กัณฑ์ที่ ๒๓๖       ๑๓ พฤษภาคม  ๒๕๔๙

 

สวดมนต์ภาวนา

 

 

 

           เวลาเริ่มภาวนาถ้าจิตยังไม่เข้าที่ ให้ใช้การสวดมนต์ไปยาวๆจนจิตเชื่องแล้วถึงจะบริกรรมพุทโธๆๆต่อ เมื่อจิตไม่ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว เราก็บริกรรมพุทโธๆๆไปอย่างเดียวก็ได้ หรือสวดไปจนรู้สึกอยากจะหยุดสวด  ก็ดูลมต่อก็ได้ ไม่ต้องสวด ดูลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ เพราะการสวดเป็นการสวนกระแสของความคิด  ต้านกระแสของความคิด ถ้าไม่มีอะไรต้าน เราจะนั่งคิดไปเรื่อยๆ  แต่ถ้าเอาสังขารความคิดปรุงแต่ง มาสวดมนต์แทน  สวดไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสังขารก็เหนื่อย พอเหนื่อยก็ไม่อยากจะคิดอะไร การสวดมนต์นี้อาตมาได้รับประโยชน์ในการฝึกระยะแรกๆ  ตอนนั้นก็อาศัยการท่องพระมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่ในใจ ท่องประมาณ ๔๐ นาทีเท่าที่จำได้ นั่งขัดสมาธิหลับตา แล้วก็สวดไปภายในใจ แทนที่จะใช้พุทโธๆๆ ก็ใช้พระสูตรเป็นองค์ภาวนาไป เวลาสวดต้องมีสติ ไม่ใช่สวดแล้วก็ปล่อยให้ใจไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้  พยายามให้อยู่กับบทสวดมนต์ตลอดเวลา

 

ถ้าสวดไปแล้วยังคิดได้  ก็สวดให้เร็วขึ้น จะสวดบทอิติปิโสก็ได้ อิติปิ โส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ สวดไปเรื่อยๆ จะสวดกี่รอบก็ได้ ไม่ต้องไปนับรอบ พอจบรอบนี้แล้วก็เริ่มรอบใหม่  จิตบางคนเวลาให้บริกรรมพุทโธๆๆอยู่คำเดียวจะไม่ชอบ แต่ถ้าให้สวดมนต์ก็จะสวดได้ ก็ใช้บทสวดมนต์เป็นตัวช่วยไปก่อนก็ได้ นี่หมายถึงกรณีที่นั่งแล้วกำหนดพุทโธๆๆไม่ได้ หรือกำหนดลมหายใจเข้าออกไม่ได้  แต่ละคนจึงต้องสังเกตดูว่า  จิตของตนเองเป็นแบบไหน  เหมาะกับอะไร เพราะในการภาวนาแต่ละครั้ง บางทีจิตก็จะสงบง่าย บางทีก็สงบยาก ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม  ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นก่อนที่จะภาวนา ถ้ามีเรื่องราวมาก  จิตก็จะวุ่นวายมาก เกาะติดอยู่กับเรื่องราวนั้น  เวลานั่งภาวนาจะไม่ยอมปล่อย จะย้อนกลับไปคิดถึงเรื่องนั้นอยู่เรื่อยๆ บางทีสวดมนต์ก็ไม่ได้ ก็ต้องใช้ปัญญาเข้าไปแกะออกมา

 

พิจารณาถึงเรื่องราวที่ไปกังวลด้วย ใช้หลักไตรลักษณ์เข้าไปพิจารณาว่า ไม่มีอะไรจีรังถาวร  เรื่องอะไรสำคัญขนาดไหนเดี๋ยวก็ผ่านไป  เขาไม่จากเราไปก่อน เราก็จากเขาไปก่อน  เรื่องมันต้องจบแบบนี้ทั้งนั้น มีปัญหาเรื่องสมบัติ  ห่วงว่าพี่น้องจะแย่งสมบัติกัน ตกลงกันไม่ได้  ก็คิดเสียว่าไม่ช้าก็เร็วก็ต้องแบ่งกันได้โดยดี  ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง จะถูกใจหรือไม่ถูกใจ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อได้มาแล้วเดี๋ยวก็เอาไปใช้หมด ถ้าไม่หมดเดี๋ยวก็ตายจากมันไป ทิ้งให้เป็นของคนอื่นไป คิดว่ายังไงๆมันต้องจบของมันเองจนได้   ถ้าคิดอย่างนี้แล้วก็ปลงได้ ตอนนี้เราก็ทำอะไรไม่ได้ เรานั่งอยู่ตรงนี้ คิดไปก็เสียเวลาเปล่าๆ วุ่นวายใจไปเปล่าๆ  ยอมรับความจริงดีกว่า คิดว่าเป็นเรื่องบุญเรื่องกรรมก็แล้วกัน  ถ้าจะเป็นสมบัติของเราเดี๋ยวก็มาหาเราเอง ถ้าไม่ได้เป็นสมบัติของเรา เราไปทำอย่างไรมันก็ไม่มาหาเรา คิดแบบนี้แล้วก็จะตัดได้ ปลงวางได้ สงบตัวลงได้

 

เรื่องราวต่างๆที่ค้างอยู่ในใจนั้นเกิดจากความผูกพัน ถ้าเราชอบ เรารักสิ่งไหน ต้องการสิ่งไหนมากๆ สิ่งนั้นจะติดอยู่ในใจเรามาก พอรู้สึกว่ามีโอกาสจะได้ จะยิ่งตื่นเต้นใหญ่ แต่ถ้ารู้ว่ายังไงๆก็จะไม่ได้ เป็นสิ่งสุดเอื้อม ก็จะไม่ไปกังวลกับมัน เช่นตอนนี้คงไม่คิดว่าจะได้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะไกลสุดเอื้อม ก็จะไม่ฝันถึงมัน แต่ถ้าเป็นรองผู้ว่าฯอยู่ ก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะมันใกล้ มีโอกาสที่จะเป็นได้  แต่ถ้ามองว่าเป็นผู้ว่าฯก็มีวาระของมัน พออายุ ๖๐ เขาก็ปลดเราอยู่ดี หรือเวลาทำงานแล้วไม่ถูกใจเขาๆก็ปลดเราอยู่ดี ถ้าเราไม่เป็นผู้ว่าฯ เขาก็ปลดเราไม่ได้ เราก็ไม่เป็นเบี้ยล่างของเขา  แต่พอเขาตั้งเราแล้ว เรากลายเป็นเบี้ยล่างของเขาไป เขาจะปลดเราเมื่อไรก็ได้ ตอนนั้นจะทุกข์ทรมานยิ่งกว่าตอนที่ไม่ได้เป็นเสียอีก ถ้าอยากจะได้อะไรที่เกิดจากการให้ของผู้อื่น หรือการแต่งตั้งของผู้อื่น อย่าไปอยากดีกว่า เพราะเขาตั้งเราได้  เขาก็ปลดเราได้ เขาให้เราได้ เขาก็เอาคืนไปได้  เอาสิ่งที่เราให้กับตัวเราเองดีกว่า ไม่มีใครสามารถยื้อแย่งจากเราไปได้  อันนี้เราไม่มีกัน เราไม่ค่อยสนใจกัน อันนี้ก็คือธรรมะในใจเรานี่แหละ ที่เรียกว่าอริยทรัพย์  ได้อันนี้แล้วไม่มีใครเอาจากเราไปได้ เพราะมันเป็นเงาตามตัวเราไป  ไม่มีใครสามารถพรากเงาจากเราไปได้

 

ฉันใดทรัพย์ภายใน ทรัพย์ที่เกิดจากการทำความดี  เกิดจากการละเว้นการกระทำบาปทั้งปวง เกิดจากการชำระจิตใจ กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากจิตจากใจ เป็นทรัพย์อันประเสริฐ  เป็นทรัพย์ที่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายได้มาครอบครอง จึงเรียกว่าอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ของพระอริยะ พวกเราก็มีสิทธิ เพราะก่อนที่พระอริยะจะเป็นพระอริยะ ท่านก็เป็นเหมือนพวกเรา มีความโลภ ความโกรธ ความหลง มีความอยากในสิ่งต่างๆ แต่หลังจากที่มีพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นมา แล้วนำธรรมอันประเสริฐนี้มาเผยแผ่ เมื่อท่านเหล่านั้นได้ยินได้ฟัง ก็ประพฤติปฏิบัติตามจนได้อริยทรัพย์ขึ้นมาภายในจิตในใจของท่าน เวลาเราอยากจะได้สิ่งต่างๆที่อยู่ภายนอกใจเรา จงคิดเสมอว่าเรากำลังหลง ไม่เป็นสิ่งที่เราควรจะปรารถนา ถ้ามีสติมีปัญญาคอยเตือนเราแล้ว  เชื่อได้ว่าเรื่องราวที่จะสร้างความวุ่นวายใจ ที่จะมาทำลายความสงบทางจิตใจของเราจะน้อยลงไป  เวลาทำจิตให้สงบก็จะง่ายขึ้น

 

ถ้าเรายังยินดีกับลาภยศสรรเสริญสุขอยู่ เวลามีอะไรมากระทบที่จะทำให้ต้องสูญเสียมันไป หรือทำให้ไม่ได้มันมา  จิตใจของเราก็จะต้องวุ่นวาย   เวลานั่งทำจิตใจให้สงบก็จะทำไม่ได้ เพราะยังคิดยังกังวลอยู่กับมัน กลัวจะไม่ได้มันบ้าง กลัวจะเสียมันบ้าง ในเบื้องต้นจึงควรทำความเห็นให้ถูกต้องเสียก่อนว่า  ทรัพย์ที่แท้จริงนั้นต้องเป็นทรัพย์ภายใน คนฉลาดเท่านั้นที่จะแสวงหาทรัพย์ภายใน คนโง่เท่านั้นที่จะแสวงหาทรัพย์ภายนอก หาได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ  แล้วก็ไม่รู้จักอิ่ม ไม่มีความสงบสุขในจิตใจ  มีเงินเป็นแสนล้านก็เท่านั้น ใจก็ยังตะเกียกตะกาย ยังอยาก ยังกังวล ยังห่วงใยอาลัยอาวรณ์ ยังวุ่นวายอยู่ แต่ใจที่ปล่อยวางทรัพย์ภายนอกหมดแล้ว มีแต่ทรัพย์ภายใน จะเป็นใจที่เย็นที่สงบที่สบาย นี่เป็นอานุภาพของทรัพย์ภายใน ที่ทำให้จิตสงบ ให้มีความอิ่ม มีความพอ ความอยากต่างๆก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นของตรงกันข้ามกัน เหมือนความมืดกับความสว่าง จะเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ ถ้ามืดก็ไม่สว่าง ถ้าสว่างก็ไม่มืด

 

ฉันใดถ้ามีความพอก็ไม่มีความอยาก ถ้ามีความอยากก็ไม่มีความพอ ได้มาเท่าไรก็อยากได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ได้คืบก็อยากจะได้ศอก ได้ศอกก็อยากจะได้วา คนถึงรวยเป็นมหาเศรษฐี มีเงินเป็นหมื่นล้านแสนล้าน เพราะหยุดไม่เป็น ถ้าเป็นรถก็เป็นรถที่ไม่มีเบรกวิ่งลงเขา ไม่มีทางที่จะหยุดได้  จะหยุดได้ก็ต่อเมื่อแหกโค้งตกเหวระเบิดเป็นเสี่ยงไป  คนเราจะหยุดความอยากได้ก็ต่อเมื่อตายไปเท่านั้น แต่ก็หยุดได้แต่เฉพาะชาตินี้เท่านั้นเอง  ไม่สามารถทำอะไรในโลกนี้ได้อีกต่อไป แต่ใจยังไม่หยุด เพราะความอยากไม่ได้อยู่ที่กายแต่อยู่ที่ใจ ความอยากนี้ก็จะพาให้ไปเกิดอีก ไปเริ่มต้นใหม่ เหมือนกับก่อปราสาททรายไว้ที่ชายทะเล ตอนที่น้ำลง ขุดทรายมาก่อเป็นรูปต่างๆ พอน้ำขึ้นมามันก็พังทลายหายไปหมด ทรัพย์สมบัติต่างๆที่หามาได้ พอตายไปก็หายไปหมด  ไม่ใช่สมบัติของเราอีกต่อไป

 

นี่คือการพิจารณาที่จะทำให้เราคลายกังวล คลายความวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆได้  ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือเป็นบุคคลก็เหมือนกัน  คนก็มาจากวัตถุเหมือนกัน  ร่างกายเรานี้ก็เป็นวัตถุ กระดูกก็เป็นของแข็ง เลือดที่อยู่ในร่างกายก็คือน้ำ อากาศที่เราหายใจเข้าออกเรียกว่าลม ความร้อนก็คือปฏิกิริยาทางเคมีที่มีอยู่ในร่างกาย  ทำให้เกิดความร้อนขึ้นมา พอร่างกายหยุดการทำงาน ปฏิกิริยาทางเคมีก็หยุดไป  ความร้อนในร่างกายก็หายไป ร่างกายก็เย็นเฉียบ ไปจับคนตายดูสิ ร่างกายจะไม่มีความร้อนหลงเหลืออยู่เลย เพราะเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง แต่เราไปหลงว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นคน แล้วก็ไปกังวลไปห่วง จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ  ลืมไปว่าห่วงอย่างไร ดูแลรักษาอย่างไร ให้ดีขนาดไหนก็ตาม สักวันหนึ่งก็ต้องตายจากไปอยู่ดี เวลาเรามองอะไร ส่วนใหญ่มักจะมองไปที่จุดเริ่มต้น แต่ไม่มองตอนจบ เวลาเจอใครนี่ฝันหวานไปเลย ได้อยู่ร่วมกันแล้วจะมีความสุข แต่ไม่เห็นตอนจบที่ต้องมาร้องห่มร้องไห้  เศร้าโศกเสียใจกัน

 

แต่ถ้ามองความจริงของชีวิต จุดจบของชีวิตอยู่เรื่อยๆ  แนบติดอยู่กับใจตลอดเวลาแล้ว จะคิดไปในทางที่ถูกต้องเสมอ  มีสัมมาทิฐิ จะปล่อยวางสิ่งที่ไม่อยู่กับเราไปตลอด ที่ให้ความทุกข์กับเรา  ที่เราไม่สามารถควบคุมบังคับ ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้  ก็อย่าไปยุ่งกับมันดีกว่า  แล้วจะไม่เสียใจ อยู่คนเดียวก็ได้ ไม่มีอะไรก็อยู่ได้ ทำไมไม่เอาพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกที่เรากราบไหว้บูชา มาเป็นเยี่ยงอย่าง  เรากราบไหว้ท่านแต่เราไม่มองท่านเลย ชอบไปถ่ายรูปของท่าน ซึ่งไม่ได้บอกถึงความเป็นจริงของท่านว่าเป็นอย่างไร  ความจริงตัวจริงของท่านนั้นอยู่ที่ความประพฤติการดำเนินชีวิตของท่าน  ท่านดำเนินชีวิตอย่างไร ท่านหรูหราฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยหรือว่าประหยัดมัธยัสถ์ มักน้อยสันโดษ นี่เป็นสิ่งที่เราไม่มองกัน กล้องถ่ายรูปไม่สามารถถ่ายสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ ต้องอาศัยกล้องของปัญญาเท่านั้น

 

คือต้องรำลึกถึงปฏิปทาอันดีงามของแต่ละท่าน ท่านดำเนินชีวิตของท่านอย่างไร การกินการอยู่ของท่านเป็นอย่างไร ท่านใช้ชีวิตอย่างไรในแต่ละวัน ต้องคิดแบบนี้ แล้วนำเอาแบบฉบับของท่านมาใช้กับตัวเรา จากน้อยไปหามาก ถ้าเราไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ตามแบบที่ท่านทำอยู่  หลวงตาท่านก็เคยพูดอยู่ว่า อย่างน้อยก็ต้องทำแบบศิษย์ที่มีครู ถึงแม้จะทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยก็ให้มีเชื้อของครูหลงเหลืออยู่บ้าง  เวลาจะฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ  ก็พยายามระงับดับมัน อย่าปล่อยให้เป็นไปตามความอยาก ความหลงเลย เพราะไม่เป็นทางที่จะพาเราไปสู่ความสงบสุข แต่จะพาเราไปสู่ความวุ่นวาย เวลาทำอะไรตามความอยากไปแล้ว ก็จะเพิ่มพลังความอยากให้มีมากขึ้นไปอีก เคยทำอะไรไว้ครั้งหนึ่งแล้วครั้งที่สองก็จะง่ายขึ้น   ถ้าอยากจะทำอะไร  แล้วฝืนไม่ทำเสีย ครั้งต่อไปก็จะฝืนง่ายขึ้น  ความอยากจะเบาลงไปๆถ้าเราฝืนไปเรื่อยๆด้วยปัญญา 

 

คือเห็นด้วยเหตุด้วยผลว่า ของฟุ่มเฟือยไม่มีประโยชน์อะไรเลย  ได้มาแล้วก็ดีใจไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรดีขึ้นมา แล้วก็อยากได้ใหม่อีก มีเสื้อผ้าเหลือเฟือเต็มตู้อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่เลย  ใช้ไปอีก ๕ ปีก็ยังใช้ได้อยู่ แต่พอไปเดินตามห้างร้านต่างๆ  เห็นเสื้อผ้าชุดนั้นชุดนี้แขวนโชว์อยู่ ก็อยากได้ ก็รีบซื้อมาเลย  ไม่เคยยั้งคิดถามตัวเองเลยว่า เอาไปทำไม พอคราวหน้าไปเดินตามห้างฯอีก ก็จะมีชุดใหม่ออกมาล่อใจอีก นี่คือสิ่งที่เราสามารถหักห้ามใจได้ ไม่ได้เสียหายอะไรเลยที่จะไม่ซื้อของเหล่านั้น บางคนถ้าจิตใจหนักแน่นจริงๆ  ถึงแม้เสื้อผ้าจะเก่าขาด เขาก็ยังเอามาปะใช้ต่อไปอีก  จิตใจของคนที่มีความหนักแน่นในทางธรรมะจริงๆจะเป็นอย่างนั้น

 

ครูบาอาจารย์ในอดีตที่เคยได้ยิน จีวรใหม่ๆท่านไม่ค่อยใช้หรอก  หลวงปู่มั่นนี่ท่านปะจีวรจนหาพื้นที่ของจีวรเก่าไม่เจอเลย  เพราะมีแต่ผ้าปะเต็มไปหมดทั้งผืน  แต่ท่านมีความสุขกับการอยู่แบบนั้น  ท่านไม่ได้เอาชนะใคร แต่ท่านเอาชนะกิเลสของท่าน  ท่านพอใจ  ท่านเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่เรากินทิ้งกินขว้างกัน เสื้อผ้าของเราบางทียังไม่ทันขาดเลย  เราไม่ชอบมันแล้ว เราก็โยนทิ้งไป  ทั้งๆที่ยังเอามาใช้ประโยชน์ได้อยู่ นี่คือตัวอย่าง ถ้าเราอยากจะเอาชนะความเห็นผิดของเรา  เราต้องเอาพฤติกรรมของครูบาอาจารย์มาปรับใช้กับชีวิตของเรา เราไม่มีจีวรแต่เรามีเสื้อผ้า มีความจำเป็นต้องมีไว้ใช้เท่าไร ก็ใช้ไปเท่านั้นก็พอ เช่นต้องใช้สำหรับไปทำงาน ใช้สำหรับอยู่บ้าน ใช้สำหรับโอกาสต่างๆ ก็ใช้ไป ถ้าสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ก็ยิ่งดี เช่นใส่ไปทำงานก็ได้ ใส่อยู่บ้านก็ได้ ใส่ไปเที่ยวก็ได้ อย่างนี้ได้กำไรตั้งสามต่อ แทนที่จะต้องซื้อเสื้อ ๓ ตัว ตัวเดียวสามารถใช้ได้ทั้ง ๓ งานด้วยกัน ใช้ออกไปเที่ยวก็ได้  ใช้อยู่บ้านก็ได้ ใช้ไปทำงานก็ได้

 

การใช้ปัญญาเป็นอย่างนี้  ถ้าทำอย่างนี้แล้วรับรองได้ว่า  ต่อไปความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยต่างๆจะลดน้อยถอยลงไป  แล้วเราจะได้ทำสิ่งที่ให้ความสุขแก่เราอย่างแท้จริง แทนที่จะหมดเวลากับการไปหาเงินหาทอง  เพื่อซื้อของฟุ่มเฟือยที่ได้มาแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสงบร่มเย็นมีความพอ เราก็บ่นว่าไม่มีเวลาพอที่จะภาวนากัน ก็เพราะเราให้ความสำคัญต่อการหาเงินหาทอง  มากกว่าหาทรัพย์ภายในนั่นเอง ไม่เห็นคุณค่าของทรัพย์ภายใน  ว่ามีประโยชน์ มีคุณค่ามากกว่าทรัพย์ภายนอก  เราจึงหมดเวลากับการไปหาทรัพย์ภายนอก หมดเวลากับการใช้เงินที่ได้มา เมื่อหมดแล้วก็ไปหาใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนี้ นานๆจึงจะได้มีเวลามาหาทรัพย์ภายในกันสักครั้ง ก็เลยไม่ค่อยได้สัมผัสกับผลของภาวนาเท่าไร  เลยไม่เห็นคุณค่าของทรัพย์ภายใน

 

ลองคิดกลับตาลปัตรดู  เอาเวลาที่ใช้หาเงินหาทองมาหาทรัพย์ภายในดู   จะได้เห็นผลที่ได้จากการหาทรัพย์ภายใน รับรองได้ว่าเมื่อได้สัมผัสกับทรัพย์ภายในแล้ว  จะเห็นคุณค่าทันที  แล้วจะพยายามหาให้มีมากยิ่งขึ้นไป  จะให้เวลามากขึ้นกับการปฏิบัติ ต่อการบำเพ็ญ งานการที่จำเป็นต้องทำก็ทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ถ้ามีสมบัติมีทรัพย์พอเพียงแล้ว ก็ไม่ต้องหามาเพิ่ม  จะลาออกจากงานก็ได้  ใช้เวลากับการไปอยู่วัดนานๆ ไปอยู่สักอาทิตย์ สองอาทิตย์ สามอาทิตย์ อยู่เป็นเดือน อยู่ไปตลอดเลยก็ได้   เวลาไปวัดของครูบาอาจารย์แต่ละวัด  จะเห็นอุบาสิกาอุบาสกบางท่านอยู่วัดกันเป็นเวลานานๆ  ถ้าเป็นชายส่วนใหญ่ก็จะบวชเป็นพระ ถ้าเป็นหญิงก็จะเป็นอุบาสิกา เป็นแม่ชี  ก็เป็นนักบวชเหมือนกัน เพียงแต่สุภาพสตรีไม่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้  ก็เลยบวชเป็นอุบาสิกา เป็นแม่ชี แต่การปฏิบัติก็ไม่แตกต่างกัน  บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาเหมือนกัน มรรคผลนิพพานที่จะได้ก็เหมือนกัน ไม่ต่างกัน

 

ถาม     ถ้าในชีวิตประจำวันของเรานี้  เอาครูบาอาจารย์เป็นเยี่ยงอย่าง  คือทำตัวสมถะ ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย มัธยัสถ์อะไรทำนองนี้ มันก็จะเกื้อหนุนให้ใจเราโน้มไปในทางที่จะละวางมากขึ้นใช่ไหมครับ

 

ตอบ    ใช่ เพราะตัวฟุ่มเฟือยคือตัวฉุดเอาเวลาของเราไปหมด เมื่อเราฟุ่มเฟือยเราก็ต้องหาเงินหาทอง แล้วก็หาเวลาไปใช้กับสิ่งฟุ่มเฟือยทั้งหลาย เคยซื้อของร้านเดิมๆจนเบื่อแล้ว ก็ต้องบินไปเมืองนอกต่อ ตอนต้นก็บินใกล้ๆ ไปแค่ฮ่องกงญี่ปุ่น ต่อไปก็บินไปยุโรป บินไปอเมริกา ยิ่งมีเงินมีทองมากเท่าไร ก็จะทำอย่างนี้

 

ถาม     ที่จริงเสื้อผ้าใส่ไม่กี่ชุดมันก็พอแล้วนะครับอาจารย์

 

ตอบ    พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาเสมอ  เวลาเราจะใช้อะไร ทรงสอนให้พิจารณาทุกครั้งไป เช่นเวลาจะสวมใส่เสื้อผ้า ห่มจีวรก็ให้พิจารณาว่า ห่มเพื่อปกปิดร่างกาย ปกปิดอวัยวะ ป้องกันความหนาว ความเย็น ไม่ให้มาทำให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ได้ห่มเพื่อความสวยงามจากเสื้อผ้าอาภรณ์  ความสวยงามที่แท้จริงต้องสวยด้วยใจ สวยด้วยศีลธรรม  สวยด้วยความเมตตากรุณา ไม่ได้สวยด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ เสื้อผ้าอาภรณ์สวมใส่ไว้เพียงเพื่อปกปิดร่างกายไว้เท่านั้น  เวลาฉันอาหารก็ให้ฉันเพื่อระงับดับความหิวของร่างกาย  รับประทานอาหารแบบรับประทานยา เยียวยารักษาโรคคือความหิว ไม่ได้รับประทานเพื่อรสชาติ เพื่อความสนุกสนานเฮฮา กินข้าวคนเดียวกินไม่ได้ เพราะเหงา ต้องโทรศัพท์ชวนเพื่อนออกไปกินข้าวข้างนอกกัน แล้วก็ไม่ได้กินเฉยๆ ต้องดื่มของมึนเมาประกอบไปด้วย ซึ่งไม่จำเป็นเลย เป็นการสูญเสียทรัพย์ที่หามาด้วยความยากลำบาก สูญเสียเวล่ำเวลา ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย  ความสุขก็เป็นความสุขแบบควันไฟ ที่ลอยมาแล้วก็กระจายหายไปในอากาศ สุขในขณะที่เรารับประทานกันเท่านั้นเอง พอแยกกันกลับบ้านแล้วก็หายไปหมดเลย  ทิ้งไว้แต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ทิ้งไว้แต่ความอยากที่จะต้องโทรศัพท์ชวนกันไปหาความสุขแบบนั้นอีก  ความสุขของเราจะเป็นแบบนี้ไปตลอดชีวิต

 

นี่คือวิถีทางของคนในโลก  หาความสุขกันแบบนี้  ไม่เคยเจอความอิ่มความพอในจิตใจเลย  ความอิ่มความพอจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราระงับดับความอยากต่างๆ  แม้จะเป็นชั่วขณะหนึ่งก็เป็นความสุขที่มีคุณค่ามาก สมมุติวันนี้อยากจะออกไปกินข้าวกับเพื่อนฝูง   อยากจะออกไปดูหนัง  แต่ตัดสินใจไม่ไป จะขออยู่บ้าน ไหว้พระสวดมนต์นั่งทำสมาธิ  ทำอย่างจริงๆจังๆ ก็อาจจะสงบได้  จะได้กำไรกว่าการออกไป  ได้ทรัพย์ภายในแล้วหนึ่งชิ้น  ถ้าทำไปเรื่อยๆ ก็จะสะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ จะไม่มีใครพรากจากเราไปได้  ยิ่งมีมากเท่าไร ความอิ่มความพอ ความสุขก็ยิ่งมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ  ต่อไปจะไม่อยากโทรศัพท์ไปหาใคร ไม่อยากจะให้ใครโทรศัพท์มาหา  จะปิดเครื่องตลอดเวลา จะเปิดก็ต่อเมื่อมีธุระจำเป็นเท่านั้น  เพราะมีความสุขอยู่ตามลำพังของเรา 

 

พอไปอยู่กับเพื่อนก็จะฟังแต่เรื่องรำคาญใจ เดี๋ยวคนนั้นบ่นเรื่องนั้นให้ฟัง คนนี้ก็บ่นเรื่องนี้ให้ฟัง  มีแต่ปัญหามาระบายกันทั้งนั้น ไม่มีอะไรหรอกเวลาเจอกัน พอทุกคนได้ระบายแล้ว ทุกคนก็สบายใจ  เราก็ได้ระบายของเรา เขาก็ได้ระบายของเขา แต่มันไม่ใช่เป็นวิธีระบายที่ถูกต้อง เดี๋ยวก็มีเรื่องใหม่มาให้ระบายอีก เพราะเราชอบไปเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาใส่ใจเรา  แทนที่จะปลดเปลื้องปล่อยวาง ไม่ไปยุ่งเกี่ยว  กลับเอาเข้ามาแบกในจิตในใจ  การเดินตามครูบาอาจารย์จึงเป็นการเดินที่ถูกต้องแล้ว เดินตามพระพุทธเจ้านี้ถูกแล้ว  สิ่งที่เราต้องมีในเบื้องต้นก็คือศรัทธา  ขอให้เชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อครูบาอาจารย์  แล้วพยายามทำในสิ่งที่ท่านสอนให้เราทำ เพราะถ้าเราไม่มีความเชื่อ  เราจะไม่มีอาวุธทำลายป้อมปราการที่กิเลสสร้างห้อมล้อมจิตใจของเราไว้  กิเลสไม่ต้องการให้ธรรมะเข้าไปในใจ เพราะถ้าธรรมะเข้าไปในใจแล้วกิเลสก็จะถูกทำลายไป  มันจึงสร้างป้อมปราการ สร้างกำแพงไว้ป้องกัน ไม่ให้ธรรมะเข้าสู่ใจของเราได้  

 

สังเกตดูเวลาเราจะปฏิบัติธรรม จะรู้สึกเหมือนกับจะไปปีนเขา มันจะสร้างความรู้สึกยากลำบากเสมอ  เวลาจะทำบุญทำทาน  เวลาไปรักษาศีลจะรู้สึกว่ายากลำบาก ถ้าเปรียบกับเวลาที่จะไปเที่ยวนี่ต่างกันมาก  มีเงินก้อนหนึ่งนี่ ถ้าให้เลือกระหว่างไปเที่ยวกับไปทำบุญ   ไปเที่ยวเหมือนกับการเดินลงเขา แต่เอาเงินไปทำบุญนี้เหมือนกับเดินขึ้นเขา หมายถึงคนที่ยังไม่เคยทำบุญมาก่อน แต่ถ้าเคยทำจนติดเป็นนิสัยแล้ว  จะเป็นตรงกันข้ามกัน ถ้าจะเอาเงินไปใช้ฟุ่มเฟือย ไปเที่ยว จะรู้สึกเสียดาย  แต่ถ้าเอาไปทำบุญแล้วจะมีความสุข นี่แสดงว่าได้ฝ่ากำแพงของกิเลสไปได้ขั้นหนึ่งแล้ว  คือความตระหนี่ ความอยากจะใช้เงินไปกับของฟุ่มเฟือย ความอยากจะใช้เงินไปกับการซื้อความสุขต่างๆในโลก ได้ถูกทำลายไปเพราะอาศัยศรัทธาในเบื้องต้น  เชื่อว่าการทำบุญเป็นสิ่งที่ดี การให้ทานเป็นประโยชน์กับเราจริงๆ

 

ในเบื้องต้นก็ฝืนทำไปก่อน  เหมือนกับกินยาขม หมอบอกว่ายาขมมีประโยชน์ ทำให้สุขภาพดีขึ้น  เราไม่ชอบรับประทาน แต่เราเชื่อหมอ ก็พยายามฝืนรับประทานไป เช่นพวกมะระ  เด็กๆจะไม่ชอบกินกัน เพราะขม  แต่ผู้ใหญ่เมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เมื่อได้รับการแนะนำให้กินของพวกนี้  ก็เชื่อหมอ พยายามฝืนกินไปเรื่อยๆจนติดเป็นนิสัยขึ้นมา  จนชอบของขมไป ฉันใดการทำบุญทำทาน การรักษาศีล  การภาวนาก็เช่นเดียวกัน ต้องมีศรัทธาเป็นหัวหอกคอยทะลุทะลวงเกราะที่กิเลสสร้างขวางไว้  ไม่ให้เข้าสู่ใจของเรา พยายามทำไป ถึงแม้จะไม่ชอบทำ ก็ฝืนทำไป  ทำไปเรื่อยๆ แล้วจะเริ่มเห็นผล จะมีกำลังใจ ศรัทธาก็หมดหน้าที่ไป เพราะมีปัญญามาแทนที่  เห็นว่าการทำบุญทำทานนี้ดีจริงๆ เกิดประโยชน์กับใจของเราจริงๆ ต้องขอบใจคนที่ให้เราได้ทำบุญทำทานเสียด้วยซ้ำไป  ถ้าไม่มีคนเดือดร้อนแล้ว ก็จะไม่ได้ทำบุญทำทาน คนที่เดือดร้อนจึงมีประโยชน์กับเรา เป็นเหตุให้เราได้มีโอกาสทำบุญทำทาน

 

ลองทำไปเถิด เมื่อทำแล้วเห็นผล  ต่อไปจะติดนิสัยทำบุญ เรื่องการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆจะหมดไปเอง   สังเกตดูคนที่ชอบทำบุญทำทานมักจะอยู่แบบเรียบง่าย แต่เวลาทำบุญทำทานทำเยอะ เสื้อผ้าที่ใส่ก็เป็นเสื้อผ้าธรรมดา ไม่หรูหราอะไร  ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย  ขั้นสูงสุดก็แบบครูบาอาจารย์  ท่านทำบุญทำทานขนาดไหน สิ่งที่ท่านได้มาทั้งหมดนี้ท่านไม่ได้เก็บไว้เลยแม้แต่นิดเดียว  ท่านเอาไปทำประโยชน์ให้แก่โลกทั้งหมด เพราะท่านเห็นประโยชน์ท่านจึงทำ  ถึงแม้ตัวท่านเองจะไม่ได้รับประโยชน์จากการทำทานแล้วก็ตาม  เพราะจิตของท่านนั้นเต็มเปี่ยมแล้ว  ถ้าเป็นน้ำในแก้วก็ล้นแล้ว  เต็มแล้ว จะเทน้ำเข้าไปเท่าไรก็ไม่ได้ทำให้มีน้ำมากขึ้น   คือความสุข ความอิ่มใจของท่านนี้ เต็มเปี่ยมอยู่แล้ว แต่ที่ท่านทำก็เพราะ   ๑. เป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์ลูกหาได้มีกำลังจิตกำลังใจ  ๒. สงเคราะห์ผู้ที่เดือดร้อน ถ้าท่านไม่ทำ ท่านอยู่เฉยๆ ท่านก็ไม่เดือดร้อนอะไร  แต่ญาติโยมจะไม่มีโอกาสได้ทำบุญทำทาน  คนที่เดือดร้อนก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการทำบุญทำทานของญาติโยม แต่คนที่เหนื่อยก็คือองค์ท่านนั้นแหละ ความจริงท่านอยู่เฉยๆท่านก็สบายอยู่แล้ว

 

นี่คือการเสียสละของพระจริงๆ  ทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นจริงๆ ตัวท่านเองท่านได้ประโยชน์ของท่านเต็มที่แล้ว อย่างพระพุทธเจ้า  ที่เรารำลึกถึงในวันวิสาขบูชา  วันเพ็ญเดือน๖ วันที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ หลังจากนั้นแล้วพระองค์จะไม่ทรงทำอะไรก็ได้  ก็ไม่เดือดร้อนอะไร  แต่ยังทรงสละเวลาถึง ๔๙ พรรษาด้วยกัน  ทำประโยชน์ให้กับสัตว์โลก ทำให้คนได้หลุดพ้นจากความทุกข์นับเป็นจำนวนไม่ถ้วนจนถึงปัจจุบันนี้ พวกเราก็มีส่วนได้รับอานิสงส์จากการตรัสรู้  และการนำเอาสิ่งที่พระองค์ทรงรู้มาเผยแผ่ให้กับสัตว์โลก ถ้าไม่มีพระองค์แล้ว พวกเราทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร  อาจจะหลงยุ่งอยู่กับการไปช้อบปิ้งอยู่แถวสยามพารากอนก็ได้  แทนที่จะมานั่งอยู่ในป่าในเขาแบบนี้ อาจจะไปดูหนังไปตามชายแดนไปเล่นการพนันกันก็ได้ เพราะเป็นพวกหูหนวกตาบอด พวกที่ไปสยามพารากอน ไปเข้าโรงหนัง ไปบ่อนการพนัน  เป็นพวกหูหนวกตาบอดทั้งนั้น  พวกเราถึงแม้จะตาไม่ดีเต็มที่  หูไม่ดีเต็มที่  แต่อย่างน้อยก็พอจะได้ยิน ยังพอจะเห็นอะไรรางๆอยู่บ้าง จึงพยายามตะเกียกตะกายมาทำบุญกัน ฝนตกแดดออกอย่างไรก็ยังฝ่าฟันกันมา แสดงว่ามีบุญมีกุศล ได้สะสมบุญกุศลมาทั้งในอดีตและในปัจจุบัน 

 

บุญกุศลที่จะได้มาใหม่นี้ ไม่ได้เกิดจากอดีตนะ  แต่เกิดจากปัจจุบันที่เรามีโอกาสตักตวงได้เต็มที่เลย  ในอดีตเราอาจจะสะสมมาได้เพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์  ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก ๘๐ หรือ ๙๐ เปอร์เซ็นต์นี่ เราสามารถสะสมได้ในชาตินี้ทั้งหมดเลย ถ้าเชื่อในพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ตามที่ตถาคตได้แสดงไว้  อย่างช้าไม่เกิน ๗ ปี ถ้าเร็วคือพวกที่ฉลาดกิเลสเบาก็ ๗ วัน ก็สามารถเสร็จงานที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้ทำได้ อย่าไปคิดว่าจะต้องสะสมเป็นกัปเป็นกัลป์เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าต้องทรงสะสมมา เพราะไม่มีใครสอนไม่รู้จักทาง ไม่รู้จักวิธี เลยต้องทรงทดลองทุกอย่าง  ต้องใช้เวลามาก เหมือนกับคนที่หลงทางในป่า ไม่มีคนนำทาง ต้องเดินหาทางไปเรื่อยๆ วนไปอยู่เรื่อยๆ ก็ต้องใช้เวลายาวนาน แต่พวกเรามีคนนำทาง  เราหลงอยู่ในป่าแต่เรามีคนนำทาง มีพระพุทธเจ้าทรงนำทาง  มีครูบาอาจารย์นำทางอยู่แล้ว เราทำไมไม่เดินตามท่าน  ถ้าเดินตามเพียงไม่กี่วันก็พ้นจากป่า ไปสู่ที่ปลอดภัย  ไปสู่ที่เกษม ไปสู่ที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีภัยต่างๆ  มีแต่ความสุขไปตลอดอนันตกาล

 

โอกาสอย่างนี้หาไม่ได้ง่ายๆ  ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ มาเจอธรรมะ เจอพระพุทธศาสนา เจอพระพุทธเจ้า โอกาสหน้าจะไม่มีอย่างนี้อีก เหมือนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑  จึงควรรีบไปขึ้นเงินเสีย  อย่าเอาไปเผาทิ้ง พวกเราเหมือนกับถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ แล้ว เพียงแต่ต้องเดินไปขึ้นเงินเองเท่านั้น ก็ยังขี้เกียจเดินกันเลย  ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร  วิธีเดินไปขึ้นเงินก็คือการบำเพ็ญทานศีลภาวนา พยายามทำไป ทานเราก็ทำไปตามฐานะของเรา  อย่าไปหาเงินมาเพื่อทำทาน อันนี้ไม่ใช่เป็นการทำทาน  การทำทานคือการทำในส่วนที่เรามีเหลืออยู่ สละในส่วนที่เราจะเอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่นวันนี้จะไปซื้อเสื้อชุดใหม่สักชุดหนึ่ง  เราก็เอาเงินที่จะซื้อชุดใหม่นี้มาทำทาน  จะเอาเงินนี้ไปกินอาหารกับเพื่อนฝูง ไปเลี้ยงฉลองกัน  ก็เอามาทำทานเสีย อดข้าวเย็นสักมื้อหนึ่งแทน  ถือศีล ๘ อย่างนี้จะได้ประโยชน์  ใจก็ได้ประโยชน์  เงินที่เอาไปทำบุญก็เป็นประโยชน์กับผู้อื่น  จิตใจเราก็พัฒนาไปเร็วขึ้น  นี่คือความหมายของการทำทาน ไม่ได้ให้ไปทำมาหากินหาเงินมาเยอะๆเพื่อมาทำทาน อย่างนี้ก็จะไม่มีเวลาที่จะทำอย่างอื่นได้  เช่นรักษาศีลและภาวนา

 

เพราะนอกจากทานแล้วยังมีศีลที่จะต้องรักษา  มีงานภาวนาที่ต้องบำเพ็ญ ซึ่งต้องใช้เวลามาก  ถ้าทุ่มเทได้มากเท่าไรผลก็จะออกมามากเท่านั้น  ถ้าให้เวลากับมันน้อย ผลก็จะออกมาน้อย ถ้าออกบวชได้แล้วรับรองว่าชาตินี้มีสิทธิ  ถ้าสามารถออกบวชได้  จัดการกับทุกสิ่งทุกอย่างให้เรียบร้อยได้  ไม่ได้บวชแบบมีปัญหาตามมา  ภาระหน้าที่อะไรที่ยังมีอยู่  ก็ต้องจัดการให้หมดสิ้นไป จะได้ไม่มีอะไรมาคั่งค้างในจิตในใจ  ถ้าไปแบบนั้นแล้วรับรองได้ว่าไม่ยาก  ไม่นาน แต่ต้องปฏิบัติตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นกระทั่งหลับเลย  ในเบื้องต้นก็กำหนดสติอยู่กับตัวอยู่เสมอ นี่เป็นการปฏิบัติขั้นที่หนึ่ง  ๒. พยายามระงับดับความคิดปรุงต่างๆ  อย่าไปคิดเรื่องอดีตที่ผ่านมา เรื่องราวต่างๆของคนนั้นของคนนี้ อย่าไปสนใจ สวดมนต์ไปภายในใจ ในอิริยาบถทั้ง ๔ ทำอะไรก็สวด อิติปิ โส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ไปในใจ จะบริกรรมพุทโธๆๆคำดียวก็ได้ เจริญพุทโธอยู่ในอิริยาบถ ๔ ตลอดเวลา เป็นการกำจัดความคิดต่างๆ ให้เบาบางลงไป เวลานั่งทำสมาธิ  ทำจิตให้สงบ จะสงบง่าย จะรวมลงง่าย

 

เมื่อรวมลงสงบแล้ว ทีนี้จะมีฐานของปัญญา  พอพิจารณาเห็นว่าอะไรไม่ดีก็ตัดได้  ถ้าไม่มีสมาธิเวลาเห็นอะไรไม่ดีก็ยังหยุดไม่ได้ เพราะไม่มีแรง  แรงหยุดก็คือสมาธินี่เอง  เพราะเวลาจิตรวมลงเป็นสมาธิแล้ว จิตจะหยุดทำงาน เวลาอยากจะหยุดทำอะไรที่ไม่ดี  ถ้าไม่รู้จักหยุด จะหยุดได้อย่างไร แต่เมื่อรู้จักหยุดแล้ว รู้จักทำจิตให้หยุดแล้ว  สั่งให้หยุดคิดก็หยุด  สั่งให้หยุดโกรธก็หยุดโกรธ  สั่งให้หยุดโลภก็หยุดโลภ เราก็สามารถสั่งได้ถ้ามีสมาธิเป็นพื้นฐาน  ถ้ามีสมาธิแต่ไม่มีปัญญา ก็ไม่รู้จะเอาสมาธิไปใช้กับอะไร  ต้องมีปัญญาเป็นผู้แยกแยะว่าอะไรเป็นโทษ อะไรเป็นคุณ  อย่างที่เมื่อสักครู่นี้ได้ฟังเรื่องปัญญาแล้วว่า การใช้เงินแบบฟุ่มเฟือยนี้เป็นโทษ ไม่เป็นคุณ ไม่เกิดประโยชน์อะไร   แต่ถ้าไม่มีสมาธิเราหยุดไม่ได้  พอไปเดินห้างฯก็อดไม่ได้  แต่ถ้าทำจิตให้สงบได้แล้ว   รับรองได้ว่าจะไม่เอาอีกแล้วของฟุ่มเฟือยทั้งหลาย

 

สมาธิจึงเป็นตัวสำคัญ ในการสนับสนุนการทำงานของปัญญา  ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญญาแบบสัญญา  รู้ว่าไม่ดี แต่ก็หยุดไม่ได้  รู้ว่านิสัยไม่ดี ชอบบ่น ชอบจู้จี้  แต่ก็หยุดไม่ได้ แต่ถ้ามีสมาธิ รู้ว่านิสัยอย่างนี้ไม่ดี ก็หยุดได้  ต่อไปจะไม่จู้จี้ ไม่ขี้บ่น ทำได้ถ้ามีสมาธิ เพราะสมาธิเป็นตัวหยุด อย่าไปสนใจว่าคนอื่นจะสอนอย่างไร  เช่นไม่จำเป็นต้องมีสมาธิ ใช้ปัญญาเลย  อาจจะใช้ได้ในบางกรณี  บางครั้งบางคราว เช่นไม่สามารถกล่อมจิตให้สงบได้ด้วยพุทโธ  ก็อาจจะต้องใช้ปัญญาเข้าไปสกัด อย่างที่ได้อธิบายในเบื้องต้น  ไปยุ่งไปวุ่นวายกับเรื่องอะไร ก็พิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ในเรื่องนั้น  แล้วก็จะปล่อยวาง สงบลงได้ แต่สมาธิที่เราต้องการนั้นคือสงบอย่างเต็มที่ ให้รวมลง ให้หยุดนิ่งไปเลย  ไม่มีการคิด การปรุงอะไรต่างๆ นั่นคือสมาธิที่เราต้องการ ถ้าเป็นรถยนต์ก็ให้จอดแบบนิ่งสนิทเลย รถไม่ไหลเลย ต่อไปเวลาจะหยุดเราก็หยุดได้ เวลาอยากจะทำอะไรที่เรารู้ว่ามันไม่ดี เราก็หยุดได้ 

 

คำว่ารู้ว่าไม่ดีนี้ก็คือปัญญานั่นเอง ถ้ายังไม่รู้  ก็ยังทำอยู่ ก็ทำเพราะความหลง จึงต้องอาศัยการได้ยินได้ฟัง  การศึกษาจากผู้อื่น  ว่าอะไรไม่ดี เช่นฟังเทศน์ฟังธรรมของครูบาอาจารย์ ท่านก็สอนว่านี่ไม่ดีนะ  อย่าไปทำ  เราก็พยายามหักห้ามจิตใจเรา จะหยุดได้มากน้อยเพียงไร จะเลิกได้มากน้อยเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับกำลังของสมาธิที่เรามีอยู่   ถ้ามีสมาธิเต็มร้อย ก็สามารถเลิกได้เลย ถ้ายังห้าสิบๆ ก็ยังเลิกไม่ได้เต็มที่ สมาธิและปัญญาจึงมีความเกี่ยวดองกัน  มีความสำคัญด้วยกันทั้งคู่ ถ้ามีแต่สมาธิแล้วไม่เจริญปัญญา ก็ไม่สามารถชำระสิ่งที่ไม่ดีต่างๆที่มีอยู่ในใจได้ ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ  รู้ว่านั่นไม่ดี รู้ว่านี่ก็ไม่ดี แต่ไม่มีสมาธิก็กำจัดไม่ได้ ชำระไม่ได้   รู้ว่าโลภไม่ดี รู้ว่าโกรธไม่ดี  แต่ถึงเวลาก็อดที่จะโลภไม่ได้  อดที่จะโกรธไม่ได้ แต่ถ้ามีสมาธิแล้ว  รู้ว่านี่ไม่ดีนะ ก็จะเลิกได้ หยุดได้ การปฏิบัติจึงต้องเป็นไปตามขั้นตอน  เริ่มต้นไปตั้งแต่ทาน ขึ้นไปหาศีล หาสมาธิ หาปัญญา ไปสู่วิมุตติหลุดพ้น หลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น หลุดพ้นจากความหลงทั้งหลาย 

 

เราจะสามารถดำเนินตามรอยของครูบาอาจารย์ได้เต็มร้อย ก็เกิดจากศรัทธาในเบื้องต้น เชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อครูบาอาจารย์ เชื่อพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ท่านสอนให้เราทำทาน  ทำไปเถิดไม่ต้องเสียดาย รักษาศีลก็รักษาไป บางคนก็ว่ารักษาศีลแล้วไม่รวย ไม่เจริญ  ไม่เป็นไร  ความรวยไม่ใช่เป็นความเจริญ ความเจริญอยู่ที่ศีล คนที่ไม่มีศีลจะเจริญได้อย่างไร ต่อให้รวยเป็นมหาเศรษฐีแต่ถ้าเป็นคนโกหก ไม่มีคนเชื่อถือแล้ว  จะไปเจริญได้อย่างไร คนไม่มีเงินแต่มีศีลนี่ กลับเป็นคนที่เขากราบไหว้บูชากัน  ที่เรากราบไหว้พระนี้ไม่ได้กราบเพราะท่านมีเงินทองแจก  เรากราบท่านเพราะท่านมีศีล จากศีลก็ภาวนา พยายามหาที่สงบ หาเวลาภาวนาให้มาก  อยากจะภาวนาให้มากก็ต้องอยู่ในที่อีกแบบหนึ่งจึงจะได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะการภาวนาหมายถึงการทำงานทางด้านจิตใจล้วนๆ ไม่ควรที่จะมีภารกิจภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องยกเว้นภารกิจที่จำเป็นเท่านั้น

 

ภารกิจของพระก็คือการบิณฑบาต  ปัดกวาดลานวัด อาบน้ำอาบท่า ดูแลรักษาร่างกาย  กวาดถูศาลากุฏิ งานภายในนี้สำคัญ  เป็นงานรื้อภพรื้อชาติ  ไม่ใช่เป็นงานเล็กๆน้อยๆ  รื้อภพชาติ รื้อวัฏสงสาร ทำลายอวิชชา  เป็นสงครามอันใหญ่ยิ่งที่จะต้องทำกัน และไม่มีใครทำแทนเราได้ ไม่มีใครทำให้เราได้ พระพุทธเจ้าก็ทำให้เราไม่ได้ ครูบาอาจารย์ก็ทำให้เราไม่ได้  พ่อแม่ก็ทำให้เราไม่ได้  เพื่อนสนิทมิตรสหายก็ทำให้เราไม่ได้  มีเราคนเดียว อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน  ขอให้ปลูกฝังศรัทธาให้มีความแน่วแน่มั่นคง อย่าท้อแท้ เวลาท้อแท้ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระอริยสงฆ์ ท่านตะเกียกตะกายล้มลุกคลุกคลานลำบากลำบน จึงจะผ่านไปได้ ไม่มีใครผ่านทางนี้ไปได้ด้วยความสะดวกสบาย  ต้องผ่านนรกไปก่อน จึงจะไปถึงสวรรค์ได้ หลวงปู่ขาวท่านเคยพูดไว้ว่า  นิพพานมันอยู่ฟากตายนะ  ถ้าไม่เอาชีวิตเข้าไปแลก ก็จะไม่ได้

 

ความลำบากลำบนเล็กๆน้อยๆของเราขณะนี้ ยังไม่ถึงขั้นเอาชีวิตเข้าไปแลก จึงไม่ต้องไปกลัวมัน เมื่อปฏิบัติไปแล้วจะรู้เองว่าจะต้องเอาชีวิตเข้าไปแลกเมื่อไหร่ คนเราทุกคนเกิดมามีความกลัวตายด้วยกันทุกคน  เป็นสิ่งที่จะต้องเอาชนะให้ได้  ถ้ายังมีความกลัวตายอยู่แล้ว ไม่มีทางที่จะผ่านไปได้  ถ้าปฏิบัติไปแล้วต่อไปจะเริ่มเห็นเอง  ปัญหาที่มาขวางความสงบของใจ  จะรู้ว่ามันเป็นอะไร จะรู้ว่าวิธีแก้เป็นอย่างไร  ในภาคปฏิบัตินี้จะต้องผ่านเหมือนกันทุกคน เพราะโรคมันโรคเดียวกัน ยาที่ใช้รักษาก็ชนิดเดียวกัน เพียงแต่หนักเบาต่างกันไป

 

ถาม     ท่านอาจารย์คะ เรื่องศรัทธานี่ บางครั้งก็มีคำถามอยู่เหมือนกัน

 

ตอบ     อย่าไปถามสิ  เชื่ออย่างเดียว คนตาบอดอย่าไปสงสัยคนตาดี ในเบื้องต้นก็ต้องหาคนที่เราเชื่อถือได้จริงๆ  ถ้าไม่ได้ก็ต้องใช้ปัญญาประกอบไปก่อน  พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงสอนให้เชื่อแบบหูหนวกตาบอด  ต้องมีเหตุมีผล  อย่างในกาลามสูตรก็ทรงสอนว่า  ไม่ให้เชื่อเพราะเขาเป็นอาจารย์ของเราฯลฯ แต่ให้เชื่อเพื่อเอาไป พิสูจน์ดูว่าดีจริงหรือไม่  เชื่อแบบคนไข้เชื่อหมอ หมอให้ยามาก็รับประทานดู  ถ้าไม่รับประทาน  จะรู้ได้อย่างไรว่ายาที่หมอให้มารับประทานนี้  รักษาโรคได้หรือไม่  ถ้าไม่รับประทานยาก็จะไม่รู้  แต่ถ้ารับประทาน จะรู้ว่ารักษาได้หรือไม่  ถ้ารับประทานหมดแล้วโรคยังเหมือนเดิม  ก็แสดงว่ายาไม่ถูกกับโรค  ต่อไปหมอจะให้ยานี้มารับประทานอีกก็ไม่เอา  แต่ถ้ารับประทานแล้วอาการดีขึ้นตามลำดับ พอยาหมดก็ต้องกลับไปหาหมอ ขอยามาเพิ่ม

 

           ฉันใดก็ฉันนั้น  พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราทำทานก็ทำไปสิ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ  อย่าทำเพื่อหวังผลตอบแทน อย่าทำเพื่อเอาหน้าเอาตา ลองทำแบบปิดทองหลังพระดูสิ อย่าไปปิดทองหน้าพระ  ทำไปเพื่อความสุขใจ  ไม่ต้องให้ใครรู้ว่าเราทำ  แล้วจะเกิดความสุขขึ้นมาในใจ  แต่ต้องพิจารณาด้วยว่า  ทำแล้วเกิดประโยชน์หรือไม่ ถ้าสร้างอะไรที่ไม่จำเป็นจะสร้างทำไม  ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปสร้าง  คนที่อดข้าวจะตายกลับไม่สงสาร  ไม่ดูแล ถึงแม้เขาจะเป็นคนไม่ดี  แต่ก็ควรคำนึงถึงมนุษยธรรม  แม้แต่ตำรวจเวลาจับผู้ต้องหามา  ถ้าถูกยิงบาดเจ็บก็ยังต้องเอาตัวไปรักษาก่อน  ในเมื่อคนเดือดร้อนยังมีอยู่อีกมาก อดข้าวอดปลา อดอยากขาดแคลน  ทำไมไม่ช่วยเขาบ้าง  ถ้าช่วยโดยไม่หวังผลตอบแทน  จะมีความอิ่มเอิบใจ  เพราะได้ช่วยให้เขามีความสุข เมื่อเขามีกำลังวังชาแล้ว  จะไปประพฤติสำมะเลเทเมา  ก็ปล่อยเขาไปตามเรื่อง ถ้าซมซานกลับมาอีกไม่มีที่ไป  ไม่มีข้าวกิน ก็ช่วยกันไป  เหมือนกับเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่ง ไม่ให้มันตาย

 

ถาม    ความระแวงสงสัยก็บั่นทอนศรัทธา บั่นทอนกำลังใจได้เหมือนกัน  อาจจะเป็นเพราะเราให้ความสำคัญมั่นหมายกับเรื่องนั้นมากเกินไปหรือเปล่าครับ ต้องวางๆเสียบ้าง

 

ตอบ     ก็ทำในสิ่งที่เรามีความมั่นใจก็แล้วกัน นี่พูดในกรณีทำทานนะ  เราก็ทำในสิ่งที่เรามีความมั่นใจ  อันไหนที่เราไม่มั่นใจก็ไม่ต้องทำ  ทำเพื่อจะได้ขยับขึ้นสู่ธรรมที่สูงขึ้น  คือศีลสมาธิปัญญา  ที่ไม่มีอะไรจะต้องสงสัย  การรักษาศีล เราก็รู้ว่าดี  การภาวนาเราก็รู้ว่าดีเรื่องให้ทานนี้อย่าไปกังวลมากจนเกินไป  ทำที่เรามีความมั่นใจ  ทำให้หมดไปเลย  มีอยู่เท่าไรทำให้หมดไปเลย  ให้หมดเนื้อหมดตัวไปเลย จะได้หมดเรื่องไป  เก็บไว้เท่าที่จำเป็น  เท่าที่จะต้องใช้  ส่วนที่ไม่จำเป็นก็ให้ไปเลย  กับคนที่เราไม่สงสัย  เรามีความมั่นใจ 

 

ถาม     บ่อยครั้งไปหาครูบาอาจารย์ๆก็สอนว่า  เข้าวัดมานานแล้ว ทำทานมามากแล้ว  ภาวนาให้มากๆจะดีกว่า  ท่านว่าอย่างนั้น บางทีเราก็อดไม่ได้ เพราะนิสัยทำทานมันมีมานาน

 

ตอบ    ไม่ใช่นิสัยทำทานหรอก  ขี้เกียจภาวนามากกว่า  ทานมีไว้เพื่อให้เรากำจัดสิ่งที่เรามีเกินความจำเป็น เป็นการเบรกความโลภด้วย ไม่อย่างนั้นก็อยากจะหาเงินมาเยอะๆ ไม่เคยถามเลยว่าหามาทำไม ถ้าหามาเพื่อเอาไปทำทาน หามาทำไม  ก็วนอยู่อย่างนี้  หามาแล้วก็เอาไปทำทาน ก็ไม่ได้ไปไหนสักที  เหตุที่เราต้องหาเงินเพราะต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเรา  ถ้าโชคดีหรือมีความสามารถหาได้มากกว่าที่ต้องการ  ก็เอาไปทำบุญทำทานเสีย  แทนที่จะเอาไปใช้ซื้อของฟุ่มเฟือย  แทนที่จะใช้สบู่ก้อนละร้อย  ใช้ก้อนละสิบบาทก็ได้  แต่ถ้าหามาได้เยอะ  ใช้ก้อนละร้อยก็ได้  เพราะมีเงินพอ  แต่ไม่ได้ทำทาน  ก็จะติดกับการใช้ของฟุ่มเฟือย เงินก็จะไม่พอใช้  ไม่ได้ก้าวขึ้นสู่ขั้นศีล เพราะการหาเงินนี้ถ้าไม่ระวัง  ก็อาจจะทำผิดศีลได้  ในหลายกรณี  เช่นเป็นลูกจ้างที่ไม่ทำงานตามเวลาที่ให้ทำ  ก็เหมือนกับลักทรัพย์แล้ว  เอาเวลาทำงานไปอู้เสีย ไปทำอะไรอย่างอื่น  นั่งกินกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์  อย่างนี้ก็เท่ากับการลักทรัพย์แล้ว  คือเงินเดือนที่จ่ายให้เป็นค่าแรง  แต่ไม่ได้ทำงาน ทำให้ศีลบกพร่องด่างพร้อย    ถ้าเป็นคนระมัดระวังศีล  ก็จะทำงานตามหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง เงินทองที่หามาจึงได้มาด้วยความลำบากยากเย็น  เพราะต้องทำเต็มที่ เวลาจะใช้เงิน จึงใช้ด้วยความระมัดระวัง แต่ถ้าหาเงินมาด้วยวิธีที่ไม่ถูกแต่ง่าย  ก็จะใช้เงินง่าย  การทำมาหากินควรทำเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง  ส่วนเกินก็เอาไปทำบุญทำทาน แล้วก็พยายามหาเวลาไปภาวนา  เมื่อเริ่มเห็นผลแล้ว จะเบื่อกับการทำงานทางโลก จะสะสมเงินทองไว้เพื่อสนับสนุนในการภาวนา  จะได้มีเวลาบำเพ็ญภาวนาได้อย่างเต็มที่ 

 

ญาติโยม  คนนี้กำลังรอฟังผลสอบเอ็นทรานซ์อยู่ 

 

ท่านอาจารย์  ถ้าทำดีเราก็ได้ดี  ทำไม่ดีก็ไม่ได้  จะเป็นปัญญาชนจะสอบเอ็นทรานซ์  แต่ไม่มีเหตุมีผล จะเป็นปัญญาชนได้อย่างไร  ถ้ายังงมงายอยู่กับเรื่องไสยศาสตร์  จะได้หรือไม่ได้ ไม่ได้อยู่ที่ใคร  มันอยู่ที่ตัวเรา เราตั้งใจเรียนหนังสือหรือเปล่า  ถ้าไม่ตั้งใจ ทำไม่ได้ก็ไปโทษใครไม่ได้  ต้องโทษตัวเราเอง  จะได้ไม่ได้ไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญของชีวิต  ไม่ได้อย่างนี้ก็ไปเอาอย่างอื่นแทนก็ได้

 

ถาม     ท่านอาจารย์คะตามพระวินัย พระภิกษุใช้สบงจีวรได้กี่ชุดคะ

 

ตอบ    ไม่มีห้าม  เพียงแต่ว่าต้องทำวิกัป หรืออธิษฐานเป็นผ้าบริขาร  คือจะเป็นผ้าครองไม่ได้  ผ้าครองนี้พระมีได้ชุดเดียว มีผ้าไตร ๓ ผืน ผ้าสบง จีวร แล้วก็สังฆาฏิ เรียกว่าผ้าไตรจีวร ๓ ผืนนี้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นสมบัติที่เป็นส่วนหนึ่งของบริขาร ๘  แต่ถ้าจะมีมากเกินกว่านี้ก็มีวิธีทำ ๒ ลักษณะ  ถ้าวัดในเมืองอย่างวัดบวรฯนี้จะทำวิกัป  คำว่าวิกัปหมายถึงให้ทำเป็นของ ๒ เจ้าของ  ไม่ใช่เป็นของเราคนเดียว สมมุติว่าโยมถวายผ้าสังฆาฏิมาให้ใหม่ผืนหนึ่ง  แล้วอาตมาอยากจะเก็บไว้ใช้  ก็ต้องไปทำวิกัปกับพระอีกรูปหนึ่ง  บอกว่าผ้าผืนนี้ขอเราร่วมเป็นเจ้าของกัน ๒ คน แต่ผมจะเก็บไว้  ถ้าเกิดท่านมีความจำเป็นต้องการจะใช้ก็เอาไปใช้ได้  คือไม่ให้เป็นสมบัติของตนเอง  เรียกว่าวิกัป แต่ทางสายพระป่าท่านจะอธิษฐานเป็นผ้าบริขาร เช่นผ้าอังสะ ผ้าปูนั่ง ผ้าอาบน้ำ  จะอธิษฐานเป็นผ้าบริขาร  ไม่เป็นผ้าครอง  ถ้าถือธุดงค์วัตรก็จะมีเพียง ๓ ผืน ถ้าถือผ้าบังสุกุลก็ต้องเป็นผ้าที่เอามาตัดมาเย็บเอง ผ้าที่ถูกทิ้งอยู่ในป่าแล้วไปเก็บมาใช้  จะไม่ใช้ผ้าที่ทำสำเร็จรูปแล้วเอามาถวาย  อย่างหลวงปู่มั่นท่านจะถือผ้าบังสุกุล  ญาติโยมจะเย็บผ้าจีวรสำเร็จมาถวายท่านๆจะไม่ใช้  ท่านจะใช้แต่ผ้าที่เขาทิ้งไว้ในป่า แล้วไปเก็บมาตัดมาเย็บเอง  นี่คือผ้าบังสุกุล ผ้าป่า

 

ถาม    แล้วที่นี่ใช้แบบไหนเจ้าคะ

 

ตอบ    ที่นี่จะวิกัปก็ได้ จะอธิษฐานเป็นผ้าบริขารก็ได้ เพราะที่นี่เป็นลูกครึ่งผสมกัน วัดบวรฯก็มี วัดป่าก็มี

 

ถาม    การทำพินทุล่ะคะ

 

ตอบ    พินทุนี้เป็นการทำตำหนิที่มุมผ้าให้รู้ว่าเป็นผ้าของใคร เพราะเป็นผ้าสีเหลืองเหมือนกันหมดทุกองค์  เวลาได้ผ้าใหม่มาปั๊บก็จะต้องทำตำหนิ  ทำสัญลักษณ์ โดยหลักท่านให้ทำ ๓ จุด ที่มุมผ้า  ทีนี้การทำ ๓ จุดนี่แต่ละคนอาจจะมีเทคนิคที่จะทำไม่ให้เหมือนคนอื่น  เวลาหยิบผ้าผิดไป จะได้รู้ว่าเป็นของใคร

 

ถาม     ทำรูปลักษณ์อย่างอื่นได้ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ    ท่านวางรูปแบบมาให้ทำ ๓ จุด ก็ต้องทำ ๓ จุด แต่มุมผ้ามีหลายมุม ทำมุมบน มุมล่างก็ได้ จะได้รู้ว่าเป็นผ้าของเรา  เสร็จแล้วก็ต้องอธิษฐานจะใช้เป็นผ้าอะไร ถ้าเป็นผ้าบริขารก็อธิษฐานเป็นผ้าบริขาร   ถ้าเป็นผ้าครองก็ต้องสละผ้าเก่า  ถ้าได้ผ้าใหม่มา ผ้าเก่าก็ต้องสละไป เพราะมีผ้าครองได้อย่างละผืน