กัณฑ์ที่ ๒๓๔       ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๙

 

 

ความอยากไม่มีขอบเขต

 

 

   

           สถานที่ปฏิบัติธรรมบนเขานี้ ไม่ค่อยมีคนรู้กัน ก็เลยไม่ค่อยมีใครขึ้นมารบกวน แล้วก็มีด่านคอยกั้นไว้ด้วย คนที่มาทำบุญที่วัดตอนเช้าก็ไม่รู้ มาทำบุญตักบาตรฟังเทศน์เสร็จแล้วก็กลับ ไม่ค่อยได้ปล่อยให้ใครขึ้นมา เพราะกลัวจะมารบกวน มาสร้างความวุ่นวาย สถานที่ไม่กว้างใหญ่ จึงต้องระมัดระวังหน่อย เนื้อที่ทั้งหมดของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอนก็ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ มีถนนวิ่งรอบเกือบ ๘ กิโลฯ ส่วนบริเวณที่ปฏิบัติธรรมของพระก็ประมาณสัก ๑๐๐ ไร่ได้มั้ง หรือ ๘๐ ไร่ มีทางเดินเป็นวงกลม แล้วก็มีทางแยกไปสู่แต่ละกุฏิ อยู่ได้ประมาณสักสิบกว่ารูป แต่ก็อยู่กันไม่มาก ส่วนใหญ่จะอยู่แค่ ๕ – ๖ รูป ผู้ที่มาบวชที่นี่ถ้าอยากจะปฏิบัติ ก็มักจะไปอยู่ศึกษากับครูบาอาจารย์กัน ส่วนพวกที่บวชชั่วคราวก็ไม่ได้ตั้งใจจะปฏิบัติ ก็ไม่ค่อยชอบขึ้นมา เพราะข้างบนนี้มันกันดารพอสมควร ไฟฟ้าก็ไม่มี น้ำก็ต้องอาศัยน้ำฝนรองใส่แท้งก์ ต้องใช้อย่างประหยัดเพราะมีไม่มาก มีแท้งก์อยู่ ๒ – ๓ ลูก ต่อหนึ่งกุฏิ ถ้าต้องการสรงน้ำให้จุใจ ก็สรงที่ข้างล่างก็ได้  ในตอนเช้าเวลาลงไปข้างล่างก่อนจะออกบิณฑบาต เพราะมีน้ำประปา มีไฟฟ้า ที่ข้างบนนี้เวลาสรงน้ำก็ต้องประหยัดๆหน่อยสัก ๔ – ๕ ขัน พอทำความสะอาดร่างกายก็พอแล้ว

 

สำหรับคนที่ชอบความสงบ เรื่องเหล่านี้จะไม่เป็นอุปสรรค เพราะความสงบให้ความสุขมากกว่า มากกว่าความสุขที่ได้จากการอาบน้ำมากๆ อาบฝักบัว อาบในอ่าง มันก็สุขแค่ขณะที่อาบเท่านั้นเอง พอออกจากห้องน้ำเดี๋ยวก็ร้อน จิตใจก็ร้อนต่อ แต่ถ้าจิตใจเย็นด้วยความสงบแล้ว จะเย็นตลอดเวลา เรื่องของใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าเรื่องอื่น ถ้าเข้าถึงใจแล้ว ได้เห็นความสงบของใจแล้ว จะสามารถสละทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะไม่มีอะไรมีคุณค่าเท่ากับใจที่ได้รับการดูแลรักษา ได้รับการอบรม ให้สงบ ไม่วุ่นวายตามกระแสของความอยากต่างๆ ที่เป็นตัวสร้างความวุ่นวายให้กับใจของพวกเรา แต่พวกเราไม่ค่อยรู้กัน เพราะเราอยู่ภายใต้กระแสของความอยากมานาน จนติดเป็นนิสัย ถ้าได้ทำอะไรตามความอยากแล้วจะมีความสุข เหมือนกับคนที่ติดยาเสพติด หรือติดสุราหรือบุหรี่  ถ้าได้เสพเป็นประจำแล้ว เวลาอยากจะเสพแล้วได้เสพก็จะมีความสุข แต่ถ้าวันไหนไม่ได้เสพ ก็จะรู้สึกหงุดหงิดเป็นทุกข์ ต้องรีบบำบัดด้วยการหามาเสพต่อ เลยกลายเป็นทาสของสิ่งต่างๆเหล่านี้ไป

 

พวกเราก็เช่นเดียวกัน มีความสุขกับความอยาก เวลาอยากจะไปไหนแล้วได้ไป ก็มีความสุข แต่ถ้าวันไหนไม่ได้ไปเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะมีความทุกข์มาก เพื่อนฝูงไปกินเลี้ยงกัน แต่เราต้องนอนอยู่บ้านหรือนอนอยู่โรงพยาบาล มีแต่ความทุกข์ใจ แต่พอออกจากโรงพยาบาล หายจากไข้แล้ว ก็ต้องรีบไปทันที มีโอกาสก็ไปอยู่เรื่อยๆ ไม่เคยหยุดคิดเลยว่า การไปนี้เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับเรา ที่จะรอเราอยู่ภายภาคหน้า เวลาที่เราไม่สามารถทำตามสิ่งที่เราต้องการได้ อย่างเมื่อเช้านี้ก็มีหญิงชราคนหนึ่ง ลูกหลานพามาทำบุญ เป็นอัมพฤตเดินกะโผลกกะเผลก ก็ต้องประคับประคองมา เพราะอยากจะทำบุญ ลูกหลานก็บอกเธอว่า ถ้าอยากจะทำบุญ ก็ต้องพยายามเดินมาให้ได้  เพราะรถวิ่งไปถึงกุฏิไม่ได้ ต้องเดินไป เดินไปแล้วก็มีความทุกข์มาก เพราะร่างกายไม่สามารถทำอะไรตามความต้องการอย่างที่เคยทำได้ ก็พยายามปลอบใจว่า เป็นเหมือนกันทุกคน ต้องเป็นอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น ต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น  แต่ใจของเราไม่ได้แก่ ไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

 

ถ้าสามารถระงับดับความอยาก ที่จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่ต้องอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือ เราจะไม่เดือดร้อนเลย ถ้าเป็นอัมพฤตอัมพาตไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่กับที่ก็อยู่ไป ใจไม่ได้อยากจะไปไหน ก็ไม่เดือดร้อน ใจมีความสุขเหมือนเดิม ถ้ารู้จักทำความสงบให้เกิดขึ้น ความทุกข์เกิดจากความดิ้นรนตะเกียกตะกายตามความอยาก ความอยากทำให้จิตกระเสือกกระสนดิ้นรน ก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา เวลาได้ทำตามความอยากก็มีความสุข นี่เป็นจิตของคนที่ไม่เคยพบกับความสงบ แต่คนที่พบกับความสงบแล้ว กลับเห็นการกระเสือกกระสนนี้เป็นความทุกข์ เป็นความวุ่นวาย เวลาจะทำอะไรถ้าเรื่องมากก็ไม่ทำดีกว่า  อยู่เฉยๆนี่แหละแสนจะสบาย  กินแล้วนอนก็พอแล้ว คนเรากินแล้วนอนกันไม่ได้ อยู่ไม่เป็นสุข เพราะจิตใจไม่ได้รับการดูแลรักษา ไม่ได้กำจัดความอยากที่อยู่ในจิตในใจ  เพราะพวกเราไม่รู้ว่าความอยากนี้เป็นโทษ ทนอยู่กับมันมา  จนเป็นเหมือนเพื่อนของเรา เป็นเหมือนตัวที่จะเนรมิตสิ่งต่างๆมาให้กับเรา

 

โลกนี้จึงมีข้าวของเต็มไปหมด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผลิตออกมานี้ ก็ออกมาจากความอยากของมนุษย์ทั้งนั้น มันให้ความสุขกับเรามากน้อยเพียงไร หรือให้ความทุกข์กับเรามากน้อยเพียงไร เราไม่เคยเอามาชั่งดูกัน พอเกิดความอยากก็อดไม่ได้ที่จะต้องขวนขวายหามา หามาได้ไม่นานก็ต้องหาสิ่งใหม่มาแทนสิ่งที่มีอยู่ เพราะสิ่งที่มีอยู่ไม่มีความหมายแล้ว ของในบ้านจึงเต็มไปหมด หาที่เก็บไม่ได้ อย่างเสื้อผ้านี่มีเป็นสิบๆชุด เป็นร้อยชุดก็มีสำหรับคนบางคน รองเท้าก็มีเป็นร้อยคู่ ทั้งๆที่เท้าก็มีอยู่เพียงคู่เดียว เวลาใส่ก็ใส่ได้เพียงคู่เดียว แต่ความอยากไม่มีขอบไม่มีเขต พอเห็นคู่ใหม่ก็ติดใจอยากจะได้ขึ้นมา  ซื้อมาใส่หนเดียวแล้วก็เก็บไว้ในตู้ บางทีไม่ได้ใส่อีกเลย  สิ่งเหล่านี้เราไม่ค่อยคิดกัน เพราะมันบาดใจเรา เวลาอยากจะได้อะไรแล้วไม่ได้ทำตามที่อยาก มันทรมานมาก จึงต้องทำกันไปเรื่อยๆ ชีวิตของเราก็เลยวนเวียนอยู่กับการแสวงหาสิ่งต่างๆไปเรื่อยๆ  เหมือนกับวิ่งตะครุบเงาตัวเราเอง เงาของตัวเราจะทอดไปข้างหน้าอยู่เสมอ เราเดินตามเงาไป เงามันก็หนีเราไปเรื่อยๆ 

 

ความพอก็เหมือนกัน ความพอที่จะเกิดจากความอยากนั้นมันไม่มี  ที่ว่าได้สิ่งนี้แล้วจะพอ มันไม่พอ พอได้มาแล้วก็มีสิ่งอื่นที่อยากจะได้อีก เราจึงต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่ใจเป็นหลัก เพราะใจเป็นผู้สร้างความสุขและสร้างความทุกข์ให้กับเรา พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดที่ใจ ไม่ว่าจะเป็นความสุขก็ดี ความเจริญก็ดี ความทุกข์ก็ดี ความเสื่อมก็ดี  ล้วนเกิดจากใจทั้งนั้น ถ้าใจฉลาดที่เรียกว่ากุสลาธัมมา มีปัญญา ใจก็จะสร้างสิ่งที่ดีที่งามที่สุขให้กับเรา  ถ้าใจเป็นใจที่โง่เขลาเบาปัญญา ที่เรียกว่าอกุสลา มีความหลง มีอวิชชาความไม่รู้อยู่ในใจ ก็จะไปตามความอยากต่างๆ จึงต้องมาพิจารณาดูว่า  เราควรทำอะไรกับใจของเรา   ถ้าไม่รู้ก็ต้องศึกษา การได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  จากพระพุทธเจ้าเองก็ดี หรือจากพระอริยสงฆสาวกทั้งหลายก็ดี จะทำให้เกิดปัญญา ว่าควรทำอย่างไรที่จะให้เรามีความสุข มีความเจริญ อย่างวันนี้เรามาทำบุญกัน ก็ถือว่าเป็นกุสลาธัมมา เป็นการกระทำที่เกิดจากความฉลาด จากปัญญา เป็นการกระทำที่จะทำให้จิตใจมีความสงบ

 

การทำบุญให้ทานเป็นวิธีที่จะช่วยตัดความอยาก ความต้องการต่างๆได้ ทำให้จิตใจเกิดความอิ่ม เกิดความสุขขึ้นมา ถึงแม้จะไม่ได้มากมายก่ายกอง แต่อย่างน้อยก็จะช่วยดับหรือต้านความอยากได้ในระดับหนึ่ง เช่นเรามีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง  วันนี้เรามาทำบุญกัน ๕๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาท เงินก้อนนี้เราสามารถเลือกได้ว่า  จะเอาไปทำอะไร  จะเอาไปซื้อของตามความอยากก็ได้ ซื้อเสื้อผ้าสักชุดหนึ่งก็ได้ ซื้อไปแล้วก็มีความสุขชั่วขณะที่ได้ของนั้นมา  แต่ความอิ่มความพอมันไม่มี  แต่จะมีความอยากเพิ่มขึ้นอีก พอได้ชุดนี้มาแล้ว เดี๋ยวไปเห็นชุดใหม่แขวนอยู่ในตู้ เห็นว่าสวยก็อยากจะได้อีก ถ้าเอาเงิน ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ บาทนี้มาทำบุญ แทนที่จะไปซื้อสิ่งที่เราอยากจะได้ ก็ทำให้เราตัดความอยากได้ในระดับหนึ่ง  ทำให้จิตใจของเรามีความสุข เพราะว่าเวลาได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์เป็นความสุขกับผู้อื่น เราจะมีความสุขใจ  มีความอิ่มใจ แล้วเราจะทำไปเรื่อยๆ เพราะเห็นว่าการทำบุญทำให้เรามีความสุขใจอิ่มใจ เพราะบุญเป็นอาหารของจิตใจนั่นเอง

 

ส่วนการกระทำตามความอยากนี้เป็นเหมือนตัวพยาธิ ที่จะคอยทำให้เรามีความหิวอยู่เรื่อยๆ ทำตามความอยากมากน้อยเพียงไรก็ไม่พอสักที คนบางคนที่หาเงินมาได้เป็นหมื่นล้านแสนล้าน ก็ยังไม่พอ ยังอยู่เฉยๆไม่ได้ เพราะการทำตามความอยากไม่ได้ทำให้จิตใจอิ่มนั่นเอง แต่คนที่ทำบุญให้ทานอยู่เรื่อยๆ จะไม่ค่อยมีความอยากเท่าไร มีแต่ความสุข ความสบายใจ ไม่มีอะไรก็อยู่ได้  เพราะธรรมชาติของใจเป็นอย่างนี้ ยิ่งได้มามากเท่าไรตามความอยาก ยิ่งมีความอยากความต้องการเพิ่มมากขึ้นไป  ยิ่งตัดความอยากด้วยการเสียสละสิ่งที่ตนเองมีอยู่ไปได้เท่าไร ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แทนที่จะไปซื้อของ ไปทำตามความอยาก ความอยากนั้นก็จะถูกตัดไป เมื่อถูกตัดไปกำลังของความอยากก็จะอ่อนลงไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่อยากจะทำอะไรแล้วไม่ทำตามความอยากนั้น  ครั้งต่อไปความอยากนั้นก็จะเบาลงไป เช่นอยากจะเสพสุรายาเมาแต่ตัดสินใจว่าวันนี้จะไม่เสพ จะไม่ดื่มวันหนึ่ง พอพรุ่งนี้ความอยากจะดื่มก็จะเบาลงไป ถ้าไม่เสพไปสักระยะหนึ่ง ก็จะรู้สึกเฉยๆ 

 

ธรรมชาติของความอยากเป็นอย่างนี้ ยิ่งทำตามความอยากมากน้อยเพียงไร มันจะยิ่งทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นเพียงนั้น สังเกตดูสมัยที่เราเป็นเด็กๆ ความอยากของเด็กๆก็เป็นระดับหนึ่ง ได้สตางค์ไปซื้อขนมก็มีความสุขแล้ว แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็ต้องซื้อของที่แพงขึ้น  ต้องใช้เงินมากขึ้น เมื่อโตเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยิ่งใช้เงินมากขึ้นไปใหญ่  พวกเราทุกคนไม่เคยมีความพอกับการใช้เงินใช้ทอง หามาได้มากน้อยเพียงไร ก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยพอใช้   เพราะจะมีรายจ่ายเพิ่มตามมากับรายรับเสมอ  เพราะความอยากของเราจะขยายแผ่วงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเคยฝึกหัดใช้เงินใช้ทองตามความจำเป็น ก็จะมีเหลือใช้ เช่นมีเสื้อผ้าสัก ๒ – ๓ ชุดเอาไว้ใส่  เอาไว้เปลี่ยน มีรองเท้าสักคู่สองคู่ไว้ใช้เท่าที่จำเป็น ก็พอแล้ว ถึงแม้จะมีเงินมีรายได้มากขึ้น  ก็ไม่ใช้เงินนั้น ก็จะมีเหลือใช้  เพราะสามารถควบคุมความอยากได้  ไม่ให้ฉุดลากให้เราไปทำตามความต้องการ  ตามความอยากต่างๆ

 

เพราะความอยากไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบ ไม่มีเขต ถ้ามีเงินมากเราก็จะซื้อของแพงๆมากขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนขับรถคันละห้าแสน  ต่อไปอาจจะขับรถคันละห้าล้านก็ได้  มันก็รถเหมือนกัน พาเราไปจุดสู่หมายปลายทางได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่ามีรสนิยมสูงขึ้น มีราคาแพงขึ้นเท่านั้นเอง ปัญหาของคนเราจึงอยู่ที่การใช้เงินใช้ทอง  ใช้ไปเท่าไรก็ไม่พอใช้เสมอ  ถ้าใช้ไปตามความอยาก ตามความต้องการ แต่ถ้าใช้ไปตามความจำเป็น จะมีเงินทองเหลือใช้ จะได้เอาไปทำประโยชน์ เอาไปช่วยเหลือคนอื่น เอาไปทำบุญทำทาน ก็จะทำให้จิตใจมีความสุข มีความอิ่มมากขึ้น ทำให้ความอยากความต้องการสิ่งต่างๆน้อยลง คนที่ทำบุญจริงๆจะเป็นคนสมถะ ตัวเองจะไม่ค่อยมีสมบัติอะไรมาก อย่างครูบาอาจารย์ทั้งหลาย  ท่านเคยอยู่อย่างไรท่านก็อยู่อย่างนั้น มีสมบัติแค่ ๘ ชิ้น คือบริขาร ๘  ได้แก่บาตรใบหนึ่ง ผ้าสามผืน มีดโกน ที่กรองน้ำ ประคดเอว ด้ายกับเข็ม นี่เป็นสมบัติ ๘ ชิ้นของท่าน มีคนบริจาคมากี่ร้อยล้าน กี่พันล้าน ท่านก็ไม่ได้เอามาซื้อข้าวของมาใช้กับตัวท่านเอง มีเท่าไรท่านก็เอาไปทำประโยชน์หมด

 

เวลาเราเห็นคนตกทุกข์ได้ยากแล้วได้รับการเยียวยา ได้รับความช่วยเหลือ  ทำให้เรามีความสุขใจ พอเวลาเราตกทุกข์ได้ยาก แล้วมีคนยื่นมือมาช่วยเหลือ เราจะดีอกดีใจ มีความสุขมาก แล้วความสุขนั้นก็จะกลับมาหาเราเอง  ทำความสุขให้กับผู้อื่น สุขนั้นก็จะกลับมาหาเรา ทำความทุกข์ให้กับผู้อื่น ทุกข์นั้นก็จะกลับมาหาเรา  ถ้าไปเบียดเบียนผู้อื่น ไปสร้างความทุกข์ ความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับผู้อื่น ความทุกข์ความเจ็บช้ำน้ำใจนั้นก็จะกลับมาหาเรา เวลาเราไปทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  เราก็ไม่สบายใจ  วิตกกังวล เพราะโดยธรรมชาติเมื่อเขาเจ็บ เขาก็ต้องอยากทำให้เราเจ็บเหมือนกัน  เมื่อเราไม่อยากจะเจ็บ ก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา เกิดความวิตกขึ้นมา เป็นความทุกข์ขึ้นมา ส่วนเวลาเราช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข เราก็รู้ว่าเขาจะไม่มาทำร้ายเรา เพราะเขามีความขอบอกขอบใจอยู่ในจิตในใจของเขา มีแต่คิดจะหาเวลา หาโอกาสที่จะตอบแทนบุญคุณ ทั้งๆที่เราก็ไม่ได้ไปหวังอะไรจากเขา

 

เพราะการทำบุญที่จะให้เกิดความสุขที่แท้จริง  ต้องทำโดยปราศจากการหวังผลตอบแทน  จากผู้ที่เราให้ความช่วยเหลือ เราช่วยเหลือด้วยความบริสุทธิ์ใจ เห็นเขาทุกข์ เห็นเขายาก เห็นเขาลำบาก ก็อยากจะให้เขาได้พ้นจากความทุกข์ความยากความลำบาก เราก็ทำไป  ถ้าทำอย่างนั้นแล้วเราจะมีความสุข  แต่ถ้าเราทำโดยหวังให้เขาสำนึกในบุญคุณ แต่เขากลับไม่สำนึก เราก็จะเสียใจ หรือไม่พอใจ ถ้าทำแบบนั้นก็ไม่ได้เป็นการทำบุญ เป็นการค้าขายมากกว่า เป็นการแลกเปลี่ยน ฉันทำอย่างนี้ให้กับเธอๆจะต้องทำอย่างนี้ให้กับฉัน เธอต้องขอบอกขอบใจ สำนึกในบุญคุณที่ฉันได้ทำให้กับเธอ  อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการทำบุญ แต่เป็นการแลกเปลี่ยน ที่ไม่มีผลทางด้านจิตใจ เหมือนกับเราทำมาค้าขาย คนมาซื้อของ เราก็ขายไป เราได้เงินมา ก็เท่านั้น  หรือเราไปซื้อของ เราได้ของมา เขาได้เงินไป ไม่มีความอิ่มเอิบใจแต่อย่างใด

 

 แต่ถ้าเราเอาเงินนี้ไปแจกไปจ่าย โดยไม่ต้องการอะไรเป็นเครื่องตอบแทน เราจะมีความสุขใจ  ได้คลายความยึดติดอยู่ในเงินก้อนนั้น เงินก้อนนั้นๆก็หมดภาระกับเราไป หมดห่วง หมดกังวล หมดความเสียดาย  เงินก้อนเดียวกันนี้ถ้าให้ไปด้วยความสมัครใจก็จะเป็นความสุข แต่ถ้าหลุดมือไปโดยที่เรายังไม่พร้อม ไม่ได้ตั้งใจ เช่นโดนขโมยไป หรือหายไป เราจะรู้สึกเสียใจและเสียดาย เงินก้อนเดียวกันแต่มีความแตกต่างกัน เพราะจิตเรายังไม่ได้คลายความยึดติดกับเงินก้อนนี้  ยังถือว่าเป็นของฉัน พอหายไปก็วุ่นวายใจ เสียใจและเสียดาย แต่ถ้าตั้งใจไว้แล้วว่าจะเอาเงินก้อนนี้ไปทำบุญ ก็จะเป็นของบุญไปแล้ว ไม่ใช่เป็นของเรา พอหายไปก็จะไม่เสียใจอะไร  เพราะตั้งใจเอาไปทำบุญอยู่แล้ว  ถ้าหายไป  ถูกขโมยไป ก็ถือว่าเป็นการทำบุญไป เราก็จะไม่เสียใจ

 

การทำบุญอยู่เรื่อยๆ ทำให้เราไม่ค่อยมีความทุกข์กับการพลัดพราก จากวัตถุข้าวของต่างๆ เพราะเราให้อยู่อย่างสม่ำเสมอ พอมีขโมยขึ้นบ้านมาขโมยข้าวของไป ก็จะรู้สึกว่าดี ไม่ต้องขนข้าวของไปทำบุญให้เสียเวลา  มีคนมาขนให้เราถึงที่บ้านเลย แล้วเราก็มีโอกาสได้ซื้อของใหม่ๆมาใช้ เช่นเขายกเอาโทรทัศน์เครื่องเก่าไป  เราก็จะได้ใช้เครื่องใหม่ เพราะโดยปกติเราเป็นคนสมถะ ก็ไม่อยากจะใช้ของที่ไม่จำเป็น  เงินที่จะซื้อเครื่องใหม่ก็มีอยู่ แต่เมื่อเครื่องเก่ายังใช้ได้อยู่ ก็ไม่อยากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ แต่เมื่อถูกขโมยไปแล้ว  ก็มีความจำเป็นให้เราซื้อเครื่องใหม่  ซื้อเครื่องใหม่แบบนี้ไม่ได้ซื้อตามความอยาก  ไม่เป็นกิเลส ไม่เป็นความทุกข์ เพราะเป็นความจำเป็น อย่างนี้ก็เป็นความสุข  คนที่ขโมยก็ได้เครื่องเก่าไป เราก็ได้เครื่องใหม่มาดู  นี่คือความคิดของผู้ที่ทำบุญอยู่เรื่อยๆ จิตใจเขาเป็นอย่างนั้น เวลาสูญเสียอะไรจะไม่ร้องห่มร้องไห้  ไม่โวยวาย ไม่วุ่นวายใจ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะอยู่ในโลกของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน 

 

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่นี้ เป็นสมบัติชั่วคราวเท่านั้นเองไม่ใช่สมบัติที่แท้จริงของเรา ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็จะต้องจากกันไป  เป็นความจริงของโลกนี้ ที่เรามาเสวยบุญเสวยกรรมกัน มาสร้างบุญสร้างกรรมกัน เพราะชีวิตของเราไม่ได้มีเพียงภพนี้ชาตินี้เท่านั้น ร่างกายของเราเป็นเหมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ของใจเรา ที่มีชีวิตยืนยาวนาน เพราะใจเป็นสิ่งที่ไม่ตาย เวลามาเกิดในภพนี้ชาตินี้  ก็เหมือนกับเอาเสื้อผ้ามาใส่ชุดหนึ่งเท่านั้นเอง เมื่อเสื้อผ้าชุดนี้ขาดไปก็เปลี่ยนชุดใหม่ จะได้ชุดใหม่ที่ดีกว่าเก่าหรือเลวกว่าเก่า  ก็อยู่ที่บุญกรรมที่เราสร้างกันในวันนี้ ถ้าสร้างบุญมากกว่าสร้างกรรม เสื้อผ้าชุดใหม่ก็จะดีกว่าชุดเดิม จะได้ภพชาติที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้  แต่ถ้าสร้างกรรมมากกว่าสร้างบุญ ก็จะได้เสื้อผ้าที่แย่กว่า หรือเลวกว่าที่มีอยู่  คือภพชาติที่จะไปเกิดใหม่จะเลวกว่าภพชาติที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ถ้าจะมองชีวิตของเรา จึงอย่าไปมองที่ร่างกายอย่างเดียว ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของชีวิตของพวกเรา ตัวตนหรือชีวิตที่แท้จริงของพวกเราก็คือใจ ที่ไม่ตาย ที่จะไปเปลี่ยน ไปครอบครองร่างกายใหม่ เวลาที่ร่างกายนี้แตกสลายไปแล้ว ร่างกายนี้เป็นเหมือนเสื้อผ้าของใจ เสื้อผ้าที่เราใส่ทุกวันนี้ เราก็ใส่ตอนเช้า พอตอนเย็นเราอาบน้ำอาบท่า เราก็เปลี่ยนใหม่ ใส่ชุดใหม่ ชุดเก่าก็ผ่านไป ฉันใดร่างกายนี้ก็เหมือนกัน เมื่อแตกดับสลายไปก็เป็นเหมือนเสื้อผ้าชุดเก่า  เราก็ต้องหาชุดใหม่มาเปลี่ยน  จะได้ชุดดีกว่าเดิมหรือเลวกว่าเดิม  ก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่เราสร้างไว้ในภพนี้และภพในอดีต  ที่ยังไม่ได้ส่งผล ในอดีตเราก็เคยทำบุญทำกรรมเหมือนกับในภพนี้ชาตินี้  ส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผล ก็ยังสามารถส่งผลให้กับเราได้ในชาติหน้า รวมกับบุญกรรมที่เราทำในชาตินี้

 

นี่คือหลักความจริง ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้เข้าถึง เห็นได้ด้วยการปฏิบัติธรรม ถ้าอยากจะรู้เรื่องจิตเรื่องใจของเรา ก็ต้องปฏิบัติภาวนา  เพราะถ้าไม่ภาวนาแล้ว จะไม่เห็นตัวใจ  เพราะมันคลุกเคล้าอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อยู่กับร่างกายตลอดเวลา จนทำให้เกิดความรู้สึกว่า ร่างกายกับใจเป็นอันเดียวกัน เป็นเหมือนฝาแฝด ที่ไปไหนก็ไปด้วยกันตั้งแต่เกิดเลย พอเกิดออกมาจากท้องแม่  เราก็มีทั้งกายทั้งใจ แต่ใจเป็นส่วนละเอียด ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เห็นเพียงแต่ร่างกายของเราและร่างกายของคนอื่น  ส่วนใจของคนอื่นนั้น เราเห็นได้เพียงแต่ผลที่เกิดจากการกระทำ  คือการเคลื่อนไหวของกายและวาจา ที่เป็นผลของการกระทำของใจ จะพูดอะไร ต้องอาศัยใจเป็นผู้สั่งการ ใจต้องคิดแล้วถึงพูดออกมาได้ จะไปไหนมาไหน จะทำอะไร ก็ต้องอาศัยใจเป็นตัวสั่งการ  

 

ถ้าร่างกายไม่มีใจ ก็เป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน เป็นซากศพ คนตายจะไม่มีใจอยู่กับร่างกาย ที่จะสั่งให้ร่างกายขยับเขยื้อนไปไหน ไปทำอะไร   เมื่อไม่มีใจอยู่ในร่างกายแล้ว ร่างกายก็มีแต่จะรอวันเวลาให้เสื่อมสลายเน่าเปื่อย  กลับคืนสู่ธาตุเดิมไป กลับคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าอยากจะรู้ใจว่าเป็นอย่างไร ก็มีทางเดียวคือการภาวนา เหมือนกับการดูเชื้อโรคในร่างกาย ก็ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์   เวลาหมอจะตรวจโรคก็ต้องเพาะเชื้อ  แล้วก็เอาไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็จะรู้ว่าเป็นเชื้อโรคอะไร ต้องอาศัยกล้องจึงจะมองเห็น  การภาวนาก็เป็นเหมือนกล้องจุลทรรศน์สำหรับดูใจ

 

ถ้าภาวนาจนทำให้จิตใจสงบรวมลงเป็นหนึ่งได้ เราจะเห็นตัวใจ เพราะในขณะจิตรวมลงเป็นหนึ่งนั้น  ทุกสิ่งทุกอย่างจะหายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือร่างกายนี้ จะหายไปจากความรู้สึก จะเหลือแต่ตัวรู้อยู่ตัวเดียว  ที่เรียกว่าสักแต่ว่ารู้  จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราควบคุมจิตใจให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ที่เรียกว่ากรรมฐาน จะเป็นพุทโธก็ได้ เป็นอานาปานสติก็ได้ หรืออารมณ์อื่นที่ถูกจริตกับเรา เราก็กำหนดให้จิตอยู่กับอารมณ์นั้นๆไป อย่าปล่อยให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ ถ้าสามารถทำจนถึงจุดที่รวมลงเป็นหนึ่งแล้ว  เราก็จะเห็นความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ของใจ ในขณะที่อยู่ตามลำพัง ไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆภายนอก ไม่ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือเรื่องราวของร่างกาย  จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับใจ เราจึงรู้ว่านี่แหละคือใจ ใจเป็นอย่างนี้ และรู้ว่าตัวนี้ที่ไม่ได้เป็นกาย รู้ว่าเวลากายเป็นอะไรไป ตัวนี้ก็ไม่ได้เป็นอะไรไปกับกาย  ตัวนี้จะไปเกิดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่า มีเชื้อของภพของชาติหรือไม่  ถ้ามีเชื้อของภพของชาติก็ยังต้องไปอยู่ เชื้อของภพของชาติก็คือความอยากนั่นเอง 

 

ถ้าไม่มีความอยากแล้วก็จะไม่ไปไหน จะเป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์  ที่เรียกว่านิพพาน จะเห็นได้จากการภาวนานี้เท่านั้น  ภาวนาจนจิตรวมลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจิตจะถึงนิพพานในขณะที่รวมลง  ถ้าเป็นนิพพานก็เป็นนิพพานชั่วคราว  คือขณะนั้นเหมือนกับเป็นนิพพาน มันสงบสะอาด  แต่กิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมอง ยังไม่ได้ถูกกำจัดออกไป มันเพียงแต่สงบตัวลงไปด้วย  ถ้าเป็นน้ำก็เป็นเหมือนน้ำที่เราใช้สารส้มแกว่งจนทำให้ตะกอนแยกออกจากน้ำ ตะกอนก็ตกลงไปอยู่ก้นตุ่ม น้ำก็อยู่ส่วนน้ำ แต่ยังไม่ได้แยกออกจากกันอย่างถาวร ถ้าตักน้ำขึ้นมาใช้ เดี๋ยวน้ำก็ขุ่นอีก เพราะตะกอนจะลอยขึ้นมา ถ้าต้องการให้มันแยกออกจากกันอย่างถาวร ก็ต้องอาศัยธรรมะอีกขั้นหนึ่ง ที่เรียกว่าวิปัสสนาหรือปัญญา ที่ต้องแยกว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรจะเก็บไว้ อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ควร   สิ่งที่ไม่ควรก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ ต้องกำจัดให้หมด เพราะเป็นเหมือนกับตะกอน ต้องแยกออกจากน้ำให้หมด  ถ้าสามารถแยกออกจากใจได้หมด ใจก็จะสะอาดบริสุทธิ์

 

การทำใจให้บริสุทธิ์ต้องอาศัยปัญญาหรือวิปัสสนา  ต้องพิจารณาให้เห็นว่าความอยากเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น  ที่เราอยากก็เพราะเราหลงนั่นเอง เห็นอะไรถูกอกถูกใจ ก็ชอบขึ้นมา ก็อยากจะได้ เพราะคิดว่าได้มาแล้วจะให้ความสุขกับเรา ต้องมองให้เห็นว่ามันไม่ได้ให้ความสุขกับเรา  แต่จะให้ความทุกข์กับเรามากกว่า เวลาอยู่คนเดียวเรามีความทุกข์กับอะไรบ้าง ก็มีความทุกข์กับตัวเราเท่านั้นเอง  ถ้าเอาอะไรมาเป็นสมบัติ เราก็ต้องทุกข์กับสมบัติชิ้นนั้น  เอารถมาก็ต้องทุกข์กับรถ ไหนจะต้องคอยดูแล คอยเติมน้ำมัน คอยเอาเข้าอู่ซ่อม คอยดูแลรักษาไม่ให้ถูกขโมยไป พอถูกขโมยไป เสียไป พังไป ก็เกิดความทุกข์ใจ ถ้าไม่มีรถก็ไม่เดือดร้อนกับรถ  ถึงแม้จะมีคุณมีประโยชน์  ก็มีโทษด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น

 

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยากได้  ที่เราคิดว่าได้มาแล้วจะให้ความสุขกับเรา มีความทุกข์ซ่อนอยู่ทั้งนั้น  รอเวลาที่จะปรากฏตัว พอได้อะไรมาแล้วก็กลายเป็นภาระทางด้านจิตใจ ที่จะต้องคอยดูแลรักษา  คอยพะวง คอยกังวล แล้วก็ต้องมาเสียอกเสียใจเวลาที่เสียไป หายไป ถ้าไม่มี เราก็ไม่มีความทุกข์ ความกังวล เพียงแต่ว่าเรายังไม่มีปัญญาพอที่จะหักห้ามจิตใจของเรา  ไม่ให้ไปอยากได้สิ่งต่างๆมาเท่านั้นเอง เมื่อเกิดความอยากแล้ว เหมือนกับถูกสะกดจิต ต้องหามาให้ได้  เห็นอะไรถูกอกถูกใจแล้ว ทนไม่ได้ที่จะอยู่เฉยๆ  ต้องไปคว้ามาให้ได้  มีเงินทองมากน้อยเพียงไรก็ต้องไปซื้อมาให้ได้  ข้าวของต่างๆที่ซื้อมาใช้กัน บางทีก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมี แต่เราอยากได้  เรามีเงินทองที่จะซื้อมา เราก็ไปซื้อมา  ซื้อมาแล้วก็ต้องคอยดูแลรักษา พอหายไปก็เสียใจ แต่ก็ไม่เข็ด ต้องรีบหาซื้อใหม่มาทดแทน นี่คือความอยาก เราต้องเห็นว่ามันเป็นโทษ

 

ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ต่อไปก็จะไม่อยาก  ถ้ามีความสงบอยู่ในใจแล้วมันจะง่าย  จะสามารถตัดความอยากได้  เพราะความสงบให้ความอิ่มความพอกับใจ แต่เวลาที่เกิดความอยาก ความอยากจะมาท้าทายต่อสู้กับความสงบของจิตใจ พอเกิดความอยากขึ้นมา ความสงบที่มีอยู่ก็เหมือนกับถูกทำลายไป  แต่ถ้าเรามีสติรีบใช้ปัญญามาพิจารณาแก้กันทันที  บอกว่าเอามาก็เท่านั้นแหละ ได้มาแล้วก็จะวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด  ถ้าทันมัน ก็ดับมันได้  เรียกว่าปัญญาทันกับกิเลส  ถ้าปัญญาทัน กิเลสก็ถูกทำลายไป ถ้าปัญญาช้ากว่ากิเลส ก็ยังต้องแบกกองทุกข์ต่อไป  ก็ยังไม่หลุดพ้น ถ้าจะหลุดพ้นก็ต้องทันกับความอยากทุกชนิด อยากจะได้อะไรปั๊บ ปัญญามาหยุดมันทันที  เป็นความทุกข์นะ เป็นความวุ่นวายนะ ไม่มีสบายกว่านะ ถ้าอย่างนี้มันก็จะทันกัน  ก็ดับกันได้

 

จะให้ทันกันได้ ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  ทั้งสมถะและวิปัสสนา จะปล่อยให้จิตอยู่เฉยๆ โดยไม่มีการควบคุมดูแลด้วยสติด้วยปัญญาด้วยสมาธิไม่ได้ ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง  ถ้าไม่อยู่ในสมาธิ ก็ต้องมีสติ มีปัญญาคอยคุมอยู่ตลอดเวลา คุมดูความคิดที่เป็นเครื่องมือของใจ  เวลาเห็นอะไรปั๊บ จะเกิดความยินดียินร้ายขึ้นมาทันที ทั้ง ๒ ส่วนนี้ก็เป็นปัญหา ยินดีก็ทำให้เกิดตัณหาความอยากได้  ยินร้ายก็เกิดวิภวตัณหา ความอยากจะหนีจากสิ่งนั้นไป จึงต้องพิจารณาสิ่งที่เราเห็นว่า ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ายินดีหรือน่ายินร้าย เพราะมาจากดิน น้ำ ลม ไฟทั้งนั้น  ไม่มีอะไรที่ไม่ได้มาจากดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีอะไรเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน  ทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น เห็นอะไร ดูอะไรปั๊บ ก็รู้ว่าเดี๋ยวก็ต้องผ่านไป จะชอบไม่ชอบเดี๋ยวก็ต้องผ่านไป ถ้าทำใจให้เฉยๆเป็นอุเบกขา  ไม่ไปวุ่นวายกับมัน เรื่องก็จบ

 

แต่ถ้าเห็นอะไรแล้วชอบปั๊บ ใจก็คล้อยตาม วิ่งตามไป ถ้าเห็นอะไรที่ไม่ชอบก็พยายามวิ่งหนี แต่ถ้าพิจารณาว่า เป็นเพียงสักแต่ว่าเท่านั้นเอง เป็นสักแต่ว่ารูป เป็นสักแต่ว่าเสียง เกิดดับ เกิดดับไปตามเรื่องของมัน อย่าไปสนใจจะดีกว่า อย่าไปชอบหรือไม่ชอบมัน จะดีที่สุด รับรู้แล้วก็ปล่อยวาง รู้ตามความเป็นจริง เช่นขณะนี้เราได้ยินเสียง ถ้าไม่ชอบเสียงนี้ ก็จะเกิดความรู้สึกทรมานในจิตใจขึ้นมา แต่ถ้าเฉยๆกับมัน ไม่ได้ชังไม่ได้ชอบ  ก็จะไม่สร้างความรบกวนใจให้กับเรา ถ้าชอบเสียงนี้แล้วมันหายไป ก็เกิดความเสียดายขึ้นมา ปัญหาของเราจึงอยู่ที่ชอบหรือไม่ชอบ เวลาเราสัมผัสอะไร ไม่ว่าจะมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องมีสติปัญญาคอยประกบ คอยควบคุม ไม่ให้ไปชอบ ไม่ให้ไปหลง โดยการรู้ทันว่ามันเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น เป็นของไม่เที่ยง ถ้าไปยินดีไปยินร้ายกับมัน ก็จะเกิดความทุกข์ตามมา แล้วก็ไปบังคับมันไม่ได้ อยากจะให้มันอยู่ ถ้ามันไม่อยู่ เราก็เสียใจ อยากจะให้มันไปแล้วมันไม่ไป เราก็เสียใจ

 

แต่ถ้าเราไม่ไปอะไรกับมัน จะอยู่ก็ให้มันอยู่ไป  จะไปก็ให้มันไปตามเรื่องของมัน  อย่างนี้เรียกว่าปัญญา เรียกว่าวิปัสสนา คือปล่อยวาง รับรู้แล้วก็ปล่อยวาง อะไรมาสัมผัส รับรู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ต้องอยากให้อยู่ ไม่ต้องอยากให้ไป เมื่อยังอยู่ก็อยู่ไป ถ้าไปก็ให้ไป แต่ใจไม่มีความผูกพันกับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัส ไม่มีกาวหลงเหลืออยู่ในใจ กาวนี้ก็คือตัณหาความอยากและอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นนี้เอง  กระดาษที่มีกาวติดอยู่ พอเอานิ้วไปแตะปั๊บ มันก็ติดแน่นเลย ใจของเราก็เหมือนกัน  ถ้ามีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น มีความยินดียินร้าย มันก็จะติดเลย  พออะไรมาสัมผัสกับใจปั๊บ ก็จะเกิดอาการติดขึ้นมา เกิดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ขึ้นมาทันที  แต่ถ้ามีสติมีปัญญาใคร่ครวญอยู่เรื่อยๆตลอดเวลาแล้ว ก็จะรู้ทัน เวลาเกิดความยินดีก็ตัดได้  เวลาเกิดความยินร้ายก็ตัดได้  พยายามตัดไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะกลายเป็นนิสัยขึ้นมา  กลายเป็นเฉยๆไป แต่ไม่ได้เฉยเมย เฉยแบบรู้ทัน

 

รู้ว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรกับทุกสิ่งทุกอย่าง  ถ้าเจอใครยังต้องทักทายกันก็ทักทายกันไป พูดคุยกันไป มีอะไรจำเป็นที่จะต้องพูดต้องทำ ก็พูดไปทำไป ตามเหตุตามผล  แต่ไม่ยึดไม่ติด พูดได้ก็พูด ทำได้ก็ทำ ถ้าทำแล้วพูดแล้วไม่ได้ดังใจ ก็ไม่เสียใจ  ถือว่าได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว คนที่ฟัง ถ้าเขาไม่สนใจในสิ่งที่เราพูด ก็ช่วยไม่ได้  ไปห้ามเขาไม่ได้ แต่เราไม่เดือดร้อน เมื่อยังอยู่ในโลกสมมุติ  ยังต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ ก็ไม่ได้อยู่แบบหูหนวกตาบอด แบบเฉยเมย  อยู่ด้วยปัญญา นิ่งเฉย แต่ไม่เฉยเมย  เฉยเพราะไม่มีความยินดียินร้าย  แต่มีปัญญาพิจารณาด้วยเหตุผล ว่า  ควรปฏิบัติอย่างไรกับสิ่งต่างๆที่มาเกี่ยวข้อง  ควรจะพูดมากน้อยเพียงไร  ควรจะติหรือชมก็พูดไปตามฐานะ  ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของผู้ที่มาเกี่ยวข้อง ส่วนตนเองไม่ได้หวังประโยชน์อะไรจากใครอีกแล้ว  เพราะได้ประโยชน์เต็มที่จากการปฏิบัติแล้ว  ได้ดูแลรักษาใจของตนให้อยู่เหนือสิ่งต่างๆที่มาเกี่ยวข้อง ไม่ให้สิ่งต่างๆมาทำให้จิตใจหวั่นไหวได้  ไม่ว่าจะในทางใดทางหนึ่ง  ดีใจก็ตาม เสียใจก็ตาม จะไม่เกิดขึ้นกับใจที่ได้รับการดูแลด้วยธรรมะ คือสมาธิและปัญญา

 

นี่คือการดูแลรักษาใจ  ถ้าใจได้รับการดูแลรักษาแล้ว จนไม่มีอะไรสามารถมากระทบ มาสร้างความหวั่นไหวให้กับใจได้อีกแล้ว ใจก็จะสบาย เป็นเหมือนก้อนหิน ต่อให้มีพายุพัดแรงขนาดไหน ก็ไม่สามารถพัดให้ขยับเขยื้อนได้  นี่คือผลที่เราจะได้จากการปฏิบัติธรรม  เริ่มต้นตั้งแต่การทำบุญให้ทาน รักษาศีล แล้วก็ภาวนา  ทำให้จิตอยู่เหนืออำนาจของความอยาก ที่คอยผลัก คอยฉุด คอยลากให้ไปเวียนว่ายตายเกิด ไปแสวงหาสิ่งต่างๆมาแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น เป็นเวลาอันยาวนาน  และจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกเรื่อยไป  ถ้าไม่ได้เจอพระพุทธศานา ไม่ได้เอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ  ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการได้มาพบพระพุทธศาสนา ที่เป็นเหมือนกับยารักษาโรค  ถ้าไม่เอายามารับประทาน  โรคก็ไม่หาย  ยาจะวิเศษขนาดไหน ก็ช่วยอะไรไม่ได้  ถ้าไม่รับประทานยา ศาสนาพุทธจะวิเศษขนาดไหน จะทำให้คนเป็นพระอรหันต์ได้ก็ตาม ถ้าไม่เอามาปฏิบัติ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ จากศาสนา

 

จึงไม่ควรเสียดายกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้  ถ้าต้องเลือกระหว่างการปฏิบัติทางศาสนากับรักษาสิ่งอื่นๆ  ขอให้เลือกทางศาสนา จะไม่ขาดทุน  ถ้าเลือกอย่างอื่น จะผิดหวัง จะไม่ได้รับประโยชน์ เพราะอำนาจของกิเลสมันหลอกเรา มีคนอยู่มากที่ไม่เห็นคุณค่าของศาสนา เห็นเป็นเรื่องงมงาย เพราะไม่เคยศึกษาศาสนานั่นเอง  ถ้าได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง  ได้นำไปปฏิบัติ  จะเห็นคุณค่าของศาสนายิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพชรนิลจินดา เงินทองกองเท่าภูเขา จะไม่มีความหมายเลยสำหรับจิตใจที่หลุดพ้น จะเห็นว่าเงินทองกองเท่าภูเขา มีแต่จะบีบกดจิตใจให้มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา  คนฉลาดจะเห็นอย่างนั้น แต่คนโง่กลับไปเห็นตรงกันข้าม  ยิ่งมีเงินเยอะยิ่งมีความสุข แต่ไม่รู้ว่ากำลังกอดอยู่กับลูกระเบิดที่จะระเบิดขึ้นมาเมื่อไรก็ไม่รู้ เวลาที่เราทุกข์ ก็เกิดจากเงินทองที่เรามีอยู่นั่นเอง

 

จึงขอให้ท่านทั้งหลายจงมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่พระพุทธเจ้า และพระอริยสงฆสาวกทั้งหลายสั่งสอน ให้น้อมนำไปปฏิบัติ  ตามกำลังแห่งศรัทธาสติปัญญา เท่าที่จะปฏิบัติได้  อย่าท้อแท้ อย่าไปมองคนอื่น ทำได้มากน้อยเพียงไร ก็ทำไป คนอื่นทำได้มากน้อยกว่าเราก็เรื่องของเขา เพราะแต่ละคนมีบุญบารมีที่สร้างมาไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่เรามีเท่ากันก็คือโอกาส โอกาสที่จะสร้างบุญบารมีในชาตินี้  จึงไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป ชีวิตของเราจะมีความหมายและจะได้รับประโยชน์ที่จะตามมาต่อไป จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้

 

 

ถาม     เมื่อตอนต้นท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องของคนสมัยนี้ชอบวัตถุนิยม สะสมข้าวของเกินความจำเป็นนะครับ ในแง่ของโยมก็จะพิจารณาว่า ของที่เราจะซื้อจะหามา มันจะสะสมหรือเป็นของจำเป็นในชีวิตหรือไม่ แต่ถ้ามองในแง่ของหลักธรรม การพิจารณาในแง่ของไตรลักษณ์ มันมีความจำเป็นอย่างไรครับ

 

ตอบ    ถ้ามองในไตรลักษณ์  จะเห็นผลที่กระทบกับจิตใจ ทุกสิ่งทุกอย่างจะมีผลเสียมากกว่าผลดี  จะทำให้จิตใจต้องวุ่นวาย  ลองสังเกตดู ได้อะไรมาสักชิ้นหนึ่ง ก็เป็นภาระแล้ว  ได้โทรศัพท์มือถือมาสักเครื่องหนึ่ง ก็ต้องคอยชาร์จแบตฯ ต้องคอยดูแล คอยรักษา เผลอลืมไว้ที่ไหนใจก็หาย มีแต่เรื่องทำให้เกิดความทุกข์ใจทั้งนั้น สู้มีบัตรโทรศัพท์ใบเดียวไม่ได้ สบายกว่า  อยากจะใช้ก็เสียบบัตรในเครื่อง มันสบายกว่าเยอะ สบายทางด้านจิตใจ แต่อาจจะไม่สบายทางด้านการใช้  เพราะต้องเดินหาเครื่อง แต่ก็ทำให้เกิดความขยันหมั่นเพียร ความอดทนอดกลั้น แต่ถ้ามีโทรศัพท์มือถือก็ไม่มีความอดทนอดกลั้น  อยากจะพูดจะคุยกับใคร โทรฯปุ๊บก็ได้พูดได้คุย  ถ้าพูดคุยเรื่องธุระก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไปพูดคุยเรื่องอารมณ์ ดีไม่ดีกลับเสียใจ โทรฯไปหาแล้วโดนด่ากลับมา สู้ไม่โทรฯไปดีกว่า

 

ถาม     สู้ไม่มีเครื่องโทรฯจะดีกว่า

 

ตอบ    ใช่ ทุกอย่างถ้าจำเป็นก็ไปอย่าง  เพราะชีวิตของคนเรายังมีความจำเป็นต่อการทำมาหากิน บางสิ่งบางอย่างมันเป็นเครื่องมือได้ โทรศัพท์นี่ก็เป็นเครื่องมือได้  ถ้าโทรฯแล้วขายของได้ ได้รายได้มาก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าโทรฯไปแล้วมีแต่เสียเงิน แล้วต้องมาร้องห่มร้องไห้จากการโทรฯ ก็เหมือนกับคนบ้า เสียเงินแล้วยังต้องมาเสียใจอีก โทรฯไปหาแฟนแล้วแฟนไม่พูดด้วย

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ ทุกวันนี้ถึงแม้จะรู้ว่าเราอยู่ในกฎของไตรลักษณ์นะคะ แต่บางครั้งมีความท้อแท้ในจิตใจนี่ ไม่ทราบว่าจะดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างไรโดยที่ไม่ท้อแท้กับสิ่งนั้น

 

ตอบ    ต้องพยายามทำสมาธิให้ได้ สมาธิจะเป็นที่พึ่งของจิตใจ  ถ้ามีสมาธิแล้วจะไม่ท้อแท้กับอะไร  พอท้อแท้ก็เข้าสมาธิ แล้วทุกอย่างก็จะหายไป ความท้อแท้เกิดจากความคิดปรุงของเราที่เราสร้างขึ้นมาเอง พอสงบปั๊บความท้อแท้ก็หายไป ขณะนี้สิ่งที่เราขาดก็คือที่พึ่งของใจ  ก็คือความสงบนี้เอง เหมือนกับเวลาฝนตกแดดออก  ถ้าเรามีบ้านที่หลบแดดหลบฝนได้ เราก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเราไม่มีที่หลบแดดหลบฝน เราก็ต้องทนกับแดดกับฝนไป  พวกเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีสมาธิก็เหมือนกับคนไม่มีที่หลบแดดหลบฝนนั่นเอง เวลามีความทุกข์ก็ไม่รู้จะไปหลบที่ไหน  แต่ถ้าเราฝึกทำสมาธิอยู่เรื่อยๆ เช้า-เย็น  ถึงแม้จะไม่สงบเต็มที่ ก็ยังช่วยได้ในระดับหนึ่ง  อย่างน้อยก็สวดมนต์ให้ได้สักครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง เวลาสวดมนต์ไปสักครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง  เรื่องราวต่างๆที่สร้างความทุกข์ ความท้อแท้ในใจ ก็จะไม่มีโอกาสเข้ามาเบียดเบียนใจ  เพราะใจกำลังสวดมนต์อยู่  ความคิดเกี่ยวกับเรื่องท้อแท้ก็หายไป ความท้อแท้ก็หายตามไป ทุกอย่างเกิดจากการสร้างขึ้นมาในจิตของเราเอง โดยเอาเรื่องราวต่างๆภายนอกมาคิดมาปรุง

 

ถ้าไม่คิดไม่ปรุงแล้ว เรื่องราวจะเดือดร้อน จะวุ่นวายขนาดไหน ก็จะไม่เข้ามาสู่ใจ ปัญหาของเราอยู่ตรงที่ไม่สามารถทำใจให้สงบได้ พอมีเรื่องราวอะไรภายนอกก็ดึงเข้ามา  เหมือนกับเอาไฟเข้ามาเผาใจเรา สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การทำจิตใจให้สงบให้ได้ ความจริงแล้วต้องปฏิบัติทุกวัน อย่างน้อยเช้า-เย็นควรจะมีการนั่งสมาธิ หรือไหว้พระสวดมนต์สักครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงหนึ่ง ส่วนเวลาอื่นก็สุดแท้แต่  ถ้ามีสติระลึกได้ เวลาทำงานช่วงไหนมีเวลาว่าง เราก็หามุมสงบ  เพื่อทำจิตให้สงบ ทำไปเรื่อยๆ ทำจนติดเป็นนิสัย ส่วนใหญ่เวลามีความไม่สบายใจ เรามักจะไประบายด้วยวิธีอื่น  ไปเปิดเพลงฟังบ้าง เปิดหนังสือดูบ้าง ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่บ้าง ซึ่งไม่ใช่วิธีที่จะช่วยเราได้จริงๆ  เพราะเวลาดูไปก็ยังอดที่จะคิดไม่ได้  ฟังไปก็ยังอดที่จะคิดไม่ได้  แต่ถ้าสวดมนต์จนทำจิตให้สงบได้  เรื่องราวที่เคยคิดจะไม่เข้ามาในจิต  แล้วจะมีกำลังที่จะต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่าง สมาธิเป็นตัวสำคัญมาก  ในวงปฏิบัติถือว่าเป็นตัวหลัก  จะทำอะไรก็ตาม ต้องทำจิตใจให้สงบก่อน

 

หลวงตาก็เคยเล่าให้ฟัง  ตอนที่ไปกราบหลวงปู่มั่นใหม่ๆ หลวงปู่มั่นท่านก็พูดว่า ผมไม่ได้ประมาทท่านมหานะ ท่านก็เป็นมหา ๓ ประโยคแล้ว  มีความรู้ทางด้านธรรมะมากแล้ว แต่ว่าความรู้เหล่านี้ยังช่วยท่านไม่ได้ ไม่เป็นประโยชน์กับตัวท่าน ถ้าจิตของท่านยังไม่สงบ ในเบื้องต้นนี้อยากให้ท่านเก็บธรรมะไว้บนหิ้งก่อน  ความรู้ที่ท่านได้เรียนมาจากปริยัติทั้งหลายนั้น ให้แขวนไว้ก่อน มาทำจิตให้สงบ อยู่กับพุทโธอย่างเดียว  ตอนนี้ต้องทำจิตใจให้สงบให้ได้ พอสงบแล้วมันจะเป็นฐานของวิปัสสนาของปัญญาต่อไป  สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาเราสามารถนำเอามาใช้ได้  เอามาปฏิบัติได้  ถ้าเรายังไม่มีความสงบเราจะทำไม่ได้ รู้ว่านั่นไม่ดี รู้ว่านี่ไม่ดี ก็ยังละไม่ได้ เลิกไม่ได้  เวลาท้อแท้ก็ไม่รู้จักวิธีดับ  แต่ถ้าทำจิตให้สงบเป็นแล้ว พอวุ่นวายปั๊บ ก็จับมันมาสงบเสีย ความวุ่นวายก็จะหายไปหมด จะเห็นในตัวของเรานี่แหละ ความวุ่นวายกับความสงบมันไม่ได้อยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ใจเราตลอดเวลา เพียงแต่เราไม่เห็น ก็เลยไปหลงคิดว่าอยู่ภายนอก  พอเห็นเรื่องวุ่นวายต่างๆ ใจเราก็วุ่นวายตามไปด้วย

 

ถ้าไม่เอาเข้ามาในใจ เราก็ไม่วุ่นวาย  รู้แล้วก็ตัด รู้แล้วก็ปล่อย มันอยู่ตรงไหนก็ปล่อยไว้ตรงนั้น บางทีเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเช้านี้แล้ว ยังอุตส่าห์แบกมาถึงตอนนี้  ยังเอามาคิดในตอนนี้  เขาพูดเพียงคำเดียวว่าเราไม่ดี เราก็โกรธตั้งแต่เช้ามาถึงตอนบ่าย พอคิดถึงคำพูดของคนนั้นเข้า ก็ยังโกรธอยู่  เพราะจิตไม่ว่าง  จิตสงบไม่เป็นนั่นเอง  แต่ถ้าจิตสงบเป็น ว่างเป็นแล้ว อะไรเกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป ไม่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่  จึงควรฝึกทำสมาธิให้ได้  จะทำได้ก็ต้องมีศีลมีทานเป็นเครื่องสนับสนุน  ทานก็จะช่วยทำให้รักษาศีลได้ง่ายขึ้น  ศีลก็จะทำให้จิตสงบได้ง่ายขึ้น  มีเงินมีทองเหลือใช้ก็เอาไปทำบุญ แทนที่จะเอาไปซื้อของฟุ่มเฟือย  ของไม่จำเป็น ทำบุญแบบไหนก็ได้ที่ถูกใจเรา  เพราะการทำบุญของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็ชอบช่วยเหลือคนยากคนจน บางคนก็ชอบช่วยเหลือคนพิกลพิการ บางคนก็ชอบทำบุญกับพระ ทำบุญกับศาสนา ก็ได้ทั้งนั้น

 

อะไรที่ถูกกับจริตของเรา ก็ทำไป เมื่อทำไปเรื่อยๆแล้วจิตจะมีความเคารพในความรู้สึกของผู้อื่น เพราะเวลาทำอะไร เราก็อยากจะให้คนอื่นมีความสุข  เวลาทำอะไรแล้วทำให้คนอื่นทุกข์ เราก็จะไม่อยากจะทำ จิตก็ไม่อยากจะเบียดเบียนผู้อื่น ไม่อยากจะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่อยากจะลักทรัพย์  ไม่อยากจะประพฤติผิดประเวณี  ไม่อยากจะพูดปดมดเท็จโกหกหลอกลวงใครทั้งนั้น เมื่อจิตมีความรู้สึกอย่างนี้แล้ว ก็จะตั้งอยู่ในศีล จะไม่ค่อยวุ่นวาย  เวลาไหว้พระสวดมนต์ทำสมาธิก็จะง่าย  เพราะได้สร้างฐานไว้แล้ว แต่ถ้ายังวุ่นวายอยู่กับเงินทอง  ยังเสียดายเงินเสียดายทอง  ยังอยากจะได้เงินได้ทองมากขึ้น ก็จะไม่สนใจกับความรู้สึกของคนอื่น  เวลาอยากจะได้อะไร จะไม่คำนึงว่าคนอื่นจะเดือดร้อนหรือไม่  ขอให้ได้ในสิ่งที่ต้องการก็แล้วกัน เพราะเป็นคนเห็นแก่ตัวนั่นเอง แต่คนทำบุญให้ทาน จะเป็นคนเสียสละ เห็นแก่ผู้อื่น

 

คนที่ไม่ทำบุญทำทานจะเป็นคนที่เห็นแก่ตัว มักจะไม่สนใจกับความรู้สึกของผู้อื่น  อยากจะได้อะไรอยากจะทำอะไร ก็จะเอามาทำไป โดยไม่สนใจต่อความรู้สึกของผู้อื่น  อาจจะทำร้ายร่างกาย ทำลายชีวิตของผู้อื่นก็ได้ เอาทรัพย์ของผู้อื่นมาก็ได้  ไปยุ่งเกี่ยวกับสามีภรรยาของผู้อื่นก็ได้ ไปโกหกหลอกลวงผู้อื่นก็ได้  เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนต้องการ  ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เวลานั่งภาวนาจะภาวนาไม่ได้  จิตจะวุ่นวายอยู่กับเรื่องต่างๆ ยิ่งไปทำอะไรให้ผู้อื่นเดือดเนื้อร้อนใจ  ก็จะเดือดร้อนตามไปด้วย ยิ่งทำให้การทำจิตให้สงบยิ่งยากขึ้นไปใหญ่ ต้องใช้กำลัง  ๒ เท่า คนที่มีศีลใช้เพียงเท่าเดียวก็ทำให้สงบได้  คนที่มีความรุ่มร้อนใจ ที่เกิดจากการกระทำผิดศีลผิดธรรม  ต้องใช้กำลังมากกว่า  จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำจิตให้สงบได้  เพราะใช้กำลังเท่าเดียวก็ยังยากแสนยากอยู่แล้ว ถ้าต้องใช้กำลัง ๒ เท่า ๓ เท่า ก็จะทำไม่ได้เลย แต่คนพวกนี้ไม่สนใจเรื่องศีลเรื่องธรรมอยู่แล้ว เพราะบูชาเงิน บูชาลาภยศสรรเสริญสุขเป็นพระเจ้า แม้จะมีความสุขชั่วประเดี๋ยวเดียว ก็ยังพอใจ แต่เวลาทุกข์กับสิ่งเหล่านี้กลับมองไม่เห็นกัน

 

ทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เดินตามถูกต้องหมดแล้ว ตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา สมาธิ ปัญญา วิมุตติหลุดพ้น   ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ทรงมาสอน  ครูบาอาจารย์ พระอริยสงฆสาวกกี่ท่านจะมาสอนธรรมะ  ก็สอนแบบเดียวกันทั้งนั้น นี่เป็นธรรมะหลัก ธรรมะที่เกี่ยวกับจิตใจ ส่วนธรรมะที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ก็ทรงสอน เช่นให้มีความกตัญญูกตเวทีกับผู้มีพระคุณ  มีสัมมาคารวะต่อผู้หลักผู้ใหญ่ มีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นเรื่องที่เราใช้ในชีวิตประจำวันของเรา เวลาที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น แต่ถ้าอยู่ตามลำพังปฏิบัติเพื่อจิตใจ ก็พวกทานศีลภาวนาเป็นหลัก ขอให้ทำกันเถิด ส่วนใหญ่จะให้ทานรักษาศีลกัน  แต่ยังไม่ภาวนากัน  ได้ภาวนากันมากน้อยเพียงไหนแล้ว ได้ทำเป็นกิจวัตรประจำบ้างไหม

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะทำอยู่แล้ว เกิดทุกขเวทนามากเมื่อทำไปหลายๆชั่วโมง จะขออุบายในการแก้เวทนาที่เกิดขึ้นจากการนั่งไปหลายๆชั่วโมงค่ะ

 

ตอบ    มีอยู่ ๒ อย่าง  อย่างหนึ่งก็คือ  บางทีเรายังไม่มีกำลังพอที่จะไปทำถึงขนาดนั้น  ก็ต้องยอมรับความจริง ลดระดับความเข้มข้นลงมาก่อน ถ้าคิดว่ามีก็ลุยต่อไปโดยใช้สติเป็นหลัก  เวลาทุกข์อย่าไปมองที่ความทุกข์  พยายามแยกทุกข์ออกว่ามี ๒ ส่วนด้วยกัน  ทุกข์กายและทุกข์ใจ  ทุกข์กายเราห้ามไม่ได้  แต่ทุกข์กายไม่รุนแรงเหมือนทุกข์ใจ ทุกข์ใจเกิดขึ้นจากใจ ที่ไม่ยินดีกับทุกข์กายนั่นเอง  ถ้าใจยอมรับว่าทุกข์กายเป็นเรื่องธรรมดา จะทุกข์ก็ให้ทุกข์ไป ใจไม่รังเกียจ  หัดมาชอบความเจ็บปวดบ้าง  หัดเป็นคนซาดิสต์บ้าง พวกซาดิสต์ไม่กลัวความเจ็บ เอาอะไรมาแทงลิ้น แทงแก้ม ก็ทำได้ อยู่ที่ใจ  ถ้าใจสู้กับความเจ็บ ก็สู้ได้  แต่ถ้ากลัวก็สู้ไม่ได้ มันก็อยู่ตรงนั้นเอง

 

ถาม    มันสู้กันนานไหมครับท่านอาจารย์  แล้วสู้ไปสู้มาบางทีเราก็แพ้มัน

 

ตอบ    ราสู้ไม่ถูกหลัก ความจริงการสู้ของเรา เราไม่ควรนั่งเฉยๆดูความทุกข์นั้น  แล้วอยากให้มันหายไป นั่นไม่ใช่วิธีสู้  วิธีสู้ก็คือไม่ต้องไปสนใจกับมัน เราควรหันมาบริกรรมพุทโธหรือสวดมนต์ไป ในขณะที่เจ็บปวด อย่าไปสนใจกับความเจ็บปวด  ตั้งสติแล้วสวดมนต์ไป อรหังสัมมาฯ  สวากขาโตฯ  สุปฏิปันโนฯ สวดไปเรื่อยๆ แล้วมันจะห่างไป  พอห่างไปแล้วมันจะไม่เจ็บ ตัวเจ็บที่แท้จริงอยู่ที่ใจ  เกิดความทุกข์ในอริยสัจขึ้นมา เกิดความไม่ยินดีในความทุกข์กาย  ถ้าดับความไม่ยินดีในทุกข์กายได้  ความทุกข์กายนี้นิดเดียว หนึ่งในสิบของความทุกข์ใจ ถ้าทุกข์กายมันหนึ่งเท่า  ทุกข์ใจมันสิบเท่า  ทุกข์ใจเกิดจากการรังเกียจ เกลียดความทุกข์ ความเจ็บปวดของร่างกาย  สังเกตดูเวลานั่งเล่นไพ่ จะเจ็บจะปวดตรงไหน จะไม่ค่อยเจ็บเท่าไร  เพราะมีสมาธิอยู่กับไพ่  จะไม่เจ็บไม่ปวด เพราะความเจ็บปวดทางกายมันนิดเดียว แต่ไปปวดที่ใจมากกว่า ต้องอย่าปล่อยให้ใจอยู่เฉยๆในขณะที่เจ็บปวดตามร่างกาย ต้องสวดมนต์หรือบริกรรมพุทโธไปอย่างเดียว นี่เป็นแนวทางของสมาธิ

 

ถาม     บางทีนั่งแล้วเจ็บ  เพราะร่างกายมันเอนๆไป

 

ตอบ     ช่างมัน  จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ร่างกายเอนก็เป็นธรรมดา  พยายามอย่าไปสนใจ พยายามดับความทุกข์ในใจ อย่าไปกังวลกับเรื่องความทุกข์ทางร่างกาย 

 

ถาม     อย่างนี้ไม่ต้องเอาจิตไปจับตรงที่เจ็บ

 

ตอบ    ไม่ต้องไปจับ หันเข้ามาหาพุทโธ  ถ้าใช้พุทโธเป็นก็พุทโธคำเดียว เอาจิตอยู่กับพุทโธๆๆไป ให้มันขาดใจไปกับพุทโธเลย

 

ถาม    เคยปวดขาค่ะ จ้องดูอย่างเดียวมันก็หายค่ะ

 

ตอบ    ก็ได้ ถ้าใจกล้าที่จะจ้องมัน บางคนจ้องแล้วอยากจะให้มันหาย  ยิ่งอยากก็ยิ่งทุกข์ใจมากขึ้น  ถ้าจ้อง ต้องดูเฉยๆ ไม่ให้มีอคติกับมัน

 

ถาม    ครูบาอาจารย์บอกว่าเป็นอย่างที่ตาย คิดอย่างนั้นค่ะ

 

ตอบ    ได้ มีหลายวิธี บางคนก็ใช้ดูความเจ็บนั้น  ดูเป็นอารมณ์ไปเลยก็ได้  ดูแล้วไม่มีอารมณ์รักชัง ดูแล้วเฉยๆ เหมือนกับเป็นพุทโธ  ก็จะไม่เกิดความทุกข์ใจ ปัญหาคือความทุกข์ใจ ไม่ใช่ความทุกข์กาย   ทุกข์ใจที่เกิดจากความอยากจะหนีจากความทุกข์ของร่างกายไป  ถ้าไม่อยากจะหนีแล้วทุกข์ใจก็จะดับไป ใจก็ไม่เดือดร้อน กายก็ไม่เดือดร้อน เพราะกายไม่มีความรู้สึก ผู้ที่รู้ก็คือใจนี้เอง  กายจะเจ็บจะปวดขนาดไหน กายไม่รู้สึก  เวลาเอาไปเผาไฟก็ไม่รู้สึก คนตายไปแล้วเอาไปเผาก็เหมือนกับท่อนไม้ท่อนฟืน ไม่มีความรู้สึกอยู่ในร่างกาย  ความรู้สึกอยู่ในใจ ที่มีกิเลสคือความเกลียดความเจ็บปวด จึงต้องหัดมาชอบความเจ็บปวดให้ได้ ไม่ชอบกินอาหารชนิดไหน ก็ฝืนกินมันไป ใหม่ๆก็ลำบาก แต่พอกินไปเรื่อยๆแล้ว ก็จะชอบขึ้นมาเอง กินจนจำเจ เมื่อก่อนไม่เคยฉันพวกข้าวเหนียว อาหารทางอีสาน  พอไปอยู่ที่นั่นก็ฉันได้ พอกลับมาอยู่ทางนี้ ก็คิดถึงอาหารทางอีสาน

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ น้องเขามีปัญหาถาม นั่งขัดสมาธิไปสัก ๓ ชั่วโมงถ้าเผื่อมันปวดมากๆนี่เขาเปลี่ยนขาได้ไหมคะ

 

ตอบ    เปลี่ยนได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้องแก้ คือการปล่อยวางกาย ปล่อยวางเวทนาให้เป็นไปตามสภาพ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีหยูกไม่มียาไม่มีหมอ ก็ต้องเจ็บปวด เราก็ทนได้ ส่วนใหญ่เราไม่อยากจะทน ความไม่อยากจะทนนี่แหละคือตัวกิเลส ต้องดับตัวไม่อยากจะทนให้ได้  ด้วยการปล่อยให้เป็นไปตามสภาพ พิจารณาร่างกายเป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืนท่อนหนึ่ง มันอยู่ของมันได้ มันไม่เดือดร้อนหรอก ที่เดือดร้อนไม่ใช่ร่างกาย ที่เดือดร้อนคือใจ คือกิเลสที่อยู่ในใจ ตัวที่ไม่ชอบ ไม่ต้องการความเจ็บปวดนี้เท่านั้นเอง

 

ถาม     เราพอจะทำความเข้าใจกับมันได้ไหมครับว่า  มันเป็นซากศพ เราแยกออกจากตัวมัน แยกออกจากศพมา

 

ตอบ    ได้  กระดูกไก่ที่ต้มอยู่ในหม้อ  ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร  กระดูกไก่กับกระดูกของเราก็เหมือนกัน เป็นท่อนแข็งๆท่อนหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีความรู้สึก ไม่เดือดร้อน  ที่เดือดร้อนก็คือกิเลสที่อยู่ในใจ  ต้องแก้ความเดือดร้อนนี่ให้ได้   ด้วยการไม่ทำตามความอยากใหม่ๆอาจจะทนไม่ได้  พิจารณาไม่ได้ ก็ต้องอาศัยการบริกรรมไปก่อน เพื่อสร้างกำลังใจ  พอรู้ว่าดับความทุกข์ใจได้  ขั้นต่อไปก็ใช้ปัญญา พิจารณาดูว่ามันเจ็บตรงไหน ปวดตรงไหน เจ็บจริงหรือเปล่า หรือเราไปว่ามันเจ็บเอง ตัวมันว่ามันเจ็บหรือเปล่า ลองพิจารณาถามดูก็จะรู้ว่า  มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันสักแต่ว่า เราต่างหากที่ไปให้คุณค่าราคากับมัน     ถ้าเป็นกระดาษที่มีเลข ๑,๐๐๐  มันก็กลายเป็นของมีค่าขึ้นมา ถ้าไม่มีเลข ถึงแม้จะหนากว่า ใหญ่กว่า กลับไม่มีคุณค่า  เพราะเราไม่ได้ไปให้คุณค่ากับมัน  ใจเราไปเป็นผู้ให้ค่ากับมัน แล้วก็ไปยึดไปติดกับมัน พอกระดาษ ๑,๐๐๐ หลุดจากมือไป ใจก็เสียววาบไปเลย

 

ถาม    การจะสู้กับทุกขเวทนาได้นี่  กำลังจิตต้องฝึกมาดี มีกำลังมากขึ้น

 

ตอบ    ใช่ จะเป็นฐานของปัญญาได้  ตอนต้นก็สร้างฐานสมาธิก่อน ให้จิตมันแน่น มีกำลังพอ ต่อไปก็สามารถเผชิญกับความจริงของเวทนาได้  โดยไม่หวั่นไหวกับมัน พิจารณาดูว่าเป็นของไม่เที่ยง มีอยู่ ๓ ชนิด มีสุข มีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ สลับกันไปสลับกันมา ในชีวิตของเราก็มีอยู่ ๓ ตัวนี้  ส่วนใหญ่จะไปยึดติดตัวหนึ่งแล้วก็ไปเกลียดอีกตัวหนึ่ง  ชอบสุขเวทนา เวลาเข้าไปนั่งห้องแอร์ หรือเวลาร้อนแล้วไปอาบน้ำอาบท่าก็มีความสุข  พออาบไปได้สักครู่ก็ร้อนอีก มันก็ทุกข์อีก  พอทุกข์ขึ้นมาใจก็ทุกข์ตามไปด้วย  เพราะใจไม่ชอบ  แต่ถ้าใจเฉยๆ ไม่ต้องอาบน้ำก็ได้ มันจะร้อนก็ปล่อยให้ร้อนไป  ถ้าใจไม่ไปวุ่นวายกับมันๆ ก็ไม่เดือดร้อนอะไร  อาบน้ำเพียงแค่วันละครั้งก็พอ ถึงเวลาอาบก็อาบ ถ้ายังไม่ถึงเวลาอาบก็ไม่ต้องอาบ ไม่เดือดร้อนอะไร

 

ใจเป็นตัวสำคัญ เราจึงต้องมาดูแลใจกัน ใจของเรามีตัวที่ไปสร้างปัญหา ก็คือตัวกิเลสตัณหานี่เอง แต่เราไม่เห็นโทษของมัน เราเป็นเพื่อนกับมัน เป็นสหายกับมัน มันชวนให้เราโลภเราก็โลภตาม มันชวนให้เราโกรธเราก็โกรธตาม  มันชวนให้เราหลงเราก็หลงตาม  เราจึงต้องร้องห่มร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจ เพราะโดน ๓ ตัวนี้หลอกอยู่ตลอดเวลา เรารู้ไม่ทันมัน เพราะขาดปัญญา  ขาดสมาธิ เราจึงต้องมีสมาธิก่อน ถึงจะเกิดปัญญาขึ้นมา  จะมีปัญญามีสมาธิได้ ก็ต้องมีศีลมีทานก่อน  มาถูกทางแล้ว  เพียงแต่ต้องเพิ่มการปฏิบัติให้มากขึ้นไป

 

ทานก็มีแล้ว ศีลก็พอจะมีแล้ว ทีนี้ก็ภาวนาบ้าง อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง ตื่นเช้าลุกขึ้นมาก่อนจะไปทำอะไร ก็ภาวนาสักชั่วโมงหนึ่ง ไหว้พระสวดมนต์นั่งทำสมาธิ ก่อนนอนก็อีกสักชั่วโมงหนึ่ง ส่วนตอนกลางวันถ้ามีเวลาว่างไม่รู้จะทำอะไรก็ภาวนาไป อยู่ในรถเวลารถติดถ้าไม่ได้ขับรถ ก็นั่งภาวนาไปก็ได้  แทนที่จะมานั่งบ่น นั่งจ้องดูรถ เมื่อไรจะขยับไปสักที คอยดูนาฬิกา คิดถึงเวลานัดกับคนไว้ ว่าจะไปทันนัดหรือไม่ วุ่นวายใจไปเปล่าๆ แต่เรามักจะเผลอกัน  เพราะจิตใจมีความผูกพันกับเรื่องต่างๆจนปล่อยวางไม่ได้  พอออกจากบ้านไป ก็ไปติดกับเรื่องต่างๆ จนกว่าจะกลับมาบ้าน บางทีกลับมาบ้านแล้วก็ยังเอาเรื่องต่างๆกลับมาแบกมาหาม ทำให้นอนไม่หลับก็มี จึงต้องฝึกทำสมาธิเพื่อทำจิตให้ว่างบ้าง  อย่าปล่อยให้มันรกรุงรังในจิตใจ ทำอะไรอยู่ตรงไหนก็ให้จบตรงนั้น ทำงานที่บริษัทก็ให้จบที่บริษัท อย่าเอากลับมาบ้าน เขาไม่ได้ให้เงินเดือนเราเพิ่ม

 

ถาม    ถ้าเราภาวนา เช้า – เย็นๆ เวลาออกไปข้างนอกไปเผชิญกับปัญหาต่างๆ มันก็เปรียบเสมือนมีฟิล์มป้องกันเชื้อโรค ใช่ไหมครับ

 

ตอบ    ใช่  จะมีเหตุมีผล ไม่วูบวาบ ไม่เป็นอารมณ์มาก ถ้าปฏิบัติได้ผลแล้ว จะเห็นประโยชน์เห็นโทษของเรื่องที่เราไปทำทุกวันนี้  ทำเพื่ออะไรถามดูซิ  ทำเพื่อความหลงใช่ไหม ทำเพื่อความวุ่นวาย แล้วจะเริ่มเห็นความวุ่นวายของชีวิตของฆราวาส  ในพระไตรปิฎกมักจะแสดงไว้เสมอว่า เวลาคนออกบวชมักจะบ่นว่า  ชีวิตฆราวาสนี่มันช่างวุ่นวายจริงหนอ หนนนีวมีความมีเกนอกไปเผชิญกับปำแสดงว่าจิตได้สัมผัสกับความสงบแล้ว เมื่อมีความสงบในจิตแล้ว จะเห็นเรื่องราวต่างๆภายนอกมีแต่ความวุ่นวาย  เพราะมันรบกวนจิตใจ จิตใจที่สงบก็เหมือนกับน้ำที่นิ่ง แล้วเวลามีเรื่องราวเข้ามา ก็เหมือนกับคนมาตักน้ำ มาแกว่ง มากวนน้ำ น้ำก็ขุ่น น้ำก็เป็นคลื่น มันก็วุ่นวาย ก็ทำไปนะ ทำไปเรื่อยๆ อย่าท้อแท้

 

ถาม    บางทีอยากได้กำลังใจครับ  อยากให้มีกำลังใจ ให้เราสู้ต่อไป  บางทีก็สู้บ้างแพ้บ้าง

 

ตอบ    ก็ต้องไปปฏิบัติ  นี่หยุดงาน ๓ วัน แทนที่จะไปเที่ยวก็ไปปฏิบัติกัน   พยายามเข้าวัดอยู่เรื่อยๆ เข้าวัดอยู่บ่อยๆ วัดปฏิบัติ วัดที่เราเข้าไปแล้วเราสามารถปฏิบัติได้  อย่าไปยุ่งกับเรื่องราวภายนอก  บางทีไปวัดแล้วก็ไปยุ่งกับเรื่องราวภายนอกของวัด ไปช่วยทำงานทำการ  แล้วก็ไม่ได้ภาวนา มันก็เป็นบุญเหมือนกัน แต่ไม่เป็นกอบเป็นกำเหมือนกับการภาวนา จิตใจของเราอ่อนไหวง่าย  พอไปเจอคนโน้นคนนี้ขอร้องหน่อย  ให้ช่วยก็ช่วย ก็เลยติดพันกับการทำงาน  เมื่อก่อนทำงานนอกวัด  เดี๋ยวนี้ไปอยู่วัด ก็ไปทำงานในวัดอีก ก็ยังเป็นงานอยู่เหมือนเดิม จิตก็ยังไม่สงบ เวลาไปวัดจึงควรตั้งกรอบตั้งเป้าไว้ ว่าไปเพื่ออะไร  เวลาใครจะชวนให้ไปทำอย่างอื่น ก็ต้องปฏิเสธ ไม่ทำ นอกจากเป็นกรณีจำเป็น  มีเหตุมีผลก็ช่วยกันทำไป  ถ้าคนอื่นทำได้ ก็ปล่อยให้เขาทำไป ทำงานของเราให้เสร็จก่อน เมื่อเสร็จแล้ว จะช่วยคนอื่นมากน้อยเท่าไร ก็ยินดี

 

ถาม    อาจารย์คะ เวลาเราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วนี่นะคะ  อุทิศโดยใช้จิตกับการกรวดน้ำนี่ เขาได้รับเหมือนกันไหมคะ

 

ตอบ    เหมือนกัน  ความจริงไม่ต้องใช้น้ำหรอก น้ำไม่ได้เป็นตัวบุญ ตัวบุญคือจิตของเรา การสอนคนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องกระแสจิต  ก็เลยเอากระแสน้ำมาเป็นตัวแทนกระแสจิต น้ำก็ยังเป็นน้ำอยู่นั่นแหละ บุญไม่ได้อยู่ที่น้ำ แต่อยู่ที่จิต

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ ลูกสงสัยอย่างหนึ่งคือผู้ที่จะเป็นพระโพธิสัตว์นี่ ยังไม่ถือว่าบรรลุธรรม ยังเป็นคนธรรมดา

 

ตอบ     ยังเป็นปุถุชนอยู่

 

ถาม    แต่เป็นผู้ที่มีเมตตาธรรมใช่ไหมคะ

 

ตอบ    เป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมมะ เมตตา ปัญญา อุเบกขา อธิษฐาน สัจจะ วิริยะ ขันติ แต่ยังมีกิเลสเต็มหัวใจยังไม่ได้สัมผัสกับโลกุตรธรรม อาจจะได้ฌาน ได้สมาธิจากการบำเพ็ญนี้  แต่ยังไม่เข้าถึงไตรลักษณ์ ยังไม่รู้จักไตรลักษณ์ว่าเป็นอย่างไร อย่างพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ ก็ไม่รู้จักไตรลักษณ์  ไม่รู้จักวิปัสสนา ท่านมีฌาน  มีทาน มีศีล  แต่จิตยังลุ่มหลงอยู่กับอัตตาตัวตนอยู่   เป็นความสามารถของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะรู้อนัตตาได้ด้วยตนเอง  เป็นความสามารถโดยเฉพาะของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะเข้าถึงได้ ถ้าเป็นปุถุชนอย่างเราอย่างท่านนี้  ถ้าไม่ได้สะสมบารมีถึงระดับโพธิสัตว์แล้ว จะไม่สามารถมองทะลุเห็นอนัตตาได้  ต้องอาศัยพระพุทธเจ้ามาสั่งสอน ก็จะได้เป็นสาวกเท่านั้น พอได้ยินได้ฟังเรื่องอนัตตาแล้ว ก็เอามาปฏิบัติ ปล่อยวางร่างกาย ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ยึดไม่ติด อย่างนี้ก็จะหลุดพ้นได้  เข้าสู่ขั้นโสดาบันได้อย่างง่ายดาย มีคนบอกคำตอบให้แล้ว  เราทำตามขั้นตอนก็จะได้คำตอบที่ถูกต้อง คือเจริญสมาธิกับปัญญาก็จะบรรลุได้  แต่สำหรับพระพุทธเจ้าไม่มีคำตอบไว้ล่วงหน้า ไม่รู้ว่าคำตอบอยู่ที่ไหนตอนที่ทรงบำเพ็ญ ไม่รู้ว่าสิ่งที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์อยู่ตรงไหน  แต่เมื่อได้พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ก็เหลือตัวนี้ตัวเดียว  ก็เลยหันมาพิจารณาดูว่ามันเป็นตัวตนจริงหรือไม่ ก็เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน

 

ถาม    ท่านคะ อย่างนั้นพระโพธิสัตว์จะต้องบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้นใช่ไหมคะ

 

ตอบ   พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีคุณสมบัติ  ที่จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยตนเอง ถ้าเกิดได้พบพระพุทธเจ้า  แล้วเปลี่ยนใจไม่แสวงพุทธภูมิต่อไป  เพราะเห็นว่าจะเสียเวลามาก ตอนนี้มีทางอยู่แล้ว มีคนคอยชี้ทางให้อยู่แล้ว ก็เลยนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ แทนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า  เช่นหลวงปู่มั่น ท่านก็เคยอธิษฐานให้ได้บรรลุพุทธภูมิ เวลาท่านปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ทำไม่ได้  เพราะจิตไปผูกติดอยู่กับการสะสมบารมี เช่นทานบารมี อย่างที่เล่าให้ฟัง  ไปวัดก็ไปทำงานช่วยเหลือคนอื่น แทนที่จะตัดใจไปนั่งภาวนา ก็ทำไม่ได้  เพราะตะขิดตะขวงใจ ต้องช่วยเหลือผู้อื่นก่อน  ทำทานก่อน จะตัดช่องน้อยทำเพื่อตนเองจึงทำไม่ได้ จะไปนั่งปฏิบัติภาวนาโดยลำพัง แล้วปล่อยให้คนอื่นทำงานก็ทำไม่ได้  แต่หลังจากได้พิจารณาก็เห็นว่า ทำให้ตัวเองก่อนจะดีกว่า เมื่อหลุดพ้นแล้วค่อยช่วยเหลือคนอื่นทางด้านจิตใจ จะได้ประโยชน์มากกว่าการช่วยเหลือทางด้านวัตถุข้าวของต่างๆ แต่ในขณะนี้ยังช่วยใครไม่ได้ทางด้านจิตใจ  เพราะยังช่วยตัวเองไม่ได้ ท่านจึงสละความปรารถนาในพุทธภูมิ แล้วเร่งทำความเพียรเพื่ออรหัตผล

 

การปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้เกิดปัญญา เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ จึงเป็นงานที่ควรจะทำก่อน เมื่อหลุดพ้นแล้วค่อยมาสั่งสอนผู้อื่น จะได้รับประโยชน์มากกว่า  เรื่องวัตถุข้าวของใครๆก็ทำได้  แต่เรื่องสอนธรรมะนั้น ถ้าไม่รู้ธรรมะก็จะสอนไม่ได้  สอนไปก็สอนไม่ถูกอยู่ดี  เป็นเหตุผลที่ทำให้หลวงปู่มั่นละความปรารถนาในพุทธภูมิ แล้วหนีหมู่คณะไปอยู่เชียงใหม่ ปฏิบัติอยู่องค์เดียว เมื่อก่อนจะมีบริษัทบริวารติดตามท่านอยู่ตลอดเวลา ต้องคอยสั่งสอน คอยอบรม คอยสงเคราะห์คนนั้นคนนี้ไปตามธรรมะที่ท่านมีอยู่  ท่านปลีกวิเวกอยู่เชียงใหม่ถึง ๑๐ ปีจนได้บรรลุอรหัตผล  หลังจากนั้นท่านก็อบรมสั่งสอนผู้อื่น  ทำให้มีครูบาอาจารย์ที่เราเคารพกราบไหว้ปรากฏขึ้นมาเป็นจำนวนมาก  ก็ได้ศึกษาจากหลวงปู่มั่นทั้งนั้น เป็นผลพวงของการละความปรารถนาในพุทธภูมิของหลวงปู่มั่น

 

ถ้าท่านมัวทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น โดยลืมนึกถึงการทำประโยชน์สำหรับตนเอง ท่านก็ยังจะไม่ได้บรรลุ  ไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล แต่จะได้สะสมทานบารมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนทำให้ท่านได้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต  เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ถ้าบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าแล้วไม่สั่งสอนใครก็เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า  ถ้าสั่งสอนผู้อื่นก็เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างพระพุทธเจ้าของพวกเราก็เกือบจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า  เพราะทรงเห็นว่าเป็นธรรมะที่ยากที่ผู้อื่นจะปฏิบัติตามได้  ก็เกิดความท้อพระทัย  ไม่ทรงอยากจะสั่งสอน  กลัวจะหาว่าพระองค์บ้า สอนให้ละ สอนให้ตัด ต่อมาก็มีท้าวมหาพรหมได้มาอาราธนาขอให้พระองค์ได้ทรงพิจารณาโปรดสัตว์โลกด้วยเถิด  เพราะคนมีหลายชนิดด้วยกัน  คนที่ฉลาดที่จะได้รับประโยชน์ก็มี  คนโง่เขลาเบาปัญญาที่จะไม่ได้รับประโยชน์ก็มี 

 

จึงทรงพิจารณาเห็นว่าสัตว์โลกก็มีอยู่ ๔ ชนิดด้วยกัน เปรียบเหมือนบัว ๔ เหล่า เลยทรงมีกำลังใจที่จะโปรด โดยจะเน้นไปที่พวกฉลาดก่อน  พวกที่รู้เร็ว ทรงคิดถึงพระอาจารย์ทั้ง ๒ รูปที่พระองค์เคยศึกษาอยู่ด้วย  แต่ก็ทรงทราบว่าได้มรณภาพไปแล้วทั้ง ๒ รูป ทรงบ่นว่าน่าเสียดาย  เพราะได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหมที่ไม่จีรังถาวร เมื่อหมดบุญแล้วก็ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ กลับมาเริ่มต้นใหม่อีก ไม่ได้รับประโยชน์จากธรรมะที่พระองค์ทรงรู้ทรงเห็น  จึงทรงคิดถึงพระปัญจวัคคีย์ที่เคยติดสอยห้อยตามพระองค์ ทรงเห็นว่าท่านเหล่านี้มีศีลมีสมาธิมีบารมี พอที่จะรับธรรมะของพระองค์ได้  จึงมุ่งไปที่พระปัญจวัคคีย์   ในเบื้องต้นทรงแสดงพระธรรมจักรฯโปรด ก็มีพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ทรงแสดงเกี่ยวกับอนิจจัง มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา เช่นขันธ์ ๕ กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เกิดแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่ต้องไปยึดไปติด ปล่อยมันไป พอปล่อยไป ใจก็สบาย  ไม่กลัวความตายอีกต่อไป  ไม่กลัวความเจ็บอีกต่อไป  เพราะใจไม่ได้แก่ ไม่ได้เจ็บไปกับร่างกาย แล้วไปตกใจ ไปกลัวทำไม  เพราะความหลงทำให้ไปยึดไปติด ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา 

 

หลังจากนั้นได้ทรงแสดงธรรมอีกครั้งสองครั้ง ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕ รูป แล้วก็ทรงไปโปรดพวกนักบวชของสำนักอื่นๆ  จนมีพระอรหันต์ปรากฏขึ้นมาถึง ๑,๒๕๐รูป ภายในเวลา ๗ เดือนเท่านั้นเอง ตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๘ วันอาสาฬหบูชาที่ทรงแสดงพระธรรมจักร ฯ จนถึงวันเพ็ญเดือน ๓  มีพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ตอนนั้นทรงมุ่งไปหาพวกที่สามารถรับธรรมะได้อย่างรวดเร็วก่อน  เพราะมีศีล มีสมาธิอยู่แล้ว เป็นนักบวชอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ขาดปัญญา ไม่รู้ว่ามีธรรมที่ทำให้จิตหลุดพ้นได้ ได้ฌานก็ถือว่าเลิศแล้ว ได้สวรรค์ชั้นพรหมก็ถือว่าเลิศแล้ว แต่พระพุทธเจ้าทรงรู้ว่าถ้าตราบใดยังอยู่ในสังสารวัฏ  ยังอยู่ภายใต้กฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อหมดบุญของพรหมก็จะเลื่อนลงมาเป็นเทพ หมดบุญของเทพก็เลื่อนลงมาเป็นมนุษย์  ถ้าไม่ทำบุญต่อ  มีแต่ทำบาปก็เลื่อนลงไปเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นสัตว์นรกต่อไป

 

ภพของมนุษย์เป็นที่เติมบุญหรือเติมบาป  มีทางเลือก ๒ ทาง ภพอื่นไม่ค่อยมีทางเลือกเท่าไร  เป็นเดรัจฉานก็ไม่มีทางเลือก เวลาหากิน สัตว์ใหญ่ก็ต้องกินสัตว์เล็กเป็นอาหาร  ไม่มีโอกาสได้ทำบุญ ถ้าเกิดเป็นเทวดาก็ไม่มีโอกาสที่จะทำบุญหรือทำบาป  มีแต่การเสวยบุญเสวยความสุข ถ้าเป็นพรหมก็อยู่กับความสุขของความสงบนิ่ง ไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ   เป็นมนุษย์จะได้สัมผัสทั้งสุข และทุกข์  สามารถเลือกได้ว่าจะทำบาปหรือทำบุญ  ถ้าเกิดในสมัยที่มีศาสนาพุทธก็โชคดีหน่อย  เพราะมีแสงสว่างแห่งธรรมคอยชี้บอกว่านี่ผิดนะ นี่ถูกนะ เพียงแต่จะฟังหรือไม่ฟังเท่านั้น ถ้ามีบุญเก่า มีปัญญา  ฟังแล้วก็จะเชื่อ จะแยกแยะได้  ก็พยายามปฏิบัติตามคำสอนของนักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้า ก็จะได้รับประโยชน์ ดีไม่ดีอาจจะตัดภพตัดชาติได้ในชาตินี้เลยก็ได้  ในสติปัฏฐานสูตร  พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า  ถ้าปฏิบัติตามได้  อย่างช้าก็แค่ ๗ ปี  ถ้าไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็จะได้เป็นพระอนาคามี ถ้าเป็นพวกที่ฉลาดเพียง ๗ วันก็บรรลุได้ จึงอยู่ที่ตัวเราว่ายังยึดติด ยังเสียดายลูก เสียดายสมบัติอยู่หรือไม่ ควรพยายามพิจารณาความแก่ความตายอยู่บ่อยๆ อย่าไปเสียดายเลย  เดี๋ยวก็ต้องตายจากกันแล้ว อยู่ด้วยกันเพื่อร่วมสร้างบุญสร้างกุศลเท่านั้น

 

ถาม     เทวดานี่ไม่มีการภาวนาหรือเจ้าคะ

 

ตอบ     ไม่มี เขาเป็นเหมือนกับตอนที่เรานอนหลับฝันดีมีความสุข เขาก็ไม่ต้องภาวนา

 

ถาม     แต่เขาก็มาฟังธรรมอยู่เรื่อยใช่ไหมคะ

 

ตอบ     พวกที่มีอุปนิสัยเดิมอยู่ ถ้ามีโอกาสได้เจอพระอริยบุคคลที่สามารถติดต่อกับเขาได้ เขาก็จะฟัง

 

ถาม     บนภูเขานี่ละคะท่านอาจารย์

 

ตอบ     ไม่ทราบว่ามีหรือไม่

 

ถาม     ท่านอาจารย์คะ เมื่อตะกี้ท่านอาจารย์บอกว่าเทวดาเสวยบุญ ถ้าเขาเสวยบุญไปเรื่อยๆ เขาไม่ได้ทำบาปเขาจะเป็นเทวดาไปเรื่อย

 

ตอบ     บุญมันหมดได้นะ เหมือนน้ำมัน ใช้ไปเดี๋ยวมันก็หมด

 

ถาม     เขาไม่ได้ทำบาป บุญก็จะหมดไปใช่ไหมคะ

 

ตอบ     บาปที่มีอยู่ยังไม่มีโอกาสแสดงผล เพราะเป็นเวลาของการแสดงผลของบุญ ต้องเกิดเป็นมนุษย์หรือต่ำกว่า

 

ถาม     เคยได้ยินว่า ถ้าเทวดาระลึกถึงบุญเก่าที่เคยทำ ก็เหมือนต่อบุญไปเรื่อยๆใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ     ระลึกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำด้วย  นึกแล้วก็ต้องทำ อยู่ที่สวรรค์ทำบุญไม่ได้ ต้องมาทำบนโลกนี้ นอกจากทำบุญด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม  เช่นพระพุทธเจ้าทรงโปรดพระมารดา ด้วยการแสดงธรรมให้ฟัง เมื่อเข้าใจในหลักของไตรลักษณ์ ก็สามารถตัดได้ละได้  เทวดาก็มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหมือนกัน แต่เป็นรูปทิพย์ เสียงทิพย์  เมื่อหมดบุญแล้ว รูปทิพย์ เสียงทิพย์ก็หมดไป ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็มาเสพพวกรูปหยาบ เสียงหยาบ  ท่านให้พิจารณาให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เมื่อเห็นไตรลักษณ์แล้ว ก็จะไม่ยินดี เมื่อไม่ยินดี ก็จะไม่เสียใจ ไม่ทุกข์ มันจะมาจะไปก็ไม่เดือดร้อน

 

ถาม    พอฟังอาจารย์เสร็จกลับไปแล้วมีกำลังใจ

 

ตอบ     ถึงต้องฟังเทศน์อยู่เรื่อยๆไง กาเลนะ ธัมมัสสวนัง อยู่กับครูบาอาจารย์ก็แบบเดียวกัน  ๓ – ๔ วันท่านก็จะเรียกประชุมสงฆ์ที พอฟังเทศน์ของท่านแล้วมีกำลังใจ  บางทีกลับไปนั่งภาวนาเดินจงกรมจนถึงสว่างเลย เหมือนกับท่านอัดฉีดกำลังใจให้เต็มที่เลย  แต่พอสัก ๔ – ๕ วันผ่านไป กำลังใจก็ค่อยอ่อนไปเรื่อยๆ กิเลสก็ฮึกเหิมขึ้น

 

ถาม     เดือนหนึ่งมาหาท่านอาจารย์ครั้งหนึ่งนี่

 

ตอบ     เหมือนชาร์จแบตฯ

 

ถาม     บางทีหามัชฌิมาไม่เจอ

 

ตอบ     ชีวิตฆราวาสมีเรื่องอื่นๆมาเกี่ยวข้องมาก  ใจยังอ่อน  ยังไม่แข็งพอที่จะต้านได้  แต่ก็ยังดีที่ยังมีกำลังพอจะปลีกออกมาได้  เดือนละครั้งก็ยังดีกว่าไม่มาเลย  บางคนปีหนึ่งจะเข้าวัดใส่บาตรสักครั้งหนึ่งในวันเกิด หรือวันปีใหม่ แต่พวกเรานอกจากมาวัดอย่างนี้แล้ว ยังทำบุญเป็นปกติ ใช่ไหม

 

            ใช่ครับ ทุกอาทิตย์เราจะไปวัด ไปใส่บาตร 

 

           หลังจากได้ยินได้ฟังแล้วต้องนำไปปฏิบัติ  ปฏิบัติให้ต่อเนื่อง เพราะการปฏิบัตินี้แหละจะเป็นอาจารย์ของเราต่อไป เมื่อปฏิบัติเป็นแล้ว  ก็ไม่ต้องอาศัยครูบาอาจารย์มากนัก  เพราะธรรมจะผุดขึ้นมาในใจ ในเบื้องต้นต้องอาศัยธรรมของผู้อื่น เป็นตัวฉุดกระชากลากไปก่อน เมื่อพิจารณาธรรมไป ปัญญาก็เริ่มหมุน เรียกว่าธรรมจักรเริ่มหมุนแล้ว เริ่มคิดไปในทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คิดแล้ว  คิดไปด้วยเหตุด้วยผลแล้ว ต่อไปก็จะคิดไปในทางนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความรู้ความเห็นต่างๆขึ้นมา มากกว่าที่ได้ยินได้ฟังจากผู้อื่น

 

ธรรมะที่ได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ จากพระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนกับใบไม้ในกำมือ แต่ธรรมะที่จะปรากฏขึ้นในจิตในใจ เป็นเหมือนใบไม้ในป่าในเขา จะมีความรู้ต่างๆผุดขึ้นมามาก บางสิ่งเราไม่สามารถพูดหรืออธิบายให้กับคนอื่นได้  เพราะไม่เกิดประโยชน์ ได้แต่สอนวิธีให้เขาคิดเป็น ให้ปฏิบัติเป็น เมื่อปฏิบัติเป็นคิดเป็นแล้ว  ก็จะรู้เห็นเรื่องต่างๆได้  เหมือนหลวงปู่มั่น เวลาท่านอยู่ในป่าในเขาคนเดียว ท่านไม่ต้องไปหาครูบาอาจารย์ มีคนถามว่า  เวลาท่านมีปัญหาท่านจะไปถามใคร หลวงปู่มั่นท่านตอบว่า กระผมไม่ได้ประมาทนะ แต่ผมฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา เพราะท่านพิจารณาธรรมะอยู่ตลอดเวลานั่นเอง การพิจารณาธรรมะเป็นการคิดอย่างมีเหตุมีผล  เวลามีคำถามปรากฏขึ้นมา คำตอบก็จะตามมาเอง ผุดขึ้นมาๆ รับกันไปๆ พิจารณาไปๆ  ถ้าอยู่ในกรอบของไตรลักษณ์แล้ว จะไม่หลงทาง

 

ถาม     ท่านอาจารย์คะ คิดขึ้นเอง ปัญญาเกิดขึ้นเองหรือคะ

 

ตอบ     ใช่  มันเกิดขึ้นเอง ด้วยการพิจารณา

 

ถาม     ถามเองตอบเองหรือครับ

 

ตอบ     ใช่

 

ถาม     ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์หรือคะ

 

ตอบ     ใช่ ถ้าถึงขั้นที่มันหมุนเอง  ถ้ายังไม่ถึงขั้นนั้น  เวลามีปัญหาที่ยังตอบไม่ได้ ก็ปล่อยไว้ก่อน ภาวนาไปอีก ปฏิบัติไปอีก จนจิตลงลึกไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะเข้าใจเอง  ถ้ายึดแนวที่ท่านสอนไว้ให้คิด  คือให้อยู่ในไตรลักษณ์ แล้วจะไม่มีปัญหาอะไร

 

ถาม    ท่านอาจารย์ครับ   เคยได้ยินมาว่าครูบาอาจารย์เวลาภาวนาไปนี่   อย่างหลวงปู่มั่นที่ท่านมรณภาพไปแล้ว ผุดขึ้นมาในจิตก็มี   เพื่อที่จะมาบอกอุบายธรรมอะไรต่างๆ ท่านอาจารย์เคยเจอแบบนี้ไหมครับ

 

ตอบ    ในหนังสือปฏิปทาฯ หลวงตาก็เขียนเกี่ยวกับคุณแม่ชีแก้วไว้   ที่ท่านบอกว่าท่านจะไปเยี่ยมหลวงปู่มั่น  เพราะได้ข่าวว่าท่านไม่ค่อยสบาย เตรียมตัวตั้งหลายครั้งก็ไม่ได้ไปสักที  จนในคืนก่อนที่จะไป หลวงปู่ก็มาเข้าในสมาธิของคุณแม่ชี บอกว่าไปก็ไม่เจอตัวเราแล้ว  เราตายแล้ว ท่านรู้ก่อนที่คนอื่นจะรู้ คนในหมู่บ้านไม่ทราบข่าวหลวงปู่มั่นได้มรณภาพแล้ว  เมื่อตอนตี ๑ ตี ๒   แต่ท่านนั่งสมาธิตอนนั้นพอดี  หลวงปู่ก็มาเข้าในสมาธิพอดี พอตื่นขึ้นมาท่านก็นั่งร้องห่มร้องไห้คนเดียว แม่ชีด้วยกันก็ถามท่านร้องไห้เรื่องอะไร ท่านก็บอกว่าเมื่อคืนนี้หลวงปู่มาบอกว่าท่านมรณภาพแล้ว พอสายๆคนจากที่อำเภอก็เอาข่าวมาบอก เรื่องของจิตนี่มันก็ลึกลับ ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎกก็มี จึงไม่ควรสบประมาท ถ้าพูดในสิ่งที่ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎกให้คนแตกฉานในพระไตรปิฎกฟัง ก็จะถูกเขาว่าเพ้อเจ้อก็ได้ อย่างหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์หนังสือประวัติหลวงปู่มั่น ที่เขียนโดยหลวงตา ว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ  นั่นเป็นเพราะได้อ่านแต่พระไตรปิฎกอย่างเดียว แต่ไม่ได้ปฏิบัติ  จึงคิดว่าเรื่องที่ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ 

 

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นเป็นเหมือนใบไม้ในกำมือ สิ่งที่นอกเหนือจากนั้น ที่ไม่จำเป็นต่อผู้ที่จะปฏิบัติตาม ก็ไม่ทรงสอนให้เสียเวลา  ให้ปฏิบัติไปเจอเองดีกว่า  ให้เห็นเองดีกว่า จะได้ไม่สงสัย พูดตอนนี้ก็จะสงสัย หาว่าหลอกให้งมงาย  ตอนที่อาตมาปฏิบัติ อาตมาก็ไม่สนใจเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องภพหน้าชาติหน้า สนใจอยู่ที่จิตตัวเดียว  ทำอย่างไรให้จิตไม่หวั่นไหว ไม่ให้ทุกข์แค่นั้นเอง สนใจแค่นั้นแหละ เรื่องภพหน้าชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ไม่ค่อยสนใจ  มีหรือไม่มีก็ไม่เกี่ยวกับเรา  แต่ตัวทุกข์นี่ ความวุ่นวายใจนี่ มันเกี่ยวกับเราโดยตรง ทำอย่างไรไม่ให้วุ่นวายใจได้  ทำไมเราต้องอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้ มาให้ความสุขกับเรา ไม่มีอะไรเลยไม่ได้หรือ  นี่คือปริศนาที่เราถามตัวเราเอง  ทำไมต้องได้สิ่งนั้นถึงจะมีความสุข พอได้มาสักพักก็เบื่อ  อยากจะได้สิ่งใหม่อีก มันก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็พอดีได้อ่านหนังสือธรรมะ ท่านก็บอกว่ามี อยู่ในใจเรานี่แหละความสงบ ทำใจให้สงบแล้วไม่ต้องมีอะไร  เมื่อ ๒ วันก่อนก็มีคนมาเล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้เขาเจอธรรมะแล้ว อาตมาก็ถามว่าอยู่ที่ไหน เขาบอกว่าอยู่ที่ตัวเรานี่แหละ เมื่อก่อนนี้วุ่นวายกับเรื่องนู้นเรื่องนี้ไปหมด  เดี๋ยวนี้เฉยแล้ว ปล่อยวางแล้ว

 

ถาม    แต่บางครั้งบางเรื่องค่ะอาจารย์  ต้องครึ่งวันค่ะ กว่าจะวางได้

 

ตอบ    ใช่  อยู่ที่ความผูกพันว่ามีมากน้อย

 

ถาม    พยายามวาง แต่ว่า

 

ตอบ    บางทีเราก็คิดว่าเราปล่อยวางหมดแล้ว แต่พอไปเจออะไรจังๆเข้า มันสะเทือนใจขึ้นมาได้เหมือนกัน ก็ต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ อย่าประมาท  อย่าไปคิดว่าแก้ปัญหานี้ได้แล้ว ปัญหาอื่นจะแก้ได้เหมือนกัน  ไม่แน่หรอก ต้องพยายามปฏิบัติไปเรื่อยๆ  ถ้าจะแก้ก็ให้แก้ที่ใจเราเป็นหลัก อย่าไปแก้ที่ภายนอก อย่าไปแก้คนนั้นคนนี้ แก้ไม่ได้หรอก ช่วยแก้ให้เขาเป็นคนดีได้ ก็ช่วยไป   แต่อย่าไปคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาในใจของเรา ปัญหาในใจของเราต้องแก้ด้วยการปล่อยเขา ปล่อยเขาได้แล้วไปช่วยเขาอย่างไรก็ได้ ถ้าเขาปรับปรุงตัวเขาเองให้ดีขึ้น ก็เป็นประโยชน์กับเขาเอง เราไม่ได้ไม่เสียกับเขา ถ้าเรายังไม่แก้ใจของเรา แล้วไปช่วยเขา เราจะมีความรู้สึกได้เสียไปกับเขา  ถ้าเขาดีขึ้นเราก็ดีใจตามไปด้วย ถ้าเขาเลวลงเราก็เสียใจ แต่ถ้าเราแก้ที่ใจของเราก่อนด้วยการปล่อยเขาไป จะดีจะชั่วก็เรื่องของเขา เวลาไปช่วยเขาเราจะรู้สึกเฉยๆ  เขาดีเราก็เฉยๆ เขาเลวเราก็เฉยๆ เราก็ช่วยได้เท่านั้น 

 

ปัญหามี ๒ ส่วนด้วยกัน ส่วนนอกกับส่วนใน ส่วนสำคัญก็คือส่วนใน ต้องแก้ปัญหาส่วนในให้ได้ด้วยการปล่อยวาง ต้องยอมรับสภาพของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยอมรับว่าคนเรามีบุญมีกรรม  เขามีบุญมีกรรมของเขามาจึงต้องเป็นอย่างนี้  เป็นไปตามบุญตามกรรมของเขา เราแก้ปัญหาภายในใจของเราด้วยการคิดว่าเขาไม่ได้เป็นอะไรกับเรา  ถ้าเป็นก็เป็นแบบสมมุติ เป็นเหมือนตัวละคร  เรามาเล่นละครกันในโลกนี้ เขาสมมุติให้เราเป็นแม่ สมมุติให้คนนี้เป็นลูก ก็เล่นกันไปเท่านั้นเอง พอจบละครต่างคนก็ต่างแยกกันไป นี่คือสมมุติ เป็นอย่างนี้  เราเกิดมาก็ถูกสมมุติบัญญัติให้มีพ่อ มีแม่ มีพี่ มีน้อง มีเพื่อน มีฝูง แต่เราหลงติดกับสมมุติ เอาจริงเอาจังกับมัน ไม่ได้คิดว่าเป็นละคร ฝรั่งอย่างเชกสเปียร์เขายังพูดไว้เลยว่า โลกนี้เป็นเหมือนละครโรงใหญ่ ฝรั่งเขาก็มีปัญญาเหมือนกัน เขาก็มองเห็นเหมือนกัน

 

ถาม     ท่านอาจารย์คะ ถ้าเราไม่ทำ ก็เท่ากับเราทำหน้าที่พ่อแม่ไม่สมบูรณ์ค่ะ

 

ตอบ     ก็ทำซิ เราต้องทำหน้าที่ของเรา ก็ทำไป ทำให้สมบูรณ์ แต่ไม่ไปแบกเขา มีหน้าที่ส่งเสียเขาให้ได้เรียน ได้ศึกษา ให้เขารู้จักผิดถูกดีชั่ว เราก็สอนหมดแล้ว ทำหมดแล้ว ทีนี้เขาจะดิ้นรนแหกคอก แหกกรงไปหานรก มันก็เป็นเรื่องของเขา เราไปเฝ้าเขาตลอดเวลาได้ไหม จับเขาผูกติดกับตัวเราไว้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงได้ไหม ทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ก็แล้วกัน มีหน้าที่อะไรก็ทำไป แต่ต้องยอมรับความจริงของเขา จะได้สบายใจ

 

ถาม     ดีใจวันนี้ท่านอาจารย์เล่าเรื่องในพระไตรปิฎกให้ฟัง ปีติมากค่ะ

 

ตอบ     อาตมาก็ไม่ได้ศึกษาจากพระไตรปิฎกโดยตรง ส่วนใหญ่จะได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ อีกส่วนหนึ่งก็อ่านหนังสือที่คัดมาจากพระไตรปิฎกอีกทีหนึ่ง จะไม่ค่อยได้อ่านหนังสือที่เป็นตำรา  เพราะอ่านไม่ได้ เรื่องเยอะเหลือเกิน บางทีเรื่องไม่ตรงประเด็นที่เราต้องการจะรู้  แต่ถ้าอ่านหนังสือของครูบาอาจารย์พระปฏิบัตินี้ ท่านจะพูดตรงประเด็นกับที่เราปฏิบัติ แล้วก็ยกเรื่องจากพระไตรปิฎกมาเสริม ในพระไตรปิฎกจะมีเรื่องราวต่างๆอยู่มาก  อาจจะทำให้เราท้อได้  ต้องเรียนรู้ทุกๆเรื่องเลยหรือ ไม่ต้องหรอก หาหนังสือดีๆสักเล่มหนึ่งที่เจาะที่จุดสำคัญๆก็พอ เช่นหนังสือของครูบาอาจารย์นี่แหละ

 

ถาม     พระไตรปิฎกก็ไม่สำคัญใช่ไหมครับท่านอาจารย์

 

ตอบ    ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่สำคัญ มีไว้ก็ดี แต่มันเป็นเหมือนตู้ยา ที่มียาสารพัดชนิดเลย  เวลาเราปวดหัวแล้วไปหายาในตู้มากิน อาจจะตายเพราะหายาก็ได้ เพราะหาไม่เจอ ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน  แต่ถ้าไปหาหมอ หมอก็จะจ่ายยาให้ทันทีเลย

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ เพื่อนของลูกเขาบอกว่า ก่อนเขาจะปฏิบัติ เขาจะต้องศึกษาพระไตรปิฎกให้รู้แจ้งก่อน  แล้วจึงจะเริ่มปฏิบัติ หลักการนี้มันใช้ได้ไหมคะท่านอาจารย์

 

ตอบ    ได้ ถ้าเขารู้ว่าถึงแม้พระไตรปิฎกจะมีเรื่องมากมายเพียงไร  ก็มีเนื้อหาสาระอันเดียวเท่านั้น  คือทุกข์กับวิธีดับทุกข์  ถ้าเขาศึกษาพระอริยสัจ ๔ จนเข้าใจ ก็พอแล้ว หัวใจของศาสนาก็อยู่ตรงนี้เอง ส่วนเรื่องอื่นๆก็เป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงสอนใครที่ไหนก็ตาม ก็ทรงสอนเรื่องนี้ ทรงสอนพระอริยสัจ ๔ ในแง่ต่างๆ เรื่องทานบ้าง เรื่องศีลบ้าง เรื่องสมาธิบ้าง เรื่องปัญญาบ้าง ถ้าไปอ่านทั้งหมดก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ

 

ถาม    คนอ่านก็เริ่มต้นจุดเดียวกันใช่ไหมครับท่านอาจารย์  คืออ่านหรือไม่อ่านก็แล้วแต่ ก็มาเริ่มต้นที่จุดเดียวกัน  คือจุดที่เป็นหัวใจของอริยสัจ ๔ ใช่ไหมครับ

 

ตอบ    อ่านแล้วต้องจับประเด็นให้ได้  ไม่ใช่อ่านแบบได้ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

 

ถาม    อย่างนี้ควรอ่านพระไตรปิฎกก่อนแล้วปฏิบัติ หรือปฏิบัติโดยที่ไม่ได้อ่าน

 

ตอบ    ปฏิบัติโดยที่ไม่ได้ศึกษาก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะถ้าไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เดี๋ยวก็หลงทางได้ ทีนี้การศึกษามี ๒ แบบ คือศึกษาจากหนังสือ หรือศึกษาจากครูบาอาจารย์ อย่างครูบาอาจารย์นี้ท่านจะสอนเราเหมือนกับพ่อแม่สอนลูก ลูกนี่เกิดมาไม่ต้องไปโรงเรียนก็รู้จักการพูดใช่ไหม ไม่ต้องไปเรียนว่าพูดภาษาไทยพูดอย่างไร เพราะฟังพ่อแม่พูดก็หัดพูดได้  อยู่กับครูบาอาจารย์ท่านก็พาปฏิบัติ  พาบิณฑบาต พานั่งสมาธิ พาทำอะไรต่างๆ  ท่านปฏิบัติอย่างไร เราก็ปฏิบัติตาม อย่างนี้จะง่ายกว่า เพราะตรงประเด็น  ถ้าไปอ่านพระไตรปิฎกจะมีเรื่องเยอะ ที่เยอะเพราะความพยายามที่จะรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงแสดงไว้ตามสถานที่ต่างๆให้ได้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าทุกบททุกบาทของพระธรรมคำสอนมีคุณอันล้ำค่า  แต่ถ้าวิเคราะห์ดูแล้วจะเห็นว่าก็มีอยู่ ๓ เรื่องเป็นหลัก คือ ทาน ศีล ภาวนา ที่เป็นเครื่องมือของการดับทุกข์ แล้วก็มีเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม ความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน วิธีปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และธรรมะที่จะทำให้การปฏิบัติทาน ศีล ภาวนาเป็นไปได้อย่างสะดวกราบรื่น ธรรมะที่เป็นตัวเอกก็คือมรรค ๘ นี่เอง ตัวที่เป็นปัญหาก็คือทุกขสัจจะ กับสมุทัยสัจจะ ตัวที่จะแก้ก็คือมรรค ๘ ผลของมรรค ๘ ก็คือนิโรธสัจจะ คือการดับทุกข์ เป็นทางตรง ถ้าอยากจะเดินอ้อมไปก่อนก็ได้  ไปศึกษาพระไตรปิฎกสัก ๑๐ ปีก่อนก็ได้ แต่มันเยอะนะ อ่านเล่มนี้แล้วไปอ่านอีกเล่มหนึ่ง ก็จะลืมเรื่องที่อ่านไปเพราะจำไม่ได้  การศึกษาที่แท้จริงไม่ต้องจดจำ ต้องจับประเด็นให้ได้ ให้รู้ว่าสิ่งที่เราต้องทำมีอะไรบ้าง

 

เหมือนกับการศึกษาแผนที่เพื่อให้รู้ทางเท่านั้นเอง ศึกษาแล้วไม่ออกเดินทาง ก็ไปไม่ถึงไหน สู้ศึกษาไปปฏิบัติไปจะดีกว่า ดูแผนที่เป็นระยะๆไป จากถนนนี้ไปสู่ถนนนี้ พอถึงทางแยกแล้วค่อยมากางแผนที่ดูอีกที  พอถึงตรงนี้แล้วจะไปทางไหนต่อ ก็ดูอีกที อย่างนี้จะดีกว่า ดีกว่ารู้ว่าไปทางนี้แล้วต้องเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ต้องตรงไป แต่ยังไม่ได้ไปสักที  พอไปแล้วก็ลืม เอ้ เมื่อก่อนนี้จำได้ว่าต้องเลี้ยวซ้ายนี่ พอถึงตรงนี้แล้วเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ต้องกลับไปค้นหนังสือดูก่อน อย่างนี้สู้ศึกษาปฏิบัติกับคนที่มีประสบการณ์จะดีกว่า ดีกว่าอ่านจากหนังสือ แต่ถ้าไม่มีก็ต้องอาศัยหนังสือ ถ้ายังมีคนสอนเราได้ ก็จะง่ายกว่า สงสัยอะไรก็ถามท่านได้ ก็จะแก้ความสงสัยได้

 

ถาม    ท่านคะ  มีคนหนึ่งเขาศึกษาทางด้านศาสนาเปรียบเทียบ เขาบอกว่าพระไตรปิฎกนี่เกิดหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงนิพพานแล้ว  ความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎกที่เกิดจากการสังคายนาของพระอรหันต์นี่จะน่าเชื่อถือได้จริง แต่ละองค์จะศึกษาปฏิบัติถ่ายทอดสิ่งที่เกิดในครั้งพุทธกาลได้แน่นอน ได้หรือเปล่าคะ

 

ตอบ    ถ้าจะว่าทุกคำพูดคำสอนที่ได้รับการถ่ายทอดมาตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เลยคงเป็นไปไม่ได้  แต่ถ้าพูดถึงเนื้อหาสาระ ที่ผ่านมาสองพันห้าร้อยกว่าปี ก็ไม่มีพระอรหันต์ท่านใดมาประกาศว่า ผิดพลาดผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า  ส่วนที่ผิดเพี้ยนก็อาจจะมีบ้าง แต่เป็นส่วนย่อย แต่ตัวแก่นนี่ไม่ผิด อริยสัจ ๔ไม่ผิด มรรค ๘ ไม่ผิด เพียงแต่รายละเอียดของการปฏิบัติอาจจะไม่ละเอียดพอ  เช่นเวลาปฏิบัติเราไม่รู้ว่าต้องได้สมาธิขั้นไหน ถึงจะเจริญวิปัสสนาได้  บางคนก็คิดว่าต้องได้ฌาน ต้องได้สมาธิเต็มขั้นแล้วถึงค่อยเจริญวิปัสสนา บางคนก็บอกว่าไม่ต้องเจริญสมาธิเลยก็ได้  เอาปัญญาอย่างเดียวเลยก็ได้ บางคนก็บอกว่าต้องปฏิบัติทั้ง ๒ อย่าง เพราะมรรคมีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา บางคนก็บอกว่าปฏิบัติไปแล้วก็จะรู้เองว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร  จึงต้องอาศัยผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างครูบาอาจารย์มาสอนอีกที คนที่บรรลุธรรมแล้วถึงจะดีที่สุด อย่างในสมัยปัจจุบันนี้ พอมีหลวงปู่มั่นมาสอนองค์เดียวเท่านั้น ก็แก้ความสงสัยได้เยอะเลย  หลุดพ้นกันไปได้เยอะเลย 

 

ขอให้ถือพระไตรปิฎกเป็นคำสอนหลัก  อาจจะมีอะไรผิดพลาดบ้าง ไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ  ของเรามากกว่า ถ้าเราไม่ปฏิบัติแล้วมาบอกว่าผิดถูกจะไม่มีเหตุไม่มีผล  แต่ถ้าเราปฏิบัติแล้วเราจะรู้ว่าบางส่วนอาจจะผิดพลาดไปได้  เพราะคนที่เป็นปุถุชน กับคนที่เป็นพระอรหันต์มีความเห็นไม่เหมือนกัน ถ้าคนที่สังคายนาไม่ได้เป็นพระอรหันต์  ก็อาจจะเข้าใจผิดได้ อาจจะแปลความหมายของคำบางคำให้ผิดไปได้  แต่อย่าไปถือว่าเป็นสาระสำคัญ คำสอนหลักๆนั้นไม่ผิดเพี้ยน สามารถพิสูจน์ได้

 

ถาม    อย่างนี้นับว่าเราโชคดีที่เกิดมาทันครูบาอาจารย์ ที่สืบทอดจาก  

           หลวงปู่มั่นมา

 

ตอบ    ใช่ เราจึงมีพระรัตนตรัยไง  ไม่มีพระพุทธเจ้าก็ยังมีพระธรรม ไม่มีพระธรรมก็ยังมีพระอริยสงฆ์  ที่แทนกันได้  ถ้าไม่มีพระอริยสงฆ์ก็ต้องอาศัยพระธรรมจากพระไตรปิฎกเป็นหลัก หรือหนังสือของครูบาอาจารย์ที่มรณภาพไปแล้ว เอามาอ่านกัน  แต่ก็สู้อยู่ศึกษาจากท่านโดยตรงไม่ได้  เพราะท่านจะเห็นการปฏิบัติของเรา  แล้วถ้าเห็นเราเดินออกนอกลู่นอกทางท่านจะได้ขนาบเราได้   ช่วยเราได้ ให้เรากลับเข้าสู่ในทางธรรมได้ แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยเฝ้าคอยดู ก็จะหลงได้ ปฏิบัติไปแล้วก็จะคิดปรุงแต่งขึ้นมา ว่าเราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  แต่อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้ แต่ถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านจะมีวิธีพิสูจน์  ทดสอบจิตใจเราอยู่เรื่อยๆ ให้ยึดหลักพระรัตนตรัยไว้ ยึดพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ไว้ ตอนนี้พระพุทธเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็เหลือแต่พระธรรมกับพระอริยสงฆ์  พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ที่เห็นธรรมเห็นตถาคต ก็คือผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็คือพระอริยสงฆ์นั่นเอง