กัณฑ์ที่ ๒๓๗       ๑๑ มิถุนายน  ๒๕๔๙

 

คุณค่าของครูบาอาจารย์

 

 

 

           หลวงตามหาบัวท่านเข้มงวดกวดขันกับพระเณรมาก ท่านไม่ต้องการให้พระเณรเสียเวลากับเรื่องของกิเลส ส่วนใหญ่เรามักจะติดเรื่องของกิเลสกัน เช่นเรื่องขบเรื่องฉัน เรื่องคุยกัน ที่ไม่เกิดประโยชน์ ท่านพยายามไล่ให้ไปภาวนาอยู่ตลอดเวลา ตอนใหม่ๆก็ไม่รู้ ตอนหลังที่กลัวท่านมากก็เพราะไม่อยากจะแสดงความโง่ออกมา ถ้าท่านว่ากล่าวตักเตือนครั้งแรกแล้ว จะพยายามไม่ให้มีครั้งที่สอง พยายามจำไว้เลย เพราะท่านสอนจากจิตจากใจ สิ่งที่ท่านสอนมีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่พวกเราไม่ค่อยเห็นความสำคัญของเรื่องเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ เราก็ปล่อยมันไป ซึ่งเป็นเหมือนรอยรั่ว เป็นเหตุที่ทำให้เราไม่เจริญกัน เพราะไม่ระมัดระวังกัน การได้อยู่ศึกษากับครูบาอาจารย์จึงมีคุณมีประโยชน์มาก

 

            ในสมัยแรกๆตอนที่ปฏิบัติอยู่คนเดียว  ตอนที่เป็นฆราวาสนั้น ไม่เคยคิดอยากจะบวชเลย  คิดว่าถ้าเป็นลูกคนรวย มีเงินสักก้อนหนึ่ง แล้วไม่ต้องบวชได้นี่ ก็จะไม่บวช  จะอยู่เป็นฆราวาสปฏิบัติของเราไป ได้ตั้งใจไว้ว่าจะปฏิบัติอยู่ปีหนึ่ง  เพราะมีเงินใช้กับการปฏิบัติได้ปีหนึ่งพอดี พอหมดปีไปแล้วก็ต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร  เพราะเงินที่ใช้เลี้ยงปากเลี้ยงก็ท้องหมดพอดี มีอยู่ ๒ ทางเลือก คือไปทำงานหาเงินหาทอง แล้วก็ปฏิบัติเท่าที่เวลาจะอำนวย หรือออกบวช ก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องไปทำงาน ถ้าไปทำงานเวลาปฏิบัติก็มีน้อย ไปทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง เดินทางไปกลับอีก รวมกันอย่างน้อยก็ ๑๐ ชั่วโมง กว่าจะกลับมาถึงบ้านก็เหนื่อย เวลาที่จะปฏิบัติอย่างต่อเนื่องก็จะไม่มาก เพราะตอนที่ปฏิบัติอยู่ปีหนึ่งนั้น ได้ปฏิบัติทั้งวันทั้งคืนเลย  ทางออกก็เลยมีทางเดียว ก็คือต้องไปบวช  แต่ในใจลึกๆแล้วคิดว่า ถ้ามีสตางค์ก็ไม่ต้องไปบวช อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่หลังจากที่ได้บวชแล้ว ได้ไปอยู่กับครูบาอาจารย์แล้ว ถึงจะเห็นคุณค่าของการออกบวช ถ้าเรามีเงินมันกลับจะเป็นโทษ อยู่ไปอย่างนี้เราจะไม่มีความเข้มงวดกวดขันกับตัวเราเอง  เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ อาจจะรู้อย่างกว้างๆว่าต้องภาวนา ต้องรักษาศีล แต่เวลาที่เถลไถลไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปทำเรื่องนู้นเรื่องนี้ เราจะไม่รู้  ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ การปฏิบัติก็จะไม่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

 

เวลาที่ได้อยู่กับหมู่กับพวกที่ปฏิบัติด้วยกันแล้ว จะเห็นอุบายวิธีต่างๆ เช่นการอดอาหารนี้ ก็ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ตอนต้นฉันมื้อเดียวก็คิดว่าเต็มที่แล้ว แต่พอไปอยู่ที่บ้านตาด แล้วเห็นพระท่านอดอาหารกันทีละหลายๆวัน ก็เลยทำให้มีความมุมานะอยากจะลองดูบ้าง  โชคดีที่เวลาอดอาหารมันก็ถูกจริต คือเป็นเครื่องกระตุ้นให้ต้องภาวนา  เพราะเวลาอดอาหารนี่มันจะหิวข้าวมาก แล้วถ้าอยู่เฉยๆ มันจะคิดปรุงถึงเรื่องอาหารตลอดเวลา แล้วจะทุกข์ทรมานมาก จึงต้องดับมันด้วยการภาวนา ตอนนั้นยังอยู่ในช่วงทำสมาธิ  ก็นั่งกำหนดจิตให้สงบ พอจิตสงบแล้วความคิดปรุงแต่งก็หยุดไป ความหิวที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งก็หายไป  ก็เลยเห็นว่าความหิวส่วนใหญ่นี้มันอยู่ที่จิตเราแท้ๆ เวลาคิดถึงอาหารแล้วจะทรมานจิตใจมาก บางทีทั้งๆที่รับประทานอาหารเสร็จไปใหม่ๆ ถ้าไปคิดถึงอาหารจานโปรดเข้า ก็อยากจะรับประทานขึ้นมาอีก ก็เกิดความหิวขึ้นมาอีกได้เหมือนกัน  ทั้งๆที่ร่างกายก็รับอาหารเข้าไปเต็มที่อยู่แล้ว พอเห็นคุณค่าของการอดอาหารแล้ว ก็ได้อดอาหารไปเรื่อยๆ จนจิตเข้าร่องเข้ารอย  จึงไม่ต้องทรมานจิตด้วยการอดอาหารอีกต่อไป

 

การอดอาหารนี้ทำให้เราไม่ขี้เกียจ เพราะต้องภาวนาตลอดเวลา นั่งภาวนาแล้วก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม สลับกันไป เวลาจิตสงบแล้วมันสบาย ความหิวก็มีอยู่เพียงเล็กน้อยที่เกิดจากความอ่อนเพลียของร่างกาย แต่ความหิวที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งของจิตนี้มันจะทรมานและรุนแรงมากกว่าความหิวทางร่างกาย  ก็อาศัยการอดอาหารนี้เป็นเครื่องผลักดันให้ภาวนา  เวลาอดอาหารก็ไม่ต้องออกไปเจอหลวงตา เพราะเวลาเจอหลวงตานี้เหมือนเจอเสือ  ต้องระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร แต่เวลาอดอาหารนี้ไม่ต้องออกไปเจอใคร ท่านอนุญาตให้อยู่ที่พักของเรา ทำภารกิจเฉพาะที่พักของเรา ปัดกวาดเฉพาะที่พักของเราเท่านั้น  ไม่ต้องมาร่วมทำกิจของส่วนรวม เช่นไปบิณฑบาต กวาดถูศาลา ปัดกวาดลานวัด  ช่วยกันเข็นน้ำไปตามกุฏิต่างๆ ท่านให้ภาวนา ให้อยู่กับความวิเวก ไม่ต้องเจอใคร  เวลาพระอดอาหารจึงมักจะไม่ค่อยเจอหน้าใครเท่าไร  ท่านจะหลบเก็บตัวอยู่ที่ที่พักของท่าน ภาวนา นั่งสมาธิ เดินจงกรม พิจารณาธรรมตามระดับจิตของท่าน การอดอาหารจึงช่วยการภาวนาได้ดี ทำให้จิตเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว

 

การได้ยินได้ฟังธรรมะของท่านอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นการเตือนสติให้รู้ว่า ทางที่จะต้องไปนั้นไปทางไหน  เวลาปฏิบัติธรรมไปนี้จิตมักจะไปติดตามจุดต่างๆ  เวลาได้สมาธิก็จะติดอยู่ในสมาธิ   ภาวนาทีไรก็จะภาวนาให้สงบอย่างเดียว   พอสงบนิ่งแล้วก็มีความสุข   พอถอนออกมาก็ไม่ได้พิจารณาธรรมะต่อ   ไปทำอะไรอย่างอื่น ก๊อกๆแก๊กๆไป   พอจิตฟุ้งซ่านขึ้นมาก็กลับไปทำสมาธิใหม่  แต่ไม่ได้เจริญปัญญา   ท่านก็เลยต้องคอยเตือนเสมอว่า  พอได้สมาธิแล้ว  เวลาออกจากสมาธิควรไปทางปัญญาต่อ   ควรพิจารณาร่างกายก่อน   พิจารณาให้เห็นถึงความไม่สวยงาม อสุภะ  ความเป็นปฏิกูลของร่างกาย เพื่อคลายความกำหนัดยินดี  นอกจากอาการทั้ง ๕ ที่อยู่ข้างนอกร่างกายคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังแล้ว ยังมีอาการที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ผิวหนัง เช่นเนื้อ เอ็น กระดูก  อวัยวะต่างๆ  ให้เข้าไปดูด้วยปัญญา  คือตาเนื้อของเรานี้มองทะลุหนังเข้าไปไม่ได้   แต่ปัญญานี้มันทะลุเข้าไปได้   เพราะเราสามารถกำหนดพิจารณา จินตนาการภาพของอวัยวะต่างๆในร่างกายได้

 

มีหนังสือที่นักศึกษาแพทย์เขาศึกษากัน ก็เปิดดูได้  มีอาการ ๓๒ ดังกล่าวอยู่ในนั้น   หรือไปดูการผ่าศพตามโรงพยาบาลต่างๆก็ได้  จะได้เห็นของจริงว่าเป็นอย่างไร   เพื่อจะได้เอามาเป็นสัญญาความจำว่ารูปร่างลักษณะของอวัยวะต่างๆ  ที่อยู่ภายใต้ผิวหนังของเรานั้นเป็นอย่างไร   แล้วพยายามพิจารณาดูไปเรื่อยๆ  ให้จดจำอยู่ในจิตในใจ   เวลาเกิดราคะความกำหนัดยินดี  จะได้อาศัยความไม่สวยงามของร่างกายที่เคยพิจารณาอยู่นี้ มาคอยสกัดกั้น คอยกำจัด  ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะเจริญให้อยู่ติดตาติดใจไปได้มากน้อยเพียงใด   ถ้าพิจารณาจนหลับตาก็เห็น  ลืมตาก็เห็น   มีความชำนาญเหมือนกับการอ่านหนังสือ ที่ในเบื้องต้นก็ต้องหัดท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ไปก่อน  แล้วก็หัดสะกดคำต่างๆ   เมื่อชำนาญแล้วเวลาเห็นตัวหนังสือปั๊บก็ไม่ต้องท่อง ก.ไก่ ข.ไข่  ไม่ต้องสะกดคำ เพราะเห็นปั๊บก็อ่านได้เลย   ฉันใดอาการอสุภะ อาการปฏิกูลของร่างกายนี้ก็เป็นแบบเดียวกัน  ถ้าไม่พิจารณาอยู่เรื่อยๆ  ก็จะจำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง   ไม่อยู่ติดกับใจไปตลอด  

 

ถ้าพิจารณาจนมันอยู่ติดกับใจไปตลอด   ก็จะกลายเป็นปัญญาขึ้นมา    เวลามีความกำหนัดยินดี  ก็จะมีปัญญามาคอยสกัด มาต่อสู้  มาลบล้างความเห็นที่ว่าสวยว่างาม  ว่ามีส่วนที่ไม่สวยไม่งามด้วยในคนๆเดียวกัน  คนเราก็เป็นเหมือนกับเหรียญ ๒ ด้าน  มีทั้งหัว มีทั้งก้อย  ถ้ามองแต่หัวด้านเดียวก็จะไม่เห็นอีกด้านหนึ่ง   จึงต้องพลิกอีกด้านหนึ่งขึ้นมาดู   จะได้รู้ว่าเหรียญนี้มีทั้ง ๒ ด้าน  ในคนเราก็เช่นเดียวกัน  มีทั้งสวยงาม  มีทั้งไม่สวยงาม   แต่ส่วนใหญ่จะมองแต่ด้านที่สวยงาม   ด้านที่ไม่สวยงามมักจะถูกกิเลสคอยสกัดกั้นไม่ให้มอง   เวลาเริ่มพิจารณาใหม่ๆจะรู้สึกสะอิดสะเอียน   ไม่มีความสุขกับการพิจารณาความไม่สวยไม่งามต่างๆของร่างกาย  ยิ่งถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังแนวทางของการปฏิบัติ ก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องวิกลจริตไปก็ได้  ทำไมจะต้องไปดูอาการต่างๆเหล่านั้น  เช่นไปดูซากศพ ไปดูทำไม  ก็อาจจะคิดว่าเป็นพวกวิกลจริต  

 

แต่ถ้าได้ศึกษาได้อ่านพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับการปฏิบัติ  เช่นสติปัฏฐานสูตร  ก็จะเห็นว่าท่านทรงสอนให้พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย  พิจารณาซากศพ ๑๐ ชนิด   ให้รู้ว่านี่คือสภาพของร่างกาย   มีทั้งส่วนที่เป็น และส่วนที่ตาย   คือตอนที่เป็นก็มีรูปร่างลักษณะอย่างนี้   เมื่อตายไปแล้วก็ต้องมีลักษณะอย่างนี้   เราต้องการดูความจริงของร่างกาย  ไม่ได้มีความคิดวิกลจริตอย่างไร   แต่ต้องการสอนจิตไม่ให้หลงในร่างกาย   เพราะความหลงนี้เป็นเหตุของความทุกข์   เวลาที่ร่างกายเปลี่ยนสภาพไป  เช่นตอนที่เป็นหนุ่มเป็นสาว   ก็มีความหลงระเริงกับความหนุ่มความสาว   พอร่างกายมีอายุมากขึ้น   แก่ชราลง   ผิวเริ่มเหี่ยว  มีรอยย่นต่างๆ   ถ้าไม่เคยศึกษาธรรมะมาก่อน  มีความหลงติดอยู่กับความสวยความงามของรูปร่างหน้าตา ก็จะเกิดความหวั่นวิตก เกิดความเสียดาย   ถ้ามีวิธีใดที่จะรักษาให้สวยงามดูดีเหมือนเดิมได้  ก็พยายามทำกัน  อย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้  แต่ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็หนีความจริงไปไม่ได้ 

 

ถ้าได้ศึกษาธรรมะก็จะรู้ล่วงหน้าไว้ก่อน   จะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น  ก็เท่ากับมีปัญญา มีภูมิคุ้มกัน   ถึงเวลานั้นก็จะรู้สึกเฉยๆ เพราะได้พิจารณาไว้ก่อนแล้วว่า  ผมของเราสักวันหนึ่งก็ต้องกลายเป็นสีขาว  ต้องร่วงลงมา  หนังก็ต้องเหี่ยวต้องย่นไปตามเวลาของมัน  ร่างกายก็จะมีโรคภัยเบียดเบียนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ   สักวันหนึ่งก็ต้องนอนอยู่ในโลง  อยู่ในเตาเผา  เหลือแต่เศษกระดูกกับขี้เถ้า ที่เอาไปเก็บไว้ตามสถานที่ต่างๆ หรือเอาไปลอยอังคาร ในแม่น้ำในทะเล   นี่คือสภาพของร่างกายที่เราควรจะพิจารณา  เพราะเป็นปัญญา เป็นความรู้ที่จะช่วยกำจัดความหลง  ความยึดติดอยู่กับร่างกาย ว่าจะอยู่กับเราไปตลอด   คนเรามีความรู้สึกอยู่เสมอว่า  อยากจะให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ  ไม่อยากแก่  ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย  แต่เป็นความคิดผิด เป็นมิจฉาทิฐิ  ไม่ตรงกับความเป็นจริง  ถ้ามีความคิดแบบนี้แล้ว   เวลาไปเจอกับความจริงที่ตรงข้ามกับความคิดของเรา   ก็จะต้องเสียอกเสียใจ   เพราะไม่ได้เตรียมใจรับกับสภาพที่จะเกิดขึ้น   เรามักจะหลอกตัวเองว่าจะไม่แก่ จะไม่เจ็บ จะไม่ตาย  พอถึงเวลาที่มันเกิดขึ้นมา  ก็จะต้องมีความว้าวุ่นขุ่นมัว  มีความทุกข์ มีความเสียใจอย่างยิ่ง 

 

การเจริญปัญญาจึงเป็นธรรมะที่สำคัญยิ่งกว่าสมาธิ   เพราะสมาธิไม่สามารถกำจัดความทุกข์ที่เกิดจากความหลงได้  เพียงแต่ทำให้มันหยุดทำงานเป็นระยะๆ  เช่นเวลาเข้าสู่สมาธิจิตก็ไม่สามารถคิดปรุงเรื่องราวต่างๆได้   ในขณะนั้นความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ไม่สามารถทำงานได้  จิตอยู่ในความสงบก็มีความสุข   แต่พอถอนออกมาแล้ว มาเห็นร่างกายที่จะต้องแก่ลงไปเรื่อยๆ   เห็นอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย ถ้าไม่มีปัญญาก็จะเกิดความอยากจะให้มันหาย  อยากให้กลับเป็นเหมือนเดิมอีก  ยิ่งมีความอยากมากเท่าไร ก็จะมีความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น เพราะไม่สามารถกลับไปเป็นไปเหมือนกับที่เคยเป็นได้ เพราะร่างกายเหมือนรถที่วิ่งบนถนนวันเวย์  ไม่ย้อนกลับมา   ชีวิตของเรานี้จากแก่ก็จะไม่กลับมาสู่ความเป็นหนุ่มเป็นสาวอีก ไปจากความเป็นหนุ่มเป็นสาวสู่ความแก่ แล้วก็ไปสู่ความตายในที่สุด  นี่เป็นความจริงของร่างกาย  ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพิจารณา   การพิจารณาก็คือการสอนจิตของเรานี่เอง   สอนให้รู้ความจริง เพราะจิตไม่ได้ตายไปกับร่างกาย   แต่จิตไปทุกข์กับมันเพราะไปหลงยึดติด  ไปอยากให้มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  

 

เหมือนกับเราหลงยึดติดอยู่กับลูกของเรา สามีของเรา  ภรรยาของเรา  อยากจะให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  พอเขาไม่เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ก็เศร้าโศกเสียใจ มีความทุกข์มีความวุ่นวายใจ   แต่ถ้าได้ศึกษาดูถึงธรรมชาติของคนว่า คนเรามีจริตนิสัยใจคอไปตามเรื่องของเขา  เรามีหน้าที่บอก มีหน้าที่สอนเท่านั้นเอง  แต่เขาจะรับไปได้มากน้อยเพียงไรก็อยู่ที่ตัวเขา   ตัวเขาเองบางทีก็อยากจะทำตามที่เราบอก แต่เนื่องจากว่าในตัวของเขานั้นมีอำนาจที่เหนือกว่าคือบุญและกรรม มีกรรมเป็นของๆตน   เคยทำกรรมอันใดไว้ก็ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น   ในอดีตอาจจะเคยทำกรรมไม่ดีไว้มากจนติดเป็นนิสัยมา  ชอบเที่ยว ชอบเกเร ชอบความเกียจคร้าน ชอบพูดโกหก  ชอบลักเล็กขโมยน้อยจนติดเป็นนิสัย เหมือนกับคนที่เคยใช้มือขวามา ก็จะถนัดขวา  ถ้าถูกสอนให้ใช้มือซ้าย ก็จะรู้สึกว่าลำบาก เพราะไม่เคยใช้มาก่อน  

 

ฉันใดถ้าเคยโกหก เคยลักเล็กขโมยน้อย  เคยเกเร  เคยเที่ยว เคยเกียจคร้าน แล้วต้องมาเปลี่ยนนิสัยใหม่  ให้เป็นคนขยัน ไม่เกเร  ไม่ลักเล็กขโมยน้อย  ไม่พูดปด ก็จะรู้สึกอึดอัดใจ   และยิ่งถ้าไม่รู้ถึงเหตุผลว่าทำไมต้องทำด้วย  ยิ่งไม่มีความสนใจที่จะทำ   แต่ถ้ารู้ว่าเวลาที่ทำสิ่งที่ไม่ดีนั้น มีผลเสียหายตามมา ทำให้กลายเป็นคนไม่ดี  ไม่เจริญ ทำให้ทุกข์ทรมาน   ถ้าเห็นโทษของการกระทำที่ไม่ดี   ก็จะมีกำลังจิตกำลังใจที่จะพยายามทำ ตามที่พ่อแม่ เพื่อนสนิทมิตรสหาย  ครูบาอาจารย์ที่พยายามสอนให้ทำ   ถึงขนาดนั้นก็ยังต้องฝืน  เพราะการกระทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ก็เหมือนกับการเดินขึ้นเขา   ส่วนการกระทำในสิ่งที่เคยทำ ก็เหมือนกับการเดินลงเขา   เวลาทำอะไรที่เคยทำมาแล้วมันง่าย  มันสะดวก   เวลาทำอะไรที่ไม่เคยทำมันก็ยาก   ลองใช้มือที่เราไม่เคยใช้ดู ก็จะรู้ว่ามันยาก   แต่คนที่แขนขาด ๒ ข้าง ก็ยังสามารถใช้เท้าของเขาทำอะไรได้   บางคนวาดภาพด้วยเท้าสวยกว่าคนที่ใช้มือวาดด้วยซ้ำไป   เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกใช้เท้าแทนมือ  

 

ร่างกายนี้เป็นเครื่องมือของใจ   ใจสามารถเอาส่วนไหนมาใช้ก็ได้   ถ้าใจเคยชินกับส่วนไหนแล้วก็มักจะใช้ส่วนนั้นเสมอ เคยใช้มือขวาก็มักจะใช้มือขวา เคยใช้มือซ้ายก็จะใช้มือซ้าย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนไม่ได้   เพียงแต่ว่าตอนที่เปลี่ยนใหม่ๆ นั้นจะอึดอัดไม่สะดวก แต่ถ้าฝืนทำไปสักระยะหนึ่งแล้วก็จะติดเป็นนิสัยขึ้นมา ก็จะสะดวก จะชิน แล้วจะสามารถทำได้เหมือนกับเมื่อก่อนที่ใช้มืออีกข้างหนึ่ง   การที่เราต้องการให้คนอื่นทำอะไรสักอย่างหนึ่ง  แต่เขาทำไม่ได้ ก็เป็นเพราะว่าเขาไม่ถนัด   ยังต้องฝืน  ถ้าไม่มีฉันทะความยินดีความพอใจ  ไม่มีอะไรเป็นเครื่องดึงดูดใจว่า  การกระทำนี้เป็นคุณเป็นประโยชน์กับเขามาก  เขาก็จะไม่มีกำลังจิตกำลังใจ   สังเกตดูเวลาทำอะไรไปแล้วไม่มีรางวัล จะไม่ค่อยมีกำลังใจทำกันเท่าไร   แต่ถ้ามีรางวัลก็จะมีกำลังใจที่จะทำ   เช่นเมื่อก่อนนี้การทางด่วนฯจะมีปัญหากับใบเสร็จรับเงินค่าผ่านทาง ส่วนใหญ่จะโยนทิ้งกัน เพราะไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม  ก็โยนออกนอกประตูรถไป โยนออกนอกหน้าต่างไป  ทำให้กลายเป็นขยะเต็มไปหมด ตอนหลังก็แก้ด้วยการจับฉลากชิงรางวัลใบเสร็จฯค่าผ่านทาง เก็บไว้เสี่ยงโชคได้  ทุกเดือนจะมีการจับฉลากแจกรางวัล  ก็เลยไม่ต้องเสียเงินไปจ้างคนมาเก็บกวาด   เพราะมีเครื่องล่อใจ  ทำให้มีกำลังจิตกำลังใจที่จะเก็บใบเสร็จฯกัน   

 

เวลาที่อยากจะให้ใครทำอะไร  ต้องหาอุบายล่อใจ   เช่นการฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ ฟังจากพระพุทธเจ้านี้ ก็จะมีรางวัลล่อใจอยู่เสมอ คือผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติ  ท่านจะสอนว่าปฏิบัติไปนะจะได้อย่างนี้ๆนะ  เพราะท่านได้มาแล้ว   ท่านรู้ว่านิพพานเป็นอย่างไร  ท่านรู้ว่าการหลุดพ้นจากความทุกข์นี้เป็นอย่างไร   ถึงแม้จะลำบากลำบนมากน้อยเพียงไรก็ตาม   แต่เมื่อได้รับผลแล้วมันคุ้มค่าอย่างมหาศาล   คนที่พูดอย่างนี้ได้ก็ต้องเป็นคนที่ได้ผลมาแล้ว ได้ปฏิบัติมาแล้ว  คนที่ยังไม่ได้ผล ไม่ได้ผ่านมาก่อน  เวลาสอนจะไม่มีอะไรโน้มน้าวจิตใจผู้ฟัง   เพราะตัวผู้สอนเองก็ยังไม่แน่ใจเลย  ว่าสิ่งที่สอนนั้นมีผลอย่างไร  ไม่รู้ว่ารางวัลที่ได้จากการปฏิบัติเป็นอย่างไร  เพราะยังไม่ได้เห็นผล  

 

การฟังเทศน์ฟังธรรมจากคนที่ได้ผลแล้วได้บรรลุแล้ว เมื่อเทียบกับคนที่ยังไม่ได้บรรลุนั้นมันแตกต่างกันมาก ตรงที่การให้กำลังใจ ตรงที่การสอนอย่างถูกต้องแม่นยำ   คนที่ไม่เคยผ่านมา ยังไม่ได้ผล จะสอนแบบงูๆปลาๆ สอนไปตามจินตนาการ   เหมือนกับคนที่ยังไม่เคยขึ้นมาบนเขานี้   เวลามีคนถามว่าบนเขานี้เป็นอย่างไร  ก็จะพูดไปตามจินตนาการ ที่ได้ยินจากเพื่อนๆที่เคยขึ้นมา ว่าบนเขานี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้   ก็จะเล่าแบบผิดๆถูกๆ เพราะจะต้องผสมผสานกับส่วนที่ตนจินตนาการ   พอคนที่ได้ยินได้ฟังมาถึงสถานที่ ก็จะเห็นว่าไม่เหมือนกับที่เขาพูดเลย   คนที่สอนโดยที่ยังไม่ได้ประสพผลสำเร็จจากการปฏิบัติ ก็จะสอนแบบนั้น  สอนตามจินตนาการ ไม่มีรางวัลล่อใจคนฟัง  ไม่เหมือนกับการที่ได้ยินได้ฟังจากพระพุทธเจ้า จากพระอรหันต์ทั้งหลาย จากท่านที่ได้บรรลุแล้ว   ท่านพูดด้วยความมั่นใจ  ฟังแล้วไม่สงสัย  ท่านพูดแบบไม่เคลือบแคลงสงสัย   คนฟังก็ไม่เคลือบแคลงสงสัย   แต่ถ้าคนพูดๆแบบเคลือบแคลงสงสัยไม่แน่ใจ   คนฟังก็ไม่แน่ใจตามไปด้วย  

 

การได้ยินได้ฟังอะไรจากผู้อื่น  จึงขึ้นอยู่ที่ผู้สอนเป็นสำคัญ ว่ามีอะไรโน้มน้าวจิตใจหรือเปล่า   ถ้าสอนแบบแม่ปูสอนลูกปูก็ไม่ไหว   แม่ก็อยากจะให้ลูกเป็นคนดี  ไม่เสพสุรา  แต่แม่เองก็ยังเสพอยู่   แม่ไม่อยากให้ลูกไปเที่ยว แต่แม่ก็ยังไปเที่ยวอยู่   อย่างนี้สอนไปก็สอนได้แต่วาจา ไม่มีน้ำหนักอะไร   เพราะลูกจะมองว่าทีแม่ก็ไปดื่มสุราได้  แม่ก็มีข้อแก้ตัวว่ามันจำเป็น เป็นสังคม ลูกก็ใช้ข้อแก้ตัวแบบเดียวกัน  มันจำเป็น เพื่อนฝูงชวนไป  สอนก็สอนได้ แต่ผลที่จะเกิดขึ้นจะไม่ได้อย่างที่ต้องการ   เวลาอยากให้ผู้อื่นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เป็นไปตามอยาก ก็จะเสียใจ จะทุกข์ใจ   จึงต้องทำความเข้าใจว่า  ความอยากของเราต่างหากที่เป็นตัวปัญหา  ไม่ใช่ผู้ที่เราอยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้   ถ้าไม่ได้ไปอยากกับเขาแล้ว  เขาจะเป็นอย่างไรก็จะไม่เดือดร้อน  ไม่วุ่นวายใจ   ถ้าอยากจะให้ใครได้ดิบได้ดี   ก็ต้องสอนแบบไม่มีความอยาก  สอนไปตามเหตุผล  ถ้าไม่สอนเขาก็จะไม่รู้  เมื่อได้ยินจากเราแล้ว ก็สามารถนำเอาไปปฏิบัติได้ เขาก็จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์  เราเองไม่ได้อะไร  นอกจากมีความสุขไปกับเขา ที่เห็นเขาเป็นคนดี  ได้ดิบได้ดีจากการกระทำความดีของเขา  จากการละเว้นการกระทำในสิ่งที่ไม่ดี   แต่ถ้าทำด้วยความอยาก   ลูกต้องทำให้ได้นะ  ถ้าทำไม่ได้ก็จะโกรธ  จะเสียใจ สร้างความทุกข์ให้กับตนโดยใช่เหตุ

 

เช่นเดียวกับการพิจารณาความไม่สวยงามของร่างกาย  ความแก่ความเจ็บความตาย เพราะใจอยากให้เป็นตรงกันข้ามกับความจริง   ใจอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย  เรียกว่าวิภวตัณหา  เป็นหนึ่งในสามของตัณหาความอยาก ที่ทำให้เกิดความทุกข์กับจิตใจ   ถ้าได้ศึกษาตามความเป็นจริงแล้วก็จะรู้ว่า อยากไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายไม่ได้ ร่างกายต้องเป็นไปตามเรื่องของมัน   แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความรับผิดชอบดูแล ก็ดูแลมันไป  อาบน้ำอาบท่า  ล้างหน้าล้างตาให้สะอาด  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ผมเผ้ารกรุงรัง  ไม่อาบน้ำอาบท่า เพราะว่าไหนๆจะเป็นอสุภะแล้วก็ให้อสุภะเต็มที่เลย  ผู้ปฏิบัติใหม่ๆบางท่านจะเป็นอย่างนี้  บางท่านจะไม่สนใจดูแลรักษาหน้าตาเสื้อผ้า จีวรของพระบางรูปไม่ได้ซักเป็นเดือนก็มี  ท่านบอกว่ามันเป็นอสุภะ   ต้องเข้าใจว่าเรายังอยู่ในโลกที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น ที่มีมาตรฐานของการกินอยู่   เวลาไปเกี่ยวข้องกับเขา ก็ต้องรักษามาตรฐานนั้น   ต้องดูแลไป   แต่ใจก็รู้ว่าเป็นเรื่องของสังคม ไม่หลงไปกับเขา  จะใส่น้ำหอม  แต่งหน้าทาปากสวยงามขนาดไหนก็ตาม  ก็เหมือนกับการเอากระดาษสวยๆมาห่อขยะ  ข้างในก็ยังเป็นขยะอยู่ดี  คนที่มีปัญญาจะเห็นอย่างนี้  

 

นี่คือการปฏิบัติเพื่อปัญญา  ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยสอนก็อาจจะติดอยู่ในขั้นสมาธิ   ถ้าพิจารณาก็พิจารณาแบบพอหอมปากหอมคอ   แล้วก็จะเหมาเลยว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว   แต่ความจริงยังไม่เข้าใจ เพราะเวลาไปเจอของจริงเข้า ก็ยังมีความรู้สึกไม่ดีเกิดขึ้นในใจ   แต่ถ้าพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว   เวลาเห็นร่างกายไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็จะรู้สึกเฉยๆ   แต่ถ้ายังไม่ได้พิจารณาอย่างถ่องแท้  เวลาเห็นคนรักตายไป  ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ  แต่ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว  พอไปเห็นของจริงแล้วก็จะรู้สึกเฉยๆ  รู้อยู่แล้วว่าต้องเป็นอย่างนี้ จิตใจไม่มีอาการอะไร วางเฉยได้  ไม่กระทบกระเทือนใจ   ไม่รันทดใจกับเรื่องราวต่างๆ

 

ในเบื้องต้นก็พิจารณาเรื่องของกายเป็นหลัก   กายของเราด้วยกายของคนอื่นด้วย   เพราะเรายังมีความเกี่ยวข้องกับคนนั้นคนนี้อยู่   ยังมีความรักมีความยึดติด คนที่เรารักเราก็อยากให้เขาอยู่ไปนานๆ   ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย  อยากให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเดิม  เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ไปรักษาตัวบางทีหน้าตากลายเป็นคนละคนไปเลยก็มี  มีแต่หนังหุ้มกระดูก  เห็นแล้วก็หดหู่ใจ  ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆแล้ว จะรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย   ขณะนี้ยังดีอยู่ เดี๋ยวก็กลายเป็นเศษกระดูกไป  นี่เพียงแค่หนังเหี่ยวย่นเท่านั้น   ยังไม่กลายเป็นเศษกระดูก   พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปจะปล่อยวางร่างกายได้ ไม่ว่าร่างกายของเราหรือของใคร ก็เหมือนกันทั้งนั้น  เป็นแค่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ   ในที่สุดแล้วก็กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป กลายเป็นดินไป ส่วนธาตุอื่นก็สลายหายไป  น้ำก็ไป ลมก็ไป ไฟก็ไป   เหลือแค่ดินเท่านั้นเอง  

 

นี่เป็นการเจริญปัญญา เมื่อพิจารณาไปเรื่อยๆแล้ว ก็จะถึงเวลาที่จะต้องเข้าพักในสมาธิเหมือนกัน   เพราะจิตไม่สามารถพิจารณาไปได้ตลอดเวลา เมื่อพิจารณาไปถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะเกิดอาการเบื่อไม่อยากจะพิจารณาต่อไปเพราะเหนื่อยเมื่อยล้า พิจารณาแล้วไม่เป็นเหตุเป็นผล  จะเลยเถิดไปในทางกิเลส  ก็ควรหยุดพัก ย้อนกลับมาทำจิตให้สงบ เคยทำจิตให้สงบด้วยวิธีใดก็ทำไป   เป็นการพักจิต  การเจริญปัญญาเหมือนกับการทำงาน  เวลาไปทำงานก็ทำเต็มที่  แต่พอถึงเวลาพักก็หยุดทำงาน  กลับบ้าน  กินข้าว อาบน้ำอาบท่า นอนพักผ่อน ดูอะไรบ้าง ฟังอะไรบ้าง เป็นการผ่อนคลายไปในตัว   พอเช้าตื่นขึ้นมาก็มีกำลังวังชา  พร้อมไปทำงานต่อ   ถ้าทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมงโดยไม่ได้พักเลย ก็จะรู้สึกเหนื่อยเมื่อยล้า งานที่ทำก็จะไม่ค่อยได้ผลเท่าไร  

 

เช่นเดียวกับการพิจารณาทางด้านปัญญา   เมื่อพิจารณาไปถึงจุดหนึ่งแล้วจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไร   ไม่เป็นเหตุเป็นผล  ก็ควรหยุดแล้วย้อนกลับมาทำสมาธิ  พักจิตในสมาธิ   ขณะที่จิตอยู่ในสมาธินิ่งอยู่ เฉยอยู่ ก็ปล่อยให้นิ่งเฉย  อย่าไปดึงจิตออกมา   การให้จิตนิ่งเฉยนี้เป็นการพักจิต   เป็นการให้อาหารกับจิต   เป็นการชารจ์แบตเตอร์รี่ของจิตนั้นเอง   เมื่อจิตได้รับการชาร์จแบตเตอรี่ ได้รับอาหาร ได้พักผ่อนเต็มที่แล้ว ก็จะถอนออกมาเอง    เมื่อถอนออกมาแล้วก็เอากลับมาพิจารณาใหม่อีก พิจารณาเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย ทำไปอย่างนี้เรื่อยๆจนเกิดความชำนาญขึ้นมา คนที่คิดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตายจะรู้สึกเฉยๆ ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ายังสงสัยว่าปล่อยวางได้หรือยัง ก็ต้องไปอยู่ตามสถานที่ที่ต้องปลงสังขารร่างกาย ไปอยู่ที่เปลี่ยวๆ ที่น่ากลัวๆ ดูซิว่ายังกลัวอยู่หรือเปล่า ถ้ามีปัญญาก็จะรู้ว่ายังไงๆก็ต้องไปอยู่ดี ถ้าจะไปตอนนี้ก็ให้มันไป

 

ถ้ามีปัญญารู้ทันแล้วก็จะตัดอุปาทานได้   เวลาภัยเข้ามาใกล้ตัว จิตจะไม่รู้สึกหวั่นไหว จะรู้สึกเฉยๆ ต้องไปพิสูจน์กัน การพิจารณาในที่ปลอดภัยก็เหมือนกับการซ้อมของนักมวย เวลานักมวยซ้อมกันเขาก็ต่อยกระสอบทรายบ้าง  ซ้อมกับเพื่อนบ้าง ก็ไม่ต่อยกันอย่างแรงๆจริงๆจังๆ  เวลาขึ้นเวทีชิงแชมป์นี้แหละจะรู้ว่า ฝีมือถึงหรือยัง  ถ้าสามารถน็อกคู่ต่อสู้ได้ก็รู้ว่าเราเก่ง ถ้าแพ้ก็ต้องกลับมาซ้อมใหม่อีก ไปเห็นอะไรแล้วใจยังสั่น ยังหวั่นไหวอยู่  อย่างนี้แสดงว่ายังแพ้อยู่ ไม่นิ่งเฉย ยังไม่เป็นอุเบกขา ก็ต้องกลับมาซ้อมใหม่ ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านก็มีป่ามีเขา มีสัตว์มีเสือ เป็นเครื่องทดสอบจิตใจ ท่านจึงออกไปธุดงค์กัน เพื่อเจริญวิปัสสนา  ไปพิสูจน์ธรรมะของจริง  ส่วนพวกเรายังเป็นปัญญาที่อยู่ในที่ปลอดภัย อาจจะคิดว่าเราไม่กลัวแล้วก็ได้ พอถึงเวลาที่ต้องไปเจอของจริง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร  สมัยอาตมาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดก็อาศัยเสือคือหลวงตา ถ้าอยู่ต่อหน้าท่านแล้วสามารถทำอะไรโดยไม่หวาดหวั่น มือไม้ไม่สั่นได้ แสดงว่าเริ่มมีสมาธิ มีปัญญาแล้ว เพราะบางทีทำอะไรมือไม้สั่นไปหมด  แสดงว่ายังควบคุมใจไม่ได้  ทำสมาธิไม่ได้ ในขณะที่ต้องทำอะไรในยามคับขัน สมาธิเป็นเพียงตัวสนับสนุน ตัวที่จะขจัดความสั่นความกลัวต่างๆก็คือปัญญา

 

ถาม    ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องกาย หมายถึงการพิจารณาภายในกายของเราใช่ไหมครับ  ถ้าเราดูซากศพบ้างให้ติดตา เป็นการพิจารณากายภายนอกใช่ไหมครับ

 

ตอบ   ถ้าไม่เคยเห็นร่างกายภายในของเราเป็นอย่างไร  เปิดหนังสือดูก็เหมือนได้ดูของจริง เดี๋ยวนี้มีภาพถ่ายให้ดู แต่ถ้ายังรู้สึกไม่พอ  อยากจะเห็นของจริงๆ อยากจะพิสูจน์ว่าเห็นแล้วจะรู้สึกอย่างไร ก็ไปดูซากศพบ้างก็ได้ 

 

ถาม    เพื่อที่จะเอาภาพที่เห็นนั้นมาพิจารณา

 

ตอบ    ใช่

 

ถาม    ท่านคะ บางครั้งนิมิตก็ปรากฏเป็นกายขึ้นมาใช่ไหมคะ

 

ตอบ    บางทีเราภาวนาไปแล้วมันก็ปรากฏขึ้นมาให้เราเห็น เราก็ควรพยายามรักษาให้มันตั้งอยู่นานๆ แล้วก็ทำให้เป็นปฏิภาคนิมิต แยกเป็นส่วนๆ ผ่าออกมาดู ตัดศีรษะ ตัดแขน ตัดขา ผ่าท้องออกมาดู เอาออกมากองเป็นอย่างๆไป เหมือนกับผ่าหมู ผ่าไก่ กายของคนเราก็ไม่แตกต่างกับหมู กับไก่ เพียงแต่เราเรียกว่าคน ว่าหมู ว่าไก่ แต่ความจริงภายในของคน ของหมู ของไก่ก็คล้ายๆกัน

 

ถาม    เท่ากับเราไปจดจำภาพมา  แล้วก็โน้มเข้ามาในใจเรา เป็นลักษณะอย่างนี้ใช่ไหมครับ 

 

ตอบ   ดูว่าของเราก็เป็นอย่างนี้  ของคนอื่นก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน  คนที่เรารัก คนที่เราหลง ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน  เพียงแต่เราไม่เห็น เราจึงไปรักไปหลงเขา ถ้าเราเห็นอย่างนี้แล้วเราก็คงไม่รักไม่หลง 

 

ถาม    ไม่สวยไม่งามนะเจ้าคะ ท่านอาจารย์คะ สมัยก่อนก็ไม่กล้าดูนะคะ ตอนนี้ดูมันก็เฉยๆ  ทำไมมันไม่ปลงล่ะคะ  

 

ตอบ     มันยังเป็นสัญญาอยู่ 

 

ถาม    มองๆไปมันไม่เห็นปลง มันไม่รู้สึก   

ตอบ    เราก็ต้องเอาภาพอสุภะนี้ไปใส่ในคนที่เราหลงรักอยู่สิ  ใช้ตาเอ็กซเรย์ดู ให้ทะลุไปใต้ผิวหนัง ใหม่ๆก็อาจจะยังทำไม่ได้ ต้องพยายามทำไปเรื่อยๆ  โดยเฉพาะกับคนที่เราชอบ เราหลง เรารัก

 

ถาม    เคยเห็นภาพในฝันค่ะ มีอุบัติเหตุ ไม่ได้เห็นช่วงนั่งสมาธินะคะ เห็นช่วงในฝันอันนั้นนำมาใช้ได้ไหมคะ

 

ตอบ    ได้  ภาพที่เห็นแล้วเป็นอสุภะถือว่าเป็นนิมิตที่ดี เป็นมรรคได้ เป็นปัญญาได้ ถ้าเห็นสวยๆงามๆแล้วจะหลงติด อันนั้นกลับเป็นกิเลส 

 

ถาม    ภาพอสุภะเหล่านี้มักจะปรากฏในฝัน

 

ตอบ    ก็อาจจะเคยพิจารณามาแล้วจนติดค้างอยู่ในใจ  พอเรานอนหลับมันก็โผล่ขึ้นมาเป็นความฝันให้เราเห็น

 

ถาม    เป็นสัญญาเดิม

 

ตอบ    เป็นสิ่งที่เคยพิจารณามาก่อนในอดีต เมื่อจิตสงบก็จะปรากฏขึ้นมาให้เราเห็น ถ้าสงบแล้วไม่เห็นอะไรเลย เวลาออกจากความสงบแล้ว ก็ต้องพิจารณาอสุภะ  สร้างสัญญานิมิตขึ้นมาใหม่ เหมือนกับอัดเทปใหม่ เทปของเรายังว่างอยู่ ก็ต้องอัดพวกนี้ใส่เข้าไป  เมื่ออัดบ่อยๆเข้า ก็จะติดอยู่ในใจ  แต่ต้องทำให้มันเป็นปัจจุบัน ถ้าเป็นอดีตมันก็ผ่านไปแล้ว ให้อยู่ในปัจจุบันไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดว่าเราเคยเห็นแล้วในอดีต ก็ใช้ได้แล้ว อย่างนั้นไม่ใช่  เพราะเราต้องเอามาใช้ในปัจจุบัน  เหมือนกับที่เรามีมีด เราก็เอามีดวางไว้ตรงนั้น แล้วเราก็เดินไปที่ตรงโน้น  เวลาจะใช้มีดก็ใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีมีดติดตัว

 

ถาม     เวลาพิจารณาต้องพิจารณาซ้ำๆ

 

ตอบ     ก็ต้องทำจนชำนาญ  พอมองปั๊บมันก็ทะลุเข้าไปเลย

 

ถาม     อย่างนี้ต้องทำอยู่บ่อยๆ

 

ตอบ    ทำไปเรื่อยๆจนเห็นตลอดเวลา ตัวที่จะพิสูจน์ว่าพอหรือยัง ก็ตอนที่เราเห็นแล้วเกิดความยินดีหลงชอบอยู่หรือไม่ ถ้ายังหลงชอบอยู่ก็แสดงว่ายังไม่พอ ถ้าชอบปั๊บแล้วมีตัวนี้ขึ้นมาสกัด มาถามว่าชอบอะไร  มีแต่น้ำเลือด มีแต่น้ำหนองเต็มไปหมดในร่างกายนี้ มีแต่สิ่งที่เป็นปฏิกูลต่างๆไหลออกมา ส่งกลิ่นเหม็น ถ้าไม่ได้อาบน้ำสักวัน ก็ไม่อยากจะเข้าใกล้แล้ว ก็แสดงว่ายังมีการต่อสู้กันอยู่

 

ถาม    ตอนหลังผมพิจารณาแบบนี้ มารู้ทันภายหลัง มันปรุงแต่งเราก็มารู้ทีหลัง

 

ตอบ    ปัญญาเรายังช้ากว่ามัน มันเร็วกว่าเรา ถ้าดวลปืนกัน มันก็ยิงเราก่อน

 

ถาม    แต่เรามารู้ทีหลัง

 

ตอบ    เรายังไม่ได้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง  ถ้าพิจารณาอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลามันจะทันกัน ถ้าเขาโผล่ขึ้นมาเราก็ยิงเขาก่อน ต่อไปเขาก็ไม่กล้าโผล่ขึ้นมา  แล้วก็จะหายไป พอเขาหายไปแล้ว เราก็ไม่ต้องใช้มันอีกต่อไป เราก็ยังดูอย่างปกติธรรมดา จะว่าคนนั้นสวยกว่าคนนี้ก็ได้  เพราะมองแบบธรรมดาๆ  ไม่ได้มองด้วยอารมณ์ แต่ถ้าไม่เคยพิจารณามาก่อน  พอมองว่าคนนี้สวยก็อยากจะได้เขามาเป็นสมบัติ  คนนี้หล่อก็อยากจะได้  ถ้าเกิดความอยากตามมาก็แสดงว่าเป็นกิเลสแล้ว ถ้าได้พิจารณาจนรู้แล้วว่าภายในร่างกายมีอะไรเหมือนกันหมดทุกคน ก็จะไม่เกิดอารมณ์

 

ถาม    ผมเห็นว่ามันเป็นการทำงานของขันธ์ ๕ ครับ  ว่ามันปรุงแต่งๆแล้วก็แสดงความพอใจไม่พอใจ มันก็วนเวียนอยู่อย่างนี้

 

ตอบ    พิจารณาอย่างนี้มันเป็นการเรียงลำดับ เช่นพอตาเห็นภาพปั๊บ วิญญาณก็ตามมา สัญญาตามมา  เวทนาตามมา สังขารตามมา  นี่เป็นการเรียงลำดับ แต่เวลาที่ปฏิบัติจริงๆ ไม่มีเวลามานั่งเรียงลำดับ ต้องดูที่กิเลสคือความชอบความชังที่จะปรากฏขึ้นมา ต้องสกัดความชอบความชังนี้ให้ได้ด้วยปัญญา  พอเห็นปั๊บก็ชอบแสดงว่าหลงแล้ว  ถ้ามีปัญญาคอยประกบ พอจะชอบปั๊บปัญญาก็จะเตือนว่า มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดหรอก  ถ้าเป็นอย่างนี้มันก็จะสกัดกั้นได้

 

ถาม    ไปสกัดตรงเวทนา  ตรงจุดที่พอใจไม่พอใจ

 

ตอบ    แถวๆนั้นแหละ แถวเวทนา จนเวทนากลายเป็นไม่สุขไม่ทุกข์ไป จิตรู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด ร่างกายของเราจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม  อยู่กับเหตุการณ์ใดก็ตาม ก็ไม่ยินดียินร้าย เพราะรู้ว่าในที่สุดร่างกายก็จะต้องเป็นไปตามสภาพของมัน ถ้าจะเป็นตอนนี้ก็ให้มันเป็นไป ถ้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่มีภัยใกล้ตัว  แล้วจิตเกิดความตกใจหวั่นวิตกกลัว ก็แสดงว่าเราพิจารณาไม่ทัน เมื่อเห็นอะไรแล้วยังอยากจะได้ เห็นคนนั้นก็อยากจะได้ พอเขาจากไปก็เสียใจร้องห่มร้องไห้ ก็แสดงว่ายังพิจารณาไม่ทั่วถึง  เพราะการพิจารณาร่างกายก็มีหลายแง่ด้วยกัน คือ ๑. พิจารณาถึงความไม่เที่ยง  เกิด แก่ เจ็บ ตาย  ๒. พิจารณาถึงความไม่สวยงามอสุภะและปฏิกูล  ๓. พิจารณาถึงความไม่มีตัวไม่มีตน เป็นเพียงแค่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ   ๔. พิจารณาถึงความเป็นทุกข์ของร่างกาย ทุกข์ที่เกิดจากความหิวอาหาร หิวน้ำ ทุกข์ที่จะต้องอาบน้ำอาบท่า ทุกข์ที่จะต้องคอยดูแลรักษา  เป็นภาระอย่างหนึ่ง  แม้แต่พระอรหันต์ท่านก็ยังบอกว่า ภารา หเว ปัญจักขันธา ขันธ์ ๕ นี้เป็นภาระหนักอย่างยิ่ง แม้แต่พระอรหันต์ก็ยังต้องดูแล  ต้องกินข้าว ต้องอาบน้ำ ต้องขับต้องถ่าย ต้องหลับต้องนอน ต้องออกกำลังกาย  ยืดเส้นยืดสาย เป็นภาระ เป็นทุกข์

 

ถาม    การพิจารณากายนี้ เราจะเลือกเอาส่วนที่ถูกจริตกับเรา อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้ใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ    ตอนเริ่มต้นก็ทำได้ ต่อไปก็จะแผ่ไปส่วนอื่นเอง พิจารณาไปเอง บางคนชอบดูโครงกระดูก  ก็ดูโครงกระดูกไปก่อนก็ได้

 

ถาม    คือพิจารณาอสุภะ

 

ตอบ     พิจารณาให้เห็นว่าเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟก็ได้

 

ถาม     พิจารณาใหม่ๆนี่มีความรู้สึกว่า  เราพิจารณาอยู่ในวงแคบ มันไม่ลึกไม่กว้าง เหมือนที่ท่านอาจารย์อธิบาย เราก็วนไปวนมา

 

ตอบ     เราไม่ชำนาญ ใหม่ๆก็เป็นอย่างนี้  อย่างเด็กๆเพิ่งเริ่มเรียน ก.ไก่ ข. ไข่ก็อย่างนี้  ไม่สามารถที่จะมานั่งเขียนตำราได้  ก็เขียนได้แต่ ก.ไก่ ข.ไข่ เท่านั้นเอง แต่ถ้าได้เรียนไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปก็จะขยายกว้างออกไปเอง

 

ถาม      รู้สึกว่าการพิจารณานี่มันช่วยขจัดเรื่องความฟุ้งซ่านได้มาก   

 

ตอบ   การพิจารณาก็ใช้เครื่องมืออันเดียวกันกับการทำให้จิตฟุ้งซ่าน  คือสังขารความคิดปรุงแต่ง ซึ่งไปได้ ๒ ทางด้วยกัน ถ้าพิจารณาธรรมก็ไปในทางมรรค ก็นำไปสู่ความสงบ ทำให้เย็น  ถ้าไปทางกิเลสก็ฟุ้งซ่าน  ถ้าคิดไปเรื่อยเปื่อย กังวลเรื่องนั้นกังวลเรื่องนี้ ห่วงเรื่องนั้นห่วงเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องของกิเลส เพราะจริงๆแล้วไม่มีอะไรน่าห่วง  ถ้ามีธรรมะจะรู้ว่าไม่มีอะไรน่าห่วง  เราไปห่วงเอง ไปอยากเอง มันไม่มีอะไรน่าห่วง ห่วงไปก็เท่านั้น ถึงเวลามันก็จากเราไปอยู่ดี ต้องเป็นไปตามเรื่องของมันอยู่ดี  ไปห่วงทำไม

 

ถาม    สมมุติว่าเราเพิ่งเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ  สมาธิยังตั้งมั่นไม่ได้   จิตก็ยังไม่สงบ เราควรจะเริ่มต้นจากการมีสมาธิให้ตั้งมั่นก่อนแล้วค่อยพิจารณากาย หรือพิจารณากายก่อนแล้วค่อยมานั่ง ทำอย่างไหนก่อนถึงจะดีกว่ากัน ให้มันก้าวหน้าให้เร็วขึ้น

 

ตอบ   คนเราแต่ละคนมีจริตไม่เหมือนกัน บางคนไม่ต้องอาศัยการบริกรรมพุทโธๆๆ แต่อาศัยการพิจารณาเป็นการทำจิตให้สงบก็ได้ เช่นเที่ยวอยู่ในกายนครนี้  กำหนดดูอาการต่างๆของร่างกายไปเรื่อยๆจนจิตสงบลง  จะไปทางนี้เลยก็ได้  เป้าหมายก็คือต้องการให้จิตนิ่ง จิตสงบ จิตปล่อยวาง บางคนพิจารณาไม่เป็น ก็เลยต้องอาศัยการทำสมาธิไปก่อน เพราะง่ายกว่า  ด้วยการบริกรรมพุทโธๆๆไป หรือดูลมหายใจเข้าออก อย่างนี้ไม่ยาก การทำสมาธิง่ายกว่าการเจริญปัญญา จริตของคนเรามี ๒ แบบ คือถนัดทางด้านปัญญากับถนัดทางด้านสมาธิ บางคนได้สมาธิก่อนแล้วค่อยไปทางปัญญา บางคนไปทางปัญญา ก็ได้สมาธิกับปัญญาควบคู่กันไปเลย   พอพิจารณาแล้วจิตก็จะปล่อยวาง พอปล่อยวางจิตก็เข้าสู่ความสงบ  มันก็ได้ทั้ง ๒ อย่าง ได้ปัญญาด้วย ได้สมาธิด้วย แล้วแต่เราจะถนัด เวลาเรามีความวุ่นวายกับเรื่องต่างๆ เราก็กำหนดบริกรรมพุทโธๆๆไป ไม่ไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้เราวุ่นวาย   จิตก็จะสงบลงได้ 

 

ถ้าเราบริกรรมพุทโธๆๆแล้ว แต่จิตก็ยังกลับไปหาเรื่องที่ทำให้เราวุ่นวายอยู่  ถ้าเราพิจารณาด้วยปัญญาเป็น เราก็เอาไตรลักษณ์เข้าไปเป็นตัวแก้ปัญหา ถามมันว่าเรื่องที่ทำให้วุ่นวายอยู่นี้จะเป็นอย่างนี้ไปตลอดหรือเปล่า สักวันหนึ่งมันก็จะต้องหมดไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง  จะถูกใจเราหรือไม่ถูกใจเราก็ตาม  ก็ต้องจบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ยอมรับว่าเดี๋ยวมันก็ต้องจบ ผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น  ถ้ายอมรับผลที่จะเกิดขึ้น จิตก็จะสงบลงได้  เช่นห่วงว่าจะถูกไล่ออกจากงาน  ถ้าไม่ถูกไล่ออกวันนี้ พออายุครบ ๖๐ ปีก็ต้องออกอยู่ดี  มันไม่อยู่ในอำนาจของเราที่จะไปควบคุมมันได้ ถ้าเขาจะให้ออก จะทำอย่างไรได้ มานั่งห่วงมานั่งกังวล กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็ไปทำอะไรไม่ได้อยู่ดี   ถ้าเขาจะให้เราออกเดี๋ยวเขาก็ให้เราออกอยู่ดี แต่ถ้าเรายอมรับเสียแต่ต้นเลยว่า  ยังไงๆก็ต้องออก ไม่ช้าก็เร็ว ความกังวลก็จะหมดไป เวลาทำอะไรจึงไม่ควรไปยึดไปติดกับมันมากจนเกินไป ควรมีทางออกเสมอ  มีอะไรเป็นเครื่องรองรับ  ถ้าไม่มีงานนี้ก็ทำอีกงานหนึ่งก็ได้ ไม่มีงานอยู่เฉยๆก็ดีเหมือนกัน ได้พักผ่อน  ได้พักร้อนยาวๆเลย ๖ เดือน ปีหนึ่ง ได้ปฏิบัติธรรม ได้ไปวัดบ่อยขึ้น

 

นี่คือการใช้ปัญญา ก็ทำให้จิตสงบได้ ต่อไปจะไม่หวั่นไหวกับปัญหาต่างๆ แต่ถ้าชอบใช้อุบายของสมาธิ ก็บริกรรมพุทโธๆๆไป พอจิตสงบก็หายวุ่นวาย  แต่พอออกจากสมาธิมาคิดถึงเรื่องงานอีกก็จะวุ่นวายอีก  เพราะยังไม่ได้แก้ปัญหาอยู่ดี  ยังไม่ยอมรับความจริงว่า จะต้องถูกไล่ออก  ถ้ายอมรับความจริงว่าจะต้องถูกไล่ออกแน่ๆ  ก็สบายใจ เพราะเตรียมตัวรับไว้ก่อนแล้ว มันก็สงบได้ 

 

ถาม     ปัญญาจะช่วยแบ่งเบาไปได้มาก

 

ตอบ    ใช่  ปัญญาไม่สามารถรักษาสิ่งที่เรารักได้  แต่รักษาใจเราได้  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าอย่างอื่น และเป็นตัวที่สร้างความทุกข์ความวุ่นวายให้กับเรามากที่สุด  ไม่มีอะไรที่จะสร้างความวุ่นวายให้กับเราเท่าใจของเรา แต่เราไม่รู้ เรากลับคิดว่าสิ่งต่างๆภายนอกกำลังสร้างความวุ่นวายให้กับเรา  แต่ความจริงใจของเรานั้นแหละกำลังสร้างมันขึ้นมา เพราะเราไม่ดูแลรักษาใจเรา กลับไปดูแลรักษาสิ่งที่เรารัก ที่ในที่สุดเราก็รักษาไม่ได้อยู่ดี ใจเรารักษาได้แต่เราไม่รักษากัน เราเลยปล่อยให้ใจสร้างความทุกข์ให้กับเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไปฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์  ท่านจะพูดแต่เรื่องใจอย่างเดียว เทศน์ของพระปฏิบัตินี้จะเทศน์แต่เรื่องใจเป็นหลัก แต่ถ้าเทศน์ทางปริยัตินี่ จะไปเรื่องธรรมะต่างๆ เช่นอริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ แต่ไม่เข้าไปถึงตัวใจ เพราะคนที่สอนไม่สอนถึงใจ  เพราะไม่ได้ปฏิบัติทางใจมาก่อน ไม่รู้ว่าใจเป็นตัวปัญหา ศึกษาจากตำรา ทั้งๆที่ตำราทั้งหมดชี้มาที่ตัวนี้ตัวเดียวเท่านั้นคือใจ

 

ใจนี้เป็นเป้าใหญ่ของธรรมะ  ทุกอย่างพุ่งมาที่ใจ  เพราะตัวที่กำลังสร้างปัญหาก็อยู่ในใจนี้  คือตัณหาทั้ง ๓ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา หรือโลภ โกรธ หลง ซึ่งเกิดจากอวิชชาหรือโมหะ ตัวหลงผิด เห็นผิดเป็นชอบ เห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง เห็นว่าสิ่งต่างๆภายนอกสามารถให้ความสุขกับเราได้ อันนี้เห็นผิดแล้ว ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างภายนอกเป็นทุกข์ เพราะเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันมีทุกข์อยู่แต่เรามองไม่เห็น เห็นอะไรก็หลงเคลิ้มไปเลย ติดสุข ติดสบาย ติดความขี้เกียจ คนเราจะผ่านพ้นไปได้มันลำบากตรงนี้  เพราะต้องนอนกับดินกินกับทราย  ต้องอยู่แบบนั้น  ตอนไปอยู่วัดปฏิบัติเป็นอย่างไร ไม่มีอะไรใช่ไหม ไฟฟ้าก็ไม่มี น้ำประปาก็ไม่มี อาหารก็ตามมีตามเกิด แต่หัดอยู่ไปเถิด มันเป็นการแก้ปัญหาของเรา คือเราไปติดความสุข ติดความฟุ่มเฟือย ติดความฟุ้งเฟ้อต่างๆ พอเราขาดมันหน่อย ก็ทุกข์วุ่นวายใจ เหมือนคนติดยาเสพติด พอไม่มียาเสพติดก็อยู่ไม่ได้แล้ว  ทั้งๆที่อยู่แบบเรียบง่ายนี่แสนจะสบาย  มีอะไรก็กินได้  ดีกว่าคนที่กินได้แต่เฉพาะบางอย่าง  ได้เปรียบกว่าเขาตั้งเยอะแยะ เหมือนกับรถยนต์ที่เติมน้ำมันเบนซินก็ได้  ดีเซลก็ได้ เติมน้ำก็ได้ ดีกว่ารถที่ต้องเติมแต่เบนซิน ๙๕ อย่างเดียว

 

ถาม    ในช่วงปีหนึ่งที่ปฏิบัติก่อนบวชนี่จิตเป็นสมาธิบ่อยไหมคะ

 

ตอบ    มันก็สลับกันไป เวลานั่งก็สงบ พอออกมาแล้วเผลอไปคิดโน่นคิดนี่ก็ฟุ้งซ่าน ก็ต้องรีบกลับมานั่งหรือเดินจงกรมใหม่ คอยควบคุมจิต  พอสงบปั๊บก็สบาย แล้วก็ปล่อยมันอีก พอปล่อยไปสักพักหนึ่งก็คิดฟุ้งซ่านอีก ก็ต้องกลับมาควบคุมอีก ก็สู้กันไปสู้กันมาอยู่อย่างนี้  บางทีมีความอยากจะออกไปเที่ยว ก็ต้องพยายามต่อสู้ ใช้ปัญญาสอนว่า  ไปแล้วก็เหมือนกับเดินถอยหลัง เราเดินมาถึงนี่แล้ว ก็เหมือนกับปีนเขาได้หลายขั้นแล้ว ถ้าออกไปเที่ยวก็เหมือนเดินกลับลงไปข้างล่าง เดี๋ยวต้องปีนกลับขึ้นมาที่เก่าอีก ถ้าเราไม่ไป เราก็จะได้ปีนสูงขึ้นไป เอาเวลาที่ไปเที่ยวนี้มาปีนต่อดีกว่า

 

ถาม   การทำสมาธิคือการทำจิตให้สงบ ด้วยการจดจ่ออยู่ที่คำบริกรรมใช่ไหมเจ้าคะ อยากจะรู้ว่าเวลาฟังพระธรรมเทศนา หรือฟังท่านอาจารย์เทศน์ หรือฟังเทปท่านอาจารย์นี้ เรานั่งสมาธิไปด้วยแล้วเราบริกรรมไปด้วย หรือไม่ต้องบริกรรม  ฟังแต่สิ่งที่ท่านเทศน์ จะได้จดจ่อกับสิ่งนั้น  ควรจะทำแบบไหนดีคะ ถึงจะได้ความสงบ

 

ตอบ    แบบไหนก็ได้ที่จะทำให้สงบ ถ้าฟังแล้วสงบเราก็ฟังไป

 

ถาม     คือปกติถ้าไม่มีเสียงครูบาอาจารย์เราก็จะภาวนาพุทโธใช่ไหมเจ้าคะ  ทีนี้เวลาฟังที่ท่านเทศน์นี่เราควรจะฟังเฉยๆ หรือภาวนาพุทโธไปด้วย  

 

ตอบ    ตอนฟังก็ไม่ต้องพุทโธ

 

ถาม     ก็คือฟังจดจ่ออยู่อย่างเดียว เพราะจิตจะได้มีอารมณ์เดียว ไม่งั้นก็ต้องคอยพุทโธด้วย คอยฟังด้วย

 

ตอบ     ใช่   ก็อาศัยการฟังอย่างเดียว  ถูกต้อง ไม่ต้องพุทโธ

 

ถาม    ตอนต้นมีความรู้สึกว่ากิเลสมันกำลังจะบอกเราว่า จะเอายังไงกันแน่  มันหลอกเรา มันมีความสงสัยเกิดขึ้นในใจเรา

 

ตอบ     ก็ต้องเป็นหนึ่งเดียว เพราะเราต้องการทำจิตให้นิ่งเป็นหนึ่ง  ก็ต้องมีอารมณ์เป็นหนึ่ง

 

ถาม     ก็ต้องเลือกอย่างเดียวใช่ไหมคะ

 

ตอบ    ใช่ แต่การฟังก็มี ๒ แบบ ฟังเพื่อให้สงบ ก็ไม่ต้องคิดพิจารณาตาม ถ้าฟังให้เกิดความเข้าใจก็ต้องพิจารณาตาม ไม่ไปกังวลกับความสงบ เมื่อเข้าใจแล้วมันก็จะสงบเอง

 

ถาม     ตั้งมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย ไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

 

ตอบ    การฟังธรรมเป็นได้ ๒ ลักษณะ คือฟังเพื่อเป็นอุบายของสมาธิ ก็อาศัยเสียงของท่านเป็นตัวกล่อมใจเรา ถ้าฟังเพื่อเป็นอุบายของปัญญาก็พิจารณาตามท่านด้วยเหตุด้วยผล เราก็จะเข้าใจ อ๋อๆ ท่านว่าอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เข้าใจๆ ทีนี้ตอนต้นๆเวลาท่านเทศน์ท่านอาจจะเทศน์จากขั้นต่ำขึ้นไป  เราก็เข้าใจๆ พอสูงขึ้นๆ ชักจะไม่เข้าใจ ก็อาจจะตามไม่ทัน ก็อาศัยการเกาะเสียงของท่านไป ให้สงบเฉยๆไปก่อนก็ได้ เพราะธรรมดาครูบาอาจารย์เวลาท่านเทศน์  ท่านจะเทศน์จากทานไปสู่ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติตามลำดับ จิตของเราอยู่ในขั้นไหน ก็จะตามทันแค่ขั้นนั้น  พอเลยขั้นของเราไปแล้วก็ตามไม่ทัน เหมือนกับเราเรียนอยู่ ม.๖ ถ้าพูดถึงวิชาที่เราเรียนอยู่ ม. ๖ นี่เราเข้าใจ  พอพูดถึงขั้นมหาวิทยาลัยปีหนึ่งปีสองนี่เราเริ่มไม่เข้าใจแล้ว พอไม่เข้าใจก็อย่าไปตามเลย ตามไปก็ไม่เกิดประโยชน์   อาศัยเสียงเกาะให้นิ่งไป จนกว่าท่านจะเทศน์เสร็จ  เพราะภูมิธรรมภูมิจิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน  เวลาท่านแสดง ท่านก็ต้องแสดงแบบครอบจักรวาล  เพราะจิตบางคนอยู่ขั้นศีล บางคนอยู่ขั้นสมาธิ บางคนอยู่ขั้นปัญญา ก็เลยต้องเทศน์ไปตามลำดับธรรม  เวลาท่านเทศน์ให้พระฟังกับให้ฆราวาสฟังจึงไม่ค่อยเหมือนกัน  กับพระนี่จะหนักไปทางศีล สมาธิ ปัญญา ของญาติโยมจะไปทางศรัทธา ทางทาน แล้วก็ทางศีลเป็นหลัก ภาวนาก็อาจจะมีบ้าง  แต่โดยหลักจะเน้นทางด้านศรัทธา  ให้เห็นคุณเห็นประโยชน์ของการเข้าหาพระศาสนา

 

ถาม     ถ้าอย่างนั้นก็ต้องจดจ่อกับสิ่งที่ท่านเทศน์ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการกำหนดลมหายใจหรือภาวนาพุทโธ ฟังแต่สิ่งที่ท่านเทศน์อย่างเดียว

 

ตอบ    ใช่  เวลาเราฟังเทศน์ก็ตั้งใจฟัง ไม่ต้องส่งจิตไปหาผู้เทศน์ ไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ท่าน นั่งฟังเฉยๆ ฟังเสียงที่มาสัมผัสกับหูแล้วเข้าไปสู่ใจ จะทำให้จิตเราสงบได้ ไม่ต้องไปกังวลกับวิธีที่เราภาวนามาก่อน เวลาที่เราไม่ได้ฟังเทศน์เราถึงใช้มัน เคยใช้ลมก็ใช้ลม เคยใช้พุทโธก็ใช้พุทโธ หรือจะเอาสิ่งที่ท่านสอนให้เราเจริญมาพิจารณาแทนก็ได้  เช่นวันนี้สอนให้พิจารณาร่างกาย ก็ลองพิจารณาดู กำหนดดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก หัวใจ ตับ ไต ปอด อะไรอย่างนี้ พิจารณาตอนต้นอาจจะยังไม่สามารถระลึกภาพได้ว่าเป็นอย่างไร  ก็ท่องจำชื่อของอวัยวะต่างๆไปก่อน ให้รู้ว่าอาการทั้ง ๓๒ มีอะไรบ้าง  เมื่อจำชื่อได้แล้วก็กำหนดดูแต่ละอาการไป ผมเป็นอย่างไร ขนเป็นอย่างไร เล็บเป็นอย่างไร ฟันเป็นอย่างไร หนังเป็นอย่างไร ฯลฯ

 

ต่อไปก็แยกออกมากองไว้เป็นกองๆ เอาผมไว้กองหนึ่ง เอาเล็บไว้กองหนึ่ง เอาหนังไว้กองหนึ่ง เหมือนกับเวลาเขาฆ่าวัว ฆ่าควาย แล้วก็ชำแหละแยกชิ้นส่วนต่างๆออกจากกัน จัดไว้เป็นส่วนๆ แล้วก็ดูสิว่าตรงไหนมีตัวมีตนบ้าง ผมมีตัวมีตนไหม ขนมีตัวมีตนไหม เล็บมีตัวมีตนไหม มันก็เป็นแค่อาการ ๓๒ เท่านั้น ตัวตนไม่รู้อยู่ตรงไหน ก็เหมือนกับทำตุ๊กตา พอเป็นตัวตุ๊กตาก็เป็นตัวตนขึ้นมา แต่ความจริงมันก็เป็นส่วนประกอบของสิ่งต่างๆ เช่นตุ๊กตาผ้าก็เอาผ้ามามัดๆ ให้เป็นแขน ให้เป็นขา ให้เป็นศีรษะ ให้เป็นร่างกาย เด็กไม่รู้ก็ไปยึดติดว่าเป็นเพื่อนหนู พอตุ๊กตาหายไปก็ร้องห่มร้องไห้ ร่างกายของเราหรือของคนที่เรารักก็เหมือนกับตุ๊กตา

 

ถาม     ก็คือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียวก่อนใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ   เวลาฟังธรรมก็ฟังธรรมไป  เวลาอยู่คนเดียวภาวนา จะใช้พุทโธก็ได้หรือลมก็ได้  บางทีพุทโธกับลมหายใจก็สามารถใช้ควบคู่กันได้  ถ้าถนัดอย่างนั้น บางคนถนัดหายใจเข้าก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธ เพราะเวลาดูลมหายใจอย่างเดียว บางทีจิตยังไปคิดเรื่องอื่นได้อีก ถ้าไม่ต้องการให้ไปคิด ก็ให้บริกรรมพุทโธควบคู่ไปกับการดูลมหายใจเข้าออก  ถ้าไม่อยากจะดูลม ก็บริกรรมแต่พุทโธๆๆอย่างเดียวก็ได้  วิธีไหนที่สะดวกสบายสงบ ก็ใช้วิธีนั้น อย่าไปฟังเรื่องของคนอื่นเขา แต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน  ถ้าเราถนัดบริกรรมพุทโธๆอย่างเดียว ไม่ดูลมด้วยก็ได้ ถ้าไม่ชอบบริกรรม ชอบดูลมอย่างเดียว ก็ดูลมอย่างเดียวไป วิธีไหนก็ได้ ที่ทำให้จิตสงบตัวลงได้ ตั้งมั่นได้ ไม่ไปคิดกังวลกับเรื่องต่างๆ  สงบเย็น สบาย วิธีนั้นแหละเป็นวิธีที่ถูกกับเรา

 

ถาม     คำว่าถูกจริตกับเรา ตัวเรานี่ต้องค้นหาใช่ไหมครับ ว่าอันไหนที่มันเหมาะกับเรา หรือลองไปหลายๆวิธี จนรู้ว่าวิธีนี้จะเหมาะสำหรับเรา

 

ตอบ     ก็คงจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่โดยทั่วไปก็มีไม่กี่วิธี มีลม มีพุทโธ มีการพิจารณาธรรมต่างๆ  ปฏิบัติไปเรื่อยๆสักวันหนึ่งก็คงได้พบกับวิธีที่ถูกกับเรา วิธีต่างๆที่พูดมานี้ก็เหมาะกับคนทั่วไปอยู่แล้ว  จึงอย่าไปให้มันหลอกเราว่า ต้องหาวิธีนั้นวิธีนี้เลย  เพราะเรื่องอย่างอื่นเรายังรู้ได้เองว่าอะไรถูกกับเราหรือไม่ เช่นอาหารการกินต่างๆ หรือเสื้อผ้าสีสันต่างๆ อยู่ที่การเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติมากกว่า  ที่ไม่ได้ผลกันส่วนใหญ่ ก็เพราะไม่เอาจริงเอาจังกัน