กัณฑ์ที่ ๒๕๘       ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๙

 

กิเลสไม่มีวันหยุด

 

 

ถึงแม้ตอนนี้จะออกพรรษาแล้ว แต่การปฏิบัติของพวกเราก็ยังต้องทำกันต่อไปอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากกิเลส คือความโลภ  ความโกรธ ความหลง ไม่ได้หยุดทำงานหลังจากออกพรรษาแล้ว  กิเลสทำงานตลอดเวลา  ๒๔ ชั่วโมง  ทั้งในเวลาตื่นและในเวลาหลับ เราจึงต้องมาที่วัดกันอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง เพื่อกำจัดปราบปรามกิเลสความเศร้าหมองทั้งหลาย ให้ออกไปจากจิตจากใจ อย่างน้อยที่สุดก็คอยควบคุมไม่ให้เจริญเติบโต กิเลสก็เป็นเหมือนต้นไม้ การทำบุญทำทาน รักษาศีล ก็เป็นเหมือนกับการตัดกิ่งตัดก้านของต้นไม้  ถึงจะไม่มีกำลังพอที่จะตัดลำต้นและขุดรากถอนโคนได้ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เจริญเติบโตไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็ยังคอยปราบ คอยปราม คอยป้องกัน ไม่ให้กิเลส ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  เจริญใหญ่โตจนไม่สามารถที่จะต่อสู้กับมันได้ การมาที่วัดอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการปราบปรามต่อสู้กับความเศร้าหมอง ที่เกิดจากกิเลส ความโลภ  ความโกรธ  ความหลงทั้งหลาย  ถ้ามาได้มากกว่าครั้งหนึ่งยิ่งดีใหญ่    เพราะการมาวัด มาทำบุญทำทาน มารักษาศีล ก็เหมือนกับการตัดกิ่งตัดก้านของต้นไม้   ถ้าได้ปฏิบัติธรรม  เช่นนั่งสมาธิ ก็เหมือนกับการตัดลำต้น ถ้าได้เจริญปัญญา คือวิปัสสนา  ก็เท่ากับได้ขุดรากถอนโคนของต้นไม้ คือกิเลสตัณหา ความโลภ  ความโกรธ  ความหลงต่างๆให้หมดสิ้นไป  จนไม่สามารถเจริญงอกงามได้อีกต่อไป

 

กิเลสก็เช่นเดียวกัน เมื่อถูกทำลายด้วยอำนาจของปัญญาแล้ว ก็จะไม่ฟื้นกลับคืนมาอีก ไม่กลับมาสร้างความโลภ ความโกรธ ความหลงให้กับเราเมื่อไม่มีโลภโกรธหลงแล้ว  ความเศร้าหมอง ความทุกข์ ความเสียใจ ความเศร้าโศก  ความวุ่นวายใจต่างๆ ก็จะไม่มีหลงเหลืออยู่ในจิตในใจ กลายเป็นจิตของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ผู้สิ้นกิเลสแล้ว เป็นรางวัลที่เราจะได้รับตามลำดับแห่งการมาวัด มาทำบุญทำทาน มารักษาศีล มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาปฏิบัติธรรมกัน เราจึงต้องมีความขยันหมั่นเพียร เพราะความขยันหมั่นเพียรนี้เท่านั้นที่จะพาให้เราไปถึงจุดหมายปลายทาง ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ได้ไปถึงกัน  ถ้ามีแต่ความเกียจคร้าน ไม่อยากจะมาวัด ไม่อยากจะทำบุญ ไม่อยากจะรักษาศีล ไม่อยากจะฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่อยากจะนั่งสมาธิไหว้พระสวดมนต์  ไม่อยากจะพิจารณา อนิจจังทุกขังอนัตตา   เราก็จะไม่สามารถยกตัวของเราให้อยู่เหนือความทุกข์ทั้งหลาย  ที่จะตามมากับความแก่ กับความเจ็บ กับความตาย  กับการพลัดพรากจากกันได้ เราจึงต้องสร้างความขยันหมั่นเพียรขึ้นมาให้ได้ ถึงแม้จะลำบากลำบนอย่างไร ก็ต้องคอยสอนตัวเราว่า สิ่งที่เรากำลังตะเกียกตะกายกำลังทำกันอยู่นี้ จะทำให้จิตใจของเราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข อยู่ไกลจากความทุกข์ความวุ่นวายทั้งหลาย

 

ต้องคอยเตือนสติ คอยรำลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า รำลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ผู้เป็นแบบฉบับที่ดีเลิศ ว่าท่านก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นพระอริยสงฆ์ แบบนอนกับหมอนอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่จะต้องตะเกียกตะกาย ต้องขวนขวาย ต้องพากเพียร  ต้องขยันทำความดี  ขยันละความชั่ว ขยันชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด  กำจัดความโลภ  ความโกรธ  ความหลง กิเลส  ตัณหาความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไป เราจึงต้องมีความขยันหมั่นเพียร ในการสร้างสิ่งที่ดีทั้งหลายให้เกิดขึ้น กำจัดสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายให้หมดไป รักษาความดีที่มีอยู่ให้คงไว้ และป้องกันไม่ให้ความไม่ดีทั้งหลายที่ได้กำจัดไปแล้วให้หวนกลับคืนมาอีก ถ้ายังไม่เคยทำบุญตักบาตรอย่างจริงจัง ก็ควรมาทำบุญทำทานตักบาตรกัน ถ้าได้ทำบุญทำทานตักบาตรอยู่แล้วก็ต้องรักษาไว้ให้ได้   อย่าหยุด ต้องทำต่อไป ถ้าทำเฉพาะช่วงเข้าพรรษา  พอออกพรรษาแล้วก็หยุดทำ ก็จะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร เพราะจิตใจก็เหมือนกับต้นไม้ที่ต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด ถ้าขาดน้ำแล้วก็จะต้องเฉาตายไป จิตใจก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยความดี เช่นการทำบุญให้ทานเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ถ้าหยุดทำบุญ หยุดตักบาตร  หยุดให้ทาน จิตใจก็จะขาดน้ำหล่อเลี้ยง ก็จะเหี่ยวแห้ง ไม่มีความสุข มีแต่ความวุ่นวายใจ ความรุมร้อน มีความทุกข์ใจ ถ้าได้ทำอยู่แล้วเราก็ต้องทำต่อไป ต้องรักษาให้คงไว้ 

 

ส่วนบาปความไม่ดี เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จโกหกหลอกลวง  เสพสุรายาเมา ถ้ายังไม่ได้ละก็ต้องละกัน วันนี้ก็ได้สมาทานศีล ๕ ได้ตั้งใจว่าอย่างน้อยที่สุดวันนี้จะต้องรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ให้ได้ จะละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ลักทรัพย์  ประพฤติผิดประเวณีพูดปดมดเท็จโกหกหลอกลวง เสพสุรายาเมา ซึ่งเป็นการละบาปการกระทำที่ไม่ดี  ถ้ารักษาศีลอยู่เป็นประจำแล้ว ก็ต้องรักษาไว้ให้ดี อย่าให้ขาดหายไป ให้เห็นศีลเป็นเหมือนกับเพชรนิลจินดาเป็นแก้วแหวนเงินทองที่มีคุณค่ามาก ความจริงแล้วศีลมีคุณค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆในโลกนี้ ถ้ามีศีลแล้วจะได้ไปสู่ที่ดี ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข   การมีแก้วแหวนเงินทอง  เพชรนิลจินดา ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันให้เราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ให้ไปสู่ที่ดีได้ เพราะส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการหาสมบัติต่างๆมา ถ้าหามาด้วยความสุจริตก็ไม่เป็นไร ไม่มีโทษตามมา ถ้าหามาด้วยวิธีทุจริต เช่นไปฉ้อโกง โกหกหลอกลวง  เพื่อให้ได้ทรัพย์ ข้าวของต่างๆมา ก็จะขาดทุนเพราะผิดศีลผิดธรรม เมื่อตายไปก็จะไม่ได้ไปสู่สุคติ ไม่ได้ไปเกิดที่ดี แต่จะต้องไปสู่อบายภูมิใดอบายภูมิหนึ่ง เพราะการกระทำที่ผิดศีลธรรมเป็นเหตุนั่นเอง  ดังในท้ายศีลที่ได้แสดงไว้สักครู่นี่ว่า สีเลนะ สุคติง ยันติ  ศีลเป็นเหตุให้ได้ไปสู่สุคติ  คือภพของมนุษย์ ของเทวดา ของพรหม ของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่ต้องมีศีลพาไป

 

ถ้าปรารถนาความเจริญของจิตใจ ก็ต้องหมั่นรักษาศีลไว้ให้ดี ถ้ายังไม่เคยรักษาก็ควรเพียรรักษา เพียรสร้างให้มีขึ้นมา ถ้ามีอยู่แล้วก็เพียรป้องกันไม่ให้สูญหายไป เหล่านี้คือความพากเพียรที่จะทำให้เราก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง นอกจากการทำบุญให้ทานรักษาศีลแล้ว  ก็ยังต้องปฏิบัติธรรมอีกด้วย เพราะการรักษาศีลกับการให้ทาน เป็นเพียงการตัดกิ่งก้านสาขาของกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายเท่านั้นเอง ยังไม่ได้ทำลายมัน ถ้าเผลอปล่อยไว้สักระยะหนึ่ง ก็จะงอกงามออกมาอีก เหมือนกับต้นไม้ที่ถูกตัดกิ่งก้านต่างๆทิ้งไป แล้วถูกทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง ก็จะงอกงามออกมาอีก เพราะรากและต้นยังไม่ได้ถูกทำลายไป กิเลสตัณหาก็เป็นเช่นเดียวกัน รากและต้นของกิเลสตัณหาไม่ได้ถูกทำลายไปด้วยการทำบุญให้ทานรักษาศีล แต่จะถูกทำลายด้วยการเจริญสมาธิและปัญญาเท่านั้น  ถ้ายังไม่ได้นั่งสมาธิ ยังไม่ได้เจริญปัญญาก็ควรเริ่มทำกัน ได้ทำบุญทำทานรักษาศีลกันแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องนั่งทำสมาธิ ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกัน วิธีไหนก็ได้ที่ถูกกับเรา เหมือนกับทางที่มาที่วัดก็มาได้หลายทาง มาทางด้านหน้าวัดก็ได้ มาทางด้านหลังวัดก็ได้ ก็มาถึงวัดเหมือนกัน

 

การทำสมาธิเป็นการทำจิตใจให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้นิ่ง ไม่ให้แกว่งไปแกว่งมาตามอารมณ์ต่างๆ ก็ทำได้หลายวิธีด้วยกัน สำหรับคนส่วนใหญ่ในเบื้องต้น วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการไหว้พระสวดมนต์ จะนั่งขัดสมาธิหลับตาแล้วก็สวดมนต์ไปภายในใจเลยก็ได้  สวดมนต์บทไหนก็ได้ที่จำได้ขึ้นใจ  ก็สวดไปในใจไปเรื่อยๆ ข้อสำคัญเวลาสวดต้องมีสติอยู่กับการสวด อย่าให้ใจเผลอไปคิดถึงเรื่องต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดมาแล้วในอดีตก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นมาในอนาคตก็ดี ตอนที่นั่งสวดมนต์อยู่นั้น อย่าไปคิดถึงอะไรทั้งสิ้น ถ้ามีสติจะรู้ว่ากำลังอยู่กับบทสวดมนต์หรือไม่    ถ้าไม่อยู่พอรู้ตัวก็ต้องดึงจิตกลับมาสวดต่อ อย่าสวดไปแล้วคิดไปด้วยเพราะจิตจะไม่นิ่ง ไม่ตั้งเป็นสมาธิ จะไม่สงบ เวลาทำสมาธิสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการมีสติ สติก็คือการระลึกรู้ รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่  รู้ว่ากำลังอยู่ที่ไหน รู้ว่ากำลังสวดมนต์อยู่หรือไม่ หรือสวดไปแล้วก็คิดไปด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องหยุดคิด และหันกลับมาสวด  สวดไปเรื่อย ๆ   การสวดมนต์นี้จะต้องใช้เวลานานหน่อยกว่าจิตจะนิ่ง กว่าจิตจะสงบได้ แต่เป็นวิธีที่ง่าย  สวดไปเรื่อย ๆ  อย่าไปคิดอะไรสักครึ่งชั่วโมง สักชั่วโมงหนึ่ง แล้วจะรู้สึกมีความสุขใจ อิ่มใจ สบายใจ

 

ถ้ารู้สึกอยากจะหยุดสวดตอนนั้น  จะหันมาดูลมหายใจเข้าออกต่อก็ได้ ดูลมหายใจเข้าลมหายใจออก โดยไม่ต้องบังคับลมให้หายใจสั้นหรือหายใจยาว หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว ลมหยาบก็รู้ว่าหยาบ  ลมละเอียดก็รู้ว่าละเอียด แม้ลมจะหายไปหมด ก็ไม่ต้องวิตกไม่ต้องกลัว อย่าไปคิดว่าไม่มีลมหายใจแล้วร่างกายจะตาย เพราะไม่มีใครตายจากการกำหนดดูลมเข้าออก   เป็นความละเอียดของลมและจิต จนทำให้รู้สึกว่าไม่มีลมหายใจ  แต่ความจริงยังหายใจอยู่ แต่นานๆจะหายใจสักครั้งหนึ่ง ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้ากลัวจิตจะถอนออกมา แทนที่จะดิ่งลงสู่ความสงบอย่างเต็มที่ จะไม่กล้าปฏิบัติต่อ ก็จะไปไม่ถึงจุดที่ต้องการไป คือความสงบนิ่ง  ตั้งมั่นอยู่ในความสุข อยู่ในความอุเบกขา คือปล่อยวาง เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ อยู่ตามลำพังของจิต  เป็นเอกัคตารมณ์  นี้คือเป้าหมายของการนั่งทำสมาธิ ต้องการให้จิตเข้าไปสู่จุดนั้น เพื่อจิตจะได้พักผ่อน ได้เติมน้ำมัน เติมอาหาร ที่ได้จากความสงบ เมื่อจิตได้พักเต็มที่ในสมาธิแล้ว เมื่อถอนออกมาจะมีกำลัง มีพลัง  มีความสดชื่นเบิกบาน  มีกำลังใจ  ในขณะที่จิตสงบนิ่งอยู่นั้น อย่าดึงจิตออกมา ปล่อยให้พักให้เต็มที่ เหมือนกับคนนอนหลับ อย่าไปปลุก ปล่อยให้นอนให้เต็มที่ เมื่อนอนพอแล้วก็จะตื่นขึ้นมาเอง  จิตก็เช่นเดียวกัน ถ้าสามารถเข้าไปสู่จุดของความสงบได้อย่างเต็มที่แล้ว ในขณะนั้นจิตจะไม่คิดไม่ปรุงถึงเรื่องอะไรทั้งสิ้น ไม่รับรู้ ไม่สนใจกับเรื่องต่างๆ  จะอยู่กับความสงบ อยู่กับความอุเบกขาวางเฉย จะไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจได้เลยในขณะนั้น ก็อย่าไปดึงจิตออกมา ปล่อยให้อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะอิ่มจะพอ แล้วก็จะถอนออกมาเอง นี้คือผลที่จะได้รับจากการสวดมนต์   จากการกำหนดดูลมหายใจเข้าออก

 

เมื่อจิตถอนออกมาแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องดึงจิตมาเจริญปัญญา อย่าปล่อยให้คิดไปตามนิสัยเดิม เพราะจะไปคิดเรื่องโลภโกรธหลง คิดถึงเรื่องคนนั้นคิดถึงเรื่องคนนี้ แล้วก็เกิดความห่วงใย เกิดความกังวลขึ้นมา ต้องบังคับจิตให้คิดไปในทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คิด ให้พิจารณาร่างกายว่าไม่เที่ยงแท้แน่นอน เกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตายเป็นธรรมดา ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา  พิจารณาร่างกายของเราแล้ว ก็พิจารณาร่างกายของคนอื่น  ซึ่งเป็นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะรู้จักหรือไม่รู้จัก ก็ต้องแก่เจ็บตายเหมือนกัน ถ้าไปหลงยึดติดเข้า เวลาเขาแก่เจ็บตายไป ก็จะเสียอกเสียใจ แต่ถ้าไม่ได้ยึดก็จะไม่รู้สึกอะไร ปัญหาของพวกเราก็อยู่ตรงที่ความยึดติดที่เกิดจากความหลงนี้เอง  ไม่รู้ความจริงของร่างกายว่าเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าร่างกายต้องแก่  ต้องเจ็บ ต้องตายไป เพราะไม่เจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆ ไม่พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ก็เลยเผลอไป อุปาทานความยึดติด ตัณหาความอยากก็จะตามมา รักใครชอบใครก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ เป็นการสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้น เพราะฝืนความจริง ฝืนธรรมชาติ เช่นไม่อยากให้ฝนตกมันก็ฝืนธรรมชาติ เวลามันจะตก มันไม่ฟังใครทั้งสิ้น เวลามันจะตกมันก็ตก เวลาน้ำมันจะท่วมมันก็ท่วม สิ่งที่เราทำได้ก็คือเตรียมตัวป้องกันไว้ก่อน ถ้ารู้ว่าน้ำจะท่วมบ้านก็ขนของขึ้นที่สูง   เวลาน้ำท่วมก็ไม่เดือดร้อนอะไร

 

ร่างกายก็เช่นเดียวกัน ถ้ารู้ว่าต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน ก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้เท่านั้นเอง แล้วใจไม่เสียใจ ไม่วุ่นวายใจ  เพราะใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย แต่เพราะความหลงทำให้ใจไปยึดไปติดกับร่างกาย แล้วอยากให้ร่างกายเป็นไปตามความอยาก   อยากจะให้อยู่ไปนานๆ  อยากไม่ให้แก่ อยากไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย  ซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติ เหมือนกับไม่อยากให้ฝนตกนั่นแหละ ถ้าไม่ได้ไปกังวลกับเรื่องของฝน ปล่อยให้ตกไปตามเรื่องของเขา เราก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าจะทำอะไรข้างนอกบ้าน ก็ไม่อยากจะให้ฝนตก พอฝนตกขึ้นมาก็วุ่นวายใจ เดือดร้อนใจ  ดังนั้นความทุกข์ ความวุ่นวายใจ  ความเดือดร้อนใจนั้น ไม่ได้อยู่ที่ฝนฟ้า  ไม่ได้อยู่ที่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่ได้อยู่ที่การพลัดพรากจากกัน แต่อยู่ที่ความหลงที่ไปอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย  ไม่พลัดพรากจากกัน  วิธีที่จะแก้ความหลงนี้ในเบื้องต้นต้องทำสมาธิก่อน ทำจิตให้สงบให้นิ่งให้เย็นสบาย เมื่อจิตออกมาแล้วจะมีกำลังพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย จะพิจารณาไปได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอันยาวนาน จนติดเป็นนิสัยไป  เมื่อติดเป็นนิสัยไปแล้ว ก็ไม่ต้องไปบังคับ จะรู้อยู่ตลอดเวลาว่าตัวเราก็ดี คนอื่นก็ดี จะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น   แล้วเวลาที่ความแก่   ความเจ็บ  ความตายปรากฏขึ้นมา ก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ตื่นเต้น ไม่หวาดเสียว ไม่รู้สึกอะไรเพราะเข้าใจแล้ว ไม่มีความอยาก ไม่มีความหลงมาหลอกใจแล้ว

 

ปัญหาของพวกเราอยู่ที่การขาดปัญญา เพราะไม่เจริญกัน ไม่นั่งสมาธิกัน ไม่เจริญปัญญา ไม่พิจารณาความไม่เที่ยงของร่างกายกัน พอเวลาเกิดอะไรกับร่างกายขึ้นมา จิตใจก็กระสับกระส่าย  ว้าวุ่นขุ่นมัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ จึงต้องมีความพากเพียรในการปฏิบัติธรรม หลังจากที่ได้ทำบุญให้ทาน รักษาศีลอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ควรนั่งสมาธิกัน ในเบื้องต้นก็ไหว้พระสวดมนต์ไปก่อน แล้วถ้าจิตรู้สึกอยากจะหยุดสวดก็ดูลมหายใจต่อไปด้วยสติ เวลาลมหายใจเข้าออกก็รู้อย่างนั้น ไม่ต้องตามลมออกไป ไม่ต้องตามลมเข้ามา ให้เพ่งอยู่ที่ตรงจุดลมสัมผัสแถวปลายจมูก หรือถ้ารู้สึกชัดเจนที่กลางหน้าอก ก็กำหนดรู้อยู่ตรงกลางหน้าอกก็ได้ แล้วแต่จุดที่เราเห็นว่ามันชัด สามารถดูลมได้ ก็ให้ดูอยู่ตรงนั้น  อาศัยลมเป็นเครื่องผูกใจ ไม่ให้ใจลอยไปลอยมา เป็นเหมือนสมอเรือ ถ้าอยากจะให้เรือจอดอยู่นิ่งๆ ไม่ให้ลอยไปตามกระแสน้ำ ก็ต้องทอดสมอไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วเวลาน้ำพัดมาก็จะพัดเรือไปด้วย   ฉันใดใจก็เป็นเหมือนเรือลำหนึ่ง ถ้าไม่ทอดสมอไว้ด้วยการสวดมนต์ หรือเฝ้าดูลมหายใจเข้าออก ก็จะลอยไปตามอารมณ์ต่างๆ     พอมีอารมณ์อะไรมาสัมผัสก็ลอยตามไป พอมีเรื่องนั้นเข้ามาก็คิดตามไปเรื่อยๆ ต่อกันเป็นลูกโซ่ แต่ถ้ามีลมหายใจเข้าออกหรือบทสวดมนต์เป็นเครื่องผูกใจไว้ อะไรจะมาฉุดมาลาก ก็ไม่สามารถฉุดลากไปได้ เพราะมีสติ จะรู้อยู่ตลอดเวลา พอจิตแว๊บไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ก็รู้ทัน ก็จะหันกลับมาหาลมหายใจ  กลับมาที่บทสวดมนต์

 

ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปจิตจะมีกำลัง  จะลงเข้าสู่ความสงบ พอสงบแล้ว กระแสอารมณ์ต่างๆก็จะไม่สามารถมาฉุดลากจิตไปได้ ในขณะนั้นก็ไม่ต้องเฝ้าดูลม   ไม่ต้องสวดมนต์ เพราะในขณะที่จิตสงบก็เหมือนกับเอาเรือขึ้นฝั่ง พอจอดอยู่บนฝั่งแล้วน้ำก็ไม่สามารถพัดเรือไปไหนได้ ใจที่สงบ ใจที่รวมลงเป็นสมาธิ เป็นเอกัคตารมณ์ ก็เป็นเหมือนกับเรือที่ได้ขึ้นฝั่งแล้วนั่นเอง  อารมณ์ต่างๆจะไม่สามารถมาฉุดลากจิตไปได้ ตอนนั้นจิตจะมีความสุขอย่างมาก เป็นความสุขที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อนทั้งชีวิต  ความสุขต่างๆที่ได้สัมผัสจากสิ่งต่างๆ จะไม่มีอานุภาพ ไม่มีคุณค่า ไม่มีความวิเศษเท่ากับความสุขที่ได้จากความสงบของจิตเลย  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ความสุขอื่นๆในโลกนี้  ไม่เลิศไม่ประเสริฐเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบ  ผู้ใดได้พบกับความสุขแบบนี้แล้ว จะสามารถสละสิ่งต่างๆในโลกนี้ไปได้ เช่นพระพุทธเจ้า ที่ทรงเคยสัมผัสความสุขแบบนี้มาบ้างแล้ว ในสมัยที่ยังไม่ได้สละราชสมบัติ  พอมีโอกาสมีเวลาก็ทรงสละราชสมบัติได้หมด เพื่อจะได้ไปสร้างความสุขแบบนี้ให้มีมากยิ่งขึ้นไป ให้มีอยู่ตลอดเวลา นี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าปรารถนาและได้ในที่สุด หลังจากทรงปฏิบัติธรรม ทรมานกิเลส ต่อสู้กับกิเลสตัณหาอยู่ถึง ๖ ปีด้วยกัน จนในที่สุดก็สามารถทำลายกำจัดกิเลสตัณหาต่างๆให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจได้ จิตใจสงบระงับอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน ก็ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีความทุกข์กับอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องหลับตานั่งสมาธิ  ก็สงบอยู่อย่างนั้น เพราะเป็นความสงบของจิตโดยธรรมชาติ ที่ได้รับการชำระจนสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีตัวที่จะสร้างความวุ่นวายใจให้เกิดขึ้น คือกิเลสตัณหา ความโลภ ความอยากต่างๆ  เมื่อถูกกำจัดไปหมดแล้ว ก็ไม่มีอะไรมาทำให้จิตต้องทุกข์วุ่นวายใจอีกต่อไป    นี้คือการชำระการกำจัดกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ที่พวกเราได้มากระทำกันอย่างต่อเนื่อง ได้ทำกันมาตลอดทั้งพรรษา แล้วก็ยังจะทำกันต่อไป ขอให้มีความแน่วแน่มั่นใจกับทางนี้ ว่าเป็นทางที่ถูกต้อง   เป็นทางที่จะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงขอให้เชื่อในพระพุทธ พระธรรม  พระสงฆ์  แล้วจะไม่ผิดหวัง  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้