กัณฑ์ที่ ๒๔๙       ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙ (เช้า)

 

สุขร้อน สุขเย็น

 

 

 

วิธีที่จะสร้างความสุขให้กับชีวิตจิตใจ ก็คือการมาบำเพ็ญบุญกุศลที่วัด   เพราะบุญคือความสุขใจ มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ที่เราทำกันอย่างสม่ำเสมอ คือ ๑. ทาน ๒. ศีล ๓. ภาวนา  ๔. อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว  ๕. อนุโมทนาบุญ  คือร่วมทำบุญกับผู้อื่น   เช่นในช่วงออกพรรษาจะมีงานทอดกฐินผ้าป่า  ถึงแม้จะไม่ได้ไปร่วมงานด้วยตนเอง ก็ร่วมอนุโมทนาด้วยการถวายปัจจัยสมทบไป ๖. รับใช้ผู้อื่น เช่นงานสาธารณะกุศลต่างๆ ทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม  ๗. อ่อนน้อมถ่อมตน  ๘. ฟังเทศน์ฟังธรรม  ๙. เผยแผ่ธรรมะ เช่นช่วยพิมพ์หนังสือธรรมะแจกจ่ายให้กับผู้อื่นเป็นธรรมทาน ไม่คิดเงินคิดทองจากหนังสือธรรมะที่แจก ๑๐. มีความเห็นที่ถูกต้อง เห็นว่าบุญมีจริง บาปมีจริง  นรกมีจริง สวรรค์มีจริง ตายแล้วต้องไปเกิดใหม่ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อย ภพใหญ่ ตามบุญตามกรรมที่ได้สะสมมา  เหล่านี้เป็นบุญทั้งสิ้น มีความจำเป็นต่อชีวิตจิตใจ ของผู้ที่อยากมีแต่ความสุขความเจริญ ไม่อยากประสบกับทุกข์ภัย ความเสื่อมเสียต่างๆ ก็ต้องบำเพ็ญบุญทั้ง ๑๐ ประการนี้  ซึ่งเป็นเหมือนอาหารที่มีหลากหลายชนิดด้วยกัน มีทั้ง ของคาว  ของหวาน   มีผลไม้  มีน้ำชนิดต่างๆ  ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย 

 

ถ้าขาดอาหารร่างกายย่อมไม่เจริญ ไม่มีความสุขกาย  ฉันใดใจถ้าขาดการทำบุญทำกุศล ใจก็จะขาดอาหาร ไม่มีความสุขใจ มีแต่ความเหี่ยวแห้ง อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย แม้จะมีสมบัติข้าวของเงินทองเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ใจเป็นเหมือนกับคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารมาหลายวัน ถ้าเห็นความสำคัญของความสุขใจ ก็ต้องหมั่นเข้าวัดทำบุญทำทานปฏิบัติธรรมกัน เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะนำความสุขที่แท้จริงมาให้กับเรา   ความสุขในโลกนี้มีอยู่  ๒  ชนิดด้วยกัน  สุขร้อนกับสุขเย็น  สุขร้อนคืออะไร  สุขที่มีความทุกข์ มีความวุ่นวายใจคละเคล้ามาด้วย  ส่วนสุขเย็นเป็นสุขที่ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวุ่นวายใจคละเคล้ามาด้วย  เป็นสุขที่มีแต่ความอิ่มเอิบใจ เย็นใจ  พอใจ   สุขทั้ง ๒ ชนิดนี้อยู่คนละด้านกัน  เรียกว่าโลกกับธรรม   สุขทางโลกเรียกว่าสุขร้อน   สุขทางธรรมเรียกว่าสุขเย็น  เวลาที่เราบำเพ็ญและได้รับความสุขจากธรรมะ จะมีความสบาย ไม่มีความวุ่นวายใจ ไม่มีกังวลใจ  ไม่มีความรุมร้อนในจิตในใจ  แต่สุขในทางทางโลกที่เราเคยสัมผัสและยังสัมผัสกันอยู่ คือสุขที่เกิดจากการเจริญ ลาภ  ยศ  สรรเสริญ กามสุขต่างๆ ที่มีความทุกข์  คือ ความรุมร้อน ความกังวลใจติดตามมาเสมอ   เพราะสุขแบบนี้เป็นสุขที่ไม่ถาวร เป็นสุขที่ปรากฏขึ้นแล้วก็จางหายไป เหมือนกับควันไฟ ไม่รู้ว่าจะอยู่กับเราไปได้นานเพียงไร จะเป็นอย่างเดิมหรือไม่  

 

สุขที่ได้จากการสัมผัสรูป  เสียง   กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ที่ได้จากสามี ภรรยา บุตร ทรัพย์สมบัติ  ข้าวของ  เงินทองต่างๆ  ล้วนมีความทุกข์แถมมาด้วย  คือทุกข์ที่เกิดจากความห่วง ความกังวล ความเสียดาย  เมื่อต้องพลัดพรากจากกัน เพราะความสุขแบบนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ถาวรนั่นเอง  ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน  มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สิ่งต่างๆที่เราได้มาครอบครอง ให้ความสุขกับเรานั้น ไม่เป็นเหมือนเดิมตลอดไป  มีการเปลี่ยนแปลงไปเสมอ  คนที่เราได้รู้จักได้มาเป็นคู่ครองใหม่ๆ  จะมีแต่ความดี แต่พออยู่ไปนานๆ ความไม่ดีต่างๆก็โผล่ออกมา   ทำลายความดีที่มีอยู่ให้หายไป  ความสุขก็หายไปด้วย มีแต่ความทุกข์ เพราะเป็นเรื่องปกติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้   พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าไปหลง ไปยึด ไปติด ไปยินดี เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ก็จะเกิดความวุ่นวายใจ เกิดความเสียใจตามมา แม้ในขณะที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ยังสร้างความไม่แน่ใจ  สร้างความกังวลใจ เพราะลึกๆในใจก็รู้ว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว  เพียงแต่พยายามไม่คิดถึงมันเท่านั้นเอง  การที่ไม่คิดถึงมันนี้เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการหนีความจริง        

 

ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราคิดอยู่เสมอๆว่า สิ่งต่างๆที่เรามีอยู่นั้น มีการเจริญและเสื่อมไปเป็นธรรมดา  มีการมาและมีการไปเป็นธรรมดา  เราไม่ควรปฏิเสธด้วยการไม่คิดถึงมัน  บางคนคิดว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคล เป็นอัปมงคล   คิดไปแล้วเหมือนกับแช่งตัวเอง แต่ความจริงการคิดแบบนี้ไม่ได้เป็นการแช่งตัวเอง  แต่เป็นการสอนให้ตัวเองเป็นคนฉลาด ให้รู้ทันโลก   เมื่อรู้ทันแล้วจะได้ไม่หลง ไม่ยึด ไม่ติด  เมื่อไม่หลงไม่ยึดติด เวลาสิ่งใดจะไปจะมา ก็จะไม่สร้างความทุกข์ สร้างความกังวลใจ  แต่ถ้าไม่คิดและทำเป็นลืม ๆไปเสีย   พอสิ่งที่ไม่คิดมันเกิดขึ้นมา  เราจะไม่สามารถรับมันได้  จะต้องเสียหลัก เสียอกเสียใจ  กินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือในที่สุดก็จะถึงกับทำลายชีวิตของตนเองไป ก็มีเกิดขึ้นมามาก ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เรื่อยๆ ก็เพราะไม่ยอมคิดถึงความจริง  ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คิดอยู่เรื่อยๆนั่นเองพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ถ้ายังต้องมีสิ่งต่างๆ ยังต้องพึ่งพาสิ่งต่างๆ ก็ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง มีความเห็นที่ถูกต้อง  เพราะถ้ามีความเห็นถูกต้องแล้ว ใจเราจะมีความสุข  จะไม่กังวล ไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ ที่มีปรากฏขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา  มีเกิด มีดับ มีไป มีมา อยู่ตลอดเวลา 

 

เราก็เพียงแต่รู้ไว้เท่านั้นเอง อย่าไปยินดี  ไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆ   ที่เกิดขึ้นมา ที่เราไปสัมผัสหรือไปเกี่ยวข้องด้วย ต้องทำความเข้าใจ ให้รู้เท่านั้น แล้วจะไม่มีความวุ่นวายใจ  เราสามารถมีได้ไม่ว่าจะเป็นลาภ  ยศ  สรรเสริญหรือกามสุข  แต่ต้องมีธรรมะคือความเห็นที่ถูกต้อง ว่า  สิ่งเหล่านี้มีการเกิดมีการดับเป็นธรรมดา เป็นของคู่กัน  ผู้ที่เข้าใจหลักนี้แล้ว จะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข  ไม่วุ่นวายใจ  แต่ถ้าไม่รู้ทันเรื่องราวเหล่านี้ คิดว่าจะมีแต่ความเจริญโดยถ่ายเดียว คิดว่าจะร่ำรวยไปเรื่อยๆ   คิดว่าจะมีอำนาจวาสนาไปเรื่อยๆ  คิดว่าจะมีความสุขจากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไปเรื่อยๆ  ถ้าคิดอย่างนี้ ก็เป็นความหลง เป็นความเห็นผิด  เพราะไม่ตรงกับความจริงนั่นเอง  ความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดกัน เราจึงต้องคิดพิจารณาอยู่เรื่อยๆ   ถ้าเรายังเกี่ยวข้องกับความสุขทางโลกอยู่ เพื่อจะได้ผ่อนคลายหรือกำจัดความรุมร้อนของจิตใจ ที่จะตามมากับความสุขแบบนี้  แต่ถ้าเป็นคนฉลาดจะเห็นว่าความสุขแบบนี้ไม่ใช่ความสุขเลย  มีแต่ความทุกข์  มีแต่ความกังวลใจอยู่เรื่อยๆ ก็จะหาความสุขอีกแบบหนึ่ง คือความสุขที่เย็น  ที่สบาย  ที่ไม่มีความกังวลตามมา 

 

อย่างที่ญาติโยมมาสร้างกันมาทำกันในวันนี้  เป็นความสุขที่เกิดจากการให้ เรียกว่าทาน    เป็นการให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งกับผู้ใดผู้หนึ่ง เช่นวันนี้ญาติโยมก็นำกับข้าวกับปลาอาหาร ของคาวของหวาน  เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆมาถวายพระ อย่างนี้เรียกว่าวัตถุทาน   คือสิ่งของที่เราให้นั้นเป็นวัตถุ    ไม่ว่าจะเป็นกระดาษชำระ  เป็นน้ำยาซักฟอก  ยาสีฟัน  สบู่และอาหารต่างๆ ล้วนเป็นวัตถุทั้งสิ้น  รวมกันเรียกว่าวัตถุทาน การให้วัตถุแก่ผู้อื่น เมื่อให้แล้วก็จะทำให้ใจมีความสบาย  มีความสุข  เพราะใจได้รับการปลดเปลื้อง จากความยึดมั่นถือมั่นในวัตถุข้าวของต่างๆ โดยปกติแล้วนิสัยของคนเรา จะมีความหวงแหนกับสิ่งของต่างๆ   ความหวงแหนเป็นเหตุทำให้มีจิตใจที่คับแคบ มีจิตใจที่รุมร้อนด้วยความกังวลใจ กังวลว่าของจะหายไป จะถูกขโมยไป มันเป็นเรื่องธรรมดา อยู่ในโลกนี้ก็ต้องมีการสูญเสียบ้าง ไม่ใช่มีแต่ได้อย่างเดียว  การให้จึงเป็นการฝึกหัดให้รู้จักเสียบ้าง  ให้รู้ว่าการเสียแล้วไม่ทุกข์ก็มีเหมือนกัน คือเสียได้  ๒  ลักษณะ ๑. เสียแล้วกลุ้มอกกลุ้มใจ   เสียอกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้  ๒. เสียแล้วมีความสุข    มีความสบายใจ อยู่ที่ใจเป็นหลัก ถ้าใจยินดีที่จะเสียแล้วจะไม่รู้สึกเสียดาย จะมีความสุขเวลาที่เสียไป  เช่นเราอยากจะให้ของชิ้นใดชิ้นหนึ่งกับคนใดคนหนึ่ง  ถ้ามีความตั้งใจมีความอยากจะให้แล้ว เวลาให้ไปจะมีความสุข แต่ถ้าไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้คิดจะให้ใคร เวลาสูญเสียไป  ใจจะต้องว้าวุ่นขุ่นมัว วุ่นวายใจ  เสียอกเสียใจทั้งๆที่เป็นของชิ้นเดียวกัน   แต่ผลทางจิตใจต่างกัน เพราะใจยังไม่ปล่อย  ยังไม่ให้

 

เราจึงต้องมาฝึกการให้อยู่เรื่อยๆ ให้เป็นนิสัยติดตัวไว้  เพราะต่อไปเวลาที่เราจะเสียอะไร  โดยที่ยังไม่ได้คิดว่าจะเสีย เราจะได้ไม่เสียใจเพราะรู้อยู่ล่วงหน้าแล้วว่า ไม่มีอะไรจะอยู่กับเราไปตลอด  เมื่อรู้จักให้ รู้จักเสีย เวลาเสียอะไรไปเราจะมีความสุข  อย่างวันนี้เรามาเสียเงินเสียทอง เสียข้าวเสียของ แต่เรากลับมีความสุขใจ มีความพอใจ นี้เป็นการฝึกทำจิตใจให้มีความสุข  ในโอกาสต่อไปข้างหน้าเมื่อต้องเสียสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป เราจะได้ไม่เสียอกเสียใจ เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดาของสิ่งต่างๆ ที่เราห้ามไม่ได้เมื่อถึงเวลาที่ต้องจากเราไป  ของต่างๆที่เราใช้ เวลามันเสียเราก็โยนทิ้งไป  เราก็ไม่เสียอกเสียใจอย่างไร เพราะรู้ว่าจะต้องทิ้งมันไป  ของต่างๆที่เราใช้ไปแล้ว ถุงต่างๆ ภาชนะต่างๆ ที่บรรจุของมา เมื่อใช้ของหมดแล้ว เราก็ทิ้งภาชนะเหล่านั้นไป ไม่เสียอกเสียใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องทิ้งมันไป  ฉันใดกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นเหมือนกันหมด จะต้องทิ้งมันไป ไม่ช้าก็เร็ว หรือไม่เช่นนั้นเราก็ต้องจากมันไป ถ้าเรามาฝึกให้ มาฝึกเสียสละสิ่งของต่างๆไปในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ เวลาเราอยู่เราก็จะมีความสุข ท่ามกลางสมบัติต่างๆที่เรามีอยู่ เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องเสียมันไปจากมันไป  แต่เราจะอยู่อย่างมีความสุข และจะจากมันไปอย่างมีความสุข ด้วยการให้ ด้วยการเสียสละ ไม่ยึดไม่ติด   

 

เพราะความจริงแล้วใจก็มีอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสมบัติเงินทองกองเท่าภูเขา ใจก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง  เป็นเพียงแต่รับรู้เท่านั้นเอง ว่ามีเท่านั้นเท่านี้ มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วสักวันหนึ่งใจก็ต้องจากมันไป  เราจึงต้องมาฝึกใจให้รู้จักเสีย  ให้รู้จักให้  เพราะเมื่อรู้จักเสีย รู้จักให้ จะไม่วุ่นวายใจกับการเสียสิ่งต่างๆไป     สิ่งที่ให้ก็มีอยู่  ๔  ชนิด    ด้วยกัน สิ่งแรกคือวัตถุ เรียกว่าวัตถุทาน  สิ่งที่ ๒  ก็คือวิทยาทาน คือให้ วิชาความรู้ต่างๆ เรามีความรู้อะไร ใครมาขอมาถามมาศึกษา เราก็สอนเขาไปโดยไม่คิดเงินคิดทอง อย่างนี้ก็เรียกว่าวิทยาทาน  ให้วิชาความรู้  สิ่งที่ ๓ คืออภัยทาน การให้อภัย  ซึ่งมีคุณมีประโยชน์กับตัวเรามาก  เพราะจะช่วยดับไฟของความโกรธความแค้นได้  เวลาใครทำอะไรให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ  เกิดความโกรธความเกลียด  อาฆาตพยาบาทขึ้นมา   ถ้าไม่รู้จักให้อภัย ใจจะรุมร้อน  กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และจะนำพาไปสู่การกระทำที่เลวร้ายต่อไป  มีเรื่องราวต่อไป ทะเลาะเบาะแว้ง    ทำร้ายกัน เพราะความรุ่มร้อนของจิตใจที่เกิดจากความแค้น   จะผลักดันให้ต้องไปทำสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้ารู้จักให้อภัยโดยคิดเสียว่า สิ่งที่เขาพูดเขาทำนั้นมันก็ผ่านไปแล้ว    ถ้าไม่เอามาคิดไม่เอามาจำ ไม่เอาเข้ามาสู่ใจมันก็หายไปแล้ว 

 

การตอบโต้กันไม่ดี  เพราะจะทำให้มีปัญหา มีเรื่องมีราวตามมามากมาย     แต่ถ้าปล่อยให้มันผ่านไปได้ ทุกอย่างก็จบ  ไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องตามมา  จึงต้องหัดให้อภัย  รู้จักให้อภัย   ถ้าให้อภัยแล้วเราจะมีความสุข  เพราะความโกรธแค้นจะดับไป  แล้วเราจะเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้ประเสริฐ    ต่างกับคนที่ไม่รู้จักให้อภัย ถ้าไม่ให้อภัยเราก็จะต้องไปทำสิ่งที่เลวร้าย เราก็กลายเป็นปีศาจ  กลายเป็นมารไป แต่ถ้าให้อภัยได้ เราก็กลายเป็นเทพไป  เพราะไม่ไปสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ไหนๆสิ่งที่พูดสิ่งที่ทำ มันก็เกิดขึ้นแล้ว เราก็ย้อนกลับไปลบล้างมันไม่ได้ แต่เราลบมันออกจากใจเราได้  ถ้าไม่คิดถึงมัน ถ้ารู้จักให้อภัย เดี๋ยวมันก็หายไปจากใจ นี้คืออภัยทาน การให้ที่สำคัญ ที่เราควรฝึกอยู่เรื่อยๆ   เพราะเราต้องเกี่ยวข้องกับคนอยู่เสมอ คนที่ใกล้ชิดและไม่ใกล้ชิด ต้องเจอกัน พูดจากัน ทำอะไรต่อกันและกันอยู่เสมอๆ  บางครั้งก็มีการผิดพลาด มีการกระทบกระทั่งกัน สร้างความไม่สบายอกไม่สบายใจให้แก่กันได้ แต่เราสามารถทำให้มันเบาบางและน้อยได้ ด้วยการไม่อาฆาตพยาบาท ด้วยการให้อภัย  พอเขาพูดเข้าหูปั๊บ ไม่พอใจปั๊บ ก็ดับมันปั๊บ  มันก็จบ มันก็ผ่านไป  แต่ถ้าเอามาคิดยิ่งทำให้โกรธมากขึ้น เหมือนกับสุมไฟให้แรงขึ้นไปอีก คิดว่าทำไมพูดอย่างนี้ ทำไมไม่เคารพไม่เห็นอกเห็นใจเรา  ยิ่งคิดอย่างนี้ก็ยิ่งสุมไฟให้เป็นกองใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้อยากแก้แค้นล้างแค้น ทำให้เรากลายเป็นมาร  กลายเป็นปีศาจไป 

 

ถ้าอยากเป็นเทพเป็นคนดี ต้องให้เข้าหูซ้ายแล้วออกหูขวาไป ไม่ต้องเอามาเก็บไว้  คิดเสียว่ามันเป็นขยะทางจิตใจ เวลาเรามีขยะเราจะไม่เก็บเอาไว้ในบ้าน ต้องรีบเอาไปทิ้งถังทันที เพราะเก็บไว้ก็รกบ้าน สกปรก ส่งกลิ่นเหม็น ฉันใดความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทก็เป็นเหมือนขยะของจิตใจ อย่าเก็บมันไว้ รีบชำระมันเสีย รีบเอามันไปทิ้งเสีย ด้วยการให้อภัย ถ้าทำได้รับรองได้ว่าเราจะมีแต่ความสุข  มีแต่ความสบายใจ  ใครจะทำอะไรเราก็จะไม่เดือดร้อน แต่ก็ไม่ได้ปล่อยวางความรับผิดชอบ ถ้ามีหน้าที่ต้องพูดต้องทำ ก็พูดก็ทำไป  ถ้าต้องสอนต้องเตือนลูก ก็สอนก็เตือนไป  ถ้าเห็นเขาทำผิดเราก็สอนเขาบอกเขา  แต่ถ้าเขาไม่ทำตาม ก็ต้องให้อภัยเขาและพยายามสอนไปเรื่อยๆ อย่าโกรธเท่านั้นเอง  เพราะความโกรธไม่ดีกับเราและผู้อื่น ไม่ได้ทำอะไรให้ดีเลย  เวลาโกรธมีแต่จะฆ่ากันทำลายกัน ไม่รู้จักจบจักสิ้น  พอไปฆ่าเขา ญาติพี่น้องของเขาก็มาฆ่าเรา  ญาติพี่น้องของเราก็ไปฆ่าญาติพี่น้องเขาต่อ    ก็ต่อกันไปเป็นสิบๆปีเลย  สงครามที่เกิดขึ้นในบางประเทศ   ต่อสู้กันไม่รู้จักจบจักสิ้น ก็เพราะความโกรธนี้เอง ไม่รู้จักให้อภัย  คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องตายไปเป็นจำนวนมาก เพราะความโกรธนี้เอง

 

แต่ถ้ามองว่าความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดี ที่เราควรระงับแล้ว เราอาจจะคิดว่าก็เท่ากับทำให้เขาได้ใจที่จะมาทำอะไรเราอยู่เรื่อยๆ อย่างนั้นก็ไม่ใช่  เราไม่โกรธแต่ก็ต้องรู้จักป้องกันตัว  ถ้าหลบได้ก็หลบ  หลีกได้ก็หลีก   ถ้าปรามได้ก็ปราม แต่จะไม่ทำร้ายเขาหรือทำให้เขาทุกข์ให้เขาเดือดร้อน  แต่ถ้าเขาจะทำเรา  ก็คิดว่าเป็นกรรมของเราก็แล้วกัน  คนเราทุกคนไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตายด้วยกัน แต่ขอให้ตายแบบพระ  แบบเทพดีกว่า อย่าไปตายแบบปีศาจแบบมาร ด้วยการต่อสู้กันทำลายล้างกัน  ถ้าป้องกันตัวไม่ได้เพราะไม่อยากจะทำร้ายเขา ก็ปล่อยให้เขาทำเราไป ไม่ช้าก็เร็วคนเราก็ต้องตายด้วยกัน แต่ตายแบบนี้จะไปสู่ที่เจริญ   จิตใจสูงขึ้นเจริญขึ้น  กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่เจริญกว่าเดิม เป็นวิธีของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย    ท่านสอนให้รู้จักให้อภัย ประการสุดท้ายสิ่งที่เราจะให้ได้ก็คือธรรมทาน ให้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าและนำไปปฏิบัติจนเห็นผล ว่าเป็นประโยชน์เป็นคุณจริงๆ   เวลาเห็นใครเดือดร้อนทางด้านจิตใจ ที่พอจะบอกธรรมะ สอนธรรมะได้ เราก็สอนไป เช่นเวลาเขาโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท ก็สอนให้เขาให้อภัย ให้ดับความโกรธ อย่าไปส่งเสริมให้มีความแค้นเพิ่มมากขึ้น ด้วยการยุยงส่งเสริม   คนเราบางทีแทนที่จะช่วยเขา กลับไปทำร้ายเขา ด้วยการยุยงส่งเสริมให้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่นั้นก็เป็นนิสัยของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่ยังไม่รู้จักให้อภัย  เพราะยังไม่ได้ยินได้ฟังธรรมะนั้นเอง

 

ถ้าธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้รับการเผยแผ่ไปอย่างแพร่หลายแล้ว ทุกคนนำมาปฏิบัติกับชีวิตของตนเองได้แล้ว รับรองว่าโลกนี้จะเป็นโลกที่น่าอยู่อย่างยิ่ง  จะไม่มีสงคราม ไม่เบียดเบียนกัน ทำลายล้างกัน  เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้า สอนให้ทุกคนมีความเมตตาต่อกันนั้นเอง   ถ้าสามารถเอาธรรมะไปแจกไปจ่ายไปสอนผู้อื่นได้ ก็จะเป็นบุญอย่างยิ่ง เพราะการให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง ให้อาหารก็เพียงแต่ดูแลรักษาร่างกาย  ให้วิทยาทานก็เพียงแต่ให้ความรู้เพื่อเอาไปทำมาหากิน  ให้อภัยก็ช่วยดับความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท   ให้ธรรมะก็ช่วยสอนให้รู้จักดับความทุกข์ที่มีอยู่ในจิตใจ ให้ทุกคนอยู่ในโลกด้วยความร่มเย็นเป็นสุข นี้คือสิ่งที่เราควรจะให้ถ้ามีโอกาส ไม่จำเป็นต้องรอมาที่วัดเสมอไป ให้ที่ไหนก็ได้   เวลาเจอใครเดือดร้อนลำบาก ให้อะไรเขาได้ก็ให้เขาไป แล้วเราจะมีความสุขตลอดเวลา  วันนี้พวกท่านทั้งหลายก็มาสร้างความสุขกัน   ด้วยการทำบุญต่างๆ มีการให้ทาน รักษาศีล  ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิเป็นต้น   เป็นการนำความสุขที่แท้จริง ที่เย็นที่สบายให้แก่จิตใจ  จึงอยากจะให้ท่านทั้งหลายจงพยายามตั้งหน้าตั้งตาทำไป ด้วยความเชื่อมั่นว่าเป็นวิถีทางที่ถูกต้องอย่างแท้จริง   การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้