กัณฑ์ที่ ๒๕๒       ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙

 

ใจไม่ดับ

 

 

 

เรื่องเกิดแก่เจ็บตายนั้น ต้องเป็นด้วยกันทุกๆคน จึงไม่ควรลืม ควรพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จะได้มีธรรมโอสถไว้ดูแลรักษาจิตใจ ถ้าไม่พิจารณาอยู่เรื่อยๆ พอเกิดขึ้นมาใจก็จะป่วย ป่วยกายแล้วไม่พอ ยังป่วยใจด้วย แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ก็เหมือนมีธรรมโอสถ จะรู้สึกเฉยๆ รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา รู้ว่าใจไม่ได้ป่วยไปกับกาย สิ่งที่ป่วยก็ต้องเป็นไปตามสภาพของเขา ไม่มีใครอยู่เหนือสภาพนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นปุถุชนธรรมดาหรือพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เรากราบไหว้บูชา ก็ต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ต่างกันที่จิตใจ ของท่านมีเกราะคุ้มกัน มีธรรมโอสถรักษาใจ ทำให้ใจไม่สะทกสะท้าน ไม่หวาดกลัว เพราะใจไม่ได้เป็นไปกับร่างกาย แต่ถ้าไม่ได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ความหลงก็จะหลอกให้ใจไปหลงคิดว่าเป็นกาย เวลากายเป็นอะไรใจก็เดือดร้อนไปด้วย คิดว่าใจเป็นไปกับร่างกาย เพราะใจอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข เวลาร่างกายป่วย ชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถไปหาความสุขได้ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็จะไม่ยึดไม่ติด ไม่หวังพึ่งอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข เพราะหาความสุขที่ไม่ต้องใช้ร่างกายก็ได้ ก็คือความสุขภายในใจที่มีรออยู่แล้ว เป็นเหมือนสมบัติที่ถูกโมหะอวิชชา ความหลงกลบฝังไว้ หน้าที่ของเราจึงต้องพยายามขุดเอาอวิชชาเอาโมหะความหลงให้ออกไปจากใจ เพื่อจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง คือความสงบใจ

 

ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตายจนจิตรับความจริงได้ ความสงบก็จะปรากฏขึ้นมา จะไม่รู้สึกอิดหนาระอาใจหรือท้อแท้ หรือไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป เพราะการพิจารณาเป็นการทำสมาธิไปในตัว แทนที่จิตจะฟุ้งซ่าน กลับจะสงบ ในเบื้องต้นอาจจะลำบากหน่อย เพราะมีกิเลสคอยต่อต้านอยู่ เวลาคิดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย จะรู้สึกไม่สดใสเลย คิดถึงเวลาที่จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วยทำอะไรไม่ได้ แล้วก็ต้องตายไปในที่สุด ถ้ายังมีกิเลส มีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆอยู่ ก็จะรู้สึกสูญเสีย ทำให้ไม่อยากคิด พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปคิดมัน เพราะคิดแล้วทำให้เกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมา ถ้าคิดแบบนี้แล้วแทนที่จะเกิดประโยชน์กลับเกิดโทษขึ้นมา เพราะจิตจะยิ่งถูกความหลง ความไม่รู้ครอบงำมากยิ่งขึ้นไป เพราะคนเราทุกคนควรจะรู้ความจริงของชีวิตเราว่าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ คือความจริงของชีวิตเรานั่นเอง ถ้ารู้ความจริงทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว รู้จักวิธีปฏิบัติต่อความจริงนี้แล้ว สักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็วเราก็จะไปถึงที่เดียวกันกับที่พระพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายได้ไปถึง นั่นก็คือนิโรธความดับของทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะใจหลง ใจไม่ยอมรับความจริง

 

ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆจนเห็นว่าไม่มีใครในโลกนี้ ทั้งตัวเราและผู้อื่น จะต้องตกอยู่ในสภาพเหมือนกัน เป็นธรรมดาของร่างกายที่จะต้องเป็นไป จิตใจก็เกิดความกล้าหาญขึ้นมา กล้าสู้และเผชิญกับความจริง จะไม่หวาดกลัว เมื่อไม่หวาดกลัวความทุกข์ก็ไม่มี คนเราที่กลัวกันก็กลัวความตาย กลัวความเจ็บกัน แต่ถ้าไม่กลัวเสียอย่างแล้ว ใจก็จะไม่หวั่นไหว  จะตั้งอยู่ในความสงบของสมาธิ มีความแข็งแกร่งเหมือนกับก้อนหินก้อนใหญ่ๆ ที่สามารถรับพายุที่จะพัดโหมกระหน่ำมา ไม่ว่าจะมีกำลังแรงมากน้อยเพียงไร ก็ไม่สามารถขยับหินก้อนนั้นได้ จิตใจที่มีความสงบ มีความนิ่งด้วยปัญญา จะไม่หวั่นไหวกับสภาพต่างๆ จะเผชิญกับมันได้ ไม่มีปัญหาอะไร อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อะไรจะดับก็ต้องดับ อะไรไม่ดับก็ไม่ดับ แต่เราไม่รู้ว่าอะไรดับ อะไรไม่ดับกัน เพราะใจเราหลง คิดว่าร่างกายดับแล้วทุกอย่างดับหมด ชีวิตเราดับหมด ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเราดับไปหมด แต่ยังมีตัวหนึ่งที่ยังไม่ดับ ก็คือใจนี้แหละ ใจไม่ดับ ร่างกายจะดับก็ดับไป แต่ใจก็ยังเป็นอกาลิโกอยู่ เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นอยู่ เป็นธาตุรู้ เป็นผู้รู้ แต่ขาดปัญญา ไม่สามารถแยกแยะตนเองออกจากสิ่งที่คลุกเคล้าด้วย เมื่อไปคลุกเคล้ากับสิ่งที่มีเกิดมีดับ ก็เลยคิดว่าตนเองเกิดดับไปด้วย

 

ถ้าได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำไปปฏิบัติ พิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่เรื่อยๆ ก็จะมีธรรมะมีอาวุธที่จะแยกแยะใจให้ออกจากสิ่งที่ใจไปคลุกเคล้าด้วย เมื่อแยกออกมาได้แล้ว ก็จะรู้ว่าใจไม่ได้เป็นอะไรตามไปด้วย ร่างกายจะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่อย่างไร ใจก็ไม่ได้เป็นตามร่างกาย แต่ใจมักจะหลง เหมือนคนดูฟุตบอล ชอบเชียร์ ทั้งๆที่ไม่รู้จักคนเล่นด้วยซ้ำไป ถ้าฝ่ายที่เชียร์ชนะก็ดีอกดีใจตามไปด้วย ถ้าแพ้ก็เสียอกเสียใจ ทั้งๆที่ไม่ได้อะไรจากการแพ้การชนะเลย แต่ใจชอบไปยุ่งกับเรื่องต่างๆแล้วก็ไปยึดติด เวลาชอบใครก็เชียร์เขา อยากให้เขาได้ดิบได้ดี มีความสุขมีความเจริญ ถ้าไม่ชอบก็สาปแช่งให้เขาเป็นไป นี่คือเรื่องของใจที่หลง ไม่รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีทั้งเจริญและเสื่อมอยู่ควบคู่กันไป เวลาสิ่งที่เราเชียร์เสื่อมลงไปก็เสียใจ เวลาสิ่งที่เราไม่ชอบมีความเจริญก็ไม่พอใจ เพราะลืมไปว่าความเจริญก็มีขอบเขต เมื่อเจริญแล้วสักวันหนึ่งก็ต้องเสื่อมไป ไม่ต้องไปสาปแช่งเดี๋ยวก็เสื่อมไปเอง

 

นี่คือปัญหาของพวกเรา คือไม่ค่อยพิจารณาความเสื่อมกัน ส่วนใหญ่จะมองแต่ความเจริญกัน ได้อะไรมาก็อยากจะให้มันเจริญ เปิดร้านเปิดบริษัทก็อยากจะให้เจริญอย่างเดียว ไม่คิดว่าจะต้องเสื่อมบ้าง ไม่ว่าบริษัทจะใหญ่โตขนาดไหนสักวันหนึ่งก็ต้องปิดตัวลง จะมีตำแหน่งสูงขนาดไหนสักวันหนึ่งก็ต้องหมดไปเพราะกิเลสจะคอยกีดกันไม่ให้เราคิดถึงความเสื่อม เมื่อไม่ได้พิจารณาธรรมะ ก็เหมือนกับไม่มีอาวุธไว้ต่อสู้ เวลาความเสื่อมปรากฏขึ้นมาคืบคลานเข้ามา ความทุกข์ก็จะรุมทำร้ายจิตใจ ให้เศร้าโศกเสียใจ แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า ชีวิตของคนเรามีทั้งขึ้นมีทั้งลง มีทั้งสูงมีทั้งต่ำ แล้วก็เตรียมตัวรับกับสภาพที่จะเกิดขึ้น ก็จะไม่ทุกข์ ไม่เศร้าโศกเสียใจ เหมือนกับทหารที่ต้องซ้อมรบอยู่เรื่อยๆ เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีสงครามเกิดขึ้น ถ้าไม่เตรียมตัวไว้ เวลาเกิดสงครามขึ้นมา ก็จะสู้เขาไม่ได้ ใจของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ได้พิจารณาความเสื่อมอยู่เรื่อยๆ เวลาพบกับความเสื่อมก็จะไม่รู้ว่าต้องทำใจอย่างไร

 

ใจมักจะถูกความอยากรุมเร้าอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่สามารถทำตามความอยากได้ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณาอริยสัจข้อแรก คือทุกขสัจ เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ถ้าพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้ว จะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับกับสภาพ จิตใจจะได้ไม่หวั่นไหวหวาดกลัวแต่อย่างใด จะอยู่อย่างสบายอกสบายใจ ไม่ยึดติดกับอะไร เพราะรู้ว่าสิ่งต่างๆต้องจากเราไป หรือเราจะต้องจากมันไป การไปยึดไปติดเป็นเหตุของความทุกข์ ความไม่สบายใจ สังเกตดูสิ่งหนึ่งสิ่งใดบุคคลหนึ่งบุคคลใด ที่เราไม่มีความผูกพันด้วย ไม่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ยึดติด เวลาเป็นอะไรไป ก็ไม่กระทบกับเรา แต่ถ้ามีความผูกพัน มีความยึดติด เวลาสิ่งนั้นสิ่งนี้ บุคคลนั้นบุคคลนี้ มีอันเป็นไป เราก็วุ่นวายใจ เศร้าโศกเสียใจ คนที่ไม่มีธรรมะอยู่ในใจเลย จะไม่อยากอยู่ต่อไปเวลาสูญเสียสิ่งที่ตนรักไป เช่นเสียคู่ครองที่เคยอยู่ด้วยกันมาตลอด เมื่อเสียไปแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตของตนก็หมดไปด้วย เคยสังเกตเห็นอยู่เรื่อย คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันมาเป็นเวลายาวนาน พอคนใดคนหนึ่งเสียไป อีกคนหนึ่งก็จะเสียตามไปด้วยในเวลาไม่นาน เพราะความผูกพัน ความยึดติด เหมือนกินอาหารที่เคยเติมเครื่องปรุงต่างๆ พอวันไหนไม่มีเครื่องปรุงก็ไม่อยากจะกินเลย เพราะติดกับรสชาติ อย่างคนที่เป็นเบาหวานก็รู้อยู่ว่ากินของหวานมากไม่ได้ แต่ก็อดไม่ได้ เพราะความเคยชิน

 

จิตนี่เวลาทำอะไรแล้วจะติดนิสัย เคยทำอะไรก็จะทำอย่างนั้น ถ้าไม่เคยทำก็ไม่ทำ เคยดื่มกาแฟตอนเช้าก็ต้องหากาแฟมาดื่มทุกเช้า คนที่ไม่ดื่มก็ไม่เดือดร้อนอะไร ตื่นขึ้นมาก็ไม่ต้องหามาดื่ม ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ถ้าไม่อยากจะมีความทุกข์ใจ แต่อยากมีความสุขใจที่แท้จริง ก็ต้องตัดความผูกพันกับทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ รูปต่างๆ ที่พวกเรามีความผูกพันอยู่ตลอดเวลา แทบจะอยู่ห่างไกลจากมันไม่ได้เลย จึงเข้าวัดกันไม่ค่อยได้ เวลาไปอยู่ถือศีลตามวัดป่าวัดเขาที่ไกลจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เหมือนไปตกนรก ไปไม่ได้เพราะเหมือนขาดลมหายใจ ขาดอาหารใจ ต้องมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เคยสัมผัสอยู่เป็นประจำ มาคอยหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยกลายเป็นทาส  มีความสุขเล็กๆน้อยๆจากการที่ได้เสพ ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นทาส เหมือนคนที่ติดยาเสพติด ถ้าไม่มีให้เสพก็ไม่มีความสุขใจ ทั้งที่โดยธรรมชาติของใจนั้น ไม่ต้องมีอะไรก็มีความสุขได้ จึงต้องตัดความผูกพัน ความยึดติดกับสิ่งต่างๆให้ได้

 

หน้าที่ของเราก็คือการปลดเปลื้องความผูกพันต่างๆเหล่านี้ ให้ออกไปจากจิตจากใจ เปลี่ยนนิสัยใหม่ เคยติดเคยชอบ เคยดื่มเคยสัมผัสอะไร ก็ควรตัดไปเสีย หัดอยู่แบบไม่ต้องมีอะไร แบบพระทั้งหลายที่มีเพียงสิ่งที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาชีวิตร่างกายเท่านั้น สิ่งที่เป็นส่วนเกิน ที่ไม่จำเป็นก็ตัดมันไป พระที่มีความเคร่งครัดในการปฏิบัติจะฉันมื้อเดียว หลังจากฉันแล้วก็ไม่ฉันอะไรอีกนอกจากน้ำเปล่า เพราะกินเพื่ออยู่จริงๆไม่ได้อยู่เพื่อกิน พอให้ร่างกายมีอาหารหล่อเลี้ยงให้อยู่ได้ เพื่อจะได้เอาร่างกายมาทำหน้าที่เจริญธรรมะ พิจารณาธรรมะ ทำจิตใจให้สงบ เพื่อจะได้มีอาวุธมีเครื่องมือไว้ปราบกิเลส ความยึดมั่นถือมั่นต่างๆให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ เมื่อไม่มีการติดอยู่กับอะไรแล้ว สิ่งต่างๆที่เคยติดอยู่ก็หมดความหมายไป เคยติดบุหรี่แล้วเลิกบุหรี่ได้ บุหรี่ก็หมดความหมายไป สุราก็เช่นเดียวกัน กาแฟหรือของรับประทานต่างๆที่ไม่จำเป็น ถ้าจะรับประทานก็รับประทานพร้อมกับอาหารไปเลย พอผ่านไปแล้วก็จบ เป็นการควบคุมไม่ให้จิตใจไปยึดไปติดกับสิ่งที่ไม่จำเป็น บุคคลต่างๆก็ไม่จำเป็นไปยึดไปติด อยู่คนเดียวได้ดีกว่าอยู่ ๒ คน อยู่คนเดียวไม่มีปัญหา อยู่ ๒ คนแล้วปัญหาเกิด ทะเลาะกัน ขัดใจกัน ห่วงใยกัน ถ้ารักกันก็ห่วงใยกัน ถ้าทะเลาะกันก็เบื่อกัน มีแต่ปัญหาทั้ง ๒ ด้าน แต่ถ้าอยู่คนเดียวได้ก็ไม่มีปัญหากับใคร ที่อยู่ไม่ได้ก็เพราะใจยังยึดติดอยู่นั่นเอง

 

เราจึงต้องต่อสู้ด้วยการปฏิบัติธรรม สร้างความสุขภายในใจ ด้วยการขุดเอากิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง อวิชชา ตัณหาต่างๆ ที่บดบังความสุขใจให้หมดไป ถ้าไม่ปฏิบัติเราก็จะไม่ได้พบความสุขที่แท้จริง จะพบแต่ความสุขแบบสุกๆดิบๆ สุขแล้วเดี๋ยวก็ทุกข์ ไปเที่ยว ไปกิน ไปดู ไปฟังอะไรมา ก็มีความสุข พอกลับมาบ้านแล้วก็ผ่านไป วันต่อไปก็จะหิว จะอยาก จะต้องการอีก แต่ถ้าได้สัมผัสความสุขที่เกิดจากความสงบแล้วจะไม่หิว เพราะจะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ จึงไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาอาศัยสิ่งต่างๆภายนอกมาให้ความสุข ที่มีมากน้อยเพียงไรก็ต้องคอยเปลี่ยนอยู่เรื่อย เพราะไม่เที่ยง ไม่จีรังถาวรนั่นเอง ได้อะไรมาก็ใช้ไปสักระยะหนึ่งก็เสียก็พัง ก็ต้องไปหามาใหม่ จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เคยเป็นอย่างนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่เรามาเกิดก็เคยทำอย่างนี้มาก่อน  เพราะเป็นใจเดียวกัน กิเลสตัณหาความอยากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ก็ตัวเดียวกัน ที่อยู่ในใจของเรา ไปเกิดที่ไหน เป็นอะไร เป็นเทพ เป็นมนุษย์ เป็นเดรัจฉานก็มีกิเลสตัวเดียวกัน มีความผูกพันที่เหมือนกัน

 

ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง ก็ต้องมีความเด็ดเดี่ยว มีความกล้าหาญ กล้าที่จะตัดความสุขเล็กๆน้อยๆที่มีอยู่ แล้วบากบั่นต่อสู้สร้างความสุขใจขึ้นมา ที่ยากก็เพราะไม่เคยทำ ไม่ชำนาญ เวลาต้องทำอะไรที่ไม่เคยทำ จะไม่ถนัด แต่พอฝึกทำไปเรื่อยๆแล้วต่อไปก็จะถนัด แล้วก็จะกลายเป็นของง่ายไป เหมือนกับถนัดมือขวาแล้วต้องมาใช้มือซ้าย จะรู้สึกลำบากไม่ค่อยถนัด แต่ถ้าจำเป็น สมมุติว่ามือขวาเสียไปใช้ไม่ได้ เหลือแต่มือซ้าย ก็ต้องหัดใช้จนได้ การหาความสุขภายในจิตใจ ทำจิตใจให้สงบก็เป็นแบบเดียวกัน พวกเราถนัดสร้างความฟุ้งซ่าน สร้างความวุ่นวายยู่ตลอดเวลา ชีวิตของเราจึงมีแต่ความฟุ้งซ่าน มีแต่ความวุ่นวายอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าเราเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราไม่เคยหยุดคิดดูเลยว่าใจของเราเป็นอย่างไร อะไรทำให้สุข อะไรทำให้ทุกข์  ให้ฟุ้งซ่าน ให้วุ่นวาย มีแต่ปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆฉุดลากเราไป ให้ความอยากต่างๆพาไป ใจจึงกลิ้งเหมือนกับลูกฟุตบอลที่ถูกนักเตะฟุตบอล ๒ ฝ่าย คอยแย่งเตะกัน เตะไปเตะมา ไม่ให้อยู่นิ่งเฉย

 

เหตุการณ์ต่างๆในชีวิตของเราก็คอยเตะใจให้ไปทำโน่นทำนี่ ไปเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทำมาหากิน ดูแลคนนั้นคนนี้ พอไม่มีอะไรต้องทำก็อยู่เฉยๆไม่ได้ ก็หาเรื่องทำอีก ไปดูหนังไปเที่ยว ไปที่นั่นมาที่นี่ ใจจึงไม่มีเวลาที่จะหยุดนิ่ง เหมือนกับลูกฟุตบอลที่ไม่เคยอยู่นิ่ง ถูกฝ่ายนั้นเตะ แล้วก็ถูกฝ่ายนี้เตะ เตะไปเตะมาอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่กำหนดเป้าหมายชีวิตของเรา ว่าจะไปทางไหน ปล่อยไปตามยถากรรม มีแต่หวังให้ดีขึ้นเจริญขึ้น แต่จะดีขนาดไหนเจริญขนาดไหน ในที่สุดก็ต้องจบอยู่ดี เพราะเป็นอนิจจัง มีเกิดมีดับ มีเจริญแล้วก็มีเสื่อม ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุขชนิดใดก็ตาม ได้มามากน้อยเพียงไรสักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป จากเราไป หรือเราจากมันไป ถ้าไม่ได้มาเจอพระพุทธศาสนาเราจะไม่รู้เรื่องของเราเลย จึงเป็นบุญวาสนาของเราที่ได้มาเจอศาสนา มีบุญเก่าคอยผลักให้มาทางนี้กัน ถึงแม้จะไม่ถนัด ถึงแม้จะลำบากตามความรู้สึกของจิตใจ แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ และควรทำให้มากยิ่งขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติธรรม ที่จะทำให้ศรัทธาแก่กล้า ให้มีกำลังที่จะกล้าตัด กล้าสละสิ่งต่างๆ ความสุขต่างๆที่มีอยู่ เพื่อแลกกับความสุขที่ดีกว่า

 

การทำบุญทำทาน การรักษาศีลนี้ก็ดี แต่ไม่พอ ต้องปฏิบัติธรรมด้วย เมื่อได้ฝึกทำสมาธิจนจิตรวมลงสู่ความสงบ แม้จะสงบเพียงชั่วขณะเดียวก็ตาม จะเห็นเลยว่า ความสุขที่ได้จากการปฏิบัติกับความสุขที่เคยมีอยู่นั้นเทียบกันไม่ได้เลย เหมือนฟ้ากับดิน จะทำให้มีกำลังจิตกำลังใจ มีความกล้าหาญที่จะตัดสิ่งต่างๆที่ให้ความสุขกับเรา เพราะรู้แล้วว่าสู้สิ่งที่จะได้มาไม่ได้ ถ้าได้ปฏิบัติจนเห็นผลแล้ว แม้เพียงชั่วขณะเดียว ก็จะจุดประกายแห่งความศรัทธาความเพียรให้แก่กล้า ที่จะทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่ากล้าทำมาก่อน กล้าตัดกล้าละ กล้าอยู่แบบขอทาน กล้าอยู่แบบไม่มีอะไร อยู่ที่ไหนก็ได้ นอนที่ไหนก็ได้ กินอะไรก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ตอนนี้พวกเรายังไม่ได้พบกับความสุขแบบนั้น ยังติดอยู่กับความสุขเล็กๆน้อยๆ กับการกินการอยู่ พอไปอยู่วัด อยู่แบบเรียบๆง่ายๆ กินตามมีตามเกิด จึงไม่ดูดดื่มใจ ไม่มีอะไรดึงดูดให้ไป เพราะยังไม่ได้สัมผัสกับความสุขที่มีอยู่ภายในใจ จึงอยากจะให้มุ่งสู่ความสุขใจนี้ พยายามนั่งทำสมาธิให้ได้ มีเวลาว่างก็พยายามนั่งอยู่เรื่อยๆ เวลาทำอะไรก็ให้มีสติกำกับอยู่เสมอ พยายามดึงจิตไว้ อย่าให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆที่ไม่จำเป็น ขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ ก็ให้อยู่กับเรื่องที่กำลังทำก็พอ ให้รู้อยู่กับเรื่องที่กำลังทำ เรื่องที่ผ่านไปแล้วเมื่อวานนี้หรือเมื่อสักครู่นี้ ก็อย่าไปคิด เรื่องที่จะตามมาต่อไปข้างหน้า เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็อย่าไปคิด ให้อยู่กับปัจจุบัน ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะมีเครื่องมือคอยดึงจิตไว้

 

ถ้ามีสติแล้วเวลาทำสมาธิก็จะสงบง่าย ถ้าไม่มีสติก็เหมือนกับบังคับให้ลิงนั่งเฉยๆ บังคับอย่างไร พูดอย่างไร บอกอย่างไร มันก็ไม่ฟัง แต่ถ้าเอาเชือกมาผูกมันไว้กับเสา ฟังหรือไม่ฟังมันก็ไปไหนไม่ได้ นอกจากเชือกเส้นมันเล็ก แล้วแรงของลิงมีมากกว่า เดี๋ยวมันก็ดึงเชือกให้ขาดได้ เชือกก็เปรียบเหมือนกับสติที่จะคอยดึงจิตไว้ จิตก็เป็นเหมือนลิง เวลาฝึกใหม่ๆยังเป็นเชือกกล้วยอยู่ พอจิตกระตุกปั๊บหนึ่งก็ขาดแล้ว พอให้อยู่กับพุทโธๆได้พักเดียว ก็คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้แล้ว แสดงว่าสติขาดไปแล้ว เชือกขาดไปแล้ว ก็ไม่เป็นไร ก็ดึงกลับมาใหม่ พอรู้ว่าไม่ได้อยู่กับพุทโธแล้ว ยังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็กลับมาหาพุทโธใหม่ ถ้าไม่ชินกับพุทโธใหม่ๆจะรู้สึกว่าเหนื่อย เพราะต้องบริกรรมไปคำเดียว ถ้าชอบสวดมนต์ก็สวดมนต์ไปก่อนก็ได้ ให้มีสติอยู่กับบทสวดมนต์ แต่ไม่ต้องสวดออกเสียง ไม่ต้องนั่งพนมมือ ไม่ต้องนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิไป แทนที่จะใช้พุทโธก็ใช้บทสวดมนต์แทน สวดไปภายในใจ สวดไปเรื่อยๆจนรู้สึกอยากจะหยุด ก็บริกรรมพุทโธต่อ หรือดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ บางทีสวดๆไปแล้วก็วูบนิ่งไปเลยก็มี ถ้าจิตไม่ไปคิดเรื่องอื่น อยู่กับการสวดมนต์อย่างเดียว

 

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือต้องตั้งสติอยู่เรื่อยๆ ถ้าจะรอตั้งสติตอนที่นั่งสมาธิก็จะไม่พอ เราต้องตั้งสติตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย ให้สติเป็นเหมือนยามเฝ้านักโทษ คอยเฝ้าดูไม่ให้คลาดสายตาไป ให้สติอยู่กับร่างกายตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ให้อยู่ตรงนั้น ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วจะมีสติ มีกำลังที่จะต่อสู้กับความเผลอได้ ให้อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ ก็จะอยู่ ถึงแม้จะเผลอไปบ้าง พอรู้ตัวก็ดึงกลับมาได้เลย ต่อไปก็จะอยู่อย่างต่อเนื่อง แล้วก็จะสงบลงไป เมื่อจิตคิดปรุงน้อยลงไป ความสงบก็จะมีมากขึ้น ที่ไม่สงบก็เพราะจิตไม่หยุดคิด คิดเรื่องนู้นคิดเรื่องนี้ไปเรื่อย แต่ถ้าคิดแบบสวดมนต์อย่างนี้ไม่เป็นไร คำสวดมนต์หรือพุทโธเป็นความคิดที่จะทำให้จิตสงบ ความคิดมี ๒ ลักษณะ คิดแล้วให้เกิดความฟุ้งซ่านและคิดแล้วให้เกิดความสงบ คิดพุทโธ คิดบทสวดมนต์ คิดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย เกิดแล้วต้องแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา คิดไปเรื่อยๆ เราก็ตาย คนนั้นก็ตาย คนนี้ก็แก่ คนนี้ก็เจ็บ คนนั้นก็ตายพิจารณาไปตรงไหน ก็จะเห็นว่ามีอยู่กับทุกๆคน ถ้าพิจารณาแบบนี้ คิดแบบนี้ เรียกว่าเป็นมรรค ก็จะทำให้จิตสงบ ดังที่หลวงตาเขียนในหนังสือว่า ปัญญาอบรมสมาธิ คือคิดในทางไตรลักษณ์นี้เอง คิดไปในทางอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะทำให้จิตสงบได้ เอาความคิดทางด้านปัญญามาทำจิตให้สงบ ถ้าไม่ถนัดกับการบริกรรมพุทโธ ไม่ถนัดกับการสวดมนต์ หรือดูลมหายใจเข้าออก ก็พิจารณาดูความไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วจิตมันก็จะคลายความกังวล คลายความห่วงใย เมื่อไม่มีความกังวลความห่วงใย ก็จะสงบตัวลง

 

นี่คือวิธีทำจิตให้สงบ ต้องมีสติเป็นพื้นฐานคอยกำกับจิต ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ถ้าจะคิดก็คิดในทางธรรมะ คิดเรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วรับรองได้ว่า ไม่ช้าก็เร็วจิตจะต้องสงบลง เมื่อสงบแล้วก็จะมีกำลังจิตกำลังใจ เพราะความสงบเป็นความมหัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เหมือนกับเวลาแบกของหนักๆไว้บนไหล่ แล้วเอาวางลง ได้พักได้กินน้ำแล้ว จะรู้สึกเบาอกเบาใจ ชื่นอกชื่นใจ ทุกวันนี้เรายังหนักใจอยู่ตลอดเวลา ไม่เรื่องนั้นก็เรื่องนี้ ถ้าไม่มีเรื่องก็ไปหาเรื่องมาแบกกันเพราะอยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องหาเรื่องอยู่เรื่อยๆ จิตถ้าไม่ได้คิดแล้วจะรู้สึกว่าขาดอะไรไป หยุดไม่เป็น จึงต้องมาฝึกทำจิตให้สงบ เมื่อนิ่งแล้วก็จะรู้ว่าความสุขอยู่ที่ไหน จะเข้าใจความหมายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า สุขที่เหนือกว่าความสงบนั้นไม่มี ความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงนี้ เป็นความสุขที่อยู่กับเราตลอดเวลา ไม่ต้องไปหาอะไรมาให้ความสุขกับเรา เพราะหาอะไรมาก็เท่ากับหาความทุกข์มาด้วย เพราะเป็นเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งก็เป็นความสุข อีกด้านหนึ่งก็เป็นความทุกข์ เพราะด้านหนึ่งเจริญ อีกด้านหนึ่งก็เสื่อม มาคู่กัน

 

นอกจากการทำบุญให้ทาน การรักษาศีลแล้ว ก็ควรฝึกทำสมาธิ ฝึกตั้งสติอยู่เรื่อยๆ มีโอกาสก็ไปอยู่วัดปฏิบัติ วัดที่มีความสงบเงียบ แล้วก็หัดอยู่ตามลำพัง เพราะการฝึกสตินี้ ถ้าอยู่ด้วยกันหลายๆคนแล้วจะทำไม่ได้ เพราะจิตจะต้องไปอยู่ที่คนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ถ้าอยู่คนเดียวแล้วก็ไม่มีที่จะไป ไม่มีอะไรมาดึงจิตไป นอกจากความคิดในใจ บางทีไปอยู่ในป่าในเขาแล้ว ก็ยังอดที่จะคิดถึงบ้านไม่ได้ คิดถึงลูก คิดถึงสามี คิดถึงภรรยาไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังพอดึงไว้ได้ ต่อสู้ได้ แต่ถ้ามีคนอยู่ร่วมกันนี้ เดี๋ยวก็ชวนกันคุย ทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้ ก็จะดึงความสนใจไปจากตัวเรา ทำให้ขาดสติไป จึงต้องพยายามหาที่สงบสงัดวิเวกอยู่คนเดียว เมื่อได้ฝึกทำแล้ว จะมีนิสัยมาทางนี้ ต่อไปเวลาอยู่กับใครก็ยังดึงใจเราไว้ได้ ไม่ลอยตามเขาไป ถ้าลอยไปบ้างก็แค่ชั่วขณะหนึ่ง เพื่อให้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรจำเป็นจะต้องรู้ เมื่อรู้แล้วก็กลับมาอยู่ที่เดิม แต่ในเบื้องต้นพอไปรับรู้เรื่องแล้วก็จะไหลไปเลย เป็นลูกโซ่ไปเลย เห็นคนนั้นปั๊บก็คิดถึงเรื่องของเขา ปัญหาของเขา สามีของเขา ภรรยาของเขา ลูกของเขา ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปเลย แต่ถ้าได้ฝึกทำสติจนเป็นแล้ว ต่อไปเวลาเห็นใครพอรู้ว่าเป็นใครก็จบ  แล้วก็ดึงกลับมาอยู่ที่ตัวเรา นอกจากมีความจำเป็น มีธุระที่จะต้องคิดหรือพูดคุยอะไรกัน ก็ทำไป แต่เมื่อเสร็จแล้วก็เหมือนกับปิดสวิตช์ไฟ เวลาเข้าห้องน้ำก็เปิดไฟ พอเสร็จธุระแล้วออกจากห้องน้ำก็ดับไฟ ไม่เปิดไฟทิ้งไว้

 

จิตก็เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่เคยฝึกมาก่อนก็จะไหลไปกับเรื่องต่างๆตลอดเวลา แต่ถ้าได้ตั้งสติอยู่เรื่อยๆแล้ว ต่อไปจะไม่ไหลไปตามกระแสของเรื่องต่างๆที่มากระทบมาสัมผัสกับใจ ใจจะไม่แกว่งไปมาก จะไม่ฟุ้งซ่าน เวลาจะทำให้สงบก็จะง่าย เพราะได้ทำไว้ครึ่งหนึ่งแล้วในขณะที่ยังไม่ได้นั่งสมาธิ ในขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ ก็มีสติอยู่กับกิจกรรมที่ทำอยู่ อย่างนี้ก็ถือว่ากำลังทำสมาธิแบบหลวมๆ เป็นรองพื้นไว้ก่อน พอมีเวลามีโอกาสอยู่ตามลำพัง ก็กำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จิตก็จะไม่ไปไหน จะอยู่กับอารมณ์นั้น ไม่นานก็สงบ จะสงบมากสงบน้อยก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติมามาก ปฏิบัติอย่างช่ำชอง ก็จะสงบมากสงบนาน ก็เหมือนกับการรับประทานอาหาร ถ้ารับประทานน้อยก็อิ่มน้อย ถ้ารับประทานมากก็อิ่มมาก ถ้าปฏิบัติมากๆและปฏิบัติถูก คือมีสติอยู่กับอารมณ์ที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง ก็จะสงบได้ง่ายและนาน นี่คือตัวสำคัญที่จะจุดประกายแห่งศรัทธาความเพียรให้เกิดขึ้นมา เพราะรู้แล้วว่า รางวัลที่จะได้รับจากการปฏิบัติ ที่ลำบากยากเย็นนี้มันคุ้มค่า เหมือนกับซื้อล็อตเตอรี่ ถึงจะไม่เคยถูกเลย แต่ก็รู้ว่าถ้าถูกเพียงครั้งเดียวก็คุ้มค่า ซื้อทีละร้อยสองร้อย แต่ถูกทีได้เป็นล้าน ทำให้มีกำลังใจที่จะซื้ออยู่เรื่อยๆ บางทีซื้อมาตั้งยี่สิบปีสามสิบปีก็ยังไม่เคยถูก แต่ก็ไม่ถอย เพราะยังมีความหวังอยู่

 

ฉันใดการบำเพ็ญสมาธิก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน การทำจิตใจให้สงบมีคุณค่ามาก เพียงแต่เราไม่เห็นเท่านั้นเอง ก็เลยทำให้ไม่มีกำลังจิตกำลังใจ แต่ถ้าได้เห็นผลแม้แต่ครั้งเดียวแล้ว ต่อไปไม่ต้องมีใครมาชวน ไม่ต้องมีใครมาบังคับ จิตจะเรียกร้องของมันเอง อยากจะทำ มีฉันทะ มีวิริยะตามมา จึงต้องพยายามทำให้ได้ เมื่อทำได้แล้วต่อไปก็จะสบาย จะมีความสุข มีความรื่นเริงใจ ไม่มีอะไรจะสุขเท่ากับการปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติได้แล้วมีแต่จะทำให้ใจเบา มีความสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ความทุกข์ความกังวลใจ ความเดือดเนื้อร้อนใจต่างๆจะถอยออกไปจากจิตจากใจ ไม่เหมือนกับสิ่งอื่นๆในโลกนี้ ต่อให้ได้มามากเท่าไหร่ ความทุกข์ความกังวลใจก็ไม่ได้น้อยถอยลงไป มีแต่เพิ่มขึ้นตามสิ่งที่มีนั่นแหละ มีอะไรก็ต้องกังวล ต้องห่วงต้องหวง แต่มีความสงบมากน้อยเท่าไร ความกังวลความห่วงความหวงก็น้อยลงไปเรื่อยๆ จนไม่หลงเหลืออยู่เลย จึงขอให้ท่านทั้งหลายจงมีความมั่นใจในการบำเพ็ญ สิ่งที่ทำมานี้ก็ถูกแล้ว การให้ทานก็ถูกแล้ว ไม่ควรเสียดายข้าวของเงินทองที่มีเหลือใช้ ไม่ควรเอาไปใช้ในทางที่จะส่งเสริมให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ควรจะใช้ไปในทางที่สกัดกั้น คือการทำบุญให้ทาน ส่วนการรักษาศีลก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าต้องการรักษาให้ใจไม่ให้ไปมีเรื่องมีปัญหา เวลาทำอะไรผิดศีลผิดธรรมแล้วใจจะวุ่นวาย มีความรุมร้อน จึงต้องรักษาศีลไป ทำทานไป แล้วก็ควรจะภาวนา ฝึกทำสมาธิ ฝึกตั้งสติอยู่เรื่อยๆ ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่ง ก็จะได้สัมผัสกับความสงบที่เกิดจากการปฏิบัติ แล้วต่อไปก็จะสบาย จะปฏิบัติไปได้เรื่อยๆ เวลาประสบกับความทุกข์ต่างๆ เช่นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็จะไม่สร้างความวุ่นวายให้กับจิตใจ จิตจะนิ่ง เป็นเหมือนก้อนหิน ไม่มีอะไรสามารถทำให้หวั่นไหวได้ ก็อยากจะชวนเชิญให้พยายามปฏิบัติตามทางนี้ เป็นทางเดียวที่จะพาไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญอย่างแท้จริง จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้

 

ถาม   ยากจะให้ท่านอาจารย์เทศน์เกี่ยวกับคู่สามีภรรยานะคะ พอดีน้องอยู่ต่างประเทศ มีความทุกข์มาก เขาแต่งงานกับฝรั่งมาตั้ง ๒๐ ปีค่ะ ฝรั่งเขาขอเลิก เขาทำใจไม่ได้ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์จะมีข้อคิดอะไรที่ทำให้เขาทำใจได้ ส่งหนังสือไปให้ก็ไม่มีกำลังใจที่จะอ่านค่ะ

 

ตอบ     ก็เหมือนกับพาคนไข้ไปหาหมอ แต่สายไปเสียแล้ว หัวใจหยุดเต้นไปแล้ว หมอก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างพาคนที่เป็นโรคหัวใจวายไปโรงพยาบาล หมอก็ปั๊มหัวใจให้ แต่ก็ไม่ฟื้น ก็อาจจะเป็นแบบนี้ก็ได้ หมอก็ทำเต็มที่แล้ว ยาก็ให้แล้ว หนังสือก็ให้ไปอ่านแล้วแต่ไม่อ่าน ก็เหมือนคนไข้ไม่รับยา ให้กินยาแต่ไม่ยอมกิน เมื่อยาไม่เข้าไปในร่างกาย ก็ไม่สามารถที่จะรักษาโรคได้ สงสารได้ แต่อย่าไปทุกข์ เพราะไม่ได้แก้ปัญหาของเขา กลับสร้างปัญหาให้กับเรา คือสร้างความทุกข์ให้กับเรา ก็อย่างที่เทศน์เมื่อสักครู่นี้ว่า ถ้าคิดพิจารณาอริยสัจข้อแรกอยู่เรื่อยๆ คิดเสมอว่า เกิดมาแล้ว ต้องแก่เจ็บตาย ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ถ้าคิดอยู่ทุกๆวันแล้วเขาจะไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรเลย เพราะรู้อยู่แล้ว เขาก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ เหมือนคนที่ขึ้นเครื่องบินแล้วรู้ว่าจะต้องตก ก็เตรียมร่มชูชีพไว้ ก็จะไม่กลัว จะตกก็ไม่เป็นไร เพราะรับได้ทั้งสองสภาพ ถ้ารับไม่ได้ก็ทุกข์ เพราะถ้าจะตกมันก็ต้องตก เครื่องบินที่ครูบาอาจารย์นั่งก็ยังตกเลย เมื่อปี ๒๕๒๓ มีครูบาอาจารย์ตั้ง ๕ รูปนั่งเครื่องบินมาตก ก่อนที่จะถึงดอนเมืองเพียงไม่กี่กิโลฯ พอดีมีพายุฝนมา เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อถึงคราวจะต้องไป ก็ต้องไป

 

ถาม  เมื่อครั้งที่แล้วที่มีการกราบเรียนถามท่านว่า ทำบุญกับใครถึงจะได้บุญเยอะ ท่านบอกว่าทำไปแล้วทำให้เรามีความสุข ทีนี้เพื่อนเขาฝากถามนิดค่ะว่า พอเขาทำบุญแล้วเขาขออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่ตายไปแล้ว อานิสงส์ที่ทำบุญกับครูบาอาจารย์กับทำบุญกับคนอื่นๆ ส่วนที่จะได้รับ จากใครจะมากกว่ากันคะ

 

ตอบ    บุญที่เราทำนี่เป็นความสุขใจ อย่างที่บอกว่าอยู่ที่ใจของเรา ถ้าทำแล้วเรามีความสุขใจมากบุญก็มาก นี่เป็นบุญส่วนหนึ่ง แต่บุญอีกส่วนหนึ่งที่เราจะได้รับจากบุคคลที่เราทำนั้น ไม่เกี่ยวกับบุญส่วนนี้ บุญที่เราจะได้รับจากบุคคลที่เราทำบุญด้วย เช่นถ้าเราทำบุญกับพระพุทธเจ้า แล้วได้ฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ทำให้เราหลุดพ้นจากทุกข์ได้ นี่เป็นบุญอีกส่วนหนึ่ง ที่เราได้รับจากบุคคลที่เราทำบุญด้วย การให้ทานกับใครก็มีความสุขเหมือนกัน จะสุขมากสุขน้อย ก็อยู่ที่เสียสละมากหรือน้อย ถ้าสละได้มาก ก็จะชนะกิเลสมาก ก็จะมีความสุขมาก แต่คนที่เราให้ทานอาจจะไม่ได้ให้อะไรเราเลย เช่นเรารักหมาตัวนี้มาก ก็เลี้ยงดูมันอย่างดี เราก็มีความสุข แต่หมาไม่ได้ให้ธรรมะกับเรา อย่างมากก็เห่าเวลาคนมามันก็คอยเห่า คอยเฝ้าบ้านให้เรา มันก็ให้เราได้แค่นั้น แต่ถ้าเราทำบุญกับคนฉลาด คนที่มีความรู้ เขาก็จะสอนเราให้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ แล้วเอาสิ่งที่เขาสอนมาทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้นอีก เช่นสอนให้เราทำสมาธิ สอนให้เราปล่อยวาง ถ้าเอาไปทำได้เราก็จะสบายใจ เครื่องบินจะตกไม่ตก ก็สบายใจ

 

ถาม  เขาอยากจะทราบว่า บุญที่ทำนั้นเขาอุทิศส่วนกุศลให้แก่พ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้วนี่ บุญที่ทำกับครูบาอาจารย์ กับที่ทำกับทั่วไปนี่อย่างไหนจะมากกว่ากัน

 

ตอบ  ก็อยู่ที่ใจของเรา เวลาเราทำกับครูบาอาจารย์เรามีความมั่นใจ เรามีความสุขใจมากมันก็มาก เวลาเราทำกับคนที่เราไม่มั่นใจ ก็มีความสุขใจน้อย บุญก็น้อย สิ่งที่เราอุทิศไปก็คือความสุขใจ

 

ถาม  เขาอยากทราบว่าพ่อแม่จะได้จากทางไหนมากกว่ากัน

 

ตอบ    คนที่เราจะส่งไปให้ บางทีเขาก็ไม่มีความจำเป็น ก็จะไม่รอรับบุญส่วนนี้ เพราะบุญอุทิศเป็นบุญที่น้อยมาก เคยได้ยินครูบาอาจารย์ท่านพูดว่าเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้นเอง อาจจะน้อยกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์เสียอีก สมมุติเราทำบุญร้อยบาท อาจจะอุทิศไปได้ไม่ถึงบาท เป็นเหมือนเศษอาหาร เศษเงินเศษทองที่เราให้ขอทาน จึงอย่าไปหวังกับบุญอุทิศ ขณะที่มีชีวิตอยู่ ต้องรีบทำบุญให้มากๆ

 

ถาม  ของใครของมัน ทำกันเอาเองใช่ไหมครับ

 

ตอบ    ใช่   แม้แต่เวลาที่เราทำบุญให้กับคนตายในงานศพนี้ คนที่เสียเงินเสียทอง ที่ไปร่วมทำบุญ จะเป็นคนได้บุญ คนตายไปแล้วได้ก็น้อยมาก แต่ถ้าเขาทำบุญมาตลอดเวลา เขาก็ไม่ต้องอาศัยบุญอุทิศ ถ้าไปเกิดเป็นเทพเป็นพรหมเป็นมนุษย์ ก็ไม่ต้องอาศัยบุญอุทิศ เพราะมีบุญมากแล้ว มีสัตว์ชนิดเดียวที่พึ่งบุญอุทิศ ก็คือพวกเปรต อยู่ในนรกก็รับไม่ได้ เป็นอสุรกายก็รับไม่ได้ เป็นเดรัจฉานก็หากินเองได้

 

ถาม  ท่านคะแล้วพวกโอปปาติกะได้ไหมคะ

 

ตอบ  พวกโอปปาติกะก็คือพวกเปรตนี้เอง

 

ถาม  หลวงพ่อคะ อย่างกรณีที่ฝากทำบุญมา คือเจ้าตัวไม่ได้มาค่ะ

 

ตอบ  เงินของเขาๆก็ได้ เขาได้ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ คนที่รับฝากมาได้หนึ่งเปอร์เซ็นต์ ในฐานะเป็นผู้รับฝากมา

 

ถาม  แล้วที่หลวงตาทำวันเปิดโลกธาตุล่ะคะท่านอาจารย์

 

ตอบ  สัตว์อื่นก็มาอนุโมทนาได้ มาชื่นชมแล้วก็ยินดีด้วย ก็จะได้บุญจากการอนุโมทนา อย่างพวกเราไปทำบุญ เราไม่ได้ไปรับบุญอุทิศ เราไปทำบุญ เราก็ได้บุญจากการให้

 

ถาม  ผู้ใดที่ล่วงรู้ ไม่ว่าจะอยู่ภพใดก็แล้วแต่ ร่วมอนุโมทนากับหลวงตานี่ ก็จะได้บุญส่วนนั้น อย่างเช่นเทวดาที่เขารู้ถึงบนนี้

 

ตอบ     ก็ได้บุญจากการอนุโมทนา มีความชื่นชมยินดี มีความสุข เวลาเห็นคนอื่นทำความดีแล้วเรามีความสุขไปกับเขาด้วย แต่บางคนเห็นคนอื่นทำความดีกลับอิจฉาริษยา แทนที่จะมีความสุขก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา กลัวว่าทำความดีแล้วจะแซงหน้าเรา อย่าไปอิจฉาริษยา เพราะความอิจฉาริษยาเป็นโทษ มันเป็นความทุกข์ในใจ ท่านจึงสอนให้มีมุทิตาจิต เวลาเห็นผู้อื่นมีความสุข มีความเจริญ ก็ควรจะชื่นชมยินดี คิดเสียว่าเป็นอานิสงส์ของบุญที่เขาได้ทำมาก็แล้วกัน คนที่ทำบุญก็ต้องมีบุญเก่าถึงจะทำบุญใหม่ได้ คนที่ไม่มีบุญเก่ามักจะไม่ชอบทำบุญ เป็นนิสัยที่ติดใจมา

 

ถาม  อย่างนี้เขาก็ต้องทำไปเรื่อยๆใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ก็จนกว่าจะเปลี่ยนนิสัยได้

 

ถาม  ก็เขาไม่มีโอกาสที่จะได้ทำ

 

ตอบ     มีเหมือนกัน แต่จะช้าหรือเร็ว มากหรือน้อยเท่านั้นเอง อย่างองคุลิมาลก็ฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คน พอไปเจอพระพุทธเจ้าก็ยังสามารถพลิกนิสัยตน จากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อรู้ว่าสิ่งที่ทำผิด ก็เลิกทำ ขอให้เกิดปัญญาเท่านั้น ถ้ารู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นบาปเป็นกรรม ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษ ถ้าเข้าใจก็จะเลิกได้ทันที อย่างที่เราพูดไว้ว่า คนเรานี้ไม่มีแสงสว่างนำทาง ไม่มีดวงตาเห็นธรรม ไม่มีปัญญา ยังมืดบอดอยู่ ยังหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เคยทำ ก็จะทำสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ เป็นนิสัย เหมือนคนที่ถนัดมือซ้ายหรือมือขวา ก็จะทำแบบนั้น สังเกตดูชีวิตเราที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราก็ทำซ้ำๆซากๆ จำเจอยู่ทุกวัน เคยทำอะไรอย่างไร ตื่นเช้าขึ้นมาก็ทำไปตามลำดับ ไม่มีพลาดเลย เวลานี้จะทำอะไรก็รู้เลย ก็เราไม่เปลี่ยนกันเอง เราติดนิสัย แต่ถ้าเราคิดบวกลบคูณหารดูว่า สิ่งที่เราทำอยู่เป็นประจำนั้น มันกำไรหรือขาดทุนทางด้านจิตใจ ถ้ารู้ว่าขาดทุนก็อย่าไปทำ เช่นถึงเวลาบ่ายจะต้องดื่มกาแฟ ก็คิดดูว่าได้กำไรหรือขาดทุน ดื่มกาแฟกับนั่งสวดมนต์ นั่งสมาธิ อย่างไหนจะดีกว่ากัน เราต้องคิดอย่างนี้ซิ รู้จักคิด รู้จักแยกแยะ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะทำตามที่เคยทำ ถ้าไม่ได้ทำขึ้นมาก็รู้สึกหงุดหงิดใจ เคยกินกาแฟแล้วกาแฟหมด หรือน้ำร้อนต้มไม่ได้ไฟมันดับ หรือแก๊สมันหมดอย่างนี้ มันก็หงุดหงิดใจ

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะบางทีคิดได้ว่าควรจะนั่งสมาธิดีกว่าไปทำอย่างอื่น แต่พอไปนั่งสักพักหนึ่งมันเหงา

 

ตอบ    เพราะยังไม่เห็นผล ต้องฝืน ถึงจะเหงาก็ต้องฝืนทำไป เหมือนกับกินข้าว เราไม่อยากกินข้าวแต่ถ้าไม่กินเดี๋ยวก็หิวใช่ไหม ก็ยังฝืนกินได้ใช่ไหม เพราะกลัวความหิวมากกว่า แต่เราไม่ค่อยกลัวความทุกข์กัน ไม่ค่อยกลัวความฟุ้งซ่านกัน ไม่กลัวความวุ่นวายใจกัน เราจึงไม่ค่อยให้อาหารใจ ไม่กินอาหารใจกัน ชอบกินแต่อาหารกิเลส กิเลสมันถึงอ้วนท้วม เรื่องความโลภ ความโกรธนี่ไม่ต้องสอนกัน แม้แต่เด็กเพิ่งคลอดออกมา ก็มีความโลภ ความโกรธความหลงติดมาแล้ว ไม่พอใจอะไรก็ร้อง

 

ถาม    ท่านอาจารย์ครับ ตอนที่ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องคนเจ็บป่วยตอนที่จะตายนี่ เวทนาทางกายมาก มันก็ทำให้เวทนาทางจิตเกิดตามไปด้วย คนทั้งหลายไม่มีความพร้อมที่จะรับกับสิ่งนั้น จะทำอย่างไรให้ความพร้อมมันมี

 

ตอบ    ต้องปฏิบัติธรรม ต้องพิจารณาธรรมะอยู่เรื่อยๆ เรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ว่าเป็นธรรมดา ก็จะลดความทุกข์ทางด้านจิตใจไปได้เยอะ ความทุกข์ทางกายมันแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เวลาที่เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วเกิดความทุกข์นี่ จะมีทุกข์ ๒ อย่างเกิดขึ้นมา ทุกข์กายกับทุกข์ใจ ทุกข์กายแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ทุกข์ใจ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เวลาปฏิบัติทำจิตให้สงบนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่า ตอนที่จิตยังไม่สงบ จะมีความกังวล ความวุ่นวายใจเกี่ยวกับความเป็นความตาย แต่พอจิตสงบลงไปปั๊บนี่จะเห็นเลยว่า ความเจ็บปวดของร่างกายมีนิดเดียวเอง ที่เจ็บปวดส่วนใหญ่อยู่ในใจ เช่นเวลาอดอาหาร ถ้าจิตไม่สงบนี่ มันฟุ้งซ่าน มันทรมาน คิดแต่เรื่องอาหาร แต่พอทำจิตให้สงบปั๊บ ความทุกข์ที่เกิดจากความฟุ้งซ่าน ความคิดปรุงนี่มันหายไป เหลือแต่ความรู้สึกหวิวๆท้องเท่านั้นเอง

 

            ความทุกข์ทางกายนี่มันน้อยมาก เมื่อเทียบกับความทุกข์ทางใจ พระพุทธเจ้าพระอรหันต์จึงไม่หวั่นไหวกับความเป็นความตาย เพราะผ่านมาหมดแล้ว เวทนาขนาดไหนก็ผ่านมาหมดแล้ว ผ่านมาได้ เพียงทำจิตให้นิ่ง แล้วปล่อยให้เวทนาแสดงไปเต็มที่ จนกว่าจะหายไปเอง อย่างหลวงตาท่านเล่าว่าท่านนั่งสมาธิทั้งคืน ทุกขเวทนาก็มาถึง ๓ หรือ ๔ ระลอกด้วยกัน ระลอกแรกนี่เป็นเหมือนหนู ระลอกที่ ๒ เหมือนแมว ระลอกที่ ๓ หรือ ๔ เป็นเหมือนช้าง เหมือนกับถูกช้างเหยียบไปทั้งตัว ร่างกายทุกส่วน อวัยวะทุกส่วนมันปวดร้าวไปหมด แต่ถ้าใจไม่หวั่นไหวกับมัน พิจารณาแยกแยะกายให้ออกจากเวทนาออกจากจิตได้ ความทุกข์ใจก็จะไม่มี มีแต่ความทุกข์กาย ที่ใจรับได้อย่างสบาย

 

ถาม     อย่างนี้ต้องทำให้เกิดความเคยชินกับสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ต่อสู้กับมันให้เกิดความเคยชิน

 

ตอบ    ใช่   ก็เหมือนกับคนที่เคยกินของเผ็ด กับคนที่ไม่เคยกินของเผ็ด คนกินเผ็ดนี่กินพริกขี้หนูเข้าไปสักกำหนึ่งก็ยังรู้สึกเฉยๆ คนที่ไม่เคยกินเผ็ดนี้ กินแค่ครึ่งเม็ดก็ทรมานแล้ว เพราะความไม่เคยชิน เราจึงต้องพยายามทำให้เกิดความเคยชิน กับความเจ็บไข้ได้ป่วย  ความแก่ ความตาย  พิจารณาอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ต้องอยู่แบบคนแก่ คนเจ็บ คนตายบ้าง คนแก่ไปไหนไม่ได้ก็หัดอยู่บ้านบ้าง คนแก่ไปเต้นแร้งเต้นกาไม่ได้ ก็หยุดเต้นบ้าง

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ เวลานั่งสมาธิแล้วเกิดทุกขเวทนาทางร่างกายขึ้นมา ก็อยากจะเปลี่ยนท่านั่ง คือคิดว่าถ้าเปลี่ยนแล้วจิตจะสงบไปเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่เปลี่ยนจิตจะจดจ่อกับทุกขเวทนา เราควรจะทำอย่างไรดีคะ ควรจะเปลี่ยนหรือควรจะสู้กับมันไปเรื่อยๆ

 

ตอบ  ถ้าอยากจะเลื่อนชั้นจาก ป. ๑ ขึ้นไป ป. ๒ เราก็ต้องนั่งต่อไป ถ้าอยากจะเรียนซ้ำชั้นเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ บางคนเรียนเก่ง บางคนเรียนไม่เก่ง เป็นเพราะเหตุใด

 

ตอบ  เป็นความสามารถที่ติดมากับจิต ไม่ได้อยู่ในร่างกาย

 

ถาม  ไม่ได้อาศัยสมองกับร่างกายหรือคะ

 

ตอบ    ไม่   สมองกับร่างกายเป็นเหมือนโทรศัพท์มือถือ เวลาเปลี่ยนเครื่องใหม่ คนพูดก็ยังคนเดิม เสียงเดิม  ภาษาสำเนียงก็อันเดิม แต่เครื่องใหม่ เปลี่ยนจากโนเกียมาเป็นอีริคสัน เวลาโทรฯไปหาใครก็รู้ว่าเป็นเราอยู่ดี เด็กบางคนเกิดมาเป็นเด็กอัจฉริยะ เพราะจิตเป็นจิตอัจฉริยะ ร่างกายเป็นเพียงเครื่องมือของจิต

 

ถาม  ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาที่เขาได้ทำมาด้วยใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ    บุญวาสนาก็คือนิสัยต่างๆที่สะสมไว้ในจิต นิสัยดีก็เป็นบุญ นิสัยไม่ดีก็เป็นบาป พัฒนาขึ้นหรือมีเสื่อมลงก็ได้ในแต่ละชาติ เกิดมาชาตินี้ได้ทำบุญเพราะมีคนชวนทำ ก็ได้พัฒนาจิตให้ดีขึ้น ถ้าชวนไปกินเหล้าเมายา เล่นการพนัน ก็ทำให้จิตเสื่อมลงไป

 

ถาม  เพราะเรามีสติที่ไม่มั่นคงใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  ใช่  บุญเก่ายังไม่มีแรงพอที่จะผลักดันให้ไปทางบุญอย่างเดียว

 

ถาม  ถ้าอยากจะพบกันอีกในชาติต่อๆไป จะต้องทำอย่างไร    

 

ตอบ    ก็ร่วมกันทำบุญอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราจะไปเจอกันชาติหน้าได้ก็ต่อเมื่อ มีทานเท่ากัน มีศีลเท่ากัน มีสมาธิเท่ากัน ปฏิบัติธรรมเท่ากัน เหมือนกับขับรถ ถ้ารถวิ่งความเร็วเท่าๆกัน ก็ไปด้วยกันได้ ถ้าคันหนึ่งวิ่งร้อย อีกคันหนึ่งห้าสิบ ก็ตามกันไม่ทัน

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ ถ้าเราเกิดความกลัวมากๆนี่จะทำอย่างไรดีคะ สมมุติว่าเกิดกลัวขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล ลูกต้องไปทำงานที่สุวรรณภูมิค่ะ เขาบอกว่าผีดุมาก แล้วก็มีงู มีอะไรอย่างนี้ค่ะ จะภาวนาอย่างไรดีเจ้าคะ

 

ตอบ     เวลาเกิดความกลัวท่านสอนว่าอย่าส่งจิตไปคิดถึงเรื่องนั้น ให้คิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  สวดอิติปิโสฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯไปเรื่อยๆ ทำสมาธิด้วยการสวดมนต์ เจริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เมื่อจิตไม่คิดถึงเรื่องที่ทำให้กลัวแล้ว ความกลัวก็หายไป ความกลัวไม่ได้อยู่ข้างนอก แต่อยู่ข้างในใจเรา เกิดจากจิตไปคิดปรุงแต่งขึ้นมา มีอุปาทานกลัวตายนั่นเอง กลัวจะเจอกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา ถ้าจิตไม่มีโอกาสได้คิดก็จะไม่กลัว อย่างตอนนี้ไม่กลัวใช่ไหม เพราะไม่ได้คิด แต่พอไปคิดปั๊บก็จะกลัว ตอนนี้นั่งอยู่ที่นี่กันเยอะๆไม่มีใครกลัว แต่เย็นนี้ถ้านั่งอยู่คนเดียว ก็จะกลัว ที่ก็ที่เดียวกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกัน ความกลัวอยู่ในใจ ถ้าอยู่ที่นี่ด้วยกันทั้งคืนก็ไม่กลัว แต่ถ้าอยู่คนเดียวก็จะกลัว เวลากลัวอย่าส่งจิตไปคิดถึงสิ่งที่กลัว นี่เป็นอุบายอย่างหนึ่ง อุบายอย่างที่สองก็คือการเจริญปัญญา ใช้ปัญญา เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ถ้าจะตายตอนนี้ก็ให้มันรู้ไป ยอมตาย ถ้ายอมตายได้ก็หายกลัว

 

            ถ้ายังไม่กล้าพอที่จะสละชีวิตก็อย่าไปคิดถึงมัน สวดมนต์ไปก่อน คิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไปเรื่อยๆ เวลาตกใจมากๆก็พุทโธๆๆ อรหังสัมมาฯ จิตก็จะสงบได้นะ ที่พระท่านต้องไปอยู่ที่กลัวๆ ก็จะได้บังคับจิตให้เข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เข้าหาบทสวดมนต์ พอสวดแล้วก็ไม่ได้คิดเรื่องที่ทำให้กลัว พอสวดไปปั๊บเดียว ดีไม่ดีจิตก็รวมลงสงบนิ่งเลย แล้วก็จะรู้ว่า เมื่อสักครู่นี้กลัวแต่เดี๋ยวนี้ไม่กลัวแล้ว พอไม่กลัวแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร เพราะใจไปคิดเอง เห็นใบไม้ขยับหน่อยก็คิดว่าอะไรมาแล้ว ใจไปคิดเอง ลมอาจจะพัดมาก็ได้ หรือตุ๊กแกหรือจิ้งจกหรือหนูมันวิ่งกัน ก็คิดว่าเป็นนู่นเป็นนี่ไปแล้ว เป็นพวกไม่มีปัญญา พวกกระต่ายตื่นตูม พอได้ยินเสียงอะไรหน่อยก็กลัวแล้ว ถ้ากลัวแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สวดอิติปิโสฯหรือพุทโธๆๆไปอย่างเดียวก็ได้ พุทโธๆๆ ธัมโมๆๆ สังโฆๆๆไปเรื่อยๆ อย่าให้ใจไปคิดเรื่องที่เรากลัว หลับหูหลับตา อย่าส่งจิตไปหา ให้เกาะอยู่กับพุทโธไว้ ไม่ต้องไปไหน

 

ถาม     ถ้านานๆครั้งเจอมันก็อาจจะกลัว แต่ถ้าได้มีโอกาสได้ฝึกฝนก็จะไม่กลัว อย่างครูบาอาจารย์เคยพูดว่า พระองค์ไหนกลัวอะไรให้ไปอยู่ตรงนั้น กลัวป่าช้าให้ไปอยู่ป่าช้า อะไรอย่างนี้

 

ตอบ     ถ้าอยู่ไปนานๆแล้วมันก็ชิน บางทีก็ต้องย้ายที่ ถ้ามั่นใจว่าไม่กลัวอีกแล้ว จะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่กลัว อย่างนั้นไม่ต้องไปไหนก็ได้ อยู่อย่างปกติธรรมดา เพราะการไปอยู่ตามที่ต่างๆ เป็นการทำจิตบำบัด ไปรักษาใจ ใจมีความกลัว ก็ไปแก้ความกลัว เมื่อไม่กลัวแล้วอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่มีปัญหาอะไร ไม่จำเป็นจะต้องไปอยู่ป่าช้าตลอดชีวิต เหมือนกับคนที่ไปโรงพยาบาล เพราะต้องไปรักษาตัว พอหายแล้วก็กลับบ้านอยู่ตามปกติ ใจก็เหมือนกัน ใจก็เหมือนร่างกาย ใจมีโรค คือความทุกข์ กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย ไม่ได้กลัวอะไรหรอก กลัวการพลัดพรากจากกัน แต่ถ้าเราไปทำจิตบำบัดแล้ว จิตยอมรับความจริงได้ ก็กลับมาอยู่อย่างปกติ ยังไม่แก่ก็ไม่เดือดร้อน ยังไม่ตายก็ไม่เดือดร้อน แต่พอจะแก่ พอจะเจ็บ พอจะตายก็ไม่เดือดร้อนเหมือนกัน เป็นตายเท่ากัน แต่ถ้ายังไม่ได้รับการบำบัด พอคิดถึงความแก่หน่อยก็กลัวแล้ว คิดถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยก็กลัวแล้ว คิดถึงความตายก็กลัวแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่เกิดขึ้นเลย เพียงแต่คิดเท่านั้นมันก็กลัวแล้ว ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย แต่อยู่ที่ความกลัว คือความทุกข์นั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า ความทุกข์ก็คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย เหตุของความทุกข์ก็คือสมุทัย ความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย

 

เราจึงต้องละสมุทัย ตัวที่ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย  ให้จิตนิ่งเฉย แก่ก็แก่ เจ็บก็เจ็บ ตายก็ตาย ความทุกข์ก็จะไม่มีภายในใจ เช่นเวลานั่งสมาธิถ้ามันเจ็บก็ปล่อยให้มันเจ็บไป ให้คิดว่าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องเจ็บอย่างนี้ ก็ปล่อยให้เจ็บไป เราก็พุทโธๆๆไป ถ้าไม่คิดถึงความเจ็บ เดี๋ยวความเจ็บก็หายไปเอง วิธีต่อสู้กับความเจ็บทางร่างกาย ก็คือรักษาจิตไม่ให้ไปรับรู้เรื่องของกาย ให้อยู่กับพุทโธอย่างเดียว ความกลัวก็แบบเดียวกัน ความกลัวกับ ความเจ็บก็แบบเดียวกัน อย่าส่งจิตไปหามัน เพราะยิ่งส่งไปก็ยิ่งอยากให้มันหาย ยิ่งอยากจะหนีจากมันไป ก็ยิ่งทำให้เกิดความทุกข์เพิ่มมากขึ้นไปอีก ยิ่งเจ็บมากกว่าความเจ็บของร่างกาย อย่างเวลาเรานั่งฟังธรรมะกันอย่างนี้ บางทีไม่ค่อยรู้สึกเจ็บเท่าไร เพราะใจไม่ได้อยู่กับความเจ็บ ใจอยู่กับธรรมะที่เราฟังอยู่ แต่ถ้านั่งอยู่คนเดียว จะนั่งไม่ได้นานขนาดนี้หรอก เดี๋ยวก็ต้องขยับตัวแล้ว เพราะใจมันไม่ได้อยู่กับอารมณ์ที่จะทำให้มันนิ่ง แต่ไปอยู่กับความเจ็บ แล้วก็เกิดสมุทัย อยากให้ความเจ็บหายไป ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ด้วยการขยับก็ดีหรือลุกขึ้นก็ดี หรือเดินหนีไปก็ดี เวลาเจ็บจึงไม่ต้องไปกลัวมัน เพราะยิ่งกลัวจะยิ่งเจ็บ

 

ถ้าไม่กลัวแล้วความเจ็บก็น้อย เจ็บเพียงที่กายเท่านั้นเอง เพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ความเจ็บที่ใจจะไม่มี แต่ตอนฝึกใหม่ๆมันจะยากเพราะว่ามันเป็นอัตโนมัติ พอเจ็บกายปั๊บใจจะเจ็บขึ้นมาพร้อมๆกัน แต่เราต้องฝืนบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ หรือสวดมนต์ไปเรื่อยๆ อย่าไปสนใจกับความเจ็บ บางทีเดี๋ยวเดียวมันก็หายไป แล้วเดี๋ยวก็กลับมาใหม่ จะต้องกลับมาอยู่เรื่อยๆ จะมาหลายระลอกด้วยกัน ถ้าดึงจิตไม่ให้ไปยุ่งกับมันได้ จิตก็จะปล่อยวางได้ แล้วก็จะไม่มีปัญหาอะไร จะหายไปหรือไม่หายไป ก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าใจไม่มีปัญหาแล้วก็นั่งอยู่ในที่เดิมได้ จะนั่งอยู่ในท่าไหนก็นั่งต่อไปได้ ไม่เดือดร้อนอะไร ก็กลับมาที่ตัวสตินี้ ต้องมีสติคอยดึงใจ ให้อยู่กับอารมณ์ที่เป็นเครื่องผูกใจ อย่าปล่อยให้ไปคิด ไปรับรู้เรื่องอื่น ที่ทำให้ใจต้องทุกข์ขึ้นมา ถ้าใจไม่ทุกข์แล้ว ไม่ว่ากายจะอยู่ในสภาพใด ใจก็ไม่เดือดร้อน นี่แหละคือการแยกกายออกจากใจ แยกตรงที่เวลามันเจ็บนี้ ธรรมดามันจะติดกันเหมือนปลาท่องโก๋ พอเวลาเจ็บกาย ต้องทำใจให้นิ่ง ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับความเจ็บของร่างกาย ใจก็ไม่จะเจ็บด้วย ก็จะแยกออกจากกันได้

 

เบื้องต้นก็ต้องฝึกทำสมาธิไปก่อน ทำให้มาก ทำให้จิตสงบ ให้มีสติอยู่เสมอๆ ถ้าใช้ปัญญาได้ด้วยก็ดี จริตบางคนจะถนัดไปทางปัญญา พิจารณาทำให้จิตสงบได้ ก็ใช้อย่างนั้นก็ได้ พิจารณาว่าเวทนาก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ไปตลอด เดี๋ยวก็ต้องหมดไป ร่างกายก็เป็นเหมือนกับพื้นที่เรานั่งอยู่นี้ มันไม่รู้ว่ามันเจ็บ กระดูกก็ไม่รู้ว่ามันเจ็บ ตัวรู้ไม่ได้อยู่ที่กาย ไม่ได้อยู่ที่กระดูก ตัวรู้ก็คือใจ ใจก็ไม่ได้เจ็บ ไม่ได้สัมผัสอย่างที่ร่างกายกำลังสัมผัสอยู่ ทำไมใจไปเจ็บแทนมันด้วย ถ้ารู้อย่างนี้ใจก็ไม่ไปเจ็บ เมื่อไม่เจ็บมันก็สบาย รับกับความเจ็บของร่างกายได้ จะมากจะน้อยเพียงไรก็ไม่เป็นปัญหาอย่างไร ความสุขความทุกข์ของใจมีอานุภาพมากกว่าของร่างกาย ร่างกายสุขสบายดีอยู่ ถ้าใจไม่สบาย ก็ไม่สบายไปหมด กังวลเรื่องนั้นห่วงเรื่องนี้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็เหมือนกับคนเจ็บไข้ได้ป่วย บางคนถึงกับจะฆ่าตัวตายไปก็มี ทั้งๆที่ร่างกายก็ไม่ได้เป็นอะไร แต่ใจมันทุกข์มาก ทรมานมาก ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้ร่างกายจะเจ็บปวดอย่างไร แต่ถ้าใจไม่ทุกข์ด้วย ก็จะมีแต่ความสุข เช่นใจของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ไม่มีความทุกข์อยู่เลย เพราะความทุกข์ของร่างกายไม่สามารถแทรกเข้าไปในใจได้ ไม่สามารถเข้าไปลบล้างความสุขของใจได้ แต่ความสุขของใจกลับกลบความทุกข์ของร่างกายได้ เราจึงควรมาสร้างความสุขที่ใจ ดับความทุกข์ที่ใจให้หมดไป ต่อไปร่างกายจะเป็นอย่างไร ก็จะไม่เป็นปัญหา อยู่ก็สุข ตายก็สุข

 

ถาม  สิ่งที่ทำได้ก็คือต้องทำสมาธิ

 

ตอบ  ก็มีอีกวิธีหนึ่งก็คือตัดมัน ตัดได้ไหม ไปบวชเลย อยู่คนเดียวไม่ยุ่งอะไรกับใครทั้งสิ้น

 

ถาม  แค่เริ่มต้นตัดความเคยชินในชีวิตประจำวันออกให้ได้สัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก็เก่งแล้ว

 

ตอบ  อะไรไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพก็ตัดมันไป อย่างละครแทนที่จะดูทุกคืนก็เอาแค่อาทิตย์ละคืนก็พอ ค่อยๆลดลงไป

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ พี่ปุกฝากมาถาม ให้ท่านอาจารย์อธิบายเรื่องสัญญาอารมณ์ค่ะ จิตที่อิ่มอารมณ์แล้ว มีสัญญาอารมณ์หรือเปล่าคะ

 

ตอบ    สัญญาเป็นขันธ์ ไม่ได้เป็นกิเลส แต่เป็นเครื่องมือของกิเลสก็ได้ เป็นเครื่องมือของธรรมก็ได้ เช่นถ้ามีมรณานุสติก็เป็นสัญญาทางธรรม คิดถึงความตาย ระลึกถึงความตาย มองอะไรก็เห็นความตายซ่อนอยู่ในสิ่งนั้นๆ ก็เป็นสัญญาที่มีประโยชน์ ส่วนสัญญาที่เป็นโทษก็คือ มองอะไรก็เป็นเรา เป็นของเราไปหมด มองอย่างนี้ก็เป็นโทษ เพราะเวลาต้องสูญเสียของที่เราคิดว่าเป็นของเราไป ก็มีความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้ามองว่าไม่ได้เป็นของเรา เวลารถของคนอื่นพังไป เราไม่เห็นเดือดร้อนเลย เพราะไม่มีสัญญาว่ามันเป็นของเรา จิตที่มีความสุขมีความอิ่มเต็มที่แล้ว เหมือนจิตของพระอรหันต์ เหมือนพระพุทธเจ้า ก็ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ขันธ์ ๕ ก็ยังทำงานจนกว่าจะแยกทางกัน เช่นพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระชนมายุ ๓๕ พรรษา ตอนนั้นขันธ์ ๕ ของท่านก็ยังมีครบถ้วนบริบูรณ์ ร่างกายก็มี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็มี เพียงแต่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสเท่านั้นเอง แต่เป็นเครื่องมือของธรรมไป เวลาทรงแสดงธรรม ก็ทรงใช้สัญญา สังขาร ต้องใช้ความจำว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ที่ไหน เป็นอะไรอย่างไร แล้วก็ทรงใช้สังขารความคิดปรุงเพื่อจะได้พูดออกมา สัญญาก็เป็นเหมือนกับข้อมูลที่เก็บไว้ในฮาร์ทดิสก์ของเครื่องคอมฯ จะเอาไปใช้ปล้นธนาคาร ไปทำระเบิดฆ่าคนก็ได้ หรือเอาไปทำสิ่งที่เป็นบุญกุศล ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ก็ได้

 

ขันธ์เป็นเครื่องมือ เป็นของกลางๆ ไม่ได้เป็นกิเลส ไม่ได้เป็นธรรม เป็นสภาวธรรม เหมือนกับร่างกาย เป็นดิน น้ำ ลม ไฟเท่านั้นเอง ดิน น้ำ ลม ไฟไม่ได้เป็นกิเลส แต่เป็นเครื่องมือของกิเลสได้ เช่นเอาร่างกายไปปล้นธนาคาร ก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสไป ก็เป็นคนไม่ดีไป แต่ถ้าเอามาบวช มาปฏิบัติธรรม เอามาสั่งสอน ก็เป็นคนดีไป ก็ร่างกายเหมือนกัน ร่างกายของพระพุทธเจ้ากับร่างกายของคนที่ใจโหดร้ายทารุณ ก็ร่างกายเหมือนกัน ดิน น้ำ ลม ไฟเหมือนกัน มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเหมือนกัน ขันธ์ ๕ ไม่ได้เป็นธรรมหรือเป็นกิเลส แต่มันสามารถเป็นเครื่องมือของธรรมก็ได้ ของกิเลสก็ได้ เหมือนกับมีดนี่ เอาไปใช้ตัดไม้ หั่นเนื้อ หั่นผัก ทำอาหารก็ได้ หรือจะเอาไปฆ่าคนก็ได้ มันก็มีดอันเดียวกัน ขันธ์ไม่ใช่ตัวสำคัญ ตัวสำคัญก็คือใจ อยู่ที่ว่าจะอยู่ภายใต้อำนาจของธรรมะ หรืออยู่ใต้อำนาจของกิเลสหรืออธรรม ถ้ายังอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสอย่างที่พวกเราเป็นกันอยู่ ก็ทำในสิ่งต่างๆอย่างที่เราทำกันอยู่ ก็สุขบ้างทุกข์บ้าง

 

แต่ถ้าทำแบบพระพุทธเจ้าแบบพระอรหันตสาวก ก็ทำแต่สิ่งที่ถูกที่ดีอย่างเดียว จึงน่าเคารพเลื่อมใส ถึงแม้จะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว สิ้นกิเลสแล้ว ขันธ์ก็ยังไม่ดับ ร่างกายยังไม่ตาย ขันธ์ก็ยังทำงานอยู่ อยู่ที่จิตจะเอาไปทำประโยชน์หรือไม่ ถ้าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านก็ไม่สอน ไม่ต้องใช้ขันธ์มาเผยแผ่พระศาสนา ท่านก็อยู่ไปตามอัตภาพ แต่ถ้าจะมาสั่งสอน มาประกาศพระศาสนา อย่างพระพุทธเจ้าของเรา ก็ต้องใช้ขันธ์ ๕ ไว้โปรดสัตว์ เวลาแสดงธรรม ก็ต้องคิด ต้องใช้สัญญาสังขาร

 

ถาม    สัญญาที่มีทั้งฝ่ายธรรมและฝ่ายอธรรมนี่นะครับ ในปุถุชนกับพระอรหันต์นี่ก็แตกต่างกันในใจ ที่รับได้หรือรับไม่ได้ อย่างนี้ใช่ไหมครับ อย่างเช่นปุถุชนนี่สัญญาที่เกี่ยวกับความไม่ดีนี่ มันมักจะผุดขึ้นมารบกวนตัวเราเองอยู่เสมอ

 

ตอบ  ก็เหมือนกับการเขียนโปรแกรม ต้องแก้โปรแกรมใหม่ พอคิดเรื่องไม่ดีก็ลบออกไป ให้คิดแต่สิ่งที่ดี จึงต้องมาภาวนาอยู่เสมอ เช่นแผ่เมตตา สัพเพ สัตตา อเวราฯ

 

ถาม  สัญญาทั้งฝ่ายธรรมและฝ่ายอธรรมนี่เวลาเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาตินี่มันไปกับจิตทั้ง ๒ อย่างใช่ไหมครับ

 

ตอบ    ถ้ามีทั้งธรรมและอธรรมอยู่ในจิต ก็ต้องไปด้วยกันกับจิต ที่เรียกว่าบาปบุญนั่นเอง ขันธ์ออกมาจากจิต นามขันธ์เป็นเครื่องมือของจิต เวลาจิตจะติดต่อกับใครก็ต้องอาศัยขันธ์เป็นเครื่องมือ ต้องคิดแล้วต้องพูดออกมา สังขารต้องปรุงก่อน สัญญาต้องนึกก่อน ว่าจะพูดเรื่องอะไรวันนี้  เมื่อเริ่มนึกแล้วสังขารก็เริ่มปรุงไปตาม เช่นจะพูดเรื่องสติปัฏฐาน ๔ สังขารก็ปรุงเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ออกมา พูดแล้วก็ผ่านไป ดับไป หายไป สัญญาสังขารก็เกิดดับๆอย่างนี้อยู่เรื่อยๆธรรมและอธรรมจะถูกฝังอยู่ในใจ สิ่งใดที่ใจจำได้แล้วก็จะอยู่ในใจ กลายเป็นนิสัยไป ถ้าเคยคิดแต่สิ่งที่ดี ก็จะคิดแต่สิ่งที่ดี ถ้าเคยคิดแต่สิ่งที่ไม่ดี ก็จะคิดแต่สิ่งที่ไม่ดี คนเราเวลาเกิดมาจึงมีจริตนิสัยไม่เหมือนกัน พ่อแม่คนเดียวกัน แต่ไม่ได้เอาจริตนิสัยมาจากพ่อแม่ ท่านจึงสอนว่าเรามีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมนี่แหละเป็นเหตุที่ทำให้เราเป็นคนแบบนี้ นิสัยแบบนี้ ชอบแบบนี้ เกลียดแบบนี้ ขยันขี้เกียจแบบนี้ ก็เราสร้างมาทั้งสิ้น คือกรรมที่เราเคยทำมา

 

ถาม     กรรมที่เรามีอยู่นี่ ถ้ารู้ว่ามันไม่ดี เราพยายามฝึกฝนใหม่ อุปนิสัยใหม่จะติดไปไหมคะ

 

ตอบ     ติดไปด้วย เราฝึกได้เสมอ ถ้ารู้ว่าดื่มเหล้าไม่ดี ก็เลิกเสีย เมื่อก่อนเราไม่รู้ เพราะยังไม่ได้พบพระศาสนา อยู่ในสังคมที่ดื่มเหล้ากัน อย่างฝรั่งต้องดื่มไวน์กับอาหาร แต่ถ้าได้ศึกษาก็จะรู้ว่าไม่ดี ก็อย่าไปดื่ม  แต่ตอนที่เปลี่ยนนิสัยนี่มันจะทรมาน เคยทำอะไรแล้วไม่ได้ทำจะรู้สึกทุกข์ใจ อย่างกินก๋วยเตี๋ยวแล้วไม่ได้ใส่เครื่องปรุงก็กินไม่ลง มันไม่อร่อย

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ เวลาภาวนาแล้วจิตรวมลง กายเบา พอออกจากการภาวนาแล้วก็ลุกไป คือจะไปทำงาน แต่ความเบาของกายมันจะมีอยู่ตลอดเวลาหลายชั่วโมง อันนั้นมันเป็นอาการของอะไรคะ

 

ตอบ    เป็นอานิสงส์ของความสงบของใจ ที่ยังไม่จางหมดไป ขึ้นอยู่กับว่าทำมากน้อยเพียงไร ก็เหมือนรับประทานอาหาร พออิ่มแล้วความอิ่มก็ไม่ได้หายไปทันที จะค่อยๆหายไปๆ ความอิ่มเอิบใจที่ได้จากการนั่งก็เหมือนกัน พอออกจากสมาธิแล้วก็ไม่ได้หายไปทันที แต่จะค่อยๆจางไป ขึ้นอยู่กับว่าเอาจิตไปใช้อะไร ถ้าเอาไปคิดปรุงแต่งให้เกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านขึ้นมา ก็หายไปเร็ว แต่ถ้าประคับประคองไว้ไม่ไปคิดถึงเรื่องอะไร ให้มีสติอยู่กับการกระทำของเรา ก็อยู่ได้นาน เพราะประคับประคองด้วยสติ ทำให้ไม่ไปคิดเรื่องที่ทำให้ฟุ้งซ่าน เคยสงบอยู่อย่างไรก็จะสงบอย่างนั้นต่อ ที่ไม่สงบก็เพราะไปห่วง พอเห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เกิดความวิตกกังวลขึ้นมา ท่านจึงสอนให้เจริญวิปัสสนา พอกังวลกับเรื่องอะไรก็ต้องตัด ไปกังวลทำไมเดี๋ยวก็ต้องจากกันแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะรักษาความสงบไว้ได้ ในขณะที่ไม่ได้นั่ง ท่านจึงสอนให้เจริญทั้ง ๒ อย่างสลับกัน ออกจากสมาธิแล้วก็ให้เจริญวิปัสสนา ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตของเรา เมื่อมีเวลาว่างก็กลับมาทำจิตให้สงบอีก เพราะเวลาเจริญวิปัสสนาก็ทำให้จิตเหนื่อย ก็อยากจะพัก ก็กลับมาบริกรรมพุทโธๆ  หรือกำหนดดูลมหายใจ ให้จิตนิ่งสงบ

 

เหมือนกับทำงานทั้งวันก็เหนื่อย ก็อยากจะกลับบ้านมากินข้าว อาบน้ำอาบท่าแล้วก็นอน พอตื่นเช้าขึ้นมาสดชื่นเบิกบานก็ออกไปทำงานต่อ การภาวนาก็อย่างนี้ ระหว่างวิปัสสนากับสมาธิก็สลับกัน เวลานั่งสมาธิก็อย่าไปคิดอะไร ให้นิ่ง ให้สงบ ให้อยู่กับพุทโธ ให้อยู่กับอารมณ์ที่ได้กำหนดไว้ เมื่อสงบแล้ว จะอยู่นิ่งได้นานเท่าไรก็ปล่อยให้นิ่งไป อย่าไปดึงออกมา ถ้าสงบแล้วจะอยู่เฉยๆ ไม่ดิ้นรนไม่อยากจะออก ก็ปล่อยให้นิ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอิ่มตัวแล้วก็จะถอนออกมาเอง ก็จะเริ่มรู้สึกเจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ เริ่มคิดเริ่มปรุง ก็ลุกขึ้นมา แต่ต้องมีสติปัญญาคอยตามประกบ คอยกำหนดอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอะไรก็ให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะไม่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน จะมีปัญญาฉลาดรู้ทันเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะตัดอุปาทานต่างๆได้ อุปาทานต้องตัดด้วยปัญญา สมาธิเพียงแต่กดไว้เท่านั้น ตัดไม่ได้ ต้องใช้ปัญญา ต้องเห็นโทษ ต้องเห็นว่าเวลาไปยึดไปติดจะเกิดโทษ เป็นทุกข์ ไม่เป็นสุข ไม่เจริญ เมื่อเห็นแล้วก็จะถอนออกมา ถอยออกมา ปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วก็หลุดพ้นจากความทุกข์

 

ถาม     ท่านคะ เวลาเราเห็นอะไร เราพยายามนึกถึงไตรลักษณ์ใช่ไหมคะ

 

ตอบ    ใช่   แต่สิ่งไหนที่เราดูแลได้รักษาได้ ควบคุมได้ก็ทำไป เพราะในชีวิตเรา เช่นเวลาขับรถจะปล่อยให้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ไหม ไม่ได้ เราก็ดูแลไป ถ้าเกิดสุดวิสัยรถมาชนเรา หรือยางแตกรถแหกโค้ง ก็ช่วยไม่ได้ ก็ต้องปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อะไรจะเกิดก็เกิด แต่ใจไม่วุ่นวาย แม้ในขณะที่รถจะพลิกคว่ำ จะเกิดอะไรขึ้น ใจก็ยังเฉยได้ ถ้ามีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้ารู้ทันแล้วปล่อยวาง ต้องเจริญอยู่เสมอๆ เพราะส่วนใหญ่พอตกใจแล้วลืมหมดเลย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อะไรที่เร็วกว่า คือที่เป็นวัวปากคอก จะออกมาก่อนเลย ส่วนใหญ่ก็ความกลัว ความตกใจ

 

ถาม     แต่ถ้าเราคิดตรงนี้ทัน มีสติทัน เราก็หยุดได้ใช่ไหมคะ

 

ตอบ     ได้   ฝึกไปเรื่อยๆ เบื้องต้นให้มีสติอยู่กับสิ่งที่เราทำ แล้วถ้ามีโอกาสคิดได้ คิดว่าสิ่งที่เราทำนี้ก็แค่ชั่วคราวเท่านั้น ทำได้ก็ดี ทำไม่ได้ก็ช่างมัน ไม่ต้องเป็นทุกข์ไปกับมัน บางคนทุกข์กับสิ่งที่ทำ ทำแล้วต้องดีอย่างนั้นต้องดีอย่างนี้ ถ้าไม่ดีไม่ถูกใจก็วุ่นวายใจอีก สร้างความทุกข์ให้กับตัวเองตลอดเวลา เพราะขาดปัญญา ไม่คิด ไม่มีปัญญาคอยประกบ เวลาทำอะไรก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าไม่ได้ดังใจก็ช่างมัน เพราะทำได้แค่นี้

 

ถาม  พระอาจารย์ครับ เวลาบอกว่าให้ฆ่ากิเลสนี่ อาการของการฆ่ากิเลสในระหว่างที่ภาวนา ระหว่างที่วิปัสสนานี่มีอาการอย่างไรครับ

 

ตอบ  ต้องฆ่าตอนที่มันออกมา เช่นเวลาโกรธปั๊บก็ต้องฆ่ามันตอนนั้น ก็ต้องระงับความโกรธตอนนั้น เวลาโลภก็ต้องระงับตอนนั้น

 

ถาม  อย่างแรกคือพิจารณาให้เห็นชัดก่อน

 

ตอบ    ให้เห็นว่าเป็นโทษ เห็นเป็นเหมือนงูพิษ พอเจอปั๊บก็เอามีดฟันหัวมันเลย พอเห็นงูพิษเรารีบหาอะไรฟาดมันเลยใช่ไหม มันเกิดตรงไหนเวลาไหน ก็ต้องระงับดับมันตอนนั้น จะทำได้หรือไม่ได้เท่านั้นเอง ถ้าทำได้ก็สบาย ก็ไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายใจ ถ้าทำไม่ได้ก็วุ่นวายใจ จึงต้องฝึก ปัญหาอยู่ตรงที่ไม่รู้จักตัวกิเลส ไม่รู้ว่ากำลังโลภ ไม่รู้ว่ากำลังโกรธ จึงไหลไปตามความโลภ ไหลไปตามความโกรธ เวลาขับรถเกิดอุบัติเหตุก็ลงมาก็ด่าว่ากัน ทำไมทำอย่างนี้ ทำไมขับอย่างนี้ แต่ไม่รู้ว่ากำลังโกรธ ถ้าไม่โกรธจริงๆก็จะเฉย มีอะไรก็ว่ากันไป คุยกันไป

 

ถาม     ฉะนั้นต้องฝึกสติไว้ตลอดเวลาเท่านั้นเองใช่ไหมครับ

 

ตอบ     ใช่   สติเป็นตัวดูเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในกายกับในใจของเรา พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสให้มีสติอยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิตก็คืออารมณ์ และก็อยู่ที่ธรรม คิดไปในทางธรรมหรือเปล่า ถ้ามีสติอยู่ใน ๔ ส่วนนี้ ส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็จะรู้ทันกับเหตุการณ์ที่จะมาเขย่า มาสร้างความทุกข์ให้กับเรา แล้วก็จะแก้มันได้

 

ถาม     ท่านอาจารย์ ถ้ากรณีเกิดมีสัญญาผุดขึ้นมาขณะปฏิบัติภาวนา แล้วก็หายไป อีกระยะเวลาหนึ่งก็เกิดขึ้นมาอีก

 

ตอบ     คำว่าเจริญวิปัสสนา คือให้รู้ว่ามีการเกิดดับเป็นธรรมดา ถ้ายังไม่สามารถดับมันได้ ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แต่ยังไม่ดับไป อย่าไปหลงตามมัน หรือจะดึงจิตไปที่อื่นก่อนก็ได้ อย่าไปสนใจ หันมาบริกรรมพุทโธๆๆ หรือสวดมนต์ไปก็ได้ เหมือนกับดึงความสนใจจากความกลัวหรือจากทุกขเวทนา เราก็ดึงความสนใจจากสัญญาที่ปรากฏขึ้นมา เช่นนึกถึงคนนั้นแล้วอยากจะฆ่าเขาอยู่เรื่อย ก็อย่าไปสนใจ รู้ว่าเป็นขันธ์ที่เกิดดับๆ  เป็นอนัตตา เราบังคับมันไม่ได้ บางทีก็บังคับได้ บางทีก็บังคับไม่ได้ ถ้าบังคับไม่ได้ก็อย่าไปสนใจ ให้รู้ว่ามันไม่ดี แล้วอย่าไปตามก็แล้วกัน ถ้ามายุแหย่ให้ไปทำบาปทำกรรมก็อย่าไป ให้รู้ทันแล้วอย่าไปทุกข์กับมัน อย่าไปอยากให้มันหายไป เราไม่มีอำนาจไปบังคับให้มันหายไปได้ วิธีเดียวที่จะทำได้ก็คือ ให้รู้ทันมัน พอรู้ปั๊บมันก็จะดับไป พอเผลอปั๊บมันก็จะเกิดขึ้นมาอีก

 

ถาม  ท่านอาจารย์ครับ สติที่ถูกต้องคือสติที่อยู่กับปัจจุบันเท่านั้นใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ใช่

 

ถาม  ต้องมีการรู้เห็นหรือเปล่ากับเรื่องปัจจุบัน

 

ตอบ    โดยหลักแล้วก็ให้อยู่กับปัจจุบัน ยกเว้นเวลาเจริญปัญญา ก็ต้องดูทั้งสามตอน ดูทั้งอดีต ดูทั้งปัจจุบัน และดูทั้งอนาคต เพื่อจะได้เห็นภาพรวมที่แท้จริง เช่นกำหนดดูเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็กำหนดถอยไปดูจุดเริ่มต้น ตอนที่ธาตุของคุณพ่อคุณแม่มาผสมกัน แล้วก็เจริญเติบโตในครรภ์จนคลอดออกมาเป็นเด็กทารก แล้วก็เจริญเติบโตต่อมาจนถึงที่เป็นอยู่ในวันนี้         แล้วก็เลยต่อไปถึงวันข้างหน้าว่า จะต้องแก่ จะต้องตาย จะต้องไปอยู่ในโลงศพ จะต้องถูกเผากลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป ถ้าอย่างนี้เรียกว่าเป็นการเจริญปัญญา ปัญญาจะต้องดูให้ครบเลย ทั้งอดีตทั้งปัจจุบันทั้งอนาคต แต่จะอยู่ในปัจจุบัน คือจะคิดอยู่ในปัจจุบันกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นมาแล้ว และจะเกิดขึ้นต่อไป เพื่อจะได้รู้ทัน การพิจารณาร่างกายก็เพื่อจะให้เห็นว่าเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาจากธาตุ แล้วก็จะกลับไปสู่ธาตุ เมื่อเห็นแล้วก็จะไม่หลงว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เช่นเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมาพิจารณาดู ตัดเอาผมออกมาวางไว้ แล้วดูว่าเป็นอะไร ก็เป็นแค่วัตถุเป็นธาตุชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง เผามันๆก็กลายเป็นขี้เถ้าไป อาการทุกส่วนก็เป็นเหมือนกันหมด ไม่มีตัวมีตนอยู่ในอาการต่างๆเลย

 

นี่คือการพิจารณาให้เห็นว่าเป็นธาตุ ไม่มีตัวไม่มีตน ถ้าอย่างนี้ต้องพิจารณาทุกส่วน ทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต แต่เวลาเจริญสติโดยทั่วไป หมายถึงให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้ไปคิดฟุ้งซ่านเกี่ยวกับเรื่องนู้นเรื่องนี้ เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ ยกเว้นถ้ามีธุระจำเป็นจะต้องคิดก็คิดได้ คิดให้เป็นกิจจะลักษณะ เสร็จแล้วก็จบ คิดว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง จะไปเจอใคร จะทำอะไร รู้แล้วก็จบ พอถึงเวลาก็ไปทำ แต่ไม่ต้องมากังวล ไม่อยากจะเจอคนนั้นเจอคนนี้เลย คนนั้นพูดแล้วก็รำคาญใจ คิดอย่างนี้เสียเวลา ถ้าไม่มีความจำเป็นจะต้องคิดอะไรก็ให้ว่างไว้ เป็นการทำสมาธิไปในตัว

 

ถาม  คือถ้าไม่พิจารณาก็กลับเข้าสู่สมาธิ ออกจากสมาธิก็มาพิจารณา

 

ตอบ  ใช่   พิจารณาทุกอย่างให้เป็นไตรลักษณ์ 

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ บางทีเวลาเรานั่งสมาธิจะมีสิ่งที่ผุดขึ้นมาอยู่เรื่อย บางทีสิ่งที่เราควรจะกระทำแล้วเราลืมไป อย่างนี้มันจะผุดขึ้นมาอยู่เรื่อยค่ะ

 

ตอบ     ตอนนั้นเราอย่าไปสนใจ มีหน้าที่ทำสมาธิก็ทำไป ส่วนเรื่องนั้นปล่อยไปก่อน งานทำสมาธิสำคัญกว่างานอื่นทั้งหมด อย่าไปสนใจ กลับมาหาพุทโธ ถ้าปล่อยให้ผุดขึ้นมา แล้วไปตามมัน ก็จะไม่ได้ทำสมาธิ นั่งคิดแต่เรื่องที่ทำให้ใจไม่สงบ ตอนทำสมาธิจึงต้องไม่คิดเรื่องอื่นเลย นอกจากอารมณ์ที่ใช้เป็นเครื่องผูกใจ ถ้าไม่มีอะไรผูกไว้ก็จะลอยไป มีอะไรผุดขึ้นมาก็คิดตามไป จึงต้องมีหลักยึดไว้ ถ้าจะใช้พุทโธก็บริกรรมแต่พุทโธอย่างเดียว ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่นเลย ถ้าสวดมนต์ก็สวดมนต์อย่างเดียว อยู่กับบทสวดมนต์ จะดูลมหายใจก็อยู่กับลมหายใจ ถ้าอยากจะมีพุทโธกำกับควบคู่ไปด้วยก็ได้ หายใจเข้าว่าพุท หายใจออกว่าโธ อย่างนี้ก็ได้ หรือหายใจเข้าก็พุทโธ หายใจออกก็พุทโธ อย่างนี้ก็ได้ จะเอาพุทโธอย่างเดียวไม่ดูลมก็ได้ จะเอาลมอย่างเดียวไม่ใช้พุทโธก็ได้

 

ถ้าจะดูลมก็ดูอยู่ที่ปลายจมูก ไม่ต้องตามลมเข้าลมออก ให้ดูตรงจุดที่ลมสัมผัส ตรงแถวๆปลายจมูก อย่าตามลม เพราะตามเข้าๆออกๆจิตจะไม่สงบ ให้อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง อยู่ที่กลางอกก็ได้ อย่างพวกยุบหนอพองหนอ หายใจเข้าก็พองออกมา หายใจออกก็ยุบลงไป สุดแท้แต่จะถนัด  แต่ให้มีอย่างเดียว คือไม่ต้องการให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ถ้ามีเรื่องแทรกเข้ามาก็อย่าไปสนใจ เหมือนเรานั่งคุยกันตอนนี้ ใครโทรศัพท์เข้ามาก็ไม่ต้องไปรับสาย ปล่อยมันดังไปสักพักเดี๋ยวก็หยุดเอง ถ้าตั้งใจจะคุยกัน มันก็รบกวนไม่ได้ ถ้าไม่ตั้งใจพอใครโทรฯมาปั๊บ ก็ไปรับสายแล้ว

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ ลูกภาวนาด้วยพุทโธ แล้วเวลาไปทำบุญที่วัดต่างๆนี้ เวลาพระอาจารย์นำนั่งสมาธิจะเป็นยุบหนอพองหนอ หรือไม่ก็สัมมาอรหัง อย่างนี้จะต้องเปลี่ยนตามไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ต้องเปลี่ยน เราก็ทำของเราไป เคยถนัดอะไรก็ทำไป ไม่มีใครรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ในใจ

 

ถาม  เวลาท่านพูดออกไมโครโฟนแล้วเราก็เปลี่ยนเอง

 

ตอบ     ถ้าสับสนแล้วก็ถ่วงความเจริญก็อย่าไป ไปที่ส่งเสริมให้เราเจริญ ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่ดีไม่ถูก เพียงแต่สอนวิธีที่ต่างกันเท่านั้นเอง เราถนัดอย่างหนึ่งแล้วต้องไปทำอีกอย่างหนึ่ง ก็จะไม่ถนัด จะไม่ได้ผล ถ้าถนัดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ควรไปหาคนที่สอนแบบที่กำลังปฏิบัติอยู่ ท่านจึงสอนเรื่องบุคคลสัปปายะ คนที่อยู่ร่วมกันต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เหมือนกัน

 

ถาม     เดี๋ยวนี้มีการจัดอบรมกรรมฐานเป็นรุ่นๆ จัดเป็นคอร์ส

 

ตอบ    บางคนปฏิบัติโดยลำพังไม่ได้ ต้องมีการกำหนดตารางเวลาไว้บังคับ คนที่มีวินัยบังคับตนเองให้ปฏิบัติได้ ก็ปฏิบัติที่บ้านก็ได้ หรือตามสถานที่ที่สงบ ที่ไม่มีคนพลุกพล่านได้ยิ่งดี แต่บางคนยังทำไม่ได้ ต้องมีตารางกิจกรรม ต้องตื่นเวลานี้ นั่งสมาธิเวลานี้ เดินจงกรมเวลานี้ รับประทานอาหารเวลานี้ พักผ่อนเวลานี้ เพราะยังไม่มีวินัย ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยบังคับ แต่จะได้ผลหรือไม่ก็ไม่รู้ เวลาทำก็ทำได้ แต่พอกลับมาบ้านก็เหมือนเดิม อย่างนี้ก็ไม่ได้พัฒนา แต่ถ้าไปแล้วกลับมา สามารถเอาสิ่งที่เรียนรู้มาทำต่อที่บ้านได้ ต่อไปก็ไม่ต้องไป เพราะยิ่งปฏิบัติก้าวหน้าไปเท่าไร ก็อยากจะปลีกวิเวกมากขึ้นไปเท่านั้น เพราะเวลาอยู่กับคนมากๆแล้วจะรบกวนกัน จะขวางการทำสมาธิ เพราะปัจจัยที่จะทำให้จิตสงบก็คือกายวิเวก ถ้ากายวิเวก จิตวิเวกก็ตามมา ในเบื้องต้นจึงต้องหาสถานที่ที่สงบสงัด ที่วิเวก ไม่มีอะไรมารบกวน แต่คนที่จิตยังฟุ้งซ่านอยู่ ก็จะวิเวกไม่ได้ วิเวกแล้วก็กลัว ต้องอยู่กับคนอื่น เกาะกันไปก่อน จนกว่าจิตจะพัฒนา มีความสงบบ้าง เมื่อสงบแล้วก็จะรู้เอง จะปลีกตัวไปเอง เพราะเวลานั่งรวมกันจะไม่คล่องตัว เช่นกำหนดให้นั่งชั่วโมงหนึ่ง แต่เราอยากจะนั่ง ๒ชั่วโมง  

 

ถาม     ท่านอาจารย์คะ กำลังใจเล่มสุดท้ายพูดถึงสัปปายะ ซึ่งมีตั้งหลายอย่างใช่ไหมคะ

 

ตอบ     สัปปายะแปลว่าสบาย การปฏิบัติต้องมีความสบายทางด้านสถานที่ที่อยู่ อยู่แล้วสบายไม่รบกวนความสงบ ภาวนาที่สงบกับที่ไม่สงบมีความแตกต่างกัน อาหารที่รับประทานก็มีส่วน เป็นคนภาคกลาง ไปอยู่ทางภาคอีสานก็อาจจะลำบากหน่อย ไม่ชินกับอาหาร กินแล้วอาจจะไม่ค่อยอิ่ม หรือกินไม่ลง บางอย่างก็พอปรับได้ ถ้าไปปฏิบัติจริงๆเรื่องอาหารก็พอจะปรับได้ เขากินได้เราก็กินได้ คิดอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร กินแล้วไม่ท้องเสีย ไม่รบกวนการนั่งสมาธิ กินแล้วไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ใช้ได้ สถานที่ก็เหมือนกัน บางสถานที่อาจจะไม่เหมาะกับบางคน อยู่ที่อับชื้นแล้วเป็นไข้ บางคนอยู่แล้วไม่เป็นอะไร บางคนชอบที่โล่ง บางคนชอบอยู่ในถ้ำ ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละคน ความสัปปายะของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน ก็เลือกได้ บุคคลที่สัปปายะที่สำคัญที่สุดก็คือครูบาอาจารย์ และกัลยาณมิตร ถ้าได้กัลยาณมิตรที่ดี อาจารย์ที่ดี ถึงแม้อย่างอื่นจะไม่ค่อยสัปปายะ ก็ไม่เป็นไร พอถูไถไปได้ก็ใช้ได้ เพราะไม่มีอะไรจะสำคัญเท่ากับครูบาอาจารย์ ผู้ที่จะให้ทั้งกำลังใจและความรู้

 

           ถ้าได้ครูบาอาจารย์ที่ดีแล้ว แต่อาหารไม่ค่อยสัปปายะก็ไม่เป็นไรอย่างพระฝรั่งที่ไปอยู่กับหลวงตา ไม่เคยกินอาหารอย่างนี้มาก่อน ก็กินได้ ไม่เคยอยู่ในสภาพแบบนี้มาก่อน ก็อยู่ได้ ฝรั่งเกิดมาก็อยู่ท่ามกลางความสุขสบายอยู่แล้ว บ้านเขาก็มีทุกอย่าง มีเครื่องปรับความร้อน ปรับความเย็น มีน้ำไฟพร้อมทุกอย่าง แต่เขาก็สละได้เพราะต้องการสิ่งที่ดีกว่า ผู้ที่จะให้เขาได้ก็คือครูบาอาจารย์ บุคคลสัปปายะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ก็คืออาจารย์ที่เก่งและฉลาด ถ้าไม่มีอาจารย์ก็ต้องอาศัยสหธรรมิก คือเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ถ้าเป็นคนที่ฉลาดเก่งกว่าเรา อยู่กับเขาก็จะได้ประโยชน์ ถ้าไม่เก่งไม่ฉลาดกว่าเราหรือฉลาดน้อยกว่าเรา เขาก็จะชวนเราคุย ชวนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ทำให้เราเสียเวลาได้ เราจึงต้องเลือกคนที่เราอยู่ด้วย เพราะจะอยู่ตามลำพังไปตลอดไม่ได้ อยู่ในวัดก็ต้องอยู่กันหลายคน ถ้ารู้ว่าเขาไม่ภาวนา ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยง ถ้าไม่จำเป็นต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน ก็แยกย้ายกันไป หาที่สงบ ที่บ้านตาดท่านให้พระแยกกันอยู่ คือไม่ให้จับกลุ่มกัน ทำกิจเสร็จแล้วก็ให้แยกกันไป พอฉันเช้าเสร็จก็ให้แยกกันไป ตอนบ่ายมาฉันน้ำร้อน ฉันเสร็จก็ให้แยกกันไป ไม่ให้นั่งฉันน้ำร้อนคุยกันไป ท่านจึงต้องเดินมาตรวจที่โรงน้ำร้อนอยู่เรื่อยๆ

 

ถาม     ท่านอาจารย์ครับ พระชาวต่างประเทศที่อยู่กับหลวงตา เรื่องภาษาที่ใช้นี่ฝรั่งไม่คุ้นเคยกับภาษาไทยจะเป็นอย่างไร

 

ตอบ    จำไม่ได้ว่าพระอาจารย์องค์ไหนที่พูดว่า หมามันฟังภาษาคนไม่ได้เรายังสอนมันได้เลย ใจไม่ต้องใช้ภาษา เพียงใช้กิริยาอาการก็รู้แล้ว แต่ถ้าเป็นเรื่องธรรมะที่ลึกๆก็ต้องอาศัยคนแปลให้ ตอนนั้นก็มีท่านปัญญาคอยแปล เวลาหลวงตาท่านเทศน์เสร็จ ท่านปัญญาก็จะสรุปให้ฟังว่า วันนี้หลวงตาท่านพูดเรื่องอะไรบ้าง เขาก็พอที่จะได้เกร็ดความรู้บ้าง ตอนที่เราอยู่ก็ช่วยแปลหนังสือบางเล่มให้เขาอ่านกัน เทศน์บางกัณฑ์ที่ท่านเทศน์เราก็แปลเป็นภาษาอังกฤษให้เขาฟังกัน เพราะว่าธรรมะนี่ละเอียดนะ เป็นนามธรรม จะแสดงกิริยาอาการอย่างเดียวนี้ไม่พอ พวกสุนัขจึงไม่มีบุญ ไม่มีโอกาสที่จะได้รับธรรมะ ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ ไม่มีสุนัขเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องเป็นมนุษย์ การที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์และได้มาเจอพระพุทธเจ้า เจอพระพุทธศาสนา จึงเป็นลาภวิเศษที่สุด ไม่ได้เกิดได้ง่ายๆนะ คราวหน้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็อาจจะไม่เจอพระพุทธศาสนาก็ได้ ลองคิดดูซิ ถ้าไปเกิดในประเทศที่ไม่มีพระพุทธศาสนา จะเป็นอย่างไร มีแต่การฆ่ากัน

 

ถาม    โอกาสที่จะหลงไปทางอวิชชาก็มีมาก

 

ตอบ     ใช่   ถ้าเป็นคนที่มีจิตใจที่อ่อนอยู่แล้ว พอมีอะไรมาฉุดลาก ก็จะไปกับเขา แต่ถ้าได้สะสมปัญญามามากพอสมควรแล้ว จะไม่มีอะไรดึงไปได้ อย่างเราตอนที่เรียนหนังสือก็ไม่เคยคิดจะบวช คิดว่าเรียนหนังสือจบก็จะได้ไปทำมาหากินต่อไป อาจจะเป็นบุญเก่าที่คอยผลักดันให้มาหาพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อจบแล้วก็มานั่งคิดดูว่า ทำงานมีครอบครัวก็เหมือนพ่อกับแม่เรา ก็มีเท่านั้น หาเงินหาทองมาก็เอามาเลี้ยงลูก ส่งลูกไปเรียนหนังสือ ก็ต้องปวดหัวต้องทุกข์กับการหาเงินหาทอง กับการเลี้ยงลูก แล้วก็แก่ตายไป ชีวิตก็จบ ไม่เห็นมีอะไรมากกว่านั้น ก็เลยสงสัยว่าไม่มีอะไรที่ดีกว่านี้บ้างหรือ ก็เลยพยายามศึกษาทางด้านศาสนาดู พอได้อ่านหนังสือธรรมะ ก็ดีใจที่มีผู้ชี้ทางให้ ชี้วิธีแก้ปัญหาทางด้านจิตใจ ถึงแม้จะเรียนจบปริญญามา มีงานมีการทำ มีเงินมีทอง แต่ใจก็ยังเหมือนเดิม ยังมีความห่วงใย มีความกังวล มีความวุ่นวาย มีความสับสน มีความหิว มีความอยาก ก็เลยสนใจอยากจะแก้ปัญหาทางด้านจิตใจ ก็เลยเริ่มศึกษาเริ่มปฏิบัติ แล้วในที่สุดก็ได้บวชจนถึงทุกวันนี้ ก็ไม่เคยคิดว่าเสียอะไรไป ขาดทุนอะไรไป บางคนบอกว่าอุตส่าห์ไปเรียนหนังสือมาแทบเป็นแทบตาย ไม่ได้เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สิ่งที่เรียนมาก็ได้ใช้ ทำให้รู้ว่าทางโลกไม่ใช่ทางนั้นเอง รู้ว่าเป็นทางตัน ถ้ามีทางอยู่ ๒ ทางให้เราเลือก แต่ไม่รู้ว่าทางไหนเป็นทางที่ถูก ก็ต้องลองทั้ง ๒ ทางดู เลี้ยวซ้ายไปดูซิว่าเป็นอย่างไร ไปแล้วไม่ได้เรื่อง ก็ถอยกลับแล้วก็เลี้ยวไปอีกทางหนึ่ง

 

ถาม     ท่านอาจารย์คะ ถ้าหากว่าเราอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เราศรัทธาไม่ได้ เพราะว่าท่านไม่ให้อยู่ ไม่ให้เป็นแม่ขาว เราจะทำอย่างไร

 

ตอบ    ครูบาอาจารย์ที่แท้จริงอยู่ในใจเรา อยู่ในคำสอนของท่าน ไม่ได้อยู่ที่สรีระร่างกายของท่าน สมัยนี้เรามีอาจารย์อยู่ในบ้านเราตลอดเวลา เทปของท่านซีดีของท่านมีมากมาย มีทั้งภาพ มีทั้งเสียงให้ดูให้ฟังอยู่ตลอดเวลา เคยเปิดดูเคยเปิดฟังกันบ้างหรือเปล่า ส่วนใหญ่เราชอบออกไปข้างนอกกัน เพราะว่าใจมันยังมีความอยากอยู่ แต่ถ้าเป็นเรื่องธรรมะล้วนๆแล้ว อยู่ที่บ้านก็มีเหลือเฟือ นานๆไปกราบสักครั้งหนึ่งก็ได้ การปฏิบัติไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกาะชายผ้าเหลืองของท่านอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสไว้ว่า ถึงแม้เธอจะเกาะชายผ้าเหลืองเรา แต่เธอไม่ปฏิบัติเลยเธอก็ห่างไกลจากเราเป็นโยชน์ ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้เธอจะห่างไกลจากเราเป็นโยชน์ แต่เธอปฏิบัติอยู่ทุกขณะ เธอก็ไม่ห่างไกลจากเราเลย ทรงตรัสต่อไปว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้เห็นตถาคตก็คือผู้เห็นธรรม ผู้ที่จะเห็นธรรมก็คือผู้ที่ปฏิบัติธรรม จึงอย่าไปคิดว่าได้เกาะชายผ้าเหลืองแล้วจะได้ดีเสมอไป เป็นพวกใกล้เกลือกินด่างก็ได้ เกาะตัวท่านแต่ไม่ได้เกาะธรรมะ ไม่ได้ปฏิบัติธรรม เหมือนกับดูการแสดงของดาราคนโปรดของเรา  หรือดูคอนเสิร์ต ได้เห็นหน้าท่านแล้วก็มีความสุข ได้ยินท่านพูดก็มีความสุข แต่ไม่เคยเอาธรรมะที่ท่านสอนมาปฏิบัติเลย เป็นพวกติดครูบาอาจารย์ ต้องเห็นหน้าเห็นตาท่านทุกวัน ทุกเช้าทุกเย็น

 

ถาม     คือการฟังธรรมสดๆนี่มันจะได้อะไรไม่เหมือนกับฟังเทป

เดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ตค่ะ ในวิทยุลูกก็เปิดฟังตลอด

 

ตอบ    การอยู่ใกล้ชิดก็ไม่เป็นสิ่งที่เลวร้าย เพียงแต่ต้องเอาไปปฏิบัติเท่านั้นเอง ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่เกิดประโยชน์ อยู่ที่การปฏิบัติเป็นหลัก อยู่ใกล้อยู่ไกลไม่สำคัญ ได้ปฏิบัติหรือเปล่า หลวงปู่มั่นอยู่องค์เดียวก็มีคนถามท่านว่า เวลาท่านมีปัญหาท่านจะไปถามใคร หลวงปู่มั่นท่านก็ตอบไปว่า กระผมฟังเทศน์อยู่ตลอดเวลา ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา จิตที่พิจารณาด้วยปัญญาก็เป็นการฟังธรรมไปในตัว ธรรมะอยู่ในใจนะ พระไตรปิฎกก็ออกมาจากใจของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ออกมาจากที่ไหน ถ้าไม่ค้นหาธรรมะในใจก็จะไม่เจอ ไปอยู่กับครูบาอาจารย์กี่สิบรูป กี่สิบองค์ก็จะไม่เจอธรรมะ ครูบาอาจารย์ทุกรูปก็จะชี้กลับมาที่ใจ ลองฟังเทศน์ของท่านดู ท่านสอนให้เราทำอะไร ท่านก็สอนให้ภาวนา แต่เราก็มัวไปเกาะที่ตัวท่าน ท่านอยู่ที่ไหนก็ต้องตามไป

 

ถาม    สุดท้ายก็อยู่ที่การปฏิบัติใช่ไหมคะ

 

ตอบ    ใช่  อยู่ที่การปฏิบัติ

 

ถาม  มันยากมาก

 

ตอบ  เพราะเราไม่เห็นผล ไม่เห็นผลเพราะไม่ปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติไม่เห็นผลก็ไม่มีกำลังใจที่จะปฏิบัติ

 

ถาม  ท้อแท้เสียก่อน

 

ตอบ  ต้องแก้ อย่าท้อแท้ ถึงเวลาปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติ เหมือนถึงเวลากินข้าว ถึงแม้จะไม่อยากจะกินก็ต้องกิน ไม่กินเดี๋ยวอดตาย ไม่ปฏิบัติเดี๋ยวก็ทุกข์ตาย

 

ถาม  ไม่มีวิธีอื่นนอกจากปฏิบัติใช่ไหมคะ

        ท่านอาจารย์หมายถึงให้เราทำให้เคยชินกับการปฏิบัติไว้เสมอๆ ไม่ว่าจะได้ผลหรือไม่ได้ผล ก็ทำเรื่อยๆ ทุกวันๆ

 

ตอบ    ไปแบบเต่าดีกว่าไปแบบกระต่าย กระต่ายเวลาอยากจะทำก็ทำ พอไม่อยากก็เลิกทำ ประมาทคิดว่าทำมามากพอแล้ว ควรทำไปเรื่อยๆ ทำไปตามกำลังของเรา แล้วจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จากน้อยไปหามาก อย่าไปทำมากกว่าที่เราทำได้ ไม่เช่นนั้นจะท้อ

 

ถาม  เราจะรู้ความก้าวหน้าด้วยตัวเราเองใช่ไหมคะว่าเราก้าวหน้าขึ้น

 

ตอบ  ใช่  ถ้านั่งสมาธิไม่ได้ นั่งสวดมนต์ได้ไหม สวดมนต์ไปก่อน ทีละครึ่งชั่วโมง นั่งสวดไปก่อน ต่อไปก็จะนั่งได้เอง

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ อย่างพวกเรานี่มีโอกาสจะบรรลุโสดาบันไหมคะ

 

ตอบ  มีทุกคน ไม่ได้อยู่ที่เพศ ไม่ได้อยู่ที่วัย อยู่ที่ปฏิบัติได้หรือไม่ได้

 

ถาม  ท่านอาจารย์พอจะรู้ไหมคะว่าคนไหนบรรลุโสดาบันแล้ว

 

ตอบ    คุยกันก็รู้ ถ้าเราบรรลุเขาก็บรรลุ คุยกันก็รู้ เหมือนคนที่เคยไปเที่ยวฮ่องกงแล้ว พูดปั๊บก็รู้เลย แต่ถ้าไม่เคยไปมา เขาเล่าให้ฟังเราก็ไม่รู้ว่าเขาไปมาหรือเปล่า การที่จะรู้ว่าคนมีภูมิธรรมสูงกว่าเราหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่เรา ถ้าเรานำเอาสิ่งที่เขาสอนมาปฏิบัติ จนรู้เห็นตามที่เขาพูด เราก็รู้ว่าเขามีภูมิธรรมสูงกว่า สามารถสอนให้เราเห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน นี่คือวิธีพิสูจน์ว่ารู้จริงหรือไม่ เราต้องปฏิบัติ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ต้องรอเวลาตาย ดูว่ากระดูกจะกลายเป็นพระธาตุหรือไม่ เมื่อเราไม่สามารถพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ เราจะทำอย่างไร ก็ต้องรอดูกระดูก

 

ถาม  เพียงนั่งอยู่ในศาลาน่าจะมีวาสนา

 

ตอบ  ไม่แน่หรอก ไม่มีใครรู้ คนที่เงียบๆมักจะมีอะไรดีนะ คนที่เงียบๆแสดงว่าเขารู้แล้ว คนที่ถามเก่งไม่ใช่จะเก่งนะ คนที่ไม่ถามแสดงว่าเขาเก่ง เขาเข้าใจแล้ว ก็ไม่ต้องถาม

 

ถาม  ที่หลวงปู่ดุลย์ท่านสอนให้ดูจิตนี่ไม่แน่ใจว่าให้ทำอย่างไรคะ

 

ตอบ     ให้ดูอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในจิต ดูว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร กำลังโกรธ กำลังโลภ กำลังฟุ้งซ่าน หรือสงบ รู้แล้วจะได้แก้ไขปัญหาได้ ดูจิตก็คือดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิต ตอนนี้โลภหรือเปล่า โกรธหรือเปล่า โกรธก็ต้องระงับ โลภก็ต้องระงับ ถ้าอยากจะปฏิบัติธรรมก็ควรส่งเสริมควรสนับสนุน ควรรีบไปวัดเลย

 

ถาม  เป็นอุบายอย่างหนึ่งคล้ายๆพุทโธ

 

ตอบ  ก็เป็นหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ คือให้มีสติอยู่ที่จิต