจิตที่สะสมบุญหรือสะสมกรรม ทำให้ดวงจิตเป็นไปตามบุญ ตามกรรม

 

ถาม  อาจารย์คะ ถ้าเราพิจารณาตลอดเวลาได้นี่ เราใช้ได้หรือเปล่า

 

ตอบ  ก็พยายามพิจารณาให้เห็นเป็นไตรลักษณ์แล้วก็ปล่อยวาง อย่าไปยึด อย่าไปติด อย่าไปอยากได้อะไร ให้ปล่อยวาง แล้วจะได้สิ่งที่ดีที่วิเศษที่มีอยู่ในตัวเรา คือความเบาใจ ความสุขใจ ความสงบใจ แต่ถ้าเราไปอยากได้อะไรแล้ว ความวุ่นวายใจจะตามมาทันที เช่นได้ ๗๓,๐๐๐ ล้านแล้วเป็นอย่างไร ใจวุ่นไหมหรือใจสงบ แต่ถ้าสละ ๗๓,๐๐๐ ล้านไป รับรองได้ใจสบาย หมดภาระ หมดความกังวล ไม่ต้องมายุ่งกับมัน เดี๋ยวตายไปก็ต้องสละไปอยู่ดี เอาไปได้ที่ไหนล่ะ ๗๓,๐๐๐ ล้านนี้ ก็ต้องทิ้งไว้ให้เป็นสมบัติของคนอื่นไป แต่ทิ้งแบบไม่ได้บุญ เพราะไม่ได้ทิ้งแบบสมัครใจ การที่จะได้บุญต้องทำด้วยความสมัครใจถึงจะได้ เช่นโยมเอาของมาถวายพระนี่โยมสมัครใจมาถวาย  ถึงแม้จะเสียของไป แต่ก็มีความสุข แต่ถ้ามีขโมยมาขโมยไป ก็จะไม่มีความสุขใจ กลับเป็นความเสียใจ เสียของชิ้นเดียวกัน แต่ผลต่างกัน อยู่ตรงที่ว่าเราเสียไปด้วยความสมัครใจ หรือด้วยความไม่สมัครใจ ถ้าเสียด้วยความสมัครใจก็มีความสุข นี่แหละคือบุญ ความสุขใจนี้แหละคือตัวบุญ เป็นการปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด เป็นการทำจิตใจให้เกิดความสงบขึ้นมา

 

            ถ้าไม่ปล่อยวาง ไม่ยินดีที่จะให้ หากใครหยิบไปหายไปนี่ วุ่นไหม บางทีต้องไปแจ้งความตำรวจ พยายามไปสืบเสาะหาให้ได้ว่ามันอยู่ที่ไหน แล้วถ้ารู้ว่าคนไหนเอาไปก็จะโกรธ จะเกลียดคนนั้นขึ้นมาอีก จึงต้องมีความสมัครใจ พร้อมที่จะจากสิ่งต่างๆไป ถ้าเราพร้อมอย่างนั้นแล้ว เวลามันจากไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ก็จะไม่ทำให้เราทุกข์ใจ เช่นเรารู้ว่าเครื่องอัดเสียงเครื่องนี้ สักวันหนึ่งมันก็ต้องเสีย หรือไม่ก็ต้องหายไป หรือตกรุ่นไป เราเบื่อมัน เราก็ให้คนอื่นไปอยู่ดี ถ้าเราเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน เวลาหายไป จะไปโดยวิธีใด มันก็ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับเรา นี่คือความเป็นจริง รู้ว่าเป็นอนิจจัง มันไม่อยู่กับเราไปตลอด รู้ว่ามันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเรา รู้ว่ามันจะไปเมื่อไรเราก็ไปบังคับไม่ได้  ถึงเวลาจะไปมันก็ไป ถ้ารู้แล้วเราก็ไม่ไปยึดไม่ไปติดมัน ไม่ไปอยากให้มันต้องอยู่กับเราไปตลอด ต้องดีไปตลอด ต้องไม่เสียเลย

 

นี่คือเรื่องของปัญญา ถ้าเห็นไตรลักษณ์แล้วก็จะเห็นอย่างนี้ จะไม่อยากได้อะไร เพราะในไตรลักษณ์มันก็มีทุกข์อยู่ด้วย จะรู้ว่าเป็นความทุกข์มากกว่าเป็นความสุข แต่ส่วนใหญ่พอมีกิเลสปั๊บ จะเห็นว่าได้มาแล้วจะมีความสุข ก็ซื้อมา พอซื้อมาแล้วก็มีทุกข์ตามมา ต้องคอยดูแลรักษา ต้องคอยหาถ่านมาใส่ ต้องคอยชาร์จแบตฯ ไม่มีมันเราก็อยู่ได้ เมื่อก่อนนี้ไม่มีของพวกนี้ เราอยู่กันได้อย่างไร เราก็อยู่กันมาได้ ไม่เดือดร้อนอะไร ถ้าเราสามารถอยู่แบบพระได้ แสดงว่าเรามีปัญญา อยู่อย่างพระแล้วมีความสุข คืออยู่แบบไม่มีอะไร มีเท่าที่จำเป็นคือปัจจัย ๔ เครื่องดำรงชีพ  นอกเหนือจากนั้นแล้วไม่มีก็ไม่เดือดร้อน

 

แต่ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องทำงานทำการ ก็ต้องมีเครื่องมือเป็นธรรมดา ถ้าต้องไปเทศนาว่ากล่าวตามสถานที่ต่างๆ ต้องเดินทาง ก็ต้องมีรถยนต์พาไป แต่มีเฉพาะกิจ มีตามเหตุตามผล ไม่ได้มีด้วยความอยากโก้หรู อยากไปเที่ยว คิดว่ามีรถคันหนึ่งแล้วจะสบาย ไปเที่ยวไหนก็ไปได้ แต่การไปเที่ยวนี่ไม่เกิดประโยชน์กับจิตใจ แต่เกิดประโยชน์กับกิเลส เพราะการอยากไปเที่ยวเป็นกามตัณหา ก็อยู่เฉยๆไม่ได้ พออยู่เฉยๆแล้วก็ทุกข์ ให้นั่งภาวนาก็นั่งไม่ได้ ต้องไปนู่นมานี่ บางทีก็เอาการไปทำบุญมาเป็นเหตุ เช่นไปอินเดียก็อ้างว่าไปแสวงบุญกัน แต่ความจริงแล้วมันก็เป็นเรื่องของกิเลส ไม่ต้องไปถึงอินเดียหรอก แสวงหาในใจเรานี่แหละ

 

ถาม  มีบางคนบอกว่า ที่นั่นเหมือนกับมีพลังของพระพุทธเจ้า มีความอยากนั่งสมาธิ เหมือนกับนั่งได้มากขึ้นอะไรอย่างนี้

 

ตอบ  ก็ไม่ค้านหรอก สำหรับคนที่ยังไม่มีพลังจิตของตัวเอง ก็ต้องอาศัยสถานที่อย่างนั้นไปก่อน พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงกำหนดให้ไปบูชาตามสถานที่เหล่านั้น เพราะเมื่อไปแล้วจะเกิดพลังขึ้นมา เกิดศรัทธา เกิดวิริยะขึ้นมา แต่สำหรับคนที่ได้พัฒนาเกินขั้นนั้นไปแล้ว ก็ไม่ต้องไป หลวงปู่มั่นก็ไม่ได้ไป หลวงตาก็ไม่เคยไป

 

ถาม  หลวงตาท่านบอกไว้เองด้วย หลวงตาบอกว่าไม่ต้องไปถึงอินเดีย

 

ตอบ  คนที่ยังไม่มีพลังไม่ต้องไปอินเดียก็ได้ หาครูบาอาจารย์อยู่เรื่อยๆ ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วก็พยายามปฏิบัติตามที่ท่านสอนให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการภาวนานี่ ภาวนาให้ได้เถอะ ให้จิตมันรวมสักครั้งเดียว แล้วพลังทั้งหมดนี่ มันยิ่งกว่าไปอินเดียอีก

 

ถาม  ทีนี้ท่านบอกพยายามให้ผ่านตรงเวทนาให้ได้ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  จะผ่านด้วยวิธีใด จะรวมด้วยวิธีใด ก็ตามแต่วาสนาของแต่ละคน บางคนมีบุญนั่งไปไม่ต้องผ่านเวทนาก็ได้ พอจิตบริกรรมก็เกาะติดอยู่กับคำบริกรรม มันก็รวมลงไปเลย ไม่ต้องผ่านเวทนาก็มี แต่บางคนบริกรรมเท่าไรมันก็ยังไม่สงบ มันจะปวดจะเจ็บอย่างไร ก็ต้องพยายามฝืนทนไป แล้วก็บริกรรมต่อไป จนกว่าจะผ่านไปได้ ถ้าไม่ผ่านแล้วลุกขึ้นมาจิตก็ยังเหมือนเดิมอยู่

 

ถาม  ท่านคะ สมมุติว่านั่งอย่างนี้นะคะ แล้วเราพยายามเปลี่ยนจุดศูนย์ถ่วงของเราค่ะ เพราะบางทีเราราบลงไป

 

ตอบ  มันไม่เกิดประโยชน์หรอก

 

ถาม  ต้องให้อยู่ท่าเดียว

 

ตอบ  ถ้าตั้งท่าตั้งแต่ครั้งแรกดีแล้วก็อยู่ท่านั้นแหละ  อย่าไปยุ่งกับมัน เพราะยุ่งกับมันทำให้เราเสียสมาธิ ทำให้เราไม่บริกรรม

 

ถาม  แต่เราลดเวทนาได้

 

ตอบ  แต่มันไม่ทำให้จิตผ่านเข้าไปสู่ความสงบ เราต้องการอะไร ต้องการลดเวทนาหรือเราต้องการให้มันรวมลง ถ้าให้รวมลงก็ไม่ต้องไปกังวลกับเวทนา ให้ปล่อยวาง ให้มันไปตามเรื่องของมัน ให้จิตอยู่กับการบริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่องเดียวเท่านั้น อย่าไปคาดอย่าไปคะเนว่าเมื่อไรจะรวมลงสักทีๆ ถ้าคาดคะเนแล้วก็จะไม่รวม แต่ถ้าอยู่กับพุทโธๆๆ ให้มันขาดใจไปกับพุทโธเลยนั่นแหละ แล้วมันจะรวมลงไปเอง

 

ถาม  ถ้าเราทำบุญทำทานไปเรื่อยๆนี่ อย่างน้อยบารมีเราเพิ่มขึ้นนี่ จะช่วยให้ง่ายขึ้นไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าทำทานบารมีมันก็จะช่วยสนับสนุนเรื่องศีลบารมี ถ้าอยากจะภาวนาก็ต้องมีศีลบารมี ต้องรักษาศีลแล้วก็ต้องเริ่มภาวนาไปด้วย ไม่ใช่รักษาแต่ศีลอย่างเดียว ทำแต่ทานอย่างเดียว แล้วก็ไม่ภาวนา แล้วอยู่ๆจะให้เกิดการภาวนาขึ้นมาไม่ได้ ต้องอาศัยทานกับศีลเป็นเครื่องสนับสนุน แต่เราก็ต้องภาวนา ถ้าภาวนาโดยไม่มีทาน ไม่มีศีล ก็จะยากกว่าคนที่มีทานมีศีล คนไม่มีทานไม่มีศีลเวลานั่งภาวนาไป พอคิดถึงเงินคิดถึงทองขึ้นมาก็ห่วงแล้ว หรือตกใจลืมของไว้ตรงไหน ก็นั่งภาวนาไม่ได้แล้ว กลัวของหายไป ต้องคอยดูแล แต่คนที่เคยทำทานมาแล้ว พอคิดถึงเรื่องนั้น ก็จะคิดว่าช่างหัวมันเถอะ ใครเอาไปก็ถือว่าเป็นการทำบุญทำทานไป มันก็ตัดได้ หรือนั่งไปแล้วยุงกัด ถ้าไม่มีศีลก็ตบผัวะ ก็เสียสมาธิไปแล้ว

 

ถาม  ถ้าไม่ตบแล้วมันยังคันจะให้ทำอย่างไร

 

ตอบ  ก็ปล่อยมันไป คนที่มีศีลยอมเจ็บยอมทนได้ ก็นั่งต่อไปได้ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องยุงกัด กับเรื่องอะไรต่างๆ คนที่มีทานก็จะทำให้รักษาศีลง่าย คนที่มีศีลก็จะทำให้ภาวนาง่าย คนที่มีสมาธิก็จะทำให้เจริญปัญญาง่าย จะรู้ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส เพราะการใช้ปัญญาก็คือการแยกแยะสิ่งที่เป็นกิเลสออกจากสิ่งที่ไม่เป็นกิเลส เพราะในใจเรามีทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่ดีเราก็กำจัดมันออกไป เหลือแต่สิ่งที่ดีไว้

 

ถาม การจะภาวนาได้นี่ มันต้องเป็นบุญเก่าด้วยใช่ไหมเจ้าคะท่าน อาจารย์

 

ตอบ ทั้งบุญเก่าบุญใหม่ผสมกันไป ทำไปเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งก็จะภาวนาได้เอง ต้องพยายามทำไปเรื่อยๆ อย่างน้อยวันหนึ่งควรจะทำสัก ๒ ครั้ง เช้าครั้ง เย็นครั้ง ถ้าไม่ทำเลยก็จะยาก ถ้าทำไปเรื่อยๆก็เป็นการฝึกไว้ก่อน จะไปหวังให้ถึงเวลาปั๊บแล้วทำแบบเต็มที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นี่ ไม่มีทางหรอก ต้องค่อยๆทำไป เหมือนกับเด็กอยู่ๆจะให้เดิน ยืนขึ้นแล้ววิ่งไปนี่ ไม่ได้หรอก ต้องหัดคลานไปก่อน หัดยืนหัดเดินไปก่อน แล้วถึงจะวิ่งได้ การภาวนาก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไปก่อน อย่างน้อยที่สุดตอนเช้าตื่นขึ้นมาก็ควรภาวนาสักครึ่งชั่วโมง ก่อนจะนอนอีกครึ่งชั่วโมง  ทำไปแล้วต่อไปจะติดเป็นนิสัยขึ้นมา ถ้าไม่ทำเลย แล้วอยู่ๆจะให้มันทำ มันไม่ทำหรอก อาตมาก็เหมือนกัน อ่านหนังสือเยอะ อ่านอยู่หลายเดือนด้วยกัน ก็อ่านเรื่องภาวนานี่แหละ อ่านเรื่องปัญญา อ่านเรื่องสติ แต่วันหนึ่งก็ถามตัวเองว่า ยังไม่เคยนั่งภาวนาเลย มีแต่อ่าน ก็เลยเริ่มภาวนาตรงนั้นเลย  การอ่านหนังสือ การฟังเทศน์ฟังธรรมทั้งหมด ก็เพื่อพาเราไปสู่ตรงจุดนั้น พาเราไปสู่การภาวนา เหมือนกับเตรียมกับข้าวไว้ ก็เพื่อพาไปสู่การกิน เวลาไปตลาดไปซื้อกับข้าวกับปลามาจัดมาทำ แล้วเอามาตั้งไว้บนโต๊ะเฉยๆ ไม่กินก็เสียท่าเปล่าๆ ต้องกิน เมื่อถึงเวลาแล้วต้องกิน การภาวนาก็เป็นการกินธรรมะ

 

ถาม  ไม่ทราบว่าตอนกลางคืนจะเปิดวิทยุของหลวงตาไว้ฟังจนหลับไป จะถือว่าเป็นการรวมจิตเราได้ไหมคะ

 

ตอบ  ได้ มันฟังได้ ๒ แบบ ฟังแบบลิ้นกับแกง หรือฟังแบบทัพพีในหม้อแกง เปิดฟังไปทั้งวันแต่ใจไม่ได้ซึมซาบกับสิ่งที่ฟังเลย มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าฟังเพียงวินาทีเดียวแล้วเข้าใจความหมาย เกิดปัญญาขึ้นมา ปล่อยวางได้ อย่างนี้จะมีคุณค่ากว่า จึงไม่ได้อยู่ที่เวลาที่เราเปิดฟัง อยู่ที่ว่าเราฟังจริงๆหรือเปล่า เราได้เข้าใจความหมายหรือเปล่า แต่ถ้าต้องเปิดฟังเป็นเพื่อนแก้เหงา ระหว่างเปิดเพลงกับเปิดธรรมะ เปิดธรรมะจะดีกว่าเปิดเพลง ถ้ามีสติช่วงไหน ฟังแล้วเกิดสะดุดใจขึ้นมา ก็จะได้ประโยชน์จากธรรมะ ถ้าเปิดเพลงฟังก็จะไม่ได้ธรรมะ จะไม่ได้อะไรเลย

 

ถาม  แล้วสตินี่คือเราต้องระลึกอยู่ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

 

ตอบ  ใช่ สติก็คือให้รู้อยู่กับตัวทุกขณะ ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังรับประทานก็ให้รู้อยู่กับการรับประทาน กำลังดื่มน้ำก็ให้อยู่กับการดื่มน้ำ ไม่ใช่ดื่มน้ำไปก็คิดถึงเรื่องนู้นเรื่องนี้ไป หรือขณะที่ฟังธรรมอยู่นี้ ใจมัวไปคิดว่าเดี๋ยวจะไปถ่ายรูปที่ไหนดี แสดงว่าไม่มีสติอยู่กับการฟังธรรม ให้อยู่กับปัจจุบัน อยู่ที่นี่ เราอยู่ตรงไหนก็ให้อยู่ตรงนั้น อยู่กับการเคลื่อนไหวของกายวาจา ใจ

 

ถาม          จะเท่ากันไหมคะถ้าเรามีพุทโธติดอยู่ในใจ เราฟังรู้เรื่องด้วย แต่เราพุทโธไปด้วย อย่างนี้ได้ไหมคะ

 

ตอบ  ก็อยู่ที่เราจะฟังรู้เรื่องหรือเปล่า แต่สำหรับอาตมาๆคิดว่ามันจะสับสนไปหน่อย ถ้าฟังอย่างเดียวจะดีกว่าฟังแล้วพุทโธไปด้วย

 

ถาม  แล้วอย่างเวลาขับรถนี่ เราพุทโธไปด้วยค่ะ

 

ตอบ  ก็ต้องรู้อยู่กับการขับ รู้อยู่กับการเบรก รู้อยู่กับการผ่อนคันเร่ง รู้ว่าต้องทำอะไร ไม่ใช่ขับไปแล้วก็คุยกันไป สนุกสนานเฮฮา อย่างนั้นแสดงว่าไม่ได้อยู่กับงานที่ทำอยู่ พยายามทำทีละอย่าง อย่าไปทำหลายๆอย่างพร้อมๆกัน ยกเว้นในเวลาที่จำเป็น เวลาขับรถก็ไม่ได้อยู่ที่พวงมาลัยอย่างเดียว ต้องอยู่ที่เบรก อยู่ที่คันเร่งด้วย นี่คือความหมายของสติ เพราะเมื่อมีสติแล้ว เวลาเราจะให้จิตอยู่กับพุทโธๆๆ มันก็จะไม่ไปสู่เรื่องอื่น ถ้าอยู่กับพุทโธๆไปไม่นาน เดี๋ยวมันก็รวมลง

 

นี่คือเป้าหมายหลักของการทำเพื่อให้จิตรวมเป็นสมาธิ จิตไม่รวมถ้าไม่มีสติ จึงต้องสร้างสติขึ้นมาก่อน เมื่อมีสติแล้วพอไปนั่งทำสมาธิมันก็จะรวมลงได้ คนที่รวมลงง่ายก็แสดงว่ามีสติอยู่แล้ว พวกเรามีสติไม่เท่ากัน คนที่มีสติน้อยก็พวกเสียสติ พวกที่ต้องเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล คนที่เรียนหนังสือไม่ก่ง ก็เพราะมีสติไม่มาก จะเรียนสูงขึ้นไป เช่นระดับปริญญาตรีโทเอก ก็ต้องมีสติมาก ถึงจะสามารถอ่านหนังสือได้นานๆหลายๆปี คนที่ไม่มีสตินี่ พอจบม. ๓ ก็เรียนต่อไปไม่ไหวแล้ว สติของแต่ละคนพัฒนามาไม่เท่าเทียมกัน ถ้าได้พัฒนามามากก็สามารถเจริญปัญญาได้มาก เจริญสมาธิได้มากตามกำลังของสติ ไม่ว่าจะภาวนาเพื่อปัญญาหรือเพื่อสมาธิ ก็ต้องมีสติเป็นตัวพาไป เวลาจะทำสมาธิก็ต้องมีสติอยู่กับพุทโธ เวลาเจริญปัญญาก็ต้องมีสติอยู่กับไตรลักษณ์ ต้องคิดแต่เรื่องไตรลักษณ์อย่างเดียว เห็นอะไรแล้วต้องเห็นเป็นอนิจจังไปหมด เห็นเป็นทุกข์ไปหมด ไม่อยากได้ ใครอยากจะได้ความทุกข์บ้าง จะให้เงินมาเป็นแสนก็ไม่อยากจะได้ เอามาแล้วต้องทุกข์กับการดูแลรักษา ไม่มีมันเราก็อยู่ได้ ถ้าเป็นพระนะ เพราะมีครบถ้วนบริบูรณ์แล้วกับสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

 

พระพุทธเจ้าจึงทรงห้ามไม่ให้พระรับเงินรับทอง ตอนหลังก็ทรงอนุโลมผ่อนผัน ถ้าจะถวายเงินให้กับพระก็ให้ฝากไว้กับไวยาวัจกร ถ้าต้องการอะไรก็สั่งให้เขาไปหามา จะเอาไปทำบุญทำทานก็สั่งให้เขาไปทำ ไม่ให้ยึดถือเป็นสมบัติของตนเอง เพราะไม่จำเป็น จะมีแต่ความทุกข์ตามมา ดีไม่ดีก็ถูกโจรผู้ร้ายมาปล้นมาฆ่า แต่ก็ยังอยากจะมีกัน พอโดนจี้โดนปล้นก็ร้องห่มร้องไห้ เสียใจ เพราะไม่ได้หัดอยู่แบบไม่ต้องใช้เงินใช้ทองกัน ชอบอยู่แบบใช้เงินใช้ทอง พอหามาได้แล้วก็ต้องเอาไปให้คนอื่นอยู่ดี จึงอย่าไปมีมัน เมื่อไม่มีก็ไม่ต้องทำทาน ไม่ต้องทำบุญ หมดภาระไป 

 

ถาม  ถ้าเป็นผู้หญิงล่ะคะ

 

ตอบ  ก็ต้องมีไว้บ้าง อย่ามีจนเกินเหตุเกินผล มีไว้เพื่อใช้ตามความประสงค์ของเรา เช่นมีเงินไว้สักก้อนหนึ่งเพื่อจะได้ปฏิบัติธรรม จะได้ไม่ต้องทำงาน ตอนนี้ก็ต้องสะสมเงินก้อนนี้ไว้ก่อน เมื่อได้แล้วก็ออกจากงาน เปลี่ยนจากงานทางโลกมาเป็นงานทางธรรมะ มาภาวนาแทน อาศัยเงินก้อนนั้นมาใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าข้าว ค่าอาหารไป แต่อย่าเอาไปใช้จ่ายตามความอยากของกิเลส เดี๋ยวจะไม่พอ ต้องตัดหมดเรื่องกิเลสถ้าจะปฏิบัติธรรม ไม่เอาเงินไปดูหนังฟังเพลง ไปเที่ยวที่นู่นเที่ยวที่นี่ เลิกหมด อยู่ที่วัดอย่างเดียว ภาวนาอย่างเดียว อย่างนี้ก็จะเจริญมีความสุขไปเรื่อยๆ ที่พูดมานี่จะอยู่ไกลเกินเอื้อมไปหรือเปล่าก็ไม่รู้  ก็เพียงบอกให้รู้ว่าเป้าหมายเป็นอย่างไร ถ้าอยากจะเจริญก้าวหน้าก็ต้องไปทางนี้  ถ้ายังไปไม่ได้ก็รักษาศีลไว้ก็แล้วกัน อย่าไปผิดศีล ๕ มีเงินทองเหลือใช้ก็เอาไปทำบุญ จะทำในลักษณะไหนก็ได้ ทำกับพระก็ได้ ทำกับเด็กกำพร้าก็ได้  ทำกับขอทานก็ได้  ทำกับพ่อกับแม่ก็ได้ ทำกับญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก็ได้ แล้วแต่ความจำเป็น แล้วแต่กรณี

 

ถาม  มันไม่เกี่ยวกับเนื้อนาบุญหรือคะ

 

ตอบ  ก็อย่างที่บอก ถ้าทำกับเนื้อนาบุญก็จะได้บุญเยอะกว่า เราจึงชอบไปทำบุญกับเนื้อนาบุญกัน แล้วก็มาบ่นว่าไม่มีมูลนิธิไว้คอยดูแลคนยากคนจน คนป่วย

 

ถาม  อย่างนี้เห็นแก่ตัวอยากได้บุญเยอะ 

 

ตอบ แต่ก็ไม่เป็นไร เราทำกับเนื้อนาบุญ เนื้อนาบุญท่านก็ไปทำแทนเรา ท่านก็ไม่ได้เก็บเงินเก็บทองไว้ ท่านก็เอาไปสงเคราะห์โลกต่อ

 

ถาม  ต้องไปทำมาหากินที่อินโดฯค่ะ ต้องไปทุกเดือน ไม่รู้ว่าควรจะไปต่อไปเรื่อยๆหรือไม่เจ้าคะ ไปแล้วจะได้ตลาดไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  นี่ไม่ใช่ปัญหาธรรมะ

 

ถาม  แต่มันก็เชื่อมกับธรรมะได้ เพราะถ้าเรามีปัจจัยเราก็สามารถนำมาถวายได้

 

ตอบ  โลกนี้มันโลกไม่เที่ยง อาจจะดีไปเรื่อยๆก็ได้ หรืออาจจะอยู่คงที่ก็ได้ หรืออาจจะเสื่อมลงก็ได้ ต้องพิจารณาแบบนี้ ถึงจะเป็นปัญญา แต่ถ้าพิจารณาว่าจะต้องเจริญไปอย่างเดียว อย่างนี้เป็นกิเลส เป็นความโลภแล้ว เพราะความจริงมันไม่แน่เสมอไป เหตุการณ์ในโลกเราก็เห็นอยู่ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีก็มี ไปในทางที่เลวร้ายก็มี หรือไม่เลวร้ายแต่ไม่ดีก็มี นี่คือปัญญา เราต้องยอมรับความจริงอันนี้ เราต้องคิดเผื่อไว้ เราหวังว่ามันจะเจริญ แต่ถ้าไม่เจริญอย่างน้อยก็ขออย่าให้เสื่อมก็ยังดี ถ้าเสื่อมก็ขอให้เสื่อมน้อยๆ แต่ถ้าจะเสื่อมจริงๆก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นอนัตตา บังคับมันไม่ได้ เราก็อย่าไปหวัง อย่าไปพึ่งกับมันมากจนเกินไป พยายามใช้น้อยๆไว้ แล้วจะได้ไม่เดือดร้อนกับการแสวงหา  ถ้าใช้มากก็ต้องเดือดร้อนมากหน่อย กับการหาเงินหาทอง

 

ถาม  แต่ว่าคนเราเวลาที่เกิดมาก็เกิดมาไม่เท่ากัน มีความคิดความอะไรไม่เท่ากัน เป็นเพราะบุญและการกระทำกรรมหนหลัง เพราะฉะนั้นเวลาที่หลวงตาท่านบอกจากการที่ท่านมอง ไม่ทราบว่าลูกเข้าใจตัวเองผิดหรือเปล่านะเจ้าคะ เหมือนกับว่ามองปั๊บท่านรู้ได้เลยว่าคนนี้มายังไงๆ แล้วจะไปยังไงต่อเจ้าคะ

 

ตอบ  ใช่ ท่านมีญาณ ท่านมีปัญญา ท่านมีประสบการณ์ ท่านเห็นคนแบบนี้ลักษณะนี้ ก็รู้เลยว่าจะไปทางไหน พวกเราก็พอจะรู้ เราเห็นคนขอทาน เราก็รู้ว่าเป็นคนขอทานใช่ไหม เราก็มีปัญญาในระดับหนึ่ง รู้ว่าอนาคตของคนขอทานคงไปไม่ถึงไหน เราก็มีเหมือนกัน เพียงแต่มีน้อย ต่างกับครูบาอาจารย์พระปฏิบัติเยอะท่านมีปัญญาเยอะ ท่านก็รู้เยอะ อย่างพระพุทธเจ้านี้รู้ไกล รู้เรื่องของศาสนาว่าจะอยู่ได้นานสักกี่ปี

 

ถาม  ท่านอาจารย์เห็นไหมคะ

 

ตอบ  ก็เห็นด้วย ๒ ตานี้แหละ เห็นตามฐานะของเรา ทุกคนก็มีความสามารถที่จะมองเห็นได้ เพียงแต่จะเห็นไกลหรือเห็นใกล้ คนที่มีสายตาไกลก็จะมองเห็นได้ไกล คนที่มีสายตาใกล้ก็มองเห็นใกล้  ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางด้านปัญญาเป็นหลัก  การทำบุญให้ทานรักษาศีลไม่ได้เกี่ยวกับปัญญา ที่จะต้องเกิดจากการศึกษา เกิดจากการได้ยิน เกิดจากการวิเคราะห์ เกิดจากการภาวนา จึงจะเกิดปัญญาขึ้นมา การได้ยินได้ฟังก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง วันนี้เราฟังเราก็ได้ความรู้ในระดับหนึ่ง  ถ้าเอาไปพัฒนาต่อ เอาไปคิดไปพิจารณา ก็จะขยับขึ้นไปอีก ถ้าเอาไปใช้ในการปฏิบัติ ก็จะเป็นปัญญาที่ลึกซึ้งขึ้นไปใหญ่  เพราะปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์เป็นปัญญาที่แท้จริง  ปัญญาทางความคิดเป็นเพียงทฤษฎี  อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้  เช่นเราคิดว่าไปลงทุนที่อินโดฯปีหน้าจะต้องได้เพิ่มอีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้จริงหรือไม่ ก็ต้องเอาไปปฏิบัติดู  ถ้าปฏิบัติแล้วก็ได้ตามที่คิด เราก็จะรู้ว่าทำอย่างนี้ ทำแบบนี้แล้วได้ผล  เป็นความรู้ที่ชัดเจนกว่า ปัญญาจึงมีหลายแบบ หลายระดับด้วยกัน

 

เบื้องต้นต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังการศึกษาก่อน หรือคิดเอง คิดว่าทำโครงการนี้ดีไหม เช่นทำดาวเทียมดีไหม ถ้าคิดว่าดีก็ทำไป แล้วก็ได้ขายหุ้น ได้เงินตั้งเยอะแยะ พอมีประสบการณ์แล้วก็จะรู้ว่า ต่อไปจะทำอะไร  ทำแบบไหน ทำอย่างไรดี  ก็จะมีความมั่นใจ แต่ถ้าไม่มีประสบการณ์เลย ก็จะไม่มั่นใจเท่าไร ปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์จึงเป็นปัญญาที่มีความแน่วแน่มั่นใจ รู้จริงเห็นจริง  อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้  สามารถดับกิเลสได้หมด ก็ทรงมีความมั่นใจในการสั่งสอนวิธีดับกิเลสให้กับผู้อื่น สอนกี่ครั้งก็ไม่ผิดพลาด เพราะไม่ได้สอนจากความจำ ถ้าเป็นความจำก็จะสอนแบบผิดๆถูกๆ แต่ถ้าเป็นประสบการณ์ จะไม่ผิดพลาด เหมือนกับเคยเดินทางมาที่นี่แล้ว จะบอกใครกี่ร้อยครั้งก็จะบอกเขาถูก  ถ้ามาด้วยสติ ถ้ามาแบบไม่มีสติ นั่งหลับมาในรถ อย่างนี้ก็เหมือนกับไม่ได้มาเอง ไม่มีประสบการณ์ ถ้าไปบอกใครเขา ก็บอกแบบผิดๆถูกๆ  แต่ถ้าขับรถมาเอง หาทางเอง พอรู้จักทางแล้ว จะบอกใครกี่ครั้ง ก็จะบอกได้อย่างไม่ผิดพลาด เอาละนะสำหรับวันนี้