กัณฑ์ที่ ๒๕๑       ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

 

ธาตุรู้

 

 

 

สิ่งที่เราจะทำให้กับผู้อื่นได้ ก็คือคอยประคับประคองคอยสนับสนุนให้เขาไปในทางบุญทางกุศล ถ้าเขารับได้ก็เป็นบุญของเขา แสดงว่าเขามีบุญ ถ้ารับไม่ได้ก็เหมือนกับไม่มีภาชนะมารองรับอาหารที่เราจะตักให้เขา ถ้ามีแต่มือก็รับได้แค่ที่มือของเขาจะรับได้ ปัญหาจริงๆมันไม่ได้อยู่ที่เขา แต่อยู่ที่เรา เราลืมไปว่าเรากำลังวุ่นวายใจ กำลังสร้างความทุกข์ให้กับเรา เราลืมมองตัวเรา มัวแต่ห่วงคนอื่นมากจนเกินไป ระหว่างใจเรากับร่างกาย เราก็เป็นห่วงร่างกายมากกว่าใจของเรา แทนที่จะปล่อยร่างกายไปตามสภาพของมัน คือไม่ได้ปล่อยแบบทิ้งไปเลย แต่ให้มันทำหน้าที่ของมัน เรามีหน้าที่ดูแลก็ดูแลไป ร่างกายก็เหมือนรถยนต์คันหนึ่ง ถึงเวลาเติมน้ำมันก็เติม ถึงเวลากินข้าวก็กิน ถึงเวลาเข้าอู่ซ่อมก็เข้าอู่ซ่อม ถึงเวลาเข้าหาหมอเข้าโรงพยาบาลก็เข้าไป ซ่อมได้ก็ซ่อมไป รถก็เหมือนกัน บางครั้งซ่อมได้ก็ซ่อมไป ซ่อมไม่ได้ก็ขายทิ้งไป เปลี่ยนใหม่ดีกว่า ถ้ามีเงินมากก็ได้ซื้อรถที่ดีกว่าคันเก่า ไม่ต้องเสียดายคันเก่า มีรุ่นใหม่ๆให้เลือก ส่วนจิตไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย เคยเป็นอย่างไรก็ยังเป็นเหมือนเดิม แต่ร่างกายจะค่อยๆหมดแรงไป ก็ปล่อยมันเป็นไปตามความเป็นจริง เดินไม่ได้ก็นั่ง นั่งไม่ได้ก็นอน หายใจไม่ได้ก็ไม่ต้องหายใจ คอยดูลมหายใจเข้าออกเท่านั้นก็พอ ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องอื่น ให้อยู่กับปัจจุบัน

 

นี่คือวิธีรักษาใจไม่ให้ตกนรก ไม่ให้วุ่นวาย ไม่ให้ทุกข์ เพราะใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย เพราะใจไปห่วงร่างกายมากกว่าห่วงใจ ก็เลยไม่ได้ดูแลใจ จึงวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ช่วยไม่ได้ เพราะเรามองไม่เห็นใจ ส่วนใหญ่จะมองที่กายอย่างเดียว เวลาใจเป็นอะไรจึงไม่ค่อยเห็น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เรามีสติอยู่ที่เวทนา อยู่ที่จิต ให้ดูอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ว่าเป็นอย่างไร ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย สงบ หรือไม่ สิ่งที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย เราก็ต้องรู้ขอบเขตของเขา ว่าเป็นอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตไปเกี่ยวข้องด้วยล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น อย่างวันก่อนที่โยมถามว่าธาตุที่ ๕ คืออะไร ก็คือธาตุรู้ คือจิต ส่วนธาตุ ๔ นั้นก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในรูปแบบต่างๆ ต้นไม้ก็เป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ร่างกายของเราก็เป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ต่างตรงที่ว่าต้นไม้ไม่มีจิตเข้าไปครอบครองเป็นเจ้าของ ส่วนร่างกายมีจิตเข้ามาครอบครอง แต่มันก็เป็นการมารวมกันของธาตุ ๔ หรือ ธาตุ ๕ ถ้าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลก็มี ๕ ธาตุมารวมกัน ถ้าเป็นต้นไม้ใบหญ้าก็มีธาตุ ๔ รวมกันแล้วก็ต้องแยกจากกันไป นี่เป็นธรรมชาติของธาตุ มันไม่นิ่ง ไม่เสถียร มีการรวมตัวและมีการแยกกันอยู่ตลอดเวลา เมื่อส่วนที่จะแยกมีกำลังมากกว่าส่วนที่จะรวม ก็ต้องแยกตัวออกจากกันไป ตอนเริ่มต้นส่วนที่จะรวมมีกำลังมากกว่า ก็ดึงให้ธาตุมารวมกันให้เป็นรูปเป็นร่างต่างๆ

 

ทีนี้ปัญหาก็คือธาตุรู้ คือจิตหรือใจนี่ไม่รู้จริง ไม่มีปัญญา ถ้าไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าก็จะไม่รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแค่ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นธาตุ ๔ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถ้าไปหลงไปยึดไปติด ก็ต้องเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะว่าเวลาได้มาก็ดีใจ เวลาเสียไปก็เสียใจ ทุกข์ใจ มันก็ไม่ยากเย็นอะไรถ้าเข้าใจหลักที่ว่า พยายามรักษาใจด้วยธรรมะ คือศีล สมาธิ ปัญญา หรือทาน ศีล ภาวนา ที่เป็นเครื่องรักษาใจ เป็นเหมือนยา ที่พูดนี้เราพูดเรื่องปัญญา ปัญญาก็มีสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน สมาธิก็ต้องมีศีล มีทานเป็นเครื่องสนับสนุน ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญญาแบบสักแต่ว่าฟัง ฟังได้คิดได้ แต่ทำไม่ได้ เพราะมันไม่มีจุดปลงวาง จุดที่จิตปลงวางก็คือสมาธินั่นเอง ถ้าอยู่ในจุดที่ไม่สงบ มันก็ปรุงแต่ง พอปรุงแต่งก็จะมีอุปาทาน มีตัณหา ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ถ้าทำจิตให้สงบมันก็คิดไม่ได้ ปรุงไม่ได้ ตัณหาก็ทำงานไม่ได้ อุปาทานก็ทำงานไม่ได้ ถ้าทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง ต่อไปก็จะมีความสงบที่ต่อเนื่อง เบื้องต้นจะสงบเป็นระยะๆ เป็นเวลาๆ นั่งทีก็สงบที พอออกจากสมาธิมันก็คิดปรุงต่อ กลับไปยึดไปอยาก ถ้าทำให้มันสงบอยู่เรื่อยๆ ทั้งในขณะที่นั่งและไม่ได้นั่ง คือเวลาที่ไม่ได้นั่งก็ต้องควบคุมสังขารความคิดปรุง อย่าปล่อยให้มันไปคิดเรื่อยเปื่อย ให้อยู่กับพุทโธๆๆไปก่อน ให้มันสงบ ให้มันนิ่ง แม้ในขณะที่มีความจำเป็นที่จะต้องทำภารกิจต่างๆ ก็ยังภาวนาได้ พุทโธๆๆไป ไม่ว่าจะทำอะไร เช่นกินข้าวก็พุทโธๆๆไป

 

ไม่ต้องไปสนใจเรื่องของร่างกายมากจนเกินไป ร่างกายมันไม่สนใจตัวมันเอง มันไม่มีความรู้สึกตัว มันไม่มีความรู้ มันเป็นเหมือนกระติกน้ำใบหนึ่ง มันไม่รู้ว่ามันดีมันชั่ว มันจะแตกมันจะเสียเมื่อไร เป็นอย่างไรมันไม่รู้ ใจผู้รู้มันหลงมันอยาก ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย เป็นปัญหาของใจ ต้องปฏิบัติเพื่อละความอยากนี้ให้ได้ มันไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ถ้าไม่ได้ปฏิบัติมันก็ยาก นอกจากคนที่เคยปฏิบัติมาแล้ว มีพื้นฐานอยู่แล้ว พอฟังเทศน์พระพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียวก็ตัดได้  ทำใจได้ เหมือนกับของที่เราหลงคิดว่าเป็นของเรา แต่ความจริงมันเป็นของคนอื่นเขา พอเขามาทวงคืน เราก็ไม่ยอมให้เขา เพราะคิดว่าเป็นของเรา อย่างที่มีเด็กสลับกันอย่างนี้ ไปอยู่กับอีกครอบครัวหนึ่งตั้งสิบกว่าปี เพราะคิดว่าเป็นลูกของตัวเอง ต่อมาเขาก็มาบอกว่าไม่ใช่ ถ้าทำใจได้ก็ตัดใจไปเลย ถ้าไม่ใช่ของเราก็เอาคืนไป ร่างกายเราก็แบบเดียวกัน เกิดมาเราก็คิดว่ามันเป็นของเรา แต่มาเจอพระพุทธเจ้าตรัสว่ามันไม่ใช่ของเรา ดูว่าใจเราจะเด็ดเดี่ยวพอไหม ตัดไปเลย เอาไปเลย มันไม่ใช่ของเรา ปล่อยไม่ปล่อยเขาก็เอาคืนไปอยู่ดี ถึงเวลาเขาก็เอาคืนไป ถ้าปล่อยมันก็สบาย ใจก็เบา ถ้าไม่ปล่อยก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ กระสับกระส่ายว้าวุ่นอยู่ตลอดเวลา พยายามหัดปลงๆไว้ว่ามันต้องไป มันไม่ใช่ของเรา เหมือนเงินทองที่ญาติโยมวันนี้เอามาถวายพระ เงินนี้ก็ไม่ใช่ของเรา ที่ให้ทำทานก็เป็นการหัดปลงหัดวาง ไม่ให้ยึดไม่ให้ติด ปลงได้แล้วใจมันสบาย ใจมันจะสงบ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

ถาม  ธาตุที่ ๖ ที่ท่านอาจารย์บอกว่าเป็นอากาศเฉยๆ

 

ตอบ  ความว่างรอบๆตัวเราก็คืออากาศธาตุ ถ้าไม่มีอากาศธาตุแล้ว สิ่งต่างๆจะตั้งไว้ตรงไหน จะอยู่ที่ไหน อากาศธาตุเป็นสิ่งที่รองรับทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ ธาตุรู้นี่เวลาเสวยวิมุตติแล้ว มันหมดใช่ไหมคะ

 

ตอบ    ธาตุรู้ยังอยู่ ที่หมดก็คือกิเลสตัณหา หมดไปจากธาตุรู้ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ถูกทำลายหายไปหมด ก็เหลือแต่อากาศว่างๆ มีอากาศแต่เหมือนกับไม่มีเพราะมันว่าง ถ้าไม่มีอากาศแล้วของต่างๆจะตั้งอยู่ได้อย่างไร เหมือนไปซื้อคอนโดฯ ก็ต้องถามว่ามีเนื้อที่เท่าไร กว้างเท่าไร ยาวเท่าไร สูงเท่าไรเพราะจะต้องเอาของไปตั้งไว้ เนื้อที่ก็คือความว่าง เวลาเราไปซื้อบ้านใหม่ๆมันไม่มีอะไร แต่เราต้องการเนื้อที่ คำว่าเนื้อที่ก็เหมือนกับอากาศธาตุนั่นแหละ เพียงแต่เนื้อที่ของเรามันมีขอบเขต เช่นมีฝามีเพดานกำหนดไว้ แต่เนื้อที่จริงๆคืออากาศธาตุมันไม่มีขอบเขต ไม่มีสิ้นสุด ต่อให้นั่งจรวดยานอวกาศไปเรื่อยๆ ก็จะไปไม่สุดขอบของอากาศธาตุ

 

ถาม  เขาเรียกจักรวาล มันไม่มีขอบเขต

 

ตอบ    จักรวาลมีพวกดาวต่างๆ ที่เกิดจากธาตุ ๔ ลอยอยู่ในอวกาศ ร่างกายเราก็อยู่บนโลกนี้ที่เป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง มีดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้ามีปฏิกิริยาต่อกันก็กลายเป็นต้นไม้ภูเขาแม่น้ำมหาสมุทรขึ้นมา ถ้ามีจิตมาครอบครองก็เป็นสัตว์ต่างๆขึ้นมา จิตก็คือธาตุรู้ รวมทั้งหมดก็มี ๖ ธาตุด้วยกัน คือดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุรู้ และอากาศธาตุ ในภพนี้ก็มีเท่านี้เอง แต่ไม่ได้หมายถึงไตรภพ ไตรภพนี้อยู่ในตัวจิต ในธาตุรู้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ กามภพคือภพของมนุษย์ ของเทพ ของเดรัจฉาน ของเปรต ของอสุรกาย และของสัตว์นรก มันอยู่ในธาตุรู้นี้แหละ ภพของพรหมก็อยู่ในธาตุรู้เหมือนกัน

 

ถาม  แม้กระทั่งสัมภเวสีก็อยู่ในธาตุรู้

 

ตอบ    ใช่ นรกก็อยู่ในธาตุรู้ นิพพานก็อยู่ในธาตุรู้  ถ้ามีกิเลสมาก มีบาปกรรมมาก ก็เป็นพวกสัมภเวสี พวกสัตว์นรก พวกเปรต พวกอสุรกาย ถ้ามีบุญเช่น มีหิริโอตตัปปะ มีเมตตากรุณาก็เป็นเทพ เป็นพรหม ถ้ามีวิปัสสนา มีไตรลักษณ์ มีปัญญารู้ทันก็เป็นอริยบุคคลขั้นต่างๆ ก็อยู่ในตัวธาตุรู้ทั้งนั้น ตัวสำคัญก็คือธาตุรู้ ท่านจึงสอนให้เราชำระธาตุรู้ให้สะอาด ธาตุรู้นี้ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับทองคำ ที่ยังมีสารอย่างอื่นปนเปื้อนอยู่ ที่เราต้องสกัดออกไป เหมือนกับการถลุงเหล็กเพื่อจะได้เหล็กที่บริสุทธิ์ แยกธาตุอื่นๆที่ผสมอยู่ให้มันออกไป เพื่อจะได้เหล็กล้วนๆ หรือทองล้วนๆ สิ่งที่เราปฏิบัติกันทุกวันนี้ ก็เพื่อแยกโลภโกรธหลง ให้ออกจากธาตุรู้นี้ ให้ธาตุรู้เป็นธาตุบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส ไม่มีตัณหา ไม่มีอุปาทาน

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นธาตุนี้ก็มีทั้งที่บริสุทธิ์ และที่มีตัวอวิชชาใช่ไหมคะ

 

ตอบ    ใช่ พระพุทธเจ้าก็ธาตุรู้อันนี้ พวกเราก็ธาตุรู้อันนี้ ต่างกันตรงที่ของพระพุทธเจ้าได้ชำระจนบริสุทธิ์ ได้สกัดเอาพวกสารแปลกปลอมต่างๆออกไปหมดแล้ว คือโลภ โกรธ หลง ด้วยมรรค ๘ ด้วยทาน ศีล ภาวนา ที่เราทำบุญทำทานรักษาศีลกัน ที่เรานั่งสมาธิกัน ฟังเทศน์ฟังธรรมกัน เจริญวิปัสสนากันนี้ ก็เพื่อสกัดเอาโลภโกรธหลง ให้ออกไปจากธาตุรู้ ทุกวันนี้ธาตุรู้มันหลง เมื่อหลงก็ทำให้เกิดโลภ เมื่อโลภแล้วก็ทำให้เกิดความโกรธ ในเมื่อโลภอยากจะได้อะไรแล้วไม่ได้ดังใจก็โกรธ โกรธบ้าง เสียใจบ้าง ทุกข์บ้าง เช่นอยากจะอยู่ไปนานๆ แล้วไม่ได้อยู่มันก็ทุกข์แล้ว ความอยากอยู่ก็เป็นความโลภอย่างหนึ่ง เมื่อมีอะไรมากั้นความอยากนี้มันก็อารมณ์เสีย พอรู้ว่าไม่สบายอารมณ์ก็เสียแล้ว  เกิดจากความหลง ที่ไม่เข้าใจว่าร่างกายต้องเป็นอย่างนี้ ท่านจึงสอนให้เจริญอยู่เรื่อยๆว่า เกิดแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แต่พวกเราไม่ค่อยอยากจะเจริญกัน เพราะคิดว่าเป็นอัปมงคล แต่ความจริงมันเป็นปัญญา มันเป็นตัวทำลายความหลง เมื่อรู้แล้วก็จะได้ไม่โลภ เมื่อไม่โลภก็จะไม่โกรธ ไม่เสียใจ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเป็นไปตามเรื่องของมัน จึงต้องเจริญอยู่เรื่อยๆ การปฏิบัติจึงต้องเป็นอย่างนี้ ต้องอาศัยทาน ศีล ภาวนา หรือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นขั้นๆไป

 

ถ้าไม่มีพื้นฐานก็ไม่สามารถขึ้นไปสู่ธรรมขั้นสูงได้ เหมือนกับถ้ายังไม่ได้เรียนชั้นประถม จะไปเรียนชั้นมัธยมก็จะเรียนไม่รู้เรื่อง จะเข้าไปฟังครูสอนก็ได้ แต่จะเข้าใจสิ่งที่เขาสอนได้ต้องมีความรู้พื้นฐานรองรับอยู่ ถ้าไม่ได้เรียนมาก่อนเรียนไปก็ไม่เข้าใจ จึงข้ามขั้นตอนไม่ได้ ต้องทาน ศีล ภาวนา แต่ทำไปพร้อมๆกันได้ ทานก็ทำไป ศีลก็รักษาไป ภาวนาก็ภาวนาไป แล้วจะก้าวไปเป็นขั้นๆ ถ้าทำทานได้มากเท่าไร ศีลก็จะบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้นไปเท่านั้นถ้ายังมีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติเงินทองอยู่ ก็ยากที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้ แต่ถ้าไม่เกี่ยวข้อง ได้สละหมดสมบัติข้าวของเงินทอง แล้วออกบวช การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ย่อมง่ายกว่า เพราะบางทีต้องโกหกคนนั้นคนนี้บ้าง เพื่อรักษาเงินทองของเราไว้ คนมาขอยืมเงินก็บอกว่าไม่มีหรอก นี่ก็โกหกไปแล้ว แต่ถ้าไม่มีจริงๆก็บอกไม่มีจริงๆ ถ้าสละไปหมดแล้ว ใครมาขอยืมก็บอกว่าไม่มีแล้ว คนส่วนใหญ่จึงไม่มายืมเงินพระ เพราะรู้ว่าไม่มี ก็รักษาศีลได้เต็มที่ เมื่อมีศีลมากก็ทำให้สมาธิมีมากไปด้วย แต่บางคนอาจจะไม่ได้บวช แต่สละทางใจไปแล้วก็ได้ในเรื่องเงินทอง ถึงแม้จะมีอยู่ ก็คิดว่ามันไม่ใช่เป็นของเขาแล้ว ถ้าจำต้องหมดไปวันนี้เขาก็ยินดี แต่ถ้ายังไม่หมดก็ดูแลรักษาไป เพราะเป็นภาระหน้าที่

 

จึงไม่ได้อยู่ที่เพศ อย่าไปดูที่เพศอย่างเดียว ถ้าเป็นพระแล้วจะต้องมีศีล มีธรรมะสูงกว่าฆราวาส มันไม่แน่เสมอไป บางทีเป็นพระแล้วแต่ใจต่ำกว่าฆราวาสก็มี อยู่ที่การปฏิบัติของแต่ละคน คนที่กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมะ ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงเดินบิณฑบาต ก็เป็นฆราวาส แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่มีเวลาว่าง ตอนนี้กำลังบิณฑบาต เขาก็ทูลขอให้ตรัสสอนสั้นๆ พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั้นๆว่า ให้พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็น ที่ได้ยิน ได้สัมผัส ว่าเป็นความว่างเปล่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เท่านั้นเขาก็เข้าใจ เขาก็เตรียมตัวจะไปบวช แต่โดนวัวขวิดตายเสียก่อน พระพุทธเจ้าก็ทรงรับสั่งว่า หลังจากที่ทำฌาปนกิจแล้วก็ให้เอาอัฐิของเขาบรรจุไว้ในสถูป เพราะทรงเห็นว่าเขาได้บรรลุแล้ว พระราชบิดาของพระองค์ก็ได้ทรงบรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนเสด็จสวรรคต ตอนนั้นทรงประชวรหนัก พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด ทรงสอนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสังขารทั้งหลาย ก็ทรงตัดได้ ทุกข์มันก็หมด ต้องอยู่ที่การปฏิบัติ เวลาเรานั่งภาวนาก็ต้องแยกกายเวทนากับจิตให้ออกจากกัน สามตัวนี้มันจะพันกันด้วยตัณหาอุปาทานอวิชชา เวลาเรานั่งแล้วเกิดความเจ็บปวดขึ้นมา จิตมันจะบอกว่าเราเจ็บ ตัวเราเจ็บ ร่างกายของเราเจ็บ ต้องพิจารณาแยกแยะว่าร่างกายไม่รู้เรื่อง มันเหมือนกับกระติกน้ำร้อน ตั้งไว้ตรงนี้มันก็ไม่รู้ว่ามันเจ็บหรือไม่เจ็บ กระดูกก็เหมือนกัน เนื้อหนังก็เหมือนกัน มันไม่มีความรู้

 

ส่วนเวทนาคือความรู้สึกเจ็บนี้ ก็เป็นอาการอย่างหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาของมัน เหมือนกับเสียงที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ เสียงพอปรากฏขึ้นแล้วมันก็เข้ามาในหูเรา แล้วก็เข้าไปรับรู้ในใจ เวทนาที่เกิดจากการสัมผัสของร่างกายที่นั่งนานๆ ก็ถูกส่งเข้าไปข้างในให้จิตรับรู้ เสียงบางอย่างแม้จะเบาขนาดไหน ถ้าเราไม่ชอบ มันก็สร้างความทุกข์ให้กับเราได้ ถ้าใครซุบซิบนินทาว่าอะไรเรา ก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาแล้ว เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว แต่ถ้าเป็นเสียงที่เราชอบ ต่อให้ดังลั่นหู เราก็รู้สึกเฉยๆ เพราะพอใจที่จะฟังมัน ไม่มีความทุกข์ เวทนาก็เหมือนกัน เบาก็มี แรงก็มี เช่นนั่งไปนานๆเข้าก็เกิดอาการเจ็บปวด มันก็แรง มันก็เป็นเวทนา มันจะเบาหรือจะแรง ก็อยู่ที่ใจว่ายินดีหรือรังเกียจมัน ถ้าไปรังเกียจมันก็เกิดความทุกข์มาอีกชั้นหนึ่ง เป็นทุกข์ที่เกิดจากความอยาก ไม่อยากจะเจอเวทนาแบบนี้ หรืออยากจะให้มันดับไป หรืออยากจะหนีจากมันไป แต่ยังไปไม่ได้ เพราะยังนั่งอยู่ จึงเกิดความอยากให้ลุก อยากให้เปลี่ยนอิริยาบถขึ้นมา ยิ่งเกิดความอยากนี้มากเท่าไร ก็เกิดความทุกข์ใจมากขึ้นไปเรื่อยๆ เวลาภาวนาท่านจึงสอนว่า ถ้ายังพิจารณาแยกไม่เป็น ก็ให้สวดมนต์ไปเรื่อยๆก่อน หรือบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆก่อน อย่าให้มีโอกาสได้คิดอยากจะลุก อยากจะหนีจากเวทนานี้เลย

 

หรือพิจารณาไปเรื่อยๆ แยกร่างกายออกไป ดูร่างกายว่ามีอะไรบ้าง แยกออกมาเป็นชิ้นๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ แยกออกมาเป็นกองๆเวลาเอาเส้นผมไปเผาไฟเรารู้สึกอะไรไหม เวลาเอาหนังไปหั่นมันรู้สึกอะไรไหม เอาหนังหมูหนังไก่ เนื้อหมูเนื้อไก่ไปตัด มันมีความรู้สึกอะไรไหม มันไม่มี มันเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่ง พิจารณาแยกมันออกไปจนเห็นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ปล่อยให้มันอยู่เฉยๆได้ ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ไม่ต้องไปขยับมัน ปัญหาอยู่ที่เวทนาที่ปรากฏอยู่ในจิตขณะนี้ ก็แยกออกมา เพราะมันก็ไม่ใช่จิต มันเป็นคนละส่วนกัน มันก็เป็นเหมือนกับเสียงกับรูปที่ผ่านมาทางตา ทางหู ส่วนเวทนามันก็ผ่านมาทางกาย เรียกว่าโผฏฐัพพะ นั่งไปนานๆร่างกายสัมผัสกับพื้นมันก็เกิดความกดดัน ทำให้เกิดเวทนาขึ้นมา เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ แต่ก็ไปบังคับมันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงหรือจะเป็นรูป หรือเป็นโผฏฐัพพะ อย่างเสียงดังอย่างนี้ ถ้าเราไม่ชอบก็จะเกิดอาการวุ่นวายใจ ถ้าเป็นคนมีวาสนาบารมีอาจจะสั่งให้ไปจับยิงทิ้งให้หมด พวกที่ส่งเสียงดัง แต่นั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

 

ต้องแก้ปัญหาที่ใจ ต้องยอมรับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความจริง ที่ปรากฏขึ้นอยู่เรื่อยๆ มันเกิดแล้วมันก็ดับไป ถ้าไม่ไปมีอะไรกับมัน ก็ไม่เป็นปัญหาอะไรกับเรา ถ้าไปชอบมันก็เป็นปัญหา เพราะต้องพยายามไปเอามันมาครอบครอง ให้มันอยู่นานๆ ถ้าไม่ชอบมันก็ต้องพยายามไปกำจัดมัน แต่ถ้าเราเฉยๆกับมัน เราก็ไม่เดือดร้อนไม่วุ่นวายอะไรกับมัน มันจะร้องก็ร้องไป มันไม่ร้องก็ไม่ร้อง บางคนชอบเสียงนกเขา อุตส่าห์เลี้ยงนกเขาเพื่อจะได้ฟังเสียงนกเขาร้อง ถ้าไม่ชอบเสียงก็ต้องเอามันไปฆ่า หรือกำจัดมันไป แต่ถ้าเราเฉยๆ เราก็ไม่ต้องไปเดือดร้อน ไม่ต้องไปเลี้ยงนกเขาให้เสียเวลา  ถ้าไม่ชอบก็ต้องยิงทิ้งให้หมด นี่ก็เหมือนกันเวทนาของเราก็อย่างนี้ เราชอบสุขเวทนาเราก็คอยวิ่งไล่สุขเวทนา พอเวลามันมาโผล่มาก็ดีใจ เป็นความสุขทางด้านจิตใจ ที่ได้สัมผัสกับสุขเวทนา แต่พอไปเจอทุกขเวทนา ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ที่เกิดจากวิภวตัณหา คือความไม่ชอบ ที่เราต้องการจะดับ ก็คือทุกข์ใจ ทุกข์ในอริยสัจที่เกิดจากตัณหาต่างๆ ความอยากความไม่อยากต่างๆ

 

ความจริงจิตจะเฉยๆก็ได้ ไม่อยากมันก็อยู่ได้ มีความสุขได้ แต่ถูกเสี้ยมสอนมาโดยอวิชชา ความไม่รู้ โดยโมหะ ความหลง เสี้ยมสอนให้อยากทั้งสองอย่าง ชอบก็อยาก ไม่ชอบก็อยาก ถ้าเห็นอะไรที่ถูกอกถูกใจก็จะเกิดความอยาก อยากจะอยู่ใกล้ชิด อยากจะได้มาครอบครอง อยากจะให้อยู่นานๆ ถ้าสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบ ก็อยากกำจัดมัน อยากให้มันหายไปโดยเร็ว เราสะสมความชอบและไม่ชอบมาเรื่อยๆ บางคนก็ชอบสีเขียว บางคนก็ชอบสีแดง บางคนเห็นสีแดงแล้วจะประสาทเลย เป็นปฏิกิริยาของจิตที่เคยปลูกฝังมา พอเจออะไรแล้วมันก็จะชอบหรือชังหรือเฉยๆ มันจะรู้ว่ามันชอบอย่างนี้ ไม่ชอบอย่างนี้ อย่างเราตอนที่ซื้อรถ ก็ชอบสีน้ำตาล สีกลัก เพื่อนอีกคนชอบสีแดง เขาชวนให้เอาสีแดง แต่เราไม่เอา เพื่อนเขาซื้อรถสีแดงแต่เราซื้อสีน้ำตาล เพราะมีความผูกพันมาในอดีต

 

ความชอบเหล่านี้ถ้าอยู่ในขอบเขต มันก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันเลยเถิด ทำให้เกิดตัณหา คือความทุกข์ขึ้นมา ก็ต้องละมัน ถึงแม้จะไม่ชอบสีแดง แต่ถ้าต้องอยู่กับมันก็หัดทำใจให้เป็นอุเบกขาไว้ คนอื่นอยู่ได้ ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้ คนที่ชอบก็มีตา หู จมูก ลิ้น กายเหมือนเรา มีใจเหมือนกัน ทำไมเขามีความสุขกับมันได้ ทำไมเรามีความสุขกับมันไม่ได้ ทำไมต้องไปทุกข์กับมัน ถ้าเราไม่สุขกับมัน อย่างน้อยก็อย่าไปทุกข์กับมันก็แล้วกัน หัดทำใจให้เฉยๆไว้ ปัญหาของพวกเราก็คือทำใจเฉยๆไม่เป็น ไม่มีสมาธิ  ทำใจให้นิ่งไม่ได้ ต้องมีปฏิกิริยาตลอดเวลา ไม่ว่าอะไรมาสัมผัส เราจึงต้องออกมาอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีอะไรมากระทบกระเทือนจิตใจ ก็อยู่ไม่ได้อีก เหงาอีก ก็เป็นกรรม ต้องบังคับตัวเอง เป็นเรื่องยากที่ต้องมานั่งสมาธิคนเดียวนานๆ เป็นปีๆ ถ้าทำแค่ ๓ วัน ๕ วันนี้ก็ยังพอไหวอยู่ แต่บางคนขนาด ๓ วัน ๕ วัน ก็ยังไม่ไหวเลย  

 

ถาม  คงเป็นความเคยชินละมังครับ

 

ตอบ  ใช่ ถ้าเราไม่เคย เราก็ต้องฝืนมัน

 

ถาม     เมื่อสักครู่ท่านพูดถึงเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างเจ็บนี่ยังไม่ถึงเวลาควรจะเจ็บนี่ เราไม่ดูแลมัน เราปล่อยปละละเลย ไม่สงสารสังขารคือตัวที่เราต้องไปหาบหามเขาอยู่นี่ อันนี้มันก็ไม่น่าจะเจ็บใช่ไหมครับ มันยังไม่ถึงเวลา เหมือนกับรถยนต์นี่ ถ้าเราใช้รถยนต์แล้ว ตามกำหนดระยะเวลาดูแลเขา ไม่ใช้จนกระทั่งรถวิ่งไม่ได้ หรือว่ารถมันเสียมันก็จะเป็นปัญหา คือว่าเราต้องเอารถเข้าไปซ่อม แล้วก็ไม่มีรถใช้ แต่ถ้าเราจะตามกำหนดระยะเวลาที่เขาทำนี่ มันก็จะไปนั่งรอหน่อยให้เขาเช็ค อาจจะครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่งผมว่าแบบนั้นมากกว่า

 

ตอบ  เป็นเรื่องของการมีความรับผิดชอบ

 

ถาม  ต้องดูแลมันใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  ก็ต้องดูแลมัน

 

ถาม  แต่ไม่ใช่มากเกินไป

 

ตอบ  ก็พอประมาณ ตามเหตุตามผล

 

ถาม  คือจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์เพื่อที่จะให้ไปโดนใจเขาครับ

 

ถาม     แต่ก็พิจารณาดูอยู่เหมือนกันว่า บางคนเขาบอกว่ามีบุญ บอกไม่ใช่บุญบาปไม่เกี่ยวกัน อันนี้เรื่องสังขารลูกก็เข้าใจ สิ่งที่เป็นกังวลที่ต้องกราบเรียนท่านอาจารย์ ว่าเป็นกังวลอยู่ อย่างวันที่ ๒๔ นี่ไม่แน่ใจว่าจะมาได้หรือไม่ เพราะหมดแรง และรู้สึกว่าไม่น่าเลย เสียดายโอกาส แล้วเราก็จะมีความทุกข์ตรงนี้ จะไม่ได้ไปวัด ตรงนี้ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี คิดไปถึงกุฏิของหลวงตา

 

ตอบ     มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปคิดมัน อนาคตมันไม่มีใครรู้ ถึงเวลานั้นอาจจะไปก็ได้ อาจจะไม่ไปก็ได้ ไม่ควรที่จะส่งจิตไปที่อนาคต นักปฏิบัติต้องอยู่ในปัจจุบัน อดีตก็ไม่ต้องไปคิดมัน อนาคตก็ไม่ต้องไปกังวลกับมัน แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องวางแผน ต้องทำอะไรล่วงหน้าก็คิดได้ แต่เมื่อเรียบร้อยแล้วก็หยุด กลับมาอยู่ในปัจจุบันไปเรื่อยๆ พอถึงวันนั้นไปได้ก็ไป ไปไม่ได้ก็อยู่ที่บ้าน วัดก็อยู่ที่ใจเรานี้ ไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก

 

ถาม  ไม่เหมือนมาฟังธรรมท่านอาจารย์ที่นี่ ไม่เหมือนกันค่ะ

 

ตอบ     ก็มีที่อัดไว้แล้วก็เปิดฟังได้ อาจจะเป็นเพราะกิเลสยังอยากจะออกไปนอกบ้านมากกว่า อยากจะออกไปดูรูป ฟังเสียงอะไรต่างๆมากกว่า ถ้าปฏิบัติได้แล้วจิตไม่อยากจะไปไหนหรอก เราไปอยู่บ้านตาดเกือบ ๙ ปี ก็ไม่เคยไปไหนเลย อยู่ในวัดตลอด ไม่ได้ไปกราบหลวงปู่องค์นั้นองค์นี้เลย ไม่เห็นต้องไปเลย ไม่เคยไปกราบครูบาอาจารย์องค์อื่นเลยตั้งแต่บวชมา วัดอื่นก็ไม่เคยไปเลย ตั้งแต่บวชมานี่ บวชที่วัดบวรฯ ไปอยู่บ้านตาด แล้วก็มาอยู่วัดที่พัทยาเกือบหนึ่งปี ดูแลรักษาโยมพ่อ พอโยมพ่อเสียแล้ว เผาเสร็จแล้วก็มาอยู่วัดญาณฯ ก็ไม่ได้ไปไหน งานอะไรของใครก็ไม่เคยไป  ไม่เห็นต้องไป ไปก็ได้ไม่ไปก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไปจะไปเพราะกิเลส บางคนมีความจำเป็นต้องไป มีหน้าที่ต้องทำ มีความผูกพันกันมา ก็ต้องไปเยี่ยมเยียนกัน แต่เราไม่ค่อยมีความผูกพันกับใคร อยู่บ้านตาดส่วนใหญ่ก็อยู่ที่กุฏิ พอเสร็จกิจก็กลับกุฏิ ไม่เห็นต้องยุ่งอะไรกับใคร

 

 

ถาม     กราบเรียนท่านอาจารย์ ตอนพิจารณาก็กำหนดพิจารณาลมหายใจ แล้วก็พุทโธ ก็พยายามให้จิตอยู่กับกาย คือถือว่าลมหายใจนี่ก็เป็นกาย จิตหรือว่าใจนี่มันจะไปคิดโน่นคิดนี่อยู่เรื่อย แต่เมื่อสักครู่นี้ฟังดูเหมือนกับท่านสอนว่าให้ทำทุกขณะจิต ถ้าเรามีโอกาสไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ทำงาน ทานอาหาร ทำอะไร ถ้าเราว่าง ขับรถๆติดเราก็พุทโธ อันนี้ก็เป็นอุบายอย่างหนึ่งใช่ไหมครับ

 

ตอบ     ใช่ เป็นการสกัดความคิด ถ้าไม่มีอะไรสกัดมันก็จะคิดเรื่อยเปื่อยไป กังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะได้ไปทอดกฐินหรือไม่ จะได้มาวัดหรือไม่ คิดไปทำไม มันได้อะไร คิดแล้วมันก็ยังไม่ได้ไป เพราะยังอยู่ที่นี่ วันนี้วันที่ ๑๙ แต่เราคิดไปถึงวันที่ ๒๔ แล้วนี่ คิดได้ รู้ว่าวันที่๒๔ มีกิจกรรมต้องทำ ก็รู้แค่นั้นก็พอ ก็เตรียมตัวไว้ ถ้าถึงวันนั้นมาได้ก็มา มาไม่ได้ก็ไม่ต้องมา  จิตก็วุ่นวายตลอดเวลากับความคิดนี้ เพราะไม่ได้เอาพุทโธมาสกัดมัน ควรพุทโธๆๆไปในใจ หรือสวดมนต์ไปภายในใจ อิติปิโสฯ อรหัง สัมมาฯ สวดไปเรื่อยๆในจิตในใจ แล้วจิตจะได้เป็นสมาธิ ในขณะที่เราไม่ได้นั่ง คือมันจะว่างจากความคิดปรุงต่างๆ

 

ถาม  กั้นไม่ให้จิตมันส่ายหรือแส่ออกไปข้างนอกไปรับรู้อารมณ์ต่างๆ

 

ตอบ    พุทโธหรือการสวดมนต์นี่ เป็นตัวดึงกระแสจิตให้เข้ามาข้างใน ให้มารวมเป็นสมาธิ ซึ่งจะรวมได้หลายแบบ รวมแบบที่ไม่ฟุ้งซ่านก็เป็นแบบหนึ่ง หรือรวมแบบร่างกายหายไปหมด เหลืออยู่แต่สักแต่ว่ารู้ นี่ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง อยู่ที่ว่ามันจะรวมลงไปลึกขนาดไหน ขึ้นอยู่กับการสกัดกั้นตัวสังขารความคิดปรุง อย่าให้มันไปคิดปรุง ถ้าคิดแล้วมันจะเกิดความฟุ้งซ่าน สังขารความคิดปรุงแต่งนี่มันไปได้ ๒ ทางด้วยกัน ถ้าคิดให้เป็นปัญญา มันก็จะดึงจิตเข้าข้างใน เช่นคิดพิจารณาว่า เราเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา คิดอย่างนี้เป็นมรรค ถ้าไปคิดกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องลูก เรื่องอะไรต่างๆ เรื่องอนาคตของตนเอง จะตายแบบไหน จะเจ็บไข้ได้ป่วยแบบไหน คิดไปทำไม ถึงเวลามันก็เป็นไปตามเรื่องของมัน บางคนก็คิดกลัวจะเป็นอัมพฤตอัมพาต กลัวจะนอนอยู่บนเตียงเป็นปีๆ ทำอย่างไรได้มันเรื่องของบุญของกรรม เราทำอะไรไว้เราก็ต้องได้รับผลของมันสักวันหนึ่ง ตอนนี้เรารีบทำกรรมดีไว้เถิด ทำบุญทำกุศลโดยเฉพาะการภาวนา การเจริญปัญญา ทำให้จิตมันหลุดพ้น พอหลุดพ้นแล้วร่างกายจะอยู่ในสภาพไหน ก็ไม่เดือดร้อนด้วย หลวงปู่ชอบต้องนั่งในรถเข็น ท่านก็แฮปปี้ของท่าน ไปไหนมาไหนอย่างสบายใจ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ร่างกายก็อยู่ในสภาพใด จิตก็รับได้หมด

 

ถาม  ท่านเคยทราบแนวทางของท่านโคเอ็นก้าไหมครับ

 

ตอบ  ก็เคยอ่าน ท่านก็สอนการเจริญสติปัฏฐาน ๔

 

ถาม    โดยใช้การพิจารณากายที่ท่านสอนเมื่อสักครู่ว่า พิจารณาเป็นส่วนๆ เช่นจากผมขนเล็บฟันหนังนี่ไล่ไป คือภรรยาผมจริตเขาเป็นอย่างนั้น เขาชอบไป เขาบอกว่าอีกหน่อยเขาจะไปปีละ ๔ ครั้ง เขาว่าเดี๋ยวนี้มีสาขาในประเทศไทย ๕ แห่ง ที่ทราบว่ามีแถวพิษณุโลก แล้วตอนนี้ไปสร้างใหม่แถวกาญจนบุรี แล้วก็ที่ปราจีนบุรีก็มี อีก ๒ แห่ง ที่ไหนผมไม่ทราบ ภรรยาผมก็ไป แต่ผมหันมาทางอานาปานสติ คือลมหายใจ ถือว่าลมหายใจคือชีวิต หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตาย แล้วผมเคยสัมผัสเรื่องนี้มานานแล้วนี่ ๒ ครั้ง ก็เลยรู้สึกว่าฝังใจ แล้วติดกับทางด้านนี้

 

ตอบ    ได้ วิธีปฏิบัติก็มีอยู่หลายแนวทาง เหมือนร้านอาหาร ธรรมะก็เป็นเหมือนอาหารที่ขายในตลาด อาหารสด พวกเนื้อพวกผักต่างๆ อยู่ที่คนซื้อจะเอามาปรุงแต่งแบบไหน ทำเป็นอาหารจีน อาหารเวียดนาม อาหารฝรั่งก็ได้ คนที่ชอบกินอาหารแบบไหนก็จะกินอาหารแบบนั้น ของเขานี่รู้สึกว่ากำหนดให้อยู่ครั้งละ ๑๐ วัน แล้วไม่ให้พูดกัน มีแต่ปฏิบัติตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นถึงหลับ ให้คุมสติอยู่ตลอดเวลา บางคนไปอยู่ได้ไม่กี่วันก็ทนไม่ไหว อึดอัดไม่ได้พูดไม่ได้คุย สังขารมันมีแต่ปรุงแต่ง แต่ไม่ได้ออกมาทางวาจา คนที่มีสติแล้ว ควบคุมสังขารได้มันก็เพลิน ที่อย่างนี้สำหรับคนที่ยังไม่มีวินัยในตัวเอง จึงต้องมีเวล่ำเวลาคอยบังคับ ถ้ามีวินัยก็ไม่ต้องไปก็ได้ อยู่บ้านก็ปฏิบัติได้ ขังตัวเราไว้ในห้องก็ได้ วันละกี่ชั่วโมงก็กำหนดเอา เวลานั้นเราก็ไม่ต้องออกไปข้างนอก คนอื่นเขาจะทำอะไรก็เรื่องของเขา เราก็ทำของเราไป แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีวินัยพอ พออยู่ในบ้านเดี๋ยวคนนั้นเปิดโทรทัศน์ก็อยากจะไปดูด้วย คนนั้นเขากินอะไรก็อยากจะไปกินด้วย จิตใจมันยังอ่อน ยังไม่มีหลักยึด แต่ถ้ามีวินัยในตัวมันเองแล้ว มันไปของมันเองได้ อย่างอาตมามองย้อนดูตัวเอง ก็ไม่ทราบว่าทำไมมันเป็นของมันได้ มันก็ไปของมันเอง ไม่มีใครมาบังคับ ไม่มีใครมาสอน พออ่านหนังสือปั๊บก็เข้าใจว่าต้องทำอะไร ก็เริ่มทำไป

 

ถาม     ท่านอาจารย์คะ ปัญหาว่าถือศีล ๘ อยู่แต่พอดีไม่สบายต้องทานอาหารเย็น เพราะว่าหมอให้ทานยาหลังอาหาร ลูกก็ว่าถ้ายกเว้นตอนนี้แล้วจะไปอยู่เมื่อร่างกายแข็งแรงขึ้น นี่จะเป็นการผิดไหมเจ้าคะ

 

ตอบ    มันก็ไม่ได้รักษาศีล ๘ ครบบริบูรณ์ แทนที่จะได้รางวัลที่ ๑ ก็เอารางวัลที่ ๒ ไปก่อน  ถ้ารักษาศีล ๘ ก็ได้เหรียญทอง ถ้ารักษาศีล ๕ ก็ได้เหรียญเงิน เหมือนการแข่งขันกีฬา

 

ถาม  ต้องกินยาเย็นนี่คะ

 

ตอบ  เพราะว่าเราต้องการรักษาร่างกายเรามากกว่ารักษาศีล ๘

 

ญาติโยม  ความจริงทานน้ำสำรองแล้วก็ทานยาก็ได้ไม่ใช่หรือคะ

 

ญาติโยม  ความจริงแล้วต้องชั่งน้ำหนักดูนะว่า ถ้าไม่ทานยาตามหมอสั่งสุขภาพเราจะเป็นอย่างไร มันแย่ยิ่งกว่าเรารักษาสุขภาพให้แข็งแรงไว้ก่อนแล้วกลับไปปฏิบัติใหม่อีกหรือเปล่า ซึ่งนึกออกไหม เรายังมีร่างกายอยู่ คือจิตเราอาศัยร่างกายนี้ ถ้าเรารักษาตัวเราให้แข็งแรงแล้ววันข้างหน้าเราก็จะมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะบำเพ็ญภาวนาได้

 

ญาติโยม  แต่หนูว่าได้ทั้ง ๒ อย่าง เพราะว่ายาจีนมันไม่ใช่ยาที่กัดกระเพาะค่ะ

 

ตอบ     มันได้ทั้ง ๒ อย่างที่บอก คือรักษาตอนนี้แล้วไปบำเพ็ญก็ได้ หรือจะบำเพ็ญต่อไปโดยไม่ต้องรักษามันก็ได้ บางคนเขาไม่รักษาเขาจะเอาธรรมะ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ ถ้าจะรักษาชีวิตก็ต้องสละธรรมะไปก่อน ก็ต้องเลือกเอา

 

ถาม  คืออยากรู้คำตอบค่ะ

 

ญาติโยม   ยาจีนกินได้ค่ะ คือไม่มีอาหารอยู่ในท้องก็กินยาจีนได้ค่ะ

 

ถาม  ยานั้นไม่อยากทานเลยค่ะท่านอาจารย์ เพราะว่าทานแล้วทำให้หลับ เคยตื่นตี ๓ ก็ไม่ตื่น ทั้งๆที่ความจริงเคยตื่นได้นะคะ นี่มันไม่ยอมให้ตื่นเลย

 

ญาติโยม  ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับตัวเราเอง เราก็มาพิจารณาทบทวนเองว่าเราจะเลือกทางไหนดี เราจะทำอย่างไรดี แล้วท่านอาจารย์ท่านก็ให้โอวาท ท่านก็ให้คำแนะนำสั่งสอนมา ตัวเราเองแหละต้องเป็นคนตัดสินใจ ต้องพิจารณาว่าเราจะเอาอย่างไร จะหยุดรักษาเพื่อบำเพ็ญบารมี ทาน ศีล ภาวนาให้ถึงระดับหนึ่ง เพื่อเป็นบาทเป็นฐานที่จะขึ้นไปสู่ภพภูมิที่ดีขึ้น ก็คิดเอาก็แล้วกัน

 

ถาม  เขาเป็นมากค่ะ ตับไม่ทำงานไป ๒ ส่วน นี่เพิ่งจะออกมาวันนี้เอง

 

ตอบ  ก็อย่าไปกังวลเลย ตัดสินใจทำอะไรก็ทำไป ถ้าจำเป็นต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรงก่อนก็ทำไป ถ้ายังปฏิบัติไม่ได้ ก็ต้องรักษาร่างกายไปก่อน

 

ญาติโยม  ได้ลาออกจากงานแล้วนะคะ ทุกวันนี้ต้องไปเคลียร์งาน เพราะหน้าที่ค่ะ

 

ญาติโยม  ทุกคนเขาเป็นห่วง

 

ตอบ    บางทีก็ต้องอาศัยเหตุการณ์แบบนี้เป็นตัวกระตุ้น เพราะว่าการปฏิบัติจริงๆไม่ได้ปฏิบัติที่ร่างกาย ตอนพระราชบิดาของพระพุทธเจ้าบรรลุ ก็บรรลุบนเตียงนอน เป็นคนไข้ จิตของพระองค์สามารถพิจารณาธรรมจนเข้าใจ แล้วปล่อยวางได้ พิจารณาเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของร่างกาย เรื่องการเป็นธาตุของร่างกาย คือจะรักษามันอย่างไรสักวันหนึ่งมันก็ต้องตายอยู่ดี สมมุติยกนี้มันหาย เดี๋ยวก็เจอยกหน้าอีก มันก็กลับมาอยู่ที่เดิมอีก ก็ต้องมาเจอยกสุดท้ายจนได้ เพียงแต่ว่าวันนี้จะเป็นยกสุดท้ายหรือไม่เท่านั้นเอง ยกนี้จะเป็นยกสุดท้ายหรือไม่ก็ไม่มีใครรู้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยในแต่ละครั้ง ก็ไม่รู้ว่าจะหายหรือไม่หาย ถ้าหายเดี๋ยวก็ต้องไปเจอยกหน้าอีก คราวหน้ามันก็เป็นอย่างนี้อีก บางทีพอหายแล้วแทนที่จะกลับไปปฏิบัติธรรมต่อ ก็ไปทำอย่างอื่นเสีย พอหายแล้วก็ลืม ถ้าถามว่าปฏิบัติธรรมตอนไหนดี ก็ตอบว่าเวลานี้ดีที่สุด ส่วนเรื่องศีล ๘ นี่ถ้าต้องกินอาหารก่อนกินยาก็ให้ถือว่ากินอาหารนี้เป็นการกินยาไป ไม่ได้กินเพราะความอยากจะกิน ถ้าอย่างนั้นก็เหมือนกับกินยา กินเพื่อเคลือบกระเพาะ ถ้ากินไปตอนท้องว่างๆเดี๋ยวยาจะไปกัดกระเพาะ ทำให้เกิดโรคซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

 

            พยายามพิจารณาธรรมไปเรื่อยๆ ตามแนวทางที่เราได้ยินได้ฟังมา เพราะเราต้องเป็นคนสอนตัวเราเอง สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์เป็นเหมือนน้ำเชื้อ ที่เราต้องเอาไปพัฒนาต่อ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ พิจารณาดูความเสื่อมของร่างกาย ร่างกายมันมาแล้วมันก็ต้องไป เวลาไม่สำคัญ ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ต้องถึงเวลานั้นด้วยกันทุกคน เมื่อเราอยู่ในสภาพนั้นแล้ว ก็ควรพิจารณาเพื่อปล่อย อย่าไปหวงมัน ไม่ต้องไปหวังก็แล้วกัน ปล่อยให้แพทย์รักษาไป แต่ใจไม่ต้องไปเชียร์ไปหวัง จะหายก็หาย ไม่หายก็แล้วไป มันก็เป็นได้ ๓ ทาง ดีขึ้น เท่าเดิม หรือเลวลง ก็มี ๓ ทางนี้ เพียงแต่ว่าเราไม่รู้ว่ามันจะเป็นทางไหนเท่านั้นเอง หน้าที่ของเราก็คือ ทำใจให้เป็นกลางไว้ ทำใจให้เฉยๆไว้ รับได้ทั้ง ๓ ทาง จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆก็ได้ จะดีขึ้นก็ได้ จะเลวลงไปกว่านี้ก็ได้ ก็ตอนที่อาตมาโดนงูกัดก็ทำใจแบบนี้ โดนงูกัดแล้วก็ไปโรงพยาบาลรักษา มันจะดีขึ้นหรือจะเลวลง จะหายไม่หาย ไม่ทราบ คิดไปก็ทำให้ใจปั่นป่วน เพียงแต่รู้ว่ามันก็มีแค่ ๓ ทางเท่านั้น หาย ไม่หาย หรือตาย มีอยู่ ๓ทาง เมื่อพิษมันเข้าไปในร่างกายแล้ว เราจะทำอย่างไรได้

 

ถาม    ตอนนี้ก็ไปใช้ชีวิตอยู่กับท่านชยสาโร อยู่ที่แม่ริมเชียงใหม่ อยู่เป็นปีที่ ๒ แล้วก็ลงชื่อไว้ปีที่ ๓ เพราะผมเกษียณเมื่อปี ๒๕๔๗ ท่านจะจัดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม ท่านอาจารย์ชยสาโรที่วัดป่านานาชาติ ศิษย์ท่านอาจารย์ชา ไปอยู่ ๗ คืน ๘ วัน ก็ไม่พยายามพูดกับใคร นอนที่เต้นท์ แล้วก็ตื่นตั้งแต่ตี ๔ จะต้องขึ้นไปนั่งภาวนา แล้วก็ต้องทำวัตรเช้า ผมก็ตื่นมาตีสามครึ่ง ทำกิจวัตรธุระของตัวเอง กว่าจะเข้านอนก็ ๔ ทุ่ม อากาศก็ค่อนข้างจะเย็นปลายมกราคม ก็มีอีกเรื่องที่จะกราบเรียนท่านคือพยายามถามครูบาอาจารย์ว่า เกิดมาเป็นมนุษย์นี่ต้องทำบุญกุศลในชาติก่อนที่จะมาเกิดนี่ค่อนข้างจะมากใช่ไหมครับ แต่พวกอาชญากร พวกโจรผู้ร้ายผมอาจจะพูดหยาบไปว่า เหมือนพวกสัตว์นรกมาเกิดนี่ ทำไมมันเป็นไปได้ มีคติทางพุทธศาสนาอย่างไร

 

ตอบ    ในจิตแต่ละดวงนี่ เคยทำบาปทำบุญมา มากมายหลากหลายด้วยกัน เหมือนการปลูกต้นไม้ในสวนไว้หลายชนิดด้วยกัน ชนิดที่ดีก็มี ชนิดที่ไม่ดีก็มี ปลูกต่างวาระกัน เวลาที่มันจะเจริญออกดอกออกผลก็ต่างกัน ดวงจิตดวงใจของพวกเราที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ในครั้งนี้ ในอดีตก็เคยทำบุญทำบาปทำกรรมไว้ ที่ยังไม่ได้แสดงผล ที่ยังฝังอยู่ในใจก็ยังมีอยู่ นิสัยที่ชอบทำบาปทำบุญก็ยังติดมาด้วย จิตที่ไปเกิดเป็นเดรัจฉานที่ใจบุญก็มี เป็นเดรัจฉานที่ดีกว่ามนุษย์บางคนก็มี หมาบางตัวยังดีกว่าคนบางคนเลย ก็เพราะยังมีความดีฝังอยู่ในตัวเขา ในจิตของแต่ละคนจึงมีทั้งดีชั่วฝังอยู่ เหมือนกับกระเป๋าที่โยมใส่ของ มีทั้งของดีของไม่ดีปนกันอยู่ เวลาโยมล้วงหยิบมันขึ้นมา บางทีก็หยิบของดีขึ้นมา บางทีก็หยิบของไม่ดีขึ้นมา เรื่องของกรรมจึงพูดไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่ามันเป็นอจินไตย  แต่อธิบายได้คร่าวๆอย่างนี้ ถึงแม้จะเกิดมาเป็นมนุษย์แต่เลวกว่าสัตว์ก็มี แม้แต่เราเองก็ไม่แน่เหมือนกัน วันนี้เราดี แต่ถ้าวันข้างหน้ามีอะไรมาสะกิด ทำให้ตัวสัตว์นรกที่ซ่อนอยู่ในจิตในใจโผล่ออกมา ก็สามารถไปทำในสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้ หรือมีองค์พระองค์เทพองค์พรหม ที่ซ่อนอยู่ในใจโผล่ออกมาก็ได้ ก็อาจจะออกบวชเป็นพระไปเลยก็ได้

 

อย่างที่วันนั้นเล่าเรื่องของหลวงปู่ขาวให้ฟัง ตอนที่ท่านทราบข่าวว่าภรรยาของท่านไปมีชู้นี้ ตอนนั้นมีตัวแสดงสองตัวกำลังแย่งกันแสดงบทบาท ระหว่างสัตว์นรกกับพระ  ตอนต้นก็คิดว่าจะฆ่ามันทั้งสองให้ตายไปเลย ต่อมาก็ได้สติองค์พระจึงได้แสดงตน มาบอกว่าฆ่าเขาก็เท่านั้น ฆ่าเขาเราก็เลวกว่าเขา สู้ยกให้เขาไปเลยดีกว่า ท่านก็เลยประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่า ต่อไปนี้ภรรยาของเราไม่ได้เป็นของเราแล้วนะ ยกให้ชู้เขาไปแล้ว ส่วนเราๆจะลาไปบวช นี่คือพระที่ฝังอยู่ในจิตของท่าน สังเกตดูอารมณ์เราก็แล้วกัน บางทีก็อยากจะฆ่าคน บางทีก็กล้าที่จะเสียสละชีวิต สลับกันปรากฎขึ้นมา อยู่ที่สติจะควบคุมได้มากน้อยเพียงไร พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นไปที่สติปัฏฐาน ๔ เจริญสติให้มาก สตินี้เป็นเหมือนกับคนเฝ้าประตู ใครจะออก ใครจะเข้า ให้คอยดูไว้ ตัวที่ไม่ดีก็สกัดไว้ ตัวที่ดีก็ปล่อยออกมา ถ้ามีสติแล้วจะควบคุมอารมณ์ได้ เวลาเกิดอารมณ์ไม่ดีก็ดับได้ พอรู้ทันปั๊บมันก็ดับแล้ว พอรู้ว่าโกรธปั๊บ มันก็ดับแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่รู้ มันก็ต่อเป็นลูกโซ่ไปเลย เพราะไม่มีสติ ธรรมที่สำคัญที่สุดก็คือสติ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบสติเหมือนกับรอยเท้าช้าง ที่ใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย ครอบรอยเท้าของสัตว์อื่นๆได้หมด สติก็เป็นธรรมที่ครอบธรรมทุกชนิด ถ้าไม่มีสติแล้ว สมาธิปัญญาก็ไม่เกิด วิมุตติก็ไม่เกิด ต้องมีสติเป็นตัวนำ

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ ถ้ามันขึ้นมาตามวิบากกรรมที่เกิดนี่เข้าใจ แต่อย่างพวกสัตว์ต่างๆนี่ โอกาสที่เขาจะต้องเกิดเป็นอย่างนั้นซ้ำๆซากๆ โอกาสที่เขาจะพบความสุขอย่างเราเขาก็ไม่มี ฉะนั้นเขาจะมีโอกาสได้กลับมาเกิดเป็นคนก็ไม่มี

 

ตอบ    มี ก็บุญที่เขาเคยสะสมไว้ก็มีอยู่ เพียงแต่ว่ายังไม่มีแรงพอ ตัวบาปมันมีแรงมากกว่าก็เลยส่งให้ไปเกิดก่อน แต่เมื่อถึงเวลาที่บุญแรงกว่าบาป ก็จะได้มาเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ อย่างพระพุทธองค์ก็ทรงเป็นสัตว์มาหลายชนิดเหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าเกิดเป็นสัตว์แล้วจะเป็นสัตว์ไปตลอด เกิดเป็นมนุษย์แล้วต้องเป็นมนุษย์ไปตลอด ไม่ใช่ นี่ไม่ใช่เรื่องของกรรม มีขึ้นๆลงๆ ตั้งแต่พรหมลงไปถึงนรก ขึ้นๆลงๆไปอย่างนี้ จนกว่าจะเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้มาเจอพระพุทธศาสนา ได้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน จนหลุดพ้นไป หรือบรรลุธรรมได้ด้วยตนเอง เช่นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่การขึ้นๆลงๆบนบันไดของภพชาติต่างๆจะสิ้นสุดลง พยายามยึดหลักปัจจุบัน ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน เราเป็นอะไร มีอะไรที่เราจะต้องทำก็ทำไป มีหน้าที่ดูแลรักษาร่างกายของเราก็ดูไป หาหมอก็หาไป กินยาก็กินไป ถ้าต้องกินข้าวก็กินไป กินข้าวก็ยังภาวนาได้ มันไม่ได้ไปหยุดการภาวนา ก็ภาวนาไป เจริญปัญญาไป เราปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลาแต่ไม่ปฏิบัติ เพราะเราไม่รู้กัน   เพียงแต่ระลึกพุทโธๆอย่างเดียวไปทั้งวันก็ได้ปฏิบัติแล้ว ถ้าทำได้ก็ใกล้จะหลุดพ้นแล้วนะ บอกให้รู้ก่อน แทนที่จะไปคิดเรื่องยา เรื่องกินข้าวถือศีล ๘  มาบริกรรมพุทโธๆอย่างเดียวจะดีกว่า ได้ประโยชน์มากกว่า อย่าไปคิดถึงเรื่องอื่นเลย ตอนนี้คอยรักษาใจไว้ ทำใจให้ว่าง ไม่ต้องไปคิดฟุ้งซ่านกับเรื่องอะไรทั้งสิ้น เข้าใจหมดแล้วร่างกายมันก็ต้องตาย กลับคืนสู่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทำอย่างไรมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น

 

ใจที่กำลังวุ่นวายทำให้มันสงบ ให้มันว่างเท่านั้นเอง ไม่สงบมันก็ห่วงเรื่องร่างกาย มันก็ไปพันกับศีล การกระทำทางกาย ทางวาจา แต่ถ้าเข้าใจเรื่องของจิตแล้ว ร่างกายก็ปล่อยมันไปตามเรื่องของมัน ยกให้หมอไป หมอเขาให้กินก็กินไป แต่ใจเราๆก็ดูแลไป รักษาไปด้วยธรรมโอสถ บริกรรมพุทโธๆๆไปทั้งวันนั้นแหละ หรือสวดมนต์ไปทั้งวันก็ได้ อย่าปล่อยให้มันไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ยกเว้นเรื่องที่จำเป็นจะต้องคิด เช่นมีภาระความรับผิดชอบการงาน คิดเสร็จแล้วก็พอแล้ว หยุดได้แล้ว ก็กลับมาสวดมนต์ในใจต่อ บริกรรมพุทโธไปภายในใจ ทำได้เสมอ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ไม่ต้องไปวัด แต่เราไม่มีนิสัยในทางนี้มันถึงไม่ได้ทำ พอไปจากที่นี่แล้วก็เริ่มคิดอีกแล้ว คิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ ลองคิดแต่คำว่าพุทโธๆอย่างเดียวดู ไม่คิดเรื่องอื่นนอกจากจำเป็นจริงๆ แต่อย่าไปเครียดจนเกินไปกับการบริกรรมพุทโธๆ เวลาอยู่กับเพื่อนฝูงก็ต้องพูดคุยกัน มัวแต่พุทโธๆเดี๋ยวเพื่อนก็จะอึดอัดกัน แต่ถ้าเราอยู่ลำพังคนเดียว ก็อย่าไปคิดเรื่องอื่น ให้อยู่กับพุทโธๆๆไป สวดมนต์ไปก็ได้ แล้วใจจะสบาย จะสงบ จะเย็น

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะขอกราบเรียนถามอีกเรื่อง ถ้าเรารู้ว่าเราถูกเอาเปรียบ แล้วก็อาจจะถูกโกงอย่างนี้เจ้าค่ะ ถ้าต่อสู้ไปบ้างเท่าที่สามารถแล้วนี่ แต่ก็ยังมีทางไปได้อีก เราควรจะทำอย่างไรคะ ควรจะสู้ต่อหรือไม่ ลูกบอกว่าลูกจะเสียสละถอยมา คือไม่อยากต่อสู้ ไม่อยากขึ้นศาล  ลูกควรจะทำอย่างไร

 

ตอบ  วิธีที่ดีที่สุดก็คือสละไป ถือว่าเป็นการทำบุญทำทานไป ถ้าสละไปนี่ก็เป็นบุญแล้ว

 

ถาม  ถ้าในกรณีที่มันติดเข้าไปในกลุ่มเจ้าค่ะ เราสละคนเดียวมันก็ไม่หลุดออกมา คือคนอื่นเขาไม่ยอมสละค่ะ

 

ตอบ  ก็ให้คนอื่นเขาทำไปซิ เราก็เฉยๆ ปล่อยเขาไป

 

ถาม  คือตัวลูกนี่ ใจลูกนี่สละแล้ว แต่ว่ามันจะต้องติดพ่วงเข้าไป

 

ตอบ  ติดก็ไม่เป็นไร ติดก็ติดไป

 

ถาม  ถ้าเกิดต้องขึ้นโรงขึ้นศาลล่ะเจ้าคะ

 

ตอบ  เราไม่ต้องไปก็ได้นี่ ใช่ไหม

 

ถาม  ไม่ทราบเจ้าค่ะ เพียงแต่ว่าลูกอยากจะตัดเสียก่อนที่จะต้องไปศาล

 

ตอบ  เราทำในส่วนที่เราทำได้ ส่วนที่เราทำไม่ได้ก็ต้องปล่อยไปตามเรื่องของเขา

 

ถาม  แต่ลูกเถียงเขาไม่ได้ เขาบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เป็นอย่างนี้ แล้วลูกไม่ทราบว่าจะเถียงเขาว่าอย่างไร ลูกขอคำของท่านอาจารย์ไปเถียง ลูกเถียงไม่ทันเจ้าค่ะ

 

ตอบ    พระพุทธเจ้าก็ทรงสละหมด แม้แต่ลูกเมียพระองค์ก็ยังทรงสละเลย กับสมบัติแค่นี้ทำไมพระองค์ไม่ได้ทรงสอน เพียงแต่ว่ามันก็มีหลายระดับเท่านั้น การให้ทานแบบธรรมดาทั่วไปก็มี แบบอุกฤษฏ์ที่เป็นของโพธิสัตว์ก็มี สำหรับผู้ที่จะมุ่งสู่ธรรมขั้นสูงพระองค์ก็ทรงสอนให้สละหมด พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม พระองค์ทรงสอนแต่คนไม่ฟังกัน

 

ถาม  เขาบอกว่าไม่ได้สอนให้ไม่สู้ เพราะเราก็สู้มาพอสมควรแล้ว

 

ตอบ     สู้ด้วยเหตุด้วยผล พูดกันทำความเข้าใจกัน ว่าคุณทำอย่างนี้ไม่ถูกนะ คุณควรจะทำอย่างนี้ เรามาตกลงกันได้ไหม ถ้าเขาบอกไม่พูดด้วย ก็แล้วไป ก็จบ ไม่ต้องไปฟ้องศาล ไม่ต้องไปทำอะไร คิดเสียว่าเป็นเงินที่สูญไปก็แล้วกัน ยกให้เขาไป ทำบุญไป แค่นี้ก็จบ จบแปลว่ายุติ ยุติธรรมก็คือมันจบ คำว่ายุติธรรมไม่ได้หมายความว่าต้องเอาของเราคืนมาถึงจะยุติธรรม ไม่ใช่ ยุติธรรมก็คือเมื่อเหตุผลมันมาถึงจุดนั้น มันต้องหยุดตรงนั้น ก็ต้องหยุดตรงนั้น ถ้าปลงได้ก็ไม่เครียด ให้ทนายเขาทำหนังสือมอบอำนาจไป สละเงินก้อนนี้ไป ไม่ขอรับผิดชอบ ถึงแม้จะได้มาก็ไม่ต้องการ ใครอยากจะได้ก็เอาไป คงจะมีวิธีหรอก ถ้าต้องการจะสละมันจริงๆ ถ้าไม่มีวิธีก็ตัดที่ใจก็แล้วกัน อะไรมันจะเกิดกับเราก็ถือว่ามันเป็นเคราะห์กรรมของเรา ที่มีส่วนร่วมทำมา เป็นกรรมที่ทำมาร่วมกัน อย่างไรมันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอยู่ดี มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ ถ้าเข้าใจถึงคำว่าแก่ เจ็บ ตายแล้ว มันไม่มีอะไรที่จะต้องมากังวล อะไรที่มันจะเกิดมันก็ไม่เลวร้ายไปกว่าความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่มันจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แล้วเมื่อเราพร้อมที่จะรับความแก่ ความเจ็บ ความตายแล้ว อะไรๆเราก็รับได้ หมด เพียงแต่อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรม ไปขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะจะทำให้ผู้แพ้เกิดอาฆาตพยาบาท ผู้ชนะก็ดีใจไป ถ้าไม่เอาเรื่องเอาราว เรื่องมันก็จบ

 

ถาม  แต่ลูกต้องหาวิธีอื่น ลูกพูดไม่ทัน

 

ตอบ  ได้ไป เวลาตายไปก็เอาไปไม่ได้

 

ถาม  คิดว่าให้เขาโกงทำไม เขาโกงเอาเปรียบทุกอย่าง เสียตังค์ให้คนเลวทำไม อะไรอย่างนี้

 

ตอบ    คิดผิดอย่าไปคิดอย่างนั้น คิดเสียว่าได้ไปก็เอาไปไม่ได้ ตายไปก็เอาไปไม่ได้ เราเอามาตายไปเราก็เอาไปไม่ได้อยู่ดี เอาไปได้แต่จิตที่ทารุนโหดร้ายต่อกันและกัน คิดอย่างนี้ก็ผิดแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า คิดว่าเขาเอารัดเอาเปรียบเรานี้ทำให้เกิดโทสะ ทำให้เกิดความพยาบาทขึ้นมา เราควรคิดว่าเป็นบุญเป็นกรรม เมื่อถึงเวลาจะต้องถูกเขาโกง ก็ถือว่าเป็นกรรมของเราไป ถือว่าเป็นโอกาสที่เราได้ทำบุญก็แล้วกัน เพราะบางทีเงินที่เราได้มานี่ก็เอาไปทำบุญอยู่ดี ก็ทำเสียตอนนี้เลย ก็หมดเรื่อง

 

ถาม  ลูกก็บอกว่าได้มาลูกก็ไม่เอาส่วนนี้อยู่แล้ว ถ้าได้มาก็จะเอาไปทำบุญ เอาไปทำกุศลดีกว่าที่จะให้เขาโกง

 

ตอบ    ไม่ดีหรอก ทำแบบนี้ไม่มีความเมตตา ก็อย่างที่บอกว่าเมตตากับคนที่เรารักนี่มันง่าย แต่เมตตากับคนที่เราเกลียดนี่มันยาก แต่ถ้าทำได้จะได้บุญมาก เพราะจะได้ระงับความเกลียดให้หมดไปจากจิตจากใจ ต่อไปเราจะไม่เกลียดใคร จะมองคนทุกคนดีชั่วว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่ เจ็บ ตายด้วยกัน คนชั่วก็ถือว่าเป็นกรรมของเขา ที่ต้องมาทำความชั่ว ความชั่วที่เขาทำนี้ก็จะเป็นโทษกับเขา เราไม่ต้องไปสาปไปแช่งเขา การกระทำของเขาจะเป็นตัวที่สาปเขาเอง