กัณฑ์ที่ ๒๔๘       ๒๓ กันยายน ๒๕๔๙

 

ไม่มีตัวตน

 

 

 

การบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา   เป็นการใช้เวลาให้เกิดคุณประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะเป็นการชำระจิตใจให้สะอาดหมดจดไปตามลำดับ  จิตใจที่ได้รับการชำระมากน้อยเพียงไร ก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุขมากน้อยเพียงนั้น สิ่งที่จะต้องถูกชำระอย่างสม่ำเสมอก็คือกิเลส ความเศร้าหมองต่างๆ ถ้ามีอยู่มากน้อยเพียงไรจิตใจก็จะไม่เบิกบาน ไม่สดชื่น ไม่ร่าเริง มีแต่ความกลุ้มอกกลุ้มใจ ไม่สบายใจ เพราะกิเลสไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ หรือความหลง เมื่อปรากฏขึ้นมาในเวลาใดแล้ว ก็จะทำให้จิตใจมีความรุมร้อน มีความวุ่นวาย  ถ้าอยากจะมีความสุขอย่างแท้จริง เราก็ต้องกำจัดชำระกิเลสกัน ด้วยการมาวัดอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมาแล้วเราจะได้เครื่องมือหลายอย่าง ไปใช้กำจัดความเศร้าหมองทั้งหลาย ให้หมดไปจากจิตจากใจ เมื่อความเศร้าหมองหมดไปแล้ว จิตใจก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข โดยที่ไม่ต้องมีอะไรมากมาย ไม่จำเป็นจะต้องมีเงินทองมากมาย ไม่จำเป็นจะต้องมีตำแหน่งสูงๆ  ไม่จำเป็นจะต้องมีเครื่องบำรุงบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย   คือรูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ชนิดต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นสำหรับจิตใจ ที่ได้รับการชำระอย่างสม่ำเสมอ ได้รับการกำจัดกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่อย่างสม่ำเสมอ 

 

จิตใจจะมีความอิ่มเอิบ มีปีติ มีความสุข   ดังที่ท่านทั้งหลายได้สัมผัสกันในขณะนี้ เวลาที่ได้ทำบุญให้ทานจะมีความรู้สึกอิ่มเอิบใจ มีความสุขใจ มีความพอใจ แต่ถ้าใจยังมีความปรารถนาในสิ่งต่างๆที่อยู่นอกใจอยู่  ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุขต่างๆ ที่ได้มาจากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  ก็แสดงว่ายังไม่ได้กำจัดกิเลสความเศร้าหมองต่างๆ ให้มันน้อยลงไปนั่นเอง กิเลสยังมีอำนาจที่จะคอยหลอกล่อ ให้ไปหลงยินดีกับสิ่งต่างๆภายนอก  เมื่อถูกหลอกให้หลงยินดีกับสิ่งต่างๆภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นบุคคลเป็นวัตถุแล้ว ก็จะเป็นเหมือนกับคนที่ติดยาเสพติด คนที่ไม่ติดยาเสพติดจะไม่มีความวุ่นวายใจกับสิ่งเสพติดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ สุราหรือยาเสพติดชนิดต่างๆ ถ้าไม่ติดก็จะไม่มีปัญหา  แต่ถ้าติด เช่นติดบุหรี่ ติดเหล้า ติดสารเสพติดต่างๆ เราก็ต้องคอยหามาบำรุงบำเรออยู่เรื่อยๆ  เวลาที่ขาดมัน ไม่ได้เสพมัน ก็เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ เกิดความวุ่นวายใจ  เพราะใจของคนที่ไปติดสิ่งเสพติดนั้นไม่ได้รับการชำระความโลภ  ความโกรธ  ความหลง อย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง มีแต่ส่งเสริมให้เกิดความโลภความหลงให้มากยิ่งขึ้นไป ด้วยการไปหลงสิ่งต่างๆที่อยู่ภายนอกใจ

 

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจิตใจก็จะมีแต่ความฟุ้งซ่าน ความวุ่นวาย ความทุกข์ความกังวลต่างๆ เพราะเมื่อได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆภายนอกแล้ว ก็จะมีความผูกพันเรียกว่าอุปาทาน      ความยึดมั่นถือมั่น ได้อะไรมาก็อยากจะเก็บรักษาให้อยู่ไปนานๆ  ให้เป็นเหมือนเดิม ไม่อยากให้มันเก่าให้มันเสีย แต่โดยธรรมชาติของสิ่งต่างๆในโลกนี้ ล้วนมีการเสื่อมไปเป็นธรรมดา ได้มาแล้วก็ต้องเปลี่ยนไป จากใหม่ก็กลายเป็นเก่า จากของดีก็กลายเป็นของเสียไป  จากคนดีก็กลายเป็นคนไม่ดีไป เพราะเป็นเรื่องปกติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่จะต้องเป็นไปตามกฎของมัน แต่ใจที่มีความหลงจะไม่รู้   จะคิดว่าสิ่งต่างๆที่ปรารถนา  ที่ยินดี  ที่ได้มาครอบครอง จะอยู่แบบเดิมเสมอไป ได้ใครมาเป็นคู่ครองก็คิดว่าจะต้องดีเสมอไป เหมือนกับวันแรกที่ได้เจอกัน แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่ออยู่ไปนานๆเข้าก็มีการเปลี่ยนแปลงไป จากคนที่มีเอาอกเอาใจเคารพนอบน้อม ก็กลายเป็นคนที่ไม่เอาอกเอาใจ ไม่เคารพน้อมนอบ เพราะเป็นเรื่องปกติของโลก มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถ้าไปหลงไปยึดไปติด ก็จะต้องเจอกับความทุกข์ชนิดต่างๆตามมาอย่างแน่นอน  

 

พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนให้ชำระจิตใจอยู่เรื่อยๆ ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา นั่งสมาธิ  เดินจงกรม พิจารณาธรรมะต่างๆ ให้เห็นอย่างถ่องแท้ว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เที่ยงแท้แน่นอน  ไม่มีอะไรให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรที่เราจะสามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้เสมอ  ถ้าพร่ำสอนจิตใจอย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้ว ความหลงจะเบาบางลงไป เวลาเห็นอะไร ชอบอะไร อยากจะได้อะไรมา ก็ต้องถามตัวเราเองว่ามันจะเป็นอย่างนี้ไปตลอดหรือไม่  จะอยู่กับเราไปตลอดหรือไม่ จะให้ความสุขอย่างเดียวหรือไม่  อยู่ภายใต้ความควบคุมของเราหรือไม่ ถ้าถามตัวเองแล้วเราจะได้คำตอบว่าไม่ ทั้งหมด คือมันจะต้องเปลี่ยนแปลง จะต้องให้ความทุกข์กับเรา จะไม่อยู่ในความควบคุมบังคับของเราเสมอไป    เมื่อรู้อย่างนั้นแล้ว เรื่องอะไร  จะไปเอามันมาทำไม  เมื่อก่อนที่เราได้เห็นมัน เราก็อยู่ได้ มีความสุขได้ แล้วทำไมต้องเอามาแบก ให้มันสร้างความทุกข์ให้กับเรา ถ้าจิตใจได้รับการชำระด้วยการเจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆ สอนตนเองอยู่เรื่อยๆแล้ว เวลาเห็นอะไร ได้ยินอะไร สัมผัสอะไรก็ตาม ก็จะไม่ปล่อยให้ความหลงฉุดกระชากลากให้ไปเกิดความโลภ เกิดความอยาก  เกิดความต้องการขึ้นมา จะถามเสมอว่าถ้าไม่มีมันแล้วเราจะตายหรือไม่  เมื่อสักครู่นี้ไม่มีมันเราก็ยังอยู่ได้  ขณะนี้เรายังไม่มีมันเราก็ยังอยู่ได้ แล้วทำไมจะต้องไปเอามันมา  ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปเอามาดีกว่า  สู้เก็บเงินเก็บทองไว้ใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆจะดีกว่า  เช่นซื้ออาหารมารับประทาน ถ้าไม่มีเงินซื้อก็จะลำบากลำบน อดอยากขาดแคลน

 

ของที่ไม่จำเป็นหรือของฟุ่มเฟือย ไม่ได้ช่วยอะไรเรา ซื้อมาแล้วเงินก็หมดไป เวลาต้องไปซื้ออาหารมารับประทาน ถ้าไม่มีเงินก็จะเดือดร้อน   ของที่ซื้อมาเอาไปขายก็ขายไม่ได้ ไม่มีใครอยากจะได้  ดังนั้นเวลาที่เห็นอะไร ได้ยินอะไร สัมผัสอะไร แล้วเกิดความชอบ เกิดความยินดีขึ้นมา ให้ถามตัวเราเองว่า มันดีจริงหรือไม่ จะดีไปตลอดหรือไม่ หรือจะต้องเปลี่ยนไป ให้ความสุขกับเราอย่างเดียวหรือว่ามีความทุกข์ติดมาด้วย ความทุกข์ที่เกิดจากความห่วงใยกังวลใจว่า จะอยู่กับเราไปตลอดหรือไม่  จากความเสียดายเวลาที่มันจากเราไป จากการดูแลรักษา  ลองชั่งน้ำหนักดูว่ามันคุ้มค่าไหม ขณะนี้เราอยู่โดยลำพัง เราก็มีความสุขพอสมควร ถึงแม้จะไม่สุขเต็มที่ก็ตาม ก็เพราะยังไม่ได้กิเลสคือ ความโลภ  ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากจิตจากใจของเรานั่นเอง ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง ควรหันเข้ามาชำระจิตใจของเรา ดีกว่าไปหลงอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่ต้องแสวงหามาด้วยความยากลำบาก เมื่อได้มาแล้วก็มีภาระทางจิตใจ ต้องคอยถามตัวเราเองอยู่เสมอว่า จะไปทางไหนดี ไปข้างนอกหรือเข้าข้างใน  ข้างนอกก็คือการออกไปแสวงหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก ข้างในก็คือแสวงหาความสุขภายในใจของเรา ด้วยการชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอน ให้มีเมตตากรุณา นี้ก็เป็นวิธีชำระกิเลส คือความหลงวิธีหนึ่ง

 

คนเราส่วนใหญ่มักจะหลงคิดว่าเรามีตัวมีตน แต่พระพุทธเจ้าหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นว่าไม่มีตัวตนในร่างกายหรือในจิตใจเลย  ร่างกายก็เป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานของอาหารที่รับประทานเข้าไป แล้วก็แปลงเป็นผม เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นเนื้อ เป็นเอ็น เป็นกระดูก เป็นอวัยวะต่างๆ ไม่มีตัวตนในอวัยวะเหล่านั้น  ผมก็ไม่มีตัวตน   ขน เล็บ  ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกก็ไม่มีตัวตน  จะมีตัวตนได้อย่างไร เมื่อมันมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ เวลาที่ร่างกายแตกดับสลายไปตายไป ธาตุทั้ง ๔ ก็แยกออกจากกันไป ดินก็กลับคืนสู่ดิน น้ำก็กลับคืนสู่น้ำ  ลมก็กลับคืนสู่ลม  ไฟก็กลับคืนสู่ไฟ ตัวตนไม่มีในร่างกาย ถ้าย้อนเข้ามาดูในใจก็เช่นเดียวกัน ก็ไม่เห็นว่ามีตัวมีตนอะไร ใจเป็นเพียงตัวรู้เท่านั้นเอง เช่นขณะนี้ใจกำลังรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่พูดเป็นเสียงและเข้าไปในหู แล้วก็เข้าไปรับรู้ที่ใจ  เมื่อเสียงนั้นยังมีอยู่ ก็มีการสัมผัสรับรู้ เมื่อเสียงหายไปก็รู้ว่าหายไปแล้ว นี้คือใจ แต่ไม่ตัวตนภายในใจ มีแต่ตัวรู้ ตัวตนมาจากไหน  ก็มาจากความหลงนั่นเอง ที่คิดว่ามีตัวตน มีฉัน มีเรา มีตัวเรา  เมื่อมีตัวเราก็มีของเราตามมา  เช่นร่างกายนี้ก็กลายเป็นของเราไป มีอะไรก็กลายเป็นของเราไปหมด มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองก็เป็นของเรา  มีสามี มีภรรยา มีบุตร มีธิดา  ก็กลายเป็นของเราไปหมด

 

เมื่ออะไรเป็นของเราแล้ว ก็เกิดความผูกพัน ความยึดติด ความรัก ความหวงแหน  เกิดความอยากให้อยู่กับเราไปตลอด ให้ดีเสมอ ไม่เสื่อมไม่เสีย ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น พอได้อะไรมาแล้ว ก็เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ไม่ดีเสมอไป มีการเปลี่ยนไป มีการเสื่อมไปเรื่อยๆ ดูสามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันมา ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็ต้องตายจากกันไป บางครั้งก็จากกันก่อนที่จะตายเสียด้วยซ้ำไป ก็มีอยู่มากมายในสมัยนี้ อยู่ร่วมกันได้ไม่กี่เดือนกี่ปีก็แยกทางกันแล้ว นี้คือความเป็นจริงของสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ แต่พวกเราไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักคิด คิดไปในทางที่ไม่ถูก  คิดไปตามความหลง คิดว่ามีตัวตน ว่ามีเรา  มีของเรา  เมื่อคิดอย่างนั้นก็เลยต้องแบกความทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่คนอย่างพระพุทธเจ้านี้ ท่านฉลาด รู้จักคิด รู้จักแยกแยะ จึงเห็นอย่างชัดเจนว่าไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของของเรา  ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน ร่างกายก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน   ใจก็ไม่ใช่ตัวตน ใจเป็นตัวรู้ เป็นผู้รู้ ถ้าใจทำหน้าที่ของใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่ทุกข์กับอะไร ถ้าใจฉลาด ใจก็รู้ว่าสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในใจ มาสัมผัสหรือมาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้เป็นสมบัติของใจเลย เป็นสิ่งที่มาแล้วก็ต้องไป เกิดแล้วก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา

 

การที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรามีความเมตตา ก็เพื่อไม่ให้เราเห็นแก่ตัวนั่นเอง ให้เห็นแก่ผู้อื่น ให้มีความกรุณาความสงสาร เห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยาก  ลำบากลำบนก็ให้ช่วยเหลือ ให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อย่าคิดเพื่อตัวโดยฝ่ายเดียว อย่าคิดว่าจะต้องมีอย่างนั้นมีอย่างนี้ ต้องได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วจะมีความสุข ถ้าคิดอย่างนี้กลับจะมีความทุกข์มากขึ้นไปเพราะเวลาที่อยากได้อะไร แล้วไม่ได้ตามอยากเราจะมีความทุกข์ความวุ่นวายใจ อยากจะทำสิ่งนั้นอยากจะทำสิ่งนี้แล้วไม่ได้ทำ ก็จะเกิดความเสียใจ  อยากจะได้สิ่งนั้นอยากจะได้สิ่งนี้แล้วไม่ได้ ก็เสียใจ ขณะที่อยากก็มีความวุ่นวายใจ ความกระเสือกกระสนอยู่ในจิตใจ หาความสุขไม่ได้ แต่ถ้าหันมาทำในทำสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขใจขึ้นมา เช่นการเสียสละ ทำอะไรเพื่อคนอื่น แต่ทำอะไรตามกำลังของเรา เช่นทำอะไรให้กับคุณพ่อคุณแม่  ทำแล้วมีความสุขใจ ทำตัวให้เป็นคนดี ไม่กินเหล้าเมายา ไม่เที่ยวกลางคืน มีความขยันทำงานทำการ อย่างนี้ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุขใจ เมื่อรู้ว่าท่านมีความสุขเราก็มีความสุขตามไปด้วย  เพราะไม่ได้ทำตามความอยาก  ถ้าทำตามความอยาก เช่นอยากจะกินเหล้าก็กิน  อยากจะเล่นการพนันก็เล่น  อยากจะเที่ยวกลางคืนก็เที่ยว  อยากจะเป็นคนสำมะเลเทเมาก็ทำ ก็จะสร้างความทุกข์ความเสียใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราเสื่อมเสียไปด้วย ไม่มีอะไรดีงามเหลือในจิตใจ หาความสุขไม่ได้ เพราะความหลงพาให้ทำไป คิดว่าทำตามความอยากของใจแล้วจะมีความสุขนั่นเอง

 

เราจึงต้องเข้าใจว่าเราเกิดมาเพื่อมาชำระความหลง  อย่าไปคิดหาความสุขด้วยการกระทำอะไรต่างๆ ตามความโลภ ตามความอยาก  ถ้าจะหาความสุขที่แท้จริงต้องหันมาชำระใจของเรา ต้องหันมากำจัดตัวตัวตน ที่หลงคิดว่ามีอยู่ในกายและใจ  ด้วยการกระทำอะไรต่างๆที่ไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่การกระทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อตัวเราก็จำเป็น อย่างนี้ไม่เป็นไร เช่นดูแลรักษาชีวิตอัตภาพร่างกายของเรา ทำการทำงานหาเงินหาทอง เพื่อจะได้มีอาหารรับประทาน มีเสื้อผ้าใส่ มียารักษาโรค มีบ้านอยู่ แต่เมื่อมีพอเพียงแล้วก็ควรหันมาทำเพื่อผู้อื่น  อย่าทำเพื่อตัวเรา ทำกับผู้มีพระคุณ เช่นคุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย  ทำไปเรื่อยๆ จะได้ลดละความเห็นแก่ตัวลงไป ก็เท่ากับเป็นการชำระความหลง ที่ยึดติดอยู่กับตัวตนนั่นเอง เมื่อทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้ว จิตใจก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ก็จะทำให้มีกำลังจิตกำลังใจที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัวให้หมดไป ด้วยการเสียสละนั่นเอง  ต่อไปเราจะกล้าเสียสละอะไรต่างๆมากมาย ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำ ทรงตรัสว่าให้สละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาคุณธรรมความดีงามทั้งหลาย เพราะไม่มีอะไรที่จะมีคุณค่ายิ่งกว่าคุณธรรมความดีงาม  ที่ไม่ตายไปกับชีวิตของเรา

 

เวลาร่างกายตายไป ความดีงามที่เราได้ทำไว้จะติดไปกับใจ จะเป็นที่พึ่งของใจ จะให้ความร่มเย็นเป็นสุข ให้ความเจริญกับใจ แต่ถ้าไม่มีความดีงามเลย มีแต่ความโลภโมโทสัน มีแต่ความเห็นแก่ตัว ใจก็จะมีแต่สิ่งที่ไม่ดีติดไป ก็คือความโลภ  ความโกรธ ความหลง ที่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อมีความโลภ  ความโกรธ ความหลงมากน้อยเพียงไร ก็จะฉุดจิตใจให้ต่ำลงไปมากน้อยเพียงนั้น ให้กลายจากเป็นมนุษย์ไปเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นผี เป็นสัตว์นรกไป  เพราะเมื่อมีแต่ความเห็นแก่ตัว มีแต่ความโลภ  มีแต่ความโกรธ ก็จะต้องไปทำในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี  โกหกหลอกลวง  เสพสุรายาเมาและอบายมุขต่างๆ ที่มีแต่จะฉุดลากลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้ารู้จักเสียสละ  รู้จักลดละความอยากความต้องการต่างๆ มันก็จะไม่มีอำนาจฉุดลากให้ไปทำในสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลาย  ถ้าต้องการอะไรที่จำเป็น ก็หามาด้วยความถูกต้อง ถ้าหามาไม่ได้ก็มีความอดทนอดกลั้น รอไปก่อน ทำไปก่อน หาไปก่อน จนกว่าจะได้มันมา เช่น มีความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ไม่ต้องไปทำผิดกฎหมาย ไม่ต้องไปขายยาบ้า ไม่ต้องไปลักขโมย เพื่อที่จะได้เงินมาซื้ออาหารมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เราสามารถทำงานที่สุจริตต่างๆได้  ไม่ว่าจะเป็นงานชนิดใดก็ตาม ถ้าเป็นงานที่สุจริตแล้ว ทำไปไม่เสียหายอะไร แม้จะได้เงินมาไม่มากก็ตาม แต่ก็พอที่จะเยียวยาชีวิตของเราให้อยู่ได้ เพื่อจะได้รักษาความดีงาม ได้ต่อสู้ชำระกิเลสต่างๆ ให้เบาบางลงไปจากจิตจากใจ

 

เมื่อมันเบาบางลงไปมากน้อยเพียงไร ความสุขใจ ความอิ่มใจ ความพอใจก็จะเกิดขึ้นมามากน้อยตามลำดับ ทำให้ไม่ต้องไปดิ้นรนตะเกียกตะกาย ต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะใจไม่หิวไม่อยาก แต่ถ้าไปแสวงหาสิ่งต่างๆภายนอก ตามอำนาจของความโลภความอยากแล้ว    ต่อให้ได้อะไรมามากน้อยเพียงไรก็ตาม ก็จะหาความอิ่มหาความพอไม่เจอ ยิ่งได้มามากเท่าไร กลับเกิดความอยากจะได้มากเพิ่มขึ้นไปอีกเท่านั้น  สังเกตดูสมัยที่เราเป็นเด็กๆ ไม่ได้มีความอยากจะมีเงินมีทองเลย มีอะไรกินมีอะไรเล่นก็มีความสุขแล้ว แต่พอโตขึ้นมาก็เกิดความอยากเพิ่มมากขึ้น  อยากจะได้สิ่งนั้นอยากจะได้สิ่งนี้ อยากจะได้คนนั้นอยากจะได้คนนี้ เมื่อได้มาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ความอยากได้ต่างๆ มันเบาบางลงไปตามสิ่งที่ได้มาหรือไม่ หรือกลับมีเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม นี้คือธรรมชาติของจิตของใจเป็นอย่างนี้  ลองได้อยากแล้วจะมีแต่เพิ่มความอยากขึ้นไปเรื่อยๆ  วิธีที่จะกำจัดความอยากก็ต้องฝืนความอยาก  ต่อสู้กับความอยากความโลภต่างๆ อะไรที่ไม่จำเป็นไม่ต้องไปหามา ไม่ต้องเอามา นี้เป็นวิธีที่จะทำให้ความโลภความอยากเบาบางลงไป แล้วความสุขความอิ่มก็จะมีมากขึ้นไป แต่คนเราส่วนใหญ่เนื่องจากความหลงทำให้เห็นผิดเป็นชอบ เห็นว่าทำอะไรตามความอยากแล้วจะมีความสุข มีความอิ่ม มีความพอ แต่ที่ไหนได้ ยิ่งอยากแล้วได้มามากน้อยเพียงใด ก็ยิ่งจะอยากจะได้เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงนั้น

 

ดังที่โบราณท่านพูดไว้เสมอว่า ได้คืบก็อยากจะได้ศอก  ได้ศอกก็อยากจะได้วา มันเป็นอย่างนี้ ความอยากมันไม่มีที่สิ้นสุด น้ำในมหาสมุทรแม้จะกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหนก็ตาม ก็ยังมีขอบ มีเขต มีฝั่ง มีฝา แต่ความอยากความโลภ ไม่มีขอบ ไม่มีเขต ไม่มีฝั่ง ไม่มีฝา ถ้าปล่อยให้ความอยากความโลภ มีอำนาจเหนือจิตใจของเรา เราก็จะกลายเป็นทาสของมันไป แบบไม่รู้จักจบจากสิ้น แต่ถ้าเราฝืนเราต่อสู้กำจัดมันด้วยการเสียสละ ด้วยการมีความเมตตากรุณา  ด้วยการทำบุญให้ทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการบำเพ็ญจิตตภาวนาอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องแล้ว ใจของเราจะได้รับการชำระให้สะอาดขึ้น ความโลภ  ความโกรธ ความหลงต่างๆ ก็จะน้อยลงไป เบาบางลงไป ความสุข  ความอิ่ม ความพอ ก็จะมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นจิตที่มีแต่ความสุขล้วนๆ เรียกว่าปรมังสุขัง เป็นสุขที่ไม่มีความทุกข์  ไม่มีความหิว ไม่มีความอยากเจือปนอยู่ คือจิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่หลังจากได้ชำระจิตใจแล้วก็จะเป็นอย่างนั้น  จึงอยากจะให้ท่านจงทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่การกำจัดความโลภ  ความโกรธ ความหลง ไม่ได้อยู่ที่การส่งเสริมความโลภ  ความโกรธ ความหลง ให้มีมากยิ่งขึ้น ด้วยการแสงหาลาภ ยศ สรรเสริญสุข อำนาจวาสนาต่างๆ จากสิ่งต่างๆภายนอก นั้นเป็นวิธีของความหลงวิธีที่ถูกต้องต้องหันมาเข้าวัด หันมาทำบุญให้ทานรักษาศีลปฏิบัติธรรมแล้วจะได้ประสบกับความสุขอย่างแท้จริง  จึงขอฝากเรื่องราวเหล่านี้ให้ท่านได้นำไปพินิจพิจารณาแล้วนำไปปฏิบัติ เพื่อความสุขความเจริญที่จะตามมาต่อไป  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้