กัณฑ์ที่ ๒๓๕       ๒๙ เมษายน  ๒๕๔๙

 

ยารักษาใจ

 

 

คนเรานี่สามารถเป็นหมอของตัวเราเองได้ถ้าสนใจศึกษา หมอก็เป็นคนเหมือนเรานี่แหละ เพียงแต่หมอเขาได้ศึกษาเล่าเรียนมา ศึกษาอาการต่างๆของโรคภัยไข้เจ็บ ศึกษาว่ามีอะไรเป็นเหตุที่ทำให้มันเป็นอย่างนี้  แล้วก็ศึกษาวิธีที่จะรักษามัน เราก็สามารถเป็นหมอของตัวเราเองได้ในระดับหนึ่ง ถ้าสังเกตดูพฤติกรรมของเรา เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยส่วนหนึ่ง  ก็เกิดจากพฤติกรรมของเราเอง การกินการอยู่ การกระทำอะไรต่างๆ ถูกสุขลักษณะหรือไม่ ถ้ากินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ  กินตามความชอบ ความอยาก ความต้องการ ก็อาจจะกินอาหารที่ให้โทษกับร่างกายเข้าไปก็ได้  เช่นน้ำตาลเป็นตัวอย่าง  ตอนบวชใหม่ๆนี่จะฉันน้ำตาลเยอะ  เพราะฉันมื้อเดียว ตอนบ่ายจะรู้สึกหิว ก็จะฉันพวกโกโก้ ใส่น้ำตาลเป็นช้อนๆลงไป ก็ไม่เห็นเป็นอะไร แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นๆ สังเกตดูว่าจะเริ่มแพ้น้ำตาล ฉันอะไรหวานๆแล้วจะเกิดอาการร้อนในขึ้นมา จะมีแผลในปาก ตอนต้นก็ไม่ทราบว่าแผลในปากนี้เกิดเพราะเหตุใด  คนส่วนใหญ่เวลาเป็นแผลในปากก็จะไปหายามาทา หายามารับประทาน โดยไม่คิดถึงเหตุของอาการ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

 

อาตมาก็พยายามสังเกตดูอยู่เรื่อยๆ  ลองลดสิ่งนั้นลดสิ่งนี้ลงไป  จนในที่สุดก็มาเจอคำตอบที่ตัวน้ำตาลว่าต้องลดลง พอลดลงเพียง ๒ - ๓ วันมันก็หายไป ถ้าวันไหนฉันน้ำตาลมากกว่าปกติที่ร่างกายจะรับได้ มันก็จะเป็นขึ้นมา ก็รู้ว่าน้ำตาลนี่เป็นเหตุที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย รู้ว่าร่างกายจะมีสัญญาณคอยเตือน เช่นอาการร้อนในมีแผลในปาก เดี๋ยวนี้ไม่เป็นแล้วแผลในปาก เพราะคอยควบคุมปริมาณน้ำตาลไม่ให้มากเกินกว่าร่างกายจะรับได้ พออายุมากขึ้นรู้สึกว่า ความต้องการน้ำตาลจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ เคยฉันของหวานๆได้ เดี๋ยวนี้ต้องลด เดี๋ยวนี้แทบจะไม่ได้ฉันของหวานเลย  ฉันเท่าที่จะฉันได้ มันอยู่ที่ตัวเรา การออกกำลังกายก็ดี การหลับนอนก็ดี  มันก็บอกเรา วันไหนถ้านอนไม่พอนี่ ร่างกายจะเริ่มแสดงอาการไม่ปกติขึ้นมา จะรู้สึกไม่มีกำลัง ง่วงเหงาหาวนอน เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า  เรากำลังไม่ได้ดูแลรักษาร่างกายให้ถูกต้อง การออกกำลังกายก็มีส่วน ถ้านั่งๆนอนๆอยู่เรื่อยๆ  เวลาลุกขึ้นมาเดินมาทำอะไร จะรู้สึกไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง แต่ถ้าได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ได้เดินได้ทำอะไร จะมีกำลังวังชาดี

 

ถ้าสังเกตดูตัวเองแล้วจะรู้ทุกขณะเลยว่า ร่างกายมีปัญหาในส่วนไหนบ้าง เวลาเป็นอะไรขึ้นมาก็สังเกตดู  เช่นเวลาถ่ายท้องก็มีหลายสาเหตุ  ของอาตมาส่วนใหญ่จะเป็นเพราะฉันนม  ถ้าฉันทุกวันจะไม่เป็น  แต่ถ้าวันไหนหยุดไปแล้วกลับมาฉันใหม่ ก็จะถ่าย  ก็คอยสังเกตดูอาการต่างๆมาตลอด  สมัยที่อยู่วัดป่าบ้านตาดก็เคยเป็นไข้ทอนซิลอักเสบอยู่เรื่อย ตอนต้นก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด ต่อมาก็ทราบว่าเพราะอยู่ในสถานที่ที่ชื้นมาก อยู่ในป่ามีต้นไม้ปกคลุมกุฏิที่พัก  ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ ก็เลยทำให้เกิดอาการป่วยขึ้นมา ไปหาหมอฉีดยาเท่าไรก็ไม่หาย แต่พอย้ายมาอยู่กุฏิที่โล่งๆ ไม่มีต้นไม้คลุม เพียงคืนสองคืนอาการก็ดีขึ้น แสดงว่าอากาศชื้นก็เป็นเหตุ ที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้เหมือนกัน

 

ถ้าไม่สบายก็ขอให้สังเกตดูว่า ได้ไปทำอะไรผิดปกติมาหรือเปล่า ไปรับประทานอาหารอะไรมา ไปรับเชื้ออะไรมา เราพอจะวิเคราะห์ได้ มีโรคบางอย่างที่รักษาได้ทันที  เช่นโรคติดเชื้อ ได้ยาปฏิชีวนะมารับประทานสัก ๒ - ๓ วันก็หาย  แต่ถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวกับความชราภาพ   ก็ต้องใช้เวลารักษาฟื้นฟู แต่จะให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม  อย่างที่สมัยเป็นหนุ่มเป็นสาวก็คงจะเป็นไปได้ยาก ก็ต้องยอมรับกับสภาพของมัน ที่ต้องเป็นไปตามกาลตามเวลา แต่ถ้าได้ปฏิบัติธรรมแล้ว เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยนี้จะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ไปฝากความหวังอะไรไว้กับร่างกายนี้มากไปกว่าที่จำเป็น  ถ้ายังปฏิบัติธรรมอยู่ ก็ยังต้องอาศัยร่างกายปฏิบัติไป ถ้าสามารถปฏิบัติได้ไม่ว่าร่างกายจะอยู่ในสภาพใด เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ยังปฏิบัติได้ บางคนบรรลุเป็นพระอรหันต์ตอนใกล้ตายก็มี เช่นพระราชบิดาของพระพุทธเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะ เข้าใจว่าท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนจะเสด็จสวรรคต พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรด ทรงสอนเรื่องขันธ์ ๕ เรื่องการปล่อยวาง ขันธ์ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เรื่องของจิตที่ไปยึดไปติดกับขันธ์ ๕ เป็นต้น

 

ถ้าพิจารณาแล้วปล่อยวางได้ ใจก็หลุดพ้น จิตกับร่างกายเป็นคนละส่วนกัน  ถ้าจิตอยู่ในขั้นที่สามารถปฏิบัติในอิริยาบถใดก็ได้แล้ว  ก็ไม่สำคัญว่าจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรง ที่จะต้องเดินจงกรม นั่งสมาธิเป็นชั่วโมงๆ  ถ้าจิตก้าวไปสู่ระดับปัญญาที่หมุนไปเองแล้ว ก็สามารถปฏิบัติได้ในทุกอิริยาบถ อยู่ในอิริยาบถไหนก็พิจารณาได้ เพราะจะพิจารณาเพื่อตัดอุปาทาน  ความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ผลของอุปาทานก็คือ  ความไม่สบายอกไม่สบายใจ ความทุกข์ใจ เวลามีความไม่สบายอกไม่สบายใจ  ก็พิจารณาหาสาเหตุ ว่าไม่สบายอกไม่สบายใจเพราะอะไร เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือ กลัวว่าอาการจะแย่กว่าเดิมหรือ  กลัวว่าจะไม่หายหรือ อย่างนี้ก็จะทำให้ใจมีความทุกข์  มีความวุ่นวายใจ ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ช้าก็เร็ว ก็จะต้องหยุดทำงาน ไม่สามารถทำงานไปได้ตลอด  จะหยุดเวลาไหนก็ไม่มีใครไปกำหนดบังคับได้  ขึ้นอยู่กับเหตุกับปัจจัย ถ้าไปโดนพิษโดนเชื้อโรคชนิดที่ไม่มียารักษาได้ ก็ไม่มีทางที่จะหายได้  มีแต่จะรอวันตายอย่างเดียว

 

แต่ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาก็ปล่อยวางร่างกายได้   จิตใจเป็นปกติเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ได้ทุกข์กับความเป็นความตายของร่างกาย นี่เป็นปัญญาที่วิเศษ คือยารักษาใจ ที่เรียกว่าธรรมโอสถ  ธรรมะรักษาใจของเราได้  แต่รักษาอย่างอื่นไม่ได้  โรคต่างๆทางร่างกายก็ต้องอาศัยหยูกอาศัยยา อาศัยการกำจัดเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นมา บางโรคไม่ต้องอาศัยยาก็ได้ เพียงแต่แก้เหตุที่ทำให้มันเป็น เช่นถ้าขาดอาหารก็รับประทานอาหารให้พร้อมบริบูรณ์  โรคขาดอาหารก็หายไปได้ หรือไม่สบายเพราะขาดการพักผ่อนหลับนอน ก็นอนให้เยอะๆหน่อย พักให้เยอะๆหน่อย เดี๋ยวร่างกายก็ฟื้นกลับสู่สภาพเดิมได้ แต่เรื่องจิตใจนี้ถ้าไม่มีธรรมะแล้ว พอร่างกายเป็นอะไรนิดอะไรหน่อย ก็เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา วิ่งกันวุ่นไปหมด หาหมอหาหยูกหายากัน โดยไม่หายาที่จะรักษาตัวที่กำลังวุ่นวายอยู่นั้น ตรงนี้สำคัญกว่า คือใจของเรา เพราะความทุกข์ทางร่างกายนี้  เมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ทางจิตใจแล้ว  มันห่างกันมาก  ถ้าหากมีร้อยนี่ เก้าสิบเปอร์เซ็นต์จะเป็นความทุกข์ทางด้านจิตใจ ความทุกข์ทางร่างกายเพียงสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

 

คนที่สามารถรักษาจิตใจไม่ให้ทุกข์  ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ปั่นป่วน ไม่ให้วุ่นวายได้แล้ว  เวลาเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยทางร่างกาย จะเจ็บเพียงแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ไม่ได้เจ็บ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนพวกเราที่ไม่ได้ดูแลรักษาจิตใจ  เวลาเป็นอะไรนี้ จะเจ็บจะวุ่นวายทางด้านจิตใจ  มากกว่าความเจ็บทางร่างกาย  การปฏิบัติธรรมก็คือการดูแลรักษาจิตใจนั่นเอง เป็นการสร้างธรรมโอสถ  เอายาธรรมะมารักษาใจ ทำให้ใจไม่ทุกข์ไม่วุ่นวาย กับความเป็นไปต่างๆของร่างกาย  และสิ่งอื่นๆที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย  ถ้าไม่มีธรรมะแล้ว จิตใจจะต้องปั่นป่วน  จะต้องวุ่นวายกับสิ่งที่เราไปเกี่ยวข้อง  กับบุคคลที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย  เพราะความหลงและอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ในใจ เวลาเรารักใคร เราก็อยากจะให้เขาดี ให้เขาสุขให้เขาสบาย ให้เขาอยู่ไปนานๆ  คนที่เราไม่ชอบเราก็อยากจะให้เขาตายไป  หรือให้แย่ลง ให้ลำบากลำบน  

 

แต่ความเป็นไปของเขานั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยากของเรา  เขาจะสุขจะทุกข์ จะดีหรือไม่  ไม่ได้อยู่ที่ความอยากของเรา เขาจะแย่ลงไปหรือไม่  ก็ไม่ได้อยู่ที่ความอยากของเรา แต่อยู่ที่การกระทำของเขาส่วนหนึ่ง  แล้วก็อยู่ที่ธรรมชาติอีกส่วนหนึ่ง ธรรมชาติของเราทุกคนนั้นมีแต่จะเสื่อมลงไป  เมื่อพ้นวัยแห่งการเจริญแล้ว คนเราเวลาเกิดมาในเบื้องต้นก็จะมีการเจริญมากกว่าการเสื่อม  แต่เมื่อถึงจุดที่เจริญเต็มที่แล้วก็จะเริ่มเสื่อมลงไป  การเจริญก็จะน้อยลง ความเสื่อมก็จะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ  เป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มากับสิ่งต่างๆ เช่นร่างกายของพวกเราก็เป็นอย่างนั้น  ถ้าเราไม่เข้าใจแล้ว เราก็จะทุกข์จะวุ่นวายอยู่เสมอ  เพราะเราจะคิดอยู่อย่างเดียวว่าอยากจะให้เขาอยู่ไปนานๆ อยากจะให้เขาไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  ไม่จากเราไป แต่มันเป็นไปไม่ได้ ที่จะเป็นไปตามความอยากของเรา  นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติ 

 

อีกส่วนหนึ่งก็อยู่ที่พฤติกรรมของเขา ถ้าเขาเป็นคนที่ไม่ระมัดระวัง ใช้ชีวิตแบบทำลายตัวเอง  กินเหล้าเมายา เที่ยวเตร่ ขับรถเร็ว อย่างนี้ โอกาสที่เขาจะสูญเสียชีวิตของเขาไปเร็วกว่าปกติก็ย่อมมีอยู่  เราอยากจะให้เขาแก้พฤติกรรมของเขา  เขาไม่แก้ เราก็มาทุกข์กับเขา มาห่วงเขา กินไม่ได้นอนไม่หลับไปกับเขา  ทั้งๆที่เราไม่จำเป็นจะต้องไปวุ่นวายกับเขาเลย  เพราะวุ่นวายอย่างไรก็ไม่สามารถทำอะไรได้  เพราะมันเป็นเรื่องของเขา เป็นชีวิตของเขา แต่เรากลับต้องมาทุกข์กับเรื่องราวต่างๆโดยไม่จำเป็น  แต่ถ้าเราได้ศึกษาธรรมะแล้ว ได้สัมผัสกับความสุขความทุกข์ในใจของเราแล้ว  ว่ามันเกิดจากการกระทำของเรา เราก็เริ่มรู้จักการปล่อยวาง แต่ส่วนใหญ่เรามักจะไม่เห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา  เวลาที่เราไปยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่น เรามักจะมองไปข้างนอก มองไปถึงบุคคลหรือสิ่งของที่เราไปยุ่งเกี่ยวด้วย  มัวไปห่วงเขาจนลืมมองมาที่ใจของเรา  ว่าความห่วงที่เรามีอยู่นี้แหละมันเป็นตัวทุกข์  มันเป็นตัวสร้างความวุ่นวายใจให้กับเรา  ทำให้เราไม่มีความสุขเลย แต่เรากลับมองไม่เห็น มัวแต่ไปมองสิ่งที่เรามีความผูกพันอยู่ด้วยจนลืมมองใจของเรา 

 

แทนที่จะแก้และรักษาใจของเราให้สงบ ให้เย็นให้สบาย เรากลับไปสร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายให้กับใจของเรามากยิ่งขึ้นไปอีก  เพราะเราไม่เคยเข้าหาธรรมะนั่นเอง ถ้าเข้าหาธรรมะแล้ว  ธรรมะจะสอนให้ย้อนกลับเข้ามาดูที่ใจของเรา ให้กำหนดดูใจของเราให้สงบ  ให้รู้ว่าความสุขของใจนั้นเป็นอย่างไร เมื่อได้สัมผัสกับความสุขของใจแล้ว  เวลาใจไปมีความรู้สึกอะไร กับสิ่งต่างๆ  กับบุคคลต่างๆภายนอก ใจจะกระเพื่อมขึ้นมา เราจะเห็นชัดเลยว่า เมื่อสักครู่นี้เรานั่งอยู่สบายๆคนเดียว พอไปเห็นสิ่งนั้น เห็นคนนั้นเห็นคนนี้  ได้ยินสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่คนนั้นคนนี้พูด ใจก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา  เกิดความรู้สึกต่างๆขึ้นมา เราก็จะเห็นเลยว่า  ใจของเรากำลังไปเอาเรื่องราวต่างๆเข้ามาทำลายความสุขที่มีอยู่ แต่ถ้าไม่เคยได้สัมผัสกับความสุขทางด้านจิตใจเลย  ไม่เคยได้ทำจิตใจให้สงบเลย จะไม่เห็นสิ่งนี้ เพราะไม่เคยย้อนเข้ามามองในใจ  จะมองอยู่กับสิ่งภายนอก ถ้ามีความสุขก็เป็นความสุขเล็กๆน้อยๆ  เวลาที่สิ่งภายนอกหรือบุคคลภายนอก  เป็นไปตามความปรารถนา ตามความต้องการของเราๆ แต่ก็ไม่นาน เดี๋ยวก็มีความกังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้อีก  ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆสลับกันไป

 

แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีแต่ความกังวลความวุ่นวาย มากกว่าความสุขความสบายใจ ที่เกิดจากการที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่หวังไว้คาดไว้  ถ้าไม่เป็นไปอย่างร้ายแรง ก็อาจจะทำให้เราเสียหลักได้  จนไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ  กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่มีความสุข ไม่อยากจะอยู่ต่อไป อยากจะหนีจากโลกนี้ไปเลย  นี่ก็เป็นผลกระทบที่ตามมาจากการไม่ได้ดูแลรักษาใจ  มัวแต่ไปคอยดูแลรักษาสิ่งภายนอกโดยถ่ายเดียว  ชีวิตของเราก็จะล้มละลายไปในที่สุด  เมื่อถึงเวลาที่เราตายไป ก็ตายแบบคนที่ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งเลย ไร้ญาติขาดมิตร  ไร้ที่พึ่งไม่มีความหวัง ไม่มีอะไรอยู่ในจิตในใจ แต่ถ้าได้ศึกษาธรรมะ  ได้ปฏิบัติธรรมะแล้ว  เราจะมีสรณะ มีที่พึ่ง มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ  เรารู้เวลามีอะไรเกิดขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถไปห้ามได้  แต่สิ่งที่เราสามารถป้องกันได้ก็คือ ความวุ่นวายใจ ความเศร้าโศกเสียใจ

 

ความหมดกำลังจิตกำลังใจจะไม่เกิดขึ้นกับจิตใจ ที่ได้รับการดูแลด้วยธรรมะ รักษาจิตใจให้อยู่ในความสงบ  ไม่ให้ไปวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ  ไม่ให้ไปยึดไปติดไปอยากกับเรื่องราวต่างๆ  กับบุคคลต่างๆ เขาจะเป็นอะไรก็เป็นบุญเป็นกรรมของเขา  เขาได้ดิบได้ดีก็เป็นบุญของเขา เขาตกทุกข์ได้ยากก็เป็นกรรมของเขา  เราพอจะช่วยเหลือได้บ้างก็ช่วยเหลือกันไป แต่ก็ช่วยได้เพียงแต่ประคับประคองกัน  เช่นเวลาเขาล้มลงไปเราก็ช่วยให้เขาลุกขึ้นมายืน   เวลาเขาตกทุกข์ได้ยาก ไม่มีปัจจัยเงินทองไว้ดูแลเรื่องอาหารการกิน  ก็พอจะสงเคราะห์กันได้  พอให้เขาได้ลุกขึ้นมา  เพื่อจะได้ไปดำเนินชีวิตของเขาต่อไปได้ แต่เราไม่สามารถอุ้มเขาไปได้ตลอดชีวิต  เลี้ยงเขาไปตลอด มันเป็นไปไม่ได้  เพราะเราก็ต้องดูแลชีวิตของเรา   ที่ในแต่ละวันก็มีแต่จะร่วงโรยไปทีละเล็กทีละน้อย  ดูแลตัวเราเองก็ยากแสนยากอยู่แล้ว  ถ้าต้องไปดูแลคนอื่นอีก ก็จะเป็นภาระหนักขึ้นไปอีกหลายเท่าด้วยกัน

 

จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนอื่นมาคอยดูแลเราตลอดไป  ยกเว้นถ้าเราเป็นคนที่มีบุญวาสนามาก ทำบุญมามาก แล้วมีคนที่ยินดีที่จะดูแลเรา เช่นครูบาอาจารย์ของเราอย่างนี้ มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ  พร้อมที่จะเลี้ยงดูท่าน จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตของท่านก็ว่าได้  แต่ท่านก็ไม่ได้หวังอะไรจากการเลี้ยงดูของคนอื่น  เพราะท่านสามารถดูแลตัวของท่านเองได้  คือดูแลส่วนสำคัญของท่าน ก็คือจิตใจ  ถ้าร่างกายอยู่ไม่ได้ ท่านก็ไม่ดันทุรัง ไม่ยื้อไม่ดึงไว้ ปล่อยไปดีกว่า ไปแบกมันทำไม ที่อยู่ทุกวันก็ไม่ได้อยู่เพื่อตัวท่านเอง  อยู่ก็อยู่เพื่อคนอื่น  อยู่เพื่ออบรมสั่งสอนให้คนอื่นได้รู้จักเป็นที่พึ่งของตนเอง ด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติธรรม ท่านอยู่เพื่อผู้อื่น แต่ตัวของท่านเองนั้น  ไม่มีความต้องการอะไรจากสิ่งต่างๆในโลกนี้แล้ว  เพราะท่านเห็นแล้วด้วยปัญญาว่า มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น  สิ่งต่างๆในโลกนี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น ท่านจึงไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะถ้ายึดก็เท่ากับไปกว้านเอากองทุกข์เข้ามาใส่ใจนั่นเอง  จะมีอะไรมากน้อยเพียงไร  จะรู้จักใครมากน้อยเพียงไร ก็เพียงแต่สักแต่ว่ารู้  เขาจะมาเขาจะไปอย่างไรนั้น  มันก็เป็นกรรมของเขาพาไป มองไปในลักษณะนั้น สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน  มีกรรมเป็นที่พึ่งเป็นที่อาศัย ทำกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

 

นี่เป็นเรื่องของจิตใจที่ได้รับการปฏิบัติ ได้รับการอบรม ได้รับการพัฒนา  จนเห็นสภาพตามความเป็นจริงของสิ่งต่างๆในโลกนี้  เห็นสภาพความเป็นจริงของจิตใจ ว่าควรจะเป็นอยู่ในลักษณะใด  และก็สามารถทำให้คงอยู่ในลักษณะนั้นได้  ก็คือไม่วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ อีกต่อไป ไม่มีปัญหากับอะไรทั้งสิ้น  นี่ก็เป็นผลที่ได้รับจากการที่เรายึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาช่วยเรา  ให้สร้างที่พึ่งทางด้านจิตใจให้กับเรา  ถ้ามีที่พึ่งแล้ว  ใจของเราก็หมดปัญหาไป  ทุกวันนี้ที่วุ่นวายกัน  ก็เพราะยังขาดที่พึ่ง ไม่ได้ที่พึ่งที่แท้จริง  ยังหลง ยังยึดติดอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่เป็นที่พึ่งที่แท้จริง  ยังหลงยึดติดอยู่กับเรื่องราวต่างๆภายนอก  ยังหวังความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอกอยู่  ถ้าไม่หวังป่านนี้ก็คงจะออกบวชกันหมดแล้ว  คงจะตัดกันได้หมดแล้ว แต่ที่ยังไม่บวชกัน  ก็เพราะยังยึด ยังติดอยู่กับสิ่งต่างๆ ยังยึดติดอยู่กับวิถีชีวิตที่อยู่กันทุกวันนี้อยู่  มีบ้านก็ยึดติดกับบ้าน มีอาหารการกินอย่างไร  ก็ยังยึดติดอยู่กับอาหารการกินอย่างนั้นอยู่

 

เพราะเวลาเราออกบวชนี้  เราจะไม่สามารถเลือกอาหารที่เราเคยกิน  เลือกบ้านที่เราเคยอยู่ได้  ต้องอยู่แบบตามมีตามเกิด ไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งเหล่านั้น  เพียงแต่อาศัยเป็นเครื่องสนับสนุน  ในการประพฤติปฏิบัติ สร้างสรณะภายในให้เกิดขึ้นมาเท่านั้น  อาศัยปัจจัย ๔ คือที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม อาหารมาเลี้ยงดูอัตภาพร่างกาย  เพื่อให้เราได้ปฏิบัติธรรม  ฟังเทศน์ฟังธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อตัดความหลง ตัดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆที่เป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ไม่ให้ไปยึดไปติดกับมัน มันมีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่  แต่ไม่ได้ไปหวังอะไรจากมัน  หวังอย่างเดียวก็คือความไม่วุ่นวายใจ ความสงบของจิตใจ ถ้าจิตใจอยู่ในความสงบแล้ว  แม้ร่างกายนี้จะเป็นอะไรไป  ก็ไม่เกี่ยวข้องกัน ถ้าร่างกายจะตายไปในขณะที่จิตสงบ  จิตก็ไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าจิตไม่อยู่ในความสงบ  มัวเกาะติดอยู่กับร่างกาย  คิดว่าร่างกายเป็นตัวเป็นตน  เวลาร่างกายเป็นอะไรไป จิตใจจะมีความระส่ำระสาย  มีความว้าวุ่นขุ่นมัว มีความทุกข์เป็นอันมาก 

 

แต่ในขณะใดเวลาใด ถ้าเกิดมีปัญญาขึ้นมาแล้วปลงได้ ในขณะนั้นจิตจะเย็นลงทันที จะสงบตัวลง จะนิ่ง จากความวุ่นวายสับสนอลหม่าน  หาที่ยึดหาที่เกาะไม่ได้  ว่าจะทำอย่างไรกับความตายที่กำลังมารออยู่  พอทำความเข้าใจว่าเป็นธรรมดาของร่างกาย  ที่จะต้องแตกจะต้องดับไป เป็นเรื่องปกติ  ยอมรับความจริงนี้ แล้วก็ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง ไม่ฝืนไม่วุ่นวายกับการไปหาหยูกหายาหาหมอมาแก้  ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติเท่านั้นแหละ  ถ้าปล่อยได้จริงๆแล้ว จิตจะดิ่งลงสู่ความสงบ  แล้วจะรู้สึกสบาย เหมือนกับยกภูเขาออกจากอก  เมื่อสักครู่นี้ความอยากจะอยู่  ทำให้ทุกข์ทรมานแทบเป็นแทบตาย  พอตัดความอยากอยู่ได้เท่านั้นเอง  ยอมตายเท่านั้นเอง  จิตก็ปล่อย พอปล่อยแล้วมันก็สงบ ก็เหมือนกับเวลาเรานั่งสมาธิ ตอนต้นก็ไม่สงบ  เพราะจิตยังยึดยังติดอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กับเรื่องราวต่างๆ เวลานั่งพุทโธๆๆไป ก็จะแวบไปหาเรื่องนั้นหาเรื่องนี้ นั่นแสดงว่ามันยังไม่ปล่อย 

 

แต่ถ้ามีสติควบคุมบังคับให้อยู่กับพุทโธๆๆไปได้อย่างต่อเนื่อง  จนไม่มีโอกาสที่จะไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆได้  มันก็ต้องปล่อยชั่วคราว  ไม่ได้ปล่อยด้วยปัญญา  แต่ปล่อยด้วยกำลังของพุทธานุสติ  การบริกรรมพุทโธๆๆอย่างต่อเนื่อง  เป็นอุบายของสมาธิ ที่จะดึงจิตดึงใจให้ออกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ออกจากเรื่องราวต่างๆ  ถ้าแรงที่จะดึงเข้ามีมากกว่าแรงที่จะดึงออกไป  ก็จะทำให้จิตสงบ จิตจะรวมตัวลง ขณะนั้นมันก็สงบนิ่งเย็นสบาย  แต่จะสงบได้ไม่นาน อาจจะนานสำหรับบางคน  อาจจะไม่นานสำหรับบางคน  แล้วก็จะออกมา พอออกมาก็เหมือนกับออกจากห้องแอร์ที่เย็นเฉียบไปสัมผัสกับความร้อนที่อยู่ข้างนอก  เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า  จิตใจดวงนี้สามารถพลิกจากร้อนมาเย็นได้  จากเย็นไปร้อนได้ อยู่ที่เราจะควบคุมบังคับให้อยู่ส่วนไหนเท่านั้นเอง  เมื่อเรารู้แล้วว่าวิธีการที่จะทำให้จิตของเราสงบ  ก็คือการทำสมาธิ  การปลีกวิเวก  การหาที่สงบที่สงัด การหนีจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ เราก็ต้องมีความบากบั่น มีความอุตสาหะ มีความขวนขวาย มีความพากเพียรที่จะแสวงหาความสุขอย่างนี้  ถ้าลองได้สัมผัสเพียงครั้งเดียวแล้ว เราจะมีกำลังจิตกำลังใจ  เรารู้แล้วว่าผลที่เราจะได้รับจากการเสียสละนั้น  มันคุ้มค่ากัน  เหมือนกับคนที่ซื้อลอตเตอรี่  แม้จะไม่เคยถูกเลย แต่ก็ยังซื้ออยู่เรื่อยๆ  เพราะรู้ว่าถ้าถูกขึ้นมาสักครั้งหนึ่งมันคุ้มค่า เสียแค่ ๕๐ บาท ๑๐๐ บาท ได้มาเป็นล้านอย่างนี้ ทำไมจะไม่คุ้มค่า ฉันใดพวกเราก็เหมือนกัน เราเพียงเสียสละด้วยการไม่ได้ไปเที่ยว  ไม่ได้ไปดูหนังฟังเพลง  ไม่ได้ไปงานปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง  แต่ไปอยู่วัดสัก ๒ - ๓ วัน แล้วทำจิตใจให้สงบได้  ทำไมจะไม่คุ้มค่า

 

ถ้าสงบได้จริงๆแล้วรับรองได้ว่าจะไปวัดอยู่เรื่อยๆ จะไปปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยๆ ที่ไปแล้วไม่ได้ผล จึงไม่ค่อยอยากจะกลับไป  ไปแล้วทรมาน เพราะต้องฝืนจิตฝืนใจมาก  ฝืนกิเลสที่ชอบดูหนังฟังเพลง  ชอบกินอาหารอย่างโน้นอย่างนี้  ชอบนอนที่สุขที่สบาย  จึงเป็นการทรมานจิตใจ  แต่ถ้าทำจนได้ผลแล้ว เรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยไป เพราะว่าผลที่ได้รับจากการทำจิตใจให้สงบนี้  มันเหนือสิ่งอื่นๆ  เหนือความสุขอื่นๆที่เราได้สัมผัสมา  ความสุขที่ได้ไปเที่ยว ไปดูหนังฟังเพลง ไปรับประทานอาหาร  ไปดื่ม  เมื่อเทียบกับความสุขที่ได้จากความสงบของจิตใจแล้ว  มันห่างกันเหมือนฟ้ากับดิน  ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ความทุกข์ทรมาน  ความลำบาก อดทนอดกลั้นต่างๆ  จะไม่เป็นเรื่องใหญ่โตเลย  มันคุ้มค่า ก็เหมือนกับคนที่ซื้อลอตเตอรี่อยู่ทุกงวด ซื้อมากี่ปีไม่เคยถูกก็ยังมีกำลังจิตกำลังใจที่จะซื้อต่อไป

 

ฉันใดการปฏิบัติธรรมก็ควรจะเป็นอย่างนั้น  ขอให้มองว่ามันก็เหมือนกับการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑  เพียงแต่ยังไม่ถูก  แต่เราก็ไม่ท้อแท้ ยังมีกำลังจิตกำลังใจที่จะบากบั่นไปปฏิบัติ  ถ้าไม่ได้ไปที่วัดก็ปฏิบัติที่บ้านไปก่อนก็ยังดี  อย่าไปรอโอกาสรอจังหวะ  เพราะมันอาจจะไม่มี  ชีวิตของเรามีเรื่องวุ่นวายมาก มีธุระภารกิจต่างๆมาก  ถ้าเราไม่ให้เวลากับการปฏิบัติธรรม เราก็จะไม่มีเวลาปฏิบัติ  แต่ถ้าเรามองมันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด  เป็นสรณะเป็นที่พึ่งของเรา เป็นเพื่อนในยามยากจริงๆ  เวลาที่เราตกทุกข์ได้ยากเปล่าเปลี่ยวใจ เราก็จะมีเวลาให้กับการปฏิบัติธรรม  ถ้ามีธรรมะแล้วจะไม่มีความรู้สึกว้าเหว่  ไม่รู้สึกว่าไม่มีเพื่อนไม่มีสรณะ  เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเวลาตายไม่เคยคิดถึงใคร ไม่เคยคิดว่าทำไมคนนั้นไม่มาเยี่ยมเรา  คนนี้ไม่มาหาเรา ไม่เคยคิด  เพราะมีที่พึ่งอยู่ภายในใจแล้ว คือความสงบ  พอสงบแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรทั้งสิ้น  มันนิ่งอยู่จะไปคิดอะไรได้  ที่คิดก็เพราะมันไม่สงบ  ยิ่งคิดก็ยิ่งฟุ้งซ่านใหญ่  ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งวุ่นวายใจไปใหญ่  ยิ่งทำให้อาการเจ็บไข้ได้ป่วยทรุดลงไปใหญ่  แต่ถ้าจิตสงบแล้วปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อน  บางทีมันก็หายของมันเอง  โรคบางอย่างเกิดจากการที่ไม่ได้รับการพักผ่อนพอเพียงเท่านั้นเอง  ถ้าได้รับการพักผ่อนพอเพียงแล้ว  ถึงเวลามันก็ฟื้นขึ้นมาได้ 

 

นี่ก็คือเรื่องของธรรมโอสถ  สรณะที่พึ่งที่เราควรให้ความสนใจ  รีบขวนขวายสร้างขึ้นมา  เหมือนกับมียาเตรียมไว้ในบ้าน  เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้หยิบมารักษาได้ทันท่วงที   ไม่ใช่เวลาสบายก็ไม่สนใจที่จะหาหยูกหายามาเตรียมไว้  พอเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ไม่มียามารักษา  ฉันใดธรรมโอสถก็เป็นเหมือนยารักษาใจ  ถ้ามีแล้วจะมียาคอยดูแลรักษาโรคใจโรคจิตของเรา ไม่ให้กำเริบ  ไม่ให้สร้างความทุกข์ให้กับเรา  ถ้าใจไม่มีความทุกข์แล้ว ก็จะไม่มีอะไรเป็นปัญหากับเรา  อะไรในโลกนี้จะเป็นอย่างไร  ก็เป็นไปตามเรื่องของมัน  โลกนี้ก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ดั้งเดิม  และก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปในอนาคต มีการเกิด มีการดับไปเป็นธรรมดา โลกนี้ก็ไม่ได้อยู่อย่างนี้ไปตลอด  สักวันหนึ่งก็คงจะระเบิดเป็นเสี่ยงๆไป  แล้วก็มีโลกใหม่ปรากฏขึ้นมาแทน  ดวงจิตนี้สามารถไปได้ทุกแห่งทุกหนในจักรวาล  กระแสจิตนี้ไปเร็วยิ่งกว่าจรวดอีก  เวลาจะไปเกิดที่ภพไหนภูมิไหนโลกไหน ก็ไปได้ทันที  จึงไม่ต้องไปกังวล

 

เรื่องโลกภายนอกนั้นมันไม่มีอะไรที่เราควรไปยินดี  ควรมองว่ามันเป็นเหมือนกองไฟมากกว่า  เราอย่าเป็นแบบแมลงเม่า  เห็นกองไฟแล้วเกิดอาการดีอกดีใจ  แมลงเม่านี่มันชอบแสงไฟ แต่มันไม่รู้ว่าไฟนี้มีความร้อนอยู่ด้วย   พอเห็นแสงไฟมันก็บินเข้าไปหา  มันก็ถูกความร้อนเผาผลาญไป ฉันใดจิตของพวกเราที่ยังมีความอยากอยู่ก็เป็นเหมือนแมลงเม่า  มันอยากในกาม ที่ไหนมีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ มันก็จะวิ่งเข้าหา แต่มันไม่เคยเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่ซ่อนอยู่ ก็เลยต้องไปทุกข์กับสิ่งต่างๆเหล่านั้น  เกิดมากี่ภพกี่ชาติก็จะต้องทุกข์กัน แบบที่เราทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้  จะทุกข์มากทุกข์น้อยก็ขึ้นอยู่กับธรรมะที่มีอยู่ในใจของเรา  ถ้ามีธรรมะมากทุกข์ก็น้อย ถ้ามีธรรมะน้อยทุกข์ก็มาก  จึงควรสร้างธรรมะให้มากด้วยการเข้าหาพระศาสนา  หาครูบาอาจารย์ หาหนังสือธรรมะอ่านกัน  ศึกษาไปเรื่อยๆ แล้วพยายามนำเอาไปปฏิบัติ  ต้องฝืนต้องบังคับ  จะให้ปฏิบัติด้วยความพออกพอใจ เหมือนกับการไปดูหนังฟังเพลงนั้น เป็นไปไม่ได้  เพราะมันตรงกันข้าม 

 

เหมือนกับคนที่ถนัดมือขวา  แล้วอยู่ๆจะให้มาใช้มือซ้ายด้วยความพอใจนั้นเป็นไปไม่ได้  ต้องบังคับใช้มือซ้าย เช่นสมมุติว่าแขนขวาเราขาดไปใช้งานไม่ได้  เราก็ต้องใช้มือซ้ายแทน เราก็ใช้มันได้ เราฝืนบังคับใช้มันไป หัดใช้ไปสักระยะ ต่อไปเราก็ใช้มันได้  ฉันใดการที่เราจะหาความสุขจากความสงบมันก็เป็นการฝืน  เพราะส่วนใหญ่เราจะหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะกัน  เวลาไปดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยวกันนี้ แทบไม่ต้องชวนกันเลย  เพียงแต่นัดกันเท่านั้นเองให้รู้เวลาก็ไปแล้ว แต่เรื่องไปปฏิบัติธรรมกันนี้ อาจจะต้องนัดกันเป็นเวลาหลายเดือน นัดกันหลายครั้งหลายหนกว่าจะไปกันได้  เราจึงต้องกำหนดเวลาขึ้นมาในเรื่องของการศึกษาปฏิบัติธรรม  ถ้าจะปล่อยให้เป็นไปตามอัธยาศัย  ตามความพอใจแล้ว ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น  เกิดขึ้นก็ตามนิสัยเดิมที่มีอยู่  ถ้าเคยสะสมมาทางนี้มากหน่อย  ก็อาจจะปฏิบัติ ศึกษามากหน่อย  เข้าหาธรรมะมากหน่อย  แต่ถ้าไม่เคยมีนิสัยมาทางนี้เลยก็ยาก ต้องอาศัยเพื่อนฝูงพาไปบ้าง  เพียรไปเองบ้าง  อาศัยการบังคับจิตใจ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี  เหมือนกับคนเจ็บไข้ได้ป่วยที่อยากจะหายจากโรค  แต่ไม่ชอบกินยา ก็ต้องบังคับตัวเองให้กินยา ถ้าไม่บังคับไม่กินยา ก็จะไม่หาย

 

ฉันใดธรรมะก็เป็นเหมือนยา  ถ้าอยากจะให้จิตใจมีความมั่นคง  มีความสบาย มีความสุข  ก็ต้องกินยาคือธรรมโอสถนี้  ต้องบังคับ  พยายามดึงตัวเราให้เข้าหาศาสนาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ส่วนงานทางโลก เรื่องเที่ยว เรื่องกิน เรื่องดื่ม ก็พยายามตัดมันไป ให้น้อยลงไปๆ ทำเท่าที่จำเป็น  อันไหนที่ไม่จำเป็นก็ตัดไป  แลกเปลี่ยนกัน แทนที่จะไปดูหนังฟังเพลงก็ไปฟังธรรมะ ไปดูหนังสือธรรมะ  ไปนั่งสมาธิ ที่ไหนก็ได้  ในบ้านเราก็ได้ ที่ไหนสะดวกที่เราทำได้ ก็ทำไป  พยายามทำไปเรื่อยๆแล้วจะง่ายขึ้นไปเอง  ยิ่งทำมากเท่าไรก็จะยิ่งง่ายขึ้นไปเรื่อยๆ จนต่อไปจะกลายเป็นความสบาย  เป็นความถนัดไป วันไหนถ้าไม่ได้ทำแล้วรู้สึกว่าขาดอะไรไป  ถ้าเข้าถึงขั้นนั้นแล้ว การปฏิบัติของเราก็จะเป็นไปอย่างง่ายดาย  ถ้ายังอยู่ในขั้นที่ต้องต่อสู้  ต้องพยายามฝืน พยายามอดทน พยายามบังคับไปเรื่อยๆ อย่าท้อแท้ ไม่มีอะไรในโลกนี้จะสำคัญเท่ากับงานสร้างธรรมะ ให้เกิดขึ้นภายในจิตในใจของเรา  เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา  เป็นที่พึ่งที่แท้จริงของเรา สิ่งอื่นๆในโลกนี้ไม่ใช่สมบัติ ไม่ใช่ที่พึ่งของเรา  ต่อให้มีมากน้อยพียงไร ถึงเวลาที่ใจเราทุกข์แล้ว สิ่งเหล่านี้มาดับทุกข์ให้กับเราไม่ได้   จึงอยากให้ท่านทั้งหลายจงเห็นความสำคัญของธรรมะ  แล้วก็พยายามศึกษาและปฏิบัติเท่าที่จะทำได้ การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ต้องขอยุติไว้เพียงเท่านี้

 

 

พูดต่อ

 

        พวกเราชอบไปหาเรื่องมาเป็นภาระกัน  สิ่งที่จะต้องทำกลับไม่ค่อยทำกัน เพราะความเกียจคร้าน  ชอบความสบาย ก็เลยทุกข์  ตัวเองเลยพึ่งตัวเองไม่ได้ มัวแต่พึ่งสิ่งนั้นพึ่งสิ่งนี้   เวลานั่งสมาธิก็ต้องมีที่นั่งเป็นเบาะนั่งนิ่มๆ  เวลาไปนั่งที่ไหนไม่มีเบาะนั่ง ก็นั่งไม่ได้   ต้องพยายามนั่งแบบไม่ต้องใช้เบาะ อยู่ที่ไหนก็นั่งได้  นั่งกับพื้นก็ได้  ยิ่งมีอะไรมากมันยิ่งเรื่องมาก  ทำให้การปฏิบัติมีเงื่อนไขมาก  ทำให้ยากขึ้น แทนที่จะทำให้มันง่าย กลับเป็นเรื่องยากไป

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะแล้วนั่งพิงเสาล่ะคะ

 

ตอบ  จะทำให้เราหลับ เพราะว่าสบายแล้วจะไม่มีสติ

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ  บางครั้งที่เรานั่งสมาธิ บางครั้งก็สงบ บางครั้งก็ไม่ค่อยสงบ  ก็มานั่งคิดว่า  คราวที่แล้วที่มันสงบนี่ทำอย่างไรหนอถึงสงบแบบนั้น  ก็นึกไม่ออก ทำอย่างไรถึงจะสงบได้อีก

 

ตอบ  ท่านก็สอนว่า  เวลาสงบแล้วออกจากสมาธิ   เวลาที่เลิกนั่งเราควรทบทวนว่า วันนี้เรานั่งอย่างไรจึงสงบ  พยายามจำไว้  แต่ถ้าจำไม่ได้ก็ต้องมาทบทวนใหม่  มานั่งคิดใหม่  แต่ความจริงก็อยู่ที่ใจเราเป็นหลัก ว่าอย่าไปหวังผลจากการนั่ง  อย่าไปคาดว่าวันนี้จะนั่งให้สงบให้ได้  เป็นการสร้างความกดดันให้กับเรา  เราก็จะคอยนั่งคิดว่าเมื่อไรจะสงบสักที  เมื่อไรจะสงบสักที  นี่ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้สงบ จิตสงบได้ก็ต่อเมื่อลืมเรื่องราวต่างๆทั้งหมด ให้อยู่กับปัจจุบัน  ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก หรืออยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆๆอย่างเดียวเท่านั้นถึงจะสงบได้   สงบยากหรือไม่ยากบางทีก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในวันนั้นด้วย  บางทีวันนั้นเราไปมีเรื่องมีราวกับคนนั้นคนนี้   มีอารมณ์ค้างๆอยู่เยอะ  ก็จะเคลียร์ยากหน่อย  ทำให้สงบยากหน่อย 

 

แต่อีกวันหนึ่งไม่มีเรื่องไม่มีราวอะไรเลย  ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการ ไม่มีอารมณ์กับอะไร  เวลามานั่งแล้วใจไม่ไปยึดไปติดไปคิดเรื่องราวต่างๆที่ผ่านไปแล้ว  และก็ไม่ได้ไปหวังว่าจะต้องสงบ  เพียงแต่ทำใจให้อยู่กับพุทโธๆๆไปเท่านั้น  ก็จะสงบได้ง่าย  หลักอยู่ที่สติกับพุทโธหรือสติกับลมหายใจ  จึงเรียกว่าอานาปานสติ มีสติรู้อยู่กับลมเข้าลมออก หรือพุทธานุสติ  มีสติรู้อยู่กับพุทโธ  นี่คือหลักของการทำจิตให้สงบ  ให้อยู่ในปัจจุบัน  ให้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่  จะเป็นการบริกรรมก็บริกรรมไป  จะเป็นการสวดมนต์ก็สวดไป  แต่อย่าไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆที่ผ่านไปแล้ว  หรือคาดคะเนถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการสวดมนต์  หรือจากการบริกรรมพุทโธ  ว่าวันนี้บริกรรมดีเดี๋ยวจะต้องสงบแน่ๆ  แบบนี้ก็คิดไม่ได้  ไม่ต้องคิดทั้งสิ้น วันนี้จะต้องเป็นเหมือนเมื่อวันก่อนแน่นอน  ถ้าคิดอย่างนี้มันไม่สงบ แล้วจะเริ่มเกิดความกังวล เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา  ก็จะกลายเป็นนิวรณ์ขึ้นมา

 

อย่าไปคิดถึงอดีต  อย่าไปคาดอนาคต  ให้อยู่ในปัจจุบัน  ให้มีสติรู้อยู่กับงานที่เรากำหนดให้จิตทำอยู่  ถ้าพุทโธก็พุทโธอย่างเดียว  อย่าไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ  ถ้าจะกำหนดดูลมหายใจเข้าออกโดยไม่ใช้การบริกรรม  ก็ให้ดูแต่ลมอย่างเดียว  ลมหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้  ถ้าสังเกตดูว่าลมสัมผัสตรงไหนเด่นชัด ก็ให้เกาะอยู่ตรงจุดนั้นก็ได้ เช่นแถวปลายจมูก หรือบริเวณเหนือริมฝีปากขึ้นมา  ลมจะสัมผัสตรงนั้นเวลาเข้าเวลาออก  ไม่ต้องตามลมเข้าไป ไม่ต้องตามลมออกมา  ให้อยู่ที่จุดนั้นจุดเดียว อันนี้แล้วแต่ความถนัด  บางคนก็ไม่ถนัดลมแต่ถนัดพุทโธ บางคนก็ถนัดทั้ง ๒ อย่าง หายใจเข้าก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธ หรือหายใจเข้าก็ว่าพุทโธ หายใจออกก็ว่าพุทโธ แล้วแต่จริต  จะไปทำเหมือนคนอื่นไม่ได้  แต่ละคนมีความแตกต่างกัน 

 

พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดกรรมฐานไว้ถึง ๔๐ ชนิดด้วยกัน  ไม่ได้มีแต่พุทโธอย่างเดียว หรืออานาปานสติอย่างเดียว จะกำหนดดูโครงกระดูกก็ได้  หลับตาแล้วนึกเพ่งให้เห็นโครงกระดูกขึ้นมา  แล้วก็เกาะติดอยู่กับโครงกระดูก  หรือจะพิจารณาความตายก็ได้  พิจารณาดูซากศพของคนนั้นคนนี้ไว้เป็นอารมณ์  แล้วแต่จะถนัด  หรือจะกำหนดเพ่งดูสีต่างๆก็ได้  เช่นหลับตาแล้วกำหนดให้เห็นสีแดงปรากฏอยู่ในจอภาพของใจเรา  รักษาสีแดงให้ปรากฏอยู่เรื่อยๆ  ก็แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละคนที่เคยฝึกมาในอดีต  เมื่อมาเกิดในชาตินี้ก็มาทำต่อ  ถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อนเลย  แต่ชอบอย่างใดอย่างหนึ่งก็ทำไป  เพราะจริตก็มีอยู่ถึง ๖ ชนิดด้วยกัน  คือ ๑. สัทธาจริต  ๒.โทสจริต ๓. โมหจริต  ๔. ราคจริต  ๕. พุทธิจริต  ๖. วิตกจริต  พุทธิจริตหมายถึงพวกปัญญา  ชอบพิจารณาความตาย  พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย  หรืออาการใดอาการหนึ่งของร่างกาย  พวกโมหจริตชอบอานาปานสติ  พวกสัทธาจริตชอบพุทธานุสติ  เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ชอบการเจริญพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ พวกโทสจริตควรจะเจริญเมตตา เพื่อระงับดับความโกรธ 

 

ถาม  ท่านคะ สมมุติว่าปกติดูลมแล้วบางวันมีความรู้สึกว่ามันทำไม่ได้  เปลี่ยนมาภาวนาพุทโธได้ไหมคะ 

 

ตอบ  ได้ เพียงแต่อย่าไปเปลี่ยนบ่อยๆ  ลองวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วพยายามใช้วิธีนั้นให้มันชำนาญ  ดีกว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  จะไม่ได้อะไรสักอย่าง  ควรจะมีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลักของเรา  แต่เมื่อภาวนาไปแล้วพอก้าวสูงขึ้นไปแล้วก็จะเปลี่ยนไปเอง  ต่อไปไม่ต้องอาศัยลมก็ได้  เพียงแต่มีสติกำหนดให้จิตนิ่งก็นิ่งได้  เวลาอยู่ในขั้นปัญญาก็ต้องพิจารณา  พอต้องการจะพัก  ก็ต้องย้อนกลับมาทำจิตให้สงบ  เราก็กลับมาที่กรรมฐานเดิมที่เราเคยใช้อยู่  กลับมาหาพุทโธ  กลับมาหาลมก็ได้  แต่ควรจะฝึกด้วยกรรมฐานใดกรรมฐานหนึ่ง  ที่คิดว่าเหมาะกับเรา  แล้วพยายามทำไปเรื่อยๆกับกรรมฐานนั้น  ดีกว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อยๆ  เดี๋ยวจะหาเหตุไม่เจอ ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน  ปัญหาอยู่ที่ตัวเรามากกว่า  เราไม่มีสตินั่นเอง

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะเวลา นั่งสมาธินี่เราดูลม  แต่เวลาเดินเราดูสัมผัสที่เท้าได้ไหมคะ

 

ตอบ  ได้ เวลาเดินดูลมจะไม่สะดวก  เพราะจิตจะหยาบกว่าเวลานั่ง ลมละเอียดกว่าก็จะจับไม่ได้  ก็ดูที่เท้า เวลาอาตมาเดินก็ดูที่เท้าเหมือนกัน  ซ้ายขวา ซ้ายขวา

 

ถาม  ไม่ต้องกำหนดพุทโธก็ได้ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ไม่ต้อง  ให้อยู่กับการก้าวย่าง หลักใหญ่ๆก็คือต้องการดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ  ถ้าดูเท้าซ้ายเท้าขวาแล้วยังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ก็ไม่ได้เหมือนกัน จะไม่ได้ผล  ถ้ากำหนดอยู่กับเท้าซ้ายเท้าขวาก็อยู่ไป หรือจะพิจารณาธรรมะก็ได้  พิจารณาดูอาการ ๓๒ ก็ได้ ดูขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น พิจารณาเข้าไปแล้วก็พิจารณาย้อนออกมา เบื้องต้นถ้ายังไม่รู้จักอาการต่างๆ ก็ท่องชื่อไปก่อนก็ได้  อาการ ๓๒ มีอะไรบ้าง ก็มีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน มีหนัง มีเนื้อ มีเอ็น มีกระดูก มีอวัยวะต่างๆท่องไปก่อน เมื่อจำได้แล้วเราก็กำหนดดูแต่ละอาการไป  ผมเป็นอย่างไร ขนเป็นอย่างไร เล็บเป็นอย่างไร ฟันเป็นอย่างไร หนังเป็นอย่างไร เรียกว่าท่องเที่ยวในกายนคร เป็นการทำจิตให้สงบ ให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง

 

แต่เรามักจะใจร้อนกัน ทำอะไรนิดอะไรหน่อย ก็อยากจะได้ผลทันที  เรื่องผลนี่เราอย่าไปกำหนด  กำหนดได้ที่เหตุ  คือการพิจารณา กำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือหลายๆอารมณ์ก็ได้ถ้าพิจารณากายเป็นอารมณ์ แต่อย่าไปหวังผลในขณะที่ทำ ปล่อยให้มันเป็นไปตามเหตุ มันจะมาให้มันมาเอง  ถ้ามัวแต่รอมันจะไม่มา  เพราะการรอเป็นการขวางผลที่จะเกิดขึ้น  อย่างที่หลวงตาท่านเทศน์เรื่องพระอานนท์  ที่พยายามจะบรรลุธรรมให้ได้  เพราะพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ว่าจะบรรลุก่อนที่จะถึงเช้าวันนั้น  เพราะว่าวันนั้นจะมีการประชุมสังคายนาของพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป  พระอานนท์จะเป็นองค์ที่ ๕๐๐ แต่ท่านยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย  ท่านก็มีความวิตกมีความกังวล แต่ก็มีความพยายามมาก  พยายามที่จะบรรลุให้ได้  เพราะเชื่อว่าคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าจะไม่ผิดพลาดแน่นอน 

 

แต่ตัวท่านเองก็ต้องทำหน้าที่ของท่าน  ต้องเร่งความเพียร  แต่อาจจะเร่งมากจนเกินไป  ถ้าเป็นรถเมล์ก็จอดเลยป้ายไป  ต้องย้อนกลับเข้ามา  เพราะจิตของพระอานนท์ไปอยู่ข้างหน้าแล้ว  ไปอยู่ที่การบรรลุเป็นพระอรหันต์  คิดว่าจะต้องบรรลุแน่ๆ  จะบรรลุเมื่อไรเท่านั้นเอง  คิดอยู่อย่างนั้นใจก็เลยไม่ได้ภาวนา  ไม่ได้ทำจิตให้เป็นปัจจุบัน ไปอยู่อนาคต ไปอยู่อดีต ไปอยู่ที่คำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้า  ไปอยู่ผลที่จะเกิดในภายภาคหน้า  ใจเลยไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน พอใกล้ถึงเวลาสว่างแล้วก็รู้สึกว่าคงจะไม่ได้บรรลุแน่ๆ  ก็เลยปลงตก ปล่อยอนาคตคือการบรรลุเป็นพระอรหันต์ไป ไม่เป็นก็ไม่เป็นแล้ว  พักดีกว่า  ขณะที่จะพักอยู่ในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอนจิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง เพราะจิตปล่อยอดีตปล่อยอนาคต กลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน  จิตกำลังรอช่องออกอยู่แล้ว  แต่ไม่มีช่องออก เพราะมัวไปอยู่ในช่องอนาคตช่องอดีต ไม่ได้อยู่ในช่องปัจจุบัน  เวลาภาวนาจึงต้องอยู่ที่ปัจจุบันเป็นหลัก  ให้มีสติอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันเป็นหลัก  พอคิดปั๊บก็เป็นอดีตเป็นอนาคตไปแล้ว ไม่เป็นปัจจุบัน  ยกเว้นถ้าเป็นการพิจารณาสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ผลก็ยังไม่เกิด จนกว่าจะได้ข้อสรุป รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรแล้วถึงจะเกิดผลขึ้นมา  รู้ว่าต้องปล่อย รู้ว่ากำลังยึดอยู่กับอะไร  ถ้าไม่ได้พิจารณาจะไม่รู้  พอรู้ว่ากำลังยึดอยู่กับอนาคตก็ปล่อยไปปั๊บ จิตก็กลับมาสู่ปัจจุบัน  การภาวนาเพื่อให้เกิดผลจิตต้องเป็นปัจจุบัน

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ หน้าร้อนมีปัญหาเรื่องเหงื่อออกมากเพราะอากาศมันร้อนใช่ไหมคะ พอเปิดแอร์ก็เย็นเกินไป  จะให้ทำอย่างไรดีคะ ท่านอาจารย์อยู่วัดไม่ต้องมีแอร์ ไม่ต้องมีอะไรก็ภาวนาได้

 

ตอบ  ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ  ถ้าร้อนก็ปล่อยให้ร้อนไป   ให้เหงื่อแตกพลั่ก  ให้เสื้อเปียกหมดทั้งตัวเลย ไม่เป็นไร เราไปรังเกียจมัน ก็เลยเป็นอุปสรรค ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

 

ถาม  รู้สึกว่ามันร้อน

 

ตอบ  ไม่ต้องไปสนใจ  มันก็เหมือนกับเวลานั่งไปแล้วเกิดทุกขเวทนา

 

ถาม  ลุกขึ้นไปเปิดแอร์ พอเปิดแอร์ ก็เย็น

 

ตอบ  ไม่ต้องไปเปิด พยายามให้เป็นธรรมชาติที่สุด  ยกเว้นว่าถ้าเปิดแอร์แล้วช่วยป้องกันเสียงไม่ให้เข้ามารบกวน   เปิดแล้วจะหนาวก็ช่างมัน ทนสู้กับมันไป   ก็ปรับได้นี่ ปรับให้อุณหภูมิสูงขึ้นได้ใช่ไหม  ถ้านั่งภาวนาไปนานๆแล้ว อากาศจะเย็นอย่างไร ร่างกายจะเริ่มร้อน จะรู้สึกอุ่นขึ้นมาเอง   ถ้ามีแอร์ก็ถือว่ามีบุญ   แต่ก็มีปัญหาได้เพราะจะติดแอร์  ไปนั่งที่อื่นไม่ได้   ควรให้เป็นธรรมชาติ ให้เรียบง่ายที่สุด  อย่าไปอาศัยสิ่งภายนอกมาเป็นเครื่องประกอบในการภาวนา นอกจากสถานที่ๆสงบสงัดวิเวก ที่เป็นธรรมชาติ

 

ถาม  เวลานั่งภาวนาอยู่นี้มีความรู้สึกว่า ปัจจุบัน อดีต อนาคตนี่แทบจะขึ้นมาขี่กันเลย  เหมือนลมหายใจออกไปแล้วเป็นอดีต  ตรงนี้มันลำบากมากเลย  ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร  แต่รู้สึกว่าเวลาที่ดูอยู่นี่มันเป็น ๓ ตัวซ้อน

 

ตอบ   ก็ดูตัวเดียวก็แล้วกัน

 

ถาม  ท่านจะให้ดูตัวไหน

 

ตอบ ถ้าดูลม ก็ดูที่จุดมันเข้ามันออก  ดูที่ลมมาสัมผัส อยู่ที่ตรงจุดนั้น  มันเข้าไปก็เป็นอดีต  ออกมาก็เป็นอดีต   แต่เราอยู่ในปัจจุบัน  อยู่ตรงจุดที่มันสัมผัส  แต่อดีตปัจจุบันมันจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร ถ้ามันซ้อนกันอยู่ก็รู้  รู้ก็ได้ตราบใดถ้าเราไม่คิดปรุงกับมันก็ไม่เป็นไร  เพราะบางทีมันก็เกี่ยวเนื่องกัน 

 

ถาม  มันเหมือนจะรู้สึกว่า  ในขณะที่มันต่อกันนี่ มันจะมีช่องว่างที่มันจะหลุดออกไป   เท่าที่สังเกตดูมันเหมือนมีช่องว่างอยู่นิดหนึ่งค่ะ

 

ตอบ  คงไม่เป็นไร  ก็ให้มันอยู่ตรงนั้นก็แล้วกัน  ให้มันอยู่จุดเดียว   ถ้าตราบใดไม่มีการปรุงแต่งก็ไม่เป็นไร  ให้รู้อยู่ว่ามันเป็นอย่างนี้  มีการไหลของอนาคตสู่ปัจจุบันสู่อดีต  ก็อยู่ตรงนั้นก็ได้

 

ถาม  ท่านอาจารย์ครับ  นั่งแล้วสักพักหนึ่งเกิดอาการทางกายคือตัวจะแกว่งครับ

 

ตอบ  เป็นอุปาทานมากกว่า  เพราะความจริงแล้วมันไม่ได้แกว่ง   แสดงว่าเราห่างจากคำบริกรรม  หรือห่างจากกรรมฐานที่เราใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ  ถ้าอยู่กับกรรมฐานแล้ว เราจะไม่สนใจกับการแกว่งของร่างกาย   พอไปสนใจปั๊บ แสดงว่าแวบออกไปแล้ว   ไม่ได้อยู่กับพุทโธแล้ว   ไม่ได้อยู่กับลมแล้ว   ไปอยู่กับการแกว่ง  ให้ย้อนกลับมา  ไม่เอาอาการแกว่งเป็นที่ตั้งของสติ   เอาลมเป็นที่ตั้งของสติ  กลับมาหาลม   ถ้าใช้พุทโธก็กลับมาหาพุทโธ   ถ้าสวดมนต์ก็กลับมาหาบทสวดมนต์  อย่าไปหาเรื่องอื่น เพราะจะมีเรื่องอื่นมาคอยหลอกล่อให้ไปสนใจอยู่เรื่อย   บางทีนั่งไปได้ยินเสียงใครเขาไอเพียงครั้งเดียว  ใจก็คิดถึงเรื่องไอ เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย  เรื่องหยูกเรื่องยา เรื่องหมอเรื่องอะไร ตามไปได้ยาวเหยียดเลย   ถ้าไม่สนใจเดี๋ยวก็หายไปเอง

 

ถาม  ระหว่างวันนี่เราตามดูอารมณ์ ความรู้สึกที่มากระทบ แวบๆ  แต่บางทีเวลาเราคิดอะไรเผลอไปนี่ รู้สึกว่าเราดูอารมณ์มากกว่าตามความคิดนะคะ

 

ตอบ  ดูอารมณ์ความรู้สึกที่สุขบ้างทุกข์บ้างก็ได้

 

ถาม  เวลาคิดคอยจะเผลอไปคิดเรื่องต่างๆ 

 

ตอบ วิธีแก้ก็คือใช้บริกรรมพุทโธ อย่าไปดู   ถ้าเราพุทโธแล้วจะคิดไม่ได้   จิตในแต่ละขณะนี่จะคิดได้เรื่องเดียว   ถ้าเราพุทโธอยู่จะไปคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ไม่ได้   เพียงแต่ว่าขณะหนึ่งมันสั้น แล้วมันเร็วมาก  เวลาพุทโธปั๊บอีกขณะหนึ่งมันก็แวบไปได้    ฉะนั้นบางทีเราต้องบริกรรมถี่ๆ ต้องเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังพุทโธอยู่หรือเปล่า

 

ถาม  ใช้ลมไม่ได้ใช่ไหมคะ ต้องใช้พุทโธอย่างเดียวหรือคะ

 

ตอบ  เมื่อจิตเริ่มคิดแล้ว ดูลมอาจจะไม่พอ

 

ถาม  ถ้าอย่างนี้ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นภาวนาพุทโธ

 

ตอบ  ก็ได้ก็ลองดูก็แล้วกัน  ดูว่าอะไรมันได้ผล

 

ถาม  ท่านอาจารย์อย่างนี้ได้ไหมครับ  เรานั่งสมาธินี่เราเอาลมอย่างเดียว  ไม่เอาพุทโธ  

 

ตอบ  ได้

 

ถาม  ถ้าเราเดินเราเคลื่อนไหว   เราเอาพุทโธ

 

ตอบ  ได้

 

ถาม  หรือเดินจงกรมเอาเท้าอย่างเดียว

 

ตอบ  ได้

 

ถาม  เอาแค่ ๓ อย่างนี้

 

ตอบ  ก็ลองดูก็แล้วกัน  ในแต่ละอิริยาบถว่าอันไหนได้ประโยชน์   เป้าหมายก็คือไม่ต้องการให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆเป็นหลัก   ให้จิตรู้อยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน   แต่บางทีความคิดของเรามันละเอียด  เราไม่รู้ว่ากำลังคิดอยู่   เรามองไม่เห็น   แต่ก็ไม่เป็นไร ให้รู้อยู่กับสิ่งที่เราเห็น   ส่วนใหญ่ก็คือร่างกาย  ก็ให้รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวไปมา    อย่าเดินไปแล้วก็คิดถึงงานที่ทำมาเมื่อวานนี้ หรืองานที่จะต้องไปทำในวันพรุ่งนี้อย่างนี้เป็นต้น   ให้รู้ว่าเราอยู่กับซ้ายขวาหรือเปล่าเท่านั้นเอง   มันอยู่อย่างนั้นหรือเปล่า   แต่ถ้าซ้ายขวาๆแล้วมันก็ยังคิด ก็ใช้บริกรรมพุทโธเข้าไปเสริมก็ได้   เพราะพุทโธจะสกัดได้    รู้สึกว่าหลวงตาท่านจะเน้นเรื่องพุทโธนี้มาก   เพราะท่านเคยใช้พุทโธทำจิตของท่านให้สงบ  ในช่วงที่จิตของท่านเคยเสื่อมไป ตอนที่ท่านไปทำกลดอยู่เดือนสองเดือน  แล้วจิตมันไม่สงบ  พยายามนั่งอย่างไรก็ไม่สงบ  

 

ตอนหลังท่านก็จับได้ว่าต้องมีพุทโธ   ท่านก็เลยพุทโธในอิริยาบถ ๔  ไม่ว่าจะทำอะไรก็พุทโธ   ไม่ให้ไปคิดอะไร  เพราะตอนนั้นท่านก็อยู่คนเดียว  ไม่มีภารกิจที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับใครที่ไหน   ก็คิดแต่พุทโธๆๆอย่างเดียว ไปกับภารกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบัน   เช่นเดินบิณฑบาตไปใจก็พุทโธไป   ไม่ใช่บิณฑบาตไปแล้วก็คิดถึงเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้   เวลาปัดกวาดก็พุทโธอยู่กับการปัดกวาด   เวลาฉันก็พุทโธไป   จิตก็จะถูกตะล่อมเข้ามา   พอมานั่งสมาธิก็พุทโธๆๆต่อ  เดี๋ยวมันก็สงบลง   แต่ถ้ากำหนดสติแล้วดูตามมันก็จะตามมันไปเรื่อยๆ  มีบางที่สอนให้มีสติดูความคิด  ดูตามความคิด มันก็คิดไปเรื่อยๆ   แล้วก็ตามไปเรื่อยๆ   มันก็เหมือนกับวิ่งจับลิง   มันก็ไม่หยุดสักที   จะหยุดต้องสกัดมันไม่ให้มีที่วิ่ง  คือเอาพุทโธมาขวางข้างหน้า  ขวางข้างหลัง  ขวางข้างๆ  ข้างซ้ายข้างขวา  มันไปไหนไม่ได้มันก็หยุด  

 

ถาม  ถ้าคิดไปในวงธรรมะล่ะคะ

 

ตอบ  ได้   ให้เป็นปัญญาก็ได้  เป็นปัญญาอบรมสมาธิ  มันจะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้  ก็พิจารณาว่าเดี๋ยวก็แก่ตายแล้ว จะไปทำอะไรผมเผ้า  ไปกังวลทำไมว่ารูปร่างจะไม่สวย  หน้าตาจะไม่งาม   เวลานอนในโลงก็ไม่มีใครมาถ่ายรูปหรอก  คิดอย่างนี้ก็ตัดได้  ไม่กังวล

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะมีบางคนเขานั่งสมาธิได้นานมาก ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง  เรานั่งไม่ได้อย่างเขา  ได้อย่างมากแค่ครึ่งชั่วโมง  เรามีความรู้สึกว่าทำไมคนอื่นเขานั่งได้นานๆ  เขาสอบได้เกรด ๔ เราได้แค่เกรด ๑ เกรด ๒

 

ตอบ  ไม่จำเป็นหรอก   จริตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

 

ถาม  จำเป็นไหมต้องนั่งให้ได้นานๆ

 

ตอบ  ไม่จำเป็นหรอก คนเรามี ๒ จริต คือปัญญาวิมุตติกับเจโตวิมุตติ   พวกเจโตวิมุตติได้ฌานก่อน อย่างพระโมคคัลลานะ   พวกปัญญาวิมุตติเหมือนพระสารีบุตร   ใช้การพิจารณาทำให้จิตสงบและให้เกิดปัญญาไปพร้อมๆกันเลย  ด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์

 

ถาม  จำนวนชั่วโมงนี่ไม่สำคัญ

 

ตอบ  คือสมาธิมี ๒ แบบ เวลาเข้าฌานแล้วนั่งเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน ก็เป็นแบบหนึ่ง ก็ได้แค่ความสงบ   อีกแบบหนึ่งคือจิตสงบจนเป็นฐานของปัญญา แต่ไม่ได้อยู่ในฌาน  ถึงแม้จะไม่ได้นั่งหลับตา แต่ใจไม่วุ่นวาย   ใจเย็นสบาย  มีเหตุมีผล ก็พิจารณาไปทางปัญญาได้เลย   แบบนี้จะก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ  เพราะอยู่ในขั้นวิปัสสนา  ส่วนพวกที่ติดฌานก็ไม่ออกทางปัญญา   เวลานั่งสมาธิเขาก็เข้าไปหลายๆชั่วโมง   พอออกมาก็ไม่ได้ไปทางปัญญา   เพราะพอใจกับความสงบนั้น  พอต้องการความสงบอีกก็กลับไปนั่งอีก   เรียกว่าติดสมาธิ   เวลาปฏิบัติจะติดไปเป็นขั้นๆ    พอได้สมาธิแล้วก็จะติดในสมาธิ  เพราะมีความสงบ   มีความสุข  ไม่ค่อยอยากจะพิจารณาทางด้านปัญญา   เพราะเวลาพิจารณาจิตต้องทำงาน  ต้องเอาจิตมาคิดในไตรลักษณ์  พิจารณาดูร่างกาย   แยกแยะดูอาการ ๓๒  ให้เห็นว่าเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ  เหมือนกับเรียนวิทยาศาสตร์ 

 

ต้องแยกแยะให้เห็นว่าเป็นน้ำ  เป็นไฟ  เป็นลม เป็นดิน   ถ้าพิจารณาเป็นก็จะเห็นได้   เวลาคนตายน้ำก็จะไหลออกมา  น้ำหนองน้ำเลือด  ความร้อนก็หายไป  คนตายกับคนเป็นมีความแตกต่างกัน  จับตัวดูก็รู้   คนตายนี้เย็นเฉียบ  คนที่ยังไม่ตายร่างกายยังอุ่นอยู่   แสดงว่ายังมีธาตุไฟอยู่   แต่คนตายนี่ไฟมันหมดแล้ว  ถ้าปล่อยทิ้งไว้น้ำก็จะไหลออกมา  ลมก็ไม่เข้ามาแล้ว   คนเป็นยังหายใจเข้าหายใจออกอยู่ตลอดเวลา  ก็เหลือแต่ธาตุดิน  ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆเข้ามันก็เปื่อยมันก็ผุ  มันก็แห้งกรอบกลายเป็นฝุ่น  กลายเป็นดินไปในที่สุด ก็เห็นชัดๆอยู่ถ้าพิจารณา  อย่างนี้เรียกว่าปัญญา  

 

พิจารณาอย่างนี้จนเห็นชัดแล้ว ก็จะคลายความหลงในร่างกาย  ว่าเป็นเราเป็นตัวเรา   แท้จริงมันก็เป็นแค่ดิน น้ำ ลม ไฟ   เวลาเข้ามาก็เข้ามาทางปากเรานี่แหละ  เราไม่เห็นหรือ  อาหารที่เรากินเข้าไปมันก็มาจากดิน น้ำ ลม ไฟทั้งนั้น  เข้าไปแล้วก็แปลงสภาพ   จากอาหารก็กลายเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน  ผมเรามันงอกออกมาไหมถ้าเราไม่กินข้าว  มันไม่มีทางงอกออกมาได้   เรากินข้าวเข้าไป  กินน้ำเข้าไป  หายใจเข้าไป   การรวมตัวของดินน้ำลมก็ทำให้เกิดไฟขึ้นมาคือความร้อน   เวลาเรากินข้าวเข้าไปร่างกายเราจะร้อน เหงื่อออก   เพราะเริ่มเกิดปฏิกิริยาของดินน้ำลมผสมกัน  ทำให้เกิดธาตุไฟ เหมือนกระเป๋าน้ำร้อนวิทยาศาสตร์ที่มีดินน้ำลมไฟผสมกันอยู่แล้ว  พอไปกดแผ่นโลหะก็ทำให้เกิดปฏิกิริยา  มีความร้อนออกมา   เหมือนกันกับร่างกาย  

 

เรามีความคิดที่ฝังลึกอยู่ในใจว่า  ร่างกายนี้คือตัวเราตัวฉัน  คิดอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ไม่เคยพิจารณาว่ามันมาอย่างไรมันไปอย่างไร   เราจึงต้องพิจารณาไปที่จุดเริ่มต้นของร่างกายนี้  มันก็เริ่มจากน้ำ ๒ หยด  ของพ่อหยดของแม่หยด ผสมกันแล้วเกิดเป็นตัวขึ้นมา  อยู่ในครรภ์ของแม่  อาศัยน้ำนมน้ำเลือดอาศัยอาหารของแม่ ซึ่งเป็นดินน้ำลมไฟแบบละเอียด ที่เข้าไปเสริมสร้างให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นมา   พอออกจากท้องแม่ก็ดื่มนมดื่มน้ำก่อน ซึ่งเป็นอาหารละเอียด   เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อยก็กินอาหารหยาบ เช่นข้าวผักปลาต่างๆ   ก็เป็นดินน้ำลมไฟทั้งนั้น   มาในรูปแบบต่างๆ   เพื่อไปเสริมสร้างอาการ ๓๒ ให้เจริญเติบโตงอกงามขึ้นมา   ให้พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  พิจารณากลับไปกลับมา

 

ถาม  ท่านคะ  ภาวนาซ้ำ ๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆหรือคะ

 

ตอบ  จนกว่ามันจะร้องอ๋อขึ้นมาเอง  อ๋อเข้าใจแล้ว  อ๋อไม่ใช่เรา  มันแค่เป็นการมาการไปของดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง  ถ้าเราพิจารณาแค่ครั้งเดียวแล้วก็หยุด  มันก็กลายเป็นสัญญาความจำไป   พอถึงเวลาจะตัดอุปาทานมันก็ตัดไม่ได้  เพราะอุปาทานมีแรงมากกว่า   เหมือนคนชักคะเย่อ ข้างหนึ่ง ๑๐ คน อีกข้างหนึ่งคนเดียวอย่างนี้  ข้าง ๑๐ คนก็ต้องมีแรงมากกว่า   อุปาทานมันมีแรงมากกว่า   ธรรมสอนว่าไม่ใช่ตัวฉันของฉัน  มันก็ยังยึดติดอยู่  พอเป็นอะไรร่างกายก็ทุกข์ขึ้นมา   แต่ถ้าเราพิจารณาเรื่อยๆ   จากคนเดียวก็เป็น ๒ คน ๓ คน ๔ คน  จนมีกำลังมากกว่าอุปาทานเมื่อไร ก็จะดึงมาทางนี้   คุณว่าอย่างไรฉันก็ไม่เชื่อ   ฉันเชื่อว่าเป็นดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง   ฉันไม่กลัวแล้ว จะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไป  มันก็แค่ดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง  ต้องอาศัยการพิจารณาบ่อยๆ  มันจะยากตรงนี้  ไม่ใช่พิจารณาหนสองหนแล้วก็บรรลุได้  นอกจากคนที่มีปัญญาที่เฉียบแหลม  ที่มองทะลุเห็นชัดแจ้งไม่สงสัยได้อย่างรวดเร็ว  อย่างนี้พิจารณาหนสองหนก็เข้าใจ  ปัญญาของแต่ละคนจึงต่างกัน 

 

คนที่มีปัญญาบารมีเยอะก็จะบรรลุเร็ว   คนที่มีปัญญาบารมีน้อยก็จะบรรลุช้า  การบรรลุนี้ไม่ได้บรรลุด้วยสมาธิ  บรรลุด้วยปัญญา  แต่ต้องอาศัยสมาธิเป็นทางผ่าน   เป็นเครื่องสนับสนุน  คือต้องมีสมาธิก่อน  คือจิตจะต้องอยู่ในปัจจุบัน  ต้องอยู่ในความสงบ  ปราศจากความโลภโกรธหลงครอบงำ  เวลาจิตสงบนี้ความโลภโกรธหลงจะสงบตัวลงไปด้วย   ถึงมันยังทำงานอยู่ ก็ไม่รุนแรงเหมือนกับคนที่ไม่มีความสงบ ที่ถูกความโลภโกรธหลงครองงำแบบโงหัวไม่ขึ้น  เหมือนกับฝุ่นตลบอบอวลอยู่ตลอดเวลา   แต่คนที่มีความสงบนี้เหมือนกับฝุ่นที่ตกลงไปอยู่ที่พื้น   พอไปกวาดมันๆ ก็จะฟุ้งขึ้นมา  ถ้าเป็นจิตที่สงบแล้วเวลาคิดอะไรขึ้นมา  มันก็ทำให้ฝุ่นของความโลภความโกรธความหลงฟุ้งขึ้นมา  ทำให้เราเห็นผิดได้  เช่นเห็นรูปปั๊บ ความโลภโกรธหลงก็จะตามมาทันทีเลย    รูปนี้สวยน่ายินดีนะ  จึงต้องอาศัยปัญญามาคอยแกะออก  มันไม่สวยหรอก มันเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นอสุภะ      

 

ในขณะที่จิตสงบมันก็ว่างๆ   แต่พอไปเห็นรูปปั๊บ  ถ้าโลภโกรธหลงยังมีกำลังอยู่มันก็จะไปเกาะไปหลงทันที  ถ้าเรายังไม่ได้เจริญปัญญาเลย   ก็จะไม่มีอะไรมาคอยแกะมันออก  ก็จะหลงไปสักพักหนึ่ง   คนที่ทำสมาธิได้แล้ว  พอออกจากสมาธิก็จะไปทำนั่นทำนี่ ไปดูนั่นไปฟังนี่   พอเบื่อขึ้นมา รำคาญขึ้นมา ก็กลับไปนั่งทำสมาธิอีก   วนเวียนอยู่อย่างนี้   แต่คนที่เริ่มเจริญปัญญาแล้ว   พอจะไปฟังอะไร ก็พิจารณาว่าฟังแล้วก็เหมือนเดิม  ไม่ได้อะไรขึ้นมา   ฟังแล้วเดี๋ยวก็เบื่อ   ดูแล้วเดี๋ยวก็เบื่อ   มันไม่ได้ให้ความสุข ความอิ่ม ความพอกับเรา   มันเป็นทุกข์มากกว่าสุข   ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วต่อไปเวลาอยากจะไปทำอะไร  อยากจะไปดื่มอะไร  อยากจะไปกินอะไร มันก็จะหยุดทันที 

 

ถาม  ที่ท่านอาจารย์บอกว่า  ละโลภโกรธหลงได้นี่ กับไม่ยินดียินร้ายเหมือนกันไหมคะ

 

ตอบ  ก็เป็นกลางๆ จะว่าไม่ยินดีก็ได้ ไม่ยินร้ายก็ได้ มันเฉยๆ รู้ว่ามันก็แค่นั้นแหละ   เหมือนกับสิ่งที่เราไม่แยแสไม่ให้ความสำคัญแล้ว   เมื่อก่อนนี้เราหลงว่าเป็นแบงก์ ๑๐๐ แต่พอมีคนมาบอกว่าเป็นแบงก์เก๊   เราก็จะไม่ยินดีไม่ยินร้ายใช่ไหม   รู้สึกอย่างนั้น   เมื่อก่อนเราคิดว่าเป็นของจริง   แต่ตอนนี้เรารู้ว่ามันเป็นของเก๊แล้ว   เราจะรู้สึกอย่างไร ก็รู้สึกแบบนั้นแหละ   ปัญญาก็สอนให้เราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเป็นของเก๊ทั้งนั้น  ไม่ใช่ของจริง   ไม่มีความหมายอะไร

 

ถาม  ถ้าเราพิจารณาเกี่ยวกับธาตุ ๔ ในกายเรานี่ ถ้าเรามองไปข้างนอกเราก็พิจารณาอย่างอื่นเป็นธาตุ ๔ ได้เหมือนกันใช่ไหม

 

ตอบ  ต้องพิจารณาทั้งเขาทั้งเรา   ทั้งข้างนอกทั้งข้างใน  กายคตาสติ  สอนให้พิจารณากายนอก พิจารณากายใน  และพิจารณาทั้งกายนอกและกายใน  พิจารณาลงไปที่ธาตุ ๔   ทั้งหมด  โลกนี้เขาถึงเรียกโลกธาตุไง   เราอยู่ในโลกของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธาตุหมด   ศาลาหลังนี้ก็ธาตุทั้งนั้น แต่ศาลาต่างกับเราตรงที่ศาลาไม่มีจิตไม่มีวิญญาณ แต่ก็มีบางคนที่คิดว่าศาลานี้มีวิญญาณครอบครองอยู่

 

ถาม  เขาคิดว่ามีเทวดาอยู่

 

ตอบ  นั่นเป็นอุปาทาน   ถึงจะมีจริงเขาก็ไม่ได้ยุ่งอะไรกับเรา   เราไปยุ่งกับเขาต่างหาก 

 

ถาม  เขามาฟังธรรมท่านอาจารย์ไหมเจ้าคะ ลูกสังเกตดูว่าเวลาปฏิบัติไปมากๆขึ้น ความเมตตาสงสารมันจะมากขึ้นๆ

 

ตอบ  มันเป็นพื้นเพของจิตที่ปราศจากความโลภโกรธหลง   ถ้าความโลภโกรธหลงน้อยลงไปเท่าไร  ความเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาก็จะมีมากขึ้นไปตามลำดับ   เมื่อเรามีความอิ่มแล้ว เราก็สงสารคนอื่นใช่ไหม   แต่ขณะที่เรามีความหิวนี่ เราจะไม่มองหน้าใครเลย   เราจะต้องกินของเราให้อิ่มก่อน   ตอนนั้นจะไม่มีความเมตตาเลย  ลองสังเกตดู    เวลาที่เราหิวนี่ ใครมาขวางหน้านี่ จะเกิดความโกรธขึ้นมาทันที   แต่ถ้าเวลาเราอิ่มแล้ว ใครจะมาแย่งอาหารข้าวของอะไรไปเราก็เฉยๆ   ใครเขาอยากจะได้ก็เอาไป   ความอิ่มของใจจะทำให้เกิดเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาขึ้นมา   โดยธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้   อย่างหลวงตาท่านเมตตาโลกขนาดไหน   ท่านเหนื่อยขนาดไหน  อายุขนาดนี้แล้วก็ยังมีคนมาด่ามาว่าท่านอีก   แต่ใจท่านไม่ได้มีอะไรกับเขาหรอก  ท่านต้องใช้ธาตุขันธ์แสดงไป มันก็เหมือนกับว่าท่านใช้อารมณ์   บางคนก็ว่าท่านใช้อารมณ์   ท่านก็ต้องใช้ร่างกายต้องใช้กิริยาเป็นเครื่องแสดงออก   เมื่อมาแบบนี้ก็ต้องตอบไปแบบนั้น  แสดงไปตามจริตนิสัยเดิมของท่าน   แต่ไม่เป็นกิเลส  บางคนมีกิริยาโฮกฮาก ก็โฮกฮากไป   บางคนนิ่มนวลก็นิ่มนวลไป  เป็นกิริยาแต่ไม่ใช่เป็นตัวกิเลส  ไม่มีกิเลสอยู่ในกิริยานั้นๆ  แต่ก็เป็นกิริยาอันเดียวกันกับของกิเลส  คนที่มีกิเลสเขาก็ใช้กิริยานี้เวลาเขาเกิดความโกรธขึ้นมา  เขาก็แสดงอาการอย่างนั้นออกมาเหมือนกัน  ใช้เครื่องมืออันเดียวกัน   แต่คนที่ใช้นั้นต่างกัน 

 

ถาม  สิ่งที่ติดมานี้ลูกก็รู้ว่ามันเป็นสมมุติ   แต่สำหรับจิตของพระอริยะนี้  เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  พอมันมากระทบปั๊บนี่ มันหลุดตกไปทันทีใช่ไหมคะ เหมือนกับการใจเร็วนี่มันเป็นนิสัยดั้งเดิม  พอมันกระทบปั๊บมันก็ตกไปเลย

 

ตอบ  ปฏิกิริยาตอบโต้กับสิ่งต่างๆของแต่ละคนมันก็ต่างกัน  ถ้าเป็นคนที่เจริญปัญญาแล้วจะมีเหตุมีผล   จะมีตัวกรองว่าควรจะตอบไปมากน้อยเพียงไร  แรงหรือค่อยอย่างไร   แต่ถ้าไม่มีปัญญาจะไม่มีตัวกรอง   มากระทบเท่าไรก็จะกลับไปเท่านั้น   เหมือนกับลูกปิงปองที่เราตีใส่ฝาผนัง

 

ถาม  แต่ตัวกรองของท่านอาจารย์  ลูกก็คิดว่าเป็นอัตโนมัติเลย ปั๊บไปเลย  แต่อย่างของบุคคลธรรมดานี้ จะรู้สึกเหมือนมีความคิดขึ้นมาพยายามที่จะกรอง  แต่อย่างของท่านอาจารย์นี่มันตกทันทีอัตโนมัติเลย

 

ตอบ  มันก็อยู่ที่การฝึกฝนอบรม   หลวงตาบอกว่าขั้นต้นสติปัญญาก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไปก่อน   แล้วต่อไปก็กลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ เราฝึกไปเรื่อยๆ ใช้ไปเรื่อยๆ ต่อไปมันก็ชำนาญ เหมือนกับการอ่านหนังสือ ตอนต้นเราก็ไม่ได้อ่านออกเขียนได้ทันทีเลย  เราก็ต้องหัดสะกดไปก่อน   หัดผสมคำไปก่อน   แต่เมื่อเราชำนาญแล้ว พอเห็นตัวอักษรปั๊บมันก็ไปทันทีเลย   เรื่องสติปัญญานี้เราก็สร้างขึ้นมาได้  จนควบคุมจริตนิสัยเดิมของเราได้   เพียงแต่ว่าเราเห็นว่ามันไม่จำเป็น ไม่สำคัญเราก็ปล่อยไปตามธรรมชาติก็ได้   แต่เราก็รู้จักกาลเทศะ  ควรจะพูดอย่างไร ควรจะทำอย่างไร  ก็ไม่แสดงอาการแบบนั้นกับทุกคน   คนบางคนควรจะนิ่มนวลก็นิ่มนวลได้เหมือนกัน  วันนั้นท่านก็เทศน์เรื่องท่านอาจารย์สิงห์ทองไม่ใช่หรือ  ท่านก็สอนท่านอาจารย์สิงห์ทองว่า  จะไปตลกทุกกรณีก็ไม่ได้  เราชอบตลกก็จะมองไปในมุมตลกเสมอ   แต่คนอื่นเขาจะไม่ตลกกับเรา  

 

ถาม  คนที่มีปัญญาทางโลก ที่เรียนหนังสือเก่งๆฉลาดๆ   เขามาปฏิบัติธรรม เขาจะไปเร็วกว่าคนที่มีพื้นฐานความรู้น้อยกว่าหรือไม่

 

ตอบ  คนที่มีปัญญาทางโลกนี่เขารู้จักคิดด้วยเหตุด้วยผล   ทางธรรมะก็เหมือนกัน  พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล  ใช้ความคิดด้วยเหตุด้วยผลเหมือนกัน  แต่ต่างกันตรงที่ทางธรรมจะเกี่ยวกับทางด้านจิตใจเป็นหลัก อะไรเป็นเหตุที่ทำให้ใจทุกข์  อะไรเป็นเหตุที่ทำให้ใจไม่ทุกข์   ความรู้นี้ทางโลกจะไม่มีใครสอน   ความรู้ทางโลกก็จะคิดเหตุผลทางโลก  ต้นไม้จะโตขึ้นมาได้อย่างไร  ต้องมีน้ำดี มีดินดี มีปุ๋ยดี  มีการดูแลรักษาป้องกันไม่ให้แมลงมากัดมาทำลาย  ก็เป็นเหตุผล ก็คิดแบบเดียวกัน   แต่ทางโลกจะมองแต่เรื่องภายนอก   เรื่องของร่างกายเขาก็จะดูว่าร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยได้อย่างไร  จะรักษาได้อย่างไรเท่านั้นเอง  ก็จะคิดด้วยเหตุด้วยผลเหมือนกัน   แต่เป็นความรู้ที่ต่างกัน   ความรู้ทางโลกไม่สามารถแก้ความทุกข์ทางด้านจิตใจได้   คนที่จบด็อกเตอร์ก็มีจิตวุ่นวายได้ ติดคุกติดตะรางเพราะไปฆ่าคนก็มีอยู่เหมือนกัน  เพราะแก้ปัญหาทางด้านจิตใจไม่ได้   เวลามีทุกข์แล้วโกรธแค้นโกรธเคือง ก็ไปฆ่าเขา เป็นด็อกเตอร์ก็ทำได้   แต่ถ้าเป็นด็อกเตอร์ทางศาสนาพุทธ  เป็นพระอริยะแล้วก็จะไม่ทำ   เพราะรู้จักวิธีแก้ความทุกข์ทางด้านจิตใจ  คือรู้จักปล่อยวาง ยอมรับความจริง   โดนคนนั้นเขากลั่นแกล้ง โดนคนนี้เขาหลอกลวง ทำให้เสียอกเสียใจ  แต่ก็ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ผ่านไปแล้ว   ไปโกรธทำไม   ไปแก้แค้นทำไม ไม่จำเป็น   ถือว่าเป็นการใช้หนี้เก่าไปก็จบ   ก็ไม่ต้องไปฆ่า ไม่ต้องไปติดคุกติดตะราง   คนที่มีธรรมะจะคิดอย่างนี้

 

ถาม  พวกที่มีกิเลสจะทำใช่ไหมคะ

 

ตอบ  กิเลสหมายถึงการขาดปัญญา   ส่วนการมีปัญญาทางด้านธรรมะคือการรู้ทันกิเลสนี่เอง

 

ถาม  ลูกหมายความว่าพวกที่เรียนเก่ง เขามีปัญญาฉลาด เขาเรียนด็อกเตอร์ เขาสามารถที่จะบรรลุได้เร็วกว่าคนอื่นไหมคะ หรือว่าไม่ต่างกัน

 

ตอบ  ไม่แน่เสมอไป มันอยู่ที่กิเลสมากหรือกิเลสน้อย ถ้ากิเลสหนาทำให้จิตไม่สงบ  ความคิดก็ยังไม่เป็นปัญญาพอที่จะตัดกิเลสได้

 

ถาม  รู้สึกว่าครูบาอาจารย์หลายท่านในอดีตที่ผ่านมา  บางท่านไม่ได้เรียนหนังสือเลยด้วยซ้ำไป  อ่านหนังสือไม่ออกเลยด้วยซ้ำไป

 

ตอบ  แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่ฉลาดนะ   เพราะท่านมองท่านคิดด้วยเหตุด้วยผลของท่านเองตลอดเวลา   เพียงแต่ว่าท่านไม่มีโอกาสได้ไปเรียนหนังสือเท่านั้นเอง   ถ้าท่านมีโอกาสท่านอาจจะจบปริญญาเอกก็ได้   คนที่เป็นชาวนาชาวไร่แต่ไม่มีโอกาสไปเรียนหนังสือนั้น  ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีปัญญา   เพียงแต่เขาไม่มีโอกาสได้ใช้ปัญญาไปในทางนั้น   พูดง่ายๆก็คือ คนที่มีปัญญาก็คือคนคิดเป็น  คิดด้วยเหตุด้วยผลเป็น   ส่วนคนที่ไม่มีปัญญาจะคิดไม่ค่อยเป็น   คนที่คิดไม่ค่อยเป็นจะได้สมาธิก่อน เพราะการเจริญสมาธิง่ายกว่าการเจริญปัญญา  แต่ทางปัญญาจะช้า  เพราะไม่สามารถแยกแยะธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟได้   คนคิดเป็นจะไปเร็วกว่าในขั้นปัญญา 

 

        คนที่จะบรรลุเร็วหรือบรรลุช้า ยากหรือง่าย  ก็มีแสดงไว้อยู่ ๔ ชนิดด้วยกันคือ   ๑. พวกที่รู้เร็วและปฏิบัติง่าย  ๒. รู้เร็วแต่ปฏิบัติยาก  ๓. รู้ช้าแต่ปฏิบัติง่าย  ๔. รู้ช้าและปฏิบัติยาก   พวกที่รู้เร็วปฏิบัติง่าย  คือพวกที่มีกิเลสน้อยปัญญามาก  ปฏิบัติไม่ยากเพราะกิเลสน้อยไม่มีอะไรมาคอยต้าน  รู้เร็วเพราะมีปัญญามาก    พวกที่รู้เร็วแต่ปฏิบัติยากก็คือ มีปัญญามากมีกิเลสมาก ต้องภาวนาจริงๆ  แบบนั่งทั้งคืน อดอาหาร ๗ วันอะไรอย่างนี้  กว่าจะทำจิตให้สงบลงได้  นั่นคือขั้นสมาธิ  การที่จะทำจิตให้สงบลงได้ในขั้นสมาธินั้นยากมาก ต้องทรมานด้วยวิธีต่างๆ   แต่พอได้สมาธิแล้วมีปัญญาอยู่แล้วก็จะรู้ได้เร็ว    พวกที่ ๓ คือพวกกิเลสบางแต่ปัญญาทึบ พวกที่ ๔ ก็คือพวกกิเลสหนาปัญญาทึบ  คิดไม่เป็น  กิเลสก็เยอะ  เวลาจะนั่งสมาธิก็นอนเสีย  เดินจงกรมก็เดินไม่ไหว 

 

ถาม  ฟังธรรมแล้วคิดตามอย่างนี้ได้ไหมคะ

 

ตอบ  อันนี้ก็อาศัยปัญญาของคนอื่นไง  เหมือนกับรถเราสตาร์ทไม่ได้  เราอาศัยคนคอยเข็นให้   ฟังไปแล้วคิดตามไปเรื่อยๆ    การฟังธรรมจึงมีประโยชน์มาก  เวลาหลวงตาแสดงธรรม  ท่านจะแสดงเหตุแสดงผลอยู่ตลอดเวลา   ถ้าเราฟังเรื่อยๆต่อไปเราก็จะคิดเป็นเหมือนท่าน   มันเป็นอย่างนี้เพราะเหตุนี้   เอาเหตุเอาผลมาเทียบเคียงกัน   ไม่เอาอารมณ์  ไม่เอาความรู้สึกของตัวเองมาเป็นที่ตั้ง  ถึงต้องอยู่ใกล้บัณฑิต   อเสวนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญ จะ เสวนา  การได้คบค้าสมาคมกับบัณฑิต เป็นมงคลสูงสุดของชีวิต  บัณฑิตที่ ๑ ก็คือพระพุทธเจ้า  บัณฑิตที่ ๒ ก็คือพระอรหันต์  บัณฑิตที่ ๓ ก็คือพระอริยบุคคลตามลำดับลงมาเรื่อยๆ   บุคคลเหล่านี้สามารถทำให้เราดีขึ้นได้  ฉลาดขึ้นได้  คนพาลก็พวกที่ชอบดื่มเหล้าเมายา  เที่ยวเตร่เฮฮาสนุกสนาน  เกียจคร้าน มักง่าย  ขี้โกง  อย่าไปคบค้าสมาคมกับคนพวกนี้   เพราะจะทำให้เราติดนิสัยของเขามาด้วย   เพราะทำชั่วมันง่าย ใครๆก็อยากจะได้อะไรมาง่ายๆ  การโกงมันง่ายกว่าการหามาด้วยความสุจริต   สอบเอ็นทรานซ์ก็เหมือนกัน  โกงข้อสอบมันง่ายกว่ามานั่งท่องตำราตั้งหลายเล่ม   แต่มันไม่ดีหรอก เราไม่ได้อะไรจากการโกง  มีแต่เสีย มีแต่ขาดทุน   ควรเข้าหาบัณฑิตอยู่เรื่อยๆ  ที่ไหนมีครูบาอาจารย์มีคนฉลาด  เราเข้าไปหาท่านแล้ว เราได้ความรู้ได้ความฉลาดเพิ่มขึ้น  เราได้กำไร