กัณฑ์ที่ ๒๔๒       ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๙

 

การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

 

การมาวัดเป็นการมาพัฒนาชีวิตจิตใจ ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ในโลกนี้มีการพัฒนาอยู่ ๒ แบบด้วยกัน คือแบบที่ยั่งยืนและแบบที่ไม่ยั่งยืน แบบที่ไม่ยั่งยืนก็คือการพัฒนาทางด้านวัตถุ ข้าวของเงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข การพัฒนาสิ่งเหล่านี้แม้จะได้มามากน้อยเพียงไรก็ตาม แต่มันมีขอบเขต มีอายุขัย คือชีวิตของเรานั้นก็ไม่เกินร้อยปีเป็นส่วนใหญ่ เมื่อชีวิตของเราหมดสิ้นไปแล้ว สิ่งที่เราพัฒนาต่างๆไม่ว่าจะเป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ เป็นความสุขที่ได้จากการเสพ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชนิดต่างๆก็จะหมดไป ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในจิตใจเลย จิตใจไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืนนี้เลย แต่การทำความดี ละการกระทำความชั่ว ชำระจิตใจ ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เบาบางลงไป ให้น้อยลงไป และให้หมดสิ้นไปนั้น เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเป็นสิ่งที่จะอยู่ไปกับจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เสื่อม ไม่สลาย ไม่แตก ไม่ดับ สิ่งที่อยู่ติดกับจิตใจไปก็ไม่เสื่อม ไม่สลาย ไม่ดับไปเช่นเดียวกัน

 

ไม่เหมือนกับสิ่งที่ต้องมีร่างกายเป็นเครื่องรองรับ เช่นเงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขต่างๆ ที่ต้องมีร่างกายเป็นตัวรองรับ เมื่อร่างกายไม่สามารถที่จะดำเนินต่อไปได้แล้ว พวกลาภ ยศ สรรเสริญ สุขต่างๆ ก็ต้องหมดไปด้วย กลายเป็นสมบัติของผู้อื่นไป เงินทองที่หามาได้มากน้อยเพียงไร เมื่อเราตายไปก็ตกเป็นสมบัติของผู้อื่นต่อไป เป็นของลูกหลาน เป็นของผู้ที่เราได้กำหนดไว้ในพินัยกรรม ถ้าไม่มีลูกหลาน ก็อาจจะถวายให้กับวัด ให้กับสาธารณะกุศลต่างๆไป สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสมบัติของเราอีกต่อไป แต่ความดีงามต่างๆที่เราได้บำเพ็ญกันมา เช่นในวันนี้ เรามาทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม จะติดไปกับจิตกับใจ จะกลายเป็นนิสัยขึ้นมานั่นเอง ทำให้เรามีความผูกพันกับการกระทำสิ่งเหล่านี้ เหตุที่พวกเราทั้งหลายได้มาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ ก็เพราะว่าเราได้เคยพัฒนาสิ่งเหล่านี้มาแล้วในอดีต ในชาติก่อนๆ มันจึงติดเป็นนิสัยมา ทำให้เราอยากจะมาวัด อยากจะมาทำบุญให้ทาน อยากจะมารักษาศีล อยากจะมาปฏิบัติธรรม อยากจะมาฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะเมื่อได้ปฏิบัติสิ่งเหล่านี้แล้ว ทำให้จิตใจมีความร่มเย็นเป็นสุข ทำให้จิตใจสูงขึ้น มีความเสียสละมากขึ้น มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง การพัฒนาที่จะยกจิตใจให้สูงขึ้นได้นั้น ต้องมีความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว เพราะความเห็นแก่ตัว จะฉุดลากจิตใจให้ลงสู่ที่ต่ำ ส่วนความเสียสละ จะดึงจิตใจให้ขึ้นสู่ที่สูง

 

เราลองสังเกตดู คนที่มีความเสียสละกับคนที่มีความเห็นแก่ตัวนั้น จะแตกต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน คนสองคนอยู่ด้วยกัน คนหนึ่งเสียสละ ยินดีที่จะเสียสละทรัพย์ สิ่งต่างๆให้กับอีกคนหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่งไม่เคยคิดที่จะเสียสละเลย คิดจะเอาอย่างเดียว ถ้าเราต้องเลือกอยู่ด้วย เราจะอยู่กับคนไหนดี จะอยู่กับคนที่มีแต่ความเห็นแก่ตัว หรือจะอยู่กับคนที่มีแต่ความเสียสละ เราจะรักจะเคารพคนแบบไหน คนที่มีความเห็นแก่ตัว หรือคนที่มีความเสียสละ เพียงคิดเท่านี้เราก็จะเห็นคุณค่าของความเสียสละ เห็นโทษของการเห็นแก่ตัวแล้ว นี่คือสิ่งที่เรามาปฏิบัติกัน มาพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นด้วยการเสริมสร้างจาคะ คือการเสียสละ อย่างวันนี้ญาติโยมมาวัดก็ต้องเสียสละเวลา เสียสละเงินทอง แต่ก็มีความดีใจ มีความพอใจ เพราะได้พัฒนาจิตใจของตนให้สูงขึ้น แต่คนที่มีแต่ความเห็นแก่ตัว จะเห็นว่าการมาวัดมีแต่การเสียอย่างเดียว เสียเวลาแทนที่จะเอาเวลานี้ไปเที่ยว ไปทำมาหากิน ไปหาเงินหาทอง ก็ต้องมาเสียเวลานั่งฟังพระพูด นั่งรอถวายของต่างๆให้เสร็จเรียบร้อย กว่าจะได้กลับบ้านไปทำตามสิ่งที่ตนเองชอบทำ ก็จะเสียเวลาไปมาก ถ้าไม่มาเลย เช่นวันนี้ไม่ต้องทำงาน ถ้าไม่มาวัดก็ได้นอนต่ออย่างสบาย แทนที่จะต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า หกโมงเช้า ก็นอนไปถึงเที่ยงวันเลยก็ได้ เพราะเมื่อคืนนี้เที่ยวดึกไปหน่อย ไปดื่มเหล้าเสพสุรายาเมา เต้นรำร้องรำทำเพลง  ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับจิตใจเลย แต่เป็นเครื่องฉุดลากจิตใจให้ถดถอยลงไป เพราะไม่สามารถทำสิ่งที่ดีที่งามได้

 

คนที่ติดการเสพสุรายาเมา ติดการเที่ยว จิตใจจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวเหล่านี้ จะไม่คิดถึงเรื่องที่ดีที่งาม จะไม่เห็นว่าการมาวัด มาทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมนั้น เป็นเรื่องที่ดีที่มีประโยชน์ แต่จะเห็นว่าเป็นเรื่องเสียเวลา สู้ไปเที่ยวไม่ได้ ไปดื่มเหล้าเมายาไม่ได้ มีความสุข สนุกสนานเฮฮา แต่เป็นความสนุกสนานเฮฮาที่มีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ ที่คอยตามมาต่อไป ความสุข ความสนุกสนานเฮฮาก็เป็นเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ในขณะที่ได้กระทำสิ่งเหล่านั้น เวลาออกไปเที่ยวเราก็มีความสนุกสนานเฮฮา กินเหล้าก็มีความสุข แต่พอมันผ่านไปแล้ว ความสุขเหล่านี้ก็หมดไป ปล่อยให้ใจมีแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว มีแต่ความหิว มีแต่ความอยาก ที่จะออกไปเที่ยวอีก อยากจะไปดื่มอีก แล้วถ้าไม่ได้ออกไปเที่ยว ไม่ได้ออกไปดื่ม ก็จะมีอาการที่ไม่ดีตามมา มีความหงุดหงิดใจ มีความทุกข์ใจ มีความเศร้าหมองตามมา แต่ในทางตรงกันข้าม คนที่มาทำความดีด้วยการเสียสละเวลา เสียสละทรัพย์ เช่นที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้ เวลาทำก็มีความสุข เป็นความสงบสุขที่เกิดจากจิตใจที่ได้ชนะความเห็นแก่ตัว ชนะความโลภ ชนะความหลง และเมื่อกลับไปที่บ้าน เวลาที่คิดถึงการกระทำนี้ เราก็สุขใจ ไม่มีความหิวที่อยากจะออกไปเที่ยว ไปดื่มสุรา ไปทำอะไรต่างๆที่ไร้สาระ เพราะจิตใจอิ่มบุญ อยู่เฉยๆก็มีความสุข อยู่บ้านเฉยๆไม่ได้ทำอะไร ก็ไม่เดือดร้อนอะไร

 

ไม่เหมือนกับการใช้เวลาไปกับการเที่ยวเตร่ เสพสุรายาเมา เล่นการพนัน ทำในสิ่งที่ตนเองชอบทำ แต่ไม่มีประโยชน์กับผู้หนึ่งผู้ใด เพราะทำให้จิตใจ มีแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว เวลาอยู่คนเดียวก็จะรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงา ต้องหาเพื่อนหาฝูงมาทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อกลบความรู้สึกที่ไม่ดีนั้น ทำเท่าไรกลบเท่าไรมันก็กลบไม่มิด เหมือนกับเอาใบบัวมาปิดช้างที่ตาย ฉันใดก็ฉันนั้น ใบบัวไปปิดช้างไม่ได้ เพราะใบบัวมันเล็กมันไม่ใหญ่เท่ากับช้าง ฉันใดสิ่งต่างๆที่พวกเราทำกันตามความชอบของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยว ไปหาเพื่อนฝูง ไปดื่ม ไปกินกัน ไปเล่น สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถมาลบล้าง กลบความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวที่มีอยู่ในจิตใจของเราได้ แต่จะทำให้มีมากยิ่งๆขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่ใช่เป็นวิธีที่จะกำจัดมันนั่นเอง แต่เป็นการเสริมสร้างความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ความหิวความอยากให้มีมากยิ่งๆขึ้นไป เปรียบเหมือนกับการเทน้ำมันลงไปในกองไฟ แทนที่จะทำให้เพลิงนั้นลดน้อยถอยลงไปและดับไปในที่สุด กลับทำให้เพลิงลุกไหม้แรงขึ้นไปอีก ทั้งๆที่รู้สึกว่ามันลดน้อยลงไป ในขณะที่เราเทลงไปใหม่ๆ เพราะตอนนั้นน้ำมันยังไม่ร้อน ยังไม่ติดไฟ ก็เหมือนกับเป็นน้ำไปดับไฟที่กำลังไหม้อยู่ ให้มันเบาบางลงไป แต่เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นเอง พอน้ำมันที่ราดลงบนกองไฟมันร้อนขึ้นมา มันก็จะเริ่มไหม้ ทำให้กองไฟลุกไหม้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่เหมือนกับการเอาน้ำไปราดใส่กองไฟ ที่ไม่ช้าก็เร็วก็จะทำให้ไฟดับหมดสิ้นไป

 

การที่จะกำจัดความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ความทุกข์ใจ ความเศร้าหมองต่างๆ ให้หมดไปจากใจได้นั้น ต้องเอาน้ำแห่งธรรมะ คือความดีงามทั้งหลายมาดับ ถึงจะทำให้จิตใจมีความร่มเย็นเป็นสุข มีความอิ่มเอิบใจขึ้นมาได้ อย่างที่ท่านทั้งหลายมากระทำกันในวันนี้ เหมือนกับการเอาน้ำมาดับไฟที่มีอยู่ในใจ ไฟแห่งความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ไฟแห่งความเศร้าหมอง จะไม่สามารถอยู่ในจิตในใจต่อไปได้ ถ้าหมั่นเอาน้ำแห่งธรรมะของพระพุทธเจ้า มาราดใส่ลงไปเรื่อยๆ แล้วในที่สุดสักวันหนึ่งก็จะไม่มีไฟหลงเหลืออยู่เลย ใจจะสงบร่มเย็นเป็นสุข ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนแห่งหนตำบลใด จะอยู่คนเดียวหรืออยู่กับหลายๆคน ก็จะไม่มีความรู้สึกแตกต่างกัน ไม่เหมือนกับจิตใจของพวกเรา ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ยังไม่ได้รับการดับไฟแห่งความทุกข์ทั้งหลาย ที่ยังแกว่งไปมาเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา เวลาได้อยู่กับคนที่รักที่ชอบ ก็แกว่งไปทางดีอกดีใจ แต่พอคนที่รักที่ชอบจากเราไป หรือไม่ได้อยู่ใกล้กัน ความรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงาก็จะตามมา เพราะว่าเราพัฒนาใจไปในทางที่ไม่ยั่งยืนนั่นเอง ไปเอาสิ่งที่ไม่ยั่งยืนมาเป็นเครื่องให้ความสุข เมื่อเป็นเช่นนั้น เวลามีก็ดีอกดีใจ เช่นเวลาได้เงินได้ทองมา จะดีอกดีใจ แต่พอใช้เงินหมดไป หรือเงินถูกขโมยไปหมด ถูกโกงไปจนหมดเนื้อหมดตัว ก็จะมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสียใจ มีแต่ความวุ่นวายใจ เพราะพัฒนาในสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั่นเอง

 

สิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนเรากลับไม่พัฒนากัน เช่นการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ที่เราสามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากเย็นอะไรเลย การรักษาศีลก็ไม่ต้องมีอะไรเลย เพียงแต่ให้รู้ว่าศีลมีอะไรบ้าง แล้วก็ละเว้นจากการกระทำที่ไม่ดีเหล่านั้นเสีย ศีลก็คือการละเว้นจากการกระทำบาป มีอยู่ ๕ ชนิดด้วยกัน คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา เป็นการกระทำที่จะสร้างความวุ่นวายใจ สร้างความทุกข์ใจให้กับเรา ถ้าละเว้น ไม่ทำเสีย ความวุ่นวายใจ ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิดขึ้น และควรละเว้นจากการทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ไปเที่ยว ไปดื่มไปกินไปหาความสนุกกับเรื่องราวต่างๆ ให้เอาเงินเอาทองที่ไปใช้กับสิ่งเหล่านี้ มาแจกจ่ายให้กับผู้เดือดร้อน เช่นซื้อข้าวของมาถวายพระ ให้กับพระก็ได้ ให้กับฆราวาสก็ได้ ให้กับพ่อกับแม่ก็ได้ เพราะพ่อแม่ก็เป็นพระของเรา ท่านเรียกว่าเป็นพระอรหันต์ของลูกๆ เป็นพระที่บ้าน แทนที่จะไปทำบุญกับพระนอกบ้าน ท่านสอนให้ทำบุญกับพระในบ้านก่อน มีอะไรพอที่จะให้คุณพ่อคุณแม่ได้ก็ให้ท่านบ้าง ถึงแม้ท่านจะไม่เรียกร้อง ท่านไม่ขอ หรือมีพอเพียงแล้วก็ตาม เพราะเวลาเราให้กับท่านก็เหมือนกับให้กับพระ เหมือนวันนี้ที่ญาติโยมเอาข้าวของมาถวายพระ พระท่านบางครั้งท่านก็มีเหลือเฟืออย่างที่เห็นอยู่

 

แต่นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าขอให้เราได้ทำ ถึงแม้พ่อแม่จะมีเงินมีทองมากมายกว่าเราก็ตาม ถ้าเรามีจิตใจที่อยากจะบูชาพระคุณของท่าน ถึงแม้จะมีเล็กมีน้อย มีห้าบาทสิบบาท เราเอาไปให้ท่าน อย่างน้อยก็จะทำให้ท่านมีความสุข และทำให้เราเป็นคนดีขึ้น ได้พัฒนาจิตใจ ได้เสียสละ แทนที่จะเอาเงินนี้ไปเสพสุรายาเมาเที่ยวกับเพื่อนฝูง ก็เอาเงินนี้มาให้กับคุณพ่อคุณแม่ หรือพาคุณพ่อคุณแม่มาทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม เหล่านี้เป็นการกระทำที่เกิดคุณเกิดประโยชน์กับจิตใจของเรา เป็นการพัฒนาอย่างถาวร แล้วจะติดเป็นนิสัยไปกับเรา เมื่อติดเป็นนิสัยแล้วเวลาทำจะง่าย คนที่ไม่เคยทำความดีจะรู้สึกว่ายาก ในแต่ละครั้งที่จะทำความดี คนที่เคยทำความไม่ดี เวลาทำความไม่ดีจะรู้สึกว่าง่าย เช่นเคยดื่มสุรายาเมา จะรู้สึกว่าดื่มง่ายมาก ไปเที่ยวก็ง่าย เล่นการพนันก็ง่าย เพราะเคยทำมาจนติดเป็นนิสัย แต่คนที่ไม่เคยเที่ยว ไม่เคยดื่มสุรา ไม่เคยเล่นการพนัน จะไม่ชอบ จะรู้สึกอึดอัดใจเมื่อต้องทำสิ่งเหล่านี้ เพราะไม่ได้ถูกปลูกฝังไว้ในจิตในใจนั่นเอง ดังนั้นการปลูกฝังนิสัยที่ดี การกระทำที่ดี จึงเป็นการส่งเสริมให้ความดีเจริญงอกงาม และติดเนื้อติดตัวไปกับเรา อย่างชาติก่อนเราเคยได้ปลูกฝังความดีงามมาแล้ว มันจึงพาให้เราได้มาทำบุญกันในวันนี้ ถ้าไม่เคยทำบุญมาก่อน จะไม่คิดอยากจะมาวัดกัน ถ้าเคยแต่เที่ยว เคยแต่ดื่ม เคยแต่เล่น เคยนอนดึกๆ จะไม่ตื่นเช้า ไม่คิดจะมาวัดกัน

 

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า การได้ทำบุญในอดีตเป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะบุญในอดีตนี้แหละ จะเป็นตัวผลักดันให้เราได้มาทำบุญ มาทำความดีเพิ่มมากยิ่งขึ้นไป เพราะบุญและความดีนี้แหละที่เป็นตัวพัฒนา เป็นตัวดันให้เราขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของชีวิตได้ คือได้เป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้า จึงควรเห็นคุณค่าของการทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น เวลาให้ทาน จิตใจก็สูงขึ้น มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง มีความเสียสละมากขึ้น เวลารักษาศีล ก็ทำให้เราเป็นคนสะอาดบริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีความเมตตากับผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นยกย่องนับถือเคารพ ไม่มีใครรังเกียจคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต เวลาทำงานทำการก็อยากจะได้คนที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ต้องการคนลักเล็กขโมยน้อย โกหกหลอกลวง เมื่อได้รักษาศีล เราก็สร้างคุณสมบัติที่ดีงามให้กับตัวเรา เวลาฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ได้ปัญญา ได้ความรู้ต่างๆที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้ยินได้ฟังในสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ก็จะเกิดความเข้าใจดียิ่งขึ้น ทำให้รู้จักดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีที่ควร ให้พบกับความสุขกับความเจริญอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะไม่ได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ เช่นเรื่องการเสียสละ เรื่องการละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น

 

คนที่ไม่เคยเข้าวัดจะมองคนเข้าวัดว่าเป็นคนงมงาย เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา แต่คนที่เข้าวัดนั้นแหละเมื่อได้ฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วนำไปปฏิบัติจนเห็นผลปรากฏขึ้นมาในจิตใจแล้ว จะเห็นคนที่ไม่เข้าวัดเข้าวานั่นแหละ ว่าเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เสียชาติเกิด เพราะไม่มีภพไหนชาติไหนจะดีเท่ากับภพชาติของมนุษย์ ในการที่จะมาพัฒนาชีวิตจิตใจของตนเอง ให้สูงขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดของการพัฒนา ไม่มีสัตว์ชนิดใดที่จะสามารถพัฒนาตนเอง ได้เท่ากับมนุษย์ ถ้าเกิดมาเป็นเดรัจฉานก็จะไม่มีโอกาสได้ทำความดี เพราะชีวิตของเดรัจฉานเป็นแบบปากกัดตีนถีบ มีโอกาสที่จะกัดจะกินอะไรได้ก็ต้องกัดต้องกิน ไม่คำนึงถึงเรื่องศีลธรรม ไม่รู้จักศีลธรรมด้วยซ้ำไป มนุษย์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ เพราะมนุษย์เท่านั้นที่รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักศีล รู้จักธรรม แต่ถ้าเกิดมาแล้วไม่สนใจกับเรื่องศีลธรรม การมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ เป็นมนุษย์เพียงทางร่างกาย แต่จิตใจก็ไม่ต่างจากเดรัจฉาน ที่อยู่แบบปากกัดตีนถีบ แสวงหาผลประโยชน์เพื่อส่วนตนเท่านั้น ไม่คำนึงถึงผู้อื่น ไม่คำนึงว่าการแสวงหาผลประโยชน์ จะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นหรือไม่ ซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ หรือมีแต่หลอกลวงผู้อื่นเพื่อที่จะให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ทางศาสนาถือว่าไม่ได้เป็นมนุษย์ แต่เป็นเดรัจฉาน เพราะมีคุณสมบัติของเดรัจฉานนั่นเอง เพราะไม่มีศีลไม่มีธรรม

 

การที่จะเป็นมนุษย์ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ จะต้องมีศีลห้าเป็นพื้นฐาน ละเว้นจากกาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ โกหกหลอกลวง เสพสุรายาเมา และอบายมุขต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำไปแล้วล้วนจะเกิดโทษกับผู้กระทำนั่นเอง โทษมีทั้งในปัจจุบันและมีทั้งในอนาคต ในปัจจุบันก็ทำให้จิตใจทุกข์วุ่นวายใจ อนาคตก็อาจจะถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง ถูกจับไปทำโทษ และอนาคตที่ไกลกว่านี้ก็คือ เมื่อตายไปแล้วก็ยังต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน หรือไปเกิดในอบายใดอบายหนึ่ง เพราะนี่คือเหตุที่จะพาให้ไปนั่นเอง แต่ถ้าเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงแล้ว จะรักษาศีลห้าอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็มีความสุขสบายใจ ไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหว ไม่หวาดกลัวว่าใครจะมาว่าไม่ดี มาจับเข้าคุกเข้าตะราง จับไปทำโทษ เพราะไม่ได้ทำความผิด แล้วใครจะมาจับไปทำโทษได้ เป็นไปไม่ได้ จะไม่มีความกังวล ไม่มีความวุ่นวายใจ แล้วเมื่อตายไปก็ยังได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือไม่เช่นนั้นก็ได้ไปเกิดบนสวรรค์ เป็นเทพ เป็นพรหม ถ้าได้ปฏิบัติธรรมสูงยิ่งขึ้นไป เช่นถ้าได้นั่งสมาธิ ได้ไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเช้าวัตรเย็นอยู่เป็นประจำ ทำจิตใจให้สงบอยู่เรื่อยๆ จิตใจก็จะเป็นพรหม เป็นเทพไป

 

แล้วถ้าได้เจริญปัญญา คือวิปัสสนา พิจารณาให้เห็นถึงสภาพของความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายว่า ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น อนิจจังคือไม่เที่ยง แท้แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกข์ก็คือไม่สุขนั่นเอง ทุกสิ่งในโลกนี้ไม่ได้ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง มีความทุกข์รออยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคล อนัตตาแปลว่าไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน ศาลาหลังนี้ไม่มีตัวตน รถยนต์ไม่มีตัวตน บ้านไม่มีตัวตน เสื้อผ้าไม่มีตัวตน ร่างกายของเราก็ไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน ร่างกายของเราก็เป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง ที่ถูกประกอบขึ้นมาด้วยอาหารที่เรารับประทานเข้าไป อาหารก็มาจากดิน จากน้ำ จากลม จากไฟ ร่างกายจึงเป็นส่วนประกอบของดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นเอง ไม่มีตัวไม่มีตน เมื่อร่างกายนี้ตายไป หยุดหายใจ ธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ ก็จะแยกทางกันไป คนที่ตายไปไม่นานก็ไม่เหลืออะไร น้ำก็จะไหลออกมาหมด เหลือแต่หนังเหลือแต่กระดูก ที่แห้งกรอบ ทิ้งไว้นานๆก็จะกลายเป็นขี้ฝุ่นไป กลายเป็นดินไป นี่คือวิปัสสนาหรือปัญญา ถ้ารู้จักพิจารณาสิ่งต่างๆในโลกนี้ว่าล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว จิตก็จะได้พัฒนาขึ้นสู่อริยภูมิ ได้ไปเกิดเป็นพระอริยเจ้า หรือเป็นพระอริยเจ้าในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่นได้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เราสามารถเป็นได้ในชาตินี้ ในสมัยพุทธกาลมีผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก เป็นหมื่นเป็นแสนเลยก็ว่าได้ เพราะนี่คืออานิสงส์ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม จากการทำความดี เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนถาวร และเมื่อได้เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็จะไม่กลับมาเป็นปุถุชนธรรมดาอีกต่อไป จะเป็นพระอริยเจ้าไปตลอดอนันตกาล

 

นี่คือการพัฒนาที่แท้จริงที่ยั่งยืน ที่พุทธศาสนามอบไว้ให้กับพวกเรา พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้พัฒนามาแล้ว ได้พิสูจน์มาแล้ว รู้ถึงผลของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วว่าเลิศวิเศษอย่างไร จึงได้นำเอามาเผยแผ่ เอามาสั่งสอนพวกเรา อยู่ที่พวกเราจะรับไปปฏิบัติหรือไม่ อยู่ที่เราจะเลือกพัฒนาแบบไหน จะพัฒนาแบบยั่งยืนตามพระพุทธเจ้า ตามพระอรหันตสาวกทั้งหลาย หรือจะพัฒนาแบบไม่ยั่งยืนตามคนรวย ตามคนที่มีตำแหน่งสูงๆ มีลูกน้อง มีบริวารมากๆ ตามคนที่มีความสุขจากการเที่ยว จากการกิน จากการดื่ม ก็สุดแท้แต่ นี่คือทางเลือก ๒ ทาง จะไปทางไหนไม่มีใครบังคับ เราต้องบังคับตัวเราเอง ถ้าไม่บังคับแล้ว อำนาจใฝ่ต่ำที่จะไปทางพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนยังมีกำลังมากอยู่ ก็จะฉุดลากให้ไปทางนั้น เราจึงต้องฝืน ต้องพยายามดึงให้มาทางนี้ให้ได้ ดึงมาทางศาสนา ดึงมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

ขอให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระอรหันต์อยู่เสมอ ท่านเป็นเหมือนธงชัยของเรา เป็นตัวอย่างที่ดีที่งามของเรา ถ้าระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่เรื่อยๆแล้ว เราจะไม่หลงกับการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน แต่จะมุ่งมั่นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการปฏิบัติ ด้วยการทำบุญรักษาศีล ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ แล้วการพัฒนาของเราก็จะก้าวไปสู่จุดที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุด ถ้าไม่ในชาตินี้ก็ภายในไม่กี่ชาติข้างหน้า เมื่อได้พัฒนาถึงจุดสูงสุดแล้ว การเวียนว่ายตายเกิดก็จะหมดสิ้นไป ไม่ต้องไปเกิด ไปแก่ ไปเจ็บ ไปตาย ไปทุกข์กับเรื่องราวต่างๆ อย่างที่พวกเราทุกข์กันอยู่ในปัจจุบันนี้อีกต่อไป เพราะได้พัฒนาจิตใจไปถึงจุดที่ไม่ต้องไปเกิดนั่นเอง นี่แหละคือสิ่งที่วิเศษ ที่เลิศ ที่ประเสริฐ ที่พุทธศาสนาได้มอบให้กับพวกเรา อยู่ที่พวกเราจะน้อมเอาไปปฏิบัติหรือไม่เท่านั้นเอง จึงอยากขอฝากให้ท่านทั้งหลาย จงนำเอาเรื่องราวที่ท่านได้ยินได้ฟังกันในวันนี้ไปพินิจพิจารณา ไปเตือนสติอยู่เรื่อยๆ เพื่อความพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้